Violation and Violence
The Midnight University
ข่าวสำคัญที่สื่อกระแสหลักไม่รายงาน
อเมริกันซ่อนหา:
ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๙
(ข่าววิทยาศาสตร์
เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม)
ภัควดี วีระภาสพงษ์
นักวิชาการ และ นักแปลอิสระ
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้
เป็นข่าวที่ไม่ได้รับการรายงาน
และบางครั้งมีการปกปิด ปิดกั้นจากการรับรู้ของสาธารณชนอเมริกัน และทั่วโลก
ทางกองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้มีการนำข่าวที่ไม่เป็นข่าวเหล่านี้
จากต้นฉบับเดิมที่มีการลำดับในอีกระบบหนึ่ง มาจัดหมวดหมู่ใหม่เพื่อสะดวกในการค้นคว้า
โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มข่าวทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม กลุ่มหนึ่ง
และกลุ่มข่าววิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม อีกกลุ่มหนึ่ง
สำหรับผู้สนใจหัวข้อลำดับข่าวตามต้นฉบับ
สามารถคลิกดูได้จากที่นี่
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1083
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
10.5 หน้ากระดาษ A4)
อเมริกันซ่อนหา:
ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๙
(ข่าววิทยาศาสตร์
เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม)
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : นักวิชาการ
และ นักแปลอิสระ
นักฟิสิกส์ตั้งข้อสงสัยต่อการถล่มของตึกเวิลด์เทรดในวินาศกรรม
9/11
หลังจากศึกษาวิจัยเหตุวินาศกรรม 9/11 มามากพอแล้ว, สตีเวน อี โจนส์ ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยบริกแฮมยังได้ข้อสรุปว่า
คำอธิบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการถล่มลงมาของตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ไม่สอดคล้องกับกฎของฟิสิกส์
ศาสตราจารย์โจนส์เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศที่เป็นอิสระเข้ามาสอบสวนเรื่องนี้ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์
ศาสตราจารย์โจนส์ตั้งข้อสงสัยต่อการที่ตึกเวิลด์เทรดสองตึก ถล่มลงมาในแนวตั้งอย่างสมบูรณ์เรียบร้อย ราวกับมีการวางระเบิดที่แกนกลางตึก อีกทั้งยังมีโลหะหลอมเหลวจำนวนมากในพื้นที่ใต้ดินของตึกด้วย นอกจากนี้ ตึก WTC7 ที่ไม่ได้ถูกเครื่องบินพุ่งชน กลับถล่มลงมาราวกับถูกวางระเบิดตามหลักการทำลายอาคารของมืออาชีพ ในตึกหลังนี้มีสำนักงานราชการลับ กระทรวงกลาโหม สำนักงานด้านความมั่นคงหลายหน่วยงาน รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการแต่งบัญชีของบรรษัทเอนรอนถูกทำลายพร้อมกันไปด้วย
ศาสตราจารย์โจนส์อ้างว่า สถาบันด้านมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Institutes of Standards and Technology) บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อสร้างภาพจำลองในคอมพิวเตอร์ให้สอดคล้องกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ศาสตราจารย์โจนส์ตั้งข้อสังเกตบางประการดังนี้คือ:
"ไม่เคยมีปรากฏการณ์ที่ตึกซึ่งมีโครงสร้างเป็นเหล็กถล่มลงมาเพราะไฟไหม้ ไม่ว่าก่อนหรือหลังเหตุการณ์ 9/11 แต่การวางระเบิดสามารถตัดโครงสร้างเหล็กให้ทลายลงมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
"ตึก WTC7 ที่ไม่ได้ถูกเครื่องบินพุ่งชน ถล่มลงมาใน 6.6 วินาที ใช้เวลานานกว่าวัตถุชิ้นหนึ่งตกจากหลังคากระทบพื้นเพียงแค่ .6 วินาที "ทำไมจึงไม่มีการทรงมวลของโมเมนตัม ซึ่งเป็นกฎพื้นฐานของฟิสิกส์" ศาสตราจารย์โจนส์ตั้งคำถาม "ผมหมายถึง ขณะที่พื้นชั้นบนหล่นลงมากระทบกับพื้นชั้นล่าง-และส่วนโครงสร้างที่เป็นเหล็กซึ่งยังดีอยู่-การถล่มต้องชะลอช้าลงบ้างจากมวลที่รองรับแรงกระแทกอยู่ด้านล่าง"
"จากข้างต้น "ถ้าเช่นนั้น ทำไมชั้นบนของตึกจึงถล่มลงมารวดเร็วขนาดนั้นและยังรักษาโมเมนตัมในการพังทลายได้อย่างไร?" เขาบอกว่า ความขัดแย้งนี้ "คลี่คลายได้โดยง่ายหากตั้งสมมติฐานถึงการใช้ระเบิดทำลายตึก เพราะระเบิดจะทำลายโครงสร้างชั้นล่างอย่างรวดเร็ว รวมถึงโครงเหล็กที่รับน้ำหนักด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดการพังทลายแบบถล่มลงมารวดเดียวและรวดเร็ว"
"ถ้าการถล่มของตึกไม่ได้เกิดจากแรงระเบิด
ก็ต้องมีคอนกรีตแตกหักกองอยู่เป็นจำนวนมาก แต่วัสดุก่อสร้างตึกส่วนใหญ่กลายเป็นผงเหมือนแป้ง
เราจะเข้าใจสภาพที่ประหลาดนี้ได้อย่างไรหากไม่อธิบายด้วยระเบิด?"
