นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

ข้อเสนอวิชาการระดับรากหญ้า
นิเวศวิทยาชาวนากับหมุดยืนวิชาการโลก
เขียนโดย
ธันวา ใจเที่ยง
อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์

เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2548 โดยใช้ข้อสรุปบางส่วนจากงานวิจัยเรื่อง
"ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมกับระบบการจัดการทางนิเวศวิทยาของกลุ่มชนชาวนาลุ่มแม่น้ำโขงแอ่งสกลนคร -นครพนม"
ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระหว่างปี พ.ศ.2547 -2548

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 686
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8.5 หน้ากระดาษ A4)


นิเวศวิทยาชาวนากับหมุดยืนวิชาการโลก

ข้าพเจ้าจำได้ว่าตอนเป็นเด็ก ราวปี พ.ศ.2524 เมื่อปิดภาคเรียนเดือนเมษายน พ่อมักพาข้าพเจ้าไปเยี่ยมย่าที่หมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งใน อ.มุกดาหาร จ.นครพนม ในตอนกลางวันข้าพเจ้าและลูกๆของอา จะพากันไปเล่นที่ท้องทุ่งนา และริมห้วยที่มีน้ำใสเย็นไหลรินผ่านเม็ดทรายขาวละเอียด มีต้นมะตูมต้นใหญ่ขึ้นริมตลิ่ง บางครั้งเราก็ไปไล่จับเขียดจะนา(1) ในหนองขนาดเล็กกลางทุ่ง แม้ย่าจะไม่ให้ไปเพราะห่วง แต่ก็ยังกรุณาแกงเขียดใส่หน่อไม้ดองและผักขแยงให้กินยามบ่าย เวลาที่เราป่ายปีนต้นไม้ ย่าจะเตือนว่า "หล่าเอ้ยอย่าพากันขึ้นต้นไม้เด้อ ตกมามันสิเจ็บเด้อ" พอกลางคืน อาจะพาข้าพเจ้าไปหาไต้เอาแมงจินูนที่อยู่ตามต้นมะขาม โดยใช้ตะเกียงถ่านหิน เพื่อนำมาคั่วในยามเช้า

มันเป็นวิถีชีวิตชนบทที่มีความสุข ผืนนาของอาจะอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร เรามักจะพากันไปนอนที่เถียงนาขนาดใหญ่ไร้แสงไฟที่นั่น ที่มีย่าหรือที่ชาวบ้านที่นั่นเรียกเป็นภาษาลาวว่า "แม่คุณ" ซึ่งหมายถึงผู้หญิงที่มีบุญคุณแก่คนทั้งหลายของตระกูล ที่เถียงนา นอกจากย่าแล้ว จะมีอาผู้หญิง อาผู้ชาย ลูกๆอา ส่วนปู่ที่เคยเป็นนายฮ้อยใหญ่ยุคค้าควายไทย เสีย ตั้งแต่ข้าพเจ้ายังไม่เกิด พ่อและข้าพเจ้ามักจะไปนอนกับย่าที่นั่น ข้าพเจ้ายังจำได้ว่าเวลาเราจะเดินทางจากหมู่บ้านไปนอนนา เรายังได้นั่งเกวียนอีสานโบราณเทียมวัวไป บางคืนลุงจะแวะมานอนคุยกับพ่อและหลานอย่างข้าพเจ้า

ชีวิตชนบทเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เต็มไปด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิม ที่อาจดูเหมือนลำบาก ข้นแค้น เพราะหมู่บ้านบางแห่งไฟฟ้ายังไม่มี ถนนหนทางยังคงเป็นถนนปูด้วยทราย แต่กลับอบอวลไปด้วยน้ำใจ อาทร และอบอุ่นไปด้วยพี่น้อง ปู่ย่า ลุงป้า น้า อา ที่อยู่กันพร้อมหน้า ข้าพเจ้าไม่รู้เหมือนกันว่าสิ่งเหล่านี้มันทุกข์ยากมากนักฤา ?

