นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
R
related topic
140948
release date

คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด

เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

ในเวทีสาธารณะ - ข้อเสนอแนะก่อนหายนะ
การเจรจา FTA มหันตภัยสึนามิทางเศรษฐกิจ
สรุปโดย : กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
Thai Action on Globalization

หมายเหตุ : กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้นำมาเรียบเรียง และปรับให้เหมาะสมกับเนื้อที่บนหน้าเว็ป
โดยมีการแยกประเด็นเพื่อความชัดเจน โดยไม่มผลกระทบกับเนื้อหาโดยรวม

ประกอบด้วย
๑. การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐ

๒.
เสนอ "เว้นวรรคเอฟทีเอ" โดย วุฒิสมาชิกสายก้าวหน้า

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 668
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)




ในเวทีสาธารณะ "ข้อเสนอแนะก่อนหายนะ"
1. การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐ
มุมมองจากบทเรียน เอฟทีเอ ระหว่างประเทศไทยกับ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น
และประสบการณ์จากต่างประเทศ (ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๓ กันยายน ๒๕๔๘)
ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน


ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน ประธานสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม กล่าวปาฐกถาอนาคตสังคมไทยหลังยุคเปิดเสรีการค้าของทักษิณ ชินวัตร ว่า…

ปรัชญาทางเศรษฐศาสตร์ได้ถูกเปลี่ยนจากผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม ของชาติ มาเน้นที่ความมั่งคั่งของตลาด ที่เน้นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจเข้ามาหาประโยชน์ได้มากขึ้น "มีวาระซ่อนเร้นที่สนองผลประโยชน์ของธุรกิจ การที่มีระบบเศรษฐกิจเสรี เพื่อประโยชน์ของธุรกิจเป็นสำคัญ แต่ขึ้นชื่อว่าทุน-ธุรกิจ พวกนี้ไม่มีสัญชาติ ไม่มีความผูกพันกับแผ่นดิน มุ่งหาประโยชน์จากการขยายตัวของตลาด ต่างต้องการเร่งรัดให้เกิดเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ จะได้มีอำนาจเพียงพอที่จะอาศัยอยู่ตรงไหนก็ได้ ทั่วทุกแห่งในโลก ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับพรมแดนประเทศ ด้วยเหตุนี้ ปัญหาจะตกหนักกับคนที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ซึ่งก็คือคนส่วนใหญ่ของโลก การค้าเสรีช่วยให้คนส่วนน้อยหาประโยชน์ได้ง่ายขึ้น รัฐบาลไม่สามารถป้องกันการหาประโยชน์ของคนพวกนี้ได้"

ศ.ดร.อภิชัย ตั้งข้อสังเกตว่า การค้าเสรีดีกับคนส่วนใหญ่ในโลกนี้จริงหรือ การค้าเสรีที่มีจุดล่อคือตลาดใหญ่ขึ้น ผลิตมากขึ้น คนมีงานทำมากขึ้น โดยสัญญาว่าคนจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ตรรกะเช่นนี้ ใช้ไม่ได้สำหรับอำนาจที่ไม่เท่าเทียม ความรู้ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีที่ต่างกัน และหากการค้าเสรีมีประโยชน์จริง ทำไมสหรัฐไม่ปล่อยให้การเจรจาพหุภาคีเป็นไปเพื่อประโยชน์ทุกฝ่าย ทำไมต้องเร่งทำทวิภาคีเพื่อต้องปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ต้องปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐมากกว่า เพราะฉะนั้นการเจรจาการค้าเสรีนั้นมีผลประโยชน์แอบแฝง ค่อนข้างมาก สำหรับสังคมไทยหลังยุคเปิดเสรีการค้าของทักษิณ ชินวัตรนั้น ศ.ดร.อภิชัย ตั้งคำถาม 4 คำถามว่า

๑. เชื่อได้หรือไม่ว่า ไทยมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเท่ากับสหรัฐอเมริกา
๒. เชื่อได้หรือไม่ว่า ผู้เจรจาฝ่ายไทยมีข้อมูลเทียบได้กับสหรัฐ
๓. เชื่อได้หรือไม่ว่า ผู้เจรจาฝ่ายไทยเชี่ยวชาญกฎหมายดีเท่าหรือดีกว่าสหรัฐ และ
๔. เชื่อได้หรือไม่ว่า คณะผู้บริหารไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน จะเจรจาเพื่อประโยชน์คนไทย

