Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

นวนิยายพิฆาตอาณานิคม
เมื่อตะวันตกร้องหาเครื่องเทศ มูลตาตูลีเพรียกหาความยุติธรรม
ปรามูเดีย อนันตา ตูร : เขียน
ภัควดี วีระภาสพงษ์
: แปล
นักแปลและนักวิชาการอิสระ

หมายเหตุ : บทความแปลชิ้นนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาของการล่าอาณานิคม
เพื่อแสวงหาหมู่เกาะเครื่องเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต
้และการปลดปล่อยอาณานิคมอินโดนีเซีย
อันเป็นการจุดประกายให้กับการปลดปล่อยอาณานิคมไปทั่วโลก
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 984
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)



นวนิยายพิฆาตอาณานิคม
เมื่อตะวันตกร้องหาเครื่องเทศ มูลตาตูลีเพรียกหาความยุติธรรม
ปรามูเดีย อนันตา ตูร์ : เขียน
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล
จากฉบับแปลภาษาอังกฤษของ จอห์น เอช แมคกลิน (John H. Mcglynn) นิวยอร์กไทมส์ ๑๘ เมษายน ๑๙๙๙

หมายเหตุผู้แปล: บทความนี้เป็นงานเขียนชิ้นท้าย ๆ ในชีวิตการเป็นนักเขียนของปรามูเดีย อนันตา ตูร์ ในปีสุดท้ายของสหัสวรรษที่แล้ว นิตยสารนิวยอร์กไทมส์ได้จัดทำบทความชุด The Best of the Millennium โดยเชิญนักคิดนักเขียนและบุคคลหลากหลายอาชีพทั่วโลก มาเขียนบทความเกี่ยวกับสิ่งที่มีอิทธิพลที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในรอบพันปีที่ผ่านมา บทความทั้งหมดแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ ประกอบด้วย Best Idea, Best Story และ Best Invention บทความของปรามูเดียจัดอยู่ในชุด Best Story นักคิดนักเขียนคนอื่น ๆ ที่ได้รับเชิญมา มีอาทิเช่น Umberto Eco, A.S. Byatt, Wole Soyinka, Jared Diamond, Joyce Carol Oates, Alberto Manguel ฯลฯ เป็นต้น

เมื่อราว 50 กว่าปีก่อน ในงานเลี้ยงรับรองทางการทูตที่นครลอนดอน
ชายคนหนึ่งดูสะดุดตาเป็นพิเศษ เขาร่างเตี้ยเล็กเมื่อเปรียบกับมาตรฐานของชาวยุโรป ทั้งยังผอมบาง สวมหมวกสีดำแบบชาวมุสลิมบนศีรษะผมสีดอกเลา ริมฝีปากพ่นควันบุหรี่กลิ่นหอมประหลาดฉุย ๆ จนกำจายไปทั่วห้องโถงรับรอง

ชายคนนี้คือ อากุส ซาลิม เอกอัครราชทูตของสาธารณรัฐอินโดนีเซียคนแรกที่ส่งไปประจำประเทศอังกฤษ เขามีฉายาเรียกขานกันในประเทศว่า ท่านผู้เฒ่า ซาลิมเป็นชาวอินโดนีเซียรุ่นแรกที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก ในแง่นี้ เขาจัดเป็นชาวอินโดนีเซียกลุ่มน้อยที่หาได้ยากยิ่ง เพราะในช่วงปลายยุคที่ดัทช์ครองอินโดนีเซียในปี ค.ศ. 1943 นั้น มีประชากรของประเทศแค่ 3.5% ที่อ่านเขียนหนังสือออก

ไม่น่าแปลกที่รูปกายภายนอกและบุคลิกกิริยาของซาลิม --ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงกลิ่นหอมประหลาดจากมวนบุหรี่ของเขา-- ทำให้ซาลิมตกเป็นเป้าความสนใจทันที สุภาพบุรุษผู้หนึ่งเอ่ยถามคำถามที่ติดค้างอยู่บนริมฝีปากของทุกคนในที่นั้น: "ท่านสูบอะไรอยู่หรือ?"