แต่เดี๋ยวนี้เวลาผ่าน เกือบทุกหมู่บ้านชาวนาเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปตามการกำหนดของคนเมือง เมื่อไฟฟ้าเข้าถึง ถนนดีๆถูกตัดถึงหมู่บ้าน นำพาเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้แบกเอาทฤษฎีและตำรา พร้อมนโยบายรัฐตรงถึงหมู่บ้าน รวมไปถึงค่านิยมใหม่ที่ผ่านมาทางคลื่นวิทยุและทีวี ด้วยวิถีทางแห่งการตลาด มินานนักวิถีชีวิตของชาวนา "วิธีคิดและโลกทัศน์ของชาวนา" ได้ถูกชักจูงให้ห่างเหินจากวิถีวัฒนธรรมเก่าๆ นั่นคือ เปลี่ยนไปตามนโยบายของรัฐบาลแต่ละยุคๆ และผลผลิตตัวใหม่ของระบบทุน ที่ผ่านมาทางระบบราชการและการโฆษณา

ยุคแล้วยุคเล่าที่รัฐเข้าสู่หมู่บ้าน มักนำนโยบายและโลกทัศน์ ผ่านเข้ามาทางองค์กรและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มักมิได้จัดทำขึ้นบนฐานชีวิตและฐานวัฒนธรรมของผู้คน ยุคแล้วยุคเล่าที่ชาวบ้านถูกกล่าวหาว่ายากจน ไม่พัฒนา ต้องส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ ต้องซื้อ ต้องกู้เงิน (จาก ธกส.) หมู่บ้านของชาวนา คือเวทีทดลอง ของแนวความคิดบนฐานและการสนับสนุนทางทฤษฎี และวิชาการของโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะยุคหลังปี 2500 ที่ชุดความรู้และวิชาการจากโลกตะวันตกถูกนำเข้ามามากเหลือเกิน ขยายกระจายไปตามหน่วยงาน องค์กรที่มีอำนาจต่างๆ บนสมมติฐานของชนชั้นนำไทยตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม ว่าโลกตะวันตกคือโลกแห่งความเจริญ โลกเอเชีย คือโลกแห่งความล้าหลัง

การนำเข้าวิชาการบนฐานวัฒนธรรมตะวันตก และเชื่อตามสำนักคิดตะวันตก มิว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องที่โก้และหรูหรายิ่ง มันมีอิทธิพลต่อระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะต่อรัฐและหน่วยงานราชการอย่างสูง จนกระทั่งถึงกับมองว่าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวนา(2) เป็นสิ่งที่ขัดขวางความเจริญ ขัดขวางการพัฒนา ต้องทำลายลงไป ชาวนาบางครั้งถูกมองว่าเป็นผู้โง่ ผู้จนและผู้เจ็บ ทั้งๆที่การเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่อยู่คู่ธรรมชาติ ฤามีใครในชนชาติใดหลีกพ้น แม้แต่ชาติที่อ้างตนอ้างตัวว่าเจริญหรือพัฒนา แม้จะมีศักดินาสูงหรือศักดินาต่ำ ความเจ็บ ความตาย ล้วนเป็นปรากฏการณ์แห่งธรรมชาติที่จะต้องยอมรับ และควรพยายามสร้างวิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรม และฐานคิดทางวิชาการให้สอดคล้อง

ที่ผ่านมา การพัฒนาสมัยใหม่บอกว่า ความโง่ของชาวนา คือ ความไม่เข้าใจและไม่รู้ในวิถีวิชาการสมัยใหม่ ไม่รู้ว่าพัฒนาคืออะไร คำต่างประเทศมีความหมายว่าสิ่งใด ปริญญาเป็นเยี่ยงใด ไฟฟ้าเป็นอย่างไร รถยนต์ โทรศัพท์ มีรูปร่างอย่างไร การซื่อสัตย์และมีน้ำใจมากมายของชาวนาคือความโง่ ความซื่อ ชาวนาถูกมองว่ายากจน เพราะว่าข้าวที่เขาปลูกมันมิได้มีค่ามากมายใดๆในทางเศรษฐศาสตร์ตะวันตก "เศรษฐศาสตร์แห่งผลกำไรขาดทุน-ทุนนิยม" เพราะวิถีแห่งวัฒนธรรมแต่เดิมมิเคยคิดจะขายข้าว เพราะข้าวคือแม่โพสพ ชาวนาบอกว่า "ข้าวกะคือ เลือด คือ กระดูกเพิ่น" ข้าวนอกเหนือจะปลูกเพื่อบำรุงอัตภาพธาตุขันธ์ให้อยู่ได้แล้ว จำเป็นต้องแบ่งปันให้ทาน ทั้งมนุษย์และสัตว์ อุทิศส่วนบุญกุศลให้นางโพสพ และญาติมิตรผู้ล้มตายไปตามกฏธรรมชาติ

