ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



20-03-2551 (1513)

อ่านชีวิตและตัวตนอานันท์ กาญจนพันธุ์: เราต้องมีพื้นที่ที่ช่วงชิงต่อสู้ทางความคิด
อัตชีวประวัติปากเปล่า และความเหงาของอานันท์ กาญจนพันธุ์
องอาจ เดชา : เรียบเรียง
นำมาจากเว็บไซต์ประชาไท และเผยแพร่แล้วบนกระดานข่าว ม.เที่ยงคืน
เดิมชื่อ: อ่านชีวิตและตัวตน 'อานันท์ กาญจนพันธ์': เราต้องมีพื้นที่ที่ช่วงชิงต่อสู้ทางความคิด

วันที่ ๕-๖ มกราคม ๒๕๕๑ ที่โรงแรมอิมพีเรียล เชียงใหม่ รีสอร์ทสปา แอนด์ สปอร์ตคลับ
อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ มีการจัดโครงการสัมมนาวิชาการ "ข้ามพรมแดนแห่งความรู้สังคมศาสตร์ไทย"
การสัมมนาวิชาการครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติในโอกาสครบอายุ ๖๐ ปี ของ ศาสตราจารย์ ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์
จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยในช่วงท้ายของเวทีสัมมนาวิชาการ
ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ได้กล่าวส่งท้าย... โดยได้เปลือยชีวิตและตัวตนบางมุมบางด้านให้ผู้เข้าร่วมรับฟัง

ศ.ดร.อานันท์ เป็นนักวิชาการท่านหนึ่งที่เชี่ยวชาญในด้านมานุษยวิทยาเศรษฐกิจ การจัดการทรัพยากรและการพัฒนา
ระบบกรรมสิทธิ์และการถือครองที่ดิน ประวัติศาสตร์สังคมชนบท ประวัติศาสตร์สังคมล้านนา พิธีกรรมและความเชื่อ
ทฤษฎีสังคมและการพัฒนา ตลอดรวมถึงชาติพันธุ์วิทยา

midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๑๓
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๔ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อ่านชีวิตและตัวตนอานันท์ กาญจนพันธุ์: เราต้องมีพื้นที่ที่ช่วงชิงต่อสู้ทางความคิด
อัตชีวประวัติปากเปล่า และความเหงาของอานันท์ กาญจนพันธุ์
องอาจ เดชา : เรียบเรียง
นำมาจากเว็บไซต์ประชาไท และเผยแพร่แล้วบนกระดานข่าว ม.เที่ยงคืน
เดิมชื่อ: อ่านชีวิตและตัวตน 'อานันท์ กาญจนพันธ์': เราต้องมีพื้นที่ที่ช่วงชิงต่อสู้ทางความคิด

วาทะอานันท์ กาญจนพันธุ์

- แม่ทุกคนอยากให้ลูกมีความรู้ อันนี้คือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมพยายามทำอะไรทุกๆ อย่าง เพื่อจะให้มันเกิดความรู้
- ผมไม่คิดว่า นักวิชาการจะให้คำตอบอะไรกับใครได้ แต่สิ่งสำคัญคือคนเราต้องเปลี่ยนความคิด เพราะเมื่อคนเราเปลี่ยนความคิด ก็จะมองไปอีกแบบ
- ใครจะว่าอย่างไร ผมขอยืนยันในความคิดมาร์กซิสม์ แต่ผมไม่ได้ยึดเอาทฤษฎีเป็นคำตอบ
- สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่สอนผมได้ว่า ถึงแม้ว่าเราจะเป็นคนที่มีความรู้ มันก็เป็นความรู้ที่เป็นระบบ ความรู้ที่เป็นทางการ แต่สิ่งที่เป็นความรู้ที่คนอื่นเขามีในแบบอื่นมันน่าสนใจ แต่เราไม่ให้ความสนใจ ไม่นับว่าในแบบเขาเรียกว่าเป็นความรู้ เราก็เลยไม่ค่อยจะรู้ แล้วนี่มันก็กลายมาเป็นปัญหา

- Knowledge Space เป็นจุดหนึ่งที่สำคัญต่อพื้นที่มีในการแลกเปลี่ยน ที่ไม่ใช่ในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ในชั้นเรียน แต่มันเป็นที่ๆ คนได้เรียนรู้ และพัฒนาสติปัญญาขึ้นมาได้ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่ผมคิดอยากจะทำในปัจจุบัน

'แม่' คือแรงบันดาลใจให้ใฝ่รู้
ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ทำให้มีเวทีของการแลกเปลี่ยน คงไม่ใช่เป็นเพราะว่าจะต้องเป็นเวทีที่ทำให้ผมเพียงคนเดียว แต่เป็นเวทีที่มีการพบปะกัน ที่ได้ทำให้เกิดความรู้ สติปัญญา ทำให้เราได้ทบทวนสิ่งต่างๆ ที่เราได้ทำร่วมกันมา ซึ่งผมคิดว่าคงจะทำร่วมกันต่อไป. หลายคนสงสัยว่า ทำไมผมถึงบ้าทำอะไรต่อมิอะไร ผมก็มานั่งทบทวนตัวเองอยู่เหมือนกันว่าทำไมถึงทำไปอย่างนั้น (หัวเราะ) ผมได้อ่านหนังสืองานศพคุณแม่ของอาจารย์ปริตตา (เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร) ซึ่งผมไม่ได้ไปร่วมงาน แต่อาจารย์ปริตตาก็ส่งมาให้อ่านในฐานะกัลยาณมิตร พอส่งมาปั๊บผมก็อ่านทันทีและจบภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ผมพยายามอ่านเพื่อค้นหาว่า มันยังมีอะไรที่ผมยังไม่รู้

สิ่งหนึ่งที่ผมได้รู้ก็คือว่า สิ่งที่อาจารย์เขียนก็คือสิ่งที่ผมเคยรู้ หมายความว่า มันตรงกับชีวิตของผม คนที่มีชีวิตรุ่นใกล้ๆ กันมันจะมีชีวิตที่เหมือนกัน ถ้ามันจะเป็นเรื่องของผมที่ถูกพูดออกไป มันก็คงจะไม่ต่างจากเรื่องของคนอื่นทั่วๆ ไปที่เป็นปรกติ และพบได้ทั่วไป นั่นคือว่า สิ่งหนึ่งที่พบได้ในหนังสืองานศพคุณแม่ของอาจารย์ปริตตาก็คือ อาจารย์เล่าว่า คุณแม่ของอาจารย์อยากเรียนหนังสือมาก แต่คุณยายไม่มีเงินส่ง ก็อุตส่าห์ขายข้าวของทั้งหมดเพื่อจะส่งลูกเรียนได้ พยายามไปขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้องที่ร่ำรวยก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ผมก็จับตรงนี้ขึ้นมาเลย

คุณแม่ของผมพูดอยู่เสมอเลยว่า อยากเรียนหนังสือมาก ท่านเรียนเก่งด้วย คุณแม่ผมเป็นคนบ้านสวน ถูกส่งมาเรียนที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งก็ถือว่าใกล้เมืองหลวงมากที่สุด อยู่ฝั่งธนบุรี ข้ามไปก็จะพอดีเลย ในสมัยนั้นถือเป็นโรงเรียนดีมาก คุณแม่ผมก็ลำบากมาก เพราะต้องพายเรือไปเรียนไกลมากจากบางใหญ่ บางบัวทอง คุณแม่ผมท่านอยากเรียนพยาบาลที่ศิริราชต่อ ซึ่งก็ใกล้กับโรงเรียนเดิม แต่คุณตาผมก็บอกว่าเป็นเด็กผู้หญิงก็อยู่บ้านทำอาหารเลี้ยงพวกผู้ชายก็แล้วกัน ผมก็ฟังแม่เล่ามาอย่างนี้เหมือนกัน แต่คุณแม่ผมท่านก็ไม่ได้มานั่งบ่น

