บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๗๘ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙
23-11-2549



Law and Politics
The Midnight University

การเมือง นักการเมือง และรัฐธรรมนูญ
มังกุออกลูกเป็นมังกรหรือ ประเทศไทยไม่เปลี่ยนแปลง
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน
ประกอบด้วยบทความ ๓ เรื่องของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ดังนี้
๑. มังกุออกลูกเป็นมังกรหรือ
๒. ประเทศไทยที่ไม่เปลี่ยนแปลง
๓. ชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์ที่ชำรุด
midnightuniv(at)gmail.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1078
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12.5 หน้ากระดาษ A4)

 

มังกุออกลูกเป็นมังกรหรือ ประเทศไทยไม่เปลี่ยนแปลง
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

1. มังกุออกลูกเป็นมังกรหรือ
ผมเป็นคนหนึ่งที่ประกาศว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาคุณทักษิณด้วยการรัฐประหาร แต่เนื่องจากคณะรัฐประหารไม่ได้มาถามผมก่อนจะลงมือยึดอำนาจ ผมจึงแถลงว่าเราแก้ไขอดีตไม่ได้เสียแล้ว หากภาระหน้าที่ของเราคือการทำให้สังคมที่มีหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพกลับคืนมาโดยเร็ว และอย่างดีกว่าเก่าด้วย

คนที่มีจุดยืนทำนองเดียวกับผมมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ได้แต่ยึดประชาธิปไตยอย่างมืดบอด คือยึดแต่รูปแบบตายตัวโดยไม่ดูว่า รูปแบบนั้นๆ นำไปสู่การกดขี่บีฑาของนักเลือกตั้ง บางคนก็ผสมการประณามไปด้วยว่าเราเป็นพวกที่ตามก้นฝรั่งอย่างไม่ลืมหูลืมตา หรือไม่มีปัญญาพลิกแพลงหลักการให้เข้ากับสถานการณ์

เหตุผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งจุดยืนของเราโดนโจมตีก็คือ ถ้าไม่เกิดรัฐประหาร จะปล่อยให้คนที่เข้าร่วมประท้วงคุณทักษิณถูกสังหารหมู่หรือ เพราะฝ่ายคุณทักษิณได้เตรียมกองกำลังและประกาศภาวะฉุกเฉินไว้เล่นงานคนกลุ่มนี้แล้ว นี่กลับเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมงันไปมากกว่าเหตุผลแรก เพราะผมเห็นพ้องกับอาจารย์เกษียร เตชะพีระ มานานแล้วว่า ไม่มีหลักการนามธรรมทางการเมืองอะไรในโลกนี้มีคุณค่าพอที่เราจะสละชีวิตของใครเพื่อมันสักหลักการเดียว แน่นอนย่อมรวมหลักการประชาธิปไตยด้วย

แต่เนื่องจากผมพอมีความรู้ทางประวัติศาสตร์อยู่บ้างเล็กน้อย จึงทำให้ผมไม่ด่วนเชื่อว่าการรัฐประหารครั้งนี้กระทำกันขึ้นเพื่อป้องกันการสูญเสียเลือดเนื้อโดยไม่จำเป็น อย่างน้อยคณะรัฐประหารก็ไม่ได้อ้างดังนี้ เป็นเรื่องที่เกิดจากการปะติดปะต่อเอาเองภายหลัง จากหลักฐานและการกระทำที่อาจตีความเป็นเช่นนั้นได้ ประวัติศาสตร์สอนว่าการตีความเพื่อให้ได้ "ท้องเรื่อง" ต้องอาศัยหลักฐานมากกว่านี้อีกมาก ฉะนั้นผมจึงไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้จริงหรือไม่ และเชื่อด้วยว่าหากไม่รีบตายเสียก่อน ผมก็คงรู้ความจริงได้ไม่ยากนักในไม่กี่ปีข้างหน้า

ผมนำคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้มาทบทวนจุดยืนของตน และพบ (อาจด้วยความไม่ฉลาด) ว่า ไม่มีน้ำหนักพอจะทำให้ผมเปลี่ยนจุดยืนของตัวได้ จนกระทั่งผมได้อ่านบทความของนักมานุษยวิทยาหญิงท่านหนึ่งในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเธอตั้งคำถามเป็นหัวเรื่องของบทความว่า "บทเรียนประชาธิปไตยของใคร?" จึงทำให้ผมคิดหนักในการทบทวนจุดยืนของตนเอง และผมอยากเล่าถึงกระบวนการที่ผมคิดทบทวนและผลของการทบทวนในที่นี้

กล่าวโดยสรุปตามความเข้าใจของผม นักวิชาการหญิงท่านนั้นเสนอว่า

1. ประชาธิปไตยมีความหลากหลายและเป็นสัมพัทธะ กล่าวคือขึ้นอยู่กับยุคสมัยและสังคม แม้แต่ในสังคมฝรั่งเองก็แปรผันไปตามกาลเวลา ฉะนั้นประชาธิปไตยจึงไม่ใช่เทคนิคตายตัวว่าต้องประกอบด้วยโน่นด้วยนี่

2. สังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญแก่มิติทางศาสนาและลำดับชั้นของคน สองมิตินี้ขัดกับสังคมเสมอภาคในหลักการประชาธิปไตยแบบตะวันตก บางส่วนของมันย่อมไม่ดีแน่ เช่นการกดขี่ทางเพศเพราะถือว่าหญิงอยู่ในลำดับขั้นทางสังคมที่ต่ำกว่าชาย แต่บางส่วนของมันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สังคมดำเนินไปโดยสงบได้ โดยเฉพาะเมื่อคนที่อยู่ในลำดับขั้นที่สูงถูกกำกับด้วยหลักศาสนา

