ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 3-50000 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2548 - ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่
นักศึกษา สมาชิกและผู้สนใจ หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 640 เรื่อง หนากว่า 8500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

ประวัติศาสตร์การสร้างความเป็นไทย
การสร้างความเป็นชาติไทยผ่านสิ่งประดิษฐ์เรื่องมารยาท
ดร.แพทริค โจรี
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นข้อมูลเชิงสรุป นำมาจากจากกระดานข่าวของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ในหัวข้อที่
07104 - การสร้าง "ความเป็นชาติไทย" ผ่านสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า "มารยาท"
สรุปการบรรยายของดร.แพทริค โจรี - [21 ส.ค. 2548] - (26 / 5) new update hot
http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=midnightuniv&topic=7104


บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 646
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 5.5 หน้ากระดาษ A4)


     

หมายเหตุ
ดร.แพทริค โจรี (Patrick Jory) สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งรับผิดชอบสอนหลายกระบวนวิชา อย่างเช่น Contemporary Southeast Asia, The Islamic World in Southeast Asia, Ethnicities and Cultural Pluralism in Southeast Asia (ในบางรายวิชานั้น อาจารย์สอนร่วมกับอาจารย์ท่านอื่นๆด้วย)


เริ่มเรื่อง
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 เวลา 13.30-15.00 น. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้จัดการบรรยายเรื่อง "มารยาทกับความเป็นชาติไทย" (Manners and Thai National Identity) วิทยากรคือ ดร.แพทริค โจรี่ (Patrick Jory) อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ดร.แพทริค ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย ปัจจุบันรับผิดชอบโครงการภูมิภาคศึกษา หลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ความสนใจทางวิชาการในปัจจุบัน ได้แก่ ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม การเมืองร่วมสมัย วัฒนธรรมสมัยนิยม วัฒนธรรมการโฆษณา ชาตินิยมและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์

ดร.แพทริค เริ่มการบรรยายโดยกล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ขณะนี้ว่า ถ้ามองในแง่มุมหนึ่ง ก็ดูเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากสิ่งที่จะพูดในวันนี้ แต่มองอีกแง่มุมหนึ่งก็จะเห็นความเกี่ยวข้อง เพราะสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เกี่ยวข้องกับเรื่องลัทธิชาตินิยมและขอบเขตของความเป็นไทย และหากดูปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็จะเห็นว่า แนวคิดเรื่องรัฐชาติ (nation-state) ดูจะกลับมาแรงกว่าเดิมในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ไม่ได้หมดความสำคัญลงอย่างที่มีนักวิชาการบางสายทำนายไว้

ในการนำเสนอช่วงแรก ดร.แพทริค ทบทวนงานเขียนวิชาการที่เกี่ยวข้องกับชาตินิยมไทย การสร้างความเป็นชาติ และสร้างเอกลักษณ์ไทย โดยกล่าวว่า งานวิชาการชิ้นแรกๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเรื่องความเป็นชาติและการสร้างเอกลักษณ์ไทย คืองานของ เคร็ก เจ เรย์โนลด์ ซึ่งได้รับอิทธิพลความคิดเรื่องชาตินิยมจากนักวิชาการอย่าง เบเนดิค แอนเดอร์สัน, ฮอบส์บอว์ม และเรนเจอร์

ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็มีงานวิชาการภาษาไทยที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องชาตินิยม และความเป็นชาติไทย คือ งานของธงชัย วินิจจะกูล, นิธิ เอียวศรีวงศ์, เกษียร เตชะพีระ, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ในช่วงหลังๆ ก็ยิ่งมีงานแนวนี้ออกมามากขึ้น เช่น งานของสายชลเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นไทย งานของชนิดาที่ศึกษาเรื่องธงชาติไทย เป็นต้น กลายเป็นกระแสในวงวิชาการด้านสังคมศาสตร์ที่ออกมาตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ถอดรื้อแนวคิดเรื่องความเป็นชาติไทย