พอผมเข้าไปอยู่โรงเรียนประชาบาล ตอนนั้นยังเด็ก ก็ทะเลาะกับเพื่อน แล้วเพื่อนก็ปาขวดโดนหัวผมแตก ผมก็วิ่งกลับไปบ้าน คุณแม่ผมก็บอกว่าเป็นอย่างนี้ไม่ไหว เนื่องจากคุณแม่ผมอยากเรียนหนังสือมาก แต่ไม่ได้เรียนจึงอยากให้ลูกทุกคนได้เรียนหนังสือดีๆ คุณพ่อคุณแม่ก็เลยส่งมาเรียนโรงเรียนประจำที่กรุงเทพคริสเตียน เพราะเราเป็นคนต่างจังหวัด ไม่สามารถอยู่กรุงเทพฯ ได้ก็ต้องอยู่ประจำ. คุณพ่อผมเป็นข้าราชการไม่ค่อยจะมีตำแหน่งสูงนัก คือ เป็นป่าไม้จังหวัด (เสียงผู้เข้าร่วมฟังหัวเราะ) ผมก็เคยนึกว่ามันจะสูงมาก แต่ก็สูงกว่าข้าราชการอย่างอื่นพอควร ที่จริงก็ไม่สูงมาก คุณพ่อผมเรียนจบป่าไม้แม่โจ้ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในปัจจุบัน) ก็ได้ทำงานธรรมดา วันหนึ่งมีเจ้าพระยาข้าราชการชั้นสูงมาเห็นว่าเขียนหนังสือเป็น ก็เลยให้ไปเป็นป่าไม้จังหวัดที่จ. สกลนคร ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีสำนักงานเลย

ผมจะชี้ให้เห็นว่า คุณแม่ผมไม่ตั้งคำถามสักคำเลย แต่ส่งให้เข้าเรียนที่ ร.ร.กรุงเทพคริสเตียน คุณพ่อเป็นข้าราชการมีสตางค์ส่งไม่พอ คุณแม่ผมก็ขายที่สวนที่นาที่ได้รับเป็นมรดกตอนแต่งงาน คุณพ่อผมบอกว่าเป็นจำนวนมาก ในแถบที่หากเป็นสมัยนี้ ถ้ายังเก็บไว้อยู่ ผมคงไม่ต้องมาเป็นอาจารย์ (หัวเราะ) เขาเรียกบางใหญ่ บางบัวทอง เมื่อก่อนต้องเดินทางโดยการพายเรือ ก็ขายที่สวนที่นาหมดเลย ทยอยขาย ส่งลูกเรียนหนังสือ 5 คน จนจบครบทีละคน แม่ผมไม่เคยรีรอที่จะส่งลูกเรียน. ที่ผมว่ามันเหมือนกันก็คือ(เหมือนกับคุณแม่ อ.ปริตตา) แม่ทุกคนอยากให้ลูกมีความรู้ อันนี้คือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมพยายามทำอะไรทุกๆ อย่าง เพื่อจะให้มันเกิดความรู้

ผมมาเรียนหนังสือ ก็ไม่ได้เรียนเก่งอะไร ก็เรียนแบบธรรมดา แต่พ่อผมก็พยายามส่งไปเรียนโรงเรียนที่ดีที่สุดในประเทศไทย เท่าที่เพื่อนทั้งหมดของเขาว่ามา ผมก็เลยต้องย้ายโรงเรียนอยู่เป็นประจำ เพราะพ่อผมเขาเป็นคนหูเบา (หัวเราะ) คือถ้าใครบอกว่าโรงเรียนไหนดีคุณพ่อผมเขาก็จะเปลี่ยนทันที ผมก็อยู่ ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนตั้งแต่ ป.1 - ม.2 จากนั้นคุณพ่อผมก็บอกว่า ร.ร.อัสสัมชัญศรีราชา นี่มันเด็ดที่สุด ผมก็เลยย้ายไปเรียนที่อัสสัมชัญศรีราชา ก็ไปอยู่ที่นั่นอีก 2 ปี

พอดีคุณน้าผมเขากลับมาจากเมืองนอก เห็นว่าคุณพ่อไม่ค่อยมีสตางค์ แกก็เลยให้มาอยู่ด้วยกับน้า ผมก็เลยต้องย้ายไปเรียนที่ ร.ร.เซ็นต์คาเบรียล เพราะว่าบ้านน้าผมเขาอยู่ใกล้แถวๆ นั้น ก็คิดว่าผมได้อยู่โรงเรียนที่ดีที่สุดเท่าที่คนสมัยนั้นเขาจะคิดคำนึงได้ ถึงตอนนี้ก็ยังมีคนพูดถึงโรงเรียน 3-4 โรงเรียนนี้ ไม่นับโรงเรียนของราชการไทย นี่มันโรงเรียนฝรั่งหมดเลย ไม่ได้หมายความว่าผมจะเก่งภาษาฝรั่งอะไรมากขึ้น มันก็เหมือนเดิมนั่นแหละ (หัวเราะ). ที่ผมเล่าให้ฟังก็เพื่อจะบอกว่า คุณแม่ผมจะทำอะไรโดยที่ไม่ต้องมานั่งบ่นเลย คือตัวเองไม่ได้มีโอกาสอย่างนั้น ลูกก็ต้องได้โอกาสที่ดีที่สุด ตรงนี้ผมก็นึกถึงพระคุณพ่อแม่มากที่สุด

เข้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ไม่เยาว์ ไม่เขลา ไม่ทึ่ง หากเรียนรู้เพราะเหงา อยากโม้ และชอบวิจารณ์. พอผมมาเรียนหนังสือ มันจะมีความรู้สึกอันนี้ติดมาว่า 'แล้วจะทำยังไงเราถึงจะมีความรู้มากที่สุด' แต่พอผมมาเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมรู้สึกแปลกมาก ที่ตอนเด็กๆ เราไม่ได้ตระหนักอะไรเหล่านี้นัก แต่พอมาเข้ามหาวิทยาลัยที่ผมนึกว่าต้องเรียนรู้อะไรมากมาย ปรากฏมันกลับไม่เอาไหนเลย. ในตอนนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยปิดแล้ว ผมเป็นรุ่นที่ 5 ตอนนั้นอาจารย์ประจำยังไม่มี, จะมีก็แต่อาจารย์เสน่ห์ (จามริก) ที่เหลือก็เป็นนักกฎหมายชั้นหนึ่ง เป็นคนที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยมาสอนพูดอะไรก็ไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ)

ผมก็ไม่ได้เป็นถึงขั้นอาจารย์วิทยากร เชียงกูล ที่บอกว่า 'ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย' แต่อาจารย์วิทยากรก็สำคัญสำหรับผมนะ ผมไปอยู่ชั้น A-1 มันจะมี A-1 ถึง A-20, B-1 ถึง B-20 ตามลำดับความสามารถทางภาษาอังกฤษเพื่อจะให้อยู่ชั้นเดียวกันเวลาสอน อาจารย์วิทยากรก็เป็นรุ่นพี่ผมหนึ่งปี ก่อนหน้านั้นอีกหนึ่งปี ก็มีอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ซึ่งก็เป็นรุ่นพี่ผม. สองคนนี้เป็นคนมีชื่อเสียงมาก ผมก็อยากเก่งอย่างเขาแต่ผมไม่ใช่ "ฉันโง่ ฉันเขลา" แต่ผมเป็นพวก อยากจะโม้ และเหงามากกว่า…(เสียงฮาลั่นห้องประชุม)

ผมต้องไปอยู่โรงเรียนประจำตอนอายุ 7 ขวบ มันเหงามาก ญาติพี่น้องเขาก็ต่อว่าพ่อแม่พี่น้องผมนะ ว่าลูกเล็กขนาดนั้นส่งไปอยู่โรงเรียนประจำได้ยังไง อยู่แล้วมันเหงามาก พอเหงาแล้วก็อยากมีเพื่อนเยอะ ก็อยากจะคุย อยากจะพูด อยากจะโม้ ตามประสาเด็ก ซึ่งกลายมาเป็นอีกแรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้ผมอยากคุยอยากพูด อย่างที่คนอื่นๆ มองผมก็ไม่ผิดอะไร เรามองกันได้หลายมุม แต่นี่เป็นอีกมุมหนึ่งที่ผมมองตัวเองบ้าง ซึ่งมันก็ซ้อนกันอยู่ด้วย

ผมก็เพิ่งมานึกเมื่อ 2-3 วันนี้เอง ทั้งที่ไม่เคยนึกมาก่อนว่าทำไมเราเป็นอย่างนี้ ก็ผมอยากจะคุย หาเพื่อนคุย เพราะมันเหงา เพราะฉะนั้น ที่ไหนก็ตามที่มีคนผมก็อยากจะไปคุย ไม่ได้ลึกอะไรมาก ไม่ใช่ขนาดว่าต้องไปเปลี่ยนแปลงสังคมอะไร ไม่ได้นึกขนาดนั้น แต่ผมนึกรำคาญเท่านั้นเอง อย่างตอนเรียนที่ธรรมศาสตร์ผมก็สงสัยว่าทำไมมันไม่เรียนหนังสือกันว่ะ แล้วผมก็นึกต่อไปว่าจะทำอย่างไร ผมก็ไม่บ่นนะครับ แต่ผมด่าเลย เพราะผมชอบวิจารณ์ ชอบโม้กับชอบวิจารณ์ ชอบทำ 2 อย่างนี้

เริ่มต้นงานวิจารณ์ตั้งแต่เป็นนักศึกษา เขียนหนังสือกำแพง ฉายา"มดคันไฟ"
แล้วผมก็พบว่า ผมไม่มีคำตอบให้กับใคร ผมก็ไม่คิดว่าตัวเองจะเขียนหนังสือเป็น แต่ด้วยความที่มันยัวะ ผมก็อุตส่าห์ไปทำหนังสือ อยู่ธรรมศาสตร์ผมทำหนังสือหลายอย่าง ตั้งแต่หนังสือติดบอร์ด เขาเรียกหนังสือกำแพง ก็เอาไปติด. ฉายาตอนนั้นคือ "มดคันไฟ" ก็เขียนด่าระบบซีเนียร์ริตี้ (ระบบอาวุโส) ต่างๆ เขียนออกไปตามความยัวะ แล้วก็มาทำหนังสือเล่มละบาทขายที่ธรรมศาสตร์ เหมือนที่อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรณ เล่าไว้ (คืออาจารย์ธเนศ เป็นรุ่นน้อง ถูกอาจารย์อานันท์ให้เอาหนังสือไปขาย)

หลายคนคิดว่าผมเขียนหนังสือเป็นน้ำไหล การเขียนหนังสือทุกครั้งของผมนี่กลั้นน้ำตาเขียนออกมาเลยนะจะบอกให้ มันยากมากจริงๆ ผมถึงไม่เคยโกรธนักศึกษาที่ทำอะไรไม่ได้ เพราะผมก็เคยเขียนไม่ได้เหมือนกัน(หัวเราะ) เขียนหนังสือได้เยอะ ไม่ได้แปลว่ามันจะง่ายขึ้น มันก็มีเรื่องอื่นที่เราจะเอามาใส่เพิ่ม ฉะนั้นจะเขียนแบบเดิมๆ ไม่ได้ ถ้าจะเขียนแบบเดิม ก็อย่าเขียนดีกว่า มันก็เลยไม่ใช่เรื่องง่ายขึ้น

ย้ำที่สำคัญคนเราต้องเปลี่ยนความคิด ตั้งคำถาม วิพากษ์ยั่วยุให้คนอื่นคิด
ที่เล่ามาให้ฟัง ก็คือ มันมีแรงบันดาลใจอยู่ 2 ประการคือ หนึ่ง คุณแม่ผมอยากให้ลูกทุกคนมีความรู้ ผมรู้สึกว่านี่เป็นแรงกดดันสำหรับลูกผู้หญิงในยุคนั้น เมื่อตัวเองเรียนไม่ได้ ก็พยายามผลักดันให้ลูกได้เรียน ซึ่งทำให้ผมได้คิดว่า 'เมื่อมีความรู้แล้ว อะไรๆก็จะแก้ไขได้ แต่ว่าความรู้นี่คงจะไม่ใช่คำตอบให้ทุกคน เพราะคงจะไม่มีใครมารับเอาคำตอบของคุณคนเดียว หรือใครคนหนึ่งจะไปให้คำตอบของสิ่งอื่นได้หมด มันเป็นไปไม่ได้'

ดังนั้น ผมเลยไม่นึกว่า ผมจะมีคำตอบอะไรให้กับสังคม หรือว่าผมจะทำอะไรเพื่อหาคำตอบ ผมก็ไม่เคยหา ดังนั้น คำตอบของหมู่บ้าน คำตอบสำหรับที่ไหนหรือใครต่อใคร ผมก็ไม่มีให้ทั้งนั้น ผมมีอย่างเดียวคือ ผมชอบด่า ชอบวิจารณ์ อย่างที่พี่แอนดรูว์กล่าวถึง Praxis ว่ามันคืออะไร ผมก็อ่านมาก็รู้เท่าที่อ่าน แต่ว่าตอนที่ทำมันไม่เหมือนกับตอนที่อ่าน ตอนที่ผมทำ ผมก็ไปนึกว่าตอนที่ผมอ่านผมรู้อะไร เท่าที่จะมีสติปัญญา ผมคิดว่าต้องหัดตั้งคำถามให้เป็น ต้องหัดวิพากษ์วิจารณ์ให้เป็น พยายามที่จะท้าทาย ยั่วยุให้คนอื่นคิด

ผมไม่คิดว่านักวิชาการจะให้คำตอบอะไรกับใครได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ คนเราที่สำคัญมันต้องเปลี่ยนความคิด เพราะเมื่อคนเราเปลี่ยนความคิดอะไรๆ มันก็จะมองไปอีกแบบ. ดังนั้น นักวิชาการจึงต้องตั้งคำถามให้คนเปลี่ยนความคิด เพราะคนไทยมีนิสัยอย่างหนึ่ง คือไม่ชอบให้ใครมาบอกให้ทำอะไร. ผมเจอมามากแล้ว ไปบอกให้ทำอย่างนี้ๆ เขาไม่อยากทำ ไม่มีใครอยากรู้ว่าใครดีกว่าตัว ฉะนั้น การทำงานในสังคมไทยเราจะรู้ว่า เมื่อเราเก่งแล้ว รู้แล้ว แล้วเราจะทำอย่างไรก็ได้ เราก็ต้องมีอะไรที่เป็นรากของเราอยู่ ไม่ได้หมายความว่ารากนั้นจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้นะครับ การที่เราจะทำงานอย่างมุทะลุดุดันแล้วไม่มีมารยาท สิ่งเหล่านี้มันสำคัญ เราต้องมีคารวะ มีความเคารพคนอื่นเหมือนกัน

ผมจึงพยายามให้การวิพากษ์วิจารณ์เป็นไปอย่างมีมารยาท ไม่ใช่ว่าด่าเขาไปแล้วเราสะใจ ชอบใจ แต่ผมอยากจะคิดว่าเรามีความเห็นที่แตกต่างกันได้ ผมถึงไม่อยากจะไปนั่งบอกคนอื่นว่า ที่คุณคิดอย่างนั้นมันคิดผิด ก็ไม่เชิงที่ผมจะไปบอกขนาดนั้น ทั้งที่ในใจผมก็คิดว่าผิดแหงๆ แล้วผมก็คิดว่ายังไงผมก็ต้องถูก ผมก็พยายามที่จะมีมารยาทไง(หัวเราะ) นี่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ใช้เป็นแนวทางในการที่จะอยู่ในโลกของนักวิชาการ เพื่อที่เราจะได้ไม่ให้คนอื่นมาติดอยู่กับสิ่งเล็กน้อย เพราะคนไทยยึดติดอยู่กับสิ่งเล็กน้อย