ในกรณีของไทยพระเจ้าอยู่หัวซึ่งไม่ทรงมีพระราชอำนาจทางการเมืองในกฎหมาย แต่ที่จริงแล้วทรงอยู่ในสถานะสูงสุดของลำดับขั้นทางสังคม จึงทรงเป็นผู้นำในทางปฏิบัติ และพระราชจริยาวัตรของพระองค์คือเชื่อมต่ออุดมคติของไทย และความเป็นจริงที่คนไทยต้องเผชิญเข้าหากันได้อย่างเป็นคุณประโยชน์ต่อประชาชน นัยยะก็คือ เมื่อระบบนี้เข้ามาแทนที่ระบบเลือกตั้งที่ไม่เป็นคุณต่อประชาชน ย่อมดีแก่เนื้อหาสาระของประชาธิปไตยกว่าไม่ใช่หรือ

3. (ข้อนี้ผมจับไม่ได้ชัดนักในบทความของเธอ ฉะนั้นอาจจะพลาดจากความหมายที่เธอตั้งใจได้) ประชาธิปไตยคือการสร้างอำนาจประชาชน (empowerment) และการสร้างอำนาจประชาชนอาจไม่ได้เกิดจากกระบวนการประชาธิปไตยแบบตะวันตกก็ได้ เช่นโครงการพระราชดำริก็เป็นการสร้างอำนาจประชาชนทางเศรษฐกิจ เช่นโครงการฝนหลวง อีกทั้งไม่ปล่อยให้มิติทางเศรษฐกิจครอบงำมิติด้านความเป็นมนุษย์และวัฒนธรรมอีกด้วย
ฉะนั้นเธอจึงสรุปว่า แนวคิดประชาธิปไตยนั้นมีความหลากหลาย การรัฐประหารที่สุภาพอ่อนโยนของไทยน่าจะเตือนให้รำลึกถึงความหลากหลายของประชาธิปไตย แล้วแต่บริบทของสังคมและสถานการณ์

น่าประหลาดที่ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของเธอทุกข้อ หากทว่ามีข้อแม้ หรือมี"แต่" ที่ทำให้ความเห็นพ้องของผมไร้ความสำคัญไปหมด

ผมเห็นด้วยว่าประชาธิปไตยมีความหลากหลายและเป็นสัมพัทธะแน่ แต่เราไม่อาจดันข้อสรุปนี้ไปถึงขั้นว่า มีขั้นบันไดของประชาธิปไตยที่แต่ละสังคมย่างก้าวไปในจังหวะที่ไม่เหมือนกัน สังคมตะวันตกใช้เวลานานมากกว่าจะยอมรับว่าพลเมืองหญิงมีสิทธิทางการเมืองเท่าเทียมกับชาย ในขณะที่ไทยอนุญาตให้ผู้หญิงได้สิทธิทางการเมืองเท่าเทียมกับชาย นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งที่จริงก็ไม่นานมานี้เอง

ฉะนั้นความแน่นอนสม่ำเสมอของการสืบทอดอำนาจบริหารโดยผ่านการเลือกตั้ง (หรืออื่นๆ ที่จะทำให้เห็นความยินยอมพร้อมใจของพลเมือง) จึงน่าจะเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานที่ระบอบปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตยควรต้องมีทุกระบอบ ไม่ว่าบริบททางสังคม-วัฒนธรรมจะเป็นอย่างไรก็ตาม ผมมองอย่างไรก็มองไม่เห็นว่าการรัฐประหารจะเข้ามาแทนที่การเลือกตั้งได้อย่างไร แม้ไม่ศรัทธากับการเลือกตั้งนัก แต่สิ่งที่จะเข้ามาแทนที่การเลือกตั้งได้ คงต้องสะท้อนอำนาจของประชาชนที่จะตรวจสอบและกำกับฝ่ายบริหารมากกว่าการรัฐประหารแน่

ก็จริงที่ศาสนาและลำดับชั้นของคนไม่มีบทบาทในประชาธิปไตยตามแบบตะวันตกเลย และนำไปสู่ความน่าเกลียดน่ากลัวหลายอย่าง แต่ข้อเสนอว่าคนที่อยู่ในลำดับชั้นทางสังคมที่สูงในสังคมไทยย่อมถูกศาสนากำกับนั้น เป็นข้อเสนอที่น่าสงสัย ไม่เฉพาะแต่ในสังคมไทยปัจจุบันเท่านั้น หากรวมถึงในอดีตด้วย อย่างน้อยการรัฐประหารขับไล่รัฐบาลเก่า ซึ่งประกอบด้วยคนที่ถูกจัดอยู่ในลำดับชั้นทางสังคมที่สูงเกือบทั้งนั้น ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง เพราะคนเหล่านั้นถูกกล่าวหาว่าโกงหรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวยิ่งกว่าส่วนรวม อันล้วนขัดกับหลักศาสนาโดยสิ้นเชิง

แต่นักวิชาการหญิงท่านนั้นพูดให้ (ผม) เข้าใจว่า คนที่อยู่ในลำดับชั้นสูงสุดคือพระมหากษัตริย์ ย่อมถูกกำกับด้วยศาสนาให้ทรงใช้อำนาจไปในทางที่เป็นคุณประโยชน์ต่อประชาชน ข้อนี้จะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่มีปัญหาตามมาว่า บุคคลในลำดับชั้นสูงสุดสามารถควบคุมพฤติกรรมของผู้บริหารให้เป็นไปในทางชอบธรรมได้หรือไม่ คณะรัฐประหารอ้างเหตุหนึ่งในการยึดอำนาจว่า เพราะรัฐบาลเก่าแสดงท่าทีซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ดูจะเป็นคำตอบต่อปัญหาข้างต้นได้อยู่แล้ว

ฉะนั้น ผมจึงสงสัยว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ฝังรากลึกอยู่กับการจัดลำดับชั้นทางสังคมนี้ จะช่วยสร้างอำนาจประชาชน (empowerment) ได้อย่างไร แม้สมมติให้สถาบันพระมหากษัตริย์คือตัวแทนที่แท้จริงของประชาชน ยกเว้นแต่จะถวายพระราชอำนาจคืนแก่มหาธรรมราชา เพื่อทำหน้าที่กำกับอัครมหาเสนาบดีแทนประชาชน แต่ผู้เขียนบทความก็ยอมรับว่า การเลือกหรือสืบทอดผู้นำที่เก่งและดีนั้นเป็นปัญหาของระบอบปกครองทุกระบอบ

