บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๑๑๓ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙
26-12-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Justice & healthful ecology
The Midnight University

ตุลาการภิวัตน์ในฐานะผู้วางนโยบายสังคมและสิ่งแวดล้อม
คดีสิ่งแวดล้อมฟิลิปปินส์: กรณีผลกระทบจากเหมืองทองแดง (๑)
ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล

โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
งานวิจัยภายใต้โครงการทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย
API Fellow 2005-2006

บทความวิชาการชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน เป็นเรื่องเกี่ยวกับ
ประสบการณ์คดีสิ่งแวดล้อมประเทศฟิลิปปินส์
กรณีการฟ้องร้องให้ชดเชยความเสียหายและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม:
ประสบการณ์จากประเทศฟิลิปปินส์ กรณีผลกระทบจากเหมืองทองแดง ในแม่น้ำ Mogpog เกาะ Marinduque
ซึ่งกรณีดังกล่าว นักต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกันกับนักวิชาการ
ตระเตรียมข้อมูลของตนอย่างพรั่งพร้อม และทำทุกวิถีทางเพื่อเปิดเผยข้อมูลของตน
ไปยังองค์กรสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ รัฐบาล
และสื่อต่างๆ เพื่อร่วมกันรณรงค์ต่อสู้กับบริษัทและทุนขนาดใหญ่
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๑๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4)



การฟ้องร้องให้ชดเชยความเสียหายและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม: (๑)
ประสบการณ์จากประเทศฟิลิปปินส์ กรณีผลกระทบจากเหมืองทองแดงในแม่น้ำ Mogpog เกาะ Marinduque
ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล : โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม(API Fellow 2005-2006) ธันวาคม ๒๕๔๘

(๑) นั่งอ่านหนังสือและตามหากรณีศึกษาคดีสิ่งแวดล้อมในมานิลา
เดือนแรกในมานิลา ระหว่างที่นั่งอ่านหนังสือในห้องสมุด Rizal และห้องสมุดของ Institute Philippines Culture (IPC) ใน Ateneo de Manila University ก็ได้พยายามนัดหมายเพื่อพบปะกับทนายความ เอ็นจีโอที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อขอข้อมูลสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของฟิลิปปินส์ รวมถึงขอคำแนะนำเกี่ยวกับกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ใครหลายคนยืนยันว่า(1) กรณีแรกในฟิลิปปินส์ที่ชุมชนดำเนินคดีฟ้องร้องผู้ก่อมลพิษให้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมถึงให้มีการดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมนั้น น่าจะเป็นกรณี Marinduque ส่วนกรณีอื่นๆ นั้น ยังไม่มีการฟ้องร้องเป็นคดี

สภาพข้อเท็จจริง : ผลกระทบจากเหมืองทองแดงในแม่น้ำ ๒ สายกับอีก ๑ อ่าวทะเลที่เกาะ Marinduque
ข้อมูลจากห้องสมุด(2) อินเตอร์เนท(3) ในระหว่างก่อนและหลังนัดหมาย รวมถึงข้อมูลจากการพูดคุยกับทนายความที่ทำคดีดังกล่าว Mel หรือ Melizel F.Asuncion จาก Legal Rights and Natural Resources Center, Inc.(LRC) (4) และ รอน (Ron) จาก Upholding Life and Natural (ULAN) สามารถประมวลสภาพข้อเท็จจริงได้ว่า

ผู้ประกอบการเหมืองทองแดงสัญชาติแคนาดาที่ชื่อ มาร์คอปเปอร์ มายนิง คอรปอเรชัน (Marcopper Mining Corporation-MMC)(5) นั้น ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการเหมือง Tapian (Tapian Pit) ในเขตเมือง Santra Cruz บนเกาะ Marinduque มาตั้งแต่ปี ๑๙๖๗ โดยในเวลานั้นการปล่อยน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย, บริษัทมาร์คอปเปอร์ฯ ได้สร้างท่อระบายน้ำเสียสู่อ่าว Calancan ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเกาะ Marinduque จึงถูกต่อขึ้นจากตัวเหมือง ผ่านหมู่บ้านชาวประมง และไปสู่ชายฝั่งของอ่าว Calancan ยาวลงไปในทะเลอีก ๗ กิโลเมตร

ระหว่างปี ๑๙๗๕-๑๙๙๑ มีการประมาณการว่ากากตะกอนของเสียอันตรายประเภทสารพิษโลหะหนักจากเหมือง Tapian ของบริษัทมาร์คอปเปอร์จำนวนกว่า ๒๐๐ ล้านตันได้ถูกทิ้งลงสู่อ่าว Calancan กระจายปกคลุมปะการัง หญ้าทะล รวมถึงพื้นผิวทะเล (sea floor) เป็นพื้นที่ประมาณ ๕๐ ตารางกิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศในทะเล และแน่นอนกระทบถึงประมงชายฝั่งที่หมายถึงชีวิตของผู้คนร่วม ๒๐,๐๐๐ คนในบริเวณอ่าว Calancan

รัฐบาลมาคอส (Ferdinand Marcos) ในเวลานั้น ได้มีคำสั่งให้บริษัทมาร์คอปเปอร์หยุดการปล่อยน้ำทิ้งลงสู่อ่าว แต่ในทางปฏิบัติการปล่อยน้ำเสียจากกิจการเหมืองยังคงดำเนินต่อไป จนกระทั่งปีปี ๑๙๘๖ รัฐบาลสมัยอาคีโน (Corazon C. Aquino) ได้มีคำสั่งอีกครั้ง และนำไปสู่การเพิกถอน Environmental Compliance Certificate (EEC) และ Mining Lease Agreement และบริษัทมาร์คอปเปอร์ถูกสั่งให้จ่ายเงินวันละ ๓๐,๐๐๐ เปโซสำหรับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมบริเวณอ่าว Calancan โดยการฟื้นฟูตามแผนของมาร์คอปเปอร์ (The Calancan Bay Rehabilitation Program under the Environmental Management Bureau -EMB) ก็คือ การปลูกป่าชายเลน หญ้าทะเล และการวางประการังเทียม ถึงตรงนี้ข้อมูลจากหนังสือหลายเล่มหยุดลงแค่ว่าการฟื้นฟูฯ ดังกล่าว ซึ่งมีแผนจะเสร็จสิ้นและจะถูกจัดทำเป็นรายงานในเดือนพฤศจิกายน ๑๙๙๐

