บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๗๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙
20-11-2549



Feminist & Women's Literature
The Midnight University

พ้นไปจากจากการครอบงำของผู้ชาย
วรรณกรรมเฟมินีส: งานเขียนสตรีเกี่ยวกับการแฉผู้ชาย
วิศัลย์ศยา กิติรัตน์ตระการ
นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความวิชาการชื้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง
การวิเคราะห์วรรณกรรม์เชิงเสียดสีผู้ชายของนักเขียนหญิงร่วมสมัย
เป็นเรื่องเกี่ยวกับวรรณกรรมสตรี ที่ได้ผลิตเนื้อหาของตนเองขึ้นมา
เพื่อปลดปล่อยอารมณ์ ความรู้สึก และประสบการณ์ที่ถูกปิดกั้นมาตลอดประวัติศาสตร์
โดยวัฒนธรรมที่ผู้ชายเป็นใหญ่
ในบทความชิ้นนี้ยังประกอบด้วยเรื่องย่อเกี่ยวกับวรรณกรรมสตรี ๖ เรื่อง
ซึ่งสะท้อนถึงแง่มุมของการที่ผู้หญิงถูกสังคมและวัฒนธรรมผู้ชายกดทับอย่างชัดเจน
midnightuniv(at)gmail.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1075
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11.5 หน้ากระดาษ A4)

 



วรรณกรรมเฟมินีส: งานเขียนสตรีเกี่ยวกับการแฉผู้ชาย
วิศัลย์ศยา กิติรัตน์ตระการ : หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความเป็นมาของงานวรรณกรรมสตรีในต่างประเทศ
วรรณกรรมสตรีในโลกตะวันตก
วรรณกรรมสตรี (วรรณกรรมเฟมินีส) คือ วรรณกรรมที่เขียนโดยสตรีเพื่อสตรีและเกี่ยวกับสตรี หากวรรณกรรมชิ้นใดมีการดำเนินเรื่องเกี่ยวกับสตรีมีตัวละครนำเป็นสตรี พูดถึงปัญหาของสตรีรวมไปถึงสิทธิสตรีเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานภาพที่เสียเปรียบของสตรี วรรณกรรมชิ้นนั้นถือว่าเป็นวรรณกรรมสตรี

อังเกริกา เมคเทล (Angelika Mechtel) นักเขียนสตรีเยอรมัน กล่าวถึงวรรณกรรมสตรีว่า "เราเขียนเรื่องจากสตรีถึงสตรี เพราะเราเชื่อแน่ว่าไม่มีใครในสังคมนี้จะเข้าใจตัวเราเองได้ดีไปกว่าตัวเรา" (อ้างใน ศิริรัตน์ ทวีเลิศนิธิ, 2538 : 9)

เอแลน ซีซู (Helene Cixous) เขียนถึงลักษณะของวรรณกรรมสตรีเพื่อยืนยันความต่างในการเขียนระหว่างสตรีและบุรุษว่า "ลักษณะที่แตกต่างอย่างเด่นชัดในวรรณกรรมสตรีเกิดขึ้นเมื่อเราอ่านวรรณกรรมชิ้นนั้น วรรณกรรมสตรีถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ออกเสียงเป็นดนตรีเป็นเสียงก้องกังวาล วรรณกรรมสตรีเกิดขึ้นเพื่อจะต่อสู้กับภาษาของผู้ชาย เพื่อปลดปล่อยตัวเองให้หลุดพ้นจากเรื่องซ้ำซากจำเจทั้งหลาย"(1)

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดงานวรรณกรรมสตรีโดยไม่มีวรรณกรรมบุรุษ เกิดขึ้นพร้อมๆ กันเพราะวรรณกรรมทั้งหลายหลายเป็นวรรณกรรมอันเป็นผลผลิตจากสังคม ที่นิยมยกย่องและมอบความเป็นใหญ่ให้แก่บุรุษเพศอยู่แล้ว วรรณกรรมสตรีจึงเป็นเครื่องมือและเป็นสื่อกลางในขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรี เพื่ออธิบายและเผยแพร่ความคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการแบ่งชนชั้น โดยอาศัยเพศเป็นหลักความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างหญิงและชาย ความคิดเกี่ยวกับการก่อตั้งองค์กรสตรี สโมสรสตรีการรวมตัวกันของสตรีเพื่อประโยชน์ร่วมกันในสังคม การประท้วงสังคมที่กดขี่เพศหญิงการต่อต้านไม่ให้ประเพณีการเอารัดเอาเปรียบสตรีเพศดำเนินต่อไป รวมไปถึงการค้นหาความเป็นตัวของตัวเอง ลักษณะเฉพาะของสตรีเพศเพื่ออธิบายคำว่า "สตรี" และการถูกกดขี่ของสตรี (2)

งานวรรณกรรมสตรีจึงเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวของสตรีที่เขียนหนังสือ เป็นกระบวนการที่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เมื่อสตรีอ่านวรรณกรรมสตรีเธอจะพบเรื่องราวของตัวเธอเองที่ถูกเสนอโดยนักเขียนสตรี เธอได้ตระหนักว่าเรื่อง "ส่วนตัว" ของเธอนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะของตัวเอง หากแต่เป็นปัญหาร่วมของสตรีทุกคน ดังที่มีคำกล่าวของขบวนการเพื่อสิทธิสตรีในทศวรรษที่ 60 ซึ่งกล่าวว่า "The personal is politic" หรือ "เรื่องส่วนตัวคือการเมือง" จึงเป็นคำขวัญประจำของวรรณกรรมสตรี อันหมายถึงการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของสตรีให้สตรี และบุรุษคนอื่นๆ เข้าใจความทุกข์ในใจ

ปัญหาในชีวิตคู่ของสตรีจะไม่ใช่ปัญหาส่วนตัวของสตรีเพียงคนเดียว ชีวิตในด้านที่เป็นเรื่องส่วนตัวที่สุดหรือแม้แต่เรื่องเพศ การถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบจากเพศตรงข้ามและการถูกข่มขืน จะกลายเป็นปัญหาร่วมในชีวิตความเป็นสตรีซึ่งบุรุษควรตระหนักในปัญหานี้ ทั้งบุรุษและสตรีต้องหาหนทางขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศดังกล่าวเพราะเรื่องส่วนตัว เรื่องใกล้ตัว เรื่องในครอบครัว เป็นเรื่องเริ่มต้นของทุกๆ เรื่องในสังคม

