ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



19-03-2551 (1512)

การเสียชีวิตของนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 127 คนภายใต้การคุมขัง
คุกอินเส่ง: ภัตตาคารของคนจีน, รีสอร์ทของคนอินเดีย, นรกของชาวพม่า
อัจฉรียา สายศิลป์ : เรียบเรียง
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

ความเรียบเรียงต่อไปนี้ นำมาจากรายงานเรื่อง Eight Second of Silence:
The Death of Democracy Activist Behind Bars และเรื่อง
The situation of prisons in Burma as of 2006
โดย Assistance Association for Political Prisoners (Burma)
โดยบนเว็บเพจนี้ได้แบ่งออกเป็น ๒ ตอน ประกอบด้วย
(๑) การเสียชีวิตของนักประชาธิปไตย ๑๒๗ คนภายใต้การคุมขังในคุกพม่า
(๒) การหายตัวไปของนักโทษ และการติดสินบน
พร้อมภาคผนวกกรณีการเสียชีวิตของนักโทษการเมือง โดยไม่มีใครรับผิดชอบ
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๑๒
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

การเสียชีวิตของนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 127 คนภายใต้การคุมขัง
คุกอินเส่ง: ภัตตาคารของคนจีน, รีสอร์ทของคนอินเดีย, นรกของชาวพม่า
อัจฉรียา สายศิลป์ : เรียบเรียง
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

มีคำกล่าวกันในหมู่ชาวพม่าว่า คุกอินเส่น (Insein) เป็นดั่งภัตตาคารของคนจีน เป็นรีสอร์ทชาวคนอินเดีย แต่เป็นนรกของคนพม่า (อันเนื่องมาจากมีการติดสินบนกับเจ้าหน้าที่ฯ)
(จากปากคำของชาวพม่า)

(๑) การเสียชีวิตของนักประชาธิปไตย ๑๒๗ คน ภายใต้การคุมขังในคุกพม่า

ความนำ
หลังจากการประท้วงเมื่อปี ค.ศ. 1988 ในประเทศพม่า มีประชาชนหลายพันถูกจับกุมและคุมขัง แทบทุกคนเคยถูกทรมานและได้รับการปฏิบัติที่เลวร้ายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหลายครั้งที่การทรมานนั้นเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของนักโทษการเมือง (Political Prisoner) ในพม่า
(รายงานนี้จัดทำก่อนการประท้วงที่นำโดยพระสงฆ์ในปี 2007 นับถึงปัจจุบันมีนักโทษการเมืองที่กำลังถูกคุมขังในพม่ามากกว่า 1,200 คน รวมทั้งพระสงฆ์และประชาชนที่ถูกจับในการประท้วงครั้งล่าสุดมากกว่า 700 คน, ผู้เรียบเรียง)

The Assistance Association for Political Prisoners (สมาคมให้การช่วยเหลือนักโทษการเมือง)ได้เก็บรวบรวมข้อมูลกรณีของนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 127 คน ที่เสียชีวิตหลังจากถูกทรมานหรือได้รับการปฏิบัติอย่างเลวร้ายในเรือนจำต่างๆ และทุกกรณีไม่เป็นที่เปิดเผยสู่สาธารณะเนื่องมาจากสถานการณ์การเมืองในพม่า นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายกรณีที่ไม่สามารถหาข้อมูลรายละเอียดได้

ข้อมูลในรายงานนี้ จึงได้มาโดยรวบรวมจากครอบครัวของบรรดาอดีตนักโทษการเมืองที่เสียชีวิตในเรือนจำ และรวบรวมจากข้อเขียน บทความของพรรคการเมือง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ หรือแม้กระทั่งจากรัฐบาลพม่าเอง รวมทั้งเอกสารจากเรือนจำและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ โดยข้อมูลทั้งหมดนี้ได้มีการตรวจสอบแล้ว

จากจำนวน(อย่างน้อย) 127 คน, 90 คนเสียชีวิตในเรือนจำ 8 คนเสียชีวิตในศูนย์ควบคุมตัวเพื่อการสอบสวน, 4 คนในค่ายแรงงาน (Labor Camp), และอีก 10 คนเสียชีวิตเมื่อถูกปล่อยออกจากเรือนจำได้ไม่นาน. นักเคลื่อนไหวอีก 15 คน หายตัวไปจากเรือนจำ และไม่ทราบชะตากรรมจนกระทั่งบัดนี้
(ปัจจุบันทั่วประเทศพม่ามีเรือนจำอยู่ 39 แห่ง ค่ายแรงงาน 32 แห่ง และศูนย์ควบคุมตัวเพื่อสอบสวนเกือบ 40 แห่ง, ผู้เรียบเรียง)

ในปี ค.ศ. 2005 เพียงปีเดียว มีนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเสียชีวิตระหว่างถูกจองจำถึง 9 คน จำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีนี้ แสดงถึงความรุนแรงขึ้นของการทรมานและสภาพการถูกกระทำอย่างเลวร้าย ซึ่งแสดงถึงความพยายามของ State Peace and Development Council's: SPDC (สภาพัฒนาและสันติภาพแห่งรัฐ)หรือรัฐบาลพม่าในการที่จะปราบปรามฝ่ายตรงข้าม การทรมานจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อตอบสนองนโยบายนี้

ในปี ค.ศ.2006 มีนักโทษการเมืองถูกคุมขังในพม่าอย่างน้อย 1,156 คน หลายคนมีสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอและเสี่ยงต่อการถูกทรมาน ซึ่งถ้ายังไม่ถูกปล่อยตัวก็คงประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่เสียชีวิตในเรือนจำก่อนหน้านี้. สำหรับในเรือนจำ ศูนย์ควบคุมตัว และค่ายแรงงานในพม่า มีการทรมานนักโทษอย่างแพร่หลายและเป็นระบบ ทางเจ้าหน้าที่จงใจที่จะใช้การทรมานทั้งร่างกาย จิตใจ และการละเมิดทางเพศ จนถึงขั้นบาดเจ็บรุนแรงและบางคนถึงตาย. ทั้ง 127 กรณีที่เก็บข้อมูลมาในรายงานนี้ ล้วนแต่เป็นผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากการบาดเจ็บเพราะการถูกทรมาน

มีนักโทษการเมืองหลายคนที่เสียชีวิตหลังจากถูกปล่อยตัวออกมาเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมได้ ทำให้โรคหรืออาการที่เป็นอยู่กำเริบจนถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด นอกจากนั้น เท่าที่ทราบมี 15 กรณี ที่นักโทษการเมืองหายตัวไปจากเรือนจำ. จำนวนนี้อาจเป็นเพียงส่วนเดียวเล็กๆ เท่านั้นเมื่อเทียบกับจำนวนที่น่าจะเป็นจริง กับการสาบสูญไปของผู้เป็นที่รักนั้นเป็นเรื่องที่โหดร้าย สำหรับครอบครัวและมิตรสหาย ที่ไม่ทราบชะตากรรมของพวกเขาว่ามีชีวิตอยู่หรือไม่

ครอบครัวของนักโทษการเมืองที่เสียชีวิตเหล่านี้ ต้องพบกับความโหดร้ายของทางเจ้าหน้าที่ เนื่องจากโดยมากแล้ว ศพของนักโทษการเมืองจะถูกเผาก่อนที่ญาติจะได้พบเห็นเสียอีก มีการทำผลการชันสูตรศพแบบหลอกๆ และครอบครัวก็จะได้รับข้อเสนอในรูปเงินทองเพื่อให้สงบปากสงบคำเรื่องการตายของผู้เป็นที่รักของพวกเขา ครอบครัวต้องจัดงานศพโดยมีการควบคุมของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด ซึ่งจะมาในงานและบันทึกว่าใครมางานศพบ้าง

