ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




20-05-2551 (1566)

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาอินเดียกับองค์กรอื่นๆ ในสังคม
มหาวิทยาลัยอินเดียกับการเมือง การเงิน การศาสนาและสังคม
ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ และสมปอง เพ็งจันทร์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทที่ ๔ : อุดมศึกษาอินเดีย : ผลผลิตและผลกระทบ
จากโครงการศึกษาค้นคว้าเพื่อจัดทำหนังสือสารคดี เรื่อง ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ชุดโครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค


ความสำคัญของการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทำให้สถาบันอุดมศึกษามีสถานะเป็นสถาบันอันสูงส่งในสังคมอินเดีย
ชาวอินเดียทั่วไปมีความสำนึกถึงสถาบันอุดมศึกษาว่าเป็น "เทวาลัยแห่งการเรียนรู้" (Temple of Learning)
และเชื่อว่าเทวาลัยแห่งการเรียนรู้จะมีความศักดิ์สิทธิ์เพียงพอที่จะนำพาอินเดียไปสู่เป้าหมายที่ดีงามได้

ในส่วนของบทความนี้จะลงลึกในรายละเอียดสถาบันอุดมศึกษาของอินเดีย
กับความสัมพันธ์กับการเมือง การเงิน และการสังคมที่อิงกับศาสนา
โดยมีสาระสำคัญดังหัวข้อต่อไปนี้: สถาบันอุดมศึกษาและองค์กรทางการเมือง,
บรรยากาศทางการเมืองในมหาวิทยาลัย, ประท้วงเป็นหลัก เรียนหนังสือเป็นรอง,
อุดมศึกษาและองค์กรทางเศรษฐกิจ, การประกาศนโยบายเศรษฐกิจของประเทศใหม่,
ตระกูลตาต้า (Tata) และตระกูลพีรลา (Birla), สถาบันอุดมศึกษาและองค์กรภาคสังคม,
วิทยาลัยคริสเตียน และวิทยาลัยวิเวกนันทะ, มหาวิทยาลัยทางด้านการเกษตร,
การเรียนรู้ร่วมกับชุมชน, มหาวิทยาลัยการเกษตรเกราล่า และ Extention Education
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๖๖
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๓.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาอินเดียกับองค์กรอื่นๆ ในสังคม
มหาวิทยาลัยอินเดียกับการเมือง การเงิน การศาสนาและสังคม
ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ และสมปอง เพ็งจันทร์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาอินเดียกับองค์กรอื่นๆ ในสังคม
หลังยุคอาณานิคม
ด้วยภารกิจที่สังคมมอบหมาย และความคาดหวังที่สังคมมีอยู่ มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ของอินเดีย จึงอยู่ในสายตาของคนภายนอกองค์กรอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับภารกิจของมหาวิทยาลัยที่จะต้องเป็นแกนนำในการสร้างชาติ สร้างความรุ่งเรืองและสร้างเสริมจิตวิญญาณอินเดีย ทำให้มหาวิทยาลัยจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรอื่นที่เป็นองค์กรร่วมในการแบ่งรับภารกิจนั้นด้วย เช่น การสร้างชาติ(นิยม) อินเดียก็จะต้องประสานสัมพันธ์กับองค์กรทางการเมือง การสร้างความรุ่งเรืองมั่นคงทางเศรษฐกิจ ก็จะต้องสัมพันธ์กับองค์กรทางเศรษฐกิจอื่น เช่น องค์กรภาคอุตสาหกรรมและการค้า ในส่วนของการสร้างเสริมจิตวิญญาณ อินเดียก็ต้องไปมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรภาคประชาชน เช่น องค์กรทางศาสนา

เพื่อให้เห็นภาพของสถาบันอุดมศึกษาอินเดียชัดขึ้น ในส่วนนี้จะเป็นการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับองค์กรอื่นใน 3 กลุ่ม คือ

1. องค์กรทางการเมือง
2. องค์กรทางด้านเศรษฐกิจ และ
3. องค์กรทางศาสนาและประชาสังคม

(1) สถาบันอุดมศึกษาและองค์กรทางการเมือง
การเมืองกับการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาตั้งแต่เริ่มต้นอุดมศึกษายุคใหม่ เพราะเหตุทางการเมือง จึงทำให้ผู้ปกครองอังกฤษต้องจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้กับชาวอินเดีย แม้เมื่อจัดให้แล้วก็มีเหตุผลทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงอยู่ตลอดเวลา การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในระบบอุดมศึกษาแต่ละครั้ง ก็ล้วนมีเหตุผลและความต้องการทางการเมืองเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดความเปลี่ยนแปลง

เมื่อเกิดกระบวนชาตินิยมอินเดียขึ้นนั้น ก็เกิดขึ้นในแวดวงของนักการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยก่อน กระบวนการชาตินิยมทางการศึกษาได้ปรากฎขึ้นก่อน แล้วจึงค่อย ๆ แปรรูปเป็นชาตินิยมทางการเมืองในเวลาต่อมา. หลังจากได้รับเอกราชในทางการเมืองแล้ว กระบวนการกู้ชาติมีทั้งนักการเมืองและนักการศึกษาเป็นแกนนำ ก็ได้แปรมาเป็นกระบวนการสร้างชาติ ในความเป็นจริง กระบวนการสร้างชาติเป็นภารกิจของนักการเมืองที่จะต้องทำให้กิจกรรมทางการเมืองเป็นกิจกรรมสร้างชาติ แต่ชาติที่เคยยิ่งใหญ่เช่นอินเดียนั้น ความเป็นชาติมีรายละเอียดที่ซับซ้อน ทั้งในส่วนโครงสร้างของโลกภายนอกและสังคม และในส่วนของจิตสำนึกแห่งความเป็นชาติภายในจิตใจของประชาชน ภารกิจในการสร้างชาติจึงต้องประสานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างนักการเมืองและนักการศึกษา

