ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




15-01-2552 (1674)

ประวัติความเป็นมาของคำว่า"ธรรมาภิบาล"และพัฒนาการ
ธรรมาภิบาลภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์: นัยต่อประเทศไทย (๒)
รศ. ดร.สมบูรณ์ ศิริประชัย : เขียน
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

หมายเหตุ: ตัดตอนมาบางส่วนจาก 'ธรรมาภิบาลภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์: นัยต่อประเทศไทย'
โดย ดร.สมบูรณ์ ศิริประชัย รองศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ซึ่งเป็นบทความเสนอในการสัมมนาทางวิชาการประจำปี ๒๕๕๐
เรื่อง "เศรษฐกิจไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์: การปฏิรูปเชิงสถาบัน"
จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๐

สำหรับบทความที่เสนอบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้แบ่งหัวข้อสำคัญตามโครงเรื่องดังต่อไปนี้
- ประวัติความเป็นมาของคำว่า "ธรรมาภิบาล"
- UNDP: กลไกประชารัฐ ๓ ด้านที่ดี (ความสมดุลระหว่างองค์กร)
- "ธรรมาภิบาล" ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม
- "ธรรมาภิบาล" ในวงการวิชาการมีความหมายสองนัย
- ความหมายของคำว่า "ธรรมาภิบาล" ของธนาคารโลก
- ความหมายที่แอบแฝงของธรรมาภิบาล
- ธรรมาภิบาลกับสังคมไทย
- นักวิชาการไทยกับธรรมาภิบาล : Good governance คืออะไร?
- ธรรมาภิบาลในทัศนะ ธีรยุทธ บุญมี
- ธรรมาภิบาลในทัศนะ อานันท์ ปันยารชุน
- ธรรมาภิบาลในทัศนะ ประเวศ วะสี
- ธรรมาภิบาลในทัศนะ อรพินท์ สพโชคชัย
- ธรรมาภิบาลในระบบกฎหมายไทย: ทัศนะของข้าราชการไทย
ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๗๔
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๔.๕ หน้ากระดาษ A4)


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ประวัติความเป็นมาของคำว่า"ธรรมาภิบาล"และพัฒนาการ
ธรรมาภิบาลภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์: นัยต่อประเทศไทย (๒)
รศ. ดร.สมบูรณ์ ศิริประชัย : เขียน
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

(คลิกกลับไปทบทวนเรื่องเดียวกันตอนที่ ๑)

ธรรมาภิบาลในระบบกฎหมายไทย: ทัศนะของข้าราชการไทย

ในความคิดของข้าราชการไทย ธรรมาภิบาลย่อมเป็นของแปลกใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในสังคมไทย ข้อเท็จจริงนี้ทราบได้จาก กฎหมาย 2 ฉบับคือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารราชการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 โดยฉบับแรกนั้นได้มีการยกเลิกไปแล้ว แต่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ สมควรนำมาวิเคราะห์ถึงความหมายและการบังคับใช้กฎหมายนี้

ในแง่ที่เป็นสถาบันที่เป็นทางการ ระเบียบสำนักนายกฯ ฉบับนี้เขียนจุดมุ่งหมายไว้ชัดเจนว่า "โดยที่สมควรกำหนดนโยบายและวางระเบียบปฏิบัติราชการเพื่อให้การจัดระเบียบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักกฎหมายและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้สังคมสามารถมีส่วนร่วมและรับผิดชอบในระบบบริหารกิจการดังกล่าวด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและให้โอกาสตรวจสอบได้ ตลอดจนขยายการให้บริการภาครัฐไปสู่ประชาชนอย่างรวดเร็วทั่วถึงและเป็นธรรม"

ระเบียบนี้อาศัยอำนาจตามมาตรา 11 ( แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ระเบียบฉบับนี้กล่าวถึงเหตุผลว่า บ้านเมืองเพิ่งผ่านวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2541 หากไม่ได้รับการจัดการแก้ไขอย่างแท้จริงและรีบด่วน โอกาสที่จะนำพาประเทศให้ฟื้นตัวจากวิกฤติย่อมเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ยังอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศยิ่งขึ้นอีกด้วย ด้วยกระแสอิทธิพลของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในขณะนั้น รัฐบาลชวน หลีกภัย จึงได้เสนอกฎหมายดังกล่าวในรูประเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี แต่จุดมุ่งหมายที่ระบุนี้เป็นเรื่องที่แปลกประหลาด เพราะมิได้ชี้ถึงแนวความคิดของธรรมาภิบาลในทางสากลเลย จุดมุ่งหมายในระเบียบกลับเขียนอย่างกว้างขวางถึง 5 ข้อ คือ

(1) สร้างกฎเกณฑ์และกลไกที่ดีในการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมเพื่อให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง สามารถส่งสัญญาณเตือนภัย และผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องสามารถปรับเปลี่ยนกลไกและฟันเฟืองการทำงานและการประสานงานในภาครัฐและภาคเอกชนรองรับได้อย่างทันท่วงที่ในยามที่มีปัญหา