หากตอบคำตอบหนึ่งข้อหรือมากกว่า ว่าไม่เชื่อก็ชัดแจ้งอยู่ในตัวเองแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น

"ในระยะสั้น จะผลิตมากขึ้น แต่แย่งชิงทรัพยากร ผู้ที่อ่อนด้อยจะเสียเปรียบที่สุด ในที่สุดผู้แพ้ตัวจริง ผลที่ตามมาก็คือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะถูกทำลายในอัตราเร่ง ทุนนิยมบวกกับความโลภของมนุษย์ที่ถูกกระตุ้นตลอดเวลาจากความเสื่อมทางด้านจริยธรรมของวิชาเศรษฐศาสตร์ อันเนื่องมาจากเราได้เลือกทางเดินที่มีกระบวนการในการทำลายตัวเอง"

ศ.เกียรติคุณ วิสุทธิ์ ใบไม้ ประธานคณะอนุกรรมการทรัพยากรชีวภาพและทรัพย์สินทางปัญญา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า…

การค้าเสรีจะทำให้สมดุลย์ในการพัฒนาประเทศเสียไป ผลกระทบจะรุนแรงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่จะนำมาใช้ในเชิงการค้า เช่น ปาล์มน้ำมัน คำถามคือ ในพื้นที่ที่จำกัดอย่างประเทศไทย จะสนองความต้องการนี้ได้อย่างไร หมายความว่าต้องทำลายป่า สิ่งนี้จะเกิดจาก FTA หรือไม่ ไม่แน่ใจ แต่จะมีผลเกี่ยวเนื่อง และถ้าฐานทรัพยากรเหล่านี้ถูกทำลายจะเกิดผลกระทบอย่างมาก ทำให้ประชาชนขาดอิสระในการทำมาหากิน ต้องทำมาหากินแบบพึ่งพา ต้องแปรสภาพกลายเป็นแรงงานซึ่งมองว่ามันไม่มั่นคง

"สิ่งที่จะถ่วงดุลได้คือ เศรษฐกิจพอเพียง บนฐานทรัพยากรท้องถิ่นที่มี ทรัพยากรชีวภาพ จุลินทรีย์ แมลง สัตว์ พืช และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในระบบนิเวศน์ของท้องถิ่น หรือเศรษฐกิจบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ความพอเพียง และความมั่นคงไม่ว่ากระแสจะมาอย่างไร เพราะวิถีชีวิตแบบนี้ เป็นวิถีชีวิตที่รักษาสมดุลธรรมชาติ การค้าเสรีจึงเป็นกระแสที่ไม่ค่อยสอดคล้องกับวิถีชีวิต"

ในการอภิปรายหัวข้อ "ครึ่งทาง FTA ใครได้ใครเสีย"
เกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แม้สหรัฐเป็นตลาดที่สำคัญของไทย แต่เมื่อเจรจาเรื่องการลดภาษี ไทยเคยมีภาษีมากกว่า จะได้รับผลกระทบมากกว่า ทั้งเงินที่ได้จากอัตราภาษีและการเปลี่ยนแปลงในเชิงการค้า คือ จะเกิดการนำเข้ามากขึ้น ถ้าเคยเกินดุลอยู่ ก็จะเกินดุลน้อยลง ต้องถามรัฐบาลว่า จะทำดำเนินการอย่างไร ทราบหรือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญอยู่ที่มาตราการที่ไม่ใช่ภาษี โดยในการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐ, ที่ผ่านมามีเพียงการตั้งคณะทำงานแก้ปัญหานำเข้าผลไม้ มีอายุการทำงานสองปีที่ผู้เจรจาฝ่ายไทยอ้างว่า เป็นความก้าวหน้า สำหรับตนถือว่าเป็นความล้มเหลว

"เราเป็นประเทศส่งออกอาหารต่อรองได้แค่นี้ถือว่าแย่มาก หมายความว่าสองปีนั้นส่งออกไม่ได้เลย ถ้าไปเจรจาแล้วไม่สามารถแก้มาตราการการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีไม่ได้เลยถือว่าล้มเหลว ปัญหาใหญ่คือ นายกรัฐมนตรีไม่ฟังใคร นายกไม่ฟัง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน การเลือกประเทศที่ทำสัญญา และการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจาก FTA"