ก็จริงอีกแหละที่ประชาธิปไตยอาจย่นย่อมาให้เหลือเพียงหัวใจสำคัญคือการสร้างอำนาจของประชาชน และคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าโครงการพระราชดำริต่างๆ นั้น ก็เป็นการสร้างอำนาจของประชาชนอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจนำไปสู่อำนาจทางสังคมและการเมืองได้

แท้จริงแล้วอำนาจทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง และวัฒนธรรมนั้นแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะต่างเชื่อมโยงหนุนหรือขวางกั้นกันและกันอยู่ตลอดเวลา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าอำนาจหนึ่งที่เพิ่มขึ้นจะทำให้อำนาจด้านอื่นเพิ่มตามไปด้วยเสมอไป ฐานะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในบางเงื่อนไขอาจทำให้มิติทางการเมืองไร้ความสำคัญไปเสียก็ได้ (depoliticization) หรือทำให้ผู้คนมองไม่เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของตนเองกับส่วนอื่นๆ ของสังคม (desocialization) จึงกลับกลายเป็นอ่อนแอลง

หลังการรัฐประหาร เรากำลังโจมตีนโยบาย "ประชานิยม" ของคุณทักษิณว่า ไม่ได้เพิ่มอำนาจทางการเมือง, สังคม, และวัฒนธรรมให้แก่ประชาชนซึ่งบังเอิญได้ประโยชน์เลย แท้จริงแล้วนโยบายเหล่านี้กลับผูกมัดให้ประชาชนกลายเป็นผู้พึ่งพาภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ที่มีคุณทักษิณเป็นศูนย์กลางอย่างดิ้นไม่หลุด

ผมคิดว่าเราคงปฏิเสธพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา ต่อพสกนิกรในโครงการพระราชดำริต่างๆ ไม่ได้ แต่นั่นไม่อาจนำไปสู่ข้อสรุปถึงผลของโครงการเหล่านี้ว่าเป็น empowerment ได้โดยอัตโนมัติ จริงอยู่โครงการประชานิยมของคุณทักษิณมีจุดมุ่งหมายเพื่อแลกกับคะแนนเสียง ในขณะที่โครงการพระราชดำริไม่ได้ต้องการสิ่งตอบแทนเช่นนั้น จึงทำให้เรากล่าวได้ว่าเป็นพระเมตตา แต่ผลของโครงการสองประเภทนี้แตกต่างกันอย่างไรในด้าน empowerment เป็นเรื่องที่ต้องศึกษามากกว่าสรุปง่ายๆ ว่าแตกต่างกัน

ในขณะที่เขียนบทความนี้ รัฐบาลตัดสินใจป้องกันอุทกภัยในกรุงเทพฯ ด้วยการระบายน้ำเหนือลงทุ่งแถบอยุธยาเพราะกรุงเทพฯเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ความเสียหายจากน้ำท่วมจะมีมโหฬารกว่ากันมาก ชาวนาอยุธยานั้นมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าชาวนาในภาคเหนือ-อีสาน-ใต้เป็นหลายเท่าตัว แต่อำนาจทางการเมืองของเขาไม่ได้มีมากไปกว่าชาวนาในภาคอื่นเลย เพราะเจ้าของธุรกิจในกรุงเทพฯที่เขาสละข้าวในนาเพื่อรักษาให้แห้งนั้น ไม่เคยต้องควักกระเป๋าชดเชยความเสียหายให้แก่เขาเลย ข้อเสนอนานมาแล้วให้เก็บภาษีน้ำท่วมจากชาวกรุงเทพฯ ถูกหนังสือพิมพ์และคนชั้นกลาง ซึ่งอุปถัมภ์หนังสือพิมพ์ถล่มจนตกไปอย่างไม่เป็นท่า

ประชาธิปไตยหรือไม่ ทุกสังคมต้องรู้รักสามัคคีทั้งนั้น แต่ความรู้รักสามัคคีไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยเสื้อยืดหรือสปอตทีวี แต่เกิดขึ้นได้จากความเป็นธรรม และความเป็นธรรมเกิดขึ้นได้ในสังคมที่สร้างอำนาจที่ใกล้เคียงกันแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งไม่มีการรัฐประหารอะไรนำมาให้ได้

(ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ เซคชั่นกระแสทัศน์ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10446)

2. ประเทศไทยที่ไม่เปลี่ยนแปลง
มีชัย ฤชุพันธุ์ เจ้าเก่าตอบคำถามในการปาฐกถาของเขาแก่สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่า

"รัฐธรรมนูญปี 2540 ดี แต่ตอบไม่ได้ว่าดีสำหรับใคร เหมือนเอารถโรลสรอยซ์มีราคาแพงไปให้ชาวนาไถนา ดังนั้น ตราบใดคนยังไม่ตระหนักว่าสิ่งที่จะเอามาใช้จะเอามาใช้กับใคร ของบางอย่างถ้าไม่คำนึงถึงคนใช้ก็เกิดปัญหาได้ ดังนั้น ต้องดูพื้นฐานของสังคมไทยด้วย บางครั้งคนไทยต้องมีกฎกติกาแบบไทยๆ ค่อยๆ เดินกันไป แต่ละประเทศมีประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศนั้นๆ คนไทยต้องมีกฎกติกาของคนไทยเองเหมือนกับประเทศจีน ประชาธิปไตยๆ ไม่ได้มีรูปแบบเดียว แต่ละประเทศมีประชาธิปไตยไม่เหมือนกัน เรื่องแบบนี้ไม่ต้องเหมือนกันก็ได้"

