ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




25-05-2551 (1572)

สารคดี ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๒๗๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑, หน้า ๙๔ - ๑๑๑
เราจะฝ่าความขัดแย้งทางการเมืองไปได้อย่างไร? (ตอนที่ ๑)
รศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ : ให้สัมภาษณ์
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : สัมภาษณ์
บรรจุในโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการเรื่องความรุนแรงต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งใน
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)

เพื่อความชัดเจนในประเด็นต่างที่ได้รับการนำเสนอโดยผู้ให้สัมภาษณ์
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงได้เพิ่มเติมหัวข้อ เพื่อความสะดวกในการค้นคว้าดังนี้
- เลิกจินตนาการถึงสังคมอุดมคติที่มีเอกภาพ
- ประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง ๓ ระลอก
- ความขัดแย้ง ระลอกที่ ๓ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์
- กรอบ กติกา การยุติความขัดแย้ง
- รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ๓ ข้อ
มาตราแรก อย่าใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง
มาตราที่ ๒ อย่าดึงกองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมือง
มาตราที่ ๓ และ ๔ รักษาพื้นที่เสรีภาพ และรักษาพื้นที่ประชาธิปไตย
- มีการใช้คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในทางการเมืองมากขึ้น
- ไม่ดึงทหารเข้ามาในเกมการเมือง
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๗๒
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๐ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สารคดี ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๒๗๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑, หน้า ๙๔ - ๑๑๑
เราจะฝ่าความขัดแย้งทางการเมืองไปได้อย่างไร? (ตอนที่ ๑)
รศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ : ให้สัมภาษณ์
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : สัมภาษณ์
บรรจุในโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ความนำ
สำหรับคนที่ติดตามการเมืองไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า ความขัดแย้งแบ่งขั้วในสังคมไทยเวลานี้ ในที่สุดจะนำไปสู่สถานการณ์รุนแรงถึงขั้นสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตหรือไม่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ได้ทำให้ประชาชนแตกแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ศรัทธาในตัวคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ และกลุ่มที่เห็นว่าคุณทักษิณเป็นภัยต่อประเทศชาติ จากการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตและข้อกล่าวหาในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน นำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงรัฐบาลทักษิณหลายครั้ง และจบลงด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ป้องกันไม่ให้ความแตกแยกขัดแย้งรุนแรงจนนำไปสู่การนองเลือด

แต่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือนธันวาคม ๒๕๕๐ พรรคพลังประชาชน หรือพรรคไทยรักไทยเดิม ก็ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในภาคเหนือและภาคอีสาน พร้อมๆ กับการกลับมาเมืองไทยของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ย้ำเสมอว่าจะยุติบทบาททางการเมือง ขณะที่อีกฝ่ายเชื่อว่าคุณทักษิณอยู่เบื้องหลังพรรคพลังประชาชนและการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่มาโดยตลอด

เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของคุณสมัคร สุนทรเวช ประชาชนทั่วไปก็เชื่อว่าความขัดแย้งที่ทุกฝ่ายเคยมี จะหาทางสมานฉันท์กันได้ ด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าจากราคาน้ำมันและราคาข้าวของทุกชนิดถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว น่าจะทำให้ทุกฝ่ายละทิ้งความขัดแย้งทางการเมือง หันหน้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อนเพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ ดูเหมือนว่าทั้งสองฝ่ายจะพักรบ คุมเชิงกันชั่วคราว แต่เพียงไม่กี่เดือนรอยร้าวก็เริ่มปรากฏให้เห็น เมื่อผู้นำรัฐบาลใช้ท่าทีแข็งกร้าวกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตน มีการยึดกุมสื่อไว้ในมือ ย้ายข้าราชการชั้นสูงหลายตำแหน่ง และล่าสุดเมื่อพรรคพลังประชาชนประกาศว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ก็ได้กลายเป็นชนวนและตัวเร่งปฏิกิริยาให้การเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่ายรุนแรงขึ้น

ฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร่งด่วนอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย มีรากมาจากรัฐประหาร ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ขณะที่ฝ่ายคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้เชื่อว่า พรรคพลังประชาชนต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งผ่านการลงประชามติเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่คนเพียงกลุ่มเดียว และกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็รวบรัดตัดตอน ไม่ฟังเสียงของประชาชนเลย

อารมณ์ความไม่พอใจของมวลชนทั้งสองฝ่ายเริ่มคุกรุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ จากความเห็นที่สวนทางกัน ต่างฝ่ายต่างแสดงความไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่ายผ่านสื่อต่างๆ โดยตั้งอยู่บนอคติโกรธเกลียดมากกว่าเหตุผลจนส่อเค้าว่าสถานการณ์อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่เคยออกมาเตือนสติสังคมไทยในเวลานี้ก็ไม่มีใครยอมฟังอีกต่อไป สังคมไทยแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน

ดร. เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เฝ้าติดตามสถานการณ์การเมืองไทยด้วยความห่วงใย ได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจแก่นิตยสารสารคดี ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ว่า "เราจะฝ่าข้ามไปได้อย่างไร" แสงสว่างตรงปลายอุโมงค์ของสังคมไทยยังพอมองเห็นอยู่

สัมภาษณ์ ดร.เกษียร เตชะพีระ
เราจะฝ่าความขัดแย้งในสังคมไปได้อย่างไร?

