ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




06-04-2551 (1524)

ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ: มโนทัศน์ "เมืองไทยและความเป็นไทย" (ตอน ๑)
รองศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

งานวิจัยต่อไปนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ขอรับมาจากผู้วิจัย
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำหรับโครงการ:
"ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.๒๔๓๕-๒๕๓๕)"
โดย รองศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์ (สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)

เนื้อหาสมบูรณ์ของโครงงานวิจัย ประกอบด้วย ๑๓ บท เป็นการศึกษาวิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและ
วัฒนธรรมไทยของปัญญาชนจำนวน ๑๐ ท่าน ดังนี้: - พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส - เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
- หลวงวิจิตรวาทการ - พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
- พระยาอนุมานราชธน - ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ - สุลักษณ์ ศิวรักษ์
ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะทะยอยเผยแพร่ไปตามลำดับบท อย่างต่อเนื่อง

สำหรับในส่วนนำเสนอนี้ มาจากบทที่ ๔ การสร้าง "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย"
โดยปัญญาชนแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์: สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เนื่องจากต้นฉบับงานวิจัยมีความยาวประมาณ ๓๔ หน้ากระดาษ เอ ๔ ทางกองบรรณาธิการฯ
จึงได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๒ ตอน และแยกเชิงอรรถออกจากกัน เพื่อความสะดวกในการจัดหน้า
และความเหมาะสมในการนำเสนอในรูปเว็บเพจ
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๒๔
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๗ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ: มโนทัศน์ "เมืองไทยและความเป็นไทย" (ตอน ๑)
รองศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ตอนที่ ๑
การสร้าง "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย"
โดยปัญญาชนแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์: สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ความนำ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็น "เจ้า" ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ถึง 4 พระองค์ ซึ่งทรงครองราชย์ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประเทศสยาม เพราะทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระปิตุลาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้น พระองค์จึงทรงมีความสำนึกในพันธกิจและเกียรติยศของ "เจ้า" อย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ ทรงมีความผูกพันกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ดูแลรับผิดชอบราชการเกี่ยวกับมณฑลเทศาภิบาลทั่วประเทศ ทั้งในเรื่องการปกครอง การเก็บภาษี การปราบปรามโจรผู้ร้าย การศาล การราชทัณฑ์ การศึกษา การจัดการทรัพยากร เช่น ป่าไม้ เหมืองแร่ ฯลฯ อีกทั้งยังทรงเป็นที่ปรึกษาราชการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึง 3 พระองค์ ซึ่งทำให้พระองค์ต้องทรงครุ่นคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตและทิศทางความเปลี่ยนแปลงของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตลอดจนวิธีการที่จะจรรโลงระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้มั่นคงและยั่งยืน ท่ามกลางความผันแปรของบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นปัญญาชนที่มีความรักในความรู้และทรงกระตือรือร้นในการเรียนรู้ เพราะทรงตระหนักดีว่า "วิชาความรู้ย่อมเกิดขึ้นใหม่และเจริญขึ้นเสมอ" ทรงต้องการแสวงหาความรู้เพื่อจะสามารถ "คิดการให้ตลอด" (134) ซึ่งหมายถึงสามารถมองปัญหาหรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ อย่างเข้าใจทะลุปรุโปร่งว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปถึงเรื่องใดบ้าง ซึ่งช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนสร้างความสงบเรียบร้อยและความเจริญแก่บ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ พระองค์ทรงตระหนักด้วยว่ามี "มุมมอง" หลายแบบ ซึ่งทำให้คนมองเรื่องต่าง ๆ แตกต่างกัน ทรงถือว่าพระองค์เองทรงมองโลกจาก "มุมมองแบบสยาม" (Siamese viewpoint) (135) แต่ก็เป็น "มุมมองแบบสยาม" ที่พระองค์ทรงพัฒนาขึ้นมาด้วยพระองค์เองจากการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ทั้งจากประสบการณ์ชีวิตในแวดวงสังคมของคนชั้นสูงในประเทศสยาม และจากการศึกษาหาความรู้ทั้งที่มาจากโลกตะวันตกและโลกตะวันออกอยู่ตลอดเวลา

นับตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีบทบาทสำคัญ (เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ในการสถาปนาวัฒนธรรมทางความคิดที่ช่วยจรรโลงระบอบการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ ทรงมีอิทธิพลสูงยิ่งในการสร้าง "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย" เพราะทรงสื่อสารกับ "คนไทย" ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ผ่านพระนิพนธ์ พระดำรัส และการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐ

ถึงแม้ว่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระนิพนธ์และพระดำรัสของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะได้รับการเผยแพร่ในวงจำกัด เนื่องจากการพิมพ์ยังไม่แพร่หลาย และจำนวนของชาวสยามที่อ่านออกเขียนได้ก็มีจำนวนไม่มากนัก แต่ผลงานของพระองค์ได้กลายเป็นแหล่งความรู้อันสำคัญยิ่งเกี่ยวกับความเป็นมาของ "เมืองไทย" และ "ความเป็นไทย" ซึ่งผู้เขียนตำราเรียน นักวิชาการ ครู และนักศึกษาในสมัยหลัง จะใช้ในการค้นคว้าหาความรู้ ซึ่งทำให้งานเขียน รวมทั้งผลงานด้านศิลปะแขนงต่าง ๆ ในยุคหลัง ยังคงได้รับอิทธิพลจากมโนทัศน์ "เมืองไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงมีส่วนสำคัญในการสถาปนาขึ้นมา เมื่อประกอบกับการที่พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็น "พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย" ก็ยิ่งส่งผลให้พระนิพนธ์และพระดำรัสของพระองค์ได้รับการยอมรับในฐานะ "ความรู้อันถูกต้อง" ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ และมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของคนไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน จนกล่าวได้ว่า ทรงประสบความสำเร็จอย่างสูงในการ "ตกแต่งนิสัยใจคอ" (136) ของคนทุกชั้นในประเทศสยาม สมดังพระปณิธานของพระองค์

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงงานต่าง ๆ ในฐานะปัญญาชน ในบริบททางการเมืองเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นคือบริบทของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ต้องเผชิญกับอำนาจและความศิวิไลซ์ที่เหนือกว่าของชาติตะวันตก ซึ่งชนชั้นนำจะต้องเลือกว่าจะยอมรับสิ่งใดบ้างจากตะวันตก และจะต้องรักษา "ความเป็นไทย" ในด้านใดเอาไว้ ขณะเดียวกัน พระมหากษัตริย์และชนชั้นเจ้าซึ่งสามารถรวมศูนย์อำนาจในการปกครองได้สำเร็จนั้น กลับเผชิญปัญหาความแตกร้าวอย่างรุนแรงในหมู่ชนชั้นนำด้วยกัน ทั้งในเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนมีความแตกต่างทางความคิด โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับระบอบการปกครอง ว่าควรจะเป็นการปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดสูงสุดเพียงพระองค์เดียว หรือว่าควรจะมี "คอนสติติวชั่น"(รัฐธรรมนูญ) และมี "ปาลิเมนต์"(รัฐสภา) จนเป็นการยากมากที่ผู้ใดจะสร้างความสมานฉันท์ในกลุ่มชนชั้นนำขึ้นมาได้ ส่วนข้าราชการก็อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านของระบบราชการ จากระบบราชการแบบจารีตที่ได้รับการปรับเปลี่ยนมาเป็นระบบราชการสมัยใหม่ ข้าราชการรุ่นหนุ่มที่มีความรู้แผนใหม่กลายเป็นผู้บังคับบัญชา ส่วนผู้มีวัยวุฒิและประสบการณ์ในการทำงานมากกว่ากลับกลายเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา แต่แบบแผนการทำงานในระบบราชการก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เกิดระบบระเบียบอย่างสมบูรณ์ ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการทำงานก็ถือว่าขึ้นอยู่กับ "พระมหากรุณาธิคุณ" โดยที่ข้าราชการในกระทรวงต่าง ๆ ไม่ได้ใช้บัญชีเงินเดือนเดียวกัน และข้าราชการก็ไม่มีสิทธิในการเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องความก้าวหน้าในระบบราชการ ซึ่งยังคงขึ้นอยู่กับชาติวุฒิและความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์มากกว่าจะขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถ และความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ นอกจากนี้ ยังปรากฏว่ามีการโยกย้ายข้าราชการอยู่เนือง ๆ เพื่อจะป้องกันมิให้ข้าราชการสร้างบารมีหรืออิทธิพลในเขตการปกครองหนึ่ง ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ อีกด้วย (137)

