Free Documentation
License
Copyleft : 2006,
2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document, but changing it is not allowed.
หากนักศึกษา
และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
The Midnight
University
มองโลกกว้างเพื่อทำความเข้าใจโลกแคบ
จากโลกสามเหลี่ยม, Demagogue, ถึงการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หมายเหตุ
: บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้เคยได้รับการตีพิมพ์แล้ว
บนหน้าหนังสือพิมพ์มติชนรายวันและรายสัปดาห์
ประกอบด้วยบทความ ๓ เรื่องคือ
๑. โลกสามเหลี่ยม ๒. Demagogue
๓. ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1020
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
12 หน้ากระดาษ A4)
โลกสามเหลี่ยม, Demagogue, และการแบ่งฝักแบ่ง
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ์ : นักวิชาการอิสระ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
1. โลกสามเหลี่ยม
ฝรั่งคนหนึ่งบอกว่าโลกแบน
แต่ผมสงสัยว่าโลกเป็นสามเหลี่ยมพีระมิดต่างหาก ทำไมฝรั่งจึงบอกอย่างนั้น คำตอบโดยสรุปก็คือโลกาภิวัตน์ทำให้โลกแบน
อันที่จริง คนที่พูดให้ฝรั่งคิดว่าโลกแบนนั้น ไม่ได้พูดว่าแบน เขาเป็นชาวอินเดียซึ่งทำงานอยู่ในบริษัทที่รับจ้างตอบโทรศัพท์ในเมืองบังกาลอร์ โดยมีทั้งบริษัทอเมริกันและยุโรป จ้างให้เป็นผู้ตอบโทรศัพท์แก่ลูกค้าฝรั่งซึ่งอยู่ในอเมริกาและยุโรป เช่น มีปัญหาในการใช้คอมพิวเตอร์ ก็โทรไปถามบริษัทที่ตัวซื้อมาในสหรัฐ เขาก็ให้คำอธิบายเพื่อช่วยลูกค้าให้แก้ปัญหาคอมพิวเตอร์ที่บ้านตัวเอง แต่ที่จริงคนตอบปัญหาไม่ได้อยู่ในอเมริกา หากอยู่ในอินเดียโน่น
แขกคนนั้นอธิบายให้ฝรั่งฟังว่า เครื่องไม้เครื่องมือดิจิตอลราคาไม่แพงเกินกว่าที่อินเดียหรือคนอินเดียจะครอบครอง และบังคับควบคุมเป็นนายของมันได้เก่งเท่าฝรั่ง และด้วยเหตุดังนั้น "เราจึงอยู่ในระนาบเดียว" กับคุณ คือแข่งกันได้นั่นเอง ฝรั่งขยายความ "ระนาบเดียวกัน" ว่าคือแบน
ฝรั่งเรียกการแบ่งเอาบางส่วนของการผลิต (ไม่ว่าสินค้าหรือบริการ) ออกไปทำในที่ซึ่งมีประสิทธิภาพกว่าและต้นทุนถูกกว่าอย่างนี้ว่า outsourcing และดินแดนที่เป็นผู้รับจ้างรายใหญ่สุดก็คือเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ ไม่ใช่ฝรั่งฝ่ายเดียวที่ outsourcing บางส่วนของการผลิตของตัว ญี่ปุ่นและเกาหลีก็ทำเหมือนกัน
อะไรที่ทำในประเทศตัวเองแล้วแพงกว่า (เพราะต้นทุนแรงงานสูง) หากสามารถแบ่งมันออกไปทำในที่ซึ่งถูกกว่าแต่ได้คุณภาพเหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน ก็ outsourcing ไปทำส่วนนั้นเสียในประเทศอื่น อะไรที่ต้นทุนการผลิตแพงในเมืองฝรั่ง คือแรงงานทักษะระดับกลางและล่าง ฉะนั้น ฝรั่งก็จะมองหาประเทศในเอเชียที่สามารถตอบสนองแรงงานสองระดับนี้ได้ ประเทศไหนการศึกษาดีหน่อยเช่นอินเดียหรือจีนก็รับงานทักษะระดับกลางไป ประเทศไหนการศึกษาห่วยๆ อย่างไทย ก็เย็บรองเท้าผ้าใบหรือเสื้อเชิ้ตเสื้อยืดไป
สรุปสั้นๆ ก็คือ ฝรั่งแบ่งเอาส่วนของงานที่ใช้ความรู้น้อยหรือไม่สูงนักให้เอเชียทำ แล้วเก็บงานที่ต้องใช้ความรู้สูงๆ ไว้ทำเอง งานประเภทนี้แหละครับที่ทำเงินได้ในสัดส่วนสูงสุด ฝรั่งอธิบายว่า ก็สังคมฝรั่งเป็นสังคมความรู้สูง ในขณะที่เอเชียเป็นสังคมแรงงาน ก็ถือว่าแบ่งงานกันทำ ต่างฝ่ายต่างทำสิ่งที่ตัวถนัดที่สุด โลกก็ดีเองตามทฤษฎีทุนนิยมเสรีไง
ทั้งหมดนี้ดีแก่สหรัฐและยุโรปหรือไม่ ฝรั่งคิดว่าดี เพราะการจะรับงานที่ถ่ายเทมาจากฝรั่งได้ ก็ต้องซื้อสินค้าของฝรั่งมาใช้ นับตั้งแต่คอมพิวเตอร์ยี่ห้อไอบีเอ็ม ไปจนถึงเครื่องจักรทอผ้าและอื่นๆ อีกนานัปการ ยังไม่พูดถึงฐานะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของคนเอเชีย ซึ่งทำให้ซื้อสินค้าที่ใช้ความรู้ของฝรั่งได้มากขึ้น แล้วดีต่อเอเชียหรือไม่ ฝรั่งก็บอกว่าดีอีกนั่นแหละ เพราะทั้งชาวอินเดียและจีน ฯลฯ ที่ฝรั่งได้ไปพบ ล้วนได้เงินเดือนสูงขึ้นประมาณ 4 เท่ากว่าที่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยในประเทศนั้นๆ จะพึงได้
