นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
R
related topic
170948
release date

คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด

เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

การเมืองกับนโยบายสาธารณะ
วิพากษ์นโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจน
เขียนโดย
วัชรพล พุทธรักษา
นิสิตปริญญาโทภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักเรียนทุนโครงการผลิตและพัฒนาอาจารย์ (UDC)
สังกัดสาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร


บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน อันเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชา "การเมืองกับนโยบายสาธารณะ"
ระดับปริญญาโท ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาคการศึกษาที่ 2/2547


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 672
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 23 หน้ากระดาษ A4)




บทวิพากษ์นโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ

"...ที่ผมบอกว่าผมจะทำให้คนจนหมดจากแผ่นดินไทยภายใน 6 ปี หลายคนไม่เชื่อ นึกว่าผมคือนักการเมืองคนหนึ่งที่อยากจะหาเสียง ผมพูดด้วยสมอง ผมพูดด้วยหัวใจ ผมไม่ได้พูดด้วยลมปาก เพราะฉะนั้นผมจะพูดอะไรสมองต้องคิด ข้อมูลต้องมีและตัดสินใจ ที่เรามีความมุ่งมั่นที่จะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วต้องทำให้ได้...
คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ประธานการประชุมและมอบนโยบายเกี่ยวกับการปฏิบัติในการสำรวจความต้องการของประชาชน เพื่อแก้ปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติอิมแพค เมืองทองธานี 15 พฤศจิกายน 2546 (ที่มา: http://www.thaigov.go.th/speech/thaksin/sp15nov46-1.htm)

รัฐบาลไทยรักไทย สมัยที่ 1(2544-2547) ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้ชื่อว่า เป็นรัฐบาลที่มีความสามารถในการบริหารประเทศอย่างสูง และได้รับการกล่าวขานว่าเป็นรัฐบาลที่อาศัยการเมืองเชิงนโยบายอย่างสูง (ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ และนวลน้อยตรีรัตน์, 2544: 137-138) กล่าวคือ เป็นรัฐบาลที่มีการกำหนดนโยบายสาธารณะ เป็นจำนวนมาก และรอบด้าน ทั้งนโยบายสาธารณะในทางเศรษฐกิจ เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน, นโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณท์ นโยบายทางด้านสังคม เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, โครงการบ้านเอื้ออาทร เป็นต้น

นโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ เป็นอีกนโยบายหนึ่งของรัฐบาลไทยรักไทยที่ได้รับความสนใจ และเป็นที่จับตามองของสังคมไทยอย่างมากนับจากช่วงปลายปี พ.ศ. 2546 (ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2546) เป็นต้นมา (ดู สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, 2546)

นโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการดังกล่าวนี้มีความน่าสนใจ และควรค่าแก่การนำมาศึกษาบางประการ เช่น

ประการแรก นโยบายดังกล่าวถูกอ้างว่าเมื่อนำนโยบายไปปฏิบัติแล้ว "คนจน" จะหมดไปจากประเทศไทยภายใน 6 ปี (นับจากปี 2546) คำถามที่น่าสนใจก็คือ "คนจน" ในที่นี้ (ตามนิยามของนโยบายนี้) คือใคร? และจะหมดไปจากประเทศไทยได้ภายในเวลา 6 ปีจริงหรือไม่?

อีกประการหนึ่ง วิธีการดำเนินการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาสังคมและความยากจนตามนโยบายนี้ เลือกใช้วิธีการ "ลงทะเบียน" เพื่อให้ประชาชนที่ยากจนได้แจ้งข้อมูลให้แก่รัฐ เพื่อการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม และตรงต่อกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือ วิธีการลงทะเบียน และแจ้งปัญหาดังกล่าวนี้ รัฐมีความจริงใจในการแก้ปัญหามากเพียงใด และวิธีการดังกล่าวนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงหรือไม่?

งานชิ้นนี้จะมุ่งตอบคำถามที่น่าสนใจดังกล่าวข้างต้น โดยแบ่งการอธิบายเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ
ในส่วนแรก นั้นจะเป็นการนำเสนอให้เห็นถึงสาระสำคัญโดยสังเขป ของนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ ขณะที่

ในส่วนที่สอง นั้นจะเป็นบทวิพากษ์นโยบายโดยพิจารณาตามกระบวนการนโยบาย (Policy Process) ใน 2 ด้านด้วยกันคือ ด้านการก่อตัวของนโยบาย (Policy Formulation) และการนำนโยบายไปปฏิบัติ (Policy Implementation) โดยมุ่งเน้นการให้ความสำคัญไปที่การวิพากษ์ขั้นตอนการนำนโยบายไปปฏิบัติ และกำหนดขอบเขตของการวิพากษ์ในขั้นตอน "การจดทะเบียน" เป็นหลัก

เนื้อหาในส่วนสุดท้าย จะเป็นการนำเสนอ บทวิพากษ์/วิจารณ์ นโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ ในทัศนะของนักวิชาการที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ และนำเสนอข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ ของผู้เขียนโดยสรุปเกี่ยวกับการศึกษานโยบายนี้ในท้ายที่สุด

(1). นโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ: สาระสำคัญของนโยบาย
จากเอกสาร "แนวทางการจดทะเบียนเพื่อแก้ปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ (2546)" ที่จัดพิมพ์โดยกระทรวงมหาดไทย นั้นผู้เขียนสามารถนำเสนอ เนื้อหา และสาระสำคัญของนโยบายดังกล่าวได้ดังต่อไปนี้

1.1 นโยบายนี้ มี 3 ขั้นตอนหลัก ด้วยกัน ได้แก่

1) ขั้นตอนการจดทะเบียน โดยเริ่มดำเนินการใน 8 จังหวัดนำร่องตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2546 และทุกจังหวัดที่เหลือเริ่ม 5 มกราคม 2547 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2547 เป็นอันสิ้นสุดขั้นตอนการจดทะเบียนเพื่อรับฟังปัญหาของประชาชน

2) ขั้นตอนการวิเคราะห์ และศึกษาลักษณะของปัญหา
ขั้นตอนที่สองนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ถึง 30 มิถุนายน 2547 และ

3) ขั้นตอนดำเนินการช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหา
เริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อมูลที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไป

1.2 เป้าหมาย/วัตถุประสงค์ของนโยบาย
เป้าหมายหลักของนโยบายนี้ก็คือ การขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทยภายในปี 2551 โดยการมุ่งเพิ่มรายได้, ลดค่าใช้จ่าย และขยายโอกาสให้แก่ประชาชน

ส่วนวัตถุประสงค์ของ "การจดทะเบียน" เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนนั้น คือ เป็นการรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อให้รัฐบาลใช้ในการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับปัจเจกบุคคล และระดับภาพรวม นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการชี้ประเด็นปัญหา และเข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ ตรวจสอบข้อมูล ตลอดจนร่วมวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหา ภายใต้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ อย่างเอื้ออาทรของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อเป้าหมายให้ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

1.3 กลุ่มเป้าหมายของนโยบาย
กลุ่มเป้าหมายของนโยบายนี้ ประกอบไปด้วยผู้ประสบปัญหาใน 7 เรื่องด้วยกันได้แก่

1) ปัญหาที่ดินทำกิน ให้จดทะเบียนเป็นรายครัวเรือน โดยเก็บข้อมูลจากหัวหน้าครัวเรือน หรือผู้แทนคนใดคนหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย
2) ปัญหาคนเร่ร่อน ให้จดทะเบียนเป็นรายบุคคล
3) ปัญหาผู้ประกอบอาชีพผิดกฎหมาย ให้จดทะเบียนเป็นรายบุคคล
4) การให้ความช่วยเหลือนักเรียน/นักศึกษา ให้มีรายได้จากอาชีพที่เหมาะสมให้จดทะเบียนเป็นรายบุคคล โดยกระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบดำเนินการในปัญหานี้
5) ปัญหาการถูกหลอกลวง ให้จดทะเบียนเป็นรายบุคคล
6) ปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ให้จดทะเบียนเป็นรายบุคคล
7) ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน ให้จดทะเบียนเป็นรายบุคคล

