ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




07-04-2551 (1525)

ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ: มโนทัศน์ "เมืองไทยและความเป็นไทย" (ตอน ๒)
รองศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

งานวิจัยต่อไปนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ขอรับมาจากผู้วิจัย
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำหรับโครงการ:
"ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.๒๔๓๕-๒๕๓๕)"
โดย รองศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์ (สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)

เนื้อหาสมบูรณ์ของโครงงานวิจัย ประกอบด้วย ๑๓ บท เป็นการศึกษาวิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและ
วัฒนธรรมไทยของปัญญาชนจำนวน ๑๐ ท่าน ดังนี้: - พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส - เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
- หลวงวิจิตรวาทการ - พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
- พระยาอนุมานราชธน - ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ - สุลักษณ์ ศิวรักษ์
ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะทะยอยเผยแพร่ไปตามลำดับบท อย่างต่อเนื่อง

สำหรับในส่วนนำเสนอนี้ มาจากบทที่ ๔ การสร้าง "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย"
โดยปัญญาชนแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์: สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เนื่องจากต้นฉบับงานวิจัยมีความยาวประมาณ ๓๔ หน้ากระดาษ เอ ๔ ทางกองบรรณาธิการฯ
จึงได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๒ ตอน และแยกเชิงอรรถออกจากกัน เพื่อความสะดวกในการจัดหน้า
และความเหมาะสมในการนำเสนอในรูปเว็บเพจ
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๒๕
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๗ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ: มโนทัศน์ "เมืองไทยและความเป็นไทย" (ตอน ๒)
รองศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ตอนที่ ๒
การสร้าง "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย"
โดยปัญญาชนแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์: สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

กรอบการอธิบายศิลปะ
เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสร้างกรอบการอธิบายศิลปะของประเทศสยาม ด้วยการกล่าวรวมไปถึงศิลปะยุคโบราณที่คนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้สร้างเอาไว้ในหัวเมืองที่เคยมีสถานะเป็นหัวเมืองชั้นนอกและหัวเมืองประเทศราชของประเทศสยาม (163) ทั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะพระองค์ทรงมีพระประสงค์จะแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการสร้างสรรค์ศิลปะอันยิ่งใหญ่และมีความงดงามใน "เมืองไทย" ตั้งแต่สมัยโบราณเป็นต้นมา นอกจากนี้ยังทรงเปลี่ยนชื่อเรียก "ศิลปะเขมร" ที่พบในประเทศไทยทั้งหมดว่า "ศิลปะสมัยลพบุรี" ซึ่งการเลือกใช้ชื่อว่า "ศิลปะสมัยลพบุรี" แทนการกำหนดเรียกว่า "ศิลปะเขมร" ดังที่พันตรีลูเนต์ เดอ ลาจอง กิแยร์ เคยได้ตั้งชื่อไว้ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 (164) เช่นนี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะลบเลือน "ความเป็นเขมร" ของศิลปะเหล่านั้น เพราะหากใช้คำว่า "ศิลปะเขมร" ก็จะเป็นการตอกย้ำว่ามิใช่ผลงานสร้างสรรค์ของชนชาติไทย และอาจจะทำให้เข้าใจไปด้วยว่า "เขมร" เคยมีอำนาจปกครองประเทศสยาม ต่างกับการใช้คำว่า "ศิลปะสมัยลพบุรี" ซึ่งนอกจากจะไม่มีนัยดังกล่าวแล้ว ยังช่วยให้รู้สึกด้วยว่าเป็นศิลปะของ "เมืองไทย" อย่างแท้จริง

นอกจากนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังอาศัยพระนิพนธ์ประวัติศาสตร์ศิลปะในการสร้างความสำนึกที่ว่า คนในหัวเมืองชั้นนอกหรือเมืองประเทศราชเป็นพวกเดียวกันกับคนในกรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับ "พระสักยสิงห์" ซึ่งได้รับการอัญเชิญมาจากเมืองเชียงแสนมาประดิษฐานที่ระเบียงวัดเบญจมบพิตรนั้น ได้รับการอธิบายเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชาวเชียงแสนกับชาวสยามในกรุงเทพฯ ให้รู้สึกว่าเป็นชนชาติเดียวกัน และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังได้ทรงชี้ให้เห็นใน "แสดงบรรยายพงศาวดารสยาม" อีกด้วยว่า สกุลวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองซึ่งทรงสร้างกรุงศรีอยุธยานั้นก็คือราชวงศ์เชียงราย ทำให้คนในอาณาจักรล้านนากับคนในอาณาจักรอยุธยาและรัตนโกสินทร์กลายเป็นคนพวกเดียวกัน เพราะล้วนแต่สืบสายเลือดมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน (165)

กรอบโครงประวัติศาสตร์ศิลปะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสร้างขึ้นนี้ จึงส่งผลทำให้ผลงานของ "ลาว" ในล้านนาและอีสาน และ "เขมร" ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กลายเป็นผลงานของ "ชาวสยาม" แต่โบราณ เพราะศิลปะเหล่านั้นได้รับการจัดหมวดหมู่และยุคสมัยคู่ไปกับพัฒนาการของชนชาติสยาม กล่าวคือ เป็นศิลปะทวารวดี ศิลปะศรีวิชัย ศิลปะลพบุรี ศิลปะเชียงแสน ศิลปะสุโขทัย ศิลปะอยุธยา และศิลปะรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ (166) ขณะเดียวกันศิลปะเหล่านี้ก็กลายเป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญรุ่งเรืองอย่างสืบเนื่องของ "เมืองไทย" ตั้งแต่ยุคโบราณได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ รวมถึงการที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชี้ให้เห็นด้วยว่า ศิลปะหรือโบราณสถานแต่ละแห่งมีความหมายอย่างไรบ้าง โดยทรงให้คำอธิบายในเชิงที่ทำให้ชาวสยาม โดยเฉพาะ "ชนชาติไทย" ที่สามารถมีอำนาจเหนือดินแดนสยาม ได้บังเกิดความภาคภูมิใจใน "เมืองไทย" ของตน เช่น ทรงอธิบายว่าพระปฐมเจดีย์ สร้างขึ้นเมื่อแรกพระพุทธศาสนามาประดิษฐานใน "เมืองไทย" พระมหาธาตุเมืองละโว้สร้างขึ้นเมื่อแรกพุทธศาสนามหายานมาประดิษฐานใน "เมืองไทย" แล้วพุทธศาสนามหายานนี้จึงแผ่ขยายไปยังเขมร และพระเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองเชลียงเป็นพระเจดีย์องค์แรกที่ชนชาติไทยได้สร้างขึ้น เป็นต้น (167)

การปกครอง
ในด้านการปกครอง เมื่อเผชิญกับกระแสการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นแบบที่มี "คอนสติตูชั่น" สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตอบโต้ด้วยการยืนยันว่าการปกครองของไทยดีอยู่แล้ว พระองค์ทรงสืบทอดพระราชดำริ "การปกครองแบบไทย" ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางแนวทางไว้ โดยทรงเป็นปัญญาชนพระองค์แรกที่ระบุอย่างชัดเจนว่า การปกครองแบบไทย มีลักษณะสำคัญคือการปกครองแบบบิดาปกครองบุตร ทรงพยายามทำให้คนไทยรับรู้ว่า "เมืองไทยนี้ดี" มาตั้งแต่สมัยโบราณเนื่องจากพระมหากษัตริย์ของไทยทรงทำการปกครองแบบไทย คือแบบ "บิดาปกครองบุตร" และ "เมืองไทย" ยังคงมีการปกครองแบบ "บิดาปกครองบุตร" สืบมาจนถึง "ทุกวันนี้" ซึ่งแตกต่างจากกษัตริย์เขมรที่ทรงปกครองแบบ "นายปกครองบ่าว" (168)

