Thailand & Contemporary Politics
The Midnight University
การเมืองในบรรยากาศรัฐประหาร
๑๙ กันยา
รัฐประหาร
มายาภาพประชาธิปไตย และคู่มือต่อต้านรัฐประหาร
กำพล จำปาพันธ์ และ ภูมิวัฒน์ นุกิจ
รวบรวมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการชิ้นนี้
เป็นการนำเอาบทความ ๒ ชิ้นที่มีเนื้อหาสนับสนุนกันเกี่ยวกับ
บรรยากาศการเมืองภายใต้การรัฐประหารและมีรัฐบาลชั่วคราว มาประกอบกันคือ
๑. รัฐประหาร 19 กันยา: มายาภาพประชาธิปไตยจากเบื้องบนและชนพาล
๒. คู่มือ การต่อต้านรัฐประหารแบบสันติและสร้างสรรค์
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๓๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๙ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4)
รัฐประหาร
มายาภาพประชาธิปไตย และคู่มือต่อต้านรัฐประหาร
กำพล จำปาพันธ์ และ ภูมิวัฒน์ นุกิจ - กอง บก. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวม
1. รัฐประหาร 19 กันยา': มายาภาพประชาธิปไตยจากเบื้องบนและชนพาล
กำพล จำปาพันธ์ กลุ่มปัญญาชนประชาธิปไตย
๑.สิทธิธรรมและอำนาจ
ดูมีนัยสำคัญมากขึ้นทุกที รัฐบาล และ คมช. กำลังจะเผชิญปัญหาวิกฤติความชอบธรรม
สื่อบางฉบับเริ่มพูดถึง "ขาลง" ของภาพลักษณ์ผู้นำ (ทั้งในคณะรัฐบาลและคมช.)
อย่างจริงจัง แม้จะมีความพยายามตอบโต้แก้ไขจากทางฝ่ายรัฐบาล แต่การโยนให้เป็นความผิดของผู้อื่น
กลับเป็นผลแง่ลบแก่รัฐบาล และ คมช. มากขึ้น เพราะปัญหาความไม่ชอบธรรมดังกล่าวออกจะเป็นปัญหาที่สัมพันธ์กับเป้าหมายที่รัฐบาล
และ คมช. เป็นผู้ตั้งไว้เองมากเสียยิ่งกว่าจะเป็นปัญหาอันเกิดจากกลุ่มคนภายนอกที่แขวนป้ายให้เป็นอื่นกัน
เช่น "คลื่นใต้น้ำ" "กลุ่มอำนาจเก่า" "ผู้เสียประโยชน์ทางการเมือง"
แง่หนึ่งการที่เหล่าบรรดา "คอการเมือง" ที่สำนักวิจัยเอแบคสำรวจพบได้โหวตส่งท้ายปีให้ฉายารัฐบาลชุดนี้ว่า "รัฐบาลนามธรรม" มากที่สุด จึงดูสมเหตุสมผลเพราะแนวทางต่าง ๆ ที่วางไว้กล่าวกันว่า เต็มไปด้วยข้อเสนอที่ไม่มีความชัดเจนเชิงรูปธรรมเอาเลย เช่นว่าจะเน้นความผาสุกของประชาชนมากกว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีความพอเพียงและเข้มแข็งบนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล สภาพแวดล้อมที่ดีและวัฒนธรรมประเพณีไทย มิไยต้องคำนึงถึงลักษณะการใช้ถ้อยคำ เช่น "เศรษฐกิจพอเพียง" "ธรรมาภิบาล" "ศีลธรรม" "วัฒนธรรมไทย" "ภูมิปัญญาไทย" เสียจนเฝือจนถูกมองได้ว่า "เป็นเพียงคำพูดที่สวยหรูและสร้างความประทับใจในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่มีการขับเคลื่อนแท้จริงให้ปรากฏในการรับรู้ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จนอาจทำให้สังคมมองว่า พล. อ. สุรยุทธ์ กำลังจะกลายเป็นผู้ล้มเหลวในคำพูดของตนเอง" (1)
ส่วนเป้าหมายใหญ่ที่วางไว้ เช่น การแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นกดดันให้ คตส. ทำงานเร็วขึ้น จะจัดให้มีรัฐธรรมนูญภายใน ๑ ปี โดยจะร่างให้แล้วเสร็จภายใน ๖ เดือน จากนั้นจะประกาศใช้โดยเร็วเพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งต่อไป ล้วนแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร จนปรากฏกระแสเสียงตั้งคำถามต่อการทำงานของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นเหล่านี้อยู่เสมอ... ก็จะให้ทำอย่างไรได้ ในเมื่อรัฐบาลขาดความชอบธรรมในการปกครองตั้งแต่ต้น ต่อให้สาธารณะไม่ตั้งคำถามต่อปัญหาดังกล่าว หรือต่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ลุล่วง รัฐบาลและคมช. ก็ยังต้องเผชิญปัญหาอื่น ๆ ที่มีนัยล่อแหลมต่อประเด็นสิทธิและความชอบธรรมอยู่ดี
๒.ในปัญหามีทางแก้
แม้ในแง่ "เวลา" รัฐประหาร 19 กันยา' จะเป็นสิ่งที่ผ่านพ้นไปก็จริง
แต่ในฐานะที่เป็นเหตุการณ์ที่ยังคง "ความเป็นประวัติศาสตร์" [historicity]
อยู่ในตัวเอง 19 กันยา' จึงยังไม่ได้สิ้นสุดไปแต่อย่างใด รัฐประหารโดยตัวมันเองไม่อาจสร้างความชอบธรรมที่จะเป็นอำนาจอ้างอิงแก่รัฐบาลได้เพียงพอ
เมื่อการยึดอำนาจเกิดขึ้นและเป็นจริงในทาง "เวลา" แล้ว ตัวมันเองก็จะกลายเป็น