สำหรับงานวิชาการที่ตั้งคำถามกับแนวคิดเรื่องเอกลักษณ์ความเป็นชาติไทยในช่วงหลัง มีงานชิ้นสำคัญที่ช่วยเปิดประเด็นเรื่องความเป็นชาติของร่างกาย ว่าร่างกายถูกทำให้มีความเป็นไทยอย่างไร คือหนังสือเผยร่างพรางกาย ซึ่งทำให้เกิดงานศึกษาตามมาอีกหลายชิ้น เช่น งานของก้องสกล กวินรวีกุล ที่ศึกษาเรื่องการสร้างร่างกายสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม, งานของทวีศักดิ์ เผือกสม ศึกษาประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย, งานของกมลทิพย์ จ่างกมล ศึกษาเรื่องความเปลี่ยนแปลงของมารยาทในการรับประทานอาหาร สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้น

งานเหล่านี้เพิ่มแง่มุมที่แสดงให้เห็นว่า นอกจากองค์ประกอบสำคัญของเอกลักษณ์ความเป็นไทย จะอยู่ที่การสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทย การสร้างภาษาประจำชาติ การสร้างความคิดเรื่องเชื้อชาติไทย ศาสนาพุทธ และสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ความเป็นไทยยังอยู่ที่ร่างกายด้วย

สำหรับการบรรยายเรื่อง "มารยาทกับความเป็นชาติไทย" ครั้งนี้ ดร.แพทริค นำเสนอการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับมารยาทไทย 2 ยุค 2 แนวคิด คือ

- หนังสือ สมบัติของผู้ดี ของสมเด็จเจ้าพระยาภาสเด็จฯ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ซึ่งเขียนในสมัยรัชกาลที่ 6
- อีกชุดหนึ่งเป็นงานเขียนเกี่ยวกับมารยาทไทยตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีหลายเล่ม
ดร.แพทริควิเคราะห์เปรียบเทียบงานเขียน 2 ช่วงนี้ เพื่อตอบคำถามว่า มารยาทไทยคืออะไร?

1. หนังสือ สมบัติของผู้ดี
หนังสือ"สมบัติผู้ดี" เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2456 เป็นตำราที่ใช้สอนเรื่องมารยาท จริยธรรมในโรงเรียนสมัยนั้น เรื่อยมาจนกระทั่งไม่นานมานี้ (เมื่อปี 2542 สภาคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ก็ออกหนังสือสมบัติของผู้ดี ฉบับการ์ตูน) ผู้เขียน คือเจ้าพระยาภาสเด็จฯ

เจ้าพระยาภาสเด็จฯ มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูประบบการศึกษาสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เป็นคนไทยรุ่นแรกๆ ที่ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ กลับมาทำงานในกระทรวงธรรมการ เป็นเลขานุการพิเศษของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในยุคนี้กระทรวงธรรมการให้ความสำคัญมากกับการปรับเปลี่ยน พฤติกรรมและจริยธรรมของคน ให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย

แนวคิดในหนังสือ สมบัติของผู้ดี มาจากไหนบ้าง? ดร.แพทริคกล่าวว่า
ในหนังสือเล่มนี้แม้เราจะเห็นอิทธิพลของศาสนาพุทธอยู่บ้าง แต่จะเห็นอิทธิพลของวัฒนธรรมอังกฤษยุควิคตอเรียมากกว่า คำว่า "ผู้ดี" น่าจะได้มาจากคำว่า "English gentlemen" แต่ก็ไม่ใช่เป็นการเลียนแบบ "ผู้ดีอังกฤษ" เสียเลยทีเดียว

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ดูเหมือนว่าสถาบันสงฆ์จะกลายเป็นสถาบันที่ล้าสมัยไปแล้ว แม้แต่ในเรื่องของการสอนจริยธรรม ก่อนหน้านี้ "ชาดก" นับเป็นหัวใจสำคัญของจริยธรรมที่สอนให้ชาวบ้าน แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ดูเหมือนว่า จริยธรรมในชาดกจะเป็นสิ่งที่ราชสำนักไม่ต้องการแล้ว และพยายามขจัดออกไปจากพุทธศาสนา จริยธรรมใหม่ที่สร้างขึ้นและเผยแพร่ในยุคนี้เป็นแบบทางโลก (secular) ซึ่งก็สัมพันธ์กับระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่เข้ามาแทนที่วัดและสถาบันสงฆ์