ยืนยันรับแนวคิด'มาร์กซิสท์' แต่ไม่ได้ยึดติด เอาทฤษฎีเป็นคำตอบ
ใครจะว่ายังไง ผมขอยืนยันในความคิดมาร์กซิสท์ แต่ผมไม่ได้ยึดเอาทฤษฎีเป็นคำตอบ. ในขณะที่หลายคนคิดว่ามาร์กซิสท์ก็คือคำตอบ ถ้ามาร์กซิสท์คือคำตอบเมื่อร้อยปีที่แล้ว มันคงไม่ใช่คำตอบของทุกวันนี้. ผมขอยืนยันเลยว่า 'มาร์กซิสม์เป็นวิธีคิด' แล้วถ้าใครจับวิธีคิดอันนั้นได้ ก็ไม่ต้องไปพูดถึงตรัสรู้ มันตรัสรู้แล้ว. เพราะความรู้มันไม่ได้มาจากการรู้คำตอบ แต่มันมาจากวิธีคิด และวิธีคิดอันหนึ่งที่สำคัญมากในมาร์กซิสม์ อยู่ในเล่มที่ 1 เรื่อง Capitalism. คนไทยเราไปติดอยู่ที่ป้ายและชื่อที่อยู่ภายนอก ไม่ได้มองไปข้างหลังว่ามันมาได้ยังไง แล้วเราก็ไปติดอยู่แค่นั้น ทำให้อำนาจเหล่านั้นมันมากำกับตัวเราเอง กระทั่งทำให้เราคิดอะไรไม่ได้

ฉะนั้น สิ่งที่ผมพยายามทำอยู่คือ พยายามไม่ยึดติดกับสิ่งเหล่านั้น ที่มันจะมาเป็นป้าย มาบังคับกำกับตัวเรา กระทั่งเรากระดิกกระเดี้ยไม่ได้ มันก็ทำให้มีปัญหาหลายอย่างในลักษณะนี้ในสังคมไทย แต่เราก็ไม่ได้มานั่งบ่นกับสิ่งเหล่านั้นอย่างเดียว ก็คือทำไปเลย เหมือนอย่างที่คุณแม่ผมทำ ท่านไม่เคยมานั่งคิดเลยว่าส่งเรียนไปแล้วจะมีสตางค์ส่งเรียนอีกไหม ก็คือส่งๆ ไปก่อน แล้วผมก็ทำอย่างนั้นมาตลอด คือทำไปเลย ไม่ต้องมานั่งคิดว่าทำแล้วดี ไม่ดี เพราะเราไม่ใช่คนเดียว มีคนอื่นอีกเยอะแยะที่ต้องทำอยู่แล้ว เพราะเราทำไป มันก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่มันเกิดขึ้นมันก็ต้องมีคนอื่นร่วมด้วย

ความรู้ได้มาจากการแลกเปลี่ยน
สิ่งที่ผมประสบความสำเร็จได้ทุกวันนี้ ผมก็ไม่คิดว่ามันเป็นผม แต่คิดว่าเป็นเพราะว่ามีเพื่อน มีกลุ่ม มีคนต่างๆ ที่ดึงเข้ามาหรือเข้าไปร่วมกับเขา มันเป็นตัวเร่งเร้าที่ทำให้สิ่งต่างๆ มันเป็นไปได้ ก็เพราะว่าถ้าผมไม่เหงา ผมไม่อยากมีเพื่อน ผมอยากอยู่คนเดียว ผมก็คงไม่ได้มาเป็นอย่างนี้ ผมอยากมีเพื่อนเยอะๆ การที่ผมไปอยู่ที่ต่างๆ ก็เป็นเพราะว่าผมไปหาเพื่อน(หัวเราะ) และสิ่งต่างๆ ที่ผมได้เรียนรู้มานี้มันไม่ใช่ว่าผมไปรู้ด้วยตัวเอง ผมคงนั่งอ่านโดยไม่ต้องออกไปข้างนอก แต่เป็นเพราะการออกไปคุยกับคนนั้นคนนี้ ไปเถียง แทนที่ว่าผมจะเอาความรู้ไปให้เขา ผมกลับได้ความรู้เขากลับมา ไม่รู้ว่ามันมากกว่าด้วยซ้ำหรือเปล่า แต่ความรู้มันเกิดจากการได้แลกเปลี่ยน ผมคิดว่ามันเป็นการแลกเปลี่ยน แล้วความรู้ก็ได้มาจากการแลกเปลี่ยน

ในวงวิชาการถ้าใครไม่อยากออกไปพูดคุย นั่งอ่านหนังสืออย่างเดียวแล้วออกไปสอน ผมว่ามันไม่เห็นมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ไม่เห็นรู้อะไรมากขึ้น จากการที่ผมทบทวนตัวเองเวลาที่ออกไปคุยกับคนอื่น แล้วโดนตอบโต้มา ผมก็ต้องพยายามป้องกัน (หัวเราะ) พอป้องกันแล้วก็พยายามคิดว่า ทำไมเราพูดแบบนี้แล้วคนอื่นถึงมองไปอีกแบบได้อย่างไร คล้ายมันเป็นการต่อสู้ทางความคิดที่เราออกไปเสวนาสังสรรค์อยู่กับคนอื่น ผมคิดว่านี่เป็นปฏิบัติการณ์ที่สำคัญในเรื่องการสร้างความรู้

อนาคตอยากสร้าง Knowledge Space: สร้างพื้นที่ต่อสู้ช่วงชิงทางความคิดที่แตกต่าง
ตอนนี้ ผมมีอีกหนึ่งคำถามที่เตรียมจะไปพูดงาน Thai Study ของอาจารยแอนดรูว์ (ดร.แอนดรู เยอร์ตัน) คือ Knowledge Space อาจารย์เคร็ก (ศาตราจารย์ เคร็ก เจ เรย์โนลด์) ก็บอกว่ามันเคยมีศัพท์ภาษาอังกฤษอยู่แล้วหรือเปล่า ผมก็กลับไปค้นพบว่าเขาก็ใช้ในวงการอื่นมาแล้ว ทั้งใน Mathematic, Cyber space. ผมสงสัยว่า คำเหล่านี้ที่ผมคิดคือ Knowledge Space มันจะมีพื้นที่ในการสร้างความรู้ขึ้นมาได้อย่างไร ไม่ใช่หมายความว่า ไปนั่งอ่านหนังสือตรงไหนก็ได้ที่นอกเหนือไปจากห้องสมุด แต่หมายถึงพื้นที่ที่เราเข้าไปช่วงชิงต่อสู้ทางความคิดที่แตกต่างกัน มีการปะทะสังสรรค์ทางความคิด ตรงนี้เองที่ความรู้มันจะเกิดขึ้น หรือแม้แต่การที่เราออกไปเคลื่อนไหวต่อสู้ ผมก็สงสัยว่ากลุ่มเคลื่อนไหวเขารู้ยุทธศาสตร์เหล่านี้ได้อย่างไร ซึ่งก็พบว่าชาวบ้านได้ขอเข้ามาร่วมต่อสู้ด้วย