ฝรั่งพูดถึงอเมริกัน, อินเดีย และจีน ซึ่งไม่ได้ปีนขึ้นมาอยู่บนระนาบเดียวกับฝรั่งเหมือนกัน แต่พูดไว้นิดเดียว ทั้งๆ ที่คนพวกนี้มีอยู่จำนวนมาก เช่น เซลส์แมนแบบเก่าในสหรัฐกำลังตายไปจริงๆ นอกละครแล้ว เนื่องจากการขายในปัจจุบันไม่ได้เกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวอีกต่อไป การตัดสินใจซื้ออยู่ที่ราคาอย่างเดียว ฉะนั้น เสนอกันทางอินเตอร์เน็ตก็ได้ เซลส์แมนที่ปรับตัวได้ก็อาจหันไปทำอย่างอื่นด้วยทักษะเดิมและทักษะใหม่ที่ต้องเรียนรู้ รอดตัวไปและอาจรวยเหมือนเดิม แต่เซลส์แมนอีกมากที่ปรับตัวไม่ได้ ย่อมตกงานหรือเปลี่ยนงานไปสู่อาชีพที่ได้รายได้น้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะตัวมีแต่ทักษะที่ไม่มีประโยชน์ในธุรกิจใหม่เสียแล้ว
ไม่แต่เซลส์แมนเท่านั้น อันที่จริงมีคนอเมริกันที่ปรับตัวไม่ได้เยอะแยะ ฝรั่งเองก็ยอมรับว่าอย่าว่าแต่คนเลย แม้แต่ระบบที่จะฝึกคนเข้าสู่โลกแบนของสหรัฐเองก็ยังเป็นปัญหา เช่น ผลิตนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรได้น้อยลง จนทำท่าจะไม่พอทดแทนคนที่ต้องปลดออกไปเพราะแก่ ระบบการศึกษาทั้งระบบมีปัญหาเพราะไม่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของผู้เรียน ฯลฯ ขนาดระบบยังล้มเหลว บุคคลเล่าครับ มิล้มกันระเนนระนาดไปไม่รู้เท่าไรสิครับ
ในอินเดียและจีนซึ่งมีประชากรมหึมา มีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนับเป็นแสนที่มีโอกาสได้เงยหน้าอ้าปาก เพราะได้ทำงานส่วนที่ใช้ความรู้ระดับกลางซึ่งฝรั่งถ่ายโอนมาจ้าง แต่ในมหาสมุทรพลเมืองของสองประเทศนี้ มีคนอีกหลายล้านซึ่งไม่มีทางเงยหน้าอ้าปากได้เลย ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประชาชนจีนที่ได้รับผลพวงของการเปิดประเทศ และปฏิรูปทุนนิยมของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับอินเดีย
ในประเทศที่รับจ้างผลิตสินค้าที่แทบไม่ต้องใช้ความรู้อะไรเลย เช่นประเทศในอุษาคเณย์ ญาติพี่น้องของแรงงานในโรงงานรองเท้า หรือโรงทอเย็บผ้าซึ่งยังอยู่ในชนบท กำลังกลายเป็นคนล้มละลาย มีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะตัวพึ่งการขายแรงงานในภาคเกษตร ซึ่งมีเป็นฤดูกาลเท่านั้นเพียงอย่างเดียว
ในขณะเดียวกัน เราต้องไม่ลืมว่า แรงผลักดันให้ "โลกแบน" ไม่ได้มาจากความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่มาจากความต้องการแสวงหากำไรสูงสุดด้วย ฉะนั้น แหล่งซึ่งรับถ่ายโอนงานที่ใช้ความรู้ระดับกลางอยู่ในเวลานี้ ย่อมทะยานอยากรับงานที่ใช้ความรู้สูงขึ้นไปกว่านี้เพราะได้ราคาดีกว่า หากทำได้สำเร็จก็ต้องทิ้งคนที่ปรับตัวไม่ได้ออกไปส่วนหนึ่ง เพราะฝรั่งย่อมย้ายแหล่งถ่ายโอนงานความรู้ระดับกลางไปสู่ที่ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า
อย่างที่เราเจออยู่เวลานี้ นั่นคือแหล่งที่สามารถรับถ่ายโอนงานที่ใช้ความรู้ระดับต่ำย่อมแย่งงานกันเองอย่างหนัก เพราะมีคนอยากทำจำนวนมาก ฉะนั้นโอกาสที่ค่าแรงจะสูงขึ้นกว่านี้จึงไม่มี เพราะเขาย่อมย้ายแหล่งถ่ายโอนไปยังคู่แข่งซึ่งรับงานได้ในราคาต่ำกว่าอย่างแน่นอน โดยเหตุนี้จึงต้องทะยานขึ้นไปรับงานที่ใช้ความรู้ระดับกลางในราคาที่ถูกกว่าที่จีนและอินเดียได้อยู่เวลานี้ ต่างแข่งกันทะยานขึ้นไปอยู่ระนาบบนสุดทั้งโลก ทิ้งศพของนักรบเอาไว้เป็นเทือกตามเส้นทางแคบๆ ที่ขึ้นไปสู่ยอดเขา
ไม่ต้องพูดถึงความสุขของชีวิตในโลกที่แบนนะครับ แต่โลกไม่ได้แบนเลย ถ้าเรามองชะตากรรมของพลโลก ตรงกันข้ามโลกจะตะปุ่มตะป่ำยิ่งขึ้นด้วยเขาสูงซึ่งกระจายทั่วไป มีคนเพียงหยิบมือเดียวที่ใช้ชีวิตอยู่บนยอดเขาด้วยความสุข ในขณะที่คนส่วนใหญ่กลับต้องหาเช้ากินค่ำอยู่ตามเชิงเขาหรือพื้นราบ ที่น่าประหลาดก็คือ ชุมชนที่อยู่ยอดเขาไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว แต่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับชุมชนบนยอดเขาอื่นๆ อย่างใกล้ชิด พูดภาษาเดียวกัน, ทำงานร่วมกัน, แบ่งปันค่านิยมและโลกทรรศน์กันจนกลายเป็นคนเผ่าเดียวกันไป แม้รูปกายภายนอกจะผิดแผกแตกต่างกันเหมือนเดิม