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษา และสถาบันทางการเมืองโดยเฉพาะคือพรรคการเมือง เป็นความสัมพันธ์ที่น่าสนใจในกรณีของอินเดีย. สายสัมพันธ์หลักระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับการเมืองมีอยู่ 2 ส่วน คือ

1. ส่วนการบริหาร และ
2. ส่วนการเงิน

1. ความสัมพันธ์ทางการบริหาร
มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาเทียบเท่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งของอินเดีย เป็นกิจการของรัฐที่จัดตั้งขึ้นโดยการตราเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยสถาบันการศึกษานั้น ๆ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง จะมีบทบัญญัติที่ว่าด้วยโครงสร้างของการบริหาร ซึ่งกำหนดให้มีตำแหน่งประมุขสูงสุดของสถาบันการศึกษาเป็นตำแหน่งทางการเมือง

ตำแหน่งประมุขของสถาบันอุดมศึกษา
สำหรับสถาบันการศึกษาที่สังกัดกับรัฐบาลท้องถิ่น ตำแหน่งประมุขของสถาบันจะเรียกชื่อว่า Chancellor กฎหมายจะกำหนดให้มุขมนตรีที่เป็นผู้ว่าการรัฐ (Governor) ดำรงตำแหน่ง Chancellor และ Chancellor จะทำหน้าที่เป็นประธานสภามหาวิทยาลัยหรือสภาสถาบัน และมีอำนาจแต่งตั้งผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยหรือสถาบัน ที่เรียกว่า Vice- Chancellor

สำหรับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่สังกัดกับรัฐบาลกลาง ตำแหน่งประมุขของมหาวิทยาลัย/สถาบัน จะเรียกว่า Visitor กฎหมายจะกำหนดให้ประธานาธิบดีแห่งอินเดียเป็น Visitor ของมหาวิทยาลัย/สถาบัน และประธานาธิบดี ในฐานะ Visitor ของมหาวิทยาลัย/สถาบัน มีอำนาจแต่งตั้ง Chancellor และ Vice - Chancellor ของมหาวิทยาลัยหรือสถาบัน. จากโครงสร้างที่กำหนดโดยกฎหมายเช่นนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า ประมุขของมหาวิทยาลัย/สถาบัน จะต้องเป็นนักการเมือง และกฎหมายได้กำหนดให้ Visitor หรือ Chancellor เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง Vice- Chancellor ของมหาวิทยาลัย/สถาบัน

ตำแหน่ง Vice- Chancellor คือ ตำแหน่งบริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย/สถาบัน ถ้าจะแปลชื่อตำแหน่ง Vice- Chancellor ให้ได้ความหมายและตรงกับคำของไทยก็คือ "อธิการบดี" นั่นเอง อธิการบดีเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ เพราะเป็นตำแหน่งที่ชี้เป็นชี้ตายให้กับมหาวิทยาลัย ความสำเร็จหรือล้มเหลวของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับอธิการบดีนี้เอง เพราะกฎหมายได้ให้อำนาจในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยไว้ในมือของอธิการบดี

แต่ต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงว่า ประธานาธิบดีหรือผู้ว่าการรัฐเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนอธิการบดี เพราะฉะนั้น เหนืออธิการบดีขึ้นไปก็คือนักการเมือง จริงอยู่บุคคลผู้มาดำรงตำแหน่งอธิการบดีจะเป็นผู้มีชื่อเสียงและผลงานทางด้านการศึกษามาก่อน แต่ถึงจะเก่งกล้าสามารถอย่างไร ถ้านักการเมืองไม่ชอบ ไม่พอใจ ก็จะไม่มีวันที่จะได้เป็นอธิการบดีแน่นอน และความชอบความพอใจของนักการเมือง ก็ย่อมจะเป็นความชอบความพอใจทางการเมืองโดยมิต้องสงสัย

บรรยากาศทางการเมืองในมหาวิทยาลัย
ด้วยโครงสร้างที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้ จึงทำให้มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งของอินเดียเต็มไปด้วยบรรยากาศทางการเมือง จนถึงกับมีการกล่าวกันว่า ในมหาวิทยาลัยเป็นที่ซ่องสุมทางการเมือง เพราะความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงภายในมหาวิทยาลัยล้วนเป็นไปตามกระแสการเมืองทั้งสิ้น. ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับองค์กรทางการเมืองนี้ มีทั้งที่เป็นคุณ และเป็นโทษ

- ที่เป็นคุณคือ ทำให้สถาบันอุดมศึกษาไม่แยกตัวเองออกไปจากปัญหาของสังคม เพราะผู้ที่มากำหนดชี้นำสถาบันอุดมศึกษาคือ นักการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชน เสียงของประชาชนในสังคมได้ยินถึงหูของผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาเสมอ เพราะประชาชนเป็นผู้เลือกนักการเมืองที่เข้ามาเป็นประมุขของสถาบันอุดมศึกษาแห่งนั้น

- แต่ในขณะที่มีคุณอยู่บ้างนั้น โทษก็มีเป็นเอนกอนันต์เช่นกัน ที่สำคัญและร้ายแรงที่สุดก็คือ การทำให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นเวทีแห่งผลประโยชน์ทางการเมือง ที่นักการเมืองต่างเข้ามาแย่งชิงผลประโยชน์กันจนไม่เป็นอันเล่าเรียนหนังสือ นักศึกษากลายเป็นตัวแทนพรรคการเมือง แต่ละพรรคไปโดยไม่รู้ตัว ในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยพูดกันอยู่เสมอว่า หน้าที่หลักของนักศึกษามีอยู่ 2 ประการ คือ

