ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




15-05-2551 (1558)

อย่าตกเป็นเหยื่อยุทธศาสตร์ช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง
๒๑ วันอันตราย: ปาก(กา)ฆ่าความสงบ สงครามชิงพื้นที่ความจงรักภักดี (๑)
สมเกียรติ ตั้งนโม: รวบรวมและคำนำ
ข้อมูลเฝ้าระวังสถานการณ์ร้อน ระวังรวันดาในประเทศไทย

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

บทความเพื่อสิทธิพลเมือง การเมือง สังคม และวัฒนธรรม
บทความต่อไปนี้รวบรวมมาจากข้อมูลหลายแหล่ง ทั้งจดหมายอิเล็กทรอนิก
ข้อมูลจากสื่ออินเตอร์เน็ท หนังสือพิมพ์ บทสัมภาษณ์ และกระดานข่าว ฯลฯ
ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลการศึกษาสถานการณ์ร้อนของประเทศไทยในรอบ ๒๑ วันที่ผ่านมา
(ตั้งแต่วันที่ ๒๔ เมษายน - ๑๕ พฤษภาคม ๕๑)นับจากกรณีนายโชติศักดิ์และเพื่อน ไม่ยืนใน
โรงภาพยนตร์ จนกระทั่งถึงเรื่องการยั่วยุ ปลุกปั่น ของสื่อมวลชนบางค่ายให้มีการทำร้ายร่างกาย
ตลอดรวมถึงการผูกโยงเป็นทฤษฎีสมคบคิด และแถลงการณ์จากนักวิชาการ และองค์กรสื่อมวลชน
ที่เตือนให้เฝ้าระวังเหตุการณ์ร้ายที่อาจเกิดขึ้นดั่งโศกนาฏกรรมของประเทศรวันดา ที่มีเหยื่อ
ซึ่งเป็นประชาชนธรรมดาต้องเสียชีวิตถึง ๕ แสนคน ย่อมเป็นประจักษ์พยานได้อย่างดีเกี่ยวกับ
ความร้ายกาจของ"สื่อเพื่อความตาย"ต่อหน้าสังคมโลก กรณีประเทศรวันดาสื่อดังกล่าว
ถูกขานนามว่า "วิทยุแห่งความตาย"

เนื่องจากต้นฉบับของบทความนี้มีความยาวกว่า ๘๔ หน้ากระดาษ A4 จึงได้แบ่งการนำเสนอ
บนเว็บเพจออกเป็น ๔ ตอน โดยเรียงลำดับได้ถึง ๒๒ หัวข้อเรื่อง ตามวันเวลาเหตุการณ์เหล่านี้
เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับสถานการณ์ร้อนที่ผ่านมาได้ปรากฎอยู่ทั่วไป
บนสื่อหลายชนิด หากท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติม สามารถส่งมาที่ email address ข้างล่างนี้
midnightuniv(at)gmail.com
หมายเหตุ: เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอสงวนสิทธิ์ในการตรวจข้อมูลความจริงที่ได้รับ
โดยนักกฎหมายของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก่อนทุกครั้งที่จะมีการนำสเนอเพิ่มเติม


บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๕๘
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๓ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อย่าตกเป็นเหยื่อยุทธศาสตร์ช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง
๒๑ วันอันตราย: ปาก(กา)ฆ่าความสงบ สงครามชิงพื้นที่ความจงรักภักดี (๑)
สมเกียรติ ตั้งนโม: รวบรวมและคำนำ
ข้อมูลเฝ้าระวังสถานการณ์ร้อน ระวังรวันดาในประเทศไทย

ยุทธศาสตร์แย่งชิงพื้นที่ความจงรักภักดี กรณีสื่อมวลชนกับความรุนแรง
ลำดับตอน และหัวเรื่องต่างๆ ๒๕ เรื่อง

ตอนที่ ๑ ประกอบด้วย
๑. หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, ๒. เผยโฉม "โชติศักดิ์" ไม่ยืนตรงเพลงสรรเสริญ-โทษถึงคุก, ๓. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: ธรรมเนียมการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี,
๔. พรรคแนวร่วมภาคประชาชน ลงชื่อให้กำลังใจโชติศักดิ์และเพื่อน, ๕. ข่าวที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์: ว่าด้วยเรื่อง 'โชติศักดิ์ อ่อนสูง' , ๖. Silence of the Lamp: ข่าวที่ไม่เป็นข่าว...เมื่อสื่อปิดปาก, ๗. เปิดกฎหมายความผิดฐานไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ปรับ 100 บาท หรือจำคุก 1 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ, ๘. บทความ : สมรรถภาพ 'ยาม' เฝ้าแผ่นดิน


ตอนที่ ๒ ประกอบด้วย
๙. 'องค์กรวิชาชีพสื่อ' จี้ ตร.จัดการม็อบป่วน ทำร้ายช่างภาพช่อง ๗, ๑๐. น่าเสียดาย...เว็บประชาไท, ๑๑. Republic of Thailand, ๑๒. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล:ผู้จัดการ-พันธมิตร กำลังก่อกระแส 'ละคอนแขวนคอ' ยุคใหม่, ๑๓. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ - อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์: จดหมายถึงผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ, ๑๔. กระจก ส่อง "สื่อ" กระจก ส่อง สังคมไทย จาก 2 นักวิชาการ, ๑๕. Silence of the lamp: หมาเฝ้าบ้าน - อุดมการณ์สื่อ?

ตอนที่ ๓ ประกอบด้วย
๑๖. นักสหภาพแรงงาน นักกิจกรรมทางสังคม นักศึกษา และนักวิชาการ กว่า 130 คนลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกประณามพฤติกรรมของสื่อ ผู้จัดการ, ๑๗. สัมภาษณ์สมเกียรติ ตั้งนโม: 3 แนวทางดับวิกฤติ พุ่งเป้าที่ 'ตำรวจ-สื่อ-สถาบันอุดมศึกษา', ๑๘. แถลงการณ์สถานีวิทยุชุมชนเจ้าฟ้า FM 97.75 MHZ, ๑๙. สัมภาษณ์ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๐. คลื่นแห่งความเกลียดชัง: สื่อกับความรุนแรง(THE MEDIA AND THE RWANDA GENOCIDE)

ตอนที่ ๔ ประกอบด้วย
๒๑. 'สื่อเป็นพิษ' อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, ๒๒. ธง...ธงชาต

ความนำ
บทความชิ้นนี้ เริ่มเก็บรวบรวมเรื่องราว เหตุการณ์ ยุทธศาสตร์แย่งชิงพื้นที่ความจงรักภักดีรอบใหม่ (ตั้งแต่วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๑ - [จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ] - ถึงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑ [จากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและหนังสือพิมพ์มติชน] รวมเวลา ๒๑ วัน) เพื่อสะท้อนให้เห็นบรรยากาศการพิฆาตกันทางการเมือง โดยหยิบเอาข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย มาตรา ๑๑๒ มาเป็นเครื่องมือในการประหารฝ่ายตรงข้าม

ก่อนหน้านี้ คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า เราไม่สนับสนุนการนำเอากรณี ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ มาใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง และเสนอให้มีการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏในบทความถอดเทป มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนลำดับที่ ๘๙๙, ๙๐๐ และ ๙๐๑ และอีกหลายบทความทั้งบนหน้าเว็บหลักและกระดานข่าวฯ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

๘๙๙. คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ : พิทักษ์สถาบันหรือเครื่องมือคุกคามประชาชน (ตอนที่ ๑)
(เวทีอภิปรายประกอบด้วย ศ.ดร.คณิต ณ นคร และ ไพโรจน์ พลเพชร)

๙๐๐. คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ : พิทักษ์สถาบันหรือเครื่องมือคุกคามประชาชน (ตอนที่ ๒)
(เวทีอภิปรายประกอบด้วย พล.ต.ท. สมเกียรต พ่วงทรัพย์ และ โสภณ สุภาพงษ์)

๙๐๑. ทางออก : ถึงเวลาปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
(รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ, ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล, วสันต์ พานิช, ตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์)

สำหรับผู้สนใจสามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่

โดยกิจกรรมทางวิชาการกฎหมายนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ร่วมมือกับสมาคมนักข่าวฯ จัดขึ้น ณ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ
และถอดเทปเผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่

http://midnightuniv.org/midnight2545/document95084.html,
http://midnightuniv.org/midnight2545/document95083.html,
http://midnightuniv.org/midnight2545/document95082.html

ตั้งแต่วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา ข้อสังเกตคือ ในครั้งนั้น ดังที่ปรากฏในบทความลำดับที่ ๙๐๑ นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ ซึ่งเป็นตัวแทนจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ก็ได้รับเชิญมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเวทีอภิปรายด้วย โดยขึ้นเวทีวิชาการกับ รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่), และนายวสันต์ พานิช (ตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ)

คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้แสดงออกถึงการไม่เห็นด้วย ต่อกรณีการหยิบเอาข้อหาข้างต้นมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง เข้าลักษณะการทำสงครามการเมืองเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบบนพื้นที่ความจงรักภักดี ซึ่งฝ่ายปฏิกริยาขวาสุดมักหยิบมาใช้และทำร้ายฝ่ายที่เห็นตรงข้ามอย่างรุนแรง ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ และเรื่อยมาจนกระทั่ง เหตุการณ์พฤษภาเลือด ๒๕๓๕ ก่อนที่จะมีการทำลายฝูงชนที่ถนนราชดำเนิน ซึ่งครั้งนั้น พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้ถูกจับกุมด้วยบนถนนสายดังกล่าว