เลิกจินตนาการถึงสังคมอุดมคติที่มีเอกภาพ
๐ ความขัดแย้งในสังคมไทยขณะนี้ที่มีการแบ่งขั้วเป็นหลายฝ่าย โดยเฉพาะขั้วใหญ่สองขั้วคือขั้วที่เรียกว่าอำมาตยาธิปไตย กับขั้วที่จะเรียกว่าทุนนิยมสามานย์ อาจารย์คิดว่ามีทางไหมที่จะลดการเผชิญหน้าและหาทางออกที่ดีกว่า
๐ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ ความขัดแย้งแบบนี้จะคงอยู่กับเราไปอีกหลายปี ผมคิดว่าสิ่งที่เราควรจะเลิกคิดแต่ต้นคือ จินตนาการเห็นสังคมไทยในอนาคตที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต่อให้อีก ๕ ปี ๑๐ ปีข้างหน้าระบบราชการก็ยังอยู่กับเมืองไทย บรรดาสถาบันประเพณีที่เราเคยมีมาในสังคมก็ยังคงอยู่. ในแง่กลับกันอีก ๕ ปี ๑๐ ปีข้างหน้า กลุ่มทุนใหญ่ของเมืองไทย และความพยายามของกลุ่มทุนเหล่านั้นร่วมกับคนจนคนชายขอบซึ่งเขาเดือดร้อนและเขาอยากจะเข้ามามีส่วนใช้อำนาจรัฐ ก็ยังอยู่ในเมืองไทย เขาจะได้เข้ามากุมอำนาจรัฐแบบเด็ดขาดเหมือนสมัยคุณทักษิณหรือเปล่า อันนี้ไม่แน่ แต่ว่าเขาไม่หายไปจากสังคมการเมืองไทยแน่ ๆ

ประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง ๓ ระลอก
เราเริ่มต้นแบบนี้ก่อนว่า อย่าจินตนาการเห็นสังคมไทยแบบที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร นี้ต่างหากที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาของข้อขัดแย้งที่ผ่านมา. ที่ผ่านมาเมืองไทยเผชิญเหตุการณ์แบบนี้มาเป็นระยะ ในแต่ละระยะก็มีความเดือดร้อนวุ่นวายพอสมควร ตัวอย่างระลอกใหญ่ระลอกแรกเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๗ กลุ่มที่เข้ามาคือนายทุนต่างชาติ เจ้าอาณานิคมทั้งหลาย แล้วก็มีกลุ่มคนที่เติบใหญ่ขึ้นมากับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือข้าราชการ ซึ่งก็คือคนชั้นกลางในสมัยนั้น เมื่อเขาเข้มแข็งในสังคมพอสมควร เขาต้องการส่วนแบ่งอำนาจและผลประโยชน์มากขึ้น เขารู้สึกว่าอำนาจการเมืองแบบเดิมที่อยู่กับศูนย์อำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มันไม่สอดรับไม่สนองตอบผลประโยชน์ของเขา ในที่สุดก็ลงเอยเป็น เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

