นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
R
related topic
100948
release date

คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด

เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

วรรณกรรมวิจารณ์
บทวิจารณ์หนังสือเรื่อง"พระราชอำนาจ"
ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลยธรรมศาสตร์

บทความชิ้นนี้ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนแล้วบนกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หัวข้อที่ 07316
ทางกอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่ามีสาระที่น่าสนใจ จึงนำมาเผยแพร่บนเว็ปเพจแห่งนี้

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 665
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 4 หน้ากระดาษ A4)

 

 

วิจารณ์หนังสือเรื่อง "พระราชอำนาจ"
ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

(1) หนังสือของ ประมวล รุจนเสรี (ผมใช้ฉบับอินเตอร์เน็ต http://power.manager.co.th) อาจเรียกได้ว่าเป็นงาน hybrid คือเป็น "ลูกผสม" ระหว่างวรรณกรรมสรรเสริญพระบารมี ที่ผลิตโดยหน่วยราชการต่างๆ (ส่วนใหญ่แล้ว เขียนโดยผู้มีตำแหน่งราชการเป็น "นักวิชาการ" ประจำหน่วยงาน ซึ่งเป็นพวกที่จบมหาวิทยาลัยที่ถูก trained มาทางด้านประวัติศาสตร์, โบราณคดี, วรรณคดี) กับงานวิชาการ อย่างของธงทอง จันทรางสุ หรือ กนก วงศ์ตระหง่าน

งาน hybrid ประเภทนี้ มีให้เห็นบ่อยในระยะหลังๆนี้ โดยเฉพาะทางหน้าหนังสือพิมพ์ (โดยเฉพาะเครือผู้จัดการ ที่โปรโมทหนังสือของประมวลเอง เช่น สนธิ, คำนูญ, ความจริง แม้แต่งานของประเวศ วะสี ก็น่าจะจัดอยู่ในประเภทนี้ได้ ดูข้อเสนอเรื่อง "ปฏิรูปการเมือง" เริ่มแรกสุดของประเวศ เป็นต้น) บรรดากระฎุมพีใหม่เหล่านี้ ด้านหนึ่ง "กระดาก" เกินกว่าจะเขียนวรรณกรรมสรรเสริญพระบารมี แบบเดิมๆได้ จึงพยายามให้งานของตัวเองมีลักษณะ "วิชาการ" ทาง "นิติศาสตร์", "วิชาการ" ทาง "รัฐศาสตร์" หรือ "รัฐประศาสนศาสตร์"

อีกด้านหนึ่ง คนเหล่านี้ก็ไม่มีความสามารถพอที่จะอภิปรายเสนอประเด็นทางการเมืองหรือทางวิชาการที่ตนต้องการได้ โดยอาศัยเหตุผลของตัวประเด็นนั้นเอง จึงต้องเขียนอะไรที่ "อ้างอิง" ถึง "สถาบัน" เข้าไว้ จึงจะสามารถทำให้ประเด็นทางกฎหมายและการเมืองของตนดู "ขลัง" หรือ "มีน้ำหนัก" (นึกถึงข้อเสนอ "ปฏิรูปการเมือง" ของประเวศ)

(2) อันที่จริง ถ้าประมวลจะจำกัดตัวเอง เขียนงานประเภทวรรณกรรมสรรเสริญพระบารมีแบบเดิมเลยจะดีเสียกว่า เพราะส่วนที่พยายามทำให้เป็น "วิชาการ" นั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่า การสรุปย่อ ตัดแปะ จากงานของนักวิชาการที่ทำมาแล้ว (เช่น กนก, ธงทอง) และเมื่อถึงส่วนที่ประมวลพยายามเสนอเอง ก็ไม่สามารถทำได้ดีพอ สะท้อนความไม่สามารถที่จะอภิปรายปัญหาในเชิงกฎหมาย หรือประวัติศาสตร์ได้อย่างแท้จริง

(3) หัวใจของข้อเสนอที่เป็นด้าน "วิชาการ" ของประมวล ถ้าสรุปเป็นภาษาสามัญคือ "ในหลวงปัจจุบันทรงมีอำนาจมากกว่าที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ" เรื่องนี้เป็นความจริงอย่างแน่นอน แต่ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้กันอยู่ พูดได้ว่า แม้แต่เด็กมัธยมก็รู้ ปัญหาคือจะอธิบายความจริงนี้อย่างไร