เนื้อหาของสมบัติของผู้ดี แบ่งเป็น 10 บท ประกอบด้วย
1) ผู้ดีย่อมรักษาความเรียบร้อย
2) ผู้ดีย่อมไม่ทำอุจาดลามก
3) ผู้ดีย่อมมีสัมมาคารวะ
4) ผู้ดีย่อมมีกริยาเป็นที่รัก
5) ผู้ดีย่อมเป็นผู้มีสง่า
6) ผู้ดีย่อมปฏิบัติการงานดี
7) ผู้ดีเป็นผู้ใจดี
8) ผู้ดีย่อมไม่เห็นแก่ตัวฝ่ายเดียว
9) ผู้ดีย่อมรักษาความสุจริตซื่อตรง
10) ผู้ดีย่อมไม่ประพฤติชั่ว

แต่ละบทจะมีการขยายความ ที่พยายามสอนว่าจะต้องปรับพฤติกรรมใน 3 มิติ คือ กายจริยา (ปรับร่างกาย) วจีจริยา (ปรับการพูด) และมโนจริยา (ปรับความคิด)

ดร.แพทริคกล่าวว่า อ่านไปจะรู้สึกว่าหนังสือสมบัติของผู้ดีพยายามหาแนวทางในสถานการณ์ใหม่ บริบทใหม่ ที่แนวทางเดิมไม่สอดคล้องแล้ว ค่อนข้างชัดเจนว่าหนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือสำหรับข้าราชการในอนาคต. เราจะเห็นอิทธิพลของแนวคิดเรื่อง "ผู้ดีอังกฤษ" ซึ่งน่าจะมาจากการที่ผู้เขียนเคยอยู่อังกฤษมาก่อน และมีความใกล้ชิดกับรัชกาลที่ 6 ซึ่งค่อนข้างนิยมวัฒนธรรมอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม ดร.แพทริคไม่ได้คิดว่าหนังสือเล่มนี้ได้รับอิทธิพลหรือเลียนแบบตะวันตก แต่คิดว่าเป็นหนังสือที่พยายามตอบสนองความต้องการที่มีอยู่ในสังคมไทยขณะนั้น ซึ่งกำลังประสบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ระบบราชการกำลังขยายตัว เริ่มมีชนชั้นกลาง มีสังคมแบบกระฎุมพี และเริ่มมีการเข้ามาของแนวคิดเสรีนิยม สิทธิ ความเสมอภาค รวมถึงค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานของกระฎุมพี เช่น ต้องตรงเวลา ซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อหน้าที่ รู้จักทำงานกับคนอื่น ต้องปฏิบัติตัวตามระเบียบ มีการแบ่งเวลาที่ชัดเจนสำหรับการทำงาน รับประทานอาหาร พักผ่อน เป็นต้น

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้อภิสิทธิ์ของชนชั้นศักดินาเริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น และพยายามปรับพฤติกรรมให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปแล้ว (หากอ่านงานของ Norbert Elias ก็จะพบว่า ชนชั้นเจ้าในยุโรป ก็มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในลักษณะเดียวกันนี้ ในช่วงที่กระฎุมพีขึ้นมาท้าทายอำนาจ มองในแง่นี้จึงเกือบไม่เห็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับตะวันตก)

คนในระบบราชการที่หนังสือ สมบัติของผู้ดี พยายามจะฝึกนั้น มีทั้งชนชั้นศักดินา ขุนนาง และเริ่มมีสามัญชนเข้ามามากขึ้น จึงพบว่ามีความกำกวมบางอย่างที่น่าสนใจ เช่นมีตอนหนึ่งในหนังสือที่บอกว่า ต้องรู้จักที่ต่ำที่สูง ต้องเคารพสถาบันกษัตริย์ เคารพชนชั้นเจ้าและขุนนาง ต้องยอมรับระบบอาวุโส กล่าวอีกนัยก็คือ ยังมีความพยายามจะรักษาสถานภาพทางสังคมของศักดินา แต่ก็พยายามปรับให้เข้ากับแนวคิดสมัยใหม่ที่มีเรื่องเสมอภาคเข้ามาด้วย

