ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




30-08-2551 (1632)

สารพันความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย อนาธิปไตย และพันธมิตรฯ
ขดเกลียวของความรุนแรง: ประชาธิปไตย กับ อนาธิปไตย
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, เกษียร เตชะพีระ, ประจักษ์ ก้องกีรติ
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทความต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ
สื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ รวบรวมมาจากจดหมายอีเล็กทรอนิก
ซึ่งส่งถึงเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ประกอบด้วยบทความ ๓ เรื่องคือ
๑. อนาธิปไตย กับประชาธิปไตย และ ปรีดี พนมยงค์ - โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

๒. ปรากฏการณ์ม็อบพันธมิตรฯ - โดย เกษียร เตชะพีระ
๓. หนังสือว่าด้วยรัฐ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และขดเกลียวของความรุนแรง - โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๓๒
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๕ หน้ากระดาษ A4)


++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สารพันความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย อนาธิปไตย และพันธมิตรฯ
ขดเกลียวของความรุนแรง: ประชาธิปไตย กับ อนาธิปไตย
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, เกษียร เตชะพีระ, ประจักษ์ ก้องกีรติ
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word



1. "อนาธิปไตย กับประชาธิปไตย และ ปรีดี พนมยงค์"
โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
Charnvit Kasetsiri, Ph.D. Senior Adviser and Lecturer
Southeast Asian Studies Program Thammasat University. Bangkok 10200

เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2489 กว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว ในขณะที่สังคมไทยกำลังค้นหาให้ได้มาซึ่งระบอบ "ประชาธิปไตย" นั้น ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งในตอนนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปราศรัยในวันปิดประชุมสภา เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ด้วยคำเตือนเรื่อง "ประชาธิปไตย" กับ "อนาธิปไตย" ไว้ดังนี้

"ระบอบประชาธิปไตยนั้น เราหมายถึง ประชาธิปไตยอันมีระเบียบตามกฎหมายและศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันไม่มีระเบียบ หรือประชาธิปไตยที่ไร้ศีลธรรม เช่น การใช้สิทธิเสรีภาพอันมีแต่จะให้เกิดความปั่นป่วน ความไม่สงบเรียบร้อย ความเสื่อมศีลธรรม ระบอบชนิดนี้เรียกว่าอนาธิปไตย หาใช่ประชาธิปไตยไม่ ขอให้ระวังอย่าปนประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย"

ท่านปรีดี กล่าวต่อไปอีกว่า "ข้าพเจ้าไม่พึงประสงค์ที่จะให้มีระบอบเผด็จการในประเทศไทย ในการนี้ก็จำเป็นต้องป้องกันหรือขัดขวางมิให้มีอนาธิปไตย อันเป็นทางที่ระบอบเผด็จการจะอ้างได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าเราช่วยกันประคองใช้ให้ระบอบประชาธิปไตยนี้ได้เป็นไปตามระเบียบเรียบร้อย .... ระบอบเผด็จการย่อมมีขึ้นไม่ได้"

ท่านปรีดีกล่าวอย่างน่าสนใจต่อไปอีกว่า "การใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ต้องทำโดยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งหวังผลส่วนรวมจริงๆ ไม่ใช่มุ่งหวังส่วนตัว หรือมีความอิจฉาริษยากันเป็นมูลฐาน เนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว (เอ็กโกอีสม์)" แล้วท่านปรีดี ก็เข้าสู่ไคลแมกซ์ของคำปราศรัย ด้วยการกล่าวว่า "โดยมีอุดมคติซื่อสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าเคารพในความซื่อสัตย์ ซึ่งมีตัวอย่างอยู่มากหลายที่ผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้ได้ร่วมกิจการรับใช้ชาติกับข้าพเจ้า... แต่ผู้ซึ่งแสดงว่าซื่อสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์ในภายนอก ส่วนภายในหวังผลส่วนตน หรือมูลสืบเนื่องมาแต่ความไม่พอใจเป็นส่วนตัวเช่นนี้แล้ว ก็เกรงว่าผู้นั้นก็อาจหันเหไปได้ สุดแต่ว่าตนจะได้รับประโยชน์ส่วนตนอย่างไรมากกว่า"

ท่านปรีดี จบคำปราศรัยด้วยการฝากฝังไว้กับ สส. ในสภาว่า
"ข้าพเจ้าหวังว่าท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลาย คงจะใช้สิทธิของท่านด้วยความบริสุทธิ์ใจ และอาศัยกฏหมายและศีลธรรมความสุจริตเป็นหลัก ไม่ช่วยกันส่งเสริมให้มีระบอบอนาธิปไตย ข้าพเจ้าขอฝากความคิดไว้ต่อท่านผู้แทนราษฎรทั้งหลาย โดยเป็นห่วงถึงอนาคตของชาติ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะได้เห็นประเทศชาติปลอดจากระบอบเผด็จการ และปลอดจากระบอบอนาธิปไตย คงมีแต่ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรม. ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมด้วยสามัคคีธรรมนี้ เป็นวัตถุประสงค์ของคณะราษฎร ที่ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ และเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานรัฐธรรมนูญ"

ท่านปรีดีฝากฝังอะไรไว้มากมายกับ สส. ท่านปรีดีฝากไว้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ต่อมาอีก 2 วัน คือ วันที่ 9 พฤษภาคม ท่านปรีดี ก็ถวายรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ให้ในหลวงอานันท์ รัชกาลที่ 8 ลงพระปรมาภิไธย แต่อีก 1 เดือนต่อมา คือ ในวันที่ 9 มิถุนายน ในหลวงอานันท์ ก็ต้องพระแสงปืนเสด็จสวรรคต และแล้ววิกฤตการเมืองก็บังเกิดขึ้น ระบอบอำนาจนิยมและอนุรักษ์นิยม ดำเนินการใส่ร้ายป้ายสีว่า "ปรีดี ฆ่าในหลวง" ท่านปรีดีแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน รัฐบาลหลวงธำรงฯ ถูกพรรคฝ่ายค้าน คือ ประชาธิปัตย์ (เจ้าเก่า) เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจหลายวันหลายคืน และเมื่อล้มรัฐบาลด้วยวิถีทางประชาธิปไตยไม่ได้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคฯ ก็หันไปร่วมมือกับ "ระบอบทหาร" ที่นำโดยพลโทผิน ชุณหะวัณ ทำ"การรัฐประหาร" ยึดอำนาจเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490