ในเบื้องต้นเกี่ยวกับการรวบรวมเรื่องราว เหตุการณ์ ยุทธศาสตร์แย่งชิงพื้นที่ความจงรักภักดี(ครั้งใหม่นี้) ผู้รวบรวมขอนำเสนอบทความเรื่อง"หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ของ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน) มาเป็นบทตั้ง และต่อด้วยข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการฉบับวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๑ เรื่อง เผยโฉม "โชติศักดิ์" ไม่ยืนตรงเพลงสรรเสริญ-โทษถึงคุก! (พร้อมรูปถ่ายนายโชติศักดิ์) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่บทความรวบรวมชิ้นนี้ใช้เป็นต้นทางของกรณีข้อกล่าวหา หมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ (รอบใหม่) จนพัฒนาไปสู่ทฤษฎีสมคบคิดที่ประกอบสร้างขึ้นมาจากสื่อมวลชนฯ และถัดจากนั้นจะนำเสนอข้อมูลที่มีทั้งแถลงการณ์ บทความ บทสัมภาษณ์ ข้อมูลเชิงกฎหมาย การแนะนำหนังสือ ฯลฯ ที่ปรากฏอยู่บนกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หนังสือพิมพ์ และสื่ออื่นๆ โดยลำดับ

หมายเหตุ : เนื่องจากข้อมูลที่รวบรวม ส่วนใหญ่นำมาจากจดหมายอิเล็กทรอนิก หนังสือพิมพ์ สื่ออินเตอร์ และกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ฯลฯ ด้วยเวลาอันจำกัด จึงอาจทำให้เนื้อความขาดหายไปบางส่วน และผู้รวบรวมยินดีรับข้อมูลที่ขาดห้วงไปทั้งหมด โดยผู้สนใจ สามารถส่งข้อมูลมาเพิ่มเติมได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com เพื่อจะได้รวบรวมและเผยแพร่บนกระดานข่าวเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนต่อไป (อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอสงวนสิทธิ์ในการตรวจข้อมูลความจริงที่ได้รับ โดยนักกฎหมายของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก่อนทุกครั้งที่จะมีการนำสเนอเพิ่มเติม)

๑. หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การกระทำที่เรียกกันว่าความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือความแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี"

ในฐานะประมุขของรัฐ บทบัญญัติในมาตรานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลงโทษบุคคลใดที่ได้กระทำให้เกิดความเสื่อมเสียกับพระมหากษัตริย์ และรวมถึงเป็นการป้องกันไม่ให้มีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้น. แต่สำหรับสังคมการเมืองไทย ข้อกล่าวหาเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นได้กลายมาเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจเพื่อใช้ในการขจัดหรือเล่นงานบุคคลโดยเฉพาะผู้ที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับผู้มีอำนาจ. ยิ่งในห้วงเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองในระดับสูงก็จะมีการนำเอาข้อหานี้มาใช้กันบ่อยครั้งขึ้น ดังจะเห็นได้จากในห้วงเวลาที่มีการเคลื่อนไหวขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้มีการแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับบุคคลเป็นจำนวนมาก

เงื่อนไขที่ทำให้ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง มีดังนี้

ประการแรก: ในขั้นตอนการริเริ่มคดี หากเปรียบเทียบกับความผิดฐานหมิ่นประมาททั่วไปบุคคลซึ่งถูกกล่าวพาดพิง จะเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะดำเนินคดีกับผู้ที่ได้กระทำการในลักษณะหมิ่นประมาทหรือไม่ ผู้ถูกพาดพิงจึงต้องแสดงเจตนาด้วยตนเองในอันที่จะปกป้องสิทธิของตนเอง

กรณีของการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในความผิดนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง เนื่องจากถือว่าเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน แน่นอนว่าการหมิ่นประมาทต่อพระมหากษัตริย์ย่อมมีลักษณะที่แตกต่างไปจากการหมิ่นประมาทระหว่างบุคคลธรรมดาด้วยกัน เนื่องจากเกี่ยวพันถึงพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ จึงมีการกำหนดให้มีความแตกต่างกันโดยไม่ถือว่าเป็นความผิดต่อส่วนตัวที่คู่กรณีต้องดำเนินการด้วยตนเอง

และด้วยเหตุนี้ จึงเปิดช่องให้มีการใช้ข้อหานี้ปรักปรำผู้อื่นเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย เพียงการจ้างวานลูกน้องของตัวไปแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลที่เป็นคู่ปรปักษ์ทางการเมือง โดยอาศัยคำพูดบางคำที่อาจเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมมาเป็นฐานของความผิดนี้. ดังจะเห็นได้ว่าในการดำเนินคดีความผิดดังกล่าว มักเกิดขึ้นจากบุคคลบางคนถือหนังสือพิมพ์ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากนั้นก็จะหายหน้าหายตาไปจากกระบวนการยุติธรรม และเป็นที่ชัดเจนว่าการแจ้งความนั้นเป็นการมุ่งต่อบุคคลที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับผู้มีอำนาจในทางการเมือง ลองนึกถึงบุคคลที่เคยหรือกำลังถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ ก็ล้วนแต่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น ส.ศิวรักษ์, สนธิ ลิ้มทองกุล, หากไม่ต้องการให้มีการใช้ข้อหานี้ในทางการเมือง ก็ต้องจำกัดการริเริ่มคดีอยู่กับองค์กรบางองค์กรไม่เปิดให้บุคคลธรรมดาเป็นผู้ริเริ่มได้อย่างง่ายๆ

ดังเช่น อาจให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจว่า จะดำเนินคดีกับผู้ใดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ ซึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีที่การดำเนินคดีนั้นไม่ถูกลงโทษก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการหวังผลทางการเมืองเท่านั้น แตกต่างจากปัจจุบันที่มีสามารถใช้ลูกน้องเป็นผู้ริเริ่มคดีได้โดยง่าย

ประการที่สอง: ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม จากขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการ ทั้งสองหน่วยงานนี้มีบทบาทต่อการช่วยกลั่นกรองคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าคดีในลักษณะนี้ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง หากเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการได้ปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมาในส่วนของการสืบสวนสอบสวนคดี ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานอย่างสุจริต ก็จะช่วยไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งบุคคลโดยน้ำมือของผู้มีอำนาจทางการเมืองได้ แต่ในทางปฏิบัติจริง จะพบว่ากระบวนการยุติธรรมในส่วนนี้แทบไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน หลายคดีที่ได้มีการดำเนินการฟ้องร้องคดีสู่ศาลก็ได้ถูกยกฟ้องไป ย่อมแสดงให้เห็นว่า การทำงานของกระบวนการยุติธรรมยังคงอยู่ภายใต้อำนาจทางการเมือง ไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระในการตัดสินใจต่อคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ในอดีตที่ผ่านมา มีคดีของนายประเดิม ดำรงเจริญ เมื่อ พ.ศ.2517 ถูกฟ้องว่าตีพิมพ์บทกลอนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, ส.ศิวรักษ์ ถูกกล่าวหาว่าปาฐกถามีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ทั้งหมดล้วนถูกยกฟ้องว่ามิได้เป็นการกระทำที่เป็นความผิดแต่อย่างใด. ตรงกันข้าม หากเป็นการร้องเรียนว่าบุคคลผู้มีอำนาจในทางการเมืองเป็นผู้กระทำผิดจะพบว่าขั้นตอนต่างๆ แทบไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ขณะที่คดีของฝ่ายตรงกันข้ามกับดำเนินการอย่างรวดเร็ว

คำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.ต.วินัย ทองสอง พนักงานสอบสวนซึ่งรับผิดชอบในคดีของนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง

"ขณะนี้ได้สอบสวนพยานไปแล้วกว่า 100 ปาก โดยมีหลักฐานทั้งภาพและเสียง ผู้สื่อข่าวถามว่าพนักงานสอบสวนเลือกปฏิบัติหรือไม่ ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยกับนายสนธิ เพราะที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณก็พูดจาพาดพิงเบื้องสูง. พล.ต.ต.วินัยกล่าวด้วยน้ำเสียงเคร่งขรึมว่า พูดหมิ่นตรงไหน ให้บอกรายละเอียดมา หมิ่นตรงไหน ที่ผ่านมาไม่มีใครพูดหมิ่นชัดเจนเท่ากับนายสนธิอีกแล้ว" (มติชนรายวัน, 22 เมษายน 2549 หน้า 14)

ประการที่สาม: การตีความของศาลในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ความผิดฐานนี้เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา ดังนั้น ในการตีความมาตราดังกล่าว จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด อันเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของการใช้กฎหมายอาญา

สำหรับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ

- หนึ่ง เป็นการกระทำโดยเจตนา
- สอง การกระทำนั้นเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น
- สาม กระทำต่อพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

