นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
R
related topic
240948
release date

คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด

เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

สันติวิธี กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
ทำความเข้าใจปริศนาแนวคิดสมานฉันท์
รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากจดหมายข่าว ประชาไทออนไลน์ ซึ่งได้ส่งให้ทางกอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเป็นประจำ
จึงขอขอบพระคุณที่เอื้อเฟื้อข้อมูลเอาไว้ ณ ที่นี้

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=944&
SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 679
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 16.5 หน้ากระดาษ A4)



หมายเหตุจาก อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
บทความชิ้นนี้ดัดแปลงแก้ไขจาก บทบรรยายเรื่อง "The Reconciliation Problematique" ของข้าพเจ้าที่นำเสนอในการประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง " Southeast Asia : Peace and Soul Searching " จัดโดยโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐ, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี, จังหวัดปัตตานี, 17 สิงหาคม 2548 บางส่วนเคยตีพิมพ์เป็นบทความใน มติชนรายวัน (31 สิงหาคม, 2548)

ปาฐกถาในการสัมมนา
บทบาทภาคประชาชนกับการมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้ง
ปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
ตามแนวทางสันติวิธีและสมานฉันท์

จัดโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยและเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน (ครป.)
มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทร์เกษม, ๑๗ กันยายน ๒๕๔๘

หลังจากที่รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ มีอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน เพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยไม่ใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดคำถามขึ้นหลายข้อ เช่น

- การเสนอให้รัฐบาลหาวิธีไม่ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีตากใบทั้ง 58 คน เป็นการส่งเสริมความไม่ถูกต้องหรือไม่
- คณะกรรมการจะตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตรหรือไม่ หรือ
- เมื่อตั้งคณะกรรมการนี้ขึ้นแล้ว เหตุใดความรุนแรง"รายวัน"ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังดำเนินต่อไป เช่น

เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม 2548 ก็เกิดระเบิดที่อำเภอตากใบ นราธิวาส ขณะที่มีชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ถูกยิงบาดเจ็บที่ยะลาและปัตตานีหลายรายในวันเดียวกัน

ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 ก็เกิดเหตุผู้ก่อการไม่สงบระเบิดเสาไฟฟ้าจนไฟฟ้าดับทั่วเมืองยะลา และเกิดเหตุวางเพลิงเผาผลาญบ้านเรือน ทรัพย์สินราษฎรเสียหายไปมาก จนกระทั่งสองวันหลังเหตุร้ายที่ยะลา รัฐบาลประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2548 โดยให้เหตุผลว่า

"ในปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีความร้ายแรงมากยิ่งขึ้น จนอาจกระทบต่อเอกราช และบูรณภาพแห่งอาณาเขต และก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ รวมทั้งทำให้ประชาชนได้รับอันตรายหรือเดือดร้อนจนไม่อาจใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข และไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปรกติได้"[1]

วิธีเผชิญกับคำถามนี้มีสองทางคือ

ทางแรก ตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่นผู้ต้องหาในคดีตากใบซึ่งเป็นชาวตากใบทั้ง 58 คนนั้น เป็นผู้ร้ายมุ่งทำลายสังคมหรือไม่ เจตนาของนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างไรแน่ หรือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำลายชีวิตจิตใจของผู้คนทั้งสามัญชนและเจ้าหน้าที่ในขณะนี้ เกิดขึ้นเพราะอะไร ประสงค์จะตอบโต้แนวทางสมานฉันท์ที่รัฐบาลหันมาสนใจหรือไม่อย่างไร

อีกวิธีหนึ่งคือ พยายามทำความเข้าใจว่า แนวทางสมานฉันท์เป็นอย่างไร ทำงานเพื่อลดความรุนแรงได้อย่างไร

ข้าพเจ้าจะพยายามนำเสนอหนทางทำความเข้าใจการทำงานของแนวทางสมานฉันท์ โดยเริ่มต้นจาก การนำเสนอเหตุการณ์ที่ถือกันว่ามีคุณลักษณ์สมานฉันท์อย่างชัดเจนในฐานะกรณีศึกษา จากนั้นจะสรุปแนวคิดที่ได้จากกรณีดังกล่าวเป็นหลักการสำคัญในการทำงานสร้างสมานฉันท์ในสังคมไทย พร้อมทั้งนำเสนอฐานความคิดสมานฉันท์ที่ใช้กันในสังคมมุสลิม และที่สุดจะได้ชี้ว่าการทำงานสมานฉันท์ในสังคมไทยขณะนี้ แตกต่างจากที่เกิดขึ้นในสังคมอื่นอย่างไร อันน่าจะเป็นเหตุให้การทำงานสมานฉันท์ในสังคมไทยจะยังอยู่ในภาวะเป็นปริศนาที่ไม่ลงตัว(problematic)

จากฆาตกรรมสู่สมานฉันท์[2]
วันที่ 21 มกราคม 2538 ชายหนุ่มคนหนึ่งขับรถไปส่งพิซซ่าที่เขต นอร์ธ พาร์ค ในซาน ดิเอโก สหรัฐอเมริกา คนโทรศัพท์ไปสั่งอาหารเป็นกลุ่มวัยรุ่นอันธพาลที่หลอกสั่งพิซซ่ามารับประทาน คนส่งพิซซ่าไม่ยอมจำนน สมาชิกของกลุ่มอันธพาลจึงยิงเขาเสียชีวิต คนถูกยิงชื่อ ตอริค คามิซา เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยซานดิเอโก อายุ 20 ปี, คนยิงชื่อ โทนี่ เอ็ดเวิร์ด ฮิคส์ เป็นเด็กอัฟริกัน-อเมริกัน อายุ 14 ปี. กับ 3 เดือน ต่อมาเด็กชายผู้นี้กลายเป็นบุคคลอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของคาลิฟอร์เนีย ที่ต้องคดีในศาลผู้ใหญ่ เขาต้องโทษจำคุก 25 ปี ถึงตลอดชีวิต

เมื่อแม่ของตอริคทราบข่าวลูกชาย เธอล้มทั้งยืน เมื่อคุณย่าทราบข่าว เธอร้องไห้และบอกพ่อของตอริคให้อ่าน "ซอลาวัต" บทสวดขอองค์อัลเลาะห์อำนวยพรให้ศาสดามูฮัมมัด ซึ่งชาวมุสลิมจะสวดในเวลาที่ทุกข์ยาก.
ปู่ของโทนี่ ฮิคส์ เป็นอดีตทหารอเมริกัน หน่วยกรีน เบเรต์ในสงครามเวียดนาม เขาตกตะลึงเมื่อเห็นข่าวฆาตกรรมนี้ทางโทรทัศน์ และรู้สึกหมดสิ้นทุกสิ่งเมื่อทราบว่าหลานของตนเป็นฆาตกร เขาเป็นคนเลี้ยงดู โทนี่ ฮิคส์ แทนพ่อแม่ เพราะลูกชายของเขาคือ พ่อของคนยิงมีลูกเมื่ออายุได้ประมาณ 15 ปี เป็นสมาชิกแก๊งวัยรุ่นและติดยางอมแงม ขณะที่แม่ของคนยิงก็คลอด โทนี่ ฮิคส์ เมื่อตนเองอายุเพียง 15 ปีเท่านั้น