(2) พัฒนาศักยภาพของนักวิชาการให้สามารถศึกษา ค้นคว้าและเสนอแนะแนวทางแก้ไข จุดบกพร่องต่างๆ ที่จำเป็นต่อการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมอย่างถูกต้อง กล้าหาญ และมีจริยธรรม

(3) ปรับปรุงระบบการตัดสินใจและการบริหารจัดการทั้งของภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนให้รวดเร็ว ชัดเจนและเป็นธรรม

(4) ขยายโอกาสของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองเพื่อร่วมกับภาครัฐในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาส่วนรวม

(5) ขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบ และการหลีกเลี่ยงกฎหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตน รือกิจการที่ตนมีส่วนได้เสียทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน เพื่อให้เกิดความสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมร่วมกัน

ส่วนในข้อ 4 ของระเบียบเป็นการบรรยายถึงแนวทางสำคัญในการจัดระเบียบสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งครอบคลุมถึงฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการ และฝ่ายธุรกิจ ให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความรู้รักสามัคคีและร่วมเป็นพลังก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนเสริมความเข้มแข็งหรือสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประเทศ เพื่อบรรเทาป้องกันหรือแก้ไขเยียวยาภาวะวิกฤติภยันตรายที่อาจจะมีมาในอนาคต โดยในระเบียบข้อนี้ยังพรรณาว่า เพราะสังคมจะรู้สึกถึงความยุติธรรม ความโปร่งใส และความมีส่วนร่วม อันเป็นคุณลักษณะสำคัญของศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์และการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข สอดคล้องกับความเป็นไทย รัฐธรรมนูญ และกระแสโลกในปัจจุบัน

สังเกตว่า การอธิบายที่ผ่านมามีความสับสนอย่างยิ่งว่า รัฐไทยต้องการอะไรจากการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี เพราะเนื้อหาที่เขียนมานั้น มีลักษณะวกวนและสับสนว่า สังคมไทยกำลังจะเติบโตไปในทิศทางใด มีคำศัพท์สองคำที่ควรกล่าวถึงคือ ความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของโครงสร้างธรรมาภิบาล อย่างไรก็ตาม ความชัดเจนของระเบียบฯ ฉบับนี้ปรากฏในข้อ 4.2 ที่ระบุว่า

ในการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี รัฐควรส่งเสริมให้สังคมไทยยืนอยู่บนพื้นฐานของหลัก

อย่างน้อย 6 ประการ คือ

(1) หลักนิติธรรม ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่างๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย กฎข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็นการปกครองภายใต้กฎหมาย มิใช่ตามอำเภอใจหรืออำนาจของตัวบุคคล

(2) หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริต จนเป็นนิสัยประจำชาติ

(3) หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยการปรับปรุงกลไกการทำงานขององค์กรทุกองค์กรให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้

(4) หลักความมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และเสนอความเห็นในการตัดสินใจปัญหาสำคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแสดงความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ หรืออื่นๆ

(5) หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างและความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทำของตน

(6) หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และรักษา-พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน"

ปัญหาก็คือ ทำอย่างไร รัฐไทยจึงจะสามารถยกระดับคุณภาพของธรรมาภิบาล เพราะมีการกล่าวอ้างกันในปี 2540 - 2541 อย่างมากว่า วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไทยนั้นเป็นผลมาจากการขาดธรรมาภิบาล ด้วยเหตุนี้ ระเบียบฯ นี้จึงตั้งยุทธวิธีในข้อ 5 เพื่อสร้างระบบการบริหารราชการบ้านเมือง และสังคมที่ดีให้เกิดขึ้นในทุกภาคของสังคม ทั้งในระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว โดยอ้างว่ารัฐต้องมีการปฏิรูปใน 3 ส่วน คือ

5.1 ภาครัฐ ต้องมีการปฏิรูปบทบาทหน้าที่ โครงสร้างและกระบวนการทำงานของหน่วยงาน และกลไกการบริหารภาครัฐให้เป็นกลไกการบริหารทรัพยากรของสังคมที่โปร่งใสซื่อตรง เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสมรรถนะสูง ในการนำบริการของรัฐที่มีคุณภาพไปสู่ประชาชน โดยเน้นการเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยมและวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ให้ถือเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นจุดมุ่งหมายในการทำงาน และสามารถร่วมทำงานกับประชาชนและภาคเอกชนได้อย่างราบรื่น

5.2 ภาคธุรกิจเอกชน ต้องมีการปฏิรูปและสนับสนุนให้หน่วยงานของเอกชน และองค์กรเอกชนต่างๆ มีกติกาการทำงานที่โปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีระบบตรวจสอบที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานให้บริการ ร่วมทำงานกับภาครัฐและประชาชนอย่างราบรื่นและไว้วางใจซึ่งกันและกัน

5.3 ภาคประชาชน ต้องสร้างความตระหนักตั้งแต่ ระดับปัจเจกบุคคลถึงระดับกลุ่มประชาสังคม ในเรื่องสิทธิหน้าที่ และความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อเป็นพลังของประเทศที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการของการสร้างกลไกบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี

นอกเหนือจากการเสนอกลยุทธ์ทางธรรมาภิบาลแล้ว ในระเบียบฯ ยังกล่าวถึง แนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลที่เป็นจริงขึ้น โดยเน้นว่าต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยมีแนวทางปฏิบัติในข้อ 6 ซึ่งแบ่งได้เป็น 5 ข้อใหญ่ คือ (ในที่นี้นำมาพิจารณาเพียง 2 ข้อ)

6.1 สร้างความตระหนักร่วมกันในสังคมเพื่อให้เกิดกระบวนการสร้างสรรค์กลไกการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี

6.2 ออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ที่จำเป็นต้องดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เร่งรัดให้เกิดการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงในการบริหารภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูประบบราชการ และการปฏิรูปการศึกษา เร่งรัดแก้ไขปัญหาการทุจริต ประพฤติมิชอบในภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน "เร่งรัดสร้างมาตรฐานการดำเนินธุรกิจ"

แต่เพื่อให้ดูว่ามีความขึงขังอย่างจริงจัง นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ในขณะนั้นได้ประกาศระเบียบฯ นี้ เมื่อ 30 มิถุนายน 2542 ว่าต้องมีมาตรการเพื่อมารองรับกลยุทธ์และแนวทางปฏิบัติ มาตรการที่กล่าวถึงนี้ เขียนไว้ค่อนข้างละเอียดในข้อ 7 ถึง 7 ข้อ ซึ่งเป็นมาตรการที่กล่าวตามแบบแผนราชการไทยโดยทั่วไปนั่นคือ

7.1 เร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งทำความข้าใจและตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักการของระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ดังนี้

(1) ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง กำหนดแผนโครงการเพื่อปรับปรุงงานในความรับผิดชอบให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว และรายงานผลการดำเนินการในรอบปีต่อคณะรัฐมนตรี โดยให้สำนักงาน ก.พ.ให้คำแนะนำ ประสานงานและติดตามประเมินผล

(2) ให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานหลักในการทำความเข้าใจ รณรงค์สร้างจิตสำนึกให้คนไทยเข้าใจบทบาทหน้าที่ในการประสานการทำงานร่วมกันของภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนเพื่อสนับสนุนระบบบริหารจัดการบ้านเมือง และสังคมที่ดีของประเทศไทย

(3) กำหนดแนวทาง วิธีการและขอบเขต การทำประชาพิจารณ์ในเรื่องโครงการสาธารณะที่จะมีผลกระทบในวงกว้างต่อสังคม

7.2 เร่งรัดการดำเนินการเพื่ออกกฎหมายตามรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่จะจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 89 ของรัฐธรรมนูญ 2540

7.3 เร่งรัดการดำเนินการตามแผนปฏิรูปบริหารภาครัฐ เพื่อพลิกฟื้นให้ภาครัฐเป็นพลังและอาวุธสำคัญในการนำชัยชนะมาสู่ประเทศ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้พัฒนาต่อไปอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

7.4 เร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐอย่างเปิดเผย โปร่งใสและเข้าถึงได้ง่าย

7.5 ส่งเสริมและกำกับให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งกำหนดแผนการสร้างความโปร่งใส และป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในระบบราชการ และรายงานผลการดำเนินการในรอบปีต่อคณะรัฐมนตรี

7.6 สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการที่มีหน้าที่ ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

7.7 ให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานของรัฐอื่นที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานของธุรกิจเอกชน ส่งเสริม สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรี โดยอาศัยกลไกตลาด และกำกับดูแลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภค ป้องกันการผูกขาดตัดตอน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งเสริมให้มีมาตรฐานที่ดีในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจให้ทันสมัย เป็นธรรม และมีระบบตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพ

(2) กำหนดเงื่อนไขและกติกาว่าด้วยความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทมหาชน ที่มีต่อผู้ถือหุ้นและต่อสังคม ให้ชัดเจน รัดกุม

(3) สนับสนุนองค์กรกลางด้านอาชีพ วิชาชีพ และธุรกิจเอกชนที่เป็นอิสระให้มีส่วนร่วม และมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน และยกระดับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน

(4) ส่งเสริมพัฒนาองค์กรและกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพ ในอันที่จะทำหน้าที่พิทักษ์คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ถือหุ้นรายย่อย"

ตามระเบียบฯ ฉบับนี้ สิ่งที่เขียนไว้ไม่อาจนำไปปฏิรูประบบข้าราชการแม้แต่น้อย เพราะในท้ายคำสั่งนี้ ในข้อ 8 ให้หน่วยงานรัฐและผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามระเบียบนี้ และรายงานผลการดำเนินการ ความคืบหน้า ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคต่อคณะรัฐมนตรีเป็นระยะ หรือตามเวลาที่กำหนดในระเบียบนี้ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ ไม่ช้าไม่นานระเบียบฯ ดังกล่าวจึงกลายเป็น "สุสาน" ของธรรมาภิบาลในประเทศไทย เพราะเหตุว่า ไม่มี "เจ้าภาพ" ที่แท้จริงที่ทำให้ระเบียบนี้เกิดผลอย่างจริงจัง