1. ชุมนุมประท้วง
2. เรียนหนังสือ

ประท้วงเป็นหลัก เรียนหนังสือเป็นรอง
ประท้วงเป็นหน้าที่หลัก เรียนหนังสือเป็นหน้าที่รอง เพราะเมื่อว่างจากการประท้วงจึงเรียนหนังสือ ในชีวิตนักศึกษาอินเดียไม่เคยมีที่จะเลิกชุมนุมประท้วงเพื่อเรียนหนังสือ มีแต่เลิกเรียนหนังสือเพื่อชุมนุมประท้วง หากยามใดที่มีความวุ่นวายทางการเมือง บรรยากาศภายในห้องเรียนก็ปั่นป่วนวุ่นวายไปด้วย ผู้เขียนยังจำภาพสมัยเป็นนักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยอินเดียได้ดีว่า เมื่อผู้นำนักศึกษามีมติว่าให้ประท้วง จะงดการเรียนการสอนตามห้องเรียนต่าง ๆ ทันที ปฏิบัติการสั่งงดการเรียนการสอนนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วฉับพลัน ภายในห้องเรียนที่อาจารย์กำลังบรรยายอยู่นั้นจะต้องยุติลงทันที เมื่อมีตัวแทนนักศึกษาไปแจ้งก็ให้ยุติการเรียนเพื่อร่วมประท้วง อาจารย์ผู้สอนไม่มีอำนาจที่จะโต้แย้ง ไม่มีอำนาจแม้กระทั่งจะพูดให้จบประโยคที่กำลังบรรยายค้างอยู่ สิ่งที่จะต้องทำ คือ หยุดสอนแล้วเดินออกไปจากห้องบรรยายทันที

บรรยากาศเช่นนี้มีอยู่ทั่วไปในมหาวิทยาลัยอินเดีย โดยเฉพาะในรัฐที่มีปัญหาขัดแย้งทางการเมืองสูง หรือในมหาวิทยาลัยของรัฐบาลกลางที่ไปตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของรัฐบาลท้องถิ่น แล้วรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นเป็นคนละพรรคการเมืองกัน ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยฮินดู พาราณสี เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาลกลาง แต่ไปตั้งอยู่ที่เมืองพาราณสี ซึ่งอยู่ในรัฐอุตรประเทศ ดังนั้นถ้าเมื่อใดที่รัฐบาลกลางเป็นของพรรคการเมืองหนึ่ง ขณะเดียวกับรัฐบาลรัฐอุตรประเทศเป็นอีกพรรคการเมืองหนึ่ง เมื่อนั้นความปั่นป่วนวุ่นวายก็เกิดขึ้นทันที เพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัยอยู่ฝ่ายรัฐบาลกลาง ขณะที่นักศึกษาและข้าราชการของมหาวิทยาลัยกลับสนับสนุนพรรคการเมืองของรัฐบาลท้องถิ่น เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนั้น การชุมนุมประท้วงด้วยการหยุดเรียนก็จะมีตลอดทั้งปีการศึกษา

ในสมัยที่พรรคคองเกรสของนางอินทิรา คานธี แพ้เลือกตั้งในระดับประเทศ ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน แต่ยังชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นในรัฐอุตรประเทศ และสามารถจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐอุตรประเทศได้ ปรากฎว่ามีการประท้วงรัฐบาลกลางโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยตลอดเวลา จนไม่มีเวลาเรียนหนังสือ เหตุอ้างในการประท้วงนั้นมีตั้งแต่เรื่องรถชนวัวตายกลางถนน ผักในตลาดสดราคาแพง ไปจนถึงเรื่องหนังอินเดียที่กำลังฉายอยู่ในโรงหนัง ผู้เขียนเองเคยหยุดเรียนไปร่วมชุมนุมประท้วงเกี่ยวกับเรื่องหนังอินเดียอยู่ 2 ครั้ง ครั้งแรกประท้วงหนังอินเดียที่สร้างออกมาให้นางเอกของเรื่องมีชู้ ครั้งที่ 2 ประท้วงที่หนังอินเดียเรื่องหนึ่งสร้างให้พระเอกและนางเอกตายตอนจบ การประท้วงทั้ง 2 ครั้งนั้นได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะหนังเรื่องแรกต้องถอยออกไปจากโรง ส่วนเรื่องที่ 2 ได้มีการตัดต่อใหม่ให้พระเอกและนางเอกไม่ตายตอนจบ แต่ได้ครองรักกัน

เล่าเรื่องประท้วงประกอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเมืองในมหาวิทยาลัย เพื่อให้เห็นภาพว่า มหาวิทยาลัยและพรรคการเมืองมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากเพียงใดในสังคมอินเดีย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับองค์กรทางการเมืองในทางบริหารนี้ เป็นไปในลักษณะของการให้และการรับจากกันและกันอยู่ตลอดเวลา เพราะในขณะที่นักการเมืองเข้ามาควบคุมกำกับมหาวิทยาลัยผ่านผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันนั้น มหาวิทยาลัยโดยผู้บริหารและนักศึกษาก็เข้าไปชี้นำกำกับนักการเมืองเช่นกัน

กล่าวคือ ถ้าหากว่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่พอใจนักการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่พรรคการเมืองนั้นจะแพ้การเลือกตั้งในเขตพื้นที่การศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ นักการเมืองเองจึงกลัวพลังของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน เพราะเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า หากกลุ่มนักศึกษาที่พรรคการเมืองใดหนุนอยู่ชนะเลือกตั้งในสภานักศึกษาได้ ก็แสดงว่าพรรคการเมืองที่หนุนหลังนั้นก็จะชนะเลือกตั้งในรัฐนั้น ๆ ได้ ในทางกลับกันหากพรรคการเมืองที่หนุนหลังกลุ่มนักศึกษากลุ่มใดแพ้การเลือกตั้งในมหาวิทยาลัย พรรคการเมืองนั้นก็จะแพ้การเลือกตั้งทั่วไปของรัฐนั้น ๆ เช่นกัน ด้วยความเป็นจริงเช่นนี้ พรรคการเมืองจึงไม่กล้าจะทำอะไรที่สวนกระแสของชุมชนมหาวิทยาลัยเช่นกัน ภาพของการอิงอาศัยซึ่งกันและกัน จึงมีให้เห็นได้ในความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับพรรคการเมือง

2. ความสัมพันธ์ทางการเงิน
โดยโครงสร้างขององค์กรแล้ว สถาบันอุดมศึกษาของอินเดียมีความเป็นอิสระตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ แต่ในแง่ของข้อเท็จจริงเชิงปฏิบัติ มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ถูกควบคุมโดยรัฐ ผ่านระบบการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการศึกษา ทั้งนี้เพราะมหาวิทยาลัยจะทำอะไรได้หรือไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับงบประมาณที่รัฐอุดหนุนให้มา อำนาจของผู้ให้คือรัฐ ย่อมมีเหนือผู้รับคือมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน นี่เป็นข้อเท็จจริงที่รู้ ๆ กันอยู่

จากข้อเท็จจริงในด้านการจัดสรรงบประมาณนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคการเมืองที่เข้าไปถือครองอำนาจรัฐ เป็นปฏิสัมพันธ์เชิงถ่วงดุลย์กันอยู่ไม่น้อย มองในแง่ดีก็จะเห็นภาพที่ดีคือ นักการเมืองเมื่อต้องรับผิดชอบด้านการเงินก็ต้องคิดให้ลึกให้ละเอียดว่า จะใช้เงินอย่างไรให้ได้ผลสูงสุดและมีผลดีทางการเมืองต่อตัวเขาและพรรคที่เขาสังกัด เพราะฉะนั้นฝ่ายการเมืองจึงต้องเข้าไปตรวจสอบดูแลการทำหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาว่า ได้ทำหน้าที่ให้เกิดประโยชน์เป็นที่พอใจของประชาชนหรือไม่ สถาบันการศึกษาใดไม่ฟังเสียงประชาชน ก็ย่อมจะถูกนักการเมืองเอามาอ้างเพื่อลดเงินสนับสนุน ส่วนสถาบันการศึกษาใดที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดี ก็จะมีเงินอุดหนุน หากมองในแง่มุมนี้ก็จะเห็นภาพของการถ่วงดุลย์กันดีระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ภาคการเมืองและภาคประชาชน แต่ถ้ามองในมุมกลับกัน ก็อาจจะเห็นภาพอีกอย่างหนึ่งก็ได้

ภาพอีกด้านหนึ่งของความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นคือ ภาพของความตกต่ำทางการศึกษา เพราะสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้ทำอะไรตามหลักวิชาการ หากแต่ทำตามความต้องการของภาคการเมืองที่อ้างประชาชน เพื่อให้ได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งเท่านั้น ภาพนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความไร้มาตรฐานทางวิชาการในกิจการของอุดมศึกษา การเปิดสถาบันการศึกษาใหม่ การเปิดหลักสูตรใหม่ รวมทั้งการรับนักศึกษาเข้าสู่สถาบันการศึกษา ล้วนเป็นไปตามกระแสความต้องการทางด้านการเมืองที่อ้างประชาชนอยู่ตลอดเวลา วิทยาลัยใหม่ ๆ บางแห่งเปิดขึ้นมาเพียงเพื่อให้หัวคะแนนของพรรคการเมืองในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้งานทำ และใช้เป็นสถานที่วางแผนกันทางการเมือง

มีมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ที่ตกอยู่ภายใต้การชี้นำกำหนดโดยนักการเมืองด้วยเครื่องมือคืองบประมาณทางการศึกษาที่รัฐจัดให้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยที่เคยใช้ชื่อเมือง มาเป็นชื่อนักการเมือง ก็ด้วยสายสัมพันธ์ทางการเงินและการเมืองนี่เอง ด้วยอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ ที่ทำให้มหาวิทยาลัยต้องมีสัมพันธ์กับรัฐและการเมือง ในลักษณะยอมตามความต้องการของฝ่ายการเมืองอยู่ตลอดเวลา

(2) อุดมศึกษาและองค์กรทางเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับองค์กรทางเศรษฐกิจ เพิ่งปรากฎความสำคัญขึ้นมาในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง ทั้งนี้เนื่องมาจากในอดีต อินเดียเมื่อได้รับเอกราชแล้วประกาศตัวเป็นประเทศสังคมนิยมประชาธิปไตย โดยกำหนดให้อินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยกึ่งสังคมนิยม นั่นคือ ทางการเมืองเป็นประชาธิปไตย แต่ในทางเศรษฐกิจทำให้เป็นสังคมนิยม ความเป็นสังคมนิยมในส่วนเศรษฐกิจนี้ ทำให้องค์กรภาคเศรษฐกิจที่เป็นเอกชนไม่มีบทบาทในทางสังคม ความเป็นไปในภาคเศรษฐกิจจึงเป็นไปในอำนาจรัฐ เมื่อเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเสียแล้วความสัมพันธ์กับรัฐ ผ่านฝ่ายการเมืองก็รวมไปถึงเรื่องทางเศรษฐกิจอยู่ด้วย แต่ภายหลังจากที่อินเดียปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ในปี ค.ศ. 1991 โดยเปิดโอกาสให้กับภาคเอกชน และรวมทั้งเปิดประตูทางด้านเศรษฐกิจต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้องค์กรภาคเศรษฐกิจ มีบทบาทในสังคมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

การประกาศนโยบายเศรษฐกิจของประเทศใหม่
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภาคเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากการประกาศนโยบายเศรษฐกิจของประเทศใหม่ ทำให้มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและองค์กรภาคเศรษฐกิจเอกชนไปด้วย ในอดีต ความสัมพันธ์ระหว่างสองส่วนนี้เป็นไปในลักษณะสถาบันอุดมศึกษาเป็นฝ่ายให้ และภาคเศรษฐกิจเอกชนเป็นฝ่ายรับ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรหรือความรู้ต่าง ๆ ที่ถูกผลิตขึ้นโดยสถาบันอุดมศึกษา แต่เมื่อมาถึงปัจจุบัน สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปเป็นทั้ง 2 ฝ่ายต่างเป็นฝ่ายให้และรับจากกันและกัน และนับวันดูเหมือนฝ่ายองค์กรเศรษฐกิจเอกชนจะเป็นฝ่ายนำ และกำหนดสถาบันอุดมศึกษามากขึ้นทุกขณะ