ในวันฝังศพตอริค ครูสอนศาสนาท่านหนึ่ง(อุซต๊าซ)เอ่ยกับพ่อของคนตายว่า "ความเศร้าโศกเป็นธรรมดามนุษย์ แต่ฉันอยากให้คุณเป็นอิสระจากภาวะอัมพาต ที่เกิดจากความเศร้าสลดเพราะลูกตายนี้ และหาสิ่งที่ดีงามมาทำในนามของตอริค การงานแห่งความเมตตาที่ทำในนามของผู้ที่จากไป เป็นดังทรัพย์ทางจิตวิญญาณที่จะเป็นคุณต่อดวงวิญญาณของผู้ตาย..." [3]

เมื่อถูกถามว่า ไม่โกรธหรือที่ลูกชายถูกฆ่าตาย พ่อของตอริคตอบว่า "สิ่งแรกที่รู้สึกคือความโกรธ แต่โกรธประเทศของเรา โกรธสังคมของเราที่ไม่ยอมทำอะไรสักอย่างเพื่อยุติการที่เด็กต้องถูกฆ่าและกลายเป็นฆาตกรเพิ่มขึ้นทุกๆปี…." "ทุกวันในประเทศของเรา มีเด็ก 13 คนต้องเสียชีวิตเพราะปืน และคนซึ่งอยู่ที่สองด้านของตัวปืน (ทั้งที่ด้ามปืนและปลายกระบอกปืน)ก็ล้วนเป็นเหยื่อด้วยกันทั้งคู่" พ่อของตอริคสรุปว่า "ผมช่วยตอริคตอนที่เขาถูกยิงตายไม่ได้ แต่ผมทำอะไรให้เป็นอนุสรณ์ถึงเขาได้ ผมต่อสู้กลับได้ ผมอาจลองพยายามช่วยไม่ให้ใครอื่นต้องประสบเคราะห์กรรมฝันร้ายจากความรุนแรงที่มีวัยรุ่นเป็นผู้ก่อได้ "[4]

พ่อของตอริคผู้ถูกฆาตกรรมจึงตัดสินใจไปพบกับปู่ของโทนี่เด็กชายผู้เป็นฆาตกร เขาเชื่อว่าทั้งปู่ของฆาตกรและเขาผู้เป็นพ่อของลูกชายที่ถูกฆ่าก็เป็นผู้สูญเสียทั้งคู่ วิธีหนึ่งที่จะอยู่ต่อไปกับความสูญเสียนี้คือร่วมกันแบกรับภาระแห่งความสูญเสียนี้ด้วยกัน ทั้งคู่ตัดสินใจรวมพลังกัน"ต่อสู้เอาคืน"ต้านความรุนแรง ด้วยการทำ"งานแห่งความเมตตา" พวกเขาและเพื่อนๆก่อตั้งมูลนิธิตอริค คามิซาขึ้นที่ ซาน ดิเอโก คนทั้งสองเห็นว่าทั้งตอริค และ โทนี่ก็เป็นเหยื่อด้วยกันทั้งสองฝ่าย และไม่อยากจะเห็นเด็กๆ ผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอีก ไม่ว่าจะในฐานะผู้ถูกฆาตกรรมหรือผู้ลั่นไก มูลนิธิดังกล่าวจึงก่อตั้งขึ้นเพื่อ

-หยุดการฆ่ากันระหว่างเด็กๆ
-ทำลายวัฏจักรแห่งความรุนแรง
-สร้างแรงบันดาลใจผ่านการใช้สันติวิธีในฐานะทางเลือก และ
-พยายามปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังเพื่ออนาคต [5]

ปัญหาคือ เรื่องราวของพ่อตอริค คามิซาคนถูกฆ่า และปู่ของโทนี่ ฮิคส์ ผู้เป็นฆาตกรช่วยให้เข้าใจแนวคิดสมานฉันท์อย่างไร?


แนวคิดสมานฉันท์กับหลัก 9 ประการ
ปฏิกิริยาของผู้คนในสังคมที่ผ่านวันคืนอันรุนแรงเศร้าหมองมาแล้วต่อแนวทางสมานฉันท์ (reconciliation)มักต่างกัน. Patricia Valdez อดีตผู้อำนวยการของคณะกรรมการสัจจะแห่งอาร์เจนตินาเห็นว่า "ในอาร์เจนตินา ไม่มีใครพูดถึงสมานฉันท์หรอก ไม่มีใครเข้าไปยุ่งกับเรื่องนี้ ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะค้านการสมานฉันท์อย่างจริงจัง แต่คำนี้ไม่มีความหมายอะไรที่นี่"[6]

คำอธิบายปรากฏการณ์เช่นนี้มาจาก Horacio Verbitsky นักหนังสือพิมพ์ในอาร์เจนตินา ซึ่งตั้งคำถามเอากับแนวทางสมานฉันท์ตรงๆว่า "สมานฉันท์โดยใคร? คุณยังอยากจะสมานฉันท์กับคนที่รับผิดชอบกับการเอาตัวลูกสาวคุณไป} ทรมานเธอ} อุ้มเธอหายไป} แล้วปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นอะไรทั้งนั้นอีกหรือ ? คำ "สมานฉันท์" ไม่มีความหมายอะไรที่นี่ "สมานฉันท์"ในฐานะวาทกรรมทางการเมือง เป็นเรื่องไร้ศีลธรรมอย่างลึกซึ้ง เพราะได้ปฏิเสธความเป็นจริงที่ประชาชนต้องผ่านพบมา ไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะหวังให้ใครสมานฉันท์หลังจากสิ่งที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นที่นี่" [7]

ในศรีลังกา คณะกรรมการที่ประธานาธิบดีกุมาระตุงคะตั้งขึ้น เพื่อหาความจริงเกี่ยวกับการใช้กำลังลักพาผู้คนและอุ้มหายไป ก็ไม่ได้เสนอว่า งานของตนจะนำไปสู่การสมานฉันท์ คณะกรรมการของศรีลังกาเพียงแต่สนใจรวบรวมข้อเท็จจริง และหาวิธีชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้สูญเสีย หรือครอบครัวของพวกเขาเท่านั้น บางคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในศรีลังกาเห็นว่า การเสนอให้มีสมานฉันท์ระหว่างบุคคลเป็นเรื่องไร้เหตุผล เพราะไม่มีผู้ใช้ความรุนแรงคนใดก้าวออกมารับผิดเลย[8]

ขณะเดียวกันในประเทศไลบีเรีย ที่เกิดสงครามกลางเมืองฆ่าฟันกันอย่างรุนแรงตั้งแต่วันก่อนวันคริสต์มาส ในปี ค.ศ.1989 และบางคนเชื่อว่ายุติลงเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ.1997 ปัญหาประการหนึ่งคือเมื่ออดีตนักรบวัยรุ่นพากันคืนเมือง จะดำเนินการ"สมานฉันท์"อดีตนักรบเหล่านี้กับบรรดาเหยื่อของความรุนแรงที่สูญเสียเพราะคนเหล่านี้กันอย่างไร

ปรากฎว่าในปี ค.ศ.1998 กระบวนการคืนกลับสู่สังคมของอดีตนักรบวัยรุ่นในไลบีเรียตอนใต้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว หลายคนกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่ของตนในหมู่บ้าน แนวทางและวาทกรรมสมานฉันท์เป็นที่ยอมรับแพร่หลายในกลุ่มผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน แม้ว่าคนฆ่าลูกของบ้านนี้จะเป็นลูกชายลูกสาวของบ้านนั้น แต่คำอธิบายที่เกิดขึ้นทั่วไปก็คือ "พวกเขาล้วนเป็นลูกเป็นหลานของเรา เราจึงต้องให้อภัยเขา" เป็นไปได้ว่าที่นักรบวัยรุ่นเหล่านี้แรกตัดสินใจจับอาวุธเข้าสู้ในสงครามกลางเมือง ก็เพื่อปกปักคุ้มครองตนเองและครอบครัว ดังนั้นเหตุผลในการรักษาชุมชน ครอบครัวและตนเองจึงเป็นเงื่อนไขของการพร้อมให้อภัยได้เช่นกัน[9]