" โครงสร้างเหล็กบางส่วนหลอมละลายหายไป แต่มันต้องอาศัยอุณหภูมิเกือบ 5,000
องศาฟาเรนไฮต์ในการหลอมเหล็กจนระเหย วัตถุต่าง ๆ ในสำนักงานหรือน้ำมันดีเซลไม่มีทางทำให้เกิดอุณหภูมิที่สูงขนาดนั้น
ไฟที่เกิดจากน้ำมันเครื่องบินลุกไหม้อย่างมากก็แค่ไม่กี่นาที ส่วนวัสดุติดไฟในสำนักงานน่าจะไหม้หมดภายในเวลาแค่
20 นาที"
"โลหะหลอมเหลวที่พบในซากตึกอาจเป็นผลมาจากปฏิกิริยาของระเบิดที่ใช้กันทั่วไป เช่น ระเบิดเธอร์ไมต์ (thermite) ตึกที่ถล่มโดยไม่ได้ใช้ระเบิดไม่มีทางทำให้โลหะจำนวนมากขนาดนั้นหลอมเหลว" "มีพยานจำนวนมากทั้งภายในตึกและบริเวณใกล้ตึกให้ปากคำว่า ได้ยินเสียงระเบิดดังติด ๆ กันอย่างรวดเร็ว และเสียงระเบิดที่ว่านี้ดังมาจากจุดที่ต่ำกว่าตรงที่เครื่องบินพุ่งชนมาก"
ในเดือนมกราคม 2006 ศาสตราจารย์โจนส์และกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มนักวิชาการผู้แสวงหาความจริงของเหตุการณ์ 9/11" เรียกร้องให้นานาชาติสอบสวนเหตุวินาศกรรมครั้งนี้ รวมทั้งกล่าวโทษรัฐบาลสหรัฐฯ ว่ามีการปกปิดข้อมูลจำนวนมาก "เราเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงปกปิดข้อเท็จจริงที่สำคัญอย่างยิ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในวันที่ 11 กันยายน" คือคำกล่าวในแถลงการณ์ของกลุ่ม "เราเชื่อว่าเหตุการณ์ทั้งหมดอาจเป็นการจัดฉากโดยฝีมือของรัฐบาล เพื่อหลอกลวงประชาชนชาวอเมริกันให้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลทั้งภายในและต่างประเทศ"
นักวิชาการกลุ่มนี้ประกอบด้วยศาสตราจารย์โจนส์และศาสตราจารย์จิม เฟทเซอร์ ศาสตราจารย์สอนวิชาปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยมินเนโซตา พร้อมกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญอีก 50 คน อาทิ โรเบิร์ต เอ็ม โบว์แมน อดีตผู้อำนวยการโครงการป้องกันทางอวกาศที่เรียกว่า "สตาร์วอร์ส" ของสหรัฐฯ และมอร์แกน เรย์โนลด์ส อดีตหัวหน้าเศรษฐกรประจำกระทรวงแรงงานในรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช สมัยแรก
สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ
ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอุตสาหกรรมเคมี
โครงการวิจัยของสำนักคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (U.S. Environmental Protection
Agency-EPA) กำลังพึ่งพิงเงินทุนจากบรรษัทธุรกิจมากขึ้น ปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมเคมีอเมริกัน
เป็นหุ้นส่วนใหญ่ในการทำงานวิจัยของ EPA
นักวิทยาศาสตร์ของ EPA เริ่มบ่นให้ได้ยินว่า บรรษัทธุรกิจเข้ามามีอิทธิพลต่อโครงการวิจัยผ่านการสนับสนุนทางการเงิน บรรษัทเข้ามากำหนดวาระของประเด็นว่าควรทำวิจัยเรื่องอะไรบ้าง และจะนำเสนอผลการวิจัยอย่างไร ทำให้ EPA ล้าหลังในประเด็นต่าง ๆ ที่บรรษัทไม่ต้องการให้ทำการวิจัย เช่น เรื่องการขนย้ายขยะพิษข้ามทวีปและนาโนเทคโนโลยี เป็นต้น. การดำเนินงานของ EPA จึงเกิดการทับซ้อนของผลประโยชน์ เพราะหน่วยงานรับเงินจากบรรษัทที่ตนเองมีหน้าที่เข้าไปกำกับดูแล
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการกำกับดูแลสาธารณสุขในระยะยาว จึงหลุดไปจากความสำคัญลำดับต้น ๆ ของ EPA เพราะอุตสาหกรรมเคมีไม่สนใจให้ทุนสนับสนุนงานประเภทนี้ ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมพยายามผลักดันให้มีการนำมนุษย์มาทดลองความทนทานที่มีต่อยาฆ่าแมลงและสารพิษอื่น ๆ ยิ่งรัฐบาลบุชกำลังเสนอให้ตัดงบประมาณของ EPA ลงอีก ก็จะทำให้ EPA ต้องพึ่งพิงและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอุตสาหกรรมเคมีมากขึ้น
น้ำขวด: ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก
ผู้บริโภคใช้จ่ายเงินรวมกันถึง 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปีไปกับน้ำขวด ด้วยความเชื่อ-ที่ส่วนใหญ่เป็นความเชื่อผิด
ๆ ว่า-น้ำขวดดีกว่าน้ำก๊อก การบริโภคน้ำขวดทั่วโลกพุ่งขึ้นถึง 41 พันล้านแกลลอนในปี
ค.ศ. 2004 มากกว่าปี ค.ศ. 1999 ถึง 57%
"แม้แต่ในพื้นที่ที่น้ำประปาดื่มได้อย่างปลอดภัย ความต้องการน้ำขวดก็ยังเพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ ที่มันก่อให้เกิดขยะอย่างไม่จำเป็นและสิ้นเปลืองพลังงานอย่างมหาศาล" เป็นรายงานของเอมิลี อาร์โนลด์ นักวิจัยแห่งสถาบันนโยบายโลก (Earth Policy Institute)
"แน่นอน น้ำดื่มสะอาดราคาเหมาะสมเป็นหัวใจสำคัญต่อสุขภาพของชุมชนโลก" อาร์โนลด์ยืนยัน "แต่น้ำขวดไม่ใช่คำตอบในโลกพัฒนาแล้ว อีกทั้งมันไม่ได้แก้ปัญหาให้ประชากรอีก 1.1 พันล้านคนที่ขาดแคลนแหล่งน้ำด้วย การพัฒนาและขยายระบบน้ำประปาที่สะอาดและปลอดภัยต่างหาก น่าจะเป็นคำตอบของการมีแหล่งน้ำที่ยั่งยืนในระยะยาว"
สมาชิกขององค์การสหประชาชาติเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องหาทางลดจำนวนประชากรที่ขาดแคลนแหล่งน้ำดื่มลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2015 เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ชุมชนโลกต้องเพิ่มงบประมาณในการจัดทำน้ำประปาจาก 15 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในขณะนี้ขึ้นไปอีก 2 เท่า แม้ว่าตัวเลขจะดูมากมาย แต่ถือว่าเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายถึง 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปีไปกับน้ำขวด
น้ำประปาส่งมาถึงเราได้ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่น้ำขวดต้องขนส่งเป็นระยะทางไกล หลายครั้งต้องข้ามพรมแดน ใช้ทั้งเรือ รถไฟ เครื่องบินและรถบรรทุก เท่ากับสิ้นเปลืองน้ำมันไปเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 2004 เพียงปีเดียว บริษัทน้ำในเฮลซิงกิ ส่งน้ำขวดสัญชาติฟินแลนด์ถึง 1.4 ล้านขวดลงเรือรอนแรมไปซาอุดีอาระเบียที่ไกลออกไปถึง 2,700 ไมล์ และแม้ว่าน้ำขวด 94% ที่ขายในสหรัฐอเมริกาจะผลิตขึ้นภายในประเทศก็ตาม แต่ชาวอเมริกันก็ยังนำเข้าน้ำขวดจากฟิจิที่ไกลออกไปตั้ง 9,000 กิโลเมตร เพื่อตอบสนองสิ่งที่อาร์โนลด์เรียกว่า "น้ำขวดเพื่อความเท่และความเทศ"
การบรรจุน้ำลงขวดต้องสิ้นเปลืองน้ำมันอีกเช่นกัน ขวดน้ำส่วนใหญ่ทำจากพลาสติกที่ได้จากน้ำมันดิบ "เฉพาะการผลิตขวดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ก็ต้องใช้น้ำมันไปถึง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อปี เท่ากับน้ำมันที่เติมให้รถราว 100,000 คันวิ่งได้ทั้งปี" อาร์โนลด์ตั้งข้อสังเกต
พอดื่มน้ำหมดขวด ขวดน้ำก็กลายเป็นขยะ ขวดน้ำพลาสติก 86% ในสหรัฐฯ ลงเอยในถังขยะ การเผาขวดก่อให้เกิดสารพิษ เช่น ก๊าซคลอรีน และขี้เถ้าที่มีโลหะหนัก ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์และสัตว์ หากกำจัดด้วยการฝังดิน ขวดน้ำต้องใช้เวลาย่อยสลายถึง 1,000 ปี
ทั่วทั้งโลก พลาสติกราว 2.7 ล้านตันหมดไปกับการผลิตขวดน้ำทุกปี ในขณะเดียวกัน ชุมชนที่เป็นแหล่งน้ำต้องเสี่ยงกับการขาดแคลนน้ำเสียเอง ในอินเดีย มีมากกว่า 50 หมู่บ้านที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ หลังจากบรรษัทโคคา-โคลาเข้ามาดูดน้ำไปขายเป็นน้ำขวดยี่ห้อ Dasani ปัญหาคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นในรัฐเท็กซัสและในเขตเกรทเลกของอเมริกาเหนือ
ชาวอเมริกันบริโภคน้ำขวดต่อหัวมากที่สุดในโลก แต่ปริมาณการบริโภคกำลังพุ่งสูงขึ้นในประเทศที่มีประชากรหนาแน่น เช่น ในเม็กซิโก อินเดียและจีน แน่นอน ผู้ที่ได้กำไรจากน้ำขวดมากที่สุดย่อมเป็นบริษัทเอกชนผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำขวดนั่นเอง
คำถามสำคัญที่เราควรถามก็คือ ถ้าหากระบบน้ำประปาสาธารณะสามารถผลิตน้ำดื่มที่มีคุณภาพได้ในราคาประหยัดกว่าแล้ว อะไรคืออุปสรรคที่ทำให้ไม่เกิดการลงทุนในเรื่องนี้ทั้งในประเทศร่ำรวยและยากจน และประชาชนอย่างเราจะเอาชนะอุปสรรค์เหล่านี้ได้อย่างไร?
