บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๖๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙
14-11-2549



Law and Politics
The Midnight University

วิพากษ์ธาตุแท้ของอภิชนาธิปไตยไทย
เริ่มต้นประชาธิปไตยแบบภูมิปัญญาไทย
หรืออภิชนาธิปไตยขบวนสุดท้าย

ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล
ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ นำมาจากประชาไทออนไลน์
เป็นการวิพากษ์ข้อเสนอต่างๆ ของ ดร.ธีรยุทธ บุญมี ในบทความลำดับที่ ๑๐๖๘

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1069
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9.5 หน้ากระดาษ A4)

 

เริ่มต้นประชาธิปไตยแบบภูมิปัญญาไทยหรืออภิชนาธิปไตยขบวนสุดท้าย (ฉบับสมบูรณ์)
ธงชัย วินิจจะกูล : มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน

ข้อโจมตีผู้คัดค้านการรัฐประหารที่แพร่หลายที่สุดคือ ข้อกล่าวหาว่าคนเหล่านั้น...
ยึดติดกับมาตรฐานฝรั่ง - ไม่เข้าใจสังคมไทย, ยึดประชาธิปไตยแต่รูปแบบ - ไม่เข้าใจสาระที่แท้จริงของประชาธิปไตย, กอดคัมภีร์ - ไม่รู้จักความเป็นจริง, บ้าทฤษฎี - ไม่เข้าใจปฏิบัติ, เถรตรง - แต่ไม่เที่ยงตรง

สรุปได้ว่า ผู้คัดค้านการรัฐประหารไม่เข้าใจประชาธิปไตยตามความเป็นจริงที่เหมาะสมกับประเทศไทย ผู้เขียนเห็นว่า ข้อโจมตีข้างต้นเป็นแค่โวหารตื้นเขินที่โต้แย้งได้ง่ายๆ ทุกประเด็น ผู้ที่โจมตีด้วยข้อกล่าวหาดังกล่าวคงไม่เคยคิดให้ตลอดรอดฝั่งว่า เหตุผลของตนหนักแน่นเพียงใด เพราะหวังผลแค่การโฆษณาชวนเชื่อแค่นั้น

น่าเสียใจที่ปัญญาชนชั้นนำบางคนไม่คิดอะไรมากไปกว่านั้น กลับช่วยกันผลิตซ้ำโวหารโฆษณาชวนเชื่อต่อๆ ไป แทนที่จะถกเถียงกันในสาระสำคัญ ที่ผู้คัดค้านการรัฐประหารเสนอ คำแถลงของธีรยุทธ บุญมี เมื่อ 11 ตุลาคม 2549 (บทความลำดับที่ 1068)น่าจะเป็นตัวแทนของความคิดชนิดนี้ได้ดี กล่าวคือ ธีรยุทธ เสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับภูมิปัญญาไทย จึงขออนุโลมเรียกความคิดประชาธิปไตยทำนองนี้ว่า ประชาธิปไตยแบบภูมิปัญญาไทย

ประชาธิปไตยไทยเป็นแบบไทยมาตลอดไม่เคยคล้ายฝรั่งเลย ในบรรดาผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร มี นิธิ เอียวศรีวงศ์ และชาญวิทย์ เกษตรศิริ รวมอยู่ด้วย ผู้สนับสนุนการรัฐประหารอาจเห็นต่างจากทั้งสองท่าน แต่กล้าพูดเชียวหรือว่าตนเข้าใจสังคมไทย รู้จักวัฒนธรรมไทย เข้าใจความเป็นจริงดีกว่าและเที่ยงตรงกว่านิธิและชาญวิทย์ ซึ่งเอาแต่กอดตำราฝรั่งไม่เข้าใจสาระที่แท้จริงของประชาธิปไตย ความเห็นต่างกันต่อการรัฐประหารมิได้เป็นเพราะฝ่ายหนึ่งเป็นไทยอีกฝ่ายเป็นฝรั่งเลย แต่อยู่ที่สาระสำคัญของประเด็นต่างๆ

ปัญญาชนหลายคนรวมทั้งธีรยุทธ เสนอความคิดมาหลายปีแล้วว่าความรู้ของคนไทยตามฝรั่งมากเกินไป คราวนี้ก็โทษอีกว่าปัญหาของประชาธิปไตยไทย เกิดจากการที่ตามฝรั่งมากไป ผู้เขียนโต้แย้งมาหลายปีแล้วเช่นกันว่าความคิดเหล่านั้นเข้าใจผิดทั้งเพ ความเชื่อว่าเราผิดพลาดเพราะเป็นฝรั่งมากไปนั้น เป็นความเข้าใจที่ฟังดูเข้าท่าเข้าหูคนไทยดี พูดที่ไหนคนไทยก็นิยมเห็นด้วยได้ง่ายๆ แต่ความเชื่อนั้นผิดในข้อเท็จจริง และมักจะเป็นผลของการคิดสรุปเอาง่ายๆ จากปรากฏการณ์ผิวเผิน