ชาวนายังถูกมองทั้งโง่และจน เนื่องจากมิรู้จักนำเอาดิน ป่าไม้ ไปขาย การที่ชาวนาบอกว่าผืนดิน ผืนน้ำ ผืนป่า เป็นของธรรมชาติ "สิเฮ็ดสิทำหยังต้องคอบต้องบอกเพิ่น" นั่นเป็นเรื่องที่งมงายไร้สาระ ทั้งๆที่ว่าสิ่งนั้นเป็นจริยธรรมเชิงสูง ในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และยอมรับกฏ เกิด แก่ เจ็บ ตายแห่งธรรมชาติ

ข้าพเจ้าคิดว่าความรู้และวิชาการ ล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามยุค ตามกาล สิ่งที่สำคัญคือ หมุดยืนทางวิชาการ(3) ว่าจะอยู่บนฐานโลกทัศน์ใด จะตอบสนองระบบทุนนิยม ที่นำไปสู่ความโลภไม่จบสิ้น หรือจะตอบสนองธรรมชาติและผู้ยากไร้ในแผ่นดิน

หมุดยืนวิชาการของโลกตะวันตก ที่ผ่านมามักอยู่บนฐานแห่งการพิชิตธรรมชาติ มองธรรมชาติในเชิงกายภาพและวัตถุ บนพื้นฐานโลกทัศน์แบบจักรกล (mechanistic worldview) ที่มองจักรวาลแบบเป็นส่วนๆ ดังกลไกของเครื่องจักรกล มองมนุษย์แยกจากธรรมชาติ ชุดเดียวกันกับแนวคิดฟิสิกส์แบบนิวตันที่มีทัศนะแบบสสารนิยมหรือวัตถุนิยม นอกจากนี้การมองมนุษย์แยกส่วนจากธรรมชาติ นำไปสู่การมองธรรมชาติเชิงมูลค่า (ทางเศรษฐกิจ) มากกว่าคุณค่า แล้วนำมาตอบสนองความต้องการอันไร้ขีดจำกัดของมนุษย์ อันเป็นฐานคิดสุดคลาสสิคของเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมตะวันตก นำไปสู่การแข่งขันหรือทำลายดังที่ผ่านมา

เช่น นิเวศวิทยาตะวันตกยุคแรกที่เข้ามายังประเทศแถบเอเชีย มักอยู่บนฐานคิดแห่งการศึกษาป่า เพื่อตัดมาใช้เพื่อการค้า ที่มีบริษัทค้าไม้อยู่เบื้องหลัง แล้วนำไปสู่การยึดอาณานิคม ดังนั้นเมื่อหมุดยืนเป็นแบบนี้ โลกของเราจึงเดินไปตามเส้นทางของวิชาการที่มุ่งเน้นความเจริญทางวัตถุ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ความศิวิไลซ์

และในบางครั้งการพัฒนาวิชาการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์อาจสุดโต่ง เพื่ออมตะแห่งร่างกายมนุษย์ ที่จะสามารถเสพและมีความสุขทางกายจากทรัพยากร ทรงไว้ซึ่งอำนาจ และเงินตรา อย่างยาวนาน เลยไปถึงการขึ้นไปเยือนต่างดาว ด้วยอำนาจเงินมหาศาล นำไปสู่การแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์ เพื่อการอวดมิรู้จบสิ้น ซึ่งข้าพเจ้าเองยังสงสัยว่าแท้จริงแล้ว การพัฒนาวิชาการของโลกทุกวันนี้อยู่บนฐานกฏธรรมชาติและจริยธรรม หรืออยู่บนความหลง และความต้องการอันไร้จำกัด และแท้จริงการพัฒนางานทางวิชาการผู้ใดเป็นผู้ได้ประโยชน์กันแน่

ฤางานวิชาการก็เป็นเพียงเครื่องมือแห่งการแสวงหาอำนาจ ผลประโยชน์ และฐานันดรศักดิ์ของคนบางกลุ่มที่อ้างตนว่าเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัย เสียเท่านั้น

