The Emergence
The Midnight University
แนวคิดทฤษฎีการผุดบังเกิด
ปรากฏการณ์เหนือตรรกะ
Emengence:
คำบรรยายเรื่อง "ทฤษฎีผุดบังเกิด"
ชลนภา
อนุกูล : บรรยาย
ผู้ประสานงานโครงการจิตวิวัฒน์
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้
ได้รับมาจากโครงการเชียงใหม่สำนึก
เป็นการประชุมกลุ่มดังกล่าวครั้งที่ ๑๒ ในหัวข้อเรื่อง
Emergence - ทฤษฎีผุดบังเกิด
วันเสาร์ที่
๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๑๔:๐๐ - ๑๗:๐๐ น.
เติ๋นผญา วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
เนื้อหาเป็นความทำความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีผุดบังเกิด
ซึ่งประกอบด้วย ๓ ส่วนดังนี้
๑ ปรากฏการณ์ผุดบังเกิดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
๒ ภาพรวมของทฤษฎีผุดบังเกิด
๓. เราเรียนรู้เรื่องปรากฏการณ์ผุดบังเกิดไปเพื่ออะไร
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1085
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
22.5 หน้ากระดาษ A4)
Emergence:
คำบรรยายเรื่องทฤษฎีผุดบังเกิด
ชลนภา อนุกูล :
นักวิชาการสายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี - ผู้ประสานงานโครงการจิตวิวัฒน์
การประชุมกลุ่มเชียงใหม่สำนึกครั้งที่
๑๒
วันเสาร์ที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๑๔:๐๐ - ๑๗:๐๐
น. เติ๋นผญา วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
รายชื่อผู้เข้าร่วมการประชุม
- ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
- วิชัย วิวัฒน์คุณูปการ : ภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์
- ชลนภา อนุกูล : ผู้ประสานงานโครงการจิตวิวัฒน์
- อารีรัตน์ นิรันต์สิทธิรัชต์ : ภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์
- ณัฐธิดา ไชยวรรณ : นักศึกษาทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- อรทัย พงศ์เชี่ยวบุญ : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ทิพย์อักษร มันปาติ : สำนักข่าวประชาธรรม
- ชลธิชา สุจริตพินิจ : นักวิชาการอิสระ
- ธีรมล บัวงาม : สำนักข่าวประชาธรรม
- ฑีฆายุวัฒก์ สวัสดิ์ลอย : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- เวลา กัลหโสภา : ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ณัฏฐิรา ก๋าวินจันทร์ : ผู้ช่วยผู้ประสานงานกลุ่มเชียงใหม่สำนึก
เริ่มต้นคำบรรยาย
ชลนภา อนุกูล
: กลุ่มที่ประชุมกันนี้เรียกว่า
"กลุ่มเชียงใหม่สำนึก" ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๑๒ เป็นกลุ่มเล็ก เป็นแนวคิดการรวมกลุ่มแบบสังฆะ
มาร่วมแบ่งปันเรื่องความรู้ เพราะเราเชื่อว่าแต่ละคนมีความรู้อยู่ในตัว และการมาพบมีปฏิสัมพันธ์กันย่อมจะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ
ได้ ความเชื่อแบบนี้จะอยู่บนพื้นฐานของหัวข้อที่จะคุยวันนี้เหมือนกัน คือ เรื่องของ
Emergence (อีเมอร์เจนซ์) - การผุดบังเกิด -
หนังสือที่ไปอ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นเล่มของคุณ สตีเวน จอห์นสัน ซึ่งแม้จะไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะ
แต่เขาเป็นนักเขียนสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น เขาจะสามารถย่อยเรื่องเกี่ยวกับทางวิทยาศาสตร์ออกมาให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้อย่างง่ายๆ
หนังสือฝรั่งจะมีหนังสือแบบนี้ออกมาค่อนข้างมากทีเดียว ในสายวิทยาศาสตร์ใหม่จะอยู่ในพวกนี้เช่นเดียวกัน
มีทั้งนักวิทยาศาสตร์เขียนเองและนักวารสารศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์สำหรับบางคนเป็นเรื่องที่ยาก
ถ้าได้คนมาช่วยย่อยได้ก็ดี เขาใช้คำว่า "ทำให้วิทยาศาสตร์ได้รับความนิยมมากขึ้น"
Emergence
แปลเป็นภาษาไทย ใช้คำว่า "ผุดบังเกิด"
ในที่นี้หมายถึงว่า อยู่ๆ ก็ปรากฏขึ้นมา ลองนึกภาพว่าเหมือนกับดอกบัวที่อยู่ๆ
ก็ผุดบานขึ้นมา
คล้ายกับปรากฏการณ์ที่มันสับสนวุ่นวายแล้วอยู่ๆ ก็มีอะไรใหม่เกิดขึ้น
เริ่มจากหนังสือเล่มนี้ก่อนว่าเขาเล่าเรื่องอย่างไร เมื่อเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. ๒๐๐๐ มีงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น ชื่อ โทชิยูกิ นาคากาชิ เขาวิจัยเรื่อง"ราเมือก" ซึ่งมีลักษณะเหมือนราเหนียวๆ ตามพื้นดิน เขาเอาไปใส่ในพื้นที่เขาวงกต แล้วเอาอาหารไปวางไว้ที่ปลายทั้งสองข้าง ปรากฏว่าราเมือกสามารถยืดตัวออกไปยังอาหารทั้งสองข้าง และโดยใช้เส้นทางที่สั้นที่สุดในเขาวงกตอันนี้ คำถามคือว่า สิ่งมีชีวิตเหมือนอมีบา เป็นสัตว์เซลล์เดียว ไม่มีอวัยวะ ไม่มีสมอง แก้ปัญหานี้ได้ยังไง?
ยังไม่มีคำอธิบายเรื่องนี้จนกระทั่งมีนักฟิสิกส์ เอเวอลีน ฟ็อก เคลเลอร์ กับนักคณิตศาสตร์ ชื่อ ลี เซเกล ทั้งสองกำลังทำงานโดยใช้ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์มาอธิบายปรากฏการณ์ทางชีววิทยา. เขาบอกว่า สุดท้ายเราสามารถอธิบายเรื่องนี้โดยใช้ทฤษฎีผุดบังเกิด คำอธิบายนี้นักคณิตศาสตร์เข้าใจแต่นักชีววิทยาไม่เข้าใจเลย ทำให้เห็นว่าวิธีมองในเรื่องแบบนี้ยังไม่ชัดเจนนัก แม้กระทั่งในสายวิทยาศาสตร์เอง แต่ว่าวิธีคิดเรื่องผุดบังเกิดก็เริ่มโผล่ขึ้นมา
เขาอธิบายว่าราเมือกเกิดจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว พอมารวมตัวกันแล้วมันคิดได้ คือ ตัวอย่างของการผุดบังเกิดที่เขายกขึ้นมา จากนั้นปรากฏว่ามีเพื่อนของนักวิทยาศาสตร์ ๒ คนนี้อยู่ที่สถาบันเอ็มไอที เขาก็เอาการเคลื่อนไหวของราเมือกไปทำแบบจำลองคอมพิวเตอร์ คือ จำลองการเคลื่อนไหวของราเมือกให้นักศึกษาดู นักวิทยาศสาสตร์ในสายคอมพิวเตอร์เริ่มสนใจว่าเรื่องการผุดบังเกิดจะทำอย่างไร
สตีเวน จอห์นสัน ได้ยกตัวอย่างอีกในเรื่องของการวางผังเมือง เขายกตัวอย่างเรื่องของ เจน จาคอบ, ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง "Death and Living of American Great Cities" คือ ตอนนั้นเหมือนกับว่าเมืองอเมริกาพอมันใหญ่ขึ้นมา มีส่วนที่ไม่ต้องการไม่น่าดูเยอะ เพราะปกติคือ ใช้รถไถออกแล้วทำเมืองใหม่. เจน จาคอบ เป็นคนแรกที่บอกว่าความเป็นเมืองมันไม่ใช่แค่นั้น เมืองมันไม่ใช่แค่การทำผังเมืองบนแผนที่ มันใช้ความคิดอีกแบบ. ความคิดของ เจน จาคอบ ก็มาจากฐานคิดของการ"ผุดบังเกิด" คือ การเกิดขึ้นของความเป็นเมืองเป็นเรื่องของปรากฎการณ์ผุดบังเกิด
พูดง่ายๆ คือ "การผุดบังเกิด"มีอยู่ในทุกเรื่อง ซึ่งตัวอย่างหลักๆ อยู่ในทางชีววิทยา คอมพิวเตอร์, การวางผังเมือง, คอมพิวเตอร์โยงไปถึงเรื่องวิทยาศาสตร์สมอง หนังสือพยายามอธิบายอยู่ ๓ โครงร่างหลัก
ส่วนที่ ๑. อธิบายเรื่อง "ปรากฏการณ์ผุดบังเกิดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน" เขาอยากจะบอกว่าตอนนั้นเราอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามันเป็นปรากฏการณ์ผุดบังเกิด เราอาจจะเคยเห็นแต่ยังไม่เข้าใจ
ส่วนที่ ๒. ของหนังสือพูดถึง "ภาพรวมของทฤษฎีผุดบังเกิด" ว่าเหตุปัจจัยใดจะทำให้มีปรากฏการณ์ผุดบังเกิด และ
ส่วนที่ ๓. สำคัญคือ"เราเรียนรู้เรื่องปรากฏการณ์ผุดบังเกิดไปเพื่ออะไร เป็นไปได้ไหมที่เราจะออกแบบปรากฏการณ์ผุดบังเกิดให้เกิดขึ้นได้"
ส่วนที่
๑ ปรากฏการณ์ผุดบังเกิดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
พูดถึงปรากฏการณ์ผุดบังเกิดทั้งหลาย ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ เรื่องของรังมด
รังมดมันมหัศจรรย์มาก ปกติเราทราบว่ามีมดที่เป็นนางพญามด มีมดงานและทุกตัวก็ทำงาน