จากนั้นสยามประเทศ(ไทย) ของเรา ก็เข้าสู่ "ยุดมืดบอดทางการเมือง" กลายเป็น "ระบอบเผด็จการครึ่งใบ" อยู่ 10 ปีภายใต้ "ระบอบพิบูลสงคราม" ระหว่าง พ.ศ. 2491-2500 แล้วก็ต้องตกอยู่ภายใต้ "ระบอบเผด็จการเต็มใบ" ของ "ระบอบสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส" อีก 15 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2501-2516 รวมแล้วกว่าจะถูกโค่นล้มไปเมื่อ "14 ตุลา" พ.ศ. 2516 ก็กินเวลาถึง 26 ปี

ท่านปรีดี พนมยงค์ต้องกลายเป็น "พ่อกู นามระบือ ชื่อปรีดี แต่คนดี เมืองไทย ไม่ต้องการ" (เช่นเดียวกับ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฯลฯ) ท่านต้องลี้ภัยการเมือง ลี้ภัยจาก "อนาธิปไตย" และ "เผด็จการทหารและอนุรักษ์นิยม" ไปอยู่เมืองจีนถึง 21 ปี แล้วก็จะไปจบชีวิตลงที่ปารีส เมื่อปี พ.ศ. 2526

ท่านปรีดี และคำเตือนว่าด้วย "อนาธิปไตย" กับ "ประชาธิปไตย" ทำให้เราต้องคิดใคร่ครวญหนักต่อสถานการณ์ปัจจุบันของ "ระบอบ ๕ พันธมิตร" กับกิจกรรม "ล้มรัฐบาลสมัคร" กับ "โค่นระบอบทักษิณ" เราจะแก้วิกฤตครั้งนี้ได้อย่างไร เราจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิด "อนาธิไตย" อันนำมาสู่ "ระบอบเผด็จการทหารและอนุรักษ์นิยม" หรือบานปลายไปจนเป็น "สงครามกลางเมือง" กลายเป็น "กลียุค" หากเราสามารถจะตระหนักในคำเตือนล่วงหน้าก่อนเวลาของท่านปรีดีได้ ที่ท่านให้เรายึดมั่นใน "ประชาธิปไตย" ไม่นำไป "สับสน" หรือ "ปนเปื้อน" กับ "อนาธิปไตย" อันจะนำเราไปสู่ "ระบอบเผด็จการ" (ครึ่งใบ หรือเต็มใบ หรือ 30/70 ก็ตาม) เมื่อนั้นแหละที่บ้านเมืองของเราจะพอมีอนาคตกันบ้าง

หรือว่าทุกอย่างจะสายเกินแก้ไปแล้ว และ "พระอิศวรศิวะเทพ" ก็จะปรากฏกายเป็น "ศิวะนาฏราช" เหนือปราสาทเขาพระวิหารและปราสาทเขาพนมรุ้ง เพื่อทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างให้สิ้นซาก แล้วให้ "พระนารายณ์วิษณุเทพ" บันดาลให้ดอกบัวผุดขึ้นมาจากพระนาภี เผย "องค์ท้าวมหาพรหม" ที่จะทรงสร้างโลกใหม่ ที่มี "สิทธิ เสรีภาพ และภราดรภาพ" มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเสียที

2. "ปรากฏการณ์ม็อบพันธมิตรฯ"
โดย เกษียร เตชะพีระ

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ และจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างก็ตาม การเคลื่อนไหวประท้วงของ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" รอบ ๒ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมศกนี้เป็นต้นมา นับเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจชวนขบคิดวิเคราะห์ โดยที่ยังไม่อาจคิดเรียบเรียงเป็นระบบครบถ้วนกระบวนความ ผมขออนุญาตตั้งข้อสังเกตขั้นต้นบางอย่างเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะและแนวโน้มของม็อบพันธมิตรฯในที่นี้: -

๑) การชุมนุมมาราธอนของพันธมิตรฯ ที่ยืดเยื้อมาได้นานร่วม ๑๐๐ วัน เพราะได้แรงความชอบธรรมหรืออย่างน้อยก็อดกลั้นอดออมจากสาธารณชนที่ตระหนักเห็นความบกพร่องพิกลพิการของระบบการเมืองประชาธิปไตยรัฐสภาจากการเลือกตั้งดังที่เป็นอยู่. จะว่าไปแล้วตลอด ๑๐๐ วันที่ผ่านมานั้น ตัวรัฐบาลสมัครและระบบรัฐสภาเองนั่นแหละ ที่ราวกับเปิดช่องชงเรื่องตั้งลูกจุดประเด็น - ไม่ว่าโดยจงใจหรือไร้เจตนา ไม่ว่าโดยแผนการหรือเป็นไปตามระบบ - ให้พันธมิตรฯหยิบไปเปิดโปงตีกินขยายความปลุกระดมความไม่พอใจ และไม่ไว้วางใจของสาธารณชนได้เรื่องแล้วเรื่องเล่าไม่หยุดหย่อน

ตั้งแต่กรณีผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างปิดแคบรีบร้อนรวบรัด, คำปราศรัยในอดีตของ รมว.จักรภพ, มรดกโลกเขาพระวิหาร, การปรับเปลี่ยนโยกย้ายข้าราชการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคดีความของ พ.ต.ท. ทักษิณ และครอบครัว, แผนเมกะโปรเจกต์บางโครงการ, การแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับควบคุมตลาดหลักทรัพย์และธนาคารแห่งประเทศไทย, ไปจนถึงโครงการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่เบียดขับรุกรานเด็กนักเรียนและชาวบ้าน ฯลฯ

พูดอีกอย่างก็คือ โดยไม่ต้องเห็นด้วยกับเป้าหมายและวิธีการทั้งหมดทุกอย่างของพันธมิตรฯ แต่สาธารณชนก็รู้สึกได้ว่า ระบบประชาธิปไตยรัฐสภายังแสดงอาการรวมศูนย์อำนาจและผูกขาดอธิปัตย์ (centralism & monism ในการวิเคราะห์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์) เรื้อรังออกมาไม่หยุดหย่อนเหมือนดังที่เคยเป็นมาและเป็นอยู่ จึงต้องการพลังอะไรสักอย่างไปคัดคานถ่วงดุลตรวจสอบมันไว้. หากศาลตุลาการ และองค์กรอิสระเป็นพลังถ่วงดุลตรวจสอบภายในระบบ, พันธมิตรฯ ก็ทำตัวเสมือนเป็นพลังถ่วงดุลตรวจสอบหนุนเสริมอยู่นอกระบบ - ในกรณีที่พลังภายในระบบทัดทานไม่ไหวหรือไม่ทันกาล. มองเฉพาะแง่มุมเดียวนี้ พันธมิตรฯ จึงดูเหมือนแสดงบทบาทหน้าที่จำเป็นบางอย่างสำหรับระบบการเมืองแบบนี้ (systemic function)