แม้การพัฒนาวิทยาศาสตร์และวิทยาการสมัยใหม่จะเป็นสิ่งที่มีคุณูปการ แต่หากอยู่บน หมุดยืนและโลกทัศน์ทางวิชาการ เพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เฉพาะตนของมนุษย์ จนบิดเบือนธรรมชาติและความหลากหลายแห่งวัฒนธรรม หาใช่ว่าเส้นทางแห่งมนุษยชาติเยี่ยงที่ผ่านมาจะนำไปสู่ความยั่งยืนไม่ จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเสมอภาคไม่ อุปมาเหมือนการปลูกข้าวอย่างเดียวกัน ผู้หนึ่งปลูกข้าวเพื่อกินเหลือแล้วให้ทานแบ่งปัน อีกผู้ทำการปลูกข้าวเพื่อขาย แม้จะปลูกข้าวเหมือนกัน เมื่อทัศนะและโลกทัศน์เบื้องหลังต่างกัน ย่อมนำมาสู่วิถีการผลิตและผลกระทบที่ต่างกัน

เพราะฉะนั้นการพัฒนาที่อยู่บนรากฐานแห่งวิชาการเพื่อผลประโยชน์ที่ผ่านมามักทำให้เกิดการทำลายดุลยภาพทางนิเวศ ทั้งดุลยภาพทางสังคมที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ลัทธิวัตถุและบริโภคสุดโต่ง หรือ ดุลยภาพทางธรรมชาติ ทำให้เกิดการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศโลก (climate change)

การยึดถือหมุดยืนเยี่ยงนี้แบบเดียว ทำให้ดูเหมือนว่า สิ่งที่แตกต่างไปจากนี้คือสิ่งที่ผิด ไม่ถูกต้อง ล้าสมัย แต่องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นมาบนโลกนี้ จากสภาพแวดล้อม บริบทหรือเขตภูมิศาสตร์ของโลกในแต่ละแห่ง ล้วนมีที่มาหรือเงื่อนไขต่างกันและหลากหลาย การที่จะยึดถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสากล นอกเหนือจากที่จะพิจารณาถึงผลกระทบอันมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังต้องพิจารณาว่าสอดคล้องกับวัฒนธรรมอันดีงามและธรรมชาติหรือไม่

วิชาการในโลกนี้อาจเป็นเพียงเรื่องของวัฒนธรรมหรือวาทกรรม หรือจะเรียกอะไรก็ตามแต่ แต่สิ่งสำคัญมันอยู่ภายใต้ความเชื่อหรือโลกทัศน์ใด บนพื้นฐานแห่งจริยธรรมทางธรรมชาติหรือไม่ ทุกวันนี้วิชาการสายหลัก ได้ตอบสนองคติความเชื่อจากสังคมตะวันตกเกือบทั้งสิ้น เช่น วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทุนนิยม เศรษฐกิจทุนนิยม เพราะวัฒนธรรมของโลกตะวันตกเกิดขึ้นบนเขตภูมิศาสตร์ที่ต้องเอาชนะและพิชิตธรรมชาติ สภาพแวดล้อมที่อัตขัต ขัดสนไม่สมบูรณ์ทำให้พวกเขาต้องพยายามหาหนทางหรือวิธีการใดๆ เพื่อเอาชนะ เพื่อความสะดวกสบายมั่งคั่ง อันเป็นความจำเป็นแห่งชีวิตและวัฒนธรรมนิเวศของเขา

แต่ตลอดเวลาที่เราเดินตามสายทางเยี่ยงนี้เราก็ได้รับรู้แล้วว่าผลที่เกิดบนการเดินตามสายทางวิชาการหมุดเก่า นำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากร แย่งชิงมนุษย์ (มนุษย์เป็นเพียงปัจจัยการผลิตของระบบทุนนิยม) การทำลายคนพื้นเมือง นำไปสู่สังคมแห่งวัตถุ สังคมแห่งความโลภมิจบสิ้น การเอารัดเอาเปรียบ และนับวันการใช้ทรัพยากรเพื่อตอบสนองความเจริญทางเศรษฐกิจของกลุ่มนายทุน หรือคนเมือง นับทวีคูณว่าจะก่อให้เกิดการขาดดุลยภาพทางนิเวศอย่างรุนแรง เช่น ปัญหาด้านพลังงาน