มดแต่ละตัวก็มีหน้าที่ทั้งหาอาหาร ปกป้องไข่. แต่ประเด็นหลักก็คือ มดไม่ได้มีราชินีมดอย่างที่เราเข้าใจกันปกติ
ถ้าเรามองว่าถ้ามดมีผู้นำ มันก็จะมีมดที่สั่งให้ตัวนี้ไปทำอันนี้ ตัวนั้นไปทำอย่างนั้น
แต่ในธรรมชาติมดไม่ใช่อย่างนั้น ทุกตัวรู้หน้าที่ของตัวเอง มันรู้ด้วยซ้ำไปว่า
ตอนนี้อาหารอยู่ใกล้หรืออยู่ไกล
คำถามก็คือ มดจำนวนมหาศาลมันรู้ได้ยังไง มันสามารถแบ่งงานได้อย่างชัดเจนได้อย่างไร? มีงานวิจัยที่น่าสนใจมากของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด นักวิชาการหญิงคนหนึ่งเธอวิจัยเรื่องมดโดยเฉพาะเธอวิจัยถึง ๑๕ ปี โดยปกติแล้ว การวิจัยนั้นจะทำกันในระยะเวลาสั้นๆ แต่เวลาเราดูวิวัฒนาการของอะไรสักอย่างเราต้องดูติดต่อกันในระยะยาว. จากงานวิจัยนี้เธอบอกว่า รังมดปกติจะมีสุสานมดและที่เก็บอาหารของมด เธอบอกว่าที่เก็บอาหารอยู่ค่อนข้างไกล สุสานมดอยู่ไกลสุด แต่ว่าที่เก็บอาหารจะอยู่กึ่งกลางพอดีระหว่าง"สุสาน"กับ"รังมด" คือ วัดได้ตรงกึ่งกลางพอดี
กลับมาที่"ราเมือก" เป็นคำถามเดียวกันเลย ราเมือกคำนวณได้อย่างไร แล้วมดคำนวณได้อย่างไร? มดมีสมองนิดเดียว ส่วนราเมือกไม่มีสมองด้วยซ้ำ
มาดูกันต่อที่"การวางผังเมือง", เจน จาคอบ เธอยืนยันว่าการจะสร้างเมืองให้เป็นเมืองที่กำหนดพื้นที่ว่าเป็นอะไร ตรงนี้คนรวยหรือคนจนอยู่ สิ่งที่สำคัญมากคือ"บาทวิถี", บาทวิถีต่างหากที่เป็นหัวใจของเมือง เธอบอกว่าบาทวิถีทำหน้าที่คล้ายๆ ทางเดินของมด เธอเปรียบคนเป็นมดว่า มดเดินผ่านแล้วสื่อสารกัน เป็นการส่งผ่านข้อมูลในรัง ถ้าสมมติตัวเองเป็นมดแล้วเดินบนถนน ถ้าจำนวนมดที่สวนทางบนทางเดินมาก แสดงว่ารังใหญ่มาก เจอมดหนุ่มสาว แก่ มันนับรุ่นอายุของมดได้ ของคนก็คล้ายๆ กัน บาทวิถีคือเป็นตัวทำให้ข้อมูลของเมืองส่งผ่านไหลเวียน เพราะฉะนั้นการเติบโต การปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในเมืองเป็นหัวใจของการวางผังเมือง
แนวคิดนี้ได้ถ่ายทอดเข้ามาทางคอมพิวเตอร์เหมือนกัน มีวิธีคิดที่เรียกว่า"เจเนติก อัลกอริธึม" คำแปลน่าจะเป็น "พันธุกรรมคอมพิวเตอร์" คือการทำให้โปรแกรมออกแบบโปรแกรมหรือคำสั่งต่างๆ มาต่อกัน ทำงานได้ดีที่สุด เกิดเป็นโปรแกรมใหม่เป็นการคัดเลือกทางธรรมชาติอีกแบบหนึ่งคือ จำลองเอาวิธีคิดแบบวิวัฒนาการเข้ามา
ปรากฏการณ์ผุดบังเกิดทั้งหมด มันเป็นเรื่องของล่างสู่บน ทุกอย่างมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในระดับล่างทั้งหมด มดสามารถตัดสินใจได้เดี่ยวๆ การปฏิสัมพันธ์ในเมือง จะเริ่มจากคนๆ เดียวก่อน ขยายไปเพื่อนบ้าน กลายเป็นกลุ่มก้อน และขยายขึ้นสู่ระดับบน เพราะว่าไม่มีผู้นำที่ชี้บอกว่าเมืองส่วนนี้ต้องทำหน้าที่นี้ มันทำหน้าที่ของมันเอง เหมือนกับเมืองเชียงใหม่ เมื่อก่อนแถบวัวลายจะผลิตเครื่องเงิน ไม่มีใครไปชี้ว่าต้องผลิตเครื่องเงินทั้งหมด ตอนนี้บ้านถวายผลิตไม้แกะสลัก คือไม่มีใครบังคับว่าทุกคนต้องผลิตแต่มันเกิดขึ้นเอง
ส่วนที่
๒ ภาพรวมของปรากฏการณ์ผุดบังเกิด
สำหรับภาพรวมของปรากฏการณ์ผุดบังเกิดมีอยู่ 3 อย่าง
อันที่หนึ่ง, คือเรื่องปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน คือสิ่งที่อยู่ในระบบมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน
อันที่สอง, คือมีปฏิกิริยาสะท้อนกลับ ทำอะไรออกไปต้องมีผลย้อนกลับมา แล้วมันจะประเมินจากผลที่สะท้อนกลับ
อันที่สาม เป็นเรื่องการควบคุมโดยอ้อมและการค้นหารูปแบบ
ในส่วนของการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน การปฏิสัมพันธ์ระดับท้องถนนมันจะต่างจากเรื่องของรถติด เพราะรถติดคนที่นั่งอยู่ในรถแต่ละคนไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน การเดินกับขับรถต่างกันมาก มีความเร็วต่างกัน. คงคล้ายกับเว็บไซต์ เขาจึงได้แบ่งเป็นความรู้ช้ากับความรู้เร็ว, มีใครเคยเล่นเกมซิม ซิตี้ (หัวเราะ), ซิม ซิตี้ เป็นเกมส์ที่พิเศษอย่างหนึ่ง คือ ตอนเขาคิดขึ้นมา ปกติเกมส์คอมพิวเตอร์จะเน้นเรื่องการแข่งขัน อย่างเช่น ยิงปืน ต้องเก็บแต้มให้ชนะ. แต่ซิม ซิตี้ เป็นการวางแผนสร้างเมือง ตั้งแต่วางถนน, ท่อน้ำ, สายไฟ, แหล่งพลังงานของเมือง, แหล่งค้าขาย, เขตอุตสาหกรรม, คนเล่นเป็นคนวางแผนเองหมด โดยไม่มีการแข่งขันกับใคร เป็นเกมที่ไม่มีการแข่งขันเลย แต่คนก็เล่นกัน
โปรแกรมนี้พัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร? เกมส์นี้อยู่บนพื้นฐานของเรื่องปฏิสัมพันธ์ ปฏิสัมพันธ์ไม่สามารถทำนายได้อย่างชัดเจนเพราะทุกอย่างขึ้นกับการปฏิสัมพันธ์ทั้งหมด อย่างถ้าคุณวางเขตอุตสาหกรรมไว้ใกล้กับโรงเรียน จะเกิดอะไรขึ้น? ความเป็นไปในเกมจึงขึ้นกับว่าอะไรอยู่ใกล้กับอะไร และไม่เหมือนกันเลยในแต่ละครั้งที่เล่น นี่เป็นตัวอย่างของการผุดบังเกิดซึ่งเน้นเรื่องปฏิสัมพันธ์ ที่สำคัญ ยิ่งมากยิ่งดี
รูปแบบที่ ๒ ของปรากฏการณ์ผุดบังเกิด คือ น่าจะสามารถหารูปแบบโครงร่างได้ อย่างเรื่องของเมือง อยู่ๆ ตรงนี้เป็นเขตค้าขาย, เขตที่อยู่อาศัย, เขตอุตสาหกรรม, เขตที่มักเกิดอาชญากรรม, เราหาโครงร่างของเขตเมืองได้. หรือในร่างกายของเรา ทำไมรู้ว่าเซลล์นี้เป็นเชื้อโรค แล้วสามารถเรียกเซลล์ภูมิต้านทานโรคมาจัดการได้เลย แสดงว่ามันจำได้ มันเอาอะไรไปจำ? โปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็พยายามเอาเรื่องการค้นและจับคู่ไปใช้จำลองแบบ ซึ่งคอมพิวเตอร์ทำได้ดี แต่ว่าการจำรูปแบบไม่ใช่การเรียนรู้ คนละแบบกัน
ส่วนที่ ๓ เรื่องของวงจรสะท้อนกลับ อย่างที่บอก ปรากฏการณ์ผุดบังเกิดจะเริ่มเกิดจากเล็กๆ วงจรสะท้อนกลับจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นไปเรื่อยๆ ตัวอย่างหนึ่ง เขายกเรื่องข่าวของคลินตันที่เป็นผู้ว่าการมลรัฐและได้เป็นประธานาธิบดี เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวทีวีเล็กๆ ประมาณว่ามีข่าวคาวกับดารา, นางงาม, คลินตันเขาก็ตอบปฏิเสธปรกติ ปรากฏว่าสำนักข่าวเล็กๆ นี้ อยากทำเป็นข่าวขึ้นมาก็ส่งต่อให้สถานีข่าวใหญ่ สถานีข่าวใหญ่ไม่เอาเพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าเอาจรรยาบรรณนักข่าวมาจับก็ไม่ควร
พอพวกนักข่าวใหญ่กลับถึงบ้าน ทุกคนก็งง เพราะเรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ในทุกสถานีโทรทัศน์ โดยเริ่มจากการถ่ายทอดข่าวในเคเบิลทีวีไม่กี่แห่ง และกระแสข่าวก็ร้อนแรงจนกระทั่งสถานีโทรทัศน์ใหญ่ต้องเข้าไปทำข่าวนี้ด้วย ข่าวนี้กลายเป็นเรื่องที่พ้นมือผู้กำหนดนโยบายข่าวในสถานีโทรทัศน์ใหญ่ เพราะยุคนั้นสถานีข่าวในอเมริกามีมากมายและเต็มไปหมด มีเคเบิลทีวีมากมาย เพราะฉะนั้นสถานีข่าวเล็กๆ ไม่ต้องรอคำตัดสินใจจากสถานีใหญ่ เขาสามารถทำได้เอง เพราะทำได้. มันเป็นกระแส ผู้คนให้ความสนใจ เกิดวงจรสะท้อนกลับ สถานีข่าวใหญ่ก็ปฏิเสธไม่ได้จึงต้องหันมาจับข่าวนี้ อันนี้ได้แสดงให้เห็นถึงอำนาจของการเปลี่ยนแปลงจากฐานล่างสู่บน และเครือข่ายกระจายอำนาจได้อย่างชัดเจน
คล้ายกันกับสมอง สมองของเราจะมีปฏิกิริยาสะท้อนกลับกับสิ่งต่างๆ เขาใช้คำว่ามีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งไม่ได้แปลว่าดีหรือเลว. เขาบอกว่าอย่างวงจรสะท้อนกลับเชิงลบ อย่างพวกเธอร์โมสตัตของเครื่องปรับอากาศ มันให้ความเย็น พออากาศเย็นถึงจุดหนึ่งมันก็หยุดทำงาน พอร้อนขึ้นก็ค่อยทำงานต่อเพื่อให้อากาศเย็น