บรรษัทฮัลลิเบอร์ตันมีส่วนพัวพันกับการขายเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้อิหร่าน
นักข่าว เจสัน ลีโอโปลด์ (Jason Leopold) แห่ง Global Research.ca อ้างแหล่งข่าวในบรรษัทฮัลลิเบอร์ตัน
(Halliburton) ว่า เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว (2005) นี้เอง ฮัลลิเบอร์ตันเพิ่งขายส่วนประกอบสำคัญของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ให้แก่บริษัทโอเรียนทอล
ออยล์ คิช (Oriental Oil Kish) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของอิหร่าน
นอกจากนั้น ตลอดปี ค.ศ. 2004-5 ที่ผ่านมา ฮัลลิเบอร์ตันยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไซรุส นัสเซรี รองประธานกรรมการบริหารของบริษัทดังกล่าว นัสเซรีเป็นบุคคลสำคัญในคณะพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านด้วย ในปลายเดือนกรกฎาคม 2005 นัสเซรีถูกรัฐบาลอิหร่านสอบสวนในข้อหาให้ความลับด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านแก่ฮัลลิเบอร์ตัน เจ้าหน้าที่รัฐบาลอิหร่านตั้งข้อหานัสเซรีว่ารับสินบนถึง 1 ล้านดอลลาร์จากฮัลลิเบอร์ตันเป็นค่าตอบแทน
ความสัมพันธ์ระหว่าง"บริษัทโอเรียนทอล
ออยล์ คิช" กับ"ฮัลลิเบอร์ตัน" เปิดเผยออกมาในเดือนมกราคม 2005
เมื่อบริษัทประกาศว่า ได้ทำสัญญาเหมาช่วงในโครงการขุดเจาะก๊าซกับบริษัทสาขาของฮัลลิเบอร์ตันที่จดทะเบียนในหมู่เกาะเคย์แมน.
ฮัลลิเบอร์ตันอ้างว่าโครงการนี้เป็นโครงการสุดท้ายที่บรรษัทจะลงทุนในอิหร่าน
อย่างไรก็ตาม ฮัลลิเบอร์ตันมีประวัติการลงทุนในอิหร่านมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995
ในสมัยที่รองประธานาธิบดีเชนีย์เป็นประธานกรรมการบริหารของบรรษัท โดยใช้วิธีจดทะเบียนบรรษัทสาขาในหมู่เกาะเคย์แมน
แล้วใช้เป็นข้ออ้างว่าไม่ใช่บริษัทสัญชาติอเมริกัน เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายของสหรัฐฯ
ที่ไม่ให้บริษัทเอกชนทำธุรกิจกับประเทศที่รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาเป็นรัฐผู้ร้าย
เช่น ลิเบีย อิหร่าน ซีเรีย เป็นต้น
รัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีคลินตันมีคำสั่งห้ามไม่ให้เอกชนลงทุนในอิหร่านมาตั้งแต่ ค.ศ. 1995 รวมทั้งห้ามมิให้บริษัทธุรกิจสหรัฐฯ ทำธุรกิจด้านบริการที่ "เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมน้ำมันอิหร่าน" ด้วย ความสัมพันธ์ทางธุรกิจของฮัลลิเบอร์ตันกับบริษัทอิหร่านจึงเป็นการหลบเลี่ยงกฎหมาย ฮัลลิเบอร์ตันนั่นเองที่แอบขายเครื่องหมุนเหวี่ยง (centrifuges) ให้อิหร่าน จนอิหร่านสามารถดำเนินโครงการเสริมสมรรถภาพให้แร่ยูเรเนียมได้
เพื่อหาทางสกัดยับยั้งไม่ให้ฮัลลิเบอร์ตันและบรรษัทอเมริกันอื่น ๆ ดำเนินธุรกิจกับประเทศที่รัฐบาลกลางคว่ำบาตร วุฒิสมาชิกของสภาคองเกรสจึงเสนอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อลงโทษบรรษัทอเมริกันที่หลบเลี่ยงกฎหมายด้วยการไปจดทะเบียนบริษัทสาขาในต่างประเทศ
หุ้นบรรษัทฮัลลิเบอร์ตันของรองประธานาธิบดีเชนีย์มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า
3000% เมื่อปีที่แล้ว
มูลค่าหุ้นของประธานาธิบดีดิ๊ก เชนีย์ในบรรษัทฮัลลิเบอร์ตัน พุ่งขึ้นจาก 241,498
ดอลลาร์ใน ค.ศ. 2004 เป็นกว่า 8 ล้านดอลลาร์ใน ค.ศ. 2005 เป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่า
3,000% พร้อม ๆ กับที่ฮัลลิเบอร์ตันร่ำรวยจากสัญญามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่ทำกับรัฐบาลสหรัฐฯ
โดยไม่ต้องผ่านการเสนอราคาประมูลหรือตรวจสอบบัญชี
ฮัลลิเบอร์ตันได้สัญญาการทำงานกว่าหมื่นล้านดอลลาร์ในอิรัก ได้รับสัญญาก่อสร้างเพื่อฟื้นฟูเมืองหลังพายุแคทรีนาอีกหลายโครงการโดยไม่มีการตรวจสอบ นอกจากนี้ บริษัทสาขาในต่างประเทศของฮัลลิเบอร์ตันยังหลีกเลี่ยงกฎหมายสหรัฐฯ เพื่อทำธุรกิจกับอิหร่าน (ดูข่าว #2) แม้ว่ารองประธานาธิบดีเชนีย์จะอ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฮัลลิเบอร์ตันแล้ว แต่เขายังรับบำนาญจากบรรษัทนี้อีกปีละราว 200,000 เหรียญ
ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนทำนองเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นกับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม นายโดนัลด์ รัมสเฟลด์ ซึ่งมีหุ้นอยู่ในบรรษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Gilead Sciences ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาทามิฟลู ที่ใช้รักษาไข้หวัดนก รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งที่สั่งซื้อยานี้. ในปี ค.ศ. 2005 เพนตากอนสั่งซื้อยาทามิฟลูด้วยมูลค่าถึง 58 ล้านดอลลาร์ และสภาคองเกรสกำลังพิจารณาจัดซื้อยานี้ในมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์
มหาสมุทรโลกตกอยู่ในอันตรายขั้นวิกฤต
ข้อมูลจากสมุทรศาสตร์, ชีววิทยาทางทะเล, อุตุนิยมวิทยา, ประมงศาสตร์และวิทยาธารน้ำแข็ง
ชี้ให้เห็นว่า ท้องทะเลของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้าย ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและองค์ประกอบทางเคมีของทะเล
บวกกับมลภาวะและการทำประมงอย่างมักง่าย กำลังทำให้แหล่งกำเนิดชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง
ใน ค.ศ. 2005 นักวิจัยจากสถาบันสมุทรศาสตร์พบหลักฐานชัดเจนว่า มหาสมุทรกำลังร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิของน้ำในช่วงครึ่งไมล์จากพื้นผิวทะเล สูงขึ้นมากตลอด 40 ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลลัพธ์จากก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ก่อขึ้น ปรากฏการณ์โลกร้อนที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการละลายของน้ำแข็งในทวีปอาร์กติก อัตราการละลายของน้ำแข็งก่อให้เกิดวังวนของผลกระทบที่สะท้อนกลับไปกลับมา มันเร่งอัตราการเพิ่มขึ้นของพื้นผิวน้ำที่สะท้อนกลับไปเร่งให้อุณหภูมิสูงขึ้นและการละลายมีมากขึ้น เมื่อน้ำทะเลที่ขั้วโลกจืดลงและน้ำทะเลในเขตร้อนเค็มกว่า วงจรของการระเหยและการตกตะกอนก็เร่งเร็วขึ้น ซึ่งยิ่งกระตุ้นปรากฏการณ์เรือนกระจกมากขึ้นไปอีก วงจรที่เร่งเร็วขึ้นเรื่อย ๆ นี้อาจแก้ไขกลับคืนได้ยากหรือไม่ได้เลย