กล่าวให้ถึงที่สุด "สมานฉันท์"ในสายตาของเหยื่อแห่งความรุนแรง อย่างน้อยก็ในกรณีอาร์เจนตินาและศรีลังกาที่นำมาพิจารณาข้างต้นนี้ แม้จะมีการชดเชยให้บ้างแต่ก็คงไร้ความหมาย ถ้าปราศจากการยอมรับ"ความจริง" และการแสดงความพร้อมรับผิดโดยผู้ก่อความรุนแรง

แต่กรณีที่เกิดขึ้นในไลบีเรียตอนใต้ได้แสดงให้เห็นว่า การสมานฉันท์เป็นไปได้ในระดับชุมชน เกิดการให้อภัยกันทั่วไป แม้ระหว่างอดีตฆาตกรและญาติพี่น้องของผู้สูญเสียนั้นเอง

ด้วยเหตุนี้ ถ้าถือเรื่องราวความตายของตอริค คามิซา และสิ่งที่พ่อของผู้ตายและปู่ของฆาตกรร่วมกันกระทำเป็นกรณีศึกษาแนวทางสมานฉันท์ จะเห็นได้ว่าแนวคิดนี้มิใช่การชักชวนผู้คนที่ขัดแย้ง ต่อสู้ใช้ความรุนแรงต่อกันให้มายิ้มแย้มคืนดีกัน และหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเอง แต่เป็นความพยายามแก้ปัญหาความรุนแรงโดยมิได้ใช้วิธีการรุนแรงมาแก้ปัญหาความรุนแรง (problem-solving approach and not a violent approach to solve a problem of violence) บนพื้นฐานความเข้าใจว่า ความรุนแรงมิได้เพียงเกิดขึ้นจากผู้กระทำ แต่ยังมีสาเหตุอยู่ที่โครงสร้างและวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังผู้คนที่แตกต่างจากตัว คอยหล่อเลี้ยงให้ความชอบธรรมอยู่

ตัวอย่างเช่น โทนี่ ฮิคส์ มาจากครอบครัวยากจน ที่มีพ่อติดยา แม่มีลูกตั้งแต่อายุยังน้อย ตนเองไม่มีการศึกษาและเติบโตมากับการถูกพ่อทุบตี อยู่กับเพื่อนๆในแก๊งที่เห็นความรุนแรงเป็นเรื่องปรกติสามัญ โครงสร้างชนิดนี้มิได้เพียงให้กำเนิดโทนี่ ฮิคส์ ฆาตกรอายุสิบสี่ แต่ให้กำเนิด เด็กอย่างโทนี่ ฮิคส์ มากมาย หากผู้คนเหล่านี้ถูกหล่อหลอมให้เกลียดชังคนที่ต่างจากตัว ทั้งในทางเชื้อชาติ สีผิว หรือ ศาสนา ความรุนแรงก็ย่อมเกิดขึ้น[10]

ถ้าจะใช้วิธีการแก้ปัญหาความรุนแรง(problem-solving approach)ก็คงต้องสนใจปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ผลิตตัวคนใช้ความรุนแรง และปัจจัยเชิงวัฒนธรรมที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงเป็นสำคัญ เพราะถ้าไม่ใส่ใจกับสาเหตุเชิงโครงสร้าง และเงื่อนไขทางความคิด-ความเชื่อที่ให้ความชอบธรรมต่อความรุนแรง ก็จะหยุดวัฏจักรแห่งความรุนแรงไม่ได้[11]

ด้วยเหตุนี้แนวทางสมานฉันท์จึงจำเป็นต้องมุ่งสร้างสรรค์ความเป็นธรรมในสังคม ลดช่องว่างระหว่างผู้คนที่ต่างกัน ส่งเสริมให้กลไกของรัฐทำงานด้วยความพร้อมรับผิด(accountability)

การร่วมมือกันระหว่างผู้สูญเสียทั้งสองฝ่ายเป็นแรงบันดาลใจในการแก้ปัญหาที่สำคัญ เพราะการที่ตัวผู้สูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นลูกเมีย หรือ พ่อแม่ ตัดสินใจอาศัยความสูญเสียของตนเป็นรากฐานความคิดที่จะก้าวข้ามความเกลียดชัง ไปร่วมมือกับญาติมิตรของฝ่ายที่รับผิดชอบต่อความสูญเสียของตน เพื่อแก้ปัญหาในสังคม หมายความว่า คนเหล่านี้ต้องยอมเผชิญกับความจริงอย่างซึ่งหน้า คงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพ่อของตอริคที่จะไปพบปู่ของเด็กชายที่ฆ่าลูกของตัว และคงยากยิ่งขึ้นไปอีกที่จะยื่นมือออกไปให้อีกฝ่ายหนึ่งจับ

ในแง่นี้ฝ่ายผู้สูญเสียได้ให้อภัยกับอีกฝ่ายหนึ่ง ชักชวนกันเข้าสู่การสานเสวนา(dialogue) ข้ามเส้นแบ่งแห่งความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา แสวงหาลู่ทางแก้ปัญหาที่ทั้งสองฝ่ายตระหนักว่าเป็นปัญหาร่วมกัน เพราะพ่อก็สูญเสียลูกที่ถูกยิงเสียชีวิต ปู่ก็สูญเสียหลานที่กลายเป็นฆาตกรถูกจับกุมคุมขัง ในแง่นี้ทั้งการเผชิญกับความจริง การให้อภัย และ การสานเสวนาข้ามพรมแดนแห่งความแตกต่างทางวัฒนธรรม ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้แนวทางสมานฉันท์เป็นไปได้

พ่อของตอริค คามิซา ตระหนักดีว่า ลูกชายของตนจากไปแล้ว และไม่มีวันหวนคืนมา ปู่ของโทนี่ ฮิคส์ก็เช่นกัน เขาทราบว่าหลานกลายเป็นฆาตกร และวัยเด็กของเขาจะไม่มีวันเหมือนเด็กชายอื่นๆอีก ความทรงจำเหล่านี้อาจกลายเป็นบาดแผลที่ไม่ยอมหาย และสร้างความเจ็บปวดให้ผู้คน แนวทางสมานฉันท์ที่เน้นการให้อภัยมิได้หลอกตัวเองให้ลืมอดีตเหล่านี้ หรือทำราวกับว่าความทรงจำอันเจ็บปวดนี้ไม่เคยเกิดขึ้น แต่มุ่งเปลี่ยนแปลงความทรงจำอันเจ็บปวดให้กลายเป็นพลังแก้ไขปัญหาความรุนแรง ให้จดจำความตายของ ตอริค คามิซา และ ชะตากรรมของโทนี่ ฮิคส์ เพื่อไม่ให้คนอื่นๆในสังคมต้องกลายเป็นเหยื่อความรุนแรงต่อไปอีก

พ่อของ ตอริค คามิซา กล่าวกับเด็กๆที่มาฟังสัมมนาของมูลนิธิตอริค คามิซา ว่า มีหลายคนแนะให้เขาแก้แค้น แต่การแก้แค้นไม่ช่วยให้ได้ชีวิตลูกชายของเขาคืนกลับมา เขาจึงเลือกวิธีต่อสู้กับต้นตอของปัญหาและ"เอาคืน"ไม่ใช่ด้วยการแก้แค้น แต่ด้วยการพยายามช่วยเด็กอื่นๆ มิให้กลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพวกเขา การทำงานร่วมกันของผู้สูญเสียทั้งสองฝ่ายในนามของมูลนิธิเพื่อ"สู้กับความรุนแรง"เป็นสิ่งท้าทาย เพราะเป็นการใช้จินตนาการสร้างองค์กรสถาบัน เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต

การทำงานระหว่างพ่อของคนตายกับปู่ของคนฆ่าเช่นนี้มีความเสี่ยงอยู่ด้วย แต่ความเสี่ยงในการร่วมกันทำงานระหว่างคนที่ต่างกันและเดิมอยู่คนละฝ่ายก็จำเป็น ถ้าจะพิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถฟื้นคืนความไว้วางใจระหว่างกันคืนมาได้ ทั้งหมดนี้ยังต้องเสนอทางเลือกให้กับสังคมด้วย และทางเลือกนั้นคือ นำเสนอการใช้สันติวิธีในการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งรูปต่างๆเพื่อแก้ปัญหามิใช่เพื่อการแก้แค้น

การทำงานสมานฉันท์ในสังคมไทยในกรณีความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้
การทำงานสร้างความสมานฉันท์ในสังคมคงเป็นไปได้ยาก ถ้าผู้คนไม่ยอมให้อภัยกัน ข้าพเจ้าเคยตั้งคำถามไว้ใน อภัยวิถี ว่า ในเมื่ออดีตแห่งความรุนแรงไม่สามารถหวนคืนมาได้ สังคม(ไทย)จะอยู่ร่วมกันไประหว่างคู่ขัดแย้งที่เคยฆ่าฟันกันมาได้อย่างไร หากไม่อาศัยการให้อภัย แต่การให้อภัยไม่ได้หมายความว่า จะเกิดขึ้นได้ด้วยลมปาก โดยให้ลืมความเจ็บปวด ให้ทิ้งอดีตแห่งความอยุติธรรมที่เคยเกิดขึ้น แต่เงื่อนไขสำคัญของการให้อภัยคือ การธำรงความทรงจำเพื่อปลดปล่อยตนเองออกจากพันธนาการแห่งอดีต[12]

การปลดปล่อยเช่นนี้เป็นไปได้ ด้วยอาศัยการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจด้วยสันติวิธี และเงื่อนไขสำคัญของการต่อสู้ด้วยสันติวิธีคือ การใช้แนวทางสานเสวนา (dialogue) โดยเฉพาะถ้าความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างผู้คนที่ต่างกันด้วยศาสนาและชาติพันธุ์ ก็คงต้องอาศัยการสานเสวนาข้ามศาสนา-ชาติพันธุ์เป็นสำคัญ[13]

แม้ทั้ง"ความทรงจำ"และ"สันติวิธี"จะเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ แต่ก็ยังไม่เพียงพอเพราะ "ความยุติธรรม"ก็จำเป็น เพื่อให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมการเมืองเดียวกันต่อไปได้[14] อย่างไรก็ตามความยุติธรรม คงไม่เกิดขึ้นถ้าสังคมซึ่งผ่านอดีตอันรุนแรงมาแล้วไม่ยอมเผชิญกับ"ความจริง"ในบางลักษณะ เพราะความจริงสำคัญไม่ใช่เพียงเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังเพราะความจริงเปรียบดัง"ยารักษา"สังคมที่ได้รับทุกข์และเก็บงำไว้ไม่ยอมเผชิญหน้าด้วย เมื่อความจริงปรากฏ ก็ยังต้องหาวิธีให้ผู้คนที่กระทำผิดมี"ความพร้อมรับผิด" (accountability) เพื่อสร้างความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของสังคม[15]

และเพราะกระบวนการยุติธรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจทางการเมือง ที่กำหนดสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คน การจินตนาการถึงรูปแบบทางการเมืองลักษณะต่างๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ในกรอบที่ผู้คนในสังคมยอมรับจึงเป็นหนทางหนึ่งที่อาจแก้ปัญหาความรุนแรงที่เรื้อรังไม่จบสิ้น ในกรอบสัมพันธภาพทางอำนาจที่เคยเป็นอยู่ได้[16]

แต่ทั้งหมดนี้เป็นหนทางที่ต้องเสี่ยง การยอมรับความเสี่ยง อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างในอัฟริกาใต้ ที่คนผิวดำส่วนใหญ่ขึ้นมามีอำนาจเหนือคนผิวขาวส่วนน้อย หรือการมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 หลังเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในสังคมไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ก็เป็นเรื่องที่ต้องเสี่ยงครั้งใหญ่ การยอมรับความเสี่ยงสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยทดสอบความไว้วางใจ(trust) ที่ผู้คนมีต่อสังคมการเมืองอย่างมีความหมาย [17]

ถ้าสรุปจากกรณีศึกษาข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าแนวทางสมานฉันท์น่าจะประกอบด้วยความคิดหลัก 9 ประการคือ

1. การเปิดเผย"ความจริง" (truth) : ให้ความสำคัญกับ"ความจริง"ทั้งในฐานะเครื่องมือและเป้าหมายของสังคมสมานฉันท์เพื่อสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน ขณะเดียวกันก็หาหนทางให้สังคมไทยตระหนักถึง"ราคา"ในการเปิดเผย"ความจริง"นั้นด้วย

2. ความยุติธรรม (justice): ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice) ด้วยการส่งเสริมแนวคิดวิเคราะห์ในสังคมไทย ให้เรียนรู้การแยก"คนผิด"ออกจาก "ความผิด" ตลอดจนเรียนรู้วิธีการมองปัญหาความรุนแรงในบริบทเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม ให้เห็นคนบริสุทธิ์กลุ่มต่างๆที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง

3. ความพร้อมรับผิด (accountability): ส่งเสริมระบบและวัฒนธรรมความพร้อมรับผิดในระบบราชการ เปิดโอกาสให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการจับกุมผู้ต้องหาให้ครบถ้วน

4. การให้อภัย (forgiveness): ให้ตระหนักถึงความทุกข์ยากของเหยื่อความรุนแรง ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงศักยภาพของสามัญชน ที่จะให้อภัยผู้ที่กระทำร้ายต่อตนและครอบครัว ก้าวพ้นความเกลียดชังผู้คนที่ต่างจากตน และเป็นผู้ทำร้ายคนที่ตนรัก

5. การเคารพความหลากหลายทางศาสนาวัฒนธรรม ส่งเสริมสานเสวนาระหว่างกัน(dialogue) : ให้ความสำคัญกับขันติธรรมในฐานะคุณค่าทางการเมือง การเรียนรู้ศาสนาต่างๆที่ดำรงอยู่ในประเทศไทย ทั้งแนวปฏิบัติและหลักธรรมคำสอน ทั้งนี้โดยถือว่าสานเสวนาระหว่างศาสนา(religious dialogue) เพื่อสร้างความลุ่มลึกในศาสนธรรมของตน โดยเคารพความเชื่อของผู้อื่นพร้อมกันไป เป็นปัจจัยเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคมไทย บนฐานแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม

6. ถือเอาสันติวิธี (nonviolence)เป็นทางเลือกเผชิญความขัดแย้ง: ส่งเสริมให้สังคมไทยตระหนักในภัยของความรุนแรงต่อสังคม และแสวงหาทางออกเชิงสันติวิธีในฐานะทางเลือกหลักเมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง

7. การเปิดพื้นที่ให้ความทรงจำที่เจ็บปวด (memory): ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย ให้ผู้คนในสังคมไทยเข้าใจการเมืองของประวัติศาสตร์ เพื่อให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์"มิใช่บันทึกความจริง" แต่เป็น"ความจริงทางการเมือง "ที่ถูกเลือกสรรโดยระบบความรู้ที่ถูกหนุนอยู่โดยฝ่ายที่ครองอำนาจในที่สุด