และที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ หนังสือสมบัติของผู้ดีไม่ได้พูดถึงเอกลักษณ์ไทย ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมตะวันตก ไม่วิพากษ์วิจารณ์วัยรุ่นหรือเยาวชน กล่าวสั้นๆ ก็คือ ไม่มีแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมไทยเลย เป็นเรื่องของการพยายามปรับเจ้าหน้าที่ในระบบราชการ ให้มีมารยาทเหมาะกับยุคสมัยมากกว่า

2. งานเขียนเกี่ยวกับมารยาทไทย
เมื่อเปรียบเทียบกับงานเกี่ยวกับมารยาทไทยอีกแนวหนึ่ง ที่ปรากฏตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์จนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าแตกต่างกันมาก เพราะแนวคิดที่ปรากฏในหนังสือเกี่ยวกับมารยาทไทยช่วงหลังนี้ มารยาทได้กลายเป็นสัญญะของเอกลักษณ์ไทย เป็นสัญญะที่พยายามเอามารยาทในราชสำนักมาใช้กับประชาชนทุกคน

หนังสือที่เขียนในแนวนี้มีเยอะมาก ทั้งงานของ ม.ล.ปีย์ มาลากุล, สมศรี สุกุมลนันท์, คุณหญิงสมจินตนา, สมศรี บุญยฤทธิ์ ฯลฯ แต่เนื้อหาไม่ค่อยแตกต่างกัน กล่าวคือ มีนัยค่อนข้างอนุรักษ์นิยมและปกป้องตัวเอง เพราะสิ่งที่เรียกว่า "มารยาทไทย" ที่งานเขียนเหล่านี้เสนอนั้น เป็นสิ่งที่ "กำลังถูกคุกคามจากภายนอก" โดยเฉพาะจากการไหลบ่าเข้ามาของ "วัฒนธรรมตะวันตก"

งานเขียนเกี่ยวกับมารยาทในช่วงนี้ เสนอโครงเรื่องที่นักประวัติศาสตร์คงคุ้นเคยกันดี นั่นคือ ยกย่องเชิดชูมารยาทไทยว่าเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความเรียบร้อย นุ่มนวล มีความงดงามเป็นที่ชื่นใจแก่ผู้พบเห็น เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย ไม่มีที่ใดในโลกเสมอเหมือน แม้แต่ชาวต่างชาติก็ยอมรับว่าเป็นสิ่งดีงาม ควรค่าแก่การรักษาไว้ ฯลฯ

และกล่าวโทษวัฒนธรรมตะวันตก (โดยเฉพาะแนวความคิดที่ว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ เสมอภาคทางความคิด ควรมีอิสระในการตัดสินใจในการปฏิบัติตนในสังคม) ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยยุคนี้กลายเป็นคนไร้มารยาท โดยเฉพาะพวกเยาวชนที่ไม่เคารพยำเกรงพ่อแม่ ครูอาจารย์ และผู้ใหญ่ที่ควรเคารพ เยาวชนกลายเป็นคนที่มีความหยาบกระด้างทั้งกายและวาจา ซึ่งจะมีผลเสียถึงจิตใจด้วย

สรุป
กล่าวโดยสรุปคือ หนังสือเหล่านี้เห็นว่าวัฒนธรรมตะวันตกเป็นภัยคุกคาม โดยมีเยาวชนไทยตกเป็นเหยื่อ นี่คือแก่นความคิดที่จะปรากฏให้เห็นในหนังสือหลายเล่ม

ที่น่าสนใจคือ หนังสือเกี่ยวกับมารยาทไทยตั้งแต่สมัยสฤษดิ์เป็นต้นมา พยายามสอนเรื่องมารยาทอย่างละเอียดมาก ว่าในสถานการณ์ไหน บริบทไหนควรวางตัวอย่างไร มีทั้งมารยาทในการยืน การเดิน การนั่ง การนอน หรือแม้แต่มารยาทในการคลาน ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกไปด้วยเหตุผลที่ว่า มันไม่ศิวิไลซ์ ก็ถูกนำกลับมาอีกครั้ง

นอกจากนี้ก็มีมารยาทในการเคารพธงชาติ เคารพพระสงฆ์ ที่สำคัญคือ มารยาทในการแสดงความเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ มีการกำหนดมารยาทเกี่ยวกับการแสดงความเคารพ สถาบันกษัตริย์ในบริบทและพิธีการต่างๆ ไว้อย่างละเอียด ทั้งหมดนี้เป็นการนำเอาแนวคิดเรื่องชาตินิยมมาจัดการกับร่างกาย