ในพระนิพนธ์เรื่อง พระร่วง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเน้นว่า "การปกครองแบบไทย" อันมีการปกครองของสุโขทัยเป็นอุดมคตินั้น เป็นการปกครองอย่างพ่อบ้านพ่อเมือง ที่ให้ราษฎรมีโอกาสและไม่เอาเปรียบ มีความเสมอหน้ากันทุกคน ดังที่ทรงเล่าถึง "พระร่วง" ว่า

โปรดทรงสมาคมกับไพร่บ้านพลเมือง อย่างฝรั่งเรียกว่า democratic เป็นต้นว่าถ้าใครจะทูลร้องทุกข์เมื่อใด ก็อนุญาตให้เข้าเฝ้าได้ไม่เลือกหน้า แม้จนเวลากลางคืนก็มีกระดิ่งแขวนไว้ที่ประตูพระราชวัง สำหรับให้สั่นส่งเสียงให้ทรงทราบว่า มีผู้จะทูลร้องทุกข์ แล้วเอาเป็นธุระสอดส่อง ในการชำระถ้อยความให้เป็นยุติธรรม ให้ราษฎรสมบูรณ์พูนสุขประกอบด้วยมีเสรีภาพทั่วไป... (169)

มโนทัศน์ที่ว่า การปกครองแบบไทย (ดังที่มีอยู่ในสมัยสุโขทัย) เป็นการปกครองที่มีลักษณะ democratic ซึ่งราษฎรได้รับความยุติธรรมและเสรีภาพ ที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสถาปนาขึ้นนี้ กลายเป็นมโนทัศน์สำคัญที่จะได้รับการสืบทอดอย่างเข้มข้นในช่วงทศวรรษ 2490-2500 โดยมีปัญญาชนกระแสหลักหลายคนนำเอามโนทัศน์นี้มาเน้นเพื่อต่อสู้กับกระแสความคิดอื่น ๆ เช่น พระยาอนุมานราชธน (170) และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (171) เป็นต้น

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงชำระและทรงพระนิพนธ์ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ หลายรัชกาล เพื่อสถาปนาความทรงจำของคนใน"เมืองไทย" ว่า พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเป็นผู้นำใน "คุณธรรม" อันเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไทยทั้งสามประการ คือ "ความจงรักในอิสรภาพของชาติ" "ความปราศจากวิหิงสา" และ "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" การปกครองของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์จึงทำให้ "เมืองไทย" สามารถดำรงรักษาเอกราชเอาไว้ได้ พร้อมกับประสบความสำเร็จอย่างสูงในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปะและวัฒนธรรม อีกทั้งยังปราศจากการกดขี่เบียดเบียนให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเป็นการปกครองแบบไทย จึงควรเป็นการปกครองที่ชนทั้งปวงใน "เมืองไทย" พึงพอใจ ไม่ทำการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบอื่น

ลักษณะของ "การปกครองแบบไทย" ดังกล่าวข้างต้นนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสรุปให้เห็นอย่างชัดเจนในการแสดงพระปาฐกถาเรื่อง "ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ" ใน พ.ศ.2470 เมื่อเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบรัฐธรรมนูญตามหน้าหนังสือพิมพ์ทวีความเข้มข้นมากขึ้น

พระปิยมหาราช
นอกจากนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังได้ทรงสร้างอัตลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้พระองค์ทรงเป็น "สมเด็จพระปิยมหาราช" ซึ่งหมายถึง "พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของคนทั้งหลาย" ทั้งด้วยพระนิพนธ์เรื่อง "จดหมายเหตุนายทรงอานุภาพเล่าเรื่องเสด็จประพาสต้น" และด้วยการเรี่ยไรเงินสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า เพื่อจะทำให้ "สมเด็จพระปิยมหาราช" ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในอุดมคติของ "เมืองไทย" ตลอดไป โดยที่พระคุณลักษณะสำคัญของ "สมเด็จพระปิยมหาราช" ก็คือ พระเมตตาคุณและพระมหากรุณาธิคุณที่ทำให้พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ "ของราษฎร" และ "เพื่อราษฎร" ทรงใกล้ชิดกับราษฎรจึงทรงรับรู้ปัญหาทั้งปวงของราษฎร และด้วยพระปรีชาสามารถทำให้ทรงสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งปัญหาเรื่องข้าราชการกดขี่ข่มเหงประชาชนด้วย พร้อมกันนั้นก็ทรงนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่บ้านเมืองในทุกด้าน (172)

การสถาปนา "สมเด็จพระปิยมหาราช" ขึ้นมานี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในการทำให้กระแสการเรียกร้องรัฐธรรมนูญลดความเข้มข้นลง ด้วยการทำให้คนทุกชั้นเกิดความสำนึกว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งทรงเป็น "ผู้นำแบบไทย" และทำการ "ปกครองแบบไทย" ก็ทรงเป็นของราษฎร และทรงปกครองเพื่อราษฎรอยู่แล้ว นับว่าพระองค์ได้ทรงสถาปนา "การปกครองแบบไทย" และ "ผู้นำแบบไทย" ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยทรงนำเอาอุดมคติของ "การปกครองแบบไทย" ที่ปรากฏในจารึกหลักที่ 1 ที่พระราชบิดาทรงนำมาเผยแพร่นั้น มาทำให้เป็นลักษณะเฉพาะของการปกครอง "เมืองไทย" ในทุกยุคทุกสมัย และพระคุณลักษณ์สำคัญของพ่อขุนรามคำแหงในจารึกหลักที่ 1 ก็กลายมาเป็นคุณลักษณ์ของ "สมเด็จพระปิยมหาราช" ที่ทรงสถาปนาขึ้นมา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงยืนยันมโนทัศน์ "การปกครองแบบไทย" ดังกล่าวนี้อยู่เสมอในพระนิพนธ์ต่าง ๆ รวมทั้งในการแสดงพระปาฐกถา "ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ" ใน พ.ศ.2470 ด้วย

อนึ่ง นอกจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะทรงพระนิพนธ์เรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระปิยมหาราชขึ้นเองแล้ว พระองค์ยังทรงขอให้คนอื่นช่วยเขียนด้วย แม้แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 แล้ว คือในปี พ.ศ.2482 พระองค์ก็ยังทรงมีลายพระหัตถ์ถึงพระยาอนุมานราชธนขอให้เขียนเรื่อง "การเลิกทาสในรัชกาลสมเด็จพระปิยมหาราช" ซึ่งจะช่วยให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเสรีภาพให้แก่ราษฎรยิ่งกว่าคณะราษฎรเสียอีก ทรงเสนอแนะให้พระยาอนุมานราชธนเขียนในกรอบความคิดที่ว่า การเลิกทาสในประเทศอื่น ๆ นำไปสู่การนองเลือด แต่สมเด็จพระปิยมหาราชได้ทรงดำเนินการในเรื่องนี้ด้วยพระปรีชาสามารถและความสุขุมคัมภีรภาพ ทำให้การมอบเสรีภาพแก่ราษฎรของพระองค์บรรลุผลสำเร็จอย่างราบรื่น (173) ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระประสงค์ที่จะรักษาความทรงจำของชาวสยาม เกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ รวมทั้งความทรงจำเกี่ยวกับ "การปกครองแบบไทย" ที่พระมหากษัตริย์ทรงดำเนินนโยบายต่าง ๆ ด้วยพระปรีชาญาณและความระมัดระวังรอบคอบ จนเป็นผลดีอย่างยิ่งแก่บ้านเมืองและราษฎร ต่างกับผู้นำในระบอบใหม่ที่กำลังนำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ความทรงจำเช่นนี้จะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการฟื้นฟูระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาในอนาคต

ถึงแม้ว่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เอง อุดมการณ์ที่แสดงออกโดยพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า และพระนิพนธ์เรื่อง "การเสด็จประพาสต้น" รวมทั้งพระนิพนธ์อื่น ๆ จะยังไม่มีพลังครอบงำความคิดของคนไทยเนื่องจากเป็นที่รับรู้อย่างจำกัด เมื่อมีปัจจัยต่าง ๆ หลายประการประกอบกันก็ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติ พ.ศ.2475 ขึ้นมาในที่สุด อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการปฏิวัติ พ.ศ.2475 แล้ว กลับปรากฏว่ามีการสืบทอดการจัดงาน "ถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า" รวมทั้งการผลิตซ้ำเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณีกิจของ "สมเด็จพระปิยมหาราช" อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ก็เพราะงาน "ถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า" ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประดิษฐ์ขึ้นมาในต้นทศวรรษ 2450 นั้น ได้กลายเป็นงานประเพณีที่ได้รับความนิยมจากคนทั่วไปอย่างมาก จนคณะราษฎรเองไม่อาจสั่งให้ยกเลิกได้ และในเวลาที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเพิ่งผ่านไปได้ไม่นานโดยที่คณะราษฎรมิได้มีฐานอำนาจที่เข้มแข็ง อีกทั้งยังมีความขัดแย้งภายในที่ทำให้คณะราษฎรมีความอ่อนแอทางการเมือง ในบริบทเช่นนี้คณะราษฎรจึงมีความจำเป็นต้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ เพื่อจะให้สถาบันดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของชาติ ที่ช่วยสร้างความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติภายใต้ "พระบรมโพธิสมภาร" และ "ความจงรักภักดี" ต่อพระมหากษัตริย์องค์เดียวกัน เพราะว่าประชาชนทั่วไปรวมทั้งคนในบริเวณที่เคยเป็นเมืองประเทศราช ยังคงมีความเลื่อมใสศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์มาก (174)

การผลิตซ้ำ "ความทรงจำ" เกี่ยวกับ "สมเด็จพระปิยมหาราช" ดำเนินไปอย่างเข้มข้นมากขึ้นนับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา โดยหลายฝ่ายรวมทั้งสื่อประเภทต่าง ๆ ได้เข้ามามีบทบาทอย่างแข็งขัน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า หนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ วิทยุ โทรทัศน์ และตำราเรียน ฯลฯ จนกระทั่งในทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา เมื่อคนชั้นกลางต้องเผชิญกับปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นในการประกอบธุรกิจการค้า โดยที่ต้องสัมพันธ์กับรัฐมากขึ้น แต่รัฐไม่อาจสร้างความมั่นคงและความมั่นใจให้ได้ คนชั้นกลางก็ได้แสวงหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่ง ซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนชั้นกลางหันไปพึ่งกันมากก็ได้แก่ "เสด็จพ่อ ร.5" หรือ "สมเด็จพระปิยมหาราช"นั่นเอง (175)

พระปิยมหาราช ในฐานะเครื่องมือตอบโต้ความคิดใหม่
กล่าวได้ว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงทำให้ "สมเด็จพระปิยมหาราช" เป็นตัวแบบในอุดมคติของ "ผู้นำแบบไทย" ซึ่ง "ทำการปกครองแบบไทย" อันส่งผลให้ "เมืองไทยนี้ดี" ซึ่งทำให้มโนทัศน์ดังกล่าว มีอิทธิพลในสังคมการเมืองไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน เข้าใจว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตั้งพระทัยมาแต่แรกที่จะทำให้มโนทัศน์ที่ทรงสร้างขึ้น ช่วยในการสร้างความชอบธรรมให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ในบริบทที่สังคมการเมืองไทยมีอุดมการณ์ใหม่ ๆ เข้ามาแข่งขัน เพราะพระองค์ทรงเป็นปัญญาชนที่เห็นการณ์ไกล คือทรงพยายาม "คิดการให้ตลอด" อยู่เสมอ ย่อมจะทรงตระหนักเป็นอย่างดีว่า การเรียกร้องรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยจะต้องขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้ พระองค์จึงทรงสร้าง "สมเด็จพระปิยมหาราช" ขึ้นมาเพื่อตอบโต้กระแสความคิดดังกล่าวตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5

และเห็นได้ชัดว่าในสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 เมื่อมีคนหลายกลุ่มทำการนิยามความหมายของ "ชาติไทย" ว่าเป็น "ชาติของราษฎร" และ "อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร" (176) และมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้ราษฎรมีสิทธิปกครองตนเอง เพื่อให้การปกครองเป็น "ของประชาชน โดยประชาชน และ เพื่อประชาชน" นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงใช้มโนทัศน์ "สมเด็จพระปิยมหาราช" นี้ ในการตอบโต้ ด้วยการแสดงให้เห็นว่าในระบอบ "การปกครองแบบไทย" พระมหากษัตริย์ก็ทรงเป็น "ของราษฎร" และทรงปกครอง "เพื่อราษฎร" อยู่แล้ว จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงประสบความสำเร็จอย่างสูงในการทำให้มโนทัศน์นี้มีอิทธิพลในสังคมการเมืองไทย จนแม้แต่การปฏิวัติ พ.ศ.2475 และความเปลี่ยนแปลงบรรดามีที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาไม่สามารถทำลายมโนทัศน์ "สมเด็จพระปิยมหาราช" ลงได้เลย แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังเห็นได้ชัดว่าอุดมการณ์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์แบบ "สมเด็จพระปิยมหาราช" มีอิทธิพลในสังคมไทยมากกว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นอันมาก

นอกจากการสร้างมโนทัศน์ "สมเด็จพระปิยมหาราช" แล้ว ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเน้นในพระนิพนธ์อยู่เสมอ เพื่อตอบสนองต่อกระแสเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็คือ เมืองไทยมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มานานแล้ว จนกลายเป็นประเพณี "การปกครองแบบไทย" ซึ่งควรรักษาไว้สืบไป ทั้งนี้เพราะพระมหากษัตริย์ไทยมิได้ทรงใช้พระราชอำนาจแบบเทวสิทธิ์ ตรงกันข้าม "การปกครองแบบไทย" เป็นการปกครองแบบ "พ่อปกครองลูก" ซึ่งเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา อีกทั้ง "พงศาวดาร" ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทรงเป็นผู้นำแห่งคุณธรรมของชนชาติไทยทั้งสามประการ ซึ่งช่วยให้ "เมืองไทย" สามารถรักษาเอกราช มีความสงบสุข และความเจริญก้าวหน้าเป็นอันมาก มโนทัศน์เรื่อง "การปกครองแบบพ่อปกครองลูก" นี้ สอดคล้องเป็นอย่างดีกับมโนทัศน์ "สมเด็จพระปิยมหาราช" จน กล่าวได้ว่าเป็นมโนทัศน์เดียวกัน และเมื่อมีการนำมโนทัศน์ทั้งสองมาผลิตซ้ำในสมัยหลัง ก็ได้ช่วยเสริมพลังให้แก่กันละกัน จนทำให้สถาบัน "พระมหากษัตริย์" มีความสำคัญในสังคมการเมืองไทยตลอดมา

