Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

รำลึกประวัติศาสตร์ ๓๐ ปี ๖ ตุลา ๒๕๑๙
บ้านเมืองของเราลงแดง: (๑)
แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม

เบเนดิก แอนเดอร์สัน : เขียน
แปลโดย : เกษียร เตชะพีระ,ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

บทความนี้นำมาจาก : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (บ.ก.),
จาก 14 ถึง 6 ตุลา (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2541) หน้า 97-162

เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุปัจจัยในเชิงประวัติศาสตร์ก่อนเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
โดยย้อนกับไปพิจารณาถึงสาเหตุการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในประเทศไทย พลวัตรทางเศรษฐกิจ
กรณีสงครามเวียดนามและความสัมพันธ์กับอเมริกัน
รวมไปถึงการก่อเกิดชนชั้นใหม่และกลุ่มสังคมต่างๆ อันเป็นผลพวงของการพัฒนา และการปะทะกัน
ซึ่งนำมาสู่เหตุการณ์วิกฤตของสังคมและการฆ่านักศึกษาและผู้เกี่ยวข้อง
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 985
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 26 หน้ากระดาษ A4)



บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม (ตอนที่ ๑)
เขียนโดย เบเนดิก แอนเดอร์สัน
แปลโดย เกษียร เตชะพีระ
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

- แปลจาก "Withdrawal Symptoms: Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup," Bulletin of Concerned Asian Scholars, 9:3 (July - September 1977), 13 - 30

- ที่มา : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (บ.ก.), จาก 14 ถึง 6 ตุลา (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2541) หน้า 97-162.

เกี่ยวกับผู้เขียน
Ben Anderson หรืออาจารย์เบ็น เคยบรรยายภูมิหลังตัวเองว่าเป็นคน "หลากเนรเทศหลายใจภักดิ์" กล่าวคือ "เกิดเมืองจีน โตในสามประเทศ (จีน ,อเมริกา ,อังกฤษ) พูดสำเนียงอังกฤษพ้นสมัย ถือหนังสือเดินทางไอริช อาศัยอยู่ในอเมริกา และอุทิศตัวให้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" อาจารย์รักเมืองไทยเหมือนบ้านแห่งที่สองรองจากอินโดนีเซีย อาจารย์ได้ติดตามศึกษาการเมืองและประวัติศาสตร์กลุ่มประเทศภูมิภาคนี้มานานร่วมสี่ทศวรรษ และติดตามศึกษาสยามอย่างเข้มข้นจริงจังนับแต่หลังเหตุการณ์มหาปิติ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมาจนมีลูกศิษย์ลูกหาเกลื่อนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเมืองไทย

โดยการงานอาชีพอาจารย์เป็นศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และเอเชียศึกษา ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ ผลงานที่เด่น ๆ ของอาจารย์ก็เช่น Java in a Time of Revolution (2515) ,Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism(2526) , Language and Power: Exploring Political Cultures in Indonesia(2533) , และล่าสุด The Spectre of Comparisons (2541)

อาจารย์บอกว่าความหวังยิ่งใหญ่ของอาจารย์ในปัจจุบันคือได้กลับเข้าอินโดนีเซียในจังหวะรัฐบาลซูฮาร์โตซึ่งสั่งห้ามอาจารย์เข้าประเทศมากว่ายี่สิบปีถึงกาลล่มสลาย แล้วเลยไปร่วมฉลองการประกาศเอกราชที่ติมอร์ตะวันออก

เริ่มเรื่อง...
คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย
จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น
ด้วยพระมหากระษัตรมิได้ทรงทศพิธราชธรรม์
จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ
คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพด
อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทีศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาล
เกิดนิมิตพิศดานทุกบ้านเมือง
พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก
อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง
ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร...
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย
น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม
(เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา)

บทนำ
อันว่ารัฐประหารโดยทหารนั้นในตัวมันเองไม่ใช่ของใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ (หรือสมัยโบราณก็ตามที) แต่อย่างใด เคยมีรัฐประหารสำเร็จอย่างน้อยแปดครั้งและที่ไม่สำเร็จอีกมากครั้งกว่านั้นนับแต่รัฐประหารโค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์เมื่อปี 2475 เป็นต้นมา(1) ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกที่หนังสือพิมพ์และนักวิชาการตะวันตกบางคนบรรยายเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่าเป็น "แบบฉบับ" ของการเมืองไทย และกระทั่งเป็น "การกลับคืนสู่ภาวะปกติ" หลังใจแตกหลงระเริงไปกับประชาธิปไตยเสียสามปี(2)

อย่างไรก็ตามเอาเข้าจริง 6 ตุลาฯ นับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อชัดเจนในประวัติศาสตร์ไทย ด้วยเหตุต่างกันยิ่งสองประการ

ประการแรก ผู้นำตัวเอ้ส่วนใหญ่ของฝ่ายด้านปีกซ้ายถูกกฎหมาย ในช่วงปี 2516 - 2519 พากันเข้าป่าไปร่วมขบวนการต่อต้านซึ่งกำลังฮึกห้าวเหิมหาญและมีชัยยิ่งขึ้นทุกที แทนที่จะทนทรมานติดคุกติดตะรางหรือถูกเนรเทศเหมือนคนรุ่นก่อนในประวัติศาสตร์

ประการที่สอง รัฐประหารครั้งนี้มิใช่ปฏิบัติการจู่โจมเฉียบพลันเฉพาะกิจในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเอง หากเป็นจุดสุดยอดของขบวนการรณรงค์ข่มขู่คุกคาม ทำร้าย และลอบสังหารอย่างเปิดเผยโจ่งแจ้งต่อสาธารณะยาวนานต่อกันสองปีโดยพวกฝ่ายขวา ซึ่งสัญลักษณ์ดีที่สุดของมันก็คือ การประสานกันก่อม็อบสร้างความรุนแรงเมื่อ 6 ตุลาฯ นั่นเอง(3)

ฆาตกรรมทางการเมืองด้วยน้ำมือกลุ่มปกครองเป็นบุคลิกปกติของการเมืองไทย ไม่ว่าจะสมัยอยู่ภายใต้เผด็จการจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปลายพุทธทศวรรษ 2470 ต่อต้นพุทธทศวรรษ 2480 , สมัยอยู่ภายใต้อำนาจการเมืองสามเส้าของ ป. พิบูลสงคราม - เผ่า ศรียานนท์ - สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในพุทธทศวรรษ 2490 (4),4 หรือสมัยระบอบสฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ถนอม กิตติขจร - ประภาส จารุเสถียร ในพุทธทศวรรษที่ 2500 ถึงกลางพุทธทศวรรษที่ 2510(5) แต่ฆาตกรรมเหล่านี้ซึ่งบางทีก็มีการทรมานควบด้วยนั้น มีลักษณะแบบฉบับเป็นฆาตกรรม "เชิงบริหาร" ดำเนินการโดยเครื่องไม้เครื่องมือทางการของรัฐ และบ่อยครั้งแอบทำกันลับ ๆ สาธารณชนไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวว่าเกิดอะไรขึ้น และที่แน่ ๆ ก็คือไม่ได้มีส่วนร่วมฆ่าด้วยอย่างมีนัยสำคัญใด ๆ

สิ่งที่น่าแปลกตาตื่นใจเกี่ยวกับความทารุณโหดร้ายในช่วงปี 2517 - 2519 ก็คือ ลักษณะที่ไม่ได้เป็นไปในเชิงบริหาร เปิดเผยต่อหน้าธารกำนัล และกระทั่งมีม็อบเข้าร่วมด้วยของมัน ในเดือนสิงหาคม 2518 ชาวกรุงเทพฯ ได้ชมมหรสพที่ไม่นึกไม่ฝันว่าจะเป็นไปได้มาก่อนในคราวบ้านรโหฐานของฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถูกฝูงตำรวจขี้เมาบุกปล้นทุกทำลาย(6)

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2519 ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยม ฯ ก็ถูกดักซุ่มสังหารโดยมือปืนอาชีพบริเวณบ้านย่านชานเมือง(7) พวกอันธพาลรับจ้างยิ่งสำแดงความรุนแรงด้วยลีลาที่ "ผิดจารีตธรรมเนียม" มากขึ้นทุกที อาทิ เที่ยวปาระเบิดในที่สาธารณะไม่เลือกหน้า(8) ซึ่งแตกต่างอย่างหน้ามือเป็นหลังมือจากฆาตกรรมที่ทำกันอย่างสุขุมแม่นยำในยุคก่อน มีผู้บริสุทธิ์ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ตายไป 10 คนเมื่อระเบิดมือถูกปาเข้าใส่ที่ชุมนุมหาเสียงเลือกตั้งของพรรคพลังใหม่ ที่จังหวัดชัยนาทเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2519(9) และการรุมฆ่าจับแขวนคออย่างสยดสยองเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมนั้น ก็เกิดขึ้น ณ สถานที่เปิดเผยโจ่งแจ้งต่อหน้าธารกำนัลที่สุดในสยามประเทศ นั่นคือ สนามหลวงอันเป็นมหาจตุรัสใจกลางพระนครเบื้องหน้าพระบรมมหาราชวัง

สิ่งที่ผมใคร่นำเสนอในบทความนี้ก็คือสำรวจ ค้นคว้าสาเหตุที่มาของความรุนแรงในระดับและลีลาใหม่นี้ เพราะผมเชื่อว่ามันเป็นอาการบ่งบอกวิกฤตทางสังคม , วัฒนธรรมและการเมืองปัจจุบันในสยาม ข้อถกเถียงของผมจะคลี่คลายไปในสองแนวที่เกี่ยวพันกัน แนวหนึ่งว่าด้วยการก่อตัวทางชนชั้น และอีกแนวหนึ่งว่าด้วยความพลิกผันปั่นป่วนทางอุดมการณ์

โครงสร้างทางชนชั้นของสังคมไทยได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว นับแต่ต้นพุทธทศวรรษที่ 2500 มา เหนืออื่นใด ชั้นชนกระฎุมพีใหม่ ๆ ได้ปรากฏตัวขึ้น แน่ล่ะว่าพวกเขายังค่อนข้างเล็กและเปราะบางอยู่ แต่ในแง่มุมต่าง ๆ ที่สำคัญพวกเขาก็อยู่นอกชนชั้นสูงศักดินา-ข้าราชการเก่า และเป็นปฏิปักษ์ต่อพวกนั้นบ้างบางส่วน ชั้นชนใหม่เหล่านี้ซึ่งหมายรวมทั้งคนชั้นกลางและนายทุนน้อยด้วยนั้น ถูกฟูมฟักขึ้นมาจากเศรษฐกิจบูมครั้งใหญ่ยุคสงครามเวียดนามในพุทธทศวรรษ 2500 ต่อต้นพุทธทศวรรษ 2510 เมื่อชาวอเมริกันกับทุนอเมริกันทะลักหลั่งไหลเข้าประเทศในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน (โดยมีญี่ปุ่นตามหลังมาอย่างรวดเร็ว)

ชั้นชนเหล่านี้แหละที่เป็นฐานทางสังคมให้แก่ขบวนการฝ่ายขวากึ่งมหาชน ซึ่งแตกต่างจากฝ่ายขวาจำพวกขุนนางและข้าราชการยุคก่อนอย่างชัดเจน นี่มิได้เป็นการเสนอแนะว่ากลุ่มปกครองเก่าจำพวกนายพล นายธนาคาร ข้าราชการและเจ้านายไม่ได้กุมกุญแจไขอำนาจการเมืองที่แท้จริงไว้ในมืออีกต่อไปแล้ว หากมุ่งเสนอว่ากลุ่มปกครองเหล่านี้ได้พบพันธมิตรใหม่ "ในหมู่มหาชน" ซึ่งอาจกลายเป็นภัยคุกคามพวกเขาได้ในภายภาคหน้า(10)

ความพลิกผันปั่นป่วนทางอุดมการณ์ ก็สืบเนื่องมาจากผลกระทบของการทิ่มทะลวงเข้ามาของอเมริกันเป็นอันมากด้วยเหมือนกัน และด้านหลักแล้วก็แสดงออกในการปฏิวัติทางปัญญาซึ่งระเบิดขึ้นใน "ยุคประชาธิปไตย" ระหว่าง 2516-2519 หนุ่มสาวชาวไทยจำนวนมากได้แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสภาพโมฆะทางปัญญาและการฉวยใช้สัญลักษณ์ตามคตินิยมประเพณีอย่างหยาบช้าโดยเผด็จการสฤษดิ์ - ถนอม - ประภาส ด้วยการตั้งคำถามเอาอย่างเปิดเผยต่อแกนกลางของวัฒนธรรมเก่าที่กุมอำนาจนำอยู่

ในทางกลับกัน ก็มีการตอบโต้ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ และอบรมลัทธิอุดมการณ์หัวรุนแรงเรื่องชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ เพิ่มทวีขึ้นมามหาศาลอย่างสำนึกจงใจ ซึ่งนับว่าแตกต่างตรงข้ามกับ "คตินิยมประเพณี" แบบหัวโบราณที่เป็นหลักมาแต่ก่อน

"ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์" กลับกลายเป็นสโมสรทางอุดมการณ์ของกลุ่มสังคมที่เฉพาะเจาะจงเปิดเผยโจ่งแจ้งยิ่งขึ้นทุกที มากกว่าจะถูกมองว่าเป็น "ไทยโดยธรรมชาติ" โดยคนทั่วไปดังก่อน เห็นชัดว่าปฏิบัติการทางอุดมการณ์อย่างสำนึกจงใจของฝ่ายขวาดังกล่าวนี้ มุ่งต่อผู้ชมผู้ฟังที่เป็นชั้นชนกระฎุมพีใหม่ทั้งหลาย ส่วนผู้ปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อก็มีทั้งพวกคลั่งอุดมการณ์ในชั้นชนต่าง ๆ นี้เอง และพวกกลุ่มปกครองที่ฉลาดใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือ

ความทุกข์ร้อนของชนชั้นใหม่
ในต้นพุทธทศวรรษ 2490 ถึงต้นพุทธทศวรรษ 2510 นักสังคมศาสตร์ตะวันตกส่วนใหญ่มองว่า สยามปกครองกันใน "ระบบการเมืองแบบราชการ" กล่าวคือ เป็นระบบการเมืองที่ถูกครอบงำอย่างสมบูรณ์โดยระบบราชการซึ่งหวงอำนาจไว้เองอย่างถาวรเป็นส่วนใหญ่ และดำเนินการ "สร้างความทันสมัย" ขึ้นมา(11)

ใต้ระบบราชการนี้ลงไป ก็มีแต่ชนชั้นพ่อค้าจีนซึ่งถูกตั้งแง่เดียดฉันท์ และชาวนาที่ไม่มีการแตกตัวภายในเป็นชั้นชนต่าง ๆ โดยที่ทั้งคู่ต่างก็มีสำนึกการเมืองต่ำ และถูกกีดกันออกไปจนแทบไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นที่เข้าใจกันว่าความสัมพันธ์ระหว่างระบบราชการกับชาวนาเป็นไปอย่างกลมเกลียว และไม่เอารัดเอาเปรียบกันโดยทั่วไป(12) เป็นแต่แลกเปลี่ยนภาษีอากร แรงงานและความเคารพยำเกรง กับ ความมั่นคง รุ่งโรจน์ และเอกลักษณ์ทางศาสนาตามธรรมเนียมดั้งเดิมเท่านั้น

ด้วยพระปรีชาสามารถ และสายพระเนตรเล็งการณ์ไกลของพระมหาบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าแห่งราชจักรีวงศ์ ในศตวรรษก่อนสยามเป็นประเทศเดียวในบรรดารัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหลาย ที่ไม่เสียเมืองแก่จักรวรรดินิยมยุโรปหรืออเมริกา และฉะนั้นจึงหลีกเลี่ยงภัยร้ายของการรีดไถค่าเช่าที่ดินสูงลิบ ระบบเจ้าที่ดินแบบปล่อยเช่าแล้วตัวเองไปอยู่ที่อื่น ชาวนาติดหนี้สินยืดเยื้อรุงรัง และการเกิดชนชั้นกรรมาชีพไร้ทรัพย์สินที่ดินขึ้นมาในชนบท อันเป็นสภาพแบบฉบับของเขตที่ตกเป็นเมืองขึ้นไปได้

เศรษฐกิจสยามซึ่งกระทั่งถึงพุทธศตวรรษ 2510 ก็หาได้พัฒนาไปไกลแต่อย่างใดไม่นั้น โดยเนื้อแท้แล้วก็อยู่ในกำมือของจีนอพยพ ผู้ไม่มีวันแสดงบทบาทการเมืองที่แข็งขันทรงพลังโดยอิสระได้ เนื่องจากสถานะคนต่างด้าวข้าวนอกนาของตน(13) ทว่าภาพสยามประเทศอันสงบสันติ เข้มแข็งมั่นคงและเป็นอิสระข้างต้นนี้ นับว่าจอมปลอมในหลายแง่ที่สำคัญทีเดียว ทุนตะวันตก "ที่ปรึกษา" ชาวตะวันตก และหมอสอนศาสนากับวัฒนธรรมชาวตะวันตกทรงอิทธิพลชี้ขาดต่อประวัติศาสตร์สยาม หลังต้นพุทธทศวรรษ 2490 ต่อต้นพุทธทศวรรษ 2500(14)

แต่ในอีกแง่หนึ่ง เมื่อเปรียบกับความเปลี่ยนแปลงที่นำมาโดยการบุกทะลวงเข้ามาของอเมริกันกับญี่ปุ่น ในยุคสงครามเวียดนามแล้ว ช่วงปีก่อนต้นพุทธทศวรรษ 2500 ถึงต้นพุทธทศวรรษ 2510 กลับดูประหนึ่งค่อนข้างเป็น "ยุคทอง" ไปเลยทีเดียว แม้จนกระทั่งปี พ.ศ. 2503 เราก็ยังพอจะบรรยายกรุงเทพฯได้ว่าเป็น "เวนิสตะวันออก" คือเป็นเมืองท่าราชธานีแบบเก่าที่ชวนหลับใหล ดารดาษไปด้วยคูคลอง วัดวาอารามและปราสาทราชวัง

แต่ 15 ปีให้หลัง ปรากฏว่าคูคลองหลายสายถูกถมทำถนนและวัดวาหลายแห่งก็ทรุดโทรมลง ศูนย์กลางทั้งหมดของเมืองหลวงแห่งนี้ได้เคลื่อนย้ายไปทางทิศตะวันออกห่างเขตพระราชฐานและย่านคนจีนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ออกไปยังเขตใหม่ที่มีลักษณะสากลซึ่งถูกครอบงำแลเกลื่อนกลาดไปด้วยบรรดาอาคารสำนักงานโอ่โถง ธนาคาร โรงแรมและศูนย์การค้า เมืองทั้งเมืองขยายตัวลุกลามเร็วราวโรคมะเร็ง เขมือบกลืนพื้นที่ชนบทรายรอบ และเปลี่ยนทุ่งนาไปเป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเก็งกำไรย่านชานเมืองสำเร็จรูปและสลัมใหม่ขนาดยักษ์(15)

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นกับหัวเมืองต่างจังหวัดบางแห่งเช่นกัน แต่ในระดับน้อยกว่านี้ เกิดขึ้นจากพลังภายนอกสังคมสยาม อาจช่วยให้เข้าใจเรื่องนี้ได้ดีขึ้นหากบรรยายพลังเหล่านี้ว่าได้แก่เหตุปัจจัยต่าง ๆ สามประการที่เกี่ยวโยงกัน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า

ปัจจัยแรก ที่สำคัญที่สุดย่อมได้แก่การที่อเมริกาเสือกไสไล่ส่งบรรดามหาอำนาจอาณานิคมยุโรปออกไปจากฐานะครองความเป็นเจ้าทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนสงครามอย่างไม่ไว้หน้าหลังปี 2488(16)

ปัจจัยที่สอง คือการที่ทางการวอชิงตันตัดสินใจใช้สยามเป็นแกนกลาง ดำเนินลัทธิขยายอำนาจไปทั่วภูมิภาคของตน กรุงเทพฯไม่เพียงแต่กลายเป็นกองบัญชาการของ "องค์การสนธิสัญญาป้องกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" หรือซีโต้เท่านั้น หากยังรวมถึงแผนปฏิบัติการของอเมริกันทั้งเปิดเผยและปิดลับหลากหลายมากมาย ในลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม อันเป็นประเทศเพื่อนบ้านด้วย(17)

ปัจจัยที่สาม ซึ่งมีความสำคัญในลักษณะที่ต่างออกไปบ้างนั้นก็คือ การปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่ทำให้การท่องเที่ยวมวลชน กลายเป็นอุตสาหกรรมหลักอย่างหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกไกลหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ก่อนหน้านั้นการท่องเที่ยวในเขตนี้เป็นกิจกรรมหรูหราฟุ่มเฟือยของคนชั้นสูง) กรุงเทพฯย่อมเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงโดยธรรมชาติสำหรับอุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ เพราะนอกจากจะตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคนี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว กรุงเทพฯยังปลอดภัยไร้กังวลอยู่ภายใต้การคุ้มครองของอาวุธอเมริกันและเผด็จการท้องถิ่น เหนืออื่นใด กรุงเทพฯมีให้ทั้งความหรูหราทันสมัย (โรงแรมนานาชาติ, พาหนะเดินทางติดแอร์สะดวกสบาย, ภาพยนตร์เรื่องล่าสุด ฯลฯ) และโบราณวัตถุแปลกตาตื่นใจ(18)

ส่วนที่อื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรดามหาอำนาจอาณานิคมมักจะสร้างเมืองหลวงประเภทด้อยวัฒนธรรม หากมุ่งแต่การค้าไว้ตามบริเวณชายฝั่งห่างไกลจากราชธานีเดิมของชาวพื้นเมือง (นักท่องเที่ยวก็เลยต้องเปลืองเวลาจาริกรอนแรมจากจาการ์ตาไปสุราการ์ตา จากย่างกุ้งไปมัณฑะเลย์-อังวะ จากไซ่ง่อนไปเว้ และจากพนมเปญไปนครวัด)

หากจะว่าการที่อเมริกันบุกทะลวงเข้าสยาม เป็นลักษณะโดยทั่วไปของยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว กระนั้น ระดับและจังหวะก้าวของมันก็แตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัดหลังปี 2502 เมื่อระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิ์ของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อตั้งขึ้น อันว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ครองอำนาจมาก่อนสฤษดิ์นั้น เป็นผลผลิตที่ผ่านการอบรมขัดเกลามาค่อนข้างดีจากวิทยาลัยทหารแซงซีร์ และโลกภายใต้การครอบงำของยุโรปก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนสฤษดิ์เป็นคนภูธรและผลผลิตของโรงเรียนนายร้อยทหารบก เป็นคนที่ขึ้นสู่อำนาจในยุคอเมริกาเป็นเจ้าโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตัวเขานี่เองที่เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบให้กองทัพไทยเปลี่ยนแปลงเป็นแบบอเมริกัน (ในแง่รูปการจัดตั้ง หลักความเชื่อมูลฐาน การฝึกอบรม อาวุธยุทโธปกรณ์และอื่น ๆ ) หลังจากไปเยือนวอชิงตันครั้งแรกเมื่อปี 2493 (19)

ความที่ผูกพันใกล้ชิดกับเพนตากอนมาเกือบทศวรรษก่อนยึดอำนาจ หมายความว่าหลังปี 2502 การเชื่อมโยงสยามเข้ากับสหรัฐฯ อย่างแนบชิดสนิทแน่นชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน ย่อมเป็นเรื่องง่ายดายและเป็นธรรมดาสำหรับเขา (20) นอกจากนี้สฤษดิ์ยังเป็นจอมเผด็จการสมบูรณ์แบบตามทรรศนะของวอชิงตันในแง่อื่นอีกด้วย เขาทั้งเต็มใจและกระตือรือร้นที่จะเอา "การพัฒนา" มาเป็นส่วนหนึ่งในการแสวงหาความชอบธรรมของตน และยอมรับฟังคำแนะนำของบรรดาเทคโนแครตที่จบจากสหรัฐฯ ในการยกร่างและปฏิบัติตามโครงการพัฒนาทั้งหลาย (21)

ในฐานะ "ผู้ยิ่งใหญ่" ไร้เทียมทาน เขามีอำนาจดำเนินการอย่างเฉียบขาดฉับไวกว่าผู้ครองอำนาจคนก่อนเป็นอันมาก(22) ที่สำคัญเหนืออื่นใดก็คือ สฤษดิ์ทำทุกอย่างที่อยู่ในวิสัยจะทำได้เพื่อดึงดูดทุนต่างชาติ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนอเมริกัน) เข้าสยามด้วยเชื่อว่า มันเป็นปัจจัยแก่นแท้ในการเสริมสร้างความมั่นคงแก่การปกครองของเขาและบรรดาผู้สืบทอดอำนาจ บรรดาสาขาของบรรษัทต่างชาติไม่เพียงแต่ได้รับอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นใหญ่ได้ต่อไปเท่านั้น แต่ยังสามารถซื้อที่ดินในสยาม ได้ยกเว้นภาษีส่วนใหญ่ และกระทั่งยินยอมให้สาขาบรรษัทเหล่านี้นำช่างเทคนิคเข้าประเทศได้เสรี โดยข้ามหัวกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองที่ใช้อยู่ด้วย(23) การบริหารค่าเงินบาททำตามหลักเศรษฐศาสตร์แบบจารีตนิยมที่สุด และเป็นฐานอันมั่นคงของเศรษฐกิจสืบมากระทั่งต้นพุทธทศวรรษ 2510

หลังจากครองอำนาจได้ 5 ปี สฤษดิ์ก็ป่วยเป็นโรคตับแข็งตาย แต่ถนอมกับประภาสผู้เป็นทายาทสืบทอดอำนาจยังคงดำเนินนโยบายตามแนวของเขาต่อไป ทั้งสองขึ้นครองอำนาจเกือบพอดีกับจังหวะที่ลินดอน จอห์นสัน ยกระดับสงครามเวียดนามให้รุนแรงขึ้น และพวกเขาก็เข้าฉวยโอกาสที่ปรากฏขึ้นด้วยเหตุนั้นอย่างฉับไว

วอชิงตันถูกยุยงให้ถือสยามเสมือนหนึ่งเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดยักษ์ที่จอดนิ่งอยู่กับที่ ดังปรากฏว่าใน 2511 อันเป็นปีสุดยอดนั้น มีทหารสหรัฐฯเกือบ 50,000 คนอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และอเมริกาได้รับอนุญาตให้สร้างและใช้งานฐานทัพใหญ่ 8 แห่ง รวมทั้งที่ตั้งทางทหารย่อยอีกหลายสิบ (24) ไม่เพียงแต่ผู้ปกครองไทยจะได้บำเหน็จรางวัลในรูปความช่วยเหลือทางทหารเท่านั้น แต่การที่อเมริกันแห่กันเข้ามาอยู่ในเมืองไทยขนานใหญ่เช่นนี้ ยังส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคก่อสร้างและบริการ(25)