1.4 พื้นที่ดำเนินงาน
ดำเนินการทั้ง 75 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร/เมืองพัทยา ทั้งนี้โดยมีจังหวัดนำร่องในการจดทะเบียน 8 จังหวัดด้วยกัน ได้แก่ ชลบุรี, นครปฐม, นครราชสีมา, อุดรธานี, สุราษฎร์ธานี, สงขลา, เชียงใหม่ และพิษณุโลก

1.5 ขั้นตอนการดำเนินงาน และหน่วยงานรับผิดชอบ
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่านโยบายนี้มีขั้นตอนหลักของการดำเนินการ 3 ขั้นตอนด้วยกันได้แก่ หนึ่ง,ขั้นตอนของการจดทะเบียน, สอง,ขั้นตอนของการวิเคราะห์ และสาม,ศึกษาลักษณะของปัญหา และขั้นตอนดำเนินการช่วยเหลือ เพื่อแก้ไขปัญหา

งานชิ้นนี้จะจำกัดขอบเขตของการอธิบายในเชิงวิพากษ์ในขั้นตอน การจดทะเบียนเป็นหลักเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากขั้นตอนการจดทะเบียนนั้น เป็นขั้นตอนดำเนินการที่ได้รับความสนใจ และมีการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานในขั้นตอนนี้อย่างแพร่หลาย ทำให้ผู้เขียนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลเพื่อศึกษาได้ค่อนข้างสะดวก

ขณะที่ในอีก 2 ขั้นตอนที่เหลือนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนการวิเคราะห์ และศึกษาลักษณะปัญหา นั้นเป็นขั้นตอนที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนผู้มาลงทะเบียนมากนัก อีกทั้งยังเป็นขั้นตอนเชิงเทคนิค ที่สื่อไม่สามารถเข้าถึงการดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าวได้มากนัก ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานในขั้นตอนนี้ มีอยู่ไม่มาก จึงไม่เหมาะแก่การนำมาวิพากษ์ในที่นี้

ส่วนขั้นตอนสุดท้าย คือขั้นตอนของการดำเนินการช่วยเหลือ ที่ได้เริ่มดำเนินการไปตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นมานั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าระยะเวลาดำเนินการในขั้นตอนนี้มีระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น อีกทั้งการนำเสนอข้อมูลจากสื่อต่างๆก็มีน้อยมาก ผู้เขียนจึงไม่ขอวิพากษ์ขั้นตอนดังกล่าวในงานชิ้นนี้

ดังนั้นในส่วนต่อจากนี้ของหัวข้อนี้จะเป็นการนำเสนอ "ขั้นตอนของการดำเนินงาน และหน่วยงานรับผิดชอบ" ในขอบเขตเฉพาะ "ขั้นตอนของการจดทะเบียน" เท่านั้น

ขั้นตอนการจดทะเบียน แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1) ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ ทัศนคติที่ดี และความร่วมมือในการจดทะเบียนข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน ดังเห็นได้จากการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม เช่น การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ทั้งทางสื่อโทรทัศน์, สถานีวิทยุ, สื่อแผ่นพับประชาสัมพันธ์เป็นต้น (http://www.cdd.go.th/clearinghouse/clearing.html)

2) ประชุมชี้แจงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับ ดังต่อไปนี้

- 15 ตุลาคม 2546 กระทรวงมหาดไทยจัดประชุมระดมความคิด เตรียมความพร้อมของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 45 หน่วยงาน เพื่อพิจารณาร่างแบบการจดทะเบียน และแนวทางการจดทะเบียนครั้งที่ 1

- 16 ตุลาคม 2546 กระทรวงมหาดไทยประชุมเสนอแผนปฏิบัติการการจดทะเบียน และผลการพิจารณาร่างแบบจดทะเบียน และแนวทางการจดทะเบียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย

- 29 ตุลาคม 2546 กระทรวงมหาดไทยจัดประชุมหน่วยงานระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาสังคม และความยากจนเชิงบูรณาการ เพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบแนวทางและแบบจดทะเบียน ครั้งที่ 2

- 7 พฤศจิกายน 2546 กระทรวงมหาดไทยจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ปัญหาสังคม และความยากจนเชิงบูรณาการของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ความเห็นชอบในขั้นตอน, วิธีการ, ระยะเวลา, และพื้นที่นำร่อง, การจดทะเบียน/ตรวจสอบ และการบันทึกข้อมูล

- 15 พฤศจิกายน 2546 กระทรวงมหาดไทยประชุมมอบนโยบายในการจดทะเบียนแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง พัฒนาการจังหวัด หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัด ผู้อำนวยการเขต (กทม.) ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุนและสวัสดิการสังคม นายอำเภอ นายกเทศมนตรีเทศบาลนคร/เมือง นายกเมืองพัทยา ปลัดเมืองพัทยา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องระดับกระทรวง/กรม รวม 1,600 คน

- 16 พฤศจิกายน 2546 กรมการพัฒนาชุมชนประชุมชี้แจงแนวทางปฏิบัติในการจดทะเบียนแก่ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชน และสวัสดิการสังคม ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวม 1,100 คน

- พฤศจิกายน 2546 ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนระดับอำเภอ/กิ่งอำเภอ/เขต จัดประชุมเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่และผู้นำชุมชนที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการในระดับอำเภอ 876 อำเภอ/กิ่งอำเภอ เทศบาล 1,193 แห่ง กทม. 50 เขต ในประเด็นเกี่ยวกับ

- นโยบายและแนวคิดการแก้ปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ
- หลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอนการจดทะเบียน
- ระยะเวลาดำเนินการ
- การจัดทำแผนปฏิบัติการของพื้นที่เพื่อดำเนินการตามนโยบาย
- การรายงานผล ฯลฯ
3) ดำเนินการจดทะเบียนโดย
3.1) จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ

- ศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการจังหวัด/กรุงเทพมหานคร มีหน้าที่วางแผนกำกับดูแลและติดตามผลระดับจังหวัด ตรวจสอบความถูกต้องของผู้ประสบปัญหาที่ยื่นคำร้อง ให้คำแนะนำ และแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัด ประชาสัมพันธ์นโยบาย วัตถุประสงค์ แนวคิด หลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการแก่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชน รวมทั้งติดตามการดำเนินงานทุกขั้นตอน

- ศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการอำเภอ/กิ่งอำเภอ/เขต วางแผนดำเนินงานกำกับดูแลและติดตามผลระดับอำเภอ ประชาสัมพันธ์นโยบาย วัตถุประสงค์ แนวคิด หลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการจดทะเบียนแก่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชน ประชุมเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่ และดำเนินการจัดเวทีประชาคมเพื่อสร้างความเข้าใจ ติดตามการดำเนินงานทุกขั้นตอน รวบรวม ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล รับจดทะเบียนผู้ที่มีความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

3.2) พื้นที่ดำเนินการ

- พื้นที่ 8 จังหวัดนำร่อง ดำเนินการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2547 ดังนี้คือ ชลบุรี นครปฐม นครราชสีมา อุดรธานี สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ และพิษณุโลก

- พื้นที่ 67 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร/เมืองพัทยา ดำเนินการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2547