พระมหากษัตริย์ไทย
พร้อมกับการสถาปนามโนทัศน์ "สมเด็จพระปิยมหาราช" และมโนทัศน์ "การปกครองแบบพ่อปกครองลูก" สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสถาปนามโนทัศน์ที่ละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับ "พระมหากษัตริย์" ที่สอดคล้องและเกื้อหนุนมโนทัศน์ทั้งสอง ดังจะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงสร้าง "ความรู้ทางประวัติศาสตร์" ขึ้นมาจำนวนมากโดยเน้นถึง "พระเมตตาคุณ" และ "พระมหากรุณาธิคุณ" ของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรง "เป็นของราษฎร" และทรงปกครอง "เพื่อราษฎร" รวมทั้งในการรักษาเอกราชและสร้างความเจริญแก่ "เมืองไทย" ซึ่งทำให้ราษฎรไม่ตกเป็นทาสของชาติอื่นและได้รับผลดีจากความเจริญที่เกิดขึ้น เช่น เรื่อง ไทยรบพม่า เรื่อง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเรื่องเกี่ยวกับ พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ในพระนิพนธ์พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

ส่วนพระนิพนธ์ "ตำนานทางพุทธศาสนา" ก็ทรงเน้นบทบาทของพระมหากษัตริย์ในการสร้างและการปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปและพระสถูปเจดีย์ต่าง ๆ เพื่อทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เป็นที่พึ่งทางใจของราษฎร เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ "สมเด็จพระปิยมหาราช" โดยเฉพาะนั้น สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือเป็นอันมาก เพื่อแสดงให้เห็นพระเมตตาคุณและพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ในการสร้างความเจริญแก่ "เมืองไทย" โดยเน้นผลดีที่ตกแก่ประชาชนในด้านต่าง ๆ รวมทั้งในด้าน "โภคทรัพย์" ซึ่งเป็นเรื่องที่หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ให้ความสำคัญและมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ว่าการกระจายโภคทรัพย์ขาดความเป็นธรรมและราษฎรมีฐานะยากจน ใน "คำถวายชัยมงคลของประชาชนชาวพระนคร เมื่อเสด็จกลับจากยุโรปครั้งที่ 2" ใน พ.ศ.2451 ซึ่งเสนาบดีกระทรวงนครบาลอ่านถวาย และสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้นำมาตีพิมพ์ไว้ ใน "จดหมายเหตุประกอบเรื่องไกลบ้าน" เพื่อให้เป็นที่รับรู้กว้างขวางยิ่งขึ้น มีข้อความที่เน้นพระราชกรณียกิจในการทำให้ราษฎร "ได้โภคทรัพย์ยิ่งขึ้น" ดังนี้

การค้าขาย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดคลองขึ้นเป็นอันมาก ทวีการไร่นาให้ราษฎรได้โภคทรัพย์ยิ่งขึ้น และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟเพื่อรับส่งคนโดยสารกับบรรทุกสินค้าไปมาเร็วขึ้น กับได้ทรงอุดหนุนให้มีเรือกลไฟใหญ่น้อย เดินรับส่งสินค้าและคนโดยสาร...ไปมาค้าขายสะดวกและรวดเร็ว จนการค้าขายมีสรรพสินค้าต่าง ๆ มาเจือจานในพระราชอาณาจักรบริบูรณ์ยิ่งขึ้น และส่วนการภาษีอากรก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกและลดหย่อนในสิ่งที่ไม่เกิดผลและมีผลน้อยแก่ประชาชน และขึ้นพิกัดอัตราแต่เฉพาะสิ่งที่ได้ผลแก่ประชาชนเป็นอันมาก ข้อซึ่งทรงทะนุบำรุงให้ประชาราษฎรมีความสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์นี้ เป็นเครื่องหมายแห่งพระเมตตาคุณอีกประการหนึ่ง (177)

แม้แต่การที่รัฐบาลมีนโยบายให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงชี้แจงให้ชาวตะวันตกรับรู้ว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่ทรงกระทำ "เพื่อประชาชนทั้งหมดของพระองค์" ดังความในพระนิพนธ์ต่อไปนี้

The attitude of this country from time immemorial has been that of complete toleration of the freedom of religious thought. The state religion has always been Buddhism, but the state does not interfere with its people in the matter of faith….It is recognized that religions confer happiness on the people, and the King's support of all faiths is, in effect, the support of all his people….This fact is well-known to all who know Siam. (178)

เท่าที่กล่าวมานี้ อาจสรุปได้ว่า มโนทัศน์ "การปกครองแบบไทย" ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำมาจากจารึกหลักที่ 1 และทรงทำให้เป็นที่รับรู้แพร่หลายขึ้นนั้น ได้แก่มโนทัศน์ที่ว่า "พระมหากษัตริย์ไทย" หรือ "ผู้นำแบบไทย" เป็นผู้ปกครอง "ของประชาชน" และ "เพื่อประชาชน" เพราะเป็นผู้ยึดมั่นในหลักคำสอนของพุทธศาสนา จึงได้ทำการปกครองแบบ "พ่อปกครองลูก" โดยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประชาชน อำนวยความยุติธรรมแก่คนทุกชั้น ทำนุบำรุงพุทธศาสนาและส่งเสริมให้ทุกคนมีศีลธรรม รับรองกรรมสิทธิ์เอกชน และเปิดเสรีทางการค้า ทำให้ "เมืองไทยนี้ดี" คือ มีระเบียบ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้า ซึ่งส่งผลดีแก่คนทุกชั้นทั้งในด้านโภคทรัพย์และจิตใจ

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสร้างอัตลักษณ์ไทยโดยมิได้เน้น "ความเป็นไทยแท้" ในทางวัฒนธรรม แต่ทรงเน้นความเป็นไทยแท้ในด้าน "อุปนิสัย" หรือ "คุณธรรม" ของชนชาติไทย ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการดังได้กล่าวมาแล้ว ทรงแสดงให้เห็นว่า คุณธรรมทั้งสามประการนี้เป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไทย ซึ่งทำให้ชนชาติไทยดำรงความเป็นใหญ่ในประเทศสยามมาได้ยาวนาน ทรงเน้นด้วยว่าถึงแม้ชนชาติไทยจะเป็นใหญ่ใน "เมืองไทย" แต่ชนชาติไทยก็ไม่เคยเบียดเบียนชนชาติอื่นที่อาศัยอยู่ในประเทศสยาม เพราะชนชาติไทยมีคุณธรรม "ความปราศจากวิหิงสา" และ "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" ทำให้ทุกชนชาติในประเทศสยามอยู่เย็นเป็นสุข ขณะเดียวกันชนชาติไทยซึ่ง "ฉลาดในการประสานประโยชน์" ก็สามารถเลือกรับแต่ส่วนดีจากชาติอื่นมาผสมผสานกับวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว ทำให้เกิดความเจริญงอกงามแก่ศิลปะและวัฒนธรรมของไทยในทุก ๆ ทางตลอดมา