สังคมวัฒนธรรมไทยผสมปนเปความรู้ค่านิยมฝรั่งมานานแล้ว ด้วยการเลือกคัดดัดแปลงธาตุใหม่ๆ ตามความต้องการและบนฐานความรู้ของสังคมไทยเอง แล้วพัฒนาสิ่งเหล่านั้นต่อมาตามสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขของสังคมไทยเอง ความรู้และวัฒนธรรมบางอย่างอาจมีเชื้อมูลของไทยน้อยหน่อย เป็นฝรั่งมากหน่อย อีกหลายอย่างมีทั้งฐานและเชื้อมูลเดิมที่แข็งแกร่ง ธาตุฝรั่งเข้ามาก็ถูกกลายพันธุ์แปลงภาษาจนเป็นไทยไปหมด บางแง่ดูเป็นฝรั้งฝรั่งแบบที่ฝรั่งเองก็ไม่เคยเป็น บางแง่เป็นไท้ยไทยแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย

สังคมวัฒนธรรมที่ผสมปนเปความรู้ค่านิยมฝรั่งตามแบบไทยๆ นี่แหละคือสังคมไทย ภูมิปัญญาและความเป็นไทยไม่ใช่มรดกดั้งเดิมที่แช่แข็ง แต่คือความเป็นจริงตามที่เป็นอยู่ ซึ่งต้อนรับดัดแปลงธาตุใหม่ๆ ให้กลายเป็นแบบไทยๆ ตลอดเวลาด้วย เช่นกันระบอบการเมืองประชาธิปไตยของไทยตั้งแต่สถาบัน ค่านิยม พฤติกรรม จนถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ล้วนสืบทอดมรดกวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยมาทั้งนั้น

แม้จะมีพรรคการเมือง การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญตามอิทธิพลประชาธิปไตยในโลก สถาบันการเมืองเหล่านี้กลายเป็นแบบไทยๆ ตั้งแต่เริ่ม แล้วพัฒนาต่อมาตามเงื่อนไขของสังคมไทยอีกเป็นเวลานาน พอๆ กับที่เราสามารถกล่าวได้ว่ากองทัพ กระบวนการยุติธรรม มหาวิทยาลัย วิชาการ สื่อมวลชนได้รับอิทธิพลฝรั่ง แต่กลายเป็นแบบไทยๆ ตั้งแต่เริ่ม แล้วพัฒนามาตามเงื่อนไขของสังคมไทยเองต่อมาอีกนาน

ประชาธิปไตยไทยจึงมีลักษณะเฉพาะตามประวัติศาสตร์ของตน เหมือนทุกสังคมมีลักษณะเฉพาะทั้งนั้น แต่ทุกแห่งมีลักษณะร่วมของสังคมมนุษย์ และวิถีประวัติศาสตร์ที่ประสานสอดคล้องกันไปหมดด้วยในเวลาเดียวกัน จนไม่มีสังคมใดเลยที่แตกต่างพิลึกพิลั่นจนประสบการณ์ร่วมของมนุษย์ประยุกต์ใช้ไม่ได้ ประชาธิปไตยไทยก็เช่นกัน

ประชาธิปไตยไทยไม่เคยเป็นแบบฝรั่งเลย แต่เป็นประชาธิปไตยตามภูมิปัญญาไทยมาแต่ไหนแต่ไร ความดีความชั่วระหกระเหินที่ผ่านมา ก็เพราะภูมิปัญญาไทยในระบอบการเมืองของเราเองนี่แหละ แต่ประชาธิปไตยไทยไม่ได้ต่างเสียจนกลายเป็นข้อยกเว้นหรือกลับตาลปัตรจากที่อื่นๆ การอ้างเอาความต่างเป็นเหตุผลเพื่อทำลายประชาธิปไตย หรืออ้างว่าการรัฐประหารเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ จึงเป็นการเล่นแร่แปรธาตุทางปัญญาที่ดูถูกประชาชนอย่างแรง เป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่ไร้ความรับผิดชอบ

ข้อเสนอให้ทำประชาธิปไตยเป็นแบบไทยๆ แทนการตามก้นฝรั่ง ดูเผินๆ จึงฟังเข้าที แต่ที่จริงเป็นโฆษณาชวนเชื่อให้เข้าใจผิดๆ ว่าปัญหาอยู่ที่ความเป็นไทยไม่พอ ทั้งๆ ที่จริงอาจตรงกันข้าม โฆษณาชวนเชื่อนี้ยังหลีกเลี่ยงการถกเถียงในสาระสำคัญ (เช่น อภิชนคือใคร ควรยอมให้มีอำนาจแค่ไหน ประชาชนไว้ใจไม่ได้จริงหรือ เป็นเพราะอะไร ควรทำยังไงให้ไว้ใจได้ ฯลฯ) อีกด้วย