เป้าหมายที่หนังสือเกี่ยวกับมารยาทไทยยุคหลังมุ่งสอน คือ กลุ่มเยาวชน นักเรียนนักศึกษา เพราะตั้งแต่การใช้แผนพัฒนาสมัยสฤษดิ์ กระแสการเปิดเสรีทั้งทางเศรษฐกิจและทางความคิดก็ไหลบ่าเข้ามา และมีอิทธิพลต่อเยาวชนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับวัฒนธรรมตะวันตก รับอิทธิพลของแนวคิดเสรีนิยมต่างๆ หลายฝ่ายเริ่มเห็นปัญหาเกี่ยวกับเยาวชนมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่เยาวชนได้แสดงบทบาททางการเมืองในช่วง 14 ตุลา 2516 จึงมีการนำแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมไทยมาใช้ เพื่อดึงเยาวชนให้กลับมาอยู่ในครรลองเดิม และเพื่อต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสม์ในช่วงนั้นด้วย

เมื่อเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องมารยาทที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 และต้นรัชกาลที่ 6 กับแนวคิดเรื่องมารยาทที่สร้างขึ้น และเผยแพร่ในช่วงหลังตั้งแต่สมัยสฤษดิ์เป็นต้นมา จะเห็นว่าไม่มีความต่อเนื่องกัน ในขณะที่หนังสือสมบัติของผู้ดี เขียนขึ้นเพื่อข้าราชการหรือคนที่ทำงานในระบบราชการเป็นส่วนใหญ่ หนังสือเกี่ยวกับมารยาทไทยช่วงหลัง กลับมีเป้าหมายอยู่ที่ประชาชนไทยทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน

ในขณะที่หนังสือสมบัติของผู้ดี พยายามสร้างความคิดให้คำนึงถึงสาธารณะ สอนให้รับผิดชอบต่อสังคม พยายามปรับพฤติกรรมของชนชั้นเจ้าให้เข้ากับความเป็นสมัยใหม่ ความเป็นศิวิไลซ์ (ขณะเดียวกันก็พยายามรักษากรอบทางสังคมการเมืองแบบศักดินาไว้ด้วย) หนังสือเกี่ยวกับมารยาทในช่วงหลังกลับเน้นที่การเคารพผู้ใหญ่ สถาบันกษัตริย์ พระสงฆ์ ครู ผู้ปกครอง เน้นการยึดมั่นกับระบบอาวุโส ไม่ค่อยเห็นปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) เห็นแต่พื้นที่พิธีการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็สอดคล้องกับวาทกรรมการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมสมัยสฤษดิ์


บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 640 เรื่อง หนากว่า 8400 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

R
relate topic
220848
release date

คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่

เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้

เที่ยงวันคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความมืด เที่ยงคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้... โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com

สำหรับงานวิชาการที่ตั้งคำถามกับแนวคิดเรื่องเอกลักษณ์ความเป็นชาติไทยในช่วงหลัง มีงานชิ้นสำคัญที่ช่วยเปิดประเด็นเรื่องความเป็นชาติของร่างกาย ว่าร่างกายถูกทำให้มีความเป็นไทยอย่างไร คือหนังสือเผยร่างพรางกาย ซึ่งทำให้เกิดงานศึกษาตามมาอีกหลายชิ้น เช่น งานของก้องสกล กวินรวีกุล ที่ศึกษาเรื่องการสร้างร่างกายสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม, งานของทวีศักดิ์ เผือกสม ศึกษาประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย, งานของกมลทิพย์ จ่างกมล ศึกษาเรื่องความเปลี่ยนแปลงของมารยาทในการรับประทานอาหาร สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้น งานเหล่านี้เพิ่มแง่มุมที่แสดงให้เห็นว่า นอกจากองค์ประกอบสำคัญของเอกลักษณ์ความเป็นไทย จะอยู่ที่การสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทย การสร้างภาษาประจำชาติ การสร้างความคิดเรื่องเชื้อชาติไทย ศาสนาพุทธ และสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ความเป็นไทยยังอยู่ที่ร่างกายด้วย

 

H