บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๓๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙
14-09-2549

Midnight's globalization

ผู้หญิงที่ทรงอำนาจของเอเชีย
ผู้หญิง-เพศสภาพ-การเมือง : เรื่องชวนถกให้เถียง
สุภัตรา ภูมิประภาส
นักวิชาการอิสระ และนักหนังสือพิมพ์

บทความที่ปรากฎบนหน้าเว็บเพจนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงเอเชีย ๘ คน
ที่ทรงอำนาจทางการเมืองระดับโลก
โดยกล่าวถึงประวัติความเป็นมา และการก้าวเข้าสู่วิถีทางการเมือง
ที่ทั่วโลกต่างรู้จักพวกเธอเป็นอย่างดี
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1035
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 15.5 หน้ากระดาษ A4)

 

ผู้หญิง-เพศสภาพ-การเมือง : เรื่องชวนถกให้เถียง
สุภัตรา ภูมิประภาส : นักวิชาการอิสระ และนักหนังสือพิมพ์

นิตยสารฟอร์บ (Forbes Magazine) ในสหรัฐอเมริกา เพิ่งจะตีพิมพ์ชื่อ "ผู้หญิง 100 คนที่มีอิทธิพลมากที่สุด" (The 100 Most Powerful Women) รายชื่อเหล่านี้ได้มาจากการทำสำรวจชื่อของผู้หญิงที่ปรากฏอยู่ในการรายงานของสื่อมวลชน ซึ่งครอบคลุมผู้หญิงในทุกสาขาวิชาชีพ

จากรายชื่อผู้หญิง 100 คนที่นิตยสารฟอร์บระบุว่ามีอิทธิพลนั้น จำนวน 30 คนเป็นผู้หญิงที่มีบทบาททางการเมือง และสามอันดับแรกของผู้หญิงที่มีอิทธิพลมากที่สุดนั้น ก็เป็นผู้หญิงจากแวดวงการเมือง คือ แองเจลลา เมอเกิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, คอนโดลิสซ่า ไรซ์ (Condoleezza Rice)รัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา และ หวูยี่ (Wu Yi)รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของสาธารณรัฐประชาชนจีน

นอกจากหวูยี่ แล้ว ยังมีผู้หญิงอีก 7 คนจากภูมิภาคเอเชียที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ติดอยู่ในอันดับผู้หญิง 100 คนที่มีอิทธิพลที่สุดของนิตยสารฟอร์บด้วย พวกเธอคือ

- ซอนย่า คานธี ประธานพรรคคองเกรสของอินเดีย (อันดับ 13)
- สีมา ซามาร์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งอัฟกานิสถาน (อันดับ 28)
- คลาลิด้า เซีย นายกรัฐมนตรีบังคลาเทศ (อันดับ 33)
- ทซีปี ลิฟนี่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล (อันดับ 40)
- กลอเรีย อาโรโย่ ประธานาธิบดีฟิลิปินส์ (อันดับ 45)
- ออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ประเทศพม่า (อันดับ 47) และ
- ฮาน เมียง ซุก นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ (อันดับ 68)

น่าสนใจที่ผู้หญิงทั้ง 8 คนนี้ แม้หลายคนจะมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิสตรี แต่พวกเธอก็มิได้จำกัดบทบาททางการเมืองอยู่กับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสตรีเท่านั้น พวกเธอมิได้อ้างมิติแห่งเพศสภาพ เพื่อร้องขอโอกาสเข้าสู่พื้นที่ทางการเมือง และไม่เคยมีใครประกาศว่า ใช้มุมมองของผู้หญิงมาเติมเต็มในการเมือง

ผู้หญิง 8 คนนี้เดินเข้าสู่เวทีการเมืองอย่างมั่นใจภายใต้กติกาเดียวกับนักการเมืองชาย และไม่มีใครได้รับเลือกเข้าสู่เวทีการเมืองเพราะเพศสภาพที่เป็นหญิง พวกเธอดำเนินบทบาททางการเมือง เผชิญทั้งความสำเร็จ ความพ่ายแพ้ ได้รับทั้งความนิยม และคำประณามเช่นเดียวกันกับนักการเมืองชาย และไม่มีใครถูกประณามและขับไล่จากเวทีการเมืองด้วยเหตุแห่งความเป็นหญิง