"นี่น่ะหรือครับ?" เล่ากันว่าอากุส ซาลิมตอบดังนี้ "นี่ก็คือเหตุจูงใจที่ทำให้ตะวันตกพิชิตโลกนั่นเอง!" อันที่จริง เขากำลังสูบบุหรี่เกรเตะก์ หรือบุหรี่อินโดนีเซียที่ผสมกานพลู กานพลูนี่แหละคือหนึ่งในเครื่องเทศที่เสาะแสวงหากันมากที่สุดในโลกมานานหลายศตวรรษ

เรื่องที่ผมเล่าถึงชาวอินโดนีเซียคนหนึ่งในราชสำนักพระเจ้าเจมส์ เป็นเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหัสวรรษนี้หรือ? ไม่ใช่แน่นอน แม้ว่าผมอดยิ้มหัวไม่ได้กับความกล้าดีที่เพื่อนร่วมชาติแสดงออก ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเล่า ก็เพราะมันสะท้อนถึงเรื่องสองประการที่ผมอยากเสนอว่าเป็น "กระบวนการ" ที่สำคัญที่สุดของสหัสวรรษนี้

กระบวนการแรกคือ การแสวงหาเครื่องเทศของชาติตะวันตก ซึ่งชักนำนานาชาติและนานาวัฒนธรรมที่ผิดแปลกแตกต่างให้มาปะทะสังสรรค์กันและกันเป็นครั้งแรก
ส่วนกระบวนการที่สองคือ การขยายตัวของโอกาสทางการศึกษา ซึ่งนำสิทธิที่เคยถูกบีบบังคับให้สูญเสียไปภายใต้อาณานิคมตะวันตก กลับมาคืนให้แก่ประชาชาติของโลกที่ต้องตกอยู่ใต้อาณานิคม นั่นคือ สิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง

กระบวนการที่สองนี้มีอุทาหรณ์เป็นงานวรรณกรรมที่บัดนี้แทบไม่มีใครรู้จักแล้ว นั่นคือ นวนิยายเรื่อง "Max Havelaar, or the Coffee Auctions of the Dutch Trading Company" ซึ่งประพันธ์โดยชาวดัทช์ชื่อ เอดูอาร์ด ดูเวอส์ เดกแกร์ (Eduard Douwes Dekker) ตีพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. 1859 ภายใต้นามปากกาว่า มูลตาตูลี (Multatuli เป็นภาษาละตินแปลว่า "ฉันทนทุกข์มาอย่างใหญ่หลวง") หนังสือเล่มนี้เล่าถึงประสบการณ์ต่าง ๆ ของชายชื่อ แม็กซ์ ฮาเฟอลาร์ เจ้าหน้าที่อาณานิคมชาวดัทช์ในเกาะชวาผู้เปี่ยมด้วยอุดมคติ ในนวนิยายเรื่องนี้ ฮาเฟอลาร์ได้รู้เห็น -และต่อมาก็ขบถต่อระบบเกณฑ์แรงงานเกษตรกรรม และส่วยพืชผลที่รัฐบาลดัทช์รีดนาทาเร้นจากชาวนาอินโดนีเซีย

ดี เอช ลอเรนซ์ เขียนไว้ในคำนำฉบับแปลภาษาอังกฤษของนวนิยายเรื่องนี้ในปี ค.ศ. 1927 โดยกล่าวว่า นี่เป็นงานเขียนที่ "ชวนโมโห" ที่สุดชิ้นหนึ่ง "เมื่อดูจากเปลือกนอก 'Max Havelaar' เป็นเหมือนใบปลิวหรือจุลสารที่คล้ายคลึงกันมากกับ 'กระท่อมน้อยของลุงทอม'" ลอเรนซ์เขียนไว้ดังนี้ "แทนที่จะ 'สงสารทาสนิโกรผู้อาภัพ' เราก็ 'สงสารชาวชวาอาภัพผู้ถูกกดขี่' แทน พร้อมกับเสียงเรียกร้องคล้าย ๆ กันให้มีการออกกฎหมายโดยเร่งด่วน ให้รัฐบาลทำอะไรสักอย่าง พอรัฐบาล [อเมริกัน] ทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับทาสนิโกรแล้ว นิยายเรื่อง 'กระท่อมน้อยของลุงทอม' ก็ตกยุคไปทันที รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เองก็ทำอะไรสักอย่างเพื่อคนจนในชวา สืบเนื่องจากอิทธิพลของหนังสือที่มูลตาตูลีเขียนขึ้นมา ดังนั้น 'Max Havelaar' จึงล้าสมัยไปแล้ว"