๒) ม็อบมาราธอนของพันธมิตรฯ น่าจะเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งแรกของโลกที่ถ่ายทอดสดทางทีวีดาวเทียม, วิทยุและอินเทอร์เน็ต ๒๔/๗ (วันละ ๒๔ ชั่วโมง / สัปดาห์ละ ๗ วัน) ต่อเนื่องกันนานนับ ๑๐๐ วัน ทำให้มันมีลักษณะผสมผสานอย่างพิสดารระหว่าง reality show กับการรณรงค์ต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งเปลี่ยนขยายปรากฏการณ์ audience democracy (ประชาธิปไตยของผู้ชมในตะวันตกช่วงหลังนี้ ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นแค่ผู้ชมผู้ฟังบรรดานักการเมืองอาชีพเล่นบทบาทกันไปบนเวทีการเมืองแล้ว ก็ให้เรตติ้งคะแนนนิยมผ่านการสำรวจหยั่งเสียง) ออกไป ให้สามารถมี virtual participants นอกสถานที่ชุมนุม (ผู้เสมือนเข้าร่วมจริง - ไปม็อบได้โดยไม่ต้องออกนอกบ้านหรือออฟฟิศ) มากมายเหลือคณานับกว่าที่พบเห็นในที่ชุมนุม โดยเสียบหูฟังวิทยุคลื่น FM 97.75 หรือเปิดโฮมเธียเตอร์ช่องเอเอสทีวีดังสนั่นลั่นห้อง ให้ความรู้สึกเหมือนร่วมรับฟัง/รับเห็น/รับรู้/รู้สึกอยู่ในที่ชุมนุมตลอดเวลาไม่ว่ากำลังทำงาน ทานข้าว หรือเข้านอน

ทว่าผลด้านกลับของมันคือ ทำให้การชุมนุมของพันธมิตรฯน่าจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายรายวันแพงที่สุดในโลกด้วย เพราะไม่เพียงค่าเช่าเวทีอุปกรณ์แสงเสียง ค่าน้ำมันปั่นเครื่องไฟ ค่าสวัสดิการอาหารของคณะทำงาน วิทยากรและศิลปิน ยังมีเงินเดือนและค่าดำเนินการถ่ายทอดสดจากที่ชุมนุมของทีม เอเอสทีวีอีกต่างหาก รวมแล้วตกถึงวันละ ๕ แสน - ๑ ล้านบาทแล้วแต่จำนวนผู้ชุมนุม ขณะเงินบริจาคและรายได้จากการขายเสื้อยืดสิ่งของเครื่องใช้เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงเข้ามาประมาณวันละ ๓ แสน - กว่า ๑ ล้านบาท. ด้วยเงินงบประมาณรายวันขนาดนี้ คงพอให้การชุมนุมประท้วงปกติธรรมดาของชาวบ้านหรือแม้แต่ของ นปก. ที่ย่อมเยากว่า ยืนยาวไปได้นานเป็นสัปดาห์ทีเดียว

ปรากฏว่าใน ๒๕ วันแรกของการชุมนุม พันธมิตรฯ มีรายได้ ๒๖ ล้านบาท ใช้จ่ายไป ๒๔ ล้านบาท (สุริยะใส กตะศิลา), ในการชุมนุมกว่า ๓ เดือน พันธมิตรฯ ผลิตเสื้อ "ลูกจีนรักชาติ" ออกขาย ๙ หมื่นตัว ได้เงินกว่า ๒๕ ล้านบาท (ชัยอนันต์ สมุทวณิช), จนหลังบุกยึดทำเนียบ พันธมิตรฯ ก็ยังมีเงินเหลือในบัญชี ๖.๖ ล้านบาทและทองคำแท่งหนัก ๘๐ บาท (จำลอง ศรีเมือง). การชุมนุมแบบพันธมิตรฯ จึงมีภาระทางการเงินหนักเป็นพิเศษ ความข้อนี้บ่งชี้ลักษณะด้านฐานะเศรษฐกิจสังคมและวิถีชีวิตของฐานผู้สนับสนุนและเข้าร่วมได้พอสมควร

๓) พูดอย่างรวบยอด การชุมนุมของพันธมิตรฯ คือพลังฝ่ายค้านทางการเมืองตัวจริงเสียงจริงในปัจจุบัน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแค่ตัวประกอบ (ใครยังจำได้ว่ามีพรรคฝ่ายค้านนี้อยู่บ้าง...?) เพียงแต่ข้อต่างที่มีนัยสำคัญคือพันธมิตรฯ เป็นพลังฝ่ายค้านที่ต่อต้านทั้งระบบการเมือง (ในความหมาย a force of resistance to the whole political system) ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้านปกติธรรมดาในระบบการเมือง (ในความหมาย an opposition party in the political system)

พูดเพื่อเข้าใจง่ายๆ ได้ว่าพันธมิตรฯ คือ "พรรค" ราชาชาตินิยมฝ่ายค้านตัวจริงนอกระบบรัฐสภา ที่ไม่ลงเลือกตั้งเพราะถึงลงก็คงแพ้พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ซึ่งทุนหนาและกุมเสียงส่วนใหญ่ในชนบทแน่นกว่า. ทางเดียวที่ "พรรค" พันธมิตรฯ จะชนะและยึดอำนาจรัฐได้ จึงไม่ใช่ผ่านการเลือกตั้ง แต่ต้องโดยวิถีทางอื่น - ดังได้พิสูจน์ให้เห็นซ้ำซากครั้งแล้วครั้งเล่าตลอด ๓ ปีที่ผ่านมา - ไม่ว่าโดยการชุมนุมประท้วง, รัฐประหาร, หรือลุกขึ้นสู้ (general uprising - ปราโมทย์ นาครทรรพ) ในครั้งนี้ก็ตามที

การดำรงอยู่ของพันธมิตรฯ รวมทั้งพลังทางการเมืองและสังคมซึ่งมีพวกเขาเป็นตัวแทนในฐานะขั้วหนึ่งของคู่ขัดแย้งหลักทางการเมืองปัจจุบัน จึงเป็นปัจจัยแห่งความไร้เสถียรภาพในระบอบการเมืองอยู่แล้วโดยตัวของมันเองเป็นธรรมดา. ยิ่งกว่านั้นการที่พันธมิตรฯเข้าใจว่าตนเองเป็นเครื่องมือแบบการเมืองมวลชน เพื่อไปบรรลุสิ่งซึ่งตนเองเข้าใจว่าเป็นพระราชประสงค์ขององค์พระประมุข โดยก้าวข้ามช่องทางสถาบันการเมืองทางการทั้งหมด (คำปราศรัยบนเวทีก่อนเป่านกหวีดบุกยึดทำเนียบของสนธิ ลิ้มทองกุล, พิภพ ธงไชย เป็นต้น) จึงน่าวิตกว่าจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิอาจทำงานตามครรลองกลไกกระบวนการปกติของมันได้ เกิดอาการไฟช็อตลัดวงจร กระทั่งหมดสภาพลง. กรณีตัวอย่างที่พอยกมาเปรียบเทียบได้ในบางแง่มุมคือสถานการณ์ในเมืองจีนช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (*)

(*)The Great Proletarian Cultural Revolution in the People's Republic of China was a struggle for power within the Communist Party of China that manifested into wide-scale social, political, and economic violence and chaos, which grew to include large sections of Chinese society and eventually brought the entire country to the brink of civil war. This had to do with the destruction of the four olds: Old Customs, Old Culture, Old Habits, and Old Ideas.