ต่างจากนักการเมืองหญิงในเมืองไทย ที่แม้กลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิสตรีจะพร่ำพูดถึงเรื่องสัดส่วนหญิงชายในพรรคการเมือง ในรัฐบาลที่"ขาดมิติของผู้หญิงมาสร้างความสมดุลเชิงนโยบาย" แต่บรรดาผู้หญิงที่ก้าวเข้าสู่การเมือง และได้รับเลือกให้อยู่ในระดับบริหารในรัฐบาล หรือมีตำแหน่งที่มีบทบาทอยู่ในพรรคการเมือง รวมทั้งนักการเมืองหญิงที่มีบทบาทการทำงานในประเด็นผู้หญิงกลับต้องเผชิญกับคำปรามาสอยู่เสมอในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ เช่น

เป็นชายในร่างหญิง!
เป็นไม้ประดับ!
เป็นพวกหาคะแนนเสียงจากการทำประเด็นผู้หญิง !
เป็นพวกหัวเก่าย้อนยุค และสนับสนุนระบบชายเป็นใหญ่!

คำกล่าวหาเหล่านี้ สะท้อนมุมมองที่เวียนวนอยู่กับวิถีคิดของสังคมไทยที่มีต่อบทบาทของผู้หญิง ที่พ้นไปจากพื้นที่ในบ้าน คือความไม่เชื่อมั่นต่อบทบาทในพื้นที่สาธารณะของผู้หญิงที่ครอบงำความคิดของสังคมไทยมาช้านาน. แต่เป็นเรื่องน่าสนใจที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ มักเกิดขึ้นทุกครั้งในเวทีการพูดคุยเกี่ยวกับการรณรงค์ด้านสิทธิสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งเป็นเวทีที่แทบไม่มีผู้ชายเข้าร่วมเสวนาสังสรรค์ด้วยเลย

ขณะเดียวกัน หลายครั้งที่กลุ่มต่างๆในภาคประชาสังคม รวมทั้งนักรณรงค์ด้านสิทธิสตรี และสื่อมวลชนในสังคมไทย มักจะหยิบยกประเด็น "ความเป็นหญิง" และความเป็น "เหยื่อ"ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมที่มีรากฐานความคิดแบบ "ชายเป็นใหญ่"มาใช้ในปรากฏการณ์ความขัดแย้ง และการต่อสู้ทางการเมือง การต่อสู้กับผู้มีอำนาจ และอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงการต่อสู้ทางการเมืองในหลายกรณี ถูกทำให้เป็นประเด็นการต่อสู้ของ "ผู้ชาย" กับ "ผู้หญิง" ทั้งๆ ที่ประเด็นขัดแย้งนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นหญิงหรือความเป็นชายเลย

บางกลุ่มถึงกับใช้คำว่า "เป็นการต่อสู้ของผู้หญิงตัวเล็กๆ" เป็นสีสันในการต่อสู้โดยที่มิได้ตระหนักเลยว่า วาทกรรมที่ใช้นั้นคือกระจกเงาที่สะท้อนกลับให้เห็นรากคิดที่ยอมรับภาวะไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชาย

บางที เรื่องราวของนักการเมือง 8 คนจากภูมิภาคเอเซียที่ได้รับการระบุให้อยู่ใน 100 อันดับของ "ผู้หญิงที่มีอิทธิพลที่สุด"ของนิตยสารฟอร์บ อาจเป็นทั้งคำถามและคำตอบ และนำไปสู่การถกเถียงที่ก้าวคืบของสังคมไทยต่อภาวะ"ด้อยโอกาส" และ "มิติที่แตกต่าง" ที่ผู้หญิงจะเข้าไปสู่การเมือง

หวูยี่ (Wu Yi): ผู้นำหญิงแห่งแดนมังกร



หวูยี่ เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 เธอเกิดเมื่อปี พ.ศ.2481 ปัจจุบันอายุ 68 ปี เธอจบการศึกษาด้านวิศวกรรมปิโตรเคมี และทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันมาโดยตลอด

บทบาททางการเมืองของหวูยี่ เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2531 เมื่อได้รับเลือกให้เป็นรองนายกเทศมนตรีนครปักกิ่ง และก้าวเข้าสู่การเมืองระดับชาติในปี 2534 เมื่อเธอได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าต่างประเทศ และได้รับเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2536 - 2540