ระลอกใหญ่ระลอกที่ ๒ คือตอน ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ซึ่งเหตุที่เกิดก็คือ กลุ่มศูนย์อำนาจรัฐราชการเดิมต้องการความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ อยากให้ประเทศไทยทันสมัยก้าวหน้า การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมก็สร้างคนชั้นกลางแบบที่เกิดในภาคประชาสังคมเมืองขึ้นมา สร้างนิสิตนักศึกษาปัญญาชนขึ้นมา สร้างกลุ่มนายทุนทั้งในกรุงเทพฯ ทั้งในต่างจังหวัด ซึ่งพวกนี้ก็อึดอัดอีกเพราะว่า ระบบการเมืองแบบเดิมตีกรอบจำกัดไว้ให้อำนาจเฉพาะข้าราชการ อันเป็นมรดกสืบทอดที่พลิกผันเปลี่ยนแปรมาจากสมัย ๒๔๗๕ ผ่านการรัฐประหารช่วง ๒๔๙๐ - ๒๕๐๑ อีกส่วนหนึ่ง ในเมื่อระบบการเมืองเดิมไม่สนองตอบต่อคนกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นมา ถึงจุดหนึ่งมันก็ปะทุ ตอน ๑๔ ตุลาผมคิดว่าใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะหาที่ลงตัวให้แก่คนชั้นกลางกับกลุ่มทุนทั้งในหัวเมืองต่างจังหวัดทั้งในกรุงเทพฯ ที่เติบใหญ่ขึ้นมาได้ ในสายตาผมระลอกนั้นยาวนานร่วม ๒๐ ปี จาก ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ กว่าจะจบลงก็คือ เหตุการณ์พฤษภา ๒๕๓๕ แล้วสู้กันหลายรูปแบบมาก ตั้งแต่เดินขบวนประท้วงและลุกฮือขึ้นสู้ในเมือง เผชิญการใช้ความรุนแรง ลอบสังหาร ฆ่าหมู่และรัฐประหารตอน ๖ ตุลา จนต้องเข้าป่าไปรบแล้ววางอาวุธออกมา และต่อมาก็ชุมนุมประท้วงลุกขึ้นสู้อีก แต่ในที่สุดผมคิดว่าหลัง ๒๕๓๕ ตกลงได้แล้วว่าการเมืองต้องเปิดขึ้น ต้องมีที่ให้กับกลุ่มนายทุนหัวเมืองชนบทเข้ามาในรูปของพรรคการเมือง ในรูปของนักเลือกตั้ง ต้องมีที่ให้คนชั้นกลางเข้ามาร่วมสมทบในระบบการเมือง ผ่านการปฏิรูปการเมือง ผ่านสถาบันต่าง ๆ

ความขัดแย้ง ระลอกที่ ๓ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์
ที่เราเผชิญตอนนี้เป็นระลอกใหญ่ระลอกที่ ๓ ซึ่งเกิดเพราะเราเลือกโลกาภิวัตน์ เราเลือกเอง หรือพูดอีกอย่างว่าชนชั้นนำไทยทางด้านการเมืองเศรษฐกิจเลือกเอง หลังสิ้นสุดสงครามเย็นช่วงพฤษภาทมิฬ เราเลือกแล้วว่าเราจะ globalization เราจะเปิดประเทศรับกลุ่มทุนการเงินต่างชาติต่าง ๆ เข้ามาอย่างเสรี แล้วเดินตามตรรกะทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนโลก ตรรกะนั้นก็คือ เราจะเอาทรัพยากรของเรา เอากำลังแรงงานของเรา เอาสินค้าเกษตรเอาวัตถุดิบต่าง ๆ พลังงานต่าง ๆ แปรเป็นสินค้าส่งขายเขา เข้าร่วมในระบบการเงินของโลก เพราะเราเชื่อว่านั่นจะทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เราจะรวย มีความภาคภูมิใจกันมากว่าเราจะเป็นฮับหรือศูนย์กลางต่าง ๆ กระบวนการนั้นในที่สุดก็สร้างคนกลุ่มใหม่ขึ้นมา คือกลุ่มที่รวยกะทันหันเพราะเชื่อมต่อกับกระแสโลกาภิวัตน์ได้หรือคว้าไว้ทัน ที่สำคัญคือพวกที่โตจากตลาดหุ้น กระแสเงินสากล และไฮเทค พวกดาวเทียมไอทีต่าง ๆ

กับอีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่จนจากโลกาภิวัตน์ คือกลุ่มคนที่จะเรียกว่าเดิมอยู่กับเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจพอเพียงก็ได้ จากความเปลี่ยนแปลงแบบโลกาภิวัตน์ทำให้เขาสูญเสียฐานทรัพยากรไป เขาไม่สามารถใช้แม่น้ำใช้ป่าใช้ที่ดินเดิมเพราะมันถูกแปรไปเป็นรีสอร์ตเป็นเขื่อน เขาก็หลุดมา เขาหลุดมาเพราะว่าเขายังชีวิตโดยเป็นคนกึ่งเมืองกึ่งชนบท อยู่ชนบทแบบเดิมก็ไม่ได้เต็มที่เพราะว่า ฐานทรัพยากรหมดแล้ว จะเข้าเมืองมาดิ้นรนสู้ก็ไม่สำเร็จไม่ร่ำรวย เพราะขาดการศึกษาขาดทักษะที่ตลาดต้องการ คนสองกลุ่มนี้ ในที่สุดเป็นกลุ่มที่ได้รับบทเรียนครั้งสำคัญตอนวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ บทเรียนที่ว่าก็คือการปล่อยให้อำนาจรัฐ อำนาจบริหาร จัดการเศรษฐกิจเรื่องการเงินการคลังอยู่ในมือคนอื่นนั้น อาจจะจัดการมันไปในทิศทางที่กระทบผลประโยชน์ของเขาก็ได้