"อดีต" ไปในความเป็นจริง การดำรงอยู่ของรัฐบาลหรืออำนาจใหม่จะยึดโยงกับ
"อนาคต" ที่รัฐประหารเสนอต่อสังคม
ตรงนี้เองที่เป็นช่องว่างอันเปราะบางของผู้นำที่มาจากรัฐประหาร การท้าทายล้มล้างอำนาจเผด็จการรัฐประหารทางหนึ่ง จึงสามารถกระทำได้ผ่านการขยายช่องว่างทางอำนาจอันนั้นให้เปิดกว้างมากขึ้น จนขาดสะบั้นโดยสิ้นเชิง ตัดช่องทางในการควบคุมหรือนำพาไปสู่ "อนาคต" ของผู้นำ คืนสิทธิในการกุมชะตาชีวิตตนเองแก่สาธารณะต่อไป
รัฐธรรมนูญอันจะเป็นกฎกติกาพื้นฐานของชีวิตทางการเมือง ที่จะมีผลกระทบต่อคนในรัฐ ควรจะเป็นสิทธิอำนาจของสาธารณะที่จะกำหนดตัวบท เนื้อหา ความหมาย ตลอดจนการปฏิบัติใช้ ไม่ใช่เพียงไม่กี่ท่าน ที่กุมอำนาจไว้แล้วใช้อำนาจนั้นจัดทำขึ้นตามความมุ่งหวังแห่งตน การจัดการเลือกตั้งที่จะให้มีขึ้นหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ก็เช่นกัน หากจะถือเป็นช่องทางในการแสดงสิทธิอำนาจของสาธารณชนที่จะกำหนดหรือคัดเลือกผู้แทน การจัดให้มีการเลือกตั้งก็ควรให้เป็นสิทธิอำนาจแก่สาธารณะเช่นกัน จะจัดขึ้นเมื่อใด เร็วช้า อย่างไร คงไม่ใช่ปัญหา เพราะประเด็นอยู่ที่สิทธิอำนาจของประชาชน ไม่ใช่กลุ่มผู้นำบงการยัดเยียดให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรมาก่อนเป็นอันดับแรกไม่ใช่มาทีหลัง ราวกับไม่มีความสำคัญอะไรแล้ว
การฉีกรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่ก็ดี การจะจัดให้มีการเลือกตั้งโดยผู้แทนก็ดี ล้วนแสดงถึงมุมมองความคิดที่กลุ่มผู้นำไทยมีต่อ "ประชาธิปไตย" ที่ต้องมีที่มาจากการยัดเยียดบงการของพวกเขาเอง เป็นประชาธิปไตยจากเบื้องบนที่ขึ้นกับการหยิบยื่นให้ ไม่ก็การพระราชทานจากเบื้องบน ส่วนประชาชนเป็นเพียง "ผู้ถูกอ้าง" ที่อยู่นอกเหนือตัวบทเนื้อหา ไม่ได้เป็นส่วนสำคัญที่ปราศจากเงื่อนไขอย่างแท้จริง
๓.ระบบคิด จิตวิทยา และการเมือง
ภายใต้ "ประชาธิปไตยจากเบื้องบน" ประชาชนเป็นผู้ตาม ผู้ถูกควบคุมบงการ
ผู้ถูกฉวยใช้ประโยชน์ มากกว่าจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดตามกติกาพื้นฐานของระบอบการเมือง
(2) ประชาธิปไตยจากเบื้องบนไม่ว่าจะเรียกแฝงอยู่ในโวหารอันรื่นหู เช่น "ประชาธิปไตยแบบไทย"
"ประชาธิปไตยฉบับภูมิปัญญาแบบไทย" "ประชาธิปไตยแบบวัฒนธรรมไทย"
โดยกีดกันการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบจากแง่มุมอื่น ปิดกั้นปัญหาให้กลายเป็นเรื่องภายในเฉพาะ
ภายนอกไม่เกี่ยว ขีดเส้นจับจองพื้นที่สร้างพรมแดนกันอย่างผิด ๆ เพี้ยน ๆ นี่ถิ่นกู
บ้านกู เมืองกู ครอบครัวกู คนของกู ประชาธิปไตยของกู มึงคนนอก คนอื่น อย่ายุ่ง
เข้าทำนองใครไม่เกี่ยวก็ถอยไป จึงเป็นประชาธิปไตยของคนพาล
การทำรัฐประหารยึดอำนาจ ใช้ปืน ใช้รถถัง ข่มขู่เอาอำนาจมาไว้แก่ตน ฉีกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกสภาผู้แทน (ทั้ง ส.ว. และ ส.ส.) ทำลายกติกาพื้นฐานที่ชนรุ่นก่อนร่วมกันต่อสู้ให้ได้มาอย่างยากเข็ญ... เหล่านี้ล้วนถูกมองเป็นอันธพาลปล้นชิงมากพอแล้ว นักวิชาการบางท่านยังทำให้เป็นอันธพาลในระดับระบบคิดเข้าให้อีก รัฐประหารที่เกิดขึ้นยังดู "บาเบเรียน" ไม่พอหรือไร? แทบไม่น่าเชื่อว่านักวิชาการที่อวดอ้างเอาพลังของสังคมไทยมาใช้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ (ไม่ว่าจะเป็นความเป็นไทย ภูมิปัญญาไทย วัฒนธรรมไทย) จะทำให้สังคมไทยถูกมองได้ว่า เป็นสังคมที่ไม่มีศักยภาพขนาดต้องกลัวการเผชิญปัญหาจากภายนอก ระบบคิดเช่นนี้ไม่ว่าจะมีในสังคมใดย่อมทำให้สังคมนั้นอ่อนแอ ล้าหลัง และป่าเถื่อน จนล่มสลายไปในที่สุด
ประชาธิปไตยอันธพาลแบบ "จัดให้" นี้ แม้รูปแบบจะอ้างได้ว่าเป็นประชาธิปไตย จะมีรัฐธรรมนูญ จะมีการเลือกตั้ง กระทั่งจะมีผู้แทนต่อไป แต่เนื้อหายังคงเป็นเผด็จการ เป็นเผด็จการสามานย์ที่อ้างตัวเป็นประชาธิปไตย เต็มไปด้วยความคิดและข้อเสนอวิกลจริต เช่น การให้อำนาจแก่ประชาชน ซึ่งเป็นการยอมรับอย่างไร้ยางอายว่า ประชาชนไม่มีอำนาจในตัวเอง จนต้องให้ผู้อื่น(ซึ่งก็คือตนเอง)คอยหยิบยื่นให้ ไม่ก็ต้องมีตัวแทนแสดงออกแทน ความคิดเช่นนี้ก่อปัญหาทางจิตวิทยาแก่กลุ่มผู้นำไทย ทำให้ยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลาง ดูถูกดูแคลนผู้อื่น ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ดังที่เคยก่อปัญหาทางประวัติศาสตร์มาแล้วในการตีความ ๒๔๗๕ ด้วยมุมมองเกี่ยวกับการ "พระราชทาน" จากเบื้องบน