ระหว่างปี พ.ศ.2540 - 2545 หวูยี่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสำรองของกรรมการฝ่ายการเมือง คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และในปี พ.ศ.2545 ก็ได้รับเลือกเป็นกรรมการการฝ่ายการเมืองเต็มขั้น รวมทั้งได้รับแต่งตั้งให้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วย

ปี พ.ศ.2546 หวูยี่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และดำเนินบทบาทสำคัญในการเมืองและการค้าระหว่างประเทศ ในการเจรจาทางการค้ากับสหภาพยุโรป หวูยี่ประกาศว่า ความร่วมมือทางการค้าแบบทวิภาคีนั้น ต้องอยู่บนผลประโยชน์ร่วมของทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้ หวูยี่ยังเป็นผู้แทนของสาธารณรัฐประชาชนจีนเดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือเพื่อเข้าร่วมในการเจรจา 6 ฝ่ายเพื่อยุติข้อพิพาทต่อกรณีอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือด้วย

การเดินเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองของหวูยี่ มิได้ราบรื่นดุจแพรไหม สตรีเหล็กคนปัจจุบันของจีนต้องเผชิญกับกระแสข่าวลือในเรื่องความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับอดีตประธานธิบดีหยาง ซ่างคุณ

ซอนย่า คานธี (Sonia Gandhi): เลือดต่างสีแห่งอินเดีย


ซอนย่าเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2489 ปัจจุบันอายุ 60 ปี ภริยาม่ายเชื้อสายอิตาเลี่ยนของอดีตนายกรัฐมนตรีราจีฟ คานธี ก้าวเข้าสู่ถนนการเมืองของอินเดียภายหลังที่สามีถูกลอบสังหาร เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2534

ซอนย่าได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานพรรคคองเกรสตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 ท่ามกลางข้อกังขาของนักสังเกตการณ์ทางการเมือง ถึงความไม่มีประสบการณ์ในเวทีการเมืองของเธอ

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2542 เธอลงสมัครแข่งขันในเขตเลือกตั้งเดิมของราจีฟ และชนะการเลือกตั้ง แต่พรรคคองเกรสของเธอแพ้การเลือกตั้ง ได้เสียงข้างน้อยในสภาฯ ทำให้ซอนย่ากลายเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แห่งรัฐสภาอินเดีย

เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2548 พรรคคองเกรสภายใต้การนำของซอนย่า ชนะการเลือกตั้ง ส่งผลให้ซอนย่าอยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้ได้รับเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดีย แต่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายต่างๆ ถึงชาติกำเนิดของเธอ กดดันให้ซอนย่าประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการเป็นสาเหตุของความแตกแยกในประเทศ

เดือนมีนาคม พ.ศ.2549 ซอนย่าประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ หลังจากที่มีข้อกล่าวหาจากฝ่ายค้านว่าเธอมีตำแหน่งที่รับเงินเดือนมากกว่าหนึ่งตำแหน่งซึ่งผิดระเบียบรัฐสภา

ซอนย่าได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนมากกว่า 400,000 คนในเขตเลือกตั้งเดิมในรัฐอุตราประเทศ ให้กลับเข้าสู่สภาอีกครั้งหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ซอนย่าเคยกล่าวไว้ว่า "ครั้งแรกที่ดิฉันเดินทางมาเดลลี เมื่อปี พ.ศ.2511 คุณพ่อของดิฉันได้ซื้อตั๋วครื่องบินเที่ยวกลับให้ดิฉันเก็บไว้ แต่เดลลีคือบ้านที่ดิฉันเกิดเป็นหนที่สอง และตั๋วใบนั้นเป็นเหมือนอดีตที่หายไปกับกาลเวลา"

สีมา ซามาร์ (Sima Samar): เสียงเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งอัฟกานิสถาน