แต่ในการตัดสินของศาลในหลายคดีทำให้เกิดการตั้งคำถามได้ว่า เป็นการตีความบทบัญญัติของมาตรานี้ตามหลักกฎหมายอาญาหรือไม่ เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1294/2541 หลังการอภิปรายสิ้นสุดมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี ประชาชนที่ฟังการอภิปรายทุกคนได้ยืนตรง ระหว่างที่เพลงยังไม่จบ จำเลยได้กล่าวถ้อยคำว่า "เปิดเพลงอะไร ฟังไม่รู้เรื่อง" และจำเลยมิได้ยืนตรง กรณีนี้ศาลได้ตัดสินว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

จะเห็นได้ว่าในกรณีนี้เป็นการไม่เคารพต่อสัญลักษณ์ที่แสดงถึงพระมหากษัตริย์ โดยที่ไม่ได้กระทำต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง หากยอมรับการตีความเช่นนี้ก็อาจทำให้ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอาจขยายออกไปครอบคลุมถึงการกระทำอื่นที่มีต่อสัญลักษณ์ ซึ่งมีความหมายถึงพระมหากษัตริย์ได้เช่นเดียวกัน เช่น รถยนต์พระที่นั่ง พระบรมมหาราชวัง ธนบัตร หรือเงินตรา

การตีความในลักษณะนี้อาจเหมือนในยุคศักดินาของยุโรป ที่ได้ถือเอาการปลอมเงินตราเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากมีพระบรมฉายาลักษณ์หรือเครื่องหมายแสดงถึงกษัตริย์อยู่ในเงินตรา ซึ่งต้องตระหนักว่าการตีความเช่นนี้เป็นการใช้กฎหมายในยุคศักดินาที่แนวคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชนแตกต่างไปจากปัจจุบันอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีการตีความที่เป็นการยึดเอาเพียงถ้อยคำบางถ้อยคำ มาเป็นเงื่อนไขในการตัดสินลงโทษ โดยบางครั้งเป็นการทะเลาะวิวาทระหว่างบุคคลและมีการพลั้งปากพาดพิงไปถึงพระมหากษัตริย์ในทางเปรียบเปรย ก็อาจเข้าข่ายการกระทำที่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ด้วยเช่นกัน. การไม่แยกแยะระหว่าง"การกระทำที่เป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์" กับ "การกระทำที่ไม่เหมาะสม" จึงอาจเป็นการขยายความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้เลยเถิดออกไป นับเป็นการตีความที่ไม่ได้อยู่บนหลักกฎหมายอาญา ซึ่งต้องใช้อย่างเคร่งครัด

จากเงื่อนไขดังกล่าวในกระบวนการยุติธรรมของไทย ทำให้การกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตกเป็นเครื่องมือเพื่อหวังผลประโยชน์ในทางการเมืองได้โดยง่ายมากกว่าจะเป็นการกระทำที่มุ่งปกป้องสถาบันกษัตริย์

๒. เผยโฉม "โชติศักดิ์" ไม่ยืนตรงเพลงสรรเสริญ-โทษถึงคุก!
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการฉบับวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๑
http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9510000048141

ทนายแมกไซไซ ชี้ใครไม่ยืนตรงเมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงชาติ มีโทษจำคุกสถานเดียว ระบุศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาในเรื่องนี้มาแล้ว ขณะที่ตำรวจสั่งดำเนินคดีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว

วันนี้ (24 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในอินเทอร์เน็ต ตามเว็บไซต์ต่างๆ และสถานีวิทยุบางสถานี ถึงกรณีที่ นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง อายุ 27 ปี กับพวก ถูก นายนวมินทร์ วิทยากุล อายุ 40 ปี เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ให้ดำเนินคดีต่อนายโชติศักดิ์ ฐานไม่ยืนตรงแสดงความเคารพในโรงภาพยนตร์ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างเพลงสรรเสริญพระบารมี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2550 โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ร.ต.ท.โสเพชร จันทร์พลงาม พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ได้เรียกตัว นายโชติศักดิ์ มารับทราบข้อหา หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" ทั้งนี้ ระหว่างที่ นายโชติศักดิ์ เดินทางไปรับทราบข้อหานั้น ได้ถือป้ายและสวมเสื้อสกรีนข้อความ "ไม่ยืน ไม่ใช่อาชญากร คิดต่าง ไม่ใช่อาชญากรรม" ที่หน้าโรงพักด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเรื่องดังกล่าวกลายเป็นคดีความและเวลาล่วงเลยมาราว 7 เดือน คณะกรรมการกองบัญชาการตำรวจนครบาล จึงมีความเห็นให้ออกหมายเรียกนายโชติศักดิ์ มารับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวไปชั่วคราว เนื่องจากนายโชติศักดิ์เดินทางเข้ารายงานตัวด้วยตนเอง

นายทองใบ ทองเปาด์ อดีต ส.ว.มหาสารคาม ทนายความรางวัลแมกไซไซ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกสูงถึง 7 ปี และถือว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งการยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงชาติ ทุกคนต้องกระทำด้วยความสุภาพ ยืนตัวตรง ห้ามแกว่งแขน หรือยืนยิ้ม ต้องยืนด้วยความสงบเรียบร้อย ซึ่งในอดีตเคยมีเหตุการณ์นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องติดคุก 2 ปี เพราะไม่ลุกขึ้นยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ขณะไปฟังการปราศรัยที่ท้องสนามหลวง โดยเฉพาะในโรงภาพยนตร์จะมีข้อความระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า "โปรดยืนถวายความเคารพ". "แม้จะอยู่ ณ ที่แห่งใด เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงชาติ ทุกคนต้องยืนตัวตรงนิ่งทำความเคารพ" นายทองใบ กล่าว. ทนายความผู้นี้ ระบุด้วยว่า หากบุคคลใดเห็นหรือแจ้งความเอาผิดกับผู้ที่ไม่ลุกขึ้นยืน หรือยืนไม่สุภาพ และมีพยานเห็นชัดเจน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะรับแจ้งความอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้น และนำเรื่องขึ้นสู่ศาลฎีกามาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีไปยังตำรวจ สน.ปทุมวัน แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยระบุว่าคดีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่มีรายงานแจ้งว่า ในแนวทางการสืบสวนของตำรวจจะนำพยานหลักฐานต่างๆ มาอ้างอิง จากนั้นจะสรุปสำนวนส่งฟ้องศาล ซึ่งมีโทษถึงขั้นติดคุก เนื่องจากการที่ใคร หรือบุคคลใดก็ตาม ไม่ยืนถวายความเคารพต่อทั้งเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ถือว่าบุคคลผู้นั้น มีความผิดทางอาญา หมิ่นเบื้องสูง ต้องถูกดำเนินคดี

ทั้งนี้ การวิพากษ์วิจารณ์ในเว็บไซต์ต่างๆ เกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในเว็บไซต์พันทิป นายโชติศักดิ์ได้เข้าไปโพสต์ชี้แจง และอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดว่า "เมื่อวาน(20 ก.ย.) ผมและเพื่อนชื่อ ชุติมา ได้เข้าไปดูหนังที่ชั้น 9 เซ็นทรัลเวิลด์ (หนังรอบ 19.15 น. แต่ผมเข้าโรงประมาณ 19.30 น.และเมื่อถึงเพลงสรรเสริญ ผมและเพื่อนก็ไม่ได้ยืน (แต่นั่งด้วยความสงบและได้หยุดรับประทานขนมและน้ำ) ซึ่งผมและเพื่อนปฏิบัติเช่นนี้มานานแล้ว ปรากฏว่า ผม (คนเดียว) ถูกปาด้วยกระดาษที่ขยำเป็นก้อนขนาดเล็กกว่าลูกเทนนิส ถูกบริเวณต้นคอ ซึ่งผมก็ไม่ได้ทำอะไร เพราะเคยเจอแบบนี้มาแล้ว 1-2 ครั้ง ต่อมาเมื่อเพลงเล่นไปประมาณกลางเพลง ชายคนหนึ่งที่นั่ง (ตอนนั้นเขายืน) อยู่ถัดเพื่อนผมไปทางซ้ายมือ 2-3 ที่นั่ง ทราบชื่อภายหลังว่าชื่อ นายนวมินทร์ หันบอกให้ผมและเพื่อนลุกขึ้นยืน โดยเขาพูดเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งผมและเพื่อนก็ไม่ได้สนใจเขาจนเพลงจบชายคนนั้นจึงเดินไป ตามพนักงานโรงหนังมา (ทราบเพียงชื่อเล่นว่านิค) และบอกให้พนักงานคนดังกล่าวเชิญผมและเพื่อนออกไป พนักงานจึงบอกกับเขาว่า "พี่ใจเย็นๆ" และผมได้บอกกับพนักงานว่า "ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำไม่ผิด แต่ต่อให้ผิดโรงหนังก็ไม่ต้องกลัวเดือดร้อนเพราะไม่เกี่ยวกับโรงหนัง"