เมื่อข้าพเจ้าเดินทางผ่านเข้าไปยังหมู่บ้านและชุมชนชาวนาริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของชนพื้นเมืองในดินแดนตะวันออก ในเขตป่าฝนเมืองร้อน ที่ถือว่าเป็นเขตของโลกเก่า มีความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ข้าพเจ้าพบว่า ณ ชุมชนที่นั่นมีการสั่งสมองค์ความรู้และวัฒนธรรมมามิน้อยไปกว่าสังคมตะวันตก เช่น นิเวศวิทยาการปลูกข้าวยุคบ้านเชียง ภูมิปัญญาด้านการรักษาโรค ด้านการผลิตอาหาร ด้านการจัดการทางนิเวศ ด้านสังคมและวัฒนธรรม ฯลฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตลุ่มน้ำโขงไทย-ลาว อันมีหลักฐานปรากฏพยานขึ้นอย่างอารยธรรมบ้านเชียง และผสมผสานด้วยวิถีวัฒนธรรมแบบพุทธ เมื่อพวกเราเดินทางไปหมู่บ้านชาวนา เราเห็นพี่น้องชาวนายืนเรียงรายใส่บาตรตามสายทางในหมู่บ้าน ในยามวันศีลวันพระ ตอนค่ำชาวนาจะเก็บดอกไม้สีขาว อย่างสเลเต ดอกจำปา ดาวเรือง หรือดอกไม้ป่าอื่นๆ เท่าที่มีในเฮือน บางส่วนจะเอามาผูกมามัดไว้ ที่หัวบันไดบ้าน เพื่อบูชาคุณพ่อคุณแม่ คุณเฮือน ก่อนวันงานบุญข้าวสาก ข้าวประดับดิน ชาวนาจะห่อข้าวต้ม เพื่อเอาไปถวายทานที่วัด

เมื่อถึงยามลงนา ชาวนาจะเลี้ยงผี เลี้ยงเทวดา ที่เป็นระบบธรรมชาติหนึ่งที่ซ้อนอยู่ในระบบนิเวศทางรูปธรรมของท้องทุ่งนา เพื่อให้รักสมรักษา พร้อมกับปักตาแฮก ก่อนจะลงนา เมื่อได้ข้าว ก่อนที่จะนำไปรับประทาน จะทำบุญสูดขวัญข้าว อุทิศส่วนบุญกุศลให้แม่โพสพ แม่ธรณี เมื่อเสร็จภารกิจทำนา จะเลี้ยงปู่เลี้ยงตา ที่เป็นผีบรรพบุรุษ ผู้ดูแลผู้คนในหมู่บ้านให้ร่มเย็น

วิถีชีวิตและวิถีวัฒนธรรมของชาวนา เป็นสิ่งที่คนในชาติภาคภูมิใจ ในการมีวัฒนธรรมและอารยธรรมเป็นของตัวเอง ของคนไทย หรือคนลาว แต่จริงๆแล้ววิถีชีวิตอันสอดคล้องกับธรรมชาติและมักนำไปสู่การเกิดดุลยภาพทางนิเวศ เพราะถือว่ามีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยจริยธรรมเชิงสูง แท้จริงแล้วแฝงด้วยนัยยะแห่งวิชาการ ซึ่งหมายถึงหมุดยืนแห่งวิชาการและภูมิปัญญาหรือชุดความรู้ทางวิชาการที่มิได้ด้อยค่าไปกว่าชุดความรู้-วิชาการจากโลกตะวันตกแต่อย่างใด

เพราะโลกทัศน์ของชาวนาอยู่บนพื้นฐานทัศนะ มนุษย์มิได้ใหญ่โตกว่าธรรมชาติ มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ระบบนิเวศธรรมชาติยังมีระบบแห่งพลังงาน-จิตวิญญาณนิเวศ ซ้อนและยึดโยงกันอยู่ กับนิเวศวิทยาเชิงรูปธรรม(4)