3.3) การจดทะเบียน ให้ดำเนินการดังนี้

- ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ ระดับอำเภอ/กิ่งอำเภอ/เขต คัดเลือกผู้รับผิดชอบระดับหมู่บ้าน/ชุมชน โดยให้คัดเลือกจากข้าราชการที่เห็นสมควร ซึ่งปฏิบัติงานในระดับอำเภอ/กิ่งอำเภอ/เขต/เทศบาล หรือข้าราชการครูในพื้นที่ ฯลฯ และคัดเลือกผู้นำชุมชนในหมู่บ้านนั้น เช่น ผู้นำสตรี ผู้นำ อช. ผู้นำเกษตรกร อสม. ประธานกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ จำนวนรวม 2 คน รับผิดชอบในการประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจกับประชาชนระดับหมู่บ้าน/ชุมชน

- จัดประชุมหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจ และเตรียมดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์

- ผู้รับผิดชอบระดับหมู่บ้าน/ชุมชน สร้างความเข้าใจโดยการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน ให้มีความเข้าใจในนโยบายและขั้นตอนการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง ชัดเจน เกิดความโปร่งใส

- ให้ประชาชนมายื่นคำร้อง ณ ที่ว่าการอำเภอ/กิ่งอำเภอ/เขต

- ศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ รวบรวมและแยกประเภทข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมาย โดยแยกตามประเภทปัญหา และพื้นที่ (หมู่บ้าน/ชุมชน)

- กรมการปกครองจัดทำทะเบียน และรายละเอียดของผู้จดทะเบียน โดยแยกตามประเภทของปัญหา และแยกพื้นที่ระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ส่งให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ อำเภอ/กิ่งอำเภอ/เขต ดำเนินการจัดประชุมประชาคมในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของข้อมูลผู้ยื่นจดทะเบียน และประกาศรายชื่อผู้ที่ประชาคมให้การรับรองไว้ในที่สาธารณะประจำหมู่บ้าน/ชุมชน ไม่น้อยกว่า 7 วัน (กระบวนการจัดประชาคมให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หลังจากที่ได้รับข้อมูลจากกรมการปกครอง)

- เมื่อประชาคมได้ให้การรับรองข้อมูลของผู้จดทะเบียนจำนวนเท่าใด ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ อำเภอ/กิ่งอำเภอ/เขต รวบรวมข้อมูลดังกล่าวให้กรมการปกครองทันที

(2). นโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ: บทวิพากษ์นโยบาย
เนื้อหาในส่วนต่อจากนี้จะเป็นการนำเสนอ บทวิพากษ์นโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ ใน 2 ด้านด้วยกัน คือ ด้านการก่อตัวของนโยบาย และด้านการนำนโยบายไปปฏิบัติ/การปฏิบัติตามนโยบาย โดยจะให้ความสำคัญกับการวิพากษ์ในด้านการนำนโยบายไปปฏิบัติเป็นหลัก

2.1 การก่อตัวของนโยบาย (Policy Formulation)
การวิพากษ์ในส่วนนี้ เป็นการพยายามตอบคำถามสำคัญ 2 ประการ ในด้านการก่อตัวของนโยบาย ได้แก่ ประการแรก, ด้วยเหตุใดรัฐบาลจึงกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการออกมา และประการที่สอง, การกำหนดนโยบายดังกล่าวอาศัยฐานคิดเชิงทฤษฎีใดเป็นหลักในการคิดและกำหนดนโยบาย โดยจะได้ทำการตอบคำถามต่างๆในเชิงวิพากษ์ ดังต่อไปนี้
ประการแรก ด้วยเหตุใดรัฐบาลจึงกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการออกมา?
การตอบคำถามสำคัญถึงที่มาของการเกิดขึ้นของนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการนี้ต้องพิจารณาคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ที่ว่า

"...รัฐบาลนี้ต้องทำสงคราม 3 อย่าง หนึ่งคือ ทำสงครามกับความยากจน ต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเพื่อให้คนพ้นความยากจน ซึ่งจะทำให้คนมีฐานะดีขึ้นทั้งระบบ เหมือนกับยกฐานรากให้สูงขึ้น ตึกทั้งตึกก็สูงขึ้นตาม เป็นลักษณะของการมีวิสัยทัศน์อย่างหนึ่งว่าเราจะประกาศสงครามกับความยากจน เพราะฉะนั้นเราจะสู้กับความยากจนอย่างเต็มที่เพื่อให้ชนะ สอง ประกาศสงครามกับยาเสพติด... สามประกาศสงครามกับคอร์รัปชั่น..."

คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในการประชุมชี้แจงนโยบายของรัฐบาลแก่ผู้บริหารระดับสูง ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วันที 5 มีนาคม 2544 (ที่มา: http://www.thaigov.go.th/speech/thaksin/sp05mar44.htm)

เมื่อพิจารณาคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีข้างต้น ทำให้ผู้เขียนสามารถอธิบายถึงที่มาของการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาสังคม และความยากจนเชิงบูรณาการ ในเชิงการตีความคำกล่าวดังกล่าว จากบริบทภายนอกการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย ได้ว่า นโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการที่ได้เกิดขึ้นนี้ เป็นเพราะ การแก้ปัญหาความยากจนนั้น เป็นแนวนโยบายพื้นฐานที่รัฐบาลได้ประกาศไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่เริ่มต้นบริหารราชการแผ่นดิน
ดังนั้นการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการดังกล่าวนี้ออกมา จึงเป็นการทำตามคำประกาศของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้

นอกจากนี้ถ้าเราจะถือว่า การประกาศสงคราม 3 อย่าง ของรัฐบาล เปรียบได้กับ "สัญญาประชาคม" (Social Contract) ที่รัฐบาลได้ให้ไว้กับประชาชน ตามทัศนะของ จอห์น ล็อก (Bickers and Williams (2001: 20) การกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ ออกมา ก็เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อสัญญาประชาคมที่ให้กับประชาชนไว้ว่า จะทำสงครามกับความยากจนนั่นเอง

ทั้งนี้ถ้าหากรัฐบาลไม่กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาสังคม ตามที่ได้สัญญาไว้ ตามทฤษฎีของล็อกแล้วนั้น รัฐบาลเองก็จะหมดความชอบธรรมลง เพราะมิได้บริหารบ้านเมืองตามที่ให้สัญญาประชาคมไว้ ประชาชนก็มีสิทธิที่จะเรียกอำนาจคืน และจัดตั้งรัฐบาลใหม่เข้าบริหารงานแทนได้ต่อไป ด้วยเหตุเช่นนี้ นโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ จึงได้ถูกกำหนดออกมาประกาศใช้เพื่อเป็นการรักษาสัญญาประชาคมที่รัฐบาลให้ไว้ในปี 2544 นั่นเอง

ประการที่สอง การกำหนดนโยบายดังกล่าวอาศัยฐานคิดเชิงทฤษฎีใดเป็นหลักในการคิดและกำหนดนโยบาย?
การอธิบายฐานคิดเชิงทฤษฎีของนโยบายแก้ไขปัญหาสังคม และความยากจนเชิงบูรณาการ ในมุมมองของผู้เขียนนั้นมองว่า สามารถอธิบายได้จาก 2 มุมมอง จาก 2 ทฤษฎีด้วยกัน ได้แก่ 1) มุมมองด้านผู้กำหนดนโยบาย โดยทฤษฎีรัฐนิยม(Statism) และ 2) มุมมองด้านผู้รับประโยชน์จากนโยบาย ซึ่งอธิบายด้วยแนวคิด Rational Choice