8. มุ่งแก้ปัญหาในอนาคตด้วยจินตนาการ (imagination): เพราะจินตนาการทางการเมืองใหม่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสังคมการเมืองที่ยั่งยืน ให้พร้อมเผชิญปัญหาใหม่ๆ ที่สำคัญต้องลด"ภยาคติ"ลักษณะต่างๆ เสริมสร้างความมั่นใจในตนเองบนฐานของความเป็นจริง เพื่อให้เห็นว่าสังคมไทยมั่งคั่งในทรัพยากรทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา และมั่นคงพอจะเผชิญกับการท้าทายรูปต่างๆได้เช่น พิจารณา"คนสองสัญชาติ"ในฐานะทรัพยากรบุคคลของชาติ

เพราะคนเหล่านี้คือแรงงานคุณภาพที่สามารถหาเงินทองเข้าประเทศได้จากทักษะทางวัฒนธรรมทั้งสองอย่างที่ตนมี ไม่ใช่ในฐานะภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ หรือ ร่วมกันกำหนดรูปแบบทางการเมืองที่เหมาะสมสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต โดยเน้นหนักหลักกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 รวมทั้งนำเสนอแนวทางความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เน้นหนักการมีส่วนร่วมของผู้คนในสังคมเพื่อกำหนดชะตาทางการเมืองของตนเอง และสร้างเสริมความมั่นคงแห่งชาติจากประชาชนมาสู่รัฐ

9. การยอมรับความเสี่ยงทางสังคม เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน (risk-taking):
เรื่องนี้มีความหมายเพราะ การยอมรับความเสี่ยงเป็นเงื่อนไขสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ บนฐานแห่งความไว้วางใจ(trust) อันเป็นคุณลักษณ์สำคัญของแนวความคิดสมานฉันท์

อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดทั้ง 9 ประการนี้กำกับข้อเสนอต่างๆที่คณะกรรมการสมานฉันท์นำเสนอต่อสังคมไทยและรัฐบาลตลอดมา (ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง กรกฎาคม 2548) เช่น การเสนอให้เปิดเผยรายงานสอบสวนกรณี กรือเซะ และ ตากใบที่รัฐบาลได้ทำเอาไว้ ก็เป็นไปเพราะการเปิดเผย "ความจริง"เป็นส่วนสำคัญของการสมานฉันท์

การให้ความสำคัญกับการเยียวยาจนรัฐบาลตั้งรองนายกรัฐมนตรีมาดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ก็เป็นไปเพราะความทรงจำที่เจ็บปวดของเหยื่อความรุนแรงมีความหมาย ไม่ว่าบิดาหรือญาติเขาจะทำอะไร แต่พวกผู้หญิงและเด็กๆไม่ได้กระทำผิดไปด้วย และความทรงจำของเขาควรต้องได้รับการเยียวยา ศักยภาพในการให้อภัยของเขาควรต้องได้รับการสนับสนุน

มาตรการระยะสั้น อย่างเช่น การเสนอให้ใช้นิติวิทยาศาสตร์เป็นแนวทางสืบสวนคดีความรุนแรงทั้งปวง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นไปเพื่อให้"ความจริง"อันเป็นรากฐานของการสร้างสมานฉันท์ปรากฏเป็นที่ยอมรับกัน การเสนอให้อาวุธปืนเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเขต 3 จังหวัด เว้นแต่ปืนในมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็เกิดขึ้นเพราะปืนเป็นเครื่องมือเอาชีวิตผู้คน การลดปืนจึงเป็นการลดความรุนแรงไปในตัว[18] เป็นการเดินไปในหนทางสันติวิธี ยิ่งกว่านั้นการให้ปืนอยู่แต่ในมือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการสร้างความชัดเจน ซึ่งทำให้ความพร้อมรับผิดเป็นไปได้เป็นต้น

ปัญหามีอยู่ว่า แนวทางสมานฉันท์เช่นนี้เป็นไปได้เพียงไรในสังคมไทย?

ความเป็นไปได้ของแนวทางสมานฉันท์ในสถานการณ์ความรุนแรงภาคใต้
ความเป็นไปได้ของแนวทางสมานฉันท์คงขึ้นต่อเงื่อนไขต่างๆ หลายประการ แต่หากพิจารณาเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ในบริบทที่ผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม และถือเอาว่าการที่นายกรัฐมนตรี พตท.ทักษิณ ชินวัตร ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2548 เป็นต้นมา หมายถึงการที่ภาครัฐสนใจแนวทางสมานฉันท์อยู่บ้างแล้ว อีกด้านหนึ่งก็คงต้องพิจารณาตำแหน่งแห่งที่ของแนวคิดสมานฉันท์ จากมุมมองมุสลิมประกอบด้วย

ในระยะสองทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ศึกษากระบวนการสมานฉันท์ในสังคมอาหรับ-มุสลิมไม่น้อย พบลักษณะร่วมหลายประการคือ

ประการแรก เป็นแนวทางที่เน้นชุมชนมิใช่ทางเลือกของปัจเจกชน ความเห็นพ้องต้องด้วยในระดับชุมชนสำคัญกว่าอย่างอื่น

ประการที่สอง คนที่เข้ามาอำนวยการให้สมานฉันท์เป็นไปได้ เป็น"คนใน"ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคู่กรณีอยู่แล้ว และเป็นที่ยอมรับในชุมชน

ประการที่สาม ผู้นำชุมชนและผู้ใหญ่ในหมู่บ้านเป็นผู้ให้ความชอบธรรมกับข้อตกลง, คำขอโทษ, การชดเชย, การให้อภัย, และ สมานฉันท์, เปิดโอกาสให้ครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมหาข้อยุติให้ปัญหา ไม่ได้อาศัยระบบกฎหมายเป็นหลัก

ประการที่สี่ กระบวนการสมานฉันท์ในชุมชนอาศัยคำและความเข้าใจจากหลักศาสนาอิสลาม รวมทั้งเรื่องเล่าที่รับรู้กันทั่วไปในชุมชนชาวอาหรับเป็นรากฐานสำคัญ

ประการที่ห้า ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาชุมชนที่เห็นว่าชีวิต ซึ่งต่อเนื่องผูกโยงกันด้วยประวัติศาสตร์ของพวกตนเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเดินทางสู่อนาคตร่วมกัน

ประการที่หก เป้าหมายสำคัญในการยุติปัญหาความขัดแย้งคือ การฟื้นฟูความปรองดอง, ศักดิ์ศรี, และ ชื่อเสียงของกลุ่มและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับปัญหา โดยมิได้แยกตัวบุคคลออกจากตัวปัญหา ที่เป็นเช่นนี้เพราะเห็นว่าสิ่งที่สำคัญคือ การป้องกันมิให้ความขัดแย้งลุกลามขยายตัวและ กระทบการทำงานอยู่ร่วมกันของชุมชน[19]

เมื่อพิจารณาพิธีกรรมสมานฉันท์ในโลกอาหรับที่แพร่หลายในเขตชนบทของเลบานอนทั้งภาคตะวันออก และ ภาคเหนือ ในราชอาณาจักรจอร์แดน และ ในหมู่บ้านแถบกาลิเลที่ชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ในอิสราเอล พบว่า การสมานฉันท์ เริ่มต้นจากการตกลงกันให้ได้ก่อน (sulh - settlements) เพราะในหลักศาสนาอิสลามถือว่า เป้าหมายของข้อตกลงคือยุติ ความขัดแย้งและความเป็นศัตรูในหมู่มุสลิม เพื่อว่าจะได้สัมพันธ์กันด้วยสันติและไมตรีจิต