หลังจากนั้นในปี 2546 นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้ออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 โดยยกเลิกระเบียบฯ ฉบับเก่าปี 2542 ในพระราชกฤษฎีกาใหม่นี้ โดยได้อ้างเหตุผลตามตัวอักษรในท้ายราชกิจจานุเบกษาว่า "เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่มีการปฏิรูประบบราชการเพื่อให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ และให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งการบริหารราชการและการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการนี้ ต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เกินความจำเป็น และประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ รวมทั้งมีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ และเนื่องจากมาตรา 3/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 บัญญัติให้การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติราชการและการสั่งการให้ส่วนราชการและข้าราชการปฏิบัติราชการ เพื่อให้เกิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีกระทำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้"

เป้าหมายของพระราชกฤษฎีกา 9 ฉบับนี้ เขียนไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 6 ซึ่งมีเป้าหมาย 7 ประการคือ

(1) เกิดประโยชน์สุขของประชาชน
(2) เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
(3) มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ
(4) ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติการเกินความจำเป็น
(5) มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์
(6) ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ
(7) มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ

ข้อน่าสังเกตก็คือ ในเป้าหมายทั้ง 7 ประการนี้ ในประการที่ 3 นับว่า น่าสนใจเพราะมีการนำเอาแนวความคิด Value for money เข้ามาไว้ในพระราชกฤษฎีกาอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายถึง 7 ประการ ก็มิใช่กระบวนการของธรรมาภิบาลที่รัฐไทยปรารถนา ดังนั้นในพระราชกฤษฎีกา 9 ฉบับนี้ จึงพยายามวางกรอบอย่างกว้างๆ ว่า การปฏิบัติภารกิจของส่วนราชการต้องเป็นไปโดยซื่อสัตย์สุจริต สามารถตรวจสอบได้ และมุ่งให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น

โดยสาระสำคัญ พระราชกฤษฎีกานี้ พยายามจะสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย แต่กรอบของกฎหมายที่ระบุไว้ในมาตราต่างๆ นั้นเป็นเพียงกฎกติกาที่ไม่อาจทำลายสถาบันที่ไม่เป็นทางการที่ครอบงำสังคมไทยมาช้านาน ในแง่ที่ว่า ข้าราชการยังถือว่าประชาชนไม่ใช่เจ้านายที่แท้จริง จึงสามารถใช้อำนาจของตนในการบริหารราชการดังเช่นเดิม การบริหารราชการเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนนั้นเป็นเพียงสโลแกนที่สวยหรู ดังเช่นที่ปรากฏในมาตรา 8 ของพระราชกฤษฎีกาว่า ส่วนราชการจะต้องดำเนินการโดยถือว่าประชาชนเป็นศูนย์กลางที่จะได้รับบริการจากรัฐ

ในบางมาตราเป็นเรื่องที่พยายามจะสร้างกรอบของธรรมาภิบาลใหม่ ยกตัวอย่างเช่น ในมาตรา 11 "กำหนดให้ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ในส่วนราชการ เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัด ให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการให้สอดคล้องกับการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามพระราชกฤษฎีกานี้"

นอกเหนือจากนี้ หมวดที่สำคัญในพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวคือ หมวด 4 เรื่องการบริหารราชการอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ. ในหมวดนี้ ระบุชัดเจนในมาตรา 20 ว่า ให้ส่วนราชการจัดทำบัญชีต้นทุนในงานบริการสาธารณะแต่ละประเภทขึ้นตามวิธีการที่กรมบัญชีกลางกำหนด เงื่อนไขที่สำคัญในการควบคุมประสิทธิภาพคือ "ในกรณีที่รายจ่ายต่อหน่วยของงานบริการสาธารณะใดของส่วนราชการใดสูงกว่ารายจ่ายต่อหน่วยของงานบริการสาธารณะประเภทและคุณภาพเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันของส่วนราชการอื่น ให้ส่วนราชการนั้น จัดทำแผนการลดรายจ่ายต่อหน่วยของงานบริการสาธารณะดังกล่าว เสนอสำนักงบประมาณกรมบัญชีกลาง และ ก.พ.ร. ทราบ และถ้ามิได้มีข้อทักท้วงประการใดภายในสิบห้าวันก็ให้ส่วนราชการดังกล่าวถือปฏิบัติตามแผนการลดรายจ่ายนั้นต่อไปได้"

ในพระราชกฤษฎีกานี้ ได้ให้อำนาจที่น่าสนใจแก่หน่วยงานของรัฐคือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ โดยในมาตรา 22 ระบุว่า"มาตรา 22 ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณร่วมกันจัดให้มีการประเมินความคุ้มค่าในการปฏิบัติภารกิจของรัฐที่ส่วนราชการดำเนินการอยู่ เพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีสำหรับเป็นแนวทางในการพิจาณาว่า ภารกิจใดสมควรจะได้ดำเนินการต่อไปหรือยุบเลิก และเพื่อประโยชน์ในการจัดตั้งงบประมาณของส่วนราชการในปีต่อไป
ทั้งนี้ ตามระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ในการประเมินความคุ้มค่าตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงประเภทและสภาพของแต่ละภารกิจความเป็นไปได้ของภารกิจหรือโครงการที่ดำเนินการ ประโยชน์ที่รัฐและประชาชนจะพึงได้และรายจ่ายที่ต้องเสียไปก่อนและหลังที่ส่วนราชการดำเนินการด้วยความคุ้มค่าตามมาตรานี้ ให้หมายความถึงประโยชน์หรือผลเสียทางสังคม และประโยชน์หรือผลเสียอื่น ซึ่งไม่อาจคำนวณเป็นตัวเงินได้ด้วย"