ในขณะที่ชุมชนซึ่งอยู่ระดับต่ำลงมา รู้จักกับชุมชนในระดับเดียวกันน้อยกว่า ยิ่งอยู่ในระดับพื้นราบแล้วก็แทบจะไม่รู้จักกันเลย ต่างคนต่างพูดภาษา "ประจำชาติ" ของตัว มีค่านิยมและโลกทรรศน์ที่แตกต่างกัน ไม่สู้จะรักกันนักเพราะเห็นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของตัว ชีวิตเผชิญแต่แรงกดดันรอบด้านหาทางออกไม่เจอ โดยที่ไม่เคยรู้สึกตัวเลยว่าที่จริงแล้ว พวกเขาล้วนถูกจับให้ยัดเข้ามาอยู่ในโครงสร้างใหญ่อันเดียวกัน เพื่อทำหน้าที่ซึ่งต้องมีใครทำ นับตั้งแต่ผลิตอาหารราคาถูก, กวาดขยะ, ไปจนถึงใช้แรงงานในเรื่องต่างๆ ที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้
ด้วยเหตุดังนั้น คนในชุมชนระดับเชิงเขาและพื้นราบจึงรัก "ชาติ" มากๆ เลย ทั้งๆ ที่ชาติไม่อาจกีดกันการเชื่อมต่อกันของชุมชนบนยอดเขาเพื่อหากำไรสูงสุดได้อีกแล้ว
คาร์ล มาร์กซ์ เคยทำนายสภาพการณ์นี้ไว้แล้วตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่มาร์กซ์บอกว่าดีแล้ว เพราะผู้ใช้แรงงานจะได้มองเห็นถนัดว่า ใครกันแน่ที่เป็นผู้กดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบตัว เพราะไม่มีม่านของ "ชาติ" คอยบังตาไว้อีกต่อไป. แต่พอโลกเป็นอย่างที่มาร์กซ์ทำนาย "ชาติ" ในความรู้สึกของคนในชุมชนระดับล่างกลับยิ่งมีพลังมากขึ้น เพราะ "ชาติ" อาจใช้ประโยชน์โดยคนบนยอดเขาสำหรับเป็นม่านบังตาคนที่อยู่ในชุมชนระดับล่างได้ ในขณะที่คนในชุมชนระดับล่างเองยึด "ชาติ" ไว้ เพราะนึกว่าจะเป็นเกราะกำบังตัวจากการเอารัดเอาเปรียบของคนระดับบนได้
ถ้าผู้ซื้อชินคอร์ปไม่ใช่เทมาเส็ก แต่เป็นเบียร์ช้าง บางทีคุณทักษิณอาจอยู่สบายกว่านี้โดยไม่ต้องเสียภาษีเหมือนกัน "ชาติ" จึงยังมีประโยชน์แก่ผู้คนอยู่ไม่น้อย แม้ไม่ใช่อย่างที่เคยมีมาในอดีตก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ผมจึงไม่คิดว่าโลกแบน แต่โลกกลายเป็นสามเหลี่ยมพีระมิดที่รวมเอาพลโลกทั้งหมดไว้ด้วยกัน โดยต่างมีจินตนาการชาติไว้หาประโยชน์ ในวิถีทางที่ขึ้นอยู่กับว่า ตัวอยู่ในระนาบไหน...
เราอยู่ในโลกสามเหลี่ยมครับ
2. Demagogue
น่าสนใจมากเลยครับที่ดิคชันนารี "พูดได้" ของผมแปลคำ demagogue ว่า
"ผู้นำฝูงชน, ผู้ที่ตั้งตัวเป็นหัวหน้าคนโดยวิธีล่อหลอก, นักกวนเมือง, ผู้ปลุกระดม,
นักการเมืองที่ปลุกปั่นประชาชน" ไม่มีใครที่อยู่ในอำนาจจะเป็น demagogue
ได้เลย แม้แต่คนที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจแต่ได้รับการสนับสนุนจากอำนาจให้ใช้สื่อสาธารณะ
เช่น คุณสมัคร สุนทรเวช ก็ดูไม่น่าจะใช่ demagogue ตามความหมายในดิคชันนารีของผม
คำนี้ไม่เคยมีในภาษาไทยและยังไม่มีจนถึงทุกวันนี้ ผมขอนิยามความหมายของ demagogy ตามสารานุกรม Wikipedia ว่า "ยุทธศาสตร์ทางการเมือง เพื่อได้อำนาจทางการเมืองโดยอาศัยอคติ, ความกลัว, ความหวังของสาธารณชน โดยทั่วไปแล้วก็ใช้วาทศิลป์และการโฆษณาชวนเชื่อ และมักมีเนื้อหาออกไปทางชาตินิยมและประชานิยม". ตรงกันข้ามกับนิยามในดิคชันนารี "พูดได้" ของผมเลยนะครับ เพราะคนที่น่าสงสัยที่สุดว่าเป็น demagogue ก็ควรเป็นคนที่อยู่อำนาจนั่นแหละ แต่ไม่ได้ตัด "พันธมิตร" ออกไปเสียเลย อยู่หรือไม่อยู่ในอำนาจก็เป็นได้ทั้งนั้น
ทำไมคำนี้จึงไม่มีในภาษาไทย ถ้าอธิบายแบบ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็คือ เพราะไม่มี "การเมือง" ในเมืองไทยก่อน พ.ศ.2475 แต่ผมไม่เชื่อ เพราะดูจะไร้เดียงสาเกินไป เพราะมี "การเมือง" ในเมืองไทยหรือในเมืองไหนๆ มาตั้งแต่มนุษย์ไม่ได้อยู่คนเดียวเหมือนกัน. ความแตกต่างสำคัญอยู่ตรงที่ว่า การเมืองระดับสูงในเมืองไทยสมัยโบราณนั้นไม่ใช่การเมืองที่มีฐานอยู่กับ "มวลชน" จนถึงปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ "มวลชน" จึงเริ่มมีความสำคัญในการเมืองไทยมากขึ้น
การเมืองของยุโรปสมัยกลาง และสืบมาภายหลังอีกหลายศตวรรษก็ไม่มีฐานมวลชนเหมือนกัน แตกต่างจากกรีกและโรมันซึ่งพอมี "มวลชน" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยบ้าง (เฉพาะพวกที่เป็น "เสรีชน") และด้วยเหตุดังนั้นจึงมี demagogue ในการเมืองกรีกและโรมันมาแล้ว (ที่จริงคำนี้มาจากภาษากรีก แปลว่าประชาชน+การนำ)
ที่ว่าการเมืองระดับสูงของไทยไม่มีฐานมวลชนก็เพราะ การแย่งชิงราชสมบัติกันนั้นไม่ได้อาศัยความเห็นชอบของประชาชน มีแต่ในบรรดาผู้มีอำาจด้วยกันเท่านั้นที่จะต้องต่อรองกัน เพื่อความเห็นชอบและสนับสนุน. ฉะนั้น จะว่าไม่มี demagogue หรือใช้วิธีของ demagogue ในการเมืองไทยโบราณเสียเลยคงไม่ใช่ เพราะอย่างน้อยก็ต้องอาศัยวิธีการอย่างนี้ในการปลุกระดมบรรดาขุนนางและเชื้อพระวงศ์เหมือนกัน