สุกัญญา หาญตระกูล แปลและอธิบายคำขวัญของขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีว่าเป็น "ปัญหาความรุนแรงที่ผู้ชายทำกับเธอ(ผู้หญิง) มิใช่เป็นเพราะเธอโชคร้าย หรือเพราะความบกพร่องของเธอหรือว่าเป็นปัญหา "ส่วนตัว" ทว่ามีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับรูปแบบ "สังคม" ที่เป็นอยู่" (อ้างใน ศิริรัตน์ ทวีเลิศนิธิ, 2538 : 15)

การที่นักเขียนสตรีเริ่มหันมาเขียนเรื่องชีวิตส่วนตัวของเธอเองอย่างเปิดเผย เขียนถึงความทุกข์ทรมานการกดขี่ทางเพศการเอารัดเอาเปรียบ งานหนักภาระหน้าที่ การเขียนเป็นการระบายความรู้สึกเก็บกด การเขียนหนังสือคือการทำงานไม่ใช่การอยู่อย่างโดดเดี่ยวแต่เป็นการปลดปล่อยตนเอง ประกาศให้ผู้อื่นรับรู้และเป็นการจุดไฟแห่งการรวมตัวของสตรีที่ทุกข์ทรมานเช่นเดียวกับเธอ ให้เข้าใจเห็นใจและรวมตัวกันเพื่อต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบในสังคม

การเขียนเรื่องส่วนตัวจึงเป็นการเมืองที่วรรณกรรมสตรีมีความผูกพันโดยตรง การผลิตวรรณกรรมสตรีจึงมิใช่ความพยายามที่จะเยียวยารักษาไข้ส่วนตัวของสตรี แต่เป็นการทำงานร่วมกันของความสำนึกในความเป็นสตรีที่จุดชนวนโดยนักเขียนสตรี เพื่อให้สตรีทั้งหลายได้มีสิทธิมีเสียงในสังคมที่มีบุรุษเป็นผู้ครองความเป็นใหญ่ ทั้งนี้จุดมุ่งหมายสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงสถานภาพสตรีที่เป็นอยู่ให้เขยิบไปสู่สถานภาพที่ควรจะเป็น (3)

เอแลน ซีซู (Helene Cixous) ได้เรียกร้องให้ผู้หญิงเขียนอย่างผู้หญิงเขียนแบบไม่ต้องคิด การเขียนแบบผู้หญิงที่เธอเสนอคือ มีลักษณะแบบจดบันทึกเขียนเป็นลักษณะร่างง่ายๆ ไม่ปะติปะต่อ ไม่ติดในรูปแบบกฎเกณฑ์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการเขียนรูปแบบใหม่เท่านั้น แต่เป็นความเป็นไปได้อย่างมากของการเปลี่ยนแปลง เป็นพื้นที่ว่างที่สามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการโค่นความคิดที่ดำรงอยู่ เป็นการเคลื่อนไหวขั้นต้นของการแปรเปลี่ยนมาตรฐานของสังคมและวัฒนธรรม เพราะสตรีนิยมได้พยายามริเริ่มวาทกรรมใหม่เกี่ยวกับความเป็นหญิง วาทกรรมที่ต่อต้านความเป็นเจ้าโลกของผู้ชาย วาทกรรมที่ใช้ความขัดแย้งของวาทกรรมต่างๆ ที่ครองโลกเหล่านั้นเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง. ส่วน อีรีกาเรย์ เน้นที่ความเป็นสตรีอย่างที่เป็นจริงๆ เป็นเรื่องจริงที่ควรเสนอให้กับสังคม เพื่อเปลี่ยนระบบสังคมไม่ให้ถือเอาอวัยวะเพศชาย เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่บุรุษต้องการมีเหนือสตรี

สำหรับการเคลื่อนไหวในวงการวรรณกรรมนั้น ในช่วงแรกของทศวรรษที่ 70 ในขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีมีความพยายามที่จะเสาะแสวงหาความเป็นสตรี ลักษณะเฉพาะของสตรีความต้องการของเหล่านักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ประการหนึ่งคือการได้เรียนรู้ประสบการณ์จากสตรีด้วยกัน สิ่งที่สื่อได้ดีที่สุดในวงกว้างคือหนังสือ ในช่วงทศวรรษที่ 70 จึงเกิดการก่อตัวของวรรณกรรมสตรีและนักประพันธ์วรรณกรรมสตรีรุ่นใหม่ขึ้น (4)

นักประพันธ์เหล่านี้มิได้ยึดอาชีพการประพันธ์เป็นอาชีพหลักแต่ได้สนองความต้องการของนักสตรีนิยม และได้เกิดการผลิตวรรณกรรมสตรีเป็นจำนวนมาก ที่เกิดจากฝีมือนักประพันธ์สมัครเล่นและนักประพันธ์คลื่นลูกใหม่ วรรณกรรมสตรีในรุ่นแรกๆ จึงมีลักษณะเป็นหนังสือบันทึกส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่หรือหนังสืออัตชีวประวัติของบรรดาสตรีที่ได้รับความอยุติธรรมในแง่ต่างๆ เพื่อเล่าสู่กันฟังในหมู่สตรี หรือตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อปลุกระดมสตรีให้ลุกมองตัวเอง ความเป็นสตรีและการถูกกดขี่ของสตรี

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากช่วงแรกของทศวรรษที่ 70 ผ่านไปคือการเริ่มมีการพูดถึง "วรรณกรรมสตรี" กันอย่างแพร่หลาย ทั้งที่เกี่ยวกับวรรณกรรมสตรีรุ่นแรกและวรรณกรรมสตรีในรุ่นต่อๆ มา นักวิชาการด้านสตรีศึกษาหลายท่านได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของวรรณกรรมสตรีว่า เป็นปฏิกริยาทางจิตวิทยาที่มีสาเหตุเบื้องต้นจากขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรี ในขณะเดียวกันมีปัจจัยทางสังคมหลายประการที่เอื้ออำนวยให้วรรณกรรมสตรีได้มีโอกาสก่อกำเนิดขึ้นมา เช่น ขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีในประเทศอเมริกา วรรณกรรมสตรีของอเมริกันและวรรณกรรมสตรีของฝรั่งเศสด้วยสื่อต่าง ๆ เช่น การเสนอข่าว การแปลวรรณกรรม และการติดต่อระหว่างบุคคล