หลังจากนั้น พนักงานก็ถอยไปยืนบริเวณทางเดินด้านข้าง ชายคนนั้นจึงลุกขึ้นยืนแล้วกรีดร้องและเริ่มด่าผมและเพื่อน เช่น ทุเรศ, ทำไมไม่รักในหลวง เป็นคนไทยซะเปล่าขนาดฝรั่งยังยืนเลย พร้อมกับไล่ผมและเพื่อนให้ออกไปจากโรงด้วยอาการที่เกรี้ยวกราด ซึ่งระหว่างนั้นเขามีม้วนกระดาษอยู่ในมือ และใช้มันชี้หน้าเพื่อนของผมอยู่ตลอดเวลา และเมื่อเขาพูดจบ (รอบแรก) คนอื่นๆ ในโรงก็ปรบมือให้กับเขา หลังจากนั้นชายคนนั้นก็เดินเข้ามาด่าเพื่อนผมอีกครั้ง เพื่อนผมจึงตอบไปว่า "เงียบหน่อยค่ะ" และผมพูดว่า "ถ้าพี่มีปัญหาพี่ก็ออกไป ผมนั่งสบายดี ไม่มีปัญหา และผมจะไม่ออกไปเพราะผมจะดูหนัง"

หลังจากนั้นชายคนนั้นก็เดินเข้ามาด่าผมและเพื่อนอีกครั้ง และได้ขว้างม้วนกระดาษในมือมา โดนบริเวณหน้าอกของเพื่อนผม พร้อมชี้นิ้วมาที่หน้าเพื่อนผมในระยะห่างประมาณ 2 คืบ พร้อมกับกระชากกล่องป๊อปคอนในมือเพื่อนผม แล้วสาดมันใส่ผมและเพื่อนแล้วขว้างกล่องป๊อปคอนโดนเพื่อนผม และกระเด็นมาโดนผมด้วยแล้วปัดแก้วน้ำอัดลมที่วางอยู่ที่ที่วางแขนจนตกแตก ซึ่งในขณะนั้น คนอื่นๆ ในโรงก็เริ่มด่าและไล่ผมและเพื่อนผม และเพื่อนจึงยืนขึ้น และผมได้โทร.ไปที่ 191 ทันที และเดินคุยโทรศัพท์กับตำรวจ จนออกมานอกโรงระหว่างที่เดินออกจากโรง ผมเดินผ่านหน้าชายคนนั้น เขาได้ชี้มาที่เสื้อผม แล้วด่าว่า "ใส่เสื้อบ้าอะไร"

เมื่อออกมานอกโรงหนัง ผมกับเพื่อนรอจนพบกับตำรวจ และบอกกับตำรวจว่าจะรอคู่กรณีเพราะกลัวเขาหนีไป พอหนังจบคนดูทั้งหมดออกมาตรงประตูทางออก ผมกับเพื่อนได้เข้าไปในโรงหนังอีกครั้ง โดยตั้งใจจะเข้าไปถ่ายรูปสถานที่เกิดเหตุ แต่ยังไม่ทันได้ถ่าย ผู้จัดการโรงหนังได้เข้ามาบอกว่าไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปในโรง เพราะเป็นกฎ ถ้าจะถ่ายต้องทำเรื่องมา ผมจึงขอให้ตำรวจที่ตามเข้าไปมาดูที่เกิดเหตุแทน หลังจากนั้น ผมออกไปนอกโรงหนัง พบคู่กรณีและคนดูคนอื่นๆ ยืนรวมกันอยู่กับตำรวจอีกนาย ผมจึงเดินทางไป สน.ปทุมวัน และคู่กรณีได้ตามมาทีหลัง เมื่อถึง สน.ตำรวจได้ให้ผมและลงบันทึกประจำวันและได้ทำเรื่องส่งผมไปตรวจร่างกายที่ รพ.ตำรวจ (ตำรวจบอกว่ามันเป็นขั้นตอนของทางการ)

โดยทางร้อยเวรได้นัดผมไปแจ้งความและสอบปากคำ เมื่อบ่ายวันนี้ (21 ก.ย.) ส่วนหมอที่ รพ.ตำรวจ ได้นัดผมมาฟังผลเมื่อเช้าวันนี้ เมื่อเช้าผมจึงไปฟังผลที่ รพ.ตำรวจ และกลับมาที่สน.ตอนบ่าย ระหว่างรอตำรวจเจ้าของคดีเล่าให้ผมฟังว่า "คู่กรณีจะแจ้งความผมกับเพื่อนในข้อหา "หมิ่นพระบรมฯ" ถ้าผมกับเพื่อนจะดำเนินคดีคู่กรณี" ดังนั้น เท่าที่ผมทราบล่าสุด คือ ผมและเพื่อนยังไม่ถูกแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมฯ

อย่างไรก็ตาม ผมและเพื่อนก็ได้เข้าแจ้งความตามนัด โดยแจ้งคนละ 4 ข้อหา ของผมมี 1.ดูหมิ่นซึ่งหน้า 2.ร่วมกันทำร้ายร่างกาย 3.ทำให้เสียทรัพย์ 4.ร่วมกันบังคับข่มขืนใจให้กระทำหรือไม่กระทำการ

ส่วนของเพื่อนผมมี 1.ดูหมิ่นซึ่งหน้า 2.ทำร้ายร่างกาย 3.ทำให้เสียทรัพย์ 4.ร่วมกันบังคับข่มขืนใจให้กระทำหรือไม่กระทำการ (ต่างกันตรงข้อกล่าวหาที่ 2.ซึ่งผมถูกทำร้ายจากคน 2 คน แต่เพื่อนผมถูกทำร้ายจากคนคนเดียว) นอกจากนั้น คุณสหายดอกหญ้าได้โทร.ไปเสนอให้ผมและเพื่อนฟ้องชายคนนั้น ข้อหาก่อความวุ่นวายในที่สาธารณะเพิ่มอีก 1 คดี ซึ่งเพื่อนผมที่เป็นทนายกำลังดูข้อกฎหมายอยู่ สรุปก็คือ ผมและเพื่อนได้แจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีเขาไปแล้ว ส่วนว่าเขาจะแจ้งผมกลับหรือไม่ ยังไม่ทราบ

หมายเหตุ: ตอนเกิดเหตุ ผมใส่เสื้อรณรงค์ของเครือข่าย 19 กันยาฯ ซึ่งขณะนี้ผมกำลังตัดสินใจว่าจะเสนอให้เครือข่ายฯ ฟ้องเขาด้วยดีหรือไม่ เพราะผมมองว่ามันเป็นการหมิ่นเครือข่ายฯ แต่มีแนวโน้มว่าคงไม่เสนอ - ส่วนสิ่งที่สหายดอกหญ้าโพสต์ในกระทู้ เกี่ยวกับกรณีนี้นั้นคลาดเคลื่อนเล็กน้อย ซึ่งคงเป็นเรื่องของการสื่อสาร เพราะโทรคุยกันด้วยความเร่งรีบมากๆ

หลายคนอาจจะคิดว่า นี่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ผมและเพื่อนมองว่า มันคือประเด็นที่ต้องต่อสู้ เพื่อยืนยันความคิดความเชื่อ 3 ประเด็น คือ 1.เรามีสิทธิ์ที่จะไม่ยืน 2.ถ้ามีกฎหมายที่บังคับให้เรายืน กฎหมายนั้นละเมิดสิทธิ์เราและกฎหมายนั้นต้องถูกยกเลิก 3.ไม่ว่าใครจะทำอะไร ผิดถูกอย่างไร เขาต่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะไม่ถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกดูหมิ่น ผมและเพื่อนอยากให้เป็นบรรทัดฐานว่า การกระทำแบบชายคนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และต้องได้รับโทษ นอกจากนั้น ผมและเพื่อนได้ตัดสินใจแล้วว่า จะปฏิบัติการยืนยันสิทธิ์ของเราอีก ซึ่งอยากเชิญชวนทุกท่านที่รักอิสรภาพ รักความเสมอภาค และต้องการต่อสู้กับความอยุติธรรมโปรดปฏิบัติการร่วมกัน ผมไม่ได้คาดหวังคนมากมาย มี 10 คน ก็ไป 10 คน, มี 5 คน ก็ไป 5 คน, มี 2 คน ก็ไป 2 คน, แต่ก่อนที่จะไป หากมีคนสนใจก็อยากให้ช่วยกันพูดคุยด้วยว่าเราไปปฏิบัติการที่ไหน, วันไหน (วันธรรมดาหรือเสาร์-อาทิตย์ดี), หนังเรื่องอะไร และรอบกี่โมง เมื่อได้ความชัดเจนแล้วอาจจะมีจดหมายเชิญชวนที่ค่อนข้างทางการออกมาอีกครั้ง

หมายเหตุ (อีกครั้ง) เป็นความบังเอิญเหลือเกิน ที่วันที่ 20 กันยายน 2550 เป็นวันสำคัญสำหรับผม 2 โอกาส คือ 1) เป็นวันครบรอบ 3 ปี การก่อตั้งนิตยสารนักศึกษา QUESTIONMARK (ซึ่งเป็นอดีตไปแล้ว?) และ 2) เป็นวันครบรอบ 1 ปี การก่อตั้งเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร (ซึ่งยังมีอยู่หรือเปล่า?) อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้ไปดูหนัง เนื่องในโอกาสพิเศษใดๆ เพียงแค่ต้องไปซื้ออุปกรณ์ทำงานแถวนั้น แล้วบังเอิญเกิดอารมณ์อยากดูขึ้นมา"

๓. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: ธรรมเนียมการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี
(email: จดหมายเวียนส่งถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