ทั้งนี้จากการเปิด FTA กับจีน พบว่า หากหักมันสำปะหลังและยางพาราออกจากรายการการส่งออก ไทยขาดดุลจีนอย่างมาก และยังส่งผลให้ราคาผลไม้ไทยเฉลี่ยลดลงร้อยละ 30 ใน 19 รายการแรก

สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยสถาบัน TDRI กล่าวว่า… การทำ FTA ที่ผ่านมาต่างกับสหรัฐที่ดำเนินการอยู่ ต่างที่อำนาจต่อรองห่างกันมาก ขนาดญี่ปุ่นในหลายเรื่องยังยอมไทยบ้าง สะท้อนว่าอำนาจต่อรองไม่เลวร้ายมากนัก แต่ใช้ไม่ได้กับกรณีของสหรัฐ อีกทั้งผลกระทบก็ต่างกันมาก เพราะลดระดับภาษี อุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี ปัจจัยอื่นๆ สหรัฐเรียกร้องมากที่สุด เพราะไทยจะต้องแก้กฎหมายระดับพระราชบัญญัติหลายสิบฉบับ

ทั้งนี้ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ การเจรจา FTA มีลักษณะของกลุ่มผลประโยชน์ (Special interest group) ซึ่งมีไม่มาก กระจุกตัวอยู่แค่บางกลุ่ม ภาครัฐไทยเปิดฟังสาธารณะ คือ ๓ สมาคมหลัก สภาหอการค้า, สภาอุตสาหกรรม, สมาคมธนาคาร, ที่ประปรายก็ยานยนต์ ก่อสร้าง ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆและภาคเกษตรมีช่องทางมีส่วนร่วมน้อย ทำให้ FTA ห่างไกลจากการค้าเสรี

การผูกขาดที่มาในนามความตกลงการค้าเสรี ในกรณีของทรัพย์สินทางปัญญาให้สิทธิผูกขาดจากการสร้างสรรค์ผลงาน FTA จะขยายสิทธิผูกขาด น่าเป็นห่วงมาก เพราะความตกลงจะเกินขอบเขตของข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาใน WTO ซึ่งมากกว่ากฎหมายของสหรัฐด้วย

ขณะที่กลุ่มผลประโยชน์ในไทยที่ผูกขาดยังคงผูกขาดอย่างเหนียวแน่น เพราะการทำ FTA ที่ผ่านมาไม่เคยเปิดเสรีโทรคมนาคมในไทยเลย เมื่อพิจารณาถึงอำนาจต่อรอง FTA ของสหรัฐจะมีลักษณะเป็น Template หรือต้นแบบที่ใช้กับทุกประเทศ เนื้อหาต่างกันไม่เกิน 5%

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยสถาบัน TDRI ชี้ว่า น่าสนใจที่จะติดตามท่าทีฝ่ายไทยที่ระบุว่า จะเสนอคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ว่าจะทำได้จริงไหม ทั้งนี้การเจรจากับสหรัฐ ถือเป็นแบบอย่างที่แย่มากในเรื่องความโปร่งใส เพราะสหรัฐบังคับไทยไม่ให้เปิดเผยข้อมูล แม้ฝ่ายไทยไม่เซ็นสัญญา แต่ฝ่ายไทยก็ไม่เคยเปิดเผยข้อมูล

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ข้อน่าห่วงที่สุดในการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ อยู่ที่ การเดินทางไปสหรัฐของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร "หากผู้นำไทยอ้างกฎหมาย Trade Promotion Authority ของสหรัฐที่จะหมดอายุลง ฉะนั้นต้องเร่งการเจรจาให้จบลงก่อนกลางปีหน้า จะทำให้ฝ่ายไทยยิ่งเสียเปรียบมากขึ้น แม้หัวหน้าคณะเจรจา นายนิตย์ พิบูลสงคราม จะยืนยันว่าไม่มีกรอบเวลา แต่หากนายกรัฐมนตรีไปสหรัฐ แล้วยอม จะน่าเป็นห่วงมาก"

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์ฐานทรัพยากร กล่าวว่า… การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐในประเด็นสิ่งแวดล้อมคืบหน้าไปมาก แต่คำถามอยู่ที่ประโยชน์จะตกกับฝ่ายไทยแค่ไหน เพราะจุดยืนของสหรัฐชัดเจนในประเด็นสิ่งแวดล้อม เพื่อเปิดตลาดสินค้าสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม

การบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดขึ้นอาจดีขึ้นจริง แต่ยังมีข้อสงสัยหลายประการโดยเฉพาะการเข้ามาแทรกแซงของสหรัฐและประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ขณะที่ความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยไปลงนามไว้ ไม่สามารถบังคับใช้กับนักลงทุนสหรัฐได้เลย เพราะมีการเขียนยกเว้นไว้ ดังนั้น หากทั้งสองประเทศมีความจริงใจจะต้องกำหนดเป้าหมายในการเจรจาเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน มุ่งเป้าควบคุมกำกับไม่ให้การค้าเสรีทำลายสิ่งแวดล้อม

"คำถามที่ถามมาตลอดคือ ในเมื่อการทำ FTA มีผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ ทำไมรัฐบาลไม่ทำตามรัฐธรรมนูญคือ ให้รัฐสภาได้พิจารณาเรื่องนี้ ฝ่ายรัฐมักตีความรัฐธรรมนูญและใช้มาตรานี้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวกำลังเสนอกฎหมายเพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการเจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยระบุให้มีการทำรายงานผลกระทบในทุกๆด้าน และนำสู่การพิจารณาของสภาประชาชนด้วย"

ในช่วงบ่ายของเวทีสาธารณะ
ในช่วงบ่ายของเวทีสาธารณะ เป็นการอภิปรายผลกระทบต่อประชาชนในสาขาอาชีพต่างๆ โดย

ธีรพงษ์ ฉัตรวัฒนกำจร ตัวแทนผู้ปลูกกระเทียมจากอำเภอไชยปราการ กล่าวว่า เกษตรกรกำลังเดือดร้อนจากกระเทียมและหอมของจีนที่ไหลทะลักมาตีตลาด รัฐบาลไม่ช่วยเหลือจะช่วยเหลือก็ต้องเมื่อเกษตรกรให้สัญญาว่าจะไม่ปลูกส้ม กระเทียม หอม ลิ้นจี่ ลำไย หอมหัวใหญ่ ทั้งที่เป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรภาคเหนือ หนำซ้ำยังจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นงวดแบ่งเป็น 3 ปี "มติแบบนี้ออกมาได้ยังไง แก้จนไม่ใช่แก้ด้วยการฝึกอาชีพ แต่ต้องแก้ที่นโยบายรัฐบาล แก้ที่ยกเลิกการทำเอฟทีเอ"

ดวงทิพย์ ต๊ะวนา เกษตรกรปลูกลำไยจากอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ลำไยเป็นพืชปราบเซียน ปราบรัฐบาล คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เดินทางไปภาคเหนือไปตั้งสองครั้ง บอกว่าราคาจะไม่ให้ต่ำกว่าปีที่แล้ว ในสภาพความเป็นจริง พ่อค้าจีนมีอำนาจการซื้อมากกว่า สามารถกดราคาได้ แต่ถ้าเราส่งออกไปเองก็จะถูกกีดกัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาคอรัปชั่นอย่างมากมาย ผลกระทบจากการเปิด FTA, เกษตรกรจากอำเภอสารภีระบุว่า เริ่มมีเกษตรกรทยอยขายที่ดินในราคาถูก เนื่องจากประสบภาวะหนี้สิน "สามารถไปดูได้ที่อำเภอสารภี ป้ายขายที่อยู่ติดกับป้าย GAP ของกรมวิชาการเกษตร"

พีระพงษ์ สาคริก กรรมการผู้จัดการตลาดไท กล่าวว่า ได้ฟังเกษตรกรบรรยายความยากลำบากจนไม่แน่ใจว่าเป็นเกษตรกรไทย หรือ มาจากเขตสึนามิ(ผลกระทบแผ่นดินไหว ภาคใต้ของไทย ธค.47) และคาทริน่า(พายุที่ถล่มภาคใต้ของสหรัฐ, กย.48) เพราะอาชีพล่มสลาย

"โดยส่วนตัวเชื่อว่า สำหรับผักผลไม้ ระยะสั้นก็หนักหนา ระยะยาวก็สาหัส ที่พูดว่าหลังจาก FTA เราจะได้ไปขายที่ต่างๆมากมาย ก็หมายถึงว่า เราต้องผลิตเยอะ แล้วมีผลผลิตตกเกรดเยอะ แต่เราไม่มีการคิดหรือเตรียมการทั้งสิ้น เรามีต้นทุนการผลิตเมื่อเทียบกับคู่ค้าของเราที่ทำสัญญาด้วย ต่างกันโดยสิ้นเชิง เราอาศัยปุ๋ยและยา จากเขา แล้วเราก็จะเปิดเสรีเกษตรสู้กับเขา ยังไงก็สู้ไม่ได้"