หลังจากการเปลี่ยนแนวทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ทำให้ภาครัฐที่เคยมีบทบาทสูงในการควบคุมกิจการต่าง ๆ ค่อย ๆ ลดบทบาทลง ภาคเอกชนที่เคยมีบทบาทน้อย ก็ค่อย ๆ มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น การควบคุมกำกับทิศทางของสถาบันอุดมศึกษาที่อดีตเคยอยู่ในมือของรัฐ ก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการควบคุมโดยภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะอุดมศึกษาทางวิชาชีพที่ต้องผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงานในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ นั้น ได้เปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์กับภาคธุรกิจเอกชนใหม่ จากที่เคยมีรัฐเป็นตัวกลางคอยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจเอกชน ก็กลายมาเป็นการสัมพันธ์กันโดยตรงระหว่างภาคธุรกิจเอกชนกับสถาบันอุดมศึกษา ที่ต้องทำหน้าที่แสวงหาความรู้และผลิตบุคลากรใหักับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการของเอกชน

ตระกูลตาต้า (Tata) และตระกูลพีรลา (Birla)
ความจริงในประวัติศาสตร์อุดมศึกษาของอินเดีย ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ได้เคยมีมาแล้วตั้งแต่ก่อนจะได้รับอิสรภาพจากอังกฤษด้วยซ้ำไป ดังตัวอย่างจากกรณีของตระกูลตาต้า (Tata) และตระกูลพีรลา (Birla) ที่เป็นนักธุรกิจอุตสาหกรรม แต่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพ และกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมทั้ง 2 กลุ่มนี้ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาโดยเฉพาะอุดมศึกษา ที่จะเป็นสถาบันขับเคลื่อนสังคมอินเดียไปในทิศทางที่เหมาะสม

- ตระกูลตาต้า ได้ให้เงินทุนสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันสังคมศาสตร์ตาต้า (Tata Institute of Social Science) ขึ้นที่เมืองบอมเบย์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1936 มาแล้ว
- ตระกูลพีรล่า ก็ได้สนับสนุนให้จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์พีรล่า ขึ้น 2 แห่ง ที่รัฐราชสถานแห่งหนึ่ง และที่รัฐพิหารอีกแห่งหนึ่ง

สถาบันอุดมศึกษาที่จัดตั้งขึ้น โดยการสนับสนุนของนักธุรกิจอุตสาหกรรมจาก 2 กลุ่มนี้ ต่างได้รับการยอมรับจากนักการศึกษาและประชาชนทั่วไป แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มธุรกิจตาต้าและกลุ่มพีรล่ากับสถาบันอุดมศึกษานี้ ต้องเข้าใจว่าเป็นสายสัมพันธ์พิเศษที่มีเงื่อนไขอยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองของอินเดีย ที่ผู้ก่อตั้งธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งสองกลุ่มต่างมีบทบาทในการต่อสู้ร่วมกันกับผู้นำทางการเมือง ในยุคขับไล่ผู้ปกครองอาณานิคม ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นหลังปี ค.ศ. 1991 นั้นมีนัยที่แตกต่างไป

กล่าวคือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกลุ่มตาต้าและพีรล่าในอดีตเป็นสายสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ที่เกี่ยวเนื่องกับบุคล ส่วนความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเป็นความสัมพันธ์ในเชิงระบบโครงสร้างใหม่ ที่เป็นไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ที่เข้ามาสู่อินเดีย เป็นความสัมพันธ์เชิงกลไกตลาดการค้า ที่สถาบันอุดมศึกษาเป็นเหมือนผู้ผลิต และภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้บริโภค ตัวสินค้า คือ บุคลากรที่จบการศึกษาออกมาและความรู้ที่สถาบันอุดมศึกษาเสนอให้กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม

UNISPAR (University Industry Science Partnership)
ความสัมพันธ์เชิง ซื้อ-ขายนี้ เป็นรูปแบบใหม่ของความสัมพันธ์ เพราะทั้งผู้ขายและผู้ซื้อต่างมีเงื่อนไขที่ทั้งสองฝ่ายต่างร่วมกันกำหนดขึ้น ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ลักษณะดังกล่าวนี้ ดูได้จากโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัย กับภาคอุตสาหกรรม ที่เรียกชื่อว่า UNISPAR (University Industry Science Partnership)

UNISPAR เป็นโครงการที่ริเริ่มมาจาก UNESCO ที่ผลักดันให้ประเทศสมาชิกของสหประชาชาตินำไปปฏิบัติ UGC ของอินเดียเห็นด้วยกับโครงการนี้ จึงนำมาเสนอและสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยที่มีการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำไปปฏิบัติ. UNISPAR ในอินเดียได้กำหนดวัตถุประสงค์หลักไว้ 4 ประการคือ

1. ทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ในมหาวิทยาลัย ให้ประสานสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
2. ถ่ายทอดความรู้ที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ในมหาวิทยาลัยไปสู่ภาคอุตสาหกรรม
3. ฝึกฝน อบรมความรู้ใหม่ให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรม
4. สนับสนุนการแก้ไข ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาในมหาวิทยาลัย ให้มีความทันสมัยและสนองตอบความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