หากเชื่อหลักฐานฝรั่งเศส พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาที่ใช้วิธีนี้อย่างได้ผลมากคือพระเพทราชา ได้ปลุกปั่นขุนนางและพระชั้นผู้ใหญ่ให้ลุกขึ้นมาปกป้องพระพุทธศาสนา และขนบประเพณีอันดีของอยุธยาจาก (คอมมูนิด) ฝรั่งเศส จนแม้แต่ประชาชนที่ลพบุรีก็ร่วมกับพระในการเดินขบวนประท้วงฝรั่งเศสไปด้วย (เชื่อได้หรือไม่ก็ไม่ทราบ)
อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปซึ่งถูกกันออกจากการเมืองระดับสูงย่อมไม่รู้จัก demagogue หรือวิธีการของพวกเขาดีนัก และด้วยเหตุดังนั้น ประสบการณ์ของสังคมไทยในการเผชิญกับ demagogue จึงมีน้อย. ข้อนี้ยังไม่ค่อยจะสู้เป็นไรนัก ที่น่าห่วงกว่าก็คือ ดูเหมือนเราไม่ได้สร้างความสามารถในการรู้เท่าทัน demagogue ให้เพิ่มขึ้นในสังคมของเรา ทั้งๆ ที่การเมืองที่มีฐานมวลชนย่อมเป็นทั้งอุดมคติและความเป็นจริงของสังคมอย่างแน่นอน
กลไกเก่าที่มีมาในวัฒนธรรมเดิมของเราก็ช่วยได้นะครับ เช่น คนไทยพออ่านออกว่านักการเมืองคนไหนเชื่อได้ เช่น คำพูดของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หรือ คุณอานันท์ ปันยารชุน คนไทยมักไม่สงสัยว่ามีเจตนาจะกล่าวเท็จ เพียงแต่จะเห็นด้วยหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่น่าสังเกตว่า ที่เราประเมินบุคคลทั้งสองได้ดังกล่าวนี้ก็เพราะ คนทั้งสองท่านได้ทำงานบริหารประเทศให้เราเห็นมามากแล้ว 8 ปีบ้าง ปีเศษบ้าง ซ้ำยังมีบทบาทในสังคมสืบมาเป็นสิบปี
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กว่าเราจะจับได้ว่าเป็นหรือไม่ได้เป็น demagogue ก็ต้องใช้เวลานานมาก หาก demagogue ขึ้นมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้นานขนาดนี้ มิเกิดการซุกหุ้น, หนีภาษี, เอื้อประโยชน์พวกพ้อง, ก่ออาชญากรรมสังหารหมู่ผู้คน, แบ่งแยกพลเมือง ฯลฯ กันจนบ้านเมืองพังหมดหรือ
ผมพูดเรื่องนี้เพื่อจะบอกว่า ไม่มีวัฒนธรรมอะไรในโลกหรอกครับที่ไม่สามารถแยกแยะคนดีคนชั่วออกจากกันเลย เพียงแต่กลไกที่เราใช้ในวัฒนธรรมเดิมของเรานั้น ไม่เพียงพอเสียแล้วที่จะแยกแยะได้ทันการณ์หรือได้ทั่วถึง ในสังคมสมัยใหม่ซึ่งพวก demagogue มีเครื่องไม้เครื่องมือในการโป้ปดมดเท็จได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนปัจจุบัน และผมอยากพูดถึงกลไกทางสังคมและวัฒนธรรมของเราที่ตามไม่ทันศิลปะและวิทยาของ demagogue ในโลกปัจจุบันนี่แหละครับ
แม้ว่าบุคคลสาธารณะเป็นปุถุชนเหมือนเราท่านทั้งหลายย่อมต้องกล่าวเท็จบ้างเป็นธรรมดา แต่การกล่าวเท็จต่อสภาก็ตาม ต่อศาลก็ตาม ต่อกรรมการไต่สวนสาธารณะก็ตาม เป็นเรื่องใหญ่มากในสังคมประชาธิปไตยที่อื่น หากถูกจับได้สังคมก็ไม่ยอมรับอีกต่อไป ต้องลาออกจากตำแหน่ง หรือบางกรณีนับเป็นโทษทางอาญา. ผมรู้สึกว่าสังคมไทยยังไม่ค่อยรู้สึกภยันตรายของการกล่าวเท็จในกรณีดังกล่าวเท่าไหร่นัก เห็นว่ามากกว่าการโกหกเมียนิดหน่อยเท่านั้น จึงมักจะเพียงแต่ร้อง "กิ๊วๆ" เท่านั้น
อันที่จริง demagogue ในโลกที่เป็นจริงนั้นไม่ได้ "โกหก" ตรงๆ หรอกครับ แต่ใช้กลวิธีอื่นที่ซับซ้อนกว่านั้น มีคนเขาศึกษาแล้วแยกประเภทออกมาได้หลายอย่างมาก ผมขอยกกลวิธีให้ดูเพียงไม่กี่อย่างพอให้เห็นเป็นตัวอย่างเท่านั้น
- "คนไทยหรือเปล่า" : บิดเบือนหลักตรรกะที่คนมักไม่ทันคิด เช่น "คนไทยหรือเปล่า" ประหนึ่งว่าในโลกนี้มีจุดยืนอยู่เพียงสองจุดคือไทยและไม่ไทย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว จุดยืนย่อมมีเป็นล้านจุด และคนไทยเองก็หาได้มีจุดยืนเดียวกันในทุกเรื่องไม่ และความเป็นคนไทยไม่อาจนิยามกันได้ด้วยจุดยืนทางการเมืองหรือเศรษฐกิจหรือสังคม แม้แต่มีเป้าหมายเพื่อชาติ" เหมือนกัน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิถีทางเดียวกัน
- "หากจะเป็นประชาธิปไตยก็ต้องตัดสินกันที่วันเลือกตั้ง ประชาชนว่าอย่างไรก็อย่างนั้น หากยังไม่ยอมหยุดก็ต้องจัดการกันด้วยกฎหมายอย่างเด็ดขาด" นี่ก็เป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกหลักตรรกะอีกนั่นแหละ. การเลือกตั้งตัดสินอะไร? ตัดสินว่าพรรคการเมืองใดควรจะทำหน้าที่ฝ่ายบริหารเท่านั้น ไม่ได้ตัดสินสิทธิการประท้วงหรือแสดงความเห็นของสังคมลงไป นอกจากนี้ การใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดหรือเคร่งครัด ต้องใช้กับทุกฝ่าย อย่าลืมว่าฝ่ายบริหารเองก็ถูกกฎหมายบังคับควบคุมไว้เหมือนกัน เช่น ใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธไม่ได้ (และนั่นคือเหตุผลที่ต้องใช้อันธพาลเที่ยวต่อยตีผู้ประท้วงทั่วประเทศเวลานี้)
- "ภายใต้รัฐบาลนี้ราคายางเพิ่มจาก 20 บาทเป็น 100" : นี่เป็นการยกเหตุเดียวขึ้นเป็นต้นกำเนิดของสิ่งที่ใหญ่และสลับซับซ้อน ก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ใช้กันมากของ demagogue เหมือนกัน. คำกล่าวที่ว่า "ภายใต้รัฐบาลนี้ราคายางเพิ่มจาก 20 บาทเป็น 100" ซึ่งจริง แต่ไม่ได้เกิดจากการกระทำของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว สาเหตุสำคัญมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจจีนและราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น แน่นอนว่ารัฐบาลย่อมมีส่วนอยู่ด้วย ที่ตอบสนองสภาวการณ์ดังกล่าวโดยไม่ไปกดราคายางลงจากความเป็นจริง สาเหตุมันซับซ้อนกว่าการกระทำของรัฐบาลมากทีเดียว แต่พูดแล้วความหมายคลุมเครือชวนให้เข้าใจว่าเป็นฝีมือของรัฐบาล เป็นต้น
- ตัวเลขสถิตินั้นเป็นสิ่งที่ demagogue ชอบใช้มาก เพราะสามารถพูดจากด้านเดียวได้ง่าย และบิดเบี้ยวได้ง่าย เช่น บอกแต่ตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่บอกอัตราเงินเฟ้อหรือหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ
- อีกกลวิธีหนึ่งที่ใช้กันมากคือ ยกเอาลักษณะที่ไม่ดีให้ฝ่ายตรงข้าม แล้วก็โจมตีลักษณะที่ไม่ดีนั้น "คนไทยหรือเปล่า" ก็เป็นส่วนหนึ่งของกลวิธีนี้ด้วย คือสร้างภาพให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตนว่าคือคนขายชาติ แล้วโจมตีการขายชาติ หรือยกเอาการบอยคอตการเลือกตั้งว่าเป็นศัตรูกับประชาธิปไตยแล้วก็โจมตีศัตรูของประชาธิปไตย
ว่ากันที่จริง ในโลกแห่งสื่อมวลชนอย่างในทุกวันนี้ นักการเมืองที่ไหนๆ และทุกฝ่ายก็มีความโน้มจะเป็น demagogue กันทั้งนั้น ฉะนั้น สังคมที่จะอยู่กับการเมืองฐานมวลชนได้ โดยไม่ปล่อยให้ demagogue มาทำอันตรายสังคม จึงต้องเป็นสังคมที่รู้ทัน
สังคมที่รู้ทันในโลกสมัยปัจจุบันเกิดขึ้นได้จากสองอย่าง คือ
- จากสถาบันแห่งความรู้ทั้งหลาย นับตั้งแต่มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัย, พิพิธภัณฑ์, องค์กรทางวิชาความรู้ต่างๆ ฯลฯ ต้องผลิตความรู้ขึ้นมาตรวจสอบนักการเมือง เช่น ศึกษาวิจัยจนรู้จุดอ่อนจุดแข็งของโครงการสามสิบบาท, ธนาคารหมู่บ้าน, เอสเอมอี, โอท็อป ฯลฯ
- และอย่างที่สอง ต้องมีสื่อที่เป็นอิสระและมีกึ๋น
ผมคิดว่าเราไม่มีทั้งสองอย่างข้างต้น หรือมีก็ไม่มีประสิทธิภาพนัก นักการเมืองไทยทุกพรรคจึงมีแนวโน้มที่จะเป็น demagogue ง่ายและมาก จนกระทั่งแม้แต่คำว่า "การเมือง" ในภาษาไทย ก็มีความหมายถึงอะไรที่ไม่จริง, ไม่ตรง, ไม่ซื่อสัตย์, หรือไม่น่าไว้วางใจ
3. ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
นักการเมืองเช่นคุณบรรหาร ศิลปอาชา รวมทั้งคุณทักษิณ ชินวัตร มักพูดเสมอว่า สังคมไทยเวลานี้เกิดความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
แล้วก็เสนอให้หันหน้าเข้าหากัน หรือเสนอตัวว่าเป็นคนกลางบ้าง เป็นกลางบ้าง. ผมคิดว่าจำเป็นต้องเข้าใจฝักเข้าใจฝ่ายให้ดีเสียก่อนที่จะหันหน้าเข้าหากัน
หรือเป็นกลาง เพราะต้องชัดเจนหน่อยว่าจะเป็นกลางระหว่างอะไรกับอะไร
สังคมไทยเวลานี้ แตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันจริง แต่ไม่ใช่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างพรรคการเมืองนะครับ คนที่ไม่ชอบพรรคไทยรักไทย ก็ใช่ว่าจะชอบพรรคประชาธิปัตย์หรือชาติไทย ว่ากันที่จริงแล้วฝักฝ่ายของสังคมเวลานี้ แบ่งออกเป็นฝ่ายที่เอาทักษิณกับฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณ. ในทางการเมือง ฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณเสียเปรียบ เพราะไม่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งตัวชื่นชอบมากเป็นพิเศษ