ในกรณีของ FTA ไทย-จีน ไทยเสียเปรียบมากๆ คือ ศักยภาพของเราต่างกันกับประเทศจีนอย่างมาก พ่อค้าจีนเดินทางเข้ามาเจรจา 50 คณะ แต่ของไทยไปเจรจาเพียงคณะเดียวเท่านั้น "ระยะแรกจะถูกโจมตีเรื่องผลไม้ ต่อมาก็จะถึงผัก เดิมเรามีผักจากจีนสองสามตัว คือ แครอท หอมใหญ่ กระเทียม แต่ปัจจุบันเรามี 12 ชนิด กระเทียม บรอคเคอรี ผักสุกีนี คะน้า ผักกาดลุ้ย เป็นต้น และ ภายหน้า จะมีเพิ่มเข้ามาอีก

ผักทุกชนิดจะเข้ามาเพราะต้นทุนต่ำ ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า" "ก่อนเปิด FTA กระเทียมตลาดไท ของไทยอยู่ที่ 42 ของจีนอยู่ที่ 24 แต่หลังปี 47 กระเทียบมกลีบจีน 21 บาท กระเทียมไทยเหลือ 36 บาท ปัจจุบัน กระเทียมไทย กก.ละ 25 -26 บาท กระเทียมจีน 21-23 บาท ที่น่าตกใจคือ ประมาณอาทิตย์ที่แล้ว กระเทียมจีน ประมาณ 26.5 กระเทียมไทย 24.3 ผมคิดว่าเก็บข้อมูลมาผิด เพราะกระเทียมเรามีรสชาติดีกว่า ผมให้เช็คอีกทีพบว่า ข้อมูลไม่ผิด แต่กระเทียมจีนช่วงนั้นขาด ผมก็คิดว่าทำไมคนไม่ซื้อกระเทียมไทย เพราะราคาลดลงมาก ผมคิดว่า พฤติกรรมผู้บริโภคน่าจะลดลง เช่น ส้มตำก็ใช้กระเทียมจีนแล้ว"

ผู้จัดการตลาดไท ระบุว่า ปัจจุบันมีปรากฎการณ์ที่น่าวิตกคือ นักธุรกิจจีนเข้ามาทำหน้าที่นำเข้าเอง
"นโยบายชาติต้องชัดเจน ต้องดูศักยภาพของประเทศ วันก่อนบอกว่ามีตลาดเยอะ วันนี้ บอกว่าให้ตัดทิ้ง ไม่รู้จะเอายังไง ควรมองให้ชัด ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องวิเคราะห์ว่าทิศทางควรจะเป็นอย่างไร การปลูกกระเทียมทำมายาวนาน วันนี้ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องมีเหตุผลให้กับเขาว่า ทำไมจึงจะต้องเปลี่ยน และ จะเปลี่ยนไปอย่างไร นี่เสมือนการสร้างหอเตือนภัย แต่ไม่ใช่แค่เปิดตอนสึนามิมา แต่เปิดเตือนก่อนที่จะมีภัยมา"

อดุลย์ วังตาล นายกสมาคมโคโฮลสไตล์ฟรีเชี่ยน ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการหายไปของคณะกรรมการติดตามผลกระทบ FTA ของรัฐบาลที่มี ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็นประธานว่า…

อาจเป็นเพราะคณะกรรมการชุดนั้นนำเสนอความเป็นจริงของผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่มีผลเสียกระจายอย่างมาก ทำให้ถูกลดบทบาทไป การประชาสัมพันธ์ของ FTA ของภาครัฐในขณะนี้ จึงมีแต่ด้านดี ดังนั้นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะต้องส่งเสียงให้ดังขึ้น ทั้งนี้ เวทีสาธารณะได้มีการถ่ายทอดสดผ่านอินเตอร์เนตทางเว็บไซต์ http://www.ftawatch.org และยังเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผ่านอินเตอร์เนตแบบสดๆ ด้วย ซึ่งผู้ชมทางบ้านแสดงความไม่พอใจถึงการปิดกั้นข่าวสาร และต้องการให้การเจรจามีความโปร่งใสและมีส่วนร่วมของประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ และนอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของการเจรจา FTA ของประเทศไทย