วัตถุประสงค์ทั้ง 4 ข้อ แสดงให้เห็นถึงความพยายามของมหาวิทยาลัยที่จะตอบสนองลูกค้าที่เป็นผู้จ่ายเงินซื้อสินค้า มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้เข้าร่วมโครงการนี้ รัฐมหาราษฎร์ เป็นรัฐแรกที่มีการจัดตั้งศูนย์ประสาน งาน UNISPAR ระดับรัฐขึ้นในปี ค.ศ. 1998 โดยตั้งชื่อว่า New Directorate of Industry-Institute Partnership. นอกจากนี้แล้ว ในรัฐต่าง ๆ ก็ได้สร้างศูนย์ที่มีเป้าหมายคล้าย ๆ กันนี้ขึ้นในชื่ออื่น ๆ เช่น

- Technology Park
- Innovation Centre
- Technology Relay Centre

ศูนย์เหล่านี้ ล้วนได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากภาคอุตสาหกรรม และเป็นการสร้างหน่วยงานที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กับภาคธุรกิจเอกชน และนี่คือ รูปแบบใหม่ของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับองค์กรภาคธุรกิจเอกชน ในอินเดีย

(3) สถาบันอุดมศึกษาและองค์กรภาคสังคม
องค์กรภาคสังคมที่มีบทบาทมากในสังคมอินเดียคือองค์กรทางศาสนา นับจากที่อินเดียได้รับเอกราชแล้วประกาศให้อินเดียเป็นประเทศไม่มีศาสนาประจำชาติ ทำให้องค์กรทางศาสนาเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ถูกควบคุมโดยรัฐ ประกอบกับอินเดียเป็นสังคมที่ประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องทางศาสนามาก จนกระทั่งศาสนามีอิทธิพลต่อกิจกรรมต่าง ๆ ในทางสังคมเกือบทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในสังคม

อุดมศึกษาของอินเดียกับศาสนา
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในบทก่อนหน้านี้ว่า อุดมศึกษาของอินเดียอยู่ในมือของนักบวชในศาสนาของอินเดียมานานหลายพันปี อดีตที่จดจำไว้บอกความเป็นจริงข้อนี้ให้ชาวอินเดียให้รับรู้. เมื่ออินเดียได้รับเอกราช และมีอำนาจกำหนดทิศทางการศึกษาเอง เป้าหมายหนึ่งของอุดมศึกษาก็คือ การสร้างระบบคุณค่าใหม่ในสังคมให้สอดคล้องกับระบบคุณค่าของศาสนาอินเดีย. ความจริง การทำให้อุดมศึกษาเป็นเทวสถานแห่งการเรียนรู้ได้เกิดขึ้นก่อนที่อินเดียจะได้รับเอกราชแล้ว ดังในกรณีที่เกิดมหาวิทยาลัยฮินดู พาราณสี และมหาวิทยาลัยมุสลิม อัลลิการ์ห ซึ่งทั้ง 2 มหาวิทยาลัยนี้ ต่างเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ประกาศชัดเจนว่า เป้าหมายอยู่ที่การแสวงหาและสร้างความรู้ภายใต้หลักศาสนา แต่เมื่ออินเดียประกาศเป็นประเทศไม่มีศาสนาประจำชาติ การตั้งมหาวิทยาลัยโดยอ้างหลักศาสนาจึงเป็นไปไม่ได้

เพราะการตั้งมหาวิทยาลัยเป็นอำนาจและหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่องค์กรทางศาสนา และองค์กรทางศาสนาก็เป็นเอกชน ไม่ใช่องค์กรของรัฐ บทบาทขององค์กรทางศาสนาจึงไม่มีในระดับมหาวิทยาลัย แต่ทว่าในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม นั่นคือ อินเดียไม่มีมหาวิทยาลัยเอกชนก็จริง แต่อินเดียมีวิทยาลัยเอกชนอยู่จำนวนมากทั่วอินเดีย ทั้งนี้เพราะระบบมหาวิทยาลัยของอินเดียนั้นเป็นระบบที่ตัวมหาวิทยาลัยมีแต่เพียงชื่อ หากแต่การจัดการศึกษาที่แท้จริงไปอยู่ที่วิทยาลัย และบรรดาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 10,000 วิทยาลัยทั่วอินเดีย ส่วนหนึ่งเป็นวิทยาลัยขององค์กรทางศาสนา และก็เป็นที่รับรู้กันว่า ในบรรดาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยที่ตัวเองสังกัดนั้น วิทยาลัยขององค์กรทางศาสนาเป็นวิทยาลัยที่มีการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ

วิทยาลัยคริสเตียน และวิทยาลัยวิเวกนันทะ
กรณีตัวอย่างของมหาวิทยาลัยมัทราส ที่ในบรรดาวิทยาลัยในสังกัดของมหาวิทยาลัยมัทราสนั้น วิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุดคือ วิทยาลัยคริสเตียนและวิทยาลัยวิเวกนันทะ วิทยาลัยคริสเตียน เป็นวิทยาลัยขององค์กรทางศาสนาคริสต์ ขณะที่วิเวกนันทะเป็นวิทยาลัยขององค์กรศาสนาฮินดู. ทั้ง 2 วิทยาลัยนี้ เป็นวิทยาลัยชั้นดีมากของมหาวิทยาลัยมัทราส ดร.ราธกฤษณัน ประธานกรรมมาธิการการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คนที่ 2 ของอินเดีย ก็จบการศึกษาจากวิทยาลัยคริสเตียน มัทราส