อย่าลืมว่าการกล่าวหาว่าผู้นิยมประชาธิปไตยไม่ใช่ไทยแท้หรือเป็นไทยไม่พอ เป็นข้อกล่าวหาอัปลักษณ์ที่ใช้มาหลายครั้งเต็มที สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็หาว่าผู้ต้องการปาลิเมนต์เป็นพวกต้องการเอาข้าวสาลีมาปลูกแทนข้าวเจ้า, สมัยกบฏ ร.ศ.130 ก็ถูกหาว่าเป็นแค่พวกเอาอย่างปฏิวัติจีน, การปฏิวัติ 2475 ก็ถูกฝ่ายนิยมระบอบเดิมและนักวิชาการนิยมเจ้า หาว่าเป็นแค่นักเรียนนอกหัวรุนแรงไม่กี่คน

คราว 14 ตุลา ก็ถูกหาว่าคอมมิวนิสต์ยุยง คราวนี้เอาอีกแล้ว - ตามก้นฝรั่ง กอดคัมภีร์ฝรั่ง น่าเสียใจว่าคนที่กล่าวหาคราวนี้เคยถูกเข่นฆ่ามาก่อน เพราะถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นไทย แต่กลับมาใช้ข้อกล่าวหาอัปลักษณ์เช่นนี้เสียเอง ไม่ว่าจะเกิดจากความจงใจหรือสัมฤทธิผลทางการเมือง หรือเกิดจากความไม่รู้จักสังคมประวัติศาสตร์ไทยเอง หรือเกิดจากความเผอเรอก็ตาม...โปรดหยุดการกล่าวหาอย่างนี้เสียทีเถิด

ขอร้องครับ จะทะเลาะกันขนาดไหนก็ขอความกรุณาอย่าใช้วิธีการน่ารังเกียจเช่นนี้เลย น่าเสียใจที่นักวิชาการหลายคนเป็นผู้ผลิตวาทกรรมโฆษณาชวนเชื่อนี้เสียเอง หรือถ้านักวิชาการเชื่อตามที่ตนพูดจริงๆ ก็น่าจะเป็นดรรชนีชี้คุณภาพของวิชาการไทยได้ดีกว่าการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยสำนักใดๆ ทั้งสิ้น แต่เราจะได้เห็นต่อไปว่า ธีรยุทธ ยังกล้าพูดความจริงเกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบไทยมากกว่าอีกหลายคน

คุณสมบัติสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยที่ยังฝังรากลึกมาก คือ ความเชื่อใน 'บารมี' ของอภิชน เชื่อว่าผู้มีบารมีย่อมอยู่เหนือคนธรรมดา สมควรมีสิทธิมีอำนาจมากกว่า

"บารมี" คือ อำนาจอันเกิดจากศีลธรรมที่สูงส่งกว่า (ซึ่งธีรยุทธอาจลืมไปหรืออาจเป็นฝรั่งมากไปหน่อยจนไม่รู้จักคำนี้ดีพอ จึงต้องใช้ภาษาไทยปนเขมรปนแขกว่า 'อำนาจศีลธรรม' แล้วกำกับด้วยภาษาอังกฤษว่า 'Moral Authority') บารมีเกิดได้มีได้หลายรูปแบบตามสังคมวัฒนธรรมที่ต่างกันและเปลี่ยนไป เช่น การครอบครองสิ่งศักดิ์สิทธิ์, การประพฤติธรรม, สมณเพศ, ความอยู่เย็นเป็นสุขของลูกน้อง, หรือบุคลิกภาพที่ดูซื่อสัตย์ทรงธรรม. อภิชนก็เกิดได้มีได้หลายรูปโฉม เช่น กษัตริย์, ขุนนาง, นักรบ, เศรษฐี, ข้าราชการ, นักการเมือง, ราษฎรอาวุโส, หลวงปู่, เกจิอาจารย์ท่านต่างๆ, หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย

การเมืองไทยแต่โบราณ ก็คล้ายๆ สังคมโบราณที่อื่นๆ ในโลก กล่าวคือ เป็นเรื่องของอำนาจบารมี เชื่อกันว่าถ้าผู้นำมีบารมีทุกอย่างจะดีเอง ไม่ใช่เรื่องของนโยบาย หรือทิศทางการบริหารประเทศ วัฒนธรรมการเมืองแบบนี้ยังเห็นได้ตลอดเวลาในปัจจุบัน เช่น การเน้นที่ศีลธรรม คุณธรรม ความซื่อสัตย์