(4) ประมวลเสนอว่า "คนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันกลับขาดความรู้ความเข้าใจใน 'พระราชอำนาจ' ที่ถูกต้องและเพียงพอ" และยกตัวอย่าง (ซึ่งเป็นตัวอย่างแรกและดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่เขาให้ความสำคัญที่สุด) ว่า "คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์ไทยต้องอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งที่กฎหมายรัฐธรรมนูญทุกฉบับ พระมหากษัตริย์ทรงให้ความเห็นชอบหรือทรงมีพระบรมราชานุมัติก่อน จึงจะประกาศใช้บังคับได้" ซึ่งถ้าตีความในทางกลับกันก็คือ แท้จริงแล้ว พระมหากษัตริย์ไม่ต้องอยู่ใต้ คือทรงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญต้องได้รับ "พระบรมราชานุมัติก่อน"

การเขียนเช่นนี้ เป็นความเข้าใจผิดของประมวลเอง ไม่ใช่ของคนไทยส่วนใหญ่ และสะท้อนการให้เหตุผลอย่างไม่เป็นตรรกะของเขา

การที่พระมหากษัตริย์ทรงให้ความเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้ จำเป็นต้องหมายความว่า ทรงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญด้วยหรือ? เปล่าเลย ตรงกันข้าม ตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา พระมหากษัตริย์ทรงให้ความเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญที่ตามหลักการกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรง อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นชอบหรือ "พระบรมราชานุมัติก่อน" ไม่ได้แปลว่าอยู่เหนือรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดเลย

ถ้าลองใช้ตรรกะแบบประมวล รัฐสภา (และบรรดาสมาชิกทั้งหลาย) ที่ต้องให้ความเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญก่อนเช่นกัน ก็แสดงว่า ต้องอยู่ "เหนือรัฐธรรมนูญ" ด้วย? ถ้ามีการลงประชามติ ให้ประชาชนเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญก่อน ก็แปลว่า ประชาชนต้อง "อยู่เหนือ" รัฐธรรมนูญ เช่นกันด้วย? จะเห็นว่า การที่ใครก็ตาม ไม่ว่าจะรัฐสภาหรือองค์พระมหากษัตริย์จะต้องให้ความเห็นชอบหรือ "อนุมัติ" / "บรมราชานุมัติ" กับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดก่อนก็ตาม ไม่ได้แปลว่า ผู้นั้นจะ "อยู่เหนือ" กฎหมายนั้นแต่อย่างใด

ถ้าประมวลจะเสนอว่า พระมหากษัตริย์ "อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ" ประมวลต้องหาเหตุผลอื่นมาอภิปราย ไม่ใช่เหตุผลนี้

อันที่จริง คำว่า "เหนือ" หรือ "ใต้" เป็น "อุปลักษณ์" (metaphor) เป็นคำที่ไม่ใช่ภาษากฎหมายอย่างเป็นทางการ ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดมี 2 คำนี้อยู่ในตัวบท ยกเว้นใน "คำปรารภ" รัฐธรรมนูญ ฉบับแรก 27 มิถุนายน 2475 มีข้อความดังนี้ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯสั่งว่า โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้ อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม...
และโดยที่ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร"

ในพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 7 ทรงตอบคณะราษฎรวันที่ 25 มิถุนายน 2475 ก็มีคำนี้ "คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนคร เป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อย...จึงยอมรับที่จะช่วย"

แม้แต่ในพระราชหัถตเลขาสละราชย์อันมีชื่อเสียง ก็ใช้คำนี้ "เมื่อพระยาพหลฯและพรรคพวก... ได้มีหนังสือขอให้ข้าพเจ้ายังคงเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้ายอมรับตามคำขอ" สรุปแล้วการที่ทรงมี "พระบรมราชานุมัติ" รัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้ ไม่ได้หมายความทรงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด นี่เป็นความเข้าใจของรัชกาลที่ 7 ผู้ทรงเริ่มต้นระบอบปกครองปัจจุบันเอง (ประมวลอยากเขียนงานให้เป็นวิชาการ แต่ทำการบ้านไม่พอ)

