ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 3-50000 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2548 - ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่
นักศึกษา สมาชิกและผู้สนใจ หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 620 เรื่อง หนากว่า 8200 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

การเมือง ศีลธรรม และประชาชน
แมคเคียเวลลีกับการเมืองไทย และการดื้อแพ่ง
ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเหตุ : รวมบทความ ๒ ชิ้น ซึ่งได้รับมาจากผู้เขียนเพื่อเผยแพร่บนเว็ปไซต์แห่งนี้
๑. แมคเคียเวลลีกับการเมืองไทย
๒. สิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 624
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6.5 หน้ากระดาษ A4)

 

 

๑. แมคเคียเวลลีกับการเมืองไทย

"... ในการเข้าครองรัฐหนึ่งๆ ผู้ชนะพึงต้องจัดการกระทำทารุณกรรมทั้งหมดเสียในทันทีทันใด เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ต้องกระทำซ้ำอีกทุกเมื่อเชื่อวัน ..."
(The Prince บทที่ 8)

ในบรรดานักคิดทางรัฐศาสตร์ที่สำคัญๆ มีบุคคลหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อแนวความคิดและอุดมการณ์ของนักการเมืองในทุกยุคทุกสมัย ผู้ที่ได้ชื่อว่า เป็นทั้ง "นักคิดที่ไร้ศีลธรรม" และบางทีก็ได้รับการยกย่องว่าเป็น "นักคิดที่กล้าหาญ" เพราะว่าเขาพูดความจริงที่ไม่เคยมีใครในโลกเคยพูด เพราะเขาพูดถึงธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ในทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งบุคคลนั้นก็คือ นิโคโล แมคเคียเวลลี (Niccolo Machiavelli)

แมคเคียเวลลี เป็นชาวฟลอเรนซ์ของอิตาลี มีชีวิตอยู่ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่15 เขาได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Prince ซึ่งได้เสนอแนวความคิดในทางการเมืองแบบใหม่ สนับสนุนการใช้อำนาจและความรุนแรง (The politics of violence) เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้สื่อถึงการใช้ความรุนแรงทางการเมือง เช่น

จงเตรียมพร้อมเพื่อสงคราม การให้คนรักหรือคนกลัวอย่างไหนดีกว่ากัน ทำไมผู้ปกครองควรถูกยกย่องหรือถูกตำหนิ ผู้ปกครองควรรักษาสัจจะได้ในลักษณะใด ผู้ปกครองต้องพยายามไม่ให้คนเกลียด ทำอย่างไรผู้ปกครองจึงจะสร้างชื่อเสียงให้โด่งดังได้ ซึ่งพอจะสรุปได้ ดังนี้

1. แยกการเมืองออกจากศาสนา (secularization) สำหรับแมคเคียเวลลี การเมืองและศาสนาเป็นคนละเรื่องกัน การเล่นการเมืองไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงศีลธรรมจรรยา ซึ่งไม่เคยมีใครเสนอแนวคิดแบบนี้มาก่อน ในขณะที่เพลโตที่บอกว่าผู้ปกครองควรมีคุณธรรม ออกัสติน บอกว่าต้องเชื่อฟังพระเจ้า แต่แมคเคียเวลลีเป็นคนแรกที่บอกว่า การเมืองต้องแยกจากศาสนา ศีลธรรมจรรยา และพระเจ้า

2. รัฐเป็นสิ่งสูงสุด ความต้องการของแต่ละคนที่เข้ามารวมตัวเป็นรัฐคือผลประโยชน์ รัฐจึงเป็นตัวแทนของบุคคลในการหาและรักษาผลประโยชน์ ดังนั้นการคงอยู่ของรัฐและ เจตจำนงของรัฐจะต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใด แม้กระทั่งปัจเจกบุคคล

3. ต้องแยกรัฐออกจากศีลธรรมจรรยา ดังนั้นจึงไม่อาจพูดได้ว่ารัฐทำผิดหรือถูก เช่นเดียวกับบุคคลที่เป็นตัวแทนของรัฐ (รัฐบาล กษัตริย์ ผู้ครองนคร) จะไปวินิจฉัยว่าเขาทำผิดหรือถูกไม่ได้เช่นกัน เพราะผลประโยชน์ของรัฐย่อมเหนือความถูกผิดทั้งปวง