สำหรับคนยุคไอที หรืออินเทอร์เน็ต บางเว็บไซต์ถ้าเราสังเกตเห็นในช่วงยุคแรกๆ จะมี www.slashdot.org เว็บไซต์นี้เป็นเว็บบอร์ดแสดงความคิดเห็น คนทำเป็นคนเล็ก ๆ เขาต้องการกลั่นกรองคนในเว็บบอร์ด แต่เนื่องจากมีผู้ใช้จำนวนมาก ตอนแรกก็จ้างให้คนตรวจการแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ แต่ก็ไม่พอสักที เพราะปริมาณการใช้งานสูงขึ้นเรื่อยๆ เขาทำไม่ไหว เลยเขียนโปรแกรมให้ทุกคนเป็นโมเดอเรเทอร์เอง ในชุมชนนี้จะมีการตรวจสอบกันเอง คือคุณทำอะไรไปจะเกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับมาทันที
ที่คล้ายกันก็คือ เว็บไซต์ขายหนังสือของ amazon.com ตอนท้ายจะมีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือ ความคิดเห็นแต่ละอันจะมีการให้คะแนนด้วย ว่าน่าเชื่อถือและมีประโยชน์ต่อคนอ่านไหม. หรืออย่าง ebay.com เว็บไซต์ขนาดใหญ่สำหรับการประมูลซื้อขายสิ่งของ ทันทีที่เราสมัครเป็นสมาชิก ไม่ว่าจะขายหรือจะซื้อของในนั้น จะมีบันทึกประวัติเราตั้งแต่เริ่มสมัครทั้งหมด ว่าเราประมูลแล้วเบี้ยวหรือเปล่า คนที่ซื้อขายกับเราเขาพอใจกับการซื้อขายที่ผ่านมารึเปล่า อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของการสร้างวงจรสะท้อนกลับ
ในส่วนของการนำแนวคิดเรื่องการสร้างวงจรสะท้อนกลับไปใช้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก็มีในตัวอย่างของการแก้ปัญหาเรื่องการเรียงลำดับจำนวนให้ถูกต้องและรวดเร็วที่สุด เขาก็เริ่มจากโปรแกรมโง่ๆ อันหนึ่งแล้วผลิตลูกหลานออกมา เปรียบกับฝูงมดสักพันตัว ให้เจ้าโปรแกรมเหล่านี้แก้โจทย์ที่ว่า แล้วเรียงลำดับว่ามดหรือโปรแกรมตัวไหนแก้โจทย์ได้เร็วกว่ากัน จากนั้นก็คัดเลือกมดหรือโปรแกรมเหล่านั้นมาผสมพันธุ์กันเกิดเป็นลูกหลานมดหรือโปรแกรมรุ่นใหม่ แล้วให้แก้โจทย์เรียงลำดับเลขนี้อีก ก็คัดมาอีกแล้วผสมพันธุ์ จนในที่สุดก็ได้มดหรือโปรแกรมที่สามารถแก้โจทย์ปัญหาได้เร็วมากในชั่วระยะเวลาไม่กี่รุ่น คนที่คิดก็งงว่าทำไมถึงมีวิวัฒนาการได้เร็วมาก
ตัวอย่างเกมส์คอมพิวเตอร์อีกอันหนึ่งที่น่าสนใจ
คือ Evolva ย่อมาจาก Evolution ผลิตตัวประหลาดต่างๆ เวลาเราเลือกตัวละครเราจะเลือกให้หัวเป็นยังไง
ตัวเป็นยังไง โปรแกรมนี้น่าสนใจเพราะสามารถผลิตตัวละครได้หลากหลายมาก สร้างได้ถึง
๑๔ ล้านล้านตัว เป็นเรื่องของการจำลองแบบวิวัฒนาการผ่านกระบวนการย้อนกลับจนเกิดความหลากหลายทางชีวภาพจำนวนมหาศาล
ข้อจำกัดของปรากฏการณ์ผุดบังเกิดอยู่ในเรื่องของการควบคุม อย่างเกมซิม ซิตี้
จะมีช่องให้เลือกช่องหนึ่งที่เรียก "เจตจำนงเสรี" ของตัวละคร ผู้ออกแบบเกมยังนึกไม่ออกว่าเจตจำนงเสรีคืออะไร
ที่ทำได้ก็คือ ตัวละครที่มีเจตจำนงอิสระอาจจะไม่ทำงาน อาจจะเกเร นอนเล่น ดูทีวี
ซึ่งก็เป็นการกำหนดควบคุมผ่านการออกแบบไว้อยู่ดี ผู้ออกแบบเกมก็ไม่รู้ว่าเจตจำนงเสรีของมนุษย์จะจำลองลงในคอมพิวเตอร์จะทำยังไง
เราอาจจะเข้าใจปรากฏการณ์ผุดบังเกิดได้ แต่ไม่อาจกำหนดควบคุมเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ผุดบังเกิดได้ทั้งหมด
ส่วนที่
๓ เราเรียนรู้เรื่องปรากฏการณ์ผุดบังเกิดไปเพื่ออะไร
ตอนท้ายเขากำลังจะโยงว่าทฤษฎีผุดบังเกิดมาใช้ทำอะไรได้บ้าง อาจจะกลับเข้ามาเรื่องการรับใช้มนุษย์
เขามองว่ามนุษย์เป็นผู้ที่อ่านใจคนอื่นได้ คือ การจะทำให้ระบบที่เราเรียกว่าผุดบังเกิดมาใช้งานกับมนุษย์
ก็ต้องเป็นไปในรูปแบบของการอ่านใจ
ทำไมเขาถึงเรียกว่ามนุษย์อ่านใจคนอื่นได้ เขายกตัวอย่างเด็ก ๓ ขวบกับเด็ก ๔ ขวบ โดยการทำการทดลองอันหนึ่ง เขาเอากล่องช็อคโกแล็ตเอ็มแอนด์เอ็มใส่ดินสอข้างในแล้วปิดไว้ แล้วเขาก็ถามเด็กว่าข้างในเป็นอะไร เด็กก็ตอบว่าเอ็มแอนด์เอ็ม แต่พอเปิดออกมาเป็นดินสอ เด็กก็รู้สึกเสียใจ แล้วปิดไว้ แล้วเรียกผู้ใหญ่เข้ามา แล้วถามเด็กว่าทายซิข้างในเป็นอะไร เด็กก็ตอบได้ว่าผู้ใหญ่จะทายว่าเป็นเอ็มแอนด์เอ็ม เรื่องนี้เด็ก ๔ ขวบทายได้ แต่พอทดลองกับเด็ก ๓ ขวบกลับไม่ได้ เพราะมีความต่างกันนิดนึงในเรื่องของการเกิดขึ้นของตัวตน ของจิตสำนึก
ลิงก็เป็นสัตว์ที่อ่านใจตัวอื่นได้ อย่างการเข้าหาตัวเมีย มันก็จะส่งสัญญาณให้ลิงตัวเมีย ประเภทนั่งอล่างฉ่างโชว์ของดี โชว์ให้ตัวเมียตัวนั้นดู แต่ปิดไม่ให้ตัวผู้อีกตัวที่กำลังจีบตัวเมียนั้นเหมือนกันได้เห็น แถมทำสัญญาณว่า "เรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างเราสองคนนะ"
ในเมื่อมนุษย์มีความสามารถจะอ่านใจคนอื่นได้ การสร้างระบบผุดบังเกิดให้เกิดขึ้นก็ต้องมีความสามารถในการอ่านใจเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ในส่วนของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก็ต้องหัดอ่านใจผู้ใช้ หรือการโฆษณาก็ต้องอ่านใจลูกค้าว่าโฆษณาอย่างไรให้ถูกใจลูกค้า ให้ตรงเป้าหมาย
ในเว็บไซต์ amazon.com ถ้าดูดี ๆ พอเราอ่านไปสักหน้าสองหน้า เขาจะบอกว่าคุณเพิ่งเปิดดูหนังสือเหล่านี้ไป ต่อด้วยรายการหนังสือที่เกี่ยวข้องน่าสนใจอยู่ข้างล่าง ถ้าการโฆษณาทำได้แบบนี้ คือโยงเข้ากับกลุ่มเป้าหมายก็จะง่ายขึ้น เหล่านี้ก็คือ การศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้นั่นเอง โดยใช้วงจรสะท้อนกลับ เป็นการศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้อื่นๆ ทั่วโลก ประกอบออกมาเป็นโครงร่างอันหนึ่ง เพื่อใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภค
นอกจากนี้ การออกแบบปรากฏการณ์ผุดบังเกิดก็สามารถจะเอาไปประยุกต์ใช้ทางเศรษฐกิจ การเมืองได้ อย่างเรื่องของขบวนการต่อต้านโลกภิวัตน์ ขบวนการต่อต้านองค์การค้าโลก ขบวนการต่อต้านเอฟทีเอ ซึ่งกำลังเป็นกระแสการต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
สำหรับในส่วนของอนาคตข้างหน้า
สตีเวน จอห์นสัน เชื่อว่า, อนาคตของมนุษย์คงเป็นแบบราเมือก เราจำเป็นต้องปล่อยวางเรื่องของการจัดการให้มาก
ให้เชื่อมั่นเรื่องของปัญญาจากฐานล่าง มีการเปลี่ยนแปลงจากระดับล่างขึ้นมา แล้วทำให้เกิดการเชื่อมโยงโดยระบบปฏิสัมพันธ์
มีวรงจรสะท้อนกลับ เพื่อให้ระบบมีพัฒนาการต่อยอดไปเรื่อยๆ
จริงๆ แล้วเท่าทีลองอ่านดูมันยังไม่มีคำอธิบายเรื่องปรากฏการณ์ผุดบังเกิด(emergence)
เกิดขึ้นได้อย่างไรอย่างชัดเจนนัก ทฤษฎีผุดบังเกิดก็อยู่พวกเดียวกับทฤษฎีโกลาหล(chaos
theory) คือ ระบบที่ปั่นป่วนวุ่นวายสับสน แล้วเกิดระเบียบใหม่
ในทางตะวันออกมีอุปมาคล้ายๆ กันคือ ถ้าจำได้ถึงเรื่องการกวนเกษียรสมุทร ระหว่าง เทวดากับอสุรา กวนจนมหาสมุทรปั่นป่วนวุ่นวาย ก็เกิดของดีขึ้นมาตั้งเยอะตั้งแยะ ในอุปมาแบบนี้ทำให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ผุดบังเกิดยังเป็นการอธิบายปรากฏการณ์แค่จุดเดียว เหมือนอย่างที่คุยคราวที่แล้ว เราพูดถึงเรื่องภาวะที่เกิดดับเกิดดับ คือ ทางตะวันออกเราเชื่ออะไรที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบไม่มีอะไรที่แน่นอน มันมีแต่เกิดขึ้นแล้วดับลง ฝรั่งเขาจะตื่นเต้นกับเรื่องนี้ อย่างที่เห็นในเรื่องความสนใจต่อทฤษฎีผุดบังเกิด ทฤษฎีโกลาหล แต่คนตะวันออกจะมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา คือ เกิดความปั่นป่วนแล้วเกิดสิ่งใหม่ ฝรั่งเขาจะมองในแง่ของทำยังไงให้ความปั่นป่วนนั้นเกิดเรื่องดีขึ้น
เรื่องปรากฏการณ์ผุดบังเกิด(emergence)ก็ต่อยอดจากแนวคิดแบบ Tipping point (ทิพพิง พ็อยนท์) ซึ่งเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากคนกลุ่มเล็กๆ จนเกิดเป็นจำนวนวิกฤตที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ประเด็นคำถามก็คือ ทำอย่างไรจึงจะเกิดจำนวนวิกฤตนั้นได้?
ช่วงคำถามและคำตอบ
: เกี่ยวเนื่องกับทฤษฎีผุดบังเกิด
ณัฏฐิรา ก๋าวินจันทร์ : ขอฟังทัศนะของอาจารย์ประมวล
เพ็งจันทร์ในเรื่องนี้ว่า อาจารย์มีความเห็นยังไง ?
