Anti - Coup d' atat
The Midnight University
ต่อต้านการยึดอำนาจและการทำรัฐประหาร
ปฏิกริยาต่อการรัฐประหาร
ถึงการการฉีกธรรมนูญชั่วคราว
สมเกียรติ
ตั้งนโม : รวบรวม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความที่ปรากฎบนหน้าเว็บเพจนี้
เป็นการรวบรวมปฏิกริยาของคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ที่มีต่อเหตุการณ์ยึดอำนาจและการทำรัฐประหาร ของ คปค.
(คณะปฏิรูปการปกครองในะบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุข)
เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เวลาประมาณ ๒๒.๓๐ น.
ประกอบด้วยสาระสำคัญดังต่อไปนี้
๑. แถลงการณ์ฉบับที่หนึ่ง : นำประชาธิปไตยกลับคืนสู่สังคมไทยอย่างสันติ
๒. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดกระดานร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับประชาชน)
๓. แถลงการณ์ฉบับที่สอง : ประชาชนต้องกำหนดรัฐธรรมนูญ
๔. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแต่งดำฉีกธรรมนูญชั่วคราว คปค., ลั่นประชาชนต้องกำหนดรัฐธรรมนูญเอง
๕. สัมภาษณ์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ไม่ว่าใครมีอำนาจเราต้องคุมมันให้ได้
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1048
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๘ กันยายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
9.5 หน้ากระดาษ A4)
ปฏิกริยาต่อการรัฐประหาร
ถึงการการฉีกธรรมนูญชั่วคราว
สมเกียรติ ตั้งนโม : รวบรวม - มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
แถลงการณ์ฉบับที่
๑ : นำประชาธิปไตยกลับคืนสู่สังคมไทยอย่างสันติ
ไม่ว่าประชาชนจะเลือกทางออกในการเมืองไทยอย่างไร แต่บัดนี้กลุ่มทหารได้ยึดอำนาจทางการเมืองจากรัฐบาลของ
พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยถูกละเมิด และรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ได้บังคับใช้นับตั้งแต่
พ.ศ. 2540 ต้องสูญเสียไป อันมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
สังคมไทยได้เคยเผชิญการยึดอำนาจด้วยกำลังทหารมาหลายครั้ง ในระยะเริ่มต้นก็จะมักฝากความหวังไว้กับคณะบุคคลเหล่านั้นว่าจะเข้ามาแก้ไขความยุ่งยากที่มีอยู่ แต่ทั้งหมดก็ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ข้อเท็จจริงนี้เป็นที่ประจักษ์กันมาอย่างชัดแจ้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย สังคมไทยจึงต้องไม่หลงดีใจไปกับความเปลี่ยนแปลงเชิงตัวบุคคลเท่านั้น
ในห้วงระยะเวลาปัจจุบัน การปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จของกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งที่พ้นสมัยและไม่อาจดำเนินอยู่ได้อย่างมั่นคง ระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลักการสำคัญที่ต้องได้รับการประกันไว้อย่างมั่นคง โดยภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ สิ่งที่จำเป็นและมีความหมายสำคัญสำหรับสังคมไทย คือ การนำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่สังคมไทยโดยเร็วและด้วยวิธีการสันติ
เพื่อให้สถานการณ์ทางการเมืองกลับคืนสู่ครรลองของระบอบประชาธิปไตยซึ่งวางอยู่บนหลักการเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน จำเป็นต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นบังคับใช้ โดยทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องประกอบด้วยหลักการซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 อาทิ
- การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญ
- องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่อยู่นอกรัฐสภา
- สิทธิชุมชน
- หลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
- เสรีภาพของสื่อในการเสนอข้อมูลข่าวสาร