ชาวนามิได้ปฏิเสธโลกแห่งวัตถุหรือสิ่งแวดล้อมทางรูปธรรม ความดีงามแห่งจิตใจคืออุดมคติอันสูงสุดของชาวนา หาใช่โลกแห่งวัตถุที่วิชาการอย่างตะวันตกยึดเป็นหลักชัยไม่ ดังที่เราจะเห็นจากวิถีชีวิตอันเรียบง่ายที่เคารพและอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ ต่อแม่โพสพ ต่อแม่ธรณี ต่อปู่ตา หรือวิถีแห่งพระชาวนา "พระธุดงคกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น" อันหมายถึงระบบภูมิปัญญาแห่งการพัฒนาทางสติปัญญา ให้พ้นไปจากความเห็นแก่ตัวและความเอารัดเอาเปรียบ ถึงซึ่งความว่างเปล่า ที่ไม่มีแม้แต่อนุภาคของอิเลคตรอน โปรตรอน นิวตรอนและอนุภาคอื่นๆ(5) เป็นมรรควิถีที่จะนำไปสู่ดุลยภาพทางนิเวศและทางสังคม และเป็นรากฐานแห่งกระบวนทัศน์อันสำคัญยิ่งต่อระบบธรรมชาติของนิเวศวิทยาชาวนา ที่จะเป็นฐานแห่งหมุดยืนวิชาการใหม่

แต่ชุดความรู้ทางวิชาการของชาวนาดังกล่าว ในวิถีทางแห่งการพัฒนาและวิชาการสมัยใหม่บนหมุดยืนตะวันตก หาได้ยอมรับไม่ หนำซ้ำยังมองว่าล้าหลัง ไม่พัฒนา

การเลี้ยงตาแฮก การสูดขวัญข้าว ขวัญควาย การให้ทาน การอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ หรือแม้กระทั่งวิชาการแพทย์พื้นบ้าน ที่เวลาไปเก็บสมุนไพรจากป่า ต้องทำพิธีขอจากเทวดาผู้รักษาป่าและแม่ธรณี ที่เป็นระบบการแพทย์เชิงคุณธรรม เป็นสิ่งที่งมงายที่สุด วิชาการตะวันตกบนหมุดยืนแบบเก่า มองว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องไร้สาระ เพราะพิสูจน์ด้วยวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ (นิวตันฟิสิกส์) มิได้

แต่วิถีวิชาการที่ซ่อนอยู่บนวิถีแห่งวัฒนธรรม กลับมิได้ทำให้เกิดการแข่งขัน ความโลภ การแย่งชิง การทำลายระบบนิเวศ เช่น ระบบเกษตรคุณธรรม ที่ยังพบในหมู่บ้านชาวนาอีสาน ในปัจจุบันมีนักคิด นักวิชาการ และนักพัฒนาหลายท่าน ออกมานำเสนอแนวคิดเรื่องการพัฒนาทางเลือก เกษตรทางเลือก เศรษฐศาสตร์ทางเลือก การศึกษาทางเลือก เพื่อเสนอสิ่งที่ต่างไปจากกรอบหรือแนวทางการพัฒนาบนฐานวิชาการดังกล่าวอันกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน สังคมและดุลยภาพทางนิเวศ

แม้จะเป็นการเปิดพรมแดนความรู้ที่แตกต่างไปจากเดิม และมีคุณค่ายิ่ง แต่ข้าพเจ้าเห็นว่ายังเป็นเพียงการประนีประนอม เป็นเพียงการเสนอรูปแบบความรู้ที่แตกต่าง ยังมิได้เปลี่ยนถึงระดับของรากแก้วจอมขวัญอย่างแท้จริง โลกทั้งโลกก็ยังเห็นและเชื่อว่าระบบวิชาการของโลกมีสายทางเดียวบนโลกทัศน์เดิมเท่านั้นที่ถูกต้อง

เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปฏิวัติและสร้างหมุดยืนวิชาการของโลกใหม่ หมุดยืนวิชาการที่อยู่บนการรับใช้ธรรมชาติและประชาชน (ผู้ยากไร้) หมุดยืนแห่งความดีงามและเอื้ออาทร มิใช่เพื่อความโลภ เพื่อพ่อค้าและนายทุน