"ประชาชน" ในแนวมองเช่นนี้ เป็นประชาชนในจินตนาการที่สร้างขึ้น มากกว่าจะเป็นประชาชนหรือ "คนไทย" อย่างที่เป็นจริงๆ กระบวนการคัดเลือก ตัดต่อ ลดทอน ตีความ ทำให้เห็นประชาชนเพียงบางแง่มุมเท่านั้น และด้านที่เห็นที่จดจำก็ล้วนแต่เป็นปัญหาทั้งสิ้น เช่น เห็นว่าประชาชนหรือคนไทยยังอ่อนด้อย ยังโง่ จนถูกทักษิณกับพวกครอบงำ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จนต้องเป็นภารกิจของใครสักคนที่จะเข้ามารับหน้าที่เป็นผู้นำการปลดปล่อย ทำการปฏิวัติโค่นล้มระบอบทักษิณ!
การยึดถือเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง คิดเอง ทำเอง นำมาซึ่งการนิยามประชาธิปไตยแบบเข้าข้างตัวเอง ถือว่าตนรู้ดีที่สุด เช่น รู้ว่าประชาธิปไตย(แบบไทย) ที่แท้เป็นอย่างไร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย (ที่อิงวัฒนธรรมและภูมิปัญญา(แบบไทย)นั้น) ต้องทำกันอย่างไร รู้ว่าอะไรคือปัญหาของประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมา (ปัญหาคอรัปชั่นถูกยกระดับเป็นปัญหาของระบบการเมืองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน) กระทั่งว่าตัวเองรู้จักคนไทยเข้าใจวัฒนธรรมไทยดีที่สุด การจัดการ และปัญหาบนฐานคิดเช่นนี้รังแต่จะก่อปัญหามากขึ้น เพราะสิ่งที่รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ อาจมีข้อแตกต่างและขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง
รัฐบาล และ คมช. มัวหลงอยู่แต่กับการสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวเองว่าตนเป็นผู้เสียสละเข้ามาทำหน้าที่โดยสุจริต มีคุณธรรมสูง และรู้ดี ส่วนชาวบ้านและคนอื่น ๆ ล้วนแต่โง่และบกพร่องทางศีลธรรมเสียจนติดเหล้า เล่นหวย และทุจริตไปเสียหมด การนี้นับเป็นการดิสเครดิต ดูถูกดูแคลนประชาชน โดยนัยว่าไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมคู่ควรจะถือกุมอำนาจด้วยตัวเอง ซ้ำกลุ่มคนที่เคยเป็นตัวแทนของประชาชน ก็กลับเห็นกันอย่างชัดแจ้งว่า ทุจริต โง่ เลว ขายชาติ สร้างความแตกแยกไม่รู้รักสามัคคี นับว่าบกพร่องทั้งตัวแทนของประชาชนและตัวประชาชนเองเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามสิ่งที่รัฐประหาร 19 กันยา' ทำลายลงไปนั้น นอกจากเปลี่ยนบทบาทในสิทธิอำนาจของประชาชนจาก "ผู้กระทำ" (แม้เพียงในนามหรือตัวแทนก็ตาม) เป็น "ผู้ถูกกระทำ" ไม่เห็นหัวประชาชน ไม่เคารพกติกาที่ถือว่าประชาชนคืออำนาจสูงสุดในรัฐ แล้วยังเป็นการทำลายพื้นที่ทางการเมืองที่ถือกันว่าเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายในการแข่งขันกันก้าวสู่อำนาจ แม้ความสามารถที่จะได้รับเลือกของทุกคนจะมีไม่เท่ากันก็ตาม เหตุผลของ คปค. ที่แถลงตั้งแต่คืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็แสดงนัยชัดเจนว่าต้องการยับยั้งทำลายการเคลื่อนไหวมวลชนของประชาชน แม้จะเป็นการเคลื่อนไหวที่อนุรักษ์นิยมอย่างยิ่ง แต่รัฐประหารที่เกิดขึ้นก็สะท้อนความไม่ไว้ใจขบวนการประชาชนที่เติบใหญ่ขึ้นทุกทีในขณะนั้น (3)
จึงเห็นได้ว่าทั้ งพื้นที่ในการสร้างตัวแทนและพื้นที่ที่ประชาชนมีบทบาทกระทำโดยตนเองต่างถูกยับยั้งและทำลายลงไป รัฐประหารถือเป็นอาชญากรรมทางการเมืองอย่างร้ายแรงก็ด้วยเหตุนี้ เพราะในพื้นที่ทั้งสองนี้เองที่ประชาชนได้มีโอกาสยืนยันถึงสิทธิอำนาจที่มีอยู่ในตัวเอง อันเป็นสิ่งที่เบื้องบนและชนชั้นนำไทยยอมรับไม่ได้มาแต่ไหนแต่ไร ความสามัคคีที่ฉวยอ้างกันขึ้นมาก็เพื่อมุ่งหมายที่ตรงประเด็นนี้เป็นการเฉพาะ การวิพากษ์วิจารณ์ การประท้วง การขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรง จึงเป็นสิ่งที่เบื้องบนและกลุ่มชนชั้นนำยอมรับและทำความเข้าใจไม่ได้...