สีมา ซามาร์ เกิดเมื่อ พ.ศ.2500 ปัจจุบันอายุ 49 ปี เธอเป็นผู้หญิงคนแรกของชนชาติกลุ่มน้อย Hazara ในอัฟกานิสถาน ที่มีโอกาสเรียนและจบการศึกษาคณะแพทย์ศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคาบูล หลังจบการศึกษาในปี พ.ศ.2525 ซามาร์ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลในกรุงคาบูลได้เพียงไม่กี่เดือน ก็ต้องอพยพหนีภัยกลับไปบ้านเกิดในเขตชนบท

ปี พ.ศ.2527 สามีของเธอถูกจับกุมและหายสาบสูญไป ซามาร์ต้องพาลูกชายอพยพหนีภัยไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย บริเวณชายแดนปากีสถาน และช่วยงานรักษาพยาบาลผู้อพยพชาวอัฟกานิสถานที่เป็นสตรี ซึ่งผู้อพยพหญิงเหล่านี้ถูกห้ามไม่ให้รับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ที่เป็นบุรุษ

ปี พ.ศ.2544 ซามาร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นเป็นรองประธานาธิบดี และรัฐมนตรีกิจการสตรี ในรัฐบาลชั่วคราวของอัฟกานิสถาน เธอลาออกจากตำแหน่งเพราะถูกกดดันจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่พอใจกับการตั้งคำถามของเธอต่อกฎหมายอิสลามที่กดขี่ผู้หญิง

ซามาร์ไม่ยอมรับข้อบังคับทางศาสนาที่ห้ามผู้หญิงมุสลิมปรากฏตัวในที่สาธารณะ รวมทั้งการบังคับให้ผู้หญิงต้องห่อหุ้มร่างกายจากหัวจรดเท้า ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของผู้หญิงมุสลิมด้วย ซามาร์กล่าวว่า ผู้หญิงมุสลิมจำนวนมากเป็นโรคกระดูกเปราะเพราะร่างกายขาดแคลเซี่ยมจากแสงแดด

ปัจจุบัน ซามาร์ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งอัฟกานิสถาน และเป็นผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติ ในวิกฤตการณ์ดาร์ฟู ในซูดาน

คลาลิด้า เซีย (Khaleda Zia): นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกแห่งบังคลาเทศ


คลาลิด้า เซีย เกิดเมื่อปี พ.ศ.2488 ปัจจุบันอายุ 61 ปี พลิกจากบทบาทชีวิตแม่บ้านสู่ถนนการเมือง หลังจากที่ประธานาธิบดี Ziaur Rahman ผู้เป็นสามีถูกลอบสังหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2524, เดือนมีนาคม 2526 เซีย ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานพรรค Bangladesh Nationalist Party (BNP) ที่สามีเป็นผู้ก่อตั้ง และเดือนสิงหาคม ปีถัดมา เซียขึ้นรับตำแหน่งประธานพรรคฯ

เซียเริ่มบทบาททางการเมืองด้วยการต่อต้านรัฐบาลทหารของ Hossain Mohammad Ershad ที่ทำการปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อเดือนมีนาคม 2525 เซียนำพรรคบีเอ็นพีร่วมกับพันธมิตรอีก 7 พรรค บอยคอตการเลือกตั้งทุกครั้งที่รัฐบาลทหารจัดให้มีขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาล การต่อต้านของเซียทำให้เธอถูกจับกุมคุมขังถึง 7 ครั้งในช่วงระหว่าง 9 ปีภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการ

การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของประชาชน กดดันให้ประธานาธิบดี Ershad ต้องลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2533 และรัฐบาลรักษาการณ์จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534

พรรคบีเอ็นพีชนะการเลือกตั้ง และเซียได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของบังคลาเทศ รัฐบาลของเซียให้ความสำคัญกับนโยบายการศึกษา และนโยบายสตรี โดยได้จัดสวัสดิการให้เรียนฟรีสำหรับการศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษา และพยายามเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษา โดยจัดสรรงบประมาณพิเศษช่วยค่าอาหารและค่าเล่าเรียนให้นักเรียนหญิงจนถึงเกรด 10

เซียเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นวาระที่ 2 เมื่อพรรคบีเอ็นพีชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2539 แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกพรรคการเมืองอื่นๆ กล่าวหาว่าไม่โปร่งใส และเรียกร้องให้มีรัฐบาลรักษาการณ์มาจัดการเลือกตั้งใหม่ เซียปฏิบัติตามคำเรียกร้อง โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งรัฐบาลรักษาการณ์มาจัดการเลือกตั้ง แล้วจึงประกาศยุบสภาเพื่อเปิดทางให้การเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 12 มิถุนายน ปีเดียวกัน ซึ่งครั้งนี้พรคคบีเอ็นพีพ่ายแพ้ ต้องกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาฯ

เดือนตุลาคม พ.ศ.2544 เซียกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบังคลาเทศอีกเป็นวาระที่ 3 เมื่อพรรคบีเอ็นพีของเธอชนะการเลือกตั้ง

วาระที่ 3 ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเซียกำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคมนี้ ท่ามกลางปัญหามากมายที่รายล้อม เช่น การก่อการร้าย การคอรัปชั่น และข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มต่างๆ ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในบังคลาเทศ

ทซีปี ลิฟนี่ (Tzipora Livni): นางสิงห์น้อยแห่งอิสราเอล


ทซีปี ลิฟนี่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอล เกิด พ.ศ.2501 ปัจจุบันอายุ 48 ปี ลิฟนี่เป็นผู้หญิงคนที่ 2 ของอิสราเอลที่ก้าวขึ้นสู่บทบาทนำทางการเมือง นับจากยุคของนางสิงห์ โกลด้า แมร์ (Golda Meir) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงและนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอิสราเอล (พ.ศ.2512-2517)

ลิฟนี่ เดินตามเส้นทางการเมืองของบิดาและมารดา ที่เป็นสมาชิกคนสำคัญของกองกำลังใต้ดินเพื่อก่อตั้งรัฐอิสราเอล เธอเคยปฏิบัติงานในหน่วยสืบราชการลับ และได้รับการประดับยศร้อยโทหญิงแห่งกระทรวงกลาโหมอยู่ถึง 4 ปี

หลังจบการศึกษาด้านกฎหมายจาก Bar llan University ลิฟนี่เข้ารับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานของรัฐ ที่ดูแลด้านรัฐวิสาหกิจและธุรกิจผูกขาดต่างๆ เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนและกฎหมายพาณิชย์

บทบาททางการเมืองของลิฟนี่เริ่มปรากฏชัดในปี พ.ศ.2542 เมื่อเธอได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติของอิสราเอล บิดาของเธอเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งนี้เช่นกัน ลิฟนี่เป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของอดีตประธานาธิบดีแอเรียล ชารอน (Ariel Sharon) และเคยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวงในสมัยของนายกรัฐมนตรีชารอน (มีนาคม 2544 - เมษายน 2549) ลิฟนี่สนับสนุนประธานาธิบดีแอเรียล ชารอน ในการดำเนินแผนการถอนทหารและประชาชนชาวอิสราเอลออกจากฉนวนกาซาทั้งหมด

เดือนมกราคม 2549 ลิฟนี่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นสตรีคนที่ 2 ของอิสราเอลที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนี้หลังจาก โกลด้า แมร์. เธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

บทบาททางการเมืองที่โดดเด่นและเด็ดขาดของลิฟนี่ ต่อวิกฤตการณ์สู้รบของอิสราเอล ทำให้เธอถูกเรียกว่าเป็นผู้นำสายเหยี่ยว. เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ลิฟนี่ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เอบีซีว่า "คนที่กำลังทำสงครามกับทหารอิสรเอลเป็นศัตรูของเรา และเราจะโต้ตอบ แต่ดิฉันเชื่อว่าการต่อสู้ที่มีเป้าหมายเป็นทหาร ไม่อยู่ในคำจำกัดความของการก่อการร้าย"

ลิฟนี่กำลังถูกจับตามองจากทั่วโลกว่าเธอกำลังสืบต่อตำนานของนางสิงห์โกลด้า แมร์ ผู้ได้รับฉายาว่า "สตรีเหล็กแห่งอิสราเอล"

กลอเรีย อาโรโย่ (Gloria Macaraeg Macapagal-Arroyo) :
ตะวันอ่อนแสงที่ทำเนียบมาลากันยัง


อาโรโย่เกิดในพ.ศ.2490 ปัจจุบันอายุ 59 ปี เธอเข้าสู่ทำเนียบมาลากันยังตั้งแต่เป็นเด็กหญิงวัย 14 ปี เมื่อบิดาของเธอ คือ Diosdado Macapagal ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 9 ของฟิลิปินส์ ในปี พ.ศ.2504