ดังนั้นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทลดฮวบ หนี้ที่ไปกู้นอกมาเพิ่มเป็นไม่รู้กี่เท่าตัวในเวลาอันสั้น ธนาคารโรงงานร้านรวงปิดตัวล้มละลาย ลูกจ้างพนักงานตกงานเกลื่อนกลาดต้องดิ้นรนกลับไปหากินในชนบท บทเรียนของคนสองกลุ่มนี้คือเขาต้องมีส่วนแบ่งอำนาจรัฐ เขาต้องขอส่วนแบ่งอำนาจในการจัดการผลประโยชน์จัดการทรัพยากรของประเทศ เพียงแต่ว่าแทนที่เขาจะปฏิวัติแบบคณะราษฎรสมัย ๒๔๗๕ แทนที่เขาจะเดินขบวนลุกขึ้นสู้แบบนักศึกษาคนชั้นกลางตอน ๑๔ ตุลา ผมคิดว่ารูปการต่อสู้ทางการเมืองของเขาซึ่งมันชอบธรรมในยุคสมัยนี้คือ จัดตั้งพรรคการเมืองแล้วลงเลือกตั้ง ก็มาในรูปพรรคไทยรักไทย เพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐ ขอส่วนแบ่งอำนาจรัฐ ต้องการเข้าถึงอำนาจรัฐเพื่อใช้อำนาจรัฐนั้นมาบริหารจัดการความเสี่ยงของเขาในท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจการเมืองโลกาภิวัตน์

ผมคิดว่าในกระบวนการนั้น มันก็ไปกระทบกับอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มที่ครองสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทยอยู่แล้ว อำนาจแบบของสมัยรัฐบาลทักษิณก็เป็นอำนาจที่รวบเข้ามาที่ตัวนายกรัฐมนตรี ตัวพรรคไทยรักไทยมาก แล้วเข้าไปบริหารจัดการผลประโยชน์กับทรัพยากรของประเทศอย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จ จึงทำให้มีคนที่รู้สึกไม่มั่นคงถูกคุกคามจำนวนหนึ่ง ได้แก่พวกกลุ่มทุนเก่า กลุ่มคนชั้นกลางทั้งหลาย มันเลยนำมาซึ่งการชุมนุมประท้วงในรูปของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และใน
ที่สุดก็คือรัฐประหารในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

๐ แต่เลือกตั้งครั้งใหม่ก็กลับมาอีก
๐ มีคำสั่งประกาศ คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) มีการตั้งองค์กรต่าง ๆ มากมายไปหมดเพื่อจะเช็คบิลเล่นงานรัฐบาลทักษิณกับพรรคไทยรักไทย แต่ในที่สุดพอจะเลือกตั้ง ทั้งที่ถูกยุบพรรคไปแล้ว เขาก็สามารถรวมกลุ่มเป็นพรรคพลังประชาชนแล้วชนะเลือกตั้งอีกจนได้ ตั้งรัฐบาลอีกจนได้ แล้วก็มีนอมินีเป็นนายกฯ อีกจนได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรตระหนักก็คือว่า คุณไม่ได้กำลังเกี่ยวข้องกับทักษิณหรือกับกลุ่มของเขาไม่กี่คน ที่คุณคิดว่าจะสามารถใช้บางองค์กร บางคำสั่ง บางมาตราในรัฐธรรมนูญ แล้วกีดกันเขาออกไปแล้วเรื่องจะจบ

ไม่จบหรอก เพราะสังคมเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแล้ว คนรุ่นใหม่เหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้ว เขาอยู่แล้ว เขามาแล้ว สังคมไทยต้องหาทางอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ ไม่ได้แปลว่าต้องชอบ ไม่ได้แปลว่าต้องยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น แต่แปลว่าเราต้องจินตนาการถึงระบอบการเมือง ที่มีที่ทางให้คนกลุ่มนี้เข้ามา แล้วหาทางอย่างไรที่เราจะดำรงชีวิตทางการเมืองอยู่ด้วยกันในสังคมไทยได้ จัดสรรแบ่งปันอำนาจ ทรัพยากร ผลประโยชน์ ปรับทิศทางสังคมไทยที่เราจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไม่ต้องฆ่าฟันกัน

กรอบ กติกา การยุติความขัดแย้ง
ผมรู้สึกว่าการเมืองสองรูปแบบที่ผ่านมา ไม่ว่ารูปแบบที่กลุ่มใหม่ที่ขึ้นมารวบอำนาจหมดแบบในสมัยรัฐบาลทักษิณ กับรูปแบบเพื่อหยุดทักษิณก็ยินดีทำลายระบอบประชาธิปไตยด้วยการรัฐประหาร มันไม่ไหวทั้งคู่ ทั้งสองรูปแบบนั้นสังคมไทยจ่ายต้นทุนแพงมาก เพื่อหาทางออกจากความพลาดพลั้งจากทางตันทางการเมืองทั้งสองรูปแบบนั้น. รูปแบบการเมืองไหนที่จะทำให้พลังทั้งหมดเหล่านี้อยู่ด้วยกันได้ แล้วก็ต่อสู้ขัดแย้งกันต่อไป? ผมไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องรักกัน สมานฉันท์กันแล้วจบ ไม่ใช่.