๑.๑ ศูนย์ควบคุมตัวเพื่อสอบสวน
นักโทษการเมืองส่วนใหญ่มักจะถูกจับกุมในช่วงเวลากลางคืน โดยถูกนำตัวไปจากบ้านโดยไม่มีหมายจับ พวกเขาจะถูกปิดตาและใส่กุญแจมือ และให้นอนลงในรถตู้ จากนั้นจะถูกพาตัวไปยังศูนย์ควบคุมตัวแห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อทำการสอบสวนและโดยมากเหยื่อเหล่านี้จะถูกทรมานด้วย

การทรมานที่ศูนย์นี้ถือว่าโหดร้ายที่สุด พวกเขาจะไมได้รับน้ำหรืออาหาร ไม่ได้หลับหรือใช้ห้องน้ำ พวกเขาจะถูกสอบสวน ตั้งคำถามและขู่เข็ญเมื่อไม่ให้คำตอบตามที่เจ้าหน้าที่ต้องการ การคุกคามนี้รวมทั้งการทรมาน การข่มขืน และการฆ่า ไม่เพียงแต่นักโทษการเมืองเท่านั้นแต่รวมทั้งเพื่อนร่วมงาน และบางครั้งก็สมาชิกในครอบครัวของพวกเขาด้วย

ในบรรดาการทรมานทางร่างกายทั้งหลาย การโบยตีถือว่าเป็นสิ่งที่พบมากที่สุด หลายครั้งที่นักโทษมักจะถูกทุบตีจนกระทั่งหมดสติ และหลายครั้ง พวกเขาจะถูกทำให้ฟื้นจากการหมดสติ เพื่อถูกทารุณกรรมอีก การทรมานนี้รวมทั้งการมัดโยงด้วยเชือกหรือโซ่ในท่าที่ผิดธรรมชาติเป็นเวลานานๆ ใช้เหล็กหนักกลิ้งทับจนเนื้อตัวฉีกทะลัก ให้อดน้ำ ทุบตีในที่เดิมซ้ำๆ เป็นชั่วโมงๆ จนบาดเจ็บหนัก จี้ด้วยบุหรี่ ลนด้วยไฟแช็ค ราดขี้ผึ้งร้อน ช็อตด้วยไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีการทารุณกรรมทางด้านจิตใจ ด้วยการไม่ให้ติดต่อสื่อสารกับใคร. เมื่อพวกเขาถูกจับกุม ครอบครัวและทนายความจะไม่รู้เลยว่าพวกเขาถูกพาตัวไปที่ไหน อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปีที่จะสืบหาว่าเขาถูกคุมขังอยู่ ณ ที่ใด สิ่งนี้ถือเป็นการทรมานอย่างหนึ่งในการที่ไม่มีใครทราบชะตากรรมของพวกเขาและติดต่อกับใครไม่ได้ อันเป็นปัจจัยทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางจิตในเวลาต่อมา รวมทั้งการแยกขังเดี่ยวในบางกรณีด้วย. นอกจากนั้นยังมีการผูกตาหรือเอาผาคลุมหัวนักโทษและบังคับให้ฟังการทรมานนักโทษคนอื่น ข่มขู่ให้เกิดความกลัว นอกจากนั้นพวกเขาไม่สามารถใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อแก้ต่างให้ตนเองได้เลย

ในส่วนของการกระทำทารุณทางเพศก็เกิดขึ้นในระหว่างการสอบสวนด้วย รวมถึงการละเมิด ลวนลาม ทุบตี และข่มขืน ช็อตด้วยไฟฟ้าที่อวัยวะเพศ และมีกรณีหนึ่งที่พบว่ามีการพยายามให้ข่มขืนนักโทษชายด้วยสุนัข. หลังจากเจ้าหน้าที่พอใจกับการสอบสวนแล้ว จะส่งนักโทษแต่ละคนไปยังเรือนจำแห่งหนึ่งแห่งใดในประเทศ ที่ซึ่งไม่เพียงจะพบกับการทรมานเท่านั้น แต่สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำยังขาดการดูแลทางการแพทย์และสุขภาวะ ซึ่งถือเป็นการทรมานอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

๑.๒ เรือนจำ
สภาพเรือนจำในพม่าถือได้ว่าเลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เรือนจำนั้นมีนักโทษหนาแน่นมากเกินไป และไม่ถูกสุขอนามัย มีทั้งสัตว์และแมลงอยู่ชุกชุมทุกซอกมุม นักโทษการเมืองต้องนอนหลับบนพื้นคอนกรีตที่เย็นเฉียบ ในนชุดผ้าฝ้ายบางๆ ห้องน้ำคือกระโถนหนึ่งใบ ที่มีการเทเพียงวันละหนึ่งครั้งซึ่งเพิ่มทั้งกลิ่นเหม็นและหนอนแมลงต่างๆ เป็นจำนวนมาก

นักโทษการเมืองต้องอยู่รวมกับผู้ต้องขังอื่นๆ อีกหลายคน ทำให้เอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค. นักโทษได้รับอนุญาตให้อาบน้ำสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ในบางครั้งเหลือเพียงเดือนละหนึ่งครั้ง ด้วยปริมาณสบู่ที่ไม่เพียงพอต่อความสะอาด และน้ำเพียงน้อยนิด ชุดเครื่องแบบนักโทษที่เปรอะเปื้อนให้ซักได้สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง โดยเฉพาะนักโทษการเมืองหญิงจะประสบปัญหาอย่างมากช่วงที่มีประจำเดือน

อาหารสำหรับพวกเขามีคุณภาพต่ำมาก บางครั้งก็เป็นข้าวไหม้ๆ แกงที่มีเพียงแต่น้ำแกงกับน้ำพริกปลาเล็กน้อย พวกเขาจะได้กินเนื้อชิ้นเล็กๆ เพียงสัปดาห์ละครั้ง อาหารมักจะสกปรกและปนเปื้อนด้วยเศษโสโครกอื่นๆ ดังนั้นบรรดานักโทษการเมืองจึงมักจะพึ่งครอบครัวในการจัดหาอาหารเพื่อให้พอเพียงและมีคุณภาพพอ แต่ทางการก็จำกัดการเยี่ยมของครอบครัว ทำให้ส่งผลต่อนักโทษการเมืองในเรื่องการขาดสารอาหาร

ระบบการดูแลรักษาพยาบาลในเรือนจำในพม่านั้น แทบจะไม่ปรากฏเลย ด้วยเหตุนี้ครอบครัวของพวกเขาจึงต้องทำหน้าที่ดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมสำหรับนักโทษการเมือง หรือมิฉะนั้นผู้ป่วยต้องจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ได้รับอนุญาตให้รักษาตัวในโรงพยาบาล เหตุดังนั้น คนที่ไม่สามารถหรือไม่เต็มใจจ่ายสินบนฯ จึงยากที่จะอยู่อย่างมีสุขภาพเรือนจำต่างๆ ได้