อาโรโย่เคยเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ Georgetown University เป็นเวลา 2 ปีและเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกับอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน แห่งสหรัฐอเมริกา

เธอได้รับปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์จาก Assumption College ในประเทศฟิลิปินส์ ในปี พ.ศ.2511 ได้รับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จาก Ateneo de Manila University และปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จาก UP School of Economics

ระหว่างปี พ.ศ.2520-2530 อาโรโย่ทำงานสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เส้นทางทางการเมืองของเธอเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2530 จากการชักชวนของอดีตประธานาธิบดีคอราซอน อาคีโน (Corazon Aquino) ให้เข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการกรมการค้าและอุตสาหกรรม

ปี 2535 อาโรโย่ตัดสินใจเข้าสู่การเมืองเต็มตัว ด้วยการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา และชนะการเลือกตั้ง

ปี 2538 อาโรโย่ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่วุฒิสภาอีกครั้งหนึ่งด้วยคะแนนเสียง 16 ล้านเสียงซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งทุกตำแหน่งทางการเมืองของฟิลิปินส์ ระหว่างการทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติ อาโรโย่ผลักดันและสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายสำคัญหลายฉบับ เช่น กฎหมายการต่อต้านการคุกคามทางเพศ กฎหมายว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมือง

ปี 2541 อาโรโย่ชนะเลือกตั้งและรับตำแหน่งรองประธานาธิบดี และได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราด้า (Joseph Estrada) ให้กำกับดูแลกระทรวงพัฒนาและสวัสดิการสังคม

เดือนตุลาคม 2543 เมื่อประธานาธิบดีเอสตราด้าเผชิญกับวิกฤติทางการเมืองด้วยข้อกล่าวหาว่าคอรัปชั่น อาโรโย่ลาออกจากคณะรัฐมนตรี และร่วมเคลื่อนไหวกับภาคประชาสังคมเพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเอสตราด้าลาออกจากตำแหน่ง

เธอสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 14 ของฟิลิปินส์ ในวันที่ 20 มกราคม 2544 ไม่กี่ชั่วโมงหลังที่ศาลฏฎีกามีคำพิพากษาให้ประธานาธิบดีเอสตราด้าพ้นจากตำแหน่ง ประธานาธิบดีคนใหม่ประกาศวาระแห่งชาติ - มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ระบบราชการ ลดอาชญากรรม เพิ่มภาษี พัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจ และต่อต้านการก่อการร้าย

30 มิถุนายน 2547 อาโรโย่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่ง ภายหลังชนะการเลือกตั้ง ท่ามกลางข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใสในการใช้เงินรณรงค์หาเสียงและการใช้อิทธิพลในตำแหน่งแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้ง

ความนิยมในตัวของอาโรโย่ลดลงเรื่อยๆ ด้วยข้อกล่าวหามากมายที่สวนทางกับวาระแห่งชาติที่เธอเคยประกาศไว้ เมื่อเผชิญสถานการณ์ท้าทายอำนาจจากฝ่ายทหาร และการประท้วงของภาคประชาชน ประธานาธิบดีอาโรโย่ประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อควบคุมสถานการณ์ มีการจับกุมผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย และการบุกค้นกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลี่ ทรีบูน (Daily Tribune) ที่วิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล รายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่านับตั้งแต่ปี 2544 ที่ประธานาธิบดีอาโรโย่ก้าวเข้าสู่ทำเนียบมาลากันยัง มีนักเคลื่อนไหวทางสังคม และนักข่าวถูกลอบสังหาร 710 คน

ด้วยข้อกล่าวหาต่างๆเหล่านี้ ทำให้ประธานาธิบดีอาโรโย่ กำลังเผชิญกับข้อเรียกร้องให้ก้าวลงจากเวทีการเมืองอยู่ในขณะนี้

ออง ซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi)
พลังเงียบของสันติวิธีเหนือลุ่มน้ำอิระวดี


ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในพม่า เคยกล่าวไว้ว่า เรื่องการเมืองไม่ได้อยู่ในความสนใจของเธอเลย แต่เมื่อประชาชนในประเทศพม่ากำลังเรียกร้องประชาธิปไตย เธอถือเป็นหน้าที่ที่ต้องเข้าร่วมด้วย ในฐานะที่เป็นบุตรสาวของนายพลออง ซาน

ซูจี พลัดหลงเข้ามาสู่ถนนการเมืองในพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 หลังเหตุการณ์ 8-8-88 ที่กลุ่มผู้นำทหารในกรุงร่างกุ้ง ทำการปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2531. วันที่ 24 กันยายน ปีเดียวกัน เธอร่วมก่อตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy- NLD) และได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรค ประกาศต่อสู้กับอำนาจเผด็จการด้วยการใช้นโยบายสันติวิธีและอารยะขัดขืน เธอร่วมกับประชาชนในพม่าเรียกร้องประชาธิปไตย และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเสมอภาคระหว่างกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ในประเทศพม่า

เดือนพฤษภาคม 2533 พรรคเอนแอลดีของเธอชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น แต่ไม่เคยมีโอกาสได้บริหารประเทศ ภายใต้การยึดอำนาจของกลุ่มเผด็จการทหาร ซูจีถูกสั่งกักบริเวณครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อปิดกั้นข่าวสารและบทบาทของเธอจากประชาคมโลก หากแต่ชื่อของ ออง ซาน ซูจี กลับถูกกล่าวถึงอยู่เสมอในฐานะที่เป็นสัญญลักษณ์ของนักต่อสู้ด้วยสันติวิธี ซูจี ได้รับการประกาศชื่อให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี พ.ศ.2534

เมื่อก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองเพื่อต่อสู้กับเผด็จการทหารในพม่าในปี 2531 ซูจีไม่ได้ย่างเท้าก้าวออกจากพม่าอีกเลย เธอทิ้งอนาคตทางวิชาการและครอบครัวไว้เบื้องหลัง เธอจบการศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์ การเมือง และปรัชญาจาก St. Hugh's College, Oxford University และอยู่ในระหว่างทำวิทยานิพนธ์ด้านวรรณคดีพม่าสำหรับการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ London School of Oriental and African Studies (SOAS) ซูจีแต่งงานกับไมเคิล อริส นักวิชาการชาวอังกฤษ และมีบุตรชาย 2 คน สามีและบุตรของเธอใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ไมเคิล อริส ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนมีนาคม 2542 ที่ประเทศอังกฤษ

ณ วันนี้ แม้จะถูกจองจำอยู่ในประเทศพม่า แต่การต่อสู้ด้วยสันติวิธีและอารยะขัดขืนของซูจี ทรงพลังในการเรียกร้องให้ประชาคมโลกมิอาจถอนความสนใจไปจากปัญหาทางการเมืองในพม่าได้

ในวันที่บุตรชายสองคนของซูจี เดินทางจากอังกฤษไปรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแทนมารดา พวกเขาได้นำสาส์นจากซูจีไปกล่าวกับผู้มาร่วมแสดงความยินดีว่า "ถ้าแม่มีอิสรภาพและอยู่ที่นี่ในวันนี้ แม่จะขอบคุณพวกคุณและขอร้องให้พวกคุณร่วมกันสวดมนต์ให้ทั้งผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่โยนอาวุธทิ้ง และหันมาร่วมกันสร้างชาติด้วยความเมตตากรุณาและจิตวิญญานแห่งสันติ"
ซูจีถูกรัฐบาลเผด็จการทหารจำกัดอิสรภาพตลอดเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา

ฮาน เมียง ซุก (Han Myung-sook)
จากนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้


อดีตนักโทษการเมืองและนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศเกาหลีใต้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา (2549) ฮาน เมียง ซุก เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 37 ของสาธารณรัฐเกาหลี

ฮาน เมียง ซุก เกิดพ.ศ.2487 ปัจจุบันอายุ 62 ปี. ความใฝ่ฝันในวัยเด็กของฮานคือการเป็นนักเขียน เธอจบการการศึกษาสาขาภาษาศาสตร์และวรรณคดีฝรั่งเศสที่ Ewha Womans University ในกรุงโซล แต่เส้นทางแห่งความฝันของฮานหักเหเมื่อพบกับ ปัก ซุน จุง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

