บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๖๘ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙
13-11-2549



Law and Politics
The Midnight University

ข้อเสนอต่อรัฐบาลชั่วคราวและเรื่องรัฐธรรมนูญ
มองรัฐประหาร และ รัฐธรรมนูญฉบับภูมิปัญญาไทย
ดร. ธีรยุทธ บุญมี
คณะสังคมวิทยามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ นำมาจากประชาไทออนไลน์
จากเรื่อง "ขาประจำมาแล้ว'ธีรยุทธ'มองรัฐประหาร 'ไม่เชื่ออำมาตยาธิปไตยจะกลับมา"
โดยรายละเอียดประกอบด้วย
๑. รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ๒. ภาพรวมการเมืองไทย
๓. ต้องพัฒนารัฐธรรมนูญฉบับภูมิปัญญาไทย
๔.
ตอบคำถามสื่อมวลชน
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1068
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10.5 หน้ากระดาษ A4)

 

มองรัฐประหาร และ รัฐธรรมนูญฉบับภูมิปัญญาไทย
ธีรยุทธ บุญมี : คณะสังคมวิทยามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความนำ
ขาประจำมาแล้ว 'ธีรยุทธ' มองรัฐประหาร 'ไม่เชื่ออำมาตยาธิปไตยจะกลับมา'
"ผมเชื่อว่าไม่กลับมาเพราะมีบทเรียนแล้ว การจัดการปัญหาเรื่องพรรคการเมืองยากมาก ต้องมีบุคคลที่มีบารมี มีประสบการณ์ มีอะไรต่างๆ เช่น ให้พล.อ.เปรมไปคุยกับคุณบรรหารแป๊บเดียวก็หลงทิศผิดทางแล้ว เขาจะพาไปมากกว่าพาเขาไป ขีดความสามารถนักการเมืองมีมากกกว่า"

นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการคณะสังคมวิทยามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์มุมมองที่มีต่อข้อกังวล 'อามาตยาธิปไตย' หลังการเสวนาวิชาการ 'รัฐบาลใหม่กับปัญหาทางสังคมการเมืองไทยในอนาคต' ณ ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 11 ต.ค. 49

เมื่อถามถึงความหวังต่อรัฐบาลชุดนี้ นายธีรยุทธตอบว่า
"ผมไม่หวังกับรัฐบาลชุดนี้มาก หวังปานกลางก็พอ เวลาน้อย ให้หนุนเรื่องแก้คอรัปชั่นเพราะจะถาวรกว่า นอกจากนี้ให้หนุนเรื่องโครงสร้างกับเรื่องทิศทางเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องอื่นก็พอประคองไปได้ อีกเรื่องที่อยากฝากคือเรื่องการสื่อกับชาวบ้านเพราะสมัยทักษิณชาวบ้านจะชอบ ผู้นำต้องทำตรงนี้ให้มาก"
(ธีรยุทธ บุญมี - คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

(1) รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ
1.1 ข้อเสนอต่อรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์
รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งน่าจะขนานนามน่ารักๆ ว่า รัฐบาล OT ซึ่งแปลได้ทั้งเป็นรัฐบาล Old Technocrat และรัฐบาลล่วงเวลา (Over Time) คือเน้นข้าราชการ ผู้ชำนาญการอาวุโสที่เสียสละมาแก้วิกฤติชาติ ซึ่งก็น่าจะปฏิบัติภารกิจหนึ่งปีของตนได้ลุล่วง นำพาประเทศพ้นวิกฤตไปได้เพราะ

ก. ด้านเสถียรภาพ มีข้อกังวลไม่มาก เพราะ พล.อ.สุรยุทธ์ (นายกรัฐมนตรี) มีความสุขุม มั่นคง ไทยรักไทยจะสลายตัวเป็นเพียงพรรคย่อย บรรดาผู้นำจำนวนหนึ่งจะมีความผิด และถูกลงโทษตามกฎหมายใน 3-6 เดือนข้างหน้า ส่วนอุดมการณ์ประชานิยมยังไม่ได้ฝังรากลึกในหมู่รากหญ้า กลุ่มต่างๆ ของพรรคจะลอยตัว รอเวลาวิ่งเข้าหาศูนย์อำนาจการเมืองใหม่

ข. ด้านเศรษฐกิจ แม้ภาพรวมของประเทศจะไม่ดีนัก แต่ประสบการณ์ ความสุขุม และความสามารถของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ จะประคองเศรษฐกิจไปได้ด้วยดี

ค. ด้านทิศทางของประเทศ หลังยุคประชานิยมว่าจะไปทางใด เป็นภาระหลักซึ่งคณะรัฐมนตรีต้องขบคิด และที่สำคัญยิ่งคือ ต้องช่วยกันถ่ายทอดเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจอย่างทั่วถึง