นักศึกษาไทยที่ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมัทราส ส่วนใหญ่ก็จบการศึกษาจาก 2 วิทยาลัยนี้ และทั้ง 2 วิทยาลัยก็จัดการศึกษาตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมัทราส แต่บรรยากาศการศึกษาต่างเป็นไปตามคติแห่งศาสนา นักศึกษาไทยที่เป็นพระภิกษุศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยวิเวกนันทะ บอกเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า การเป็นอยู่ที่หอพักของวิทยาลัยวิเวกนันทะนั้นเคร่งครัดมาก ยิ่งกว่าอยู่ในวัดที่ประเทศไทย เช่น จะต้องฉันอาหารที่เป็นมังสวิรัติเท่านั้น ห้ามฉันเนื้อสัตว์โดยเด็ดขาด จะต้องทำวัตร บำเพ็ญภาวนาเช้า-เย็น ทุกวัน ขาดมิได้ ใครละเมิดระเบียบปฏิบัติอาจจะถูกพิจารณาไล่ออกจากหอพัก เคยมีกรณีที่อาจารย์ผู้ควบคุมดูแลหอพักพบเปลือกไข่ไก่อยู่ในบริเวณใกล้หอพัก จึงเป็นเหตุให้มีการสอบสวนว่า มีนักศึกษาผู้ใดที่พักอาศัยอยู่ที่หอพักรับประทานไข่ไก่ เพราะการรับประทานอาหารที่มีไข่ แสดงว่าละเมิดระเบียบของหอพัก กรณีตัวอย่างนี้ย่อมอธิบายบรรยากาศของการศึกษาในวิทยาลัยที่เป็นขององค์กรทางศาสนาได้ดี แม้แต่วิทยาลัยรัฐบาล (Government College) ของแต่ละวิทยาลัย ก็มีการบริหารจัดการภายใต้บรรยากาศทางศาสนา

หมายเหตุ: เมื่อผู้เขียนเป็นนักศึกษามาอยู่ที่วิทยาลัยมีรัท (Meerut College) ในสังกัดของมหาวิทยาลัยมีรัท (Meerut University) หอพักนักศึกษาก็ถูกจัดแยกโดยศาสนา คือ มีหอพักฮินดู และหอพักมุสลิม การเป็นอยู่ในแต่ละหอพักก็เป็นไปตามหลักศาสนา

เมื่อกล่าวโดยเนื้อหาสาระแล้ว สถาบันอุดมศึกษากับองค์กรทางศาสนามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มต้นของการมีสถาบันอุดมศึกษาแบบใหม่ในอินเดีย ที่เริ่มต้นจาก Madrassa College และ Sanskrit College แม้ต่อมาผู้ปกครองอังกฤษจะพยายามทำให้อุดมศึกษาปลอดพ้นจากศาสนาก็แต่เพียงเฉพาะภายนอกเท่านั้น หากแต่เนื้อในแล้ว อุดมศึกษาของอินเดียนั้นส่วนหนึ่งยังแนบแน่นอยู่กับศาสนา

สถาบันอุดมศึกษาทางการเกษตร (Rural University) กับชุมชนเกษตรกรอินเดีย
ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและองค์กรภาคประชาชนที่ชัดเจนและเป็นความสัมพันธ์ที่น่าสนใจมากในสังคมอินเดีย คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาทางการเกษตรกับชุมชนเกษตรกร. ความสัมพันธ์ส่วนนี้ เกิดขึ้นมาจากการที่มหาวิทยาลัยทางด้านวิชาการเกษตรถูกจัดตั้งขึ้นจากแนวคิดเรื่องมหาวิทยาลัยชนบท (Rural University) ซึ่งปรากฎอยู่ในรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการราธกฤษณัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 แล้ว

การจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์ของชุมชนในชนบทที่เป็นภาคเกษตรกรรม มาปรากฎเป็นรูปธรรมชัดเจนในข้อเสนอของคณะกรรมาธิการโกธารี ในปี ค.ศ. 1968 ที่เสนอให้แต่ละรัฐจัดตั้งมหาวิทยาลัยทางด้านการเกษตรของตนเองขึ้น และข้อเสนอนี้ได้ปรากฎเป็นจริงอยู่ในปัจจุบันนี้ ที่ทุก ๆ รัฐมีมหาวิทยาลัยทางด้านการเกษตรเป็นของตนเองอย่างน้อย 1 แห่ง แต่รัฐที่มีพื้นที่กว้างและประชากรมากก็มีมากกว่า 1 แห่ง ซึ่งในปัจจุบันนี้มีมหาวิทยาลัยทางการเกษตรมากกว่า 40 แห่ง อยู่ทั่วอินเดีย และแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีความรับผิดชอบในเขตพื้นที่ของตนเองในการให้บริการความรู้กับชุมชนเกษตรกร

มหาวิทยาลัยทางด้านการเกษตร การเรียนรู้ร่วมกับชุมชน
ภารกิจของมหาวิทยาลัยทางด้านการเกษตรนั้น นอกจากการสอน การศึกษา ค้นคว้า วิจัยแล้ว ยังมีภารกิจที่สำคัญมากคือการศึกษาเรียนรู้ร่วมกับชุมชน (Extension Education). การศึกษาเรียนรู้ร่วมกับชุมชนนี้ เป็นบทบาทที่เป็นหัวใจสำคัญของระบบมหาวิทยาลัยทางด้านการเกษตรของอินเดียดังที่กล่าวมาแล้ว ในส่วนนี้อยากจะชี้ให้เห็นว่า การศึกษาเรียนรู้ร่วมกับชุมชนนั้น เป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจมากในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ดังที่ศาสตราจารย์ วี.เค ปาติล (Prof. V.K. Patil) อธิการบดีมหาวิทยาลัยการเกษตรมรัตถวาดา ได้กล่าวไว้ว่า

"วันนี้ มหาวิทยาลัยทางการเกษตรในอินเดียได้ประจักษ์แล้วว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับผู้รับประโยชน์หรือกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นแกนสำคัญของสังคมชนบท มีความสำคัญมาก หากปราศจากเครือข่ายความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับชุมชนแล้ว ไม่มีมหาวิทยาลัยทางการเกษตรแห่งใดจะประสบความสำเร็จและความรุ่งเรืองอยู่ได้ เมื่อขาดเครือข่ายความสัมพันธ์เสียแล้ว โครงสร้างทุก ๆ ส่วนของมหาวิทยาลัยก็จะหักพังลง และภารกิจทั้งหมดของมหาวิทยาลัยก็จะมาถึงจุดหยุดนิ่งไม่มีความหมายใด ๆ ดังนั้น มหาวิทยาลัยทางการเกษตรทุก ๆ แห่ง ควรจะสร้างระบบกลไกที่มีปฏิสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพกับชุมชน"