1) มุมมองด้านผู้กำหนดนโยบาย โดยทฤษฎี/ตัวแบบรัฐนิยม (Statism)
งานของ อนุสรณ์ ลิ่มมณี (2542: 40-47) ได้อธิบายความสัมพันธ์เชิงนโยบายระหว่างรัฐกับสังคมด้วยทฤษฎี/ตัวแบบรัฐนิยม(Statism) ไว้ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุป คือ ตัวแบบรัฐนิยมนั้นมีฐานคติเบื้องต้น(Basic assumption)อยู่ว่า ในสังคมนั้น "รัฐ" มักจะมีบทบาทนำในการกำหนดนโยบายเสมอ ถึงแม้ว่าปัจเจกชนหรือคนกลุ่มต่างๆในสังคมจะสามารถมีอิทธิพล หรืออำนาจต่อรองของตนผลักดันนโยบายรัฐได้ก็ตาม

แนวความคิดตามตัวแบบรัฐนิยมดังกล่าวนี้ มุ่งเน้นให้ความสำคัญมากกับ "ความเป็นอิสระของรัฐ" ซึ่งในงานของ Weiss และ Hobson (อ้างถึงใน อนุสรณ์, 2542: 46) ได้อธิบายว่ารัฐสมัยใหม่จะมีอำนาจอิสระสูง หรือความเข้มแข็งมากหรือน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอญู่กับอำนาจที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน(Infrastructural power) ของรัฐ 3 ด้านด้วยกัน คือ

ด้านแรก อำนาจในการแทรกซึมสังคม(Penetrative power) อำนาจนี้เกิดจากการที่รัฐสามารถเข้าถึง หรือสัมผัสกับคนกลุ่มต่างๆในสังคม หากรัฐมีอำนาจเช่นนี้สูง การดำเนินนโยบายด้านต่างๆโดยปราศจากการต่อต้านของสังคมจะเกิดขึ้นได้ง่าย

ด้านที่สอง คือ อำนาจในการสกัดทรัพยาการจากสังคม (Extractive power) รัฐจะมีอำนาจเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อ รัฐสามารถนำเอาทรัพยากรในสังคมในรูปต่างๆอาทิ กำลังคน ภาษีอากร และความร่วมมือมาใช้ในการดำเนินนโยบายของรัฐ แต่ถ้าอำนาจแบบนี้จะอยู่ได้นานโดยไม่ต้องอาศัยการใช้กำลังบังคับ ก็จะต้องมีอำนาจในด้านแรกเสียก่อน

อำนาจด้านสุดท้าย
คืออำนาจจากการเจรจาต่อรอง (Negotiated power) อำนาจของรัฐลักษณะนี้ เป็นผลจากความสามารถของรัฐในการประสานงานกับสังคม โดยวิธีการเจรจาต่อรองกับกลุ่มต่างๆ ผ่านกลไกและสถาบันต่างๆที่มีอยู่ในสังคม ซึ่งถือเป็นอำนาจที่สำคัญที่สุด ซึ่งรัฐจะมีได้ต้องมีอำนาจใน 2 ประเภทแรกเสียก่อน
ตามทัศนะของ Weiss และ Hobson นั้นรัฐใดที่มีอำนาจตามโครงสร้างพื้นฐานดังที่กล่าวไปนั้น ก็ถือว่าเป็นรัฐที่มีอำนาจอิสระ และมีความเข้มแข็ง ตรงข้ามกันกับรัฐที่มีอำนาจเหล่านี้อยู่น้อยก็จัดเป็นรัฐที่อ่อนแอ

ดังนั้นหากเรายึดตัวแบบรัฐนิยม เป็นตัวแบบหลักในการอธิบายการก่อตัวขึ้นมาของนโยบายแก้ไขปัญหาสังคม และความยากจนเชิงบูรณาการ เราจะสามารถทำการอธิบายจากด้านของผู้กำหนดนโยบายได้ว่า ด้วยเหตุที่รัฐบาลปัจจุบันผู้กำหนดนโยบาย (รัฐบาลทักษิณ สมัยที่ 1) นั้นเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจอิสระ และเป็นรัฐที่มีความเข้มแข็งอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ Weiss และ Hobson ดังเห็นได้จากการที่รัฐบาลทักษิณนั้น มีอำนาจที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 3 ด้าน

ซึ่งในด้านแรก อำนาจในการแทรกซึมสังคมนั้น เห็นได้จากการกำหนดนโยบายสาธารณะที่มีลักษณะเชิงประชานิยม (Populism Policy) ที่เข้าถึงประชาชนในระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ ตัวอย่างเช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, โครงการเอื้ออาทรประเภทต่างๆ เป็นต้น (เอนก เหล่าธรรมทัศน์, 2546: 155-180)

ส่วนอำนาจในอีก 2 ด้านที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการสกัดทรัพยากรจากสังคม และอำนาจจากการเจรจาต่อรอง เราก็จะพบว่ารัฐบาลทักษิณเองก็มีอยู่อย่างครบถ้วน เช่น การควบคุมทรัพยากรบุคคลในระบบราชการ, ควบคุมทรัพยากรเงิน จากการเก็บภาษีเป็นต้น

เนื่องจากรัฐบาลทักษิณมีอำนาจที่เข้มแข็ง และมีอำนาจที่มีความเป็นอิสระ ดังนั้นคำอธิบายจากมุมมองของตัวแบบรัฐนิยม จึงสามารถอธิบายได้ว่า ด้วยเหตุที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเข้มแข็ง อีกทั้งยังมีความเป็นอิสระสูง ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงมีบทบาทนำอยู่เสมอในการกำหนดนโยบายสาธารณะออกมา ซึ่งนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ ก็เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ก่อตัวขึ้นมาด้วยบทบาทนำของรัฐบาลเป็นหลัก มากกว่าที่จะเกิดขึ้นมาจากการรวมตัวกันเรียกร้อง หรือกดดันรัฐบาลจากภาคประชาชน

2) มุมมองด้านผู้รับประโยชน์จากนโยบาย ซึ่งอธิบายด้วยแนวคิด Rational Choice
การอธิบายฐานคิดเชิงทฤษฎีของนโยบายแก้ไขปัญหาสังคม และความยากจนเชิงบูรณาการ จากมุมมองด้านผู้รับประโยชน์จากนโยบาย นี้สามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิด Rational Choice

จากงานของ Hugh Ward (2002: 65-89) ได้อธิบายถึงแนวคิด Rational Choice ไว้ดังต่อไปนี้ แนวคิด Rational Choice นั้นเป็นที่นิยมมากในช่วงของการปฏิวัติแนวทางพฤติกรรมศาสตร์ ของวงการรัฐศาสตร์อเมริกันช่วงทศวรรษ 1950-1960 โดยจุดหมายหลักคือ การมุ่งอธิบายว่า มนุษย์นั้นจะมีพฤติกรรมต่างๆอย่างไร โดยใช้วิธีการศึกษาเชิงประจักษ์ (Empirical Methods)

แนวคิด Rational Choice นั้นได้ตั้งข้อสมมุติฐานหลักๆไว้บางประการ ได้แก่

ประการแรก
ปัจเจกบุคคลนั้นจะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก (Self-interest)

ประการที่สอง ปัจเจกบุคคลนั้นมีความสามารถในการใช้เหตุผล (Rational capacity) โดยแยกออกจากเงื่อนไขทาง เวลา และอารมณ์ ในการเลือกวิถีแห่งการกระทำที่ดีที่สุด ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขว่า การตัดสินใจเลือกนั้นจะต้องรับรู้ถึงผลที่ตามมาอย่างชัดเจน

ประการสุดท้าย ปัจเจกบุคคลนั้นมีความสามารถในการจัดลำดับความสำคัญของผลลัพธ์ได้ ดังนั้นปัจเจกบุคคลจึงตัดสินใจเลือกทางเลือกซึ่งสำคัญสุด และมีทางเป็นไปได้/เกิดขึ้นได้ มากที่สุด