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสนับสนุนให้พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) แปลหนังสือเรื่อง Ancient Times ของ Dr. Henry S. Breasted เพราะหนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นว่าอารยธรรมของยุโรปซึ่งมีความเจริญสูงสุดในเวลานั้น มิได้เกิดขึ้นมาด้วยการสร้างสรรค์ของชาวยุโรปแต่เพียงลำพัง เพราะชาวยุโรปนั้นเคยมีวิถีชีวิตอันป่าเถื่อนมายาวนาน จนได้นำอารยธรรมอันเจริญในระดับสูงจาก "โลกตะวันออก" คืออียิปต์และเอเชียน้อย เช่น บาบิโลเนีย อัสสิเรีย อิหร่าน ฟินีเชีย ฯลฯ เข้ามาปรับใช้ จึงทำให้ชาติยุโรปเจริญขึ้นมาได้ เนื้อหาของเรื่อง Ancient Times จึงเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งของความสำเร็จในการสร้างอารยธรรมจากคุณธรรม "ความฉลาดในการประสานประโยชน์"

ขณะเดียวกัน หนังสือดังกล่าวนี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ชาติที่เคยเจริญรุ่งเรืองอย่างมากอาจเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว และชาติที่ด้อยความเจริญมาก่อนก็อาจกลายเป็นชาติที่เจริญขึ้นมาได้โดยไม่ยาก ซึ่งช่วยเป็นกำลังใจให้แก่ชนชาติไทย ในการที่จะสร้างความเจริญและความยิ่งใหญ่แก่ชาติของตน และช่วยลดความรู้สึกไม่เท่าเทียมหรือความรู้สึกด้อยกว่าชาติตะวันตกให้เบาบางลงได้ (179) ดังนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงตั้งค่าแปลไว้ถึง 800 บาท (ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่น้อยในสมัยนั้น) ในการจ้างพระยาอนุมานราชธนแปลเรื่องนี้ (180)

พุทธศาสนา
ในด้านพุทธศาสนานั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระราชดำริว่า พุทธศาสนาแบบที่นับถือกันในท้องถิ่น ส่งผลร้ายต่อบ้านเมือง เพราะเต็มไปด้วยคำสอนให้เชื่อในอำนาจลึกลับและไสยศาสตร์ โดยเฉพาะในเรื่องผีบุญและพุทธทำนาย ซึ่งอาจส่งผลให้ราษฎรรวมตัวกันเพื่อรอผู้นำคนใหม่ที่เชื่อว่าเป็น "ผู้มีบุญ" ที่จะมาปกครองแทนผู้นำคนเก่าที่เชื่อว่าหมดบุญไปแล้ว จนเป็นเหตุให้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ขึ้นมา นอกจากนี้ ความเชื่อในไสยศาสตร์ยังแสดงให้เห็นถึงการที่ชาวสยามมีความเชื่อที่งมงายล้าหลัง ซึ่งจะส่งผลให้ "เมืองไทย" ได้รับการดูหมิ่นจากอารยประเทศอีกด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเผยแผ่พุทธศาสนาจากส่วนกลาง เพื่อสั่งสอนให้ราษฎรนับถือพุทธศาสนาอย่าง "ถูกต้อง" (181)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเน้นให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของพุทธศาสนา ในสองด้าน

- ด้านหนึ่ง คือการที่พุทธศาสนาเป็นบ่อเกิดของศิลปะที่มีเอกลักษณ์และความงาม ซึ่งช่วยยืนยันในความเจริญรุ่งเรืองของ "เมืองไทย" ตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น พระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ และศิลปะอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา (182)

- อีกด้านหนึ่ง พุทธศาสนาเป็นบ่อเกิดของ "ความรู้ในจรรยา" ที่ช่วยสร้างความประพฤติให้ดีขึ้น ทำให้สามารถประกอบกิจการต่าง ๆ ในทางที่ช่วยสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมือง (183)

ทรงเน้นด้วยว่า ถึงแม้ "พระพุทธศาสนา" จะเป็นศาสนาที่ชนชาติไทยส่วนใหญ่นับถือ และพระมหากษัตริย์ไทยก็ทรงนับถือเช่นกัน แต่พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีคุณธรรมคือความปราศจากวิหิงสา จึงทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนาในเมืองไทย ทำให้คนทุก ๆ ศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

ส่วน "ความเป็นไทย" ในด้านอื่น ๆ เช่น ภาษาไทย วรรณคดี และศิลปะทุกแขนง ก็ล้วนแต่มีความเจริญรุ่งเรือง อันเป็นผลมาจากการที่ "เมืองไทย" มี "พระมหากษัตริย์ไทย" ซึ่งทรงเป็นผู้นำในคุณธรรม "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" คือฉลาดในการเลือกสรรแต่สิ่งดี ๆ จากภายนอกมาผสมผสานกับ "ของดี" ที่ชนชาติไทยมีอยู่แล้ว ทั้งสิ้น (184)

ความสำคัญการศึกษา และภาษาไทย
เป็นที่น่าสังเกตว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพยายามทำให้คนทุกชั้นยึดในหลักชาติวุฒิ แต่ทรงต้องการให้ราษฎรเห็นความสำคัญของการศึกษาเพื่อประโยชน์ทั้งของราษฎรและของบ้านเมือง โดยได้รับทั้งความรู้ด้านวิทยาการสมัยใหม่ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต และความรู้อันทำให้ "รักอิศรภาพแห่งชาติภูมิและประพฤติตนอยู่ในสุจริตธรรม" ซึ่งรวมไปถึง "คฤหัสถ์วินัย" และ "วินัยพลเมือง" ด้วย (185) ใน แบบเรียนเร็วสำหรับหนังสือไทย เล่ม 1 ที่ทรงพระนิพนธ์ขึ้น จึงทรงพยายามทำให้นักเรียนตระหนักว่า ความรู้ซึ่งเป็น "เรื่องของความดีความชั่ว" นั้น มีผลต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม กล่าวคือ ขุนนางเป็นผู้มีความรู้มาก จึงได้รับเกียรติยศ ชื่อเสียง เงินทอง ส่วนผู้ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ จะต้องทำงานหนัก มีอาชีพขายแรงงานหรือเป็นบ่าวทาส

ทรงแสดงนิทานเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ในหมู่คนชั้นต่ำ เช่น ทาส หากมีความรู้ดีนายก็จะให้ทำงานด้านบัญชีสิ่งของทรัพย์สินซึ่งเป็นงานเบา แต่ถ้าไม่มีความรู้ก็จะต้องทำงานที่ใช้แรงกายอย่างหนัก (186) จึงกล่าวได้ว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระประสงค์ที่จะให้การศึกษาช่วยยกระดับความเจริญของคนทุก "ชั้น" แต่เป็นความเจริญภายใน "ชั้น" เดิมของแต่ละคน มิใช่เพื่อให้ผู้ได้รับการศึกษาได้เลื่อนสถานะไปอยู่ใน "ชั้น" ที่สูงขึ้นแต่อย่างใด