Kannikar KIJTIWATCHAKUL (Kar) Thai Action on Globalization 409 Soi Rohitsuk, Pracharatbamphen Rd. Huay Kwang, Bangkok 10320 Thailand Tel.66-2-6910718-20 Fax.66-2-6910714 Mobile 66-9-7701872 [email protected] [email protected]

+++++++++++++++++++

2. เสนอ "เว้นวรรคเอฟทีเอ" วุฒิสมาชิกสายก้าวหน้า
เตรียมรวบรวม สว. ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ FTA ขัดรัฐธรรมนูญ
ตั้ง"สภาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอ"


ในวันที่ 2 ของเวทีสาธารณะ "ข้อเสนอแนะก่อนหายนะ"การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ ณ
ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน. ทั้งเกษตรกร ผู้ป่วย ผู้ประกอบการ ตัวแทนวุฒิสมาชิก และพรรคการเมืองฝ่ายค้าน แสดงความไม่พอใจต่อการเจรจา FTA กับประเทศต่างๆของรัฐบาลไทย
โดยเฉพาะในกรณีของ FTA ไทย-สหรัฐ

ไกรศักดิ์ ชุณหวัน ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันตรวจสอบการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะนักวิชาการ หากเมื่อใดนักวิชาการไม่กล้าที่จะปกป้องสังคม
สังคมก็ถึงการหายนะ ซึ่งเริ่มปรากฏแล้วจากตัวเลขคนจนที่เพิ่มขึ้น และการฆ่าตัวตายในภาคเหนือที่มากที่สุด
ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องมีการประสานงานกัน

"ภารกิจสุดท้ายก่อนที่วุฒิสมาชิกจะหมดวาระ จะรวบรวมรายชื่อเสนอศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่า
การเจรจา FTA ขัดต่อรัฐธรรมนูญ การปิดบังข้อมูลผิดกฎหมาย หวังว่าศาลจะมีความยุติธรรมอยู่บ้าง
แต่นี่ถือว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายจริงๆ"

จอน อึ้งภากรณ์ วุฒิสมาชิกที่เพิ่งได้รับรางวัลแม็กไซไซ 2548 ยืนยันว่า… ภาคประชาชนต้องมีบทบาทในการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี เพราะเรื่อง FTA ต้องพูดทั้งในรัฐสภาและข้างถนน

"เรื่อง FTA เป็นเรื่องที่ประชาชนรับรู้น้อย และสื่อมวลชนของเราไม่มีอิสระ สื่อมวลชนเรามีแต่กล่อมให้เห็นว่า FTA คือทางออกที่จะสร้างสังคมทันสมัยให้แก่ประเทศไทย มีแต่ผู้ที่สนใจจริงๆจึงจะเข้าใจ หากดูประสบการณ์ของเม็กซิโกจะพบว่า กว่าประชาชนจะตื่นตัวก็มีการเซ็นข้อตกลงไปแล้ว และก็ประสบปัญหาอย่างหนัก"

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ สว.อุบล กล่าวว่า… FTA คือระบบนายทุนผูกขาด เชื่อมโยงกับต่างชาติ
มีผู้นำเป็นสมุนรับใช้ ทุนต่างชาติเป็นผู้ดำเนินการ "การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่ชนะด้วยการปลุกระดมและกำลังใจเท่านั้น เพราะแม้แต่ในพรรคไทยรักไทยก็ยังมีกบฏ เราต้องร่วมกับคณะกรรมการสิทธิฯ วุฒิสภา นักวิชาการ
องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรประชาชน"

บำรุง คะโยธา ผู้นำเกษตรกรเสนอให้ล้มระบอบเศรษฐกิจผูกขาดทักษิณก่อน จึงจะสามารถล้มเอฟทีเอได้ ไม่เช่นนั้นไม่มีทางล้มได้

ชนิดา จรรยาเพศ
ตัวแทนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า
ในที่ประชุมมีการทบทวนผลกระทบการเปิดเขตการค้าเสรีที่มีการลงนามไปแล้ว ได้แก่ ข้อตกลงกับประเทศจีน, ประเทศออสเตรเลีย, ประเทศนิวซีแลนด์, เป็นที่ปรากฎชัดว่าส่งผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัสต่อเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกผัก ผลไม้ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โคเนื้อ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