ปี ๑๙๙๒ บริษัทมาร์คอปเปอร์ฯ ได้ย้ายตัวเหมืองไปยังบริเวณตอนเหนือของเกาะ ในชื่อใหม่ว่า San Antonio วันที่ ๖ ธันวาคม ๑๙๙๓ เขื่อนกักตะกอนที่ชื่อ Maguila-Guila (Maguila-Guila Dam)) ได้ปริแตกและพังทลายลง น้ำเสียซึ่งปนเปื้อนสารโลหะหนักทะลักลงสู่แม่น้ำ Mogpog บ้านเรือนของชุมชนบริเวณสองฝั่งแม่น้ำ Mogpog รวมถึงชีวิตของเด็ก ๒ คนถูกพัดพาไปกับกระแสน้ำที่รุนแรง นอกจากนี้ น้ำยังได้ไหลท่วมนาข้าวและพืชผักของชุมชนด้วย

วันที่ ๒๔ มีนาคม ๑๙๙๖ เขื่อนกักตะกอนฯ อีกแห่งของบริษัทมาร์คอปเปอร์ พังทลายอีกครั้ง คราวนี้ตะกอนสารพิษและสารโลหะหนักประมาณ ๓ ล้านตันแพร่กระจายลงสู่แม่น้ำ Makulapnit และ แม่น้ำ Boac และไหลเข้าท่วมไร่ข้าวโพด สวนผักตลอดริมฝั่งแม่น้ำ, สิ่งมีชีวิตในน้ำในระยะทาง ๒๗ กิโลเมตรตายหมด, ถนนเสียหาย, หมู่บ้าน (Baragay) ๑๔ แห่งถูกตัดขาดจากภายนอก, ต้องมีการอพยพคนจำนวน ๓,๐๐๐ คนในทันที, อาชีพประมงซึ่งเป็นอาชีพที่สองของคนจำนวน ๒๐,๐๐๐ คนใน ๔๒ หมู่บ้านได้รับผลกระทบ และแม้ว่าชุมชนจะไม่ได้ดื่มและบริโภคน้ำจากแม่น้ำ Boac เป็นหลัก แต่ก็มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่ต้องออกไปหาแหล่งน้ำดื่มที่ไกลออกไป, ชาวบ้านมีอาการคันตามผิวหนัง, มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ, ปวดหัว, ปวดท้องฯ (6)

นอกจากนี้ พบว่ามีเด็กสามคนต้องเสียชีวิตจากการมีค่าสารโลหะหนักในร่างกายสูง เด็กวัยรุ่นสามคนต้องเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลถึง ๓ เดือนเพื่อเปลี่ยนถ่ายเลือด โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากบริษัทมาร์คอปเปอร์หรือหน่วยงานรัฐ. ชาวประมงคนหนึ่งต้องตัดขาทิ้งเพราะผลจากร่างกายได้รับพิษจากสารโลหะหนักประเภท arenic และมีคนอีกจำนวนมากที่มียังคงมีอาการปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ หวาดวิตก กังวลว่าจะเป็นโรคมะเร็งฯลฯ (7)

การเยียวยาโดยบริษัทมาร์คอปเปอร์และรัฐบาลฟิลิปปินส์
ทุกครั้งที่เกิดกรณีการแพร่กระจายของตะกอน และน้ำเสียโลหะหนักลงสู่แม่น้ำไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ Moppog หรือ Boac ประเด็นที่บริษัทมาร์คอปเปอร์ ยกขึ้นมาแถลงข่าวก็คือเป็นเรื่องเหตุสุดวิสัย (act of good) อันเนื่องมาจากไต้ฝุ่น อย่างไรก็ดี กรณีของแม่น้ำ Baoc ได้รับการประโคมข่าวจากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ

บริษัทมาร์คอปเปอร์ฯ จึงเร่งดำเนินการเยียวยาปัญหาระยะสั้นทันทีเช่นกัน ด้วยการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อเส้นทางที่ถูกตัดขาด, ใช้เฮลิคอปเตอร์บินแจกจ่ายอาหารและข้าวของเครื่องใช้ และกล่าวว่าแม้ว่าสาเหตุที่เกิดความเสียหายนั้นจะเกิดจากเหตุสุดวิสัย แต่ทางบริษัทก็มีความรับผิดชอบทางศีลธรรม (moral responsibility) โดยเสนอตัวว่าจะดำเนินการขุดตะกอนในแม่น้ำ Boac ออกไปกำจัด ซึ่งต่อมาก็คือแผนงาน Placer Dome Technical Services หรือ PDTS

ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ประกาศมาตรการประกันมิให้คนในชุมชนต้องสัมผัสกับน้ำเสีย คือ ให้หยุดการอาบน้ำ/ว่ายน้ำ/เล่นน้ำในแม่น้ำ หยุดกินปลาจากแม่น้ำ และให้ไปซักผ้าที่อื่น (แต่ไม่ได้บอกว่าควรไปที่ไหน)

แผน PDTS ยังคงหยุดนิ่ง ครั้งแรกบริษัทมาร์คอปเปอร์อ้างว่าอยู่ระหว่างรอเครื่องจักร (Dredging machine) มูลค่า ๓๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์ที่สั่งซื้อจากฮ่องกง ต่อมาก็อ้างฝนตก! ฝนเป็นอุปสรรคในการดำเนินการดังกล่าว ต่อมาแผน PDTS ก็ถูกทิ้งไว้เฉยๆ