อันที่จริงประชาธิปไตยในโลกตะวันตกก็มีวิวัฒนาการมานานในครรลองคล้ายๆ กัน กล่าวคือ มิได้นับว่าประชาชนทุกคนเท่าเทียมกันแต่อย่างใด จนกระทั่งประมาณกว่า 100 ปี ที่ผ่านมานี้เอง ประชาธิปไตยโบราณจึงหมายถึงอำนาจของเจ้าทาสและปัญญาชนเมืองเท่านั้น. ประชาธิปไตยยุคต้นสมัยใหม่หมายถึง อำนาจของผู้ชายผิวขาวผู้มีทรัพย์และเสียภาษีเท่านั้น ฝรั่งเองก็ใช้เวลาหลายร้อยปี กว่าจะยอมรับว่า ประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน
ดังนั้น สังคมไทยจึงเลือกรับดัดแปลงประชาธิปไตยให้เข้ากับวัฒนธรรมอภิชนแบบไทยๆ ซะ ผลก็คือ

ประชาธิปไตยที่ยังคงความเชื่อในผู้มีบารมี ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ พ่อขุน นายพล อธิการบดี อาจารย์มหาวิทยาลัย นักการเมืองที่ประสบความสำเร็จ และราษฎรอาวุโส ประชาชนเป็นใหญ่ในระบอบนี้ แต่มีบางคนใหญ่กว่าประชาชน วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยจึงให้อภิชนเหล่านี้มีอำนาจหรืออิทธิพลเหนือประชาชนธรรมดาในรูปแบบต่างๆ บางทีก็สร้างสมจนกลายเป็นสถาบันถาวรไปเลย

รัฐบาลประชาธิปไตยที่ออกนอกลู่นอกทางวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทยๆ จึงต้องถูกขจัด และต้องพยายามเอาคุณธรรมแบบไทยๆ กลับเข้ามานำประชาธิปไตยอีกครั้ง แต่ตลอดระยะประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย ก็มีความคิดเห็นแตกต่างอยู่เสมอว่า ใครคือ อภิชนที่ควรมีอำนาจมากกว่ากัน ประชาชนควรได้อำนาจมากขึ้นหรือยัง ประชาชนพร้อมหรือยัง ประชาชนควรมีเสรีภาพหรือยัง มีมากไปไหม คนชนบทยังโง่อยู่จะทำยังไง

ความแตกต่างเหล่านี้เกิดจากสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จนแตกต่างหลากหลายเกินกว่าวัฒนธรรมแบบสังคมหมู่บ้านหรือเมืองเล็กๆ จะรับมือไหว คนไทยต่างสถานะต่างชนชั้นต่างอุดมการณ์ความคิด จึงมีความปรารถนาจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ต่างกัน นิยามความเป็นประชาชนต่างกัน ไว้ใจประชาชนมากน้อยไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น กลุ่มเจ้าย่อมต้องการระบอบที่คงสถานะของพวกตนไว้ ด้วยการอ้างอิงวัฒนธรรมไทยตามทัศนะของตน เป็นต้น

การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือ การสืบทอดวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทยๆ กระแสครอบงำ แถมคราวนี้ทำกันอย่างโจ่งแจ้งชัดเจนไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน

ธีรยุทธ บุญมี เป็นตัวแทนที่ดีที่สุดอีกแล้ว กล่าวคือ ธีรยุทธเรียกร้องว่า การเมืองของนักการเมืองควรถูกถ่วงดุลกำกับด้วยผู้มีอำนาจทางศีลธรรมที่สูงส่งกว่า เป็นพลังคุณธรรมของบ้านเมือง เขาระบุตรงไปตรงมาว่าพลังนี้ได้แก่ สถาบันยุติธรรม, ทหาร, นักวิชาการ, กลุ่มต่อต้านโลกาภิวัตน์, ชนชั้นสูง, องคมนตรี, เป็นต้น เขาระบุถึงขนาดว่านักวิชาการควรมาจากมหาวิทยาลัยเก่าๆ

ธีรยุทธ เห็นว่า นี่คือประชาธิปไตยที่เป็นแก่นสาร ไม่ใช่แค่รูปแบบ ในทางตรงกันข้าม เขาเห็นว่าการเน้นสิทธิของปัจเจกบุคคลผ่านการเลือกตั้งเป็นที่มาของประชาธิปไตยที่ล้มเหลว เพราะปัจเจกชนถูกทุนครอบงำง่าย ไว้ใจไม่ได้ มีแต่อภิชนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่รู้เท่าทันทุนและไม่ถูกครอบงำ จึงต้องสร้างสถาบันของผู้มีศีลธรรมมากำกับ

อาจกล่าวได้ว่า พวกแรกควรถูกลดทอนสิทธิอำนาจ หรือกล่าวให้ถูกต้องกว่าก็คือ พวกหลังควรมีอภิสิทธิ์และอำนาจเหนือคนอื่น เพราะมีคุณธรรมสูงกว่า ธีรยุทธยังผลิตซ้ำความเข้าใจง่ายๆ ที่ผิดว่า การเมืองเป็นเรื่องสกปรก ดังนั้นผู้มีอำนาจทางศีลธรรมที่กำกับการเมืองจึงควรปลอดการเมือง ควรยุ่งแต่เรื่องจริยธรรมเท่านั้น

ประชาธิปไตยแบบภูมิปัญญาไทยของธีรยุทธ จึงหมายถึง ระบอบการเมืองที่ประชาชนผู้อ่อนศีลธรรม สมควรถูกกำกับด้วยผู้มีบารมีสูงกว่า เป็นประชาธิปไตยแบบมีอภิชนอยู่เหนือประชาชนทั่วไป ความชอบธรรมของพวกเขาคือ มีศีลธรรมคุณธรรมสูงกว่าประชาชนธรรมดา ตรงตามวัฒนธรรมทางการเมืองตามทัศนะของชนชั้นนำไทยเป๊ะ แต่คราวนี้เสนอกันออกมาตรงๆ โจ่งแจ้งกันไปเลย นี่คือประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ใช่แค่เปลือก คือประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับความเป็นจริงของไทย ไม่ยึดติดคัมภีร์ หรือว่านี่คืออภิชนาธิปไตยขนานแท้ ตอกย้ำความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบโบราณ ซึ่งเชิดชูอภิชนและให้อำนาจแก่อภิชน เป็นประชาธิปไตยเป็นแค่เปลือกแค่รูปแบบแค่นั้นเอง

แต่อภิชนาธิปไตยแบบวัฒนธรรมไทยตามข้อเสนอของธีรยุทธไม่ใช่แบบเดิม ๆ สมัยสฤษดิ์อีกต่อไป
ประชาธิปไตยแบบภูมิปัญญาไทยของธีรยุทธคือ การทำให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบหลัง 14 ตุลา กลายเป็นสถาบันทางการเมืองอย่างเป็นทางการเปิดเผยกันไปเลย กล่าวคือ เป็นระบบการเมือง 2 ชั้น

- ชั้นล่างได้แก่นักการเมือง ประชาชนปกติธรรมดา ซึ่งก็ควรเลือกตั้งกันต่อไป ซื้อขายเสียงและทะเลาะกันต่อไปตามปรกติ
- ส่วนชั้นบนได้แก่ผู้มีบารมีทั้งหลาย ที่คอยกำกับชั้นล่างให้อยู่ในร่องรอย

ต้องขอขอบคุณธีรยุทธที่ช่วยทำให้ภาวะอย่างนี้โจ่งแจ้งเห็นกันชัด ๆ แทนที่จะมัวแอบอ้างลอยตัวทำเป็นคนดีมีคุณธรรมแบบเงียบ ๆ อย่าง 30 กว่าปีที่ผ่านมา ธีรยุทธยังกล้าหาญขอขยายแวดวงของชั้นบนออกไป กล่าวคือ อภิสิทธิชนไม่จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มผู้ดีมีสกุลและองคมนตรี แต่จะมีจำนวนมากขึ้นและเห็นกันชัด ๆ เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย (เก่าๆ ) ผู้อาวุโสที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์ และคนในสถาบันตุลาการ

หากทำตามข้อเสนอของธีรยุทธ อภิชนาธิปไตยคงจะเปิดเผยตรงไปตรงมาว่าใครบ้างอยู่เหนือหัวประชาชน สถาบันของสังคมทั้งทหาร ตุลาการ ข้าราชการ มหาวิทยาลัยก็ควรจะประกาศให้ชัดไปเลยว่าตนไม่อยู่ใต้อำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะตนสังกัดชนชั้นบนเหล่านั้น ทำเช่นนี้ประชาชนจะได้ตรวจสอบตรงไปตรงมาเช่นกัน

หากจะยกระดับข้อเสนอของธีรยุทธให้ดียิ่งขึ้น (ขอย้ำเสียก่อนว่านี่มิใช่การประชดประชันเลยสักนิด) ควรบัญญัติให้เป็นกฎหมายหรือลงไปรัฐธรรมนูญเลยว่า พลเมืองไทยมีสิทธิไม่เท่ากันต่างกันตามระดับของการรับรู้ข่าวสารและระดับศีลธรรม ควรระบุให้ชัดเจนว่าอภิชนมีสิทธิและอำนาจมากกว่าอย่างไร จะให้อำนาจคนกรุงผู้มีการศึกษาเหนือคนชนบทและคนจนในกรุงไหม ควรระบุลงไปเลยดีไหมว่า องคมนตรีและราษฎรอาวุโสทั้งหลายเป็นสภาอัครมหาคุณธรรมเหนือการเมือง เหนือสถาบันทางการเมืองทั้งหลาย

ควรระบุด้วยว่า ภูมิปัญญาและศีลธรรมวัดกันตรงไหน ควรมีการประกวดระหว่างอภิชนชั้นบนว่า ใครมีศีลธรรมมากกว่ากัน เพื่อให้สังคมมีโอกาสรับรู้และร่วมตัดสินใจว่า ความมีศีลธรรมวัดกันตรงไหนดีกว่ากัน เพราะสังคมไทยปัจจุบันมีความสับสนมากในเรื่องนี้ ไม่เพียงแต่การนับถือเงิน และหลงใหลวัตถุเป็นพระเจ้าเท่านั้น แต่แม้กระทั่งนักประชาธิปไตยยังยอมรับผู้มีส่วนในการสังหารหมู่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม และพฤษภา 35 ว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม นักวิชาการผู้ทรงภูมิปัญญาพากันเข้านอบน้อมผู้มีมลทินท่วมตัวในฐานะผู้มีบารมีมีคุณธรรม

ถ้าต้องการคุณธรรมนำประชาธิปไตย ก็ควรอธิบายให้ได้ว่า อะไรคือความมีคุณธรรมที่ไม่ใช่หน้าไหว้หลังหลอก ไม่ใช่มือถือสากปากถือศีล และไม่ใช่สอง-สาม-สี่มาตรฐานตามใจชนชั้นกฎุมพีเมือง ถ้าอภิชนทั้งหลายตกลงกันได้ว่าจะตัดสินความมีศีลธรรมกันตรงไหน การตรวจสอบก็ง่ายขึ้น จะได้ไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนทำตัวเป็นอีแอบในระบบการเมืองอีกต่อไป

ทั้งหมดไม่ใช่การประชดประชันแต่อย่างใด แต่เป็นข้อเสนอต่อยอดของธีรยุทธ เพื่อให้อภิชนาธิปไตยหรือประชาธิปไตยแบบภูมิปัญญาไทยมีความโปร่งใสตรงไปตรงมาที่สุด เพื่อให้ประชาชนเห็นชัด ๆ แล้วตัดสินว่าต้องการแบบนี้หรือไม่ เอาไหม ถ้าประชาชนต้องการอภิชนาธิปไตยที่มีประชาธิปไตยเป็นเปลือก พอใจประชาธิปไตย 2 ชั้นที่มีอภิชนอยู่ชั้นบน ก็ควรจะเอาตามประชาชนต้องการ

วาทกรรมที่เป็นเครื่องมือของอภิชนาธิปไตย ประชาธิปไตยแบบภูมิปัญญาไทยที่ผ่านมาสร้างพื้นที่ให้แก่อภิชนและผู้มีบารมีทั้งหลายด้วยวาทกรรมการเมือง 3 ประการ

- หนึ่ง ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง
- สอง การเมืองไร้คุณธรรม
- สาม โดยมีวาทกรรมทรงพลังที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด ได้ผลที่สุดที่เชื่อมโยงสองข้อแรกเข้าด้วยกันคือ วาทกรรมว่าด้วย "นักการเมืองคอร์รัปชั่น"

คำกล่าวที่ว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ย่อมถูกต้องเสมอไม่มีทางปฏิเสธได้เลย ในระบบประชาธิปไตยที่เชื่อมั่นในประชาชนคำกล่าวนี้มีผลเชิงสร้างสรรค์ คือ เป็นการสร้างความชอบธรรมที่ประชาสังคมและประชาชนจะต้องรวมตัวกัน สร้างอำนาจของตนเองจนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการเลือกตั้ง

แต่คำกล่าวนี้มิใช่เพื่อปฎิเสธการเลือกตั้ง การเลือกตั้งยังคงเป็นความชอบธรรมสูงสุดในการตัดสินอำนาจทางการเมือง ทว่าในประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมาวาทกรรมดังกล่าวถูกใช้ใน 2 ทาง กล่าวคือในขณะที่บางคนใช้อย่างถูกต้องเพื่อสนับสนุนการสร้างอำนาจประชาชน แต่หลายคนใช้เพื่อปฏิเสธการเลือกตั้ง ปฏิเสธความชอบธรรมของเสียงของประชาชนที่ถูกหาว่าโง่ ขาดข้อมูลข่าวสาร หรือถูกครอบงำโดยอำนาจเงิน เป็นการใช้คำกล่าวนี้ในทางทำลาย

และเมื่อบวกกับวาทกรรมประเภทที่สองและสามดังจะกล่าวต่อไป วาทกรรมประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งจึงกลายเป็นการเปิดประตูแก่อภิชนในที่สุด

วาทกรรมที่ว่าการเมืองของนักการเมืองสกปรกไร้คุณธรรม เป็นทัศนะของอนุรักษ์นิยมไทยมาตลอดที่พยายามปฏิเสธว่านักการเมืองเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้มีการปะทะต่อสู้ต่อรองผลประโยชน์และแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ ในสังคมที่แตกต่างหลากหลายเกินกว่าจะอาศัยเพียงบารมีของอภิชนมาแก้ปัญหา พวกอนุรักษ์นิยมยังเห็นการเมืองเป็นเรื่องของผู้ปกครองผู้ทรงธรรม ที่จะบันดาลความร่มเย็นเป็นสุขแก่ราษฎร

คงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า การเมืองต้องมีคุณธรรมหรือจริยธรรมทางโลกย์กำกับอยู่ แต่การเมืองเรื่องของคุณธรรมเป็นอุดมคติของอภิชน เพื่อเน้นย้ำทุนทางวัฒนธรรมที่ตนสะสมและอ้างอิงอยู่เสมอ ทว่าคุณธรรมหรือบารมี ที่วาทกรรมนี้อ้างอิง กลับอยู่ในกรอบความคิดของกฎุมพีเมืองและอภิชนเท่านั้น

ดังนั้น วาทกรรมหลักที่ใช้ปฏิเสธอำนาจประชาชนและเสริมอำนาจอภิชน จึงได้แก่วาทกรรมนักการเมืองคอร์รัปชัน เราปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า คอร์รัปชันระบาดทั่วไปในวงการเมือง และประชาชนต้องการขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน แต่วาทกรรมนี้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมากลายเป็นหัวหอกแก่ประชาธิปไตยของอภิชน ด้วยการทำให้วาทกรรมนี้กลายเป็นอาวุธทางการเมืองโดยไม่ต้องพิสูจน์ว่านักการเมืองทุจริตแหง ๆ ทุจริตรุนแรงเสียด้วย และการเลือกตั้งเต็มไปด้วยการซื้อเสียง เสียงของประชาชนจึงเชื่อถือไม่ได้

นักการเมืองกลายเป็นบุคคลน่ารังเกียจจนผู้คนสงสัยว่า จะมีประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งไปทำไมกัน วาทกรรมนักการเมืองคอร์รัปชัน แทบจะกลายเป็นภารกิจด้านเดียวของสื่อมวลชน เพราะช่วยให้ขยายได้ มีเกียรติภูมิ และทำให้ตนเองพลอยมีคุณธรรมสูงส่งไปด้วย วาทกรรมทั้งสามช่วยกันสร้างความเกลียดชังนักการเมืองจนมีแต่ความระแวงไม่ไว้ใจ ซึ่งยังผลขับไสให้อภิชนสูงเด่นขึ้น โดยเฉพาะอภิชนชั้นบนเหนือปริมณฑลทางการเมือง

ยิ่งมีระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง กลายเป็นว่าสถานะของอภิชนในระบบการเมืองกลับยิ่งเด่นเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ความมีบารมีของอภิชนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นองคมนตรี จนกระทั่งราษฎรอาวุโส และนักวิชาการบางคนกลับสูงเด่นยิ่งขึ้น พันธมิตรระหว่างภาคประชาชนกับอภิชน จึงก่อตัวขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อจำกัดทำลายความชอบธรรมของประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง

ฤาจะเป็นอภิชนาธิปไตยขบวนสุดท้าย
ผู้สนับสนุนรัฐประหารมักหาว่าผู้คัดค้านไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นจริงของสังคมไทย ความจริงคือผู้กล่าวเช่นนั้น ส่วนมากไม่เคยเข้าใจประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยเลย คิดง่าย ๆ เข้าใจหยาบ ๆ แค่ว่าประชาธิปไตยคือการต่อต้านอำนาจฉ้อฉล ความเข้าใจนี้ไม่ผิดแต่ไม่พอและฉาบฉวย มีสักกี่คนที่พยายามเข้าใจวิวัฒนาการความสัมพันธ์ทางอำนาจของกลุ่มพลังทางสังคมตลอดร้อยปีที่ผ่านมา

หากคนเหล่านี้คิดและเข้าใจประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทยมากขึ้น คิดให้พ้น Pragmatism มีสติพ้นจากความเกลียดโกรธจนหน้ามืด จะพบว่าการรัฐประหารครั้งนี้อาจไม่ใช่จุดเริ่มของประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม แต่อาจเป็นจุดเริ่มของอภิชนาธิปไตยขบวนสุดท้าย

ผู้เขียนเคยอธิบายประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยตามความความคิดของตนเองไว้ในที่อื่น (ดู ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา และ บทบันทึกการสัมมนา "โครงการเปลี่ยนประเทศไทย" ในฟ้าเดียวกัน ฉบับ กรกฎาคม - กันยายน 2549) น่าเสียดายที่คำเตือนของผู้เขียนเมื่อ 14 ตุลา ปีก่อน และข้อเรียกร้องให้ไปให้พ้นอภิชนาธิปไตยแบบแอบแฝงตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมาถูกเมินเฉย ซ้ำปัญญาชนนักประชาธิปไตยไทยกลับเป็นผู้สนับสนุนอภิชนาธิปไตยอย่างเอิกเกริกเปิดเผย

แต่ตามเค้าโครงประวัติศาสตร์ดังกล่าว รัฐประหาร 19 กันยา จึงไม่ใช่การถอยหลังหนึ่งก้าวเพื่อเริ่มประชาธิปไตยแบบแท้จริง แต่กลับเป็นการถลำลึกยิ่งขึ้นไปในระบอบประชาธิปไตยแบบอภิชน ซึ่งเติบโตมาตลอดนับจาก 14 ตุลา 2516 น่าเสียดายที่นักวิชาการจำนวนมากไม่เห็นประวัติศาสตร์ หรือเห็นแค่ฉาบฉวยตื้น ๆ จนทำตัวรับใช้ระบอบอภิชนาธิปไตยกันไปหมด

ตามเค้าโครงประวัติศาสตร์ดังกล่าว มีความเป็นไปได้สูงที่อำมาตยาธิปไตยแบบเดิม ๆ จะไม่หวนกลับมา ดังที่ธีรยุทธคาดการณ์ไว้ เพราะประชาธิปไตยแบบอภิชนศักราชนี้ สามารถอยู่ร่วมกับประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนพอสมควร เพราะประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งและเสรีภาพดังกล่าวไม่เป็นภัยต่ออภิชนชั้นบน

การต่อต้านทักษิณที่ผ่านมาก็เป็นความร่วมมือกันระหว่างอภิชนทั้งหลาย รวมทั้งรัฐประหารคราวนี้และระบอบประชาธิปไตยหลังจากนี้ จึงอาจไม่ใช่การถอยหลัง แต่เป็นการเดินหน้าสู่อภิชนาธิปไตยที่โจ่งแจ้งล่อนจ้อนอย่างที่คนรุ่นปัจจุบันไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน อภิชนทั้งหลายเดินแถวอย่างออกหน้าออกตาเปิดเผย รวมทั้งอภิชนหน้าใหม่ เช่นอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหลาย ที่ออกมาทำตัวเป็นผู้มีคุณธรรมความดี และเป็นหัวหอกให้แก่อุดมการณ์หลักของเหล่าอภิชนเสียยิ่งกว่าอภิชนทำเองเสียอีก แบไพ่ในมือแทบจะหมดหน้าตักแล้ว นึกไม่ออกว่าจะเหลืออะไรในมือให้เล่นกันอีกในอนาคต

ภาวะเช่นนี้คือจุดเริ่มของประชาธิปไตยแท้จริง (ตามวัฒนธรรมไทยในทัศนะของอภิชน) หรือเป็นจุดเริ่มของอภิชนาธิปไตยขบวนสุดท้าย ?

(ที่มา : ประชาไทออนไลน์ นำมาจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจอีกทอดหนึ่ง)

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H

การต่อต้านทักษิณที่ผ่านมาก็เป็นความร่วมมือกันระหว่างอภิชนทั้งหลาย รวมทั้งรัฐประหารคราวนี้และระบอบประชาธิปไตยหลังจากนี้ จึงอาจไม่ใช่การถอยหลัง แต่เป็นการเดินหน้าสู่อภิชนาธิปไตยที่โจ่งแจ้งล่อนจ้อนอย่างที่คนรุ่นปัจจุบันไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน อภิชนทั้งหลายเดินแถวอย่างออกหน้าออกตาเปิดเผย รวมทั้งอภิชนหน้าใหม่ เช่นอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหลาย ที่ออกมาทำตัวเป็นผู้มีคุณธรรมความดี และเป็นหัวหอกให้แก่อุดมการณ์หลักของเหล่าอภิชนเสียยิ่งกว่าอภิชนทำเองเสียอีก แบไพ่ในมือแทบจะหมดหน้าตักแล้ว นึกไม่ออกว่าจะเหลืออะไรในมือให้เล่นกันอีกในอนาคต

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น