"การเมือง" ในความหมายที่ถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ทุกคนต้องมีส่วนร่วม มีการแข่งขันคัดเลือกผู้แทน และการจัดสรรผลประโยชน์ จึงถูกเจือจางลดความเข้มข้นลงด้วยประเด็นปัญหาเชิงศีลธรรมอันเป็นอุดมคติเดิมที่สนับสนุนอำนาจบารมีและ "การปกครอง" ของผู้นำ
การแยกศาสนาออกจากการเมือง เป็นเงื่อนไขชั้นต้นของการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบสังคมการเมืองแบบใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าศาสนาจะหมดพลังในการเป็นแหล่งอำนาจของชนชั้นนำ การอ้างอิง สร้างใหม่ นิยามใหม่ และฉวยใช้ยังคงมีขึ้นได้ และก็ด้วยอุดมคติศีลธรรมทางศาสนานี้เองที่ผู้แทนจากการเลือกตั้ง จากการแข่งขัน และจากการแย่งชิงผลประโยชน์ สุ่มเสี่ยงต่อการถูกมองเป็นคนไร้ศีลธรรมและไม่เป็นไทยได้ง่าย
ผู้นำแบบแมคเคียเวลลีที่แม้จะเป็นตัวแทนประชาชน ก็คงไม่อาจเป็นตัวแทนความเป็นไทย เพราะในความเป็นไทยนั้น ต้องมีความเป็นพุทธที่ดีมีศีลธรรม หรือต่อให้มีนายกที่ดีก็จะไม่มี "ธรรมราชา" อยู่ในคนเดียวกันนั้นด้วย สิ่งที่สามัญชนทำและเป็นได้ "เบื้องบน" ก็มักทำและเป็นได้ (อาจดูดีกว่าด้วยซ้ำ) แต่สิ่งที่ "เบื้องบน" ทำและเป็นได้ (อย่างเป็นอัตลักษณ์เฉพาะ) สามัญชนมักไม่มีสิทธิอำนาจที่จะทำและเป็นได้เลย บางเรื่องไม่มีสิทธิแม้แต่จะคิดด้วยซ้ำ!
เนื่องจากเป็นการเมืองแบบ"บน - ล่าง" ที่ยึดติดกับการมองแนวดิ่งมากกว่าแนวราบ รวมศูนย์มากกว่ากระจัดกระจาย ปราการสำคัญอยู่ที่ศูนย์กลางและรัฐประชาชาติ การคุมอำนาจที่ศูนย์กลางมักเท่ากับได้กุมอำนาจรัฐด้วย ฉะนั้นเมื่อถือว่าอำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง การช่วงชิงอำนาจรัฐจึงมักกลายเป็นทางเลือกของคนชั้นนำที่คิดสั้นได้ง่ายๆ เพราะนอกจาก "ประชาชน" ก็ยังมีสิ่งอื่นที่ชนชั้นนำจะสามารถฉวยใช้อ้างอิง หรือแม้แต่ "ประชาชน" เองก็ยังถูกแทรกซึม ถูกอัดฉีด ถูกติดตั้งบางแนวคิดที่เป็นเหมือนระเบิดเวลาสำหรับทำลาย "ความเป็นตัวตน" ของตนเอง (4)
๔.โลกย์ ชั้น และอาชญากรรม
ปัญหาว่าการเมืองสมัยใหม่จะเน้นอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนแต่ละคนจะสามารถนำออกมาใช้ได้ทุกเมื่อตามแต่ต้องการ
พวกเขาต้องใช้ร่วมกัน แต่การรวมตัวกันแสดงเจตจำนงค์ของทุกคนเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
ตรงข้ามการ "อ้างอิง" กลับเป็นได้ง่ายกว่ามาก ความสำเร็จเบื้องต้นของสถาบันพระมหากษัตริย์มาจากเงื่อนไขดังกล่าว
พระองค์มีสัมพันธ์เชิงอำนาจกับประชาชนได้มากกว่าที่นายกฯ จะสามารถเป็นตัวแทนประชาชนอย่างเต็มที่
และก็ด้วยอำนาจความสัมพันธ์ที่แนบชิดติดกับประชาชนได้อย่างน่าอัศจรรย์ พระองค์จึงทรงสมบูรณ์สิทธิ์ในด้านอื่นๆ ตามมา นอกจากที่ทรงประสบความสำเร็จในการเป็นตัวแทนความเป็นชาติ ความเป็นไทย ตลอดจนความยิ่งใหญ่ของชนในชาติ พระองค์ยังได้รับการยอมรับเป็นตัวแทนของพลังทางศาสนาโดยพระองค์เองอีกด้วย สีประจำสถาบันที่แต่ก่อนปรากฏเป็นสีน้ำเงินในธงชาติ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองที่เคยเป็นสีของศาสนา การทำความดีที่แต่เดิมถือเป็นการสั่งสมบุญเพื่อความหลุดพ้นทางศาสนา ซึ่งผลแห่งบุญถือว่าจะตกเป็นของคนแต่ละคนไป(ใครทำคนนั้นได้)
ปัจจุบันกระแสความนิยมในการทำความดีเพื่อในหลวง กำลังทำให้สถาบันต้องทำการปฏิวัติทางจิตวิญญาณครั้งใหญ่ โดยการกลืนกลายพลังของศาสนา นอกเหนือจากที่ในทางโครงสร้างของอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ ที่มาของสมณศักดิ์ และวิสุงคามสีมา ต้องตกเป็นรอง ขึ้นต่อและยึดโยงกับอำนาจทางฝ่ายโลกย์ (หรือ "ราชอาณาจักร" ) ทั้ง "ชาติ" และ "ศาสนา" จึงนับวันจะเลือนหายไปจนเหลือแต่ "พระมหากษัตริย์" ปัญญาชนที่มีส่วนช่วยปฏิวัติสถานภาพและบทบาทดังกล่าว จึงเป็นปัญญาชนที่ต้องรับผิดชอบต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้น ขอให้พวกเราจดจำชื่อและบทบาทของพวกเขาไว้ให้ดี เพราะเขาทำสิ่งที่ถือเป็น "อาชญากรรมทางความคิดและจิตวิญญาณ"!