๙ พฤษภาคม ๒๐๐๓ บริษัทมาร์คอปเปอร์ตั้งกองทุนช่วยเหลือ Environmental Guarantee Fund-EGF เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดแก่บ้านเรือน พื้นที่การเกษตร วัวควาย แต่การชดเชยความเสียหายดังกล่าวมีเงื่อนไขมากมาย และมีการชดเชยเงินจำนวนเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ยังต้องใช้เวลานานกว่าผู้เสียหายจะได้รับเงินชดเชย

ความรับผิดชอบของมาร์คอปเปอร์ที่อาจจะพอมีอยู่บ้าง ในกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชุมชนบนเกาะ Marinduque ก็คือ อย่างน้อยแม่น้ำ Boac ก็ยังได้รับการใส่ใจดูแลไปจนถึงขั้นวางแผนว่าจะฟื้นฟู ขณะที่ไม่เคยมีการพูดถึงการฟื้นฟูแม่น้ำ Mogpog กับอ่าว Calancan จนวินาทีสุดท้าย ที่เหมืองของบริษัทมาร์คอปเปอร์ปิดตัวลงและจากชุมชนบนเกาะนี้ไป. อย่างไรก็ดี ตะกอนสารโลหะหนักจำนวน ๕ ล้านคิวบิคเมตรในระยะทาง ๑๐ กิโลเมตรในแม่น้ำ Boac ยังคงสร้างผลกระทบต่อเนื่องต่อระบบนิเวศของลำน้ำ Boac ขณะที่พบว่าตะกอนสารโลหะหนักหลายร้อยตันยังคงปนเปื้อนอยู่ตลอดลำน้ำ Mogpog (8)

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำ ๒ สาย และ ๑ อ่าวทะเล ผ่านกระบวนการเรียกร้องให้มีการเยียวยา ฟื้นฟูและแก้ไขโดยชุมชนอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง การฟ้องร้องเป็นคดีเพิ่งมาเริ่มต้นในปี ๒๐๐๑ ในคดีฟ้องร้องให้ชดเชยความเสียหายและฟื้นฟูแม่น้ำ Mogpog และในปี ๒๐๐๔ ในคดีฟ้องร้องให้ชดเชยความเสียหายและฟื้นฟูอ่าว Calancan. ข้อมูลหลายด้านหยุดลงแค่นี้ Mel และ Ron บอกว่าทุกอย่างที่มากกว่านี้-รออยู่ในพื้นที่

(๒) ร่องรอยของความเสียหายที่ Marinduque
Marinduque เป็นจังหวัดที่เป็นเกาะ ซึ่งเป็นเกาะที่เล็กเป็นอันดับสองของฟิลิปปินส์ อยู่ทางตอนใต้ของเมโทร มานิลา (Metro Manila) ไปร่วม ๔ ชั่วโมงรถบัส กับอีก ๓ ชั่วโมงกว่าโดยเรือเฟอรรี่ (หรือ ๑ ชั่วโมงเศษ โดยสปีดโบท) จังหวัดนี้ประกอบไปด้วยชุมชนเมือง (town) ๖ แห่ง คือ Boac, Mogpog, Santa Cruz, Gasan, Buena vista และ Torrijos

Boac เป็นชื่อเมืองหลวงและชื่อแม่น้ำสายหลักของเกาะ Marinduque นับจากวันที่ตะกอนสารโลหะหนักจากเขื่อนกักตะกอนไหลทะลักลงสู่แม่น้ำ Boac ไม่เพียงแต่คุณภาพน้ำในแม่น้ำ Boac เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ วิถีชีวิตของคนในเมือง Boac ที่พึ่งพิงแม่น้ำ Boac ในฐานะแหล่งโปรตีนของแต่ละครอบครัว, แหล่งรายได้อันดับที่สองรองจากการทำนาข้าวและพืชผัก ในการจับปลา กุ้ง และหอยก็กระทบด้วยเช่นกัน นอกจากนี้มีอีกหลายชีวิตที่รายได้ส่วนหนึ่งมาจากการรับซักเสื้อผ้าก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

วันนี้ ชาวเมือง Boac บอกว่าพวกเขาไม่ได้จับปลา / บริโภคสัตว์น้ำ รวมถึงไม่ลงไปเล่นน้ำ อาบน้ำ หรือซักผ้าในแม่น้ำ Boac อีกแล้ว แต่ในทางความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นแบบนั้น. ถ้าฝนไม่ตก ช่วงบ่ายจัดไปจนถึงเย็นย่ำของทุกเสาร์-อาทิตย์ แม้ภายในบริเวณโบสถ์ที่อยู่ห่างไกลจากสะพานข้ามแม่น้ำ Boac ประมาณ ๒๕ นาทีเดินเท้า ก็ยังสามารถได้ยินเสียงตะโกนโหวกเหวกปนกับเสียงหัวเราะของเด็กๆ ที่ไปว่ายน้ำ เล่นน้ำในแม่น้ำ Boac เด็กหลายคนยืนดูเด็กคนอื่นเล่นสนุกในน้ำ โดยให้เหตุผลว่า "กลัวคันและเกาอย่างไรก็ไม่หาย" แต่ก็มีอีกหลายคนเช่นกันที่ไม่ได้แค่เล่นสนุก พวกเขายังงมหาปูหรือกุ้งเพื่อกลับไปเป็นอาหารมื้อต่อไปด้วย ปูที่เด็กบางคนจับได้มีขนาดประมาณปูตัวเล็กๆ แต่เด็กๆ ยืนยันว่าปูส่วนใหญ่ที่จับได้ก็ขนาดประมาณนี้เสมอ