นักโทษการเมืองมักไม่ค่อยได้รับอนุญาตให้พบแพทย์ของเรือนจำ และมักจะได้ตรวจกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเท่านั้น โดยมากบุคลากรเหล่านี้มักจะไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง ทำให้โรคที่รักษาได้ไม่ยากกลับรุนแรงขึ้นจนถึงตาย และเมื่อได้รับใบสั่งยา พวกเขาก็มักไม่สามารถจะหายานั้นได้. แม้ว่าองค์การกาชาดสากล (International Committee of the Red Cross) ได้บริจาคยาคุณภาพสูงจำนวนมากแก่เรือนจำในพม่า แต่นักโทษการเมืองมักไม่ค่อยได้รับ ยาเหล่านี้ถูกนำไปขายต่อและนักโทษก็จะได้รับยาคุณภาพต่ำทดแทน พวกเขาหลายคนรับยาปลอมหรือแม้แต่ได้ยาผิดมารักษา. เมื่อต้องมีการฉีดยา เข็มฉีดยามักถูกนำกลับมาใช้ซ้ำ โดยไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะฆ่าเชื้อก่อน อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เชื้อโรคแพร่ระบาดในหมู่ผู้ต้องขัง โดยเฉพาะมีนักโทษการเมืองบางคนที่ติดเชื้อ HIV/AIDS จากสาเหตุดังกล่าว

สถานพยาบาลในเรือนจำมักจะหนาแน่นเกินไป ไม่สะอาดและมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ผู้ต้องขังมักจะหลีกเลี่ยงไม่ไปที่สถานพยาบาลเนื่องจากกลัวว่าจะติดเชื้อโรคอื่น เมื่อนักโทษการเมืองต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำจะถูกใส่โซ่ตรวน และให้พักในส่วนรักษาความปลอดภัยพิเศษ ด้วยร่างกายที่อ่อนแอของนักโทษ บางคนเสียชีวิตทั้งๆ ที่ยังมีโซ่ตรวนติดอยู่ที่ข้อเท้า

ปัจจัยอื่นๆ ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของนักโทษการเมือง ก็คือความรุนแรงและการละเมิดสิทธิในเรือนจำ ไม่เพียงจากเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่รวมทั้งนักโทษอาชญากรรมด้วย. นักโทษการเมืองจะถูกขังรวมกับนักโทษคดีอาชญากรรมที่ได้รับอาวุธจากทางการ โดยการสนับสนุนพวกเขาให้ทำร้ายนักโทษการเมือง. อาชญากรเหล่านี้สร้างระบบชนชั้นขึ้นมาและได้รับการเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่ฯ ให้มีการละเมิดนักโทษการเมืองได้ ดังนั้นนักโทษการเมืองบางคนจึงเสียชีวิตจากการถูกนักโทษคดีอาชญากรรมทำร้าย

ในกฎหมายป้องกันประเทศมาตรา 10 (A) อนุญาตให้มีการคุมขังโดยไม่มีการตั้งข้อหาได้สูงสุดถึง5 ปี ซึ่งทำให้ทางการมักจะใช้มาตราดังกล่าวเพื่อขยายเวลาการจองจำของนักการเมืองที่สำคัญ โดยการจองจำที่ยาวนานขึ้นในสภาพที่กล่าวมา ย่อมทำให้เกิดปัญหาทั้งทางร่างกายและจิตใจ อันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในเวลาต่อมา

๑.๓ ค่ายแรงงาน
มีนักโทษการเมืองอย่างน้อย 4 คนที่เสียชีวิตหลังจากการถูกสั่งให้ทำงานหนัก ในค่ายแรงงานที่มีอยู่มากมายหลายแห่งในประเทศพม่า. เมื่อนักโทษการเมืองถูกตัดสินลงโทษ พวกเขามักจะถูกจองจำพร้อมกับการต้องทำงานหนักในค่ายแรงงาน. ในพม่าการบังคับใช้แรงงานในโครงการต่างๆ ของรัฐบาลทหารนั้นโหดร้ายมาก การเลือกนักโทษการเมืองที่ต้องไปทำงานในค่ายนั้น ใช้วิธีสุ่มแบบล็อตเตอรี่ โดยไม่คำนึงถึงอายุหรือสุขภาพของพวกเขา บางคนที่มีฐานะก็จะจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ต้องออกไปทำงาน

คนที่ต้องออกไปทำงานในค่าย ต้องพบกับการถูกทรมาน ต้องทำงานที่ต้องใช้แรงมากกลางแดดจัด โดยไม่มีน้ำและอาหารให้ดื่มกินอย่างเพียงพอ ซึ่งการขาดสารอาหารและน้ำเป็นสาเหตุหลักทำให้นักโทษจำนวนมากล้มป่วยและเสียชีวิต หลังจากทำงานในค่าย. ผู้คุมในค่ายนั้น ไม่ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจ แต่จะบังคับให้นักโทษทำงานจนกระทั่งมีอาการชัดเจนว่าป่วยมาก นอกจากนั้นในค่ายมักจะมีอุบัติเหตุระหว่างการทำงานเกิดขึ้นเป็นประจำ (งานเหล่านี้ เช่น สร้างถนน ทุบหิน และแบกหาม) มีหลายกรณีที่พวกเขาถูกปล่อยให้เสียชีวิตโดยไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะแจ้งให้ญาติหรือครอบครัวของนักโทษทราบ

๑.๔ การหายสาบสูญ
การหายตัวไปของผู้คนหลังจากถูกจับกุมและคุมขังเป็นเรื่องยากมากที่จะสืบสวนและบันทึก ดังนั้นจนถึงปี ค.ศ.2006 มีเพียง 15 รายเท่านั้นที่เราสามารถบันทึกได้. การหายสาบสูญของบุคคลนั้นอันที่จริงเป็นเรื่องที่มีข้อกฎหมายระหว่างประเทศระบุไว้ และในบางกรณีถูกบ่งชี้ว่าเป็นการทารุณกรรม และหลายกรณีดูเหมือนว่าชะตากรรมของพวกเขาที่หายตัวไปนั้น คือการถูกกระทำทารุณและเสียชีวิตแล้ว แต่การขาดเสียซึ่งข้อมูลทำให้เกิดความไม่แน่ใจ เกิดความกังวล และการตั้งความหวังอย่างเลื่อนลอยของครอบครัวผู้ที่หายสาบสูญ ปัญหาเรื่องบุคคลสูญหายในพม่ายังเป็นเรื่องที่ต้องมีการสืบสวนต่อไป

๑.๕ การถูกปล่อยตัว
แม้ว่าหลังจากนักโทษการเมืองถูกปล่อยตัวจากเรือนจำแล้ว แต่พวกเขาก็ยังต้องพบกับความยากลำบากมากมายตามมา อย่างหนึ่งก็คือ ความยากลำบากในการหาการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมเพื่อรักษาการป่วยทางร่างกายที่พวกเขาต้องทนทรมานอยู่ พวกเขามักจะไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่ายาที่จำเป็นได้ นอกจากนั้นระบบการแพทย์ในพม่าก็ยังไม่มีทรัพยากรที่จะดูแลการเจ็บป่วยที่เกิดจากการถูกทรมานและโรคที่ป่วยจากเรือนจำได้

นักโทษการเมืองมักพบกับการทรมานทางจิตใจเมื่ออยู่ในเรือนจำ เมื่อได้รับการปล่อยตัว พวกเขาต้องพยายามฟื้นฟูจิตใจตนเอง พวกเขามักจะหันตนเองออกจากมหาวิทยาลัยและงานที่เคยทำ ถ้าพวกเขาพยายามหางานทำใหม่ก็จะถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่ทันที
(นักโทษการเมืองที่ถูกปล่อยตัว มักจะถูกจับกุมอีกในเวลาไม่นาน อันทำให้ในที่สุด เสี่ยงกับการเสียชีวิตในเรือนจำ ดังนั้นหลายๆ คนจึงเลือกที่จะลี้ภัยออกนอกประเทศ ซึ่งหมายความว่า แทบไม่มีหนทางที่จะได้กลับบ้านอีก แต่บางคนเลือกที่จะยืนหยัดต่อสู้ในประเทศ แม้จะรู้ว่าเสี่ยงมาก อย่างเช่น มิน โก นาย นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยคนสำคัญ, ผู้เรียบเรียง)