ในเวลานั้นราษฎรเพิ่งได้รับการเปลี่ยนสถานภาพจาก "ไพร่" และ "ทาส" เป็น "เสรีชน" ซึ่งทำให้ภาระหน้าที่ต่อรัฐเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก และรัฐได้ขยายอำนาจเข้ามาจัดการทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของราษฎรโดยตรง ในขณะที่อุดมการณ์รัฐแบบที่มีรากฐานอยู่บนจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิกำลังหมดพลังลงไป ส่วนพระสงฆ์ก็ต้องถูกปรับเปลี่ยนบทบาทเนื่องจากรัฐได้เข้ามาจัดการเรื่องต่าง ๆ ที่เคยเป็นบทบาทตามจารีตประเพณีของพระสงฆ์ เช่น การศึกษาและการสอนศีลธรรม ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องหาทางทำให้ราษฎรและพระสงฆ์ยอมรับบทบาทและสถานภาพใหม่ของตน ส่วนชาวจีนและพ่อค้าชาติอื่น ๆ ซึ่งขยายตัวขึ้นภายหลังสนธิสัญญาเบาริง ก็เป็นกลุ่มคนที่รัฐต้องหาทางกำหนดสถานภาพและบทบาทให้ชัดเจนเช่นกัน เพื่อจะกำหนดแนวทางในการดำเนินชีวิตให้เป็นไปในวิถีทางที่เป็นประโยชน์ต่อ "เมืองไทย" และไม่เกิดปัญหาใด ๆ ที่จะเป็นอันตรายต่อส่วนรวมหรือต่อรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ในท่ามกลางสภาวการณ์และปัญหาเช่นที่กล่าวมาข้างต้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงหาทางแก้ปัญหาด้วยการนิยามความหมาย "เมืองไทย" และ "ความเป็นไทย" พร้อมกับนิยามความหมายของคนใน "ชั้น" ต่าง ๆ เพื่อให้คนทุกชั้นตระหนักถึงสถานภาพ บทบาท และหน้าที่ของตนใน "เมืองไทย" และมีแนวทางหรือหลักการในการประพฤติปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้ "เมืองไทยนี้ดี" ตลอดไป (138)

การสร้างอัตลักษณ์ "เจ้า"
การสร้างอัตลักษณ์ "เจ้า" สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพยายามทำให้ "เจ้า" ทั้งหลาย มีอัตลักษณ์ที่เน้นในพระเกียรติยศอันเกิดจากความสำเร็จในการทำหน้าที่ต่อบ้านเมืองอย่างเต็มกำลังความสามารถ และมีความสำนึกว่า การเกิดมาเป็น "เจ้า" ในพระราชวงศ์จักรีนั้น ทำให้ "เจ้า" ทั้งหลายมีพันธกิจติดตัวมาแต่เกิด คือมีหน้าที่รับราชการและอุทิศตนเพื่อทำประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างเต็มที่ การยึดมั่นในอัตลักษณ์เช่นนี้จะส่งผลให้ "เจ้า" ทุ่มเททำงานในฐานะของชนชั้นนำแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งจะช่วยให้ "เจ้า" สามารถรักษาอำนาจทางการเมืองเอาไว้ได้อย่างมั่นคง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงพยายามสร้างและปลูกฝังอัตลักษณ์ดังกล่าวนี้แก่ "เจ้า" อยู่เสมอ นอกจากจะทรงมีลายพระหัตถ์ไปยัง "เจ้า" มากมายหลายพระองค์เพื่อสร้างความสำนึกในอัตลักษณ์ "เจ้า" อย่างเข้มข้นแล้ว ยังทรงพยายามทำให้ "เจ้า" มีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นพระราชโอรสหรือพระราชนัดดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

เพื่อให้จุดมุ่งหมายข้างต้นบรรลุผล สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเปลี่ยนความทรงจำของคนทั้งหลายเกี่ยวกับพระองค์ ซึ่งทรงเป็นสมเด็จพระราชบิดาและสมเด็จพระอัยกาธิราชของ "เจ้า" ทั้งหลาย โดยได้ทรงพระนิพนธ์พระราชประวัติเพื่อแสดงให้เห็นอย่างละเอียดชัดเจนว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง และได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่บ้านเมืองเป็นอเนกประการ "เจ้า" ที่เป็นพระราชโอรสและพระราชนัดดาจึงสามารถภาคภูมิใจได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งบังเกิดความมุ่งมั่นหรือขัตติยมานะที่จะรักษาและเพิ่มพูนพระเกียรติยศของ "เจ้า" ให้สูงส่งยิ่ง ๆ ขึ้นไป (139)

การที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชำระและทรงพระนิพนธ์พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์หลายรัชกาล ก็มีส่วนช่วยในการสร้างอัตลักษณ์ "เจ้า" ในแง่ที่ทำให้ "เจ้า" ภาคภูมิใจใน "ความเป็นเจ้า" แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เพราะสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นต้นมา ได้ทรงทำการปกครองและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ด้วยพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งทำให้ประเทศสยามมีความเจริญรุ่งเรืองและสามารถรักษาเอกราชเอาไว้ได้ ในขณะที่ชาติอื่น ๆ ต้องตกเป็นอาณานิคม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบรรยายไว้ใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ อย่างละเอียด เพื่อแสดงให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์แต่ละพระองค์ได้ทรงประสบกับปัญหาที่ใหญ่หลวงเพียงใด โดยเฉพาะปัญหาที่เป็นภัยคุกคามต่ออิสรภาพของชาติ แล้วทรงชี้แจงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของ "เจ้า" ทั้งหลายนั้น ได้ทรงแก้ไขปัญหาเหล่านั้นด้วยพระปรีชาญาณอย่างไร นอกจากนี้ยังได้ทรงบรรยายถึงพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา ในการทำนุบำรุงศิลปวิทยาการต่าง ๆ อันทำให้ "เมืองไทย" มีความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปะและวัฒนธรรมสูงส่งในระดับที่ชาติอื่น ๆ พากันยกย่อง และชาติเพื่อนบ้านทั้งหลายได้รับเอาแบบอย่างของศิลปะและวัฒนธรรมอันดีเลิศของไทยไปใช้ในบ้านเมืองของตน