ประมวล เพ็งจันทร์ : ผมไม่ค่อยเข้าใจเรื่องคอมพิวเตอร์
แต่เข้าใจว่าตัวอย่างทางคอมพิวเตอร์มันค่อนข้างชัด แต่อาจารย์ก็มาแตะประเด็นเรื่องจิตใจ
ในเรื่องของมนุษย์ ซึ่งผมเองไม่สนใจเรื่องของคอมพิวเตอร์แต่สนใจเรื่องของจิตใจ
ประเด็นเรื่องคอมพิวเตอร์มันเป็นรูปธรรมมาก ในการที่จะก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในการสร้างโปรแกรมใหม่
ถ้าใครไม่อยู่ในโลกของคอมพิวเตอร์ก็ตามไม่ทัน แต่ผมลองมองในมุมของผม
ถ้าเป็นเรื่องของจิตใจแบบที่อาจารย์พูดว่า เพราะมีความรู้สึกหรือความต้องการของมนุษย์แล้วมันทำให้เกิด
ผมเข้าใจว่าถ้าเรากลับไปดูง่าย ๆ เช่น มนุษย์ผิวขาวมีมากขึ้นกว่ามนุษย์ผิวดำ
ปัจจุบันคนผิวขาวขึ้น เพราะมันถูกครอบงำโดยความรู้สึกของมนุษย์ว่าผิวขาวดีกว่าผิวดำ
ในตัวคนผิวดำก็ลดปริมาณความเข้มของความดำลง และคนที่เกิดขึ้นใหม่ก็มีคนผิวขาวเกิดขึ้นเรื่อย
ๆ แต่ถ้าเราสมมติเกิดพลิกกลับไปสู่อีกกรณีหนึ่ง มนุษย์เกิดอยากดำ ความดำเป็นอะไรที่สวยงามเป็นความรู้สึกที่ดีงาม
มนุษย์อาจจะมีปริมาณคนดำเพิ่มขึ้น
กลับไปสู่ประเด็นเรื่องคอมพิวเตอร์ด้วยก็ได้ นั่นคือ เพราะเรามีบางสิ่งบางอย่างที่อาจารย์บอกว่าเราอธิบายไม่ค่อยได้ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นโดยมีความปรารถนาความต้องการอะไรบางสิ่งบางอย่าง ผมเพิ่งอ่านงานวิจัยของอาจารย์ที่คณะเกษตรศาสตร์ ที่วิจัยเรื่องผึ้ง แต่ผมอ่านจากรายงานที่ว่ามีการปลอมแปลง เพราะในโครงสร้างของผึ้งและมีลักษณะสวมรอยกัน ทำให้อาจารย์พยายามจะแก้ปัญหาว่าทำไมชาวบ้านเลี้ยงผึ้งจึงมีผึ้งร้าง ผึ้งทิ้งรัง และทำยังไงที่เขาจะพยายามทำให้เกิดผึ้ง เพื่อจะได้เกิดประโยชน์ในแง่ของการทำการค้า
ผมเข้าใจว่า ทันทีที่มีคน ๆ หนึ่งไปกำหนดรู้ความต้องการบางสิ่งบางอย่าง ที่กรณีมดเดินสวนทาง มดมีการหยุด ผมเข้าใจว่าทฤษฎีบาทวิถี ตอนที่อาจารย์ศิริชัย นฤมิตรเลขการ ยังมีชีวิตอยู่ แล้วเราต่อสู้เรื่องบาทวิถีบนถนนสุเทพตั้งแต่ประตูสวนดอกมา เพราะว่าตอนนั้นคิดว่าทำอย่างไรให้คนรอบๆ ปริมณฑลโดยเฉพาะหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการเดินมากขึ้น ลดการใช้รถลง เราไม่สามารถรณรงค์ให้เกิดการเดินมากขึ้นได้ ถ้าเรายังไม่สร้างบาทวิถี เพราะฉะนั้นจึงเกิดการรณรงค์ให้มีบาทวิถี กรณีที่เราพูดถึงคนในระดับล่าง แล้วมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กรณีมด ผึ้ง ในคนๆ หนึ่งก็เกิดความคิดเล็กๆ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างใหญ่ได้ ถ้าเรามองในแง่ที่ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นใหม่ แม้ว่าเราจะอธิบายที่มาที่ไปไม่ได้
วิชัย วิวัฒน์คุณูปการ
: ในเล่มนี้เขาสื่อเฉพาะปรากฏการณ์ใช่ไหมครับว่า
เกิดสิ่งนั้นขึ้นสิ่งนี้ขึ้นและมีเครื่องหมายคำถามทิ้งไว้ว่า ยังหาคำอธิบายไม่ได้
ชลนภา อนุกูล : คือ เป็นคำอธิบายบนพื้นฐานของทฤษฎีโกลาหล(chaos)
หรือผุดบังเกิด(emergence) เมื่อมีสิ่งอะไรบางอย่างที่มันดูสับสนวุ่นวาย แต่ก็มีสิ่งดีๆ
เกิดขึ้น มันมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ปฏิสัมพันธ์ มีวงจรสะท้อนกลับ ปรากฏการณ์บางอย่างที่อธิบายไม่ได้อย่างเรื่องราเมือก
หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ผสมพันธุ์กันไปมา เกิดเป็นโปรแกรมใหม่แล้วทำงานได้ดีกว่าเดิม
ซึ่งนอกจากอธิบายได้ยากแล้ว เขาคิดว่ามันน่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ แต่มันทำได้เร็วขึ้น
เหล่านี้เป็นเรื่องอธิบายไม่ได้ แต่ใช้พื้นฐานของทฤษฎีผุดบังเกิดมาอธิบาย
ทฤษฎีผุดบังเกิดอีกแบบหนึ่ง เป็นคำอธิบายเรื่องของชีวิตโดยนักชีววิทยา ลินน์
มาร์กูลิส เธออธิบายว่า สิ่งมีชีวิตเกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต มีการทดลองที่นำเอาสารที่คิดว่าน่าจะอยู่ช่วงแรกที่โลกเกิดขึ้นไปทำงานวิจัยและทดลอง
จนเกิดส่วนประกอบทางสารเคมีของสิ่งมีชีวิตขึ้น ถ้ามันทำได้โดยใช้เวลาไม่กี่วันในห้องทดลอง
ก็ลองนึกถึงสภาพโลกที่มีอะไรปั่นป่วนวุ่นวายมากมาย ตอนนั้นใช้เวลาเป็นล้านๆ ปี
จะเกิดสิ่งมีชีวิตไม่ได้เชียวหรือ
เหมือนอย่างคนที่ค้นพบ DNA, วัตสันและคริก, เขาบอกว่า DNA ซับซ้อนมาก จนไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เอง น่าจะมาจากมนุษย์ต่างดาว คือมันซับซ้อนและดีเกินไป แต่ทฤษฎีผุดบังเกิดนี้ก็เชื่อว่ามันเกิดขึ้นได้เองจริงๆ ถ้าเราเชื่อว่าในความปั่นป่วนวุ่นวาย, มีปฏิสัมพันธ์, มีวงจรสะท้อนกลับ, เกิดโครงร่าง, ชีวิตก็เป็นสิ่งที่ผุดบังเกิดขึ้นมาได้
ชลธิชา สุจริตพินิจ
: นึกถึงเรื่องทิพพิง
พ็อยนท์ (tipping point) ที่เคยอ่าน เกิดจากจุดที่เราไม่ต้องมีอำนาจใหญ่. ทิพพิง
พ็อยนท์ ที่เขาเสนอที่น่าสนใจ คือ ที่อาจารย์พูดเรื่องเจตจำนงเสรี ยกตัวอย่าง
รองเท้ายี่ห้อหนึ่ง มันดังมากที่อเมริกา เกิดจากเด็กไม่กี่คนที่อยากใส่ แล้วก็ใส่เหมือนกัน
แล้วกลายเป็นว่าดังมากๆ ภายในไม่กี่เดือน แล้วสร้างเศรษฐกิจของเขาเองไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า
แล้วเขาก็บอกว่าเกิดจากนักโฆษณาหรือว่าอะไร เอาเข้าจริงๆ เกิดจากเจตนารมณ์ของคนเพียงไม่กี่คน
ที่อยากจะใส่แต่ก็ไม่คิดว่าจะต้องทำเป็นกระแส
เรื่องอมีบาหรือราเมือกมันทำให้นึกถึงว่า หรือว่านี่มันคือรูปแบบจำลองของสิ่งที่เกิดขึ้น
แบบมหภาคแล้วมันอยู่ในสมองของเรา เช่น ทำไม บอกว่าเส้นประสาทจึงวิ่งของมันเอง
อะไรที่ทำให้เราคิดเรื่องแบบนี้ได้ ทำไมเราถึงเกิดอารมณ์รักคนๆ หนึ่ง อันนี้ก็อธิบายยากแล้วค่ะ
ไม่ต้องพูดถึงราเมือกเลยทำไมเขาถึงใช้ทางลัดได้
ชลนภา อนุกูล
: แลกเปลี่ยน ๒
ประเด็น ลินน์ มาร์กูลิส เขาก็อธิบายเหมือนกันว่า มนุษย์เราหรือร่างกายของเรา
ก็เป็นผลของปรากฏการณ์ผุดบังเกิดเช่นเดียวกัน กระทั่งร่างกายเราประกอบด้วยเซลล์
๗๕ ล้านล้านเซลล์ และแค่ในหนึ่งเซลล์ อย่างเซลล์ของมนุษย์ ไมโตคอนเดรีย มี DNA
เหมือนแบคทีเรียมาก หรืออย่างเช่นเรื่อง อสุจิกับไข่มาเจอกัน ทำไมไข่ถึงรู้ว่าเป็นอสุจิ
อสุจิเกาะอยู่หลายตัวแต่มันจะเลือกแค่ตัวหนึ่งให้เข้ามา และขณะที่เปิดเข้ามาไม่สูญเสียสารเคมีในตัวเองออกไปด้วย
เซลล์ในระดับเริ่มแรกอาจมีการกินกัน แต่ว่ากินเข้าไปแล้วตัวที่ถูกกินไม่ตาย แล้วที่น่าแปลกคือ
ทำไมเซลล์ทุกเซลล์ของเรามีโครโมโซมเป็นคู่ ยกเว้นไข่กับอสุจิมีครึ่งเดียว เซลล์ทุกเซลล์ต่างก็มีความฉลาดรู้อยู่ในตัว
เมื่อมารวมกันก็ผุดบังเกิดคุณลักษณะใหม่
ที่ชัดเจนมากคือ อะตอมประกอบเป็นเซลล์ แต่เซลล์พอผ่าลงไปในระดับอะตอม ก็ไม่มีคุณสมบัติแบบอะตอมให้เราเห็น เซลล์หลายเซลล์พอมาประกอบเป็นเซลล์ผิวหนัง เนื้อเยื่อตา จมูก หัวใจ ก็เกิดเป็นอวัยวะที่มีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน นี่เป็นลักษณะของผุดบังเกิด คือประกอบด้วยส่วนย่อยจำนวนมาก แต่พอมารวมกันเกิดคุณสมบัติใหม่ แต่ถ้าผ่ามันลงไป ไม่เหลือคุณสมบัติที่มันเกิดขึ้นใหม่เลย อันนี้คือลักษณะสำคัญของผุดบังเกิด ถ้าโยงอันที่สองว่าชีวิตเกิดขึ้นยังไง จิตกับวัตถุอันไหนเกิดก่อน คงต้องเรียนถามอาจารย์ประมวล
ประมวล เพ็งจันทร์
: ผมคงตอบไม่ได้เหมือนกันแต่ถ้าโดยความเชื่อ
แต่ว่ามันมีความสัมพันธ์กันอยู่ ความเชื่อทางศาสนา ว่าเมื่อเป็นชีวิตหนึ่งชีวิตหรือเป็นมนุษย์หนึ่งคนขึ้นมา
มีนาม มีรูป ดูไปดูมาก็ไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรเกิดก่อนอะไรเกิดหลังเพราะต่างอิงอาศัยซึ่งกันและกัน
ซึ่งปรากฏการณ์ผุดบังเกิดที่เราพูดถึง คล้ายๆ กับว่ามันมีการผสมแล้วเกิดสิ่งใหม่
ที่เราเคยถามว่าสิ่งนี้เคยมีอยู่ก่อน ตอนมีอยู่มันก็ไม่ใช่สิ่งนี้ มันเป็นอะไรสักสิ่งหนึ่ง