แม้เราไม่อาจย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงเวลาก่อนการรัฐประหารได้แล้ว แต่เรายังควรรักษาอำนาจในการกำหนดอนาคตไว้ในมือของเราเอง ดังนั้น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงใคร่เรียกร้องให้ประชาชนร่วมมือกันในการกำกับและควบคุมให้คณะรัฐประหาร นำเอาประชาธิปไตยที่ประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกหมู่เหล่าโดยเสมอภาคกัน กลับคืนมาสู่บ้านเมืองของเราโดยเร็ว ด้วยความหวังว่าปัญหาการเมืองทุกชนิดซึ่งต้องเกิดในสังคมไทยเป็นธรรมดา จะต้องแก้ให้ลุล่วงได้โดยสันติและด้วยกระบวนการที่ให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราทุกคน
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๒๑ กันยายน ๒๕๔๙
๒. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดกระดานร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับประชาชน
- ฉบับลงขัน)
ตามที่เป็นข่าวการยกร่างธรรมนูญชั่วคราว โดยนักกฎหมายมหาชนพร้อมคณบดีทางด้านนิติศาสตร์จากหลายสถาบันขึ้นมาใช้เป็นเวลา
1 ปี ในช่วงระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยคณะกรรมการยกร่างชุดต่างๆ
ประกอบด้วยกรรมการสภานิติบัญญัติ 200 คน และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรประมาณ
300-500 คน และกรรมการยกร่าง 20-30 คนนั้น
เพื่อปกป้องไม่ให้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเป็นเรื่องจากบนลงล่าง
โดยตัวแทนที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนคัดสรรในเวลานี้ ภายใต้การปกครองของคณะปฏิรูปการปกครองฯ
หรือภายใต้รัฐบาลชั่วคราว 1 ปี ในอนาคต
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงเปิดกระดานร่างรัฐธรรมนูญขึ้น เพื่อให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง
อันเป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคทางตรงในระบอบประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของเราทุกคนที่ร่วมกันสร้างได้
และเป็นสิทธิและอำนาจหน้าที่โดยธรรมชาติ
ที่เราจะออกแบบโครงสร้างกรอบกติกาสังคม การเมือง-เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดเล้อม
เพื่อดูแลกำกับและสร้างสภาพแวดล้อมตามที่เราปรารถนาจะอยู่ในสังคม (๒๓ กันยายน
๒๕๔๙)
สนใจร่วมร่างรัฐธรรมนูญคลิก
๓. แถลงการณ์ฉบับที่
๒ : ประชาชนต้องกำหนดรัฐธรรมนูญ
การยึดอำนาจและการฉีกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 โดย คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อันที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) เป็นการทำลายหลักการสำคัญของการปกครองและพัฒนาการระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยลงอีกครั้งหนึ่ง
ไม่ว่าการกระทำนี้จะทำลงไปด้วยข้ออ้างหรือเหตุผลใดก็ตาม เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มิได้เป็นไปครรลองของระบอบประชาธิปไตย
คปค. เสนอแนวทางในการนำสังคมไทยกลับคืนภาวะปกติภายหลังการยึดอำนาจด้วยการเสนอให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะใช้ระยะเวลาในจัดทำรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 8 เดือน 15 วัน เมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะจัดให้มีการเลือกตั้ง และภายหลังจากนั้นจึงกลับคืนไปสู่ระบอบรัฐสภา โดยในระหว่างนี้จะมีรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง
จะเห็นได้ว่าตามแนวทางดังกล่าว คปค. ยังคงมีอำนาจในการควบคุมการร่างรัฐธรรมนูญทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แม้จะเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแต่ คปค. ก็ยังคงมีอำนาจตัดสินใจในขั้นสุดท้าย และด้วยกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งกฎอัยการศึกและคำสั่งจำนวนมาก จึงทำให้เห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญจากกระบวนการของ คปค. จะไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตย ต้องเข้าใจว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญมิใช่เพียงแค่การให้ประชาชนมาประชุมกัน แต่ต้องเป็นสังคมที่มีเงื่อนไขเอื้อให้ประชาชนสามารถผลักดันนโยบายหรือความเห็นของตนได้โดยอิสระ อันจะเกิดขึ้นก็แต่ในสังคมที่มีการเคารพสิทธิเสรีภาพเท่านั้น