เพราะความล่มสลายของสถาบัน (ซึ่งต้องเกิดขึ้นและเป็นจริงตามกระบวนการวิวัฒน์ของสังคม) อาจนำมาซึ่งการล่มสลายของทุกภาคส่วนอื่นของสังคมตามมาด้วย เมื่อไร้ซึ่งความเข้มแข็งและเป็นตัวของตัวเองมากพอที่จะเผชิญความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่นับวันจะสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ สังคมโดยรวมก็จะล่มสลายได้ง่ายตามมาในความเป็นจริง เนื่องจากทำให้ประชาชนอ่อนแอลงเรื่อยๆ กษัตริย์นิยมสุดขั้วจึงเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่ถูกติดตั้งไว้เพื่อทำลายจิตและวิญญาณของขบวนการประชาชนโดยเฉพาะ
เมื่อความต่าง "ชั้น" ถูกแยกสลายอย่างปลอมๆ ด้วยกระแสความนิยม ความรัก ความภักดี ความสามัคคี ที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ความเท่าเทียมกันและความเป็นธรรมด้านต่างๆ อันเป็นแก่นหลักใจกลางของสังคมประชาธิปไตย (อย่างน้อยก็ในความเห็นผู้เขียนบทความ) ก็ไม่อาจปรากฏเป็นจริงขึ้นได้ด้วย เพราะสิ่งที่ไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรมทั้งหลายเหล่านี้ต่างถูกยอมรับ ถูกทำให้เป็นธรรมและเท่าเทียมไปเสียสิ้น!
ขณะที่ "ชั้น" ที่มีอยู่อย่างมั่นคงก็ยังคงเป็นปัญหาบ่อเกิดของความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคม ประชาธิปไตยจาก "เบื้องบน" เป็นปัญหาหนึ่งในระบบสังคมที่ความแตกต่างระหว่าง "ชั้น" แต่กลับเป็นสิ่งที่ถูกละเลยมองข้ามเหมือนไม่มีปัญหานี้อยู่จริง ในทางตรงข้าม กลับเห็นแต่เพียงความสัมพันธ์ในแนวราบ แต่กระนั้นก็ตามแม้ชนชั้นสูงเองก็ยังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันเชิงจิตวิทยาใน "ความเป็นเจ้าผู้ปกครอง" ที่ตัวเองสร้างขึ้นมา ทำให้ต้องประพฤติตนเป็นคนเข้มแข็ง แพ้ไม่ได้ อ่อนแอไม่ได้ โง่ไม่ได้ ชั่วไม่ได้ ผิดไม่ได้ ต่ำต้อยด้อยค่าไม่ได้ ต้องมีความสามารถพิเศษแตกต่างจากคนทั่วไป ต้องมีคุณธรรมสูง ต้องรู้ดีที่สุด ต้องเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ฯลฯ
อย่างน้อยก็เมื่ออยู่ต่อหน้าประชาชนของตนเอง ภาพความลวงเหล่านั้นหลายครั้งขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับภาพความเป็นมนุษย์อย่างที่เป็นจริง ดังนั้น ชนชั้นปกครองจึงมิได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือคนชั้นล่างอย่างแท้จริง
+++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(1) คมชัดลึก. ๖, ๑๘๙๙ ( ๑ ม.ค. ๒๕๕๐): ๑๔.
(2) ประเด็นนี้อาจมีผู้เถียงว่า "ประชาธิปไตยจากเบื้องบน" ที่ผู้เขียนกล่าวถึงอยู่นี้มีประชาชน (โดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นกลางในเมือง ) สนับสนุนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยในจุดนี้ แต่ควรพิจารณาให้ "ลึก" ไปกว่านั้น คือการมีส่วนร่วม/สนับสนุนของประชาชนดังกล่าวมีลักษณะเช่นใด เป็นผู้ตาม หรือผู้กระทำการ การกล่าวว่าประชาชนคนชั้นกลาง "สนับสนุน" การยึดอำนาจ, "สนับสนุน" คมช., หรือมี "ส่วนร่วม" ในการต่อต้านระบอบทักษิณ ก็สื่อนัยให้เห็นอย่างเด่นชัดอยู่แล้วว่า ประชาชนในแง่มุมดังกล่าวยังคงเป็น "ผู้ตาม" มากกว่าจะเป็นผู้กระทำด้วยตนเอง
(3) จากแถลงการณ์ฉบับที่ ๑ เรื่อง ประกาศยึดอำนาจ ใจความสำคัญตอนหนึ่งกล่าวถึงเหตุที่ต้องยึดอำนาจเพราะ "เกิดปัญหาความขัดแย้งแบ่งฝ่ายสลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ... ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง แม้หลายภาคส่วนของสังคมจะได้พยายามประนีประนอม คลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยุติลงได้..." (กรุงเทพธุรกิจ. ๑๙, ๖๕๗๓ (๒๑ ก.ย. ๒๕๔๙): ๑๑.) และ คมช. เองก็กำลังจะเผชิญปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ จึงน่าสนใจว่า คมช. และแนวร่วมทั้งหลายจะจัดการกับปัญหานี้กันอย่างไร ?