ซึ่งตรงนี้ก็น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่สำคัญต่อพื้นที่มีในการแลกเปลี่ยน ที่ไม่ใช่ในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ในชั้นเรียน แต่มันเป็นที่ๆ คนได้เรียนรู้ และพัฒนาสติปัญญาขึ้นมาได้ ซึ่งตรงนี้แหละที่มันเป็นจุดสำคัญที่คิดอยากจะทำในปัจจุบัน. ผมคิดว่าพื้นที่ที่ว่านี้มันอยู่ตรงไหน ที่ฟังการถกเถียงกันมาตลอด 2 วันที่ผ่านมานี้ มันมีตรงไหนบ้างที่น่าคิด เพราะถ้าเราไม่มีอะไรจะคิดก็เท่ากับเราไม่อยากทำงาน ที่ผมทำงานมาก็รู้สึกว่าสนุกมาก ไม่อยากจะเบื่อเลย แม้ว่าตอนนี้หลายคนบอกว่าน่าจะพอแล้ว แต่ผมก็คิดว่ามันไม่ใช่ เพราะผมมันเหงาตลอดเวลา อยากพูด อยากคุย เปิดเวทีให้ผมพูด ผมก็พูด หาที่คุย

ย้ำเรียนรู้ในความไม่รู้ และเคลื่อนไหวตลอดเวลา
ทั้งหมดที่เล่ามานี้ เพื่อจะบอกว่า เราไม่สามารถสร้างความรู้ดีๆ ได้จากตัวคนเดียวได้ มันต้องไปมั่วสุมกับคนนั้นคนนี้ เราอย่าคิดว่าเรามีความรู้ได้เพราะตัวเราเอง แต่เรามีความรู้ได้เพราะเราไปอยู่กับคนอื่นเขา เรารู้ได้ก็เพราะคนอื่น อยู่คนเดียวจะรู้ได้ยังไง ก็มีอยู่คนเดียวคือพระพุทธเจ้า ที่นั่งตรัสรู้คนเดียวได้(หัวเราะ) แต่ผมไม่ใช่ ผมรู้สึกว่าเวลาจะต้องออกไปศึกษาพื้นที่ต่างๆ แล้วมันมีพลัง มีแรง พอออกไปแล้วผมกลับรู้สึกว่าผมไม่รู้อะไรเลย พื้นที่ตรงนี้ต่างจากตรงนั้นยังไง แล้วมันจะตื่นเต้นทุกครั้งทำให้มีแรงพิเศษ บางพื้นที่ที่คิดว่าขึ้นไม่ได้มันก็ขึ้นได้ไม่ว่าจะสูงขนาดไหน ก็พยายามรักษาสุขภาพตนเองให้ดี เพื่อที่จะได้เดินทางไปดูในที่ที่ไม่เคยรู้ว่ามันเป็นยังไงได้

ผมได้ออกไปตระเวนดูนอกประเทศไทยมาสิบกว่าปีแล้ว แต่ผมก็ไม่มีโอกาสดูอย่างต่อเนื่อง จึงไม่สามารถที่จะเขียนอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอันได้ แต่ก็พยายามที่จะเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างมากเลย แม้เวลาจะสั้นแต่จากประสบการณ์ที่ยาวนาน ผมก็ไม่ได้มองเพียงเชิงเปรียบเทียบว่ามันมีอะไรแตกต่างกันเท่านั้น ที่ผมไม่รู้ คือการที่มันมีการเคลื่อนไหวอะไรใหม่ๆ พอเราไม่รู้เราก็สามารถเก็บมาเป็นสิ่งที่จะเอามาพูดคุยแลกเปลี่ยนได้ เราจะได้มีความเข้าใจในการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของพื้นที่แถบนี้ ที่ผมออกไปในที่ต่างๆเหล่านี้ผมรู้สึกว่ามันอยู่ในชีวิตผมมาตั้งนานแล้ว

สมัยก่อนตอนผมอยู่ จ.สกลนคร ผมมีเพื่อนเป็นคนญวนเยอะมาก เพราะสกลนครเป็นแหล่งของคนญวนอพยพ หน้าบ้านผมก็เป็นคนญวน ผมก็พูดภาษาญวนได้ คุณแม่ผมก็บอกว่าผมชอบขโมยสตางค์แล้วเอาไปซื้อขนมจีนกินกับเพื่อนๆ คนญวน ก็หาทางไปหาเพื่อนคุยตลอด แล้วพอไปอยู่ จ.ตราด ไปอยู่โรงเรียนประชาบาลผมก็มีเพื่อนเป็นคนเขมร ตอนมาอยู่กับน้าที่กรุงเทพฯ น้าผมก็พยายามทำให้ผมเป็นคนที่มีความรู้ ก็ให้สตางค์ผมไปซื้อหนังสือ ผมก็ซื้อหนังสือเยอะมากเลย

สมัยนั้นอายุ 15 ปี อยู่ มศ.2 น้าผมจะให้สตางค์ไปวังบูรพาทุกอาทิตย์ ผมซื้อหนังสือทุกอย่างที่ขวางหน้า แล้วชอบกินปอเปี๊ยะสดแถวนั้น ซื้อเสร็จก็กลับบ้านสวนเอาไปใส่ชั้น แล้วเลือกอ่านเฉพาะเรื่องที่เราสนใจ ผมจะซื้อมา 2 ประเภทคือ พวกนิยายสำหรับญาติพี่น้องที่เป็นผู้หญิง สำหรับผมชอบอ่านพวกประวัติศาสตร์ น้าผมเขาก็สั่งหนังสือภาษาอังกฤษชื่อ Finding out มีความรู้ต่างๆ เยอะมาก ผมก็ได้อ่านมาก พอผมอยู่ ม.ศ.5 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก็ส่งผมไปแข่งตอบปัญหาภาษาอังกฤษ ตอนแรกแข่งแล้วปรากฏว่า เสมอกันกับอัสสัมชัญบางรัก ก็ต้องส่งตัวแทนออกไปแข่งชิงที่หนึ่งกันแบบตัวต่อตัว ปรากฏว่าผมตอบได้มากกว่า แล้วผมก็ชอบไปตอบปัญหาทุกวันพฤหัสฯ เพราะได้ออกโทรทัศน์ และทุกวันพฤหัสบดี โรงเรียนจะหยุดให้ไปเรียน ร.ด. ซึ่งผมเกลียดมาก ผมเลยชอบไปตอบปัญหา ก็รู้สึกว่าเรามีความรู้ ได้ไปคุย ได้ไปเสนอหน้า ที่จริงก็มีแค่นั้น

สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผมถูกหล่อหลอมมาจากตะวันตก เข่นในการตั้งคำถาม ซึ่งก็มีส่วนในการตั้งคำถามนี้ผมก็เรียนจากอาจารย์วอเทอร์ ที่อาจารย์เคร็กได้ให้เครดิตไว้ที่หลังหนังสือ การเรียนกับอาจารย์วอเทอร์ได้มีคุณูปการสำคัญ ตอนผมไปครั้งแรกผมก็ฟังไม่รู้เรื่อง ท่านก็พูดถึง คอลลิงวูด เสมอๆ ซึ่งผมก็ต้องไปตามอ่านหนังสือถึงจะได้สิ่งเหล่านี้มา อ่านจบแล้วไม่เห็นเขาพูดอะไรเลย เขาพูดอย่างเดียวว่า ต้องรู้จักตั้งคำถาม อ๋อ...อย่างนี้เอง นักประวัติศาสตร์เขาทำกันแค่นี้เอง. เขาสอนผมมาแค่นี้ คือให้ตั้งคำถาม ตั้งคำถาม. เออจริง ผมก็ได้มาแค่นี้ ไปเรียนมาแทบตาย แต่ผมว่ามันก็คุ้มค่า เพราะว่าถ้าเผื่อผมไม่เคยคิดอย่างนี้ มันก็คงไม่เป็นแบบนี้ แค่บอกว่าอย่าหาคำตอบ แต่ให้ไปตั้งคำถาม แต่แค่นี้ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ที่จะทำให้เราตระหนักว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้สำคัญนั้น มันไม่ง่าย