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความเห็นว่าในการนำสังคมไทยกลับคืนสู่ครรลองของระบอบประชาธิปไตย ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
๑. การจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่กำลังจะเกิดขึ้น รัฐบาลชุดนี้ต้องมีหน้าที่เพียงแค่การจัดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสมควร ที่เพียงพอต่อการเตรียมการให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม เนื่องจากมิได้เป็นรัฐบาลที่มาตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตยจึงไม่ควรดำเนินบทบาทอื่นใดที่ไม่มีความจำเป็น
๒. ภายหลังจากการเลือกตั้ง คปค. ต้องสลายตัวไปจากการเมืองโดยทันทีและต้องไม่แฝงตัวอยู่ในระบอบการเมือง ไม่ว่าจะเป็นไปภายใต้ชื่อหรือรูปแบบอื่นใด เช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น
๓. หน้าที่สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งก็คือ การทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองที่ดำเนินไปอย่างอิสระและไม่ถูกควบคุมไว้โดย คปค. หากประชาชนเป็นผู้กำหนดรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง
การแก้ปัญหาความแตกแยกและความรุนแรงในสังคมไทยเป็นประเด็นสำคัญของการปฏิรูปการเมือง อันจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นมาและดำรงอยู่อย่างมั่นคง มิฉะนั้น ก็จะมีความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างกลุ่มซึ่งมีอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน มีความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างสูงระหว่างผู้กุมอำนาจอยู่ในมือกับผู้มีอำนาจน้อยหรือปราศจากอำนาจ มีการดำเนินนโยบาย "ประชานิยมจอมปลอม" เพื่อคะแนนเสียง และเกิดการใช้อำนาจรัฐโดยปราศจากกระบวนการควบคุมตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และปราศจากการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของภาคประชาชน อันอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงและเกิดการรัฐประหารซ้ำซากในอนาคต
ซึ่งการปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่ ภายใต้ "ระบบ" ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมและตัดสินใจ จะเป็นหลักประกันในการเข้าถึงและการใช้อำนาจอย่างเท่าเทียม สามารถตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งของสังคมในการเผชิญหน้ากับความยุ่งยากต่างๆ มากกว่าการพึ่งพิงอำนาจนอกระบบ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเรียกร้องให้สังคมไทย ร่วมกันกดดันเพื่อให้รัฐบาลชั่วคราวที่จะเกิดขึ้นทำหน้าที่เพียงจัดการเลือกตั้งและนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองที่เป็นอิสระจากการควบคุมของ คปค. ต่อไป
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๒๘ กันยายน ๒๕๔๙
๔.
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแต่งดำฉีกธรรมนูญชั่วคราว คปค.
ลั่นประชาชนต้องกำหนดรัฐธรรมนูญเอง
(จากประชาไทออนไลน์)
วันนี้ 28 ก.ย. 49 ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในชุดดำ
นำโดย รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน,ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
และคณาจารย์ได้รวมกันเพื่อแถลงข่าวหัวข้อ "ประชาชนต้องกำหนดรัฐธรรมนูญ"
ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จ.เชียงใหม่ โดยมีรองศาสตราจารย์ สมเกียรติ ตั้งนโม
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอธิการบดี ม.เที่ยงคืน เป็นผู้อ่านแถลงการณ์
โดย รศ.สมเกียรติกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เมื่อมีการรัฐประหาร ม.เที่ยงคืนได้ออกแถลงการณ์แสดงปฏิกิริยาไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร และวันนี้จะเป็นการออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 หัวข้อ "ประชาชนต้องกำหนดรัฐธรรมนูญ" ซึ่งสาระสำคัญจากแถลงการณ์ดังกล่าวเห็นว่าการยึดอำนาจและการฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 ของ คปค. เป็นการทำลายหลักการสำคัญของการปกครองและพัฒนาการระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ คปค. ก็ยังคงมีอำนาจตัดสินใจในขั้นสุดท้าย