It was launched by Mao Zedong, the chairman of the Communist Party of China, on May 16, 1966, officially as a campaign to rid China of its "liberal bourgeoisie" elements and to continue revolutionary class struggle by mobilizing the thoughts and actions of China's youth, who formed Red Guards groups around the country. It is widely recognized however, as a method to regain control of the party after the disastrous Great Leap Forward led to a significant loss of Mao's power to rivals Liu Shaoqi and Deng Xiaoping, and would eventually descend into waves of power struggles between rival factions both nationally and locally. Although Mao himself officially declared the Cultural Revolution to have ended in 1969, the term is today widely used to also include the power struggles and political instability between 1969 and the arrest of the Gang of Four in 1976. (บรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน)

๔) ในสายตาผม แนวโน้มน่าห่วงที่สุดของม็อบพันธมิตรฯ คือท่าทีต่อปัญหาจริยธรรมว่าด้วยวิธีการ (the ethics of means) เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่ตนเห็นว่าถูกต้องดีงาม พันธมิตรฯไม่เลือกวิธีการที่ใช้ จะใช้วิธีการอะไรก็ได้ จะชอบหรือไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ทางศีลธรรมหรือหลักการทางการเมืองอย่างไรก็ได้ ขอแต่ให้บรรลุเป้าหมายได้เป็นพอ เข้าทำนอง The end justifies the means. หรือเป้าหมายให้ความชอบธรรมกับวิธีการ. เหตุผลที่พันธมิตรฯอ้างมักมี ๒ ประการด้วยกัน คือ:

ก) ศัตรูที่เราสู้ด้วยเป็นคนสกปรกเลวทรามต่ำช้าถึงขนาด ฝ่ายมันเองก็ไม่เลือกวิธีการเวลาสู้กับเรา ฉะนั้น จัดการกับคนชั่วช้าแบบนี้ ก็ไม่ต้องเลือกหรือจำกัดรูปแบบวิธีการเหมือนกัน มิฉะนั้นจะตกเป็นเหยื่อมัน (ประพันธ์ คูณมี, และชุดคำอธิบายเหตุที่พยายามบุกยึดสถานี NBT ของผู้นำพันธมิตรฯ)

ข) สิ่งที่เรามุ่งพิทักษ์ปกป้องไว้นั้น สำคัญสูงสุดเสียจนกระทั่งกดลบกลบทับหลักเกณฑ์หลักการอื่น ๆ ทั้งหมด หลักเกณฑ์หลักการอื่นจึงชาชืดจืดจางลงสิ้นเมื่อนำมาเปรียบด้วย เพราะฉะนั้นเพื่อรักษาสิ่งสำคัญสุดยอดไว้ แม้จะต้องละเมิดหักรานหลักเกณฑ์หลักการอื่นไปบ้าง ก็ต้องทำ (สนธิ ลิ้มทองกุล). พันธมิตรฯจึงพร้อมหยิบฉวยประเด็นร้อนแรงแหลมคมต่างๆ ไม่ว่าข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, ปลุกความคลั่งชาติเรื่องดินแดน ฯลฯ มาเป็นยุทธวิธีปลุกเร้าผู้คนให้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลและทักษิณ

ผมไม่เห็นด้วยกับท่าทีเช่นนี้ ผมเห็นว่ามันสุ่มเสี่ยงอันตรายที่จะปลุกพลังรุนแรงที่อาจควบคุมไว้ไม่อยู่ขึ้นมาจนพลอยไปทำร้ายทำลายผู้คนที่ไม่เกี่ยวข้องหรืออย่างเกินกว่าเหตุ อีกทั้งยังเห็นมนุษย์คนอื่นเป็นเครื่องมือ เป็นเหยื่อและเป็นเครื่องบูชายัญสังเวยเป้าหมายความเชื่อของตนเอง. ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ว่า วิธีการคือหน่ออ่อนที่จะเติบใหญ่ขยายตัวกลาย เป็นเป้าหมายในอนาคตข้างหน้า (Means is the end in the process of becoming.)

ฉะนั้นหากเลือกวิธีการเลวร้ายตอนนี้ แม้ในนามของเป้าหมายที่ดีงามในอนาคต แต่ในที่สุดแล้ว วิธีการเลวร้ายที่เลือกก็รังแต่จะเติบใหญ่ขยายตัวลงเอยกลายเป็นเป้าหมายที่เลวร้ายในบั้นปลายนั่นเอง. ฐานคิดทางปรัชญาของปฏิบัติการไม่รุนแรงและอารยะขัดขืนที่แท้ จึงได้แก่หลักความเป็นเอกภาพของคุณค่าทางศีลธรรมระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ (moral unity of the end and the means) เป้าหมายดี ต้องเลือกใช้วิธีการดีด้วย, หากเลือกใช้วิธีการเลว เป้าหมายจะออกมาดีนั้นเป็นไปไม่ได้

๕) ตอนนี้บ้านเมืองของเรากำลังอยู่ตรงริมเหวแห่งการลุกขึ้นสู้ทั่วไปของประชาชนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง ที่ต่อต้านรัฐบาล เป็นจุดเดียวกับที่บ้านเมืองเราเคยเดินมาถึง ณ วันสุกดิบก่อน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕....และแล้วเราก็ถลำลึกลงไป เราเดินมาถึงจุดนี้วันนี้ได้ก็เพราะความผิดพลาดใหญ่บ้างเล็กบ้างและที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย จากจุดนี้ไปอีกนิดเดียว น่ากลัวว่าไฟจะลุกเผาบ้านเผาเมือง เลือดไทยจะนองถนนด้วยฝีมือไทยกันเองอีก

การจะหยุดและหลีกพ้นหุบเหวนี้ได้

- ฝ่ายรัฐต้องถอนกำลังฝ่ายความมั่นคงหลีกห่างออกมาจากการเผชิญหน้ากับมวลชนพันธมิตรฯ ทุกที่ทุกแห่งอย่างเร่งด่วน
- ผู้นำพันธมิตรที่ถูกออกหมายจับทั้ง ๙ คน ต้องมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเพื่อเข้าสู่การต่อสู้ในกระบวนยุติธรรมตามกฎหมายทันที