ก่อนจะเล่าต่อไปถึงเรื่อง "Max Havelaar" และผู้ประพันธ์นิยายเล่มนี้ ผมอยากเล่าย้อนไปอีกหน่อย ย้อนไปถึงยุคเริ่มต้นของสหัสวรรษปัจจุบันนี้ ผมอยากเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังถึงเรื่องของการแสวงหาเครื่องเทศ คำที่เป็นกุญแจสำคัญที่พึงระลึกถึงไว้ก็คือ "ศาสนา"

เป็นเวลาหลายร้อยปี เครื่องเทศ เช่น กานพลู จันทน์เทศและพริกไทย คือมูลเหตุเบื้องต้นของความขัดแย้งทางศาสนา เครื่องเทศเป็นสิ่งที่มีมูลค่าอย่างมิอาจประมาณได้ ทั้งในฐานะเครื่องถนอมอาหาร (ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งในยุคที่ยังไม่มีตู้เย็น) ในฐานะยา และในยุคที่ความหลากหลายของอาหารมีจำกัดจำเขี่ย เครื่องเทศยิ่งมีค่าในฐานะของตัวชูรสชาติ

ในปีที่ 711 หลังคริสตกาล กองทัพของชาวแขกมัวร์ยึดครองเมืองคอร์โดบาทางตอนใต้ของประเทศสเปนไว้ได้ ล่วงมาถึง ค.ศ. 756 อับดาร์ เราะห์มาน ผู้ปกครองชาวมุสลิมประกาศว่า เขาบรรลุเป้าหมายในการเผยแผ่วัฒนธรรมของอิสลามและการค้าไปทั่วทั้งสเปน สเปนกลายเป็นศูนย์กลางของโลกในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และปกปักรักษาความรู้ของกรีกกับโรมัน ซึ่งเป็นของต้องห้ามของศาสนจักรโรมันคาทอลิก

การควบคุมดินแดนทางออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไว้ได้ทั้งสองฟาก ทำให้ชาวมัวร์สามารถควบคุมการค้ากับตะวันออก อันเป็นแหล่งเครื่องเทศและสินค้าสำคัญอื่น ๆ เรือของชาวคริสต์ไม่ได้รับอนุญาตให้แล่นผ่าน นานถึงหลายศตวรรษที่การพัฒนาของประเทศชาวคริสต์ในยุโรปถึงกับหยุดชะงักนิ่งสนิท ทรัพยากรมนุษย์และเศรษฐกิจทั้งหมดที่ระดมมาได้ ถูกทุ่มเทไปกับการทำสงครามครูเสด สงครามศักดิ์สิทธิ์นี้ไม่ได้กระทำเพียงเพื่อชิงนครเยรูซาเล็มคืนมา แต่ต้องการขับไล่ชาวมัวร์ให้พ้นจากสเปนด้วย เพื่อเข้าไปควบคุมการค้าเครื่องเทศ

ในที่สุด กองกำลังฝ่ายคาทอลิกของยุโรปก็ประสบชัยใน ค.ศ. 1236 ศาสนาอิสลามถูกขับพ้นยุโรป ต้องยกให้เป็นความดีของฝ่ายชนะที่ไม่ทำลายล้างสัญลักษณ์อันเป็นมรดกที่ชาวมัวร์ทิ้งไว้ กระนั้นก็ตาม ความอาฆาตที่มีต่ออิสลามยังคุโชน รวมทั้งความกระเหี้ยนกระหือรือที่จะขับไล่กองกำลังมุสลิมออกไปจากทุกประเทศที่ชาวคริสต์ไปถึง สถานที่แรกที่ชาวคริสต์ตีแตกคือเมืองซูตาในโมร็อกโก ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือของทวีปแอฟริกา ชายฝั่งด้านนี้กับช่องแคบยิบรอลตาร์ คือประตูทางออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาตลอด เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวยุโรปจึงปักหลักสร้างที่มั่นสำคัญเพื่อแย่งชิงอำนาจควบคุมการค้าเครื่องเทศ ปัญหาอย่างเดียวก็คือ ชาวยุโรปแทบไม่รู้เลยว่า เครื่องเทศมาจากไหนกันแน่