(4) "ระเบิดเวลา" ผู้เขียนใช้ในลักษณะความเปรียบ โดยตระหนักดีถึงขีดจำกัดของการใช้คำดังกล่าว ที่ตัดสินใจใช้คำนี้ก็เพียงเพราะง่ายต่อการอธิบายและทำความเข้าใจเท่านั้น
2. คู่มือ การต่อต้านรัฐประหารแบบสันติและสร้างสรรค์
ภูมิวัฒน์ นุกิจ - สมาชิก เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร
ประเทศเป็นของประชาชน อำนาจในการปกครองเป็นของประชาชน และอธิปไตยก็เป็นของประชาชนเช่นกัน. การรัฐประหารคือศัตรูของประชาชน เนื่องจากการรัฐประหาร คือการทำลายระบอบประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง ซึ่ง"การรัฐประหาร"ก็คือ"การประหารรัฐ"นั้นเอง โดยคณะผู้ก่อการทุกคณะ ต่างไม่เคยเชื่อมั่นในการแก้ไขการเปลี่ยนผ่านวิกฤติทางการเมืองโดยพลังของประชาชนเอง
การออกกฏ คำสั่ง หรือประกาศต่างๆ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคล และขัดต่อสิทธิความเป็นคนโดยธรรมชาติที่จะหายใจ ที่เคลื่อนไหว ที่จะคิด ที่จะเขียน ที่จะอ่าน หรือที่จะพูดคุยสื่อสารกันอย่างมีอารยะในหมู่ประชาชน ให้ตระหนักว่าประชาชนคือเจ้าของประเทศผู้เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม ปืนทุกกระบอก รถถังทุกคัน ระเบิดทุกลูก เสื้อผ้าที่คณะเผด็จการผู้ก่อการสวมใส่ หรือบ้านพักและรถประจำตำแหน่งฯลฯ ล้วนมาจากเงินและหยาดเหงื่อของประชาชน
ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประชาชนไม่เคยได้อะไรจากการรัฐประหาร สิ่งที่ได้คือความอดอยาก ความหวาดกลัว และการถูกบังคับให้อยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการของคณะผู้ก่อการทุกยุคทุกสมัย และสิ่งที่ผู้ก่อการพยยามทำให้สำเร็จก็คือ การโฆษณาชวนเชื่อต่อประชาชน การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริง เพื่อมอมเมาประชาชนให้เชื่อ และสิ่งสำคัญที่คณะเผด็จการผู้ก่อการทุกคณะต้องทำคือ การสืบทอดอำนาจของตนเอง เพื่อป้องกันการรัฐประหารซ้อน การถูกเอาคืน
เนื่องจากหากการทำรัฐประหารผิดพลาด ถือว่าเป็นกบฏต่อรัฐ ในความเป็นจริงการรัฐประหารก็คือการเป็นกบฏต่อคนส่วนใหญ่อย่างชัดเจน เพราะเป็นการกระทำของบุคคลหรือคณะเพียงกลุ่มเดียว และการรัฐประหารนั้นมีปัญหาในตัวของมันเอง ทั้งในแง่ของเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ฯลฯ
เพราะประชาชนคนทุกข์ยากได้เรียนรู้แล้วว่าจะไม่อนุญาตให้คณะบุคคลมากำหนดชีวิตเขาอย่างแน่นอน สิ่งสำคัญอีกประการที่คณะผู้ทำการรัฐประหารต้องทำ ก็คือแสวงหาผลประโยชน์ ความสำเร็จกันในหมู่พรรคพวกผู้ก่อการ ดังนั้นประชาชนทั้งหลายย่อมมีสิทธิ ที่จะต่อต้านคณะเผด็จการได้ในทุกรูปแบบ ทั้งโดยสงบ สันติและเปิดเผยดังต่อไปนี้
บัญญัติ ๑๔ ประการคัดค้านรัฐประหาร
ทันทีที่มีการรัฐประหาร ขอให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศพร้อมใจกันดำเนินการดังต่อไปนี้
1. หากหยุดงานได้พร้อมใจกันหยุดงานทั่วประเทศโดยทันที เพื่อเป็นการไม่ให้ความร่วมมือกับคณะเผด็จการผู้ก่อการ
2. ออกมายืนตามท้องถนน ถ้ามีการปราบให้สลายตัวกลับเข้าบ้านหรือที่ทำงาน แล้วจึงออกมาใหม่ หรือให้พยามหลบภัยเข้าไปยังสำนักงานสหประชาชาติ(ประจำประเทศไทย) ให้ได้
3. จอดรถ หรือนำสิ่งของทิ้งไว้กลางถนน เพื่อขวางการเคลื่อนย้ายกำลังพล และอาวุธของคณะเผด็จการผู้ก่อการ
4. ปฏิเสธคำสั่ง หรือประกาศใดๆ และไม่ให้ความร่วมมือทุกประการแก่คณะรัฐประหาร
5. พยายามเป็นมิตรกับทหารที่เป็นลูกหลานของเรา ซึ่งเขาไม่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร และชักชวนเขามาร่วมคัดค้านรัฐประหาร
6. ยึดมั่นในสันติวิธี ผูกผ้าสีเขียวไว้ที่แขนเพื่อความสมานฉันท์ และเป็นสัญลักษณ์ของสันติวิธี ให้อดกลั้นต่อความโกรธ แม้จะถูกยั่วยุและปราบปราม
7. โทรศัพท์ โทรสาร อีเมล์หรือส่งข้อความ หรือใช้วิธีส่งข่าวอื่นๆ เพื่อขยายการคัดค้านรัฐประหารให้กว้างขวางออกไปให้มากที่สุด
8. คณะผู้ก่อการรัฐประหารเดินทางไปที่ไหนให้ พี่น้องประชาชนที่อยู่ที่นั่น ช่วยกัน ประณาม โดยการก่นด่าหรือตะโกน เพื่อแสดงออกอย่างชอบธรรมว่าประชาชนไม่ยอมรับคณะผู้ก่อการ
9. ประณามองค์กรภาคประชาชน สื่อมวลชนหรือองค์กร หน่วยงานต่างๆ ที่สนับสนุนการรัฐประหาร
10. งด หรือไม่ซื้อสินค้าของกลุ่มทุนที่สนับสนุนการรัฐประหาร