ต่อคำถามที่ว่า ธรรมเนียมการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง มีมาแต่เมื่อไร และมีขึ้นเพราะเหตุใดนั้น
ขอตอบว่า ธรรมเนียมนี้สยามประเทศ (ไทย) ลอกเลียนมาจากอังกฤษ เมื่อประมาณเกือบ 1 ร้อยปีมาแล้ว กล่าวคือ เมื่อประมาณทศวรรษ 1910 เมื่อเริ่มต้นมีโรงหนังนั้น เมื่อฉายหนังจบ อังกฤษก็ให้มีการฉายพระฉายาลักษณ์ของคิงยอร์ช แล้วก็ให้บรรเลงเพลง God Save the King
ธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยที่อังกฤษต้องการปลุกระดมลัทธิชาตินิยม และความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ ตามคำขวัญว่า God, King, and Country

สมัยนั้น อังกฤษต้องต่อสู้กับเยอรมนีและอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 กษัตริย์อังกฤษ ต้องทำตนให้เหมือนเป็นอังกฤษแท้ๆ ต้องเปลี่ยนนามราชวงศ์ที่ฟังดูเป็นเยอรมัน คือ "ฮันโนเวอร์" ให้ฟังดูเป็นอังกฤษ คือ "วินเซอร์". ธรรมเนียมนี้ปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดในเมืองแม่ และถูกนำไปใช้บังคับในอาณานิคมทั่วโลกด้วยไม่ว่าจะเป็นในอินเดีย สิงคโปร์ มลายา และพม่า. ธรรมเนียมดังกล่าว ตกทอดมาจนถึงตอนต้นๆ ของรัชสมัยควีนอลิซาเบท แต่ปัจจุบันนี้ อังกฤษได้ยกเลิกไปแล้ว

เพราะเมื่อประมาณปลายทศวรรษ 1950 กับต้นทศวรรษ 1960 บรรดานักศึกษาชั้นนำของทั้งออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ เริ่มประท้วงไม่ยอมยืนเคารพ แถมยังเดินออกจากโรงหนังเมื่อหนังจบอีกด้วย ร้อนถึงเจ้าหน้าที่และเจ้าของโรงหนัง ต้องแก้ไขด้วยย้ายการบรรเลงเพลงสรรเสริญ/การฉายภาพ มาไว้ก่อนหนังฉาย แต่ก็ไม่ได้ผล ตกลงเลยต้องยกเลิกธรรมเนียมนี้ไปเมื่อประมาณ 30 หรือ 40 ปีมานี้เอง

สำหรับสยามประเทศ (ไทย) ของเรา ก็ได้ลอกเลียนธรรมเนียมนี้มาจากอังกฤษ โดยบรรดา "พวกหัวนอก/นักเรียนอังกฤษ" กับ "เจ้าของโรงหนัง" แต่เดิมก็บรรเลงเพลง/ฉายภาพเมื่อหนังเลิก ส่วนก่อนหนังฉายก็มักจะมีโฆษณาสินค้า แต่เมื่อสักประมาณทศวรรษ 1970 ได้ดัดแปลงธรรมเนียมนี้ใหม่คือ ย้ายการเปิดเพลง "ข้าวรฯ" มาไว้ตอนก่อนหนังฉายกระทั่งทุกวันนี้

เข้าใจว่าในปัจจุบัน ธรรมเนียมดังกล่าว ถูกยกเลิกไปหมดแล้วในประเทศในยุโรป รวมทั้งก็ได้ยกเลิกไปจากโรงหนังในอดีตอาณานิคมทั้งหลายเช่นกัน

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
http://www.petitiononline.com/SIAM2008/petition.html,
http://www.petitiononline.com/mod_perl/signed.cgi?siam2007&1

๔. พรรคแนวร่วมภาคประชาชน ลงชื่อให้กำลังใจโชติศักดิ์และเพื่อน
(กรณีถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)
(จากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หัวข้อลำดับที่ 7917)
http://midnightuniv.tumrai.com/forum/index.php/topic,7846.msg7917/topicseen.html#msg7917

ลงชื่อได้ที่ลิงค์นี้เลยครับ
http://www.petitiononline.com/Chotisak/petition.html
พรรคแนวร่วมภาคประชาชน / ตู้ ป.ณ.2049 ป.ณ.ฝ.จุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ 10332 www.pcpthai.org

To: Thai and International Public

ร่วมให้กำลังใจ "นายโชติศักดิ์ อ่อนสูงและเพื่อน" กรณีถูกตั้งข้อหา หมิ่นพระบรมเดชานุภาพเนื่องจากไม่ยืนแสดงความเคารพ "เพลงสรรเสริญพระบารมี"

สืบเนื่องจากกรณีนายโชติศักดิ์ อ่อนสูงและเพื่อน ได้ถูกนายนวมินทร์ วิทยากุล ทำร้ายร่างกายและแจ้งความว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ("ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี") เนื่องจากทั้งคู่ไม่ยืนแสดงความเคารพ "เพลงสรรเสริญพระบารมี" เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2550. จนเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2551 ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งว่า ทั้งสองมีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยนัดหมายให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาวันอังคารที่ 22 เมษายน 2551 เวลา 13.30 ณ สน.ปทุมวัน
พวกเราที่มีรายนามข้างล่างมีความเห็นต่อกรณีดังกล่าวดังต่อไปนี้

1. เราขอให้กำลังใจนายโชติศักดิ์ อ่อนสูงและเพื่อนในการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด

2. เราไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาปิดกั้นการแสดงออกของปัจเจกบุคคล
ประหนึ่งว่าคนเหล่านั้นเป็น อาชญากร ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

3. เราไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงกับผู้ที่มีความคิดเห็น/อุดมการณ์ทางการเมือง ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าความคิด
อุดมการณ์ทางการเมืองดังกล่าว จะเป็นอย่างไรก็ตาม เพราะเราเชื่อว่า ความคิดเห็น/อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน
ไม่ใช่อาชญากรรม แต่เป็นความงดงามของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องรักษาไว้

ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม

Support Petition to "Chotisak and his friend"
On the case of being charged with Lese Majeste for expressing freedom of expression by sitting down during "Royal Anthem"

This is relating to the incident which Mr. Chotisak Oonsoong and his friend was harassed and charge under the article 112 of the criminal code regarding lese majeste. The article says "anyone insults or expresses vengeance to the King, the Queen, the crown prince and princesses will be persecuted with three to fifteen years imprisonment". This is after the express their freedom of expression by sitting during the "Royal Anthem", which happened on 20 September 2007.

On 5 April 2008, the related police department informed them of being charged of the lese majeste law and appoints them to listen to the charge on Tuesday 22 April 2008 at 1.30 pm at Pathumwan Precinct.

We, the undersigned, would like to express regarding this case:

1. We fully support Mr. Chotisak and his friend to fight this case until the end.

2. We disagree with the use of lese majeste law to prohibit the individual's freedom of expression,
as if they are criminals as is happening now.

3. We disagree with the use of violence and harassment on those with different thoughts/ political ideologies, not matter what they think. The beauty of democracy is that people can have the rights to think differently, which should be respected and preserved.

Those do not stand are not criminals. Thinking differently is not a crime.

Sincerely,

๕. ข่าวที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์: ว่าด้วยเรื่อง 'โชติศักดิ์ อ่อนสูง'
(นำมาจากประชาไท และเผยแพร่ต่อบนกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 7943)
http://midnightuniv.tumrai.com/forum/index.php/topic,7872.msg7943.html#msg7943

บทความนี้เขียนโดยประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส นสพ.เดอะเนชั่น อย่างไรก็ตาม ทางเดอะเนชั่นตัดสินใจไม่ตีพิมพ์บทความนี้ ขณะที่บางกอกโพสต์ตีพิมพ์ข่าวประเด็นนี้ในหน้า 1 ของฉบับวันนี้ (23 เม.ย.) โดยเมื่อนายประวิตรได้สอบถามทางผู้มีอำนาจในกอง บก. ก็ได้คำตอบว่า ผู้มีอำนาจในการตัดสินที่สูงกว่าอีกคนหนึ่ง มองว่าข่าวนี้ "มีปัญหาสุ่มเสี่ยง"

เนื้อความแปลเป็นภาษาไทย

โชติศักดิ์ อ่อนสูง อดีตนักกิจกรรมต้านรัฐประหาร (19 กันยา 49) รายงานตัวที่สถานีตำรวจปทุมวัน วานนี้ (อังคาร) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจากเขาไม่ยืนขึ้นเมื่อมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อกันยายนปี 2550 โดย นวมินทร์ วิทยากุล อายุ 40 ปี ผู้ชมในโรงภาพยนตร์ได้ทำร้ายร่างกายโชติศักดิ์ และชุติมา เพ็ญภาค เพื่อนของเขา

"คดีนี้ไม่ใช่คดีธรรมดา" โชติศักดิ์ บอกกับผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่น หน้าสถานีตำรวจเมื่อบ่ายวานนี้ "[กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ] เป็นหนึ่งในข้อหาที่ถูกนำมาใช้ทางการเมืองมากที่สุด และเกือบทุกกลุ่ม [ในสังคม] ใช้มัน [กับฝ่ายตรงข้าม]". โชติศักดิ์ยืนยันว่า ก่อนเกิดเหตุ เขาไม่รู้จักกับนายนวมินทร์มาก่อน อย่างไรก็ตาม นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 27 ปี ยืนยันว่า การที่เขาไม่ยืนนั้นไม่ได้ขัดกับรัฐธรรรมนูญ เนื่องจากเขามีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และไม่ได้มีเจตนาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