"และด้วยกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งกฎอัยการศึกและคำสั่งจำนวนมาก จึงทำให้เห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญจากกระบวนการของ คปค. จะไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการทำรัฐธรรมนูญมิใช่เพียงแค่ให้ประชาชนมาประชุมกัน แต่ต้องเป็นสังคที่มีเงื่อนไขเอื้อให้ประชาชนสามารถผลักดันนโยบายหรือความเห็นของตนโดยอิสระ อันจะเกิดขึ้นก็แต่ในสังคมที่มีการเคารพสิทธิเสรีภาพเท่านั้น"
รศ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า เพื่อการนำสังคมไทยกลับคืนสู่ครรลองของระบอบประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่าต้องดำเนินการดังต่อไปนี้คือ หนึ่ง รัฐชั่วคราวต้องทำหน้าที่เพียงแค่จัดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้น เนื่องจากไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาตามวิถีทางประชาธิปไตยจึงไม่ควรดำเนินบทบาทอื่นใดที่ไม่มีความจำเป็น สอง ภายหลังจากการเลือกตั้ง คปค. ต้องสลายตัวไปจากการเมืองโดยทันทีและต้องไม่แฝงตัวอยู่ในระบอบการเมือง เช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น สามหน้าที่สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งก็คือ การทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองที่ต้องดำเนินไปอย่างอิสระและไม่ถูกควบคุมไว้โดย คปค. หากประชาชนเป็นผู้กำหนดรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง
โดยตอนท้ายของแถลงการณ์ระบุว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเชื่อว่าการปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่ ภายใต้ "ระบบ" ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมและตัดสินใจ จะเป็นหลักประกันในการเข้าถึงและการใช้อำนาจอย่างเท่าเทียม สามารถตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งของสังคมในการเผชิญหน้ากับความยุ่งยากต่างๆ มากกว่าการพึ่งพิงอำนาจนอกระบบ โดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเรียกร้องให้สังคมไทย ร่วมกันกดดันเพื่อให้รัฐบาลชั่วคราวที่จะเกิดขึ้นทำหน้าที่เพียงจัดการเลือกตั้งและนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองที่จะเป็นอิสระจากการควบคุมของ คปค. ต่อไป
โดยหลังจากนั้นคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้ฉีกธรรมนูญชั่วคราวที่กำลังจะนำเสนอของ คปค. โดยระบุว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยเราไม่อาจย้อนกลับเวลาไปได้ แต่เราสามารถสร้างอนาคตของเราได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติการทางการเมืองที่ภาคประชาชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีแต่ได้รับความเสียหาย ถูกริบประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิ และสิ่งอื่นๆ ทั้งหมดที่เคยเป็นสิทธิโดยธรรมชาติ ด้วยการรัฐประหารของคณะรัฐประหารชุดหนึ่ง แม้เราจะแก้ไขไม่ได้ เราขอเป็นก้าวเล็กๆ ที่จะบอกว่าเราไม่ยินยอมที่จะถูกปล้นสิทธิตามธรรมชาติของเรา 1.ไม่โปร่งใส 2.ไม่มีส่วนร่วม 3.ไม่มีการรับรอง หรือความชอบธรรมโดยผ่านประชามติ
"ที่รัฐธรรมนูญต้องผ่านประชามตินั้น เป็นเพราะประชาธิปไตยเติบโตขึ้นมากกว่า 16 ปีที่แล้ว ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตามรวมทั้งธรรมนูญฉบับนี้ด้วย จึงเป็นแนวคิดของนักรัฐประหารในโลกล้าหลัง ที่เราไม่อาจยอมรับได้ ความไม่โปร่งใส ความไม่มีส่วนร่วม และการไม่ถูกรับรองโดยประชาชน เราไม่สามารถยินยอมให้คน 4-5 คนปิดห้องประชุมแล้วเขียนธรรมนูญมาปกครองคน 60 ล้านคนในหนึ่งปี เราไม่ยินยอมให้คน 4-5 คนทำอะไรโดยที่เราไม่มีส่วนร่วม โดยที่เราไม่รับรอง โดยที่เราไม่มีฉันทานุมัติ เราจึงขอทำลายธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้" รศ.สมเกียรติกล่าว ก่อนที่คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะพากันฉีกธรรมนูญชั่วคราวฉบับ คปค.
หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวได้ถาม ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชาวบ้านไม่มีความรู้ความเข้าใจในการร่างรัฐธรรมนูญ ทำอย่างไรที่จะทำให้ชาวบ้านเข้าใจกระบวนการ ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า จริงๆ แล้วแม้แต่พวกเราที่ได้รับการศึกษาก็ไม่อาจร่างรัฐธรรมนูญได้ คือการร่างรัฐธรรมนูญมันเป็นเทคนิคเหมือนการตัดผม เราก็ตัดผมไม่เป็น ก็ต้องอาศัยคนมีความรู้ความสามารถทางด้านเทคนิค แต่เขาไม่ได้คิดว่ามันควรมีเงื่อนไขอะไร ถามว่าประชาชนรากหญ้ารู้ไหมว่าควรมีเงื่อนไขอะไรในรัฐธรรมนูญถึงจะทำให้เขาเงยหน้าอ้าปากได้ คิดว่าเขารู้ แต่ให้เขาลงไปนั่งเขียนกฎหมายเขาทำไม่ได้หรอกแต่เขาบอกได้ว่าต้องการอะไร
"ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เขาเปิดเงื่อนไขของเขาได้ ผมคิดว่าเราต้องเปิดให้มีกระบวนการทางสังคม เช่น ถ้าสมัชชาคนจนอยากคัดค้านเรื่องเขื่อน การปิดป่า ต้องให้เขาเคลื่อนไหว เพราะจากความต้องการเหล่านี้ จะสะท้อนว่าเราจะกำหนดเงื่อนไขทางกฎหมายอย่างไร ถึงจะอยู่ร่วมกันโดยสันติและทุกคนได้ส่วนแบ่งของทรัพยากรที่เป็นธรรมรัฐ พอพูดถึงกระบวนการผมคิดว่าไม่ใช่แค่เอาประชาชนมาประชุม แต่กระบวนการที่ว่าคือกระบวนการทางสังคมและการเมืองที่ปล่อยให้กลุ่มต่างๆ เรียกร้องสิ่งที่เขาต้องการ และพวกช่างตัดผมจะได้สามารถเขียนกฎหมายมาตอบสนองเงื่อนไขนี้ได้"
นอกจากนี้ รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม ได้กล่าว่าขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้เปิดกระดานร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงขันที่เว็บไซต์ http://midnightuniv.tumrai.com ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และประชาชนสามารถเสนอปัญหาเชิงนโยบาย หรือปัญหาด้านทรัพยากรเขาสามารถส่งมาทางช่องทาง ตู้ ป.ณ.196 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
"นี่คือสิ่งที่เป็นแนวทางเชิงปฏิบัติ ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเตรียมไว้ให้กับประชาชน ในการร่วมกันลงขันสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"
มีผู้สื่อข่าวถามคณาจารย์ ม.เที่ยงคืนว่า ตามที่มีการชุมนุมเกิน 5 คนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของปัญญาชน ชนชั้นกลางในเมืองนั้น ทางคณาจารย์มีคำแนะนำการอารยะขัดขืนสำหรับพี่น้องในชนบทอย่างไรบ้าง ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวตอบว่าผมสถานการณ์แบบนี้เปิดโอกาสให้คนข้างล่างเคลื่อนไหวได้ยาก เพราะคนในเมืองถูกมองว่าเป็นพันธมิตร แต่กับคนชนบท คปค. แยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร แต่ต้องยืนยันในสิทธิ การฉีกสิ่งที่เป็นคำสั่งที่เรามิอาจรับได้นั้นจำเป็นต้องทำ อารยะขัดขืนคือการที่คุณไม่ยอมรับคำสั่งที่คุณเห็นว่าไม่ชอบธรรมและเป็นสิทธิ ซึ่งจนถึงนาทีนี้ พวก คปค. ก็ยังไม่ได้ลงโทษใครอย่างรุนแรง อย่างที่มีชาวบ้านยกมาจากเพชรบูรณ์ ทหารก็เกลี้ยกล่อมให้กลับแต่เขาก็ไม่ได้ยิง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าคนชนบท เช่นกลุ่มที่จัดตั้งไว้แล้วอย่าหยุดเคลื่อนไหว ให้ทำต่อไป อย่างกรณีสมัชชาคนจน ช่วงก่อนรัฐประหารเขาก็มีการเตรียมเรื่องการปฏิรูปการเมือง มีการประชุมเพื่อกำหนดข้อเรียกร้องต่อสาธารณะ ผมคิดว่าอย่าหยุด ต้องทำต่อไป
เมื่อผู้สื่อข่าวตั้งคำถามอีกว่า หาก คปค. คิดจะครองอำนาจนานเราควรทำอย่างไร ศ.ดร.นิธิกล่าวว่า ข้อที่เราทุกคนควรวิตกคือเมื่อไหร่ก็ตามที่เราให้อำนาจที่ไม่สามารถตรวจสอบ ทัดทานได้ ผมคิดว่า "อย่าไว้ใจแม่งทั้งนั้น"
นอกจากนี้ ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า หากใครได้อ่านรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีชัย ฤชุพันธ์ สรุปออกมานั้นจะเห็นว่า คปค.ยังคงแฝงร่างอยู่ในสังคมไทยต่อไป อาทิ การร่างรัฐธรรมนูญที่ให้มีสมัชชาแห่งชาติ 200 คนสุดท้าย หลังจากนั้นจะมีการดำเนินการต่อโดย คปค.ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นคณะมนตรีแห่งชาติที่พิจารณาคัดเลือก 100 คน ซึ่งในขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญโดยกรรมาธิการ จะมีการเลือกกันเองอีก 25 คน แต่คณะมนตรีแห่งชาติเลือกอีก 10 คน เพราะฉะนั้นหากอ่านจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าว เราจะเห็นว่า คปค.จะเข้ามามีส่วนควบคุมโดยปราศจากการตรวจสอบในสังคมไทยต่อไปอีกนาน
๕. สัมภาษณ์นิธิ
เอียวศรีวงศ์ : "ไม่ว่าใครมีอำนาจเราต้องคุมมันให้ได้"
(จากประชาไทออนไลน์)
ภายหลังการแถลงข่าวของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเรื่อง 'ประชาชนต้องกำหนดรัฐธรรมนูญ'
ในวันที่ 28 ก.ย. ผู้สื่อข่าว 'ประชาไท' มีโอกาสสนทนาเป็นระยะเวลาสั้นๆ กับ
'ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์' นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งได้เสนอแนวทางการตรวจสอบชนชั้นนำทางการเมืองง่ายๆ
สั้นๆ 'ต้องคุมมันให้ได้ ไม่ว่าใครจะมีอำนาจ'
อาจารย์มองอย่างไรกับแนวทางการตรวจสอบชนชั้นนำทางการเมืองในขณะนี้
ไม่ว่าใครจะมีอำนาจ เราต้องคุมมันให้ได้ ใครจะมามีอำนาจไม่ว่าจะโดยกฎหมายหรืออำนาจโดยอาวุธ
เราต้องคุมมันให้ได้ เพราะฉะนั้นใครจะมาเป็นก็ได้ คือผมไม่ได้เกลียดคุณทักษิณเป็นการส่วนตัว
แต่คุณทักษิณมีปัญหาเพราะสังคมคุมอะไรแกไม่ได้เลย
มีนักวิชาการบางคนบอกว่าเราไม่ควรทิ้งเป้าเดิมของเรา
คือการล้มล้างระบอบทักษิณ ในส่วนของ ม.เที่ยงคืนมองตรงนี้ว่าอย่างไร
ระบอบทักษิณแปลว่าอะไร ต้องเอาให้ชัดๆ ก่อน ถ้าระบอบทักษิณแปลว่าทักษิณ ผมไม่เห็นด้วย
คุณก็มีนายกฯ แบบนี้ได้อีกที่ไม่ได้ชื่อทักษิณ และก็มีลีลาท่าทีที่ต่างออกไปก็ได้