มลภาวะที่สั่งสมมากขึ้นยังเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีของน้ำทะเลและทำลายชีวิตสัตว์น้ำ นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา มหาสมุทรต้องดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงประมาณ 118 พันล้านเมตริกตัน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังถูกปล่อยเพิ่มสู่บรรยากาศอีก 20-25 ตันทุก ๆวัน ความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นกำลังเปลี่ยนแปลงความสมดุลของค่า PH ในมหาสมุทร
จากการศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นว่า หากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เปลือกและโครงกระดูกของสิ่งมีชีวิตในน้ำทุกชนิด นับตั้งแต่ปะการังไปจนถึงหอยและแพลงก์ตอน จะละลายภายใน 48 ชั่วโมงหากต้องสัมผัสกับสภาพความเป็นกรดของทะเลในปี ค.ศ. 2050 ปะการังคงสูญพันธ์จนหมด และที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือ แพลงก์ตอน ไฟโตแพลงก์ตอนที่เป็นตัวดูดซับก๊าซเรือนกระจก, ผลิตออกซิเจน, และเป็นผู้ผลิตอาหารปฐมภูมิของห่วงโซ่อาหารในทะเล
ปรอทที่เกิดจากของเสียในอุตสาหกรรมเคมีและถ่านหิน มีการออกซิไดซ์ในอากาศและตกลงสู่ก้นทะเล เมื่อสัตว์ทะเลกินเข้าไป สารปรอทจะแทรกเข้าไปสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหารเป็นทอด ๆ กระทั่งสัตว์ทะเลที่เป็นผู้ล่าเหยื่อ เช่น ปลาทูนาหรือปลาวาฬ มีปริมาณสารปรอทสูงกว่าน้ำทะเลถึง 1 ล้านเท่า อ่าวเม็กซิโกมีปริมาณสารปรอทสูงสุด โดยมีสารปรอทราว 10 ตัน ไหลลงสู่ทะเลทางแม่น้ำมิสซิสซิปปีทุกปี และอีก 10 ตันจากการขุดเจาะนอกชายฝั่ง
นอกจากสารปรอทแล้ว แม่น้ำมิสซิสซิปปียังพาไนโตรเจน (ส่วนใหญ่จากปุ๋ย) ลงสู่มหาสมุทรด้วย ไนโตรเจนกระตุ้นให้พืชและแบคทีเรียที่บริโภคออกซิเจนเติบโตในน้ำ ก่อให้เกิดสภาพที่เรียกกันว่า "hypoxia" หรือ "เขตมรณะ". เขตมรณะคือพื้นที่ในมหาสมุทรที่ปริมาณออกซิเจนต่ำเกินกว่าสิ่งมีชีวิตในทะเลจะดำรงชีพอยู่ได้. ในปี ค.ศ. 2001 พื้นที่ทะเลจำนวนมากในอ่าวเม็กซิโกกลายเป็นเขตมรณะไปแล้วเกือบ 8,000 ตารางไมล์ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เขตมรณะเกือบทั้งหมดจากที่มีอยู่ 150 เขต (และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ) ในโลก มักอยู่ตรงปากแม่น้ำ ชายฝั่งสหรัฐฯ นั้นมีอยู่เกือบ 50 เขตด้วยกัน แม้ว่าไนโตรเจนส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นมาตามธรรมชาติในแม่น้ำ แต่ฟอสฟอรัสจากน้ำเสีย และไนโตรเจนจากท่อไอเสียรถยนต์ยิ่งซ้ำเติมภาวะนี้ให้สาหัสมากขึ้น
พร้อมกันนี้ การประมงสัตว์น้ำทะเลที่พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในปี ค.ศ. 2000 เริ่มตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยีการเดินเรือและการทำประมงแบบเข้มข้นมีความก้าวหน้ามาก "ประสิทฺธิภาพ" ในการทำประมงทะเลทำให้ชีวิตสัตว์ทะเลลดน้อยถอยลงอย่างไม่เคยมีมาก่อน เรือประมงใหญ่ ๆ มักจับสัตว์น้ำที่ไม่ต้องการถึง 25% แล้วทิ้งสัตว์น้ำเหล่านี้ที่ตายแล้วหรือใกล้ตายกลับลงทะเล นอกจากนั้น เรืออวนลากยังกวาดพื้นทะเลจนราบเรียบราวกับรถไถ ทำลายระบบนิเวศท้องทะเลมากกว่าการตัดไม้ทำลายป่าแต่ละปีถึง 150 เท่า
การเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลก็ไม่ดีไปกว่า.
ปลาแซลมอนเลี้ยงน้ำหนักทุก 1 ปอนด์ ต้องกินปลาที่จับมาจากทะเลถึง 3 ปอนด์ ลูกสัตว์ทะเลก็อยู่ในภาวะอันตราย
ทั้งนี้เพราะระบบบริบาลตามธรรมชาติถูกทำลายลง
ในขณะที่วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันสอนเรามากมายในห้องเรียน เกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยาและการเกื้อกูลชีวิตในธรรมชาติ
แต่การปฏิบัติของมนุษย์ในโลกภายนอก กลับทำลายระบบที่โอบอุ้มมนุษย์เองอย่างไม่บันยะบันยัง
คองโกกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อรับใช้ความไฮเทคของชาวโลก
โศกนาฏกรรมในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งมีประชากรตายไปแล้ว 6-7 ล้านคน
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 เป็นต้นมา เป็นผลจากการรุกรานและสงครามที่มหาอำนาจตะวันตกหนุนหลัง
เพื่อเข้าไปควบคุมแร่อันมีค่ามหาศาลของประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพชร, ดีบุก, ทองแดง,
ทองคำ และที่สำคัญที่สุดคือ โคลแทน (coltan) และไนโอเบียม (niobium)
โคลแทน และไนโอเปียม สองแร่ธาตุนี้เป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไฮเทคอื่น ๆ และโคบอลท์ แร่ธาตุสำคัญในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์, เคมี, อวกาศ, และอาวุธ. โคลัมโบแทนทาไลท์ (Columbo-tantalite) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า โคลแทน มีอยู่ในผืนดินอายุเก่าแก่กว่าสามหมื่นล้านปี ในเขตริฟท์แวลลีย์ของแอฟริกา แทนทาลัมที่สกัดมาจากแร่โคลแทนใช้ผลิตตัวเก็บประจุ ซึ่งเป็นอุปกรณ์เล็กจิ๋วที่จำเป็นอย่างยิ่งในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์. 80% ของแหล่งแร่โคลแทนในโลกพบอยู่ในประเทศคองโก ส่วนแร่ไนโอเบียมก็เป็นแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมไฮเทคเช่นกัน
ความเฟื่องฟูของธุรกิจเครื่องใช้ไฮเทคในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาของโคลแทนพุ่งสูงขึ้นเกือบ 300 ดอลลาร์ต่อปอนด์. ใน ค.ศ. 1996 กองกำลังทหารของประเทศรวันดาและอูกันดา ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง บุกเข้ามาในภาคตะวันออกของประเทศคองโก. พอถึงปี ค.ศ. 1998 กองทัพของสองประเทศนี้ก็ยึดครองและควบคุมพื้นที่ทำเหมืองไว้ได้ ในระยะเวลาอันสั้น