4. ผู้ครองนครหรือนักการเมืองเป็นนักฉวยโอกาส (opportunists) ทุกคน แรงจูงใจที่ทำให้เกิดการเมือง คือผลประโยชน์ ดังนั้นนักการเมืองหรือผู้ครองนครต้องกระทำการ ทุกอย่างเมื่อมีโอกาส เพื่อผลประโยชน์ของรัฐ

5. อย่ากลัวถ้าจะต้องทำผิดบ้าง ผู้ปกครองที่ประสบความสำเร็จต้องทำผิดบ้าง และควรใช้ประโยชน์จากการทำผิดนั้นด้วย เพราะบางสิ่งบางอย่างที่คนภายนอกมองเห็นว่าดี แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้ผลดีตามที่เห็น ในขณะที่ของที่ดูไม่ดีก็อาจจะใช้การได้ ดังนั้นผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องเลือกแต่สิ่งที่ดีๆ แต่ควรดูว่าสิ่งๆนั้นเมื่อนำไปปฏิบัติแล้วได้ประโยชน์หรือไม่ เพราะเมื่อจุดหมายปลายทางหรือผลที่ได้มันได้ประโยชน์ จะถือว่าสิ่งๆนั้นเป็นสิ่งที่ดี

6. ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องเป็นคนดี แต่ควรแสร้งแสดงให้คนอื่นคิดว่าเป็นคนดี ด้วยวิธีการต่างๆ เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าการเป็นคนดีเสียเองซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร

7. ผู้ปกครองควรให้คนกลัวมากกว่าคนรัก เพราะความรักอาจกลายเป็น ความเกลียดได้ แต่ความกลัวนั้นจะไม่รักและไม่เกลียด ผู้ปกครองจึงควรใช้อำนาจ (power) และความรุนแรง (violence) เพื่อให้ผู้อื่นกลัว

8. หลีกเลี่ยงการประจบสอพลอ เพราะการประจบสอพลอ คือความอ่อนแอ และทำให้ ลุ่มหลง ไม่อาจมองเห็นความจริงได้ ผู้ปกครองจึงควรสนับสนุนการพูดความจริงและตั้งคนฉลาดเป็นที่ปรึกษา และรับประกันเสรีภาพของที่ปรึกษาที่จะพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา

9. ผู้มีอำนาจย่อมเป็นผู้ถูกเสมอ (might is right) เพราะคนมีอำนาจจะทำอะไรก็ได้โดยไม่มีใครกล้าว่าว่าผิด จุดมุ่งหมาย (end) ย่อมสำคัญกว่าวิธีการ (means) จะทำอะไรก็ได้เพื่อให้บรรลุจุดหมาย

10. ผู้มีอำนาจไม่ควรอยู่ที่ทางสายกลาง เมื่อจะทำอะไรให้เต็มที่และเปิดเผย แมคเคียเวลลี กล่าวว่า เราไม่สามารถรับใช้พระเจ้าและซีซาร์ได้ในขณะเดียวกัน หรือเราไม่สามารถถือดาบกับไบเบิลได้พร้อมๆกัน

เมื่อหันกลับมาเปรียบเทียบการเมืองไทยในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า

1. การแยกการเมืองออกจากศาสนานั้น จะเห็นได้จากปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่ผุดอยู่ทุกหัวระแหง หรือไม่ก็การเมืองกลับไปล้วงลูกการศาสนาเสียเอง เช่น การแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่พระสังฆราช ฯลฯ

2. รัฐเป็นสิ่งสูงสุดโดยมองว่าเจตจำนงของรัฐจะอยู่เหนือสิ่งอื่นใด แม้กระทั่ง ปัจเจกบุคคล นั้น เห็นได้จากการละเมิดสิทธิมนุษยชน การฆ่าตัดตอน การอุ้มรายวัน และที่น่าสยดสยองมากก็คือ การออก พรก.ปิดประตูตีแมวกำหนดเขตประหาร(killing zone) เพื่อไม่ให้เสียงแมวหลุดรอดออกไปข้างนอกให้เป็นที่รำคาญใจ

3. การแยกรัฐออกจากศีลธรรมจรรยา ใครจะไปวินิจฉัยว่าเขาทำผิดหรือถูกไม่ได้ ก็เห็นได้ชัดจากการที่ทนการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เช่น การโต้ตอบว่า " ไม่รักชาติหรือไง" "เป็นคนไทยหรือเปล่า"ฯลฯ