ท่านพุทธทาสจึงใช้คำว่า อิทัปปัจจัยตา เพราะสิ่งนั้นมี สิ่งนั้นจึงมีขึ้น สิ่งนั้นคืออะไรก็ชี้วัดลงไปยาก
ผมเข้าใจว่าในเชิงความคิดทางพุทธศาสนา ความเชื่อในลักษณะที่คล้ายๆ กับที่อาจารย์เสนอ
เพราะมันมีการอิงอาศัยกัน การอิงอาศัยกันทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ถามว่าสิ่งใหม่ๆ
นั้นคือสิ่งที่มีอยู่เดิมหรือก็ไม่ใช่ แต่ถามว่าสิ่งที่มีอยู่ใหม่ใช่สิ่งที่มีอยู่เดิมก็ไม่ใช่
เพราะเวลามีคนไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อย่ากล่าวเช่นนั้นเลย ถามว่าตัวตนเราเป็นชีวะใช่ไหม
และตัวตนของเรากับชีวะเป็นคนละสิ่งใช่ไหม อย่ากล่าวเช่นนั้นเลย. ผมเข้าใจว่านี่คือ
ความหมายหนึ่งที่แฝงอยู่ในภาษาโบราณ จะบอกว่ามันใช่ มันก็ไม่ใช่ ความหมายก็คือ
มันมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีโดยปราศจากสิ่งเก่า
ณัฏฐิรา
ก๋าวินจันทร์ :
อาจารย์ช่วยขยายความที่พูดถึงเรื่องเจตจำนงของสิ่งต่างๆ
ประมวล เพ็งจันทร์ : เราเคยคุยกันก่อนหน้านี้ สืบเนื่องมาจากมีความเชื่อว่ามีเจตจำนงอยู่แล้ว
สองคนพยายามคุยกัน ประเด็นอยู่ที่ว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่มันเป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน
มันไม่ได้ปราศจากสิ่งที่เรียกว่า เจตจำนง. ในร่างกายเรานี้ มันก็มีเจตจำนงที่มันจะอิงอาศัยอยู่ร่วมกัน
อย่างที่อาจารย์พูดว่ามันเป็นเนื้อเยื่อตา และส่วนที่เป็นผิวหนังมันคนละลักษณะ
แต่มันก็อิงอาศัยซึ่งกันและกัน แต่เมื่อใดเมื่อหนึ่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มันรู้สึกว่า
ไม่ปรารถนาที่จะอิงอาศัยแต่อาจจะไปครอบงำสิ่งอื่น ก็จะกลายเป็นเนื้อร้ายสุดท้ายที่เราคุยเรื่องทฤษฎีกายา
ถามว่าเจตจำนงคืออะไร
ชลนภา อนุกูล : วิธีคิดเรื่องผุดบังเกิดมันอยู่ในทิศตรงข้ามกับแนวคิดแบบลดทอนส่วน
เลยอยากโยงกับทางหมอฟัน ยังสงสัยว่าจริงๆ แล้ว หมอปกติเขาเรียนสุขภาพทั้งหมด
แต่อยู่ๆ ก็มีหมอฟันเข้ามาและศึกษาเรื่องโพรงปาก แล้วเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ
ไหม
วิชัย วิวัฒน์คุณูปการ : ทางชีววิทยาในวิทยาศาสตร์ปัจจุบันมันก็ดูมีความเกี่ยวข้องน้อย
แต่ถ้าถามว่าเกี่ยวข้องไหม ก็มีการพยายามอธิบายให้มันเกี่ยวได้เหมือนกัน เช่น
ในเชิงฮอร์โมน ระบบภูมิคุ้มกัน เช่นหากมีความผิดปกติในช่องปากอะไรบางอย่าง เช่น
การเป็นแผล มันอาจไม่ได้เป็นความผิดปกติแค่เฉพาะในปากแต่เป็นความผิดปกติของทั้งระบบร่างกาย
แต่ความผิดปกติมาแสดงออก ณ ตำแหน่งนี้
หรือมีการติดเชื้อในกลุ่มคนไข้โรคหัวใจ เวลาในการรักษาทางทันตกรรม ในทางชีววิทยา
ถ้าเห็นง่ายๆ เชื้อโรคก็วิ่งผ่านทางแผล เกิดขึ้นเนื่องจากงานทันตกรรม แล้วเข้าสู่กระแสเลือดแล้วเข้าสู่หัวใจ
ก็เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ในทางชีววิทยาก็อธิบายได้อยู่ดี แต่ผมคิดว่าในเชิงของการอธิบายที่มันสัมพันธ์กับหัวข้อนี้
คิดว่านักวิทยาศาสตร์ไม่น่าจะเชื่อ ผมคิดว่าไม่น่าจะมีคนเชื่อในเส้นทางเหล่านี้
เมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่เองมีหมอคนหนึ่งมาพูดที่คณะทันตแพทย์ มช. เผอิญ ผมไม่ได้มาฟัง แต่อาจารย์ทรงวุฒิเข้าไปฟัง เขาพูดถึงเรื่องระบาดวิทยาของโรคมะเร็งในช่องปาก พูดถึงการค้นพบ DNA ตัวนั้นตัวนี้ ผมก็ถามในเชิงของ DNA จนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าจะมีความพยายามในการถอดรหัส DNA ของมนุษย์ออกมาให้ได้ ว่ามันมีอะไรบ้างซึ่งภายในไม่กี่ปีนี้มันก็จะครบแล้ว ผมคิดว่าคำถามหนึ่งที่คิดว่าคนที่สนใจกับงานนี้เขาจะตอบได้คือ รหัสพันธุกรรมที่เกิดขึ้นในนั้นมันสื่อสารกันอย่างไร ถ้าตราบใดยังตอบคำถามนี้ไม่ได้มันก็จะย้อนกลับไปเรื่องในปากกับเรื่องทั้งตัว ว่า มันไม่ใช่หรอกว่าคุณสามารถจัดการกับเรื่องในปากแล้วบอกว่าจบแล้ว
กรณีของมะเร็งในช่องปากเขาศึกษามาแล้วและพบว่า คนที่เป็นมะเร็งชนิดนี้มันจะมีอักษรอยู่ตัวหนึ่ง ก็คือตัว Z มักจะเจอเสมอ แต่พอเราพลิกกลับคือย้อนกลับก็เจออีกเหมือนกันว่าคนที่มีตัว Z ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนที่จะเป็นมะเร็ง เป็นคำตอบที่ง่ายๆ เลย ในความเห็นผมคือว่า ที่มาร์กูลิสพูดถึงความมีชีวิต มันไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของ DNA ในเซลล์เองมีกลไกของการทำงานบางอย่างร่วมกัน ตรงนี้ต่างหากที่มันทำให้เกิดสิ่งมีชีวิต คือตัวสายของรหัสพันธุกรรมมันไม่ได้บ่งบอกว่ามันมีชีวิต เพราะว่าพอถอดสายออก และถอดกระบวนการทางเคมีออกไป มันไม่มีชีวิต แล้วเขาเลยบอกว่า DNA ไม่ใช่คำตอบของคำว่ามีชีวิต และถึงที่สุดแล้วของวงการนี้ มันจะไปถึงไหน เหมือนเดินไปหาสิ่งที่เป็นทางตัน มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะตัด DNA ท่อนนี้ทิ้งไป เพราะคุณก็เห็นอยู่ว่า คนที่มีตัวนี้ ตั้งเยอะที่เขาไม่เป็นมะเร็ง เพราะฉะนั้นตัวนี้เดี่ยว ๆ มันไม่เป็น มันต้องมีการสื่อสารอะไรบางอย่างระหว่างกัน ผมคิดว่าอะไรที่ทำให้มันสื่อสารกันได้
ตอนแรกที่ถามถึงหนังสือเล่มนี้ในเรื่องเชิงปรากฏการณ์ พอดีผมมีข้อสงสัยพกมาจากหอพัก เผอิญยกตัวอย่างเรื่องของราเมือก ผมปลูกต้นไม้ไว้ตรงระเบียงหลังหอพัก จู่ๆ มันมีต้นตำลึงงอกออกมา ทุกทีจะดึงมันทิ้ง แต่ครั้งนี้มันมีอะไรบางอย่างบอกว่าไม่ดึงดีกว่า ก็ปล่อยให้เลื้อยจากพื้นขึ้นไปเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่ง ก็มีชั้นข้างบนเป็นกระถาง มันไกลไป ผมก็เอาลวดขึงห้อยลงมา พอขึ้นไปจนสุดแล้ว ผมก็เฝ้าดูว่าถ้าคราวนี้ผมไม่ทำอะไร มันจะเกิดอะไรขึ้น
ปรากฏว่าระยะห่างระหว่างเส้นลวดกับยอดตำลึงห่างกันประมาณฟุตครึ่ง ปลายของตำลึงออกมา ๒ หนวด ผมสงสัยว่ามันรู้ได้ยังไงว่ามันควรจะมาทางซ้ายมันมาทั้งคู่ ผมก็สงสัยว่าเส้นไหนจะไปถึงก่อน คว้าเส้นลวดไว้ก่อน ผมเฝ้าดูอยู่ ๔ วัน. ผมเจออาจารย์ชัชวาล ปุญปัน(ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มช.) คุยเรื่องควอนตัมฟิสิกส์ในฐานะที่ไม่ใช่เชิงอนุภาคแต่เป็นคลื่นพลังงาน ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราหรือแม้กระทั่งตัวเรา ถ้าเราตีว่าเป็นควอนตัม ว่ามันเป็นกลุ่มพลังงานที่ก่อตัว ก่อรูปร่างขึ้นมา ถ้าอย่างนั้นผมก็ต้องเดินทะลุอาจารย์ประมวลได้ซิ
อย่างตำลึงก็คือพลังงานกลุ่มหนึ่ง เส้นลวดคือพลังงานอีกกลุ่มหนึ่ง ผมจะเอาพลังงาน ๒ ก้อนมาทำความรู้จักกัน ก็โดยการการเลื่อนเส้นลวดมาหาหนวดตำลึงเส้นหนึ่ง แตะๆ กัน อีกหนวดหนึ่งผมไม่เอาลวดไปแตะมัน และเอาเส้นลวดไปแขวนไว้ที่เดิม เชื่อไหมครับ เส้นที่แตะมันไปถึง ผมงงมากมันรู้ได้ยังไง เล่าเรื่องนี้ ถ้าสมมติเอาเรื่องกลุ่มพลังงานไปโยงถึงเรื่องของผุดบังเกิด แล้วโยงไปเรื่องวิปัสสนา ผมคิดว่าการที่จะเจออะไรบางสิ่งบางอย่างตรงนั้น ความช้าอาจจะใช่ มีส่วนที่ทำให้มันเกิดบางอย่างเกิดขึ้น แต่ภายใต้ความช้านั้น ผมคิดว่ามันมีช่วงจังหวะเวลาที่มันต้องไปดื่มด่ำอะไรบางอย่างก่อน แล้วมันทำให้สิ่งนั้นสิ่งนี้มันเกิดขึ้น สิ่งที่คนนั่งวิปัสสนาไป พอไปเห็นไปเจออะไรบางอย่างนั้น คือช่วงเวลาตรงนี้
มันคืออะไร วันนั้นอาจารย์ชัชวาลเล่าถึงคนที่คิดค้นห่วงโซ่ของน้ำมันเบนซิน เขาคิดขึ้นมาได้โดยการฝัน นอนหลับแล้วเห็นงูมากินหางตัวเอง แล้วตื่นขึ้นมา ก็เลยคิดว่าหรือสิ่งที่ตัวเองคิดว่าแทนที่จะเป็นสายโซ่ ก็เลยวนใหม่เอา คาร์บอน ไฮโดรเจน เรียงกันใหม่ แล้วเป็นสายโซ่สำเร็จ ช่วงเวลาที่ฝันแล้วเจอสิ่งนี้ผุดออกมา ผมคิดว่าช่วงเวลาแบบนี้ ต้องการคำอธิบายอะไรบางอย่างจากอาจารย์ประมวล