ความคิดว่าสังคมไทยไม่เหมือนใครในโลกนี้มีมานานมาก อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามเป็นต้นมา อีกทั้งได้รับการเสริมแต่งด้วยการให้เหตุผลเพิ่มมากขึ้นตลอดมา นั้บตั้งแต่ไทยไม่เป็นเมืองขึ้นใคร, ไทยกลืนคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในสังคมไทยได้หมด, ไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงการุณยภาพและเห็นการณ์ไกลสืบเนื่องตลอดมา และคนไทยกินเผ็ด ฉะนั้น สาปแช่งใคร คนนั้นก็มีอันเป็นไปตามคำสาปแช่ง ฯลฯ

ว่ามาเถิดครับ อะไรที่ดีๆ นั้นล้วนเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทยทั้งนั้น ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน

อันที่จริง ที่ผมพูดนี้อาจไม่ถูกต้องทีเดียวนัก เพราะถ้าสังเกตให้ดีก็จะพบว่า อะไรที่เขาบอกว่า "ดีๆ" นั้นล้วนเป็นเครื่องจรรโลงโครงสร้างอำนาจของคนมีอำนาจทั้งนั้น ไม่ว่าในทางวัฒนธรรม, การเมือง หรือเศรษฐกิจ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือทฤษฎีเมืองไทยไม่เหมือนใครนี้ เป็นทฤษฎีสำหรับผดุงโครงสร้างอำนาจไว้ให้หยุดนิ่งกับที่ ไม่เปลี่ยนแปลงนั่นเอง

ฉะนั้น อะไรที่ "ดีๆ" แต่ไม่ช่วยผดุงโครงสร้างอำนาจจึงมีปัญหา เช่น ประชาธิปไตย, สิทธิเสรีภาพของพลเมือง, ความเสมอภาค, สวัสดิการทางสังคมที่เท่าเทียมกัน ฯลฯ ทฤษฎีเมืองไทยไม่เหมือนใครมีวิธีจัดการกับสิ่ง "ดีๆ" ที่ไม่ลงตัวเหล่านี้หลายอย่าง หากอะไรที่ฝรั่งว่า "ดี" ชนิดที่เราไม่กล้าเถียงมัน ก็ต้องบอกว่าโฮ้ย มันมีมาในระบบปกครองไทยตั้งแต่บรมสมกัลป์แล้ว อย่างเช่นจารึกสุโขทัยหลักหนึ่งก็กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย และคำประกาศสิทธิมนุษยชนฉบับแรกของไทยคือกฎหมายตราสามดวง ครับอ่านไม่ผิดหรอกครับ กฎหมายตราสามดวง

อีกวิธีหนึ่งก็คือสิ่งที่ฝรั่งว่า "ดี" นั้นที่จริงแล้วมีรูปแบบที่หลากหลาย ฉะนั้น เราสามารถหารูปแบบที่ "เหมาะสม" กับสังคมไทยได้ใหม่ ทำอย่างไรก็ได้ ขอให้รักษาชื่อเดิมไว้เป็นพอ แต่ที่น่าประหลาดก็คือ ไม่ต้องถามหาหลักการของความ "ดี" ที่เรายอมรับฝรั่งนั้นคืออะไร รูปแบบที่จัดขึ้นใหม่นี้ตอบสนองต่อหลักการนั้นหรือไม่อย่างไร หรือยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ตัวหลักการของสิ่งที่ "ดี" ของฝรั่งนั่นแหละคือสิ่งที่เป็นอันตราย เช่น เสรีภาพย่อมหมายถึงเสื้อสายเดี่ยวและเกาะอกเสมอ เพื่อปกป้องสังคมไทยให้รอดพ้นจากหัวนมผู้หญิง เราจึงไม่ควรมีเสรีภาพ

นี่คือที่มาของ "ประชาธิปไตยแบบไทย" ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และกลายเป็นคำสำหรับหยุดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทย ซึ่งกลุ่มคนชั้นบนในโครงสร้างอำนาจใช้อยู่เสมอสืบมาจนทุกวันนี้เราจะได้ยินเสียงเรียกร้อง "ประชาธิปไตยแบบไทย" เช่นนี้จากปัญญาชนของกลุ่มข้างบนเสมอมา และหนึ่งในเสียงนั้นก็เป็นเสียงของคุณมีชัยนี่แหละ (ไม่นับเสียงของ คุณเสนาะ เทียนทอง)

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินจะจะ จากทฤษฎี "ประชาธิปไตยแบบไทย" ว่า จีนก็เป็น "ประชาธิปไตย" เหมือนกัน เป็นประชาธิปไตยแบบจีนๆ อีกไม่นานก็คงจะได้ยินประชาธิปไตยแบบพม่าๆ ถ้าอย่างนั้นประชาธิปไตยก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชื่อระบอบปกครอง เหมือนตุ๊ดชื่อสมชายก็ได้

ผมอยากตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ทฤษฎีเมืองไทยไม่เหมือนใครนี้ ครอบงำแม้วงวิชาการไทยคดีศึกษาในช่วงหนึ่งอย่างหนาแน่น นักวิชาการด้านนี้ทั้งไทยและเทศ จะใช้ประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมาหรือโดยนัยยะเป็นฐานการศึกษาของตัว และด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่าความสะเทือนเลื่อนลั่นของ "โฉมหน้าศักดินาไทย" ของ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่คุณจิตรเอาทฤษฎีสากลเป็นฐานการศึกษาสังคมไทย ซึ่งแปลว่าพัฒนาการของสังคมไทยไม่ได้มีลักษณะเฉพาะ แต่อาจเข้าใจได้โดยอาศัยทฤษฎีที่เป็นสากลเหมือนสังคมอื่นๆ

