บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๔๔ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙
23-09-2549

Constitution
The Midnight University

ความหมายและความเป็นมาเกี่ยวกับ
ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความที่ปรากฎบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว
เป็นเรื่องเกี่ยวกับความหมายและความเป็นมาของรัฐธรรมนูญที่มีการใส่ข้อความ
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อท้ายระบอบประชาธิปไตย
ผู้เขียนได้สรุปว่า ข้อความดังกล่าวเป็นอุดมการณ์ราชการ ที่ได้รับการสถาปนาขึ้นในประเทศไทย
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1044
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6.5 หน้ากระดาษ A4)

 

ความหมายและความเป็นมาของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

1. ความหมายและความเป็นมาของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๙)
ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นี่เป็นข้อความที่เราทุกคนคุ้นเคยกันดี และได้เห็นหรือได้ยินอยู่ทุกวัน ในแง่หนึ่ง ไม่อาจถือว่ามีความหมายที่แปลกพิเศษอะไร: ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย เรามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง ข้อความดังกล่าวมีความน่าสนใจที่ชวนให้คิดและศึกษาต่อ ประเทศตะวันตกหลาย
ประเทศ เช่น อังกฤษ สวีเดน เบลเยี่ยม ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและมีพระมหากษัตริย์ (หรือพระราชินี) เป็นประมุขของรัฐ แต่เราไม่เรียกหรือได้ยินใครเรียกประเทศเหล่านั้นว่าปกครองด้วย "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" แม้แต่รัฐบาลและประชาชนของประเทศเหล่านั้นเอง แสดงว่าข้อความที่เราคุ้นเคยกันดีนั้น น่าจะให้ความหมายหรือสะท้อนความจริงบางอย่างที่นอกเหนือไปกว่าความหมายธรรมดาที่เข้าใจกัน

ก่อนอื่น ขอให้เรามาพิจารณาให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในแง่ของไวยากรณ์ภาษา
"ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" เป็นประโยคเดียว ส่วนท้ายของประโยค "อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" เป็นเพียงส่วนขยายของคำว่า "การปกครองระบอบประชาธิปไตย" พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เราไม่ได้พูดว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย (และ) มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ซึ่งเป็นสองประโยคที่เชื่อมด้วยสันธาน "และ" ที่ละเว้นได้ ดังจะเห็นต่อไปข้างหน้าว่า สมัยหนึ่งในรัฐธรรมนูญ เคยเขียนในลักษณะสองประโยคเช่นนี้จริงๆ การที่ปัจจุบันหันมาเขียนในลักษณะประโยคเดียว เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่า ข้อความที่เราคุ้นเคยนี้มีความหมายมากกว่าที่คิดกัน)

เราจะเห็นความสำคัญของความแตกต่างในรูปประโยคนี้ ถ้าเราลองนึกถึงกรณีประเทศตะวันตกที่กล่าวถึงข้างต้น เราสามารถพูดได้ว่า "อังกฤษ สวีเดน ฯลฯ มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย (และ) อังกฤษ สวีเดน ฯลฯ มีพระมหากษัตริย์ (พระราชินี) ทรงเป็นประมุข" แต่ "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" คำว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" มีลักษณะเหมือนวิสามัญนาม คือเป็นคำเฉพาะที่สื่อความหมายถึงบางอย่างที่เป็นหนึ่งเดียว

ดังที่ทราบกันดีว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นรูปแบบการปกครองที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตกก่อน แล้วเราลอกเลียนเอามาใช้ ผมขอเสนอว่า ความหมายพิเศษอย่างแรกของข้อความ "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" คือการที่ระบอบการปกครองของเราเป็นระบอบที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมการเมืองที่เป็นตะวันตกกับที่ไม่ใช่ตะวันตก และที่สำคัญ เป็นการผสมผสานในลักษณะไม่ใช่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว (เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น คงออกมาในรูปที่เรียกว่า "ระบอบประชาธิปไตย" เฉยๆแบบของตะวันตก) แต่มีลักษณะ "แย้ง" (antithetical) หรือเป็นเงื่อนไข (qualification) และมีความเป็นไปได้ของการมี "ความตึงเครียด" (tension) ระหว่างสองส่วน

"ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ไม่ใช่ ระบอบประชาธิปไตย (เฉยๆ) ที่ประมุขแห่งรัฐบังเอิญเป็นกษัตริย์ แต่เป็นระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบการปกครองอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไป เป็นคำที่สะท้อนให้เห็นการดำรงอยู่คู่กันระหว่างสองวัฒนธรรมการเมืองในลักษณะเดียวกับ Guided Democracy (ประชาธิปไตยแบบมีการนำทาง) ของอินโดนีเซียในอดีต หรือ Socialism with Chinese Characteristics (สังคมนิยมที่มีลักษณะแบบจีน) ของจีนในปัจจุบัน

"ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ก็คือ "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" ที่เคยมีความพยายามอย่างเป็นทางการที่จะผลักดันให้มีขึ้นในสมัยหลังรัฐประหาร ๒๕๐๑

ถ้าเราพิจารณาวิวัฒนาการของการปรากฏตัวขึ้นของคำนี้ในรัฐธรรมนูญไทยฉบับต่างๆที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า เป็นคำที่มีความหมายพิเศษ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่แน่นอน และสะท้อนถึงวิวัฒนาการของประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นเอง

รัฐธรรมนูญฉบับแรก
ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่าง ไม่มีคำว่า "ประชาธิปไตย" ส่วนหนึ่งเพราะขณะนั้น ปรีดีใช้คำนี้เป็นคำแปลคำว่า republic (เช่นในประกาศคณะราษฎร "ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนด โดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา" (และดู คำอธิบายกฎหมายปกครอง ของปรีดี พ.ศ. ๒๔๗๔)

ส่วนระบอบใหม่หรือสิ่งที่ผู้ก่อการต้องการสถาปนาขึ้นนั้น ถูกเรียกว่า "ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน" ภายใต้ "ธรรมนูญ" นี้ "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย" (มาตรา ๑) ส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งในรัฐธรรมนูญใช้คำว่า "กษัตริย์" แม้จะเป็น "ประมุขสูงสุดของประเทศ" และกฎหมายต่างๆ "จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์" (มาตรา ๓) ก็เป็นเพียงหนึ่งในสี่ของ "บุคคลและคณะบุคคล...ผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร" เช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร, คณะกรรมการราษฎร และศาล เท่านั้น

รัฐธรรมนูญฉบับที่สอง
รัฐธรรมนูญฉบับที่สอง ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ มีการเปลี่ยนแปลงที่ให้อำนาจของพระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่มีแม้แต่คำว่าคณะราษฎรหรือไม่กล่าวถึงการยึดอำนาจของผู้ก่อการเมื่อ ๒๔ มิถุนายนเลย "การปกครองใหม่" กลายเป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์ทรงเห็น "สมควรแล้วที่จะพระราชทานพระบรมราชวโรกาศให้ข้าราชการและประชาชนของพระองค์ ได้มีส่วนมีเสียงตามความเห็นดีเห็นชอบ" ยังไม่มีคำเฉพาะที่ใช้เรียก "การปกครองใหม่" ที่ว่านี้ แต่ประธานคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแถลงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า มาตรา ๒ ที่เขียนว่า "อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" "เป็นข้อความที่แสดงลักษณะการปกครองว่าเป็นราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ"

รัฐธรรมนูญฉบับที่สาม
รัฐธรรมนูญฉบับที่สาม ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ซึ่งร่างขึ้นโดยความริเริ่มและภายใต้ความเป็นใหญ่ทางการเมืองของปรีดี มีการใช้คำว่า "การปกครองระบอบประชาธิปไตย" ในความหมายที่ใกล้กับปัจจุบันเป็นครั้งแรกในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ และเรียกระบอบการปกครองหลัง ๒๔๗๕ ว่า "การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลัก" แต่นอกจากสองครั้งนี้ในคำปรารภแล้ว ไม่มีคำนี้ปรากฏในตัวบทของรัฐธรรมนูญเลย (ข้อที่น่าสังเกตและน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญหรือเอกสารทางราชการในสมัยแรกๆ ไม่รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องย้ำแล้วย้ำอีกว่าประเทศปกครองด้วยระบอบอะไร อาจกล่าวได้ว่า การย้ำในเรื่องนี้มาพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข")