หากมาตรการขั้นแรกไม่ได้ผลให้ดำเนินการต่อไปดังนี้
11. ถอนเงินออกจากธนาคารทุกแห่ง
12. ขายหุ้นที่มีอยู่ออกให้หมด และขายเงินบาทไปซื้อเงินดอลล่าร์มาเก็บไว้
13. ถ้าเป็นข้าราชการ ก็ให้ลาออก หากทำไม่ได้ให้เลี่ยงงานหรือเฉื่อยงาน และช่วยกันส่งข้อมูล ข้อเท็จจริงที่มีอยู่เกี่ยวกับการทำรัฐประหารของคณะผู้ก่อการให้กับประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร
14. งดจ่ายภาษี ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ
แนวทางเพื่อการต่อต้านรัฐประหาร
การต่อสู้เพื่อต้านรัฐประหาร สามารถกำหนดแนวทางต่างๆ ที่เฉพาะเจาะจง เพื่อเป็นพื้นฐานขั้นต้นของยุทธวิธีต่อต้านรัฐประหารให้มีประสิทธิภาพดังนี้
๑. ไม่ยอมรับการรัฐประหารนั้น และประณามผู้นำกลุ่มรัฐประหารว่าไม่มีความถูกต้องชอบธรรม และสมควรได้รับการปฏิเสธหากก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาล การก่นประณามผู้ก่อการนี้ควรได้รับการสนับสนุนจากบรรดาผู้นำที่มีคุณธรรม, ผู้นำทางการเมืองและทางศาสนา, เจ้าหน้าที่รัฐและสมาชิกของสถาบันทางสังคมต่างๆ ทั้งหมด (อันได้แก่ สถาบันการศึกษา, สื่อมวลชน และการสื่อสาร) รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ทั้งในระดับชาติ ท้องถิ่น ภูมิภาค หรือจังหวัด ตลอดจนประชาชนในภาคส่วนต่างๆ
๒. ปฏิเสธที่จะกระทำการใดๆ ที่เป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่กลุ่มผู้ก่อการรัฐประหาร ทั้งนี้ รวมไปถึงการไม่พยายามให้ผู้นำทางการเมืองที่ถูกกฎหมายไปเจรจาประนีประนอมกับกลุ่มคนเหล่านี้
๓. ให้ถือว่าคำสั่งและประกาศต่างๆ ของคณะรัฐประหาร ที่ขัดแย้งกับกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบันนั้น เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และไม่ต้องให้ความเคารพเชื่อฟัง
๔. พยายามให้การต่อต้านทั้งหมดเป็นไปอย่างสันติวิธี เพื่อทำการต่อต้านรัฐประหารอย่างมีประสิทธิผลสูงที่สุด อย่ากระตุ้นให้เกิดการกระทำอันรุนแรง หรือขาดความรอบคอบสุขุม
๕. ปฏิเสธและไม่เชื่อฟังกลุ่มรัฐประหารไม่ว่าจะกระทำการใดๆ ที่เพื่อสถาปนาตนเองและเข้าควบคุมเครื่องมือของรัฐและสังคม
๖. ไม่ให้ความร่วมมือแก่ผู้ก่อการรัฐประหารทุกๆ วิถีทาง ผู้จะดำเนินการเช่นนี้หมายรวมไปถึงประชาชนทั่วไป, ผู้เชี่ยวชาญและข้าราชการทุกคน, ผู้นำทางการเมืองทุกคนของรัฐและพรรคการเมืองทุกพรรค รวมทั้งพรรครัฐบาลชุดก่อน, หน่วยงานกลางและหน่วยงานทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง, ทบวง, กรม, กอง ระดับภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, กลุ่มสาขาอาชีพและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ, พนักงานทุกคนขององค์กรประเภทสื่อและองค์กรด้านการสื่อสาร, พนักงานทุกคนของระบบขนส่ง, ตำรวจ, ทหารและกรมกองต่างๆในกองทัพ, ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ตุลาการทุกคน, พนักงานในสถาบันการเงินทุกแห่งทั้งของรัฐและเอกชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่และสมาชิกของสถาบันอื่นๆ ทั้งหมดของสังคม
๗. ไม่ยอมรับคำสั่งและระเบียบข้อบังคับของคณะรัฐประหาร แต่ยังคงรักษาหน้าที่ตามปกติของสังคม หากว่าภาระหน้าที่นั้นสอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนเกิดรัฐประหาร รวมไปถึงกฎหมาย และนโยบายของรัฐและสถาบันทางสังคมที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนภาระหน้าที่ของประชาชนดังกล่าวควรจะดำเนินต่อไป จนกระทั่งและตราบเท่าที่ยังไม่ถูกถอดถอนอย่างชัดแจ้งออกจากสถานที่ทำงาน, สำนักงาน และศูนย์กิจกรรมต่างๆ แต่ถึงกระนั้นก็ควรพยายามดำเนินหน้าที่ในตำแหน่งอื่นๆ ต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ ผู้จะทำตามข้อแนะนำนี้หมายรวมเฉพาะเจ้าหน้าที่ และพนักงานของกระทรวง กรม กองและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล
๘. รักษาหน้าที่ของหน่วยงานด้านการปกครอง และหน่วยงานทางสังคมที่ถูกต้องตามกฎหมาย บางครั้งอาจต้องสร้างองค์กรสำรองที่จำเป็นขึ้นมา เพื่อสืบต่อหน้าที่ขององค์กรที่ถูกทำลาย หรือถูกคณะรัฐประหารสั่งปิดไป