คำกล่าวของท่านอธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยทางด้านการเกษตรท่านนี้ นับว่าน่าสนใจมาก เพราะได้สะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทางด้านการเกษตรในสังคมอินเดีย

มหาวิทยาลัยการเกษตรเกราล่า และ Extention Education
จากประสบการณ์ในช่วงเวลาสั้นในการเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยการเกษตรเกราล่า ที่เมืองตรีชูร์ ได้พบภาพที่น่าประทับใจในการศึกษาเรียนรู้ร่วมกับชุมชนของอาจารย์และนักศึกษา. เมื่อผู้เขียนสงสัยว่า Extension Education ของทางมหาวิทยาลัยมีความหมายอย่างไร จะหมายถึงการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรหรือเปล่า เขาตอบมาว่าไม่ใช่ เพราะ Extention Education ไม่ใช่การสอนชาวบ้าน แต่เป็นการช่วยให้ชาวบ้านมีความสามารถที่จะเรียนรู้ในปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ และสามารถแก้ปัญหานั้น ๆ ได้

ตัวอย่างที่อาจารย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของ Extension Education หรือ การเรียนรู้ร่วมกับชุมชนได้ยกขึ้นมาเล่าให้ฟังเป็นตัวอย่างที่ดีมาก เป็นเรื่องความสำเร็จของเกษตรกรชาวเกราล่า ชื่อ คุณกูเรียโกศะ (Mr. Kuriakose) อายุ 34 ปี มีอาชีพทำสวนสับปะรด จากการศึกษาร่วมกันระหว่างคุณกูเรียโกศะ กับนักศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัย ทำให้คุณกูเรียโกศะ สามารถพัฒนาพันธุ์สับปะรดจนมีผลผลิตชนะเลิศรางวัลผลผลิตการเกษตรดีเด่นแห่งอินเดีย รางวัลชนะเลิศนี้เป็นของคุณกูเรียโกศะผู้เป็นเกษตรกร ไม่ใช่ของนักศึกษาและอาจารย์

เพราะอาจารย์และนักศึกษาก็ไม่มีความรู้ในการปลูกสับปะรดเท่ากับคุณกูเรียโกศะ แต่เพราะไปศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เกษตรกรรายนี้สามารถพัฒนาพันธุ์สับปะรดให้มีผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ นี่เป็นความรู้ของเกษตรกรที่อาจารย์ผู้สอนก็ไม่เคยมีความรู้มาก่อน ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต่างได้ความรู้จากการศึกษาเรียนรู้ร่วมกันในไร่สับปะรด รางวัลที่ได้รับจึงเป็นรางวัลของเกษตรกรที่มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เพียงแค่ไปช่วยให้เขามีความสามารถที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นปัญหาในการทำการเกษตรของเขา. เรื่องเล่านี้น่าพิจารณา เพราะความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ผลผลิตอันเป็นวัตถุ หากแต่อยู่ที่ท่าทีและระบบในการเรียนรู้ที่ลุ่มลึก และมีคุณค่ามหาศาลในทางสังคม

ตัวอย่างของความสัมพันธ์ ระหว่างมหาวิทยาลัยทางการเกษตรในรัฐเกราล่ากับชุมชนมีอีกมากที่น่าสนใจ แต่ละกิจกรรมที่เขาเล่าให้ฟังทำให้ผู้เขียนอยากไปดูด้วยสายตาว่า เขาทำอะไรและทำได้อย่างไร เพราะเพียงแต่ฟังเขาเล่ายังอดตื่นเต้นในความก้าวหน้าของเขาไม่ได้ เพราะนี่แหละ คือความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างแท้จริง. ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนเกษตรกรของมหาวิทยาลัยทางการเกษตร เป็นอีกมิติหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างวิชาการกับชีวิต ที่เป็นความสัมพันธ์เชิงเกื้อกูลต่อกันและกัน เพราะทั้ง 2 ฝ่าย ต่างให้และรับจากกันอย่างน่าชื่นชม

ย้อนอ่านบทความเกี่ยวเนื่อง: ธรรมนูญอุดมศึกษาอินเดียหลังอาณานิคม
อ่านบทความเกี่ยวเนื่อง: ผลผลิตและผลกระทบของอุดมศึกษาอินเดีย มหาวิทยาลัยกับชาวบ้าน

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๑ : Release date 20 May 2008 : Copyleft by MNU.

หากมองการเมืองในเชิงรูปแบบกันแล้ว อินเดียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีรูปแบบทางการเมืองที่ดีมากประเทศหนึ่ง และแน่นอนว่า ความดีงามทางการเมืองนี้ สถาบันอุดมศึกษามีส่วนร่วมอยู่ในการธำรงรักษารูปแบบนี้ไว้ด้วย แต่ตรงนี้ก็ต้องเข้าใจว่าสถาบันอุดมศึกษาที่กล่าวถึง หมายถึงสถาบันอุดมศึกษาที่ทำหน้าที่กล่อมเกลาประชาชน ด้วยจิตสำ นึกแบบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม ที่อังกฤษปกครองอินเดียอยู่ ถ้าจะกล่าวว่าสิ่งที่ระบบอุดมศึกษาของอินเดียในยุคอาณานิคมนั้น มอบไว้ให้กับประชาชนอินเดียแล้ว และไม่ถูกตั้งข้อรังเกียจและวิพากย์วิจารณ์ในเชิงลบ ก็เห็นจะเป็นสำนึกทางการเมืองแบบประชาธิปไตยนี้เอง เพราะแม้ว่าจะรังเกียจอะไรหลายๆ อย่าง แต่สังคมอินเดียกลับไม่รังเกียจความสำนึกทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่นำเข้ามา

H