หากพิจารณาจากด้านมุมมองของผู้รับประโยชน์จากนโยบาย (Policy Target) ซึ่งก็คือประชาชนผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายนั้น แนวคิดแบบ Rational Choice สามารถอธิบายการเข้ามีส่วนร่วมกับนโยบายได้อย่างชัดเจนที่สุด กล่าวคือ

นโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ มีจุดมุ่งหมายสำคัญที่จะขจัดความยากจนให้หมดไปจากประเทศไทย ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่ประชาชนผู้ยากจน หรือมีปัญหาเข้าตามเงื่อนไขของนโยบาย (มีทั้งสิ้น 7 ปัญหาด้วยกัน) สามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีต้นทุนสูงมากนัก เพียงแต่ประชาชนผู้มีปัญหาไปแจ้งปัญหาที่ตนเองมีด้วยการลงทะเบียนไว้กับทางราชการ และรอรับความช่วยเหลือเท่านั้น ก็เสร็จสิ้นขั้นตอนการแก้ปัญหา

การอธิบายจากแนวคิด Rational Choice นั้น สามารถอธิบายได้ว่า ด้วยเหตุที่ประชาชนผู้มีปัญหาความยากจน และปัญหาอื่นๆ เข้าร่วมลงทะเบียนเพื่อแจ้งปัญหาที่ตนมีต่อทางการนั้น ก็เนื่องจากปัจเจกชนนั้นๆ ได้คิด พิจารณาถึงผลประโยชน์ที่เขาจะได้รับเมื่อไปลงทะเบียน เปรียบเทียบกับต้นทุนที่เขาจะเสียไปหากไม่ไปลงทะเบียน เป็นอย่างดีแล้ว

เมื่อปัจเจกพบว่า การไปลงทะเบียนแจ้งปัญหาไว้นั้น ไม่ได้ใช้ต้นทุนมากนัก แต่ผลประโยชน์ที่อาจจะได้รับ คือการได้รับความช่วยเหลือจากทางการนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ดึงดูดใจให้ปัจเจกไปลงทะเบียนไว้ ซึ่งแม้ว่าการได้รับความช่วยเหลือจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญในการตัดสินใจเนื่องจากต้นทุนที่ต่ำในการเข้าร่วม ดังนี้ถึงแม้ว่าการแก้ปัญหาจะไม่สำเร็จ แต่ปัจเจกก็แทบจะไม่ต้องเสียต้นทุนไปเลยนั่นเอง

2.2 การนำนโยบายไปปฏิบัติ (Policy Implementation)
การวิพากษ์ในส่วนนี้ เป็นการพยายามตอบคำถามสำคัญ 2 ประการในด้านการนำนโยบายไปปฏิบัติ ได้แก่ ประการแรก, ลักษณะของการนำนโยบายไปปฏิบัติของหน่วยงานรับผิดชอบนั้นมีลักษณะเช่นใด และประการที่สอง, ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหน่วยงานรับผิดชอบกับประชาชนนั้นเป็นอย่างไร

ประการแรก ลักษณะของการนำนโยบายไปปฏิบัติของหน่วยงานรับผิดชอบนั้นมีลักษณะเช่นใด
การนำนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ ไปปฏิบัติโดยหน่วยงานรับผิดชอบต่างๆ นั้นสามารถจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะด้วยกัน ลักษณะแรก คือ การนำนโยบายไปปฏิบัติในลักษณะ Top-down และ อีกลักษณะนั้น คือ การปฏิบัติตามนโยบายในลักษณะ Bottom-up

1) การนำนโยบายไปปฏิบัติในลักษณะ Top-down
การปฏิบัติตามนโยบายของหน่วยงานรับผิดชอบในลักษณะ Top-down นั้น เป็นลักษณะของการปฏิบัติงานตามสายบังคับบัญชาที่เป็นลำดับชั้น (Hierarchy) ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่อยู่ในลำดับชั้นต่างๆลดหลั่นกันลงไปตามลักษณะหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน และลักษณะสำคัญของการปฏิบัติตามนโยบายในแบบนี้นั้น จะมุ่งให้ความสำคัญกับปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดการบรรลุใน "เป้าหมาย/เป้าประสงค์/วัตถุประสงค์" เป็นหลัก (ดู Hill and Hupe, 2002: 41-51)

ซึ่งลำดับชั้นของการปฏิบัติงาน ในลักษณะ Top-down ตามนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการนั้น สามารถจำแนกได้ดัง ต่อไปนี้

หน่วยงานที่รับผิดชอบการนำนโยบายมาปฏิบัติจากฝ่ายบริหารนั้นได้แก่ "กระทรวงมหาดไทย" ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเมื่อได้รับมอบนโยบายมาแล้ว ก็ได้ดำเนินงานโดยการเริ่มตั้ง "คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ (คสจ.)" ขึ้น พร้อมกับมอบหน้าที่ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจดทะเบียน เป็น 4 ฝ่ายด้วยกัน คือ

1) ฝ่ายออกแบบ และตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียน ซึ่งดำเนินการโดย "กรมการพัฒนาชุมชน"
2) ฝ่ายลงทะเบียน และบันทึกข้อมูล ดำเนินงานโดย "กรมการปกครอง"
3) ฝ่ายติดตามผล ดำเนินงานโดย "กองตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย" และ
4) ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ดำเนินงานโดย "กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย"

หน่วยงานปฏิบัตินโยบายในลำดับต่ำลงไป จะเป็น "ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการในระดับ จังหวัด/กรุงเทพฯ/พัทยา" และในลำดับถัดลงไปคือ "ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการในระดับ อำเภอ/กิ่งอำเภอ/เขต" จนถึงหน่วยงานในระดับล่างสุดที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลคือ "เวทีประชาคมหมู่บ้าน"

2) การปฏิบัติตามนโยบายในลักษณะ Bottom-up
"หัวใจสำคัญของการจดทะเบียนเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจน ประการที่ 1 คือเราต้องร่วมมือกัน และ ประการที่ 2, ทำอย่างไรให้ความจริงปรากฏ ไม่ให้มีความหลอกลวงปรากฏในเอกสารที่สำคัญคือเราเช็คได้ในเอกสาร เราไม่ต้องการข้อมูลเท็จ ข้อมูลที่เบี่ยงเบน เวลาลงทะเบียนเสร็จแล้วต้องให้ "ประชาคม"พิจารณ์อีก โดยคนในหมู่บ้านจะช่วยกันตรวจสอบเอง ถ้าไม่จริงก็จะไม่ผ่าน ในที่สุดชาวบ้านจะบอกความจริงเอง" นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย)
(ที่มา: แนวทางการจัดเวทีประชาคม เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลผู้จดทะเบียนปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ, 2547)

การปฏิบัติตามนโยบายของหน่วยงานรับผิดชอบในลักษณะ Bottom-up นั้น เป็นการปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติงานในระดับล่าง/ระดับปฏิบัติ (Street-level bureaucrats) ที่มิได้มุ่งเน้นการทำงานเพื่อหวังผลเลิศในการบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ / จุดมุ่งหมายของนโยบาย แต่ให้ความสำคัญเรื่องของ "ดุลยพินิจ" (Discretion) ในการตัดสินใจ เพื่อปฏิบัติการบางอย่างในสถานการณ์เฉพาะมากกว่า (ดู Lipsky อ้างถึงใน Kobrak, 2001: 89)