เพราะตราบใดที่เรามองชาวนาด้วยสายตาหรือกรอบวิชาการตะวันตก เราจะเห็นคนจน เห็นชาวนาเป็นแค่เพียงผู้ทำนาปลูกข้าว เอาหลังสู้ฟ้าเอาหน้าสู้แดด แล้วเหยียดหยามอยู่ตลอดเวลา แต่หากเรามองชาวนาด้วยสายตาหรือบนหมุดยืนวิชาการใหม่แล้ว เราจะเห็นว่าชาวนามิเพียงแต่เป็นผู้ที่ปลูกข้าวเท่านั้น แต่ชาวนาเป็นผู้ผลิต ผู้สร้างวัฒนธรรม ผู้รังสรรค์ความงดงามทางจิตวิญญาณให้สังคมและระบบนิเวศ หาที่เงินตราจะมีค่าเทียบได้ไม่

แม้ย่าและพี่น้องอันเป็นบรรพบุรุษของชาวนาไทย จะจากข้าพเจ้าและชาวนารุ่นปัจจุบันไปนานหลายปี คนแล้วคนเล่าแล้ว แต่มรดกแห่งชีวิตและวัฒนธรรม ที่ทิ้งไว้บนพื้นแผ่นชีวาลัย ระบบนิเวศแห่งท้องทุ่ง ยังมีคุณค่าอยู่มิเคยเสื่อมคลาย ชาวนาเรายังรำลึกเสมอว่า แท้จริงแล้วกรรมสิทธิ์แห่งผืนดินและผืนฟ้า หาใช่เป็นสมบัติของมนุษย์ยุคปัจจุบันอย่างแท้จริง ที่จะซื้อขาย แย่งยึด ขูดรีด กอบโกง โดยใช้กฏหมาย-นิติศาสตร์แห่งโลกทัศน์แข่งขัน และระบบการตีค่าธรรมชาติด้วยกรอบคิดเชิงมูลค่า แต่ผืนดิน และผืนน้ำ คือ ชีวิต เลือด เนื้อ ของบรรพชนคนแล้วคนเล่าที่ ตายลงไป เปลี่ยนสภาพจากร่างกาย กลับคืนสู่ผืนดินและสายน้ำ เปลี่ยนสภาพแห่งสสารและพลังงานคืนป่าเขาบนพื้นชีวาลัยที่เชื่อมโยงระบบนิเวศน้อยใหญ่ทั้งโลกเป็นหนึ่งเดียว ตามกฏทางนิเวศวิทยาของธรรมชาติ

การเอาดอกไม้บูชาแม่ธรณี การเลี้ยงปู่ตา การบูชาผีแห่งสายน้ำ คือ วิถีแห่งการอ่อนน้อม เคารพธรรมชาติและกตัญญูต่อบรรพชนที่ล่วงลับ เป็นดวงวิญญาณที่สิงสถิตตามหมู่มวลแมกไม้ ผืนดิน และสายน้ำ อันสอดคล้องกับความเป็นจริงแห่งชีวิตและธรรมชาติ ที่จะหาใดพบเห็นได้เล่าในวิถีชีวิตแห่งการพัฒนาในยุคทุนนิยม

ขอขอบคุณ

1. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
2. อาจารย์สหัส หาญสินธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์
3. ดร.โอภาส ปัญญา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
4. อาจารย์คมกฤช อ่อนประสงค์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์
5. อาจารย์ธนู แก้วโอภาส
6. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
7. ชาวนาแห่งลุ่มน้ำโขงและลุ่มภูพาน (กาฬสินธุ์)

เชิงอรรถ

(1). หมายถึงเขียดขนาดเล็ก ที่มักอาศัยอยู่ในที่ชื้นในทุ่งนา คล้ายๆกับเขียดทราย แต่สีจะเข้มและคล้ำกว่า

(2). ชาวนาในที่นี้หมายถึงชาวนา ในวิถีการผลิตแบบยังชีพ (peasant) เป็นชาวนาที่ทำการผลิตด้วยวิถีแห่งวัฒนธรรม ได้แก่ ชาวนาไทย ลาว เป็นต้น มิได้หมายถึงชาวนาที่ทำการผลิตในไร่หรือฟาร์มขนาดใหญ่ อย่างชาวนาตะวันตก (farmer)

(3). เป็นคำที่ผู้เขียนคิด และนิยามขึ้น ว่า หมายถึง ที่ตั้งมั่นทางวิชาการ ทั้งในฐานคิด ได้แก่ ทัศนะ ความเชื่อ โลกทัศน์ ในเบื้องกลาง ได้แก่กระบวนการในการสร้างและพิสูจน์ องค์ความรู้ ปรากฏการณ์ ในเบื้องปลายหรือจุดหมาย ได้แก่ วิชาการ เป็นไปเพื่ออะไร รับใช้อะไร