ถ้า "เหนือ" ในที่นี้ หมายถึง "ไม่อยู่ภายใต้ / ไม่ถูกกำหนด โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ" และ "ใต้" หมายถึง "อยู่ภายใต้ / ถูกกำหนด โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ" โดยทั่วไป และโดยหลักการใหญ่ พระมหากษัตริย์หลัง 2475 ก็ทรงอยู่ "ใต้" รัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน การที่บางพระองค์ทรงมีสิ่งที่ประมวลเรียกว่า "พระราชอำนาจ" มากกว่าที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้แปลว่า ทรงอยู่ "เหนือ" ในความหมายทั่วไปเช่นนี้

หรือถ้าประมวลจะยืนยันว่า การที่พระมหากษัตริย์บางพระองค์ทรงมี "พระราชอำนาจ" มากกว่าที่ระบุไว้จริงในรัฐธรรมนูญ เรียกว่าเป็นการอยู่ "เหนือ" รัฐธรรมนูญ อย่างน้อยในบางกรณี การที่ทรงอยู่ "เหนือ" ในบางกรณีนั้น ก็มาจากเหตุผลอื่น ไม่ใช่เหตุผลที่ว่า เพราะทรงมีพระบรมราชานุมัติรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้

(5) แท้จริงแล้ว เงื่อนไขสำคัญ - อาจจะเรียกได้ว่าสำคัญที่สุดในแง่กฎหมาย - ที่ทำให้เกิดภาวะที่พระมหากษัตริย์ในระบอบการเมืองที่ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ทรงสามารถมี "พระราชอำนาจ" มากกว่าที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ (ที่ประมวลอาจจะเรียกว่าเป็นภาวะ "เหนือรัฐธรรมนูญ") นั้น มาจากข้อกำหนดบางอย่างของรัฐธรรมนูญเอง พูดให้เฉพาะเจาะจงลงไป คือเป็นผลมาจาก "นวัตกรรมทางรัฐธรรมนูญ" (constitutional innovation) ครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ 2 ครั้ง

ครั้งแรก ในปี 2475 ซึ่งบรรจุข้อความต่อไปนี้ลงไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างถาวร คือ "องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้" และ

ครั้งที่สอง ในปี 2491-92 ซึ่งบรรจุข้อความต่อไปนี้ เพิ่มเติมเข้าไปควบคู่กับข้อความแรก "ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้"

แม้ว่าแรงผลักดันให้เกิด "นวัตกรรมทางรัฐธรรมนูญ" ทั้ง 2 ครั้งดังกล่าว มาจากประเด็นรูปธรรมเฉพาะบางอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนั้น คือ แถลงการณ์คณะราษฎรฉบับที่ 1 (ในกรณีนวัตกรรมครั้งแรก) และกรณีสวรรคต (ในกรณีนวัติกรรมครั้งที่สอง) แต่เมื่อข้อความทั้งสองถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็มีความหมายบังคับทั่วไป ในความเป็นจริง

ข้อความทั้งสองมีความหมายอันกว้างไกลใหญ่หลวงคือ นับจากนั้นไป หากพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจใดๆก็ตามนอกเหนือ หรือไม่ตรงกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในทางหลักการย่อมทรงสามารถทำได้และต้องถือว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น เนื่องจาก ไม่มีผู้ใดสามารถจะกล่าวหาได้ว่าทรงกระทำนอกเหนือหรือผิดรัฐธรรมนูญอีกต่อไป ไม่ว่ากรณีใดๆทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างเช่น ในการยึดอำนาจของสฤษดิ์ต่อจอมพล ป. เมื่อเดือนกันยายน 2500 ในหลวงทรงมี "พระบรมราชโองการ" ตั้งให้สฤษดิ์เป็น "ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร" โดยไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในกรณีเช่นนี้ เราย่อมไม่สามารถกล่าวได้ว่า ทรงทำนอกเหนือหรือผิดไปจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะจะขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเองที่ห้ามการกล่าวหาพระมหากษัตริย์ไม่ว่าในทางใดๆ