"โฉมหน้าศักดินาไทย" จึงไปสั่นรากฐานของโครงสร้างอำนาจอย่างจังๆ ชีวิตของหนังสือเล่มนี้จึงสลับสับเปลี่ยนระหว่างภาวะต้องห้ามกับความแพร่หลายสืบมา จนมันสิ้นอายุขัยของมันไปตามกาล

ควบคู่กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปกับเมืองไทยไม่เหมือนใครก็คือสังคมไทยย่อมอยู่พ้นออกไปจากความเปลี่ยนแปลง อะไรในโลกนี้จะเป็นอนิจจังก็ไม่เป็นไร ยกเว้นก็แต่เมืองไทยนี่แหละที่เป็นนิจจัง. แต่ในความจริงแล้ว สังคมไทยเปลี่ยนไปมากอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ เฉพาะการศึกษาและสื่อเพียงอย่างเดียว ก็ทำให้สำนึกทางการเมืองของคนไทยเปลี่ยนไปอย่างมโหฬาร ไม่อย่างนั้นจะมานั่งผวากับอำนาจของคุณทักษิณ ซึ่งตอบสนองจินตนาการใหม่ของคนในชนบทอยู่เวลานี้ไปทำไม

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงผู้คนเลิกไถนาเองไปตั้งนานแล้ว เพราะการทำนาเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาจ้างคนอื่นไถด้วยรถไถ จะใช้โรลสรอยซ์หรือใช้คูโบต้า ชาวนาไม่สนหรอกครับ ขอให้เป็นราคาตลาดแล้วกัน รายได้ของคนส่วนใหญ่มาจากงานรับจ้าง กล่าวคือ เขาเข้ามาอยู่ในตลาดเต็มตัว และกติกาอะไรล่ะครับที่จะเหมาะแก่ตลาดยิ่งไปกว่าประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้เขาได้ต่อรองตามควร

ประชาธิปไตยแบบเทวดา (หรือแบบไทย) ที่เปิดเวทีต่อรองให้เฉพาะเทวดาชั้นดาวดึงส์เท่านั้น เป็นไปไม่ได้อีกแล้วในสังคมไทย ผมคิดว่าแม้แต่พระอินทร์ก็ไม่สามารถช่วยประคับประคองให้เป็นไปอย่างนี้ชั่วกัลปาวสาน (อันที่จริง คุณทักษิณเกือบจะเป็นตัวแทนของฝ่ายทุนที่แตกตัวหลากหลายขึ้นได้ดีที่สุด ถ้าคุณทักษิณเล่นหวยบนดิน และไม่เล่นสลากกินรวบ)

ฉะนั้น จึงตรงกันข้ามกับความเห็นของคุณมีชัยเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ผมตอบไม่ได้หรอกว่าดีสำหรับใคร (เพราะเป็นคำถามที่เหลวไหล) แต่ผมอยากชี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ซึ่งเป็นฉบับเดียวในรอบกว่าสามทศวรรษที่คุณมีชัยไม่มีส่วนร่วมเลย) พยายามจะตอบคำถามว่าจะจัดโครงสร้างการเมืองอย่างไรเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย. ในขณะที่รัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้นซึ่งคุณมีชัยมีส่วนร่วมในการร่าง พยายามตอบคำถามว่าจะรักษาโครงสร้างอำนาจเดิมท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

การเมืองไทยหลุดออกมาจากเผด็จการทหารแบบสฤษดิ์หรือถนอม-ประภาสได้ แต่ต้องมาเผชิญกับการเมืองแบบมุ้ง (factional politics) ถ้ามีอำนาจข้างนอกหนุนหลังนายกรัฐมนตรีอยู่ เช่น กองทัพหนุน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ก็พอจะบริหารบ้านเมืองไปได้บ้าง แต่หากไม่มี นายกฯ ก็เละเป็นวุ้น การบริหารกลายเป็นการแบ่งเค้กกันระหว่างมุ้งต่างๆ และเป็นอย่างนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2529

รัฐธรรมนูญปี 2540 อยากตอบคำถามว่าจะทำให้เกิดฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง แต่ตรวจสอบได้จากหลายฝ่ายอย่างไร จึงปั้นให้นายกฯ ปลอดพ้นจากการเมืองแบบมุ้งให้มากที่สุด นับตั้งแต่ รมต. ต้องพ้นจากสมาชิกภาพของ ส.ส., ไปจนถึงบังคับให้ผู้สมัครต้องสังกัดพรรค เพื่อให้นายกฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคควบคุม ส.ส. ได้อีกชั้นหนึ่ง, จำนวนของ ส.ส. ที่จะลงชื่อเสนออภิปรายนายกฯ, บังคับให้ต้องเสนอชื่อนายกฯ คนใหม่ไปพร้อมกัน และอีกจิปาถะ ในทางตรงกันข้าม ก็ตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบฝ่ายบริหารหลายอย่าง

อีกมิติหนึ่งของการตรวจสอบซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่มีใครพูดถึงเสียแล้ว นั่นก็คือเปิดให้เกิดกระบวนการตรวจสอบของภาคประชาชนขึ้นได้ตามกฎหมาย บางเรื่องอาจต้องผ่านองค์กรอิสระ บางเรื่องก็อาจไม่ต้องผ่าน เช่น การเสนอกฎหมายเอง, สิทธิของชุมชนในการดูแล-ร่วมจัดการ-ได้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น, การกระจายอำนาจบริหารและงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น, การให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพพลเมืองอย่างแข็งขัน ฯลฯ

และในส่วนนี้ แม้ท่ามกลางการบิดเบือนเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญของรัฐบาลคุณทักษิณ ประชาชนก็ได้ใช้ประโยชน์เพื่อปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น และสร้างเวทีสาธารณะของตนเอง เช่น วิทยุชุมชน ขึ้นมากต่อมากกรณี ฉะนั้น หากจะถามว่าใครได้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 บ้าง ผมก็ขอยืนยันว่าประชาชนได้ใช้ เพียงแต่ยังใช้ได้ไม่กว้างขวางเพียงพอเท่านั้น