ร้ายไปกว่านั้น ที่ไม่เอาทักษิณก็ไม่ใช่ตัวบุคคลที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร แต่ไม่ยอมรับวิธีดำเนินการทางการเมือง และวิธีบริหารแบบของคุณทักษิณต่างหาก หลายอย่างในนั้น จะว่าไปก็ไม่ใช่ของคุณทักษิณคนเดียว หากเป็นสิ่งที่นักการเมืองไทยทำกันเป็นปรกติอยู่แล้วเวลาได้อำนาจ (ตามความเห็นของผู้ไม่เอาทักษิณ ก็เช่นสนับสนุนหรือหลับตาให้แก่การฉ้อฉลเอาเปรียบของพรรคพวกบริวาร หรือคนที่ลงทุนให้แก่พรรค)
ร้ายยิ่งไปกว่าที่ร้ายอยู่แล้ว ฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณไม่สามารถสร้างความชัดเจนได้ว่า นโยบายอะไรของคุณทักษิณที่ตัวไม่เอาอย่างหัวเด็ดตีนขาด เพราะความไม่พอใจไม่ได้เกิดจากนโยบายโดดๆ แต่เป็นเรื่องของนโยบายที่ถูกผลักดันด้วยวิธีดำเนินการทางการเมือง และวิธีบริหารซึ่งตัวเห็นว่าฉ้อฉลหรือไม่ชอบธรรมต่างหาก
ผมขอยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็นสักสองเรื่อง
- ในท่ามกลางการพังทลายของระเบียบการค้าโลก ภายใต้การกำกับขององค์กรการค้าโลก(WTO) คงไม่มีใครคัดค้านว่า ไทยจำเป็นต้องสร้างหลักประกันบางอย่างในความไร้ระเบียบนี้ เอฟทีเอ(FTA)ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างหลักประกันดังกล่าว ฉะนั้น จะพูดว่าไม่ได้ต่อต้านการทำเอฟทีเอเสียทีเดียวก็ได้ แต่นโยบายเปิดประเทศด้วยเอฟทีเอของคุณทักษิณ ถูกดำเนินการทางการเมืองและบริหารโดยขาดการตรวจสอบและต่อรองจากคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม ทั้งๆ ที่จะมีคนได้และคนเสียจากข้อตกลงเหล่านี้จำนวนมาก ในขณะเดียวกันยังมีความห่วงใยว่า การทุ่มลงไปที่เอฟทีเอเพียงอย่างเดียว โดยไม่สร้างเงื่อนไขการต่อรองอื่นๆ เลย ไม่ว่าจะในการจับกลุ่มกับประเทศอื่นในองค์กรการค้าโลกก็ตาม ในการเกาะกลุ่มของอาเซียนก็ตาม ฯลฯ จะสร้างความมั่นคงด้านการค้าให้แก่ไทยละหรือ
การปิดประตูไม่ให้สังคมไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางนโยบายสำหรับประกันผลประโยชน์ของไทยในการค้าโลกเช่นนี้ ยิ่งทำให้มิติอื่นๆ ของเอฟทีเอในฐานะกลไกอันหนึ่งไม่ถูกพิจารณาเอาเลย จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้คนพากันตั้งข้อสงสัยว่า เอฟทีเอเหล่านี้ทำกันขึ้นเพื่อสนองผลประโยชน์ทางธุรกิจของบางครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของคุณทักษิณเอง หรือครอบครัวของบริษัทบริวาร - เป็นข้อสงสัยที่อาจจะเกินเหตุ แต่คุณทักษิณก็ไม่เคยพิสูจน์ให้เห็นอย่างน่าเชื่อว่าเกินเหตุ. จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่ตัวนโยบายทำเอฟทีเอโดยตรงที่ฝ่ายไม่เอาทักษิณต่อต้าน แต่ไม่ชอบวิธีการที่คุณทักษิณใช้ในการตัดสินใจ และผลักดันนโยบายต่างหาก
- สุวรรณภูมิมหานครก็เหมือนกัน ใครๆ ก็คงเห็นด้วยว่าบทเรียนจากดอนเมืองทำให้รู้ว่า เราจำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษในการจัดการเกี่ยวกับการใช้ที่ดินในอาณาบริเวณของสนามบินนานาชาติ แต่จะจัดอย่างไร จัดโดยวิธีไหน เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงเรียนรู้ร่วมกันในสังคม ไม่ใช่คิดเองคนเดียวแล้วเอาลูกกระเป๋งที่เป็น ร.ม.ต.มาร้องเย้วๆ อยู่ข้างๆ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ตัวนโยบายจัดการที่ดินและสาธารณูปโภคของสุวรรณภูมิ แต่ฝ่ายไม่เอาทักษิณรับไม่ได้กับวิธีสร้างนโยบาย, ดำเนินนโยบาย และวิธีบริหารนโยบายต่างหาก และก็เช่นเคยฝ่ายไม่เอาทักษิณก็สามารถชี้ให้คนอื่นเห็นได้ว่า อาจมีผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวกทับซ้อนอยู่ในนโยบายนั้นแยะ
ฉะนั้นผมเชื่อว่า หากถามฝ่ายไม่เอาทักษิณว่า ไม่เอานโยบายอะไรของทักษิณบ้าง คงต้องเถียงกันเละทีเดียว พรรคไทยรักไทยและฝ่ายเอาทักษิณจึงไม่เคยพูดเรื่องวิธีสร้าง, ดำเนิน และบริหารนโยบายเลย แต่พูดเฉพาะเรื่องนโยบายอันประเสริฐเลิศดีของตนเองอย่างเดียว เพราะรู้อยู่แล้วว่าหลักการของนโยบายเหล่านั้นไม่มีใครเขาต่อต้านคัดค้าน