แม้ว่าจะเป็นการให้อำนาจแก่หน่วยงานที่ประเมินโครงการเช่น สภาพัฒน์ฯ แต่เครื่องมือนี้ก็ยังมีลักษณะที่ไม่เข้มงวดเท่าที่ควร เพราะความคุ้มค่าระบุไว้ในมาตรานี้ ให้หมายถึงประโยชน์หรือผลเสียทางสังคม หรือประโยชน์หรือผลเสียอื่น ดังนั้น การประเมินว่าภารกิจหรือโครงการใดๆ ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่ลำบากมาก และอาจไม่สามารถเป็นมาตราวัดที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้ อย่างไรก็ตาม พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ดูเหมือนจะให้อำนาจในการตรวจสอบและถ่วงดุลแก่ ก.พ.ร. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ)ไม่น้อย โดยในมาตรา 34 นี้ให้ ก.พ.ร. พิจารณาแล้วเห็นว่าภารกิจของรัฐที่ส่วนราชการได้รับผิดชอบดำเนินการอยู่สมควรเปลี่ยนแปลง ยกเลิก หรือเพิ่มเติม ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ให้ส่วนราชการนั้นดำเนินการปรับปรุงภารกิจ อำนาจหน้าที่โครงสร้างและอัตรากำลังของส่วนราชการนั้นให้สอดคล้องกัน โดยในมาตรา 34 ระบุว่า

"มาตรา 34 ในกรณีที่มีการยุบ เลิก โอน หรือรวมส่วนราชการใดทั้งหมดหรือบางส่วน ห้ามมิให้จัดตั้งส่วนราชการที่ภารกิจหรืออำนาจหน้าที่ที่มีลักษณะเดียวกัน หรือคล้ายกันกับส่วนราชการดังกล่าวขึ้นอีก เว้นแต่มีการเปลี่ยนแปลงแผนการบริหารราชการแผ่นดิน และมีเหตุผลจำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ หรือรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและโดยได้รับความเห็นชอบจาก ก.พ.ร."

ส่วนหมวดที่ 7 เป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกและการตอบสนองความต้องการของประชาชนซึ่งก็เป็นเรื่องของความรับผิด (Accountability) ที่รัฐมีต่อประชาสังคม ในพระราชกฤษฎีกานี้ พยายามระบุให้ประชาชนสามารถติดต่อขอข้อมูลจากส่วนราชการได้ โดยเน้นให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารเป็นผู้ดูแลจัดหาให้มีระบบเครือข่ายสารสนเทศให้มากขึ้น ในแง่นี้ พระราชกฤษฎีกาพยายามสร้างความโปร่งใสเท่าที่ทำได้ โดยระบุให้มาตรา 44 ให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง

"มาตรา 44 ส่วนราชการต้องจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายแต่ละปี รายการเกี่ยวการจัดซื้อหรือจัดจ้างที่จะดำเนินการในปีงบประมาณนั้น และสัญญาใดๆ ที่ได้มีการอนุมัติให้จัดซื้อหรือจัดจ้างแล้ว ให้ประชาชนสามารถขอดูหรือตรวจสอบได้ ณ สถานที่ทำการของส่วนราชการ และระบบเครือข่ายสารสนเทศของส่วนราชการ ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต้องไม่เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบ หรือความเสียหายแก่บุคคลใดในการจัดซื้อหรือจัดจ้างในการจัดทำสัญญาจัดซื้อหรือจัดจ้าง ห้ามมิให้มีข้อความหรือข้อตกลงห้ามมิให้เปิดเผยข้อความหรือข้อตกลงในสัญญาดังกล่าว เว้นแต่ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวกับการคุ้มครองความลับทางราชการ หรือในส่วนที่เป็นความลับทางการค้า"

นอกเหนือจากนั้น ในหมวด 8 ว่าด้วยเรื่องการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ในพระราชกฤษฎีกานี้พยายามสร้างแรงจูงใจมากกว่าจะพยายามลงโทษ โดยกำหนดรางวัลไว้ถึง 2 มาตรา คือ มาตรา 48 และ 49

"มาตรา 48 ในกรณีที่ส่วนราชการใดดำเนินการให้บริการที่มีคุณภาพและเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งเป็นที่พึงพอใจแก่ประชาชน ให้ ก.พ.ร. เสนอคณะรัฐมนตรีจัดสรรเงินเพิ่มพิเศษเป็นบำเหน็จความชอบแก่ส่วนราชการ หรือให้ส่วนราชการใช้เงินงบประมาณเหลือจ่ายของส่วนราชการนั้น เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงการปฏิบัติงานของส่วนราชการ หรือจัดสรรเป็นรางวัลให้ข้าราชการในสังกัด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ.ร. กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