และอาจกล่าวได้ว่า ในการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ซึ่งเป็นกีฬาประจำชาติไทยนั้น นี่เป็นครั้งแรกที่ไม่ได้ฉีกแต่กระดาษ (ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมนั้นฉีกไม่ขาดอยู่แล้ว) ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยทำให้รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว. การฉีกรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงเท่ากับฉีกชีวิตของผู้คนไปจำนวนมากด้วย

ผมทราบอย่างที่คนอื่นๆ ทราบว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 มีข้อบกพร่อง ไม่อย่างนั้นจะถูกทำลายเจตนารมณ์ลงด้วยกลการเมืองที่หยาบคายของนักธุรกิจการเมืองอย่างคุณทักษิณได้อย่างไร แต่น่าสังเกตนะครับว่า แรงกดดันให้ปฏิรูปการเมืองรอบสองด้วยการแก้รัฐธรรมนูญนั้นก็มาจากภาคสังคม และมีพลังพอที่จะทำให้คุณทักษิณเองก็ยอมรับด้วย แสดงว่า แม้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจะถูกฉ้อฉลไปอย่างไร หรือตัวรัฐธรรมนูญมีช่องโหว่อย่างไรก็ตาม พลังของมันยังพอมีอยู่ในหมู่ประชาชน ไม่ได้บิดเบี้ยวคดงอไปหมดเหมือนปัญญาชนที่วิ่งรับใช้คณะรัฐประหารกันอยู่เวลานี้

ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เริ่มต้นด้วยหลักการว่า เมืองไทยไม่เหมือนใคร และเมืองไทยไม่เปลี่ยนแปลง เช่นนี้ ก็พอจะคาดเดาได้ไม่ยากว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

3. ชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์ที่ชำรุด
ก่อนหน้าการรัฐประหาร กระแสการปฏิรูปการเมืองแพร่หลายและมีพลังอยู่แล้ว จนแม้แต่หัวหน้าพรรคไทยรักไทย(ทรท.)ในขณะนั้นก็ไม่ปฏิเสธ (และทำให้คณะรัฐประหารเอามาใช้เป็นชื่อของตัว)

ในช่วงนั้น ท่านประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมฯ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าควรแก้รัฐธรรมนูญให้ผู้สมัครอิสระสามารถสมัครลงเลือกตั้ง ส.ส.ได้ ท่านให้เหตุผลว่า เพื่อเปิดโอกาสให้คนดีได้ลงสมัครรับใช้บ้านเมือง นัยยะที่ไม่ต้องกล่าวก็คือพรรคการเมืองไม่สามารถเลือกสรรคนดีมารับใช้บ้านเมืองได้. ผมเห็นด้วยกับท่านเต็มที่ แต่ด้วยเหตุผลคนละอย่างกัน

ผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 มีความคิดประหลาดว่า เราสามารถได้พรรคการเมืองที่เข้มแข็ง (ซึ่งไม่ได้แปลว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาล แต่สามารถควบคุม ส.ส.ในสังกัดได้) จากการตรากฎหมาย ฉะนั้นจึงกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรค, รัฐให้เงินอุดหนุนพรรคการเมือง เพื่อช่วยไม่ให้พรรคตกไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองของพ่อค้านายทุน, เป็นรัฐมนตรีแล้วต้องออกจาก ส.ส.,รวมทั้งที่เรียกกันว่า"ล็อค 90 วัน". กฎหมายลูกทั้งหลายก็ออกมาภายใต้แนวคิดที่จะให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง เพื่อควบคุม ส.ส.ไม่ให้เล่นสัปดนทางการเมือง

ความคิดประหลาดนี้ ว่าที่จริงก็ไม่ได้ลอกฝรั่งมาแต่อย่างใด (ตรงกันข้ามกับที่พวกจารีตนิยมชอบอ้างว่า รัฐธรรมนูญปี 40 ลอกตำราฝรั่งมาทั้งดุ้น) แต่เป็นความพยายามจะตอบปัญหาของการเมืองไทยโดยตรง เพราะ ส.ส.อิสระและสังกัดพรรคในสภาไทยนั้น รวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์จากรัฐบาลมาตลอด รวมทั้งเล่นสัปดนอื่นๆ ด้วย โดยไม่มีใครคุมได้เลย จนหัวหน้ารัฐบาลต้องยึดอำนาจตัวเองเพื่อล้มสภามาหลายครั้งแล้ว ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงหาทางที่จะแก้ปัญหานี้ด้วยการให้อำนาจการควบคุมที่คิดว่ามีประสิทธิภาพแก่พรรค จนพรรคกลายเป็น "คุก" ในทรรศนะของคุณเสนาะ เทียนทอง และบริวาร

(พูดเรื่องลอกฝรั่งแล้ว ผมก็ขอออกนอกเรื่องตรงนี้นิดหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญที่พวกจารีตนิยมร่างขึ้นต่างหาก ที่ลอกฝรั่งมาโดยตรง กล่าวคือไม่ได้มีปัญหาการเมืองของไทยเป็นโจทย์เลย เพียงแต่ว่าแก้ไข, ตัดตอน, ทำให้เป็นหมัน, ฯลฯ ซึ่งรัฐธรรมนูญฝรั่งที่ตัวลอกมา เพื่อจะปกป้อง, รักษา และขยายอำนาจกับผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำในสังคมไทยเท่านั้น)

พรรคการเมืองนั้นเป็นการรวมตัวกันโดยธรรมชาติของนักการเมือง กล่าวคือเมื่อรวมตัวกันแล้วย่อมได้มากกว่าเสีย นักการเมืองจะรวมตัวเป็นพรรคอยู่อย่างนั้น ตราบเท่าที่ตัวคิดว่าจะได้มากกว่าเสีย ได้ที่สำคัญที่สุดของนักการเมืองคืออะไร ก็ได้รับเลือกตั้งสิครับ ฉะนั้น พรรคการเมืองจึงสร้างสมรรถภาพของตัวไปในทางที่จะทำให้สมาชิกได้รับเลือกตั้งเป็นสำคัญ