ภาวะเศรษฐกิจบูมขนานใหญ่ซึ่งเชื่อมโยงกับสงครามจึงพัฒนาขึ้นมาโดยอิงฐานความเจริญรุ่งเรือง "ก่อนสงคราม" ในช่วงต้นยุคสฤษดิ์ทว่ารุดหน้าไปไกลกว่านั้นมาก ระบอบถนอม-ประภาส นี่แหละที่ดูแลรับผิดชอบบ้านเมืองอยู่ในยุคที่โรงแรม ภัตตาคาร โรงภาพยนตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ไนท์คลับ และโรงอาบอบนวดผุดขึ้นแพร่หลายราวดอกเห็ด อันเนื่องจากกระแสนักธุรกิจทหารและนักท่องเที่ยวชาวผิวขาวทะลักบ่าไหลเข้ามา

ถ้าจะว่าตัวเศรษฐกิจบูมเองถูกขับเคลื่อนด้วยการลงทุนและใช้จ่ายของอเมริกา (และญี่ปุ่น) แต่ลักษณะวิธีการที่ไทยเข้าไปร่วมเสพรับดอกผลของมันนั้น ก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลนโยบายของระบอบปกครองไทยเองอย่างมีนัยสำคัญ ในบรรดานโยบายเหล่านี้ นโยบายหนึ่งซึ่งสำคัญขั้นชี้ขาดที่สุดได้แก่คำสั่งยุคต้นของสฤษดิ์ให้ยกเลิกเพดานจำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ที่เคยใช้อยู่ทิ้งเสีย(26) คำสั่งฉบับนี้ปูพื้นฐานทางกฎหมายให้แก่การเก็งกำไรที่ดินขนานใหญ่ ซึ่งยังคงเร่งทำกันสืบไปตราบเท่าที่เศรษฐกิจยังบูมอยู่ และกระแสคลื่นการเก็งกำไรนี้ก็หาได้จำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯไม่

เมื่ออเมริกันก่อสร้างราดทางถนนใหญ่สายยุทธศาสตร์ไปจรดชายแดนลาวและกัมพูชา (รวมทั้งถนน "มิตรภาพ" ด้วย ) นั้น(27) บรรดานักเก็งกำไรทั้งในเมืองหลวงและหัวเมืองก็พากันแห่ตามไปกว้านซื้อที่ดินสองข้างทางในราคาแสนถูกจากชาวนาชาวไร่ที่ทำกินเลี้ยงตัวเอง และไม่ค่อยประสีประสาเรื่องค้าที่ดินเก็งกำไร(28)

การเก็งกำไรที่ดินนั้นเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจที่อาศัยความเชี่ยวชาญกฎหมาย "ข้อมูลวงใน" "เส้นสาย" และความสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารได้เป็นหลัก ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้เก็บเกี่ยวดอกผลกำไรตัวสำคัญจากภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บูม ไม่เพียงแต่ได้แก่ชนชั้นพ่อค้าจีนแต่เดิมเท่านั้น หากรวมถึงข้าราชการชั้นสูงและชั้นกลาง (ทั้งทหารและพลเรือน) และผู้กว้างขวางตามหัวเมืองที่มีเส้นสายการเมืองดีด้วย

และก็ไม่น่าแปลกใจอีกเหมือนกัน ที่เขตพื้นที่ซึ่งโดนเก็งกำไรอย่างหนักหนาสาหัสที่สุดมักจะอยู่ติดกรุงเทพฯที่สุด ด้วยความที่กรุงเทพฯเป็นกรวยให้เงินทุนไหลคล่อง สถานการณ์ในภาคกลางของไทยแสดงให้เห็นความข้อนี้เป็นอย่างดี กล่าวคือขณะที่นักวิชาการเห็นพ้องต้องกันว่าในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม การเช่าที่ดินทำกินไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่พอถึงปลายพุทธทศวรรษที่ 2500 ต่อต้นทศวรรษ 2510 รายงานขององค์การยูเสดกลับบ่งชัดว่า เหลือไร่นาไม่ถึง 30% ที่เพาะปลูกทำกินโดยเจ้าของที่เอง(29)

"พลวัต" ทั่วไปของเศรษฐกิจไทยอันเป็นผลมาจากเหตุปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ช่วยก่อกำเนิดหรือขยายกลุ่มสังคมอย่างน้อย 4 กลุ่ม ซึ่งมีความสำคัญต่อวัตถุประสงค์การศึกษาของเราในที่นี้ ในความหมายที่ว่า การอยู่รอดของพวกเขา ต้องพึ่งพาภาวะที่เศรษฐกิจยังคงบูมอยู่ต่อไปเป็นอันมาก ในบริเวณพื้นที่ชนบทที่เศรษฐกิจการค้าแผ่ขยายไปเร็วที่สุดนั้น พวกผู้กว้างขวาง เจ้าของโรงสี พ่อค้า กำนันผู้ใหญ่บ้านและคนอื่น ๆ ซึ่งครองตำแหน่งฐานะทางยุทธศาสตร์ไว้ได้ต่างพากันร่ำรวยเฉียบพลัน และนำทรัพย์สินที่ได้มาใหม่นั้นจำนวนมากไปลงทุนซื้อที่ดินอีก

ในสภาพที่ระบบเจ้าที่ดินในชนบทพุ่งสูงขึ้น คนหนุ่มสาวและคนสิ้นไร้ไม้ตอกก็แห่กันอพยพไปยังศูนย์กลางเขตเมืองที่กำลังเจริญร่งเรืองโดยสอดรับกัน(30) กระแสผู้อพยพนี้ได้ก่อให้เกิดกลุ่มสังคมประเภทไวไฟทางการเมืองขึ้น 2 ประเภทตามหัวเมือง และอาจจะมีมากเป็นพิเศษในกรุงเทพฯ ได้แก่

1) หนุ่มสาวจรจัดตกงานหรือว่างงานแฝงจำนวนมหาศาล ผู้มีลู่ทางสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นเรื่องเป็นราวน้อยมากไม่ว่าจะในเมืองหรือที่ภูมิลำเนาในหมู่บ้าน

2) คนจำนวนมากพอดูที่สามารถยกฐานะตนเองให้ดีขึ้น โดยพบช่องทางทำมาหากินเหมาะแก่ตัวในบรรดานานาอาชีพบริการที่งอกเงยขึ้นมา กองทัพนายทุนน้อยนี้หมายรวมถึงช่างตัดผม แมงดา ช่างแต่งเล็บ ช่างซักรีด คนขับรถ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า หมอนวด มัคคุเทศก์ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ บาร์เทนเดอร์ พนักงานต้อนรับ เสมียนธนาคาร เจ้าของร้านค้าย่อย เป็นต้น นายทุ่นน้อยรุ่นใหม่พวกนี้ทั้งปรนนิบัติรับใช้และต้องพึ่งพาอาศัยความเจริญรุ่งเรืองของกลุ่มสังคมที่สี่มากพอสมควร กลุ่มสังคมดังกล่าวซึ่งด้านหลักแล้วมีพื้นเพเป็นชาวเมืองมาแต่เดิม ได้แก่ กระฎุมพีคนชั้นกลางที่ส่วนใหญ่เพิ่งไต่เต้าขึ้นมาใหม่ ในบางแง่พวกเขาก็ผูกพันใกล้ชิดกับทุนต่างชาติพอ ๆ กับที่ผูกพันอยู่กับกลไกรัฐไทยนั่นเอง

ตารางทั้งสองข้างล่างนี้ คงช่วยแนะแนวได้บ้างว่าเนื้อแท้ของความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างชนชั้นของไทยดังกล่าวเป็นอย่างไร รวมทั้งบ่งบอกขนาดโดยรวมและสัดส่วนโดยสัมพัทธ์ของกระฎุมพีคนชั้นกลางและนายทุนน้อยในจำนวนประชากรทั้งหมดอย่างหยาบ ๆ กลุ่มอาชีพ ข. ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นมหาศาลเป็นพิเศษ และกลุ่มอาชีพ ก. จ. และ ซ. ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำ (ส่วนใหญ่จัดเป็นกลุ่มอาชีพกระฎุมพีชั้นสูง/ชั้นกลางและนายทุนน้อย) เผยให้เห็นเนื้อแท้ของผลกระทบทางสังคมวิทยาอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจบูมในรอบทศวรรษอย่างแจ่มชัด(31)

ข้อมูลที่สำมะโนประชากรปี 2513 ซึ่งจำแนกแยกแยะกลุ่มอาชีพกว้าง ๆ ข้างต้นออกไปอย่างละเอียดลออยิ่งนั้น ทำให้เราพอจะคำนวณตัวเลขหยาบ ๆ ดังปรากฏในตารางที่ 2 ต่อไปนี้ได้ จากนี้เราจึงอาจประเมินไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวได้ว่า ถึงปี 2513 กระฎุมพีชั้นกลางและชั้นสูงมีประมาณ 3.5% ของประชากรที่ทำงาน (อาจแบ่งออกเป็นกระฎุมพีชั้นกลาง 3 % และชั้นสูง 0.5% ) และนายทุนน้อยมีประมาณ 7.5 %(32)

ตารางที่ 1
ประชากรทำงานทางเศรษฐกิจอายุ 11 ปีขึ้นไปแบ่งตามอาชีพ

แหล่งข้อมูล : ปรับใช้จาก National Economic and Social Development Board, National Statistical Office and Institute of Population Studies, Chulalongkorn University, "The Population of Thailand" (1974) In Mudannayke, ed.,
Thailand Yearbook, 1975-76 ,p.E41.


ตารางที่ 2
ประชากรทำงานทางเศรษฐกิจอายุ 11 ปี ขึ้นไปแบ่งตามอาชีพและชนชั้น (2513)

แหล่งข้อมูล : ปรับใช้จาก Department of Labour, Ministry of the Interior, Yearbook of Labour Statistics 1972-1973 (ใช้ตัวเลขสำมะโนครัวปี 2513), อ้างถึงใน Muddannayake,ed., Thailand Yearbook, 1975-76, pp. E 41-68.


พึงระลึกว่ากลุ่มสังคมจะกลายเป็นชนชั้นทางสังคมก็ต่อเมื่อ สร้างเสริมฐานะตัวเองให้มั่นคงสำเร็จโดยผ่านครอบครัว อันเป็นสถาบันในการเชื่อมโยงอำนาจ ทรัพย์สินและสถานภาพเข้าด้วยกันในคนรุ่นหนึ่งและส่งต่อมันให้คนรุ่นถัดไป สัญญาณสำคัญอย่างหนึ่งของการก่อตัวทางชนชั้นในสยามสมัยสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ได้แก่การขยายการศึกษาขนานใหญ่ทุกระดับ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากที่ปรึกษาอเมริกันกับเทคโนแครตไทย บงการให้ "สร้างความทันสมัย" ขึ้น แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นการตอบสนองของทางราชการ ต่อความเรียกร้องต้องการของกลุ่มสังคมใหม่ต่าง ๆ ที่กำลังหวังไต่เต้าขึ้นมารวมทั้งครอบครัวของพวกเขาด้วย

ในปี 2504 มีนักศึกษา 15,000 คนเรียนอยู่ใน 17 มหาวิทยาลัย(33) จากปี 2507 ถึง 2512 จำนวนผู้เข้าเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาของรัฐบาลเพิ่มจาก 159,136 คนเป็น 228,495 คน และผู้เข้าเรียนโรงเรียนอาชีวะรัฐบาลเพิ่มจาก 44,642 คนเป็น 81,665 คน(34) "เดิมที" (ในที่นี้หมายถึงจากพุทธทศวรรษที่ 2420 ถึงสงครามโลกครั้งที่สอง) การศึกษาแยกออกเป็นสองแพร่งชัดเจน กล่าวคือ ชนชั้นสูงจำนวนน้อยนิดได้รับการศึกษาแบบสุภาพบุรุษตะวันตก ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้ศึกษาเลย หรือมิฉะนั้นก็เข้าโรงเรียนประถมฯของรัฐบาล หรือเรียนหนังสือในวัด(35) การศึกษาทั้งสองระดับนี้มิได้ก่อให้เกิดการเลื่อนชั้นทางสังคมที่มีนัยสำคัญระดับชาติแต่อย่างใด

อันที่จริงมันต่างช่วยเหนี่ยวรั้งผู้เข้าศึกษาในแต่ละระดับ ให้ติดแน่นอยู่กับฐานะสังคมและเศรษฐกิจเดิมของตนต่างหาก การศึกษาชั้นสูงแบบตะวันตกช่วยขัดเกลาพวกที่เกิดมาเป็นเจ้าเป็นนายอยู่แล้ว ส่วนการศึกษาชั้นประถมฯของรัฐ ก็แค่ปูพื้นความรู้กอขอกอกาเสียจนกระทั่งดูจะมีผลในแง่ผลักดันผู้รับการศึกษาให้ได้ไต่เต้าสูงขึ้นน้อยเต็มที

การที่รัฐบาลไทยชุดต่าง ๆ จัดการศึกษาชั้นประถมฯขึ้น ก็ดูจะเป็นแค่การแสดงท่าเอาหน้ากับโลกภายนอกว่าตนทันสมัย มากกว่าจะมุ่งตอบสนองความเรียกร้องต้องการของชาวนาชาวไร่อย่างแท้จริง สำหรับการศึกษาแบบพุทธศาสนานั้น โดยแก่นแท้แล้วก็มุ่งไปในทางธรรมะธัมโมและจักรวาลวิทยา มากกว่าจะฝึกฝนทักษะอาชีพให้ (แม้ว่าสำหรับสามัญชนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งนั้น การสอบพระปริยัติธรรมสายบาลีของคณะสงฆ์ได้เปรียญประโยคต่าง ๆ สำเร็จ จะเปิดทางให้ไต่เต้าทางสังคมได้สูงลิบก็ตาม)(36)