มาตรา 49 เมื่อส่วนราชการใดได้ดำเนินงานไปตามเป้าหมาย สามารถเพิ่มผลงานและผลสัมฤทธิ์ โดยไม่เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายและคุ้มค่าต่อภารกิจของรัฐ หรือสามารถดำเนินการตามแผนการลดค่าใช้จ่ายต่อหน่วยได้ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.ร. กำหนด ให้ ก.พ.ร. เสนอคณะรัฐมนตรี จัดสรรเงินรางวัลการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ส่วนราชการนั้น หรือให้ส่วนราชการใช้เงินงบประมาณเหลือจ่ายของส่วนราชการนั้น เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงการปฏิบัติงานของส่วนราชการ หรือจัดสรรเป็นรางวัลให้ข้าราชการในสังกัด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ.ร.กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี"

แนวทางที่เสนอไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารราชการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 นี้ แม้ว่าจะมีความลึกซึ้งและครอบคลุมประเด็นต่างๆ ได้มากกว่าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 แต่ก็ยังไม่อาจนำแนวความคิดของธรรมาภิบาลในทางวิชาการในตะวันตกมาแปรเป็นกฎหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม

ปัญหาของไทยก็คือ พระราชกฤษฎีกานี้ยังไม่สามารถปฏิรูประบบข้าราชการไทยให้มีลักษณะเข้มแข็ง ซื่อสัตย์ และทำประโยชน์เพื่อสังคมอย่างแท้จริง ส่วนที่สำคัญมาจากคุณภาพของระบบข้าราชการไทยที่ยังไม่ใช่แบบ Weberian type Bureaucracy (*) นั่นเอง ธรรมาภิบาลเน้นที่คุณภาพของนโยบายสาธารณะและผลกระทบที่มีต่อหน่วยต่างๆ ทางเศรษฐกิจ การมีธรรมาภิบาลคือ การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสถาบันและกระบวนการทางการเมืองที่สามารถสร้างสรรค์นโยบายที่ดี และมีเครื่องมือที่เหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับความหลากหลายของการประสานงานของหน่วยทางเศรษฐกิจของรัฐและเอกชน ด้วยเหตุนี้ อาจกล่าวได้ว่า โครงสร้างของธรรมาภิบาลสะท้อนถึงลักษณะของ collective goods ซึ่งคุณภาพของธรรมาภิบาลนี้ขึ้นกับคุณภาพของรัฐ เอกชน และ
ประชาสังคมในสังคมนั้นๆ อีกทอดหนึ่ง

(*)Weber described the ideal type bureaucracy in positive terms, considering it to be a more rational and efficient form of organization than the alternatives that preceded it, which he characterized as charismatic domination and traditional domination. According to his terminology, bureaucracy is part of legal domination. However, he also emphasized that bureaucracy becomes inefficient when a decision must be adopted to an individual case.

According to Weber, the attributes of modern bureaucracy include its impersonality, concentration of the means of administration, a leveling effect on social and economic differences and implementation of a system of authority that is practically indestructible.
ผู้สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Bureaucracy

ข้อสังเกตส่งท้าย

ในแต่ละสังคมย่อมมีโครงสร้างของอภิบาลหรือธรรมาภิบาลของตนเอง ปัญหาก็คือ โครงสร้างของธรรมาภิบาลนั้นมีคุณภาพหรือประสิทธิผลเพียงใด? ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้ว่า การยึดถือแนวความคิดการมีโครงสร้างของธรรมาภิบาลที่ดีเลิศ (best practice of goodgovernance) หรือกล่าวให้เจาะจงคือ โครงสร้างของธรรมาภิบาลแบบตะวันตก ซึ่งมักหมายถึงแบบอเมริกันนั้นดีที่สุด หรือเป็นที่พึงปรารถนา จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม ในการศึกษานี้พยายามชี้ให้เห็นว่า ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ทั้งในกลุ่มประเทศ NICs และจีน ต่างก็มีโครงสร้างของอภิบาลหรือธรรมาภิบาลแบบของตนเป็นการเฉพาะ ดังนั้นการจะยึดโครงสร้างของธรรมาภิบาลแบบตะวันตกที่มีความเชื่อแอบแฝงในระบบคุณค่าประชาธิปไตยและพยายามที่จะทำให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้นั้น อาจประสบความล้มเหลวมากกว่า เพราะโครงสร้างของสถาบันในแต่ละสังคมมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในแง่ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และคุณค่าต่างๆ ในสังคมนั้น ซึ่งยากที่จะลอกแบบหรือโอนย้ายจากตะวันตกสู่ประเทศกำลังพัฒนาได้ง่ายๆ