"เขาอาจจะไม่พอใจกับสิ่งที่ผมทำ แต่สิ่งที่ผมทำ ผมไม่คิดว่าหมิ่นพระเดชานุภาพ" โชติศักดิ์ ซึ่งตัดสินใจทำการรณรงค์แคมเปญเรื่องสิทธิในการไม่ยืน เมื่อมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญฯ กล่าว การรณรงค์นี้ ได้รับการสนับสนุนโดยผู้ร่วมลงชื่อกว่า 100 คน ภายใต้คำขวัญ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร เห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม". "คนที่ปฎิเสธการยืนควรมีสิทธิที่จะไม่ยืน ขณะที่ผู้ที่ต้องการยืนสามารถยืนได้" โชติศักดิ์กล่าว "กฎหมายใดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนควรจะถูกยกเลิก"

โชติศักดิ์ กล่าวว่า เร็วๆ นี้เขาจะร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่ "ผมไม่แน่ใจ [ว่าพวกเขาจะมีท่าทีอย่างไร]" อนึ่ง โทษสูงสุดของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คือ จำคุก 15 ปี

ต้นฉบับภาษาอังกฤษ

News not fit for printing at the Nation: the incident of Chotisak Oonsoong
Pravit Rojanaphruk / 23 April 2008

This article was submitted to the Nation on Monday 22 April 2008, but the newspaper apparently decided not to publish it, although the Bangkok Post ran a similar front page story on Wednesday. Mr. Pravit also asked for a reason from his supervisor and was told that a higher authority had made decision that publication 'carries a certain risk'

Former anti-coup activist Chotisak Onsoong reported himself to Pathumwan Police yesterday (Tuesday) to hear lese majeste charge against him after he refused to stand while royal anthem was played at a Bangkok movie house last September. Forty-year-old Nawamin Wuttayakul, a fellow movie goer physically attacked Chotisak and his friend and later filed a police complaint against Chotisak and his friend Chutima Penpak.

"I don't think this is a normal [legal] case," Chotisak told The Nation infront of the police station yesterday afternoon. "[Lese majeste] is one of the most politicise charge and almost all groups [in society] use it [against their enemy] one time or the other."

Chotisak insisted he didn't know Nawamin before the incident at the movie house. The 27-year-old political activist insisted however that his refusal to stand is constitutional as he expressed his right to freedom of expression and by no mean constitute lese majeste. "He may not like what I did but I don't think what I did constitute lese majeste," said Chotisak who decided to launch a campaign for the right not to stand while the royal anthem is played.

The campaign, now supported by about one hundred people comes with the motto: "Not standing is no crime. Different thinking is no crime."

"Those who refuse to stand should have the right to not stand while those who want to stand can stand," said Chotisak. "Laws which violate human rights should be abolish."
Chotisak said he will soon petition the National Human Rights Commission (NHRC) too but "I'm not sure [what their stance will be]"

Lese majeste law comes with maximum 15 year in prisonment.

๖. Silence of the Lamp: ข่าวที่ไม่เป็นข่าว...เมื่อสื่อปิดปาก
สุภัตรา ภูมิประภาส: เขียน (นักข่าวและนักวิชาการสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน)
(นำมาจากประชาไท และเผยแพร่ต่อบนกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 7873)
http://midnightuniv.tumrai.com/forum/index.php/topic,7873.0.html

เหตุการณ์หลากหลายมากมายเกิดขึ้นในแต่ละวัน ทั้งเหตุการณ์ที่ผู้เกี่ยวข้อง สาธารณชน และสื่อมวลชนเห็นว่าควรเป็นข่าวและเหตุการณ์ที่ผู้เกี่ยวข้อง สาธารณชน และสื่อมวลชนเห็นว่าไม่ควรเป็นข่าวด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป. เหตุการณ์ล่าสุดที่น่าถกเถียงในเรื่อง "ควร" หรือ "ไม่ควร" เป็นข่าวเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา คือ กรณีที่เจ้าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจปทุมวัน เรียกนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง และนางสาวชุติมา เพ็ญภาค ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามที่ถูกนายนวมินทร์ วิทยากุล ฟ้องดำเนินคดีหมิ่นพระบรมราชานุภาพ เนื่องจากทั้งสองไม่ลุกขึ้นยืนในโรงภาพยนต์ ขณะที่มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี คดีนี้เป็นคดีที่สื่อต่างประเทศให้ความสนใจติดตามอย่างใกล้ชิด (อ่านรายละเอียด)

แต่สื่อไทยจำนวนมากกลับไม่นำเสนอข่าวนี้ มีเพียงหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (Bangkok Post) หนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ และเวบไซด์ข่าวประชาไทที่รายงานข่าวดังกล่าว. ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น (The Nation) ไปทำข่าวและเขียนรายงานข่าวนี้ส่งให้กองบรรณาธิการ แต่รายงานชิ้นดังกล่าวไม่ได้ถูกนำเสนอทั้งในหนังสือพิมพ์และบนเวบไซด์ของ The Nation เมื่อสอบถามผู้บริหารข่าวถึงเหตุผลที่ไม่ตีพิมพ์รายงานข่าวชิ้นนี้ (อ่านรายงานข่าว) เขาได้รับคำตอบว่า "มีปัญหาสุ่มเสี่ยงนิดหนึ่ง"

ขณะที่คำนูณ สิทธิสมาน ผู้ร่วมดำเนินรายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" ของเครือผู้จัดการให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่ากรณีนี้ "เป็นประเด็นที่ล่อแหลม คิดอยู่นานพอสมควรว่าจะต้องมาเล่าให้ผู้ฟังดีหรือไม่". "เรื่องนี้ไม่ปรากฎเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ และในวิทยุ โทรทัศน์มากนัก เพราะว่า ผมเชื่อว่าคงจะระมัดระวังกันพอสมควร..."

ประเด็นที่เป็นข้อกังวลของผู้บริหารข่าว The Nation และผู้ดำเนินรายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" รวมถึงกองบรรณาธิการสื่อต่างๆ ที่เลือกให้เหตุการณ์นี้ "ไม่เป็นข่าว" อาจจะไม่เกิดขึ้น หากมีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และสื่อมวลชนไทยตระหนักถึงบทบาทและพันธกรณีในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 47 ประเทศแรกที่ร่วมลงนามรับรองไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491

มาตรา 112 เขียนไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี". จากบทบัญญัติดังกล่าว ไม่มีข้อความตรงไหนเลยที่ทำให้เข้าใจไปได้ว่า การทำหน้าที่สื่อมวลชนโดยการรายงานข่าวกรณีบุคคลถูกฟ้องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นประเด็นที่ "สุ่มเสี่ยง" หรือ "ล่อแหลม" ในทางตรงข้าม การเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนโดยเลือกที่จะไม่รายงานข่าวนี้ไม่ได้เป็นแค่การปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชน แต่ยังเป็นการละเมิดพันธกรณีสากลตามที่ระบุไว้ในบทบัญญัติข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ดังนี้

"บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะยึดมั่นในความเห็นโดยปราศจากการแทรกสอดและที่จะแสวงหา รับ ตลอดจนแจ้งข่าว รวมทั้งความคิดเห็นผ่านสื่อใดๆ และโดยมิต้องคำนึงถึงเขตแดน" บทบัญญัติข้อ 19 นี้ถูกอ้างถึงทุกครั้งที่มีการรณรงค์เสรีภาพสื่อในระดับสากล

สื่อมวลชนไทยไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สถาบันวิชาชีพสื่อมวลชนไทยได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อน ผลักดัน ต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นพร้อมๆ ไปกับเพื่อนสื่อมวลชนในภูมิภาคและในประชาคมโลก. ในประเทศไทย คำขวัญที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเมื่อมีการรณรงค์ต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อ คือ "เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน". แต่เมื่อสื่อลุกขึ้นมาปิดกั้นเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของตัวเองเหมือนครั้งนี้ จึงหมายความว่าเสรีภาพของประชาชนได้ถูกปิดกั้นไปด้วย เป็นการปิดหู ปิดตา ปิดปาก ประชาชนทุกชนชั้น ทั้งไพร่ และเจ้า

๗. เปิดกฎหมายความผิดฐานไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ปรับ 100 บาท หรือจำคุก 1 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ
(นำมาจากประชาไท และเผยแพร่ต่อบนกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 7884)
http://midnightuniv.tumrai.com/forum/index.php/topic,7884.0.html

การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีอาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 มาตรา 6 และมาตรา 15 ประกอบพระราชกฤษฎีกา วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 มาตรา 6 (3). ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ประสิทธิ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว หากไม่มีกฎหมายอื่นใดมาลบล้างกฎหมายที่บัญญัติไว้ แม้จะเก่าเพียงใดก็ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ อย่างไรก็ตาม ต้องศึกษาโดยละเอียดอีกครั้งว่า กฎหมายดังกล่าวมีการบัญญัติเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงหรือลบล้างภายหลังหรือไม่