การต่อสู้ขัดแย้งยังจะมีอยู่ต่อไป แต่เราต้องนึกถึงระบอบที่ทำให้การต่อสู้ขัดแย้งนั้นมันมีกรอบมีกติกา แล้วไม่ต้องลุกขึ้นมาฆ่าฟันและทำร้ายสังคมไทยเองในกระบวนการที่จะโค่นล้างเอาชนะ ระบอบแบบนั้นอาจใช้คำดังที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใช้ว่า"รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย" ในความหมายที่ว่ามีวัฒนธรรมการเมืองบางอย่างในสังคมไทยที่อาจไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเอาเข้าจริงรัฐธรรมนูญนั้นถูกฉีกได้แต่คุณฉีกวัฒนธรรมการเมืองไทยไม่ได้ ผมคิดว่าถ้าเราสามารถสร้างหรือรักษารัฐธรรมนูญฉบับ
วัฒนธรรมไทยเพิ่มเติมขึ้นมาสัก ๓-๔ มาตรา จะเป็นหลักประกันยิ่งใหญ่กว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังจะแก้กันอยู่ตอนนี้

รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ๓ ข้อ
๐ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมเพิ่มเติมที่ว่าจะประกอบด้วยอะไรบ้างครับ
๐ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่ผมคิดว่าพอจะช่วยได้นั้นประกอบด้วย

มาตราแรก อย่าใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง
ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายใช้และอ้างสถาบันกษัตริย์ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามเหมือนกัน ไม่ว่าฝ่ายพันธมิตรฯ หรือฝ่ายคุณทักษิณ ด้วยน้ำหนักด้วยจังหวะที่อาจจะต่างกันบ้าง ผลคืออะไร? ผลคือว่าพอคุณอ้างสถาบันกษัตริย์เข้ามาอยู่ข้างคุณทางการเมือง คุณขยายความขัดแย้ง เพราะว่าสถาบันกษัตริย์มีสถานะพิเศษในสังคมไทย เป็นสถาบันที่เป็น "ของชาติ" หรือของคนไทยทุกคน พอคุณดึงลงมาแล้วบอกว่าอยู่ข้างคุณในความขัดแย้งทางการเมืองนี้ คุณกำลังขอให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งเลือกข้างไม่ได้ให้เลือกข้าง คุณกำลังทำให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งควรจะเป็นของคนไทยทุกคนในชาติ กลายเป็นของคนไทยบางคนบางฝ่าย และไม่เป็นของคนไทยบางคนบางฝ่าย มันทำให้ความขัดแย้งขยายใหญ่ แล้วการประนีประนอมเกิดขึ้นยาก มันทำให้มีข้ออ้างที่จะใช้ความรุนแรงในการทำลายฝ่ายตรงข้าม บางคนที่ถูกหาว่าเป็นศัตรูของสถาบันกษัตริย์ก็ถูกมองว่าเป็นศัตรูกับชาติ

มาตราที่ ๒ อย่าดึงกองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมือง กรณีที่เกิดขึ้นคือเมื่อขัดแย้งกันไปถึงจุดหนึ่งแล้วหาทางออกไม่ได้ ดุลกำลังการเมืองก้ำกึ่ง ก็หันไปดึงกองทัพเข้ามาแล้วใช้กำลังอาวุธตัดสินความขัดแย้ง ปืนชนะ ทำเช่นนั้นอันตราย เพราะเอาเข้าจริง คุณไม่ได้ชนะทางการเมือง ทันทีที่ทหารเก็บปืนถอนตัวกลับเข้ากรมกองมาเกิดอะไรขึ้น? การเมืองก็พลิกอีก แล้วมันสร้างแบบอย่างที่น่ากลัวขึ้นมา คุณมีหลักประกันอะไรว่าถ้าคุณดึงกองทัพดึงทหารเข้ามาเกี่ยวข้องในความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งมีลักษณะโครงสร้างซึ่งมีลักษณะระยะยาวแบบนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ทำลายล้างบางคนแล้วจบ ไม่เลย นี่เป็นเกมยาว แล้วคุณดึงทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณรู้แน่ได้อย่างไรว่าทหารจะไม่แตกแยกหรือกระทั่งจับปืนยิงกันเองเข้าสักวันหนึ่ง