ข้อตกลง (sulh) ถือว่าเป็นกฎหมายที่ผูกมัดทั้งในระดับปัจเจกชนและชุมชน ในจอร์แดนแบ่งข้อตกลงออกเป็นสองระดับคือ ข้อตกลงส่วนรวมซึ่งคล้ายกับสัญญาสันติภาพระหว่างรัฐ และข้อตกลงส่วนบุคคล ในสังคมของผู้คนแห่งทะเลทราย

ข้อยุติความบาดหมางเช่นนี้ดีกว่าการปล่อยให้ความรุนแรงดำเนินไปในรูปของการแก้แค้นที่ไม่จบสิ้น ด้วยเหตุนี้ หนทางสมานฉันท์ซึ่งดำเนินต่อจากการบรรลุข้อตกลง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ชุมชนเหล่านี้ยึดถือปฏิบัติกันมา[20]

ในแง่พิธีกรรมสมานฉันท์ในหมู่อาหรับมุสลิม
หลังจากมีข้อยุติแล้วว่าใครผิดใครถูก จึงจะยุติกระบวนการด้วยพิธีกรรมสมานฉันท์ในที่สาธารณะ(musalaha)ให้มีพยานรับรู้ทั่วไป โดยเริ่มต้นจากการที่ผู้คนครอบครัวทั้งของฝ่ายผู้ผิด และฝ่ายเหยื่อผู้ถูกกระทำเข้าแถวคนละฟากถนน ต่างฝ่ายต่างแสดงการทักทายให้สลาม (การทักทายตามแบบมุสลิม) และฝ่ายที่ผิดก็ขอโทษเหยื่อ จากนั้นฝ่ายผู้ผิดก็ไปจับมือฝ่ายของเหยื่อโดยมีผู้ใหญ่ในหมู่บ้านเป็นพยาน ผู้ผิดจะเป็นฝ่ายเข้าไปหาเพื่อเข้าไปขอลุแก่โทษต่อบิดามารดาของเหยื่อ โดยแสดงให้เห็นว่าตนรู้สึกผิดกับการกระทำที่ผ่านมา พิธีนี้ยังเป็นตัวทดสอบความรู้สึกให้อภัยของฝ่ายผู้สูญเสียด้วย จากนั้นฝ่ายผู้ผิดก็จะไปร่วมดื่มกาแฟขมที่บ้านของเหยื่อ และพิธีกรรมนี้จบลงเมื่อฝ่ายของเหยื่อเดินทางมารับประทานอาหารค่ำที่บ้านของผู้ผิด[21]

อาจกล่าวได้ว่าพิธีกรรมที่ใช้กันในชุมชนอาหรับมุสลิมแห่งตะวันออกกลาง มีองค์ประกอบทั้ง 9 ของแนวทางสมานฉันท์ที่อภิปรายไว้ข้างต้น การบรรลุข้อยุติโดยฝ่ายผิดยอมชดใช้ให้ฝ่ายของเหยื่อ หมายความว่า "ความจริง", "ความยุติธรรม", และ "ความพร้อมรับผิด"ได้เกิดขึ้น เมื่อฝ่ายผู้กระทำผิดขอลุแก่โทษ ฝ่ายของเหยื่อก็ให้อภัย

การอาศัยพลังของชุมชนในทางสาธารณะ การให้ผู้ใหญ่ในชุมชนมาเป็นประจักษ์พยาน เป็นการใช้พลังสันติวิธีมากำกับอีกชั้นหนึ่ง ขณะที่เมื่อฝ่ายผู้ผิดยื่นมือไปให้ฝ่ายของเหยื่อจับ ก็เป็นการตอกย้ำความทรงจำของสิ่งที่เคยเกิดขึ้น การตัดสินใจไปดื่มกาแฟและรับประทานอาหารค่ำร่วมกัน ระหว่างฝ่ายผู้ผิดและฝ่ายของเหยื่อ เป็นการยอมรับความเสี่ยงที่ชัดเจนของทั้งสองฝ่าย

ส่วนตัวพิธีกรรมสมานฉันท์ทั้งกระบวน ก็สะท้อนให้เห็นจินตนาการของผู้คนแห่งท้องทะเลทราย ที่ประสงค์จะยุติวัฏจักรแห่งความรุนแรงมิให้ทำลายชุมชนของตนลงได้เป็นอย่างดี ในแง่นี้กล่าวได้ว่า ในชุมชนมุสลิมเองก็มีแบบอย่างเงื่อนไขที่เอื้อต่อแนวทางสมานฉันท์อยู่ด้วย แต่คงกล่าวไม่ได้ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชุมชนมุสลิมตะวันออกกลาง จะนำมาใช้ได้กับชุมชนมุสลิมในตอนใต้ของไทย

ความแตกต่างของแนวทางสมานฉันท์ในสังคมไทย
นักวิชาการที่ศึกษาคณะกรรมการ"ความจริง"และ"การสมานฉันท์"ในที่ต่างๆสรุปว่า มีเงื่อนไขที่เอื้อต่อการทำงานสมานฉันท์อยู่ 4 ประการคือ

ประการแรก ความรุนแรงหรือภัยคุกคามด้วยความรุนแรงต้องยุติลง เพราะไม่เช่นนั้นคนที่ทำงานเพื่อแนวทางสมานฉันท์ ก็ทำงานของตนให้หยั่งรากฝังลึกไม่ได้

ประการที่สอง ต้องเกิดการยอมรับความจริงและต้องมีการชดเชยให้กับเหยื่อของความรุนแรง เพราะถ้าผู้ก่อความรุนแรงไม่ยอมรับความจริง เหยื่อก็ให้อภัยไม่ได้

ประการที่สาม ต้องอาศัยพลังเชื่อมร้อยผู้คนเข้าด้วยกัน ในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลายแห่งในอัฟริกา กลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อสู้ขัดแย้งกัน ไม่มีสายสัมพันธ์ระหว่างกันที่เข้มแข็ง จึงจำเป็นต้องสร้างให้สายสัมพันธ์นี้เกิดขึ้น

ประการที่สี่ ต้องแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคเชิงโครงสร้าง และตอบสนองความต้องการทางวัตถุด้วย คณะกรรมการสัจจะและสมานฉันท์ของอัฟริกาใต้จึงสรุปไว้ว่า ผู้ที่เคยได้ประโยชน์จากโครงสร้างที่เอารัดเอาเปรียบคนพวกหนึ่ง มีพันธะที่จะต้องแปลงเปลี่ยนความไม่เสมอภาคที่ไม่ยุติธรรม(unjust inequalities) และความยากจนที่ไม่เห็นคนเป็นคน(dehumanizing poverty)ให้หมดไป[22]

ถ้าพิจารณาจากเงื่อนไขข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า การทำงานสมานฉันท์ในสังคมไทยปัจจุบัน ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่กำลังเผชิญอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แตกต่างจากงานประเภทนี้ในที่อื่นๆ อยู่หลายประการ

ประการแรก มักตั้งคำถามกันว่า "จะสมานฉันท์กับใคร ถ้ายังระบุไม่ได้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นใคร" เชื่อกันทั่วไปว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น 1,253 ครั้ง และทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตาย 1,097 คน ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง พฤศจิกายน 2547 เป็นฝีมือของหลายฝ่ายด้วยเหตุผลหลายอย่าง[23] ด้วยเหตุนี้ จึงยังเป็นไปได้ด้วยว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่กำลังดำเนินอยู่ ให้ประโยชน์แก่คนบางหมู่บางเหล่าที่ไม่เห็นแก่ความอยู่เย็นเป็นสุขของคนในสังคม ในแง่นี้จึงไม่แปลกนักที่ความรุนแรงจะดำรงอยู่ต่อไป แม้ขณะที่งานสมานฉันท์กำลังดำเนินอยู่