รัฐธรรมนูญฉบับที่สี่
รัฐธรรมนูญฉบับที่สี่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ หรือที่มีฉายาว่า "รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม" เพราะผู้ร่างคือหลวงกาจสงคราม ร่างเสร็จแล้วเอาไปซ่อนไว้ใต้ตุ่มน้ำในบ้าน เพื่อปกปิดทางการเพราะเป็นส่วนหนึ่งของแผนรัฐประหาร ที่น่าสนใจก็คือ นี่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกในระบอบใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ชอบธรรมตามกฎหมาย คือเกิดจากการยึดอำนาจล้มรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่มีอยู่ ผู้ร่างจึงมีการพยายามอ้างเหตุผลความชอบธรรมไว้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญเอง แต่ที่ต่างกับในสมัยหลังบางกรณีที่สำคัญคือ ในบรรดาเหตุผลที่นำมาอ้างนั้น ไม่มีการกล่าวว่า รัฐบาลที่มีอยู่ก่อนรัฐประหารเป็นภัยต่อระบอบการปกครองของประเทศ อันที่จริง ไม่มีการกล่าวถึงด้วยว่าระบอบการปกครองของประเทศคืออะไร

รัฐธรรมนูญฉบับที่ห้า
รัฐธรรมนูญฉบับที่ห้า ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๒ ซึ่งร่างขึ้นภายใต้อิทธิพลของพลังอนุรักษ์นิยม ซึ่งขณะนั้นมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนการเมืองที่สำคัญ มีลักษณะบางประการที่เป็นหลักบอกระยะทางของวิวัฒนาการที่นำไปสู่ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

2. ความเป็นมาของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ในฐานะอุดมการณ์ราชการ
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๙)

ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย (และ) มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หรือ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในคอลัมภ์นี้เมื่อตอนก่อน ผมได้เสนอว่า ความแตกต่างระหว่างข้อความทั้งสอง ก็คือความแตกต่างระหว่างระบอบการเมืองของประเทศไทยกับประเทศตะวันตกอย่าง อังกฤษ, สวีเดน, ออสเตรเลีย และเบลเยี่ยม ซึ่งล้วนมีพระมหากษัตริย์หรือพระราชินีเป็นประมุขเหมือนกัน ประเทศตะวันตกเหล่านั้นมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย และมีพระมหากษัตริย์ (พระราชินี) ทรงเป็นประมุข

แต่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นี่ไม่ใช่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ประมุขแห่งรัฐบังเอิญเป็นพระมหากษัตริย์ แต่เป็นระบอบการปกครองอีกแบบหนึ่งต่างหากออกไป

ที่น่าสนใจคือ ขณะที่คนไทยทั่วไปกระทั่งนักวิชาการเข้าใจว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" นี้เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ในความเป็นจริง ทั้งในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ราชการ (official ideology) และในฐานะที่เป็นระบอบการปกครองจริงๆ (actual political system) "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" มีความเป็นมาในระยะประมาณ ๒-๓ ทศวรรษหลังนี้เอง

ในฐานะอุดมการณ์ราชการ จะเห็นว่าในรัฐธรรมนูญสองฉบับแรก (๒๗ มิถุนายน และ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕) และในเอกสารราชการอื่นๆ ในปีแรกๆ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง การมี "ธรรมนูญปกครองแผ่นดิน" หรือ "ประเทศมีรัฐธรรมนูญปกครอง" เป็นคำที่ใช้สื่อความหมายแทนระบอบใหม่ จนกระทั่งถึงสมัยหลังสงครามโลก เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ จึงมีการใช้คำว่า "ระบอบประชาธิปไตย" และ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลัก" อย่างเป็นทางการ

(ผมเข้าใจว่าการเปลี่ยนจากคำว่า "ระบอบรัฐธรรมนูญ" มาเป็น "ระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลัก" เกิดขึ้นในช่วงปลายสงครามนั้นเอง ในคำกล่าวเปิดประชุมสภาปี ๒๔๘๖ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ยังทรงใช้คำแรก แต่ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลปีต่อมา นายควง อภัยวงศ์ ได้ใช้คำหลัง อย่างไรก็ตาม ในคำกล่าวปิดสมัยประชุมสภาปีเดียวกัน นายควงก็ยังพูดว่า "การปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ")

หลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ พลังอนุรักษ์นิยมซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทน ได้เข้ากุมกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการตั้ง "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" เป็นครั้งแรก (ขอหมายเหตุในที่นี้ว่า ความคิดเรื่อง "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "การปฏิรูปการเมือง" ในปัจจุบัน มีแหล่งที่มาหลายแหล่ง เช่นความคิดที่จะกีดกันนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งออกจากฝ่ายบริหาร สามารถสืบต้นตอกลับไปที่คนอย่างประเสริฐ ทรัพย์สุนทร และความคิด "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" ดังจะได้เห็นต่อไป แต่แหล่งที่มาแหล่งหนึ่งของความคิดทำนองนี้ก็คือ อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมแบบเดียวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ หรือ "สภาสนามม้า" ๒๕๑๗ นั่นเอง น่าเสียดายที่ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "เสรีนิยม" จำนวนมาก ให้การสนับสนุน "การปฏิรูป" ดังกล่าว โดยไม่ได้คำนึงถึงแหล่งที่มาทางความคิดของสิ่งนี้อย่างรอบคอบ)

รัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ ที่ออกมา กำหนดเป็นครั้งแรกในมาตรา ๒ ว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" แม้ว่าข้อความดังกล่าวจะยังไม่มีความหมายในแง่ที่เป็นชื่อเฉพาะของระบอบการปกครอง แบบเดียวกับ "ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ในปัจจุบันก็ตาม

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้ "ลบ" การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ออกไปอย่างถาวร นับจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปจนถึงปัจจุบัน การ "สถาปนาระบอบการปกครองประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย" ถูกถือว่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ และเป็นเรื่องของรัชกาลที่ ๗ "ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน" เท่านั้น

เมื่อคณะรัฐประหารของจอมพลผิน ชุณหะวัณ กับพวกนำรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ มาใช้ใหม่ในปี ๒๔๙๕ ก็เลยทำให้ข้อความในมาตรา ๒ ของรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ หายไปด้วย

รัฐธรรมนูญของจอมพลสฤษดิ์
รัฐธรรมนูญฉบับต่อมาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (๒๘ มกราคม ๒๕๐๒) ยากจะเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญ เพราะมีข้อความเพียง ๒๐ มาตรา รวมทั้ง มาตรา ๑๗ อันอื้อฉาวที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายรองรับ แต่สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ก็คือ ในขณะที่ระบอบประชาธิปไตยของไทยตั้งแต่ ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ไม่อาจถือได้ว่าเหมือนกับของตะวันตก ก็ยังไม่มีใครก่อนหน้านั้นรู้สึกว่าจะต้องทำข้อสรุปของความไม่เหมือนกันนั้นขึ้นมาอย่างเป็นระบบเป็นหลักการ (conceptualization / theorization) และสร้างความชอบธรรมให้กับความไม่เหมือนกันนั้นอย่างเป็นทางการ

แต่ใน "สมัยปฏิวัติ" ของสฤษดิ์นี้เอง ที่มีความพยายามยืนยันว่าประเทศไทยมีลักษณะพิเศษของตัวเอง จึงต้องการระบอบการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะให้เหมาะสมกันเป็น "แบบไทยๆ" นี่คือจุดเริ่มต้นอันแท้จริงของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ในแง่อุดมการณ์ราชการ ถ้าเข้าใจไม่ผิด ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการ "ทำข้อสรุป" ดังกล่าว คือ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ด้วยความร่วมมือในระยะแรกของหลวงวิจิตรวาทการและเจ้าพระยาศรีวิสารวาจา

รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๑
รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๑ ที่ชี้นำโดยความคิด "ประชาธิปไตยแบบไทย" ของประเสริฐ ประกาศว่า
"ตามวิวัฒนาการ ปรากฏว่า ระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของปวงชนชาวไทยเป็นการถาวรมั่นคงตลอดมา ข้อที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แก่สัมพันธภาพระหว่างรัฐสภากับคณะรัฐมนตรี และรูปของรัฐสภาเป็นสำคัญ ถ้าอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารอยู่ในฐานะที่คานกันและสมดุลกันตามควรแล้ว บ้านเมืองก็จะอยู่ในเสถียรภาพตามที่ต้องการ"

แม้รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๑ จะยังใช้ข้อความว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" แต่ความหมายที่ว่า นี่คือระบอบการปกครองเฉพาะ ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยธรรมดาๆ เป็นที่ชัดเจน

หลังจากรัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๑ มีรัฐธรรมนูญอีก ๔ ฉบับก่อนที่จะถึงรัฐธรรมนูญ ๒๕๒๑ ซึ่งเป็นฉบับที่มีความถาวรรองลงมาจากฉบับ ๒๔๗๕ ในจำนวน ๔ ฉบับนี้ ฉบับปี ๒๕๑๕ และ ๒๕๒๐ มีลักษณะชั่วคราวหลังการรัฐประหาร ส่วนรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ ซึ่งเป็นผลจากกรณี ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ถูกเขียนขึ้นโดยอาศัยรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ เป็นต้นแบบ อาจกล่าวได้ว่า ความปั่นป่วนในทางการเมืองของทศวรรษ ๒๕๑๐ พลอยทำให้อุดมการณ์ราชการอยู่ในสภาพปั่นป่วนสับสนและเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา (in flux)

หลังการยึดอำนาจเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๑๙ ที่น่าสังเกตอย่างยิ่งก็คือ ขณะที่รัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหารอื่นๆ ทุกฉบับมีลักษณะของความ "ชั่วคราว" ที่แสดงออกในแง่ละเว้นไม่กล่าวถึงระบอบการปกครองของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับ "๖ ตุลา" นี้ กลับประกาศยืนยันเรื่องระบอบการปกครองด้วยถ้อยคำที่หนักแน่นที่สุด "โดยที่ประชาชนทั้งมวลได้แสดงอย่างแจ่มแจ้งประจักษ์และเชื่อมั่นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นระบอบการปกครองที่ดี และเหมาะสมสำหรับประเทศไทย ในอันที่จะยังให้เกิดความมั่นคงของชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยทั่วกัน"

ในขณะที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๑ และรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๙ เป็นสองฉบับแรกที่ยืนยันความชอบธรรมของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" อาจกล่าวได้ว่า หน้าที่ (function) ของการยืนยันต่างกัน ฉบับ ๒๕๑๑ เพื่อต่อต้านการเมืองและพรรคการเมืองสมัยใหม่ที่เพิ่งปรากฏตัวขึ้น ฉบับ ๒๕๑๙ เพื่อต่อต้านฝ่ายซ้าย เมื่อมองประกอบกัน ก็ทำให้เราเห็นหน้าที่ในเชิงต่อต้าน (negative function) ของอุดมการณ์นี้ทั้งสองประการ (อุดมการณ์ทุกชนิดมีทั้งด้านที่สนับสนุนอะไรบางอย่างและต่อต้านอะไรบางอย่าง)

เมื่อมาถึงจุดนี้ อาจกล่าวได้ว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ราชการ ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นในประเทศไทย เห็นได้จากการที่รัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างถาวรที่ตามมาอีก ๒ ฉบับคือ ฉบับ ๒๕๒๑ และ ๒๕๓๔ มีการกล่าวยืนยันในคำปรารภถึง "การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ถึงฉบับละ ๔ ครั้ง

ตลอดบทความนี้ ผมได้พยายามจำกัดการอภิปรายให้อยู่ในแง่ของอุดมการณ์ราชการ (official ideology) แต่อุดมการณ์ทางการเมืองเป็นภาพสะท้อนของระบอบการเมืองที่เป็นจริง (actual political system) บางอย่าง ถ้าเช่นนั้น อะไรคือ "ระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ในแง่ระบอบการเมืองจริงๆ?

นี่เป็นปัญหาที่ใหญ่โตเกินกว่าจะอภิปรายกันในที่นี้ได้


 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H
ดังที่ทราบกันดีว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นรูปแบบการปกครองที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตกก่อน แล้วเราลอกเลียนเอามาใช้ ผมขอเสนอว่า ความหมายพิเศษอย่างแรกของข้อความ "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" คือการที่ระบอบการปกครองของเราเป็นระบอบที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมการเมืองที่เป็นตะวันตกกับที่ไม่ใช่ตะวันตก และที่สำคัญ เป็นการผสมผสานในลักษณะไม่ใช่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว (เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น คงออกมาในรูปที่เรียกว่า "ระบอบประชาธิปไตย" เฉยๆแบบของตะวันตก) แต่มีลักษณะ "แย้ง" (antithetical) หรือเป็นเงื่อนไข (qualification) และมีความเป็นไปได้ของการมี "ความตึงเครียด" (tension) ระหว่างสองส่วน
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R