ซิลเวีย โบเวนเช่น (Silvia Bovenschen) ได้ทำการศึกษาภาพของสตรีที่ปรากฎในงานวรรณกรรม เรื่อง "ดีอิมมากีเนียเทอ ไวบลิคชไคท์" (Die imaginerte Weiblichkeit) หรือ "ความป็น หญิงในจินตนาการ" เธอได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสตรีในความเป็นจริงและสตรีในวรรณกรรมว่ามีความแตกต่างกัน ผลของการวิจัยได้เปิดโปงภาพลวงของสตรีในวรรณกรรมอันเป็นภาพประดิษฐ์ขึ้น โดยจินตนาการของนักเขียนฝ่ายชาย

"แม้ว่าภาพสตรีในวรรณกรรมจะมีปรากฎอยู่ในทุกยุคทุกสมัยแต่จะมีประโยชน์อันใดเล่าเมื่อภาพเหล่านั้นเป็น "ภาพพจน์" ที่เกิดขึ้นตามจินตนาการของบุรุษเป็นภาพที่นักเขียนเพศชายคิดขึ้น หรือสร้างจินตภาพขึ้นมา และร่วมใจกันอธิบายมนุษย์เพศหญิง และจะมีประโยชน์อันใดหากสตรีเพศไม่มีโอกาสได้สร้างภาพหรืออธิบายความเป็นสตรีของตน"

โบเวนเช่นยังได้กล่าวสรุปไว้ว่าสาเหตุหรือที่มาของการปิดปากเงียบนี้ อีกขั้นตอนหนึ่งและหนึ่งในบรรดาสาเหตุนั้นคือการที่สตรีมักจะถูก "เนรเทศให้ออกไปจากโลกของความเป็นจริง"(5) อันหมายถึงการถูกกีดกันในสังคมการไม่ให้สิทธิและไม่สนใจในความสามารถของสตรีในสังคม

สิ่งที่นักเขียนวรรณกรรมสตรีต้องการให้เกิดขึ้นนั้น คือการสร้างภาพสตรีในวรรณกรรมให้สามารถจุดประกายไฟในสำนึกให้เกิดขึ้นในบรรดานักอ่านสตรีทั้งหลาย. เยอรเกน แชรเคอ (Jurgen Serke) กล่าวถึง วรรณกรรมสตรีไว้ในหนังสือเรื่องผู้หญิงเขียนหนังสือ (Frauen schreiben) ของเขาว่า "ผู้หญิงเสนอ ภาพอันเป็นบทบาทใหม่ในวรรณคดีเยอรมัน เธอเริ่มค้นหาตัวเอง และเสนอภาพที่แท้จริงของเธอที่แตกต่างไปจากภาพผู้หญิงในโลกวรรณกรรมของผู้ชาย เธอรู้แจ้งเห็นจริงและสำนึกในความเป็นหญิงที่แตกต่างไปจากภาพพจน์ที่ผู้อื่นสร้างขึ้นมา เธอแยกตัวออกห่างจากการเป็นผู้ถูกกระทำในสังคม และจากการเป็นสิ่งสนองความต้องการของเพศชาย ความยากลำบาก ความกดดัน ความทุกข์ทรมานทำให้เธอเข้มแข็งขึ้นจากเพศอ่อนแอ เธอแสดงความแข็งแกร่งให้ปรากฏในวรรณกรรม"(6)

ในขณะที่ เวอร์จิเนีย วูฟ (Virginia Woolf) นักเขียนสตรีชาวอังกฤษที่นักสตรีนิยมทั้งหลายรู้จักผลงานและยกย่อง ได้พยายามอธิบายสาเหตุของการที่สตรีไม่สามารถผลิตผลงานได้เทียบเท่า หรือเทียบเคียงกับผลงานของเชคสเปียร์ที่คนทั่วโลกชื่นชม เพราะสตรีขาดโอกาสในการศึกษาขาดปัจจัยในการผลิตงานวรรณกรรม ขาดเวลาว่างที่จะทำอะไรได้โดยไม่ต้องมีผู้ใดมาแนะนำ และขาดโลกส่วนตัวของเธอเอง(7)

Simone de Beauvoir นักเขียนสตรีชาวฝรั่งเศสสรุปไว้ใน The Second Sex คัมภีร์เล่มแรกของนักสตรีนิยมว่า สตรีถูกบุรุษทำให้เชื่อว่าเพศของตนต่ำต้อยและด้อยค่ากว่า โดยกำเนิดจากประโยคของเธอที่ว่า "สตรีมิได้เกิดมาเป็นสตรี แต่ถูกทำให้เป็นสตรี"

วรรณกรรมสตรีในโลกตะวันออก
หากจะเปรียบเทียบความก้าวหน้าเรื่องสิทธิสตรีในวัฒนธรรมตะวันตก ในสังคมตะวันออกก็เช่นเดียวกัน ที่เรายังสามารถพบเห็นการไม่ยอมรับในความเท่าเทียมระหว่างเพศที่ยกย่อง "ความเป็นชาย" มากกว่า "ความเป็นหญิง" เช่น นักเขียนสตรีในประเทศโลกที่สามอย่าง ทัสลีมา นัสริน ถูกรัฐบาลบังคลาเทศจำกัดเขตให้อยู่แต่ในบ้านพักของเธอ เหตุเพียงเพราะเธอเขียนนวนิยายเรื่อง Lajja (แปลว่า "ความละอาย") ซึ่งตั้งคำถามกับกรอบประเพณีของวัฒนธรรมมุสลิม เพื่อต่อต้านพวกหัวรุนแรงและกดขี่ทางเพศไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม(8) อีกตัวอย่างหนึ่งของการยึดมั่นประเพณีดั้งเดิมที่มอบอำนาจให้แก่บุรุษเพศ