ประการที่สอง แม้จะมีความพยายามค้นหา"ความจริง" ทั้งในกระบวนการยุติธรรม (เช่นการผลักดันให้ใช้นิติวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญ) และในทางสังคมการเมือง (เช่นการเปิดเผยรายงานกรณีตากใบและกรือเซะของรัฐบาล) แต่ก็ยังไม่ได้หมายความว่า เกิดการยอมรับ"ความจริง"เหล่านั้นในสังคมไทย

ประการที่สาม ปัญหาสำคัญประการหนึ่งในขณะนี้คือ "พลังเชื่อมร้อย"ผู้คนที่แตกต่างหลากหลายในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเคยดำรงอยู่ในรูปลักษณ์ต่างๆ[24] กำลังถูกกร่อนให้เสื่อมโทรมลง งานสมานฉันท์จึงไม่ใช่งาน"สร้าง"สายสัมพันธ์นี้ เท่ากับความพยายามส่งเสริมผู้คนในพื้นที่ให้"ฟื้นฟู"สายสัมพันธ์ดังกล่าวให้คืนกลับมา

ประการที่สี่ งานสมานฉันท์ (reconciliation) ในที่อื่นๆ มักเป็นการทำงานหลังจากความรุนแรงจบลงแล้ว เช่นในอาร์เจนตินา ประธานาธิบดีตั้งคณะกรรมการตรวจสอบค้นหาความจริงเกี่ยวกับคนหาย( National Commission on the Disappearance of Persons) ขึ้นเมื่อปี 1983 หลังจากที่อาร์เจนตินาพ้นจากระบบทหารแล้ว คณะกรรมการชุดนี้จึงทำงานครอบคลุมกรณีคนหายตั้งแต่ปี ค.ศ.1976-1983

ในชิลี ประธานาธิบดีตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อความจริงและการสมานฉันท์(National Commission on Truth and Reconciliation) ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1990 และให้รวบรวมข้อมูลความรุนแรงในช่วงวันที่ 11 กันยายน 1973 ถึง 11 มีนาคม 1990

ในเอล ซัลวาดอร์ สหประชาชาติตั้งคณะกรรมการสัจจะเพื่อเอล ซัลวาดอร์ (Commission on the Truth for El Salvador) ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1992 ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพในประเทศนั้น โดยให้ค้นหารวบรวมความจริงเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ มกราคม 1980 ถึง กรกฎาคม 1991

ในอัฟริกาใต้ ที่รู้จักกันดี คือ คณะกรรมการสัจจะและสมานฉันท์(Truth and Reconciliation Commission)ของอัฟริกาใต้ ซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งขึ้นให้ทำงานค้นหาความจริง และสร้างสมานฉันท์เมื่อเดือน ธันวาคม ค.ศ.1995 โดยทำงานครอบคลุมข้อมูลตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 ถึง 1994

ส่วนในกัวเตมาลา สหประชาชาติก็ตั้ง คณะกรรมการเพื่อความกระจ่างทางประวัติศาสตร์ (Commission for Historical Clarification) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสันติภาพที่สหประชาชาติมีส่วนเป็นคนกลางให้เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 1997 โดยให้ทำงานครอบคลุมข้อเท็จจริงตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 ถึง 1990[25]

ศรีลังกา แม้ในกรณีของ ศรีลังกาที่การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังดำเนินอยู่แม้ในปัจจุบัน แต่เมื่อประธานาธิบดี กุมาราตุงคะได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ"การอุ้ม"หรือทำให้คนหายโดยไม่สมัครใจ (Commissions of the Inquiry into the Involuntary Removal or Disappearance of Persons) เมื่อเดือน พฤศจิกายน 1994 นั้น ก็กำหนดให้คณะกรรมการซึ่งตั้งขึ้น 3 คณะ ทำหน้าที่อย่างเดียวกันใน 3 พื้นที่ ทำงานครอบคลุมเฉพาะช่วงเวลาตั้งแต่ ค.ศ.1987 ถึง ค.ศ.1990 เท่านั้น[26]

ประเทศไทย แต่ในกรณีของประเทศไทย การทำงานสมานฉันท์เป็นการทำงานท่ามกลางความรุนแรง ปัญหาเช่นนี้ทำให้การทำงานสมานฉันท์ในสังคมไทย มีคุณลักษณ์ต่างออกไปจากที่อื่นๆ เพราะต้องหาหนทางแก้ปัญหาเยียวยาผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ซึ่งยังมิได้ยุติลงพร้อมๆกับพยายามแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง และปัจจัยทางวัฒนธรรมความเชื่อ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานสมานฉันท์ในเวลาเดียวกัน

ในแง่นี้นอกจากจะต้องใส่ใจกับมาตรการรูปธรรมเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ยังจำต้องคิดถึงงานสมานฉันท์ในสังคมไทยในฐานะความพยายามแก้ปัญหาระดับโครงสร้างของสังคม เช่น ปัญหาการปรับปรุงปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และยังเป็นกระบวนการที่ทำหน้าที่ให้การศึกษาสังคมโดยรวม เช่น หาวิธีส่งเสริมให้สาธารณชนยอมรับความเป็นจริงว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นพลังสร้างความเข้มแข็งในสังคมไทย กล้าจินตนาการถึงอนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและชุมชน รวมทั้งความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน

ด้วยคุณลักษณ์เช่นนี้กระบวนการสร้างสมานฉันท์ในสังคมไทย จึงแตกต่างจากการทำงานของคณะกรรมการ"สัจจะ"ในที่อื่นๆ และเป็นยิ่งกว่าการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังปรากฏ เพราะเป็นการพยายามใช้แนวทางสันติวิธีสร้างชุมชนทางการเมืองที่พึงประสงค์ ให้เข้มแข็งมั่นคง ชนิดที่ทุกคนมีศักดิ์ศรี และอยู่ร่วมกันด้วยน้ำมิตรไมตรี


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

อ้างอิงท้ายบท

[1] "พระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548" เอกสารประกอบการสัมมนาสารัตถะ "ใต้วิกฤต" ศูนย์ศึกษาเอเซียอาคเนย์, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 10 สิงหาคม 2548


[2] เรื่องราวนี้มาจาก Azim Khamisa (with Carl Goldman), From Murder to Forgiveness. (La Jolla, California: ANK Publishing, Inc, 2002)

[3] Ibid., p.22.

[4] Ibid., p. 101.

[5] Ibid., p. 127.

[6] Priscilla B. Hayner, Unspeakable Truths: facing the challenge of truth commissions (New York and London: Routledge, 2002), p. 160.

[7] Ibid.

[8] Ibid., p. 161.

[9] Mats Utas, "Building a Future? The Reintegration & Remarginalisation of Youth in Liberia," in Paul Richards (ed.) No Peace No War: An Anthropology of Contemporary Armed Conflicts (Athens: Ohio University Press, Oxford: James Currey, 2005), pp. 137-154 กรณีสมานฉันท์ในชนบทตอนใต้ของไลบีเรีย ที่กล่าวถึงนี้ปรากฏอยู่ใน pp.144-145.