ฮาน และปัก ซุง จุง เป็นสมาชิกของชมรมนักศึกษาคริสเตียนด้วยกันทั้งคู่ ทั้งสองแต่งงานกันเมื่อปี พ.ศ.2511 แต่เพียงหกเดือนหลังการแต่งงาน ปัก ซุง จุง ถูกจับกุมเพราะการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการขณะนั้น เขาถูกจำคุกเป็นเวลาถึง 13 ปี

พ.ศ.2513 ฮานเริ่มต้นทำงานที่วิทยาลัยคริสเตียน ซึ่งเป็นสถาบันที่จัดตั้งโดยกลุ่มนักกิจกรรมและผู้นำทางศาสนาเพื่อจัดโครงการศึกษาให้กับชาวนา ผู้หญิง และกลุ่มคนงานในเมือง แต่รัฐบาลของประธานาธิบดีปักจุงฮีกล่าวหาว่าวิทยาลัยคริสเตียนแห่งนี้สนับสนุนเกาหลีเหนือ และจับกุมคุมขังกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน โดยที่ฮานเป็นหนึ่งในจำนวนผู้ถูกจับกุม เธอถูกคุมขังอยู่ถึง 2 ปี (ระหว่างปีพ.ศ.2522-2524) หลังจากได้รับอิสรภาพ ฮานเข้าศึกษาต่อสาขาสตรีศึกษาที่ Ewha Womans University

หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทปี พ.ศ.2529 ฮานทำงานเป็นอาจารย์และนักวิชาการด้านสตรีศึกษาในสถาบันหลายแห่งรวมทั้งที่ Ewha Womans University

ปี พ.ศ.2532 เธอดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อแก้ไขกฎหมายครอบครัว และประธานสมาคมผู้หญิงเกาหลี และได้รับเลือกเป็นประธานเครือข่ายผู้หญิงเกาหลีระหว่างปี 2533-2537

เส้นทางสู่ทำเนียบรัฐบาลของฮานเริ่มต้นในปี พ.ศ.2543 เมื่อเธอได้รับเลือกเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งฮานมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิสตรี เช่น กฎหมายประกันการจ้างงานของคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ และการขยายเวลาลาคลอด

ปี พ.ศ.2544 ฮานได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีคนแรกของกระทรวงเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศ และระหว่างปี 2546-2547 เธอได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม

เมื่อรับตำแหน่งนากยกรัฐมนตรี ฮานสนับสนุนให้บริษัทในประเทศเยอรมันมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจร่วมของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้

ฮานบอกว่ากุญแจสำคัญที่นำเธอมาถึงจุดนี้ได้ คือการทำงานหนัก
"ดิฉันให้ค่ากับการทำงานหนัก ถ้าคุณทำงานหนักที่สุดเพื่อความเป็นหนึ่ง นั่นคือกุญแจสู่ความสำเร็จ ผู้หญิงต้องเปลี่ยนทัศนคติว่า - เราสามารถทำได้ แม้เราจะเป็นผู้หญิง - ความคิดในเชิงบวกคือกุญแจ"

++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความนี้เขียนสำหรับสื่อออนไลน์ "ประชาไท"เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2549
ผู้เขียน- สุภัตรา ภูมิประภาส เป็นนักข่าวที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน
ปัจจุบันทำงานที่หนังสือพิมพ์ The Nation

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H

เมื่อก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองเพื่อต่อสู้กับเผด็จการทหารในพม่าในปี 2531 ซูจีไม่ได้ย่างเท้าก้าวออกจากพม่าอีกเลย เธอทิ้งอนาคตทางวิชาการและครอบครัวไว้เบื้องหลัง เธอจบการศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์ การเมือง และปรัชญาจาก St. Hugh's College, Oxford University และอยู่ในระหว่างทำวิทยานิพนธ์ด้านวรรณคดีพม่าสำหรับการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ London School of Oriental and African Studies (SOAS) ซูจีแต่งงานกับไมเคิล อริส นักวิชาการชาวอังกฤษ และมีบุตรชาย 2 คน สามีและบุตรของเธอใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ไมเคิล อริส ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนมีนาคม 2542 ที่ประเทศอังกฤษ

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R