สำหรับกฎหมายที่ระบุวิธีปฏิบัติเพื่อเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีและฐานความผิด มีรายละเอียดดังนี้

พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๘๕
มาตรา 6 วัฒนธรรมซึ่งบุคคลจักต้องปฏิบัติตาม นอกจากจะได้กำหนด ไว้โดยพระราชบัญญัติแล้ว ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาได้ในกรณีดังต่อไปนี้

1. ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการแต่งกาย จรรยาและมารยาท ในที่สาธารณสถานหรือที่ปรากฏแก่สาธารณชน
2. ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการปฏิบัติตนและการปฏิบัติต่อ บ้านเรือน
3. ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการประพฤติตนอันเป็นทางนำมา ซึ่งเกียรติของชาติไทย และพระพุทธศาสนา
4. ความมีสมรรถภาพและมารยาทเกี่ยวกับวิธีดำเนินงานอาชีพ

มาตรา 15 (*) ผู้ใดฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 6 มีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
(*) มาตรา 15 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2486

พระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๘๕
มาตรา 6 บุคคลทุกคนจักต้องเคารพตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณี คือ

(1) เคารพธงชาติเวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกา ทุกวันพร้อมกัน

(2) เคารพธงชาติ ธงไชยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ เมื่อชักขึ้นหรือลงประจำสถานที่ราชการ เมื่อเชิญมาตามทางราชการ หรืออยู่กับที่ประจำแถวหรือหน่วยทหาร ยุวชนทหาร หรือลูกเสือ

(3) เคารพเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงเคารพอื่นๆ ซึ่งบรรเลงในงานตามทางราชการ ในงานสังคม หรือในโรงมหรสพ

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวออกมาในยุครัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีกฎหมายกำหนดการปฏิบัติตัวของประชาชนและการธำรงรักษาวัฒนธรรมอันดีของชาติเป็นจำนวนหลายฉบับได้แก่

- ประกาศสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เรื่องวัฒนธรรมของผัวเมีย
- ประกาศสภาวัฒนธรรมแห่งชาติว่าด้วยระเบียบการเคารพของคนไทย
- ประกาศสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เรื่องระเบียบการใช้บัตรชื่อ

(ดูเพิ่มเติมรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับส่วนอื่นๆ บนกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
http://midnightuniv.tumrai.com/forum/index.php/topic,7884.0.html)

๘. บทความ : สมรรถภาพ 'ยาม' เฝ้าแผ่นดิน
สิทธิพร จรดล / อดีตบรรณาธิการนิตยสาร QUESTIONMARK
(นำมาจากประชาไท และเผยแพร่ต่อบนกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 7921)
http://midnightuniv.tumrai.com/forum/index.php/topic,7921.0.html

แม้จะไม่ได้มีใครเรียกร้องให้ออกมา แต่กลุ่มคนที่เรียกว่า "ยามเฝ้าแผ่นดิน" ก็ออกมาปฏิบัติการ "เฝ้ายาม" สังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อล้ม "ระบอบทักษิณ" ผ่านการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรขวาจัด นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อันมีแกนนำเป็นทั้งนักการสื่อสารมวลชน นักแถลงข่าวทุกวันอาทิตย์ อดีตผู้นำแรงงาน เอ็นจีโอด้านเด็ก ผู้เคร่งครัดในศีลธรรม และนักการเมืองคนหนึ่งจากพรรคเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ภายหลังชัยชนะอย่างท่วมท้นของพรรคพลังประชาชนที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะมางาบก้อนเค้กชิ้นโตที่ คมช.เตรียมป้อนไว้ให้ ในเย็นวานนี้ (25 เม.ย. 51) ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีการเคลื่อนไหว "สัมมนาประชาชน - ติดอาวุธทางปัญญา" หรือ "รายการยามเฝ้าแผ่นดินภาคพิเศษครั้งที่ 2" ภายใต้สถานการณ์การแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ของรัฐบาล

แม้การเคลื่อนไหวจัดประชุมสัมมนาของคณะยามเฝ้าแผ่นดินในครั้งนี้ จะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่สามารถทำได้ และมีหลายฝ่ายให้การสนับสนุนภายใต้หน้ากากองค์กรของ "ความมีคุณธรรม" เสริมด้วยแกนนำที่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ท่านหนึ่ง ที่มีหัวหน้าพรรคที่เชิดชูภาพลักษณ์ของ "ความโปร่งใส" ยิ่งเป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามว่า "การเฝ้ายาม" ของยามเฝ้าแผ่นดินครั้งนี้จะพาทิศทางสังคมไปในทางใด และ"สมรรถภาพ" ของยามเฝ้าแผ่นดินว่ามีมากแค่ไหน

ฟื้นสำนึกเลือดสีน้ำเงิน
การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรเป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ทำสังคมล้าหลังหยุดนิ่งชะงักงันเป็นเวลาหลายปี. รายการยามเฝ้าแผ่นดินออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และทางสถานีวิทยุ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" คลื่นเอฟเอ็ม 97.75 และเว็บไซต์ "ผู้จัดการออนไลน์" เริ่มโหมโรงกระแส "ฟื้นเลือดสีน้ำเงิน" โดยรายการวันนั้นมีการเปิดประเด็นสถานีโทรทัศน์ NBT นำเสนอสารคดีการเลือกตั้งเนปาลที่ถือเป็นการสิ้นสุดระบอบการปกครองของกษัตริย์ (ยามเฝ้าแผ่นดิน : ย้ำ "เพ็ญทีวี" ตีปี๊บ "เนปาล" ผิดปกติ - จี้ "หมัก" ฟื้นสำนึก "เลือดสีน้ำเงิน" , ผู้จัดการออนไลน์ , 22 เม.ย. 51)

สอดรับกับการเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ โดยคุณหญิงกัลยา โสภณพานิช ส.ส.กรุงเทพฯ อภิปรายฝากข้อเสนอไปยังประธานสภาฯ "กรณีสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที นำสารคดีเกี่ยวกับการล้มล้างราชวงศ์ต่างๆ มาออกอากาศ ไม่ว่าจะเป็นราชวงศ์เนปาล ฝรั่งเศส และอังกฤษ ตนรู้สึกเศร้าสลดใจกับกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่กลับมาทำอย่างนี้ ขัดกับการปกครองของประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สะท้อนให้เห็นว่า คนปัจจุบันมีความคิดอย่างไร" ("ปชป.ติงเอ็นบีที ไม่เหมาะสมเสนอสารคดีล้มราชวงศ์"- ไทยรัฐ, 24 เม.ย.51)

ก่อนหน้านี้ สื่อมวลชนทุกแขนงรายงานข่าวว่า ชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่ามีขบวนการโจมตีพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ด้วยการใช้สื่อทั้งวารสาร ใบปลิว (16 เม.ย. 51). จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว นำมาสู่การวิวาทะตั้งคำถามจาก ส.ส.พรรคพลังประชาชนว่า ให้ ชวน หลีกภัย เอาหลักฐานการโจมตี พล.อ.เปรมมายืนยัน นำมาสู่การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยเทพไท เสนพงศ์ จนล่าสุดกระทรวงไอซีที ออกมาชี้แจงว่า จะหาต้นตอบุคคลที่ทำเว็บไซต์โจมตี พล.อ.เปรม ("ไอซีที เล็งสืบต้นตอตัวบุคคล ทำเวบโจมตีป๋า-หมิ่นเบื้องสูง" , กรุงเทพธุรกิจ , 24 เมษายน 2551) นับว่าเป็นการสอดประสานกันเป็นอย่างดี...

การเคลื่อนไหวของกลุ่มยามเฝ้าแผ่นดิน ผ่านสื่อมวลชนในเครือผู้จัดการยังคงเน้นตีประเด็นไปที่ว่ามีกลุ่มบุคคลพยายาม "มุ่งโจมตีสถาบัน" ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นการเหมารวมว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้เป็นคนในเครือข่าย "ระบอบทักษิณ" (แฉ "นายใหญ่" จ้องปลด "หมัก" - แก๊งหมิ่นสถาบันพล่านเต็มเว็บเครือข่าย"แม้ว" - ยามเฝ้าแผ่นดิน 22 เม.ย. 51 / แฉต่อขบวนการหมิ่นพระราชอำนาจ - "สนธิ" ชี้ "แก๊งแม้ว" เร่งสถานการณ์แตกหัก 24 เม.ย.51)

สมรรถภาพของ "ยาม" : กรณีศึกษาจาก "ชายผู้ไม่ยืนในโรงหนัง"
ประจวบเหมาะกับการเข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 51 ของ โชติศักดิ์ อ่อนสูง และ ชุติมา เพ็ญภาค ในข้อกล่าวหาความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง

คำนูณ สิทธิสมาน อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยปี 2518 สมาชิก สนช.ในช่วงรัฐประหาร 19 กันยายน สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากระบบสรรหาปี 2551 ผู้ดำเนินรายการยามเฝ้าแผ่นดิน ร่วมกับนางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ ออกอากาศทาง ASTV ได้หยิบยกประเด็นของโชติศักดิ์ อ่อนสูง มาพูดคุยในรายการเมื่อคืนวันที่ 22 เม.ย. ต่อมาได้มีผู้สื่อข่าวนำเนื้อหาบางส่วนของรายการดังกล่าวมาเรียบเรียง แล้วเผยแพร่ในเว็บไซต์ "ผู้จัดการออนไลน์" ในคืนเดียวกัน ("ยามฯ" แฉ "นายใหญ่" จ้องปลด "หมัก" - แก๊งหมิ่นสถาบันพล่านเต็มเว็บเครือข่ายแม้ว") และได้นำไปตีพิมพ์อีกครั้งในหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการ" ฉบับวันที่ 23 เม.ย.51 หน้า 2