4. การเป็นนักฉวยโอกาสนี้แทบไม่ต้องยกตัวอย่าง เพราะมีการใช้งบประมาณของ ราชการไปหาเสียงทางอ้อมกันอย่างมากมาย

5. การที่ไม่กลัวที่จะต้องทำผิด ก็มีให้เห็นอยู่อย่างมากมายอีกเช่นกัน จะเห็นได้จากการทำผิดอยู่อย่างซ้ำซากไม่ว่าการแต่งตั้งคนที่ไม่เหมาะสมกับงาน จนต้องมีการปรับเปลี่ยนกันเป็นว่าเล่น หรือบางอย่างที่เห็นชัดๆว่าขัดรัฐธรรมนูญ เช่น การปิดเว็บของสถานีวิทยุชุมชน ฯลฯ

6. ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องเป็นคนดี แต่ควรแสร้งให้คนอื่นคิดว่าเป็นคนดี ก็เช่น การพูดธรรมะขั้นสูงๆ หรือ (คนอื่น)ทำดีไม่ต้องเดี๋ยวฯลฯ

7. การทำให้คนกลัวมากกว่าคนรัก ก็โดย การขู่รายวัน เดี๋ยวย้าย เดี๋ยวปลด เดี๋ยวเชือด ฯลฯ
8. การหลีกเลี่ยงการประจบสอพลอ ในประเด็นนี้ คงเป็นประเด็นเดียวที่ไม่ได้นำแนวคิด แมคเคียเวลลี มาใช้ เพราะแม้แต่ข้าราชการระดับสูงที่ยังไม่พ้นจากตำแหน่ง ยังไปร่วมพิธีเปิดที่ทำการพรรคการเมืองได้อย่างหน้าตาเฉย

9. ผู้มีอำนาจย่อมเป็นผู้ถูกเสมอ คนเต็มบ้านเต็มเมืองบอกว่าไม่ถูก แต่ผู้มีอำนาจบอกว่าถูกก็ต้องถูก เพราะมติพรรคให้ยกมือสนับสนุนก่อนฟังการอภิปราย ยังทำได้เลย

10. ผู้มีอำนาจไม่ควรอยู่ที่ทางสายกลาง แน่นอนครับไม่เคยมีทางสายกลางใน สถานการณ์ปัจจุบัน เพราะท่านประกาศออกมาอย่างชัดแจ้งว่าฟางเส้นสุดท้ายขาดลงแล้ว

ไม่น่าเชื่อว่าแนวความคิดของคนในสมัยห้าร้อยกว่าปีก่อน จะมีอิทธิพลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคำกล่าวที่ว่า
" ผู้มีอำนาจย่อมเป็นผู้ถูกเสมอ (might is right)"


๒. สิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

"...การที่ข้าฯมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่นั้น มิใช่เพราะข้าฯไม่เคารพกฎหมายบ้านเมืองไม่ แต่เป็นเพราะข้าฯต้องการปฏิบัติตามคำสั่งที่สูงยิ่งไปกว่านั้น นั่นคือ คำสั่งแห่งความรู้สึกผิดชอบ ชั่วดีของข้าฯเอง..."
(มหาตมะ คานธี/คำให้การต่อศาลอินเดีย)

เมื่อพูดถึงสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว บรรดานักรัฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์ทั้งหลาย คงพากันสะดุ้งว่าผมจะชักนำหรือปลุกระดมผู้คนไปทางไหนกันอีก เพราะในกระแสหลักที่เราถูกปลูกฝังมา โดยตลอดว่า "บุคคลต้องทำตามกฎหมาย" จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ คำสั่งของผู้ปกครองหรือรัฏฐาธิปัตย์ย่อมสูงสุด ประชาชนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามถือว่าผู้นั้นต่อต้านอำนาจรัฐ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้เราลืมกันไปว่า รัฐเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และ กฎหมายเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

จากหลักการพื้นฐานที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ของทฤษฎีสัญญาประชาคมที่มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อว่ารัฐมีต้นกำเนิดมาจากมนุษย์ ที่ร่วมกันสร้างรัฐขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆของมนุษย์ และเครื่องมือที่รัฐใช้ก็คือ กฎหมายที่ออกมาบังคับกับประชาชนเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ในเมื่อรัฐและกฎหมายถูกสร้างขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ แล้วเหตุไฉนเล่ามนุษย์จึงจะไม่สามารถปฏิเสธผู้ปกครองที่เป็นมนุษย์ที่ไม่มีคุณภาพ หรือกฎหมายที่สร้าง โดยมนุษย์ซึ่งไม่เป็นธรรม

สิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในสังคมไทยของเรา เกิดขึ้นเพระความล้มเหลวของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่มีความจำกัดของระบบการเมืองที่ต้องอาศัยกระบวนการทางการเมืองเฉพาะการเลือกตั้งที่เราเรียกกันว่า "one day democracy"หรือ "ประชาธิปไตยวันเดียว" ซึ่งที่เรากาบัตรเลือกตั้งเพื่อมอบอำนาจไปให้นักการเมืองหรือพรรคการเมือง เพื่อเข้าไปออกกฎหมายและเข้าไปบริหารประเทศ แล้วก็เป็นอันว่าจบกัน

สิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือคำสั่งของผู้ปกครองที่ไม่ชอบธรรม คือการปฏิเสธอำนาจปกครองของรัฐ ถือได้ว่าเป็นการต่อกรกับความอยุติธรรมของสังคมโดยตรง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นมา เป็นการปฏิเสธไม่ทำตามกฎหมาย หรือการสั่งการของผู้ปกครอง โดยอ้างอิงถึงกฎเกณฑ์ที่สูงกว่ากฎหมาย ที่สำคัญก็คือ เป็นการที่สามัญชนธรรมดาดึงเอาอำนาจที่มอบให้แก่รัฐกลับคืนมา

สิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม จะต้องทำด้วยสันติวิธีเท่านั้น โดยหลีกเลี่ยงการบีบบังคับขู่เข็ญด้วยกำลังที่เป็นเรื่องของการใช้ "กฎหมู่" เพื่อบีบบังคับรัฐให้กระทำตามความต้องการของกลุ่มตน โดยไม่สนใจความชอบธรรมหรือผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวม

การต่อต้านกฎหมายและคำสั่งที่เป็นเป็นธรรมในที่นี้ มีเป้าหมายอยู่ที่การสื่อสารถึงสังคม ถึงปัญหาความเดือดร้อนและความอยุติธรรม โดยผู้ต่อต้านยินยอมรับการลงโทษอันอาจเกิดขึ้นตามกฎหมาย ดังเช่น

โสเครติสนัก คิดคนสำคัญของกรีกที่ปฏิเสธต่อการปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม โดยมุ่งหมายเพื่อให้ศีลธรรมและความยุติธรรมให้ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังในสังคมสมัยนั้น สุดท้ายตนเองต้องถูกประหารชีวิตโดยถูกบังคับให้ดื่มยาพิษจนตาย

มหาบุรุษ มหาตมะ คานธี เคยใช้วิธีอหิงสาต่อต้านเจ้าอาณานิคมอังกฤษ จนอินเดียได้รับเอกราช หรือดอว์ อองซาน ซูจี ที่กำลังกระทำอยู่ในปัจจุบันต่อรัฐบาลทหารพม่าจนทั่วโลกพากันแซ่ซร้อง สรรเสริญกันอย่างยิ่งใหญ่ ในโอกาสครบรอบวันกิดหกสิบปีของเธอไปเมื่อไม่นานมานี้

ตัวอย่างในอดีตของไทยก็เคยมีมาแล้ว เช่นกรณีของนายนรินทร์ กลึง หรือนรินทร์ ภาษิต ที่ปฏิเสธกฎเกณฑ์ของรัฐจนถูกจองจำ และในยุคร่วมสมัย เช่นกรณีของยายไฮ ซึ่งต่อสู้กับอำนาจรัฐจนเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในข่ายของการคัดเลือก เพื่อที่จะนำไปสู้การเสนอชื่อรับรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ หรือกรณีของสมัชชาคนจนที่เรียกร้องความเป็นธรรมอย่างสันติ แต่ถูกพยายามแยกสลายด้วยกลการเมืองจนอ่อนแรง

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองหรือความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้เห็นได้ว่าระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนในปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขปัญหาของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรากฏการณ์ต่อต้านกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมจึงเป็นการเคลื่อนไหวที่สะท้อนถึงการปฏิเสธประชาธิปไตยแบบตัวแทน โดยหันกลับไปสู้ลักษณะของประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งเป็นรูปแบบการเมืองที่เปิดพื้นที่ให้แก่ภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น