กับปัญหาสถานภาพสตรีในสังคมญี่ปุ่น วรรณกรรมสตรีญี่ปุ่นร่วมสมัยที่ได้รับการยอมรับและได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากที่สุดเล่มหนึ่งคือ นวนิยายเรื่อง The Doctor's Wife (1978) (เมียหมอใน ฉบับแปลเป็นไทย) ของ Savako Ariyoshi นับเป็นตัวแทนวรรณกรรมของวัฒนธรรมตะวันออกที่ตอกย้ำภาพดั้งเดิมของสตรีในสังคม ไม่ว่าสังคมนั้นจะเป็นสังคมของประเทศอุตสาหกรรมหรือเป็นสังคมของประเทศด้อยพัฒนาก็ตาม

อย่างไรก็ตามวรรณกรรมสตรี คือลักษณะการเขียนที่เต็มไปด้วยอารมณ์ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในวรรณกรรมสตรี คือการเปิดเผยและบรรยายความสัมพันธ์ทางเพศจากมุมมองของสตรี และใช้ภาษาที่มีลักษณะเป็นอัตวิสัย โดยไม่เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัวอีกต่อไปและเห็นว่าการเขียนในแนวอัตวิสัย หรืออัตวิสัยหัวรุนแรงเป็นสิ่งที่ควรกระทำและควรตั้งใจกระทำ เพื่อประท้วงสิ่งซึ่งบุรุษเพศยกย่องเทิดทูนคือ ความมีเหตุผลหรือลักษณะภววิสัย

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการเขียนเรื่องเกี่ยวกับตนเองในวรรณกรรมสตรีคือ การเปิดเผยและบรรยายความสัมพันธ์ทางเพศจากมุมมองของสตรี การเอ่ยถึงความเป็นเพศหญิงและร่างกายของเพศหญิงจึงเป็นหัวข้อที่พูดถึงอย่างเปิดเผยรุนแรง การเขียนถึงร่างกายของสตรีเป็นวิธีการของกลุ่มอัตวิสัยรุ่นใหม่หัวรุนแรงซึ่งต้องการพูดถึงภาวะความเป็นจริงทั้งหมด

สุนทรียศาสตร์ของวรรณกรรมสตรี
เอแลน ซิกซู นักสตรีนิยมคนสำคัญกล่าวถึง "สุนทรียศาสตร์ของสตรี" ว่ามีลักษณะแตกต่างจากสุนทรียศาสตร์ของบุรุษ เพราะสตรีเขียนด้วยอารมณ์และเลือดเนื้อร่างกายวิญญาณชีวิตและจิตใจ "การเขียนไม่ได้ เป็นเพียงแต่การทำให้ความรู้สึกทางเพศและความเป็นสตรีเป็นจริง แต่การเขียนเป็นการพาสตรีไปพบกับพลังของสตรีให้เธอได้กลับเป็นเจ้าของอีกครั้ง ทั้งอารมณ์ความรู้สึก ทั้งเนื้อตัวร่างกายของเธอเพื่อให้จิตใต้สำนึกเก่าๆ พ่ายแพ้ไปและเพื่อให้จินตนาการความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของสตรีได้แตกหน่อออกผล"(9)

อัตวิสัยของสตรีในวรรณกรรม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสตรีที่บรรยายลักษณะเฉพาะของสตรีในชีวิตประจำวัน, ชีวิตการงาน, ประสบการณ์ความรัก, ชีวิตส่วนตัว, ความเป็นสตรีความสำคัญของการเป็นสตรี, คำสารภาพ, ส่วนใหญ่ผู้เล่าเรื่องคือผู้ที่ดำเนินชีวิตตามแบบที่บรรยายในวรรณกรรม หรือมีทัศนคติตามแบบที่ปรากฏ

ในด้านรูปแบบการนำเสนอมักจะเป็นไปในรูปของบันทึกความทรงจำ การบรรยายชีวิตตามลำดับเหตุการณ์ก่อนหลัง และในทางกลับกันจะเป็นการบรรยายชีวิตแต่หนหลังของผู้เล่าซึ่งประสบกับเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือต้องการย้อนมองกลับไปสู่อดีตและเริ่มต้นเล่าเรื่องจากมุมมองของผู้เล่า วรรณกรรมบางเรื่องเป็นเพียงคำสารภาพหรือคำบรรยายอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของผู้เล่าในช่วงระยะเวลาหนึ่งของชีวิต

คาริน ชตรุ๊ค (Karin Struck) นักเขียนสตรีที่ได้รับการยอมรับให้อยู่ในแนวหน้าของนักเขียนที่ผลิตวรรณกรรมสตรีเขียนไว้เมื่อปี ค.ศ. 1973 ในเรื่อง คลาสเสนลีเบอ (Klassenliebe) อาจถือได้ว่าเป็นวรรณกรรมสตรีเล่มแรกของทศวรรษ เธอได้กล่าวไว้ว่า "การเซนเซอร์เรื่องส่วนตัวของตัวเอง ก็เท่ากับการตอนอวัยวะเพศ เราต้องการเปิดเผยความขัดแย้งโดยปราศจากความกลัว"(10)

วรรณกรรมสตรีจึงมีแนวเรื่องสะท้อนให้เห็นปัญหาเรื่องส่วนตัวในชีวิตของสตรี ซึ่งสตรีเป็นผู้เปิดเผยให้เห็น โดยถือเอาเรื่องเฉพาะส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องเปิดเผยในสังคม เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพที่ดีกว่าของสตรี เพราะการได้เผชิญกับปัญหาและการได้เห็นภาพ ได้รับรู้สภาพที่เป็นชีวิตประจำวัน เป็นประสบการณ์ส่วนตัวของตนในวรรณกรรมสตรีที่เสนอโดยสตรีอื่น ทำให้สตรีช่วยสตรีด้วยกัน

เพราะวรรณกรรมสตรีได้เสนอภาพของสตรีที่ถูกสังคมจำกัดโดยการเลือกปฎิบัติทางเพศ วรรณกรรมสตรีจึงทำให้สตรีผู้อ่านเอาชนะการอยู่กับปัญหาของตัวเองอย่างโดดเดี่ยว และพบหนทางที่จะร่วมกันกับสตรีอื่นรณรงค์ทางการเมือง หาทางแก้ไขปัญหาสถานภาพสตรีให้เป็นไปในทางที่ควรจะเป็น วรรณกรรมสตรีที่ดูเหมือนเป็นวรรณกรรมในโลกแคบ ๆ ส่วนตัวจึงกลายเป็นวรรณกรรมหรือสื่อการเมืองเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม

เรื่องย่อรรณกรรมเฟมินีสเกี่ยวกับการแฉผู้ชายในต่างประเทศ

งานวรรณกรรมสตรีที่เกี่ยวกับการเปิดโปงผู้ชายต่างประเทศ รวมถึงการเสียดสีด่าว่า ให้ร้าย นินทา ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ เพศหญิงเป็นผู้ถูกกระทำ หรือการมีอคติของผู้เขียนที่มีต่อเพศชาย มีตัวอย่างให้พบเห็นมากมายในงานวรรณกรรมสตรีต่างประเทศ ในที่นี้จะขอยกความย่อวรรณกรรมดังกล่าวที่มีชื่อเสียงมานำเสนอเพียง 6 เรื่อง ดังต่อไปนี้

1. Bad Boy (ผู้เขียน : Olivia Goldsmith)
เป็นเรื่องราวของชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งที่พบเจอแต่ผู้ชายที่ไม่ดีผ่านเข้ามาในชีวิต ทำให้ชีวิตของเธอจึงมีแต่เรื่องไม่ดีไปด้วย

Tracie มีอาชีพเป็นนักเขียน เธอมีแฟนผู้ชายที่พบเจอมาแต่ละคนเป็นคนที่ไม่ดีตลอด และแฟนคนปัจจุบันของเธอก็ไม่ดีเช่นกัน เธอมีเพื่อนผู้ชายคนหนึ่ง เขาชื่อ Jonny เป็นผู้ชายที่ดีที่ไม่มีผู้หญิงคนไหนสนใจ Jonny จึงมาปรึกษาปัญหาเรื่องความรักกับเธอ ว่าทำอย่างไรถึงจะมีผู้หญิงมาชอบ เธอจึงแนะนำให้เขาเปลี่ยนนิสัยมาเป็นผู้ชายแบบที่เธอชอบ ซึ่งก็คือพฤติกรรมที่ไม่ดีของผู้ชายนั่นเอง

ขณะเดียวกันแฟนของเธอก็พยายามกลับตัวเป็นคนดี แต่เธอก็เริ่มเบื่อแฟนที่จะเริ่มเป็นคนดีเพราะ เริ่มรู้สึกชอบ Jonny หลังจากที่เธอแนะนำให้เขาเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรม แต่เธอก็ต้องมานั่งเสียใจเองกับการที่ต้องคบกับผู้ชายที่นิสัยไม่ดี ซึ่งเขาได้ทำตามคำแนะนำที่เธอบอก จนกลายเป็นหนุ่มเจ้าเสน่ห์ที่ผู้หญิงคนไหนก็ต้องการ แต่เธอมานึกเสียใจที่ไม่น่าไปชี้แนะเพื่อนแบบนั้น และอยากได้เพื่อนคนเดิมกลับมา เพราะเธอได้หลงรักเพื่อนตนเองในที่สุด และเขาเองก็มีผู้หญิงที่ชอบอยู่แล้วจนเธอต้องอกหัก แต่ในที่สุด Jonny ได้กลับไปเป็นคนที่นิสัยดีเหมือนเดิมและคบกับ Tracie ในที่สุด

2. The Second Sex (ผู้เขียน : Simone de Beauvoir)
โบวัวร์เป็นนักสตรีนิยมชาวฝรั่งเศส เป็นผู้สนับสนุนการทำแท้งและเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี โบวัวร์เป็นสตรีที่เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับสภาพความเป็นเพศหญิงซึ่งเขียนไว้ในหนังสื่อ The Second Sex ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากกับนักสตรีนิยมรุ่นใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเคท มิลเลท และจูเลียต มิทเชล

สาระสำคัญของเรื่องนี้คือ อธิบายความแตกต่างระหว่างเพศหญิงกับเพศชาย เช่น ความแตกต่างทางจิตใจและร่างกาย ว่าเมื่อสตรีหนึ่งคนพยายามที่จะให้คำนิยามเกี่ยวกับสภาพความเป็นหญิงของตัวเธอเอง เธอกล่าวว่า ฉันเป็นผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งไม่มีผู้ชายคนใดจะเป็นได้ดั่งฉัน ท่ามกลางสังคมของเพศชาย เพศหญิงจะถูกแบ่งแยกสัมพันธ์ภาพกับเพศชายด้วยความลำเอียง บุรุษคือคนหนึ่งคน สตรีคือคนอื่นในกลุ่มคนหรือเป็นเพียงวัตถุเท่านั้น

โบวัวร์ต้องการให้ผู้อ่านหนังสือของเธอพิสูจน์ประวัติศาสตร์ของสตรีที่ว่า สตรีเป็นผู้ถูกกระทำให้กลายเป็นผู้ต่ำต้อยด้อยค่า เธอเชื่อว่าสตรีถูกกำหนดให้ตกอยู่ในสถานภาพที่ด้อยกว่าบุรุษเนื่องมาจากระบบรากเหง้าทางวัฒนธรรม ค่านิยมของสังคม มิใช่ผลที่มาจากความแตกต่างทางสรีระ ร่างกาย หรือเป็นเรื่องปรกติ

เธอยังได้กล่าวไว้ว่า "เราไม่ได้เกิดมาเป็นหญิง แต่เรากลายเป็นหญิง" ซึ่งเป็นความจริงว่าความเป็นเพศหญิงและความเป็นเพศชายนั้นมีอยู่จริง เป็นสิ่งติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด แต่ก็มิได้ทำให้หญิงและชายต่างกันอย่างแท้จริง จนกระทั่งเมื่อสังคมเป็นตัวกำหนดความแตกต่างระหว่างเพศทั้งสอง และครอบงำลงในความคิดของคนเรา ด้วยเหตุนี้ความแตกต่างระหว่างสตรีกับบุรุษจึงเกิดขึ้น โบวัวร์ยังได้โจมตีการกระทำที่รุนแรงที่เพศชายกระทำต่อเพศหญิงทุกรูปแบบอีกด้วย (ภัทรพร, 2538 : 20-21)

3. The Yellow Wallpaper (ผู้เขียน : Charlotte Perkins Gilman) [ผู้แปล : จิระนันท์ พิตรปรีชา]
เป็นเรื่องราวที่กลั่นออกมาจากความจริงในช่วงชีวิตหนึ่งของผู้เขียน ที่ได้บันทึกรายละเอียดของปัญหาชีวิตไว้ในใจ ก่อนที่จะเขียนนิยายสั้นห้องสีเหลือง ฯ (The Yellow Wallpaper) ในอีก 5 ปีถัดมา

ชาร์ลอตต์ พี กิล แมน (Charlotte Perkins Gilman) เป็นนักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสตรีและนักเขียนผู้เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 งานเขียนชิ้นนี้เป็นนิยายขนาดสั้นที่กล่าวถึงในฐานะผลงานชิ้นเอกของวรรณกรรมเพื่อสตรียุคบุกเบิก เป็นผลพวงของการตื่นตัวของขบวนการสตรีในอเมริกาที่เริ่มรณรงค์ต่อสู้ในรูปแบบต่างๆ เป็นเรื่องราวธรรมดาของชีวิตครอบครัวเข้าไปสู่แรงกดดันของสังคมที่มีต่อสตรี เธอเป็นภรรยาของชายผู้มีฐานะคนหนึ่ง แต่ด้วยสาเหตุที่เธอเองไม่เข้าใจในชีวิตประจำวัน การทำงานบ้านจึงกลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายและตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเธอไม่มีช่องทางระบายออก สามีเธอเป็นหมอที่แสนดีก็พยายามรักษาอาการประสาทของเธอ ด้วยการพาเธอไปเปลี่ยนบรรยากาศแถวชนบท และด้วยความรักและความหวังดีของสามี จึงบังคับให้เธอพักผ่อนตามที่เขาเห็นสมควรเท่านั้น

แต่ความอึดอัดใจในครอบครัวกลับยิ่งเพิ่มในตัวเธอมากขึ้น เพราะฝ่ายชายยังคงถูกครอบงำไว้ด้วยทัศนคติต่อสตรีแบบเก่าที่เห็นเมียเป็นสมบัติชิ้นหนึ่งในบ้าน ไม่เคยสนใจเรื่องจิตใจของฝ่ายหญิงเลย เธอเหน็ดเหนื่อยกับบทบาทของตัวเองจนต้องหาทางออก โดยแอบเขียนบันทึกเพื่อระบายความเครียด และการสังเกตเห็นวอลล์เปเปอร์สีเหลือง สัญลักษณ์ที่ผู้เขียนใส่เข้ามาในงานว่าคือโครงสร้างที่น่าเกลียดน่ากลัวบนผนัง ซึ่งไม่ต่างอะไรไปจากโครงสร้างของสังคมและครอบครัวที่ห่อหุ้มกักขังสตรีไว้นั่นเอง

เบื้องหลังโครงสร้างดังกล่าวผู้หญิงจะต้องคลานในตอนแรก "ฉัน" ปฏิเสธความจริงที่ว่าตัวเองก็เป็นหนึ่งในบรรดาผู้หญิงที่คลานพวกนั้น เธอเฝ้ามองการคืบคลานของตัวเอง ซึ่งกึ่งสมเพชกึ่งเห็นใจและพยายามแสดงบทบาทเป็นผู้ปลดปล่อย (ด้วยการรื้อทลายโครงสร้างลูกกรงในแผ่นกระดาษ) แต่ผู้หญิงตัวคนเดียวที่มีจิตใจอันเหนื่อยล้าอย่างเธอหรือจะเอาชนะความยิ่งยงของโครงสร้างอันนั้นได้ เธอตกเป็นผู้แพ้กลายเป็นบ้าไปอย่างสมบูรณ์แบบและยังคงต้องคลานอีกต่อไป (จิระนันท์,2532 : 61-62)

ปัจจุบันวรรณกรรมเรื่องนี้ยังกลายเป็นหนังสืออ่านประกอบในหลักสูตรหลายวิชาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสตรี สังคมวิทยา หรือจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยอเมริกันหลายๆ สถาบันอีกด้วย

4. Hautungen (ผู้เขียน : Verena Stefan) [ค.ศ.1975]
เรื่อง Hautungen (ฮอยทุงเง่น) ของ เวเร่น่า ชเตฟาน (Verena Stefan) เป็นปรากฏการณ์สำคัญของวรรณกรรมสตรีเยอรมัน มีการตีความคำ "ฮอยทุงเง่น" ว่า หมายถึงการถลกหนัง การลอกคราบ การเปลือยกาย เป็นการเปิดโปงชีวิตเพศสัมพันธ์ของผู้หญิงที่ชื่อ เวรูชก้า (Veruschka)

ชเตฟาน อธิบายลักษณะวรรณกรรมเรื่อง "ฮอยทุงเง่น" ของเธอว่าเป็นอัตชีวประวัติ คำบรรยาย กวีนิพนธ์ ความฝันและการวิเคราะห์ เพราะเธอได้นำรูปแบบทั้งหมดที่กล่าวมาใช้รวมกันในงานของเธอ แม้ว่าเรื่องส่วนใหญ่จะออกมาในลักษณะเพศสัมพันธ์ "ส่วนตัว" ของเวรูชก้าที่มีกับเพื่อนชายและเพื่อนหญิงของเธอ ชเตฟานเข้าไปรับบทเป็นเวรูชก้าและเริ่มต้นเล่าเรื่องโดย "ฉัน" เป็นผู้เล่าแบ่งเรื่องส่วนตัวของเธอออกเป็น 5 ตอนใหญ่

- ในตอนแรกมีชื่อว่า "ชัทเท่นเฮาท์" (Schattenhaut) บรรยายถึงสถานภาพของผู้หญิงที่เป็นเพียง "เงา" ของผู้ชายไม่มีตัวตนปรากฏในสังคม แม้คนจะสังเกตเห็นแต่ก็เป็นความมีอยู่ของสถานภาพที่ไร้บทบาท

- ตอนที่สองมีชื่อว่า "เอนซูกส์แอร์ชายนุ่ง" (Entzugserscheinung)
เป็นการพูดถึงความพยายามที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เวรูชก้า พยายามที่จะถอนตัวเองออกจากความสัมพันธ์ระหว่างเธอและเพื่อนชาย

- ตอนที่สามชื่อว่า "เอาสนามเมอซูชตัน" (Ausnahmezustand)
คือสภาพที่พิเศษออกไป เวรูชก้าทดลองมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนหญิงและพบว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้

- ตอนที่สี่ชื่อว่า "คัวบิสเฟรา" (Kurbisfrau)
อธิบายความเป็นสตรีว่าสตรีมีร่างกายมีเนื้อหนังมีวิญญาณและอารมณ์ไม่ใช่ท่อนกระดูก

- ตอนสุดท้ายชื่อ "ฮอยทุงเง่น" (Hautungen)
เป็นการลอกหนังลอกคราบ เปลือยกาย เปิดเผยสภาพสตรีให้ปรากฏ และจบลงด้วยประโยคที่มีชื่อเสียงของชเตฟานว่า "คนที่เป็นเจ้าของชีวิตฉันคือฉัน" (ศิริรัตน์, 2538 : 105-106)

5. Entmannugn (ผู้เขียน : Christs Reinig) [ค.ศ. 1976]
นวนิยายเรื่อง Entmannugn (เอนมันนุ่ง) ของคริสต้า รายนิก (Christs Reinig) เป็นนวนิยายตื่นเต้น สยองขวัญ ไม่อาจบรรยายความต่อเนื่องของเรื่องได้ด้วยเหตุผล และเต็มไปด้วยจินตนาการ

คำว่า "เอนมันนุ่ง" แปลได้ว่า "ฆ่าผู้ชายให้สิ้นซาก กำจัดผู้ชาย ตอนอวัยวะเพศชาย" ชื่อเรื่องก้าวร้าวและรุนแรง แต่วิธีการเขียนนวนิยายของรายนิก กลับกลายเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากเรื่องบันทึกชีวิตประจำวัน หรือนวนิยายพร่ำพรรณาความทุกข์ยากของผู้หญิง รายนิกเขียนนวนิยายที่ก้าวไกลจากนวนิยายปกติทั่วไป และรายนิกก็ดูเหมือนจะเป็นนักสตรีนิยมคนเดียวของเยอรมันที่โดดเด่นในด้านความคิดเห็น วิธีการเสนอความคิด และสำนวนภาษา

นวนิยายเรื่อง "เอนมันนุ่ง" มีชื่อย่อว่า เรื่องราวของอ๊อตโต้และผู้หญิงสี่คนของเขา เล่าโดย คริสต้า รายนิก ตัวละครเอกของเรื่องมี 5 คน ประกอบด้วยผู้ชาย 1 คน ชื่อ"คีรา" และผู้หญิง 4 คน

"คีรา" เป็นศาสตราจารย์ทางด้านศัลยกรรมหนุ่มโสดและเพลย์บอย สร้างจินตนภาพให้ตัวเองสิงสถิตย์อยู่ในมดลูกของแม่ และเริ่มเห็นความลำบากของเพศหญิงเมื่อคุยกับเพื่อนชายด้วยกัน

- ดอริส ผู้หญิงที่มีความเป็นผู้ชายอยู่ในตัว ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและเป็นผู้ช่วยของคีรา,

- เมนนี่ เป็นแม่บ้านของคีราที่ถูกกดขี่ เธอทำงานหนักอยู่ที่บ้านเลี้ยงลูกด้วยตำราไม่มีคนปรึกษา ทำกับข้าวให้สามีช่างติ ลูกชายเรียนหนังสือไม่เก่งเป็นที่อับอายของตระกูลสามี

- ทีอา เห็นว่าผู้ชายรักตัวเธอเพราะเนื้อหนังมังสา ถ้าเธอขาดผิวหนัง ความรักคงขาดหายไปด้วย ทีอาเสนอความเห็นเรื่องผู้หญิงของเธอในระหว่างคุยกับดอรีสและเมนนี่ว่า ผู้หญิงมีทางเลือกหรือเรียกว่าจุดจบสามทาง คือ ถ้าเธอประท้วงก็จะถูกจับเข้าสถานกักกันและดัดสันดาน, ถ้าเธอไม่ประท้วงเธอจะเสียสติก็ต้องถูกส่งเข้าโรงพยาบาลบ้าและอิจฉาพวกจับขวานต่อสู้, ถ้าเธอยอมต่ออารมณ์เธอก็ต้องเข้าโรงพยาบาลในตอนจบด้วยสภาพที่ยับเยินของร่างกายท่อนล่าง...

- เซเนีย เป็นสาวใช้ในบ้าน เธอเห็นว่าผู้ชายมีความคิดสร้างสรรค์ ผู้หญิงมีหน้าที่ออกลูก เมื่อเธอได้รับคำบอกเล่าว่านักต่อสู้เพื่อความเสมอภาคในสังคมอย่าง เฮเกล (Hegel) นำบทความของผู้หญิงมาเขียนซ้ำและได้รับชื่อเสียงทั่วโลก เธอจึงเริ่มไม่พอใจสภาพของตนและเริ่มต้นเปิดศึกแย่งที่นั่งบนรถเมล์กับผู้ชาย

นวนิยายเรื่อง"เอนมันนุ่ง"จบลงด้วยความตายของเซเนีย เมื่อเธอตามคีราไปดูหนังและถูกทิ้งให้ลงจากรถ เธอถูกผู้ชายยี่สิบคนข่มขืน เมื่อเธอได้สติกลับมาบ้านเธอหยิบมีดขึ้นมาปาดเส้นเลือดและเอาหัวใส่เข้าไปในเตาอบ

ความตายของเซเนียทำให้คีรารู้สึกผิดอย่างที่ให้อภัยไม่ได้ ดอรีสจับขวานไว้ในมือและต้องการฆ่าเขา แต่เธอถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลบ้า

เมนนี่ทนสามีเธอไม่ได้และลุกขึ้นประท้วง หยิบมีดอีโต้ไล่ฟันเขาเมื่อเขาบ่นจุกจิก เธอถูกนำตัวเข้าสถานกักกันและควบคุมความประพฤติ

ทีอาเข้าโรงพยาบาลเพราะเป็นมะเร็งปากมดลูก

คริสต้า รายนิก (Christs Reinig)[ผู้เขียนวรรณกรรมเรื่องนี้] บรรยายชะตากรรมของผู้หญิงทั้งสี่คนว่า ในที่สุดพวกเธอต้องพบกับจุดจบในสังคมที่มีชายเป็นจุดศูนย์กลางอย่างคีรา ซึ่งได้แปลงเพศของตนเป็นหญิงในที่สุด (ศิริรัตน์, 2538 : 123-128)

6. Das Geschlecht der Gedanken (ผู้เขียน : Jutta Heinrich) [ค.ศ. 1977]
นวนิยายเรื่อง Das Geschlecht der Gedanken (ดาส เกชเลคท แดร์ เกดังเค่น) หรือ "เพศแห่งความนึกคิด" ของไฮนริช เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคนสามคน คนเล่าเรื่องคือลูกสาวชื่อ คอนนี่ เล่าเรื่องพ่อที่เธอไม่เคยเอ่ยชื่อถึงตั้งแต่ต้น แต่ตั้งสมญาให้พ่อว่า "ม้า" (คือผู้มีอำนาจและโหดเหี้ยม) ส่วนแม่คือ "มด" (คือผู้ไร้อำนาจและน่าสมเพช)ตั้งแต่เล็กจนโต คอนนี่ถูกฝึกให้เป็นลูกชายเพราะพ่อต้องการมีลูกชาย แม่บอกคอนนี่ตั้งแต่แรกว่า "เพศไร้ค่าประโยชน์อย่างแม่ ก็ได้แต่ทำให้กำเนิดเพศไร้ค่าประโยชน์อย่างลูก"

ทุกคืนตั้งแต่เด็ก คอนนี่จะแอบมองพ่อแม่ในเวลานอน เธอเห็นพ่อข่มขืนแม่ พ่อมักจะเย้ยหยันแม่ในเรื่องเพศโดยไม่คิดว่าลูกสาวจะเข้าใจ เมื่อคอนนี่โตเป็นสาวเธอเริ่มมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชาย เธอมีความสุขเมื่อเห็นภรรยาเพื่อนบ้านต่อว่าและทุบตีสามี

พ่อนำคอนนี่ไปอยู่โรงเรียนประจำของสำนักชี เธอเริ่มมีเพื่อนหญิงและชอบผู้หญิง มีความสุขกับการมีความสัมพันธ์กับเพศหญิงด้วยกัน เมื่อเพื่อนหญิงของเธอมีเพื่อนชาย คอนนี่จึงแก้แค้นด้วยการนำเรื่องคนทั้งสองไปฟ้องแม่ชี คอนนี่เรียนจบและเริ่มการทำงานที่ต้องย้ายไปตามเมืองต่างๆ เธอเห็นผู้คนมากขึ้นและมีความสุขมากขึ้น หากเธอสามารถแก้แค้นและทำให้พวกผู้ชายทั้งหลายวุ่นวาย

เมื่อเธอกลับมาเยี่ยมบ้านเพราะพ่อใกล้จะตายเธอไม่กลัวพ่ออีกต่อไป คอนนี่ห่วงแม่แต่ผู้เดียว ในตอนจบของเรื่องเมื่อคอนนี่พบว่ามีผู้ชายคนใหม่ เธอจึงปล่อยแม่ออกไปจากความกังวลของเธอ และคิดจะเริ่มต้นชีวิตของเธอโดยไม่มีพ่ออีกต่อไป (ศิริรัตน์, 2538 : 129)

+++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ

(1) Helene Cixous. Die Weiblichkeit in der Schrift (Berlin,1980), p.85-86, อ้างถึงใน ศิริรัตน์ ทวีเลิศนิธิ, การศึกษาเปรียบเทียบวรรณกรรมสตรีของเยอรมันและวรรณกรรมสตรีของไทย (ค.ศ.1970-1979). (กรุงเทพฯ : สำนัก พิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533),หน้า 42.

(2) Segrid Weigel. Die Stimme der Medusa (Delmen-Hiddingsel : Tende, 1987), p. 46, เรื่องเดียวกัน, หน้า 68-69.

(3) อ้างใน ภัทรพร หงษ์ทอง, "การศึกษาแนวคิดสตรีนิยมในนวนิยายของทมยันตีระหว่าง พุทธศักราช 2506-2534", วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538. หน้า 39.

(4) เรื่องเดียวกัน, หน้า 64

(5) Silvia Bovenschen, Die imaginerte Weiblichkeit, p. 11 ,เรื่องเดียวกัน,หน้า 22.

(6) Jurgen Serke, Frauen schreiben, p.11,เรื่องเดียวกัน, หน้า 29-30.

(7) Ruth Shrrry : Studying women's Writing London : Edward Arnold, 1988,p.20, อ้างใน กาญจนา แก้วเทพ และคณะ, "มิติที่ 1 อุดมการณ์ ความเชื่อ ค่านิยม สังคมวัฒนธรรม" ,หน้า 95-96.

(8) เรื่องเดียวกัน

(9) เรื่องเดียวกัน, หน้า 106.

(10) Karin Struck, Klassenliebe (Frankfurt : M : Suhrkamp, 1973), p. 174 , เรื่องเดียวกัน ,หน้า 99

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H

อย่างไรก็ตามวรรณกรรมสตรี คือลักษณะการเขียนที่เต็มไปด้วยอารมณ์ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในวรรณกรรมสตรี คือการเปิดเผยและบรรยายความสัมพันธ์ทางเพศจากมุมมองของสตรี และใช้ภาษาที่มีลักษณะเป็นอัตวิสัย โดยไม่เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัวอีกต่อไปและเห็นว่าการเขียนในแนวอัตวิสัย หรืออัตวิสัยหัวรุนแรงเป็นสิ่งที่ควรกระทำและควรตั้งใจกระทำ เพื่อประท้วงสิ่งซึ่งบุรุษเพศยกย่องเทิดทูนคือ ความมีเหตุผลหรือลักษณะภววิสัย

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น