มาตราที่ ๓ และ ๔ รักษาพื้นที่เสรีภาพ และรักษาพื้นที่ประชาธิปไตย
สองมาตรานี้ไปด้วยกัน ผมคิดว่าบทเรียนที่เราได้ก็คือว่า ในช่วงที่กลุ่มพลังทางการเมืองต่าง ๆ ต่อสู้กัน สิ่งที่เขาทำลายไป สิ่งที่เขาใช้เพื่อเป็นพื้นที่ เป็นอุปกรณ์ในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม คือ"พื้นที่เสรีภาพกับพื้นที่ประชาธิปไตยของประชาชน"

พื้นที่สิทธิเสรีภาพ หมายถึงสิทธิเสรีภาพในร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและแสดงออกของประชาชนพลเมือง แต่แล้วเพื่อขจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง คนเหล่านี้พร้อมจะเหยียบย่ำทำลายพื้นที่นี้ เล่นงานสื่อ เล่นงานคนที่มาประท้วงต่อต้านคุณ ในแง่กลับกัน กรณีพื้นที่ประชาธิปไตย เพื่อจะกำจัดกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง พวกเขาก็พร้อมที่จะหยุดการเลือกตั้งหยุดการปกครองในระบอบรัฐสภา ซึ่งมันอันตรายมากถ้าทำลายสองพื้นที่นี้ เพราะพื้นที่สองพื้นที่นี้เป็นหลักประกันว่าความขัดแย้งจะอยู่ในกรอบ ความขัดแย้งจะมีที่ยุติ มีเกมที่เปิด มีการจบเกมเพื่อเล่นเกมใหม่ แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่เคารพพื้นที่สิทธิเสรีภาพ ไม่เปิดโอกาสให้คนโต้แย้งกับผู้มีอำนาจ ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจ

ซึ่งผมอยากจะบอกว่าเรคคอร์ดของทั้งสองฝ่ายแย่ทั้งคู่ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ สมัยรัฐบาลทักษิณไปถามพวกสื่อมวลชนก็ได้ ไปถามพันธมิตรฯ ก็ได้ว่าโดนอะไรเข้าไปบ้าง สมัย คปค. สมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ คปค. กับรัฐบาลสุรยุทธ์ก็โดนควบคุมตัว ก็ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ไปถามพวก นปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ) ก็ได้. พอคุณทำแบบนี้เกิดอะไรขึ้น มันก็เท่ากับคุณไล่เขาลงใต้ดินไปใช้วิธีการต่อสู้รุนแรงนอกระบบ แทนที่คุณจะเปิดพื้นที่สิทธิเสรีภาพให้ความขัดแย้งต่อสู้กันทางความคิดการเมือง ต่อสู้กันทางนโยบายอย่างเปิดเผยในกรอบกติกา แล้วรักษาพื้นที่ประชาธิปไตยไว้ตัดสินผ่านเสียงข้างมากในการเลือกตั้งว่าในเกมนี้ใครชนะ แปลว่าคนแพ้จบเห่ไหม? ไม่ คนแพ้ก็สู้ต่อเพื่อลงเลือกตั้งครั้งหน้า อาศัยกฎเกณฑ์กติกาเท่าที่มีต่อต้านคะคานเสียงข้างมาก ถ้าเราทำลายหลักประชาธิปไตยลงไป เราไม่ยอมให้เกมยุติที่เสียงข้างมาก มันก็ไม่มีที่ยุติ และเพราะเราไม่ยอมให้มีที่ยุติไม่ใช่หรือ ทุกวันนี้มันก็เลยเล่นเราต่อ

ดังนั้นถ้ารักษา ๔ มาตรานี้ไว้ได้ รักษาพื้นที่สิทธิเสรีภาพ รักษาพื้นที่ประชาธิปไตย ขัดแย้งกันภายในสองพื้นที่นี้, อย่าเอาสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง, อย่าเอาทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง. ผมคิดว่าในที่สุดสังคมไทยคงจะเจอทางออกว่า เราจะใช้สูตรการเมืองไหนที่เราจะอยู่ร่วมกันได้ จะเขียนรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไรที่ทำให้พลังของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากโลกาภิวัตน์ กลุ่มทุนใหญ่ กลุ่มคนชายขอบ กับกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มคนชั้นกลาง อยู่ร่วมกันได้ในสังคมไทย