ข้าราชการ
ในระดับ "ข้าราชการ" นั้น ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับ "ข้าราชการ" ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเผชิญ มีความแตกต่างจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่มาก กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประสบปัญหาเรื่องความจงรักภักดีของ "ข้าราชการ" แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ที่ทรงงานในตำแหน่งสำคัญดังกล่าวอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้พระองค์ทรงได้รับความจงรักภักดีจาก "ข้าราชการ" ในกระทรวงอย่างสูง

ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่ทรงดูแลงานราชการอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ทั้งงานด้านการปกครอง การรักษาความสงบเรียบร้อย การเก็บภาษี การป่าไม้ การเหมืองแร่ การศึกษา ฯลฯ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีความจำเป็นต้องใช้ "ข้าราชการ" จำนวนมาก ทั้ง "ข้าราชการ" แบบเดิมที่เคยทำงานมาก่อนการปฏิรูปการปกครองในทศวรรษ 2430 และ "ข้าราชการ" ที่มีความรู้สมัยใหม่ ซึ่งแม้ว่าจะมีวัยวุฒิน้อยกว่า แต่มีตำแหน่งสูงกว่า "ข้าราชการ" แบบเดิม จนเกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการขึ้นมา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงต้องหาทางจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมของ "ข้าราชการ" ที่เป็น "ผู้ใหญ่" กับ "ผู้น้อย" ให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งจะทำให้งานราชการดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนั้น พระองค์ก็ทรงพยายามทำให้ "ข้าราชการ" สำนึกในอัตลักษณ์ของตน ที่แง่ที่จะต้องมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ทุ่มเทชีวิตจิตใจในการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยกันรักษาอิสรภาพของชาติ และสร้างความสงบเรียบร้อยตลอดจนความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมือง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสร้างอัตลักษณ์ "ข้าราชการ" อย่างจริงจัง ทั้งด้วยการทรงพระนิพนธ์หนังสือ แสดงพระปาฐกถา พระราชทานลายพระหัตถ์ส่วนพระองค์ รวมทั้งทรงพระนิพนธ์ประวัติของข้าราชการจำนวนมากขึ้นมา ซึ่งแม้ว่าข้าราชการแต่ละคนจะมีภูมิหลัง บรรดาศักดิ์ และมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันมากเพียงใดก็ตาม แต่ประวัติของข้าราชการทุกคนจะได้รับการเขียนขึ้นภายใต้กรอบความคิดหรือ "โครงเรื่อง" (plot) เดียวกัน นั่นคือ การมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความสามัคคีและความเสียสละ เพื่อสนองพระบรมราโชบายในการรักษาอิสรภาพของชาติ การสร้างความเจริญแก่บ้านเมือง และการทำให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งทำให้กลายเป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อบ้านเมืองและทำให้ลูกหลานในตระกูลได้เกิดความภาคภูมิใจ ทั้งนี้ เพื่อทำให้ข้าราชการทั้งหลายที่ทรงพระนิพนธ์ประวัติให้นั้น กลายเป็นตัวแบบในอุดมคติของ "ข้าราชการ" แห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ข้าราชการทั้งปวงจะได้สำนึกในอัตลักษณ์ของตนเองในฐานะ "ข้าราชการ" แล้วประพฤติปฏิบัติตนในทำนองเดียวกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างอัตลักษณ์ "ข้าราชการ" นั้น ทรงเน้นความมีเกียรติยศของ "ข้าราชการ" ที่มาจากการพระราชทานของพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ข้าราชการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อสนองพระเดชพระคุณ ส่วนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงประสบปัญหาเรื่อง "ข้าราชการ" ขาดความจงรักภักดีต่อพระองค์ และเจ้านายที่รับราชการบางพระองค์ทรงมีพระบารมีในระบบราชการมากเกินไป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพยายามทำให้ "ข้าราชการ" สำนึกตนว่าเป็นเพียง "ผู้รับใช้" ของพระองค์ และเป็นบุคคลที่อาจกระทำผิดได้ง่าย ต้องรับพระราชทานการสั่งสอนจากพระองค์อยู่เสมอ เพื่อเรียนรู้ที่จะกระทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง (140) แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแตกต่างจากพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ กล่าวคือ พระองค์มิได้ทรงต้องการลดเกียรติยศของ "ข้าราชการ" แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องการให้ "ข้าราชการ" หลงตน ว่าเป็นผู้มีอำนาจอันเกิดแต่ตำแหน่งราชการและยศถาบรรดาศักดิ์ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเน้นให้ "ข้าราชการ" สำนึกว่า อำนาจของ "ข้าราชการ" นั้นมิได้มาจากตำแหน่ง แต่มาจาก "ความเชื่อถือ" หรือ "ความนับถือของผู้น้อย" (141) และความสัมพันธ์ที่ดีกับคนทุกชั้น "ข้าราชการ" จึงต้องให้ความอารีทั้งแก่ "ผู้ใหญ่" "ผู้น้อย" และ "คนที่เสมอกัน" (142) เพื่อให้เกิด "ความเชื่อถือ" และ "ความนับถือ" ซึ่งเป็นที่มาของ "อำนาจ" อันแท้จริง

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพยายามทำให้ "ข้าราชการ" มีความสำนึกเกี่ยวกับ "ความเป็นข้าราชการ" ว่า หมายถึง "ผู้ทำการของพระราชา" ซึ่งจะต้องอุทิศตนในการทำงานตามหน้าที่ ทั้งหน้าที่ตามตำแหน่ง และหน้าที่ต่อระบบราชการทั้งระบบ ขณะเดียวกันก็ต้องทำหน้าที่ในฐานะที่เป็น "ข้าแผ่นดิน" อีกโสดหนึ่งด้วย (143)

วิธีการสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างอัตลักษณ์ "ข้าราชการ" ที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงใช้ ก็คือ การสร้างความทรงจำเกี่ยวกับ "ข้าราชการ" จำนวนหนึ่ง ที่ได้เคยอุทิศตนให้แก่งานราชการอย่างเต็มที่ นอกจากพระองค์จะทรงพระนิพนธ์ประวัติ "ข้าราชการ" จำนวนมากดังกล่าวมาแล้ว ในกรณีที่ "ข้าราชการ" เสียชีวิตในหน้าที่ พระองค์ยังทรงมีพระดำริให้ก่อสร้างอนุสาวรีย์ของ "ข้าราชการ" ผู้นั้น เพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับ "ข้าราชการ" อื่น ๆ ที่จะอุทิศตนให้แก่งานราชการเช่นเดียวกัน. ในขณะเดียวกัน อนุสาวรีย์ "วีรชน" ที่สร้างขึ้นในท้องถิ่นต่าง ๆ ยังมีความสำคัญในแง่ที่เป็นเครื่องเตือนใจของคนในท้องถิ่น มิให้ก่อการกบฏแก่ส่วนกลางอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กราบบังคมทูลฯ ขอความเห็นชอบในการสร้างอนุสาวรีย์พระยาฤทธานนท์ (อยู่) ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมในการปราบ "กบฏเงี้ยว" ในมณฑลพายัพ (144) เป็นต้น