ผู้เขียนมองว่า แม้โดยส่วนใหญ่ของการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรับผิดชอบตามนโยบายแก้ไขปัญหาสังคม และความยากจนเชิงบูรณาการนี้จะมีลักษณะแบบ Top-down เป็นหลัก แต่ผู้เขียนมองว่า มีอยู่ขั้นตอนหนึ่งของการปฏิบัติงานตามนโยบายที่มีลักษณะเป็นแบบ Bottom-up อยู่ด้วย นั่นก็คือ ขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลผู้ลงทะเบียน ด้วยการจัด "เวทีประชาคม" ในระดับหมู่บ้านขึ้นนั่นเอง

"เวทีประชาคม" เป็นวิธีการที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ของผู้จดทะเบียนเพื่อแก้ปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ ซึ่งจัดขึ้นมาภายใต้แนวคิดว่า การเข้ามีส่วนร่วมในประชาคมหมู่บ้าน ของประชาชนทุกกลุ่มในชุมชน เพื่อร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลนั้น เป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุด

เพราะว่าคนในชุมชนเดียวกันย่อมจะรู้ปัญหาของกันและกันอย่างดี ด้วยเหตุนี้แนวทางเวทีประชาคมจึงถูกนำมาใช้เพื่อตรวจสอบข้อมูลผู้ลงทะเบียน และนอกจากนี้ประชาคมหมู่บ้านยังมีหน้าที่อื่นๆ นอกจากการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลของผู้ลงทะเบียนแล้ว ยังทำหน้าที่ในการส่งเสริมความเอื้ออาทร ความสามัคคีในชุมชน ด้วยการช่วยเหลือกันดูแล ตรวจตรา ผู้ที่ยังตกหล่นมิได้ไปลงทะเบียน หรือแม้กระทั่งให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นต่อผู้ที่ประสบปัญหาอย่างเร่งด่วนอีกด้วย

เวทีประชาคม นั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญในการจัดประชุมเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล คือ

- มีตัวแทนของครัวเรือนในหมู่บ้านเข้าร่วมประชุมอย่างน้อยครัวเรือนละ 1 คน
- มีผู้เข้าร่วมประชาคมมากที่สุด หรือไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50
- มีองค์กรกลาง กรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรอาสาสมัคร ฯลฯ เข้าร่วมเป็นแกนหลักในการประชุม

ภายหลังจากการดำเนินเวทีประชาคมเสร็จแล้ว ผู้รับผิดชอบของหมู่บ้านจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดส่งให้แก่ทางอำเภอ เพื่อบันทึกข้อมูลและจัดส่งต่อไปยังกระทรวงมหาดไทยต่อไป

ทั้งนี้ในการจัดเวทีประชาคม ในแต่ละชุมชนอาจใช้เวลา และจำนวนครั้งที่แตกต่างกันได้ แต่ต้องจัดการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในเวลา 15 วัน นับจากการเสร็จสิ้นการจดทะเบียน และได้รับบัญชีรายชื่อมาจากทางอำเภอ

จากกรณีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลผู้จดทะเบียนปัญหาสังคมและความยากจนนี้เราจะพบว่า มีลักษณะของการดำเนินงานแบบ Bottom-up เป็นการดำเนินงานที่ไม่มีลำดับชั้นทางอำนาจ เป็นการดำเนินงานในแนวระนาบ (Horizontal) ที่ประชาชนสามารถเข้าร่วมเวทีประชาคม กับตัวแทนจากองค์กรกลาง แกนนำชุมชน และข้าราชการในระดับท้องถิ่นได้อย่างอิสระ

อีกลักษณะสำคัญที่ผู้เขียนมองว่า การจัดเวทีประชาคมนั้นมีลักษณะการปฏิบัติตามนโยบายแบบ Bottom-up ก็คือ "ประชาคมหมู่บ้าน" นั้นสามารถมี "อำนาจตัดสินใจ/ดุลยพินิจ" (Discretion) ในการที่จะ "รับรอง/ยืนยัน" หรือ "ไม่รับรอง/ไม่ยืนยัน" ผลการจดทะเบียนของประชาชนในชุมชนได้ด้วยอำนาจของประชาคมเอง

ด้วยลักษณะการดำเนินงานในแนวระนาบ ผนวกกับการมีดุลยพินิจในการตัดสินใจ ในระดับหนึ่งของ "เวทีประชาคม" เช่นนี้เอง ผู้เขียนจึงมองว่า ในการปฏิบัติตามนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการนั้น นอกจากจะเป็นลักษณะ Top-down เพียงอย่างเดียว แล้วยังมีลักษณะแบบ Bottom-up อยู่ในขั้นตอนการปฏิบัติตามนโยบายอีกด้วย

ประการที่สอง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหน่วยงานรับผิดชอบกับประชาชนนั้นเป็นอย่างไร
"...รัฐบาลพยายามเปิดช่องทางทุกช่องทาง เพื่อให้มีทุนสำหรับประชาชน ช่องทางแรกคือ กองทุนหมู่บ้าน ...อีกช่องทางหนึ่งที่ขยับขึ้นมาคือ ธนาคารประชาชน ...ขยับมาอีกชั้นหนึ่งคือ การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน... นี่คือ 3 ช่องทางที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย ตั้งแต่มีประวัติศาสตร์ของประเทศไทย แต่วันนี้เราให้เพราะเราถือว่า คนที่ยังเข้าหาแหล่งทุนตามระบบไม่ได้มีจำนวนมากกว่า ประชาชนที่เข้าหาแหล่งทุนตามระบบได้...รวมไปถึงการจดทะเบียนคนจนซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ที่จะนำไปสู่การออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน หลังจากนั้นพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนที่ประสงค์จะพ้นจากความยากจนก็จะพ้นจากความยากจนได้ เพราะมีโอกาสเปิดให้ในหลายๆ มิติ เว้นแต่พี่น้องประชาชนที่ประสงค์จะจนต่อไป เพราะไม่ต้องการจะทำอะไรเลย อย่างนั้นช่วยไม่ได้..."

คำกล่าวของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติอิมแพ็ค เมืองทองธานี วันจันทร์ที่ 19 มกราคม 2547
(ที่มา: http://www.thaigov.go.th/news/speech/thaksin/sp19jan47-02.htm)

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติตามนโยบาย กับประชาชน สามารถจำแนกออกเป็นหลายระดับด้วยกัน ดังเช่นในงานของ Bickers and Williams (2001: 175) นั้นได้จำแนกประเภทของความสัมพันธ์เชิงอำนาจดังกล่าว ด้วยเกณฑ์การใช้อำนาจบังคับ (Coercion) โดยรัฐไว้ 6 ประเภทด้วยกัน ตั้งแต่ระดับแรกสุดคือ

1) ระดับที่ไม่มีการใช้อำนาจบังคับเลย (Noncoercive) ได้แก่ การขอความร่วมมือ (Hortatory Appeals) เช่นการรณรงค์ให้คาดเข็มขัดนิรภัย,

2) การให้ข้อมูลข่าวสาร (Information Provision) เช่น การกำหนดให้ระบุข้อมูลของอาหาร/ยา ไว้บนฉลาก,

3) การกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ (Positive Inducements) เช่น การอุดหนุนเงินทุน การจูงใจด้วยการลดภาษี จนถึงระดับที่เริ่มมีการใช้อำนาจบังคับในระดับกลางๆ

4) การประกันโดยรัฐบาล (Government Insurance) เช่น การชดเชยการว่างงาน การชดเชยราคาสินค้าเกษตร

5) การจัดสิ่งที่เป็นสินค้าสาธารณะ (Public Goods) เช่น การควบคุมมลภาวะทางเสียงในที่สาธารณะ จนถึงระดับที่มีการใช้อำนาจบังคับอย่างสูง (Highly coercive) คือ