ส่วนกรณีของอ่าว Canlancan นั้น อาลิซาเบท แมงกอล (Elizabeth Manggol) หรือ เบธ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานของ the Marinduque Council for Environment Concern - MACED ผู้นำทาง ได้เกริ่นไว้ว่า จนถึงวันนี้ท่อเหล่านั้น ก็ยังคงอยู่ในจุดใกล้เคียงตำแหน่งเดิมของมัน. สายของวันหนึ่งในต้นเดือนตุลาคม 2005 ที่ได้ไปเยี่ยมเยือน ประมาณร่วมชั่วโมงจากตัวเมือง Boac ไปยังเมือง Str.Cruz และเมื่อรถ Jeepney ผ่านเข้าเขตเหมือง ท่อยาวหลายเมตร หลายแท่ง เริ่มปรากฎตัว, บางท่ออยู่เพียงลำพัง บางจุดอยู่กันเป็นกลุ่มท่อ เดี๋ยวผลุบเดี๋ยวโผล่ตามพงหญ้า หรือไม่เปิดเผยตัวอย่างโดดเด่นอยู่ข้างถนน บางจุดก็ระเกะระกะ นับจากบริเวณเหมือง - ผ่านหมู่บ้านชาวประมง - ไปจนถึงอ่าว Calancan ยืนยันถึงคำพูดของเบธ เพียงแต่สภาพของมันนั้น ผุกร่อนและเก่ามากๆ

อ่าว Calancan เป็นจุดปลายท่อ ไม่น่าเชื่อว่าถึงวันนี้ร่วม ๒๐ ปี ท่อเก่าๆ ผุๆ ๒ แท่งที่ผลุบโผล่พื้นผิวหน้าดินเพื่อมาโผล่ครั้งสุดท้ายที่ริมทะเล ก่อนจมดินลงสู่อ่าว Calancan นั้น ยังคงปรากฎตัวอวดสายตาใครที่ผ่านไปมาในฐานะพยานหลักฐานยืนยันการทำลายคุณภาพน้ำ ระบบนิเวศ รวมถึงวิถีชีวิตของชาวประมงบริเวณอ่าว Calancan (9)

จากความเสียหายและความสูญเสียในช่วง ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมา ชุมชนได้เสนอข้อเรียกร้องทั้งจากบริษัทมาร์คอปเปอร์ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการชดเชยความเสียหายด้านสุขภาพที่ยังคงปรากฎต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และยังไม่มีใครยืนยันว่ามันจะไม่ต่อเนื่องไปในอนาคต รวมถึงฟื้นฟูแม่น้ำทั้ง ๒ สาย ผืนดิน และ ๑ อ่าวทะเลให้กลับคืนสู่สภาพเดิม หรือพูดให้รวบรัดก็คือ พวกเขาต้องการวิถีชีวิตเดิมกลับคืนมา

(๓) การเรียกร้องและการคัดค้านต้องทำในทุกโอกาส ที่นำไปสู่พยานเอกสารจำนวนมากมาย
หลังจากที่เมลช่วยแนะนำและประสานงานให้ได้พบกับเบธ ในวันที่สองของการพบกันเบธเตรียมกองเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้ ๒ ตั้งใหญ่ๆ ตามที่รับปาก มีเอกสาร ๔ เล่มที่ใหญ่และหนาที่สุดในบรรดาเอกสารทั้งหมด

หากใครจะเคยคุ้นเคยกับการทำงานของ NGOs บ้านเรา น่าจะเห็นด้วยกับ สุรชัย ตรงงาม ทนายความและผู้ประสานงานโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Litigation and Advocacy for the Wants-EnLAW) ที่ได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ประการหนึ่งว่า "NGOs บ้านเรา ไม่ค่อยเสนอข้อเรียกร้อง/ทวงถาม /สอบถาม หรือติดตามตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ในลักษณะที่เป็นลายลักษณ์อักษร" (10) ซึ่งเท่ากับว่า 'ไม่มีหลักฐาน' แสดงว่า ครั้งหนึ่ง หรือหลายครั้งที่ชุมชนหรือเอ็นจีโอได้เคยเสนอข้อเรียกร้อง/ทวงถาม/สอบถาม/ติดตามความคืบหน้าฯลฯ จากหน่วยงานภาครัฐแล้ว

แต่สำหรับ MACED เอกสารหลายร้อยหน้า ๒ ใน ๔ เล่มหนานั้น นอกจากจะบอกเล่าถึงการทำงานของ MACED แล้ว มันยังเป็นพยานหลักฐานที่ยืนยันถึงการติดตามตรวจสอบหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทุกแห่งว่า ได้ใส่ใจและจริงจังต่อข้อเรียกร้องของพวกเขาหรือไม่

มันมีทุกอย่าง ตั้งแต่การบอกเล่าถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของบริษัทมาร์คอปเปอร์และทวงถามความรับผิดจากบริษัทฯ ขณะเดียวกันประเด็นนี้ก็ถูกส่งถึงมือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับพื้นที่ คือเทศบาล (Manucipality) ผู้ว่าราชการจังหวัด (Governor) สภาจังหวัด และเรื่อยไปถึงหน่วยงานบริหารที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Department of Environment and Natural Resource-DENR) สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ไปจนถึงประธานาธิบดี หลังจากนั้น ไม่ว่าบริษัทมาร์คอปเปอร์/หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จะตอบจดหมายกลับมาหรือไม่ SAC ยังคงส่งจดหมายเพื่อทวงถาม ติดตามความคืบหน้า อย่างสม่ำเสมอ