ผมคิดว่าการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองในสังคมไทยครั้งนี้ มีความลึกกว่าที่เคยแบ่งๆ กันมาในอดีต ไม่ใช่เรื่อง "กบเลือกนาย" อย่างที่พูดกันเป็นบางครั้ง (อันที่จริง ขึ้นชื่อว่านายแล้ว เราก็ควรมีสิทธิเลือก ไม่ว่าเราจะเป็นกบหรือเป็นคน เพราะเราไม่ใช่ทาสอย่างอีสป และไม่ได้อยู่ในสังคมที่ไม่ยอมรับความเสมอภาคของมนุษย์อย่างอียิปต์โบราณ) ไม่ใช่แค่วิธีการได้มาซึ่งอำนาจระหว่างเผด็จการและประชาธิปไตย, ไม่ใช่แค่เรื่องใครจะพัฒนาเก่งกว่ากัน แต่เป็นเรื่องของแนวทางการพัฒนาโดยตรง, ไม่ใช่เรื่องความจำเริญทางเศรษฐกิจโดดๆ แต่ให้ความสำคัญแก่ความเป็นธรรมในความจำเริญทางเศรษฐกิจด้วย, ฯลฯ
ประเด็นซึ่งเป็นทางเลือกที่สำคัญเช่นนี้ อาจมีความสำคัญในสังคมไทยมานานแล้ว แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จที่จะแทรกตัวเข้าไปเป็นทางเลือกทางการเมือง จนกระทั่งบัดนี้ ถ้าไม่มีคุณทักษิณ ชินวัตร และสมุนของเขาเถลิงอำนาจอยู่ในเวลานี้ ทางเลือกเหล่านี้อาจไม่ชัดแก่ผู้คนในสังคมเท่านี้
ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคมปัจจุบัน จึงเป็นพัฒนาการทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะประเด็นที่เป็นหัวใจที่แท้จริงของประชาธิปไตยก็ตาม การพัฒนาก็ตาม โลกาภิวัตน์ก็ตาม ถูกนำขึ้นมาใคร่ครวญตรวจสอบ และเรียกร้องการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อีกทั้งมีการนำเอามิติอื่นๆ อันหลากหลายของสิ่งเหล่านี้เข้ามาพิจารณา อันล้วนเป็นมิติที่ถูกละเลยมาก่อนเกือบทั้งสิ้น จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้การเมืองไทยสนองตอบประเด็นปัญหาที่เป็นจริงของพลเมือง
เช่นหากประชาธิปไตยมีความหมายแต่เพียงคนชั้นกลางในเมืองมีสิทธิมีเสียงในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ในขณะที่คนระดับรากหญ้าได้แต่รอคอยการเจือจานเพื่อให้นโยบายที่ตัวเสียเปรียบดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ประชาธิปไตยก็ไม่มีความหมายแก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ มิติของโอกาสอันเท่าเทียมกันของประชาธิปไตยเช่นนี้ ไม่เคยมีความสำคัญในพัฒนาการประชาธิปไตยไทย (ยกเว้นในช่วงที่ฝ่ายซ้ายมีกำลังกล้าแข็งในเมืองช่วง 2516-19)
และคงเห็นได้ด้วยว่า ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเช่นนี้ ไม่อาจคลี่คลาย (resolved) ลงได้ด้วยการเลือกตั้ง เพราะเขาไม่ได้เลือกพรรค ไม่ได้เลือกคน แต่เลือกพรรคหรือคนที่จะเป็นเครื่องมือไปสู่เป้าประสงค์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นเป้าประสงค์ที่แท้จริงของนักการเมืองหรือพรรคการเมือง
ในขณะที่นักการเมือง ไม่ว่าในฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ยังไร้เดียงสาพอที่จะคิดว่าจำนวนที่นั่งในสภาคือการคลี่คลายความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผมคิดว่าสังคมไทยกำลังคิดอะไรเลยหน้าไปกว่านั้นมาก และเมื่อสังคมคิด ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีความคิดหลายกระแส ซึ่งขัดแย้งกันเองด้วย
แทนที่จะคิดแต่ว่า ทำอย่างไรสังคมไทยจึงจะหันหน้าเข้าหากัน เลิกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผมกลับเห็นว่า การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่ใช่เพื่อเลือกข้าง แต่เลือกแนวทางการบริหารบ้านเมืองที่เราทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีมั่งคั่งหรือคนเล็กคนน้อย จะอยู่ร่วมกันอย่างที่ทุกฝ่ายพอมีพื้นที่หายใจของตัวเองตามสมควร เป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่ดี และเป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่จะทำความก้าวหน้าให้แก่การเมือง, เศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต
เราจำเป็นต้องผ่านความขัดแย้งกัน ผ่านการถกเถียงกัน ผ่านการจัดองค์กรขึ้นมาต่อสู้กันโดยสงบ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมที่กำลังมองหาความเปลี่ยนแปลง ถ้านักการเมืองประกาศว่าเขาเป็นกลาง ก็หมายความว่าเขาไม่ใช่พลังของความเปลี่ยนแปลง เคยอยู่กันมาอย่างไรก็อยู่กันไปอย่างนั้น (โดยพวกเขาสบาย)
สังคมไทยสมัยใหม่กำลังเผชิญการทดสอบที่ตัดสินอนาคตของตัวเอง
นั่นคือการทดสอบว่า สังคมนี้มีพลังรองรับความขัดแย้งโดยไม่แตกแยกได้เพียงใด หากสังคมไทยขาดพลังที่จะรองรับความขัดแย้งได้เลย