๐ ในรัฐบาลชุดนี้ปัจจุบันได้พยายามทำในสิ่งนี้บ้างหรือเปล่า
๐ ผมเกรงว่าในแง่ของพื้นที่สิทธิเสรีภาพไม่ใช่แบบนั้น หลังจากขึ้นสู่อำนาจไม่นานก็เริ่มมีกรณีพยายามจะเข้าไปช่วงชิงใช้สื่อเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการออกความเห็นของฝ่ายค้านปรากฏขึ้น หรือการไม่ประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่างของคนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณ ถ้าเราไม่ประกันอันนี้ก็จะเกิดเหตุประเภทมีคนที่ชุมนุม และมีคนที่มาล้อมการชุมนุม และมีคนที่ถูกทำร้ายเพราะไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด แล้วมันก็ทำให้ความบาดหมางเจ็บแค้นลุกลามบานปลายรัฐบาลมีหน้าที่ค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของคนไทยทุกคน ทั้งคนที่เห็นด้วยและคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เพราะมันจะช่วยประกันไม่ให้เกิดความรุนแรง

ในแง่การยืนยันหลักการประชาธิปไตย รัฐบาลชุดนี้ก็มั่นคง เพราะว่าอำนาจเขาได้มาจากการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก แต่ในแง่การรักษาพื้นที่สิทธิเสรีภาพ ผมเกรงว่ารัฐบาลชุดนี้อาจจะอดทนอดกลั้นไม่มากพอ แล้วการใช้อำนาจจัดการกับคนที่เห็นต่างมันก็ผลักให้ความขัดแย้ง ซึ่งแทนที่จะทำกันอย่างเปิดเผย สันติ ก็เข้าไปสู่จุดที่ต้องใช้กุศโลบายเล่ห์กลใต้ดินมากขึ้น. ในแง่ของสิทธิเสรีภาพผมคิดว่าผู้ที่มีอำนาจจากการเลือกตั้งควรต้องเข้าใจ เพราะไม่แน่ว่าสักวันหนึ่งเสียงข้างมากของคุณจะกลายเป็นเสียงข้างน้อยในสภา เกมประชาธิปไตยก็เป็นอย่างนี้ มันคือเกมที่เสียงข้างมากชนะ แล้วเสียงข้างน้อยมีสิทธิที่จะเถียงต่อจนกว่าเปลี่ยนใจเสียงข้างมากได้ คุณไม่มีสิทธิ์ไปปิดปากเสียงข้างน้อย

เสียงข้างน้อยไม่มีสิทธิ์ยึดอำนาจแล้ว ทำลายมติเสียงข้างมาก แต่เสียงข้างน้อยมีสิทธิ์เถียงต่อ และต้องประกันต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการเถียงของเขาจนกว่าเปิดเกมใหม่ ซึ่งก็ไม่แน่เขาอาจจะกลายเป็นฝ่ายชนะในเกมใหม่นั้นก็ได้ ถ้าเขาชนะคุณก็กลายเป็นเสียงข้างน้อย ถึงตอนนั้นคุณก็คงจะคิดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ดังนั้น ไม่เพียงเฉพาะพื้นที่ประชาธิปไตย แต่พื้นที่สิทธิเสรีภาพก็ต้องให้ความสำคัญ ทั้งสองอย่างนี้ต้องไปด้วยกัน การบอดต่ออันใดอันหนึ่งนั้นเป็นปัญหาสำหรับการเมืองไทย

๐ สี่ข้อนี้คือสิ่งที่อาจารย์คิดว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทย แล้วสถานการณ์ ณ วันนี้มีความเป็นไปได้ไหมครับที่ ๔ ข้อนี้จะเกิดขึ้นได้
๐ ไม่สนิทใจทีเดียวนะครับ เพราะผมคิดว่ามันไม่สิ้นสุด เรื่องสิทธิเสรีภาพก็เริ่มมีการใช้อำนาจรัฐที่ได้มาจากเสียงข้างมากผ่านการเลือกตั้ง เข้าไปจำกัดจำเขี่ยสิทธิเสรีภาพของเสียงข้างน้อยมากขึ้น ในแง่ของการดึงเอาสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ก็เริ่มมีการกล่าวหาแจ้งความกันในแวดวงการเมืองและสื่อมวลชนว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่ได้แปลว่าคดีหมิ่นไม่มีพื้นมูลเลยนะครับ แต่ผมมีความรู้สึกว่าที่ผ่านมามีการใช้คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในทางการเมืองมากขึ้น เพราะโครงสร้าง
กฎหมายอย่างที่เป็นอยู่มันง่ายเกินไป

มีการใช้คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในทางการเมืองมากขึ้น
ได้มีข้อเสนอแนะจากนักนิติศาสตร์ และองค์กรสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ว่าเป็นไปได้ไหมที่จะมีกระบวนการพิจารณาตรวจสอบ เช่นมอบหมายให้บางหน่วยงานกลั่นกรองเสียก่อน เมื่อไรที่มีการกล่าวอ้าง ลำเลิกขึ้นมาว่าจะฟ้องกันในคดีทำนองนี้ ให้นำเสนอผ่านการกลั่นกรองเสียก่อนว่ามีน้ำหนักหลักฐานพอไหม ไม่ใช่เป็นการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งกันทางการเมือง มีกระบวนการกลั่นกรองพอสมควรเพื่อรักษาระยะห่างระหว่างสถาบันกษัตริย์กับความขัดแย้งทางการเมือง ที่อาจไปเกี่ยวพันกับคนที่ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