จากนี้กระบวนการทางการเมืองและกฎหมายจะได้ดำเนินต่อไป ตามกฎเกณฑ์กติกาของมัน แทนที่จะเดินหน้าสู่การทำร้ายทำลายกันที่ทุกฝ่ายล้วนพ่ายแพ้

3. หนังสือว่าด้วยรัฐ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และขดเกลียวของความรุนแรง
โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ

ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันจะคลี่คลายลงไปอย่างไร สังคมไทยมีโจทย์ใหญ่ที่ต้องช่วยกันขบคิดต่อ คือ เราจะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ทำงานได้ เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้คน และรับมือกับความขัดแย้งที่บานปลายไปเป็นความรุนแรงได้อย่างไร? ในสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้มีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของพลเมืองได้อย่างเสรี ความรุนแรงมีโอกาสเกิดขึ้นได้จาก 2 จุด คือ

- หนึ่ง ระหว่างรัฐกับประชาชน และ
- สอง ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง

มีหนังสือที่จะแนะนำสองเล่มด้วยกัน เรียกว่าเป็นแพคเกจคู่เพื่อทำความเข้าใจปัญหาดังกล่าว ผมแนะนำหนังสือสองเล่มนี้โดยมีความหวังในใจแบบไร้เดียงสาว่า เราจะเรียนรู้บทเรียนความรุนแรงจากสังคมอื่น และช่วยกันหาทางปลดชนวนความขัดแย้งและระงับความคุกรุ่นไม่ให้มันลุกลามไปถึงจุดเดือด

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ความรุนแรงทางการเมือง
หนังสือเล่มแรกค่อนข้างจะเก่าสักหน่อย เมื่อเทียบกับเล่มอื่นๆ ที่เคยแนะนำในครั้งก่อนๆ มีชื่อเชยๆ ยาวๆ ว่า "ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ความรุนแรงทางการเมือง และรัฐ" เขียนโดยศาสตราจารย์โดนาเทลลา เดลลา พอร์ทา ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปี 1995 แม้จะเก่าสักหน่อย แต่ก็เป็นหนังสือคลาสสิคที่นักเรียนทุกคนที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมและความรุนแรงทางการเมืองต้องอ่าน ผู้เขียนศึกษาเปรียบเทียบความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศยุโรปยักษ์ใหญ่สองประเทศ คือ อิตาลีกับเยอรมันนี จากทศวรรษ 1970 ถึง 1990 โดยตั้งคำถามการวิจัยง่ายๆ 3 คำถามคือ

- หนึ่ง, ทำไมความรุนแรงทางการเมือง (ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการก่อจลาจล การลอบสังหาร การก่อการร้าย ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ)
จึงเกิดขึ้นมาเป็นพิเศษในอิตาลีและเยอรมันนีมากกว่าประเทศยุโรปอื่นๆ

- สอง, เหตุใดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในทั้งสองประเทศ พุ่งถึงจุดสุดยอดในทศวรรษ 1970 แทนที่จะเป็นช่วงเวลาอื่น
- สาม, ทำไมโดยเปรียบเทียบกันแล้ว ความรุนแรงทางการเมืองในอิตาลีนั้น มีลักษณะรุนแรงกว่าในเยอรมันนี

อาจารย์พอร์ทา เสนอว่า เพื่อจะอธิบายปริศนาทางการเมืองทั้งสามข้อนั้น เราต้องมุ่งพิจารณาไปที่รูปแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในทั้งสองประเทศทางหนึ่ง กับปฏิสัมพันธ์ระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยกันเองอีกทางหนึ่ง. พอร์ทาอธิบายว่า เหตุที่เราไม่อาจพิจารณาแต่เฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัฐกับขบวนการทางการเมืองเท่านั้น ก็เพราะว่าความขัดแย้งในสังคมประชาธิปไตยมีหลากหลายมากกว่านั้น เมื่อรัฐประชาธิปไตยเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เป็นธรรมดาที่จะมีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้นมาต่อสู้แข่งขันกัน ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มองค์กรทางการเมืองใน "ภาคประชาสังคม / ประชาชน" ที่มีอุดมการณ์และความเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน จึงไม่ใช่เรื่องผิดปรกติ และไม่ใช่ปัญหา. ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะมีกฎกติกา (ไม่ว่าจะเขียนอยู่ในกระดาษหรือในมโนสำนึกของผู้คน) ในการกำกับความขัดแย้งไม่ให้แปรเปลี่ยนไปเป็นความรุนแรงได้อย่างไร?

สังคมเผด็จการแก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยการทำลายสิทธิเสรีภาพจนเหลือศูนย์ ไม่เปิดให้มีการเคลื่อนไหวอะไรได้เลย เพื่อรักษาระเบียบของสังคมและเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลเอาไว้ สังคมประชาธิปไตยไม่อาจแก้ปัญหาได้ง่ายๆ แบบนั้น เพราะหากเราทำลายสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมจนเหลือศูนย์ เราก็ทำลายหัวใจของสังคมประชาธิปไตยลงไปด้วย "ในแง่นี้นักประชาธิปไตยจึงเผชิญโจท์ที่ยากกว่าคือ จะรักษาสมดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมกับระเบียบของสังคมไว้ได้อย่างไร และจะป้องกันไม่ให้มีกลุ่มขบวนการใดๆ ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างบิดเบือนได้อย่างไร นี่เป็นโจทก์ที่เราทุกคนต้องช่วยกันคิด และสังคมไทยก็ไม่ใช่สังคมแรกที่เผชิญกับปัญหานี้"

หนังสือเล่มดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า สังคมอิตาลีและเยอรมันนีเผชิญกับการทดสอบนี้อย่างหนักหน่วงในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองในภาคประชาสังคมนั้น รุนแรงและแหลมคมกว่าความขัดแย้งที่พวกเขามีกับรัฐด้วยซ้ำไป. พอร์ทาเสนอว่า เราต้องเลิกมองภาคประชาสังคมเป็นกลุ่มก้อนหนึ่งเดียวที่สมานฉันท์และเห็นสอดคล้องต้องกันไปเสียหมด หากมองมันเป็นพื้นที่ของความขัดแย้งที่ประชาชนกลุ่มต่างๆ เคลื่อนไหวต่อสู้กันเองด้วย