สมรรถภาพอันนี้ประกอบด้วยเงินทุน (ซึ่งไปรีดไถหรือได้รับการอุดหนุนมา) รวมทั้งประชาชนที่ศรัทธาพรรคหรือนโยบายบางประการของพรรค จนเป็นอาสาสมัครทำงานรณรงค์ให้, นโยบายที่ถูกใจประชาชน, บุคลิกที่ไม่ฝืนมติมหาชน (ซึ่งในเมืองไทยเรียกว่าปลาไหล), เส้นสายที่พรรคมีกับส่วนอื่นๆ ของสังคม นับตั้งแต่สื่อ, นักวิชาการ, นายทุน, ผู้นำสหภาพ, ชาวนา และกลุ่มวิชาชีพต่างๆ รวมทั้งช่างตัดผมและแท็กซี่ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า เพื่อประโยชน์ของตัวเองนี่แหละครับ ผลักดันให้พรรคการเมืองต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอยู่บ้าง มากบ้างน้อยบ้างตามแต่กรณี ในทางตรงกันข้าม ประชาชนเองก็มองเห็นว่า การผลักดันนโยบายสาธารณะของตัวหากผ่านพรรคการเมืองก็มีทางประสบความสำเร็จมากกว่าและง่ายกว่าทางอื่น

ฉะนั้น พรรคการเมืองจึงเป็นเครื่องจักรใหญ่สำหรับการเลือกตั้ง จนกระทั่งทำให้ ส.ส.อิสระเสียเปรียบหากไม่สังกัดกับเครื่องจักรใดเลย แม้กระนั้นตราบเท่าที่เขตเลือกตั้งยังเล็กอยู่ ก็เป็นไปได้ที่ผู้สมัครพรรคเล็กหรืออิสระจะฟันฝ่าเอาชนะเครื่องจักรไปเป็น ส.ส.จนได้ แต่ถ้าเขตเลือกตั้งใหญ่ ก็ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลยในบางสังคม เพราะกำลังของคนกลุ่มเล็กจะไปสู้กับเครื่องจักรใหญ่นั้นเป็นไปไม่ได้

ขอให้สังเกตว่า ผู้สมัครพรรคเล็กหรืออิสระสามารถเข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรอเมริกันได้บ้าง แต่หมดหวังสำหรับวุฒิสภาซึ่งมีเขตเลือกตั้งใหญ่ทั้งมลรัฐ. ในอังกฤษ เพราะเขตเลือกตั้งเล็ก (เหมือนรัฐธรรมนูญปี 40) สภาอังกฤษจึงไม่เคยขาด ส.ส.พรรคเล็ก (หรือเคยใหญ่แต่กลายเป็นเล็กในภายหลัง) หรือ ส.ส.อิสระเลย

อย่างไรก็ตาม เครื่องจักรเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง กำลังกลายเป็นเครื่องจักรที่ตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนน้อยลงทุกที เหตุที่เป็นเช่นนี้มาจากสองด้าน คือ

- ด้านพรรคการเมืองเอง กลไกของเครื่องจักรใหญ่เทอะทะจนเกินกว่าจะปรับเปลี่ยนอะไรได้ง่ายๆ กว่าพรรคเดโมแครตจะออกมาฟันธงว่า สงครามอิรัคเป็นความผิดพลาด ก็เล่นเอาชีวิตของอเมริกันและอิรักสูญเสียไปเป็นแสน และทำให้ไฟลามภูมิภาคนี้ไปทั่ว โดยมิตรของอเมริกันในโลกลดลง และอันตรายต่ออเมริกันกลับเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อน 9/11 เสียอีก

- อีกด้านหนึ่งก็คือเพราะสื่อและระบบเศรษฐกิจ-สังคม ที่ดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาร่วมในสังคมชาติและสังคมโลกอย่างแนบแน่นกว่าเก่า ประชาชนได้เปลี่ยนไปแล้ว ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วไปกว่าครึ่งโลกนะครับ ไม่ใช่เฉพาะในอเมริกา และผมแน่ใจว่าเกิดในเมืองไทยด้วย

คนรุ่นใหม่ในสังคมตะวันตกสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองน้อยลง (รวมทั้งไปเลือกตั้งน้อยลงด้วย) คนที่เลือกผู้สมัครจากพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างไม่ลืมหูลืมตาก็หายไปด้วย เพราะพรรคการเมืองใหญ่ๆ ทั้งหลายนั้น ไม่ได้ต่างกันในเชิงนโยบาย พรรคเลเบอร์ภายใต้นายแบลร์เป็นเสรีนิยมใหม่ยิ่งกว่านางแทตเชอร์อีกซ้ำ พรรครีพับลิกันและเดโมแครตต่างเพิ่มอำนาจของรัฐบาลกลางเหมือนๆ กัน

ในขณะที่ "พลเมืองสกรรม" ทางการเมือง (หมายถึง active citizens น่ะครับ) ไม่เคยได้รับการสนองตอบจากพรรคการเมืองใดๆ ไม่ว่าคนที่แคร์ปัญหาโลกร้อน, การกระจุกตัวของรายได้, การศึกษาที่เสื่อมคุณภาพลง, สวัสดิการรัฐที่กำลังหายไป, อำนาจที่ปราศจากการทัดทานถ่วงดุลของบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่, สิทธิสตรี, เอฟทีเอ, การจัดการน้ำด้วยเขื่อนขนาดใหญ่, ระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม, การกระจุกตัวของทรัพยากรการผลิตโดยเฉพาะที่ดิน ฯลฯ ต่างพบว่า ล้วนเป็นปัญหาที่พรรคการเมืองใหญ่ไม่เคยรับเข้าไปในนโยบาย เพราะมัน "ร้อน" เกินไป เครื่องจักรเลือกตั้งจะไหม้

แปลกอะไรล่ะครับ ที่เขาเลือกนักกล้ามเป็นผู้ว่าการรัฐ, เลือกคนหน้าตาธรรมดาเป็นประธานาธิบดีแทนคนหน้ายาว, และเลือกคุณสมบัติ เมทะนี เป็น ส.ว.

ความพยายามจะสถาปนาอำนาจของพรรคการเมืองขึ้นมาคุม ส.ส. นอกจากเป็นความคิดที่ก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกแล้ว (เพราะถ้าทำให้พรรคการเมืองไทยกลายเป็นเครื่องจักรเลือกตั้งขนาดใหญ่สำเร็จ ก็ทำให้พรรคการเมืองไม่สนองตอบประชาชนเท่าเดิมนั่นเอง) ยังเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในการเมืองไทยด้วย เพราะมุ้งของ ส.ส.ต่างหากที่เป็นเครื่องจักรเลือกตั้งตัวจริง ฉะนั้น มุ้งต่างหากที่คุม ส.ส.ได้ ไม่ใช่พรรค

แล้วเขาตั้งมุ้งขึ้นมาทำไมหรือครับ ก็อย่างที่รู้กันนั่นแหละ เพื่อเล่นสัปดนทางการเมือง ไม่ต่างจาก ส.ส.อิสระนั่นแหละ ฉะนั้น การห้ามผู้สมัครอิสระจึงไม่เกิดผลอะไรทั้งสิ้น แต่กลับปิดโอกาสที่สำคัญในการพัฒนาการเมืองไทย ไม่ใช่กีดกันคนดีคนเก่งอะไรหรอกนะครับ ที่ผมเป็นห่วงมากกว่าคือกีดกันประเด็นทางการเมืองที่มีความสำคัญแก่

1. ประชาชนระดับล่างที่ไม่เคยมีพื้นที่ของตนในการเมืองระดับชาติ
2. ประเด็นทางการเมืองของเหล่า "พลเมืองสกรรม" ทั้งหลายซึ่งพรรคการเมืองไม่กล้าสนองตอบ

ส.ส.อิสระที่ไม่ต้องการเล่นสัปดนทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ผมคิดว่าได้ หากเรารักษาเขตเลือกตั้งให้เล็กเอาไว้ แม้ไม่ใช่ทั้งหมดของ ส.ส.อิสระก็ตาม และคนเหล่านี้แหละที่จะสามารถประสานความร่วมมือกับ ส.ส.อิสระและ ส.ส.สังกัดพรรค เพื่อผลักดันประเด็นการเมืองร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิผู้ป่วยเอดส์, สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร เช่น กฎหมายป่าชุมชน เป็นต้น

สิทธิของประชาชนในท้องถิ่นไม่สำเร็จทุกเรื่องไปหรอกครับ และไม่สำเร็จตามเป้าหมายร้อยเปอร์เซ็นต์สักเรื่องเดียวนะครับ แต่ในระยะยาวแล้ว จะสำเร็จบางเรื่อง และแม้ไม่ได้ตามเป้าเต็มร้อย ก็ได้มากกว่าครึ่ง พอที่จะผลักดันกันต่อๆ ไปได้ ทำเป็นเล่นไป เสียงของ ส.ส.อิสระในสภาที่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคหมด อาจดังกว่า ส.ส.ธรรมดาหลายเท่าตัว ถ้าเรียนรู้ว่าจะเปล่งเสียงอย่างไร

ส.ส.อิสระซึ่งต้องรักษาฐานเสียงของตัวให้เหนียวแน่นไว้ จะไม่สามารถพยุงรัฐบาลฉ้อฉลไปได้นานนัก พูดอีกอย่างหนึ่งจะอ่อนไหวต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนมากกว่า แน่นอนประชาชนเองก็ต้องจัดตั้งทางการเมืองเพื่อทำให้การเรียกร้องของตนมีพลังด้วย แต่การจัดตั้งทางการเมืองเพื่อกดดัน ส.ส.อิสระย่อมง่ายกว่าและเป็นไปได้มากกว่ากดดันพรรคการเมืองแน่

ประชาชนไทยก็เปลี่ยนไปเหมือนประชาชนในสังคมที่เต็มไปด้วยการสื่อสารอื่นๆ แต่ชนชั้นนำไทยไม่เคยเปิดโอกาสให้ระบบการเมืองได้ปรับเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่ชอบใจอะไรก็ไม่ยอมลงมาต่อสู้ในเวทีการเมือง แต่กลับไปยุให้ทหารยึดอำนาจ และเพราะทหารไม่ได้มีอำนาจเหมือนแต่ก่อนแล้ว จึงเท่ากับล้มกระดานเพื่อเปิดโอกาสให้ชนชั้นนำได้ปกป้อง, รักษา และขยายอำนาจและผลประโยชน์อันไม่เป็นธรรมของตัวเท่านั้น

 

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H

ประชาธิปไตยอาจย่นย่อมาให้เหลือเพียงหัวใจสำคัญคือการสร้างอำนาจของประชาชน และคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าโครงการพระราชดำริต่างๆ นั้น ก็เป็นการสร้างอำนาจของประชาชนอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจนำไปสู่อำนาจทางสังคมและการเมืองได้. แท้จริงแล้วอำนาจทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง และวัฒนธรรมนั้นแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะต่างเชื่อมโยงหนุนหรือขวางกั้นกันและกันอยู่ตลอดเวลา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าอำนาจหนึ่งที่เพิ่มขึ้นจะทำให้อำนาจด้านอื่นเพิ่มตามไปด้วยเสมอไป ฐานะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในบางเงื่อนไขอาจทำให้มิติทางการเมืองไร้ความสำคัญไปเสียก็ได้ (depoliticization) หรือทำให้ผู้คนมองไม่เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของตนเองกับส่วนอื่นๆ ของสังคม (desocialization) จึงกลับกลายเป็นอ่อนแอลง

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น