สำหรับ การใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง นั้น มีความสัมพันธ์อย่างมากกับการยอมรับระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น หรือการ "รู้ที่ต่ำที่สูง" และยังส่งผลให้ "ไพร่บ้านพลเมืองนิยมและเกรงกลัวรัฐบาลไทย" (187) อีกด้วย ชนชั้นนำสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมทั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงส่งเสริมให้คนในหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศได้เรียนรู้การใช้ภาษาไทยและอักษรไทยแบบทางการ เฉพาะในภาคใต้นั้น ทรงเห็นว่าการสอนอักขรวิธี การอ่าน และการเขียนภาษาไทยจะทำให้ชาวมุสลิมสามารถรับข้อมูลข่าวสารและความคิดจากผู้ปกครองในกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งได้มาก และช่วยให้การปกครองภาคใต้ดำเนินไปได้โดยราบรื่น (188)

เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่าภาษาไทยมีความสำคัญเช่นที่กล่าวมานี้ ทำให้พระองค์ทรงเน้นให้ภาษาไทยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของ "ความเป็นไทย" เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ตาม ทั้งภาษาไทย อักษรไทย ตลอดจนศิลปะไทย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมิได้ทรงเน้น "ความเป็นไทยแท้" ตรงกันข้าม พระองค์ทรงแสดงให้เห็นในพระนิพนธ์ทั้งหลายอย่างชัดแจ้งว่า ภาษาไทย ศิลปะไทย และวัฒนธรรมอื่น ๆ ของไทยล้วนเป็นผลมาจาก "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" ทั้งสิ้น (189)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดหลักสูตรการศึกษา ที่บังคับให้นักเรียนทุกระดับชั้นทั่วประเทศต้องเรียนวิชา "ภาษาไทย" คู่กับวิชา "พงศาวดารไทย" เพื่อหล่อหลอมความรู้สึกนึกคิดของชาวสยามให้จงรักภักดีต่อ "เมืองไทย" และ "พระมหากษัตริย์" แห่ง "เมืองไทย" อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังทรงพยายามส่งเสริมให้ "คนหนุ่ม" นิยมวรรณคดีไทยและแต่งหนังสือเป็นภาษาไทย โดยทรงดึงเอา "คนหนุ่ม" ที่ทรงเห็นว่า "มีแวว" เข้ามาร่วมงานใน "วรรณคดีสโมสร" ดังที่พระยาอนุมานราชธนได้เขียนไว้ว่า "สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งทรงดำรงตำแหน่งอุปนายกแห่งวรรณคดีสโมสร มีพระประสงค์จะทรงส่งเสริมคนหนุ่มให้นิยมวรรณคดีไทย และแต่งหนังสือไทยให้เป็นภาษาไทย" (190)

พระองค์ทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะส่งเสริมหรือสร้างคนที่มีความสามารถในการ "แต่งหนังสือไทย" เช่น การที่พระยาอนุมานราชธนและนาคะประทีปได้รับรางวัล "แต่งหนังสือไทยดี" จากการแปล นิยายเบงคลี ซึ่งแม้ว่าพระยาอนุมานราชธนจะเห็นว่าเรื่องนี้ "แต่งดีเป็นสำนวนไทย ๆ แต่เห็นจะไม่ถึงขนาดเยี่ยมที่เป็นมาตรฐานตามที่กำหนดไว้" แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ได้ทรงสนับสนุนให้ได้รับเงินรางวัลเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับหนังสือเรื่อง หลักไทย ของขุนวิจิตรมาตรา ซึ่งพระยาอนุมานราชธนเขียนไว้ว่า

"เชื่อแน่ว่ากรรมการผู้เสนอเรื่องเข้าที่ประชุม คงเป็นสมเด็จฯ มากกว่าท่านผู้อื่น เพราะมีเหตุการณ์เกิดก่อนหน้านั้นอยู่เรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับหนังสือ หลักไทย ของขุนวิจิตรมาตรา ...หนังสือเรื่องนี้กล่าวถึงเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของไทย ได้กล่าวเรื่องไทยย้อนหลังไปไกลถึงสมัยตั้ง 2,000 ปี ...เหตุนี้ สมเด็จฯ จึงทรงส่งเสริมให้ได้รับพระราชทานรางวัลเป็นเงินพันบาท ...เพื่อจะได้เป็นตัวอย่างแก่ชาวไทยคนรุ่นใหม่ของสมัยนั้น ให้สนใจเรื่องราวอันเป็นประวัติศาสตร์และเรื่องวัฒนธรรมของชาติตน...

นิยายเบงคลี ไม่ใช่หนังสือแต่งดีถึงขนาดเยี่ยม แต่สมเด็จฯ ทรงส่งเสริมให้ได้ประกาศนียบัตรรับรอง ก็เพื่อให้คนอื่นสนใจและแต่งหนังสือไทยเอาอย่างบ้าง...นี้ฉันใด เรื่องหลักไทยก็ฉันนั้น สมเด็จฯ มีพระประสงค์จะทรงสนับสนุนการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นที่ตั้ง แม้จะบกพร่องในการประพันธ์ทางอักษรศาสตร์บ้าง..." (191)

สมาคมวรรณคดี
นอกจากจะทรงดำเนินการต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองในการทำให้คนใน "เมืองไทย" ผูกพันกับ "ความเป็นไทย" แล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นความสำคัญของการสร้าง "สมาคม" เพื่อเป็นองค์กรสร้างสรรค์และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" ด้วย เช่น ทรงพยายามสร้าง "สมาคมวรรณคดี" ใน ราวปี พ.ศ.2470 หรือ พ.ศ.2471 ดังที่พระยาอนุมานราชธนเล่าไว้ว่า

...ก่อนหน้าสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองราว 4-5 ปี สมเด็จฯ ทรงเชิญผู้มีความรู้ทางอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวรรณคดี ไปประชุม ณ ห้องประชุมราชบัณฑิตยสภา ...ผู้เข้าประชุมเท่าที่นึกออกมีพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี พระเจนจีนอักษร พระพินิจวรรณการ พระราชธรรมนิเทศ...และพราหมณ์ ป.ส. ศาสตรี...ล้วนเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรง อยู่วงในของราชบัณฑิตยสภา...

ส่วนผู้อื่นที่อยู่วงนอกของสภา และได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมด้วย มี พระยาอุปกิตศิลปะสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) พระธรรมนิเทศทวยหาญ (อยู่ อุดมศิลป์) พระวรเวทย์พิสิฐ (เซ็ง ศิวศริยานนท์) พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) หลวงเทพดรุณานุศษฏ์) (ทวี ธรฺมธัช) และข้าพเจ้า...