ด้วยเหตุดังนั้น งานชิ้นนี้จึงใช้แนวคิดทางรัฐศาสตร์ที่เรียกว่า "ขบวนการต่อต้าน" (counter-movements) มาอธิบายปรากฎการณ์การปะทะขัดแย้งกันเองระหว่างกลุ่มองค์กรนอกภาครัฐ. พอร์ทาไม่ได้คิดค้นแนวคิดนี้ขึ้นมาเอง หากหยิบยืมมาจากงานหลายชิ้นของนักทฤษฎีคนอื่นๆ ที่ศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งอธิบายปรากฎการณ์ทางการเมืองที่มีการจัดตั้งกลุ่มหรือขบวนการหนึ่งขึ้นมาในภาคประชาสังคม เพื่อมาตอบโต้ขบวนการที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ขบวนการต่อต้านการทำแท้งในสหรัฐฯ ที่ก่อตัวขึ้นมาเพื่อตอบโต้กับขบวนการสนับสนุนสิทธิในการทำแท้ง หรือ ขบวนการต่อต้านกลุ่มนีโอนาซีของบรรดานักศึกษา ปัญญาชนฝ่ายซ้าย ในเยอรมันนี เป็นต้น

โดยคำนิยามกว้างๆ ขบวนการต่อต้าน(counter-movements) อาจจะเป็นขบวนการที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบซ้าย เสรีนิยม หรืออนุรักษ์นิยมก็ได้ ขอแต่เพียงว่าถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโต้กับขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้าม เราจึงไม่อาจตัดสินได้ล่วงหน้าว่า ขบวนการต่อต้านจะต้องเป็นขบวนการที่มีลักษณะล้าหลังหรือสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้กับสังคมเสมอไป ในหลายกรณีขบวนการต่อต้านมีเป้าหมายต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เช่น ในอิตาลีและเยอรมันนี ขบวนการต่อต้านของนักศึกษาและปัญญาชนก่อตัวขึ้นมาเพื่อทัดทานกับการเคลื่อนไหวแบบเหยียดผิว และต่อต้านระบบรัฐสภาของพวกนีโอนาซี

โครงสร้าง องค์กร และผู้ประกอบการความรุนแรง
ทีนี้ก็มาถึงปัญหาว่า เหตุใดการต่อสู้ระหว่างรัฐกับขบวนการทางการเมือง และระหว่างขบวนการทางการเมืองด้วยกันเองจึงมีลักษณะรุนแรงมากเป็นพิเศษในบางช่วง พอร์ทาเสนอว่า ความรุนแรงเกิดขึ้นจากการทำงานของปัจจัย 3 ระดับประกอบกัน คือ

- ปัจจัยระดับมหภาค ซึ่งหมายถึงโครงสร้างทางการเมืองและเศษฐกิจของประเทศ
- ปัจจัยระดับกลาง ได้แก่ รูปแบบการจัดองค์กร วิธีการระดมทรัพยากรเพื่อมาเคลื่อนไหว และอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของกลุ่ม
- สุดท้ายคือ ปัจจัยระดับจุลภาค ซึ่งได้แก่ ทักษะการนำของผู้นำ อุดมการณ์และทัศนคติของแกนนำ รวมถึงบุคลิกของสมาชิกที่เข้าร่วมขบวนการ

ในระดับโครงสร้างนั้น ความรุนแรงมักจะเกิดขึ้นมากเป็นพิเศษในยามที่รัฐอ่อนแอ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือในช่วงที่ระบอบการเมืองอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในสถานการณ์เช่นนี้ การเมืองมีแต่ความไม่แน่นอน และคนรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับสภาพที่เป็นอยู่ บวกกับเมื่ออำนาจรัฐอ่อนแอ จึงเปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะที่ละเมิดกฏหมายหรือใช้ความรุนแรงได้มากกว่าปรกติ

แต่พอร์ทาเสนอว่า ปัจจัยเชิงโครงสร้างนี้แม้จะสำคัญ แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยชี้ขาด เพราะในสถานการณ์ผันผวนประชาชนก็ยังอาจจะเลือกใช้ยุทธวิธีการต่อสู้แบบสันติวิธีได้ พอร์ทาเสนอว่า ปัจจัยระดับกลางและระดับจุลภาค คือ รูปแบบการจัดองค์กรและการตัดสินใจของผู้นำเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าความรุนแรงจะถูกนำมาใช้เมื่อไร

ในระดับจุลภาค ความรุนแรงเกิดขึ้นง่ายและถี่ขึ้น หากตัวผู้นำขบวนการทางการเมืองมีวิธีคิดหรือทัศนคติที่ไม่ปฏิเสธความรุนแรง มองว่าความรุนแรงก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ไม่มีพิษมีภัยในตัวมันเอง อาจหยิบมาใช้เมื่อไรก็ได้เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงบุคลิกของผู้นำบางประเภทที่คุ้นชินกับการใช้ความรุนแรง และมองการต่อสู้ทางการเมืองเป็นการต่อสู้ทางการทหาร เป็นเรื่องของสงคราม เป็นเรื่องของเบี้ยกับขุน การใช้ภาษาและวิธีคิดแบบการทำสงครามมาชี้นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มตน ทำให้กลุ่มขบวนการนั้นๆ มองความรุนแรงเป็นเรื่องปรกติที่หลี่กเลี่ยงไม่ได้ เพราะมองว่าทำสงครามแล้วก็ย่อมต้องเสียเลือดเนื้อกันเป็นธรรมดา

พอร์ทายังพบว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทั้งฝ่ายซ้ายและขวาของอิตาลีและเยอรมันนีใช้ความรุนแรงมากขึ้น เมื่อกลุ่มถูกโดดเดี่ยวจากสังคม เข้าไม่ถึงช่องทางการเมืองตามปรกติหรือถูกกีดกันออกจากการเมืองในระบบ รวมทั้งกลุ่มที่สูญเสียฐานมวลชน. พอร์าอธิบายว่า การเปลี่ยนสถานะตนเองจากการเป็นขบวนการที่มีฐานสนับสนุนกว้างขวาง มีสมาชิกจากหลากหลายชนชั้นและสถานะไปเป็นกลุ่มที่มีลักษณะคล้ายๆ ลัทธินิกายทางศาสนา (sect) ความรุนแรงมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น เพราะกลุ่มลัทธิไม่มุ่งแสวงหาความชอบธรรมในวงกว้างจากสาธารณะอีกต่อไป การเคลื่อนไหวที่รุนแรงท้าทายกฎหมาย เป็นยุทธวิธีที่พวกเขายอมที่จะเสี่ยง หากมันสามารถรักษาสปิริตอันแน่นแฟ้นในกลุ่มสมาชิกเอาไว้ และทำลายขวัญกำลังใจของฝ่ายตรงกันข้ามได้

มีปัจจัยสำคัญอีกสามปัจจัยที่ทำให้กลุ่มขบวนการทางการเมืองหนึ่งๆ (ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์แบบใด) เคลื่อนไหวอย่างรุนแรงมากขึ้น ได้แก่

- หนึ่ง, การจัดองค์กรในลักษณะที่คล้ายกองกำลังที่มุ่งการเผชิญหน้า และใช้ยุทธศาสตร์แบบกดดัน ไม่เจรจา (organization of conflicts)

- สอง, อารมณ์ที่ถูกปลุกเร้าอย่างต่อเนื่อง (aroused emotions) อันเนื่องมาจากประสบการณ์ในการต่อสู้ ปะทะขัดแย้งรายวันกับฝ่ายตรงข้าม จนก่อตัวเป็นสปิริตในการต่อสู้แบบนักรบ มองการต่อสู้ทางการเมืองเป็นเรื่องของพวกเขาและพวกเรา และ

- สาม, ปัจจัยประการสุดท้ายซึ่งเชื่อมโยงกับปัจจัยที่สอง คือ ความรับรู้ที่บิดเบือนไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมืองรอบตัว (distorted perceptions of the external reality) อันเนื่องมาจากการถูกกล่อมเกลาทางการเมือง และรับข้อมูลข่าวสารทางเดียวอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนปัดปฏิเสธข้อมูลความเป็นจริงจากช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากกลุ่มเดียวกับตน มองว่ากลุ่มตนเองเท่านั้นที่ผูกขาดความถูกต้องทั้งในทางการเมืองและศีลธรรม ประเมินกำลังของกลุ่มสูงจนเกินจริง รวมทั้งประเมินสถานการณ์การเมืองที่ไม่ได้วางอยู่บนข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนรอบด้าน เช่น ประเมินว่าบ้านเมืองเข้าสู่สถานการณ์ที่สุกงอมต่อการปฏิวัติด้วยกำลังรุนแรงแล้ว ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้กลุ่มขบวนการหนึ่งๆ แปรเปลี่ยนจากการเคลื่อนไหวแบบสันติไปสู่การเคลื่อนไหวโดยใช้ความรุนแรงเป็นยุทธวิธี

แล้วสังคมการเมืองประชาธิปไตยจะรับมือกับความรุนแรงของกลุ่มขบวนการเหล่านี้อย่างไร? อาจารย์พอร์ทา ไม่ได้ตอบประเด็นนี้ไว้มากเท่าไร ทำให้เราต้องหันไปขอความช่วยเหลือจากหนังสืออีกเล่มหนึ่งแทน

ขบวนการอนารยะ: ขบวนการติดอาวุธฝ่ายขวาและประชาธิปไตยในละตินอเมริกา
เล่มที่สอง ชื่อยาวอีกเช่นกัน คือ "ขบวนการอนารยะ: ขบวนการติดอาวุธฝ่ายขวาและประชาธิปไตยในละตินอเมริกา" (Uncivil Movements: The Armed Right Wing and Democracy in Latin America) เขียนโดย ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ชื่อ Leigh Payne ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2000 โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์

หนังสือเล่มนี้ศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่อนารยะในอาร์จนตินา บราซิล และนิคารากัว โดยเธอให้คำนิยามขบวนการอนารยะ (แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า uncivil) ว่า มันคือ "ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ดำเนินกิจกรรมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย หากใช้วิธีการทั้งอารยะบวกกับอนารยะในการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของตน" กล่าวง่ายๆ ว่า ขบวนการหนึ่งอาจจะเข้าข่ายเป็นขบวนการอนารยะในสองความหมาย

- หนึ่ง, คือ ใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น
- สอง, แม้จะมีวิธีการที่ถูกต้องชอบธรรม แต่มีเป้าหมายที่สวนทางกับประชาธิปไตย หรือต้องการค้ำจุนโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจที่อยุติธรรม
(เช่น ระบบทาส นโยบายเหยียดสีผิว) ก็ถือว่าเป็นขบวนการอนารยะด้วยเช่นกัน

เมื่อเอ่ยถึงตรงนี้ ผมจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องทบทวนคำแปลภาษาไทยของ civil society ที่มีคนแปลไว้ว่า "ประชาสังคม" เนื่องจากมันกินความเพียงแค่ครึ่งเดียวของรากศัพท์เดิม คือ ด้านที่เป็นการรวมกลุ่มของ "ประชาชน" ที่ไม่ใช่รัฐ แต่คำแปลนี้ไม่ได้กินความไปถึง civil ในความหมายที่เป็นการรวมกลุ่มอย่างมี "อารยะ" ด้วย. ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างง่ายๆ เป็นสูตรสำเร็จว่า ขอให้เป็นการเคลื่อนไหวในนามประชาชนก็เป็นอันใช้ได้ มีความชอบธรรมดีงามในตัวเอง ถ้าจะให้ดีน่าจะแปลคำนี้ว่า "ประชาอารยะสังคม"(civil society) เพื่อสร้างความเข้าใจเสียใหม่ว่า การเคลื่อนไหวของประชาชนก็ต้องถูกกำกับด้วยวิธีการและเป้าหมายที่ถูกต้องชอบธรรมด้วย

ประเด็นสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ รัฐบาลในระบอบเสรีประชาธิปไตยจะรับมือกับความรุนแรงที่เกิดจากขบวนการเคลื่อนไหวที่อนารยะอย่างไร? ลี เพน เสนอว่า รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยมียุทธศาสตร์ในมือมากมาย ที่สามารถนำมาใช้เพื่อลดทอนพลังของขบวนการอนารยะ ไม่ได้มีเพียงแค่การปราบปรามด้วยความรุนแรง โดยรัฐบาลอาจเปิดโปง สืบสวนสอบสวน ฟ้องร้องทางศาล หรือดำเนินคดีอย่างจริงจังกับพวกหัวรุนแรง นับตั้งแต่การจับกุม และการตัดสินลงโทษการเคลื่อนไหวที่ละเมิดกฎหมาย ซึ่งมาตรการเหล่านี้สามารถลดทอนหรือหยุดยั้งโอกาสที่ขบวนการเคลื่อนไหวหนึ่งๆ จะยกระดับการเคลื่อนไหวให้รุนแรงมากขึ้นได้ ในขณะเดียวกันก็หันไปเจรจากับกลุ่มการเมืองที่ไม่ได้มีลักษณะสุดขั้ว ที่ต้องหมายเหตุเอาไว้คือ รัฐต้องไม่สับสนและตัดสินใจผิดพลาดทำในสิ่งตรงกันข้าม คือ ใช้ไม้นวม (เจรจา) กับกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง และใช้ไม้แข็ง (สลายการชุมนุมอย่างรุนแรง) กับผู้ชุมนุมทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงหรือมีส่วนตัดสินใจวางแผนในการใช้ความรุนแรง

ลี เพน สรุปไว้อย่างถูกต้องทีเดียวว่าที่ "ปฏิบัติการอันรุนแรงและละเมิดกฎหมาย ยังมีให้เห็นอยู่ก็เพราะว่า ปฏิบัติการทางการเมืองอันรุนแรงนั้นมีต้นทุนแสนจะต่ำเมื่อเทียบกับผลสำเร็จอันยั่วยวนและเร้าใจจากปฏิบัติการดังกล่าว" เธอเสนอว่า ถ้าพูดภาษาแบบเศรษฐศาสตร์ การที่รัฐไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดทำให้ต้นทุนของการใช้ความรุนแรงลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ และสร้างให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลขึ้น (culture of impunity) ทำให้ความรุนแรงเป็นทางเลือกที่ขบวนการต่างๆ เก็บเอาไว้ในกระเป๋า และพร้อมที่จะงัดออกมาใช้เมื่อถึงยามจำเป็น เพราะคิดว่าใช้แล้วก็จะพ้นเงื้อมมือกฎหมายไปได้

ในกรณีของละตินอเมริกาที่เธอศึกษา ขบวนการฝ่ายขวาก่อความรุนแรงในหลายรูปแบบโดยไม่เกรงกลัวโทษทางกฎหมาย เช่น พกปืนในที่สาธารณะ เผาทำลายอาคารบ้านเรือน และลอบสังหารผู้นำขบวนการประชาชนและนักการเมืองฝ่ายซ้าย การนิ่งเฉยของรัฐไม่เพียงแต่เป็นการอนุญาตให้การใช้ความรุนแรงทางการเมืองดำเนินต่อไปได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการสนับสนุนการกระทำดังกล่าวในทางอ้อมอีกด้วย เมื่อต้นทุนของการใช้ความรุนแรงสูงขึ้น การใช้ความรุนแรงก็จะกลายเป็นยุทธวิธีที่น่าสนใจน้อยลง ไม่มีใครอยากใช้ ใช้แล้วไม่คุ้ม รัฐทำให้ต้นทุนของการใช้ความรุนแรงสูงขึ้นได้ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเอาจริงเอาจังกับทุกฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง ทั้งนี้รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุกับประชาชนด้วย

สังคมเองก็สามารถทำให้ต้นทุนของการใช้ความรุนแรงสูงขึ้น ด้วยการร่วมกันประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากทุกฝ่าย อย่างไม่เลือกข้าง และไม่กำกวม ไม่ว่าความรุนแรงนั้นจะเป็นการรัฐประหารโดยกองทัพ การยกพวกไปทำร้ายร่างกายกลุ่มการเมืองอื่นที่เห็นต่างจากตน หรือการใช้กำลังเข้าบุกรุกอาคารสถานที่ ทำลายทรัพย์สิน และคุกคามคนอื่น ดังที่นักทฤษฎีหลายรายชี้ให้เห็นทั้งในทางทฤษฎีและในเชิงประจักษ์ว่า ท่าทีและการตอบสนองจากรัฐและสังคมมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของยุทธวิธีที่ขบวนการทางการเมืองหนึ่งๆ เลือกใช้ การนิ่งเฉยดูดายของสังคมและไม่ทำหน้าที่รักษากฎหมายอย่างเคร่งครัดของรัฐ คือปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของความรุนแรง

อย่าให้ความรุนแรงยุติการทำงานของเหตุผล
ถามว่า ทำไมสังคมประชาธิปไตยถึงเชิดชูหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการชุมนุมในที่สาธารณะให้เป็นหัวใจสำคัญของระบอบ นอกเหนือไปจากหลักการที่สำคัญอีกสองข้อคือ การจัดให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม และการให้ฝ่ายกองทัพต้องอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐบาลพลเรือน (เพื่อไม่ให้มีการใช้กำลังตามอำเภอใจในการขึ้นสู่อำนาจ) คำตอบก็คือ สังคมประชาธิปไตย เชื่อมั่นในการทำงานของเหตุผล เราปกป้องสิทธิเสรีภาพของพลเมือง เพราะต้องการให้เหตุผลได้ทำงานของมันอย่างเต็มที่ ให้ทุกคนได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างเสรีต่อประเด็นปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เนื่องจากเราไม่เชื่อว่ามีใครผูกขาดความจริงและความถูกต้องไว้เพียงผู้เดียว แต่เมื่อความรุนแรงถูกนำมาใช้ เหตุผลก็หยุดทำงาน
ความรุนแรงจึงเป็นอุปสรรคและศัตรูสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

การมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งดี และพลเมืองที่แข็งขัน (active citizen) ก็ทำให้ประชาธิปไตยแข็งแรงขึ้น แต่จิตใจและสปิริตอันแข็งขันของพลเมืองก็ต้องถูกใช้ไปในทิศทางที่ถูกต้องด้วย มิฉะนั้น แทนที่จะเป็นคุณกลับจะกลายเป็นโทษต่อระบอบประชาธิปไตยไปเสีย โจทก์ของสังคมไทยในสภาวะปัจจุบันคือ จะรักษาส่วนที่เป็นสปิริตและจิตใจของพลเมืองที่เอาธุระกับปัญหาบ้านเมืองเอาไว้ แต่แปรเปลี่ยนมันไปในทิศทางที่ไม่ทำร้ายและทำลายระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร?

สังคมประชาธิปไตยปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการใช้เหตุผล แต่ไม่เคยและไม่ได้ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการใช้ความรุนแรง เพราะนั่นจะนำเรากลับไปสู่สภาวะธรรมชาติ ที่ไร้รัฐ ไร้หลักนิติธรรม และไร้สันติสุขของพวกเราทุกคน

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๑ : Release date 30 August 2008 : Copyleft by MNU.

ถามว่า ทำไมสังคมประชาธิปไตยถึงเชิดชูหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการชุมนุมในที่สาธารณะให้เป็นหัวใจสำคัญของระบอบ นอกเหนือไปจากหลักการที่สำคัญอีกสองข้อ นั่นคือ การจัดให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม และการให้ฝ่ายกองทัพต้องอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐบาลพลเรือน (เพื่อไม่ให้มีการใช้กำลังตามอำเภอใจในการขึ้นสู่อำนาจ) คำตอบก็คือ สัง คมประชาธิปไตย เชื่อมั่นในการทำงานของเหตุผล เราปกป้องสิทธิเสรีภาพของพลเมือง เพราะต้องการให้เหตุผลได้ทำงานของมันอย่างเต็มที่ ให้ทุกคนได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างเสรีต่อประเด็นปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เนื่องจากเราไม่เชื่อว่ามีใครผูกขาดความจริงและความถูกต้องไว้เพียงผู้เดียว (บางส่วนจากบทความ)

H