ยิ่งไปกว่านั้น ยังจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณธัญญาหารของประเทศในอนาคต

การเปิดเสรีด้านบริการ เฉพาะอย่างยิ่งด้านการบริการสาธารณสุข มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบทางลบต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชน กระทบต่อการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขของประชาชน
เฉพาะอย่างยิ่งคนยากจน

การเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่กับหลายประเทศในเวลาเดียวกัน เฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศยักษ์ใหญ่เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอำนาจต่อรองสูง มีเจตจำนงค์อย่างแน่ชัดในการผลักดันการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับที่เข้มงวด และมากกว่าที่ประเทศไทยผูกพันข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์กรการค้าโลก
ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้บรรษัทข้ามชาติสามารถผูกขาดยา ตลอดจนทรัพยากรพันธุกรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ อันจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และอำนาจอธิปไตยของประเทศอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้การลงนามข้อตกลง และการเจรจาการค้าเสรีของรัฐบาลดำเนินไปโดยไม่โปร่งใส
ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ไม่เปิดเผยข้อมูลการเจรจาต่อสาธารณะ ประชาชนไทยไม่เคยได้รับข้อมูลเพื่อพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

ดังนั้นที่ประชุมจึงมีข้อเสนอดังนี้
1. ให้ชะลอการเจรจา เพื่อให้มีเวลาในการปรับกระบวนการเจรจาให้เป็นไปอย่างโปร่งใส
เปิดโอกาสให้ประชาชน และรัฐสภามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

2. ให้เปิดเผยข้อมูลการเจรจาต่อประชาชน ให้ประชาชนได้รับรู้ เตรียมตัว และร่วมให้ข้อเสนอแนะเพื่อการตัดสินใจอย่างรอบด้าน

3. ให้มีการศึกษาข้อมูลผลกระทบเพื่อเตรียมความพร้อมในการเจรจาและรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

4. ให้นำเรื่องการเจรจา FTA เสนอต่อรัฐสภา ทั้งในช่วงการเจรจา และก่อนการลงนาม ในฐานะที่รัฐสภาเป็นตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ช่วยเพิ่มอำนาจของรัฐบาลในการเจรจา และให้มีการออกกฎหมายควบคุมการเจรจาการค้า และการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศ

5. ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในระดับการตัดสินใจ โดยกลไกทำประชามติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 ทั้งนี้ต้องมีการเผยแพร่เปิดเผยข้อมูลล่วงหน้าก่อนการทำประชามติ

6. ให้นำประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาออกจากการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐ หลังจากการประชุมครั้งนี้ จะมีการจัดตั้ง "สภาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก FTA" เพื่อเป็นกลไกของภาคประชาชนในการเข้าร่วมกระบวนการตัดสินใจนโยบายการค้าระหว่างประเทศ



 

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 650 เรื่อง หนากว่า 8500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
เชิญชวนผู้สนใจภาษาอังกฤษ นำเสนอคำศัพท์ใหม่ๆ พร้อมคำอธิบายเพื่อทำความเข้าใจโลก และความคิดร่วมสมัย ทั้งในมิติด้านการมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
การผูกขาดที่มาในนามความตกลงการค้าเสรี ในกรณีของทรัพย์สินทางปัญญาให้สิทธิผูกขาดจากการสร้างสรรค์ผลงาน FTA จะขยายสิทธิผูกขาด น่าเป็นห่วงมาก เพราะความตกลงจะเกินขอบเขตของข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาใน WTO ซึ่งมากกว่ากฎหมายของสหรัฐด้วย


ภาคประชาชนต้องมีบทบาทในการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี เพราะเรื่อง FTA ต้องพูดทั้งในรัฐสภาและข้างถนน

"เรื่อง FTA เป็นเรื่องที่ประชาชนรับรู้น้อย และสื่อมวลชนของเราไม่มีอิสระ สื่อมวลชนเรามีแต่กล่อมให้เห็นว่า FTA คือทางออกที่จะสร้างสังคมทันสมัยให้แก่ประเทศไทย มีแต่ผู้ที่สนใจจริงๆจึงจะเข้าใจ หากดูประสบการณ์ของเม็กซิโกจะพบว่า กว่าประชาชนจะตื่นตัวก็มีการเซ็นข้อตกลงไปแล้ว และก็ประสบปัญหาอย่างหนัก"
(จอน อึ้งภากรณ์)


ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี