ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




26-05-2551 (1573)

สารคดี ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๒๗๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑, หน้า ๙๔ - ๑๑๑
เราจะฝ่าความขัดแย้งทางการเมืองไปได้อย่างไร? (ตอนที่ ๒)
รศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ : ให้สัมภาษณ์
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : สัมภาษณ์
บรรจุในโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการเรื่องความรุนแรงต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งใน
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)

เพื่อความชัดเจนในประเด็นต่างที่ได้รับการนำเสนอโดยผู้ให้สัมภาษณ์
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงได้เพิ่มเติมหัวข้อ เพื่อความสะดวกในการค้นคว้าดังนี้
- กองทัพไม่เป็นเอกภาพทางการเมือง สังคมไทยไม่ควรนองเลือด
- ความขัดแย้งที่ใหญ่กว่าประเทศเรา
- การแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ขาดไม่ใช่เสียงข้างมาก แต่ขาดความชอบธรรม
- ความชอบธรรมจากเสียงข้างมากในสภา - ความชอบธรรมเชิงวัฒนธรรม
- สังคมแบ่งฝ่าย สังคมที่หาคนกลางยากขึ้น เปลี่ยนจากการแบ่งค่ายมาสู่การแบ่งประเด็น
- สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ความขัดแย้งทางชนชั้น
- นโยบายทางการเมือง: นโยบายประชานิยม นโยบายรัฐสวัสดิการ
- นโยบายสิ่งแวดล้อม กับอุปมาการนั่งรถเมล์ลงเหว
- สังคมที่ปราศจากตาข่ายทางสังคม และความรุนแรง
- เส้นทางสายโลกาภิวัตน์ และอุบัติการที่คาดไม่ถึง
- rule of law, limited government, unlimited government
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๗๓
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๕.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สารคดี ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๒๗๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑, หน้า ๙๔ - ๑๑๑
เราจะฝ่าความขัดแย้งทางการเมืองไปได้อย่างไร? (ตอนที่ ๒)
รศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ : ให้สัมภาษณ์
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : สัมภาษณ์
บรรจุในโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

๐ นักวิชาการบางท่านบอกว่าถ้าเกิดความขัดแย้งในสังคมจนกระทั่งถึงขั้นนองเลือด ทหารก็จำเป็นต้องออกมาเพื่อยุติการนองเลือด
๐ ทหารออกมาอาจจะทำให้ความรุนแรงเฉพาะหน้าลดลง แต่ว่าเป็นการเพาะเมล็ดความรุนแรงให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพราะนั่นแปลว่าทหารเข้ามาร่วมในคู่ความขัดแย้งแล้ว ขอให้นึกดู แน่นอน คปค. เข้าใจตัวเองตอนที่ทำรัฐประหารว่าออกมายุติความขัดแย้งทางการเมืองไม่ให้รุนแรงกว่านั้น แต่ผมขอถามว่าหลังจากรัฐประหาร ๑ ปี ภาพพจน์ของทหารเป็นกลางทางการเมืองมากขึ้นหรือน้อยลง? ชาวบ้านมีลักษณะที่แบ่งกลุ่มต่อต้านทหารมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าเดิม? ผมเกรงว่ามันมากขึ้น เกรงว่าการปะทะกันทางการเมืองระหว่างกองทัพในฐานะสถาบันกับกลุ่มประชาชน ที่มีความคิดทางการเมืองที่ต่างออกไปมากขึ้น ดังนั้นกลายเป็นว่า ๑ ปีที่ผ่านมาทหารเข้ามาพัวพันนัวเนียกับความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

กองทัพไม่เป็นเอกภาพทางการเมือง สังคมไทยไม่ควรนองเลือด
แล้วในรูปการของคนที่ถืออาวุธเข้ามาด้วย ผมคิดว่าเอาเข้าจริง กองทัพไม่เป็นเอกภาพทางการเมืองแล้ว ความฝันที่ว่าทหารทุกคนจะคิดเหมือนกันเป็นไปไม่ได้ ทหารคิดต่างกันทางการเมือง ประเด็นอยู่ตรงเราจะทำอย่างไรให้ความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันของทหาร ซึ่งย่อมมีเป็นธรรมดา ไม่ไปพัวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง จนนำไปสู่การใช้กำลังอาวุธเข้าห้ำหั่นกัน? ต้องแยกสองอันนี้ออกจากกันให้ได้ การแยกสองอันนี้ออกจากกันก็คือ การเป็นทหารอาชีพ อาชีพทหารในฐานะผู้ป้องกันประเทศจากภัยคุกคามข้างนอก และจากภัยความมั่นคงภายใน แต่ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น

แม้ว่าทหารจะเข้ามาระงับเหตุอะไรก็แล้วแต่ คิดว่าที่สำคัญคือ กระบวนการทางการเมืองปรกติมันต้องเดินหน้าต่อไป แต่การแทรกแซงทางการเมืองของทหารในระยะ ๑ ปีกว่าที่ผ่านมา มันหยุดกระบวนการทางการเมือง มันหยุดแล้วหักเหกระบวนการทางการเมือง จัดโครงสร้างกระบวนการทางการเมืองใหม่ ท่ามกลางความพอใจของบางฝ่าย และความไม่พอใจของบางฝ่าย เพราะเหตุนั้นมันเลยทำให้ทหารเข้ามาพัวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง ผมไม่อยากให้พูดคำว่านองเลือดกันอย่างมักง่าย เหมือนกับไม่ต้องคิดมาก สังคมไทยไม่ควรจะต้องนองเลือด แล้วเราก็เห็นกันอยู่ไม่ใช่หรือว่าไม่ว่าจะนองเลือดหรือไม่

ความขัดแย้งที่ใหญ่กว่าประเทศเรา
ความขัดแย้งมากมายหลายแหล่ที่เรามี ก็ใช่ว่าจะแก้ไขได้ เพราะหลายเรื่องมันเกี่ยวพันกับอะไรที่ใหญ่กว่าประเทศเราด้วยซ้ำ ความขัดแย้งที่เกี่ยวกับเรื่องวิกฤตการเงิน ซึ่งตอนนี้มันเกี่ยวกับอเมริกา เกี่ยวกับไอเอ็มเอฟ เกี่ยวกับเวิลด์แบงก์ เกี่ยวกับระบบการเงินโลก ความขัดแย้งในเรื่องวิกฤตอาหารซึ่งตอนนี้เกี่ยวพันกับภาวะอาหารแพง และพลังงานแพงทั่วโลก เกี่ยวพันกับแนวทางพัฒนาการเกษตรและเศรษฐกิจการค้าของนานาชาติที่ผ่านมา ความขัดแย้งในเรื่องพลังงาน มันเกี่ยวกับราคาน้ำมันโลกแพง เกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำมัน ทรัพยากรน้ำมันทั่วโลก แล้วยังความขัดแย้งเรื่องภาวะโลกร้อนอีก....

ไม่ต้องห่วง มันมีความขัดแย้งจำนวนมาก ซึ่งคนไทยประเทศเดียวไม่มีปัญญาแก้หรอก ถ้าเราจะแก้เราต้องร่วมมือกับชาติอื่น ๆ ทั้งหลายในโลก ดังนั้นท่ามกลางความขัดแย้งท่วมหูท่วมหัวทั้งหลายแหล่นี้ ถ้าเอะอะอะไรก็จะเอาแต่นองเลือด ผมคิดว่าไม่มีเลือดพอให้เรานองหรอก ความขัดแย้งเหล่านั้นเราแก้ไม่ได้ ต่อให้เราตีกันแหลกก็ตาม เพราะความขัดแย้งเหล่านั้นมันใหญ่เกินวิสัยที่เมืองไทยจะแก้ประเทศเดียว ฉะนั้นกับความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ซึ่งยังพอจะอยู่ในวิสัยที่เราแก้ได้ แต่ถ้าเราต้องฆ่ากันทุกครั้งที่เราจะแก้มัน แบบนั้นจะไหวหรือ?

๐ แล้วทางออกของความขัดแย้งในสังคมคืออะไร
๐ พูดให้ถึงที่สุดคือ เราต้องสามารถให้อภัยกันได้ ตอนที่เกิดปัญหาความไม่สงบภาคใต้ขึ้นใหม่ ๆ ไม่นานนักก็มีผู้สูญเสียทั้งสองฝ่าย มีแม่ของทหารตำรวจที่ถูกผู้ก่อความไม่สงบทำร้ายฆ่าฟัน มีแม่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูซึ่งลูกหรือสามีเขาจะใช่ผู้ก่อความไม่สงบหรือเปล่าไม่ทราบแน่ แต่ว่าบางทีถูกเจ้าหน้าที่จับ ถูกยิงเสียชีวิต ถูกอุ้มหายไปอย่างน้อยเท่าที่ทางการยอมรับก็เกือบ ๒๐ คน ผมเคยคุยกับอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ว่าเราควรจะให้แม่เหล่านี้ได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยกัน เพราะถึงแม้ว่า
ความขัดแย้งทางการเมืองจะจัดให้คุณแม่เหล่านี้อยู่คนละฝ่าย แต่สิ่งที่พวกท่านประสบร่วมกันคือต่างก็สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักที่สุดไปด้วยกันทั้งคู่

ถ้าเรายังนึกถึงเมืองไทยที่มีที่ให้คนไทยพุทธ มีที่ให้คนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูอยู่ด้วยกันในประเทศเดียวกัน เราต้องนึกถึงสถานการณ์ที่เขากล่าวคำให้อภัยกันได้ มันเจ็บปวดมาก เมื่อคุณคิดถึงเรื่องที่ว่าคนที่คุณรักที่สุดได้สูญเสียชีวิตไปในความขัดแย้งทางการเมือง แต่เราอยู่กันเป็นชาติไม่ได้ถ้าเราไม่สามารถเอ่ยคำว่าให้อภัยทั้งสองฝ่าย ผมเกรงว่าในหลายปีหลัง คำ ๆ นี้เอ่ยยากมากทีเดียว ไม่เพียงเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งความขัดแย้งรุนแรงยังไม่จบ แต่ในพื้นที่ที่กว้างขึ้นของเมืองไทย คุณจะให้คนไทยต้องล้มตายเสียหายไปเท่าไร เพื่อที่เราจะอยู่กันได้โดยไม่ต้องฆ่ากัน? คุณจะให้คนไทยต้องร้องไห้อีกเท่าไร เพื่อที่เราจะรักษาบ้านเมืองนี้ไว้ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลาน แล้วเขาไม่ต้องลุกขึ้นมาฆ่ากัน? ดังนั้นแทนที่จะพูดถึงการนองเลือด มาพูดถึงสถานการณ์ความขัดแย้งที่เราจะทะเลาะกันอย่างไรโดยสันติ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องไปถึงจุดที่ใช้ความรุนแรงห้ำหั่นกันดีกว่า

๐ แต่สถานการณ์ตอนนี้ดูเหมือนไม่มีใครฟังใครแล้ว
๐ ใช่ มันไม่ฟัง แต่นี่ไม่ใช่หนแรกที่ไม่ฟังกัน ผมยังรู้สึกว่าช่วงที่น่ากลัวที่สุดคือ ตอนใกล้รัฐประหารเมื่อปี ๒๕๔๙ ตอนนั้นบรรยากาศตึงเครียดมาก พอรัฐประหารก็มีโอกาสนองเลือดจริง ๆ เพราะว่าถ้าทหารออกมารบกับทหารเมื่อไหร่ละก็เป็นอันเสร็จ แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่เขาไม่รบกัน หนที่สองตอนที่ นปก. เดินขบวนไปบ้านพักประธานองคมนตรี มันน่ากลัว เพราะว่าเขาเลือกตีตรงจุดที่ในแง่ความชอบธรรมสำคัญมาก แล้วคนที่ดูแลบ้านเมืองตอนนั้นก็กุมปืน และได้อำนาจมา ไม่ใช่จากการเลือกตั้ง แต่ด้วยรัฐประหาร โอกาสที่จะเกิดการนองเลือดมันมีได้ ผมรู้สึกว่าจังหวะที่น่ากลัวที่สุดคือตอนนั้น และมันได้ผ่านไปแล้ว แล้วคนที่ผ่านจุดนั้นไปแล้วก็น่าจะมีสติพอที่จะหลีกเลี่ยงมันในอนาคต ผมเลยหวังว่ามันจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก

แต่ผมยังรู้สึกว่า เราพูดถึงเรื่องนี้โดยไม่ค่อยรับผิดชอบนะ อย่าลืมว่าคนตายแล้วไม่ฟื้น และบรรดาผู้นำการต่อสู้ อย่างเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เอาเข้าจริงถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากให้มีคนตายแน่นอน ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่ยากมากที่จะควบคุมได้ แทนที่จะมีแต่ยกย่องสดุดีว่า วีรชนได้เสียสละชีวิตไปอย่างยิ่งใหญ่มีเกียรติ ผมรู้สึกว่าผู้นำที่รับผิดชอบต่อมวลชน มักเสียใจหลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นมากกว่า แล้วที่แย่กว่านั้นคือพอหลังเหตุการณ์แล้ว ประทานโทษ มันไม่ได้อย่างที่คุณคิด ผมคิดว่านี่คือบทเรียน

เราหวังว่าด้วยการเสียสละชีวิตผู้คนไปมากขนาดนี้ เราน่าจะได้สิ่งที่คาดหวังจากชัยชนะเต็มร้อยเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่เอาเข้าจริงไม่ถึงหรอก ได้ ๕๐ ก็บุญแล้ว แล้วถึงจุดหนึ่งก็ต้องมานั่งถามว่าที่ตายไปคุ้มไหม ตายไปเพื่ออะไร ผมรู้สึกว่าผู้นำที่คิดถึงเรื่องนี้น้อยไม่ค่อยรับผิดชอบเท่าไร ปลุกระดมคน เอาเลย ๆ ๆ โดยเฉพาะคนที่เคยผ่านเหตุการณ์ทำนองนี้มา เป็นไปได้อย่างไรที่จะไม่คิดเรื่องนี้ เห็นชีวิตคนราคาถูกขนาดนั้นเชียวหรือ?

๐ ในภาษาฝ่ายซ้ายจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมมีการสูญเสีย เราพยายามรักษาการสูญเสียน้อยที่สุด และต้องยอมรับการสูญเสียที่เกิดขึ้น
๐ ถ้าคิดแบบอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ก็คือเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ใช้ความรุนแรงหรือเปล่า? ทำไมเราไม่คิดถึงวิธีการต่อสู้ที่ไม่รุนแรงจะได้สูญเสียน้อยที่สุดเล่า?

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ขาดไม่ใช่เสียงข้างมาก แต่ขาดความชอบธรรม
๐ เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ควรจะแก้ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรแก้บางมาตรา อีกฝ่ายบอกว่าน่าจะแก้ทั้งหมดโดยการตั้ง สสร. ขึ้นมา มันจะถึงทางตันไหมครับถ้าฝ่ายรัฐบาลดึงดันจะแก้เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายของตัวเอง
๐ ผมคิดว่าถ้าหากฝ่ายรัฐบาล ด้วยพลังอำนาจเสียงข้างมากในสภาที่ชนะการเลือกตั้งมา ผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญบนเวทีถึงที่สุด ก็คงเป็นไปได้ที่จะแก้ เพียงแต่อย่าลืมว่ากระบวนการขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญยังไม่สิ้นสุดเพียงแค่นั้น..... ยิ่งกว่า นั้น คิดว่าในทางการเมือง สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่เสียงข้างมากในสภา หากคือความชอบธรรมในสายตาประชาชน ว่าการดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญอิงการมีส่วนร่วมแสดงความเห็นของประชาชน อิงเสียงสังคมแค่ไหนเพียงใด ถ้ามันเป็นการหักหาญน้ำใจของสังคม ดึงดันแก้ไปด้วยพลังของเสียงข้างมากในพื้นที่อำนาจของสภาเท่านั้น อีกไม่นานคงโดนแก้กลับคืน เชื่อผมสิ เพราะเสียงข้างมากในสภามันเปลี่ยนได้ มันสามารถชิฟต์ได้ และถ้ามันชิฟต์มันก็สามารถถูกแก้คืน ดังนั้นแทนที่จะคิดว่าแก้ได้หรือไม่ได้แค่นั้น ทำไมไม่ตั้งโจทย์เสียใหม่ว่าทำอย่างไรให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ฐานรองรับความชอบธรรม ได้เสียงสนับสนุนจากสังคมอย่างกว้างขวางที่สุด ไม่เฉพาะจากตัวแทนในสภาเท่านั้น

ถ้าตีโจทย์นี้แตก ไม่ว่าคุณจะทำเป็น สสร. ๓ หรือรูปแบบใด คุณก็จะเติมเต็มสิ่งที่ขาดตกบกพร่องไปทางการเมืองได้ เพราะสิ่งที่คุณขาดไม่ใช่เสียงข้างมากในสภา สิ่งที่คุณขาดคือความชอบธรรมและสนับสนุนจากผู้คนอย่างกว้างขวางในสังคม ถ้าทำอันนี้ได้ ไม่เพียงแต่จะแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จ มันยังจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญที่ตั้งอยู่บนการยอมรับของประชาชน แล้วมันจะมั่นคง. เพราะแม้อำนาจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเอาชนะในเกมได้ด้วยเสียงข้างมากในสภา แต่มันจะง่อนแง่นในแง่ความชอบธรรมในสังคม แล้วอะไรที่ง่อนแง่นในแง่ความชอบธรรมย่อมอยู่ไม่ยืด

รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ ในกระบวนการร่างทำให้มีผู้คนจากหลากหลายวงการเข้ามาร่วมกันร่างมากที่สุด เมื่อเทียบกับฉบับก่อน ๆ ทำให้ได้รับความชอบธรรมจากสังคมมาก ตอนนั้น ส.ส. ในสภาไม่อยากจะรับร่างด้วยซ้ำ แต่พอเสียงข้างมากของประชาชนในสังคมคอยกดดัน ในที่สุดจึงผ่าน แล้วก็อยู่ได้ตั้ง ๙ ปี ๑๐ ปี ดูเทียบกับบทเรียนหนนั้น สิ่งที่ท่านจะทำตอนนี้มันกลับตาลปัตรเลย ท่านจะโฟกัสเฉพาะเสียงข้างมากในสภา ท่านไม่แสวงหาการยอมรับสนับสนุนจากสังคม แล้วท่านคิดว่ามันจะอยู่ได้สักกี่ปี ถ้าเดินหน้าต่อไป ท่านก็จะได้รัฐธรรมนูญที่อาจจะผ่านเสียงข้างมากในสภา แต่ง่อนแง่ในแง่การยอมรับและความชอบธรรมของสังคมและประชาชน แล้วผมคิดว่าไม่จบหรอก ต่อให้เสียงข้างมากในสภาของพรรคพลังประชาชนกับพรรคร่วมรัฐบาล และส.ว.บางส่วน แก้มาตรา ๒๓๗ แก้มาตรา ๓๐๙ ได้ ผมพนันเลยว่า ๕ ปีข้างหน้าไม่จบเพราะมันขาดพร่องในแง่ความชอบธรรม ความชอบธรรมในสังคมไทยซับซ้อนกว่านั้นมาก

ความชอบธรรมจากเสียงข้างมากในสภา - ความชอบธรรมเชิงวัฒนธรรม
ความชอบธรรมส่วนหนึ่งมาจากเสียงข้างมากในสภา แต่มันมีความชอบธรรมแบบวัฒนธรรมอย่างอื่นในสังคมไทยดำรงอยู่ แล้วเราต้องหาทางอยู่กับความซับซ้อนของความชอบธรรมเหล่านี้ให้ได้ สังเกตนะครับว่า ความชอบธรรมที่ใช้เป็นฐานในการผลักดันแก้รัฐธรรมนูญแบบที่แนวร่วมพรรครัฐบาลทำตอนนี้ เป็นความชอบธรรมที่อิงการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมันไม่พอ สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาการใช้อำนาจร่วมกันของสังคมทั้งสังคม มันไม่มีความชอบธรรมแบบอื่นในสังคมที่อิงการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชนเป็นฐาน ฉะนั้นประกันได้เลยว่าต่อให้แก้สำเร็จมันก็จะถูกแก้กลับ และเอาเข้าจริงก็ยังไม่รู้แน่เลยว่าจะสำเร็จหรือเปล่าด้วยซ้ำ ดังนั้น แทนที่จะไปโฟกัสตรงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับกระดาษนั้น ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องของชนชั้นนำ โฟกัสของผมอยู่ตรงกระบวนการแก้ไขที่ชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม

สังคมแบ่งฝ่าย สังคมที่หาคนกลางยากขึ้น
๐ ดูเหมือนเวลานี้คนที่มีอาวุโสพอที่จะมาเป็นคนกลาง จัดการแก้ความขัดแย้งโดยที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ ณ ปัจจุบันนี้คงไม่มีใครยอมรับแล้วใช่ไหมครับ
๐ ผมคิดว่าหายากขึ้น ผมอยากจะบอกว่าเส้นทางความขัดแย้งที่ทั้งสองฝ่ายเลือกเดินใน ๒-๓ ปีที่ผ่านมา คือเส้นทางแบบลุยด้วยเสียงข้างมากกับเส้นทางแบบรัฐประหาร มันได้ทำลายต้นทุนทางการเมืองและวัฒนธรรมของสังคมไทยไปมากมาย เราตราหน้ากล่าวหา สวมหมวกใส่กันและกันหนักกว่าแต่ก่อนมาก พอใครพูดจาเสนอความคิดเห็นมา เราตัดสินก่อนว่าเขาอยู่ข้างไหนแล้ว ถ้าไม่ใช่ข้างเรา เราก็ไม่ฟังไม่ว่าเขาจะพูดอะไร มันตลกมากเลยนะครับ

อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการของคุณจอม เพชรประดับ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ เสนอความคิดของท่านเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญว่า ทำไมต้องแก้ทั้งฉบับ ท่านไม่เห็นด้วยกับมาตรา ๒๓๗ มาตรา ๓๐๙ ที่เป็นอยู่ตรงไหนอย่างไร แล้วก็มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพาดหัวข่าวว่าอาจารย์วรเจตน์มีธาตุแท้ป้อง "ระบอบแม้ว" สุดตัว..... คือไม่ได้เริ่มต้นว่าทัศนะนั้นมีเหตุผลข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างไร แต่ป้ายสีจัดค่ายให้เขาก่อน แล้วพอจัดค่ายเสร็จคุณก็เลิกฟัง ในความหมายนี้ไม่ใช่เฉพาะ "ผู้ใหญ่" นะครับ ผู้ไม่ใหญ่ก็โดนกันไปถ้วนหน้า วัฒนธรรมปรเภทสวมหมวก แบ่งค่ายให้แล้วไม่ฟังกันก็คือ วัฒนธรรมเตรียมพร้อมที่จะตีกัน เพราะก่อนที่คุณจะตีกันคุณต้องเกลียดเขาให้มากพอเสียก่อน จึงจะสามารถไปตีคนแปลกหน้าอย่างไม่ลังเลได้ การที่จะเกลียดคนแปลกหน้าที่คุณไม่รู้จักมาก่อนได้มากพอ คุณต้องมียี่ห้อไปสวมหัวเขาพอมองเขาเป็นยี่ห้อนั้นแล้ว คุณเกลียดเลย กระบวนการแบบนี้กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย

เปลี่ยนจากการแบ่งค่ายมาสู่การแบ่งประเด็น
สิ่งนี้ร้ายกาจกว่าการที่ว่ามีหรือไม่มี "ผู้ใหญ่" นี่คือสิ่งที่เราเดินมา แล้วทำให้การฟังกันและการหาทางเลือกทางออกจากการแบ่งขั้วยากขึ้น ผมอยากให้เลิกเสียทีวัฒนธรรมแบบนี้ หัดอดทนฟังกัน อย่าเริ่มต้นโดยการจับผู้คนไปอยู่ขั้วตรงข้าม สวมหมวกแล้วไม่ฟังกัน เพราะคุณกำลังปูพื้นไปสู่การตีกัน คุณอาจจะพบว่าถ้าคุณฟังดี ๆ เผลอ ๆ คุณอาจเห็นด้วยกับเขาก็ได้ แล้วคุณอาจจะตกใจ.... ทางที่ดีอย่าเริ่มต้นด้วยการแบ่งค่าย แต่เริ่มต้นโดยแบ่งประเด็น ในประเด็นนี้ใครเห็นด้วยกับคุณบ้าง ไม่ว่าเขาจะอยู่ข้างไหน ผมคิดว่าถ้าเราเปลี่ยนจากการแบ่งค่ายมาสู่การแบ่งประเด็น อาจจะทำให้การแบ่งข้างแบ่งฝ่ายทางการเมืองลดหย่อนลง

ถ้าเราตั้งโจทย์เสียใหม่ว่า มันไม่ใช่เรื่องของข้างทักษิณกับข้างไม่เอาทักษิณ แต่เป็นประเด็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาไหม และการมีปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สมควรไหมที่จะแก้ไข แล้วจะแก้ด้วยกระบวนการอย่างไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยให้มากที่สุด. ถ้าเราเริ่มแบบนี้จะเห็นประเด็นตามมามากมายเลย ตั้งแต่ความชอบธรรมในกระบวนการเริ่มต้น มาตราต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา มาตราจำนวนมากที่ไม่เป็นปัญหาและดีกว่าแต่ก่อน กระบวนการแบบไหนที่ทำให้การแก้นี้สามารถฟังความเห็นได้กว้าง เป็นที่ยอมรับได้กว้างที่สุด ใครเห็นด้วยกับอันนี้เป็นพวกผมหมด ไม่ว่าคุณจะนามสกุลชินวัตร หรือจะนามสกุลบุญยรัตกลิน ถ้าเราเริ่มแบบนี้ก็อาจจะทำให้การแยกขั้วแบ่งข้างมันลดทอนบรรเทาไป

๐ จริงๆ แล้วก็ยังมีพลังเงียบในสังคมไทยที่ยังไม่เลือกข้าง
๐ ผมคิดว่ามีคนจำนวนมากเบื่อเต็มทีแล้วล่ะ การแบ่งเป็นสองขั้วมันจะต้องอยู่ในกระบวนท่าที่ห้ำหั่น เกลียดชัง ไม่รับฟังฝ่ายตรงข้ามอย่างถึงที่สุด ไม่เมื่อยบ้างหรือ ไม่เบื่อบ้างหรือ น่าเบื่อฉิบหายเลย คุณไม่ทันอ้าปากเขาก็สรุปเรียบร้อยแล้วว่าคุณจะพูดอะไร มันหยุดการสร้างสรรค์ทางความคิดมากเลยนะ ทำไมเราไม่ตั้งสติแล้วนับหนึ่งใหม่ ทำไมเราต้องเป็นขั้วนั้นขั้วนี้เป็นค่ายนั้นค่ายนี้ เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เริ่มจากคนเดียวที่ไม่เอาข้างใคร แล้วประเด็นนั้นใครร่วมด้วยเอาเข้ามาให้มากที่สุด มันก็ไม่ง่ายนะครับ ผมคิดว่า มันเริ่มมีกลุ่มคนในสังคมที่เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนทั้งสองฝ่ายมันพาไปสู่ทางตันยิ่งขึ้น ผมหวังว่าผู้มีสติดีทั้งหลายในสังคมไทยจะไม่ปล่อยให้ความขัดแย้งมันกลายเป็นสองขั้ว แล้วเสนอทางเลือกอื่นซึ่งถึงแม้สองฝ่ายไม่ยอมรับเราก็ต้องเสนอ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่สังคม แล้วกดดันผลักดันให้มาทะเลาะกันในรูปการที่มีทางออกมีจุดจบอย่างสันติวิธี สำเร็จหรือไม่ไม่รู้ ก็อยู่ที่ความสามารถของสังคมไทย เพราะฉะนั้นอย่าเริ่มต้นด้วยการตราหน้าด่ากราดก็แล้วกัน ไม่งั้นมันก็ไม่รู้จะคุยกันยังไง เริ่มต้นโดยเหตุผลแล้วก็คุยกัน

๐ แต่ความเกลียดชังที่เกิดขึ้นขณะนี้น่ากลัวว่าจะคุมไม่อยู่มากกว่า
๐ มันปลุกขึ้นมามากแล้วไม่รับผิดชอบ ในรอบ ๒-๓ ปีที่ผ่านมาทุกฝ่ายปลุก ปลุกแบบคุณเกลียดเขาจนกระทั่งเขาไม่เป็นมนุษย์ แล้วก็ทำให้มีคนรู้สึกว่าถ้าคน ๆ นี้หายไปจากโลกได้ ทุกอย่างก็จบ ซึ่งไม่จริงทั้งคู่เลย ให้ผมเดานะ คนสองกลุ่มที่ร้องด่าขว้างปาของใส่กันแถวธรรมศาสตร์ สนามหลวง เพราะความขัดแย้งทางการเมือง วันรุ่งขึ้นอาจจะไปนั่งรถเมล์อยู่เบาะข้าง ๆ กันแล้วไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร ทั้งที่เมื่อวานนี้มันอยากจะเหยียบอยากจะฆ่ากัน คือเอาล่ะ มันมีพลังงานทางการเมืองจำนวนหนึ่ง พลังงานทางการเมืองนี้อาจจะเป็นพลังงานที่เกิดจากอุดมการณ์ก็ได้ ด้วยความเข้าใจประชาธิปไตยแบบที่ตัวเองคิด อาจจะเป็นพลังงานการเมืองที่เกิดจากความรักชอบผู้นำก็ได้ อาจจะเป็นพลังงานการเมืองที่เกิดจากชนชั้น เราเป็นคนจน เราเป็นคนชนบท เราเป็นคนชั้นกลาง อะไรก็แล้วแต่ ทำอย่างไรที่จะชักนำให้พลังงานการเมืองซึ่งเราปฏิเสธว่าไม่มีไม่ได้ แล้วปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่าเขาจะต้องมาขัดแย้งกัน จะชักนำยังไงให้ความขัดแย้งนี้เป็นไปอย่างศิวิไลซ์และไม่นองเลือด ผมคิดว่าตอนนี้เราปลุกพลังงานแบบนี้ขึ้นมามากแล้ว และเขาอยากชนะ อยากชนะโดยคิดว่าถ้าชนะแล้วอีกฝ่ายจะยอมแพ้ หรือดีกว่านั้นหายสาบสูญไปจากโลกนี้เลย ซึ่งมันไม่จริง ไม่จริงทั้งคู่ ชนะแล้วเขาก็อยู่ ต่อให้ชนะแล้วเขาก็ยังกลับมา หรือกลับกันฝ่ายนั้นชนะฝ่ายนี้ก็ยังอยู่ แล้วที่เขาอยู่เพราะว่าสังคมไทยมันเปลี่ยน

สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ความขัดแย้งทางชนชั้น
สังคมไทยมันได้ก่อตัวแปลกแยกกัน แล้วมันเกิดตัวแทนทางการเมืองของความแตกต่างแปลกแยกนั้นขึ้นมาแล้ว ถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะทะเลาะกันอย่างสันติ เราก็ฆ่ากันเท่านั้นเอง ผมยังรู้สึกว่าลึก ๆ แล้วสังคมไทยเป็นสังคมที่ปฏิเสธความขัดแย้ง เราไม่อยากให้ขัดแย้งกัน เราอยากจะรักสงบ เราพูดถึงเรื่องความรัก สามัคคี ความสมานฉันท์ แต่ผมคิดว่าจริง ๆ แล้วความแตกต่างทางสังคมเศรษฐกิจ ความแตกต่างทางกลุ่มก้อนทางชนชั้นมันมากขึ้น และเพราะเหตุนั้นมันก็เลยไปแสดงออกในรูปการนั้น

บางทีผมยังรู้สึกว่าเรื่องเอา-ไม่เอาทักษิณมันเป็นเงาของความขัดแย้งทางชนชั้น ของการแบ่งทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมลึก ๆ ระหว่างคนจนคนชายขอบ คนชนบท กับคนชั้นกลางในเมือง มันก็เลยไปแสดงออกในรูปของเอาทักษิณ-ไม่เอาทักษิณ ฝากความหวังทั้งหมดว่าโดยที่บุคคลคนนี้กลับเมืองไทยได้ ชนะคดี แล้วเขาได้กลับมาเป็นนายกฯ ชีวิตเราก็คงจะดีขึ้น ลึก ๆ นี่เป็นความขัดแย้งทางชนชั้น แต่เป็นความขัดแย้งที่ผมรู้สึกว่ามันถูกเบี่ยงเบน มันถูกสะท้อนหักเหไป แล้วไปแสดงออกรวมศูนย์ที่บุคคลคนนี้

ซึ่งมันตลกดีเพราะว่ามันไม่มีกำลังต่อรองที่เข้มแข็ง จริง ๆ ระหว่างผู้สนับสนุนเขากับผู้นำ จริง ๆ แล้วกลุ่มผู้สนับสนุนเขาควรจะมีกำลังต่อรอง ไม่ใช่ว่าเขาจะพาไปไหนก็ได้ แต่ความสัมพันธ์กลายเป็นว่า ผู้นำเดินนโยบายประชานิยมดึงพวกเขาได้ จะพาไปไหนก็เอา อันนี้มันจึงไม่เชิงเป็นรูปการปกติของความขัดแย้งและการต่อสู้ทางชนชั้น แต่เป็นรูปการในลักษณะที่มันสะท้อนหักเห ตกกระทบแล้วบ่ายเบนไป แล้วตัวรองรับแรงกระทบแล้วบ่ายเบนก็คือประชานิยม ดังนั้นจะแก้มันยังไง ไม่ใช่แก้ที่อาการ ไม่ใช่แก้ตรงเอาคุณทักษิณเป็นนายกฯ แล้วคนถึงจะสงบ คุณเข้าใจผิด ต้องแก้ที่โครงสร้าง คือ คุณต้องสร้างระบบสังคมการเมืองที่คนจนคนชายขอบเขายืนอยู่ได้และมั่นคง จนกระทั่งประชานิยมเป็นแค่ตัวเลือกหนึ่ง

นโยบายทางการเมือง: นโยบายประชานิยม นโยบายรัฐสวัสดิการ
๐ ในขณะที่ฝ่ายที่ไม่เอาคุณทักษิณก็มักจะพูดเสมอว่า ไม่ว่าเลือกตั้งกี่ครั้งพรรคพลังประชาชนหรือพรรคไทยรักไทยเดิม ก็สามารถจะกลับเข้ามาได้เพราะว่านโยบายประชานิยมที่ประสบความสำเร็จ หรือการซื้อเสียงซึ่งส่งผลแค่ไหนเราก็ไม่แน่ใจ เพราะฉะนั้นคนชั้นกลางในสังคมไทยจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เอาคุณทักษิณ ก็จะรู้สึกว่ายังไงก็แพ้ ดังนั้นก็ต้องสู้แบบนี้ สู้กับทักษิณในรูปแบบวิธีการต่างๆ เขาเชื่อว่ายังไงก็ตาม ทักษิณจะต้องกลับมาตลอดเวลา และเขาก็ยอมรับไม่ได้
๐ ผมคิดว่ามันคงเป็นส่วนผสมของปัจจัยที่ว่ามา แต่เมื่อเป็นเช่นนั้น เราควรมีท่าทีอย่างไร? ผมคิดว่าอันที่หนึ่งคือสู้เถอะครับ โดยเฉพาะเมื่อคุณเป็นเสียงข้างน้อย การอยู่ใต้รัฐบาลเสียงข้างมากที่คุณไม่ชอบ มันก็มีส่วนดีเหมือนกันที่คนชั้นกลางจะได้เรียนรู้ที่จะเป็นเสียงข้างน้อย ก็ต้องคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์เสียงข้างมากที่คุณไม่เห็นด้วย เพราะคุณมีสิทธิเสรีภาพ แล้วคุณจะต้องพยายามเปลี่ยนใจเสียงข้างมากให้หันมาเห็นด้วยกับคุณให้ได้ ถ้าเสียงข้างน้อยในสังคมรักจะเล่นเกมประชาธิปไตย ที่มีต้นทุนชีวิต ต้นทุนเลือดเนื้อน้อยที่สุด จะต้องใช้สติปัญญาสูง และต้องใช้ความอดทนอยู่กับเสียงข้างมากที่เราไม่ชอบ ออกความเห็นที่แตกต่างขัดแย้งวิพากษ์วิจารณ์ไปเรื่อย ๆ เพื่อเปลี่ยนใจเสียงข้างมาก

ในการเปลี่ยนใจเสียงข้างมาก ข้อสำคัญที่สุดคือสามารถเสนอหลักนโยบายที่ช่วงชิงชนะใจเสียงข้างมาก รับใช้ผลประโยชน์เขาได้ดีกว่านโยบายของรัฐบาล ถ้าทำได้แบบนั้นคำถามก็จะเปลี่ยนจากว่าทำอย่างไรในเมื่อเลือกกี่ครั้งเขาก็ชนะ มาเป็นว่าทำไมเราไม่สามารถเปลี่ยนใจเสียงข้างมากได้? เป็นเพราะเขาซื้อเสียงอย่างเดียวหรือ คนอื่นก็ซื้อเสียงเป็นนะครับ หรือเป็นเพราะนโยบาย เราไม่สามารถคิดนโยบายที่ดีกว่าประชานิยมได้แล้วหรือ ถ้าเสียงข้างน้อยในสังคมไม่สามารถคิดนโยบายที่ดีกว่าประชานิยมได้ก็แพ้สิ แต่จริงหรือเปล่าว่าจินตนาการทางการเมืองในโลกมันจบสูงสุดแค่ประชานิยม? ผมคิดว่าไม่จริง

๐ นโยบายที่ว่านี้คืออะไรครับ
๐ เช่นหลักนโยบายเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งไม่ได้ให้เพียงเฉพาะคนที่โหวตให้คุณ แต่ว่าให้กับทุกคน คนจนก็ได้ คนชั้นกลางก็ได้ คนรวยก็ได้ คนทุกคนที่เป็นคนไทยได้อย่างเสมอภาคกัน ให้หลักประกันขั้นพื้นฐานกับชีวิต ว่าคนทุกคนที่เกิดมาบนแผ่นดินนี้ จะมีชีวิตที่ดีตามสมควร ขั้นต่ำสุดจะต้องไม่แย่ไปกว่านี้ โดยรัฐจะเป็นผู้เข้ามาโอบอุ้มคุ้มครอง มันมีนโยบายแบบนี้อยู่ เพียงแต่ว่าต้องเก็บภาษีมาก โดยเฉพาะภาษีของคนที่ร่ำรวยในอัตราและประเภทที่สูงกว่าปัจจุบันที่ประเทศไทยเก็บ แต่ถ้าคุณเก็บในอัตรานั้น
ประเภทนั้น เราจะมีทรัพยากรทางงบประมาณมากพอที่จะประกันสุขภาพ การศึกษา สวัสดิการขั้นพื้นฐานให้แก่คนไทยทุกคน ถ้าทำแบบนั้นมันก็อาจจะชิงใจคนข้างมากได้ดีกว่าประชานิยม แทนที่จะเป็นการกระจายให้เฉพาะบางหมู่บ้านบางตำบล

ที่ผ่านมา กลุ่มคนจนคนชายขอบก็ได้ประโยชน์จากนโยบายประเภท ๓๐ บาทรักษาทุกโรค หรือว่านโยบายสินเชื่อ กองทุนหมู่บ้าน เพียงแต่ว่ากลุ่มคนที่นโยบายของคุณทักษิณละเลยตลอดมาคือกลุ่มแรงงานในโรงงาน ซึ่งปัญหาหลักในระยะที่ผ่านมาของพวกเขาคือเรื่องการรวมตัวเป็นสหภาพเพื่อต่อรองค่าจ้าง และเงื่อนไขการทำงานกับนายจ้าง ผมคิดว่านี่เป็นปัญหาใหญ่อันหนึ่ง เราไม่มีนโยบายที่เรียกว่า social democracy ซึ่งแน่นอนด้านหนึ่งสอดคล้องไปกับเรื่องรัฐสวัสดิการ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือค้ำประกันสิทธิของคนงานในการรวมตัวจัดตั้งต่อรองกับนายจ้าง ให้เขาสามารถต่อรองกันอย่างเป็นระบบในเรื่องค่าจ้าง เงื่อนไขการทำงานและสวัสดิการได้

นโยบายสิ่งแวดล้อม กับอุปมาการนั่งรถเมล์ลงเหว
ถ้าแบบนั้นแล้ว กลุ่มคนที่มีเป็นกอบเป็นกำในสังคมแต่ว่ายังไม่ได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน ในแง่การต่อสู้ต่อรองเรื่องสิทธิประโยชน์ เขาจะได้เข้ามาร่วมผลักดันนโยบายด้วย แล้วมันก็ยังมีนโยบายแบบอื่นอยู่นะครับ เรื่องสิ่งแวดล้อมหรืออะไรต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อกังวลอยู่เหมือนกัน เพราะผู้รับผลกระทบจะกว้างขวาง ตอนนี้เราก็พูดกันมากว่าชาวนาไทยสบายดีเพราะว่าราคาข้าวแพง แต่ถ้าเราเชื่อการคาดการณ์เรื่องโลกร้อน เป็นไปได้ว่าอีกสิบกว่าปีข้างหน้าน้ำจะท่วมมากในบริเวณพื้นที่ปลูกข้าวในภาคกลาง แล้วเราจะปลูกข้าวยังไง เพราะฉะนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมมันจะเข้ามากระทบถึงบ้านเราแล้ว มันมีความเชื่องโยงกันในเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการผลิตอาหาร เรื่องเกษตรเรื่องพลังงาน ในแง่มุมนี้ผมไม่เห็นมีนโยบายของพรรคการเมืองใดที่พูดเรื่องนี้จริง ๆ

ผมพูดตรง ๆ นะครับ แม้แต่นโยบายที่ดีที่สุดของคุณทักษิณ ก็เดินไปในเส้นทางเก่าอย่างฉลาดและฉวยใช้ประโยชน์ แต่ในที่สุดก็จะเดินไปเจอทางตัน เมื่อผลกระทบมันเกิดไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว แต่เป็นการกระทบโดยรวม มันเหมือนกับรถเมล์ทั้งคันกำลังไหลเลื่อนใกล้ขอบเหวเข้าไปทุกที พร้อมกับภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภาวะโลกร้อน นโยบายของคุณทักษิณก็คือการแย่งเก้าอี้ที่นั่งสบายที่สุดบนรถเมล์คันนั้นมาให้ประเทศไทยนั่ง แต่เราก็ลงเหวอยู่ดี (หัวเราะ) ซึ่งถ้าเราลงเหวมันก็ตายทั้งคันรถ เราอาจจะตายคาเก้าอี้ คนอื่นตายในขณะที่ยืนโหน แต่มันน่าดีใจไหม ผมไม่เห็นว่ามันต่างกันเท่าไหร่ แล้วถ้าเราคิดถึงเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจัง จะเห็นถึงความเป็นทางตันและไม่สมเหตุสมผลของนโยบาย ไม่เฉพาะของคุณทักษิณนะครับ แต่รวมทั้งนโยบายที่เทคโนแครตไทยเดินไปด้วย เรื่องนี้ใหญ่มาก แล้วผมเกรงว่าความขัดแย้งที่ทะเลาะกันแล้วบอกว่าจะนองเลือด ยังไม่ได้เริ่มคิดเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำไป

กับวิกฤตโลกที่เปลี่ยนแปลงไปแบบนี้ ซึ่งผลกระทบมากในแง่ความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ยังไม่ได้เริ่มเงยหน้ามามองกันเลย คิดแต่เรื่องยุบพรรค จะฟ้องหรือไม่ฟ้อง จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่แก้ไข เก้าอี้ตัวนี้ขอฉันนั่ง ฉันไม่อยากโหน ฉันอยากขอสิทธิ์กลับไปนั่งเก้าอี้ตัวนั้น ทำไมต้องให้ฉันโหนรถเมล์ด้วย มัวแต่ทะเลาะกันโดยลืมไปว่ารถทั้งคันมันกำลังจะลงเหวแล้วพี่ ! แล้วก็จะนองเลือดกันเพราะแย่งเก้าอี้ในรถเมล์ที่กำลังจะลงเหวบ้านี่ละนะ (หัวเราะ)

๐ เรื่องสิ่งแวดล้อมกับนักการเมืองไทยเป็นอะไรที่ไม่เคยมาเจอกันตั้งนานแล้วในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เพราะนักการเมืองไทยส่วนใหญ่มองเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว
๐ ใช่ครับ ผมคิดว่าไม่เฉพาะนักการเมืองเท่านั้น แต่รวมทั้งเทคโนแครตไทยด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังทางความคิดมากในระบบราชการ ซึ่งเป็นคนปูพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาก็คำนึงถึงเรื่องนี้น้อยมาก ในทางตรงข้ามคนที่คิดถึงเรื่องนี้มาก และมีบทบาทในเรื่องนี้มากคือกลุ่มคนที่เดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าว ก็คือกลุ่มชาวบ้านตัวเล็ก ๆ ที่จัดตั้งในที่ต่าง ๆ และพยายามจะรักษาฐานทรัพยากร ผมรู้สึกว่าในระยะยาวแล้ว ความหวังไม่ได้อยู่ที่กลุ่มคนที่ฮึ่ม ๆ จะแก้ไม่แก้รัฐธรรมนูญ ในระยะยาวการเมืองที่มีความหมายที่สุดกำลังดำเนินไปในระดับรากหญ้า ดำเนินไปในระดับคนตัวเล็กตัวน้อยที่กำลังต่อสู้ในประเด็นที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ ต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาฐานทรัพยากร ในขณะที่เรายังไม่ได้เริ่มคิดเรื่องนี้เลย

๐ การเมืองไทยทุกวันนี้ อาจจะไม่ทันกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก อาจารย์มองปัญหาระบอบการเมืองในโลกทุกวันนี้กับวิกฤตการณ์โลกร้อนยังไงครับ
๐ ผมสงสัยอย่างจริงจังว่า ประชาธิปไตยในฐานะโหมดของการปกครองในระดับรัฐชาติอย่างทุกวันนี้มันจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ยังไง ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ครับ ประชาธิปไตยตัดสินด้วยเสียงข้างมาก คนส่วนมากในโลกมันถูกผูกเข้าไปในวิถีทางพัฒนาหลัก เป็นวิถีการพัฒนาตลาดเสรี-บริโภคนิยมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสูงมาก ใช้น้ำมันมาก ใช้ถ่านหินมาก มันมัดตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้นแล้ว ในกระบวนการมัดตัวเองเข้าไปแบบนี้ ถ้าให้เขาโหวตว่าเขาจะเอาการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือใช้ไฟฟ้าน้อยลง เขาจะโหวตเอาการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นหรือใช้เชื้อเพลิงน้อยลง เขาจะยอมทำให้ตัวเองลำบากขึ้นทำไม บางทีผมคิดว่าเอาเข้าจริงประชาธิปไตย อาจจะเป็นระบอบการเมืองที่พูดกันถึงที่สุดแล้วในระดับรัฐชาติไม่สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

บางทีเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก มันต้องการการจัดตั้งทางการเมืองแบบอื่น อาจจะเป็นแบบที่เหนือกว่าระดับรัฐชาติไปหรือต่ำกว่าระดับรัฐชาติลงมาหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วการจัดตั้งแบบนั้นไม่แน่ว่าจะต้องเป็นแบบประชาธิปไตย แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นเผด็จการ แต่ผมคิดว่าเราต้องคิดถึงเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจังแล้ว เพราะว่าความเป็นจริงของโลกวันนี้เราถูกดูดเข้าไปในวิถีพัฒนาแบบนี้ แล้วเรามีผลประโยชน์ได้เสียในวิถีพัฒนาแบบนี้ แล้ววิถีพัฒนาแนวทางดังกล่าว มันกำลังดึงโลกไปสู่ปัญหาหายนะทางสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ ถามว่าเสียงข้างมากจะโหวตไม่เอามันไหม ในเมื่อมีผลประโยชน์ได้เสียผูกพันในนั้นมาก แล้วมันมีมนต์ขลังมาก ในแง่สะกดคนที่ถึงแม้เขาจะไม่ได้ผลประโยชน์จากระบอบนี้เท่าไร แต่เขาเห็นคนอื่นได้แล้วเขาอยากได้บ้าง

๐ เพราะจริงๆ แล้วประชาธิปไตยมันเป็นเรื่องของการต่อรองผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ
๐ ซึ่งบางทีการคิดเรื่องนี้มันเรียกร้องการคำนึงถึงผลประโยชน์ที่เลยจากระดับกลุ่ม ต้องนึกถึงผลประโยชน์ในขอบเขตที่ ปกติเราไม่ค่อยได้เคยคิดมาก่อน คือใหญ่กว่ารัฐชาติ ในระดับขอบเขตที่เรียกว่ามนุษยชาติ จริง ๆ เรายังต้องคิดเลยไปถึงคนรุ่นถัดไปด้วย ซึ่งเราก็ต้องมานั่งบาลานซ์ว่าผลประโยชน์ของคนอื่นที่เราไม่รู้จักเลย ๖,๐๐๐ กว่าล้านคนในโลกนี้ ผลประโยชน์ของคนรุ่นถัดไปที่เราไม่เคยเห็นหน้าค่าตามาก่อน แล้วไม่ใช่เฉพาะของคนไทยด้วย เอามาชั่งวัดกับผลประโยชน์ของคนไทยเราปัจจุบัน เราจะให้น้ำหนักกับอะไร ในกรอบประชาธิปไตยมันยากมากที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนแปลกหน้าเหล่านั้น เราก็มักจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของเราไว้ก่อน

ตอนนี้เราอยู่ในโลกที่ประชาธิปไตยมีความชอบธรรมเหมือนกับเป็นศาสนาใหม่ทางการเมือง แต่ผมคิดว่ามันเริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่ามันมีปัญหาจริง ๆ ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าเผด็จการจะดีกว่าประชาธิปไตยในการแก้ปัญหาเหล่านี้ จีนทุกวันนี้ก็เพิ่งติดอันดับประเทศที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอันดับหนึ่งของโลกแซงหน้าอเมริกา คือเราอยู่ในระบอบการเมืองที่ไม่ว่าประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ล้วนไม่ได้ถูกออกแบบมาให้แก้ไขปัญหาโลกร้อน แต่ออกแบบมาเพื่อผลประโยชน์ของประเทศในระดับรัฐชาติจริง ๆ

ตัวอย่างรัฐสวัสดิการ ยุโรปเหนือ และอังกฤษ
๐ กลับไปเรื่องรัฐสวัสดิการ มีประเทศไหนทำแล้วประสบความสำเร็จไหมครับ แล้วในไทยเองมีแนวโน้มจะเริ่มต้นนโยบายรัฐสวัสดิการได้ไหม
๐ เท่าที่เห็นบางประเทศทำกันขึ้นมานี้ บางทีมันต้องผ่านเงื่อนไข ไม่สงครามภายนอกก็การต่อสู้ทางชนชั้นภายในอย่างเข้มข้น ตอนที่มันเกิดขึ้นในประเทศแถบยุโรปเหนือ ก็เพราะว่าขบวนการแรงงานเข้มแข็ง ต่อสู้จนกระทั่งในที่สุดนายทุนบอกว่า ระหว่างให้พวกลื้อนัดหยุดงานประท้วงอั๊วทุกวัน กับสร้างระบบใหม่ที่ดูแลพวกลื้อแล้วอั๊วยังทำกำไรได้ด้วย เอาแบบหลังดีกว่า มันผ่านการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างเข้มข้นจนถึงจุดหนึ่งก็เอาแบบนี้ดีกว่า หรือในกรณีอังกฤษคือผ่านสงครามโลกครั้งที่สองมา เวลาไปรบ
ในสงครามคนส่วนใหญ่ที่ไปรบคือคนจน เขารู้สึกว่าเขาเสียสละไปขนาดนั้นแล้ว ดังนั้นเขาอยากจะได้ประเทศ อยากจะได้สังคมซึ่งดูแลเขา ในจังหวะนั้นพอสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลของเชอร์ชิลที่ทำสงครามโลกชนะกลับแพ้เลือกตั้ง พรรคเลเบอร์เป็นฝ่ายเลือกตั้งชนะ แล้วก็ผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการเข้ามาได้ คือสังคมมันต้องผ่านความเจ็บปวด การฝ่าฟันร่วมกันบางอย่างในสังคมแล้วเราตัดสินใจด้วยกัน

ตอนนี้เราเห็นปัญหาว่า ประชานิยมมันนำไปสู่โจทย์ทางการเมืองยังไง เรารู้สึกว่าเราอยากจะเอาเรื่องรัฐสวัสดิการมาแก้โจทย์อันนั้น ซึ่งมันอาจจะไม่ง่าย เพราะในกระบวนการนั้นมันเรียกร้องให้ชนชั้นที่ได้เปรียบในสังคมยอมจ่ายภาษีมาก ยอมแบ่งความร่ำรวยของเขาเพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่ขึ้นโดยรวม แทนที่จะอยู่ในสังคมที่ไม่มั่นคง ไม่น่าอยู่เพราะปัญหาความยากจน ความไม่เสมอภาค อาชญากรรม ศีลธรรมเสื่อมทราม ฯลฯ ถึงแม้ตัวเขาเองจะอยู่สบายได้ แต่เอาเข้าจริงมันจะมั่นคงไหม สุขสงบเพียงใด การปรับเปลี่ยนนโยบายภาษีอันนั้นผมคิดว่ายังไม่มี ในแง่กลับกันมันก็มีปัจจัยที่เป็นคุณเหมือนกันนะครับ คือเมืองไทยเราก็เป็นสังคมที่จะมากจะน้อยมันมีวัฒนธรรม ธรรมเนียมประเพณีแบบพุทธ แบบชุมชนที่ให้คุณค่าการเอื้อเฟื้อเอื้ออาทรต่อกัน ที่เห็นคนลำบากเดือดร้อนแล้ว เรารู้สึกว่าเราอยากช่วยเหลือ สองอย่างนี้จะประสานกันเข้าอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ผมยังคิดไม่ได้ตลอด แต่ปัญหาต่อไปมันน่ากลัว เพราะว่าการไม่สามารถยังชีพอยู่ได้ต่อไปข้างหน้า มันจะเป็นปัญหาในเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ

สังคมที่ปราศจากตาข่ายทางสังคม และความรุนแรง
ในการประชุมเวิลด์แบงก์ที่เพิ่งผ่านมา สิ่งที่น่ากลัวของวิกฤตอาหารคือความอดอยากในปัจจุบันมันเป็นเรื่องของคนจนในเมืองที่อดอยาก ไม่ใช่คนชนบทอดอยาก มันถึงได้ปะทุระเบิดที่เมืองต่าง ๆ อย่างปอร์-โต-แปรงซ์ในไฮติ, ไคโรในอียิปต์, เพราะมันเป็นปัญหาคนจนในเมือง คนมันจุมปุ๊กรวมศูนย์อยู่กันหนาแน่นในเมืองแล้วอด อดไม่ใช่เพราะไม่มีข้าว ข้าวมีแต่มันแพง กำลังซื้อไม่ถึง มันก็ระเบิด แล้วมันระเบิดเพราะอะไร ง่ายนิดเดียว คุณไม่มีอะไรรองรับเลย คำว่ารัฐสวัสดิการคือตาข่ายรองรับตรงนั้น คุณได้หลักประกันว่า ไม่ว่าใครในสังคมนี้ต้องไม่อด หิวโหยต้องได้กิน ป่วยไข้ต้องได้รักษา อยากเรียนหนังสือต้องได้เรียน สังเกตนะครับเมืองที่เกิดปัญหาเหล่านี้เป็นเมืองในสังคมที่ไม่มีตาข่ายรองรับ

ผมคิดว่าในเมืองไทยมันมีชิ้นส่วนบางอย่างประกอบกันเข้ามา มันเริ่มมีนโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรค ซึ่งตอนนี้ไม่ต้องมีสักบาทก็ได้ มันคือขั้นเริ่มต้น แต่มันมีขอบเขตของมัน งบประมาณที่จะมาทุ่มเทให้ก็มีจำกัด ถ้าจะเอาจริงเรื่องนี้ต้องใช้การทุ่มเทและการยอมรับกันในระดับสังคม อย่านิ่งนอนใจนะครับว่าเมืองไทยเรามีข้าวมากมาย แล้วเราจะไม่มีจลาจลเรื่องอาหาร ประเด็นไม่ใช่ประเทศไม่มีข้าว ประเด็นคือคนจนเมืองไม่มีกำลังซื้อ

เส้นทางสายโลกาภิวัตน์ และอุบัติการที่คาดไม่ถึง
๐ ชนชั้นกลางในสังคมไทยอาจต้องยอมจ่ายมากกว่านี้ แต่เพียงแค่มาตรการปฏิรูปภาษีที่ดิน ทั้งนายทุนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ก็ยังไม่มีใครยอมเลย
๐ ผมยังรู้สึกว่ามันเริ่มเห็นนะว่า เรามาถึงทางที่มันจะตัน เพราะเราเลือกเดินเส้นทางเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ เราจึงเริ่มรับนโยบายแบบประชานิยมหรือสวัสดิการเข้ามา เราผลาญทรัพยากรของเรามากขึ้น มีคนถูกช่วงชิงทรัพยากรเหล่านี้มากขึ้น เสร็จแล้วก็มีกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาดำเนินนโยบายประชานิยมแล้วดึงใจคนเหล่านี้ไป ทำให้ชนะเลือกตั้งและได้อำนาจรัฐ ส่งผลให้คนจำนวนหนึ่งไม่พอใจ แต่แล้วคุณเองก็ไม่อาจจะหยุดยั้งสิ่งเหล่านั้นได้ ประทานโทษทีเถอะ กระบวนการทั้งหมดนี้มันมาจากคุณเดินเส้นทางโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ ดังนั้นถ้าคุณไม่ยอมเลิกเดิน ไม่อยากจะปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจแบบถึงรากถึงโคน คุณก็ต้องคิดหามาตรการที่จะป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ผมคิดว่าตอนที่ชนชั้นนำไทยเลือกเดินเส้นทางโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่

หลังจากพ.ศ. ๒๕๓๕ มีสองเรื่องที่เขาคาดไม่ถึง คือหนึ่ง วิกฤตเศรษฐกิจ ๒๕๔๐ เขาคิดว่าเขาจะรวยขึ้นเรื่อย ๆ เขานึกไม่ถึงเลยว่าจะเจ๊งขนานใหญ่แบบไม่เคยเจ๊งมาก่อน สอง เขาไม่คิดว่าจะเจอทักษิณ (หัวเราะ) ระบอบทักษิณก็เกิดขึ้นมาจากเหตุเดียวกันนั้น. เขารวยขึ้นมาจากกระบวนการอันนั้น แล้วเขาชิงเสียงข้างมากของคนจนที่จนเพราะคุณเดินเส้นทางนั้นเหมือนกัน กลายเป็นกลุ่มพลังแนวร่วมของระบอบทักษิณในสังคมไทยที่คุณยังเปลี่ยนพวกเขาไม่ได้ ฉะนั้นพรรคของทักษิณลงเลือกตั้งทีไร แน่นอนก็มีคนที่โหวตไม่เอาเขาประมาณ ๑๐ กว่าล้านเสียง แต่ว่าก็มีคนมากพอที่โหวตเอาเขาจนเลือกตั้งเมื่อไหร่เขาก็จะได้เสียงข้างมาก แล้วเสียงข้างมากพวกนั้นมาจากไหน พวกเขาก็มาจากกระบวนการพัฒนาที่คุณเริ่มเองนั่นแหละ ดังนั้นถ้าคุณไม่อยากให้เป็นเช่นนี้ คุณอยากจะเปลี่ยนผลลัพธ์ทางการเมืองที่คาดไม่ถึงก็ต้องคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ ต้องแงะง้างห่วงเชื่อมนั้น ต้องแย่งแฟนเขา ด้วยนโยบายที่รองรับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ได้มากกว่าดีกว่า ถ้าคุณไม่คิดอันนี้แล้วมัวแต่บ่นว่าคุณไม่ต้องการรัฐบาลอย่างทักษิณ ทว่าพอถึงเรื่องจะต้องจ่ายภาษีมากขึ้นเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการมั่งคุณก็ไม่ยอม มันก็คงเหลวเปล่า ถ้าคุณไม่ต้องการลงเอยทางการเมืองแบบนั้น คุณต้องยอมแลกเปลี่ยน

rule of law, limited government, unlimited government
การเมืองที่เสรีนิยมกับประชาธิปไตยมันแยกกัน

ผมคิดว่าเราอยู่ในโลกการเมืองที่เสรีนิยมกับประชาธิปไตยมันแยกกัน มันแยกกันก็เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของเสรีนิยมใหม่ มันทำให้พลังการเมืองในสังคมฉีกออก คนจนรอผู้นำประชานิยมจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ส่วนคนชั้นกลางเอาเสรีนิยม เอาสิทธิเสรีภาพ มันเริ่มฉีกออกจากกันมากขึ้น มันไม่มีอะไรหรอกที่จะมาขวางเสียงข้างมากได้ ถ้าเราไม่อยู่ในกรอบของ the rule of law the rule of law ก็คืออำนาจรัฐบาลมีจำกัด บางอย่างรัฐบาลทำได้บางอย่างทำไม่ได้ แล้วที่รัฐบาลทำบางอย่างไม่ได้ก็เพราะบุคคลพลเมืองมีสิทธิเสรีภาพที่รัฐบาลก้าวล่วงไม่ได้ กฎหมายคือเส้นคั่นแบ่งเขตระหว่างอำนาจรัฐบาลกับสิทธิเสรีภาพของพลเมือง

ระบอบก่อนหน้านี้เป็นระบอบไม่มีเส้นคั่นดังกล่าว ซึ่งก็คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็น unlimited government การปกครองที่รัฐบาลมีอำนาจสัมบูรณ์ไร้ขอบเขตจำกัด ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือระบอบที่ชีวิตเราเป็นของเจ้าชีวิต แผ่นดินเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน เราเป็นแค่ไพร่ราบ แต่พอมีระบอบรัฐธรรมนูญ มี the rule of law นั่นก็คือมี limited government บางอย่างรัฐบาลทำได้ บางอย่างทำไม่ได้ เพราะเราเป็นบุคคลพลเมืองมีสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นอำนาจรัฐบาลต้องหยุดแค่นี้ มีเส้นที่ขีดคั่นขึ้นมา หลังเส้นนั้นมาคือสิทธิเสรีภาพเรา ถ้ารัฐบาลจะก้าวล่วง ต้องได้ความยินยอมจากเราเสียก่อน นี้แหละคือวิญญาณของเสรีนิยม

ผมคิดว่าในโลกปัจจุบัน ปัญหาคือเส้นนี้ถูกข้ามในนามของเสียงข้างมาก มีการเอาหลักประชาธิปไตยมาเบียดหลักสิทธิเสรีภาพ ซึ่งมีปัญหา แน่ ๆ เราจะจัดดุลตรงนี้ยังไง แต่ละสังคมคงตอบไม่เหมือนกัน บางสังคมให้น้ำหนักหลักสิทธิเสรีภาพมาก บางสังคมเอนเอียงไปทางเสียงข้างมากเยอะ สังคมไทยตลกดี เราเริ่มต้นจากสังคมที่ไม่ค่อยมีประชาธิปไตยเท่าไรนัก แต่เราเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้คน คุณอยากลงทุนเชิญลง คุณอยากได้กำไร เชิญเอาเต็มที่ ผ่านช่วงเผด็จการ พอถึงวันหนึ่งเรามีประชาธิปไตยขึ้นมา เราให้อำนาจเสียงข้างมากกับประชาธิปไตยเต็มที่เลย จนเหยียบสิทธิเสรีภาพ เบียดเบียนสิทธิมนุษยชน ละเมิดมาตราต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญ อันนี้คือปัญหาหลักของสมัยรัฐบาลทักษิณ ในที่สุดนำมาซึ่ง คปค.

คปค. เท่าที่เขาพูดเขาอยากจะรักษาสิทธิเสรีภาพ เพราะรัฐบาลทักษิณก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพ ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาก แต่ว่าสิ่งที่ คปค. ทำลายลงไปคือหลักประชาธิปไตย เป็นอัน ว่าเราผ่านประสบการณ์สุดขั้วทั้งสองอย่าง ซึ่งมันต่างไม่ใช่คำตอบ

๐ คำตอบคือต้องรักษาสมดุลของสองพื้นที่นี้ให้ได้
๐ ใช่ แต่เรื่องของเรื่องมันไม่ใช่ว่าเราไม่มีนักปราชญ์ที่รอบรู้พอจะรักษาสองพื้นที่นี้ ไม่ใช่ ปัญหารากฐานคือเรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ คือการที่มีกลุ่มคนกลุ่มใหม่ขึ้นมาแล้วบล็อกกันเป็นกลุ่มเสียงข้างมาก ดังนั้นพอมาแสดงออกทางการเมือง มันก็เลยมีความขัดแย้งในระบอบเสรีประชาธิปไตย เพราะคนในสังคมเปลี่ยน เพราะสังคมเศรษฐกิจเปลี่ยน ดังนั้นรากของปัญหานี้มันมีฐานในสังคมรองรับจริง ๆ การที่เสียงข้างมากละเมิดสิทธิเสรีภาพไม่ใช่ว่าเสียงข้างมากไม่รู้หรือโง่ ไม่ใช่ แต่เป็นเพราะเสียงข้างมากต้องการอำนาจรัฐ และในกระบวนการช่วงชิงรวบกุมอำนาจรัฐนั้น มันก็เบียดเข้าไปในหลักสิทธิเสรีภาพของเสียงข้างน้อย ดังนั้นมันก็ต้องผ่านการต่อสู้ มึงผลักกู กูผลักมึงไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงจุดที่โอเค ลงตัว มีอำนาจเสียงข้างมากที่คุณพอทนได้ และมีสิทธิของเสียงข้างน้อยที่อยู่ด้วยกันกับเสียงข้างมาก มันไม่มีสูตรสำเร็จนะครับในแต่ละสังคม

คลิกกลับไปทบทวนบทสัมภาษณ์เรื่องเดียวกัน ตอนที่ ๑

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๑ : Release date 26 May 2008 : Copyleft by MNU.

เราเริ่มต้นแบบนี้ก่อนว่า อย่าจินตนาการเห็นสังคมไทยแบบที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร นี้ต่างหากที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาของข้อขัดแย้งที่ผ่านมา. ที่ผ่านมาเมืองไทยเผชิญเหตุการณ์แบบนี้มาเป็นระยะ ในแต่ละระยะก็มีความเดือดร้อนวุ่นวายพอสมควร ตัวอย่างระลอกใหญ่ระลอกแรกเกิดขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๗ กลุ่มที่เข้ามาคือนายทุนต่างชาติ พวกเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย แล้วก็มีกลุ่มคนที่เติบใหญ่ขึ้นมากับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือข้าราชการ ซึ่งก็คือคนชั้นกลางในสมัยนั้น เมื่อเขาเข้มแข็งในสังคมพอสมควร เขาต้องการส่วนแบ่งอำนาจและผลประโยชน์มากขึ้น เขารู้สึกว่าอำนาจการเมืองแบบเดิมที่อยู่กับศูนย์อำนาจ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มันไม่สอดรับ

H