ง. ความประทับใจของประชาชน สำคัญมาก เพราะรัฐบาลทักษิณใช้การตลาดให้ชาวบ้านได้บริโภคข่าวของความหวัง การทำงานที่รวดเร็วแม้จะไม่เป็นมรรคผล จนประชาชนเสพติด นายกฯ สุรยุทธ์ คลุกชาวบ้านได้ แต่ควรสื่อสารกับชาวบ้านมากขึ้นโดยมีคนอื่นๆ อาทิ ธีรภัทร เสรีรังสรรค์, จรัญ ภักดีธนากุล, วิจิตร ศรีสอ้าน, สุวิทย์ ยอดมณี, ช่วยสนับสนุน

1.2. รัฐบาลกับ 7 ภารกิจการปรองดองชาติในระดับโครงสร้าง
ภารกิจหลักของรัฐบาล คือ การสร้างความปรองดองในชาติ แต่ความปรองดองนี้ต้องไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ต้องเป็นการแก้เชิงโครงสร้าง เพื่อสร้างฐานรากให้กับการปรองดองแห่งชาติ (national reconciliation) อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ต้องมองว่าในโครงสร้างของวิกฤตมีคู่ขัดแย้ง 2 ด้านอยู่ ต้องคำนึงทั้ง 2 ด้าน และสร้างสมดุลระหว่างกันให้ได้

1.2.1. ผลของการล้มระบอบคอร์รัปชัน ทรท.
สร้างความขัดแย้งระหว่างคณะผู้ทำการ เป็นพลังซึ่งเน้นด้านคุณธรรมของบ้านเมือง (moralist forces) กับพลังประชาธิปไตยส่วนหนึ่ง ต้องไม่แก้ปัญหาด้วยการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ แต่แก้ด้วยการยกระดับความเข้าใจกัน และขยายสิทธิเสรีภาพของพลังประชาธิปไตยและชาวบ้านให้กว้างขึ้น

1.2.2. วิกฤติที่ผ่านมาทำให้"คนเมือง"ขัดแย้งกับ"คนชนบท"
"คนชั้นกลาง/สูง"ขัดแย้งกับ"รากหญ้า" ทางแก้ไม่ใช่กีดกันชนบทว่าเป็นพวก ทรท. แต่ต้องขยายความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และการยอมรับทางการเมืองสังคม เพื่อความปรองดองของเมืองและชนบท อีกปัญหาหนึ่งคือ รัฐบาลแต่งตั้งที่มาจากชนชั้นนำและคนดี มักปิดตัวเอง ไม่รับฟังคนอื่น การให้อำนาจประชาชนเสนอวาระหรือปัญหาของชาติเป็นหลักสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย

1.2.3. สร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความสุขของชาวบ้าน
นโยบายเศรษฐกิจไทยละเลยภาคชนบทมาตลอด ประชานิยมจึงได้ผลอย่างมาก รัฐบาลใหม่ยังคงต้องใช้จ่ายเงินเพื่อภาคชนบทแต่ให้ถูกทิศทางขึ้น เช่น ขยายอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ยากจนให้มากกว่าภูมิภาคอื่น เน้นเศรษฐกิจเมือง หมู่บ้าน ขนานไปกับ SME

ประชานิยมสร้างหนี้และการบริโภคฟุ่มเฟือย ทำให้ชนบทอ่อนแอ นโยบายใหม่ควรสร้างให้ภาคชนบทและเศรษฐกิจรากหญ้าเข้มแข็ง มุ่งเน้นไปที่การศึกษาวิจัยด้านสุขภาพ วัฒนธรรม สินค้าพื้นถิ่น เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้กับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภายใน/ภายนอก เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสุขภาพ และบริการ ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย มีงบสนับสนุนการศึกษาวิจัยของเยาวชน นวัตกรรมท้องถิ่นในด้านสุขภาพ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม งบสร้างความน่าอยู่ การปลูกดอกไม้ต้นไม้ให้กับหมู่บ้าน เมือง การเสริมคุณภาพให้กับสวัสดิการด้านสุขภาพ ให้ "คนไทยทุกคนรักษาฟรี" และสวัสดิการการศึกษา ฯลฯ

1.2.4. สร้างสมดุลปรัชญาเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สร้างสมดุลปรัชญาเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือปรัชญา GDP กับปรัชญา GNH สมดุลระหว่างอำนาจทุนข้ามชาติกับอำนาจชุมชนท้องถิ่นอย่างให้เกิดผลที่เป็นจริง

1.2.5. สร้างสมดุลระหว่างอำนาจการเมืองกับอำนาจสังคม
ระบบทักษิณครอบงำสื่อ และปิดกั้นภาคสังคมมากเกินไป รัฐบาลใหม่ควรทำให้เกิดสมดุลดีขึ้น โดยอาศัยกฎหมาย นโยบาย และงบประมาณ เช่น ให้สำนักงานสลากฯ ซึ่งเอาเงินจากประชาชนไปให้นักการเมืองใช้ พัฒนาตัวเองเป็นสถาบันการเงินของสังคมที่ปลอดการแทรกแซงการเมือง เพื่อคืนกลับให้ประชาชนและสังคม

ยกเลิกงบประมาณสนับสนุนพรรคการเมืองและนำมาสนับสนุนองค์กรทางสังคม องค์กรสิทธิเสรีภาพ เอ็นจีโอ องค์กรวิชาการ และสื่อ เช่น มีงบ 100-200 ล้านต่อปี สนับสนุนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค องค์กรประชาชนต้านคอร์รัปชัน งบสื่อทางเลือก (alternative media) เช่น แทนที่จะปิดกั้นเสรีภาพมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ควรมีงบสนับสนุนแทน ควรให้สื่อโทรทัศน์ของรัฐจัดเวลาเสนออย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมงให้สถาบันวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ สภาหนังสือพิมพ์ สภาทนายความ กลุ่มรากหญ้า องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ ได้ร่วมกันใช้ โดยรัฐและเอกชนร่วมกันสนับสนุนด้านงบประมาณ

1.2.6. สร้างความปรองดองของความต่างวัฒนธรรม ความรุนแรงภาคใต้มีสาเหตุสำคัญมาจากการละเลยไม่ให้ความสำคัญกับการเคารพความต่างในวัฒนธรรม ศาสนา อัตลักษณ์ ความเป็นชาติพันธุ์มลายู ความต่างเหล่านี้ล้วนมีปรากฏอยู่ในระดับต่างๆ ระหว่างภูมิภาคท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศไทย การปรองดองที่แท้จริงคือ การตระหนักและเคารพความต่างเหล่านี้ ส่งเสริมการรักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของภูมิภาคต่างๆ. โลกปัจจุบันมองความต่าง ความหลากหลายเป็นทุนสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของประเทศมากกว่าจะเป็นหนี้สินหรือภาวะติดลบของประเทศ

1.2.7. การสลายโครงสร้างคอรัปชั่น
ปัจจุบันมีโครงสร้างคอร์รัปชันของรัฐบาล ทรท. ซึ่งประสานระหว่างนักการเมือง ข้าราชการ และ เอกชน ซึ่งอยู่ตามบอร์ดของรัฐวิสาหกิจ กิจการร่วมทุนรัฐเอกชน โครงสร้างเชิงนโยบายซึ่งโกงกินและใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมากมาย ซึ่งรัฐบาลต้องสลายโครงสร้างนี้อย่างจริงจัง

(2) ภาพรวมการเมืองไทย
ปัญหาการเมืองไทยเกิดจากการไม่มีสถาบันและความเป็นสถาบันมากพอที่จะกำกับอำนาจทุนการเมือง

2.1. ทุกสังคมในโลกมี 2 ส่วน
คือ ส่วนที่เปลี่ยนแปลงไว ได้แก่ ชีวิตเศรษฐกิจประจำวันของผู้คน และส่วนที่มั่นคงอยู่มานาน ทำหน้าที่กำกับดูแลพฤติกรรมค่านิยม คุณธรรม ความเจริญงอกงามทางจิตใจ ศิลปวัฒนธรรมของผู้คน เราเรียกส่วนหลังนี้ว่าสถาบัน ทั้งสองส่วนต้องช่วยกำกับดูแลซึ่งกันและกัน ผลักดันประเทศไปสู่ทิศทางที่ดี ไม่ใช่ส่วนหนึ่งมุ่งทำลายอีกส่วนหนึ่ง

2.2. สถาบันอนุรักษณ์นิยม
ในโลกยกเว้นประเทศตะวันตก มีประมาณ 5 ประเทศคือ รัสเซีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ไทย ที่ประวัติศาสตร์การสร้างสถาบัน เช่น สถาบันราชการ สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยาวนานกว่าประเทศอื่น เนื่องจากสถาบันเหล่านี้เกิดมานานจึงมีแนวโน้มอนุรักษนิยมหรือบางส่วนเสื่อมโทรม เช่น สถาบันศาสนา ข้าราชการ

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อุดมการณ์ประชาธิปไตยปักหลักมั่นคงในประเทศไทย พรรคการเมืองซึ่งคืออำนาจของทุนและกลุ่มอุปถัมภ์ท้องถิ่นขยายตัวอย่างรวดเร็วและผันผวน (chaotic) เกิดคอร์รัปชัน ทำลายค่านิยมซื่อสัตย์สุจริต จนสังคมต้องหาทางออกโดยสร้างระบบประชาธิปไตยครึ่งใบ คือกองทัพนำโดย พล.อ.เปรม ทำหน้าที่กำกับพฤติกรรมของพรรคการเมือง ระบบนี้หลีกทางให้ประชาธิปไตยเต็มใบในปี 2531 แต่ทุนการเมืองก็สร้างปัญหาแบบเดิมซ้ำอีก จนเกิดวิกฤติอีกหลายหนตามมา

2.3. ทุนการเมืองขยายตัวครอบงำ
ยุครัฐบาลทักษิณ ทุนการเมืองขยายเป็นทุนการเมืองระดับชาติและระดับโลกาภิวัตน์ ชาวบ้านเกือบทั้งประเทศถูกครอบงำโดยประชานิยม สถาบันข้าราชการ ตำรวจ ทหาร องค์กรอิสระ ศาลถูกแทรกแซงและครอบงำ ค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริตถูกทำลายเกือบหมด จนพลังเชิงสถาบันที่เหลือต้องลุกมาปักหลักสู้อยู่คือ พลังของสถาบันซึ่งยึดถือความซื่อสัตย์ ความชอบธรรม (moralist)

ได้แก่ สื่อหนังสือพิมพ์, วิทยุ, นักวิชาการ, พลังสถาบันยุติธรรมคือ ศาลต่างๆ, พลังสถาบันชาติคือ ทหาร, กลุ่มต่อต้านโลกาภิวัตน์, พลังซึ่งจงรักภักดีสถาบันกษัตริย์คือ ชนชั้นสูง และองคมนตรี, แต่อำนาจของทุนการเมืองมีสูงมาก ในที่สุดกองทัพต้องใช้วิธีรัฐประหารมาคลี่คลายความขัดแย้ง

(3) ต้องพัฒนารัฐธรรมนูญฉบับภูมิปัญญาไทย
เน้นยุทธศาสตร์การสร้างและขยายสถาบัน และวัฒนธรรมต้านคอร์รัปชัน
ปัจจุบันเราไม่อาจหวนไปใช้ประชาธิปไตยครึ่งใบซึ่งพึ่งพิงอำนาจแบบศูนย์เดียว คือ กองทัพ ต้องให้มีประชาธิปไตยเต็มใบ แต่มีหลายสถาบันมาตรวจสอบกำกับ (regulate) ทิศทางทุนการเมือง เพราะขอบเขตปัญหากว้างกว่าเดิมมาก โลกก็เคลื่อนตัวเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม

3.1. ต้องพัฒนารัฐธรรมนูญเป็นรัฐธรรมนูญฉบับภูมิปัญญาไทย
การแก้ไขปัญหาหลังวิกฤตการเมืองไทยทำกันผิดพลาดทุกหน. หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ศึกษาและหยิบยกทฤษฎีตะวันตกมาใช้อย่างลวกๆ หลังพฤษภาคม 2535 ก็มีการปฏิรูปการเมืองที่เป็นลัทธิคลั่งทฤษฎีตะวันตกมากเกินไป ในครั้งนี้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องกล้าคิดวิธีการที่ส่งเสริมอำนาจประชาชนที่เหมาะกับสังคม วัฒนธรรมไทยด้วย จึงควรเรียกว่าเป็นการจัดทำเป็นรัฐธรรมนูญฉบับภูมิปัญญาไทย

3.2. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องเน้นการสร้างประชาธิปไตยที่มีแก่นสาร
จาก 14 ตุลาคม 2516 มาถึงปัจจุบัน ประชาธิปไตยโดยรูปแบบคือประชาธิปไตยที่เป็นเฉพาะการเลือกตั้ง (Procedural Democracy) ได้มาถึงทางตัน ต้องมีการพัฒนาไปอีกขั้น คือประชาธิปไตยที่มีเนื้อหาหรือประชาธิปไตยที่มีแก่นสาร (Substantive Democracy) แก่นสารนี้คือ การเพิ่มความซื่อสัตย์สุจริต ความยุติธรรม ความอยู่ดีมีสุข และสิทธิอำนาจของประชาชน

3.3. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องสร้างโครงสร้างการเมืองกู้ชาติแบบยั่งยืนสมดุลขึ้นให้ได้
โครงสร้างการเมืองที่ดีที่จะแก้วิกฤตประเทศได้ยั่งยืนถาวร คือโครงสร้างที่ยอมรับอำนาจของประชาชนผ่านความชอบธรรมของประชาธิปไตยเลือกตั้ง คู่กันไปกับอำนาจตรวจสอบของสถาบันต่างๆ ซึ่งมีความชอบธรรมในเชิงการแบ่งงาน แบ่งหน้าที่ และการพิสูจน์ตัวเองว่าทำงานเพื่อประโยชน์สังคม (functional differentiation ในฐานะเป็น social legitimation) แนวคิดเสรีนิยมตะวันตกสุดขั้วที่ยึดเอาสิทธิการเลือกตั้งของบุคคลอย่างเดียวเป็นที่มาของอำนาจทั้งปวง ถูกพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะทุนการเมืองเข้าครอบงำแทรกแซงได้หมด

3.4. โครงสร้างการเมืองกู้ชาติเน้นยุทธศาสตร์ 2 อย่าง คือ

3.4.1 ประเทศไทยจะหวนไปใช้สถาบันเดียว คือ กองทัพ มากำกับการเมืองตามระบบประชาธิปไตยครึ่งใบไม่ได้
ต้องใช้ยุทธศาสตร์การสมดุลอำนาจ ต้องขยายและสร้างความเป็นสถาบันแบบหลายศูนย์มาตรวจสอบถ่วงดุลทุนการเมือง ขยายสถาบันเดิม และสร้างสถาบันใหม่ๆ เช่น

(1) ภาคเอกชนต้องมีบทบาทสนับสนุนประชาสังคม สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย ทุกวิกฤติในอดีต ภาคเอกชนไทยแสดงความรับผิดชอบน้อยที่สุด จนกล่าวได้ว่าการเมินเฉยหรือสนับสนุนผู้มีอำนาจการเมืองของพวกเขา เป็นสาเหตุสำคัญให้วิกฤติขยายตัวถึงขั้นมีการรัฐประหาร ภาคเอกชนจึงควรเสียสละเพื่อชดเชยความผิดและมีคุณูปการสร้างความปรองดองแห่งชาติด้วยการเสียภาษีเพิ่มเติม 0.2 เปอร์เซ็นต์ของรายได้สำหรับ 100 บริษัทใหญ่ที่สุดของประเทศ และ 0.1 เปอร์เซ็นต์สำหรับ 200 บริษัทถัดไป เพื่อสนับสนุนกิจกรรมภาคสังคม

(2) องค์กรตรวจสอบคอร์รัปชันนักการเมือง ต้องดำเนินไปอย่างเข้มข้น, กรรมการเลือกตั้งต้องดำเนินไปอย่างจริงจัง, และกระบวนการตุลาการภิวัตน์ต้องเกิดต่อไปอย่างเข้มข้น. ถ้า 3 ส่วนนี้ดำเนินไปต่อเนื่อง จะมีโอกาสเกิดเป็นวัฒนธรรมต้านคอร์รัปชัน และการซื้อเสียง

(3) ต้องหาทางกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้องค์กรตรวจสอบ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ, ปปช., คตส., สตง., รวมทั้งองค์กรสำคัญอื่นๆ เช่น ปปง., กกต., องค์กรอิสระ, มีความเป็นกลางและเป็นสถาบันมากขึ้น ซึ่งความเป็นสถาบันมีองค์ประกอบสำคัญดังนี้คือ มีความเป็นอิสระ มีอุดมคติเพื่อภารกิจ มีบุคลากรที่ได้รับความนับถือ มีผลงาน มีวัฒนธรรมเฉพาะขององค์กร ซึ่งอาจได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ให้สืบเนื่องตัวเอง (reproduce) ได้ เช่น ให้มีสิทธิเสนอบุคลากรชุดต่อไปจำนวน 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 เป็นต้น

(4) ที่มาขององค์กรตรวจสอบดังกล่าว ควรมาจากสถาบันสังคมที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ถูกครอบงำ หรือถูกแทรกแซงน้อยที่สุด ได้แก่ สถาบันศาลฎีกา สถาบันศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ สถาบันสื่อหนังสือพิมพ์ คณาจารย์มหาวิทยาลัยรุ่นเก่าซึ่งมีลักษณะความเป็นสถาบันสูง บุคคลที่มีผลงานการดำรงชีวิตเป็นที่ประจักษ์จนมีลักษณะเป็นสถาบันที่ได้รับความนับถือจากสังคมทั่วไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน

เช่น ถ้ารัฐธรรมนูญกำหนดให้มี ปปช. 15 คน ให้มาจากศาลฎีกา 3 คน จากศาลปกครอง 3 คน ศาลรัฐธรรมนูญ 3 คน สถาบันหนังสือพิมพ์ 3 คน ที่ประชุมอาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรุ่นเก่า เช่น จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ รามคำแหง สุโขทัยธรรมาธิราช เลือกตัวแทนแห่งละ 2 คน แล้วให้มาเลือกกันเองเหลือ 3 คน เป็นต้น วุฒิสภาก็ยังควรจะมีเพราะเป็นการขยายพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคสังคม ทั้งนี้ อาจกำหนดให้มาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่งและมาจากสถาบันสังคมอีกครึ่งหนึ่ง

3.4.2. นอกจากยอมรับบทบาทสถาบันแล้วยังควรขยายพื้นที่ภาคประชาชน คือ

(1) การขยายบทบาทภาคสังคม - ประชาชน ด้วยการให้รัฐและภาคเอกชนสนับสนุนด้านงบประมาณและพื้นที่ต่อสาธารณะ

(2) ขยายพื้นที่ยุติธรรม โดยกำหนดในรัฐธรรมนูญใหม่ ให้ประชาชนเข้าถึงสถาบันยุติธรรมได้ง่ายขึ้น เช่น ศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องคดีศาสตรา โตอ่อน vs กระทรวงไอซีที หรือ ให้กลุ่มบุคคล ตัวแทนกลุ่มวิชาชีพ เช่น สภาหนังสือพิมพ์, สมาคมนักหนังสือพิมพ์, สภาทนายความ, คณะมนตรีคุณธรรม, เป็นตัวแทนรับเรื่องจากประชาชนฟ้องร้องรัฐได้

(3) ขยายพื้นที่ตรวจสอบคอร์รัปชันให้กับภาคสังคม - ประชาชน - สื่อ เช่น ปรับปรุง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ซึ่งเวลาปฏิบัติจริงยุ่งยาก ให้หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ วิสาหกิจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐฯ ส่งสัญญาที่มีมูลค่าตั้งแต่ 250 ล้านขึ้นไปมาให้ห้องสมุด ซึ่งจัดขึ้นเพิ่มเติมขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ขอนแก่น, จุฬาฯ, ธรรมศาสตร์, สงขลาฯ, สมาคมนักหนังสือพิมพ์

(4) ขยายพื้นที่คุณธรรม เช่น รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคณะมนตรีคุณธรรม เพื่อให้บุคคลที่ได้รับการเคารพ อาทิ นพ.ประเวศ วะสี, เสนาะ อุนากูล, ระพี สาคริก, เสน่ห์ จามริก, ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์, สุเมธ ตันติเวชกุล, โสภณ สุภาพงษ์ ฯลฯ มีโอกาสได้รับเลือกไปทำหน้าที่ส่งเสริมคุณธรรม มีอำนาจยื่นเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองจากภาคประชาชนไปยังศาลที่เหมาะสม

++++++++++++++++++++++++++++
คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและโครงสร้างการเมืองแบบภูมิปัญญาไทย
รัฐธรรมนูญและโมเดลการเมืองที่เสนอนี้จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำ หรืออมาตยาธิปไตย (elite democracy) ไม่เป็นแบบมาตรฐานสากล แต่มีคำชี้แจงได้ดังนี้

1. ประชาธิปไตยทั่วโลกโดยไม่มีข้อยกเว้น (รวมทั้งรัฐธรรมนูญไทยปี 40 ที่ผ่านมา) ล้วนอนุโลมให้มีบทบาทชนชั้นนำปนอยู่ด้วย อาทิเช่น กระบวนการตุลาการภิวัตน์ (judicial review) ของทุกประเทศก็จะอยู่ในแนวคิดนี้

2. ประชาธิปไตยทั่วโลกล้วนมีลักษณะเฉพาะตามประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของตน เช่น การเลือกวุฒิสภาการลงคะแนน primary vote เป็นลักษณะเฉพาะของอเมริกา สภาสูงของอังกฤษ บทบาทศาสนานิกายต่างๆ ต่อพรรคการเมืองของเยอรมัน ไทยก็ควรคิดบนเงื่อนไขภูมิปัญญาไทย

3. โลกยุคสมัยใหม่มีความซับซ้อน (complexity) มีการแบ่งงาน แบ่งหน้าที่ (functional differentiation) แบ่งความชำนาญเฉพาะ (specialization) กว้างขวางมาก การออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับภูมิปัญญาไทยให้ยอมรับความชอบธรรมแบบหลากหลายนี้ มากกว่าการยอมรับเฉพาะสิทธิของปัจเจกบุคคล อีกนัยหนึ่ง ระบบการเมืองที่ดีต้องประสานการเมืองภาคตัวแทน การเมืองภาคตรวจสอบ การเมืองภาคสังคม-ประชาชน

4. รัฐธรรมนูญใหม่จะต้องเน้นประชาธิปไตยเต็มใบ ต้องเคร่งครัดให้อำนาจของสถาบันต่างๆ จำกัดอยู่เฉพาะอำนาจตรวจสอบ ไม่ใช่การบริหารหรือการออกกฎหมาย และควรมีลักษณะชั่วคราว เช่น 6-8 ปี

5. รัฐธรรมนูญและโครงสร้างการเมืองแบบภูมิปัญญาไทย ไม่ใช่การหวนกลับไปหาประชาธิปไตยแบบไทยๆ ของเผด็จการทหาร หรือประชาธิปไตยวิถีเอเชียแบบสิงคโปร์ แต่ต้องเป็นการยกระดับคนไทยให้พ้นจากการสยบยอมทางความคิดตะวันตก และตัดความหลงงมงาย เชิดชูความเป็นไทยจนล้นเกินออกไป

6. วิกฤติที่ผ่านมาควรเป็นวิกฤติสุดท้ายของประเทศ และอาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่เราแก้ปัญหาด้วย เพราะวิกฤติครั้งนี้กระทบทุกส่วนไม่เว้นแม้สถาบันพระมหากษัตริย์ จึงควรพิจารณาข้อกังวลของนักวิชาการว่า การเมืองไทยจะหวนกลับไปสู่อมาตยาธิปไตยหรือไม่อย่างตรงไปตรงมา ทั้งนี้เพราะปัจจุบันวัฒนธรรมข้าราชการ นักการเมือง เอกชนไทย กลายเป็นวัฒนธรรมคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวางที่สุด จึงเรียกร้องให้พลังทุกส่วนต้องออกมาแก้ไขปัญหา ตามกระบวนการเสริมคุณธรรมสังคมเพื่อกู้ชาติ

ตามรัฐธรรมนูญ องคมนตรี บุคคล องค์กรที่ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ ต้องเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัด แต่ในฐานะสมาชิกสังคม ย่อมมีสิทธิที่จะบอกประชาชนว่า สิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว กล่าวคือ ไม่ยุ่งการเมืองแต่ยุ่งเรื่องจริยธรรม เช่น ส่งเสริมให้ประชาชนเคารพคนดี คว่ำบาตรประณามนักการเมืองชั่ว ไม่ว่าจะอยู่พรรคใด เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม

เราอาจถกเถียงกันหรือยอมรับว่า ปัจจุบันควรเกิดหรือได้เกิดกระบวนอมาตยาภิวัตน์ขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นลักษณะของพัฒนาการการเมืองไทย ซึ่งต้องมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนเสริมคุณธรรมสังคมเพื่อกู้ชาติ ไม่ใช่กระบวนการเพื่ออำนาจหรือเพื่อผลประโยชน์ สังคมก็ต้องคอยกำกับให้กระบวนการนี้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม

ทหารเองก็ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่สนับสนุนหรือมีอิทธิพลในพรรคการเมืองใดๆ แต่มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในฐานะสมาชิกสังคม ที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมคุณธรรมเพื่อสังคมดังกล่าวได้เช่นกัน

++++++++++++++++++++++++++++
(4) ตอบคำถามสื่อมวลชน

คิดอย่างไรกับกฎอัยการศึก
ถ้าตามที่ประเมิน คิดว่าปัญหาความมั่นคงจากชาวบ้านไม่มี ค่อนข้างมั่นใจ ถ้านักการเมืองเก่าซึ่งผมคิดว่าไม่กล้าเคลื่อนไหว ข้าราชการตอนนี้มหาดไทยก็คุมได้หรือปรับเปลี่ยน ปัญหาจากทหารก็ไม่น่าจะมี ในจังหวะซึ่งเป็นการรุกสร้างภาพพจน์ให้ประเทศ ควรจะเริ่มและเปิดสิทธิเสรีภาพให้นักวิชาการ นักศึกษา ประชาชนทั่วไปน่าจะเป็นผลดี

เป็นผมจะไม่ออกสมุดปกขาว แต่จะจัดสัมมนาทางวิชาการเรื่องประชาธิปไตยให้มาถกเถียงกัน เพราะฉะนั้นสมควรเลิกกฎอัยการศึก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)คงทำหน้าที่ตอนนี้และเงียบๆ ไป

เส้นทางที่ดีของ คปค.ที่ผ่านมาผมมองว่าสังคมส่วนหนึ่งก็ไปกดดันเรียกร้องทหาร เส้นทางที่ดีของทหารน่าจะเป็นเส้นทางแนวที่ พล.อ.เปรม(ติณสูลานนท์)ทำ เป็นเส้นทางองคมนตรี เส้นทางรัฐบุรุษ และเส้นทางของคนที่ได้รับการยอมรับในสังคมคือต้องไม่ไปยุ่งกับการเมือง ไม่ไปยุ่งกับพรรคการเมืองแบบสมัยก่อน ต้องไม่ยุ่งแบบเด็ดขาด ต้องไม่อิงกับพรรคการเมือง, ไม่ไป organise , ไม่ไปจัดตั้งพรรคการเมือง, อย่าผูกติดว่าตัวเองทำมาแล้วต้องทำต่อ ออกมาแล้วก็ควรทำสถาบันอื่นให้ดี ส่วนที่จะทำได้บ้างคือ หนุนเรื่องคุณธรรมและประชาธิปไตยกับชาวบ้าน ต่อต้านการคอร์รัปชั่น

ถ้าอำมาตยาธิปไตยเกิดขึ้น กลุ่มทุนเก่าและข้าราชการจะกลับมา ซึ่งต้องรักษาผลประโยชน์ข้อเสนอในวันนี้เป็นไปได้จริงหรือ เพราะจะไปกระทบกับฐานอำนาจ
ทุนเก่าทุนใหม่ไม่แยกกัน หากำไรทั้งคู่ คิดว่าคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีอายุแค่ 1 ปี และจะหมดบทบาท เช่นเดียวกับ คปค ถ้าจะมีบทบาทก็เช่นเน้นเรื่องคุณธรรม การต่อต้านคอร์รัปชั่นก็เห็นด้วย แม้ใครจะบอกว่า ทหารออกมาพูดเสียงดังเรื่องปราบคอร์รัปชั่นไม่ดี แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าดี

การขยายประชาธิปไตยให้เต็มใบ ช่วยปิดประตูการปฏิวัติรัฐประหารได้ไหม
อาจขยายกรรมการตรวจสอบบางส่วนเพิ่มที่คิดว่าบทบาทยังน้อยไป เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน ถ้าขยายเพิ่มและให้มีความสืบเนื่องไปยาว ตุลาการภิวัตน์เกิดขึ้นจริงคือลงโทษจริง คิดว่าเปลี่ยนวัฒนธรรมของเราใน 3 ปี หรือ 5 ปีข้างหน้า การเมืองจะปรับตัวแรงมาก เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพิ่มโทษเรื่องการซื้อเสียง คนก็จะซื้อเสียงน้อยลง

คนก็จะกังวลที่จะทำอะไรแบบเก่า หน้าที่ ครม ชุดนี้ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ ถ้าหม่อมอุ๋ย(มรว.ปริดิยาธร เทวกุล)ทำได้ดี จะให้เห็นภาพเปรียบเทียบเลยว่า ประชานิยมกับเศรษฐกิจที่ควรจะเป็น เกิดผลที่ต่างกันอย่างไร. คิดว่าคนจะหวนกลับไปประชานิยมอาจไม่มาก ใน 3 ปี 5 ปี อาจเห็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมในระดับหนึ่ง ต้องหวังว่ากรรมการตรวจสอบปราบปรามคอร์รัปชั่นจะทำได้ผลจริงใน 1 ปีนี้ ต้องให้กำลังใจ

คิดอย่างไรที่มีกระแสข่าวว่าจะให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ มาร่วมในสภานิติบัญญัติ
เชื่อว่าเขาไม่รับ เพราะเริ่มมีการเปลี่ยนรุ่นแล้ว บทบาทนักวิชาการนักกฎหมายก็ผลัดใบได้ (ปัจจุบันนายมีชัย ฤชุพันธุ์ รับเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ)

ปัญหาสั่งสมมาเรื่อยๆ แต่รัฐบาลมีเวลาแค่ปีเดียวจะแก้ปัญหาได้หรือ
ต้องหวังองค์กรตรวจสอบต่างๆ โดยรัฐบาลต้องหนุนด้วย แต่ทำยาวกว่านี้ก็ไม่เหมาะสม ต้องเร่งรัดเต็มที่ ถ้าเผื่อจัดโครงสร้างดีและเน้นลักษณะเฉพาะว่าเป็นการแก้ปัญหาให้องค์กรสืบเนื่อง คิดว่ามีโอกาสปรามการคอร์รัปชั่นได้ค่อนข้างมาก

ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับภูมิปัญญาไทยล้มเหลวเรื่องการปราบคอร์รัปชั่น จะเป็นอย่างไรต่อไป
คิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นวิกฤติสุดท้ายแล้ว ศัพท์ชาวบ้านเรียกว่าเทเค้าหมดหน้าตัก หากไม่ดีขึ้นจริงก็เป็นเรื่องชะตากรรมของประเทศ ประชาธิปไตยไม่มีครึ่งใบ มีแต่เต็มใบ

เหตุการณ์นี้ คนเดือนตุลาแตกแยกทางความคิดเยอะ ต่อไปอนาคตคนเดือนตุลาจะเป็นยังไง
หวังว่าโดยจุดหลักคนเดือนตุลาจะเป็นความทรงจำที่ดีให้กับสังคมได้ ต่อไปจะเป็นกลุ่มอื่นที่เคลื่อนไหวแล้ว เป็นการผลัดใบอย่างผมเองก็ถือว่าผลัดใบต่อไปตอนนี้เป็นรุ่นหลัง 14 ตุลาแล้ว

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H

ภาคเอกชนต้องมีบทบาทสนับสนุนประชาสังคม สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย ทุกวิกฤติในอดีต ภาคเอกชนไทยแสดงความรับผิดชอบน้อยที่สุด จนกล่าวได้ว่าการเมินเฉยหรือสนับสนุนผู้มีอำนาจการเมืองของพวกเขา เป็นสาเหตุสำคัญให้วิกฤติขยายตัวถึงขั้นมีการรัฐประหาร ภาคเอกชนจึงควรเสียสละเพื่อชดเชยความผิดและมีคุณูปการสร้างความปรองดองแห่งชาติด้วยการเสียภาษีเพิ่มเติม 0.2 เปอร์เซ็นต์ของรายได้สำหรับ 100 บริษัทใหญ่ที่สุดของประเทศ และ 0.1 เปอร์เซ็นต์สำหรับ 200 บริษัทถัดไป เพื่อสนับสนุนกิจกรรมภาคสังคม

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น