ฉะนั้น นัยสำคัญที่แท้จริงของการขยายการศึกษาในต้นพุทธทศวรรษที่ 2500 ต่อต้นพุทธทศวรรษที่ 2510 จึงอยู่ตรงที่เกิดขึ้นในระดับมัธยมและอุดมศึกษาเป็นด้านหลัก(37) นับเป็นครั้งแรกที่คนไทยจำนวนมาก เกิดมุ่งมาดปราถนาและพอมีปัญญาส่งเสียลูกหลานรับการศึกษาวิชาชีพ ซึ่งเมื่อดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแล้ว การศึกษาเหล่านี้แหละที่เป็นสัญลักษณ์ของคนชั้นสูงทางสังคม หรือไม่ก็เป็นหนทางไปสู่ฐานะดังกล่าวนั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหนือสิ่งอื่นใดก็คือตำแหน่งระดับสูงอันมั่นคงในระบบทางราชการ(38) ในสมัยนี้แหละที่เราพึงเข้าใจความหมายทางการเมืองของการแพร่หลายขยายตัวของมหาวิทยาลัย ภายใต้ระบอบสฤษดิ์และทายาทของเขา ซึ่งเป็นการตอกย้ำยืนยันทางสัญลักษณ์ว่า ภาวะเศรษฐกิจบูมที่เกิดขึ้นเป็นความก้าวหน้าจริง ๆ ไม่ใช่โชคช่วย และผลพวงของมันจะถูกส่งทอดไปยังคนรุ่นถัดไปในครอบครัวในสภาพเยี่ยงนั้น จึงเป็นไปได้ที่จะจินตนาการครอบครัวหนึ่งซึ่งมีบิดาเป็นช่างซักรีดผู้ประสบความสำเร็จ อาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกับลูกผู้จะได้ไต่เต้าขึ้นเป็นเลขานุการคณะรัฐมนตรีวันหนึ่งข้างหน้า(29) ดังนั้นภาวะมหาวิทยาลัยบูมจึงเป็นตัวเสริมภาวะเศรษฐกิจบูมได้เป็นปึกแผ่นมั่นคงทางสังคมวิทยา และยืนยันมันในทางวัฒนธรรม(40)

แม้มหาวิทยาลัยไทยจะเพิ่มจำนวน ขยายขนาด และรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ถึงกระนั้นครอบครัวใฝ่สูงมากหลายก็ส่งลูกหลานเข้ามหาวิทยาลัยไม่สำเร็จ ส่วนหนึ่งด้วยเหตุนั้นเองวิทยาลัยเทคนิค อาชีวะ พาณิชยการและอื่น ๆ จึงพากันขยายตัวอย่างรวดเร็วไม่แพ้กันในฐานะช่องทางศึกษาอันดับรอง และท่ามกลางบริบทความโกลาหลอลหม่านทั้งหลายแหล่ในเรื่องการแบ่งแยกฐานะชนชั้นดังกล่าวมานี้ ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจการเปลี่ยนความหมายอย่างมีนัยสำคัญของคำว่า "นิสิตนักศึกษา" เองด้วย

ในสมัยก่อน คำว่า "นิสิตนักศึกษา" แทบจะพ้องกับคำว่า "สมาชิกชั้นนำของชาติ" - กล่าวคือประดุจเป็นเทวดาลอยฟ้าอยู่เหนือหัวเพื่อนร่วมชาติทั้งมวล แต่พอถึงช่วงต้นพุทธทศวรรษที่ 2510 การไต่เต้าเลื่อนชั้นทางสังคมก็ได้สร้างสภาพเงื่อนไขที่แม้คำว่า "นิสิตนักศึกษา" จะยังมีนัยอันเลิศหรูแฝงอยู่ แต่กระนั้นก็อาจสื่อความหมายไปในทำนอง "ลูกของคนข้างบ้านมันสอบเข้าธรรมศาสตร์ได้แต่ลูกเราสอบไม่ติด" กล่าวคือ บัดนี้เป็นไปได้ที่จะรู้สึกอิจฉา และเหม็นขี้หน้านิสิตนักศึกษาในลักษณะที่คงจะดูเป็นเรื่องพิกลในสมัยคนรุ่นก่อน

ทว่าแม้แต่กับพ่อแม่ที่ส่งลูกเข้ามหาวิทยาลัยได้ ทรรศนะแนวคิดเกี่ยวกับ "นิสิตนักศึกษา" ก็ชักจะมีกังวานอันคลุมเครือ การไต่เต้านั้นมีนัยขัดแย้งลักลั่นกันอยู่ในตัวตรงที่การเลื่อนชั้นสูงไป ก็พลอยเป็นการเคลื่อนตัวห่างออกไปด้วย บรรดาบิดาผู้ด้อยการศึกษา ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วมองการศึกษาในมหาวิทยาลัยว่าเป็นแค่เครื่องมือเครื่องใช้ มักรู้สึกตระหนกตกใจรับไม่ได้กับกิริยามารยาท เป้าหมายชีวิต และหลักประพฤติปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสุดคาดเดาของบรรดาลูกหลานนิสิตนักศึกษา เมื่อพวกนี้ได้รับอิทธิพลความคิดแหกคอกซึ่งแทรกซึมเข้ามาตามมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยครูจากประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน(41)

เราต้องลองจินตนาการดูว่าพ่อแม่คนชั้นกลางหรือนายทุนน้อยจะรู้สึกห่วงใยและโมโหโกรธาแค่ไหนเมื่อจู่ ๆ พ่อลูกชายตัวดีก็เริ่มไว้ผมยาว "รุงรัง" เข้าบ้าน พูดจาไม่มีสัมมาคารวะ ปล่อยตัวปล่อยใจ และริอ่านจะปฏิวัติพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ลงทำตัวแบบนี้ แล้วจะได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่เป็นโตกับเขาได้ยังไง ?

ราวปี 2514 หรือ 2515 เริ่มรู้สึกกันแพร่หลายว่ายุคทองกำลังจะจางหายไปแล้ว อเมริกากำลังถอนทหารจากอินโดจีน และปีศาจคอมมิวนิสต์ที่เฝ้าหลอกหลอนมานมนานว่าอาจมาตั้งมั่นประชิดชายแดนสยาม ก็ชักจะกลายเป็นความจริงอันน่าขนพองสยองเกล้า ระบบราชการซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางที่ผู้คนในสังคมพากันฝากความหวังไว้ บัดนี้ก็ได้ขยายไปจนถึงจุดอิ่มตัวแล้ว และยิ่งกว่านั้นใบปริญญาบัตรก็มิใช่หลักประกันว่าจะต้องได้อาชีพการงานอันสูงส่งมั่นคงดังที่ผู้คนเคยทึกทักว่ามันเป็นอีกต่อไป(42)

หลังจากผ่านช่วงที่ราคาสินค้ามีเสถียรภาพมายาวนาน จู่ ๆ เศรษฐกิจไทยก็ประสบภาวะเงินเฟ้อระดับเลขสองหลัก(43) บรรดาผู้เสวยดอกผลกำไรจากภาวะเศรษฐกิจบูม ชักรู้สึกอึดอัดขัดเคืองที่ดูเหมือนมันใกล้จะสิ้นสุดลง การถูกกีดกันออกไปไม่ให้มีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นพอทนได้ ตราบเท่าที่ระบอบเผด็จการ "สร้างผลงาน" ในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงและการศึกษา แต่ยิ่งปัญหาสั่งสมมากขึ้นคนก็ชักจะทนไม่ค่อยไหว ซ้ำร้ายถนอมหรือประภาสก็ไม่มีบารมีส่วนตัวน่าเกรงขามเหมือนสฤษดิ์อีกด้วย(44)

ในบริบทดังกล่าวนี้ การชุมนุมแสดงพลังของมหาชนซึ่งขยายตัวลุกลามออกไปจนโค่นถนอมกับประภาสลงในเดือนตุลาคม 2516 อันเป็นเดือนเดียวกับที่วิกฤตการณ์น้ำมันอุบัติขึ้น จึงน่าสนใจเป็นพิเศษ(45) ไม่ต้องสงสัยเลยว่าชั้นชนกระฎุมพีใหม่ต่าง ๆ มีบทบาทชี้ขาดในการเข้าร่วมเป็นฝูงชนขนาดมหึมา ที่ออกมาสนับสนุนข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาปัญญาชนให้มีรัฐธรรมนูญ และให้เคารพเสรีภาพของพลเมือง อันที่จริงแล้วอาจพูดได้ว่าชั้นชนกระฎุมพีเหล่านี้นั่นเอง ที่ประกันให้การชุมนุมประสบความสำเร็จ เพราะหากแม้นฝูงชนประกอบไปด้วยชาวสลัมแทนที่จะเป็นชาวเมืองแต่งตัวดีแล้ว จอมเผด็จการอาจช่วงชิงเสียงสนับสนุนให้ปราบปรามได้เต็มที่กว่านี้

ขณะเดียวกัน ควรเข้าใจว่าการเข้าร่วมชุมนุมของชั้นชนกระฎุมพีเหล่านี้ เป็นผลมาจากประวัติศาสตร์ระยะใกล้ของพวกเขา มากกว่าจะเป็นสิ่งบอกเหตุบทบาททางการเมืองของพวกเขาในอนาคต ความจริงแล้วเห็นชัดว่าพวกเขาไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองเอาเลย และฉะนั้นเอาเข้าจริงจึงไม่รู้เลยว่าการยุติระบอบเผด็จการลงจะส่งผลสืบเนื่องอย่างไร พวกเขาโทษระบอบเผด็จการว่าล้มเหลวในการเรียกร้องให้อเมริกายึดมั่นกับพันธะต่อสยามเต็มที่กว่านี้ แต่พร้อมกันนั้นก็ด่าว่ายอมจำนนต่อวอชิงตันเกินเหตุไปอีก

(มองในมุมกลับก็คือลัทธิชาตินิยมแอนตี้อเมริกันที่ขี้หงุดหงิดรำคาญ และสับสนคลุมเครือ ซึ่งแสดงออกในความรู้สึกที่ผสมผเสปนเปกันระหว่าง "ทำไมยูทำให้พวกไอผิดหวังในอินโดจีนอย่างนี้ ?" และ "ดูซิยูทำให้ลูกสาวไอเสียคนยังไง !")

การคอร์รัปชั่นอย่างเปิดเผยของประภาส การสมรสกันในสองตระกูลระหว่างณรงค์บุตรถนอมกับธิดาประภาส และการเรืองอำนาจขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะญาติผู้ใหญ่อุ้มชูของเขา ล้วนเป็นเรื่องบาดตาบาดใจกระฎุมพีทั้งสิ้น นอกจากนี้การที่พระเจ้าอยู่หัวฯ และนายพลอาวุโสบางคนสนับสนุนผู้ชุมนุม แม้จะเพียงโดยอ้อมด้วยเหตุผลของแต่ละฝ่ายเองก็นับเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ท้ายที่สุดพึงระลึกว่าข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษานั้น โดยสารัตถะแล้วเป็นเรื่องเชิงกฎหมาย (รัฐธรรมนูญ) และสัญลักษณ์ ไม่มีใครคิดว่าอะไรอันตรายหรือไม่พึงปรารถนา จะเกิดขึ้นมาได้จากข้อเรียกร้องเหล่านี้

จริงอยู่นิสิตนักศึกษาได้ทำลายโรงพักไปจำนวนหนึ่งในช่วงวันท้าย ๆ ของการชุมนุม แต่เด็กพวกนี้ก็คอยโบกรถให้จราจรไหลลื่นและหลังจากนั้นยังช่วยเก็บกวาดเศษขยะตามถนนหนทางจนสะอาดสะอ้านด้วยความรับผิดชอบอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ด้วยมิใช่หรือ ? เมื่อจอมเผด็จการโกงชาติพวกนั้นไปกันหมดแล้ว ความเจริญรุ่งเรือง สันติสุขและความก้าวหน้าก็ฟื้นฟูขึ้นมาภายใต้การชี้แนะอันเปี่ยมด้วยพระเมตตาบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯกับเหล่าข้าราชบริพารผู้ถึงพร้อมด้วยปรีชาญาณ อันได้แก่ ตุลาการอาวุโส ศาสตราจารย์ผู้เป็นที่เคารพนับถือ และนายธนาคารผู้สามารถ

อนิจจา ทั้งหลายทั้งปวงที่หวังไว้นี้ไม่มีข้อใดเฉียดใกล้ความจริงเลย วิกฤตการณ์น้ำมันโลกปะทุขึ้นแทบจะพร้อมกับการชุมนุมเดือนตุลาคม 2516 ความโกลาหลวุ่นวาย ที่บังเกิดแก่เศรษฐกิจทุนนิยมโลกเนื่องจากเหตุนั้น เริ่มเป็นที่รู้สึกกันได้ในสยามเมื่อต้นปี 2517 ในฤดูใบไม้ผลิปี 2518 ที่มั่นของอเมริกันในอินโดจีนก็พังครืนลงเร็วเหลือเชื่อ บัดนี้สยามมิได้เป็นแกนกลางอันปลอดภัยของจักรวรรดิอเมริกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกต่อไปแล้ว แต่กลับอยู่ติดชายขอบริมนอกอันเปราะบางของมัน คิด ๆ ดูแล้วก็อยู่ในวิสัยเป็นไปได้ที่นับแต่นี้ไปสิงคโปร์อาจสวมบทแทนกรุงเทพฯ ส่วนราชธานีไทยแห่งนี้ก็อาจสวมบทแทนเวียงจันท์