ประมวล เพ็งจันทร์
: ผมไม่มีคำอธิบาย
แต่ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ว่า เพราะจริงๆ แล้วเส้นลวดก็ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต ตำลึงเป็นสิ่งมีชีวิตในระดับหนึ่ง
แต่ทันทีที่เส้นตำลึงรู้จัก มันไปถึงได้อย่างรวดเร็ว. อย่างบ้านผมปลูกต้นการเวก
ตอนแรกไม่คิดจะทำซุ้ม มันก็อยู่มานาน จนกระทั่งมีเพื่อนอาจารย์ไปเห็น เขาบอกว่าการเวกต้องมีซุ้ม
ปรากฏว่าการเวกแผ่ขยายอย่างรวดเร็วด้วยความที่มีที่ไป เพราะตอนที่ไม่มีที่ไปมันก็อยู่อย่างนั้น
ผมไม่ต้องการอธิบาย เชิงเหตุผลอย่างที่อาจารย์พูด แต่มันเหมือนมีอะไรบางสิ่งบางอย่างที่สิ่งเหล่านั้นมันมีอยู่
แล้วมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยที่เราเองก็ไม่ทราบ ว่าทำไมมันจึงรู้ว่า ถ้าไม่มีซุ้มมันไม่ไป
พอมีซุ้มมันถึงไป ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะอธิบายอย่างไร
พออาจารย์เอ่ยถึงทางวิปัสสนา เพราะในโลกทางวิปัสสนา พยายามตัดระบบคิดออกไปให้มากที่สุด
ถ้าระบบคิดใคร่ครวญ คำนวณ มันทำให้การรู้ด้วยจิตมันลดทอนสมรรถนะการรู้โดยตรงออกไป
เวลาคนทำวิปัสสนา จึงบอกว่าให้คิดหรือไม่คิดเลยก็ได้ สุดท้ายก็ลดความคิดไป. เวลาเราไม่คิด
ก็เหมือนกับมีอะไรบางสิ่งบางอย่างโผล่ขึ้นมา แต่แน่นอนอะไรที่เราคิดนำไปก่อน
มันจะเป็นไปตามที่เราคิด
ตอนผมเดินผมจะไม่คิดเลย แต่ผมศรัทธาว่าผมต้องไม่ตาย คือไม่คิดว่าจะมีเหตุอันตรายอะไร ส่วนใหญ่คนจะไปคิดและกลัว คือ ไปคิดว่าน่าจะอันตราย ในการที่จะเดินไปโดยไม่มีคนรู้จัก ไม่รู้ว่าจะพบเจออะไร แต่ผมกลับมีศรัทธาเชื่อมั่นว่า มนุษย์มีเยอะแยะมากมายและมนุษย์สื่อสารกันได้ ที่ผมเดินไป ผมไม่ได้มีจิตประทุษร้าย และไม่ได้มีความเกลียด ผมมีแต่ความรู้สึกรักและปรารถนาดี นี่เป็นความเชื่อที่ไม่มีเหตุผล
โครงสร้างระบบจักรกลใดๆ อย่างที่อาจารย์วิชัยพูดถึงตำลึงกับเส้นลวด ผมเข้าใจว่ามันคงคล้ายกับที่ผมรู้สึก ผมเข้าใจว่าจิตของเรามันสัมผัส อะไรบางอย่างได้ อธิบายไม่ได้ เหมือนที่บางคนพูดว่าอธิบายไม่ได้ว่าทำไมเขารัก รู้สึกว่าเป็นอะไรบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เราสัมผัสรู้ได้
ชลนภา อนุกูล
: ในภาวะการทำงาน
ในบริษัทหลายแห่งจี้คนทำงาน ให้เกิดความเคร่งเครียดเพื่อจะดึงเอาศักยภาพในตัวของแต่ละคนออกมาให้มากที่สุด
ซึ่งมันจะใช้ไม่ได้นาน ซึ่งมันจะอยู่ตรงข้ามกับการสร้างสภาวะแวดล้อมในการทำงานให้สบาย
เพื่อให้คนทำงานเกิดความคิดดี ๆ ออกมา ก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่ ต้องถามน้อง
ๆ ว่าเรียนกับครูคนไหนสบาย จำได้เยอะ
วิชัย วิวัฒน์คุณูปการ : แต่ประเด็นที่ชลนภาพูดถึงน่าสนใจอยู่ว่า
คำว่า "ผุดบังเกิด" ในที่นี้ ถ้ามันจะเกิดมันน่าจะเกิดในภาวะที่ผ่อนคลายอย่างในคณะตัวเอง
ภายใต้การเรียนซึ่งจะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งมีความเชื่อว่าต้องเข้มงวด จ้องสร้างภาวะกดดัน
สร้างความเครียดให้นักศึกษามีอยู่เป็นทุนบ้าง เพื่อที่จะสร้างผลงานให้ได้ออกมาดีที่สุด
เพราะว่าถ้าไม่สร้างความกดดันให้ นักศึกษาก็จะเฉื่อย ภายใต้ความเชื่อแบบนี้ก็แสดงว่าเราจะได้แต่สิ่งที่มันออกมาแข็งๆ
แต่สิ่งที่ได้ออกมานั้นไม่ใช่สิ่งที่ออกมาจากความรู้สึกขับดัน ผลักดันอะไรบางอย่างจากข้างในของตัวเองที่ทำให้มันออกมา
ซึ่งเหมือนเป็นอะไรสักอย่างที่มันกลวง ที่มันไม่มีฐานราก มันมีแต่ยอด ไม่มีฐานที่เข้มแข็งพอ
ชลนภา อนุกูล : ก่อนมา ลองค้นหาเอกสารงานวิจัยดู
พบว่าสายวิศวกรรมและบริหาร เริ่มมีแนวคิดเรื่องผุดบังเกิดเข้ามามากขึ้น ถ้าย้อนดู
ทุกอย่างเป็นเรื่องการควบคุมการจัดการหมดเลย พอการผุดบังเกิดเข้ามา มันสนับสนุนพื้นที่ของการสร้างสรรค์
มันกลายเป็น ๒ แนวคิดในเรื่องการดึงเอาศักยภาพของคนหรือองค์กรออกมา
"ทฤษฎีผุดบังเกิด" มันมีเรื่องของความฉลาดหรือปัญญาแบบองค์รวม เป็นของกลางร่วมกัน
เหมือนอย่างในธรรมชาติ ยกตัวอย่างเรื่องรังมด มดอายุไม่ยืน แต่ทำไมรังมดมีความรู้แบบเดิม
สังคมมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน ร่างกายเรามีเซลล์ที่ตายไปทุกวัน เราตายทุกวันและเกิดทุกวันแต่ร่างกายเราเหมือนเดิมทุกอย่าง
ทฤษฎีผุดบังเกิดเป็นเหมือนการสังเกตจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติแล้วโยงเข้ามา มันเป็นข้อเท็จจริง
หรือเป็นอะไรสักอย่าง เป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมารึเปล่า แล้วจับทุกอย่างลากเข้ามาอธิบาย
ถ้าเราเชื่อเรื่องของธรรมชาติ ธรรมชาติมันมีอยู่แล้ว และเป็นจริงแท้กว่าสิ่งที่สร้างขึ้นเอง
อันนี้เป็นความเชื่อมากกว่าเป็นเหตุเป็นผล
แต่อย่างที่อาจารย์วิชัยว่า ถึงที่สุดแล้ว เราไม่อาจมองเป็นกลไก คือมองเห็นเป็นชิ้นส่วน เพราะการมองชิ้นส่วนเรามองข้ามเรื่องปฏิสัมพันธ์. เป็นเรื่องเดียวกับอิทัปปัจจัยตา การผุดบังเกิดนั้น คิดว่ามันโยงเป็นเรื่องของปัจเจกของผู้คนในปัจจุบัน ปัจเจกชนนิยมแบบสุดโต่งคือมีความรู้สึกว่าฉันมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่พึ่งพาใคร เรียนจบได้คนเดียว ทำอะไรมาได้จนขนาดนี้ก็ตัวคนเดียว หรือได้ตำแหน่งขนาดนี้ เพราะตัวของเราคนเดียว ความรู้สึกแบบนี้คือ ความรู้สึกที่ไม่เชื่อมโยงกับคนอื่น พอเจอวิกฤติอย่างปัญหาในเชิงโครงสร้าง คนๆ เดียวคนนี้ จะรู้สึกว่าเขาแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย เพราะเขาเป็นตัวคนเดียว ปัญหาคือ ปัจเจกชนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง ทำไมถึงได้รู้สึกอ่อนแรง เมื่อเห็นโครงสร้างใหญ่มหาศาล แล้วรู้สึกว่าชาตินี้แก้ไม่ได้ พออ่อนแรงก็กลายเป็นว่า ไม่ทำอะไร
แต่ทฤษฎีผุดบังเกิดมันโยงไปที่ว่าการรวมกันน่ะดี แต่ว่าแนวคิดแบบนี้มันหายไปรึยัง ในสังคมไทย เพราะแม้กระทั่งเรื่องชุมชน ชุมชนไม่ใช่คนรอรถเมล์ที่เดียวกันแล้วเรียกว่าเป็นชุมชน ความเป็นชุมชน น่าจะอยู่ภายใต้ของการมีปฏิสัมพันธ์ เหมือนบ้านจัดสรรยุคใหม่ แค่เอาคนมาอยู่ในบ้าน แต่ละหลังๆ ไม่ได้แปลว่าเกิดชุมชนเพียงเพราะมีบ้านอยู่ติดกัน แต่มันเกิดจากการไปมาหาสู่ พูดคุยทักทาย ตรงนี้ต่างหากถึงเกิดความเป็นชุมชน. ชุมชนโดยอาชีพก็คงจะมี ความเป็นอาจารย์ ต่อให้ไม่ได้อยู่เชียงใหม่ เดินทางไปกรุงเทพฯ เจอเพื่อนร่วมอาชีพก็ยังรู้สึกว่าเป็นชุมชนแวดวงเดียวกัน เรามีความรู้สึกว่าสัมพันธ์และเชื่อมโยง
ธีรมล บัวงาม
: ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ผุดบังเกิดขึ้นมาได้
มันน่าจะมีส่วนผสมของเจตจำนง ผมคิดว่าชีวิตของเรา เจตจำนงพื้นฐานคือเรื่องของการมีชีวิตอยู่
พอคิดถึงงานที่ตัวเองทำเป็นนักข่าว ทำงานที่ค่อนข้างต่างจากกระแสหลักตอนนี้ ทำให้ปัญหาของชาวบ้านเป็นประเด็นขึ้นมา
ผมว่าเรื่องนี้มันต้องใช้ศรัทธาด้วย ที่จะมองถึงเจตนาของสิ่งมีชีวิต ถ้ามองแค่ตัวหนึ่งอาจมองไม่เห็นความสัมพันธ์ของมันทั้งระบบ
แต่ถ้ามองโดยภาพใหญ่ สิ่งนี้อาจจะมีเจตนาที่มากกว่าเจตนาของเขา เป็นสายใยแล้วพันกันไปเรื่อยๆ
ผมรู้สึกว่ามันเป็นคำอธิบายที่ทำให้เรากลับมาเห็นความเชื่อมโยง ถ้าเราเชื่อมั่นหรือศรัทธาในอะไรบางอย่าง
มันทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้หลุดลอยจากคนอื่น แต่ว่าสังคมทุกวันนี้มันเป็นปัจเจกมากๆ
แต่ผมว่าปัจเจกเองก็ยังมีความต้องการอะไรบางอย่างร่วมกัน แล้วรู้สึกว่าเป็นพลังที่จะมีชีวิตและทำงานที่แปลกๆ
ที่สวนกระแส
ชลธิชา สุจริตพินิจ : คือนึกถึงที่พี่เขาพูดถึงเรื่องความเชื่อมโยง
ดิฉันนึกถึงหนังเรื่องหนึ่งที่พระเอกเขาเต้นรำไม่เป็น แล้วพ่อของแฟนเขาก็บอกว่ามาเต้นรำด้วยกัน.