ทุกครั้งที่บริษัทมาร์คอปเปอร์ หน่วยงานรัฐใดๆ มีกิจกรรม นโยบาย/แผนงาน หรือการเคลื่อนไหวใดๆ ที่เกี่ยวข้อง SAC จะยื่นหนังสือเพื่อแสดงความคิดเห็น จดหมายต่อกิจกรรม นโยบาย/แผนงาน หรือการเคลื่อนไหวดังกล่าวทุกครั้ง บางฉบับเป็นเพียงจดหมายที่เขียนถึงบริษัทมาร์คอปเปอร์หรือหน่วยงานรัฐหน่วยใดหน่วยหนึ่งโดยตรง บางฉบับจั่วหัวว่าเป็นจดหมายเปิดผนึก (open letter) เป็นจดหมายคัดค้าน (opposition letter) เป็นแถลงการณ์ (statement) เป็นหนังสืออุทธรณ์ (appeal) ฯลฯ

นอกจากนี้ MACED ยังได้ประสานงานไปยังหน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่น ทั้งระดับเทศบาลและจังหวัดเพื่อหามติร่วมกันในแต่ละเหตุการณ์ แต่ละประเด็น มติร่วมกัน (Resolution) ดังกล่าวนั้น มีจำนวนหลายสิบฉบับ (และอาจถึงร้อย) และแน่นอนว่า-มติร่วมกันดังกล่าวฯ ได้ถูกสำเนาครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อส่งต่อให้ถึงมือของบริษัทมาร์คอปเปอร์, องค์กรและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง. "การคัดค้านต้องทำทุกโอกาส ทุกประเด็นที่เกิดขึ้น เราไม่เคยปล่อยให้ประเด็นไหนเงียบหายไป" เบธบอกไว้แบบนั้น

ความน่าสนใจที่น่าชื่นชมและชมเชยประการหนึ่ง ก็คือ จดหมายหรือข้อมติร่วมฯ ดังกล่าว มีเนื้อหาใจความที่มากไปกว่าข้อเท็จจริงในแง่ผลกระทบของชุมชน หลายฉบับที่ MACED คัดค้าน, อุทธรณ์, หรือเปิดผนึกแถลงการณ์ออกไป มีการอ้างอิงที่มาที่ไป วันเวลาและสถานที่ของแต่ละประเด็นอย่างเกือบครบถ้วน มีข้อมูลทางเทคนิคไม่ว่าจะเป็นในด้านสิ่งแวดล้อม (มีการนำข้อมูลใน EIA หรือ SIA มาใช้ประกอบ/อธิบายเพิ่มเติม) หรือด้านสุขภาพ (ได้นำข้อมูลรายงานการประเมินความเสียหายด้านสุขภาพจากหลายหน่วยงานมาสนับสนุน) รวมถึงอ้างอิงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมายืนยันประกอบ ทำให้ข้อโต้ตอบ หรือข้อสังเกต (หรือข้อกล่าวหา) ของ MACED ดูหนักแน่นยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ต้องกล่าวไว้เช่นกันด้วยว่า ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ MACED ผลิต "พยานเอกสาร" ได้มากขนาดนี้ ก็ด้วยเพราะมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ลงพื้นที่ศึกษาและรายงานผลการศึกษาขึ้นมาให้เป็นที่ประจักษ์. บนพื้นฐานข้อมูลเหล่านี้ MACED รู้จักที่จะใช้มันให้เกิดประโยชน์ ขณะที่ NGOs องค์กรอื่น ในประเด็นปัญหาอื่นๆ ไม่สามารถผลิตพยานหลักฐานเหล่านี้ขึ้นมาได้ ก็เนื่องเพราะขาดฐานข้อมูลรวมถึงความเห็นของนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ

(๔) รายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพฉบับหลังเกิดเหตุ
หลักการพื้นฐานที่มีความเป็นสากลไปแล้วประการหนึ่งในการป้องกันและเยียวยาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคมรวมถึงสุขภาพจากโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการสร้างผลกระทบข้างต้น ก็คือ การกำหนดให้มีการจัดศึกษา และจัดทำรายงานวิเคราะห์/ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม รวมถึงด้านสุขภาพ (Environmental Impact Assessment, Social Impact Assessment, Health Impact Assessment)

สังคมฟิลิปินโนเองก็อยู่ภายใต้หลักการพื้นฐานที่ว่า โดยมีกฎหมายที่พูดถึงข้อกำหนดให้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี ๑๙๗๗ (11) แต่ข้อมูลที่ Beth รวบรวมไว้และให้มาไม่มีข้อมูลใดเกี่ยวกับ EIA ข้อมูลและรายงานหลายเล่มหลายร้อยหน้า ไม่มีบรรทัดไหนที่อ้างอิงไปถึง EIA ของบริษัทมาร์คอปเปอร์เลย

สิ่งที่ชวนให้ตื่นเต้นเมื่ออ่านเอกสารที่นอกเหนือไปจากสองเล่มหนาที่เป็นการทำงานของ MACED ก็คือ ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นรายงานที่หลายองค์กร/หน่วยงานเขียนขึ้น หลังจากการลงพื้นที่ Marinduque เพื่อประเมินความเสียหายทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ หรือที่ใครหลายคนเรียกมันว่า "รายงานประเมินผลกระทบฉบับหลังเกิดเหตุ" อาทิ

รายงานประเมินผลกระทบฉบับหลังเกิดเหตุ โดย NGOs กลุ่มต่างๆ
- รายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจโดย NGOs หลายหน่วยงานร่วมกันเป็นคณะทำงาน ในชื่อ Environmental and Social Investigation Mission : The Marcopper Mine Tailings Disater โดยคณะทำงานประกอบไปด้วย Citizen's Disater Response Center (CDRC), Center for Environmental Concern-Philippines (CEC-Phils.), Health Alliance for Democracy (HEAD), Bagon Alyansan Makabayan (BAYAN), Mennonite Central Committee-Philippines, Management Advancement System Association, Inc. (MASAI), Mission host by the Social Action Commission, Diocese of Boac ดำเนินการศึกษาในพื้นที่เมื่อวันที่ ๘-๑๑ พฤษภาคม ๑๙๙๖

- รายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคม ในชื่อ The Marcopper-Placer Dome, Inc. Rehabilitation strategies for the Boac river ecosystem โดย Center for Environmental Concerns-Philippines, ดำเนินการศึกษาในพื้นที่ในระหว่างวันที่ ๓-๗ ตุลาคม ๑๙๙๗

- รายงานประเมินผลกระทบด้านสังคมและเศรษฐกิจ ในชื่อ Summary of Findings and Recommendation: Case Study on the Mine-Related Environment Disaster in Marinduque โดย Mines and Allied Workers Union ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ILO

รายงานประเมินผลกระทบด้านสังคมหลังเกิดเหตุโดยสถาบันการศึกษา
- Socila Impact Assessment (SIA) of the Marcopper Mine Tailings Spill in the Boac and Makulapnit River Valley Marinduque Province, Philippines, a reported to Placer Dome, Inc. By the Center of the Centre for Human Settlements School of Community and Regional Planing, The University of British Columbia Vancouver, B.C., Canada and the School of Urban and Regional Planing, University of the Philippines Diliman, Quezon City, Philippines ฉบับลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๑๙๙๖

รายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมฉบับหลังเกิดเหตุ โดยสถาบันการศึกษา
- Report on the Initial Visit Conducted by INECAR in Mogpog River Affected by Marcopper Mining โดย Institute for Environmental Conservation and Research (INECAR) Ateneo de Naga University Naga City

รายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมฉบับหลังเกิดเหตุ โดยองค์กรระหว่างประเทศ
- Final Report of the United Nations Expert Assessmetn Mission to Marinduque Island, Philippines, prepared by UNEP-Water Branch on behalf of the UNEP/DHA Environment Unit ,๓๐ กันยายน ๑๙๙๖

รายงานประเมินผลกระทบด้านวิศวกรรม สุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยทีมงานอิสระจากสหรัฐฯ
- Engineering, Health, and Environmental Issues, Final Report of the Independent Assessment Team Coordinated By The Future Group International, Technical Management By The United States Geological Survey, July 25, 2004.

รายงานประเมินผลกระทบด้านสุขภาพฉบับหลังเกิดเหตุโดยหน่วยงานรัฐของประเทศฟิลิปปินส์
- First Evaluation Report of the Health Assessment Activities of the communitites along Calancan Bay in Sta.Cruz, โดย Dr.Nelia C. Maramba, Consultant, Occupational Toxicology Program, DOH/UP0NPCIS และ Dr.Cristinas S.Dablo , Officer-in-Charge, Non-Communicable Disease Control Service. ถึง Dr.Catmencita Noriega Reodica, Secretary of Health, ผ่าน (through) Dr. Antonio Lopez, Officer-in-Charge, OPHS, ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๑๙๗๗

- Summary of Health and Environmental Assessment for those examined in Sta.Cruz and Mopog, Marinduque. โดย Dr.Nelia C. Maramba, Consultant, Occupational Toxicology Program, DOH/UP0NPCIS และ Dr.Floante E.Trinidad, Office-in-Charge, Non-Communicable Disease Control Service ถึง Alberto G.Romualdea. Jr., Secretary of Health, ผ่าน (through) Dr.Milagros L.ernandez, Undersecretary for Public Health Services เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๐๐๐.

- Report on Medical Problems of Calancan Bay, Santa Cruz, Mariduque โดย Teodolfo J.Rejano Municipal Health Officer Sta. Cruz. (ไม่ปรากฎวันที่)

- Nerve Conduction Velocities Among Children with Low Blood Lead Levels Treated with Dimercaptosuccinic Acid. โดย Irma R.Makalinao, MD, Nelai P Cortes-Maramba, MD, Jose Pacinao T.Reyes, MD National Poison Control and Information Service, University of the Philippines General Hospital (ไม่ปรากฎวันที่)

นอกจากนี้ยังปรากฎว่ามีความร่วมมือจากห้องปฏิบัติการของภาครัฐ คือ Laboratory Service Division, Bureau of Soils and Water Management, Department of Agriculture ในการตรวจตัวอย่างน้ำ ดิน, และ Metals Laboratory, Environmental Management and Protected Areas Sector, DENR ในการตรวจสารโลหะหนัก และ Forensic Chemistry Division, National Bureau of Investigation, Department of Justice, Republic of Justic ในการตรวจหาภาวะความเป็นพิษ (Toxicolgy Report)

(ยกเว้นรายงานฉบับของ the Independent Assessment Team และของ UNEP/DHA Environment Unit ฯลฯ) ที่มาของผลการศึกษานั้น เบธเล่าว่า เริ่มต้นจากการที่ MACED เขียนจดหมายถึงสถาบัน/หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ มากเท่าที่พวกเขารู้จัก และมากเท่าที่มีการแนะนำบอกต่อ. แน่นอนว่า MACED ได้บอกรายละเอียดไปในจดหมายด้วยว่า ชุมชน Marinduque หรือ MACED ไม่มีงบประมาณสนับสนุนการศึกษาและการจัดทำรายงาน ผู้ศึกษาจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

ส่วนรายงานฉบับของ UNEP/DHA Environment Unit นั้น UN ลงมาศึกษาดำเนินการเอง เพราะเห็นว่ากรณีของ Marinduque นั้นเป็นหายนะภัยที่รุนแรง ส่วนรายงานฉบับ the Independent Assessment Team นั้น เป็นฉบับที่ MACED ตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของมัน เพราะที่มาของรายงานฉบับนี้ โดยผ่านการผลักดันของผู้ว่าราชการจังหวัด Marinduque เสนอต่อรัฐสภาให้ตั้งงบประมาณว่าจ้างถึง ๒๐ ล้านเปโซ (๔๐๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ) คำถามของ MACED ก็คือ ทำไมรัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องเสียเงินถึง ๒๐ ล้านเปโซไปจ้างทีมนักวิชาการต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ในฟิลิปปินส์ก็มีผู้เชี่ยวชาญอยู่ไม่น้อย