นอกจากนั้นครอบครัวและมิตรสหายก็มักจะถูกจับตามองไปด้วย อันนำไปสู่การสิ้นสุดความสัมพันธ์ การที่พวกเขากลับเข้าสู่สังคมได้ยาก ยิ่งเพิ่มเติมการป่วยทางจิตใจเข้าไปอีก. ในพม่ายังไม่มีการให้คำปรึกษาฟื้นฟูจิตใจ และการป่วยทางจิตนั้นก็ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม ดังนั้นอดีตนักโทษการเมืองจึงไม่ค่อยเปิดเผยปัญหาทางจิตของพวกเขา และบางคนถึงกับฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา. มีนักโทษการเมืองอย่างน้อย 10 คนที่เสียชีวิตเพียงไม่นานหลังจากถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ

๑.๖ การเสียชีวิต
นักโทษการเมืองมักจะเป็นผู้หารายได้หลักแก่ครอบครัว การเสียชีวิตของพวกเขานอกจากสร้างความเจ็บปวดทางด้านจิตใจแล้ว ยังเป็นผลต่อความเป็นอยู่ของครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง บางครอบครัวต้องขายทรัพย์สิน และสมาชิกในครอบครัวต้องหารายได้เพิ่มเพื่อความอยู่รอด. เมื่อนักโทษการเมืองเสียชีวิต ครอบครัวมักจะไม่ได้รับแจ้งข่าวในทันที บางกรณี เจ้าหน้าที่จะสั่งให้มีการชันสูตรศพและฝังหรือเผาโดยไม่ได้ไถ่ถามปรึกษากับครอบครัวของเขาก่อน

การชันสูตรเป็นกุญแจสำคัญในการพิสูจน์สภาพความเป็นจริง สาเหตุการตายของนักโทษการเมืองที่ถูกซ่อนไว้ ฝ่ายทหารมักจะข่มขู่แพทย์ให้เขียนผลการชันสูตรที่ผิดจากความเป็นจริงถึงสาเหตุการตาย ถ้าครอบครัวต้องการที่จะหาความจริงและพิสูจน์คำอธิบายของเจ้าหน้าที่ พวกเขาก็ไม่สามารถหาพยานบุคคลที่เป็นอิสระจากการข่มขู่โดยทางการได้ และส่วนใหญ่แล้ว รายงานผลการชันสูตรก็ไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชน

หลายครั้งที่ฝ่ายทางการมักจะเผาศพของนักโทษการเมืองที่เสียชีวิตเพื่อกลบเกลื่อนร่อยรอย บาดแผลต่างๆ ที่เกิดจากการถูกทารุณกรรมซึ่งมองเห็นได้บนร่างกายของพวกเขา ครอบครัวของเขาไม่ได้รับทางเลือกใดเพื่อตัดสินใจในเรื่องนี้ พิธีเผาก็มักจะทำภายในเขตของเรือนจำหรือสุสานโดยที่ไม่แจ้งให้ครอบครัวทราบ ถ้าครอบครัวสอบถาม ร้องขอเพื่อจะรับศพไปก็จะถูกปฏิเสธ. โดยมากแล้วครอบครัวของนักโทษการเมืองมักจะได้รับการเสนอเงินจำนวนหนึ่งเพื่อให้ปิดปากเงียบ เกี่ยวกับการเสียชีวิตของนักโทษ พวกเขาถูกห้ามไม่ให้พูดถึงสภาพที่แท้จริง การถูกทำร้ายหรือสาเหตุที่บุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขาเสียชีวิต แต่มีเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้นที่รับเงินจำนวนนี้

บางรายถ้าครอบครัวได้รับศพของนักโทษการเมืองที่เสียชีวิต พวกเขาต้องจัดการเรื่องงานศพทั้งที่ๆ อยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะบอกครอบครัวว่า พิธีศพจะจัดขึ้นในเวลาที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้ ดังนั้นสมาชิกบางคนในครอบครัวจึงมางานศพไม่ทัน นอกจากนั้นสายลับของทางการจะมาในงานศพและจดบันทึกว่ามีใครร่วมในพิธีบ้าง คนที่มาร่วมงานอาจถูกจับกุมและสอบสวนในภายหลังหากพบว่าพวกเขามีความเกี่ยวข้องกันทางการเมือง

สรุป
รายงานนี้แสดงถึงสภาพแวดล้อม สาเหตุการเสียชีวิตของนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยทั้ง 127 คนตั้งแต่ปี 1988 - 2006 พบว่าเสียชีวิตจากการถูกทารุณกรรมและปฏิบัติที่ไม่ดี การทารุณกรรมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และละเมิดทางเพศ การทรมานนั้นพบได้ทั้งในเรือนจำและรวมถึงระบบการดูแลสุขภาพที่ไม่ดี อันส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตในเวลาต่อมา

การเสียชีวิตของนักโทษการเมือง ส่งผลกระทบถึงครอบครัวของพวกเขาที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากอันเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งผลรายงานการชันสูตรที่เป็นเท็จ ซึ่งเจ้าหน้าที่พยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีคำถามตามมาจากการอธิบายของพวกเขาในเรื่องการเสียชีวิต ความพยายามของครอบครัวเพื่อให้เกียรติต่อผู้เสียชีวิตในพิธีศพ ถูกจำกัดควบคุมและแม้แต่ห้ามโดยเจ้าหน้าที่ทางการ

ผู้ต้องรับผิดชอบการเสียชีวิตของนักโทษการเมืองในเรือนจำได้รับการอภัยโทษในทุกกรณี แม้ว่าจะรู้ว่าใครเป็นผู้กระทำในหลายๆ กรณี แต่ก็จะไม่มีการจัดการใดๆ เพื่อพิสูจน์ความจริง พวกเจ้าหน้าที่จะใช้กลไกในเรือนจำที่อนุญาตให้มีการทรมาน และการปฏิบัติอันไม่พึงประสงค์ต่อนักโทษที่อยู่ในความรับผิดชอบได้. อย่างไรก็ตามการสืบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ต้องรับผิดชอบการเสียชีวิตของนักโทษการเมืองในเรือนจำพม่า เป็นสิ่งที่จำเป็น อันเป็นกระบวนการในระบบยุติธรรมที่เคารพในหลักสิทธิมนุษยชนของพลเมืองทั้งมวล

ภาคผนวก
กรณีตัวอย่าง นักโทษการเมืองที่เสียชีวิตระหว่างถูกจับกุมและคุมขัง

1. ชื่อ: Saw Stand Ford
วันที่ถูกจับกุม: กรกฎาคม ค.ศ. 2005
วันที่เสียชีวิต : กรกฎาคม ค.ศ. 2005
อายุเมื่อเสียชีวิต : 40 ปี

Saw Stand Ford เป็นครูสอนโรงเรียนมัธยมชาวกะเหรี่ยง เขาถูกจับพร้อมชาวบ้าน 30 คนในเมือง Ah Thoke และในหมู่บ้าน Ta Gu Seik เขตเมือง Einme โดยกองพันทหารราบที่ 93 ที่ตั้งอยู่ในเมือง Myaungmya Township เป็นผู้ดำเนินการจับกุม เนื่องจากสงสัยว่าจะมีอาวุธซุกซ่อนในหมู่บ้านสำหรับสนับสนุนกองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง Karen National Union (KNU) ในโบสถ์ สุสานและบ้านเรือนประชาชนในหมู่บ้าน แต่ทหารก็ไม่พบอาวุธใดๆ