สเปนกับโปรตุเกส สองชาติมหาอำนาจด้านการเดินเรือของยุโรปในสมัยนั้น ออกรอนแรมเพื่อค้นหาคำตอบ เพื่อรักษาระเบียบในหมู่ประเทศคาทอลิก จึงมีการขีดเส้นแบ่ง (พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่หกทรงประกาศอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1493) ให้สเปนมีสิทธิพิชิตดินแดนที่ไม่ใช่ชาวคริสต์ทั้งหมดที่อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่เกาะเคปเวิร์ด ส่วนโปรตุเกสมีสิทธิ์ยึดครองประเทศนอกศาสนาทั้งหมดที่อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่เกาะดังกล่าว ไปจนถึงเส้นแวงที่ 125 (ซึ่งอยู่ใกล้กับประเทศฟิลิปปินส์) ด้วยเหตุผลนี้เองที่โคลัมบัส นายเรือของกองนาวาสัญชาติสเปน จึงแล่นเรือไปทางตะวันตกและค้นพบทวีปแห่งหนึ่ง แทนที่จะพบต้นกำเนิดเครื่องเทศ ข้างฝ่ายโปรตุเกสก็ส่งกองเรือไปทางทิศตะวันออกสู่ทวีปแอฟริกา พวกเขากลับมาพร้อมกับทองคำ, ไข่นกกระจอกเทศและทาสเต็มลำเรือ แต่ไม่มีเครื่องเทศเช่นกัน

ต้นปี ค.ศ. 1498 วาสโก ดา กามา แล่นเรือไปถึงเกาะมาดากัสการ์ ที่ตั้งอยู่นอกชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก จากเกาะนั้น เขาพบคนนำทางพาเขาแล่นข้ามมหาสมุทรอินเดียไปถึงท่าเรือแคลิกัตทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย เมื่อเดินทางมาถึงในวันที่ 20 พฤษภาคม ดา กามาก็ "ค้นพบ" อินเดีย เคราะห์ไม่ดีนักสำหรับกลาสีผู้เหนื่อยอ่อน เพราะเขาพบว่าเครื่องเทศที่ตนเสาะแสวงหานั้น มีแต่อบเชยเท่านั้นที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ หากจะไปให้ถึงแหล่งเครื่องเทศขนานแท้ เขาต้องแล่นเรือไปอีกหลายพันไมล์ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงดินแดนที่บัดนี้รู้จักกันในนามประเทศอินโดนีเซีย แล้วแล่นต่อไปอีกหน่อยจึงจะถึงหมู่เกาะโมลุกกะ (ช่างบังเอิญที่หมู่เกาะนี้ตั้งอยู่อีกฟากซีกโลกของประเทศสเปนพอดี)

ตลอดศตวรรษต่อมา ชาวโปรตุเกสบุกเบิกเส้นทางตะวันออกเฉียงใต้ รุกไล่ไปตามเส้นทางการค้าที่เคยเป็นของชาวมุสลิม และชักจูงวิญญาณของผู้คนให้เข้ารีตไปตลอดทาง กว่าที่กองเรือของดา กามาจะแล่นไปจนถึงหมู่เกาะโมลุกกะเมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ 16 ทั้งแอฟริกา, อนุทวีปอินเดียและมะลายา ต่างถูกปราบจนศิโรราบในนามของการค้าและพระเยซูคริสต์

นักเดินทางคนอื่น ๆ เคยมาเยือนดินแดนแห่งนี้มาก่อน-รวมทั้งมาร์โก โปโล แต่ชาวโปรตุเกสเป็นชาวต่างชาติพวกแรกที่เข้ามาพำนักอย่างถาวร อาศัยปืนคาบศิลา โปรตุเกสจึงสามารถแผ่อิทธิพลไปทั่วหมู่เกาะได้อย่างรวดเร็ว ชั่วเวลาไม่ช้าไม่นาน โปรตุเกสก็ควบคุมเส้นทางเครื่องเทศจากจุดตั้งต้นจนถึงปลายทางไว้ได้

แต่มีปัญหาประการหนึ่ง โปรตุเกสขาดกำลังประชากรที่จำเป็นในการสนับสนุนกองกำลังนาวีที่จะควบคุมโลกนอกศาสนจักรคาทอลิกครึ่งหนึ่งเอาไว้ ด้วยเหตุนี้เอง โปรตุเกสจึงจำต้องจ้างกลาสีมาจากเยอรมนี, ฝรั่งเศส และโดยเฉพาะเนเธอร์แลนด์ จุดอ่อนนี้เองที่ลิขิตความล่มสลายของการผูกขาดการค้าเครื่องเทศของโปรตุเกสลงในที่สุด