(4). ทัศนะต่อระบบนิเวศธรรมชาติของชาวนา ที่มีทั้งระบบแห่งวัตถุและนามธรรม ใกล้เคียงหรือสอดคล้องกับทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ ที่กล่าวว่าสสารและพลังงานสามารถแลกเปลี่ยนสถานภาพซึ่งกันและกันได้ สสารสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงาน และพลังงานสามารถเปลี่ยนเป็นสสาร ในควอนตัมฟิสิกส์ ไม่มีอนุภาค (สสาร) และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (พลังงาน) อย่างแท้จริงในระดับพื้นฐาน สิ่งที่มองเห็นในโลกเป็นทั้งสสารและพลังงาน

(5). อนุภาคพื้นฐานภายในอะตอม มีกว่า 100 ชนิด แต่สิ่งเหล่านี้มิใช่สิ่งที่มีขนาดเล็กที่สุด การค้นพบอนุมูลควาร์ก (quark) ของนักฟิสิกส์ในราวปี 1964 อันเป็นอนุมูลหรือส่วนย่อยพื้นฐานของอนุภาคพื้นฐานของธาตุ ทำให้ทัศนะที่มีต่อโลกกายภาพและสรรพสิ่ง อาจต้องเปลี่ยนแปลง จากที่เคยเห็นและเชื่อว่าหน่วยเล็กสุดท้ายของสสารคือ อะตอม ไม่สามารถแบ่งแยกได้อีก ไม่เปลี่ยนแปลง ตามทฤษฎีอะตอมของเดโมครีตุส นักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ชาวกรีซ อันเป็นรากฐานสำคัญของวิทยาศาสตร์กระแสหลัก ยุคปัจจุบัน เพราะแม้แต่ส่วนเล็กที่สุดอย่างอนุภาคพื้นฐาน มิใช่สิ่งที่เล็กที่สุดอีกต่อไป การเสนอทฤษฎีซูเปอร์สตริงในจักวาลวิทยา ควอนตัม เป็นความก้าวหน้าของนักฟิสิกส์ที่กล่าวถึงความว่างในเอกภพ สอดคล้องกับคำสอนของพุทธศาสนา ที่เป็นพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมชาวนาไทย เรื่อง อนัตตา


++++++++++++++++++++++++++++

 

 

 

บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 680 เรื่อง หนากว่า 9500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ชาวนายังถูกมองทั้งโง่และจน เนื่องจากมิรู้จักนำเอาดิน ป่าไม้ ไปขาย การที่ชาวนาบอกว่าผืนดิน ผืนน้ำ ผืนป่า เป็นของธรรมชาติ "สิเฮ็ดสิทำหยังต้องคอบต้องบอกเพิ่น" นั่นเป็นเรื่องที่งมงายไร้สาระ ทั้งๆที่ว่าสิ่งนั้นเป็นจริยธรรมเชิงสูง ในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

ยุคแล้วยุคเล่าที่รัฐเข้าสู่หมู่บ้าน มักนำนโยบายและโลกทัศน์ ผ่านเข้ามาทางองค์กรและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มักมิได้จัดทำขึ้นบนฐานชีวิตและฐานวัฒนธรรมของผู้คน ยุคแล้วยุคเล่าที่ชาวบ้านถูกกล่าวหาว่ายากจน ไม่พัฒนา ต้องส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ ต้องซื้อ ต้องกู้เงิน (จาก ธกส.) หมู่บ้านของชาวนา คือเวทีทดลอง ของแนวความคิดบนฐานและการสนับสนุนทางทฤษฎี และวิชาการของโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะยุคหลังปี 2500 ที่ชุดความรู้และวิชาการจากโลกตะวันตกถูกนำเข้ามามากเหลือเกิน ขยายกระจายไปตามหน่วยงาน องค์กรที่มีอำนาจต่างๆ บนสมมติฐานของชนชั้นนำไทยตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม ว่าโลกตะวันตกคือโลกแห่งความเจริญ โลกเอเชีย คือโลกแห่งความล้าหลัง

R
related topic
011048
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้