ในระหว่างการสอบสวน ทหารใช้การทรมานกับชาวบ้านรวมทั้งการช็อตด้วยไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของ Saw Stand Ford ส่วนชาวบ้านอีก 16 คนถูกส่งตัวไปย่างกุ้ง การสอบสวนดำเนินไปกว่าหนึ่งเดือน ต่อมาพวกเขาทั้งหมดที่เหลือก็ถูกปล่อยตัวในวันที่ 12 สิงหาคมหลังจากถูกทรมานอย่างหนัก ก่อนการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่บอกชาวบ้านว่าห้ามพูดถึงการสอบสวนกับใครทั้งสิ้น โดยเฉพาะกับสื่อต่างชาติ เจ้าหน้าที่ยังบอกอีกว่าทางการจะสนับสนุนโครงการพัฒนาในหมู่บ้าน และจะจ่ายเงิน 300,000 จั๊ต (ประมาน 300 เหรียญสหรัฐ) เพื่อชดเชยการเสียชีวิตของ Saw Stand Ford ถ้าพวกเขาไม่บอกใครว่าเขาตายอย่างไร อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของเขาก็ปฏิเสธที่จะรับเงิน และยังเรียกร้องให้ทางการลงโทษผู้ที่รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตครั้งนี้ด้วย

2. ชื่อ: Ko Htay Lwin (*)
วันที่ถูกจับกุม: 3 ตุลาคม ค.ศ. 2005
วันที่เสียชีวิต : 3 ตุลาคม ค.ศ. 2005
อายุเมื่อเสียชีวิต : 30 ปี
(*) Ko (โก) เป็นคำนำหน้าชื่อชายหนุ่มชาวพม่า, ถ้ามีอายุหรือเป็นที่นับถือจะใช้คำว่า U (อู)

Htay Lwin เป็นผู้สนับสนุนพรรค NLD เขาถูกจับโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รวมทั้ง Ba Tint ประธานของ Union Solidarity and Development Association (USDA) (เป็นกลุ่มตำรวจพลเรือน ที่รัฐบาลพม่าจัดตั้งขึ้น, ผู้เรียบเรียง) และสมาชิก USDA คนอื่นๆ Htay Lwin ถูกทุบตีอย่างรุนแรง ในระหว่างการสอบสวนโดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่จับกุมเขา. ช่วงดึกของวันที่เขาถูกจับกุม เขาถูกนำตัวไปยังสถานีตำรวจหมายเลข 4 เมื่อภรรยาเขาพยายามที่จะเข้าเยี่ยม แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้พบหรือนำอาหารมาให้ ช่วงประมาณเที่ยงคืน รถยนต์ของ USDA เข้าไปที่สถานีตำรวจเพื่อรับศพของ Htay Lwin และส่งไปยังโรงพยาบาลมัณฑะเลย์

เช้าวันต่อมา ภรรยาของเขา ได้รับโทรศัพท์จากโรงพยาบาลเพื่อแจ้งให้ทราบถึงการตายของเขา โดยบอกให้เธอจัดการเผาศพเขาทันที และบอกว่าค่าใช้จ่ายจะจัดการโดย USDA และตำรวจ ในขั้นต้นเธอปฏิเสธ และเรียกร้องให้พวกเขาส่งศพกลับคืนมา แต่พวกตำรวจก็ข่มขู่ให้เธอจัดการเผาศพเขาทันที และบอกว่าเธอจะได้รับเงินชดเชย 300,000 จั๊ต (ประมาน300 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการเสียชีวิตของเขา

3. ชื่อ: (U) Mohammad Elias
วันที่ถูกจับกุม: 13 มิถุนายน ค.ศ. 1992
วันที่เสียชีวิต : 19 มิถุนายน ค.ศ. 1992
อายุเมื่อเสียชีวิต : 68 ปี

Mohammad Elias เป็นชาวเมือง Maungdaw รัฐอาระคัน เขาเป็นเลขานุการของพรรค NLD สาขาเมืองที่เขาอาศัยอยู่ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1992 เกิดระเบิดขึ้นที่เมืองนั้น เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเขาเป็นผู้วางระเบิดและเข้าทำการจับกุมในวันที่ 13 มิถุนายน. ในระหว่างการสอบสวน Mohammad Elias ถูกทรมานอย่างรุนแรง เจ้าหน้าที่ซึ่งทราบว่าเขาเป็นมุสลิม บังคับเอาน้ำมันหมูกรอกปากเขา แม้ว่าเขาจะยังมีชีวิตอยู่หลังจากการทรมาน แต่ก็ถูกนำส่งโรงพยาบาลในเวลาต่อมาและเสียชีวิตลงในวันที่ 19 มิถุนายน. เจ้าหน้าที่อ้างว่าเขาเสียชีวิตเพราะการป่วยจากโรคที่ท้อง แต่อันที่จริงเขามีสุขภาพดีก่อนที่จะถูกจับกุม

4. ชื่อ: (Ma) Aye Mu (*)
วันที่ถูกจับกุม: 16 กันยายน ค.ศ. 1997
วันที่เสียชีวิต : พฤษภาคม ค.ศ. 1998
อายุเมื่อเสียชีวิต : 21 ปี
(*) Ma (มะ) เป็นคำนำหน้าของผู้หญิง หมายถึงพี่สาวหรือน้องสาว แต่จะใช้ Daw (ด่อ) กับผู้หญิงสูงวัย หรือผู้ที่ได้รับการเคารพนับถือ เช่น Daw Aung San Suu Kyi.

Ma Aye Mu เกิดในหมู่บ้าน Byat Wi Tha เมือง Theyetchaung เขต Tennasserim (หรือตะนาวศรี) เธอทำงานกับกลุ่ม Mergui / Tavoy United Front (MTUF) อันเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอีกกลุ่มหนึ่งในเขตตะนาวศรี. ในวันที่ 16 กันยายน 1997 เวลาประมาณ 6 โมงเช้าเธอและผู้หญิงคนอื่นอีกสามคนวิ่งเข้าไปในกลุ่มทหารในเมืองTheyetchaung ซึ่งนำโดย Captain Kyaw Thu ขึ้นอยู่กับหน่วย No. 2 of No. 267 กองพันทหารราบ พวกเธอทั้งหมดถูกจับกุม

ต่อมาเวลาประมาณ 21.00 น. ร้อยเอก Kyaw Thu สั่งให้นำตัว Aye Mu ไปสอบสวนในบ้านที่เขาพัก เธอถูกข่มขืนและส่งตัวกลับไปคุมขัง ในวันต่อมาเธอก็ถูกกระทำเช่นเดียวกันอีก และต่อมาก็ถูกตัดสินให้จำคุก 5 ปี ในเวลาที่ถูกสอบสวนและคุมขังในเรือนจำที่เมือง Tavoy เธอถูกทรมาน ละเมิดทางเพศและข่มขืนอีก จนทำให้สุขภาพแย่ลงเรื่อยๆ แต่ในเรือนจำก็ไม่ได้ให้การดูแลรักษาใดๆ ในที่สุดเธอก็ถูกส่งไปรักษาในโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม Aye Mu เสียชีวิตในเรือนจำในสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคม เจ้าหน้าที่เรือนจำไม่ได้แจ้งให้ครอบครัวทราบถึงการตายของเธอ ปัจจุบันร้อยเอก Kyaw Thu เลื่อนขั้นเป็นพันโท Kyaw Thu อยู่ในฐานที่ 44 Division No. 44