6) การบังคับแทรกแซง (Negative Sanctions) เช่น การบังคับใช้กฎหมายในเรื่องต่างๆ ที่มีความสำคัญ เช่น การบังคับใช้กฎหมายอาญา, การเอาผิดกับผู้โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงเป็นต้น

หากพิจารณาความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหน่วยงานรับผิดชอบปฏิบัติงานตามนโยบาย กับประชาชน จากนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ ตามแนวคิดของ Bickers and Williams ที่ใช้เกณฑ์ การใช้อำนาจบังคับ (Coercion) เป็นเกณฑ์วัด เราจะพบว่านโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการนั้น เป็นนโยบายที่มิได้มีลักษณะของการใช้อำนาจบังคับ แต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะลักษณะของนโยบายนั้นเป็นนโยบายที่มุ่งให้เกิดประโยชน์ แก่กลุ่มเป้าหมายของนโยบาย คือคนที่มีปัญหา 7 ประการ โดยที่ผู้รับประโยชน์จากนโยบายนั้นมีเงื่อนไขในการรับประโยชน์จากนโยบาย ด้วยการไปลงทะเบียน เพื่อแจ้งปัญหาให้กับทางการได้รับทราบ และจะได้จัดหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมได้ต่อไป

ด้วยลักษณะของนโยบายที่เป็นเช่นนี้ สภาพบังคับ จึงไม่เกิดขึ้น ประชาชนผู้มีปัญหา แต่ไม่ประสงค์จะรับความช่วยเหลือจากรัฐ ก็ไม่จำเป็นต้องไปลงทะเบียนก็ได้ ดังพิจารณาจากคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีที่ว่า "...ประชาชนคนไทยทุกคนที่ประสงค์จะพ้นจากความยากจนก็จะพ้นจากความยากจนได้ เพราะมีโอกาสเปิดให้ในหลายๆ มิติ เว้นแต่พี่น้องประชาชนที่ประสงค์จะจนต่อไป เพราะไม่ต้องการจะทำอะไรเลย อย่างนั้นช่วยไม่ได้..."

ด้วยเหตุที่ลักษณะของนโยบายนั้นมิได้มีสภาพบังคับ ดังนั้น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหน่วยงานผู้รับผิดชอบปฏิบัติงานตามนโยบาย กับประชาชน ตามนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการนั้น จึงมีลักษณะของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แบบไม่มีอำนาจบังคับ นั่นเอง

(3). ข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่สังคมมีต่อนโยบายแก้ปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ
เนื่องจากนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการนั้น เป็นนโยบายที่มีผลกระทบต่อผู้คนในสังคม โดยเฉพาะผู้คนในระดับรากหญ้าที่จัดได้ว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบกับวิธีการดำเนินการของนโยบายก็ เป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีรัฐบาลใดได้เคยนำวิธี "การลงทะเบียน" มาใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนมาก่อน จึงทำให้นโยบายนี้ได้ถูกวิพากษ์ วิจารณ์ จากสังคม และจากนักวิชาการอยู่บ้าง

ผู้เขียนสามารถจำแนกประเด็นข้อวิพากษ์ วิจารณ์ที่มีต่อนโยบายนี้ ได้เป็น 3 ประเด็นหลักด้วยกัน ดังต่อไปนี้

ประเด็นแรก การกำหนดกลุ่มเป้าหมายของนโยบาย(Policy Target) นั้นมีความเป็นธรรมหรือไม่?
ข้อวิพากษ์ วิจารณ์ในประเด็นนี้มองว่า การกำหนดกลุ่มเป้าหมายของนโยบาย คือ คนที่มีปัญหาใน 7 ประเภทนั้นอาจจะไม่สามาถเข้าถึงผู้ที่มีปัญหา และเป็นผู้ที่ยากจนอย่างแท้จริงได้ (ดู กรุงเทพธุรกิจ 2 กุมภาพันธ์ 2547)
http://www.bangkokbiznews.com/2004/02/02/soc/index.php?news=evol.html)

ข้อวิพากษ์ วิจารณ์ในประเด็นดังกล่าวมองว่า การกำหนดเงื่อนไข "คุณสมบัติ" ของผู้ที่ประสงค์จะลงทะเบียนเพื่อแจ้งปัญหา นั้น อาจเป็นการกีดกันคนมีปัญหาบางกลุ่มออกไปจากเงื่อนไขในการลงทะเบียน ตัวอย่างเช่น คุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนที่กำหนดว่า ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้าน จึงจะสามารถลงทะเบียนได้นั้นถูกวิพากษ์ว่า กลุ่มคนที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน หรือคนที่จนอย่างแท้จริง แม้ทะเบียนบ้านก็ไม่มี ถ้าเป็นกรณีเช่นนี้นโยบายดังกล่าวนี้ก็ไม่สามรถครอบคลุมการแก้ปัญหาไปถึงได้

ผู้เขียนมองว่า ถ้าเช่นนั้น การกำหนดกลุ่มเป้าหมายของนโยบายนั้นควรได้รับการแก้ไข ปรับปรุงใหม่ ให้ปราศจาก"อคติ"ต่างๆออกไป เพื่อให้ประโยชน์ของนโยบายนั้นครอบคลุมถึงบุคคลผู้มีปัญหาได้อย่างแท้จริง โดยผู้เขียนมองว่า เราควรใช้หลักการที่เรียกว่า "Veil of ignorance" ของ John Rawls (อ้างถึงใน Stone, 2002: 54-55) ที่สมมุติว่ามีฉากกั้นปิดการรับรู้ของผู้กำหนดนโยบายไว้ เพื่อมิให้เกิดอคติในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เพื่อมิให้ประโยชน์จากนโยบายไปตกอยู่กับใครเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ผู้เขียนมองว่า การนำหลักการของ Rawls มาใช้ในที่นี้จะก่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน และเกิดการครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้ดี และเป็นกลางอีกด้วย

ประเด็นที่สอง นโยบายนี้เป็นนโยบายหาเสียง มากกว่าการตั้งใจแก้ปัญหาอย่างแท้จริง
ข้อวิพากษ์ วิจารณ์ในประเด็นนี้มีมากที่สุดในบรรดาข้อวิพากษ์ วิจารณ์ที่มีต่อนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ ดังเห็นได้จากงานของ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์(2546) และ รายงานข่าววิเคราะห์โดยทีมข่าวการเมืองเนชั่นสุดสัปดาห์ (ฉบับที่ 561 และ 592)

ข้อวิพากษ์ วิจารณ์ในประเด็นนี้มองว่า การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการลงทะเบียน พร้อมกับการประกาศว่าคนจนจะหมดไปจากประเทศไทยภายใน 6 ปี ของนายกรัฐมนตรี นั้นเป็นเพียงการพยายามซื้อเสียง ด้วยนโยบายที่มีลักษณะเชิงประชานิยม ที่มุ่งเอาใจคนจน ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากให้สนับสนุน และเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคที่เป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อๆไปเท่านั้น

สาเหตุของการมองและวิพากษ์ในแง่นี้ ผู้เขียนมองว่าเป็นเพราะการให้คำประกาศว่าคนจนจะหมดไปภายใน 6 ปี ของนายกรัฐมนตรีนั่นเอง ทั้งนี้เพราะเป้าหมายดังกล่าวนั้นเป็นคำกล่าวที่ค่อนข้างเกินจริง และค่อนข้างหลวม เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะใช้เกณฑ์ใดมาเป็นตัวชี้วัดว่าคนจนจะหมดไปจากประเทศไทย ข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อการวัดผลของรัฐบาลก็คือ รัฐบาลก็จะทำการนิยามคำว่า "คนจน" และ "ความยากจน" ขึ้นมาใหม่ เมื่อถึงเวลา 6 ปีตามเป้าหมาย (พ.ศ. 2552) เท่านั้นเอง