ปัญหาของไทยก็คือ เราจะเดินตามกลุ่มประเทศ NICs ก็ไม่ได้ เพราะไม่มีรัฐที่เข้มแข้ง หรือจะเดินตามประชาธิปไตยแบบตะวันตกก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะประชาชนยังไม่มีจิตสำนึกแบบประชาธิปไตยมากพอ ด้วยเหตุนี้ เรากำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่ง. เรายังได้เรียนรู้อีกว่า โครงสร้างของธรรมาภิบาลนั้นมิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆ หรือเพียงการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพียงไม่กี่ฉบับ แท้ที่จริงนั้นจักต้องอาศัยกระบวนการทางการเมืองอย่างเข้มข้นในการเปลี่ยนแปลง และมีรัฐที่เข้มแข็ง (strong state) มีข้าราชการที่เปี่ยมด้วยความสามารถและซื่อสัตย์สุจริต ที่จะทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

คำถามก็คือ จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด แบบที่นิยมมากที่สุดภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ก็คือ แบบตะวันตก (western best practice institutions) แต่อย่างที่กล่าวมาแล้ว การเปลี่ยนโครงสร้างของธรรมาภิบาล ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสถาบัน มิใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ดังนั้นจึงอาจต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าที่สังคมนั้นๆ จะสามารถปฏิรูประบบราชการหรือปฏิรูปวิธีการทำธุรกิจของภาคเอกชน เพราะสถาบันที่เลวมักดำรงอยู่ได้เป็นเวลาอันยาวนานและยังยากที่จะถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลง

ปัญหาใหญ่สุดของธรรมาภิบาลคือ ประเทศต่างๆ จำนวนมากยังมิได้ปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เช่น ประเทศไทย การฉ้อราษฎร์บังหลวงซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของธรรมาภิบาลยังปรากฏอยู่อย่างดาษดื่นในรัฐบาลในอดีต และรัฐบาลที่แล้ว ทำอย่างไรจึงจะสร้างสังคมที่มีธรรมาภิบาลที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับตะวันตก ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างหนึ่งของประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศไทย

ดังนั้น เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ภายใต้บริบทของสังคมไทยที่โครงสร้างของสถาบันที่ไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะระบบอำนาจนิยมยังมีอิทธิพลครอบงำอยู่มาก เราจะสร้างสรรค์ธรรมาภิบาลที่มีประสิทธิผลได้อย่างไร ในเมื่อสังคมไทยมีรัฐมีลักษณะอ่อนแอ (weak state) และในระบบข้าราชการไทยยังคงเต็มไปด้วยความไร้ประสิทธิภาพและการฉ้อราษฎร์บังหลวง เห็นที เราคงต้องฝากความหลังไว้ที่ชนรุ่นหลังกระมัง

++++++++++++++++++++++++++ (คลิกกลับไปทบทวนเรื่องเดียวกันตอนที่ ๑)

รำลึกถึงอาจารย์สมบูรณ์ ศิริประชัย

เวลาประมาณ 8 นาฬิกาของเช้าวันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม 2551 ดิฉันได้รับโทรศัพท์แจ้งข่าวการเสียชีวิตของรองศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ ศิริประชัย ที่ประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ท่านไปร่วมการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกียวโต ความรู้สึกแรกคือ ตกใจและหวังว่าข้อมูลอาจคลาดเคลื่อน แต่เมื่อพยายามติดต่อประสานงานก็ได้ทราบว่า ผู้แจ้งข่าวคือศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยเกียวโต ดิฉันก็แน่ใจได้ว่า สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดและไม่คาดว่าจะเกิด ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว ความรู้สึกที่ตามมา คือ ทำไมต้องเป็นพี่โอ่ง ทำไมต้องเป็นอาจารย์สมบูรณ์ ผู้ที่อุทิศทั้งชีวิตและมีฉันทะอย่างยิ่งยวดต่องานวิชาการ ต่อความก้าวหน้าของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และความปรารถนาที่จะเห็นส่วนรวมและสังคมไทยดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

สำหรับคณะเศรษฐศาสตร์ อาจารย์สมบูรณ์เป็นอาจารย์ผู้สอนด้านเศรษฐศาสตร์สถาบัน ท่านขยันขันแข็งทั้งการอ่านการเขียน เป็นผู้รอบรู้มากและก้าวทันพรมแดนความรู้ทางวิชาการอยู่เสมอ อาจารย์รุ่นน้องๆ และลูกศิษย์สามารถปรึกษาอาจารย์สมบูรณ์ได้เสมอเกี่ยวกับหนังสือใหม่ๆ ที่ควรอ่าน นอกจากห้องทำงานของอาจารย์รังสรรค์แล้ว ห้องทำงานของอาจารย์สมบูรณ์น่าจะมีหนังสือมากที่สุดเป็นอันดับสองของคณะฯ อาจารย์สมบูรณ์เคยเป็นกรรมการวิชาการประจำโครงการปริญญาเอก สหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นรองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ล่าสุดท่านเป็นบรรณาธิการวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเลขานุการกลุ่ม The Scandinavian Study Group มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นรองผู้อำนวยการโครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