...เมื่อเริ่มประชุม สมเด็จฯ ตรัสอธิบายถึงเหตุที่เชิญมาประชุม ก็เพื่อจะให้ผู้มีความสนใจและมีความรู้เรื่องของไทย ได้มีโอกาสพบปะวิสาสะกันอย่างพร้อมหน้า แล้วต่อไปก็ทรงยกเรื่องความรู้นี้เรื่องหนึ่ง...เปิดปัญหาการสนทนา...แล้วก็ทรงกำหนดให้ผู้หนึ่งซึ่งมีความรู้แตกฉานในเรื่องที่สนทนาไปค้นคว้าต่อ และแต่งเรื่องเสนอที่ประชุมคราวหน้า... (192)

การสร้าง "สมาคมวรรณคดี" นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ดังปรากฏในข้อเขียนของพระยาอนุมานราชธน ดังนี้

การประชุมสมาคมวรรณคดีเป็นเรื่องสนุก และอยู่ในความสนใจอย่างยิ่งแก่ผู้ไปร่วมประชุมทุกคน เพราะเป็นโอกาสได้ฟังเรื่องความรู้ต่าง ๆ ที่สมเด็จฯ ตรัสเล่าด้วย...หนังสือ บันทึกสมาคมวรรณคดี ซึ่งเป็นแถลงการณ์แสดงผลงานของที่ประชุม เมื่อได้ตีพิมพ์เผยแผ่และแพร่หลายไปถึงคนภายนอกแล้ว ก็ปรากฏว่าเป็นที่สนใจของคนทั่วไป โดยเฉพาะในหมู่ผู้ศึกษา และผู้ใฝ่ใจความรู้เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย (193)

นอกจาก"สมาคมวรรณคดี"จะช่วยในการเผยแผ่ความรู้เกี่ยวกับ"วัฒนธรรมไทย"ซึ่งพระยาอนุมานราชธนให้ความหมายว่าเป็น "สมบัติของชาวไทยที่ชาวไทยได้เรียนและสืบต่อกันมานาน...สำแดงออก...ว่าคิดอย่างไทย ทำอย่างไทย" (194) แล้ว ยังดึงดูดคนภายนอกให้เข้ามาร่วมงาน ที่สำคัญก็คือหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งพระยาอนุมานราชธนเล่าว่า

"คุณหลวงวิจิตรวาทการมาเฝ้าในกรมพิทยาลงกรณ์ที่วัง ขณะที่ประชุมกันอยู่ ว่าได้ทราบข่าวสมเด็จฯ ทรงพระดำริจะจัดตั้งสมาคมวรรณคดีขึ้นก็ดีใจมาก...จะขออาสาเป็นเลขานุการที่ประชุม และรับตีพิมพ์หนังสือของสมาคมวรรณคดีโดยไม่คิดมูลค่าในการพิมพ์ (หรือถ้าจะคิดบ้างก็เพียงต้นทุน ตรงนี้ข้าพเจ้าจำไม่ได้แน่)... (195)

ถึงแม้ว่า "สมาคมวรรณคดี" ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสร้างขึ้นจะดำเนินงานได้เพียง 5 ปี แต่การสถาปนา "สมาคม" เพื่อสร้างและเผยแผ่ความรู้เกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" ตลอดจนการสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสานต่องานที่พระองค์ทรงวางรากฐานไว้เช่นนี้ นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะปัญญาชนหลายคนที่เคยร่วมอยู่ใน "สมาคมวรรณคดี" ยังคงมีบทบาทในการสืบทอดพระดำริสำคัญ ๆ ของพระองค์สืบต่อมา

บทส่งท้าย
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2485 ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 ผ่านไปได้ 10 ปี และสงครามโลกกำลังดำเนินไปอย่างรุนแรง ก่อนสิ้นพระชนม์ไม่นานทรงมีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ และทรงหวังจะให้พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นทรงดำเนินการกอบกู้ "เอกราช" ของ "เมืองไทย" ให้กลับคืนมาอยู่ภายใต้พระบรมเดชานุภาพและพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมราชจักรีวงศ์อย่างสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง ทรงพระนิพนธ์ พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเพื่อให้เป็น "พระมหากษัตริย์ในอุดมคติ" ทรงแสดงให้เห็นในพระนิพนธ์เรื่องนี้ว่า ถึงแม้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะทรงตกอยู่ภายใต้อำนาจของ "คนอื่น" ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แต่ในท้ายที่สุดก็ทรงกู้ราชบัลลังก์และบ้านเมืองได้สำเร็จ ทั้งยังทรงขยายอำนาจออกไปจน "เมืองไทย" ยิ่งใหญ่ไพศาล (196)

ถึงแม้ว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะสิ้นพระชนม์ก่อนที่พระราชอำนาจของพระบรมราชจักรีวงศ์จะได้รับการฟื้นฟู แต่ผลงานของพระองค์ยังคงมีอิทธิพลอย่างยิ่ง เพราะได้รับการเลือกสรรมาสืบทอดโดยปัญญาชนในสมัยหลังอย่างไม่ขาดสาย จนอาจกล่าวได้ว่าพระดำริของพระองค์มีส่วนอย่างสำคัญในอุดมการณ์แห่งชาติในทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา รวมทั้งมีส่วนในการกำหนดวิธีคิดเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ของคนไทยอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงมอง "สังคมไทย" ในกรอบมโนทัศน์ "เมืองไทยนี้ดีเพราะมีความเป็นไทยทางวัฒนธรรม" และมองคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมไทยโดยยอมรับแบ่งคนออกเป็น "ชั้น" แม้ว่าจะให้ความสำคัญแก่ชาติวุฒิน้อยลง พร้อมกับให้ความสำคัญแก่ความรู้ความสามารถและทรัพย์สินมากขึ้นก็ตาม แต่ "อัตลักษณ์ของคนชั้นต่าง ๆ" ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพทรงสร้างขึ้น ก็ยังคงมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของคนไทยอยู่เสมอ

โดยเฉพาะในแง่ที่เห็นว่า สังคมไทยจะมีระเบียบ ความสงบสุข และความเจริญก้าวหน้าก็ต่อเมื่อคนแต่ละ "ชั้น" มีบทบาทและหน้าที่ตามสถานภาพของตนอย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนมีความสำคัญค่อนข้างน้อย คนไทยส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญอย่างสูงแก่พระมหากษัตริย์ และผู้นำที่มีคุณธรรมจริยธรรม ที่ทำการปกครองประชาชนด้วยความเมตตากรุณาและให้การอุปถัมภ์แก่คนกลุ่มต่าง ๆ ด้วยความเอื้ออาทร จนกล่าวได้ว่าในทัศนะของคนไทยนั้น ผู้ปกครองที่ "เป็นของประชาชน" และ "ปกครองเพื่อประชาชน" มีความสำคัญมากกว่า "การปกครองโดยประชาชน"

ในส่วนของคุณธรรม 3 ประการที่เป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไทยนั้น ถึงแม้ว่า "ความปราศจากวิหิงสา" และ "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" จะไม่ได้รับการเน้นโดยผู้กุมอำนาจรัฐในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และยุคสงครามเย็น เนื่องจากต้องเน้นการต่อสู้กับ "คนอื่น" แต่คุณธรรมในข้อ "ความจงรักในอิสรภาพของชาติ" ได้รับการสืบทอดอย่างต่อเนื่อง เพราะช่วยให้คนไทยตระหนักในความจำเป็นที่จะต้อง "สามัคคี" และ "เสียสละ" เพื่อรักษาเอกราชของชาติ ทำให้การรักษาเอกราชของชาติมีความสำคัญในวิธีคิดของคนไทยตลอดมา ทั้งนี้ พระนิพนธ์เรื่อง ไทยรบพม่า ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความสำนึกในเรื่อง "ความจงรักในอิสรภาพของชาติ" มีอิทธิพลต่อวิธีคิดของคนไทยในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

ด้วยการเสนอความคิดที่ลุ่มลึกและอิทธิพลทางความคิดที่มากไพศาล ผ่านพระนิพนธ์ที่มีการพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง รวมทั้งการบรรจุไว้ในตำราเรียนและการสืบทอดของปัญญาชนในสมัยหลัง อาจกล่าวได้ว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพทรงเป็นปัญญาชนสำคัญที่สุดของ "เมืองไทยสมัยใหม่" ตลอดหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(162) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, เทศาภิบาล กรุงเทพฯ: มติชน, 2545. หน้า 6.
(163) ชาตรี ประกิตนนทการ, การเมืองและสังคมในศิลปะสถาปัตยกรรม สยามสมัยไทยประยุกต์ชาตินิยม. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2547. หน้า 184.