มีข้อเท็จจริงประการหนึ่งเกี่ยวกับรายงานฉบับต่างๆ ข้างต้นว่า ไม่ใช่ทุกฉบับที่เสนอผลการศึกษาที่สนับสนุนข้อเรียกร้องของชุมชน Marinduque โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉบับของ the Independent Assessment Team Rev. Fr. Allan Lanzo Malapad หรือคุณพ่ออาลัน ประธานของ Social Action Commission-SAC ซึ่งเป็นองค์กรที่ MACED สังกัด เห็นว่า ในเบื้องต้นของข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ ก็เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการทบทวนผลการศึกษาฉบับอื่นๆ ที่หลายองค์กรได้ทำไว้แล้ว

นอกจากนี้ รายงานฯ ยังปฏิเสธว่า การเจ็บป่วยนั้นไม่ได้เกิดจากน้ำและตะกอนของสารโลหะหนักที่ไหลทะลักมาจากการพังทลายของเขื่อนดักตะกอนฯ ที่ปนเปื้อนอยู่ในแม่น้ำ โดยรายงานฯ ตั้งข้อสมมตฐานว่า อาจเกิดจากการที่ผู้ป่วยไปสัมผัสจากสารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ยิ่งไปกว่านั้น ในส่วนของข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหา ทีมงานฯ เสนอในลักษณะที่ว่า เสนอทางเลือก (options) มากมาย โดยตบท้ายอย่างดูดีว่า ให้ชุมชน Marinduque เป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเลือกทางไหน คือ 'ไม่ฟันธง' แต่ข้อเสนอที่ 'ฟันธง' กลับเป็นประเด็นที่ว่า ทีมงานฯ เสนอให้มีการว่าจ้างเพื่อการศึกษาลงลึกในประเด็นต่างๆ ต่อไป

อย่างไรก็ดี ทั้ง คุณพ่ออาลันและเบธ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า รายงานฯ หลายฉบับข้างต้นมีส่วนอย่างมากในการสนับสนุนการต่อสู้ของชุมชนMarinduque การเรียกร้องให้ชดเชยความเสียหายด้านสุขภาพทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต การฟื้นฟูแม่น้ำ ๒ สาย ผืนดินที่เสื่อมถอยความอุดมสมบูรณ์ รวมถึง ๑ อ่าวทะเลนั้น มีความหนักแน่นมากขึ้นเมื่อมีข้อมูลและความเห็นของนักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญมาประกอบ มันทำให้เขาไม่รู้สึกว่าการต่อสู้นั้นโดดเดี่ยวเกินไป และพวกเขารู้สึกขอบคุณ

++++++++++++++++++++++++++++++++++
คลิกไปอ่านบทความนี้ ตอนที่ ๒

เชิงอรรถ
(1) ขอบคุณ Atty. Ma. Paz G. Luna หรือ อิแพท ลูนา (Ipat Luna) เพื่อนทนายฟิลิปินโนคนแรกที่แนะนำให้รู้จักกับหลากหลายบุคคลและองค์กร กฎหมายฟิลิปปินส์เบื้องต้น ฯลฯ ระหว่างมื้ออาหารเที่ยงใน Glorietta, Ipat เป็น President, Board of Trustees ของ Tanggol Kalikasan ซึ่งความหมายในภาษาอังกฤษคือ Public Interest Environmental Law Office พื้นที่การทำงานของ Tanggol Kalikasan นั้นครอบคลุมทั่วประเทศฟิลิปปินส์ ผ่านการลงพื้นที่ทำงานขององค์กรเองและผ่านการเป็นองค์กรประสานงาน สำนักงานของ Tanggol Kalikasan ตั้งอยู่ที่ Rm.M-๐๕ CRM III Bldg., 106 Kamias Road, Quezaon City 1102 Philippines โทรศัพท์ (632) 434 8734 และผู้ที่สนใจสามารถค้นข้อมูลการทำงานของ Tanggol Kalikasan ได้ที่ www.tanggol.org,

ปัจจุบัน Ipat ยังมีตำแหน่งเป็น Executive Director ของ Philippines Tropical Forest Conservation Foundation, Inc. และขอบคุณ Carmela B.Salazar หรือ ริก้า (Rica) เจ้าหน้าที่ของ Tanggol Kalikasan ที่ช่วยเหลือประสานกับ contact person กรณีต่างๆ

(2) มีกรณีเหมืองประเภทต่างๆ (ทองคำ, ทองแดง, ตะกั่ว,) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อาทิ กรณีเหมืองทองคำของ TVI Resource Development Philippines Incorporated ที่ Siocon, Zamboanga del Norte ซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารปรอท (Mercury) ในแม่น้ำ Siocosn และ Lituban, บริษัทเหมืองเงิน ของ the Palawan Quick silver Mines ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารปรอทในชุมชน Sta.Lourdes และที่อ่าว Honda, เหมืองนิเคิลของบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท Long Point ของคนฟิลิปปินส์ กับบริษัท Sellar Gold Corporation of Canada ใน Quezon ซึ่งที่มีตะกอนของสารนิเคิลประมาณ ๒.๕ พันล้านตัน, เหมืองทองคำของบริษัท Clmax-Arimco Mining Coporation (CAMC) สัญชาติออสเตรเลีย ในชุมชนชนพื้นเมืองกลุ่ม Ifugao ในเมือง Didipio, Nueva Vizcaya ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร, วิถีชีวิตและการย้ายถิ่นของชนพื้นเมือง (กรณีนี้มีการฟ้องร้องต่อศาลสูงให้ยกเลิก Financial and Technical Assistance Agreement ของบริษัท ซึ่งออกในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี Fidel V.Ramos และขอให้ศาลมีคำสั่งว่า Repulbic Act 7942 หรือกฎหมายว่าด้วยเหมือง (the Philippines Mining Act of 1995) นั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ)