[10] โปรดพิจารณา "ชาติพันธุ์และความขัดแย้ง"ในฐานะมรดกอันตรายต่อมนุษยชาติได้ใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, อาวุธมีชีวิต?: แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2546), หน้า 3-24 และตัวอย่างในสังคมไทยจากคำให้การของ "กอล์ฟ" หนุ่มวัย 23 ปีจากศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน ชาวบ้านกาญจนาภิเษก นครปฐม ที่ชีวิตแปรเปลี่ยนจากวัยรุ่นธรรมดา กลายเป็นฆาตกร อันเป็นผลจากสภาพครอบครัว สภาพเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์กับเพื่อนในสิ่งแวดล้อมโรงเรียนอาชีวะ ที่เปลี่ยนวัฒนธรรมมาสู่การยอมรับความรุนแรง ใน "เปิด…จดหมายจากปลายปากกา ของวัยรุ่นที่ถูกตราหน้าว่า "ฆาตกร"" (2 ตอนจบ) ใน มติชน, 15 กรกฎาคม, 2548, น.25 และ 16 กรกฎาคม 2548, น.25

[11] ดูคำอธิบายเรื่อง "ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง" และ "ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม"ได้ใน เพิ่งอ้าง, หน้า 77-110

[12] Hayner เสนอเกณฑ์ประเมินว่าการทำงานสมานฉันท์ในสังคมหยั่งรากได้หรือไม่ เป็นคำถามสำคัญ 3 ข้อ คือ สังคมนั้นจัดการกับอดีตในพื้นที่สาธารณะอย่างไร? ความสัมพันธ์ระหว่างคนที่เคยเป็นศัตรูกันมาก่อนเป็นอย่างไร? และ เรื่องราวเกี่ยวกับอดีตมีแนวเดียวหรือมีหลายแนว? การที่คำถามทั้งสามเป็นเรื่องเกี่ยวกับ "ความทรงจำ"ทั้งสิ้นแสดงว่า "ความทรงจำ"มีความสำคัญเพียงไรต่อแนวทางสมานฉันท์ โปรดพิจารณา Hayner, Unspeakable Truths, pp. 161-162.

[13] แม้ในกระบวนการสานเสวนานั้นเอง ก็มีความลึกซึ้งอยู่มาก เช่นคำอธิบายเรื่อง"การฟัง"ในฐานะส่วนสำคัญของการเผชิญกับความขัดแย้ง รวมตลอดถึง การพูด และ การรักษาความลับ เช่นที่ จอห์น แมคคอแนล ได้อภิปรายไว้โดยพิสดารใน ศาสตร์และศิลป์แห่งการระงับความขัดแย้ง:คู่มือสำหรับชาวพุทธผู้ใฝ่สันติ พระไพศาล วิสาโล (บรรณาธิการแปล) (กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, เสมสิกขาลัย, อาศรมวงศ์สนิท-มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก-มูลนิธิเด็ก, 2538), หน้า 207-259

[14] โปรดพิจารณา ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, อภัยวิถี: มิตร/ศัตรู และ การเมืองแห่งการให้อภัย (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน และ สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2543)

[15] สำหรับเรื่อง"ความจริง"ในฐานะยารักษาโรค และ "ความพร้อมรับผิด" โปรดพิจารณา Brian Muldoon, "The Bodhisattva Warrior: The Way of Compassionate Confrontation," in Sulak Sivaraksa et al., (eds.) Socially Engaged Buddhism for the New Millennium: Essays in honor of The Ven.Phra Dhammapitaka (Bhikku P.A. Payutto) On his 60th birthday anniversary. (Bangkok: Sathirakoses - Nagapradipa Foundation & Foundation for Children, 1999), pp. 269-282 .

[16] โปรดพิจารณาความสำคัญของจินตนาการใน Elise Boulding, "Image and Action in Peace Building," in Elise Boulding and Kenneth E. Boulding, The Future: Images and Processes (Thousand Oaks, California: Sage, 1995), pp. 97-99.

[17] การพร้อมรับความเสี่ยงในฐานะองค์ประกอบสำคัญของการสมานฉันท์ ปรากฎอยู่ใน Ron Kraybill, "The Cycle of Reconciliation," Conciliation Quarterly Vol. 14 No. 3 (Summer 1995), pp. 7-8.

[18] ขณะนี้มีบางฝ่ายเสนอให้ห้ามการครอบครองอาวุธปืนทั้งประเทศ เพราะ ในสังคมไทยมีอาวุธปืนถูกกฎหมายอยู่ 4 ล้านกระบอก และไม่มีผู้ใดทราบว่า อาวุธปืนผิดกฎหมายมีอยู่เท่าใด ที่สำคัญพบว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นร้อยละ 75 มาจากปืนพก โปรดพิจารณา Tassanee Tanakornsombut, Chutimas Suksai, Chayanit Poonyarat, Yeshua Moser-Puangsuwan, Firearm policy and practice in Thai society: Missing the Target (Bangkok: Nonviolence International, 2005)

[19] George E.Irani and Nathan C. Funk, "Rituals of Reconciliation: Arab-Islamic Perspectives," in Abdul Aziz Said, Nathan C. Funk and Ayse C.Kadayifci (eds.) Peace and Conflict Resolution in Islam: Precept and Practice (Lanham, New York and Oxford: University Press of America, 2001), pp. 180-181.

[20] Ibid., p.182.

[21] Ibid., pp. 184-185.

[22] Hayner, Unspeakable Truths , pp.163-165.

[23] ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, "หนึ่งปีหนึ่งทศวรรษความรุนแรงชายแดนภาคใต้: ปริศนาของปัญหาและทางออก," รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 26 ฉบับที่ 1 (2548), น.79-90

[24] รัตติยา สาและ, การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฎในจังหวัดปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส (กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2544)

[25] โปรดพิจารณารายละเอียดของคณะกรรมการ"ความจริง" ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกทั้ง 5 ชุดนี้ได้ ใน Hayner, Unspeakable Truths , pp. 32-49. Hayner รวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับ truth commissions ไว้ทั้งหมด 21 คณะ และหลังจากปี ค.ศ. 2000 ก็มีที่กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาดำเนินการอีกไม่น้อย ทั้งใน กานา, บอสเนีย, บุรุนดี, เม็กซิโก, อินโดนีเซีย, และ เคนยา เป็นต้น (pp. 262-265)

[26] Ibid., pp. 64-66.

 

 

 

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 670 เรื่อง หนากว่า 9000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ด้วยการส่งเสริมแนวคิดวิเคราะห์ในสังคมไทย ให้เรียนรู้การแยก"คนผิด"ออกจาก "ความผิด" ตลอดจนเรียนรู้วิธีการมองปัญหาความรุนแรงในบริบทเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม ให้เห็นคนบริสุทธิ์กลุ่มต่างๆที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี


ด้วยเหตุนี้ ถ้าถือเรื่องราวความตายของตอริค คามิซา และสิ่งที่พ่อของผู้ตายและปู่ของฆาตกรร่วมกันกระทำเป็นกรณีศึกษาแนวทางสมานฉันท์ จะเห็นได้ว่าแนวคิดนี้มิใช่การชักชวนผู้คนที่ขัดแย้ง ต่อสู้ใช้ความรุนแรงต่อกันให้มายิ้มแย้มคืนดีกัน และหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเอง แต่เป็นความพยายามแก้ปัญหาความรุนแรงโดยมิได้ใช้วิธีการรุนแรงมาแก้ปัญหาความรุนแรง (problem-solving approach and not a violent approach to solve a problem of violence) บนพื้นฐานความเข้าใจว่า

ความรุนแรงมิได้เพียงเกิดขึ้นจากผู้กระทำ แต่ยังมีสาเหตุอยู่ที่โครงสร้างและวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังผู้คนที่แตกต่างจากตัว คอยหล่อเลี้ยงให้ความชอบธรรมอยู่ (ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์)