ผลสืบเนื่องโดยตรงจากเหตุการณ์ทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นพ้นพรมแดนประเทศออกไปก็คือ สยามพบว่าเศรษฐกิจของตนกำลังชะลอตัวอย่างหนัก(46) บาดแผลดูเหมือนจะยิ่งถูกซ้ำเติมจากการที่บรรดารัฐบาลเสรีนิยมหลังตุลาคม 2516 แสดงให้สาธารณชนเห็นว่ายึดมั่นหลักสิทธิเสรีภาพของพลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหนืออื่นใดคือ สิทธิของกรรมกรชาวนาในการจัดตั้ง ชุมนุมแสดงพลัง และนัดหยุดงาน

รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ (ตุลาคม 2516 - กุมภาพันธ์ 2518 ) พยายามจริง ๆ ที่จะสนองตอบข้อเรียกร้องของกรรมกรโดยตรง แม้ว่าจะอย่างขลาด ๆ ก็ตาม(47) จริงอยู่กิจกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่ค่อยมั่นคงจะเปราะบางเป็นพิเศษต่อแรงบีบคั้นของกำไรที่ตกลงกับข้อเรียกร้องค่าแรงเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง(48) ภายใต้ระบอบเผด็จการ กรรมกรต้องก้มหน้ายอมรับค่าจ้างน้อยนิดขณะที่คนชั้นกลางมั่งมีศรีสุข คราวนี้ย่อมถึงทีพวกเขาบ้าง กระนั้นก็ตามความโมโหโกรธาแรงกล้าขึ้นของชั้นชนกระฎุมพีต่าง ๆ โดยรวมมีรากเหง้าที่มาซับซ้อนกว่านั้น

ประการแรก พัฒนาการของสหภาพแรงงานโดยตัวมันเองคุกคามบ่อนทำลายความสัมพันธ์อุปถัมภ์ฉัน "ครอบครัว" ระหว่างนายจ้าง - ลูกจ้างซึ่งเป็นหลักมาแต่ก่อน(49) (เราไม่ควรดูเบากำไรทางจิตใจที่บรรดากระฎุมพีผู้มักใหญ่ใฝ่สูงทางสังคม ได้จากโอกาสที่จะเล่นบทเป็นเจ้านายกึ่งศักดินาเหนือลูกน้องของตน)

ประการที่สอง การนัดหยุดงานหลายครั้งเกิดขึ้นในภาคธุรกิจ อย่างการขนส่งซึ่งง่ายเป็นพิเศษที่กลุ่มกระฎุมพีผู้ประสบความไม่สะดวกส่วนตัว จะตีความว่านั่นเป็นการล่วงละเมิดผลประโยชน์ส่วนรวม

ประการที่สาม ซึ่งอาจจะสำคัญที่สุดก็คือ หนังสือพิมพ์ นิตยสารไทยฉบับต่าง ๆ ที่ทรงอิทธิพลและอยู่ในอุ้งมือกลุ่มธุรกิจใหญ่ เฝ้าตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าการนัดหยุดงานเหล่านั้นทำลายชาติ ในความหมายที่ว่าเป็นการขู่ตะเพิดนักลงทุนต่างชาติซึ่งเป็นที่พึ่งของ "เศรษฐกิจแห่งชาติ" ให้ตื่นหนีไป จึงง่ายเหลือเกินที่จะโทษว่าที่เศรษฐกิจย่ำแย่ลงโดยทั่วไปนั้น เกิดจากกรรมกรทำอะไรไม่รับผิดชอบ

ประการสุดท้าย ในอีกแง่หนึ่งเวรกรรมที่เผด็จการได้ก่อไว้ก็ตามกลับมาสนองตอบเอาในยุคเสรีนิยม นั่นคือภาวะว่างงานที่เพิ่มขี้นอย่างรวดเร็วในหมู่ผู้เรียนจบชั้นมัธยมศึกษา อาชีวะศึกษา และแม้กระทั่งบัณฑิตมหาวิทยาลัย(50) ความจริงก็คือ ภาวะการศึกษาบูมซึ่งสร้างความหวังให้ผู้คนว่าจะเป็นช่องทางไปสู่ฐานะและความมั่นคงในชีวิตนั้น พลันทรุดตัวลง ภายใต้สภาวะเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาพลักษณ์ของนักศึกษาว่าเป็น พวกตกงาน (หางานให้ตายก็หาไม่ได้ ?) ขี้เกียจสันหลังยาวอยู่กับบ้าน หรือไม่ก็ตัวปลุกระดมก่อเหตุวุ่นวายตามร้านค้าโรงงานฯ เหล่านี้ ตกเป็นเป้าหลักของอารมณ์เจ็บแค้นหงุดหงิดชิงชังในบรรดาชั้นชนกระฎุมพีใหม่(51)

เราจึงควรหลับตานึกภาพชั้นชนกระฎุมพี ที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมากะทันหัน และไม่มั่นคงอย่างยิ่ง - จะว่าไปแล้วปัญหา จราจรจลาจลในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากกระแสคลื่นบรรดาเจ้าของและนักขับรถยนต์รุ่นแรก ที่บ่าไหลท่วมท้นเข้ามาในยุคเศรษฐกิจบูม(52) - พวกเขาเผชิญหน้ากับสภาวะเศรษฐกิจตกยากและยังทำท่าว่าจะต้องเจอเรื่องเดือดร้อนเลวร้ายสาหัสกว่านี้อีก พวกเขาไม่เพียงวิตกที่ภาวะเศรษฐกิจบูมอันยาวนานอวสานลงเท่านั้น หากยังหวาดกลัวไม่รู้วายว่าภาวะเศรษฐกิจบูมอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิถีประวัติศาสตร์ที่โค้งพุ่งขึ้นแล้วในที่สุดก็โค้งดิ่งลงเที่ยวเดียวไม่มีเที่ยวหน้า ว่ายุคทองสมัยสฤษดิ์จะไม่มีวันหวนคืนมา และชีวิตพวกเขาที่เพิ่งรุ่งเรืองขึ้นมาจากสภาพคลุกฝุ่นในตรอกซอกซอยจะต้องกลับไปลงเอยที่เก่า

ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องเข้าใจว่าชนชั้นกระฎุมพีนี้ซึ่งมีประสบการณ์การเมืองน้อยและความคิดเรื่องการปกครองตื้นเขิน แต่เพราะเหตุนั้นเอง จึงมีสำนึกแรงกล้าว่า "เรื่องฉิบหายที่เกิดขึ้นจะมาโทษเราไม่ได้" นั้น ย่อมโน้มเอียงเป็นพิเศษที่จะสำแดงปฏิกิริยาหวาดระแวงออกมาเวลาดวงตก เดือดร้อน (เราอาจจินตนาการได้ว่าความหวาดระแวงนี้จะถูกระบายใส่คอร์รัปชั่นเอย นักศึกษาเอย คอมมิวนิสต์เอย ชาวต่างชาติเอย หรือเจ๊กจีนเอย หมุนเวียนเปลี่ยนไปแล้วแต่สถานการณ์)

ในกรณีนี้ปรากฏว่าระหว่างปี 2518 - 2519 พวกนักศึกษาที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างขุดรากถอนโคน - ซึ่งเป็นตัวแทนความสำเร็จของชนชั้นกระฎุมพีที่ดูจะหันมาถ่มน้ำลายรดความสำเร็จนั้นเอง - กลายเป็นเป้าหลักของความโกรธแค้นตื่นกลัวดังกล่าวด้วยสาเหตุที่จะอภิปรายต่อไปข้างหน้า ผมคิดว่านั่นแหละคือคำอธิบายว่า ทำไมคนจำนวนมากพวกเดียวกับที่เคยสนับสนุนการชุมนุมมวลชนแสดงพลังเมื่อตุลาคม 2516 อย่างจริงใจ จึงหันมาต้อนรับเผด็จการกลับมาสามปีให้หลัง กระนั้นก็ตาม พวกเขาหาใช่ผู้ลงมือก่อกรรมทำเข็ญอย่างทารุณโหดร้ายโดยตรงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมไม่ ดังนั้นเราจึงยังต้องพยายามชี้ตัวผู้กระทำผิดออกมา และจัดวางพวกเขาไว้ในกรอบใหญ่ทางสังคมวิทยาที่ได้ร่างขึ้น

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

จบตอนที่ ๑ อ่านต่อตอนที่ ๒

อ้างอิง

(1) ดูตัวอย่างใน David Wilson , Politics in Thailand (Ithaca: Cornell University Press. 1967) , บทที่ 9 : Fred W. Riggs, Thailand : The Modernization of a Bureaucratic Polity (Honolulu : East-West Center Press , 1966) , Appendix B.

(2) แนวการมองทำนองเดียวกันนี้แต่เอียงไปทางเสรีนิยมก็คือ พรรณนา 6 ตุลาฯในเชิงเข็นครกขึ้นภูเขาว่า มันเป็นความล้มเหลวที่น่าคลั่งใจครั้งแล้วครั้งเล่าไม่รู้จักจบสิ้นอีกครั้งหนึ่งในการนำการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาสู่สยาม ดูตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งใน Frank C, Darling, "Thailand in 1976 : Another Defeat for Constitution Democracy," Asian Survey, XVII : 2 (February 1977) , pp 116-32.

(3) Far Eastern Economic Review , April 16, 1976 กล่าวไว้ในรายงานการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2519 ถึง "กระแสการลอบยิง ปาระเบิดและเหตุรุนแรงอื่น ๆที่เกิดประดังกันขึ้นมา และพุ่งเป้าใส่บรรดาพรรคฝ่ายซ้ายและปฏิรูปเป็นหลัก" นิตยสารประชาชาติรายสัปดาห์, 20 ( 16 มีนาคม 2519 ) และ 21 ( 23 มีนาคม 2519 ) ได้ลงบัญชีรายชื่อเหยื่อผู้ถูกลอบสังหารทางการเมืองเกือบ 50 รายในช่วงระหว่างปี 2517 - 2519 ซึ่งทั้งหมดเป็นฝ่ายซ้าย

(4) ในประเด็นการปราบปรามภายหลัง "กบฏ" พระยาทรงสุรเดช ปี 2481 ดู Wilson, Politics in Thailand, p. 261 วันที่ 3 มีนาคม 2492 ส.ส. ชื่อดังผู้เป็นอดีตรัฐมนตรี 4 คนถูกตำรวจลูกน้องเผ่าฆ่าทิ้งระหว่างย้ายที่คุมขัง ดู สมุทร สุรักขกะ, 26 การปฏิวัติไทยและรัฐประหาร 2089 - 2507 (พระนคร : สื่อการพิมพ์ , 2507 )หน้า 472-89 . ในเดือนธันวาคม 2495 นักการเมืองอีสานโดดเด่น คือ เตียง ศิริขันธ์ หายสาบสูญไป ภายหลังจึงมีการเปิดเผยว่าเขาถูกตำรวจลูกน้องเผ่าฆ่ารัดคอ ดู Charles F. keyes, Isan: Regionalism in Northeastern Thailand (Ithaca: Cornell University Southeast Asia Program Data Paper no.65,1967) p. 34 และ Thak Chaloemtiarana, "The Sarit Regime, 1957-1963: The Formative Years of Modern Thai Politics" (unpublished Ph.D. dissertation Cornell University, 1974 ) , p. 118 .