กลาสีชาวดัทช์คนหนึ่งในกองนาวีโปรตุเกส ยัน เฮาเคิน ฟาน ลินสโคทเติน (Jan Huygen van Linschoten) จดบันทึกอย่างละเอียดลออตลอดการรอนแรมหกปีไปทั่วทั้งหมู่เกาะ เขาให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อจุดอ่อนต่าง ๆ ของนายจ้าง ไม่แปลกหรอกที่โปรตุเกสทำทุกวิถีทางที่จะปิดบังซ่อนเร้นจุดเปราะของตน แต่ทุกอย่างก็ถูกเปิดโปงจนได้ในปี ค.ศ. 1596 เมื่อฟาน ลินสโคทเติน กลับภูมิลำเนาและตีพิมพ์หนังสือชื่อ "A Journey, or Sailing to Portugal India or East India" หนังสือเล่มนี้-ซึ่งเปรียบเสมือนหนังสือนำเที่ยวดินแดนแห่งนี้-ได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส, อังกฤษ, เยอรมันและละตินทันที

สองปีหลังจากผลงานของฟาน ลินสโคทเตินเผยแพร่ออกไป เนเธอร์แลนด์ โดยการรวมตัวของบริษัทธุรกิจสัญชาติดัทช์ ก็ส่งกองเรือของตนไปอินโดนีเซีย ความพยายามครั้งแรกของกองเรือดัทช์ล้มเหลว แต่กองเรือดัทช์ขบวนแล้วขบวนเล่าทยอยเดินทางมาถึงหมู่เกาะ ขับไล่ชาวโปรตุเกสออกไป และนำความมั่งคั่งเหลือจะกล่าวกลับไปเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากขาดแคลนไม่เพียงแค่กำลังพล แต่ยังไร้ความสามารถทางการทูตที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง แม้แต่จะลุกขึ้นต่อสู้ ชาวโปรตุเกสยังทำไม่ได้

ความสำเร็จของชาวดัทช์ส่วนหนึ่งต้องยกให้กับการผูกสัมพันธ์กับเจ้าศักดินาที่มีอิทธิพลอำนาจบนเกาะชวา รวมไปจนถึงความเป็นมืออาชีพ อย่างน้อยที่สุด ในตอนเริ่มแรก ชาวดัทช์ตั้งใจมาค้าขาย ไม่ได้มาล่าอาณานิคม และด้วยเจตนาดังกล่าว เนเธอร์แลนด์จึงสร้างศูนย์กลางการค้าทางเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคนั้นขึ้น ที่ฐานที่มั่นของตนในเมืองปัตตะเวีย (ปัจจุบันคือจาการ์ตา)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป กองเรือการค้าดัทช์จำเป็นต้องมีกำลังทหารมาคุ้มครองการผูกขาด เพื่อรักษาราคาตลาดระหว่างประเทศให้สูงเอาไว้ ชาวดัทช์ต้องจำกัดปริมาณการผลิตเครื่องเทศด้วย ด้วยเหตุนี้ ประชากรเกือบทั้งหมดในหมู่เกาะบันดา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกต้นจันทน์เทศ จึงถูกสังหารหมู่ทิ้งในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 จากนั้น ชาวยุโรปที่เป็นลูกจ้างของบริษัทจึงเข้ามาอยู่อาศัยแทน ส่วนคนงานในไร่นานั้น ชาวดัทช์นำทาสและเชลยสงครามเข้ามาทำงาน

เช่นกัน ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมการผลิตเครื่องเทศ ประชาชนในหมู่เกาะโมลุกกะจึงถูกบังคับเกณฑ์แรงงาน ถูกต้อนลงขบวนเรือรบพื้นบ้านของชาวโมลุกกะ และถูกส่งออกไปทำลายไร่จันทน์เทศและกานพลูของคู่แข่ง

เกาะบูรู ซึ่งผมเป็นนักโทษการเมืองอยู่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969-1979 ถูกเปลี่ยนจากเกาะที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมให้กลายเป็นทุ่งรกร้างขนาดใหญ่

ตอนนี้เราเร่งเวลากลับมายังกลางศตวรรษที่ 19 สืบเนื่องจากสงครามนโปเลียนและสงครามชวา เนเธอร์แลนด์ และหมู่เกาะอินดีสตะวันออกก้าวเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจขาลง น้ำตาล, กาแฟ, ชาและคราม กลายเป็นพืชเศรษฐกิจของหมู่เกาะแทนที่เครื่องเทศ แต่เพราะปริมาณการผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่กำลังซื้อในต่างประเทศมีจำกัด กลุ่มบริษัทธุรกิจของดัทช์จึงทำกำไรน้อยลงทุกที ๆ เพื่อฟื้นคืนผลกำไร ข้าหลวงใหญ่ ย. ฟาน เดน บอช (J. van den Bosch) จึงตัดสินใจว่า รัฐบาลต้องรับประกันสิทธิในทรัพย์สินระยะยาวของนักลงทุน และควรมีการส่งออกพืชผลในปริมาณคงที่ทุกปี

เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ฟาน เดน บอช จึงประกาศใช้ระบบเกณฑ์แรงงานเกษตร หรือที่เรียกกันว่า Cultuurstelsel ชาวนาต้องส่งส่วยผลผลิตจำนวนหนึ่งจากที่ดินของตนให้แก่รัฐบาลอาณานิคม ด้วยแผนการนี้ รัฐบาลสามารถพลิกเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำของเนเธอร์แลนด์ให้ดีดตัวขึ้นมาได้ในเวลาแค่สามปี แต่เกาะชวากลับกลายเป็นโรงงานนรกทางการเกษตร

นอกจากต้องยอมสละที่ดินเพื่อทำการผลิตตามที่รัฐบาลกำหนด จ่ายภาษีสูงลิบให้ชาวดัทช์และเสีย "ส่วยสาอากร" ให้เจ้าผู้ปกครองท้องถิ่นแล้ว กฎหมายยังห้ามชาวนาไม่ให้เคลื่อนย้ายไปจากภูมิลำเนา เมื่อเกิดทุพภิกขภัยหรือไร่นาล่มเสียหาย ชาวนาก็ไม่มีทางหนีไปไหนได้เลย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ มีชาวนาหลายหมื่นคนล้มตายเพราะความอดอยาก ในขณะที่ข้าราชการชาวดัทช์และเจ้าที่ดินศักดินามั่งคั่งร่ำรวยขึ้นทุกวัน

วันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1859 ในกรุงบรัสเซลส์ เอดูอาร์ด ดูเวอส์ เดกแกร์ อดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลหมู่เกาะอินดีสเนเธอร์แลนด์ เขียนนวนิยายเรื่อง "Max Havelaar" เสร็จบริบูรณ์ ความห่วงใยต่อผลกระทบที่นโยบายอาณานิคมมีต่อประชาชนอินโดนีเซีย เป็นสิ่งที่เห็นได้เด่นชัดตลอดอาชีพการงานของเดกแกร์ แรกเริ่มเดิมทีนั้นเขาร่ำเรียนมาเพื่อเป็นนักเทศน์ เมื่อเข้ารับตำแหน่งในเกาะสุมาตราเหนือ เขาปกป้องหัวหน้าหมู่บ้านคนหนึ่งที่ถูกกระทำทารุณ และโดยไม่ทันรู้ตัว ก็พบตัวเองยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับผู้บังคับบัญชาในห้องพิจารณาคดี

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ เขาจึงถูกย้ายไปสุมาตราตะวันตก คราวนี้เขาประท้วงความพยายามของรัฐบาลที่จะปลุกปั่นความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อย จากนั้นไม่ทันไรเขาก็ถูกเรียกกลับปัตตะเวีย ความสามารถในการเขียนหนังสือเท่านั้นที่ช่วยเขาไว้ไม่ให้ถูกไล่ออก หลังจากล้มลุกคลุกคลานอีกสองสามครั้ง เดกแกร์ก็มาลงเอยที่เกาะชวาตะวันตก ที่นี่เอง เดกแกร์ในวัย 29 ปี การรู้เห็นความจริงก็มาถึงจุดสูงสุด จนทำให้เขาลาออกจากตำแหน่ง จากนิยายที่เป็นเสมือนอัตชีวประวัติ เราพอจะคาดเดาได้ว่า เขาคงเขียนจดหมายลาออกถึงข้าหลวงใหญ่ทำนองนี้:

"มาตรการที่ใต้เท้าอนุมัติ มันคือระบบของการใช้อำนาจในทางที่ผิด ระบบของการปล้นและการฆ่า ชาวชวาผู้ต่ำต้อยได้แต่คร่ำครวญอยู่ภายใต้ระบบ และนี่คือสิ่งที่ผมขอแสดงความไม่พอใจ ใต้เท้าขอรับ เหรียญเงินที่ท่านสะสมจากเงินเดือนที่ได้รับจากระบบนี้ มีแต่เลือดเปื้อนเต็มไปหมด!" เขากลับไปยุโรป-แต่ไม่ใช่กลับไปเนเธอร์แลนด์ ทว่าไปพำนักอยู่ในเบลเยียม ที่ซึ่งเขาถ่ายทอดประสบการณ์ออกมาเป็น "Max Havelaar"