มีเพลงท่อนนึงว่า มองผ่านนัยน์ตาพระเจ้า อย่ามองว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ อย่าตีค่าของตัวเองแค่มุมมองของเธอคนเดียว,
เหมือนเส้นด้ายในผืนผ้า จะไม่รู้คุณค่าตัวเองเพราะมันมองอยู่แค่ตัวเอง แต่พอมองออกมา
มันเป็นส่วนหนึ่งของลายที่วิจิตรบรรจง แล้วก็ทำให้นึกถึงอิทัปปัจจัยตาว่ามีความเกี่ยวเนื่องกันไหมค่ะ
ความคิดแบบนี้ สิ่งหนึ่งไม่มีค่าถ้าปราศจากอีกสิ่งหนึ่ง
ประมวล เพ็งจันทร์ : ถ้ามองจากมุมของศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาที่เชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้าหรือไม่เชื่อ
ถ้าเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าจะง่ายมากในการอธิบาย เพราะคนที่เกิดในสำนึกว่าตัวเองเกิดมาโดยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า
ก็จะไม่รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า โดยไม่เอาความหมายเฉพาะตัวเองมาเป็นตัวกำหนด
เช่น ผมอยู่ในสังคมอินเดียซึ่งนับถือพระผู้เป็นเจ้า แล้วเราจะเห็นว่าระบบวรรณะ
ถ้าเรามองจากสายตาคนภายนอกผ่านระบบวรรณะ เราจะมองเห็นว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบ
ที่ชนชั้นสูงเอาเปรียบชนชั้นล่าง แต่ถ้าเราไปอยู่ภายในเราจะรู้เลยว่า คนชั้นล่างก็มีความภาคภูมิใจ
ที่พระองค์มีพระประสงค์เลือกให้ตัวเขามาทำหน้าที่นี้ ที่ทำหน้าที่ กวาดถนน กวาดขยะ
ทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะ เขาจะมีความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เป็นเพราะเขาคิดด้วยตัวเขาเอง
เป็นเพราะพระองค์เป็นผู้เลือกว่าเขาจะต้องรักษาทำความสะอาด ถ้าไม่มีเขาเสียแล้วซิ
เมืองทั้งเมืองจะสกปรก
วิธีแบบนี้คือ คิดจากอะไรที่เป็นเชิงโครงสร้างรวม เหมือนกับที่ว่าถ้าเส้นด้ายหนึ่งเส้น ไม่มีอะไรหรอกเส้นด้ายเล็กๆ แต่ความจริงผ้าหนึ่งผืน ลายที่สวยงามก็มาจากเส้นด้ายเส้นเล็กๆ เหมือนที่เราเคยคุยกันเรื่องการทอพรมของทิเบต พรมหนึ่งผืนบางคนใช้เวลาถักทอเป็น ๑๐ ปี แล้วเขาจะรู้สึกภาคภูมิใจว่าพรมหนึ่งผืนที่เขาทอ กว่าจะปรากฏเป็นร่องรอยแห่งพระโพธิสัตว์ใช้เวลาเป็นปี คนที่ไปยืนดูยังดูไม่รู้เลย แต่ความเป็นพระโพธิสัตว์ในใจเขามันชัดเจนจนกระทั่งว่า ทีละเล็กๆ ที่เขาทอ ถ้าเราไปเห็นเราจะรู้สึกว่า เขามีความเพียรพยายามมาก เกือบไม่เห็นร่องรอยเลยผ่านไปหนึ่งวัน มันมีอะไรเกิดขึ้นเล็กน้อยเท่านั้นเอง เวลาเขาคิดเขาไม่ได้คิดเฉพาะส่วนเล็กๆ คิดส่วนรวมคือ พรมทั้งผืน สุดท้ายแล้วมีรูปพระโพธิสัตว์เป็นที่สุด
แล้วความคิดแบบนี้มันทำให้ที่อาจารย์ชลนภาพูดเรื่องปัจเจก ที่ปัจเจกแยกตัวเองออกมา แล้วมองความสำเร็จ ว่าเป็นความสำเร็จของตัวเอง มองความสุขสมหวังก็เป็นความสุขสมหวังของตัวเอง แต่ถ้ามองจากอีกมุม คือ มองจากมุมที่ว่า โลกใบนี้มันเชื่อมโยงกันเหมือนกับที่เราคุยครั้งก่อน แต่เพียงแค่เราอาจคิดไม่ได้ว่ามันเชื่อมโยงกันอย่างไร ที่เราเคยคุยกันกับอาจารย์ชัชวาล ที่นกบินจากขั้วโลกหนึ่งไปยังอีกขั้วโลกหนึ่ง จริงๆ นกที่บินไป กับนกที่บินกลับมันคนละตัว เพราะมันจบชีวิตไปก่อน แต่ภาระในการบินไป ในระหว่างนั้นอาจจะฟักไข่มีลูก สุดท้ายลูกก็บินต่อ อีกกี่ปีไม่รู้ บินกลับมาที่เดิมอีก แล้วมันต่อเนื่องกันในภารกิจอย่างไร เพราะนกตัวหนึ่งมันตายไปแล้ว. อันนี้คือสิ่งที่เราตั้งคำถามและสงสัยว่ามันทำได้อย่างไร อย่างที่อาจารย์พูดถึงเซลล์ร่างกายว่ามันจบชีวิตไปแต่ละครั้ง ผมคิดว่าตรงนี้มันน่าจะช่วยตอบได้ว่ามันมีเจตจำนงอะไรบางอย่าง
ชลนภา อนุกูล
: โยงที่เรื่องที่อาจารย์วิชัยกล่าวถึง
DNA. ในที่สุดมันไปถึงทางตัน คิดว่าใช่ กลายเป็นว่า ทางชีววิทยาซึ่งเป็นศาสตร์ที่ต้องการศึกษาเรื่องชีวิต
ตอบคำถามเรื่อง"ชีวิตคืออะไร?" ไม่ได้เลย เพราะยิ่งวิจัยลงไปในระดับ
DNA, แต่กลับตอบไม่ได้ในเรื่องของชีวิต. โยงมาแม้กระทั่งเรื่องการรักษา เพิ่งเจอหมอทิเบต
เพื่อนของดิฉันได้พาคุณแม่ไปหา หมอเขาตรวจไปแล้ว เขาถามคนไข้ว่าโกรธบ่อยไหม เพราะในทางทิเบต
โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นตอของโรคด้วย คนขี้โกรธตับจะไม่ดี คนโลภจะมีอีกโรคนึง
มันฟังดูตลก(หัวเราะ) แต่เขาทำอย่างนี้มาเป็นพันปี. ในขณะที่ทางการแพทย์ตะวันตก
เราไม่คิดว่ามันเกี่ยวกับความโลภ ถ้าเราคิดว่าจิตกับร่างกายมันโยง มันก็น่าจะโยงกัน
แต่ว่าเราอธิบายยังไม่ได้แค่นั้นเอง
ถ้าไปดูอย่างพระสายปฏิบัติที่ปฏิบัติธรรมมากๆ ท่านมีความหนุ่มมาก อย่างท่านนัท
ฮันท์ อายุจะ ๘๐ แล้ว อย่างท่านทาไล ลามะ หมอตรวจหัวใจ ท่านอายุเกือบ ๘๐ ปี มีหัวใจแข็งแรงเท่ากับคนหนุ่มอายุ
๒๐ ปี นี่เป็นผลจากอะไร อารมณ์ด้านลบมาแผ้วพานท่านไม่ได้ มันเหมือนแตะอยู่บนพื้นผิว
แตะอยู่บนผิวทะเล อาจจะกระเพื่อมนิดนึงแต่มันลงไปข้างล่างไม่ได้
หรืออย่างที่อาจารย์ประเวศ วะสี เคยบอกว่าตอนท่านเป็นหมอ ท่านดูหน้าคนไข้ท่านยังไม่ได้บอกว่าคนไข้เป็นอะไร ท่านถามว่ามายังไง มีสตางค์มารึเปล่า ถามทุกข์สุขของเขา มองเขาเป็นคนคนหนึ่ง มันกลายเป็นว่าหมอไม่ได้รักษาแต่โรค หมอเห็นคนเป็นคนด้วย อันนี้อาจจะเป็นพื้นฐานของหัวใจของมนุษย์ในทุกวิชาชีพ
แล้วการศึกษาของเราตอนนี้ตลกมากๆ ถามเด็กว่าอยากเป็นอะไร เด็กตอบว่าอยากเป็นหมอ เป็นวิศวกร แต่ไม่มีใครอยากเป็นมนุษย์สักคน(หัวเราะ) ซึ่งมันน่าสนใจ อันนี้ตรงข้ามกันกับจีนโบราณ เขาบอกว่า บัณฑิตจีนต้องรู้ลึกซึ้งถึง ๔ ศาสตร์คือ เขียนหนังสือ, รู้เรื่องศิลปะ, แต่งกาพย์กลอน, เล่นหมากรุกหรือขี่ม้า พยายามทำให้รอบรู้ทั้งหมด แต่ของเราอาจจะโดนอิทธิพลเรื่องความชำนาญ ระบบคิดแบบอุตสาหกรรมที่ว่าต้องรู้แบบดิ่งเดี่ยว ก็เลยตัดทอนอะไรอย่างอื่นไปหมด
ประมวล เพ็งจันทร์
: ขอพูดถึงเรื่องพระพุทธเจ้า
มันมีคำอธิบายเรื่องพุทธันดร คือ จริงๆ แล้วความรู้ที่เรียกว่า พุทธะ เมื่ออุบัติขึ้นแล้วไม่ได้หมายถึงตัวพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นร่างกาย
แต่ตัวพุทธะจะมีกระจายอยู่ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นองค์หนึ่ง จะมีคนอื่นเป็นพุทธะตามด้วยไม่ยาก
แต่จะมีช่วงที่พุทธะเสื่อม และพุทธะองค์ใหม่ยังไม่มา มันจะเกิดสภาวะที่ยากที่จะตรัสรู้
เราเอาคัมภีร์ตรงนี้มาพูดเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าความรู้หรือการเกิดขึ้นใหม่ๆ
มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่งเป็นการจำเพาะ เป็นเรื่องของความเชื่อมโยงของหมู่มนุษย์
เพราะฉะนั้นทันทีเมื่อเราตรัสรู้ หรือเกิดความรู้แจ้งอะไร มันจึงทำให้เกิดความสำนึกรู้ในเชิงขอบคุณของผู้รู้หรือความรู้ที่มีผู้ซึ่งรู้อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว
ไม่ใช่หมายความว่าเราจะรู้ขึ้นมาเอง แล้วฉันไม่ต้องขอบคุณใคร ฉันเป็นผู้ได้สิ่งนี้มาด้วยตนเอง
ฉันจะคิดค่าสิทธิบัตร(หัวเราะ)
ในกระบวนการคิดแบบนี้ จึงหมายถึงความรู้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่อุบัติขึ้นใหม่ แต่แน่นอนมันมีวิวัฒนาการ ฉะนั้น องค์ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้จึงใช้เวลานาน ถ้าเรามองจากมุมนี้ก็แสดงว่า การเกิดขึ้นใหม่ทางจิตวิญญาณจึงไม่ได้หมายถึงการเกิดขึ้นมาโดดๆ มันมีเรื่องของอิทัปปัจจัยตา เวลาเราตั้งจิตอธิษฐานทางพระพุทธศาสนา เราจึงมีจิตปรารถนาขอให้ได้เกิดในภพพระพุทธเจ้า จะโชคดีอย่างมากถ้าเกิดขึ้นในช่วงพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง มีโอกาสที่จะเข้าใจรู้แจ้งหรือเกิดความรู้อะไรใหม่ๆ ได้ นี่เป็นวิธีคิดเชิงวัฒนธรรม และเชิงจารีตของพุทธ แต่ถ้าเราจะถอดออกมาอธิบาย คุยกันในลักษณะเช่นนี้ ผมเข้าใจว่านั่นคือสิ่งยืนยันว่า ความรู้หรือสิ่งที่เกิดขึ้นทางจิตวิญญาณไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเชิงปัจเจก
ณัฏฐิรา
ก๋าวินจันทร์ :
อาจารย์ช่วยขยายคำว่า อิทัปปัจจัยตา
ประมวล เพ็งจันทร์ : คือ เป็นความเชื่อโดยพื้นฐานของพุทธศาสนาว่าสิ่งต่างๆ
เกิดขึ้นมีเหตุมีปัจจัยให้เกิด เพราะฉะนั้น ถ้าเราประสงค์ให้สิ่งใดเกิด ต้องรู้ว่าสิ่งนั้นมีเหตุปัจจัยอะไรให้เกิด
เพราะเราต้องสั่งสมเหตุอันเป็นที่มาที่ไปให้เกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง. หลักอันนี้จึงถูกท่องไว้ในใจเลยว่า
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุ ปัจจัย ถ้าเราพูดถึงเหตุ สิ่งหนึ่งเป็นเหตุเป็นผล,
แต่ในกระบวนการพุทธศาสนามิได้หมายความว่าสิ่งใดที่เป็นเหตุ มันจะเป็นเหตุอย่างเดียว
ในขณะเดียวกับสิ่งนั้นเป็นผลของสิ่งอื่นด้วย และเป็นเหตุ ให้เกิดสิ่งอื่นด้วย
เป็นโครงสร้างที่อิงอาศัยกันเช่นนี้ทุกๆ สิ่งทุกๆ สภาวะ
ชลนภา อนุกูล : วิธีคิดเรื่องเหตุปัจจัยเป็นวิธีคิดที่น่าสนใจมากของพุทธศาสนา
ใช่ว่าทุกคนทำได้ แต่ต้องฝึก แค่คิดว่าอันนี้มาจากอะไร คงคิดยาก แค่คิดให้ไกลที่สุดคนก็จะคิดเรื่องไกลไม่เท่ากัน
พระอาจจะฝึกการเดิน หรือพิจารณาใคร่ครวญอาหาร แค่นี้ก็เป็นวิธีฝึกคิดให้ย้อนทำให้เห็นผลกระทบอะไรต่างๆ