ในสังคมประชาธิปไตยปัจจุบันที่มุ่งเน้นไปในด้านประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้น เป็นไม่ได้ที่จะฝากอำนาจอธิปไตยให้แก่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปจนหมด เราจะต้องช่วยกันสร้างขึ้นมาถ่วงดุล หนึ่งในกลไกนั้นก็คือกลไกทางกฎหมายที่มิใช่ออกมาจากภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว แล้วไปบังคับใช้ทั้งหมดโดยไม่คำนึงถึงสภาพพื้นที่หรือสภาพเป็นจริงในสังคมที่เราเรียกกันว่า one law for all นั้นเอง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการพยายามผลักดันให้ภาคประชาชนมีส่วนรวมในการร่างกฎหมายก็คือ กฎหมายป่าชุมชนที่กำลังถูกแช่แข็งอยู่ในสภาขณะนี้ ซึ่งกฎหมายป่าชุมชนนั้นแยกสิทธิออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรก คือสิทธิการเป็นเจ้าของ ซึ่งถือว่าป่ายังเป็นของรัฐเหมือนเดิม
ส่วนที่สอง สิทธิการใช้และการจัดการ ถือว่าป่าเป็นของชุมชน มอบให้ชุมชนดูแล และ
ส่วนที่สาม เป็นสิทธิในการตรวจสอบและถ่วงดุลเป็นของภาคประชาสังคม แทนที่จะให้รัฐเป็นฝ่ายผูกขาดป่าไว้เป็นแต่เพียงฝ่ายเดียว จนทำให้พื้นที่ป่าลดน้อยถอยลงทุกวัน

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะร่วมกันปลุกจิตสำนึกที่จะต่อต้านกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการออกระเบียบ กฎเกณฑ์ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องของตนเอง การออกกฎหมายที่มุ่งสนองแต่เพียงประโยชน์ต่อชนชั้นผู้ออกกฎหมาย เท่านั้น

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่กระบวนการร่างกฎหมาย ควรจะต้องมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนหรือภาคส่วนอื่น เช่น นักสังคมวิทยาหรือนักมานุษยวิทยา ฯลฯ แทนที่จะถูกยกร่างโดยเฉพาะแต่เพียงนักการเมืองหรือนักกฎหมาย ที่คำนึงถึงแต่อำนาจรัฐโดยละเลยสิทธิชุมชน หรือสิทธิของเสียงข้างน้อย

กล่าวโดยสรุป คนสร้างรัฐและกฎหมายได้ คนก็ต้องมีสิทธิที่จะปฏิเสธ หรือต่อต้านกฎหมายหรือคำสั่งที่เป็นธรรมอย่างสงบและสันติได้เช่นกัน

กฎหมายก็ผิดได้นะครับ




บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 620 เรื่อง หนากว่า 8200 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

R
relate topic
290748
release date

คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่

เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้

เที่ยงวันคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความมืด เที่ยงคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้... โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com

"... ในการเข้าครองรัฐหนึ่งๆ ผู้ชนะพึงต้องจัดการกระทำทารุณกรรมทั้งหมดเสียในทันทีทันใด เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ต้องกระทำซ้ำอีกทุกเมื่อเชื่อวัน ..." (The Prince บทที่ 8)
ในบรรดานักคิดทางรัฐศาสตร์ที่สำคัญๆ มีบุคคลหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อแนวความคิดและอุดมการณ์ของนักการเมืองในทุกยุคทุกสมัย ผู้ที่ได้ชื่อว่า เป็นทั้ง "นักคิดที่ไร้ศีลธรรม" และบางทีก็ได้รับการยกย่องว่าเป็น "นักคิดที่กล้าหาญ" เพราะว่าเขาพูดความจริงที่ไม่เคยมีใครในโลกเคยพูด... (Niccolo Machiavelli)

"...การที่ข้าฯมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่นั้น มิใช่เพราะข้าฯไม่เคารพกฎหมายบ้านเมืองไม่ แต่เป็นเพราะข้าฯต้องการปฏิบัติตามคำสั่งที่สูงยิ่งไปกว่านั้น นั่นคือ คำสั่งแห่งความรู้สึกผิดชอบ ชั่วดีของข้าฯเอง..."(มหาตมะ คานธี/คำให้การต่อศาลอินเดีย)

H