ลีลาการเขียนของเดกแกร์ห่างไกลจากความสละสลวย ในการบรรยายถึงระบบ Cultuurstelsel เขาเขียนว่า: "รัฐบาลบังคับคนงานให้เพาะปลูกอะไรก็ตามที่รัฐบาลพอใจ รัฐบาลลงโทษคนงานถ้าเขาขายพืชผลที่ผลิตได้ให้คนอื่นนอกเหนือจากรัฐบาล และรัฐบาลกำหนดราคาตายตัวที่จะจ่ายให้คนงาน การขนส่งไปยุโรป ซึ่งต้องผ่านบริษัทการค้าที่ได้สัมปทาน มีต้นทุนสูง เงินที่จ่ายเพื่อเอาใจหัวหน้าหมู่บ้านยิ่งทำให้ราคาสูงขึ้นไปอีก และ...เนื่องจากธุรกิจต้องมีกำไรให้ได้ กำไรนี้จึงหามาได้ทางเดียวด้วยการจ่ายค่าจ้างให้ชาวชวาแค่พอไม่อดตาย ความอดอยากน่ะหรือ? ในเกาะชวาที่มั่งคั่ง, อุดมสมบูรณ์ราวกับสวรรค์บนดิน? ใช่แล้ว ท่านผู้อ่าน แค่ไม่กี่ปีก่อน มีหลายแห่งที่อดตายกันทั้งหมู่บ้าน แม่เร่ขายลูกเพื่อแลกกับอาหาร แม่กินเนื้อลูกตัวเอง"

นวนิยายเรื่อง "Max Havelaar" ที่เผยแพร่ออกมาในปี ค.ศ. 1859 เปรียบประดุจแผ่นดินไหว เช่นเดียวกับ "กระท่อมน้อยของลุงทอม" ที่เป็นหัวกระสุนให้ขบวนการเลิกทาสในอเมริกา "Max Havelaar" ก็กลายเป็นอาวุธไว้ตบหน้าชาวดัทช์ในอินโดนีเซีย และเป็นอาวุธของขบวนการเสรีนิยมที่กำลังขยายตัวในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งต่อสู้เพื่อให้เกิดการปฏิรูปในอินโดนีเซีย โดยอาศัย "Max Havelaar" ขบวนการเสรีนิยมจึงมีอาวุธที่สามารถสร้างความอับอายแก่รัฐบาลดัทช์ จนนำไปสู่การสร้างนโยบายใหม่ที่รู้จักกันในชื่อของ นโยบายจริยธรรม เป้าหมายหลักคือส่งเสริมการชลประทาน การอพยพย้ายถิ่นฐานระหว่างเกาะต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมการศึกษาในหมู่เกาะอินดีสเนเธอร์แลนด์

ในตอนแรก ผลกระทบของการปฏิรูปมีไม่มากนัก แต่ล่วงมาถึงต้นศตวรรษที่ 20 ชาวอินโดนีเซียจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของผู้ปกครองท้องถิ่น เริ่มรู้สึกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น คนหนึ่งในจำนวนนั้นคือ อากุส ซาลิม ชายผู้สูบบุหรี่กานพลู การอ่านนวนิยายเรื่อง "Max Havelaar" ในโรงเรียนช่วยปลุกเขาตื่นขึ้น ซาลิม พร้อมกับชาวอินโดนีเซียคนอื่น ๆ ที่ได้รับการศึกษาแบบดัทช์ ร่วมกันสร้างขบวนการเพื่อการปลดปล่อยและเสรีภาพ จนในที่สุดนำไปสู่การปฏิวัติเต็มรูปแบบในช่วงทศวรรษ 1940

การปฏิวัติอินโดนีเซียไม่เพียงให้กำเนิดประเทศใหม่ขึ้นมาประเทศหนึ่ง มันยังจุดประกายให้เกิดเสียงเพรียกหาการปฏิวัติในแอฟริกา และสะท้อนไปปลุกสำนึกของประชาชนใต้อาณานิคมชาติอื่น ๆ ในโลกต่อเป็นทอด ๆ ส่งสัญญาณถึงจุดจบของการปกครองระบอบอาณานิคมของยุโรป บางที ถ้ามองในแง่หนึ่ง มันคงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เพราะถึงที่สุดแล้ว โลกต้องตกเป็นอาณานิคมของยุโรปก็เพราะ หมู่เกาะเครื่องเทศของอินโดนีเซียเป็นสาเหตุมิใช่หรือ? เราอาจกล่าวได้ว่า การริเริ่มกระบวนการปลดแอกอาณานิคม คือชะตากรรมของอินโดนีเซีย