ราษฎร
ในระดับ "ราษฎร" นับเป็นครั้งแรกที่ "ราษฎร" ถูกดึงเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลกลางโดยตรง ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของข้าราชการที่มาจากภายนอกชุมชน และต้องยอมรับกฎเกณฑ์หรือกฎหมายที่มาจากอำนาจรัฐ มิใช่มาจากจารีตประเพณีที่ตนเคยชิน ราษฎรเหล่านี้ดำรงชีวิตอยู่ในรัฐที่มิได้มุ่งสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตของพวกเขาเป็นด้านหลัก รัฐเพียงแต่ดูแลให้ "ราษฎร" มีโอกาสทำมาหากินพอเลี้ยงตัวและสามารถเสียภาษีได้เท่านั้น เนื่องจากงบประมาณของรัฐต้องทุ่มเทไปสู่กิจการอื่นที่ชนชั้นนำเห็นว่ามีความสำคัญมากกว่า เช่น การสร้างกองทัพ การพัฒนาระบบสื่อสารคมนาคม การเสริมสร้างและรักษาเกียรติยศของเจ้า ฯลฯ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทั้งในฐานะที่ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ที่ทำหน้าที่ปกครองดูแล "ราษฎร" เหล่านี้ รวมทั้งดูแล "กรมสรรพากรนอก" ที่รับผิดชอบในการจัดเก็บภาษีอากรในหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ และในฐานะปัญญาชนแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จำเป็นจะต้องทรงหาทางทำให้ "ราษฎร" ทุกชนชาติในประเทศสยาม ยอมรับอำนาจรัฐทั้งในระดับพฤติกรรมทางกาย และในระดับของความรู้สึกนึกคิด ซึ่งจะทำให้ "ราษฎร" ปฏิบัติตนตามกฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้น รวมทั้งยอมเสียภาษีอากร

มีหลักฐานว่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ "ราษฎร" ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ประสบกับความเดือดร้อนในชีวิตอันมาจากอำนาจรัฐไม่น้อย เนื่องจากราษฎรส่วนใหญ่ยังคงทำการผลิตแบบพอยังชีพ แต่รัฐเก็บภาษีต่าง ๆ เป็นเงิน รวมทั้งเก็บ "เงินค่าราชการ" หรือ "เงินรัชชูปการ" ตลอดจนอากรค่านา อากรค่าน้ำ และอากรสมพัตรสร ในอัตราที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของราษฎร เฉพาะอากรค่านานั้น แต่เดิมเคยเก็บเป็น "หางข้าว" และเคยแบ่งที่นาออกเป็นสองประเภท คือ "นาคู่โค" ซึ่งอุดมสมบูรณ์ และ "นาฟางลอย" ซึ่งไม่อุดมสมบูรณ์ ผู้ครอบครอง "นาฟางลอย" ไม่ต้องเสียภาษีในปีที่การทำนาไม่ได้ผล แต่ในรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนการแบ่งประเภทที่นาออกเป็น "นาชั้นเอก นาชั้นโท นาชั้นตรี นาชั้นจัตวา และนาชั้นเบญจ" โดยผู้ครอบครองที่นาทุกประเภทจะต้องเสียอากรค่านาทุกปีในอัตราตายตัว เพียงแต่กำหนดอัตราภาษีให้แตกต่างกันตาม "ชั้น" ของที่นา ซึ่งปรากฏว่ามีการถวายฎีกาของชาวนาจำนวนมาก เพื่อขอให้พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลด "ชั้น" ของนาลงไปจากที่กำหนดไว้แต่เดิม ชาวนาจะได้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง (145)

ในสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ปัญหาของ "ราษฎร" เพิ่มพูนขึ้นจากภัยธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้ง ตามมาด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ซึ่งทำให้การส่งออกข้าวของประเทศสยามประสบปัญหาอย่างรุนแรง จนโรงสีหลายแห่งล้มละลายและไม่สามารถรับซื้อข้าวจากชาวนา นอกจากนี้ ยังมี "ราษฎร" จำนวนมากที่หลุดพ้นจากความเป็นทาส ซึ่งทำให้ "ราษฎร" เหล่านั้นสูญเสียผู้อุปถัมภ์ พร้อมกับต้องรับภาระในการเสียเงินรัชชูปการ ในขณะที่ไม่สามารถจะเอาตัวเองหรือบุตรภรรยาไป "ขัดดอก" เพื่อให้มีเงินมาลงทุนเพื่อประกอบการอย่างใดอย่างหนึ่งอีกต่อไป แม้แต่การขายแรงงานก็มิใช่เรื่องที่สามารถจะกระทำได้ง่าย เนื่องจากมีแรงงานชาวจีนอพยพซึ่งสามารถทำงานที่ใช้แรงงานตลอดจนงานหัตถกรรมสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า ส่วนราคาที่ดินและค่าเช่าที่ดินก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการขยายตัวของระบบทุนนิยม จนเป็นการยากมากที่ "ราษฎร" ซึ่งเพิ่งจะกลายมาเป็นแรงงานเสรี จะสามารถลงทุนทำการเกษตร หัตถกรรม หรือการค้า จนมีรายได้เลี้ยงครอบครัวและเสียภาษีอากรได้

นอกจากนี้ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปลายรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่ของชนชั้นนำยังเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องหาทางเพิ่มรายได้ของรัฐด้วยการเพิ่มอัตราภาษี หรืออย่างน้อยก็ต้องหาทางเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บภาษี เพราะการกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น อาจนำอันตรายมาสู่อิสรภาพของ "เมืองไทย" เนื่องจากในเวลานั้นเงินคงคลังของประเทศได้ถูกใช้ไปจนหมดสิ้นแล้ว และแหล่งเงินกู้ในต่างประเทศก็เริ่มขาดความเชื่อถือในความสามารถที่จะชำระหนี้ของรัฐบาลสยาม ดังนั้น ถึงแม้ว่ารัฐบาลสยามจะได้รับอนุมัติให้กู้เงิน ก็จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่าปรกติมาก และยังจะต้อง "ถูกเพ่งเล็งพิจารณา" ความเป็นไปภายในประเทศ และอาจถูกแทรกแซงกิจการภายในเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติที่ให้กู้เงิน ซึ่งล้วนเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่ออิสรภาพของประเทศสยาม (147) จำเป็นต้องแก้ปัญหาด้านงบประมาณด้วยการเก็บภาษีจาก "ราษฎร" ให้ได้มากขึ้น แต่การเก็บภาษีจาก "ราษฎร" มากขึ้นนั้น นอกจากจะอาศัยการปรับปรุงกระบวนการเก็บภาษีของรัฐบาลแล้ว ยังจะต้องทำให้ "ราษฎร" ยอมรับและให้ความร่วมมือในการเสียภาษีด้วยความเต็มใจด้วย

ในสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงต้องทรงหาทางทำให้ข้าราชการได้รับการยอมรับจาก "ราษฎร" โดยเน้นให้ข้าราชการไม่ประพฤติตนไปในทางที่ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหง "ราษฎร" ให้ได้รับความเดือดร้อน พร้อมกันนั้นพระองค์ก็ทรงสร้างอัตลักษณ์ของ "ราษฎร" ผ่านพระนิพนธ์และพระโอวาทที่ประทานแก่ข้าราชการในระหว่างเสด็จตรวจราชการในหัวเมือง โดยมุ่งให้ข้าราชการได้รับรู้ถึงอัตลักษณ์ของ "ราษฎร" ในวิถีทางที่จะทำให้ข้าราชการประพฤติปฏิบัติต่อ "ราษฎร" อย่างถูกต้องเหมาะสม และมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ปกครองให้ "ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข" ทรงเน้นอัตลักษณ์ "ราษฎร" ที่มีชาติพันธุ์และวัฒนธรรมแตกต่างหลากหลาย ซึ่งข้าราชการจะต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ เพื่อจะได้ไม่กระทำสิ่งใดอันจะส่งผลให้ "ราษฎร" เกิดความไม่พอใจและทำการต่อต้านรัฐบาล ทรงทำให้ข้าราชการรับรู้ด้วยว่า การทำมาหากินและชีวิตความเป็นอยู่อย่างปรกติสุขของ "ราษฎร" มีผลต่อความเป็นระเบียบ ความมั่นคง ความสงบสุข และความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง

อีกด้านหนึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพยายามทำให้ "ราษฎร" สำนึกในอัตลักษณ์ของราษฎรเอง ที่จะต้องยอมรับสถานะของผู้อยู่ใต้การปกครอง คือเป็นปัจเจกชนที่ต้องพึ่งพาอำนาจรัฐในด้านต่าง ๆ และจะต้องทำหน้าที่ของ "ราษฎร" ในฐานะ "พลเมืองดี" ให้ครบถ้วนที่สุด ทั้งนี้ ทรงอาศัยระบบการศึกษาในการปลูกฝังอัตลักษณ์ดังกล่าว เนื่องจากในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น พระนิพนธ์และพระปาฐกถาของพระองค์ได้รับการเผยแพร่ในขอบเขตจำกัด และ "ราษฎร" ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถอ่านหนังสือไทยได้ ระบบการศึกษาจึงเป็นช่องทางสำคัญในการปลูกฝังอุดมการณ์รัฐ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาค่อนข้างมากแต่ก็เป็นวิธีที่มีผลยั่งยืน (148)

นอกจากนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังได้ทรงเน้นอัตลักษณ์ของ "ราษฎร" ในฐานะผู้มีความกล้าหาญและสามารถเสียสละได้แม้แต่ชีวิตเพื่อชาติ คล้ายกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเน้นเช่นกัน ดังปรากฏในพระนิพนธ์เรื่อง ไทยรบพม่า ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับ "วีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน" จากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ที่ได้รับการชำระในสมัยรัชกาลที่ 4) มาสืบทอด

แต่เดิมนั้น เรื่อง "บางระจัน" ปรากฏแต่เพียงชื่อของหมู่บ้านใน จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี และ คำให้การขุนหลวงหาวัด มาปรากฏเป็นเรื่องราวละเอียดขึ้น ในพระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ แต่พระราชพงศาวดารทั้งสามฉบับนี้ก็มิได้เน้นเรื่อง "วีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน" ให้โดดเด่นเป็นพิเศษ (149) ต่อมา เมื่อมีการชำระพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เรื่องราวเกี่ยวกับ "วีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน" จึงได้รับการเน้นเป็นอย่างมาก และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ได้นำเรื่องราวมาสืบทอดในพระนิพนธ์ ไทยรบพม่า โดยทรงเล่าให้เข้าใจง่ายและเป็นระบบระเบียบมากขึ้น (150) แล้วทรงลงท้ายด้วยการเพิ่มข้อความสรรเสริญว่า "เรื่องราวของพวกนักรบบ้านบางระจันมีมาดังนี้ คนทั้งปวงยกย่องเกียรติยศมาตราบเท่าทุกวันนี้" (151)

การทำให้เรื่อง "วีรกรรมชาวบ้านบางระจัน" เป็นที่รับรู้แพร่หลาย รวมทั้งการเพิ่มข้อความสรรเสริญในตอนท้ายเช่นนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมิได้ทรงมีพระประสงค์จะให้ราษฎรมีอัตลักษณ์เป็น "นักรบ" แต่ทรงมีพระประสงค์คล้ายคลึงกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเน้นว่า "ชาติไทยเป็นชาตินักรบ" นั่นคือ การทำให้ราษฎรพร้อมที่จะเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของบ้านเมือง เพราะแม้แต่ชีวิตก็ยังสามารถเสียสละให้แก่บ้านเมืองได้

ผู้หญิง
สำหรับ "ผู้หญิง" นั้น ในขณะที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของระบบทุนนิยม การรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากประเทศตะวันตก และการปฏิรูปการปกครอง บทบาทของ "ผู้หญิง" ในครอบครัวและในสังคมก็ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย ทำให้ปัญหาเกี่ยวกับสถานภาพและหน้าที่ของ "ผู้หญิง" กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ปัญญาชนจะต้องพยายามวางกรอบเอาไว้ เพื่อเป็นแนวทางที่ชัดเจนสำหรับ "ผู้หญิง" ที่จะประพฤติปฏิบัติตน "อย่างถูกต้องเหมาะสม" ซึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเลือกใช้วิธีที่ละเมียดละไมอย่างยิ่งในการปลูกฝังความคิดต่าง ๆ แก่ "ผู้หญิง" ให้ "ผู้หญิง" ยอมรับสถานภาพและบทบาทของตน ตามที่ทรงเห็นว่าเหมาะสม นั่นก็คือการเขียนชีวประวัติของผู้หญิงจำนวนมาก เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของผู้หญิงในฐานะ "มารดา" "ภรรยา" และ "มารดาของสามี" โดยได้ทรงทำให้ "ผู้หญิง" สำนึกว่า ตนจะต้องมีคุณธรรมตามหลักพุทธศาสนา และประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของ "ผู้หญิงไทย" ที่รับผิดชอบเรื่องภายในครัวเรือน เพื่อให้สามีและคนอื่น ๆ ในครอบครัวได้รับความสุขสบาย

ส่วนบทบาทในพื้นที่สาธารณะนั้น "ผู้หญิง" พึงมีบทบาทในเรื่องที่ส่งเสริมความสำเร็จของสามี รวมทั้งการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อ "ผู้ใหญ่" ที่เคยมีบุญคุณต่อสามี และการช่วยเหลือเกื้อกูล "ผู้น้อย" ที่เป็นบริวารของสามี ซึ่ง "หน้าที่" เหล่านี้ "ผู้หญิง" จะต้องประพฤติปฏิบัติไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ แม้ว่าสามีจะถึงแก่กรรมไปแล้วก็ตาม แม้แต่เรื่อง "สมเด็จพระศรีสุริโยทัย" สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงเน้นการเสียสละพระชนม์ชีพเพื่อพระสวามี ในฐานะที่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงเป็นพระมเหสีที่ดี มิใช่ในฐานะที่พระองค์ทรงรักชาติและทรงเสียสละเพื่อชาติดังที่ได้รับการตีความในสมัยหลัง (152)

อัตลักษณ์ "ผู้หญิง" ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเน้น ทำให้ผู้หญิงไทยต้องยึดมั่นในกรอบจารีตประเพณีและวัฒนธรรมเดิมอย่างเคร่งครัด ในขณะที่ผู้ชายออกไปมีบทบาทในสังคมภายนอกซึ่งทำให้ผู้ชายต้องปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวอยู่ตลอดเวลา ผู้หญิงจึงเป็นผู้สืบทอดจารีตประเพณีและวัฒนธรรมเดิม ส่วนผู้ชายเป็นผู้รับวัฒนธรรมใหม่ ๆ หรือสร้างวัฒนธรรมใหม่ ๆ ขึ้น