(5) ดูเรื่องราวกรณีประหารชีวิตนายศุภชัย ศรีสติ ต่อหน้าธารกำนัลเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2502 , กรณีประหารนายครอง จันดาวงศ์ กับนายทองพันธุ์ สุทธิมาศ เมื่อ 31 พฤษภาคม 2504 และกรณีประหารนายรวม วงศ์พันธ์ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2505 เป็นอาทิใน Thak. "The Sarit Regime," pp. 266-69 เหยื่ออื้อฉาวกรณีหนึ่งในยุคถนอม - ประภาส รวมเอาคนในกลุ่มต่าง ๆ ที่อยู่นอกเหนือแวดวงปัญญาชนและนักการเมืองออกไปไกลโข

ตัวอย่างเช่นการสอบสวนของทางราชการกระทรวงมหาดไทย โดยมีผู้ตรวจราชการของกระทรวงเองเป็นหัวหน้าได้ยืนยันคำกล่าวหาของนักศึกษาที่ว่า ในปี 2513-2514 อย่างน้อยชาวบ้าน 70 คนได้ถูกกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ประหารโดยพลการ รายงานกล่าวว่า "ผู้ต้องสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์ที่ถูกทหารจับส่วนใหญ่จะถูกประหาร เดิมที ทหารยิงผู้ต้องสงสัยพวกนี้ทิ้งข้างถนน แต่ภายหลังพวกเขาเปลี่ยนลีลาการฆ่าไป และเริ่มนำถังน้ำมันสีแดงเข้ามาใช้ในการฆ่าหมู่เพื่อทำลายหลักฐานทิ้ง ให้ตีผู้ต้องสงสัยจนสลบก่อนจะยัดลงถังน้ำมันแล้วเผาทั้งเป็น" Bangkok Post, March 30,1975 . สำหรับการทิ้งระเบิดนาปาล์มใส่หมู่บ้านชนชาติส่วนน้อยชาวม้งภาคเหนือชนิดไม่เลือกหน้า ดู Thomas A. Marks, "The Meo Hill Tribe Problem in Thailand," Asian Survey , XIII: 10 (October 1973) , p. 932 : และ Ralph Thaxton, "Modernization and Peasant Resistance in Thailand" in Mark Selden,ed., Remaking Asia (New York : Pantheon , 1971) , pp. 265 - 73 . โดยเฉพาะ p. 269

(6) ตำรวจนอกเครื่องแบบพวกนี้มีรถตำรวจเปิดไฟสัญญาณและรถจักรยานยนต์นำขบวนคุ้มกัน นอกจากขโมยบรั่นดีและบุหรี่แล้ว พวกเขายังสร้างความเสียหายแก่คฤหาสน์ของคึกฤทธิ์คิดเป็นมูลค่าราว 5 แสนดอลลาร์สหรัฐด้วย New York Times, August 20 , 1975. ในเวลาเดียวกันนั้นเอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อันเป็นเสมือนบ้านสิงสถิตทางจิตวิญญาณของขบวนการนักศึกษา ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างขุดรากถอนโคน ก็ถูกบุกเผาโดยพวกกระทิงแดงซึ่งเป็นอันธพาลการเมืองฝ่ายขวา (จะได้กล่าวถึงต่อไป) โดยไม่ต้องโทษทัณฑ์อะไรเลย

(7) ฆาตกรรรมรายนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2519 ดู Far Eastern Economic Review, March 12, 1976 : และบทความของ Carl Trocki ในวารสาร Bulletin of Concerned Asian Scholars ฉบับเดียวกันนี้

(8) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2519 สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพของพรรคพลังใหม่ ซึ่งเป็นพรรคเดินแนวทางสายกลางถูกอันธพาลฝ่ายขวาปาระเบิดเพลิงเข้าใส่ ดู Far Eastern Economic Review, February 27, 1976. และถึงแม้อันธพาลคนหนึ่งจะถูกระเบิดพวกเดียวกันเองจนแขนขาดข้างหนึ่ง ในปฏิบัติการครั้งนี้ แต่ตำรวจก็ปล่อยตัวเขาไปเพราะ "ขาดหลักฐาน" วันที่ 21 มีนาคม ถัดมา ระเบิดลูกหนึ่งซึ่งปาเข้าใส่กลุ่มผู้เดินขบวนเรียกร้องให้ถอนทหารอเมริกาออกไปให้หมดกรุงเทพฯ ก็ฆ่าคนไป 4 คน และบาดเจ็บอีกมาก ดู ประชาชาติรายสัปดาห์ , 22 ( 30 มีนาคม 2519 ) หน้า 1

(9) Far Eastern Economic Review, April 9, 1976

(10) น่าจะเน้นย้ำ ณ ที่นี้ว่า ในฐานที่บทความชิ้นนี้มุ่งรวมศูนย์สนใจการปรากฏขึ้นของการก่อตัวเป็นกลุ่มทางสังคมใหม่ ๆ และแนวโน้มวัฒนธรรมใหม่ ๆ มันจึงจงใจที่จะไม่ใคร่นำพากลุ่มปกครองเก่าเหล่านี้หรือสถาบันข้าราชการทรงอำนาจทั้งหลายแหล่ อาทิทหารและกระทรวงมหาดไทยมาปรารมภ์ บทบาททางการเมืองของกลุ่มการเมืองของกลุ่มและสถาบันเหล่านี้ได้มีผู้อภิปรายไว้แล้วโดยพิสดาร ในบรรดางานนิพนธ์ว่าด้วยการเมืองไทยสมัยใหม่ รวมทั้งในข้อเขียนอื่นที่ปรากฏในวารสาร Bulletin ฉบับนี้

(11) วลีนี้เข้าใจว่า Riggs คิดค้นขึ้น โปรดดู หน้า 11 ในหนังสือ Thailand ของเขาแต่แนวคิดพื้นฐานเดียวกันนี้เป็นจุดใหญ่ใจความของหนังสือ Politics in Thailand ของ Wilson ซึ่งเป็นงานศึกษายุคสมัยนั้นที่ทรงอิทธิพลโดดเด่นเป็นเอกที่สุด

(12) ในบทความชิ้นเยี่ยมของ Thadeus Flood เรื่อง "The Thai Left Wing in Historical Context," Bulletin of Concerned Asian Scholars (April-June 1975) ,p.55 เขาได้อ้างอิงข้อความบางประโยคที่อ่านแล้วชวนครื้นเครงจากหนังสือ Wendell Blanchard, et al., Thailand (New Haven: Human Relations Area File, 1957), pp. 484-85. ดังต่อไปนี้ - "น่าสงสัยว่า (ชาวนาไทย) จะนึกฝันถึงสภาพสังคมที่ไม่มีการจำแนกฐานะสูงต่ำออกหรือไม่ ชาวนาและคนฐานะต้อยต่ำอื่น ๆ ไม่เคยมองระบบสังคมแบบนั้นไปในทำนองว่า มันไม่สมเหตุสมผลหรือลำบากหนักหนาสาหัสแต่ประการใดเลย และก็ไม่มีประวัติการกดขี่ทางสังคมโดยทั่วไปในเมืองไทย

(13) ดูหนังสือ Chinese Society in Thailand : An Analytic History (Ithaca: Cornell University Press , 1957) และ Leadership and Power in the Chinese Community in Thailand ( Ithaca: Cornell University press 1958) ของ G. William Skinner เปรียบเทียบกับ Donald Hinley, "Thailand: The Politics of passivity," Pacific Affairs, XLI:3 (Fall 1968) , pp, 366-67.

(14) Frank C. Darling, Thailand and the United States (Washington : Public Affairs Press, 1965 ) , p . 29 บันทึกว่าเมื่อเกิดรัฐประหารโค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ ปี 2475 นั้น 95 % ของเศรษฐกิจไทยอยู่ในมือชาวต่างชาติและคนจีน

(15) ในรอบกว่าเสี้ยวศตวรรษที่ผ่านมา ประชากรเขตมหานครกรุงเทพฯ - ธนบุรีได้เพิ่มทวีขึ้นดังต่อไปนี้

2490 .................................781,662
2503 ..............................1,800,678
2513 ..............................2,913,706
2515 ..............................3,793,763

ดู Ivan Mudannayake ,ed. Thailand Yearbook, 1975-76 (Bangkok: Temple Publicity Services, 1975 ), p. E 28.
(16)16 Darling, Thailand, pp. 29 ,61, 170 - 71 ถึงปี 2492 การค้าระหว่างสหรัฐฯกับสยามเพิ่มขึ้นกว่าระดับช่วงใกล้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง 2,000 % พอถึงต้นพุทธทศวรรษ 2500 สหรัฐฯ ก็เป็นผู้ซื้อยางพารา 90% และดีบุกส่วนใหญ่ของสยาม

(17) การวิเคราะห์แนวนี้ได้รับการพัฒนาขยายความให้กว้างขวางออกไป ใน Thaxton, "Modernization" pp. 247-51.

(18) การท่องเที่ยวที่ว่านี้ใหญ่โตขนาดไหนพอเห็นได้จากตัวเลขต่อไปนี้ กรุณาตรวจสอบบันทึก : ในการประเมินค่าตัวเลขปี 2515 - 2517 โดยต้องคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อสูงตอนนั้นด้วย แหล่งข้อมูล : World Bank . "Thailand: Current Economic Prospects and Selected Development Issues," II (Statistical Appendix), November 14, 1975, table 8.7 ตลอดช่วงหลายปีนี้ การท่องเที่ยวจัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแปดอันดับแรกที่ทำรายได้เงินตราต่างประเทศสูงสุด (หมายเหตุ: ตารางที่ได้มาไม่สมบูรณ์ จึงไม่ได้นำเสนอในที่นี้)

(19) แหล่งข้อมูลดีที่สุดแหล่งเดียวเกี่ยวกับสฤษดิ์ได้แก่ Thak, "The Sarit Regime" สำหรับบทบาทของเขาในการเปลี่ยนแปลงกองทัพไทยให้เป็นแบบอเมริกันดูหน้า 120 - 22 เป็นพิเศษแต่งานเรื่อง Darling, Thailand ก็ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากทางซีกอเมริกัน ในความสัมพันธ์ระหว่างสฤษดิ์ - วอชิงตัน

(20) สฤษดิ์สนับสนุนสหรัฐฯให้รุกรานลาวเป็นพิเศษ ขณะที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เกิดใกล้อยุธยาในภาคกลางของไทยและนิสัยใจคอพื้นฐานเป็นแบบ "ไทยภาคกลาง" แต่สฤษดิ์กลับเป็นคนอีสานในหลายด้าน คุณแม่ของสฤษดิ์มาจากหนองคายติดชายแดนลาว และตัวเขาเองก็ใช้ชีวิตวัยเด็กส่วนหนึ่งอยู่ที่นั่น เขาเป็นญาติสนิทข้างมารดากับนายพลภูมี หน่อสะหวัน ขุนศึกฝ่ายขวาที่เพนตากอนหมายมั่นปั้นมือให้เป็นใหญ่ในเวียงจันท์เสมอมา

(21) ไม่เคยมีแผนพัฒนาฯระดับชาติเลยในสมัยจอมพล ป. แผนพัฒนาแห่งชาติฉบับแรกของสยามพัฒนาขึ้นสมัยสฤษดิ์ และเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในปี 2504 แผนนี้เป็นอย่างไร และเดินตามคำแนะนำของธนาคารโลกอย่างน่าอับอายขายขี้หน้าเพียงไหน โปรดดู Pierre Fistie, L'Evolution de la Thailande Contemperaine (Paris: Armand Colin, 1967), pp . 334 - 35 แต่ทักษ์โต้แย้งว่า สฤษดิ์หาได้ยอมให้เทคโนแครตนนาชาติพวกนี้จูงจมูกไปเสียทุกอย่างไม่ โปรดดู Thak, "The Sarit Regime," pp. 327 - 28.

(22) ขณะที่จอมพล ป. เป็นจอมเผด็จการเกือบเต็มตัวในช่วงพุทธทศวรรษ 2480 ฐานะของเขากลับอ่อนแอลงมาก ระหว่างดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างยาวนานรอบสอง จากปี 2491 - 2500 คณะรัฐประหาร 2490 ดึงเขากลับมาเชิดเป็นหัวหน้าเพียงเพื่อให้ระบอบปกครองของพวกตน "ดูดีมีระดับ" ในทางสากลเท่านั้น แต่จอมพล ป. ก็อยู่รอดมาได้ ด้านหลักแล้วโดยอาศัยสหรัฐ ฯ สนับสนุนและความฉลาดหลักแหลมของตัวเอง ในการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายพลตำรวจเอกเผ่า กับ ฝ่ายพลเอกสฤษดิ์ ซึ่งขัดแย้งเป็นปฏิปักษ์กันยิ่งขึ้นทุกที สฤษดิ์ทำลายอำนาจตำรวจลงและทำให้กองทัพบกภายใต้การควบคุมของเขา กลายเป็นนายเหนือหัวการเมืองไทยอย่างเด็ดขาดโดยการรัฐประหารปี 2500 และ 2501

(23) ดูสรุปประโยชน์ล่อใจทั้งหลายที่ไทยให้แก่นักลงทุนต่างชาติได้ใน Fistie, L'Evolution, p. 337.

(24) ตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ New York Times, April 14 , 1968 มีทหารอเมริกันอยู่ในเมืองไทยตอนนั้น 46,000 นาย รวมทั้งอีก 5,000 นายที่ลาสนามรบในเวียดนามเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจในแต่ละเดือน หนังสือพิมพ์ The Nation , October 2, 1967 ระบุว่ามีทหาร 46,000 นาย ผู้ปฏิบัติงานด้านเศรษฐกิจและโฆษณาชวนเชื่อ 7,000 นาย และฐานทัพอากาศ 8 แห่งของอเมริกาอยู่ในประเทศไทย

(25) หากเปรียบเทียบการจ้างงานในภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ระหว่างปี 2503 กับ 2513 ก็จะแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ส่วนหนึ่ง

2503 .......................................... 2513 ........................................ เปลี่ยนแปลง

การเกษตร ........................11,300,000 ...............................13,200,000 ...................................(+17%)
เหมืองแร่ .................................30,000 .......................................87,000 .................................(+290%)
หัตถอุตสาหกรรม ..................470,000 .....................................683,000 ...................................(+45%)
ก่อสร้าง ...................................69,000 .....................................182,000 .................................. (+64%)
การค้า ...................................779,000 .....................................876,000 .................................(+135%)
ขนส่ง คลังสินค้า สื่อสาร........ 166,000 .....................................268,000 ...................................(+62%)
บริการ ..................................654,000 ..................................1,184,000 ...................................(+81%)

ตัวเลขที่ปัดเป็นจำนวนเต็มเหล่านี้คำนวณจากตาราง 1.2 ใน World Bank , "Thailand" II (November 14, 1975). ในช่วงปี 2503 - 2508 รายได้มวลรวมประชาชาติเพิ่มขึ้น 7.5 % ต่อปีและการลงทุนมวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้น 14.4 % ต่อปี ดู Annex I ของ "Report and Recommendation of the President of the International Bank for Reconstruction and Development to the Executive Directors of the World Bank on a proposed loan to the Industrial Finance Corporation of Thailand," September 1 , 1976 ,บทความ Clark Neher, "Stability and Instability in Contemporary Thailand," Asian Survey, XV:12 (December 1975 ), pp. 1100 - 01, ให้ตัวเลขอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติระหว่าง 2502 - 2512 ไว้ที่ 80.6 %