ไม่มีที่สิ้นสุด. ดิฉันได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์สุทธาธร ซึ่งไม่น่าจะต่างจากวิทยาศาสตร์
แต่ประเด็นก็คือ วิทยาศาสตร์สนใจเฉพาะเรื่องหนึ่งจุดหนึ่ง เวลาทำการทดลองก็จะดูเฉพาะเหตุปัจจัยเฉพาะในห้องทดลองนั้น
ประมวล เพ็งจันทร์ : ผมคิดว่ามันมีความต่าง ของนิยามในคำว่ารู้
เพราะในเชิงวิทยาศาสตร์เราสามารถใช้ความคิด เช่นในเชิงคณิตศาสตร์เราสามารถใช้ความคิดคำนวณค่าและความหมายของสิ่งต่างๆ
ได้โดยใช้ระบบคิด ระบบคิดที่ว่านี้ในพระพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่าเป็นความรู้ พูดถึงรู้ในทางพระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องคิดได้
จิตมันมีความสำนึกรู้ ทำให้ไม่เกิดทุกข์เพราะสิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น ถ้ามีใครเดินมาชนผม
แล้วผมคิดว่าเฮ้ยแกล้งกันนี่หว่า แต่จริงๆ แล้วการเดินชนกัน ถ้าเราคิดว่าเรารักกัน
เราก็ไม่ได้คิดอะไร การเดินชนกันมันก็ไม่ทำให้เกิดทุกข์
ในทางพระพุทธศาสนา ที่บอกว่าพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเสร็จมีคนๆ หนึ่ง พอมาได้ยินคำว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนเกิดแต่เหตุ
แต่ปัจจัย เกิดธรรมจักษุ เกิดดวงตาที่มองเห็นธรรม และดวงตาที่มองเห็นธรรมทำให้เกิดเป็นพระอริยบุคคลได้
ก็คือท่านเกิดจิตสำนึกรู้ในความเป็นเช่นนั้น. ท่านพุทธทาสจึงได้บอกว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง
มันเป็นกฎธรรมชาติ ก็เลยไม่รู้จะเอาจิตของเราไปแทรกแซงมันทำไม
เช่น ตอนเย็นเดี๋ยวก็จะมืดเราก็ไม่รู้ว่าเราจะเป็นทุกข์กับมันทำไม เวลาที่บอกว่าให้เรารู้เรื่องความเป็นเหตุและปัจจัย ให้เรารู้ถึงความยึดโยงสัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้นเราจึงไม่รู้สึกเป็นทุกข์เมื่อมันมี เหมือนกับที่เราพูดเราแก่ เราตาย เราเจ็บเพราะสิ่งนี้มันก็เป็นเช่นนั้น ความรู้สึกว่าเป็นเช่นนั้นเอง มันไม่ใช่แค่ในความคิด เป็นอารมณ์ เป็นความรู้สึก
ชลนภา อนุกูล
: สังเกตว่าคนรุ่นหนุ่มสาวจะเจ็บปวดกับเหตุการณ์ปัจจุบันมาก
แต่พอคนอายุมากๆ เขาจะเฉยๆ เหมือนกับรู้ว่าเดี๋ยวมาแล้วก็ไป แต่ว่ามันคงเป็นคนละส่วนกับการกระทำที่จะแสดงออกไป
ถ้ามีอะไรที่ควรทำก็ยังต้องทำอยู่ดี
ประมวล เพ็งจันทร์ : ต้องทำ อย่างกรณีองค์ทะไล
ลามะ ชัดเจนเพราะทุกครั้งที่มีผู้สื่อข่าวไปถามองค์ทะไล ลามะ เกี่ยวกับการกระทำอะไรบางอย่างของรัฐบาลจีนที่ปฏิบัติต่อทิเบต
ท่านจะต้องพูดโต้ตอบในฐานะที่เป็นผู้นำหรือเป็นประมุขของชาติทิเบต แต่เวลาพูดถึงว่านักข่าวถามว่าท่านเคยโกรธจีนไหม
ท่านบอกว่าถ้าได้ข่าวบางเรื่องก็จะโกรธ. โกรธ คือหมายถึงรู้สึกขัดเคืองที่จีนปฏิบัติเช่นนั้นต่อชาวทิเบต
แต่ถามว่าองค์ทะไล ลามะ มีความประสงค์ปรารถนาให้รัฐบาลจีนวิบัติ ฉิบหายลงไหม
ไม่เลย ต้องปกป้อง. ผมคิดว่าคำพูด หรือการคิดขององค์ทะไล ลามะ อธิบายหน้าที่ของทางพระพุทธศาสนาได้ดีมาก
ในห่วงโซ่ของความสัมพันธ์พระพุทธศาสนามองมนุษย์ในฐานะที่เป็นอัตตวิสัยและภววิสัยผสมอยู่ในตัวเราเอง
ในจิตของเราเองมีทั้งส่วนที่ไปรับรู้สิ่งอื่น และสิ่งอื่นมากระทำกับจิตและมีความสัมพันธ์ยึดโยงแยกกันเกือบไม่ได้เลย
ในทางพระพุทธศาสนาให้เราสนใจในส่วนที่เป็นอัตตวิสัย คือเป็นฝ่ายเลือกกระทำมีกุศลเป็นตัวชี้นำกำกับ
กุศลเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็กลับไปดูเหตุปัจจัย แต่ในขณะเดียวกัน พวกลัทธิ existentialism
(อัตถิภาวนิยม) ยืนยันค่อนข้างสุดโต่งว่ามนุษย์เป็นอัตตวิสัย เพราะฉะนั้นในสภาวะที่เป็นเงื่อนไขของโลกมนุษย์มีสิทธิข้ามพ้นและปฏิเสธได้ทั้งนั้น
แม้กระทั่งเรื่องเชิงกายภาพ
เราเกิดมาเป็นผู้ชาย แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งเรารู้สึกว่าเป็นผู้หญิงดีกว่าก็ได้
ถ้าปรารถนาจะเป็นผู้หญิง กรณีนี้ผมเข้าใจว่ามันมีความทับซ้อนกันอยู่ เพราะในการปฏิบัติธรรมของผู้ปฏิบัติธรรมสูงสุด
สุดท้ายเราต้องเป็นคนกำหนดรู้"รูป"กับ"นาม" ซึ่งทั้งหมดทั้งสิ้น
++++++++++++++++++++++++++++++
ภาคผนวก
๑. จิตปรารถนาจะเกิดในภพพระพุทธเจ้า : ประมวล เพ็งจันทร์
ทำความเข้าใจประเด็นที่จิตปรารถนาที่จะเกิดภพพระพุทธเจ้า ความหมายก็คือ จิตหยั่งเห็นความสำคัญของเหตุปัจจัยต่างๆ
นั่นคือหมายความว่า เวลาเรากินอาหารแน่นอนว่าเราไม่ได้ติดรสชาติ แต่เรารู้ว่าถ้าอาหารมีรสชาติมันกลืนกินง่าย
สนุกสนานขณะที่เรากลืนกินไปด้วย เราสำนึกรู้ถึงคุณของอาหาร แต่ในขณะเดียวกันเราก็สำนึกรู้ถึงค่าของรสชาติเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงการตระหนักรู้ มิได้หมายความว่า ถ้าไม่ได้อยู่ในช่วงพุทธกาล พุทธกาลไม่ได้หมายถึงช่วงของชีวิตพระพุทธเจ้า แต่หมายถึง เช่นเขาคำณวนว่าท่านสมณโคดมจะมีอายุประมาณ ๕,๐๐๐ ปี ก็คือเกิดภายในปีใดปีหนึ่งในช่วง ๕,๐๐๐ ปีนี่แล้วกัน แสงประกายไฟแวบนึง คือพระพุทธเจ้าสว่างอยู่ ๕,๐๐๐ ปี
ประการแรก
คือ การปรารถนาที่จะเกิดทันพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าเราไปติดข้องอยู่อาศัยพระพุทธเจ้า
แต่ต้องการให้เรามีจิตตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆ เพราะตัวเราแม้กระทั่งความรู้ของเรา
มันไม่ได้อุบัติขึ้นโดยปราศจากเหตุปัจจัย เราเห็นค่าของเหตุปัจจัยทำให้เราหยั่งเห็นความสำคัญของทุกๆสิ่ง
ไม่ใช่เอาความปรารถนาของเราเป็นตัวตั้งอย่างเดียว ถ้าเรามีชีวิตอยู่และเห็นความสำคัญของทุกๆ
สิ่งเหมือนกับเราเห็นค่าของอากาศ เรารู้ว่าอากาศที่สะอาดมันมีคุณค่า ไม่ใช่แค่เราคิด
แต่เราต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อากาศสะอาด
ประการที่สอง ถ้าเราไม่เกิดทันพระพุทธเจ้า เราก็มีความสามารถที่จะรู้ได้
การตรัสรู้ที่เป็นปัจเจกพุทธเจ้า แต่เป็นความรู้แบบปัจเจกบุคคล คือ ความรู้นั้น
รู้แต่ไม่ได้มีค่าในเชิงมิติทางสังคม เนื่องจากบุคคลผู้นี้เกิดการรู้ขึ้นในช่วงว่างเว้นพระพุทธเจ้า
บุคคลผู้นี้ได้ชื่อเป็น"ปัจเจกพุทธเจ้า" บุคคลพวกนี้รู้แล้ว แต่ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อสังคม
ความสำนึกที่จะให้เกิดผลกระทบต่อสังคมก็ไม่มี พูดกันตรงๆ รู้แล้วไม่จำเป็นต้องขอบคุณครูก็ได้.
แต่ถ้าเรารู้แบบมีสำนึก คือมีพระพุทธเจ้าอยู่ สำนึกนี้จะสั่งสมถ่ายทอด ความสำคัญประการที่
๒ คือ มนุษย์สามารถรู้ได้แม้จะไม่อาศัยเหตุ ปัจจัย แต่ว่าถ้ามีเหตุปัจจัยที่เหมาะพร้อมก็ง่ายขึ้น
๒. The Universe in The Single Atom (จักรวาลในละอองธุลี)
: ชลนภา อนุกูล
The Universe in The Single Atom เป็นเล่มที่ท่านทะไล ลามะเขียน กึ่งๆ สรุปจากการสนทนากับนักวิทยาศาสตร์
ซึ่งท่านทำติดต่อกันมาเป็นสามสิบปีได้ ประชุม Mind and Life ซึ่งจัดขึ้นทุกปี
เป็นหัวข้อที่เอาเรื่องทางศาสนากับวิทยาศาสตร์มาคุยแลกเปลี่ยนกัน มีตั้งแต่ฟิสิกส์
ชีววิทยา พวกพันธุวิศวกรรมหลายๆ ด้าน ความเหมือนและความต่างของวิทยาศาสตร์กับศาสนา
ในที่นี่คือพุทธมหายานกับวัชรยาน
ท่านเสนอว่ากระบวนการทาง"วิทยาศาสตร์"กับ"ศาสนา"แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด วิทยาศาสตร์ยืนยันเรื่องความเป็นกลางซึ่งในที่นี่คือภววิสัย แต่พอมาโยงกับเรื่องควอนตัม มันไม่มี คือ ผู้ที่สังเกตกับผู้ถูกสังเกตมันแยกออกจากกันไม่ได้. ส่วนในทางศาสนาเรื่องฝึกจิตภาวนามันเป็นเรื่องของอัตตวิสัย คือ ดูแต่ตัวเรา. เป็นไปได้ไหมเอาสองวิธีการนี้มาไว้ด้วยกัน คือ เอาตัวเราเป็นสิ่งที่สังเกต เราเป็นอัตตวิสัยด้วยและเป็นภววิสัยด้วย นักวิทยาศาสตร์ถ้าจะไปทำการทดลองน่าจะเอากระบวนการนี้ไปใช้ด้วย เป็นไปได้ไหมถ้าเอาตัวเราเข้าไปด้วย หรือมันจะเกี่ยวแค่เรื่องเจริญสติ
แต่ดูเหมือนท่านต้องการจะชี้ให้แค่ว่า คุณทำอะไรมันมีผลกระทบกับอะไรบ้าง จากการทำงานของคุณ เพราะวิทยาศาสตร์มีผลกระทบมากกับชีวิตผู้คน เพราะนักวิทยาศาสตร์เชื่อแต่เดิมว่าฉันแค่ทำการทดลองของฉัน ส่วนใครจะเอาไปใช้ยังไงเรื่องของคุณ นี่เป็นแนวคิดแบบเดิม แต่ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เริ่มคิดว่าตัวเองเป็นพลเมืองหนึ่งของโลกแล้วหรือยัง
คลิกไปที่
กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
เจน จาคอบ เธอยืนยันว่าการจะสร้างเมืองให้เป็นเมืองที่กำหนดพื้นที่ว่าเป็นอะไร ตรงนี้คนรวยหรือคนจนอยู่ สิ่งที่สำคัญมากคือ"บาทวิถี", บาทวิถีต่างหากที่เป็นหัวใจของเมือง เธอบอกว่าบาทวิถีทำหน้าที่คล้ายๆ ทางเดินของมด เธอเปรียบคนเป็นมดว่า มดเดินผ่านแล้วสื่อสารกัน เป็นการส่งผ่านข้อมูลในรัง ถ้าสมมติตัวเองเป็นมดแล้วเดินบนถนน ถ้าจำนวนมดที่สวนทางบนทางเดินมาก แสดงว่ารังใหญ่มาก เจอมดหนุ่มสาว แก่ มันนับรุ่นอายุของมดได้ ของคนก็คล้ายๆ กัน บาทวิถีคือเป็นตัวทำให้ข้อมูลของเมืองส่งผ่านไหลเวียน เพราะฉะนั้นการเติบโต การปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในเมืองเป็นหัวใจของการวางผังเมือง