ชื่นชอบคำสอน อ. สุทธิพงศ์ พงษ์ไพบูลย์ 'อย่าสนใจตอนต้นกับตอนปลาย แต่ให้สนใจระหว่างทาง'
ทีแรกผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มาจากตะวันตก แต่ผมมาเจอกับชาวบ้านคนไทยหลายๆคน ก็พบว่าสิ่งเหล่านี้มันมีอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเราจะไปดูถูกเขา ผมขอยกตัวอย่างที่ไปพบท่านอาจารย์สุทธิพงศ์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งท่านป่วยอยู่ ท่านพูดไว้น่าสนใจมากท่านบอกว่า 'อย่าไปสนใจตอนต้นกับตอนปลาย แต่ให้สนใจระหว่างทาง' ผมก็ โอ้ย..ตายห่าแล้วผมไปฟังฝรั่งพูดมาตั้งนาน "In between"

อาจารย์สุทธิพงศ์ท่านพูดเลยว่า 'ระหว่างทางมันสำคัญพอๆ กับต้นทางและปลายทางนั่นแหละ พวกที่สนใจเฉพาะต้นทางกับปลายทางจะไม่มีโอกาสได้เดินทางหรอก เพราะว่าระหว่างทางมันสำคัญ' ผมก็เห็นจริงนะ เพราะเวลาผมไปเที่ยวผมไม่ได้สนใจปลายทางหรอก แต่ระหว่างทางก็หานู้นกิน หานี้กิน แล้วตอนที่หยุดนี่ได้ความรู้ความเพลิดเพลินเสียยิ่งกว่าตอนไปถึงอีก เพราะพอไปถึงก็นอนอย่างเดียว ผมไปเที่ยวทะเล พอไปถึงผมก็นอน เพื่อนผมไปกี่ครั้งๆ พอไปถึงมันก็เล่นไพ่ในห้องแอร์แล้วก็คุยกัน แล้วก็ขับรถกลับ ทุกทีเลย ไอ้พวกชนชั้นกลางเนี้ย คนรวยด้วย ทำอยู่แค่นี้

ผมคิดว่าต้นทางกับปลายทางไม่ต้องไปหยุดมาก แต่ระหว่างทางได้หยุดแล้วเรียนรู้มาก สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากความเป็นตะวันตกหรือตะวันออก ไทยหรือไม่ไทย มันไม่เกี่ยวมันอยู่ที่ว่าเรามองสิ่งเหล่านี้เห็นหรือเปล่า

ที่มนุษย์เป็นปัญหาก็คือ การไปยึดติดกับบางสิ่งบางอย่างที่มันมาลดความเป็นมนุษย์
อย่างที่ผมยกตัวอย่างเสมอเรื่อง 'ไข่มดแดง' (ไข่มดแดง ของที่เจ้าของกรรมสิทธิ์มิได้สร้างขึ้นเอง แต่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ของตน คนในชุมชนก็มีสิทธิที่จะเก็บไปได้) ผมเรียนรู้แม้กระทั่งกับลุงที่เฝ้าบ้านผม แกก็เป็นครูของผมเหมือนกัน เพราะผมไม่เคยรู้อย่างที่แกรู้. มันมีเหตุการณ์หนึ่งที่ผมยัวะมากเลย คือ ตอนนั้นที่ผมไปคณะเกษตร มช. เขาก็ยื่นหนังสือรายชื่อวัชพืชในภาคเหนือเป็นร้อยๆ ชื่อที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาวิทยาศาสตร์เรียบร้อยเลย ผมก็โอ้โห้ ภาคภูมิใจว่า อาจารย์ในมหาวิทยาลัยนี้เก่งมากเลย เขียนเรียบเรียงได้เยอะแยะ

แล้วผมก็เอามาถามลุงที่เฝ้าบ้านผมอันนี้เป็นยังไง ภาษาไทยเรียกยังไง แกบอกว่า "อาจารย์มันไม่ใช่หญ้า มันเป็นยา เป็นผัก" ผมก็ตายห่า ทำไมอาจารย์มหาวิทยาลัยทำได้แค่นี้ คือทำลิสต์รายชื่อ. พูดง่ายๆ ที่ผมเรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้คือ, อะไรที่เราไม่รู้ เราจะเรียกว่าไร้ประโยชน์ พอเราไม่รู้เราก็บอกว่าไร้ประโยชน์หรือสวะ หรือวัชพืช พอเราไม่รู้เราก็บอกว่าไร้ประโยชน์เลย โดยที่เราไม่ได้ศึกษาเลย เพราะเราไม่เคยแคร์ความรู้ของคนอื่นไง มันก็เลยไม่ค่อยจะรู้อะไร

ผมดีใจที่ได้ขึ้นมาอยู่ภาคเหนือ ผมเคยขึ้นมาครั้งแรกเมื่อปี 2505 ซึ่งก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผมต้องขึ้นมาอยู่แถวนี้ เพราะในตอนนั้นผมปีนขึ้นดอยอินทนนท์ซึ่งในปีนั้นยังไม่มีทางขึ้น ผมก็ไปกับน้าที่เลี้ยงผมมา เดินด้วยเท้าเปล่าขึ้นดอยอินทนนท์ ผมเป็นคนกรุงเทพฯ ฉะนั้นระหว่างทางที่ผมเห็น จึงเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนเต็มไปหมด โอ้โห เมืองไทยมันไม่ใช่อย่างที่ผมคิด ต้องเดินผ่านบ้านคนปกากะญอ มีอีกหลายชาติพันธ์ที่ผมไม่รู้จัก มันยังมีอะไรในเมืองไทยที่ผมยังไม่รู้จักอีกเยอะแยะ ที่ผมไม่เห็นรู้เรื่องเลย

ในขณะนั้นเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน อากาศหนาว บนดอยก็หนาวมาก ขณะที่ผมหนาวสั่น น้าผมก็ส่งบรั่นดีให้แก้หนาว ขณะที่ผมก็มองเห็นลูกหาบ 60 คน ที่ติดตามพวกผมขึ้นไป 20 คน ช่วงที่ผมหนาวใจจะขาด ลูกหาบเหล่านั้นบางคนเขานอนไม่ใส่เสื้อ แต่นอนข้างขอนไม้อันเบ้อเร่อ คือมันไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเสื้อแต่มันมีวิธีแก้ความหนาวได้อีกหลายวิธี แล้วทำไมเราถึงไม่รู้ แต่เขารู้ เขาอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องมีเสื้อ. 'สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่สอนผมได้ว่า ถึงแม้ว่าเราจะเป็นคนที่มีความรู้ มันก็เป็นความรู้ที่เป็นระบบ ความรู้ที่เป็นทางการ แต่สิ่งที่เป็นความรู้ที่คนอื่นเขามีในแบบอื่นมันน่าสนใจ แต่เราไม่ให้ความสนใจ ไม่นับว่าในแบบเขาเรียกว่าเป็นความรู้ เราก็เลยไม่ค่อยจะรู้ แล้วนี่มันก็กลายมาเป็นปัญหา'