กองทัพรวันดากอบโกยเงินจากการทำเหมืองได้ถึงราว 20 ล้านเหรียญต่อเดือน แม้ว่าราคาของโคลแทนจะตกลงมาบ้างในระยะหลัง แต่รวันดายังคงผูกขาดการทำเหมืองและการค้าโคลแทนในคองโกเอาไว้ โดยมีข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่การทำเหมืองออกมาเป็นระลอก. โคลแทนที่นำออกมาขายให้ผู้ซื้อต่างชาติส่วนใหญ่ขนส่งผ่านทางประเทศรวันดา ผู้รับซื้อโคลแทนจะสกัดมันเป็นผงแทนทาลัม แล้วขายผงวิเศษนี้ให้บริษัทโนเกีย, โมโตโรลา, คอมแพค, โซนี ฯลฯ เพื่อใช้ในการผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อื่น ๆ
การวิเคราะห์ภูมิศาสตร์การเมืองในประเทศคองโก รวมทั้งเหตุผลที่ชาวคองโกต้องทนทุกข์ยากลำบากในสงครามที่ไม่รู้จักจบสิ้น มาตั้งแต่ ค.ศ. 1996 จำต้องเข้าใจถึงบทบาทของบรรษัทข้ามชาติที่พัวพันอยู่ในอาชญากรรมทั้งหมดนี้ กระบวนการทั้งหมดมีบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในทุกระดับ นับตั้งแต่บรรษัทเหมืองแร่ Cabot Corp. และ OM Group ของสหรัฐอเมริกา, HC Starck ของเยอรมนี และ Nigncxia ของจีน
การข่มขืน การสังหารหมู่และการติดสินบน เป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติที่บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้คอยหนุนหลัง กระนั้น ในรายงานด้านสิทธิมนุษยชนกลับไม่ค่อยมีการเอ่ยถึงบรรษัทเหมืองแร่ข้ามชาติเหล่านี้เลย
แซม บอดแมน, CEO ของคาบอท ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของประธานาธิบดีบุชในเดือนธันวาคม 2004 ระหว่างที่บอดแมนเป็น CEO คาบอทเป็นบรรษัทที่สร้างมลภาวะมากที่สุดบรรษัทหนึ่งของสหรัฐฯ ส่วนรองประธานฝ่ายบริหารคนปัจจุบันของบรรษัทโซนี ก็เคยเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของบิล คลินตัน
ไม่น่าประหลาดใจที่โศกนาฏกรรมในคองโกย่อมไม่ช่วยส่งเสริมการขายให้แก่โทรศัพท์มือถือ, เพจเจอร์, คอมพิวเตอร์หรือเครื่องเพชร อันที่จริง โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องควรมีสติกเกอร์ติดไว้เขียนว่า: "คำเตือน! อุปกรณ์นี้ใช้แร่ธาตุจากแอฟริกากลาง แร่ธาตุเหล่านี้หายาก ใช้แล้วหมดไป เงินที่ได้จากการขายถูกนำไปใช้ในสงครามนองเลือดเพื่อการยึดครอง และทำให้สัตว์ป่าหายาก (ลิงกอริลลา) สูญพันธุ์ ขอให้ทุกท่านใช้อย่างมีความสุข"
ผู้บริโภคต้องได้ข้อมูลข่าวสารเพื่อตระหนักว่า มีความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างอุปกรณ์ไฮเทคที่ทำให้ชีวิตของเราสะดวกสบายและทันสมัย กับความรุนแรง, กลียุคและการทำลายล้างที่สร้างความหายนะแก่โลกของเรา
อนาคตของเสรีภาพในอินเตอร์เน็ตไม่อยู่ในความสนใจของสื่อกระแสหลัก
ตลอดปีที่แล้วและปีนี้ (ค.ศ. 2005-6) มีการโต้แย้งและเชือดเฉือนกันอย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับอนาคตของอินเตอร์เน็ต
ทว่าความขัดแย้งทั้งหมดกลับดำเนินไปโดยที่สาธารณชนแทบไม่มีโอกาสรับรู้เลย
ในสหรัฐอเมริกา สงครามชักเย่อครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่าง"กลุ่มบริษัทเคเบิลฝ่ายหนึ่ง"กับ"ผู้บริโภคและผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (Internet Service Provider-ISP)" อีกฝ่ายหนึ่ง โดยฝ่ายหลังยืนยันว่าตนคือผู้สนับสนุน "ความเป็นกลางของอินเตอร์เน็ต" แม้จะมีกระบวนการทางด้านนิติบัญญัติและมีคำวินิจฉัยออกมาจากศาลสูงสุดตลอดปี ค.ศ. 2005 และต่อเนื่องมาในปี ค.ศ. 2006 แต่ดูเหมือนสื่อกระแสหลัก ทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ต่างพร้อมใจกันตกข่าวเรื่องนี้อย่างเหลือเชื่อ
สื่อมวลชนกระแสหลักที่ทำข่าวเรื่องนี้ มักตีกรอบว่านี่เป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับ "การออกกฎข้อบังคับเพื่อกำกับดูแลอินเตอร์เน็ต" แต่คำว่า "การออกกฎข้อบังคับ" ในที่นี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวไปได้ กลุ่มที่สนับสนุน "ความเป็นกลางของอินเตอร์เน็ต" ไม่ได้สนับสนุนการออกกฎข้อบังคับเพื่อกำกับดูแล "เนื้อหา" ของข้อมูลข่าวสารในอินเตอร์เน็ต แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ การมีข้อบังคับตามกฎหมายให้บริษัทเคเบิลต้องอนุญาตให้ไอเอสพีสามารถเข้าถึงการใช้สายเคเบิลของบริษัทเหล่านี้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (เรียกว่าข้อตกลง "common carriage") นี่เป็นรูปแบบที่ใช้กันในอินเตอร์เน็ตแบบเรียกเลขหมาย (dial-up internet) และเป็นวิธีการที่ผู้ให้บริการด้านเนื้อหาในอินเตอร์เน็ตต้องการรักษาเอาไว้ รวมทั้งต้องการหลักประกันด้วยว่า บริษัทเคเบิลต้องไม่มีอำนาจในการกลั่นกรองหรือขัดขวางเนื้อหาใด ๆ ในอินเตอร์เน็ตหากไม่มีคำสั่งศาล
ฝ่ายที่สนับสนุน "ความเป็นกลางของอินเตอร์เน็ต" กล่าวว่า หากปราศจากการออกกฎข้อบังคับของรัฐบาลในเรื่องนี้แล้ว สายเคเบิลก็จะตกอยู่ใต้อำนาจของบริษัทเคเบิล. ไอเอสพีทั้งหลายจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้บริการเป็นจำนวนมากเพื่อใช้สายเคเบิล ซึ่งจะทำให้ค่าบริการอินเตอร์เน็ตแพงขึ้น ผู้บริโภคที่มีฐานะการเงินดีจะเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตที่ดีกว่า ส่วนผู้บริโภคที่ไม่สามารถจ่ายค่าบริการได้ก็ต้องเสียเปรียบ อีกทั้งบริษัทเคเบิลยังสามารถกลั่นกรองเนื้อหาในอินเตอร์เน็ตได้ตามใจชอบด้วย
ส่วนในฝ่ายของบริษัทเคเบิลก็โต้แย้งว่า พวกเขาเสียเวลาและเงินลงทุนไปจำนวนมากในการวางสายเคเบิล รวมทั้งการขยายความเร็วและปรับปรุงคุณภาพ หากปล่อยให้ไอเอสพีใช้สายเคเบิลได้ฟรี บริษัทก็ต้องใช้เวลามากขึ้นในการคืนทุน ดังนั้น บริษัทเคเบิลจึงควรเก็บค่าธรรมเนียมได้ มิฉะนั้นแล้ว มันจะลดทอนศักยภาพในการแข่งขันและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมเคเบิล ส่วนเรื่องการกลั่นกรองเนื้อหาในอินเตอร์เน็ตตามใจชอบนั้น บริษัทเคเบิลปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง
กระนั้นก็ตาม มีตัวอย่างที่ชี้ไปในทิศทางตรงกันข้าม อาทิเช่น ในปี ค.ศ. 2005 บริษัทโทรศัพท์ในนอร์ธแคโรไลนาขัดขวางไม่ให้ผู้บริโภคใช้บริการวอยซ์โอเวอร์ทางอินเตอร์เน็ต (อย่างเช่น Yahoo Messenger, Skype, ฯลฯ) ซึ่งมีราคาถูกกว่าการใช้โทรศัพท์ ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน บริษัทเคเบิลของแคนาดาบล็อคเว็บไซท์ที่สนับสนุนสหภาพแรงงานของบริษัทเคเบิล ซึ่งกำลังมีข้อพิพาทด้านแรงงานกับบริษัท. ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006 บริษัท Cox Communications ไม่ยอมให้ผู้ใช้บริการเข้าเว็บไซท์ของ Craig's List โดย Cox อ้างว่าเป็นความผิดพลาดของระบบรักษาความปลอดภัย แต่ในภายหลังพิสูจน์ได้ว่า เป็นเพราะเว็บไซท์ Craig's List ให้บริการประกาศรับสมัครงานที่เป็นคู่แข่งกับ Cox ต่างหาก
คำวินิจฉัยของศาลสหรัฐฯ ในการฟ้องร้องระหว่างบริษัทเคเบิลกับไอเอสพี ดูเหมือนจะเป็นไปในทางที่เอื้อต่อบริษัทเคเบิลมากกว่า โดยมีหลายคดีที่ศาลตัดสินว่า บริษัทเคเบิลไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อตกลง "common carriage" ต่อไอเอสพีเหมือนบริษัทโทรศัพท์ ทำให้บริษัทโทรศัพท์อ้างว่า การตัดสินเช่นนี้ทำให้บริษัทเคเบิลได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม และเริ่มเรียกร้องขอเป็นอิสระจากข้อตกลงนี้บ้าง
ส่วนในสภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมาย Communications Opportunity, Promotion and Enhancement (COPE) Act ออกมาแล้ว ฝ่ายที่สนับสนุนกล่าวว่า กฎหมายนี้จะช่วยส่งเสริมนวัตกรรมและการวางสายอินเตอร์เน็ตไฮสปีดให้ขยายตัวมากขึ้น แต่ฝ่ายที่สนับสนุน "ความเป็นกลางของอินเตอร์เน็ต" มองว่า กฎหมายฉบับนี้เปิดช่องให้บริษัทโทรศัพท์และเคเบิลสามารถเลือกเฟ้นเฉพาะลูกค้าในละแวกร่ำรวย และยกเลิกข้อบังคับของส่วนการปกครองท้องถิ่นที่เคยบังคับให้บริษัทเคเบิลทีวีต้องให้บริการแก่ผู้มีรายได้ต่ำและชนกลุ่มน้อยด้วย ปัจจุบัน กฎหมายนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐฯ
แนวโน้มทางนโยบายของคณะกรรมาธิการการสื่อสารของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ
(Federal Communications Commission-FCC) ดูเหมือนเป็นไปในทางเปิดเสรีและลดข้อบังคับให้แก่บริษัทด้านเทเลคอมและสื่อสารมวลชนมากขึ้นเรื่อย
ๆ ซึ่งจะทำให้บรรษัทขนาดใหญ่เข้ามาควบคุมอินเตอร์เน็ตได้ หากเป็นเช่นนั้นจริงในอนาคต
ผู้ให้บริการด้านเนื้อหาที่มีกระเป๋าหนัก (ซึ่งแน่นอน ส่วนใหญ่เป็นบรรษัทธุรกิจ)
ย่อมเป็นฝ่ายครอบงำแบนด์วิธไปเกือบทั้งหมด นั่นจะเป็นจุดล่มสลายของการมีเวทีสาธารณะที่มีความเป็นประชาธิปไตย
ความเสมอภาคและเสรีภาพสูงสุดเท่าที่มนุษยชาติเคยสร้างสรรค์ขึ้นมา
(ขอบคุณคุณพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ ที่ช่วยอ่านและแก้ไขการแปลข่าว
1. นี้)
อันตรายของอาหารดัดแปลงพันธุกรรมได้รับการยืนยัน
การศึกษาวิจัยหลายชิ้นในระยะหลังยืนยันตรงกันว่า อาหารดัดแปลงพันธุกรรมมีอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์
"การวิจัยของสภาวิทยาศาสตร์รัสเซีย ที่เผยแพร่ออกมาในเดือนธันวาคม 2005
พบว่า แม่หนูที่กินถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรม ลูกอ่อนของมันจะตายหลังจากเกิดได้เพียง
3 สัปดาห์ มากกว่าลูกหนูที่เกิดกับแม่ที่กินถั่วเหลืองธรรมชาติถึง 6 เท่า ลูกหนูที่เกิดจากแม่ที่กินถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรม
ยังมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่ามาตรฐานอย่างรุนแรงมากกว่าถึง 6 เท่าเช่นกัน
"ในเดือนพฤศจิกายน 2005 สถาบันวิจัยเอกชนในออสเตรเลียหยุดพักการพัฒนาถั่วดัดแปลงพันธุกรรมไว้ชั่วคราว หลังจากพบว่ามันมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของหนูทดลอง
"ในฤดูร้อน ค.ศ. 2005 คณะวิจัยชาวอิตาเลียน นำโดยนักชีววิทยาด้านเซลล์สิ่งมีชีวิตแห่งมหาวิทยาลัยอูร์บิโน ตีพิมพ์รายงานยืนยันว่า ถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมทำให้เกิดความผิดปรกติของเซลล์ตับ รวมทั้งความผิดปรกติของเซลล์อื่น ๆ ในหนูทดลอง
"เดือนพฤษภาคม 2005 การตรวจสอบผลการวิจัยของมอนซานโต ที่ทดลองกับข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Independent ของอังกฤษ
ผลการทดลองของมอนซานโตชิ้นนี้เป็นความลับและเป็นที่ถกเถียงกันมาก ดร. อาร์ปัด ปุสไต (ดู "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ประจำปี พ.ศ. 2543" อันดับ 7) หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์อิสระจริง ๆ ไม่กี่คนที่เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมพืชและอาหารสัตว์ ได้รับการขอร้องจากรัฐบาลเยอรมันให้ตรวจดูเอกสารการวิจัยของมอนซานโต ที่เลี้ยงหนูทดลองด้วยข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมเป็นระยะเวลา 90 วัน (ก่อนสรุปรวบรัดว่าไม่มีอันตรายและนำสินค้าออกวางตลาด)
การศึกษานี้พบว่ามีความแตกต่าง "อย่างมีนัยสำคัญในเชิงสถิติ" ระหว่างน้ำหนักของไตและตัวแปรบางอย่างในเลือดของหนูที่กินข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมกับหนูที่ไม่ได้กิน นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากในยุโรปแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านสุขภาพและความปลอดภัย หากข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมของมอนซานโตเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหาร
ชาวอเมริกันบริโภคถั่วเหลืองและข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมของมอนซานโตอย่างกว้างขวาง แม้ว่าองค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติจะมีข้อสรุปว่า "ในหลายกรณี อาหารดัดแปลงพันธุกรรมถูกวางขายในตลาดทั้ง ๆ ที่ประเด็นเรื่องความปลอดภัยยังไม่ชัดเจน" ในเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ หรือยุโรปยังไม่ยอมวิจัยเรื่องอาหารดัดแปลงพันธุกรรมอย่างจริงจัง การศึกษาด้านพิษวิทยาของอาหารจีเอ็มโอส่วนใหญ่จึงเป็นการวิจัยของบรรษัทที่ผลิตและส่งเสริมการบริโภคจีเอ็มโอ ความน่าไว้วางใจของงานวิจัยประเภทนี้ยังน่าเคลือบแคลง การวิจัยของนักวิทยาศาสตร์อิสระจึงได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ
กระนั้นก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม 2006 องค์การการค้าโลกหรือ WTO ก็ยังมีมติว่า กลุ่มประเทศยุโรปละเมิดกฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างประเทศด้วยการสั่งห้ามนำเข้าอาหารดัดแปลงพันธุกรรม
หลักฐานใหม่ที่ยืนยันถึงอันตรายของยาฆ่าหญ้า
"ราวด์อัพ"
การศึกษาวิจัยล่าสุดจากสองฟากมหาสมุทรแอตแลนติกแสดงให้เห็นว่า ยาฆ่าหญ้า "ราวด์อัพ"
ซึ่งเป็นยาฆ่าวัชพืชที่ใช้กันมากที่สุดในโลก มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่นำทีมโดยศาสตราจารย์ไจลส์-เอริค เซราลีนี (Gilles-Eric Seralini) จากมหาวิทยาลัยกัง (Caen) ในฝรั่งเศส พบว่า เซลล์ในรกมนุษย์มีปฏิกิริยาต่อยาฆ่าหญ้า "ราวด์อัพ" ในระดับความเข้มข้นที่ต่ำกว่าที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบันด้วยซ้ำ. การศึกษาประชากรที่เป็นเกษตรกรในเมืองออนตาริโอ ประเทศแคนาดา ชี้ให้เห็นว่า การสัมผัสกับสารไกลโฟเซท (glyphosate) ซึ่งเป็นสารประกอบสำคัญในราวด์อัพ ทำให้ความเสี่ยงต่อการแท้งลูกเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า
ศาสตราจารย์เซราลีนีกับคณะ จึงตัดสินใจวิจัยถึงผลกระทบของยาฆ่าวัชพืชที่มีต่อเซลล์ของรกในครรภ์มนุษย์เพิ่มเติม การวิจัยของพวกเขายืนยันความเป็นพิษของไกลโฟเซท หลังการสัมผัสสารนี้ในความเข้มข้นต่ำเป็นเวลา 18 ชั่วโมง เซลล์รกของมนุษย์จำนวนมากจะเริ่มตาย นี่อาจอธิบายได้ว่าทำไมเกษตรกรสตรีที่ใช้สารพวกนี้จึงมักคลอดลูกก่อนกำหนดหรือแท้งลูก. คณะของศาสตราจารย์เซราลีนีศึกษาต่อถึงผลกระทบทางพิษวิทยาของสูตรยาราวด์อัพ ซึ่งนอกจากมีไกลโฟเซทเป็นสารประกอบสำคัญ ยังมีสารเคมีอื่น ๆ ผสมลงไปด้วย ผลการศึกษาพบว่า สารเสริมเหล่านี้ทำให้ความเป็นพิษของยาราวด์อัพมีมากกว่าสารไกลโฟเซทเดี่ยว ๆ เสียอีก
การศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ออกมาในเดือนเมษายน ค.ศ. 2005 จากมหาวิทยาลัยพิทสเบิร์กระบุว่า ราวด์อัพเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่เป้าหมายของยาฆ่าหญ้านี้ด้วย นักชีววิทยาพบว่า ราวด์อัพมีอันตรายถึงตายต่อสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ในงานวิจัยที่ถือว่าเป็นการศึกษาที่ครอบคลุมมากที่สุดเกี่ยวกับผลกระทบของยาฆ่าหญ้าและแมลงที่มีต่อสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ได้ข้อสรุปว่า ราวด์อัพทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำลดลงไปถึง 70% และทำให้จำนวนลูกอ๊อดลดลงไปถึง 86% จนทำให้กบบางชนิดใกล้สูญพันธุ์แล้ว. นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่ชี้ว่า ราวด์อัพกระตุ้นให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็ง และทำให้เกิดอันตรายในตับของหนูทดลอง
มอนซานโต ผู้ผลิตยาฆ่าหญ้าราวด์อัพ มักโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ของตนปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่ผลการวิจัยชี้ไปในทางตรงกันข้าม นอกจากนี้ มอนซานโตยังเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายพืชเศรษฐกิจดัดแปลงพันธุกรรมที่ทนทานต่อยาฆ่าหญ้า และทำให้มีการใช้ยาฆ่าหญ้ามากขึ้น แทนที่จะลดลงอย่างที่บรรษัทเคยอ้างเอาไว้
การทำลายป่าดงดิบเลวร้ายกว่าที่คาด
การพัฒนาด้านเทคโนโลยีถ่ายภาพจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า ป่าดงดิบอเมซอนถูกทำลายมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ถึงสองเท่า
ความเสียหายส่วนใหญ่เกิดมาจากการลักลอบตัดไม้แบบเลือกตัดเป็นบางต้น การใช้ดาวเทียมตรวจสอบการตัดไม้ทำลายป่าที่ผ่านมามักทำได้เฉพาะการทำลายป่าเป็นบริเวณกว้าง
โดยไม่สามารถตรวจจับการลักลอบตัดไม้เฉพาะต้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นใหม่สามารถตรวจจับการตัดไม้ได้ละเอียดมาก
เมื่อนำเทคโนโลยีนี้มาวิเคราะห์ป่าอเมซอนจากช่วงปี ค.ศ. 1999-2002 ช่วงเวลาแค่
4 ปีพบว่า ปัญหาการทำลายป่าเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและสูงกว่าที่เคยประเมินไว้มาก
โดยเฉพาะการตัดไม้เฉพาะต้น ทำให้ป่าถูกทำลายไปถึง 4,600 - 8,000 ตารางไมล์ต่อปี
การตัดไม้เฉพาะต้น (selective logging) เป็นการตัดไม้เศรษฐกิจไปแค่ไม่กี่ต้น โดยไม่แตะต้องต้นไม้ที่เหลือ มักเชื่อกันว่าการตัดไม้วิธีนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยรักษาป่าได้ดีกว่าการทำลายป่าจนเตียนโล่ง จึงยังไม่มีกฎหมายออกมากำกับดูแลอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่การตัดไม้วิธีนี้ทำลายป่าได้ไม่แพ้กัน
ไม้มะฮอกกานีขนาดใหญ่สามารถขายได้หลายร้อยดอลลาร์ เป็นแรงจูงใจที่สูงมากสำหรับประเทศอย่างบราซิลที่ประชากรหนึ่งในห้าดำรงชีวิตอยู่ในความยากจน การตัดไม้เศรษฐกิจเพียงบางต้นสามารถสร้างความเสียหายแก่บริเวณโดยรอบ ทั้งการที่ไม้ล้มทับต้นไม้อื่น ๆ หรือเมื่อตัดไม้ขนาดใหญ่ไปแล้ว ทำให้แสงแดดส่องลงไปถึงป่าชั้นล่างและเผาพื้นป่าจนแห้ง ทำให้เกิดไฟป่าได้ง่าย. นอกจากนี้ การชักลากไม้จากป่ายังทำให้มีการถางป่าเป็นถนน จากการศึกษาพบว่า ถนนเหล่านี้มักจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และกระตุ้นให้มีการทำลายป่ามากขึ้น