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญลักษณะนี้ มีที่มาจากรัฐธรรมนูญสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของญี่ปุ่น เหตุใดบทบัญญัติสำหรับพระมหากษัตริย์ (จักรพรรดิ) ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงถูกบรรจุเข้าไว้ในรัฐธรรมนูญที่เกิดจากสิ่งที่เรียกว่า "การเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ปฏิวัติ) ล้มสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ของสยาม และอะไรคือนัยยะของเรื่องนี้ เป็นประเด็นที่ยาวเกินกว่าจะอภิปรายได้หมดในที่นี้ (ดูบทความที่กำลังจะตีพิมพ์ของผม "ว่าด้วยข้อความ 'องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้'")

"นวัตกรรมทางรัฐธรรมนูญ" ดังกล่าว บวกกับการที่ชนชั้นนำ "ปฏิวัติ" หลัง 2475 ได้รับมาทั้งหมด (wholesale) บทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาที่รู้จักกันในนาม "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" (ประมวลกฎหมายอาญา ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๙๘ ปัจจุบันคือมาตรา ๑๑๒ ในประมวลกฎหมายอาญา ๒๔๙๙) แม้ว่าในความเป็นจริง บางด้านสำคัญของบทบัญญัติดังกล่าวจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญที่มี "นวัตกรรม" ดังกล่าวแล้วด้วยซ้ำ

ลักษณะการรับมาแบบ wholesale นี้รวมแม้กระทั่งการรักษาชื่อเรียกกฎหมายนี้ในจิตสำนึกของสาธารณชนว่า เป็นกฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" (เช่นในกรณีการฟ้องถวัต ฤทธิเดช) ความจริง นักกฎหมายของรัฐบาลหลัง 2475 ทราบดีว่า กฎหมายนี้ไม่สามารถเรียกว่าเป็นกฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" อีกต่อไป เพราะคำว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" มีนัยยะว่าสถานะของพระมหากษัตริย์เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ใช่ในระบอบรัฐธรรมนูญที่ทรงใช้อำนาจอธิปไตยแต่เพียงในนามเท่านั้น

(ดูบันทึกการประชุมอนุกรรมการตรวจพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาของคณะกรรมการกฤษฎีกา วันที่ 7 มกราคม 2484 : "หลวงประสาทศุภนิติ - จะใช้คำว่า 'หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ' จะเป็นอย่างไร, ม.จ.สกลวรรณกร วรวรรณ - เวลานี้ใช้ไม่ได้" ตรงข้ามกับความเข้าใจทั่วไปแม้ในปัจจุบัน ไม่มีข้อหาทางอาญา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ในกฎหมายไทย มีแต่ข้อหา "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย" พระมหากษัตริย์, พระราชินี, รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

รวบรวมตั้งแต่วันที่ 29 ถึงวันที่ 31 เดือนสิงหาคม 2548 จากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หัวข้อที่ 07316

 


 

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 650 เรื่อง หนากว่า 8500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
ประมวลเสนอว่า "คนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันกลับขาดความรู้ความเข้าใจใน 'พระราชอำนาจ' ที่ถูกต้องและเพียงพอ"
และยกตัวอย่าง (ซึ่งเป็นตัวอย่างแรกและดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่เขาให้ความสำคัญที่สุด) ว่า
"คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์ไทยต้องอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งที่กฎหมายรัฐธรรมนูญทุกฉบับ
พระมหากษัตริย์ทรงให้ความเห็นชอบหรือทรงมีพระบรมราชานุมัติก่อน จึงจะประกาศใช้บังคับได้"
ซึ่งถ้าตีความในทางกลับกันก็คือ แท้จริงแล้ว พระมหากษัตริย์ไม่ต้องอยู่ใต้ คือทรงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ
เพราะรัฐธรรมนูญต้องได้รับ "พระบรมราชานุมัติก่อน"

การเขียนเช่นนี้ เป็นความเข้าใจผิดของประมวลเอง ไม่ใช่ของคนไทยส่วนใหญ่
และสะท้อนการให้เหตุผลอย่างไม่เป็นตรรกะของเขา

(ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล)
H