แด่มูลตาตูลี-เอดูอาร์ด ดูเวอส์ เดกแกร์ เจ้าของผลงานที่จุดประกายกระบวนการนี้ โลกติดหนี้บุญคุณเขาอย่างใหญ่หลวง







สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 980 เรื่อง หนากว่า 16000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



240749
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
นวนิยายพิฆาตอาณานิคม : อินโดนีเซีย
บทความลำดับที่ ๙๘๔ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
ดี เอช ลอเรนซ์ เขียนไว้ในคำนำฉบับแปลภาษาอังกฤษของนวนิยายเรื่องนี้ในปี ค.ศ. 1927 โดยกล่าวว่า นี่เป็นงานเขียนที่ "ชวนโมโห" ที่สุดชิ้นหนึ่ง "เมื่อดูจากเปลือกนอก 'Max Havelaar' เป็นเหมือนใบปลิวหรือจุลสารที่คล้ายคลึงกันมากกับ 'กระท่อมน้อยของลุงทอม'" ลอเรนซ์เขียนไว้ดังนี้ "แทนที่จะ 'สงสารทาสนิโกรผู้อาภัพ' เราก็ 'สงสารชาวชวาอาภัพผู้ถูกกดขี่' แทน พร้อมกับเสียงเรียกร้องคล้าย ๆ กันให้มีการออกกฎหมายโดยเร่งด่วน ให้รัฐบาลทำอะไรสักอย่าง พอรัฐบาล [อเมริกัน] ทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับทาสนิโกรแล้ว นิยายเรื่อง 'กระท่อมน้อยของลุงทอม' ก็ตกยุคไปทันที รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เองก็ทำอะไรสักอย่างเพื่อคนจนในชวา สืบเนื่องจากอิทธิพลของหนังสือที่มูลตาตูลีเขียนขึ้นมา ดังนั้น 'Max Havelaar' จึงล้าสมัยไปแล้ว"

ก่อนจะเล่าต่อไปถึงเรื่อง "Max Havelaar" และผู้ประพันธ์นิยายเล่มนี้ ผมอยากเล่าย้อนไปอีกหน่อย ย้อนไปถึงยุคเริ่มต้นของสหัสวรรษปัจจุบันนี้ ผมอยากเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังถึงเรื่องของการแสวงหาเครื่องเทศ คำที่เป็นกุญแจสำคัญที่พึงระลึกถึงไว้ก็คือ "ศาสนา"

 

สเปนกับโปรตุเกส สองชาติมหาอำนาจด้านการเดินเรือของยุโรปในสมัยนั้น ออกรอนแรมเพื่อค้นหาคำตอบ(เครื่องเทศ) เพื่อรักษาระเบียบในหมู่ประเทศคาทอลิก จึงมีการขีดเส้นแบ่ง (พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่หกทรงประกาศอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1493) ให้สเปนมีสิทธิพิชิตดินแดนที่ไม่ใช่ชาวคริสต์ทั้งหมดที่อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่เกาะเคปเวิร์ด ส่วนโปรตุเกสมีสิทธิ์ยึดครองประเทศนอกศาสนาทั้งหมดที่อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่เกาะดังกล่าว ไปจนถึงเส้นแวงที่ 125 (ซึ่งอยู่ใกล้กับประเทศฟิลิปปินส์) ด้วยเหตุผลนี้เองที่โคลัมบัส นายเรือของกองนาวาสัญชาติสเปน จึงแล่นเรือไปทางตะวันตกและค้นพบทวีปแห่งหนึ่ง แทนที่จะพบต้นกำเนิดเครื่องเทศ ข้างฝ่ายโปรตุเกสก็ส่งกองเรือไปทางทิศตะวันออกสู่ทวีปแอฟริกา พวกเขากลับมาพร้อมกับทองคำ, ไข่นกกระจอกเทศและทาสเต็มลำเรือ แต่ไม่มีเครื่องเทศเช่นกัน

midnighpolitics