ดังนั้น การตัดไม้จึงเป็นด่านหน้าของการรุกที่ป่าเพื่อนำมาใช้ในวัตถุประสงค์อื่น การทำลายป่าดงดิบส่งผลให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในเมื่อการตัดไม้เฉพาะต้นเป็นการทำลายป่ามากกว่าที่คาดไว้ การทำนายภาวะโลกร้อนจึงต้องประเมินใหม่ด้วย
การทำเหมืองทองคำ คุกคามธารน้ำแข็งโบราณในเทือกเขาแอนดีส
บาร์ริค โกลด์ (Barrick Gold) บรรษัทเหมืองทองคำข้ามชาติยักษ์ใหญ่ มีแผนการที่จะละลายธารน้ำแข็งสามแห่งในเทือกเขาแอนดีสเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ
ประชาชนและเอ็นจีโอจำนวนมากทั้งในชิลีและทั่วโลก กำลังต่อต้านการเปิดเหมืองนี้
เพราะมันจะทำลายแหล่งต้นน้ำของเกษตรกร
เมื่อปลายปี ค.ศ. 2005 นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ขนน้ำแข็งมากองไว้นอกสำนักงานใหญ่ของบรรษัทบาร์ริค โกลด์ ในกรุงซานติอาโก ก่อนหน้านี้เมื่อตอนต้นปี ประชาชนหลายพันคนเดินขบวนตะโกนคำขวัญว่า "เราไม่ใช่อาณานิคมของอเมริกาเหนือ" และชูก้อนทองคำปลอมที่มีคำว่า "ทองคำสกปรก" การทำเหมืองทองครั้งนี้จะสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่ระบบนิเวศวิทยาในบริเวณนั้น สร้างมลภาวะต่อแม่น้ำฮวสโก รวมทั้งแหล่งน้ำใต้ดินด้วย
เพราะการทำเหมืองทองคำของบาร์ริค โกลด์ จะมีการใช้ไซยาไนด์. ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิต ประชาชนและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเกรงว่า ไซยาไนด์จะรั่วไหลลงไปในระบบน้ำตามธรรมชาติ และก่อปัญหามลพิษแก่ระบบนิเวศวิทยาปลายน้ำทั้งหมด การก่อสร้างเหมืองจะเริ่มลงมือในปี ค.ศ. 2006 และดำเนินการเต็มที่ใน ค.ศ. 2009
บาร์ริค โกลด์ เป็นบรรษัทสัญชาติแคนาดาและเป็นบรรษัทเหมืองทองคำที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก เคยมีประวัติเลวร้ายมาก่อนในด้านการทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกรณีฝังคนงานเหมือง 50 คนทั้งเป็นในแทนซาเนีย. จอร์จ ดับเบิลยู บุช เคยเป็น "ประธานกิตติมศักดิ์" ในคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศของบาร์ริค โกลด์ช่วงปี ค.ศ. 1995-1999
บรรษัทน้ำมันสหรัฐฯ หาทางทำลายพิธีสารเกียวโตในยุโรป
กลุ่มกรีนพีซได้หลักฐานเอกสารที่เปิดโปงให้รู้ว่า อุตสาหกรรมน้ำมันสหรัฐฯ สนับสนุนทางการเงินแก่นักล้อบบี้ให้หาทางยกเลิกพิธีสารเกียวโตในยุโรป
โดยวางแผนชักจูงกลุ่มธุรกิจ นักการเมืองและสื่อมวลชนในยุโรปให้คล้อยตามว่า สหภาพยุโรปควรยกเลิกข้อผูกมัดที่มีภายใต้พิธีสารเกียวโต
ซึ่งครอบคลุมมาตรการลดก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกและความเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
คลิกกลับไปที่เดิม
หมายเหตุ : ลำดับข่าวที่เป็นทางการตามต้นฉบับ
ก่อนการจัดหมวดหมู่ใหม่บนเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืน
1 อนาคตของเสรีภาพในอินเตอร์เน็ตไม่อยู่ในความสนใจของสื่อกระแสหลัก
2 บรรษัทฮัลลิเบอร์ตันมีส่วนพัวพันกับการขายเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้อิหร่าน
3 มหาสมุทรโลกตกอยู่ในอันตรายขั้นวิกฤต
4 คนหิวโหยและไร้บ้านเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา
5 คองโกกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อรับใช้ความไฮเทคของชาวโลก
6 การคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ที่ร้องเรียนการทุจริตในหน่วยงานของตน ชักไม่ได้รับการคุ้มครองที่ดีเสียแล้ว
7 กองทัพสหรัฐฯ ทรมานนักโทษจนเสียชีวิตในอัฟกานิสถานและอิรัก
8 เพนตากอนได้รับการยกเว้นจากกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร
9 ธนาคารโลกสนับสนุนทางการเงินแก่การสร้างกำแพงกั้นอิสราเอล-ปาเลสไตน์
10 การขยายสงครามทางอากาศในอิรักสังหารชีวิตพลเรือนมากขึ้น
11 อันตรายของอาหารดัดแปลงพันธุกรรมได้รับการยืนยัน
12 เพนตากอนวางแผนกลับมาผลิตทุ่นระเบิดอีกครั้ง
13 หลักฐานใหม่ที่ยืนยันถึงอันตรายของยาฆ่าหญ้า "ราวด์อัพ"
14 กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิทำสัญญากับบริษัท KBR เพื่อสร้างศูนย์กักกันในสหรัฐฯ
15 สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอุตสาหกรรมเคมี
16 เอกวาดอร์และเม็กซิโกท้าทายสหรัฐฯ ในประเด็นศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ
17 การยึดครองอิรักเป็นการส่งเสริมโอเปก
18 นักฟิสิกส์ตั้งข้อสงสัยต่อการถล่มของตึกเวิลด์เทรดในวินาศกรรม 9/11
19 การทำลายป่าดงดิบเลวร้ายกว่าที่คาด
20 น้ำขวด: ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก
21 การทำเหมืองทองคำคุกคามธารน้ำแข็งโบราณในเทือกเขาแอนดีส
22 กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิใช้จ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์โดยไม่มีการเปิดเผย
23 บรรษัทน้ำมันสหรัฐฯ หาทางทำลายพิธีสารเกียวโตในยุโรป
24 หุ้นบรรษัทฮัลลิเบอร์ตันของรองประธานาธิบดีเชนีย์มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า 3000% เมื่อปีที่แล้ว
25 กองทัพสหรัฐฯ ในปารากวัยคุกคามความมั่นคงของภูมิภาคละตินอเมริกา
คลิกไปที่
กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
"ไม่เคยมีปรากฏการณ์ที่ตึกซึ่งมีโครงสร้างเป็นเหล็กถล่มลงมาเพราะไฟไหม้ ไม่ว่าก่อนหรือหลังเหตุการณ์ 9/11 แต่การวางระเบิดสามารถตัดโครงสร้างเหล็กให้ทลายลงมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ สตีเวน อี โจนส์ กล่าว "ตึก WTC7 ที่ไม่ได้ถูกเครื่องบินพุ่งชน ถล่มลงมาใน 6.6 วินาที ใช้เวลานานกว่าวัตถุชิ้นหนึ่งตกจากหลังคากระทบพื้นเพียงแค่ .6 วินาที "ทำไมจึงไม่มีการทรงมวลของโมเมนตัม ซึ่งเป็นกฎพื้นฐานของฟิสิกส์" ศาสตราจารย์โจนส์ตั้งคำถาม "ผมหมายถึง ขณะที่พื้นชั้นบนหล่นลงมากระทบกับพื้นชั้นล่าง-และส่วนโครงสร้างที่เป็นเหล็กซึ่งยังดีอยู่-การถล่มต้องชะลอช้าลงบ้างจากมวลที่รองรับแรงกระแทกอยู่ด้านล่าง"