(26) ดู Fistie, L'Evolution ,p. 353 : Robert J, Muscat, Development Strategy in Thailand: A Study of Economic Growth (New York : praeger, 1966) ,p. 138. เป็นอาทิ

(27) ดูรายละเอียดและร่างเค้าโครงแผนที่ถนนเหล่านี้ใน Thak, " The Sarit Regime," Appindix IV

(28) Howard Kaufman แจกแจงหลักฐานเรื่องนี้ไว้อย่างมีชีวิตชีวา ในหนังสือของเขาเรื่อง Bangkhuad: A Community Study in Thailand (Rutland, Vt. And Tokyo: Tuttle ,1976 ), pp . 219 - 220 เมื่อเขากลับไปเยี่ยมหมู่บ้านบางขวดที่เขาเคยศึกษาเอาไว้ในปี 2497 สมัยยังเป็นชุมชนชนบทเล็ก ๆ อยู่ชานกรุงเทพฯนั้น เขาพบว่า 17 ปีให้หลังที่ดิน 1 ไร่ที่เคยตีราคาไว้ 3,000 บาทเมื่อปี 2497 ได้ถีบตัวสูงขึ้นไปถึง 250,000 บาทในปี 2514 ยิ่งกว่านั้นที่ดินราคาสูงสุดก็ไม่ใช่ที่ดินอุดมสมบูรณ์ที่สุดอีกต่อไป หากกลายเป็นที่ดินที่อยู่ติดระบบถนนที่กำลังพัฒนากันที่สุดไป Thak , "The Sarit Regime," pp. 337 - 38 ตั้งข้อสังเกตว่าชาวนาจำนวนมากที่มีที่ดินอยู่ตามถนนใหญ่ ถูกพวกข้าราชการผู้ทรงอำนาจกับพรรคพวกขับไล่ออกไปดื้อ ๆ โดยไม่ได้อะไรตอบแทนเลย

(29) ดู Anonymous, "The U.S. Military and Economic Invasion of Thailand" Pacific Research, I: 1 (August 3, 1969) , pp.4 - 5 ซึ่งอ้างอิง Department of Commerce, OBR 66 - 60 , September 1966 , p. 6 . Neher, "Stability," p. 1110 , กล่าวว่า การเช่าที่ทำกินและหนี้สิน "พุ่งสูงขึ้นพรวดพราด" Takeshi Motooka ตั้งข้อสังเกตไว้ในงานของเราเรื่อง Agricultural Development in Thailand (Kyoto: Kyoto University, Center for Southeast Asian Studies, 1971), pp . 221 ว่า

1) ตามข้อมูลที่รัฐบาลไทยสำรวจภาคเกษตรไว้เมื่อปี 2506 ปรากฏว่า 60.8 % ของพื้นที่เพาะปลูกในภาคกลาง ดำเนินการโดยลูกนาที่เช่าที่ทำกินทั้งหมดหรือเช่าเป็นบางส่วน

2) จากที่เขาศึกษาท้องที่อำเภอหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี (อยู่ใกล้กรุงเทพฯมาก) 90 % ของชาวนาที่เพาะปลูกทำกินที่นั่นเป็นลูกนา ในทางกลับกัน บททดลองเสนอที่ว่าการเช่าที่ทำกินได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นได้ถูกโจมตีอย่างรุนแรงเมื่อเร็ว ๆ นี้จาก Laurence Stifel ในงานของเขาเรื่อง "Patterns of Land Ownership in Central Thailand during the Twentieth Century," Journal of the Siam Society, 64:1 (January 1976), pp. 237-74 สำหรับข้อมูลเปรียบเทียบเกี่ยวกับ ระบบเจ้าที่ดิน หนี้สินและการบิดพลิ้วฉวยใช้โฉนดที่ดินซึ่งเพิ่มมากขึ้นในจังหวัดเชียงรายทางภาคเหนือ โปรดดู Michael Moerman, Agricultural Change and Peasant Choice in a Thai Village ( Berkeley: University of California Press, 1968 ), chapter V.

(30) อย่างไรก็ตาม กระแสอพยพนี้ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างกว้างขวางตั้งแต่ก่อนเศรษฐกิจเริ่มบูมด้วยซ้ำไป Mudannayake, ed., Thailand Yearbook , 1975- 76 , p. E30, ตั้งข้อสังเกตว่าในปี 2503 นั้นประชากรกรุงเทพฯ ไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสี่มีบ้านอยู่ที่อื่น

(31) ตัวอย่างเศรษฐีใหม่ "นอกระบบราชการ" ที่น่าตื่นตาตื่นใจรายหนึ่งซึ่งเป็นผลผลิตของยุคนี้ได้แก่ นายทวิช กลิ่นประทุม หัวหน้าพรรคธรรมสังคมที่เป็นพรรคขนาดใหญ่ในช่วงปี 2517 - 2519 เขาเป็นบุตรข้าราชการยากไร้ เรียนสูงกว่าชั้นมัธยมฯ ไม่เท่าไหร่ และเริ่มงานเป็นพนักงานบัญชีกินเงินเดือนๆ ละ 250 บาท ต่อมาเขาทำงานสารพัดเช่นถีบสามล้อบ้าง เป็นเสมียนชิปปิ้งบ้าง เดินรถโดยสารประจำทางบ้าง ชีวประวัติฉบับทางการของเขาบันทึกไว้ว่า :

"ระหว่างรับเหมาช่วงงานเอาของลงและขนส่งอุปกรณ์ต่อจากองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (รสพ. เป็นบรรษัทของรัฐที่ผูกพันแนบแน่นกับ JUSMAG หรือ Joint U.S. Military Advisory Group) ท่านก็ได้คิดว่ารถเทรลเล่อร์เป็นสิ่งจำเป็น ด้วยเงินที่ท่านเก็บหอมรอมริบไว้บวกกับสินเชื่อจากธนาคาร ท่านได้ซื้อรถเทรลเล่อร์สองคันเพื่อใช้ขนส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์หนัก ... ท่านเริ่มรับส่งอุปกรณ์ให้แก่จัสแม็กและสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท นับว่าท่านทวิชซื้อรถเทรลเล่อร์ถูกจังหวะเพราะการใช้เครื่องจักรกลกำลังกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ ในสภาพที่บริษัทท้องถิ่นแห่งอื่นต่างไม่มีรถเทรลเล่อร์และปั้นจั่นเพื่อให้บริการ บริษัทเทรลเล่อร์ ทรานสปอร์ต ของท่าน จึงได้สัญญารับจ้างขนส่งยุทโธปกรณ์มา ....โกดังของท่านขยายใหญ่และรถเทรลเล่อร์กับรถบรรทุกของท่านก็ทวีจำนวนขึ้นเป็นร้อย ๆ คัน พร้อมกับที่เครือข่ายการขนส่งในประเทศแผ่ขยายออกไป" Bangkok Post , December 24, 1974 (เนื้อที่โฆษณาพิเศษซื้อโดยพรรคธรรมสังคม) ตัวเอนโดยผู้เขียน ถึงปี 2517 ทวิช ก็กลายเป็นเศรษฐีหลายล้านผู้มีอาคารสำนักงานสูง 8 ชั้นของตัวเอง

(32) ตัวเลขในช่องขวามือสุด 2 ช่องของตารางที่ 2 น่าจะต่ำเกินไป โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพ ง. คงต้องรวมเอาพ่อค้าและนักธุรกิจในชนบทเข้าไว้ด้วย ทว่าไม่มีทางบอกได้เลยว่าพวกนี้มีจำนวนเท่าไหร่แม้จะเอาแค่ตัวเลขหยาบ ๆ ก็ตาม

(33) Neher, "Stability," p. 1101 : Frank C. Darling, "Student protest and Political Change in Thailand ," Pacific Affairs, 47:1 (Spring 1974), p. 6. เพื่อเข้าใจการก่อตัวทางชนชั้นในสังคมทุนนิยมอย่างประเทศไทย เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องศึกษากลุ่มชนที่ "ไม่ทำการผลิต" (อาทิ นักเรียน นักศึกษา ฯลฯ) เพื่อสร้างและสืบทอดฐานะ/ทรัพย์สินของตนให้ยั่งยืนสถาพร กลุ่มกระฎุมพีกับนายทุนน้อยใหม่จะชักนำบุตรหลานของตนให้เข้าสถาบันการศึกษา เราจะรู้ได้ว่าบัดนี้ ชนชั้น ดำรงอยู่แล้วจริง ๆ (แทนที่จะเป็นแค่ชนชั้นนำที่ได้ดิบได้ดีกะทันหัน) ก็เมื่อเราพบเห็น "ลูกท่านหลานเธอ" และอำนาจส่งต่อสืบทอดกันถึงสองชั่วอายุคน พวกขุนนางสร้างเสริมฐานะของตนโดยแต่งงานกันเอง แต่พวกกระฎุมพีทำอย่างเดียวกันนั้นไม่ได้ หรืออย่างน้อยก็ทำไม่ได้ในระดับเดียวกัน แนวโน้มก็คือพวกกระฎุมพีจะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือเสริมสร้างฐานะแทนการแต่งงาน

(34) ดู Darling "Student Protest" p. 6. ควรทำความเข้าใจตัวเลขเหล่านี้ในบริบทสถิติงบประมาณที่อ้างถึงใน Thak, " The Sarit Regime" pp. 437 - 8 ซึ่งแสดงงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงศึกษาธิการ กลาโหม และมหาดไทย ในสัดส่วนคิดเป็นร้อยละของงบประมาณฯ ทั้งหมดระหว่างปี 2496 - 2516 เพื่อความกระชับ ผมจะให้เฉพาะตัวเลขที่เขาคำนวณระหว่างปี 2501 - 2516

2501 ........... 2502 ........... 2503 ........... 2504 ........... 2505 ........... 2506 ........... 2507 ........... 2508

การศึกษา ......... 4.6 .............18.4 ............17.3 ................15.4 ..............14.9 ............15.6 ............ 15.4 .............15.3
กลาโหม .........10.2 .............19.6 ............17.8 .................16.6 .............16.9 .............15.6 ............15.4 .............15.5
มหาดไทย ........7.0 .............16.3 .............15.1.................15.0 .............13.9 .............14.3 ............ 15.5 .............16.9

2509 ........... 2510 ........... 2511 ........... 2512 ........... 2513 ........... 2514 ........... 2515 ........... 2516

การศึกษา ........14.3 .............13.2 ................5.8 ................5.5 ...............5.9 ................6.2 .............. 6.0 ................6.7
กลาโหม ..........15.0 .............13.6 .............15.3 ..............15.7 .............17.0 .............17.9 .............18.2 .............18.2
มหาดไทย .......17.1 .............15.6 .............20.7...............21.3 .............20.7 .............21.5 ............ 22.1 .............23.3

หากเราคำนึงถึงว่า รายจ่ายการศึกษาระดับประถมมาจากงบประมาณของกระทรวงมหาดไทยแล้ว ก็จะพบว่างบประมาณรายจ่ายการศึกษาและอุดมศึกษา (ซึ่งอยู่ในงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ) สูงอย่างน่าตกใจทีเดียว

(35) Kaufman, Bangkok, p . 220 ตั้งข้อสังเกตว่าในชุมชนติดกรุงเทพฯแห่งนี้มีเด็กวัยรุ่นเพียง 6% กำลังเรียนหนังสือชั้นมัธยมฯแบบใดแบบหนึ่งอยู่ในปี 2497

(36) ดูตัวอย่างใน David K. Wyatt, The Politics of Reform in Thailand : Education in the Reign of King Chulalongkorn (New Haven, Conn : Yale University Press, 1969) ,chapter I : และงานชิ้นก่อนของเขาเรื่อง "The Buddhist Monkhood as an avenue of Social Mobility in Thailand Thai Society," Sinlapakorn, 10 ( 1966) pp . 41 - 52 .

(37) ดูตัวเลขข้อมูลการศึกษาในหน้าเชิงอรรถที่ 34 Kaufman , Bangkhuad, p . 220 ตั้งข้อเกตว่าถึงปี 2514 60 % ของเด็กวัยรุ่นในชุมชนดังกล่าว เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษา

(38) Ibid, pp . 229 - 31 . มีข้อมูลดีเยี่ยมบางอย่างในเรื่องนี้ Hans Dieter - Evers. "The Formation of a Social Class Structure: Urbanization, Bureaucratization , and Social Mobility in Thailand," in Clark D. Neher, Modern Thai Politics ( Cambridge, Mass.: Schenkmen, 1976), pp . 201 - 5 ชี้ว่าแนวโน้มนี้เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่สมัยรัฐประหาร 2475 เป็นต้นมา จากตัวอย่างข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เขาศึกษาปรากฏว่า 26 % ของผู้ที่เข้ารับราชการก่อนปี 2476 ได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยเมืองนอก ทว่าในหมู่เข้ารับราชการหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ตัวเลขดังกล่าวขึ้นไปสูงถึง 93 %

(39) สิ่งที่ต้องเน้นย้ำในที่นี้คือมันเป็นเรื่องของจินตนาการว่าจะไต่เต้าไปได้ถึงระดับไหน หรือนัยหนึ่งมันเป็นเรื่องจิตสำนึกของสาธารณชนที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง ขณะที่การไต่เต้าในทางเป็นจริงย่อมไม่หวือหวาเท่าเป็นธรรมดา ดังการสำรวจง่าย ๆ ของ Kraft ต่อไปนี้ชี้ให้เห็น:

อาชีพผู้ปกครองของนักศึกษามหาวิทยาลัย (ราวปี 2511)

อาชีพผู้ปกครอง........................................................ จำนวนนักศึกษา............... คิดเป็นร้อยละ
เจ้าของธุรกิจและผู้มีกิจการของตนเอง..........................4,508............................. 53.72
ข้าราชการ .................................................................2,020............................. 25.12
ลูกจ้าง ..........................................................................657................................ 8.19
เกษตรกร ......................................................................580................................ 7.31
อื่น ๆ ............................................................................437................................ 5.31
ไม่ทราบ .........................................................................29................................ 0.35 รวมยอดผู้ถูกสำรวจทั้งหมด ........................................8,231........................... 100.00

แหล่งข้อมูล : Richard Kraft, Education in Thailand : Student Background and University Admission (Bangkok: Educational Planning Office, Ministry of Education , 1968) อ้างใน Mudannayke, ed., Thailand Yearbook: 1975 -76 , pp. 117 Kraft ประเมินว่าลูกหลานข้าราชการมีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยดีกว่าลูกหลานครอบครัวชาวนาชาวไร่ถึง 268 เท่า (ส่วนลูกหลานของผู้ประกอบการหัตถอุสาหกรรมและนักอุตสาหกรรมมีโอกาสดีกว่าลูกหลานชาวนาชาวไร่ 36 เท่า)

(40) โดยสอดคล้องกับอำนาจระดับโลกที่เปลี่ยนย้ายจากยุโรปไปสู่สหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สุดยอดพีระมิดการศึกษาไทยก็พลอยกลายไปเป็นการเข้ามหาวิทยาลัยในแคลิฟอร์เนีย อินเดียน่า และนิวยอร์ค แทนที่จะเป็นในลอนดอนหรือปารีสด้วย อาทิเช่น Harvey H. Smith, et al., Area Handbook for Thailand (Washington, DC: Government Printing Office, 1968 ), p. 175 กล่าวว่าในจำนวนหนุ่มสาวชาวไทยที่ไปเรียนนอก 4,000 คนเมื่อปี 2509 มี 1,700 คน กำลังเรียนอยู่ในสหรัฐอเมริกา (มีเหตุน่าเชื่อว่าตัวเลขทั้งสองจำนวนข้างต้นต่ำเกินจริง) ขณะที่ปี 2498 ยอดจำนวนคนไทยที่ไปเรียนนอกมีเพียง 1,969 คน (Evers. "Formation," p. 202)

(41) ดูตัวอย่างใน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ , "ความเคลื่อนไหวของนักศึกษาไทยในยุคแรก," ใน วิทยากร เชียงกูล กับพวก, ขบวนการนักศึกษาไทย อดีตถึงปัจจุบัน (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พระจันทร์เสี้ยว, 2517) หน้า 28. และ Sawai Thongplai , "Some Adults' Ideas about Some Youngsters," ประชาชาติรายสัปดาห์, 22 (30 มีนาคม 2519) หน้า 15 - 18

(42) Neher, "Stability," p. 1101 : Darling "Student Protest," pp. 8 - 9

(43) ขอให้ลองเปรียบเทียบดัชนีราคาผู้บริโภคในกรุงเทพฯ ดังต่อไปนี้ดู (พ.ศ. 2503 = 100) 2507, 102.9 2508, 103.8 2509, 107.7 2510, 112.0 2511, 114.4 2512,116.8 2513, 117.7 2514, 120.1 2515, 124.9 2516, 139.5 2517, 172.0 มกราคม-สิงหาคม 2518 , 176.4 ตัวเลขเหล่านี้ปรับมาจาก World Bank, "Thailand" (1975) , II Table 9 . Neher, "Stability," p. 1100 ให้อัตราเงินเฟ้อปี 2515 ไว้ที่ 15% และปี 2517 ที่ 24%

(44) เป็นปรากฏการณ์สำคัญน่าสนใจที่ว่าเมื่อจอมเผด็จการฝาแฝดจัดเลือกตั้งระดับชาติขึ้นในที่สุดเมื่อปี 2512 นั้น พรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายค้านของพลเรือน ซึ่งเป็นเงาสะท้อนชั้นชนกระฎุมพีใหม่ในบางแง ่สามารถกวาดชัยชนะที่นั่งในกรุงเทพฯ ชัยชนะครั้งนี้อาจมองได้ว่าเป็นลางบอกเหตุ การที่ชนชั้นกลางจะเข้าร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในประเด็นชัยชนะการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้โปรดดู J.L.S. Girling , "Thailand's New Course" Pacific Affairs, 42:3 (Fall 1969) โดยเฉพาะ p. 357

(45) ประเด็นสำคัญที่พึงตราไว้ในที่นี้คือขนาดอันใหญ่โตมโหฬารของการชุมนุมแสดงพลังต่อต้านระบอบถนอม - ประภาส ครั้งสุดท้าย Neher , "Stability," p. 1103 ให้ตัวเลขผู้เข้าร่วมชุมนุมไว้ถึง 500,000 คน นับเป็นการชุมนุมแสดงพลังของมหาชนที่หาครั้งไหนเสมอเหมือนมิได้มาแต่ก่อนในประวัติศาสตร์ไทย

(46) การลงทุนมวลรวมในประเทศซึ่งเติบโตขึ้นเฉลี่ย 14.4% ต่อปีในระหว่าง 2503 - 2508 และ 13.5 % ต่อปีในระหว่าง 2508 - 2513 ตกลงเหลือเพียง 5.1 % ในช่วงปี 2513- 2518 สถานการณ์ดุลการชำระเงินทรุดลงอย่างรวดเร็วนับจากปี 2516 เป็นต้นมา

ปี ..........................................................................................ดุลการชำระเงินสุทธิ
.....................................................................................(หน่วยล้านดอลลาร์สหรัฐ)
2516 ............................................................................................................-50
2517 ............................................................................................................-90
2518 ..........................................................................................................-618
2519 (โดยประมาณ)................................................................................... -745

แหล่งข้อมูล : Annex I of "Report and Recommendation of the President of the International Bank for Reconstruction and Development," Sept, I. 1976

(47) การนัดหยุดงานและก่อตั้งสหภาพแทบจะถูกสฤษดิ์สั่งห้ามว่าผิดกฎหมายหมด ทั้งนี้เพื่อบดขยี้ฝ่ายค้านปีกซ้ายและส่งเสริมการลงทุนต่างชาติ Neher, "Stability," p. 1100 ตั้งข้อสังเกตว่า "มีการนัดหยุดงานกว่า 2,000 ครั้งในปี 2516 โดยเกือบทั้งหมดเกิด ภายหลัง (เน้นโดยผู้เขียน) การลุกขึ้นสู้เดือนตุลาคม 2516 และแจงนับการนัดหยุดงานได้ราว 1,500 ครั้งในรอบหกเดือนแรกของปี 2517 เทียบกับระยะ 3 ปีระหว่าง 2512 - 2515 ซึ่งเกิดการนัดหยุดงานรวมเบ็ดเสร็จเพียง 100 ครั้งเท่านั้น" รัฐบาลสัญญาได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 16 บาทเป็น 20 บาท และต่อมา (ตุลาคม 2517) เป็น 25 บาทต่อวัน Indochina Chronicle, May - June 1975.

(48) ส่วนต่างกำไรของธุรกิจไทยที่บริหารไม่ดีบางแห่ง ย่อมพึ่งพาอาศัยค่าแรงแสนถูกที่เผด็จการเป็นผู้ค้ำประกันให้โดยตรง

(49) ในปี 2509 ในบรรดาธุรกิจโรงงาน 30,672 แห่งที่จดทะเบียนกับรัฐบาล มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่จ้างคนงานเกิน 50 คน Smith et al., Area Handbook, p. 360

(50) แปลกดีที่ผู้เรียนจบโรงเรียนอาชีวะหางานลำบาก ในพื้นที่ชนบทมีแค่ร้อยละ 25 เท่านั้นที่หางานได้ และในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันสักเท่าไหร่โดยมีผู้หางานได้เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น Mudannayake,ed., Thailand Yearbook, 1975 - 76 p. 110.

(51) ข้อเท็จจริงที่มีนัยสำคัญยิ่งประการหนึ่งก็คือในช่วงปี 2516-2519 สหภาพแรงงานที่อาจกล่าวได้ว่าสู้รบที่สุดได้แก่สหภาพลูกจ้างโรงแรมและหอพักซึ่งอยู่ใต้การนำของเทอดภูมิ ใจดี นักเคลื่อนไหวที่รู้จักกันดี ( ถึงปี 2519 มีโรงแรมชั้นหนึ่งอย่างน้อย 50 แห่งในสยาม ซึ่งจ้างพนักงานรวมแล้วกว่า 30,000 คน ดู Bangkok Post, May 22 , 1975 )

ไม่มีใครจะรู้สึกบาดตาบาดใจเท่าบริกรหรือหญิงทำความสะอาดค่าแรงต่ำเหล่านี้ได้พบเห็นว่า เอาเข้าจริงเพื่อนร่วมชาติของตนบางคนอยู่อย่างหรูหราฟุ่มเฟือยเพียงใด นับเป็นเรื่องเปิดหูเปิดตาน่าสนใจยิ่งที่เป้าหลักของการเคลื่อนไหวโจมตีโดยสหภาพแรงงานหาใช่โรงแรมของต่างชาติหรือคนจีนไม่ (ปกติแล้วโรงแรมเหล่านี้มักยินดีรับรองสหภาพแรงงานและพร้อมจะต่อรองตกลงกันอย่างมีเหตุผล) หากเป็นโรงแรมของคนไทย (ทั้งที่เป็นเศรษฐีเก่าและใหม่) ซึ่งยืนกรานจะปฏิบัติต่อลูกจ้างพนักงานแบบพ่อปกครองลูก การนัดหยุดงานครั้งรุนแรงที่สุดในปี 2518 ปะทุขึ้นที่โรงแรมดุสิตธานีอันหรูหราใจกลางเมือง เมื่อฝ่ายจัดการชาวไทยจ้างมือปืนกระทิงแดงมาลุยผู้นัดหยุดงาน ดูรายงานใน Bangkok Post, May 30, 1975 ซึ่งอ้างคำพูดของนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เขาเรียกว่า "กองทัพส่วนตัว" อย่างรุนแรง

(52) Chaktip Nitiphon, "Urban Development and Industrial Estates in Thailand," in Prateep Sondysuvan, ed., Financial, Trade and Economic Development in Thailand ( Bangkok : Sompong Press, 1975), p. 249, ตั้งข้อสังเกตว่าระหว่างปี 2510 ถึง 2514 จำนวนรถยนต์จดทะเบียนในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้น 15% (ขณะที่พื้นผิวถนนเพิ่มขึ้นเพียง 1%) ในปี 2516 เมี่อมีรถจดทะเบียนทั้งสิ้นทั่วประเทศ 320,000 คันนั้น กว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าวอยู่ในราชธานีของสยาม

 





สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 980 เรื่อง หนากว่า 16000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



250749
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
รำลึกประวัติศาสตร์ ๓๐ ปี ๖ ตุลา ๒๕๑๙
บทความลำดับที่ ๙๘๕ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
หลังจากครองอำนาจได้ 5 ปี สฤษดิ์ก็ป่วยเป็นโรคตับแข็งตาย แต่ถนอมกับประภาสผู้เป็นทายาทสืบทอดอำนาจยังคงดำเนินนโยบายตามแนวของเขาต่อไป ทั้งสองขึ้นครองอำนาจเกือบพอดีกับจังหวะที่ลินดอน จอห์นสัน ยกระดับสงครามเวียดนามให้รุนแรงขึ้น และพวกเขาก็เข้าฉวยโอกาสที่ปรากฏขึ้นด้วยเหตุนั้นอย่างฉับไว

วอชิงตันถูกยุยงให้ถือสยามเสมือนหนึ่งเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดยักษ์ที่จอดนิ่งอยู่กับที่ ดังปรากฏว่าใน 2511 อันเป็นปีสุดยอดนั้น มีทหารสหรัฐฯเกือบ 50,000 คนอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และอเมริกาได้รับอนุญาตให้สร้างและใช้งานฐานทัพใหญ่ 8 แห่ง รวมทั้งที่ตั้งทางทหารย่อยอีกหลายสิบ ไม่เพียงแต่ผู้ปกครองไทยจะได้บำเหน็จรางวัลในรูปความช่วยเหลือทางทหารเท่านั้น แต่การที่อเมริกันแห่กันเข้ามาอยู่ในเมืองไทยขนานใหญ่เช่นนี้ ยังส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคก่อสร้างและบริการ

วิกฤตการณ์น้ำมันโลกปะทุขึ้นแทบจะพร้อมกับการชุมนุมเดือนตุลาคม 2516 ความโกลาหลวุ่นวาย ที่บังเกิดแก่เศรษฐกิจทุนนิยมโลกเนื่องจากเหตุนั้น เริ่มเป็นที่รู้สึกกันได้ในสยามเมื่อต้นปี 2517 ในฤดูใบไม้ผลิปี 2518 ที่มั่นของอเมริกันในอินโดจีนก็พังครืนลงเร็วเหลือเชื่อ บัดนี้สยามมิได้เป็นแกนกลางอันปลอดภัยของจักรวรรดิอเมริกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกต่อไปแล้ว แต่กลับอยู่ติดชายขอบริมนอกอันเปราะบางของมัน คิด ๆ ดูแล้วก็อยู่ในวิสัยเป็นไปได้ที่นับแต่นี้ไปสิงคโปร์อาจสวมบทแทนกรุงเทพฯ ส่วนราชธานีไทยแห่งนี้ก็อาจสวมบทแทนเวียงจันท์

midnigh-politique