(164) เรื่องเดียวกัน, หน้า 164.
(165) เรื่องเดียวกัน, หน้า 185-186.
(166) เรื่องเดียวกัน, หน้า 183-187.
(167) เรื่องเดียวกัน, หน้า 186.
(168) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ,"ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ" ใน ประวัติศาสตร์และการเมือง หนังสืออ่านประกอบวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2516. หน้า 8-12.

(169) อ้างใน พระยาอนุมานราชธน, "วัฒนธรรมไทยในทางประวัติศาสตร์" ใน งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน หมวดวัฒนธรรม เรื่อง รวมเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม พิมพ์เผยแพร่ในวาระครบ 100 ปี ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน และองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติประกาศเกียรติคุณเป็น "บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก" กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2531. หน้า 81-82.

(170) เรื่องเดียวกัน.
(171) โปรดดูรายละเอียดใน เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช, "แนวความคิดประชาธิปไตยแบบไทย" วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536.

(172) โปรดดูรายละเอียดใน สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ: การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม. หน้า 141-175.

(173) พระยาอนุมานราชธน, รวมเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดี , งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน หมวดประวัติศาสตร์-โบราณคดี เล่มที่ 6 กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภาและมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2531. 112-113.

(174) ดังจะเห็นได้ว่าภายหลังเกิดการปฏิวัติ พ.ศ.2475 แล้ว หลวงวิจิตรวาทการได้เสนอให้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ เพราะ "ความจำเป็นซึ่งต้องยึดโยงภาคต่าง ๆ ของสยามให้คงแนบแน่นกันอยู่ เรายังต้องการพระกรทั้งสองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดสยามอาณาจักรทั้งเหนือใต้ไว้ให้อยู่ด้วยกัน" (หลวงวิจิตรวาทการ, การเมืองการปกครองของกรุงสยาม พระนคร: มปพ., 2475. หน้า 186-187). เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จเยี่ยมพสกนิการอีสานใน พ.ศ.2498 ซึ่งการปฏิวัติ พ.ศ.2475 ผ่านไปได้ยี่สิบปีเศษ ก็ปรากฏว่าราษฎรในภาคอีสานได้มารับเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดิน จนกระทั่งจอมพล ป. พิบูลสงครามไม่ยอมให้งบประมาณเพื่อการเสด็จเยี่ยมราษฎรอีก (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ และ ม.ร.ว.ประกายทอง สิริสุข พิมพ์ครั้งที่ 2 มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548).

(175) นิธิ เอียวศรีวงศ์, ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.5. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: มติชน, 2546.
(176) โปรดดูรายละเอียดใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยมกับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ รัฐศาสตร์สาร. 21, 3 (2542).

(177) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, จดหมายเหตุประกอบเรื่องไกลบ้าน. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน ในงานพระศพสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช 18 พฤศจิกายน 2505. หน้า 95.

(178) ห.จ.ช., สบ. 2.56/20. เอกสารส่วนพระองค์ กรมดำรงฯ พระนิพนธ์ 1-20 พ.ศ. 2367-2471 เล่ม 1.
(179) โปรดดู พระยาอนุมานราชธน, เรื่องพงศาวดารดึกดำบรรพ์, งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน หมวดประวัติศาสตร์-โบราณคดี เล่มที่ 25 กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภาและมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2531.

(180) พระยาอนุมานราชธน, "สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและวงวิชาการ", งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน หมวดชีวประวัติ เล่มที่ 2 กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภาและมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2531. หน้า 76.

(181) วารุณี โอสถารมย์, "การศึกษาในสังคมไทย พ.ศ.2411 - พ.ศ.2475", วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2524. หน้า 131-132.

(182) โปรดดู สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานพระพุทธเจดีย์ ใน ประชุมพระนิพนธ์เกี่ยวกับตำนานทางพระพุทธศาสนา พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระเทพคุณธร (ผล ชินปุตโต) กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2514.

(183) วารุณี โอสถารมย์, "การศึกษาในสังคมไทย พ.ศ.2411-พ.ศ.2475". หน้า 43-195.
(184) สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม. หน้า 117-126.

(185) ห.จ.ช., ร.5 ศ.2/5 สำเนาหนังสือกราบบังคมทูลความเห็นเรื่องการศึกษาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ 1 เมษายน ร.ศ.125.

(186) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, แบบเรียนเร็วสำหรับหนังสือไทย เล่ม 1 พระนคร: ศึกษาพิมพการ, ร.ศ.128. (พ.ศ.2432) หน้า 88-175.

(187) ห.จ.ช., ร.5 ศ.2/5 สำเนาหนังสือกราบบังคมทูลความเห็นเรื่องการศึกษา ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ 1 เมษายน ร.ศ.125.

(188) วารุณี โอสถารมย์, "การศึกษาในสังคมไทย พ.ศ.2411-พ.ศ.2475". หน้า 132.
(189) สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม. หน้า124-126.

(190) พระยาอนุมานราชธน, "ชีวิตพระสารประเสริฐที่ข้าพเจ้ารู้" งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน หมวดชีวประวัติ เล่มที่ 1 เรื่องรวมชีวประวัติ กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภาและมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2531. หน้า 54.

(191) เรื่องเดียวกัน, หน้า 79.
(192) พระยาอนุมานราชธน, "สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและวงวิชาการ", งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน หมวดชีวประวัติ เล่มที่ 2 กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภาและมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2531. หน้า 81-82.

(193) เรื่องเดียวกัน, หน้า 82.
(194) เรื่องเดียวกัน, หน้า 82.
(195) เรื่องเดียวกัน, หน้า 82-83.
(196) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช, กรุงเทพฯ: จำลองศิลป์, 2494.

 

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๑ : Release date 7 April 2008 : Copyleft by MNU.
นอกจากนี้ กรมพระยาดำรงฯยังทรงสนับสนุนให้พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) แปลหนังสือเรื่อง Ancient Times ของ Dr. Henry S. Breasted เพราะหนังสือเล่มนี้ได้แสดงให้เห็นว่า...อารยธรรมของยุโรปซึ่งมีความเจริญสูงสุดในเวลานั้น มิได้เกิดขึ้นมาด้วยการสร้างสรรค์ของชาวยุโรปแต่เพียงลำพัง เพราะชาวยุโรปนั้นเคยมีวิถีชีวิตอันป่าเถื่อนมายาวนาน จนได้นำอารยธรรมอันเจริญในระดับสูงจาก "โลกตะวันออก" คืออียิปต์และเอเชียน้อย เช่น บาบิโลเนีย อัสสิเรีย อิหร่าน ฟินีเชีย ฯลฯ เข้ามาปรับใช้ จึงทำให้ชาติยุโรปเจริญขึ้นมาได้ เนื้อหาของเรื่อง Ancient Times จึงเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งของความสำเร็จในการสร้างอารยธรรมจากคุณธรรม "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" (คัดลอกมาจากบทความวิจัย)
H