5. ชื่อ: (U) Min Tun Wai
วันที่ถูกจับกุม: พฤษภาคม ค.ศ. 2005
วันที่เสียชีวิต : พฤษภาคม ค.ศ. 2005
อายุเมื่อเสียชีวิต : 42 ปี

Min Tun Wai อาศัยอยู่ในเมือง Kyaikmayaw รัฐมอญ เป็นสมาชิกของพรรค NLD สาขาเมือง Kyaikmayaw . ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2005 ศาลเมือง Kyaikmayaw ตัดสินว่าเขามีความผิดในข้อหาเมาสุราแล้วต่อสู้กันบนถนน หลังจากนั้นเขาถูกส่งไปยังเรือนจำ Moulmein ในทันที. ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2005 Min Tun Wai ขาดสติ ควบคุมตนเองไม่ได้ จึงถูงจับเอาหน้ากดลงกับพื้น ขณะที่ถูกมัดมือมัดเท้าอยู่ เขาพยายามดิ้นรน. ขณะนั้นนักโทษคดีอาชญากรรมหลายคนที่ถูกสั่งโดยเจ้าหน้าที่เรือนจำให้เป็นนักโทษรักษาเวรยามตอนกลางคืน ทุบตีและเตะเขาอย่างรุนแรง เขาถูกชกต่อยที่ใบหน้าและศรีษะซ้ำๆ กันหลายครั้งโดยนักโทษกลุ่มนี้ เขาเจ็บปวดและเรียกชื่อบุตรสาวของเขาทั้งคืน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ เขต 1 ของเรือนจำ ใกล้กับประตูทางเข้า. นักโทษที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลในขณะนั้นชื่อ Myo Win เขามอบกระบองและไม้พลองแก่นักโทษรักษาเวรยาม และอนุญาตให้พวกเขาทุบตีนักโทษคนอื่นได้ พัศดีก็อนุญาตเช่นกัน. นักโทษเวรยาม 2 คนที่กระทำการทารุณร้ายแรงที่สุดคือนักโทษคดีหนีทหาร Nyan Tun Aung และ Tun Ko กลุ่มนักโทษทุบตีจนกระทั่ง Min Tun Wai หมดสติ พวกเขาหยุดไปชั่วครู่แล้วทุบตีเขาอีก ทุกครั้งที่ เขาได้สติก็จะเพ้อชื่อบุตรสาวของเขา ผลจากการถูกทารุณกรรม ในที่สุดเขาเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2005

ร่างของเขาถูกส่งไปชันสูตรโดยแพทย์ที่ดูแลเรือนจำ Moulmein แต่แพทย์ไม่ยอมรับศพไว้ ดังนั้นศพของเขาจึงถูกส่งไปยังโรงพยาบาลนอกเรือนจำเพื่อชันสูตร โดยผลการชันสูตรออกมาว่าเขามีเลือดออกและมีแผลไปทั่วร่างกาย และข้อมือหัก แม้ว่าเขาจะต้องโทษเพียง 5 วัน แต่เขาก็ยังถูกทรมานจนเสียชีวิต

เจ้าหน้าที่เรือนจำประชุมเกี่ยวกับกรณีนี้, U Tin Maung Ohn ผู้คุมที่มีหน้าที่ดูแลเวรกลางคืนอ้างว่า Min Tun Wai พยายามปีนขึ้นบนคานในเขตเรือนจำนั้น และตกลงมากระแทกพื้น ทำให้บริเวณศรีษะของศพเกิดรอยแผลบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม ความจริงคือผู้คุมส่งเสริมให้นักโทษรักษาเวรยามกลางคืน ทุบตีชกต่อยนักโทษคนอื่น. เนื่องจากองค์การกาชาดสากลเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เรือนจำไม่ใช้กระบองและไม้พลอง เจ้าหน้าที่จึงเลี่ยงข้อจำกัดนี้โดยการให้นักโทษรักษาเวรยามถือกระบองและไม้พลองไว้แทน

6. ชื่อ: Saw Tun Nwe
วันที่ถูกจับกุม: 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1997
วันที่เสียชีวิต : กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1997
อายุเมื่อเสียชีวิต : 75 ปี

Saw Tun Nwe เกิดในเขต Taungoo เมือง Pegu เป็นสมาชิกของพรรค NLD และเคยเป็นรองกรรมการบริหารพรรค. ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1997 กรรมการปริหารพรรคทุกคนถูกจับกุมโดยทหาร ตำรวจ และหน่วยสืบราชการลับ และถูกคุมตัวไว้โดยทหารที่ เขต 39 ของกองพันทหารราบ. ต่อมาพวกเขาถูกใช้เป็นลูกหาบให้กองทัพ ในการสู้รบกับกองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) พวกเขาต้องเดินเป็นเวลาหลายวันเข้าไปในป่า โดยถูกบังคับให้แบกหามอาวุธหนัก จนถึงพื้นที่สู้รบ ซึ่งสภาพภูมิอากาศในเขตนั้นแย่มาก

Saw Tun Nwe ซึ่งอายุ 75 ปีแล้ว เสียชีวิตระหว่างทาง จากการถูกโบยตีและได้รับอาหารเพียงน้อยนิด ภายหลังเหล่าลูกหาบกล่าวว่า พวกเขาต้องปล่อยให้ศพของ Saw Tun New ทิ้งไว้ในป่า เนื่องจากไม่มีโอกาสที่จะฝังศพของเขาให้เรียบร้อย

(๒) การหายตัวไปของนักโทษ และการติดสินบน
๒.๑ การหายตัวไปของนักโทษการเมือง 7 คน
ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1992 สมาชิกเก้าคนของ Myeik-Dawei United Front กลุ่มต่อต้านรัฐบาลกลุ่มหนึ่งที่มีฐานที่ตั้งอยู่บริเวณ ชายแดนไทย/พม่า ถูกจับกุมเมื่อพยายามเข้าไปในเขตตอนใต้ของพม่าเพื่อเก็บข้อมูลในพื้นที่ พวกเขา 9 คนถูกจับที่หมู่บ้าน Kyeini Taung เมือง Bokepyin เขตการปกครอง Tenasserim โดยพันตรี Tun Aung Kyaw สังกัดกองพันทหารราบ ที่ 432

หลังจากถูกจับกุม พวกเขาได้ถูกพาตัวไปที่ฐานของกองพัน ที่ซึ่งมีการสอบสวนและการทรมาน จากนั้นพวกเขาถูกส่งตัวไปยังเรือนจำ Mergui ในเขตการปกครอง Tenasserim ซึ่งพวกเขาถูกทรมานหนักขึ้นไปอีก รวมทั้งถูกบังคับให้ยืนถ่างขาโดยมีท่อนเหล็กวางขวางตามแนวนอนระหว่างถูกโซ่ล่ามเป็นเวลานานๆ และขังรวมกันในห้องขนาด 8 x12 ฟุตเป็นเวลา 2 ปี. พวกเขาอยู่ในเรือนจำเกือบ 8 ปี โดยไม่มีการตั้งข้อหา หรือดำเนินการทางศาลใดๆ นอกจากนั้นยังไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อครอบครัวหรือตัวแทนจากองค์การกาชาดสากลเลย

ในเดือนเมษายน ปี 2001 มี 2 คนในกลุ่มนี้ที่ถูกปล่อยตัว ต่อมาวันที่ 25 มีนาคมปี 2002 เวลา 8.00 น. อีก 7 คนที่เหลือ ถูกย้ายออกจากเรือนจำ Mergui โดยคำสั่งของ พันตรี Soe Hlaing ของกองพันทหารราบที่ 265 แหล่งข่าวภายในกล่าวว่า พวกเขาถูกพาไปยังเกาะ Done Kyun ในเขต Tenasserim (ตะนาวศรี) จนถึงปัจจุบัน ไม่ทราบชะตากรรมและสถานที่อยู่ของนักโทษเหล่านี้ ก่อนที่พวกเขาจะถูกย้ายออกไปจากเรือนจำ พวกเขามีสุขภาพแย่มาก เนื่องมาจากการถูกทารุณกรรมทั้งร่างกายและจิตใจ และความเป็นอยู่ในเรือนจำ

AAPP ได้รับข้อมูลว่า ทั้ง 7 คนถูกสังหารเมื่อไปถึงเกาะนั้น แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้. รายชื่อของนักโทษการเมืองทั้ง 7 คนที่หายตัวไปจากเรือนจำ Mergui ได้แก่
1) (U) Khin Maung Cho, 2) (U) Shwe Baw, 3) (Ko) Tin San, 4) (Ko) Naing Oo (alias) Aung Naing, 5) (Ko) Kyaw Naing (alias) Kyaw Lwin, 6) (Ko) Than Zaw, 7) (Ko) Onh Lwin

๒.๒ สถานการณ์ในเรือนจำพม่าในปี 2006
รัฐบาลพม่าตระหนักว่าสภาพในเรือนจำนั้น เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของนักโทษการเมือง อันเป็นประเด็นที่ชุมชนโลกให้ความสนใจ ดังนั้นจึงรายงานข้อมูลของเรือนจำและนักโทษการเมืองผ่านทางงานแถลงข่าว. นักโทษการเมืองถูกจำกัดสิทธิในการเขียนและอ่านหนังสือ ดื่มน้ำ และการรับปัจจัยอุปโภคบริโภคจากภายนอก. ในปี 2006 รัฐบาลแถลงเพียงว่า เรือนจำได้รับการบริจาคจากหน่วยงานของรัฐอย่างไรบ้าง

ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นไป เงินงบประมาณสำหรับเรือนจำแต่ละแห่งถูกตัดทอนลง และเจ้าหน้าที่ต้องหาเงินเพิ่มเติมแก่เรือนจำที่ตนเองรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้การคอรัปชั่น การเลือกปฏิบัติเพื่อหารายได้จากนักโทษและงานต่างๆ รวมทั้งบังคับใช้แรงงานเพิ่มขึ้นด้วย. ข้อมูลต่อไปนี้คือสิ่งที่พบเห็นได้ในเรือนจำต่างๆ :

๒.๓ การทารุณกรรมโดยตั้งใจเพื่อหาเงินสินบน
เมื่อนักโทษถูกจับกุมตัว เขาต้องจ่ายสินบนแก่ตำรวจ, เจ้าหน้าที่ศาล, และเจ้าหน้าที่เรือนจำในระดับต่างๆ, รวมทั้งผู้คุมในห้องที่ถูกขัง, ผู้ตรวจห้องขัง, โดยมีวิธีการต่างๆเพื่อให้ได้เงินสินบนมาดังนี้

- ค่าเดินทาง : เมื่อนักโทษถูกตัดสินโทษและต้องเดินทางมาคุก Insein พวกเขาจะถูกถามหาค่ารถเพื่อเดินทาง นักโทษใหม่ต้องจ่ายอย่างน้อย 1000 - 5000 จั๊ต มิเช่นนั้นจะถูกทุบตีตลอดการเดินทางถึงห้องขัง. เมื่อเดินทางมาถึง "ห้องบอกระเบียบ" พวกเขาก็จะถูกทุบตี เตะต่อย ในระหว่างที่ผู้คุมบอกถึงระเบียบของเรือนจำ จุดประสงค์ก็เพื่อให้ได้เงินสินบนเพื่อบรรเทาการถูกทำร้าย หากใครไม่มีจ่ายก็จะถูกทำร้ายหนักขึ้น (โดยมากเงินก็จะมาจากครอบครัวของนักโทษ อัตราแลกเปลี่ยนเงินพม่าไม่แน่นอนโดยประมาณคือ 1,100 จั๊ต = 1US$ (มีนาคม 2551). ผู้เรียบเรียง)

- ค่าที่นอน: นักโทษใหม่ต้องจ่ายเงินประมาณ 15,000 จั๊ต สำหรับที่นอนทำด้วยไม้กระดานในห้องขัง มิฉะนั้นต้องนอนบนพื้นคอนกรีตเย็นๆโดยไม่มีผ้ารอง

- ค่าอาบน้ำละใช้ห้องสุขา: นักโทษใหม่ต้องจ่าย 1,500 จั๊ต สำหรับการอาบน้ำและซักเสื้อผ้า และอีก 1,500 จั๊ต สำหรับค่าใช้ห้องน้ำ (แค่มุมห้องที่มีกระดานปิดเป็นส่วนตัว) สำหรับการใช้ทุกครั้งแก่ผู้คุมห้องขัง. ในเรือนจำบางแห่งที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ นักโทษต้องจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้น้ำจากเครื่องปั๊มด้วย

- ค่าเดินทางต่อไปยังเรือนจำหรือค่ายแรงงานอื่นๆ: ถ้านักโทษไม่ต้องการย้ายไปยังเรือนจำหรือค่ายแรงงานอื่นๆ ต้องจ่ายเงิน 150,000 จั๊ต แก่เจ้าหน้าที่เรือนจำ เพื่อไม่ต้องย้ายไป นอกจากนั้นถ้าพวกเขาอยากย้ายไปค่ายแรงงานที่สะดวกสบายกว่า ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ได้ตามที่ต้องการ เช่น ถ้าอยากย้ายไปค่ายงานเกษตรที่ไม่ไกลจากย่างกุ้ง ก็ต้องจ่าย 100,000 จั๊ตหรือมากกว่านั้น และค่าความสะดวกสบายอื่นๆ แม้กระทั่งค่าอนุญาตให้ครอบครัวมาเยี่ยมได้เป็นบางครั้งด้วย ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจ่ายเงินสินบน

- สินบนเพื่อเลือกประเภทการทำงานในเรือนจำ: นักโทษใหม่ต้องทำงานตามที่เจ้าหน้าที่เรือนจำกำหนด อาจจะเป็นงานภายในหรือภายนอกเรือนจำ โดยมีระดับความลำบากและหลากหลายประเภท โดยส่วนใหญ่ต้องจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่เรือนจำที่ควบคุมการจ่ายงาน 20,000 จั๊ต สำหรับการไม่ต้องทำงานหรือทำงานง่ายๆ. ใครที่ไม่มีเงินจ่ายก็ต้องทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและงานหนัก เช่น ยกถังสิ่งปฏิกูล ล้างห้องน้ำ ซึ่งจะถูกโบยตี ด่าทอ และกระทำทารุณต่างๆ. ส่วนงานที่อยู่นอกเรือนจำ รวมถึงทำงานในร้านสวัสดิการเรือนจำ บ้านพักเจ้าหน้าที่เรือนจำ ทำความสะอาดบริเวณรอบๆ เรือนจำ ซึ่งงานที่ไม่หนักมากนี้จะแจกจ่ายให้นักโทษที่มีโทษเหลือไม่มาก คือน้อยกว่าหนึ่งปี หรือใกล้จะพ้นโทษแล้ว ซึ่งต้องจ่ายเงินสินบนให้กับผู้คุมและเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ

- ค่าสินบนเพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล: แม้ว่าในคู่มือของเรือนจำจะระบุว่า ถ้านักโทษมีสุขภาพไม่ดีหรือเจ็บป่วย เขามีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลได้ แต่ในความเป็นจริง ทางเรือนจำมักจะปฏิเสธสิทธิของนักโทษที่จะเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ เมื่อนักโทษป่วย ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่เรือนจำทราบ และเมื่อผู้คุมอนุญาตเท่านั้น นักโทษจึงจะไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข (ที่เป็นนักโทษเหมือนกัน)ได้ และเพื่อให้เจ้าหน้าที่ใส่ชื่อผู้ป่วยให้อยู่ในรายชื่อที่ต้องพบแพทย์ เขาต้องให้กาแฟสำเร็จรูป 1 ซองแก่เจ้าหน้าที่ (ประมาณ 100 จั๊ต) ไม่อย่างนั้นก็จะไม่ได้พบแพทย์ เมื่อเขาต้องไปพบแพทย์ของเรือนจำก็ต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้รับการตรวจรักษา ดังนี้

(1) ค่าตรวจโดยแพทย์ของเรือนจำ 500 จั๊ต (ตรวจโดยการสอบถามเท่านั้น)

(2) ผู้ป่วยจะพักในโรงพยาบาลได้ต้องจ่ายเงิน 3,000 จั๊ตแก่ทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและแพทย์ของเรือนจำ โดยสาเหตุการป่วยนั้น ไม่ใช่มาจากสภาพอาการที่แท้จริงของนักโทษ แต่เกิดจากจำนวนเงินที่จ่ายไป และแพทย์และเจ้าหน้าที่ของเรือนจำจะเขียนผลการตรวจเพื่อให้ได้พักในโรงพยาบาล

(3) นักโทษที่มีการป่วยมาก่อนแล้ว จะต้องจ่าย 30,000 จั๊ตให้แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเรือนจำ ตั้งแต่เมื่อแรกเข้าไปในเรือนจำ ถ้าเกิดแพทย์ที่ดูแลต้องย้ายไปที่อื่นและมีแพทย์ใหม่มา ต้องจ่ายเพิ่มอีก 20,000 จั๊ต ดังนั้นมีเพียงคนไข้ป่วยหนักจริงๆ ที่จะได้รับการรักษา ไม่รวมกับ"ผู้ป่วยปลอม"เหล่านี้. และถึงแม้จะป่วยจริงแต่ไม่มีเงินสินบนก็ต้องอยู่ในสภาพที่ลำบากมาก คือต้องนอนบนพื้นซีเมนต์โดยไม่มีผ้ารอง แม้จะป่วยมากก็ตาม ต่างกับผู้ป่วยปลอมที่ได้รับการดูแลที่ดีกว่า

เมื่อผู้ป่วยตัวจริงต้องมีการฉีดยา เจ้าหน้าที่จะใช้เข็มฉีดยาและหลอดอันเดิมสำหรับนักโทษหลายๆคน โดยไม่มีการใช้เข็มแบบครั้งเดียวทิ้ง ดังนั้น โรงพยาบาลในเรือนจำจึงกลายเป็นศูนย์การแพร่เชื้อ HIV/AIDS ไปด้วย. เมื่อองค์กรนานาชาติเข้าไปสำรวจสภาพของเรือนจำ ผู้ป่วยจริงๆ จะถูกย้ายไปที่อื่น และผู้ป่วยปลอมก็จะทำเป็นป่วยจริง อยู่อย่างสบายบนเตียงให้ถ่ายรูปกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ ซึ่งรูปเหล่านี้จะถูกส่งให้กับองค์กรเหล่านั้นว่าระบบการรักษาพยาบาลในเรือนจำนั้นเรียบร้อยดี

ปัจจุบันองค์การกาชาดสากล (ICRC) ที่ดูแลเรื่องสิทธิของผู้ต้องขังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเยี่ยมนักโทษในเรือนจำพม่าได้ ดังนั้นเหล่าผู้ป่วยก็ยิ่งเหมือนรอเวลาสุดท้ายชีวิตบนพื้นซีเมนต์เย็นๆ โดยไม่ได้รับการดูแลรักษาใดๆ ด้วยขาดยารักษาโรค บางคนผอมแห้งและป่วยเนื่องจากขาดสารอาหาร ทั้งนี้เพราะไม่มีครอบครัวมาเยี่ยม และเป็นความจริงที่ผู้ป่วยหลายคนที่อยู่ในโรงพยาบาลของเรือนจำโดยไม่มีคนมาเยี่ยมมักจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา ดังที่มีการพูดกันว่าการไปเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลในเรือนจำ เหมือนการถูกตัดสินประหารชีวิตทีเดียว

ปัจจุบันเรือนจำพม่าได้ปรับปรุงบางส่วนของโรงพยาบาลในเรือนจำ โดยปูกระเบื้องที่พื้น ทาสีผนัง ขยายอาคาร แต่กลับไม่จัดการเรื่องยารักษาโรคให้เพียงพอต่อการรักษาชีวิตผู้ป่วย โดยค่าใช้จ่ายการปรับปรุงนั้นก็เก็บมาจากบรรดาผู้ป่วยปลอม ที่ถ้าหากพวกเขาไม่มีเงินจ่ายขึ้นมาเมื่อใดก็จะถูกไล่ออกจากโรงพยาบาลทันที

และแม้ว่านักโทษการเมืองจะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทาง ภายนอกเรือนจำ ก็ต้องผ่านการอนุญาตของเจ้าหน้าที่ทหารก่อน ด้วยสภาพการณ์แบบนี้ Khin Maung Lwin นักโทษการเมืองคนหนึ่ง เสียชีวิตในเรือนจำ Puta O ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2006 และนักโทษการเมืองอีกคนหนึ่ง Dr. Than Nyein ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกมารักษากับแพทย์เฉพาะทาง เขาได้ขอร้องให้ครอบครัวส่งเข็มฉีดยาและหลอดฉีดยาชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าไปให้

สถานการณ์ความเป็นจริงเหล่านี้ล้วนขัดแย้งกับสิ่งที่รัฐบาลพม่าได้กล่าวอ้างตามงานแถลงข่าวผ่านสื่อที่ตนควบคุม ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์

 

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๑ : Release date 19 March 2008 : Copyleft by MNU.
ฝ่ายทางการมักจะเผาศพของนักโทษการเมืองที่เสียชีวิต เพื่อกลบเกลื่อนร่อยรอย ที่เกิดจากการถูกทารุณกรรมซึ่งมองเห็นได้บนร่างกายของพวกเขา ครอบครัวของเขาไม่ได้รับทางเลือกใดเพื่อตัดสินใจในเรื่องนี้ พิธีเผาก็มักจะทำภายในเขตของเรือนจำโดยที่ไม่แจ้งให้ครอบครัวทราบ ถ้าครอบครัวสอบถาม หรือร้องขอเพื่อจะรับศพไปก็จะถูกปฏิเสธ. โดยมากแล้วครอบครัวของนักโทษการเมืองมักจะได้รับการเสนอเงินจำนวนหนึ่งเพื่อให้ปิดปากเงียบ เกี่ยวกับการเสียชีวิตของนักโทษ พวกเขาถูกห้ามไม่ให้พูดถึงสภาพที่แท้จริง การถูกทำร้ายหรือสาเหตุที่บุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขาเสียชีวิต แต่มีเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้นที่รับเงินจำนวนนี้ บางรายถ้าครอบครัวได้รับศพ พวกเขาต้องจัดการเรื่องงานศพทั้งที่ๆ อยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่
H