ประเด็นสุดท้าย มองว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยวิธีการ "ลงทะเบียน" นั้นไม่ถูกต้อง
ข้อวิพากษ์ วิจารณ์ในแง่นี้ ปรากฏในงานของ นิธิ เอียวศรีวงศ์(2546), อมร รักษาสัตย์ (2546: 359-368) ซึ่งมองว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยวิธีการลงทะเบียนแจ้งปัญหา อย่างที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะจะเป็นการสร้างลักษณะนิสัยที่รอคอยการช่วยเหลือจากประชาชน มากกว่าการพยายามช่วยเหลือตัวเอง หรือรวมตัวกันในกลุ่มประชาชนเพื่อช่วยเหลือกัน

ข้อวิพากษ์ในมุมมองนี้มองว่า การลงทะเบียน และคอยให้รัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาให้นั้น เป็นการทำให้ภาคประชาชนอ่อนแอ และต้องพึ่งพิงรัฐอยู่ตลอดเวลา เป็นการสร้างฐานอำนาจให้รัฐเข้มแข็งมากขึ้น โดยที่ประชาชนไม่สามารถริเริ่มทำอะไรด้วยตนเองได้เลย

ซึ่งแนวทางที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาความยากจน ตามมุมมองของผู้วิพากษ์ ในแง่นี้ก็คือ รัฐต้องกระจายอำนาจในการปกครอง และกระจายเงินงบประมาณ และสร้างเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถริเริ่มการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ด้วยชุมชนของตัวเองได้ โดยพึ่งพิงรัฐให้น้อยที่สุด ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้ จะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาความยากจน และปัญหาสังคมอื่นๆได้อย่างยั่งยืนกว่า การช่วยเหลือเพียงครั้งคราวจากรัฐเท่านั้น
(4). บทสรุป
นโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ ได้เสร็จสิ้นขั้นตอนของการ "ลงทะเบียน" ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2547 ที่ผ่านมา และในขณะนี้เป็นช่วงของขั้นตอน "การแก้ไขปัญหา" ตามที่ประชาชนได้มาลงทะเบียนไว้ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นมา

ณ ขนะนี้เรายังไม่สามารถสรุปได้ว่า เมื่อนโยบายนี้ได้ดำเนินไปเสร็จสิ้นทุกขั้นตอน "คนจน" และ "ความยากจน" นั้นจะหมดไปจากประเทศไทยจริงหรือไม่ ข้อวิพากษ์ วิจารณ์ที่ปรากฏขึ้นในสังคม เป็นเพียงเสียงสะท้อนให้เห็นถึงบางแง่มุมที่เป็นปัญหา และควรปรับปรุงเท่านั้น มิใช่ข้อสรุปว่านโยบายนี้จะสำเร็จ หรือล้มเหลวแต่ประการใด

เมื่อถึงเวลาครบ 6 ปี ตามกำหนด (พ.ศ. 2552) เราจะสามารถประเมินความสำเร็จของนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการนี้ได้ด้วยตนเอง อย่างแน่นอน


+++++++++++++++++++++++++++++++++

บรรณานุกรม

ภาษาไทย

นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2546. วาทกรรมความยากจน. บทความวิชาการลำดับที่ 335 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ใน CD รวมบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน.

แนวทางการจดทะเบียนเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ. 2546. กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย.

แนวทางการจัดเวทีประชาคมเพื่อตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของข้อมูลผู้จดทะเบียนปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ. 2547. กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย.

ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ และนวลน้อย ตรีรัตน์. 2544. "ตลาดการเมือง ประชานิยม และอนาคตเศรษฐกิจสังคมไทย", ใน 2540 จุดเปลี่ยนประเทศไทย, หน้า 137-138. กนกศักดิ์ แก้วเทพ และนวลน้อย ตรีรัตน์, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

รายงานข่าววิเคราะห์โดยทีมข่าวการเมืองเนชั่นสุดสัปดาห์, ใน CD เนชั่นสุดสัปดาห์ฉบับรวมเล่มปี 2003 ฉบับที่ 561 และ 592.

สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์. 2546. "ก้าวสู่สังคมยุคพระศรีอาริย์", ใน CD เนชั่นสุดสัปดาห์ฉบับรวมเล่มปี 2003 ฉบับที่ 602.

อมร รักษาสัตย์. 2546. ปรัชญารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์. กรุงเทพฯ : วี.เจ.พริ้นติ้ง.

อนุสรณ์ ลิ่มมณี. 2542. รัฐ สังคม และการเปลี่ยนแปลง: การพิจารณาในเชิงอำนาจ นโยบาย และเครือข่ายความสัมพันธ์. กรุงเทพฯ : เดือนตุลา.

เอนก เหล่าธรรมทัศน์. 2546. ประชาสังคม ประสบการณ์จากการอ่านและสอนที่จอห์นส์ ฮอปกิ้นส์. พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ : ทิปปิ้ง พอยท์.

ภาษาต่างประเทศ
Bickers, Kenneth N. and Williams, John T. 2001. Public policy analysis: A Political Economy Approach. New York: Houghton Mifflin Company.

Hill, Michael and Hupe, Peter. 2002. Implementing public policy: Governance in theory and in practice. London: SAGE Publications.

Kobrak, Peter. 2001. The political environment of public management. New York: Longman.

Stone, Deborah. 2002. Policy paradox: The art of political decision making (Revised ed.). New York: W. W. Norton&Company.

Ward, Hugh. 2002. "Rational Choice Theory" pp. 65-89 in Theory and Methods in Political Science edited by David Marsh and Garry Stoker. New York : St.Palgrave Macmillan.

เว็บไซต์
http://www.thaigov.go.th/speech/thaksin/sp15nov46-1.htm
http://www.cdd.go.th/clearinghouse/clearing.html
http://www.thaigov.go.th/speech/thaksin/sp05mar44.htm
http://www.thaigov.go.th/news/speech/thaksin/sp19jan47-02.htm
http://www.bangkokbiznews.com/2004/02/02/soc/index.php?news=evol.html


 


 

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 670 เรื่อง หนากว่า 9000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
เชิญชวนผู้สนใจภาษาอังกฤษ นำเสนอคำศัพท์ใหม่ๆ พร้อมคำอธิบายเพื่อทำความเข้าใจโลก และความคิดร่วมสมัย ทั้งในมิติด้านการมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
ที่ผมบอกว่าผมจะทำให้คนจนหมดจากแผ่นดินไทยภายใน 6 ปี หลายคนไม่เชื่อ นึกว่าผมคือนักการเมืองคนหนึ่งที่อยากจะหาเสียง ผมพูดด้วยสมอง ผมพูดด้วยหัวใจ ผมไม่ได้พูดด้วยลมปาก


"...รัฐบาลนี้ต้องทำสงคราม 3 อย่าง หนึ่งคือ ทำสงครามกับความยากจน ต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเพื่อให้คนพ้นความยากจน ซึ่งจะทำให้คนมีฐานะดีขึ้นทั้งระบบ เหมือนกับยกฐานรากให้สูงขึ้น ตึกทั้งตึกก็สูงขึ้นตาม เป็นลักษณะของการมีวิสัยทัศน์อย่างหนึ่งว่าเราจะประกาศสงครามกับความยากจน เพราะฉะนั้นเราจะสู้กับความยากจนอย่างเต็มที่เพื่อให้ชนะ สอง ประกาศสงครามกับยาเสพติด... สามประกาศสงครามกับคอร์รัปชั่น..."

คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในการประชุมชี้แจงนโยบายของรัฐบาลแก่ผู้บริหารระดับสูง ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วันที 5 มีนาคม 2544

 

ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี