Political Issue
The Midnight University
การเมืองในละตินอเมริกา
CUBA
CRACKDOWN
เราคือคิวบา...อเมริกาไม่ใช่พ่อเรา
กรรณิการ์
กิจติเวชกุล
นักวิชาการอิสระที่ให้ความสนใจในประเด็นต่อต้านโลกาภิวัตน์
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้
ได้รับมาจากผู้เขียนเพื่อเผยแพร่สำหรับการศึกษา
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำความเข้าใจประเทศคิวบา
ช่วงที่ฟิเดล คาสโตรเป็นประธานาธิบดี และภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย
คิวบาจำเป็นต้องพึ่งพาตนเอง ทั้งทางด้านเกษตร และสาธารณูปโภคต่างๆ ภายใต้ภาวะขาดแคลน
อันเนื่องมาจากการ็ถูกแซงชั่นจากสหรัฐอเมริกา
คิวบารอดมาได้อย่างไร และวิกฤตการณ์อันรุนแรงดังกล่าว
ได้ เปลี่ยนแปลงคิวบาไปอย่างไร
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1063
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
15.5 หน้ากระดาษ A4)
CUBA
CRACKDOWN : เราคือคิวบา...อเมริกาไม่ใช่พ่อเรา
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล : นักวิชาการอิสระ
ความนำ
'รายจ่าย' จากการแข็งขืนกับโลกทุนนิยม อาจทำให้คิวบา-ประเทศเล็กๆ ที่มีพรมแดนห่างจากศูนย์กลางทุนนิยมอย่างอเมริกาเพียง
200 กิโลเมตร ประสบเคราะห์กรรมจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ดังที่เราพบเห็นและได้ยินได้ฟังเสมอๆ
จากข่าวสารกระแสหลัก แต่ภายใต้ภาวการณ์ที่ดูเหมือนวิกฤตจนถึงขั้นน่าสงสารนั้น
คิวบากลับเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับสวัสดิการของประชาชนทั้งการศึกษา,
ระบบสาธารณสุข, ศิลปวัฒนธรรม, แม้กระทั่งวิธีคิดทางการเกษตรที่ถอยหลังให้การปฏิวัติเขียว
แล้วเลือกเดินบนวิถีเกษตรอินทรีย์
ถ้าเราเชื่อทฤษฎี 'พลิกวิกฤติเป็นโอกาส' คิวบาก็คือตัวอย่างที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุด กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รวบรวมข่าวสารและข้อมูลอีกด้านจากประเทศเล็กๆ แต่ดื้อดึงแห่งนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ผลลัพธ์ของการดื้อแพ่งนั้นไม่จำเป็นต้องจบลงที่ความพ่ายแพ้ และสิ่งที่ได้มาก็ไม่ใช่แค่ความอยู่รอดหรืออิ่มท้อง แต่มันรวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่า 'ศักดิ์ศรี' และ 'ความสง่างาม'
"คุณไม่มีคุณธรรมและไม่มีสิทธิที่จะพูดถึงคำว่าอิสรภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ในเมื่อคุณกุมอำนาจที่ทำลายมนุษยชาติ และพยายามสร้างระบบทรราชระดับโลก ทำลายสหประชาชาติ ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ ก่อสงครามเพื่อยึดกุมตลาดและทรัพยากร และยังสร้างระบบการเมืองและสังคมที่ล้าสมัยซึ่งจะนำพามนุษย์ไปสู่นรกอเวจี
อีกเหตุผลที่ทำไมคุณไม่มีสิทธิเอ่ยถึงคำว่า "ประชาธิปไตย" ก็เพราะใครๆ ก็รู้ว่า คุณก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาด้วยการโกงการเลือกตั้ง คุณไม่มีสิทธิพูดถึงคำว่าอิสรภาพ เพราะคุณไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นมาในโลกนี้ได้ นอกจากจะสร้างโลกที่ตกอยู่ใต้ความหวาดกลัวอาวุธทำลายร้ายแรง
คุณไม่มีสิทธิพูดถึงสิ่งแวดล้อม เพราะคุณโง่อย่างบัดซบจนไม่ตระหนักในความเป็นจริงว่ามนุษยชาติกำลังตกอยู่ในอันตรายที่จะล่มสลายในไม่ช้า"
ไม่ต้องบอกก็คงรู้ว่าเนื้อความนี้กำลังพูดถึงใคร
แต่ใครล่ะที่เป็นคนกล้าหาญชาญชัยขนาดนี้
มีผู้นำไม่กี่ชาติบนโลกใบนี้ที่กล้าด่ามหาอำนาจอย่าง
สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพ่อทางนิตินัยและพฤตินัยของหลายๆ คน และหลายๆ ประเทศ
และยิ่งไปกว่านั้น มีผู้นำในจำนวนที่น้อยไปกว่านั้น ที่กล้าด่า สหรัฐอเมริกา
อภิมหาอำนาจเดี่ยวอย่างเต็มปากเต็มคำ และในรายชื่อคนเหล่านั้น ฟิเดล คาสโตร
แห่ง คิวบา เป็นชื่อที่ลอยเด่นขึ้นมา
I am CUBA
คิวบา เป็นประเทศเกาะเล็กๆ อยู่ห่างจากสหรัฐอเมริกาเพียง 200 กิโลเมตร และมีความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นมิตรเลยกับเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่
หากใช้เกณฑ์ของสถาบันการเงินระดับโลกชั้นนำ คิวบาก็เป็นเพียงประเทศสังคมนิยมจนๆ
ประเทศหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เราน่าจะไปดูตัวเลขที่น่าสนใจบางตัวเปรียบเทียบกับประเทศไทย
(ที่ภาครัฐของเราพยายามบอกว่า เรามีสถานะเกินความเป็นประเทศกำลังพัฒนาแล้ว)
คิวบา ไม่ใช่ประเทศยากจนที่ค่อนข้างหยิ่ง แต่เป็นประเทศทรนงที่ให้บทเรียนอันมีค่าแก่โลก เรามักจะถูกกรอกหูว่า ประเทศเล็กๆ นั้นเลี้ยงตัวเองไม่ได้หรอก จำเป็นต้องนำเข้าสิ่งต่างๆ เพื่อทดแทนความขาดแคลนจากการเกษตรในท้องถิ่น แต่คิวบากลับก้าวยาวๆ ไปบนเส้นทางของการพึ่งตนเองนับตั้งแต่ความสัมพันธ์ทางการค้าหลักๆ ล่มสลายไป
เราได้ยินมาตลอดว่า ไม่ว่าประเทศไหนก็ไม่สามารถเลี้ยงปากท้องของผู้คนของตนได้ หากไม่มีสารเคมี ทั้งปุ๋ย ยา และเครื่องจักรมาใช้ในการเกษตร แต่คิวบาสามารถทำอย่างนั้นได้ เราได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า คำตอบของปัญหาการขาดแคลนอาหารอยู่ที่ความช่วยเหลือด้านอาหารจากนานาชาติ แต่คิวบากลับพบทางเลือกจากการผลิตในท้องถิ่น ชาวคิวบาไม่ต้องขึ้นต่อความไม่แน่นอนด้านราคาในตลาดโลก ไม่ต้องการใช้น้ำมันขนถ่ายสินค้าไปนานาประเทศที่ทั้งสิ้นเปลืองและสร้างความไม่ยั่งยืนต่อสภาพแวดล้อม และชาวคิวบายังไม่ต้องพึ่งพา ความ'เอื้ออาทร' ของอภิมหาอำนาจสำหรับอาหารมื้อต่อไป
เรื่องราวของคิวบาไม่ใช่เรื่องโชคช่วยหรือความเก่งกล้า แต่จะว่าไปแล้วน่าจะเรียกว่า เป็น'ลูกบ้า' ร่วมกันของคนทั้งชาติ ชาติที่ถูกบังคับให้พึ่งตนเอง จนได้ดี
น้ำตาล...น้ำตา
ฉันคือคิวบา เมื่อครั้งคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสขึ้นฝั่งที่นี่ เขาเขียนในบันทึกของเขาว่า
ที่นี่คือดินแดนที่งดงามที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยพบพาน ขอบคุณมาก คุณโคลัมบัส
เมื่อคุณเห็นฉันครั้งแรก ตอนนั้นฉันกำลังร้องเพลงและหัวเราะอย่างสนุกสนาน
ฉันโบกใบปาล์มเพื่อทักทายผู้มาเยี่ยมเยือน
ฉันคิดว่า ขบวนเรือของคุณจะนำมาซึ่งความสุขฉันคือคิวบา
เรือมาตักตวงน้ำตาลของฉันไปและทิ้งไว้คือคราบน้ำตา
น้ำตาลเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดนะ คุณโคลัมบัส
มันเต็มไปด้วยน้ำตา ... แต่มันก็ยังคงหวาน
คิวบาเคยเป็นอาณานิคมของสเปน พื้นที่ส่วนใหญ่ของคิวบาเป็นพื้นที่ปลูกอ้อย จนปี พ.ศ. 2442 สหรัฐฯรบกับสเปน เมื่อชนะจึงเหมารวมเอาคิวบาไปเป็นของตัวเองด้วย เข้าไปเขียนรัฐธรรมนูญให้คิวบา เพราะฉะนั้นไม่ว่ารัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดๆ สหรัฐสามารถคัดค้านได้ และยังเข้ากับเผด็จการบาติสต้า ซึ่งปกครองคิวบาอย่างโหดเหี้ยมให้อยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนาน
ผลงานชิ้นโบว์ดำของสหรัฐที่ยังคงทิ้งซากในคิวบา คือ ฐานทัพสหรัฐที่อ่าวกวนตานาโม โดยทำสัญญาเช่าแบบถาวรกับรัฐบาลหุ่นภายใต้การกำกับของสหรัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 พื้นที่อ่าวที่ดีที่สุดของประเทศ 117.6 ตารางกิโลเมตร ในราคาเพียง 2,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ตกค่าเช่าประมาณ 680 บาทต่อตารางกิโลเมตร สั่งจ่ายเป็นเช็ค ซึ่งปัจจุบันคิวบาเบิกไม่ได้แล้ว เพราะหน่วยงานที่สหรัฐสั่งจ่าย ถูกยุบเลิกไป และที่ไม่เคยขาดเลย คือ ของแถมมากับฐานทัพสหรัฐฯ นั่นคืออาชีพโสเภณี
ปี พ.ศ. 2502 คิวบาทำการปฏิวัติขับไล่บาติสต้า อิทธิพลของสหรัฐฯก็ถูกขับออกไปด้วย ฟิเดล คาสโตร ขึ้นเป็นประธานาธิบดี
จากบทเรียนช่วงรัฐบาลทุนนิยม คิวบามีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นสูงมาก ปัญหาความยากจนรุนแรง และคนไร้การศึกษา รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของคิวบาจึงทุ่มเทยึดมั่นในเรื่องความยุติธรรมทางสังคม รัฐให้บริการสาธารณสุข และการศึกษาทั้งหมดโดยไม่คิดมูลค่า และสามารถขจัดปัญหาความยากจนให้หมดไปได้ในปี พ.ศ. 2513 แม้จะมีความเหลื่อมล้ำอยู่บ้างในกลุ่มคนที่มีญาติส่งเงินมาจากสหรัฐอเมริกา
ช่วงปี 2502-2533 คิวบาซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศสังคมนิยมได้อานิสงส์มากมาย ด้วยสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีกับประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรป ซึ่งดีกว่าประเทศอื่นๆ ในประเทศละตินอเมริกาที่มีสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศทุนนิยม และแม้คิวบาจะเป็นประเทศสังคมนิยมแต่ก็มีความสัมพันธ์ทางการค้าไม่เลวร้ายกับประเทศทุนนิยม ทำให้คิวบามีดุลการค้าดีกว่าประเทศอื่นๆ และพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าประเทศอื่นๆ ในละตินอเมริกา
โดยเป็นประเทศที่ส่งสินค้าการเกษตรเป็นวัตถุดิบออกไปประเทศอื่นๆ แล้วนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าส่งออกเช่น อ้อย ส้ม กุ้ง กาแฟ กล้วย แต่เศรษฐกิจจากการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบยังคงทิ้งคราบน้ำตาให้กับคิวบา แม้ไม่มากเท่าเมื่อครั้งถูกกดขี่ แต่ความรุนแรงของปัญหาส่งผลยาวนาน
ก่อนการปฏิวัติ ที่ดินจำนวนมากได้กระจุกอยู่ในมือบรรดาเจ้าที่ดิน และบริษัทของสหรัฐอเมริกา เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นแค่แรงงานภาคเกษตรมากกว่า มี 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เกษตรกรรายย่อยยังเป็นเจ้าของที่ดิน
หลังปฏิวัติ รัฐบาลเข้าไปยึดที่ดินส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์ แล้วจัดการเป็นวิสาหกิจของรัฐแปลงใหญ่ ใช้วิธีการแบบมีลูกจ้างเหมือนการใช้แรงงานเกษตรในแปลงขนาดใหญ่ของทุนนิยม แต่เปลี่ยนจากลูกจ้างของนายทุนมาเป็นลูกจ้างรัฐ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือยังเป็นของเกษตรกรรายย่อยที่ยังทำเกษตรแบบดั้งเดิม ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชที่หลากหลาย
พื้นที่เกษตรส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่ในความดูแลของรัฐปลูกพืชเชิงเดี่ยว "อ้อย" เพื่อการส่งออก เช่นเดียวกับประเทศยากจน หรือประเทศโลกที่สามอื่นๆ โดยใช้วิธีการเกษตรแบบปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ซึ่งมีแนวทางหลักคือ การใช้เครื่องจักรกล ปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืชแบบเคมี เครื่องจักรในการทำชลประทาน ทำให้เกิดการสภาพการพึ่งพิง และก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศ
จากตัวเลขตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ถึง 2523 เมื่อเริ่มใช้แนวทางปฏิวัติเขียว ผลผลิตเพิ่มขึ้นตลอดเวลา จนปี 2523 (ภายหลังการปฏิวัติเขียว 20 ปี) ผลผลิตตกต่ำลง เนื่องจากดินเกาะตัวกันแน่นมาก เป็นผลจากการใช้เครื่องจักรที่มีน้ำหนักมาก ดินเค็มมากขึ้นจากการใช้ระบบชลประทานมาก มีปัญหาพืชเพราะแมลงสร้างภูมิขึ้นมาต่อต้านยาได้ ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญยิ่งที่ของการปฏิวัติเขียว
แม้ว่าในช่วงนั้น เกษตรกรและนักวิทยาศาสตร์บางส่วนเริ่มตระหนักถึงปัญหาจากปฏิวัติเขียว นักวิทยาศาสตร์หนุ่มสาวจึงเข้าร่วมขบวนการด้านสิ่งแวดล้อม ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเกษตรทางเลือกและการใช้การควบคุมศัตรูพืชด้วยชีววิธี แต่เกือบทั้งหมดเป็นการวิจัยและพัฒนาในห้องแล็บและแปลงทดลอง
จุดอ่อนที่ว่านี้กลายสภาพจากฝีหนองอักเสบเป็นฝีแตก เมื่อกลุ่มสังคมนิยมโซเวียตพังลงในปี พ.ศ. 2532 คิวบาสูญเสียความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีอยู่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ไป เวลาเดียวกันเพื่อนบ้านอภิศัตรูอย่างสหรัฐฯ จึงถือโอกาสคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับคิวบาอย่างเข้มงวดมากขึ้น และยังไปกดดันประเทศทุนนิยมต่างๆ ไม่ให้ทำการค้ากับคิวบา ไม่ผิดอะไรกับสถานการณ์ในอิรักก่อนเกิดสงคราม
ขณะนั้น คิวบาต้องนำเข้าอาหารประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีปัญหากับกลุ่มสังคมนิยม คิวบาต้องสูญเสียสิ่งที่นำเข้าไป 50 เปอร์เซ็นต์ดังกล่าวไป รวมทั้งการนำเข้าสิ่งที่ไม่ใช่อาหารอีก 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการนำเข้าอะไหล่ต่างๆ ไม่มีน้ำมัน แทรกเตอร์ทำงานไม่ได้ก็ต้องหยุด ไม่มียาปราบศัตรูพืช ไม่มีปุ๋ยเคมี ไม่มีอาหารสัตว์ที่ต้องนำเข้าจากเยอรมันตะวันออกมาเลี้ยงวัว ไม่มียาปฏิชีวนะ ไม่มีฮอร์โมนเลี้ยงวัว ช่วงนั้นวัว 60 เปอร์เซ็นต์ต้องตาย เพราะกินหญ้าที่คิวบาไม่ได้ ทั้งยังเผชิญวิกฤตเรื่องอาหาร
มีรายงานว่า ตั้งแต่ปี 2533-2538 ประชากรของคิวบากินอาหารน้อยลงกว่าที่เคยกินมาก่อน คนส่วนใหญ่ผอมลงจนตัวเล็ก มีการประมาณการกันว่า ปริมาณการบริโภคอาหารโปรตีนและให้พลังงานของประชากรคิวบา อาจลดต่ำถึงระดับ 30 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาดังกล่าว
ร่วมกันสู้...ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด
"ได้เข้าไปคิวบา หลังโซเวียตล่มสลายแล้ว อยู่ในสภาพประเทศสังคมนิยมที่เพิ่งตระหนักว่า
ตัวเองอยู่มาได้ยังไง โดยไม่รู้จักหากินเอง แล้วก็คิดว่า คงไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศใดๆ
อีกแล้ว เพราะถูกสหรัฐอเมริกาแซงชั่น ต้องมาทำการผลิตเอง แต่ก็ผลิตไม่เป็น
เพราะเคยปลูกแต่อ้อยส่งให้ประเทศคอมมิวนิสต์ด้วยกัน แล้วนำเข้าอาหารจากประเทศอื่นๆ"
เรวดี ประเสริฐเจริญสุข ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) หนึ่งในคนไทยเพียงไม่กี่คนซึ่งเคยเดินทางไปคิวบาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนั้น ได้เล่าย้อนความหลังให้ฟัง
อันที่จริง
คิวบาสามารถเลือกหนทางง่ายๆ ด้วยการกราบขอโทษอเมริกาซะ แล้วรอรับความช่วยเหลือ
รวมทั้งการลงทุน (ที่หิวกระหาย) ที่จะไหลมาเทมา (แบบเดียวกับที่มูอัมมาร์ กัดดาฟี
ผู้นำลิเบีย ทำพิธรขอเข้าเป็นลูกคนล่าสุดของอเมริกา)
แต่
คิวบาเลือกที่จะสู้
คิวบาต้องคิดว่าจะอยู่ด้วยตัวเองได้ยังไง การลงทุนจากต่างประเทศไม่มี ค้าขายกับต่างชาติไม่ได้ ธนาคารโลกไม่ให้ความช่วยเหลือ มีเพียงองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการจากต่างประเทศบางส่วนให้ความช่วยเหลือเท่านั้น นอกนั้นคนคิวบาต้องปากกัดตีนถีบเอาเอง องค์กรหนึ่งที่สำคัญคือ สถาบันเพื่อนโยบายด้านอาหารและการพัฒนา (Food First) ที่เข้าไปศึกษาเรื่องราวในคิวบา
"ขณะนั้นเครือข่ายที่ทำงานด้านเกษตรทางเลือกระดับสากล มองว่า คิวบาน่าจะเป็นประเทศยุทธศาสตร์ที่ชูประเด็นการต่อสู้ เพื่อให้เกิดเกษตรทางเลือกไม่ใช้สารเคมีได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเงื่อนไขที่สหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรไม่ยอมค้าขายด้วย คิวบาจึงไม่มีสารเคมีทางการเกษตรให้ใช้เลย ถ้าสามารถทำคิวบาให้เกิดขึ้นได้จริง ก็จะเป็นการตอบโจทย์ว่าเกษตรทางเลือกสามารถเลี้ยงคนทั้งประเทศได้"
ปีเตอร์ รอสเซ็ท ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ Food First ขณะนั้น เล่าให้ฟังว่า หลายประเทศอาจเผชิญวิกฤตเช่นเดียวกันนี้ แต่ประเทศไม่มีน้ำหนึ่งใจเดียวกันเท่าไร คนชั้นสูงไม่ได้ร่วมลำบากด้วย
ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในคิวบา เมื่อประชาชนลำบาก รัฐมนตรี นักการเมืองก็ไม่ได้สบาย ไม่มีใครมีมากกว่าคนอื่น ได้ไปพบทั้งรัฐมนตรีเกษตร รัฐมนตรีกลาโหม ผอมๆ กันทั้งนั้น ไม่มีกิน ขี่จักรยานไปทำงานเพราะรถไม่มีน้ำมัน "ทุกประเทศมีคอรัปชั่น คิวบาก็มีเช่นเดียวกัน แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆแล้วยังน้อยมาก ในช่วงนั้น ประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตรก็ผอมสุดๆเช่นกัน"
ช่วงวิกฤต ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ฟาร์มขนาดใหญ่ของรัฐได้รับผลกระทบอย่างหนัก นอกจากขาดปัจจัยการผลิตนำเข้า ระบบฟาร์มขนาดใหญ่ได้พรากความสัมพันธ์ของแรงงานกับแผ่นดินออกจากกัน โดยแปลงเกษตรขนาดนับหมื่นไร่ แรงงานจะถูกจัดเป็นทีมต่างๆ คอยตระเตรียมพื้นดินเพาะปลูกในแปลงหนึ่ง แล้วเคลื่อนไปปลูกอีกที่หนึ่ง แล้วไปกำจัดวัชพืชอีกแปลงหนึ่ง จากนั้นไปเก็บเกี่ยวผลผลิตในอีกแปลงหนึ่ง
ทั้งหมดนี้แทบจะไม่ใช่บุคคลคนเดียวกัน ที่ทั้งเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในผืนเกษตรเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่มีใครสักคนมีโอกาสพบเห็นเข้าใจกับผลต่อเนื่องจากกระบวนการเพาะปลูกบางอย่างที่ผิดพลาด หรือในทางกลับกันก็ไม่มีโอกาสชื่นชมผลผลิตจากแรงงานของพวกเขาเอง
แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอง เกษตรกรรายย่อยที่ถือครองที่ดิน 20 เปอร์เซ็นต์ทำเกษตรแบบพื้นบ้าน กลับทำการผลิตได้เพิ่มขึ้น เพราะราคาดี การผลิตก็ไม่ได้พึ่งพาปัจจัยภายนอก เช่น ยาฆ่าแมลงหรือแม้แต่รถแทรกเตอร์อยู่แล้ว แต่อาศัยด้วยความเข้าใจในแผ่นดินของตัวเองอย่างดี ใช้เทคนิคพื้นบ้าน ปลูกพืชแบบผสมผสาน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ฯลฯ การแซงชั่นจากโลกภายนอกจึงไม่ได้กระทบกับเกษตรกรเหล่านี้มากมายนัก
อันที่จริงก่อนวิกฤต รัฐบาลคิวบาเคยมีความพยายามที่จะผูกสายสัมพันธ์ระหว่างแรงงานเกษตรกับผืนแผ่นดินทำกินให้แนบแน่น กับการเชื่อมโยงแรงจูงใจของผลตอบแทนทางการเงินเข้ากับผลิตภาพเอาไว้ด้วยกัน รัฐบาลได้ริเริ่มทดลองโครงการ 'การผูกสายใยประชาชนไว้กับผืนแผ่นดิน' (Vinculando el Hombre con la Tierra) มาหลายปีก่อนหน้านั้นแล้ว ระบบนี้ได้สร้างทีมทำงานขนาดเล็กที่รับผิดชอบโดยตรงต่อแนวโน้มของการผลิตทั้งหมด แต่มันไม่ได้รับการส่งเสริมและตอบรับอย่างกว้างขวางนัก และในขณะนั้นยังพึ่งพาปัจจัยภายนอกอยู่มาก
เดือนกันยายน 2536 คิวบาเริ่มการจัดระเบียบภาครัฐใหม่อย่างเข้มข้น เพื่อสร้างหน่วยการจัดการขนาดเล็กที่ดูมีประสิทธิภาพที่สุดในช่วงเวลาวิกฤต รัฐบาลได้ออกคำสั่งยกเลิกการทำฟาร์มขนาดใหญ่ แล้วเปลี่ยนฟาร์มเหล่านั้นเป็นหน่วยพื้นฐานการผลิตแบบสหกรณ์ โดยให้คนงานเป็นเจ้าของ ที่ดิน 80 เปอร์เซ็นต์ของรัฐถูกส่งมอบให้แก่คนงานให้เช่าที่ดินแบบต่อเนื่องโดยไม่เสียสตางค์ สหกรณ์จะเป็นเจ้าของการผลิต เมื่อผลิตเกินโควตาที่ต้องส่งมอบให้กับรัฐบาล สามารถนำไปขายได้อย่างเสรี การปฏิรูปครั้งนี้ได้สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรรู้จักนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลการวิจัยของนักวิจัยหนุ่มสาว ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี 2523 ในห้องทดทองได้นำมาใช้จริง อย่างที่บอก คิวบาเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้นจึงมีนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยเป็นจำนวนมาก ที่สามารถค้นคิดหาทางต่อกรกับวิกฤต คิวบามีประชากรเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของละตินอเมริกา แต่มีนักวิทยาศาสตร์สูงเกือบ 11 เปอร์เซ็นต์ของภูมิภาคนี้ทีเดียว
นักวิจัยเหล่านี้ได้สร้างศูนย์ควบคุมศัตรูพืช
ทำการคุมการผลิตแบบชีวภาพ ผลิตเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่ไปต่อต้านศัตรูพืช
ผลิตแมลงไปกินศัตรูพืช ผลิตไส้เดือน และคิวบายังสามารถค้นพบแบคทีเรียที่ดึงเอาฟอสฟอรัสมาจากดินให้พืชได้ใช้ประโยชน์
แก้ปัญหาที่เคยใช้ปุ๋ยเคมีแบบสูญเปล่า ศูนย์นี้ตั้งอยู่ในสหกรณ์การเกษตร เป็นวิสาหกิจของสหกรณ์
กระทรวงเกษตรให้เงินกู้สร้างอาคารและซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อการฝึกอบรม สมาชิกสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นลูกของเกษตรกร
โดยเจ้าของศูนย์จะอบรมให้เกษตรกรฟรี สำหรับรายได้ที่ได้มา จะใช้ในการชำระเงินกู้และจ่ายเงินเดือนเจ้าหน้าที่
ซึ่งสามารถทำให้เกิดผลกำไรได้อย่างดี ปัจจุบันมีศูนย์นี้อยู่ 227 ศูนย์ทั้งประเทศ
หลังจากที่วัวนอก 60 เปอร์เซ็นต์ตาย เพราะกินหญ้าที่คิวบาไม่ได้ แต่ที่เหลืออยู่มีสภาพดีชาวคิวบาก็พยายามเลี้ยงต่อไปเพราะเป็นแรงงานสำคัญที่ใช้แทนรถแทรกเตอร์
มีการค้นพบว่า วัวที่อยู่อาศัยกับเกษตรกรรายย่อย เป็นวัวที่มีความสุขมากกว่าวัวที่อยู่ในฟาร์มใหญ่
ดูจากการผลิตนมที่ได้จากวัวฟาร์มมีปริมาณน้อยกว่า และวัวที่อยู่ในโรงงานออกลูกมาก็ตายถึง
20 เปอร์เซ็นต์ แต่วัวที่อยู่กับเกษตรกรตายแค่ 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น "วัวก็ต้องการความรักเหมือนกัน"
นี่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลปฏิรูปที่ดินให้เป็นฟาร์มเล็ก ให้เกษตรกรมีความผูกพันกับแผ่นดินและฟาร์มของตัวเอง
นอกจากนี้ยังมีโครงการนิเวศเกษตร ที่ให้เกษตรกรเรียนเกษตรและนิเวศวิทยาหนึ่งเดือน โดยเกษตรกรต้องทำแผนว่า เวลากลับหมู่บ้านไปที่หมู่บ้านแล้วจะนำข้อมูลที่เรียนรู้มาส่งต่อให้คนอื่นๆ ว่าไปเรียนรู้อะไรมา เป็นวิธีการถ่ายทอดกันเอง
เรวดี เล่าให้ฟังว่า "ช่วงนั้นได้ไปดูงาน ครอบครัวตัวอย่างที่เพิ่งฟื้นตัว มีการทำเกษตรแบบผสมผสาน ถ้าเทียบกับเมืองไทยก็ประมาณกลุ่มที่ยังไม่เริ่มต้น มีแตงโมอยู่ 2 ลูก ฟักอยู่ลูกนึง ผักอยู่ช่อนึง เอามาโชว์ให้เราเห็น พูดอย่างภูมิใจถึงความมุ่งมั่นในการสร้างชาติ ประมาณว่า ฉันทำได้แล้ว"
"ท่ามกลางประเทศที่มีความขาดแคลนเกือบทุกด้าน
แต่มหาวิทยาลัยที่นั่นใหญ่โตมาก ให้ความสำคัญกับการสร้างการศึกษาและผลิตองค์ความรู้
เราได้เห็นการสนับสนุนการค้นคว้าเทคโนโลยีที่จะปรับเปลี่ยนการผลิต ทำปุ๋ยคอก
ปุ๋ยหมัก เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ พยายามสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อให้ประเทศอยู่ได้
ประทับใจมาก เห็นความกระตือรือร้นของนักวิชาการ เวลาทุกคนพูด จะพูดด้วยตาที่เป็นประกายของคนที่ไม่ได้ทำเพราะเป็นนโยบายสั่งมา
แต่ทำเพราะเป็นหัวจิตหัวใจเป็นอุดมการณ์ เป็นความยิ่งใหญ่ที่ช่วยกันสร้างชาติ"
ระบบการศึกษาถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น เปลี่ยนหลักสูตรของโรงเรียนมัธยมชนบทให้สอนเรื่องเกษตรอินทรีย์
และนิเวศวิทยา จากเดิมที่เคยสอนปรัชญาการปฏิวัติเขียวที่คลั่งไคล้สารเคมีและเทคโนโลยีนำเข้า
ในมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนหลักสูตรเน้นด้านนิเวศวิทยาที่มีความสอดคล้องกับธรรมชาติมากขึ้น
ระบบการศึกษาของคิวบาให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใช้จินตนาการ และรักงานศิลปะ "เกือบทุกพื้นที่จะมีนิทรรศการภาพวาด ศิลปะประดิษฐ์ตั้งแต่เด็กเล็กๆ เสียงดนตรี การเต้นรำ ไม่เคยจางหายไปจากถนนไม่ว่าชนบทหรือในเมือง บ้านเมืองปลอดภัยเป็นเมืองของคนที่มีศิลปะในหัวใจ
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่าง คือ การเกษตรในเมือง คิวบาไม่เคยทำเกษตรในเมือง เมื่อเกิดวิกฤตน้ำมัน สินค้าเกษตรจากนอกเมืองไม่สามารถขนส่งเข้าเมืองได้ คนจำนวนมากจึงเริ่มทำเกษตรในเมือง ปลูกพืชผักในสวนของตัวเอง ตามที่ว่างต่างๆ ในเมือง ตอนแรกรัฐบาลก็ปรามว่าอย่าทำ แต่หลังจากนั้นรัฐบาลก็ตระหนักว่าเป็นเรื่องดี จึงปรับนโยบายมาสนับสนุน ไม่ว่าที่ดินว่างเปล่าตรงไหนก็มีเกษตรในเมืองกันทั่ว ผลผลิตราคาดี ปัจจุบันรายได้บางครอบครัวสูงกว่าเฉลี่ยถึง 3 เท่า บางคนมีรายได้ดีกว่ารัฐมนตรีเสียอีก
ที่น่าสนใจคือ การผลักดันให้เกษตรกรในเมืองซึ่งก็เหมือนกับ 'ธุรกิจเอกชน' มีบทบาทเชิงบวกกับสังคมและชุมชนของตนเอง และรัฐบาลได้เข้ามารับผิดชอบโดยจัดบริการศูนย์เลี้ยงเด็ก โรงเรียน บ้านสำหรับคนแก่ ศูนย์อนามัย โรงพยาบาล โดยไม่คิดมูลค่า เพียงขอให้ธุรกิจเอกชนเหล่านี้จัดหาผลผลิต 20 เปอร์เซ็นต์ให้สถานที่เหล่านี้ เรียกว่า 'เศรษฐกิจแบบสมานฉันท์' รัฐมีพันธะช่วยดูแลลูก ดูแลคนแก่ให้ คุณก็ต้องช่วยเหลือโดยจัดหาอาหารกลางวันปลอดสารพิษให้
ปีเตอร์ รอสเซ็ท ได้ไปสัมภาษณ์เกษตรกรในเมืองเหล่านี้ แรกทีเดียวเขาเดาว่า เกษตรกรคิวบาไม่น่าจะพอใจกับสภาพความเป็นอยู่ของตัวเองมากนัก แต่น่าแปลกใจมาก ทุกคนพูดว่า สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของเกษตรกรในเมือง คือการได้ช่วยชุมชนของตัวเอง
"ทุกคนมีโอกาสร่วมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้ร่วมกันสร้างชาติ คือสุมหัวกันเข้ามาเพื่อที่จะแก้ไขปัญหา สร้างและพัฒนาโครงการระดับชาติ เช่น ถ้าคุณคิดอะไรขึ้นมาใหม่ อาจจะเป็นสัดส่วนใหม่ของการปลูก เช่น พืชตัวนี้ต้องปลูกคู่ หรือปลูกสลับกับตัวนี้ หรือ ปุ๋ยชีวภาพสูตรใหม่ ไม่ว่าผลิตอะไรขึ้นมาก็จะมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญช่วยมาตัดสินใจว่า เป็นนวัตกรรมใหม่หรือไม่ มีการให้รางวัลเกษตรกรที่คิดค้นสิ่งใหม่ มีการลงข่าวหนังสือพิมพ์ เผยแพร่ความรู้นั้นให้เกษตรกร เขาเชื่อว่า การส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาจะทำให้ทุกคนเอาชนะปัญหาที่เกิดขึ้นได้"
จากผลของการดื้อแพ่ง และร่วมสู้ยิบตา ปัจจุบันคิวบาเป็นประเทศเดียวบนแผนที่โลก ที่ระบบเกษตรทั้งหมดเป็นเกษตรอินทรีย์ ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงต่างๆ และยังมีส่วนเหลือจากการบริโภคส่งออกได้ด้วย คงไม่แปลกใจแล้วใช่ไหมว่า ทำไมคนคิวบาถึงอายุยืนยาว
อเมริกาไม่มีวันมาเป็นพ่อเรา
"คุณป้ายสีว่า การเมืองและเศรษฐกิจของประเทศคิวบาเป็นระบบทรราช ทั้งที่เป็นระบบที่นำพาคนคิวบาให้เป็นคนที่มีการศึกษาระดับสูง มีความรู้ และมีวัฒนธรรมมากเสียยิ่งกว่าบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว ระบบที่สามารถลดอัตราเด็กทารกที่เสียชีวิตในช่วงแรกเกิดถึง 5 ปี ให้ต่ำกว่าอัตราเดียวกันในสหรัฐฯ ระบบที่ประกันสุขภาพ การศึกษา และการบริการพื้นฐานด้านสังคมอื่นๆอย่างไม่คิดมูลค่า
ได้ฟังคุณพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนในคิวบาแล้วรู้สึกน่าหัวเราะเยาะเป็นอย่างยิ่ง นี่แน่ะ นายบุช คิวบาเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ตลอดระยะเวลา 45 ปี ไม่เคยมีทารุณกรรม ไม่มีหน่วยล่าสังหาร ไม่มีการวิสามัญฆาตกรรม และไม่มีผู้ปกครองสักรายเดียวที่เป็นมหาเศรษฐีจากการดำรงตำแหน่ง
คุณขาดซึ่งคุณธรรมอำนาจที่จะพูดถึงคิวบา ประเทศที่ยืนหยัดในศักดิ์ศรีมาตลอด 45 ปี ต่อสู้การคว่ำบาตรที่โหดเหี้ยม สงครามเศรษฐกิจ การโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย (อย่างสหรัฐอเมริกา) ที่คร่าชีวิตคนคิวบาเรือนหมื่นและสูญเสียทางเศรษฐกิจหลายหมื่นล้านเหรียญ คิวบาสู้เพื่อชีวิตในโลกใบนี้ แต่คุณสู้เพื่อให้เกิดความตาย ในขณะที่ คุณฆ่าผู้คนนับจำนวนไม่ถ้วนด้วยการโจมตีไม่เลือกหน้า และต้องโจมตีก่อน คิวบา กำลังรักษาชีวิตแม่และเด็ก คนแก่ คนเจ็บป่วยทั่วโลก"
(จดหมายเปิดผนึกจากฟิเดล คาสโตร ถึง จอร์จ ดับเบิลยู บุช)
ความสำเร็จของคิวบาทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องของโชคช่วย หรือความเก่งกล้าเหนือมนุษย์แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะวิกฤตที่ผ่านมา แม้จะเป็นวิกฤตที่รุนแรงมาก แต่เกษตรกร นักเกษตรพืชไร่ และนักวิชาการต่างมองวิกฤตนี้ในแง่บวก เขาบอกว่า ต้องขอบคุณวิกฤตที่เกิดขึ้น เพราะมันทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ ซึ่งน่าจะเกิดตั้งนานแล้ว
ถ้าไม่มีวิกฤตการล่มสลายของโซเวียต ไม่ถูกอเมริกันแซงชั่น คิวบาก็คงเหมือนประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่มีวิกฤตอื่น คือมีปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ดินเกาะกันแน่นจากการใช้เครื่องจักรทางการเกษตร มีปัญหาดินเค็มจากการชลประทาน เช่น ฟิลิปปินส์ จีน อินเดีย เกาหลี และไทย ที่มีผลิตผลสูงมากเมื่อเริ่มปฏิวัติเขียว แต่ต่อมาหลังจากใช้ไป 10-20 ปีผลกระทบด้านนิเวศปรากฏมากขึ้น ผลผลิตจะค่อยๆ ลดลง หรืออยู่แค่ระดับเสมอตัว และก็คงต้องตกเป็นลูกไล่ของมหาอำนาจต่อไป
คิวบาแสดงให้เห็นว่า วิกฤตทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ก่อนหน้านั้นก็มีการจัดการศัตรูพืชอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เคยมีวิวาทะในประเด็นนี้ กระทรวงเกษตรคิวบาเองที่พูดว่า เกษตรอินทรีย์เป็นความคิดที่ดี แต่ไม่มีทางเลี้ยงประชากรของประเทศได้ ทุกวันนี้คิวบาก็แสดงให้โลกเห็นแล้วว่า สามารถผลิตได้มากกว่าก่อนเกิดวิกฤตด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่ผลิตได้ในระดับเดิม แต่ผลิตได้มากที่สุดเท่าที่เคยผลิตมา ผลิตอาหารพื้นฐานได้ถึง 10 อย่างใน 13 อย่าง คิวบาได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการกระจายการถือครองที่ดิน และยิ่งไปกว่านั้นยังท้าทายความเชื่อที่ว่า เกษตรรายย่อยไร้ประสิทธิภาพ
คิวบาไม่เพียงแต่พลิกวิกฤตของตัวเองให้กลับมาเป็นโอกาสอย่างแท้จริงแล้ว ยังสามารถเอื้อเฟื้อเจือจานความสำเร็จนี้ไปยังประชาชนที่ยากจนในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง
มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ละตินอเมริกา ตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นกองบัญชาการทหาร ให้การศึกษาแก่นักศึกษาแพทย์ทั่วละตินอเมริกา และแคริบเบียน โดยไม่มีคิดค่าใช้จ่ายใดๆ ตั้งแต่ปี 2541 โดยมีเงื่อนไขเพียงประการเดียวเท่านั้นว่า นักศึกษาแพทย์เหล่านั้น จะต้องกลับไปช่วยเหลือประชาชนในชนบทห่างไกลของประเทศตัวเอง เพื่อเป็นการตอบแทนทุน ทุนการศึกษานี้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ค่าเรียน การอุปกรณ์ การศึกษา ตำรับตำรา ที่พัก อาหาร ตลอด 6 ปีที่ศึกษาอยู่ในคิวบา
ตั้งแต่ปี
2542-2545 มีนักเรียนแพทย์ 2,000 คนจาก 18 ประเทศในละตินอเมริกา และแคริบเบียนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ละตินอเมริกา
ทางมหาวิทยาลัยจะพยายามรับนักศึกษาให้ได้ 1,500 คนต่อปี
เมื่อไม่นานมานี้ตัวแทนของวุฒิสมาชิกผิวดำในสหรัฐอเมริกาได้ไปเยือนคิวบา บอกเล่าเรื่องราวของคนยากจน
ผู้ใช้แรงงาน และเด็กผิวสีที่ถูกเบียดขับและไม่ได้รับการใส่ใจจากรัฐบาลสหรัฐ
ไม่มีแพทย์ให้การรักษาในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิซิปปี้ คิวบาจึงเสนอให้ทุนการศึกษาแก่ชาวอเมริกันผิวดำ
ชาวอเมริกันพื้นเมือง ชาวละติน และคนยากจนในสหรัฐอเมริกา 250 ทุนมาศึกษาด้านการแพทย์ในคิวบา
เพื่อที่จะกลับไปรับใช้ประชาชนในพื้นที่ยากจนเหล่านั้นต่อไป
สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า การที่ประธานาธิบดีชาเวสของเวเนซูเอล่า แม้จะมีคะแนนเสียงง่อนแง่น ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของชนชั้นกลาง แต่มีฐานเสียงเข้มแข็งในเขตชนบท เหตุผลสำคัญจากโครงการแพทย์ชนบทที่ได้รับการช่วยเหลือจากคิวบา ที่ทำให้คนในชนบทห่างไกลมีแพทย์รักษา จากเดิมที่ไม่เคยมีนักการเมืองคนใดเหลียวแล
อาจมีหลายคนสงสัยแล้วตั้งคำถามว่า ถ้าคิวบาดีจริง ทำไมคนคิวบาจำนวนมากจึงหนีข้ามทะเลไปอยู่สหรัฐอเมริกา ปีเตอร์ รอสเซ็ทตอบคำถามนี้อย่างน่าสนใจว่า คนคิวบาหนีเข้าไปสหรัฐอเมริกาในสัดส่วนที่น้อยมากเพียง 0.2 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คนเม็กซิโก เพื่อนบ้านที่ได้ทำเขตเสรีการค้าอเมริกาเหนือ หรือนาฟต้ากับสหรัฐอเมริกา หนีเข้าไปมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่เวลามีคนคิวบาหนีเข้าไปสหรัฐฯ ทางการสหรัฐฯและสื่อมวลชนจะแถลงข่าวและกระพือให้เป็นข่าวใหญ่ นอกจากนั้นสหรัฐอเมริกายังกีดกันไม่ให้วีซ่า ทั้งที่เดิมเคยเดินทางไปมาหาสู่กันได้ คนคิวบาจำนวนมากก็มีญาติอยู่ในสหรัฐ
หากถามว่า ทุกวันนี้คิวบาอยู่ได้ด้วยตัวเอง ท้าทายอำนาจสหรัฐอเมริกาอย่างมั่นคง ยังมีอะไรน่าหวาดหวั่นอีกหรือไม่ คิวบาก็คงเหมือนกับหลายๆ สังคม เมื่อสร้างชาติได้แล้ว ผลิตอาหารได้มากขึ้น ก็เริ่มมีปัจเจกมากขึ้น ซึ่งอาจมาทำลายวัฒนธรรมความร่วมมือซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของคิวบา ที่ชาวคิวบากังวลที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องที่กลัวว่า สักวันหนึ่ง สหรัฐอเมริกาจะยกเลิกการแซงชั่น
การตลาดแบบทุนนิยมที่เป็นอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นสิ่งที่น่ากลัว
ทุนนิยมกับกิเลสคนมันใกล้กันแค่นี้ อย่าเลิกแซงชั่นเลยลุงแซม
เพราะ I am Cuba อเมริกาไม่มีวันมาเป็นพ่อเรา
+++++++++++++++++++++++++++++++
ภาพประธานาธิบดีคิวบา
ฟิเดล คาสโตร
เอกสารอ้างอิง
- จดหมายเปิดผนึกจาก ฟิเดล คาสโต ถึงจอร์จ ดับเบิลยู บุช, 1 พฤษภาคม 2547 http://globalresearch.ca/articles/450A.html- หนังสือ Sustainable Agriculture and Resistance: Transforming Food Production in Cuba โดย Fernando Funes, Luis Garcia, Martin Bourque, Nilda Perez และ Peter Rosset, 2545
- หนังสือ The Greening of Revolution: Cuba's Experiment with Organic Agriculture โดย Peter Rosset และ Medea Benjamin, 2537
- ภาพยนตร์เรื่อง I am CUBA กำกับโดย Mikhail Kalatozov, 2507
- แฟ้มข้อมูล "อธิปไตยทางอาหาร: กรณีศึกษา เกษตรกรรมคิวบา...ประเทศที่ถูกบังคับให้พึ่งตนเอง" ผลิตและเผยแพร่โดย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน, โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) และ คณะทำงานวาระทางสังคม เรียบเรียงจากการเสวนาแลกเปลี่ยนระหว่าง ปีเตอร์ รอสเส็ต ร่วมกับเกษตรกรและนักพัฒนาภาคอีสาน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2547 ที่จังหวัดขอนแก่น
- สัมภาษณ์ เรวดี ประเสริฐเจริญสุข ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2547
- บทความ "คิวบา: ทางเลือกโลกหลังทุนนิยม" เรียบเรียงโดย อริยะ อานนท์ นิตยสาร ปxป - CIA Country Profile
- http://www.indymedia.org
- http://cubamigo.com
คลิกไปที่
กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ผลงานชิ้นโบว์ดำของสหรัฐที่ยังคงทิ้งซากในคิวบา
คือ ฐานทัพสหรัฐที่อ่าวกวนตานาโม โดยทำสัญญาเช่าแบบถาวรกับรัฐบาลหุ่นภายใต้การกำกับของสหรัฐ
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 พื้นที่อ่าวที่ดีที่สุดของประเทศ 117.6 ตารางกิโลเมตร ในราคาเพียง
2,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ตกค่าเช่าประมาณ 680 บาทต่อตารางกิโลเมตร สั่งจ่ายเป็นเช็ค
ซึ่งปัจจุบันคิวบาเบิกไม่ได้แล้ว เพราะหน่วยงานที่สหรัฐสั่งจ่าย ถูกยุบเลิกไป
และที่ไม่เคยขาดเลย คือ ของแถมมากับฐานทัพสหรัฐฯ นั่นคืออาชีพโสเภณี
ปี พ.ศ. 2502 คิวบาทำการปฏิวัติขับไล่บาติสต้า
อิทธิพลของสหรัฐฯก็ถูกขับออกไปด้วย ฟิเดล คาสโตร ขึ้นเป็นประธานาธิบดี