คำนูณ สิทธิสมาน หนึ่งในผู้ดำเนินรายการ กล่าวในการจัดรายการคืนนั้นว่า

- "…โชติศักดิ์เป็นหนึ่งในผู้ประสานงานของ นปก. มีรายงานข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าเขาไปร่วมกิจกรรมของ นปก.หลายครั้ง..."
- "…คุณโชติศักดิ์อยู่ร่วมในขบวนการ นปก. มาโดยตลอด และมีอุดมการณ์ตรงกับ นปก...."
- "…ในวันที่คุณโชติศักดิ์เกิดเหตุ แกใส่เสื้อสีแดง คือสีแดงนี่เป็นสีที่กลุ่ม นปก.และเครือข่ายใช้ในการรณรงค์ต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านรัฐธรรมนูญ 2550…"

ต่อมาโชติศักดิ์เขียนชี้แจงประเด็นนี้ใน "จดหมายร้องเรียนถึงประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ" ว่าการเสนอข้อมูลของคำนูณ สิทธิสมานเป็นเท็จ ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ ข้อที่ 4, 7 และ 8 ของ "ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2541". โชติศักดิ์ชี้แจงว่า "ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นผู้ประสานงาน นปก. และไม่เคยมีตำแหน่งใดใน นปก. รวมถึงไม่เคยไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม นปก.เลยแม้แต่ครั้งเดียว"

"ข้าพเจ้าไม่เคยอยู่ร่วมในสิ่งที่เรียกว่า "ขบวนการ นปก." และไม่ได้มีอุดมการณ์ตรงกับกลุ่ม นปก. เช่น กลุ่ม นปก.สนับสนุนคุณทักษิณ ชินวัตร แต่ข้าพเจ้าไม่เคยสนับสนุน คุณทักษิณ และเคยวิพากษ์วิจารณ์คุณทักษิณ, รัฐบาลภายใต้การนำของคุณทักษิณ และนโยบายของพรรคไทยรักไทยในที่สาธารณะหลายครั้งหลายโอกาส ทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนมีผู้เรียกข้าพเจ้าและผู้ที่คิดคล้ายๆ กันว่า "พวก 2 ไม่เอา" (คือต่อต้านทั้งการรัฐประหารและรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ)" และ "ในวันที่เกิดเหตุ(20 กันยายน 2550) ข้าพเจ้าสวมเสื้อสีดำซึ่งจัดทำโดย "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" ไม่ใช่เสื้อแดงของกลุ่ม นปก. (ซึ่งในกรณีนี้ร้อยเวร สน.ปทุมวันได้ถ่ายรูปเสื้อของข้าพเจ้าไว้เป็นหลักฐานแล้วด้วย)"

การที่คำนูณ สิทธิสมาน ออกมากล่าว "ข้อมูลอันเป็นเท็จ" ว่าโชติศักดิ์เป็นหนึ่งในผู้ประสานงานของ นปก. ซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มองค์กรที่เคลื่อนไหวสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ถูกมองเป็นอื่นไปไม่ได้ว่า คือความพยายามใช้โชติศักดิ์เป็น "เครื่องมือ" เพื่อสนับสนุนการ "เฝ้ายาม" ของตัวเองในการตีหัวฝ่ายตรงข้าม แต่ถ้าหากนั่นเกิดจากการนำเสนอข้อมูลที่ "ผิดพลาด" จริงๆ ก็นับว่าประสิทธิภาพการหาข้อมูลเพื่อนำเสนอและทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงของคำนูณมีปัญหาอย่างมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ "ยาม" คนนี้สมควรถูกไล่ออก ? หรือเป็นความจงใจให้ผิดพลาดที่เป็นอยู่ในสำนึกอยู่แล้ว?

"ข้าพเจ้าเห็นว่า ข้าพเจ้ากำลังถูกรังแกจากการกระทำของผู้ที่มีสื่ออยู่ในมือ และในฐานะที่องค์กรของท่านเป็นองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ข้าพเจ้าจึงได้ร้องเรียนมาเพื่อขอให้ท่านดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าว เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ข้าพเจ้า" โชติศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายไว้ในจดหมายร้องเรียนถึงประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ...

สมรรถภาพเช่นนี้...ยามจะเฝ้าแผ่นดินนานอีกเท่าไหร่
การฟื้นฟูการเคลื่อนไหวขององค์กรขวาจัด อย่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีกครั้ง ด้วยเหตุผลที่ว่า "ระบอบทักษิณ" ฟื้นคืนชีพผ่านร่างทรงนอมินีของสมัคร สุนทรเวช แม้จะสามารถทำได้ในระบอบประชาธิปไตย แต่ข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรเอง กลับมีคลุมเครือว่าต้องการจะเสนอทางออกอย่างไรกับสังคมไทย จะให้เกิดการรัฐประหารอีกครั้งหรือจะเสนอแนวทางระบอบการปกครองอย่างไร...

สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ บอกว่า การเคลื่อนไหวโดยรูปแบบการสัมมนาหรือเวทีในร่มครั้งนี้ อาจจะเป็นครั้งสุดท้าย "เพราะจากการประเมินของแกนนำเชื่อว่าสถานการณ์จะเริ่มสุกงอมเร็วกว่าที่คาด ฉะนั้นหลังจากวันที่ 25 เมษายน เชื่อว่ารูปแบบการเคลื่อนไหวของพันธมิตรคงจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ส่วนจะถึงขั้นเป็นการชุมนุมใหญ่และยืดเยื้อหรือไม่ คงต้องประเมินจากมติของที่ประชุมหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 พรรคอีกที" (คมชัดลึก 25 เมษายน 2551)

ยามจะเฝ้าแผ่นดินอีกนานเท่าไหร่ ยังไม่มีใครตอบได้...แต่สมรรถภาพของของยามเวลานี้ควรได้รับการประเมิน เพราะเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว ยามผู้มาอาสาเฝ้าแผ่นดินท่านนี้ได้เรียกชายในเครื่องแบบมาช่วยเล่นวิ่งไล่จับ "โจร" (ในทัศนะของยาม) จนต้องพังบ้านไปทั้งหลัง เท่านั้นไม่พอยังแยกชิ้นส่วนของบ้าน ฝังลงไปในดินจนยากที่จะขุดขึ้นมาแล้วในเวลานี้

คลิกไปอ่านต่อบทความต่อเนื่องตอนที่ ๒

 

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑ : Release date 15 May 2008 : Copyleft by MNU.
สื่อมวลชนที่ดีในสังคมประชาธิปไตยคือ สื่อที่ทำหน้าที่เพื่อจรรโลงบรรยากาศและคุณค่าประชาธิปไตยเหล่านี้ให้ดำรงอยู่ ฉะนั้น สื่อต้องไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ไม่วางยาพิษให้กับสังคมด้วยการแพร่กระจายสารเกี่ยวกับความเกลียดชัง ปฏิเสธการให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงและไม่ชี้นำให้เกิดความรุนแรงเสียเอง น่าเสีย ดายและน่าเสียใจว่าสื่อรวันดาทำทุกอย่างตรงกันข้ามกับบทบาทที่สื่อที่ดีควรจะทำ ราคาของมันคือ ชีวิตของคนบริสุทธิ์ 500, 000 คน ที่ไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ บวกกับความโกรธ ความเกลียด และความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ระหว่างชาว"ทุตซี่"กับชาว"ฮูตู" ที่ดำรงอยู่ในสังคมรวันดาสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
(คลื่นแห่งความเกลียดชัง: สื่อกับความรุนแรง / ประจักษ์ ก้องกีรติ)
H
บทเรียนจากรวันดา
เกี่ยวกับบทเรียนจากประเทศรวันดาคือ สื่อในสังคมไหนๆ ก็สามารถเป็นอาวุธอันทรงประสิทธิภาพในการก่อความรุนแรงได้ เมื่อใดก็ตามที่มันยุติการทำหน้าที่ของการเป็นผู้รายงานข้อเท็จจริง และนำเสนอความเห็นอันรอบด้านแก่สาธารณะ และแปลงตัวเองไปเล่นบทกระบอกเสียงของความเกลียดชัง

เราควรเข้าใจว่าในสังคมประชาธิปไตยใดก็ตาม ความเห็นต่างทางการเมือง ความแตกต่างของอัตลักษณ์ กระทั่งความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นเรื่องปกติของชีวิตทางสังคม ข้อดีของสังคมประชาธิปไตยคือ การอนุญาตให้เราถกเถียงกัน เห็นต่างกันได้อย่างสันติ โดยไม่ตีหัวกันหรือฆ่ากันเพื่อเอาชนะทางการเมือง เปิดโอกาสให้เราเรียนรู้จากกันและกัน เและคารพซึ่งกันและกัน ไม่เห็นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นยักษ์มาร ผีสาง หรือแมลงสาบ