คือคุณต้องคิดถึงใจคน พอคน ๆ หนึ่งถูกฟ้องว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทันทีที่คนไทยทั่วไปหรือสาธารณชนได้ยินเช่นนั้นก็จะมีความรู้สึกรุนแรง มีความรู้สึกอ่อนไหว แล้วก็อาจจะยากที่จะรับฟังเสียงคน ๆ นั้น อาจโน้มเอียงที่จะเชื่อว่าคน ๆ นั้นมีความผิดหรือด่วนปรักปรำตัดสินคน ๆ นั้นล่วงหน้า มันจึงเป็นช่องโหว่ช่องว่างให้คนที่เป็นศัตรูกันทางการเมืองหยิบฉวยไปฟ้องร้องกันได้ง่าย ๆ คิดว่าเราต้องหาทางป้องกันเรื่องเช่นนี้ ป้องกันยังไงผมไม่รู้แต่ผมคิดว่า เราต้องหาทางวางระยะห่างให้มากขึ้นระหว่างคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับความขัดแย้งทางการเมืองให้ได้ ไม่เช่นนั้นสถาบันกษัตริย์จะถูกดึงลงมาเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง และเป็นอันตรายต่อการเมืองไทยทั้งหมด มันจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง

ไม่ดึงทหารเข้ามาในเกมการเมือง
ในแง่ทหารก็เบาบางลงไปบ้าง แต่คิดว่ากองทัพไม่ได้ลอยพ้นจากสังคมไทยเสียเลยทีเดียว ความขัดแย้งในสังคม ความขัดแย้งทางการเมือง ย่อมมีผลกระทบต่อกองทัพ ดังนั้นการที่สังคมไทยถกเถียงกัน อย่างในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ มีฝ่ายที่เห็นว่าควรแก้บางมาตรา มีฝ่ายที่เห็นว่าควรแก้ทั้งฉบับ มีฝ่ายที่เห็นว่าห้ามแก้ ถ้าแก้แล้วถือว่าแก้เพื่อตัวเอง ไม่คิดหรือครับว่าทหารในกองทัพก็ได้ยินข้อถกเถียงเหล่านี้ ไม่คิดหรือครับว่าทหารในกองทัพก็ไม่ได้เห็นเหมือนกันไปหมด ผมคิดว่าเราไม่สามารถ
จินตนาการถึงการเมืองไทยที่กองทัพไทยมีความคิดทางการเมืองเป็นเอกภาพอีกต่อไปแล้ว เราจะพบความเป็นจริงว่าในกองทัพมีทัศนะต่อการเมือง ต่อความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นแตกต่างหลากหลายกัน ซึ่งไม่เป็นปัญหาตราบเท่าที่ทหารแต่ละคน ผู้บังคับบัญชาแต่ละคน แสดงบทบาททางการเมืองเท่ากับพลเมืองไทยคนหนึ่ง คือเรามีสิทธิ์ one man one vote หรือออกความคิดเห็นในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่งเท่ากัน แต่อันตรายถ้าเกิดว่า ในฐานะผู้ที่กุมอาวุธแล้วเอาอำนาจการกุมอาวุธของเขาเข้ามาเกี่ยวพันกับความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกับตน

คลิกอ่านบทสัมภาษณ์เรื่องเดียวกัน ตอนที่ ๒

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑ : Release date 25 May 2008 : Copyleft by MNU.

เราเริ่มต้นแบบนี้ก่อนว่า อย่าจินตนาการเห็นสังคมไทยแบบที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร นี้ต่างหากที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาของข้อขัดแย้งที่ผ่านมา. ที่ผ่านมาเมืองไทยเผชิญเหตุการณ์แบบนี้มาเป็นระยะ ในแต่ละระยะก็มีความเดือดร้อนวุ่นวายพอสมควร ตัวอย่างระลอกใหญ่ระลอกแรกเกิดขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๗ กลุ่มที่เข้ามาคือนายทุนต่างชาติ พวกเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย แล้วก็มีกลุ่มคนที่เติบใหญ่ขึ้นมากับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือข้าราชการ ซึ่งก็คือคนชั้นกลางในสมัยนั้น เมื่อเขาเข้มแข็งในสังคมพอสมควร เขาต้องการส่วนแบ่งอำนาจและผลประโยชน์มากขึ้น เขารู้สึกว่าอำนาจการเมืองแบบเดิมที่อยู่กับศูนย์อำนาจ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มันไม่สอดรับ

H