ก็อาจกล่าวได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงซึ่งจะเกิดแก่สังคมไทยในภายภาคหน้า จะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่กำหนดมาจากภายนอก
เพราะภายในไม่มีพลังที่จะกำหนดความเปลี่ยนแปลงของตัวเองได้ แปลว่าชะตากรรมของคนไทยจะถูกกำหนดจากภายนอก
(พลังตลาดโลก, ทุนข้ามชาติ, เทคโนโลยีของสังคมอื่น, นโยบายของมหาอำนาจ ฯลฯ) โดยคนไทยไม่มีส่วนกำหนดชะตากรรมของตนเองเลย
++++++++++++++++++++++++++++++
Prof. Dr. Nidhi Eoseewong
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I
สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้อความบางส่วนจากบทความ
ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคมปัจจุบัน
จึงเป็นพัฒนาการทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะประเด็นที่เป็นหัวใจที่แท้จริงของประชาธิปไตยก็ตาม
การพัฒนาก็ตาม โลกาภิวัตน์ก็ตาม ถูกนำขึ้นมาใคร่ครวญตรวจสอบ และเรียกร้องการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
อีกทั้งมีการนำเอามิติอื่นๆ อันหลากหลายของสิ่งเหล่านี้เข้ามาพิจารณา อันล้วนเป็นมิติที่ถูกละเลยมาก่อนเกือบทั้งสิ้น
จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้การเมืองไทยสนองตอบประเด็นปัญหาที่เป็นจริงของพลเมือง
เช่นหากประชาธิปไตยมีความหมายแต่เพียงคนชั้นกลางในเมืองมีสิทธิมีเสียงในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ในขณะที่คนระดับรากหญ้าได้แต่รอคอยการเจือจานเพื่อให้นโยบายที่ตัวเสียเปรียบดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ประชาธิปไตยก็ไม่มีความหมายแก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ มิติของโอกาสอันเท่าเทียมกันของประชาธิปไตยเช่นนี้ ไม่เคยมีความสำคัญในพัฒนาการประชาธิปไตยไทย (ยกเว้นในช่วงที่ฝ่ายซ้ายมีกำลังกล้าแข็งในเมืองช่วง 2516-19)
ในขณะที่ชุมชนซึ่งอยู่ระดับต่ำลงมา
รู้จักกับชุมชนในระดับเดียวกันน้อยกว่า ยิ่งอยู่ในระดับพื้นราบแล้วก็แทบจะไม่รู้จักกันเลย
ต่างคนต่างพูดภาษา "ประจำชาติ" ของตัว มีค่านิยมและโลกทรรศน์ที่แตกต่างกัน
ไม่สู้จะรักกันนักเพราะเห็นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของตัว ชีวิตเผชิญแต่แรงกดดันรอบด้านหาทางออกไม่เจอ
โดยที่ไม่เคยรู้สึกตัวเลยว่าที่จริงแล้ว พวกเขาล้วนถูกจับให้ยัดเข้ามาอยู่ในโครงสร้างใหญ่อันเดียวกัน
เพื่อทำหน้าที่ซึ่งต้องมีใครทำ นับตั้งแต่ผลิตอาหารราคาถูก, กวาดขยะ, ไปจนถึงใช้แรงงานในเรื่องต่างๆ
ที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ ด้วยเหตุดังนั้น
คนในชุมชนระดับเชิงเขาและพื้นราบจึงรัก "ชาติ" มากๆ เลย ทั้งๆ ที่ชาติไม่อาจกีดกันการเชื่อมต่อกันของชุมชนบนยอดเขาเพื่อหากำไรสูงสุดได้อีกแล้ว
Nidhi was trained as a historian at Chulalongkorn University's faculty of arts where he received bachelor's and master's degrees in history. While many historians have stuck to the meta-narrative of Thai history created by Prince Damrongrajanubharp, Nidhi challenged the old school of thought that claimed there is little difference between the work of historians and that of novelists. Nidhi has been investigating history through fact and fiction since his university days and also extended his investigation far beyond the history of Thailand. His doctorate thesis at the University of Michigan in 1976 was "Fiction as history: a study of pre-war Indonesian novels and novelists (1920-1942)"
From 1976 to the present day, Nidhi has had over 2,000 pieces published in books and articles for newspapers and magazines. While the historian is critical of conventional history, he has more interest in the cultural and social contexts of the old days. Nidhi has been adapting links to the past to explain many current issues. In his book "Politics of History and Memory", published in 2002, the historian noted that the main objective of the science of history is not to record what happened in the past. It has no duty to record, but to explain.