นับว่าอัตลักษณ์ "ผู้หญิง" ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสร้างขึ้นนี้ มีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้ "ผู้หญิง" ยอมรับบทบาทตามประเพณีของ "ผู้หญิง" ในสังคมไทย โดยไม่เปลี่ยนแปลงตนเองไปตามบริบททางสังคมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กำลังเปลี่ยนจากสังคมประเพณี (traditional society) ไปสู่สังคมสมัยใหม่ (modern society) อัตลักษณ์ "ผู้หญิง" เช่นนี้ มีอิทธิพลสืบต่อมาอีกนาน เนื่องจากได้รับการสืบทอดโดยระบบการศึกษาและโดยนักเขียนนวนิยายในสมัยหลัง รวมทั้งในนวนิยาย สี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่ง "แม่พลอย" เป็นตัวแบบในอุดมคติของ "ผู้หญิงไทย" ตามกรอบที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสร้างขึ้นทุกประการ จะเห็นได้ว่า "แม่พลอย" มีบทบาทอยู่ในครัวเรือนและเป็นผู้สืบทอดจารีตประเพณีเดิมโดยไม่เคยรับรู้หรือมีความสัมพันธ์กับโลกภายนอกด้วยตนเองเลย ก่อนแต่งงานแม่พลอยสัมพันธ์กับโลกภายนอกผ่านคนอื่น ๆ และเมื่อแต่งงานแล้วก็ต้องรับรู้โลกภายนอกผ่าน "พ่อเปรม" และบุตรชายอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าในทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา นโยบายการพัฒนาประเทศจะทำให้ "ผู้หญิง" ออกไปทำงานนอกบ้านอย่างกว้างขวาง และได้รับการศึกษาแผนใหม่มากขึ้นและสูงขึ้น แต่ "ผู้หญิง" ก็ยังคงรับรู้อัตลักษณ์ของตนเองในกรอบที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสร้างไว้ค่อนข้างมาก แม้แต่ในทศวรรษ 2540 คนไทยก็ยังเห็น "พลอย" ในนวนิยาย สี่แผ่นดิน เป็นนางเอกในอุดมคติของตน ซึ่งทำให้ "ผู้หญิง" ในสังคมไทย ยังคงมีบทบาทในการสืบทอดวัฒนธรรมกระแสหลักตลอดมา (153)

พระสงฆ์
ส่วนการสร้างอัตลักษณ์ "พระสงฆ์" นั้น ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฐได้พยายามเข้ามามีบทบาทต่อบุคคลและชุมชนแทนวัดและพระสงฆ์ในเรื่องต่าง ๆ เช่น การให้ "ความรู้" ด้านต่าง ๆ แก่ราษฎร การรักษาพยาบาล การจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคม ฯลฯ และอุดมการณ์รัฐก็มิได้มาจากความคิดทางพุทธศาสนาอีกต่อไป แม้แต่การสอนศีลธรรมก็กลายเป็นหน้าที่ของโรงเรียน เพราะต้องการเน้นศีลธรรมที่จะทำให้บุคคลเป็น "พลเมืองดี" ชนชั้นนำจึงคาดหวังให้ "พระสงฆ์" มีหน้าที่หลักในการศึกษาพระปริยัติธรรมและในการประกอบพิธีกรรมที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงสร้างอัตลักษณ์ของ "พระสงฆ์" ให้เห็นว่า "พระสงฆ์" ทั่วไปยังขาดคุณสมบัติของ "พระสงฆ์" ที่ดี การทำหน้าที่ของ "พระสงฆ์" ยังบกพร่องอยู่มาก ทรงพยายามทำให้ "พระสงฆ์" ตระหนักในสถานะ "ความเป็นสงฆ์" ที่จะต้องเอาใจใส่ต่อการศึกษาพระปริยัติธรรม การประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย และการปกครองวัดให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด และสวยงาม เพื่อให้วัด พระสงฆ์ และพุทธศาสนาเป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งของความเป็นระเบียบ ความสงบสุข และความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง ภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ (154)

เกี่ยวกับชาวจีน
ปัญหาเกี่ยวกับ "ชาวจีน" เป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์จำนวน "ชาวจีน" ในประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มสูงขึ้นมากภายหลังการเปิดเสรีทางการค้าในรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ด้านหนึ่ง "ชาวจีน" เหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะทำให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่อีกด้านหนึ่ง "ชาวจีน" ก็ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากแก่รัฐเช่นกัน เช่น ปัญหาอั้งยี่ ปัญหาการเข้าเป็นคนในบังคับของชาติตะวันตก ปัญหาการส่งเงินออกนอกประเทศ ปัญหาการเผยแพร่อุดมการณ์และการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เป็นอันตรายต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฯลฯ ปัญหาจาก "ชาวจีน" จึงเป็นปัญหาใหญ่ประการหนึ่งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพยายามหาทางแก้ไข

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเลือกแนวทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับ "ชาวจีน" แตกต่างกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ทรงประเมินว่าการสร้างความเป็นมิตรกับคนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศ จะเป็นผลดีมากกว่าการสร้างความรู้สึกเป็นศัตรู สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตระหนักดีว่าระบบเศรษฐกิจของ "เมืองไทย" ยังมีความจำเป็นจะต้องอาศัยชาวจีนเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันพระองค์ทรงต้องการความร่วมมือช่วยเหลือจากชาวจีนที่มั่งคั่ง ในการบริจาคทรัพย์เพื่อกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การสร้างพิพิธภัณฑ์ การสุขาภิบาล การสร้างถนนหนทาง ฯลฯ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงเน้นหลัก "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" กับชาวจีนอยู่เสมอ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเลือกที่จะสร้างอัตลักษณ์ "ชาวจีน" ใน "เมืองไทย" เพื่อเป็นรากฐานของความสัมพันธ์อันราบรื่นระหว่างชนชาติไทยและชนชาติจีน โดยทรงใช้วิธีแสดงพระปาฐกถา และทรงพระนิพนธ์ชีวประวัติของ "ชาวจีน" บางคน นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นผู้ร่างพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จเยี่ยมชุมชน "ชาวจีน" ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง เพื่อจะเน้นให้ทุกฝ่ายรับรู้และมีความทรงจำร่วมกันว่า "ชาวจีน" นั้น "เหมือนกับเป็นญาติ" หรือเป็น "พี่น้อง" ของชาวสยาม มีเจตนาดีต่อประเทศสยาม และมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตลอดจนมีความเต็มใจที่จะช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่บ้านเมือง (155)

นอกจากการสร้างอัตลักษณ์ของคนชั้นต่าง ๆ และอัตลักษณ์ของ "ชาวจีน" ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ที่มีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองมากแล้ว ผลงานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างมโนทัศน์เกี่ยวกับ "เมืองไทย" และ "ความเป็นไทย" และการสร้างวิธีคิดที่ว่า "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" โดยทรงเน้นว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นหัวใจของ "ความเป็นไทย" ดังจะวิเคราะห์ต่อไปข้างหน้า

"ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย"
ในฐานะปัญญาชน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมองเห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องนิยามความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เพื่อสร้างความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนทุกชั้นในประเทศ และเพื่อจัดระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เห็นได้ชัดจากลายพระหัตถ์ถวายความเห็นในการจัดการศึกษาที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ.2442 ว่าควรให้ความรู้ที่ทำให้นักเรียนสำนึกว่า เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จึงได้มาอยู่รวมกันตั้งแต่ระดับครอบครัว ญาติมิตร หมู่บ้าน เมือง จนถึงประเทศชาติ การอยู่ร่วมกันนี้ต้องมี "กฎหมายและขนบธรรมเนียม อันเป็นสัญญากันในหมู่ประชาชน" โดยมี "พระบารมีพระมหากษัตริย์ปกครองให้เป็นไปตามกฎหมาย" (156)

ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่มีหน้าที่ปกครองมณฑลและหัวเมืองต่าง ๆ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการด้วยการประทับเรือหรือม้า รอนแรมไปตามท้องถิ่นห่างไกล ทำให้ทรงตระหนักว่า ประเทศสยามประกอบขึ้นด้วยคนหลากหลายชาติพันธุ์ที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมเดิมของตนที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตในชุมชนเอาไว้ พระองค์ทรงตระหนักด้วยว่า รัฐบาลสยามยังไม่สามารถจะเปลี่ยนคนเหล่านั้นให้ "กลายเป็นไทย" ในเร็ววัน ในขณะที่คำว่า "ชาติ" ตามความเข้าใจของคนจำนวนมากในเวลานั้น ก็เป็น "ชาติ" ในความหมายว่า "กำเนิด" อันทำให้ "ชาติไทย" หมายถึง "ชาติ" ของคนที่เป็นคนไทยโดยกำเนิดหรือโดยสายเลือดเท่านั้น ซึ่งหากทรงเน้นมโนทัศน์ "ชาติไทย" ก็จะไม่ช่วยให้เกิด "การประสานประโยชน์" แต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนชาติพันธุ์อื่นกับคนชาติพันธุ์ไทยรุนแรงมากขึ้น และอาจเป็นการเร้าให้ชนชาติอื่นในประเทศสยาม สำนึกถึงความแตกต่างทางชนชาติอย่างแหลมคมขึ้น จนนำไปสู่การต่อต้านอำนาจรัฐซึ่งจะทำให้ยากแก่การปกครอง (157)

ดังนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงหลีกเลี่ยงคำว่า "ชาติไทย" แต่ทรงใช้คำว่า "เมืองไทย" แทน ทรงสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" เพื่อทำให้ "ชนชาติไทย" มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นใหญ่ในประเทศสยาม ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ และมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยกันรักษาอิสรภาพของประเทศสยามสืบไป

ในการสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตอบสนองกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงเปิดโบราณคดีสโมสร ที่ให้ศึกษาประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยที่มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาล ด้วยการพระนิพนธ์ "พงศาวดารสยามเมื่อก่อนพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา" เพื่อตีพิมพ์ไว้ในตอนต้นของหนังสือ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งพระองค์ทรงชำระเพื่อตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2457 ทรงบรรยายเกี่ยวกับเมืองต่าง ๆ ในดินแดนประเทศสยามที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ และเรื่องราวของชนชาติไทยที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศจีน การอพยพมาทางใต้และการสถาปนาอาณาจักรของคนไทยในบริเวณที่เป็นประเทศสยามในปัจจุบัน อันเป็นดินแดนที่มีคนหลายชาติอาศัยอยู่ก่อนที่ชนชาติไทยจะอพยพลงมา (158)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเบญจมบพิตรขึ้นนั้น ได้มีการเขียนภาพจิตรกรรมพระสถูปเจดีย์ 8 องค์ ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่าเป็น "จอมเจดีย์ในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของประเทศไทย" ประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดดังกล่าว ได้แก่ พระปฐมเจดีย์ พระมหาธาตุเมืองละโว้ พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุพนม พระศรีรัตนมหาธาตุเมืองเชลียง พระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช พระมหาธาตุเมืองศรีสัชนาลัย และพระเจดีย์ชัยมงคลวัดใหญ่ที่พระนครศรีอยุธยา (159) เป็นการนำพระเจดีย์สำคัญ ๆ อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ และพระเจดีย์บางองค์ที่มีประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของไทยในอดีต เช่น พ่อขุนรามคำแหง และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มาเป็นสัญลักษณ์ของเอกภาพแห่งประเทศสยามหรือ "เมืองไทย" ภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ความรู้ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ รวมทั้งประวัติศาสตร์ศิลปะจำนวนมาก เพื่อแสดงให้เห็นว่า ด้วย "อุปนิสัย" หรือ "คุณธรรม" อันเป็นเอกลักษณ์ของของชนชาติไทย คือ "ความจงรักในอิสรภาพของชาติ ความปราศจากวิหิงสา และความฉลาดในการประสานประโยชน์" ทำให้ชนชาติไทยประสบความสำเร็จในการสร้างอำนาจและสร้างความเจริญรุ่งเรืองระดับสูงให้แก่ "เมืองไทย" มาตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อทรง "แสดงบรรยายพงศาวดารสยาม" ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน พ.ศ.2467 ทรงเน้นเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า "ชนชาติไทยเป็นชาติใหญ่" ที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ มีอำนาจ และมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ทรงบรรยายถึงเรื่องราวเกี่ยวกับดินแดนอันเป็นที่ตั้งของประเทศสยามก่อนการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนไทย ว่าเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโบราณที่เจริญรุ่งเรืองหลายอาณาจักร แล้วพรรณนาถึงถิ่นฐานเดิมของคนไทยในประเทศจีนและการอพยพลงมาทางใต้ของชนชาติไทย จนเข้ามาครอบครองดินแดนที่เป็นประเทศสยาม สามารถ "ประสานประโยชน์" กับชนชาติที่อยู่มาก่อน รวมทั้งประสานกับศาสนา คติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ศิลปะ ภาษา ตัวอักษร ฯลฯ ที่เคยมีมาแล้วในดินแดนแถบนี้ จน "เมืองไทย" ที่ชนชาติไทยเป็นใหญ่มีอำนาจและความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น

ทรงบรรยายถึงอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของ "ชนชาติไทย" และ "เมืองไทย" อันเกิดจาก "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" รวมทั้งความสำเร็จในการรักษาอิสรภาพของชาติ ถึงแม้ว่า "เมืองไทย" จะเคยสูญเสียอิสรภาพแก่ชาติอื่น แต่คุณธรรมในข้อ "ความจงรักในอิสรภาพของชาติ" ก็ทำให้ชนชาติไทยสามารถกอบกู้อิสรภาพกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว และยังสามารถขยายอำนาจออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ "เมืองไทย" มีอำนาจและความเจริญรุ่งเรืองเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ (160)

เป็นที่น่าสังเกตว่า ใน "แสดงบรรยายพงศาวดารสยาม" สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแสดงให้เห็นถึงความเป็น "ชนชาติใหญ่" ของชนชาติไทย ทรงชี้แจงว่าคนหลากหลายชาติพันธุ์ทั้งในและนอกประเทศสยามซึ่งมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันนั้น แท้ที่จริงแล้ว "ล้วนเป็นชนชาติไทย พูดภาษาไทย และถือตัวว่าเป็นไทยด้วยกันทั้งนั้น" ดังความว่า

...ชนชาติไทยเป็นชาติใหญ่อันหนึ่งในอาเซียฝ่ายตะวันออก มาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล แม้ในทุกวันนี้นอกจากประเทศสยามนี้ ยังมีชนชาติไทยตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอื่นอีกเป็นอันมาก...เรียกว่าชาวสยามบ้าง ลาวบ้าง เฉียงบ้าง ฉานบ้าง เงี้ยวบ้าง ลื้อบ้าง เขินบ้าง ขำติบ้าง อาหมบ้าง ฮ่อบ้าง ที่คงเรียกตามเค้านามเดิมว่าผู้ไทยและไทยก็มีบ้าง ที่แท้พวกที่ได้นามต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้ล้วนเป็นชนชาติไทย พูดภาษาไทย และถือตัวว่าเป็นไทยด้วยกันทั้งนั้น (161)

อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์หนังสือ เทศาภิบาล เพื่อให้ข้าราชการในกระทรวงมหาดไทยได้อ่าน เพื่อจะมี "ความรู้" ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ด้านการปกครองนั้น ทรงชี้แจงให้ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทั้งหลาย "ถือว่าเมืองประเทศราชแลหัวเมืองชั้นนอก ชาวเมืองเป็นคนต่างชาติต่างภาษา แลหัวเมืองชั้นกลางกับชั้นในชาวเมืองเป็นไทยด้วยกันเอง" (162) ในเวลาต่อมาเมื่อการปฏิรูปการปกครองบรรลุผลค่อนข้างมากแล้ว จึงมีการเปลี่ยนชื่อมณฑลต่าง ๆ ที่เคยเป็นเมืองประเทศราช โดยใช้ชื่อทิศ เช่น "พายัพ" "อีสาน" เป็นชื่อมณฑล เพื่อทำให้ความเป็น "คนต่างชาติต่างภาษา" ลบเลือนไป และมีการดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อทำให้คนทุกชาติพันธุ์ในประเทศสยาม "ถือตัวว่าเป็นไทยด้วยกันทั้งนั้น" จุดประสงค์ก็เพื่อสร้างความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์ไทย พร้อมกับลดการแบ่งแยก ความแตกต่าง และความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์อื่น ๆ กับชาติพันธุ์ไทย และระหว่างท้องถิ่นต่าง ๆ กับส่วนกลาง อันจะนำไปสู่การที่คนในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศยอมรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(134) ห.จ.ช., สบ.2.56/26 เอกสารส่วนพระองค์กรมดำรงฯ พ.ศ.2470-2475 เล่ม 2.
(135) ห.จ.ช., สบ.2.56/20 เอกสารส่วนพระองค์กรมดำรงฯ พ.ศ.2462-2471 เล่ม1.
(136) ห.จ.ช., ร.5 ศ.2/5 ความเห็นเรื่องการศึกษาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ.
(137) โปรดดู ประวัติข้าราชการที่แสดงให้เห็นว่ามีการโยกย้ายข้าราชการเสมอ ๆ ใน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก กรุงเทพฯ: ชมรมดำรงวิทยา, 2526. (เล่ม1- เล่ม5).

(138) โปรดดูรายละเอียดใน สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม กรุงเทพฯ: มติชน, 2546.

(139) เรื่องเดียวกัน.
(140) โปรดดูตัวอย่างใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว, วาทะพระมงกุฎฯ. ส. วัฒนเศรษฐ์ (รวบรวม). กรุงเทพฯ: รุ่งวิทยา, 2506. หน้า 146 และ216.

(141) ห.จ.ช., สบ.2.32/12 เอกสารส่วนพระองค์ กรมดำรงฯ . และ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2501.

(142) โปรดดูรายละเอียดใน สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม. หน้า 199-232.

(143) เรื่องเดียวกัน, หน้า 317-318.
(144) ห.จ.ช., ร. 5 ยธ. 8.2/5 กรมราชเลขาธิการ กระทรวงโยธาธิการ.
(145) โปรดดู เสถียร ลายลักษณ์ และคณะ (ผู้รวบรวม) ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 17. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2477. และ ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 18 เล่ม 19 เล่ม 20. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2478.

(146) พรรณี บัวเล็ก, ลักษณะของนายทุนไทยในช่วงระหว่างพ.ศ. 2457-2482 บทเรียนจากความรุ่งโรจน์สู่โศกนาฏกรรม. กรุงเทพฯ: พันธกิจ, 2545.

(147) ห.จ.ช., ร.6 สบ. 2.37/11 รายงานเสนาบดีสภา และ หจช. ร.6 สบ. 2.37/9 บันทึกคำกราบบังคมทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ.

(148) โปรดดูรายละเอียดใน สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม. หน้า 12-14 และ หน้า 233-244.

(149) บาหยัน อิ่มสำราญ, "บางระจัน: ประวัติศาสตร์ในวรรณกรรม" เอกสารประ กอบการประชุมเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 26-27 สิงหาคม 2547. หน้า 1-2.

(150) เรื่องเดียวกัน, หน้า 4.
(151) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ไทยรบพม่า. พิมพ์ครั้งที่ 7 กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, 2520. หน้า 375.

(152) สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม. หน้า 265-285.

(153) นิธิ เอียวศรีวงศ์, "แม่พลอยสายเดี่ยว" ใน ว่าด้วย "เพศ" ความคิด ตัวตน และอคติทางเพศ ผู้หญิง เกย์ เพศศึกษา และกามารมณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: มติชน, 2545. หน้า 33-38.

(154) สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม. หน้า 249-261.

(155) เรื่องเดียวกัน, หน้า 291-304.
(156) ห.จ.ช.,ร.5 ศ.12/7 ลายพระหัตถ์ความเห็นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องจะจัดการเล่าเรียนตามหัวเมือง กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 24 กันยายน ร.ศ.117 (พ.ศ.2442).

(157) เรื่องเดียวกัน, หน้า 59-139.
(158) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, "พงศาวดารสยามเมื่อก่อนพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา" ใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1 กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, 2516. หน้า 33-104.

(159) พระยาอนุมานราชธน, "เรื่องเจดีย์" ใน งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน หมวดศาสนา-ความเชื่อ เล่มที่ 4 เรื่องศาสนาเปรียบเทียบ กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภาและมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2532. หน้า 276.

(160) โปรดดู สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, แสดงบรรยายพงศาวดารสยาม. พระนคร: คุรุสภา, 2492.
(161) เรื่องเดียวกัน.

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๑ : Release date 6 April 2008 : Copyleft by MNU.
นอกจากนี้ กรมพระยาดำรงฯยังทรงสนับสนุนให้พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) แปลหนังสือเรื่อง Ancient Times ของ Dr. Henry S. Breasted เพราะหนังสือเล่มนี้ได้แสดงให้เห็นว่า...อารยธรรมของยุโรปซึ่งมีความเจริญสูงสุดในเวลานั้น มิได้เกิดขึ้นมาด้วยการสร้างสรรค์ของชาวยุโรปแต่เพียงลำพัง เพราะชาวยุโรปนั้นเคยมีวิถีชีวิตอันป่าเถื่อนมายาวนาน จนได้นำอารยธรรมอันเจริญในระดับสูงจาก "โลกตะวันออก" คืออียิปต์และเอเชียน้อย เช่น บาบิโลเนีย อัสสิเรีย อิหร่าน ฟินีเชีย ฯลฯ เข้ามาปรับใช้ จึงทำให้ชาติยุโรปเจริญขึ้นมาได้ เนื้อหาของเรื่อง Ancient Times จึงเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งของความสำเร็จในการสร้างอารยธรรมจากคุณธรรม "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" (คัดลอกมาจากบทความวิจัย)
H
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงเลือกที่จะสร้างอัตลักษณ์ "ชาวจีน" ใน "เมืองไทย" เพื่อเป็นรากฐานของความสัมพันธ์อันราบรื่นระหว่างชนชาติไทยและชนชาติจีน โดยทรงใช้วิธีแสดงพระปาฐกถา และทรงพระนิพนธ์ชีวประวัติของ "ชาวจีน" บางคน นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นผู้ร่างพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จเยี่ยมชุมชน "ชาวจีน" ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง เพื่อจะเน้นให้ทุกฝ่ายรับรู้และมีความทรงจำร่วมกันว่า "ชาวจีน" นั้น "เหมือนกับเป็นญาติ" หรือเป็น "พี่น้อง" ของชาวสยาม มีเจตนาดีต่อประเทศสยาม และมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตลอดจนมีความเต็มใจที่จะช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่บ้านเมือง