๙. ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลที่สำคัญแก่ผู้ก่อรัฐประหาร และกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐประหาร ถ้าจำเป็นก็ให้ถอดป้ายบอกทาง ชื่อถนน สัญญาณการจราจร เลขที่บ้าน ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อระงับกิจกรรมของคณะรัฐประหาร และปกป้องประชาชนไว้ไม่ให้ถูกจับกุม
๑๐. ไม่ให้วัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่คณะผู้ก่อการ ถ้าเป็นไปได้อาจต้องเก็บซ่อนสิ่งเหล่านี้ไว้ด้วย๑๑. " มีการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์" ด้วยมิตรภาพกับหน่วยงานต่างๆ และกองกำลังทหารที่รับใช้คณะรัฐประหาร พร้อมๆ ไปกับการต่อต้านอย่างแข็งขืน อธิบายเหตุผลต่างๆ ที่จำเป็นต้องต่อต้านรัฐประหารให้พวกเขาทราบ ยืนยันว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ ต่อพวกเขา พยายามบั่นทอนความเชื่อมั่น และโน้มน้าวให้พวกเขาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต่อต้าน โดยอาจจะเป็นไปในรูปแบบของการจงใจใช้วิธีที่ไม่บังเกิดผลในการปราบปรามประชาชน การส่งผ่านข้อมูลให้แก่ผู้ต่อต้านและอาจถึงขั้นรุนแรง ด้วยการที่เหล่าทหารละทิ้งจากคณะรัฐประหาร และหันมาร่วมต่อสู้เรียกร้องสันติภาพอย่างสันติวิธีกับกลุ่มผู้ต่อต้าน โดยพยายามชักชวนให้เหล่าทหารและหน่วยงานต่างๆ ที่จำเป็น หันมายึดมั่นในบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายก่อนหน้านี้
๑๒. ปฏิเสธที่จะช่วยคณะรัฐประหารทำการเผยแพร่คำโฆษณาชวนเชื่อ
๑๓. บันทึกกิจกรรมและการปราบปรามประชาชนของคณะรัฐประหารทั้งในรูปเอกสาร เสียง และแผ่นฟิล์ม พยามยามรักษาหลักฐานเหล่านี้ไว้และแจกจ่ายข้อมูลออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งส่งให้แก่ผู้ต่อต้าน ส่งให้นานาประเทศ สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ และส่งถึงผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหารนั้นด้วย๑๔. จัดสัมมนาวิชาการหรือจัดอภิปรายในสถาบันการศึกษา โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเริ่มจากเล็กๆ และขยายไปใหญ่สู่สาธารณะชนในสังคม
๑๕. แจกจ่ายเผยแพร่ ใบปลิว ข้อความที่คัดค้านการรัฐประหาร และความไม่ชอบธรรมของคณะเผด็จการรัฐประหารรวมถึงส่งแฟกซ์ อีเมล์ ข้อความ สติ๊กเกอร์ หรือติดธง หรือสัญลักษณ์ต้านรัฐประหารไว้กับเสารับสัญญาณวิทยุของรถ หรือตามสี่แยกไฟแดงต่างๆ
๑๖. พยายามอย่ารวมศูนย์การจัด การอภิปรายต้านรัฐประหารไว้ในที่เดียวกัน หรือที่ใดที่หนึ่ง การจัดอภิปรายต้านรัฐประหารควรเป็นไปอย่างดาวกระจาย กว้างขวางและเกิดขึ้นได้ทุกที่ เพื่อยากต่อการปรามปราบของคณะผู้ก่อการ
๑๗. ใส่เสื้อหรือสะพายกระเป๋า หรือติดเข็มกลัดที่มีข้อความแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐประหาร ไปในทุกที่ ที่เดินทาง
๑๘. หากมีเพื่อน หรือญาติพี่น้องอยู่นอกประเทศให้ช่วยกันกระจายข่าวออกไป และให้ช่วยกันต้านรัฐประหารในที่นั้นๆ
๑๙. ไม่ทำลาย สถานที่ราชการ และช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อนๆ ที่ต่อต้านรัฐประหารให้สำเร็จ
หมายเหตุ: ข้อมูลบางส่วนเรียบเรียงจากหนังสือ "ต้านรัฐประหาร",
ยีน ชาร์ป เขียน, นุชจรีย์ ชลคุป: แปล และอีกบางส่วนมาจากการเข้าร่วมศึกษาและเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มคนจน
ที่ถูกรัฐเอารัดเอาเปรียบในนามแห่งสงครามเพื่อการพัฒนาของรัฐ
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
อย่างไรก็ตามสิ่งที่รัฐประหาร 19 กันยา' ทำลายลงไปนั้น นอกจากเปลี่ยนบทบาทในสิทธิอำนาจของประชาชนจาก "ผู้กระทำ" (แม้เพียงในนามหรือตัวแทนก็ตาม) เป็น "ผู้ถูกกระทำ" ไม่เห็นหัวประชาชน ไม่เคารพกติกาที่ถือว่าประชาชนคืออำนาจสูงสุดในรัฐ แล้วยังเป็นการทำลายพื้นที่ทางการเมืองที่ถือกันว่าเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายในการแข่งขันกันก้าวสู่อำนาจ แม้ความสามารถที่จะได้รับเลือกของทุกคนจะมีไม่เท่ากันก็ตาม เหตุผลของ คปค. ที่แถลงตั้งแต่คืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็แสดงนัยชัดเจนว่าต้องการยับยั้งทำลายการเคลื่อนไหวมวลชนของประชาชน แม้จะเป็นการเคลื่อนไหวที่อนุรักษ์นิยมอย่างยิ่ง แต่รัฐประหารที่เกิดขึ้นก็สะท้อนความไม่ไว้ใจขบวนการประชาชนที่เติบใหญ่ขึ้นทุกทีในขณะนั้น