สิ่งเหล่านี้มันค่อยๆ สอนให้ผมเป็นอย่างนี้ มีอะไรผมก็ทำ ผมไม่เคยปฏิเสธ ใครมาขอให้ทำอะไรก็ทำไป ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ ก็ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว คือมันเหงาอย่างที่บอก. ที่มันเป็นปัญหาของเราก็คือ เราไปยึดติดกับบางสิ่งบางอย่างที่มันมาลดความเป็นมนุษย์ แล้วก็มาเจอปัญหาติดป้ายต่างๆ เช่น อย่างนี้ก็ไม่ทำ อย่างนั้นก็ไม่ทำ การปฏิเสธนี้มันง่ายเหลือเกิน แต่ถ้าเราหยุดปฏิเสธเขาบ้างแล้วก็ทำอะไรไปอย่างที่เราอยากจะทำ ก็ไม่ต้องมานั่งพูดว่าเราจะปฏิบัติการหรือไม่ปฏิบัติการ เพราะว่ามันก็ปฏิบัติการอยู่ในตัวมันเอง ก็คือว่า เราไม่ควรสร้างคำแก้ตัว คืออย่าแก้ตัวดีกว่า ผมคิดว่ามันเป็นปัญหามากเลย มันยึดติด มันถูกสั่งสมอะไรมามากเลย ทุกคนชอบมีข้อแก้ตัว ผมเองก็เป็นอย่างนั้น คนไทยมีลักษณะอย่างนั้นอยู่แน่นมาก ชอบสร้างคำแก้ตัวต่างๆ ซึ่งก็คิดว่าเป็นอะไรที่พยายามจะหลีกเลี่ยง

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาท่ามกลางการเดินทางในระยะเวลาที่ยาวนาน ที่ได้ทำงานมา หลายอย่างเป็นเรื่องที่ผมคิดดังๆ เพื่อจะให้ทุกคนได้ทราบว่าผมคิดอะไร. ตอนนี้ ผมรู้สึกขอบคุณเพื่อน กัลยาณมิตรทุกๆ ท่าน ผู้อาวุโสกว่าหลายท่าน ผมมีความรู้สึกตื้นตันเกินกว่าจะพูดอะไรมีเหตุผลได้ ที่พูดไปก็ถือว่าไร้สาระไปก็แล้วกันนะครับ. ผมรู้สึกขอบคุณ ตื้นตันในความกรุณา ความมีมิตรภาพ มิตรจิตมิตรใจให้กับนักวิชาการคนหนึ่งที่เขาอยากจะทำอะไรที่มีประโยชน์ต่อสังคม แต่ผมก็ไม่เคยคิดไปไกลขนาดนั้น คือไม่อยากจะเหิมเกริม ไม่เคยคิดว่าเราจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ก็คิดว่าในชีวิตที่เราทำงานอยู่นี้ ถ้าเผื่อมันจะมีอะไรที่เราทำแล้วมันกระจายออกไปได้ก็อยากทำ สิ่งเหล่านี้มันอยู่ในใจมาตลอด ก็เริ่มมาจากที่เราเหงา เราอยากคุยกับใครๆ

ผมพยายามจะบอกคนอื่นเรื่องความคิดที่ซับซ้อน แต่ผมก็ไม่ได้คิดอะไรที่ซับซ้อนมาก คือมันไม่รู้จะไปซับซ้อนอะไรกันมากมาย แต่ที่ต้องพูดซับซ้อนเพราะว่า อย่างที่บอกว่าผมรำคาญหลายๆ อย่าง รำคาญอะไรที่ทำไมเราคิดอย่างอื่นไม่ได้บ้าง แต่ถ้าบางทีเรามีอะไรที่คิดแล้วว่ามันเป็นสิ่งที่เราพอใจ ทำให้เราทำงานได้ต่อไปก็โอเค. แต่ถ้าเราไปยึดติดอยู่กับอะไรบางอย่างที่ปิดตัวเราเอง นั่นจะเป็นปัญหา แต่ถ้าเราไม่ไปผูกติดอะไรแล้วผมคิดว่ามันปลดปล่อยเรา ทำให้เรามีเสรีภาพ คือมันต่างกันไม่ใช่ว่าอะไรๆ ก็ต้องเชิงซ้อนหมด มันก็ต้องมีซ้อนบ้าง ไม่ซ้อนบ้าง

ในความไม่มีสาระที่ผมพูดไป ก็ด้วยความรู้สึกขอบคุณมาก เราคงจะได้อะไรที่มากกว่าความรู้วิชาการ แต่เป็นความผูกพันในสิ่งที่เราได้ร่วมทำกันมา หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นพลังใจที่จะทำให้ท่านทั้งหลายทำกิจกรรมในชีวิตของตนเอง ทำชีวิตของตนเองให้มีคุณค่ามากที่สุด เท่าที่จะนึกได้ แต่ทุกคนก็คงนึกได้ไม่เท่ากัน แต่ก็ให้ทำเท่าที่ตนเองจะทำได้ แล้วผมก็ทำได้เท่านี้แหละครับ

ขอบคุณมาก

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ประวัติและผลงาน ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์

เกิดเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐

ประวัติการศึกษา
ปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่จบ พ.ศ. ๒๕๑๓
ปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, Cornell University สหรัฐอเมริกา ปีที่จบ พ.ศ. ๒๕๑๘
ปริญญาเอก สาขามานุษยวิทยา สถาบัน Cornell University สหรัฐอเมริกา ปีที่จบ พ.ศ. ๒๕๒๗

ผลงานวิจัย
ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ

(1) "The Idiom of Phii Ka: Peasant Conception of Class Differentiation in Northern Thailand," Mankind 14: 4 (1983)

(2) "The Management of Land, Labor and Agricultural Technology in Chiang Mai Rice Growing Villages: Research Design for Interdisciplinary Study," in Percy Sajise and A. Terry Rambo (eds) Agroecosystem Research in Rural Resource Management and Development. Program on Environmental Science and Management, University of Philippines at Los Banos. (1985)

(3) "Conflicting Patterns of Land Tenure among Ethnic Groups in the Highland of Northern Thailand: The Impact of State and Market Intervention," Proceeding of the Third International Conference on Thai Studies, Australian National University, Canberra. (1987)

(4) "Strategies for Control of Labor in Sharecropping and Tenancy Arrangements," in John Taylor and Andrew Yurton (eds.) Sociology of Developing Societies: Southeast Asia. London: Macmillan Education. (1988)

(5) "The Differentiation of the Peasantry and the Complex Patronage Relationship Under Forced Commercialization, 1900-1942," in Prakai Nontawasee (ed.) Changes in Northern Thailand and the Shan State. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies. (1988)

(6) "Conflicts over the Deployment and Control of Labor in a Northern Thai Village," in Gillian Hart (et.al) Agrarian Transformation in Southeast Asia: Local Process and the State. Berkeley: University of California Press. (1989)

(7) "Community Forestry in Northern Thailand: Learning from Local Practices," in Henry Wood and Willem Mellink (eds.) Sustainable and Effective Management Systems for Community Forestry. Bangkok: RECOFTC. (1992)

(8) "Changing Power and Position of Mo Muang in Northern Thai Healing Rituals," in Shegeharu Tanabe (ed.) Anthropology of Practical Religion: The World of Theravada Buddhism. Kyoto: Kyoto University Press. (1993) (in Japanese)

(9) "The Northern Thai Land Tenure System: Local Customs versus National Laws," Law and Society Review 28: 3 (1994)

(10) "Will Community Forest Law Strengthen Community Forestry in Thailand," Proceeding of a Symposium on Montane Mainland Southeast Asia in Transition, Chiang Mai University Consortium. (1995)

(11) "Co-operation and Conflict Management in Community Forestry System: An Alternative Research Methodology in Social Management of Resources," in P.L. Pingali and T.R. Paris (eds.) Competition and Conflict in Asian Agriculture Resource Management: Issues, Options and Analytical Paradigms. Manila, The Philippines: International Rice Research Institute. (1996)

(12) "The Politics of Environment in Northern Thailand: Ethnicity and Highland Development Programmes," in Philip Hirsch (ed.) Seeing Forest for Trees: Environment and Environmentalism in Thailand. Chiang Mai: Silkworm. (1996)

(13) "The Politics of Conservation and The Complexity of Local Control of Forests in The Northern Thai Highlands" Mountain Research and Development 18: 1 (1998)

(14) "From Local Custom to the Formation of Community Rights : A Case of Community Forestry Struggle in Northern Thailand," Proceedings of the Symposium Human Flow and Creation of New Cultures in Southeast Asia, Institute for the Study of Languages and Cultures of Asia and Africa, Tokyo University of Foreign Studies, Tokyo. (1998)