กรณีเหมืองทองคำของ Westen Mining Corporation Philippines (WMCP) ใน ๕ จังหวัด (the provinces of Sultan Kudarat, South Cotobato, Cotobato Province, Davao de Sur และ Maguindanao ) ตอนใต้ของเกาะมินดาเนา คิดเป็นพื้นที่ ๘๙,๖๖๙ เฮคเตอร์ มีการประเมินว่าผลกระทบจากกิจการเหมืองดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อระบบลุ่มน้ำในแม่น้ำ ๕ สายหลัก, ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียหน้าดิน ระบบชลประทานเพื่อการเกษตร, เหมืองทองคำของบริษัท Benguer Corporation สัญชาติแคนาดา (ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นบริษัทต่างชาติที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในฟิลิปปินส์)

แต่กรณีดังกล่าวไม่มีการฟ้องร้อง,ไม่ปรากฎข้อมูลการฟ้องร้องให้ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และชดเชยความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การฟ้องร้องฯ ที่หากจะมี จะเป็นการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐบาล คือ DENR ให้ยกเลิกใบอนุญาต หรือ Financial and Technical Assistance Agreement (FTAA) แก่บริษัทฯ ดังกล่าว

(3) มีเวปไซด์จำนวนมากมายที่เกี่ยวข้อง แต่เวปไซด์หลักที่งานค้นคว้าภายใต้หัวข้อที่ ๑ นี้ อ้างอิงบ่อยๆ จะมาจาก http://network.idrc.ca/ev_en.php?ID=8430_201&ID2=DO_TOPIC,
www.oxfam.org.au/campaigns/mining/

(4) ชื่อเต็มๆ ของ Legal Rights and Natural Resources Center, Inc. หรือ LRC คือ Legal Rights and Natural Resources Center, Inc.-Kasama sa Kaikasan (LRC-KsK/Friends of Earth-Philippines) LRC มีสำนักงานในเมโทร มานิลา (Metro Manila) ๒ แห่งและที่เกาะมินดาเนา ๒ แห่ง สามารถค้นข้อมูลเพิ่มเติมของ LRC ได้ที่ www.lrcksk.org

(5) ถือหุ้นร่วมกันระหว่างประธานาธิบดีเฟอร์ดินัน มาร์กอสแ ละ Placer Development Limited จนถึงปี ๑๙๘๗

(6) http://network.idrc.ca/ev_en.php?ID=8430_201&ID2=DO_TOPIC

(7) The case of Marinduque Island Time to face up, clean up, pay up, OxFam Australia, ๒๐๐๕CD-Rom, โดยความอนุเคราะห์จาก Melizel F.Asuncion, Legal Rights and Natural Resources Center, Inc.(LRC)

(8) ข้อมูลจากทีมธรณีวิทยาที่ Oxfam Australia ให้การสนับสนุนการศึกษา โดยดำเนินการเก็บข้อมูลดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๐๐๓

(9) เนื่องจากช่วงที่ลงพื้นที่เป็นฤดูฝน การเข้าไปยังชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่น้ำเสียจากเขื่อนดักตะกอนทะลักลงสู่แม่น้ำ Mogpog นั้น จะต้องข้ามห้วยใหญ่ๆ หลายห้วย รถ Jeepney ซึ่งเป็นยานพาหนะหลักในพื้นที่ไม่สามารถข้ามห้วยดังกล่าวได้ จึงไม่สามารถสังเกตการณ์สถานการณ์ปัจจุบันได้

(10) อย่างไรก็ดี กรณีตัวอย่างที่พอมองเห็นถึงความพากเพียรในการทำจดหมายสอบถาม/ทวงถาม/ติดตามฯลฯ ในบ้านเราเห็นจะเป็นกรณีของการคัดค้านโรงไฟฟ้าของชุมชนบ้านกรูดและบ่อนอก

(11) คือ Section 4, of Presidenal Decree No. 1151 [Philippine Environmental Policy] June 6, 1977 และฉบับต่อๆ มาที่พูดถึง EIA ไว้ได้แก่ Section 2 of Presidental Decree No. 1586 [Establishing an Environmental Impact Statement, Inculding Other Environmental Management Realated Measures and for Other Purpose], June 11, 1978, Proclamation No. 2146 [Proclaiming Certain Areas and Type of Projects as Environmental as Critical and Critical and Within The Scope of the Environmental Impact Statement System Established under Presidential Decree No. 1587], December 14, 1981

(ดูรายชื่อหนังสืออ้างอิงที่บทความลำดับที่ 1114)

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

ข้อมูลมีทุกอย่าง ตั้งแต่การบอกเล่าถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของบริษัทมาร์คอปเปอร์และทวงถามความรับผิดจากบริษัทฯ ขณะเดียวกันประเด็นนี้ก็ถูกส่งถึงมือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับพื้นที่ คือเทศบาล (Manucipality) ผู้ว่าราชการจังหวัด (Governor) สภาจังหวัด และเรื่อยไปถึงหน่วยงานบริหารที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Department of Environment and Natural Resource-DENR) สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ไปจนถึงประธานาธิบดี หลังจากนั้น ไม่ว่าบริษัทมาร์คอปเปอร์/หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จะตอบจดหมายกลับมาหรือไม่ SAC ยังคงส่งจดหมายเพื่อทวงถาม ติดตามความคืบหน้า อย่างสม่ำเสมอ ทุกครั้งที่บริษัทมาร์คอปเปอร์ หน่วยงานรัฐใดๆ มีกิจกรรม นโยบาย/แผนงาน หรือการเคลื่อนไหวใดๆ ที่เกี่ยวข้อง SAC จะยื่นหนังสือเพื่อแสดงความคิดเห็น จดหมายต่อกิจกรรม นโยบาย/แผนงาน หรือการเคลื่อนไหวดังกล่าวทุกครั้ง