ถ้าระบอบทักษิณจัดสรรทรัพยากรและอำนาจไม่เท่าเทียม ถ้าอย่างนั้นเราก็ควรทำลาย
เราก็ควรจะล้มล้างสิ่งนี้ออกไป เพราะความแตกแยกในสังคมไทย มันไม่ได้เกิดจากคุณทักษิณอย่างเดียว
แต่เกิดจากเศรษฐกิจและสังคมของเราเองมันแตกแยกไม่ใช่หรือ จริงไหม
เรามีคนจำนวนมากที่เป็นชั้นล่างที่ไม่ได้รับส่วนแบ่งจากผลพวงการพัฒนาเท่าที่ควร ถูกไหมครับ คุณทักษิณเอาเงินไปเที่ยวแจกคนเหล่านี้ แล้วอยู่ๆ ไปบอกเขาอย่าไปรักคุณทักษิณ มันเป็นไปไม่ได้ อยู่ๆ เราบอกเลิกแจกเงินเขา และยังหวงทรัพยากรไว้กับชนชั้นกลางอย่างเดียว แล้วบอกว่าบ้านเมืองจะสงบ จะบ้าเหรอ
อาจารย์ได้อ่านประกาศของ
คปค. ทีมีเนื้อหาว่าจะสนับสนุนการค้าเสรีหรือยัง
อันนี้ผมก็รับไม่ได้ คือแม้แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่กำหนดไว้เลยว่าประเทศไทยจะดำเนินเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม
มึงมากำหนดอนาคตลูกหลานขนาดนี้เชียวหรือ ผมก็ไม่เห็นด้วยนะ อย่าแต่เสรีนิยมใหม่หรือเก่าเลยแค่นี้ก็ชิบหายแล้ว
อาจารย์คิดว่าจะมีการเซ็นสัญญาเอาใจสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ไหม
ผมว่าเขาไม่กล้า คือสถานการณ์เวลานี้ ต้องยอมรับว่ามันเปราะบางสำหรับเขามาก
เพราะฉะนั้นเขาคงไม่เสี่ยงที่จะสร้างศัตรูเพิ่มขึ้น
คือกรณีนี้เทียบกับ
รสช. ที่รัฐบาลอานันท์ ต้องแลกสถานะคืนมาด้วยการยอมเซ็นสัญญาที่ไม่เท่าเทียม
คุณอย่าไปเชื่อมหาอำนาจ ผมไม่เชื่อหรอก ผลประโยชน์ของมันในประเทศไทยมากเกินกว่ามันจะกล้าลงทัณฑ์ทางการเมืองกับประเทศไทย
ผมไม่เชื่อหรอก ตราบที่คุณยังไม่ไปยึดบริษัทอเมริกัน อังกฤษอะไรต่างๆ นานา
ปล่อยให้มันลงทุนแบบนี้ ปล่อยให้มันเอาเปรียบคนไทยแบบนี้ มันไม่ทำอะไรหรอก
คุณจะทำอะไรมันก็เรื่องของคุณ
ใช่ว่าอเมริกากับอังกฤษจะไม่เป็นพันธมิตรกับเผด็จการ พวกนี้มันเลี้ยงเผด็จการมากับมือมันเอง ซึ่งซัดดัม ฮุสเซน ก็คนของมันนั่นแหละ ถูกไหมฮะ เพราะฉะนั้นมันทำยึกๆ ยักๆ ที่จะรักษาหน้ามันเท่านั้นเอง
การยึดทรัพย์ที่จะเกิดเขาจะเอาทั้งหมด
หรือจะเกิดการเลือกปฏิบัติ
ไม่ ผมเห็นว่าไม่ควรจะยึดทรัพย์ใครจนกว่าคุณจะผ่านกระบวนการทางกฎหมายอย่างถ่องแท้ก่อน
ไม่งั้นก็ไปไม่รอดแบบ รสช. ยึด แต่สุดท้ายคุณก็ต้องคืนหมดไม่มีประโยชน์อะไรเลย
คุณใช้อำนาจป่าเถื่อนแบบนั้นไม่ได้แล้ว คือส่วนทักษิณมีสิทธิจะครอบครองก็ครอบครองไปสิ แต่ส่วนที่แกควรจะเสียก็ต้องเสีย ไม่ว่าจะเป็นภาษี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดำเนินนโยบายเพื่อเอื้อพรรคพวกและบริษัทของแกเอง ส่วนนี้ก็ต้องเอาคืนมา จะเอาคืนบางส่วนหรือทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่ช่างตัดผม (หมายถึง - นักกฎหมาย) จะเถียงกันเองผมไม่ทราบ
แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการทำอะไรก็แล้วแต่ที่ไปใช้อำนาจป่าเถื่อนไปทำอันตรายกับคนที่เรารู้สึกว่าเป็นคนชั่ว ถ้าง่ายแบบนั้นผมว่าก็ฆ่าคนชั่วทั้งหมด ไอ้...โลกก็ง่ายนิดเดียว
แต่อารมณ์คนไทยตอนนี้ไปแล้ว
ซึ่งผมไม่เห็นด้วยไงครับ นี่เป็นการคิดสั้นเกินไป อย่าลืมว่าคุณทักษิณอายุแกก็แค่นี้
อย่างมากอีก 30 ปีไม่นานแกก็ต้องตายแล้ว แต่เราสิต้องอยู่กันต่อไป เราต้องอยู่ในสังคมที่มีระเบียบ
สังคมที่สามารถจะรู้ว่าอนาคตจะเกิดผลอะไรขึ้น ไม่ใช่แล้วแต่อารมณ์นี้กูยึดทรัพย์มึง
อารมณ์นี้กูไม่ยึดทรัพย์มึง แบบนี้ผมไม่เห็นด้วย
แต่การเมือง
สังคม แบบที่อาจารย์ว่ามันจะต้องใช้อะไรมากน้อยขนาดไหน
นี่คือสิ่งที่พวกเราต้องช่วยกันทำ คุณอย่าทำอะไรที่มันผิดครรลองกฎหมาย กฎหมายมันมีข้อกำหนดไว้ว่าในการที่คุณจะไปยึดทรัพย์ใคร
หรือจะจับใครเข้าคุก มันต้องผ่านกระบวนการพิจารณาไต่สวน เขามีสิทธิปกป้องตัวเขาเอง
นำเอาหลักฐานต่างๆ มาดูกัน
หลักการนี้ภาษาฝรั่งเขาเรียก the due process of law อันนี้ต้องรักษาเอาไว้ เพราะเป็นหัวใจที่เราจะอยู่ร่วมกันได้ คือถ้าคุณทำง่ายๆ แบบนั้น คุณไปด่าคุณทักษิณว่าเขาอุ้มฆ่าทำไม เพราะจำนวนมากของคนที่ถูกอุ้มฆ่าภายใต้คุณทักษิณ ผมเชื่อว่าทักษิณไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว ก็เท่ากับที่เราอยู่เวลานี้ ถ้าเราเที่ยวไปยึดทรัพย์คนสุ่มสี่สุ่มห้า ก็คือเที่ยวกับเราไปอุ้มฆ่าคนอื่น
การแตกหักของชนชั้นทางการเมืองครั้งนี้
เป็นมิติทางอารมณ์มากกว่าเรื่องการเมืองหรือเปล่า
คนถืออาวุธแล้วแตกกัน เมืองไทยไม่ได้มีเป็นครั้งแรก ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์
2490 กองทัพเรือ กองทัพบก แหมก็รบกับมันก็มีอย่างนี้มาตลอดเวลา
ความคาดหวังต่อการปฏิรูปการเมือง
ถือว่าการเมืองตอนนี้ (ช่วงก่อนรัฐประหาร) มีกลุ่มต่างๆ หลากหลายเข้ามาต่อรองได้มากขึ้น
อาจไม่ถึงระดับล่างทีเดียว แต่เดิมเมื่อตอนคุณเกิดถามว่ากลุ่มใดเข้ามาต่อรองการเมือง
ไม่ว่ารัฐประหารจะเกิดหรือไม่ก็ตาม ก็คือมีพ่อค้า ข้าราชการ ที่เหลือไม่เกี่ยว
ต่อมาหลัง 14 ตุลา มีกลุ่มชนชั้นกลางมาเกี่ยวข้องเพิ่ม บัดนี้ชนชั้นกลางขยายตัวมากขึ้น กระทั่งจนกลบข้าราชการออกไป เพราะฉะนั้นเวลานี้ยังไงคุณหนีไม่พ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 เปิดไว้ให้พอสมควรในการที่จะให้คนกลุ่มอื่นๆ เริ่มก้าวเข้ามา ชนชั้นกลางเองก็แตกตัวเป็นกลุ่มวิชาชีพ กลุ่มอะไรต่ออะไรมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ไม่ว่าคุณจะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร รัฐธรรมนูญก็ปฏิเสธคนกลุ่มนี้ไม่ได้ และถ้าไม่ได้เขียนเผื่อมันก็จะต้องเกิดความรุนแรงขึ้นอีก
ดังนั้น เราต้องคุมมันให้ได้ ไม่ว่าใครจะมีอำนาจ เราต้องคุมมันให้ได้ คือใครจะมามีอำนาจไม่ว่าจะโดยกฎหมายหรืออำนาจโดยอาวุธ เราต้องคุมมันให้ได้
คลิกไปที่
กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com