พวกเราสรุปว่าท่านเป็นมือขวาของศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เพราะท่านทำงานวิชาการใกล้ชิดกับอาจารย์รังสรรค์มาโดยตลอด
สำหรับวงการวิชาการ งานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกและบทความของอาจารย์สมบูรณ์เรื่อง "การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ: บทสำรวจสถานะความรู้เบื้องต้น" เป็นงานเขียนเรื่องการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจชิ้นแรกๆ ของไทย ถือเป็นงานคลาสสิคที่ยังน่าอ่าน ท่านเขียนงานอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ในช่วงทศวรรษ 2530 อาจารย์จะเขียนงานเกี่ยวกับพัฒนาการการส่งออกและนำเข้ามันสำปะหลังและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมรถยนต์ ในช่วงทศวรรษ 2540

ท่านจะเขียนงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและเศรษฐศาสตร์สถาบัน เช่น มองรัฐไทยผ่านเลนซ์นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ:จากเกอร์เชิงครอนถึงสยามวาลา ฉันทามติวอชิงตัน เศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการชดเชยที่เป็นธรรม ปลายทศวรรษ 2540 จนถึงปัจจุบัน ท่านมีผลงานเกี่ยวกับองค์การการค้าโลกภายใต้โครงการ WTO Watch เช่น อนาคตขององค์การการค้าโลก อนาคตของการเจรจารอบโดฮา? และเป็นบรรณาธิการวารสารของโครงการ

อาจารย์สมบูรณ์จึงเป็นผู้ที่ผสมผสานองค์ความรู้ทางเกษตร อุตสาหกรรม เข้ากับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและเศรษฐศาสตร์สถาบัน ท่านจึงเป็นนักวิชาการในสาขาที่หาคนทดแทนได้ยาก นอกจากนี้ ท่านยังเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์มติชนในคอลัมน์ "ดุลยภาพ" และเขียนบทความวิชาการในหนังสือวิชาการภาษาอังกฤษหลายเล่ม เช่น หนังสือเรื่อง Social Changes in Southeast Asia: New Perspective โดยสำนักพิมพ์ Longman และ Handbook on the Northeast and Southeast Asian Economics โดยสำนักพิมพ์ Edward Elgar

รองศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร อดีตคณบดีและปัจจุบันคือประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่านี่คือความสูญเสียอย่างยิ่ง ดิฉันเห็นด้วยอย่างมากว่า นี่คือความสูญเสียอย่างยิ่งของคณะเศรษฐศาสตร์ ของวงการวิชาการ และของสังคม

การเดินทางกลับสู่มาตุภูมิของอาจารย์สมบูรณ์ไม่ใช่เรื่องง่าย เราได้รับความอนุเคราะห์ยิ่งจาก Professor Mizuno, Professor Sugihara, Professor Kobayashi และทีมงานหลายๆ ท่าน แห่ง Southeast Asian Studies Centre, Kyoto University. ศาสตราจารย์ ดร. ผาสุก พงศ์ไพจิตร จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รองศาสตราจารย์ ดร.พอพันธุ์ อุยยานนท์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

นอกจากการมุ่งผลิตผลงานทางวิชาการและความทุ่มเทในการเรียนการสอนจนเป็นที่รักของศิษย์แล้ว อาจารย์สมบูรณ์ยังเป็นผู้สมถะ และเป็นคนโอบอ้อมอารี

ขอให้คุณงามความดีของอาจารย์สมบูรณ์ส่งผลให้อาจารย์สู่สุขคติ ไม่ต้องห่วงกังวล พวกเราทั้งเพื่อนอาจารย์และลูกศิษย์ที่อยู่ทางนี้ จะสืบสานเจตนารมณ์ของอาจารย์ที่มีต่อสังคมบ้านเมือง ต่อความก้าวหน้าของวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ไทยและคณะเศรษฐศาสตร์ที่อาจารย์รัก พวกเราจะช่วยกันดูแลครอบครัวของอาจารย์ และพวกเราจะระลึกถึงอาจารย์ตลอดไป

ปัทมาวดี ซูซูกิ
คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ (คลิกกลับไปทบทวนเรื่องเดียวกันตอนที่ ๑)

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๒ : Release date 15 January 2009 : Copyleft MNU.

ในแต่ละสังคมย่อมมีโครงสร้างของอภิบาลหรือธรรมาภิบาลของตน ปัญหาก็คือ โครงสร้างของธรรมาภิบาลนั้นมีคุณภาพหรือประสิทธิ ผลเพียงใด? ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้ว่า การยึดถือแนวความคิดการมีโครงสร้างของธรรมาภิบาลที่ดีเลิศ หรือกล่าวให้เจาะจงคือ โครงสร้างของธรรมาภิบาลแบบตะวันตก ซึ่งหมายถึงแบบอเมริกันนั้นดีที่สุด จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม ในการศึกษานี้พยายามชี้ให้เห็นว่า ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ทั้งในกลุ่มประเทศ NICs และจีน ต่างก็มีโครงสร้างของอภิบาลหรือธรรมาภิบาลแบบของตนเป็นการเฉพาะ ดังนั้นการจะยึดโครงสร้างของธรรมาภิบาลแบบตะวันตกที่มีความเชื่อในระบบประชาธิปไตย... อาจประสบความล้มเหลว

H