ผลงานวิจัยอื่นๆ

(1) Modeling the Economic Activities of Tribal Villages in the Highland of Northern Thailand
เสนอต่อ The Ford Foundation (1979)

(2) การมีส่วนร่วมของประชาชนในชนบทภาคเหนือของประเทศไทย เสนอต่อ United Nation Research Institute for
Social Development. (2525)

(3) การศึกษาตำนานเมืองและกฎหมายโบราณของล้านนา เสนอต่อ Toyota Foundation (2527)

(4) The Integrated Rural Development Project at Thung Hua Chang and Li, Lamphun Province/Thailand: An Evaluation Report. เสนอต่อ The Friedrich Naumann Foundation. (1986)

(5) Natural Resource Utilization and Management in Mae Khan Basin: Intermediate Zone Crisis. เสนอต่อ The Ford Foundation (1988)

(6) ข้อจำกัดและทางเลือกของระบบการเกษตรบนที่สูงในภาคเหนือ เสนอต่อ The Ford Foundation (2531)

(7) บริบททางสังคมของการเร่งรัดออกโฉนดที่ดินของรัฐ กรณีศึกษาอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เสนอต่อ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2532)

(8) ศักยภาพของสถาบันการศึกษาที่มีอยู่ในภูมิภาคต่างๆ เสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี (2532)

(9) พิธีกรรมและความเชื่อล้านนา: การผลิตใหม่ของอำนาจทางศีลธรรม เสนอต่อ Toyota Foundation. (2532).

(10) ความเป็นชุมชน เสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (2533).

(11) วิวัฒนาการของการบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่า กรณีศึกษาภาคเหนือตอนบน เสนอต่อ Midas Agronomic Inc. (2534)

(12) ป่าชุมชนภาคเหนือ ศักยภาพขององค์กรชาวบ้านในการจัดการป่าชุมชน เสนอต่อ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (2535)

(13) พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของไทใหญ่ เสนอต่อ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (2536)

(14) การศึกษากระบวนการพัฒนาของศูนย์พัฒนาสังคมสังฆมณฑลเชียงใหม่ ในประเด็นการจัดการสังคม เสนอต่อ ศูนย์สังคมพัฒนา (2536)

(15) บทบาทของนักวิจัยและทุนวิจัยอเมริกันในการสร้างกระบวนทัศน์ด้านไทยศึกษา เสนอต่อ กองทุนสนับสนุนการวิจัย (2537)

(16) วัฒนธรรมและการพัฒนา: มิติของการสร้างสรรค์ เสนอต่อคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (2538)

(17) สังคมไทยตามความคิดและความใฝ่ฝันของอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา โครงการศึกษา "เมืองไทยในความใฝ่ฝันของนักคิดอาวุโส" เสนอต่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (2539)

(18) แนวความคิดพื้นฐาน เรื่อง การระดมทุนทางสังคม เสนอต่อ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2540)

(19) การประเมินสถานภาพไทยศึกษา การผสมผสานทางชาติพันธุ์ และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เสนอต่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (2541)

(20) แนวความคิดพื้นฐาน เรื่อง การระดมทุนเพื่อสังคม เสนอต่อ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และพิมพ์โดย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (2541)

(21) การสำรวจและประเมินสถานภาพของการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับชุมชน กับการจัดการทรัพยากร เสนอต่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (2541)

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ

มานุษยวิทยาเศรษฐกิจ การจัดการทรัพยากรและพัฒนา ระบบกรรมสิทธิ์และการถือครองที่ดิน ประวัติศาสตร์สังคมชนบท ประวัติศาสตร์สังคมล้านนา พิธีกรรมและความเชื่อ ทฤษฎีสังคมและการพัฒนา ชาติพันธุ์วิทยา

รางวัลวิจัยที่เคยได้รับ

- ผลงานวิจัยดีเยี่ยม ปี พ.ศ. 2539 สภาวิจัยแห่งชาติ
- เมธีวิจัยอาวุโส ปี พ.ศ. 2540 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สำนักนายกรัฐมนตรี)
- อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ 2545 (จากที่ประชุมสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ป.อ.ม.ท.)

 

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๑ : Release date 20 March 2008 : Copyleft by MNU.
ผมขอยืนยันในความคิดมาร์กซิสท์ แต่ผมไม่ได้ยึดเอาทฤษฎีเป็นคำตอบ. ในขณะที่หลายคนคิดว่ามาร์กซิสท์ก็คือคำตอบ ถ้ามาร์กซิสท์คือคำตอบเมื่อร้อยปีที่แล้ว มันคงไม่ใช่คำตอบของทุกวันนี้. ผมขอยืนยันเลยว่า 'มาร์กซิสม์เป็นวิธีคิด' แล้วถ้าใครจับวิธีคิดอันนั้นได้ ก็ไม่ต้องไปพูดถึงตรัสรู้ มันตรัสรู้แล้ว. เพราะความรู้มันไม่ได้มาจากการรู้คำตอบ แต่มันมาจากวิธีคิด และวิธีคิดอันหนึ่งที่สำคัญมากในมาร์กซิสม์ อยู่ในเล่มที่ 1 เรื่อง Capitalism. คนไทยเราไปติดอยู่ที่ป้ายและชื่อที่อยู่ภายนอก ไม่ได้มองไปข้างหลังว่ามันมาได้ยังไง แล้วเราก็ไปติดอยู่แค่นั้น ทำให้อำนาจเหล่านั้นมันมากำกับตัวเราเอง กระทั่งทำให้เราคิดอะไรไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งที่ผมพยายามทำอยู่คือ พยายามไม่ยึดติดกับสิ่งเหล่านั้น ที่มันจะมาเป็นป้าย มาบังคับกำกับตัวเรา
H

อย่างที่ผมยกตัวอย่างเสมอเรื่อง 'ไข่มดแดง' (ไข่มดแดง ของที่เจ้าของกรรมสิทธิ์
มิได้สร้างขึ้นเอง แต่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ของตน คนในชุมชนก็มีสิทธิที่จะเก็บไปได้) ผมเรียนรู้แม้กระทั่งกับลุงที่เฝ้าบ้านผม แกก็เป็นครูของผมเหมือนกัน เพราะผมไม่เคยรู้อย่างที่แกรู้. มันมีเหตุการณ์หนึ่งที่ผมยัวะมากเลย คือ ตอนนั้นที่ผมไปคณะเกษตร มช. เขาก็ยื่นหนังสือรายชื่อวัชพืชในภาคเหนือเป็นร้อยๆ ชื่อที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาวิทยาศาสตร์เรียบร้อยเลย ผมก็โอ้โห้ ภาคภูมิใจว่า อาจารย์ในมหาวิทยาลัยนี้เก่งมากเลย เขียนเรียบเรียงได้เยอะแยะ

แล้วผมก็เอามาถามลุงที่เฝ้าบ้านผมอันนี้เป็นยังไง ภาษาไทยเรียกยังไง แกบอกว่า "อาจารย์มันไม่ใช่หญ้า มันเป็นยา เป็นผัก" ผมก็ตายห่า ทำไมอาจารย์มหาวิทยาลัยทำได้แค่นี้ คือทำลิสต์รายชื่อ. พูดง่ายๆ ที่ผมเรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้คือ, อะไรที่เราไม่รู้ เราจะเรียกว่าไร้ประโยชน์ พอเราไม่รู้เราก็บอกว่าไร้ประโยชน์หรือสวะ หรือวัชพืช พอเราไม่รู้เราก็บอกว่าไร้ประโยชน์เลย โดยที่เราไม่ได้ศึกษาเลย เพราะเราไม่เคยแคร์ความรู้ของคนอื่นไง มันก็เลยไม่ค่อยจะรู้อะไร