บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ








Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๑๐ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙
19-08-2547

Midnight's People Politics

รำลึก ๓๐ ปี เหตุการณ์ ๖ ตุลา
พระจันทร์เสี้ยวการละคอน มุมสะท้อนวิญญาณประชาธิปไตย
รวินทร์ คำโพธิ์ทอง
นักวิชาการอิสระ

ชมรมพระจันทร์เสี้ยวการละคร กลุ่มละคอนที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน
ในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านวรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรม และศิลปะการละคร
อันมีเนื้อหาในการส่งเสริมพัฒนาความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยไทย
ทั้งยังสะท้อนภาพสังคมโดยใช้สื่อการแสดงเป็นเครื่องมือสำคัญ
จนถือได้ว่าเป็นต้นแบบของละครเพื่อชีวิต

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1010
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)

 

พระจันทร์เสี้ยวการละคอน มุมสะท้อนวิญญาณประชาธิปไตย
รวินทร์ คำโพธิ์ทอง : นักวิชาการอิสระ

ความนำ
ชมรมพระจันทร์เสี้ยวการละคร กลุ่มละคอนที่มีประวัติความเป็นมายาวนานในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านวรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรม และศิลปะการละครอันมีเนื้อหาในการส่งเสริมพัฒนาความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยไทย ทั้งยังสะท้อนภาพสังคมโดยใช้สื่อการแสดงเป็นเครื่องมือสำคัญ จนถือได้ว่าเป็นต้นแบบของ 'ละครเพื่อชีวิต'

ในวาระครบรอบ ๓๐ ปีของพระจันทร์เสี้ยวการละคอน และเป็นการแสดงมุทิตาจิตต่อคำรณ คุณะดิลก หนึ่งในสมาชิกคนสำคัญที่มีอายุครบ ๖๐ ปี ในปี ๒๕๔๙ กลุ่มผู้ก่อตั้งรวมทั้งสมาชิกตั้งแต่รุ่นปี ๒๕๑๘ จนถึงปัจจุบันจึงได้จัดงาน "พระจันทร์เสี้ยวการละคอน มุมสะท้อนวิญญาณประชาธิปไตย" เพื่อร่วมกันรื้อฟื้นความทรงจำในอดีตของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคอนขึ้น ในวันเสาร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ณ หอศิลป์ตาดู กรุงเทพฯ

ภายในงานมีการเสวนาของสมาชิกชมรมพระจันทร์เสี้ยว, การแสดงตัดตอนมาจากฉากสำคัญของละครสร้างสรรค์เพื่อสังคม และประชาธิปไตยจำนวน ๑๑ เรื่องคือ อวสานของเซลล์แมน, ชนบทหมายเลข ๑, ๒, ๓, แม่, นี่แหละโลก, ก่อนอรุณจะรุ่ง, แซมมี่จอมยุ่ง, ความฝันกลางเดือนหนาว, คือผู้อภิวัฒน์และกูชื่อพญาพาน นอกจากนี้ยังมีปาฐกถาพิเศษเปิดงานโดย ศ.ดร. เจตนา นาควัชระ
(เรียบเรียงจากการเสวนาเรื่อง "ชมรมพระจันทร์เสี้ยวการละคอน กับละครสะท้อนภาพชีวิตและสังคม" ผู้ร่วมเสวนา: คำรณ คุณะดิลก, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, ธัญญา ผลอนันต์ และวิทยากร เชียงกูล ดำเนินการเสวนาโดย: ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์)

ประวัติ : ทางสายพระจันทร์เสี้ยว
(1)
"พระจันทร์เสี้ยว" เริ่มต้นจากกลุ่มนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยที่สนใจด้านวรรณกรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ อาทิ สุชาติ สวัสดิ์ศรี, วีรประวัติ วงศ์พัวพันธุ์, วิทยากร เชียงกูล, ธัญญา ผลอนันต์, นิคม รายวา, วินัย อุกฤษณ์, เธียรชัย ลาภานันท์ เป็นต้น

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้รื้อความทรงจำถึงการก่อตัวและที่มาของคำว่าพระจันทร์เสี้ยวไว้ดังนี้

"การก่อเกิดพระจันทร์เสี้ยว มันก็ไม่มีระบบระเบียบอะไรที่เป็นทางการ แต่จุดเริ่มต้นสำคัญที่อาจจะเป็นการก่อเกิดอันแรก คือเราร่วมกันทำหนังสือ เราเรียกว่าเป็นหนังสือเล่มละบาท ซึ่งถือเป็นจุดก่อเกิดที่ทำให้พวกเรามารวมตัวกัน ในสมัยนั้นการทำหนังสือจะต้องไปขออนุญาตกับทางสันติบาล การเกิดหนังสือเล่มละบาทขึ้นมาก็ด้วยเหตุเพราะมันทำหนังสือในระบบไม่ได้ หนังสือของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวเท่าที่ผมจำชื่อได้ คือธุลี, ตะวัน, ปัญญา, นาคร, ลานโพธิ์ และยังมีอีกหลายเล่ม ส่วนคำว่า พระจันทร์เสี้ยวนั้นต้องให้เครดิตคุณวีระประวัติ วงศ์พัวพัน คือเขามีกลุ่มอ่านหนังสือภาษาอังกฤษที่ชื่อว่า crescent moon แล้วเขาก็เอาคำ ๆ นี้มาแปลเป็นไทย ว่าพระจันทร์เสี้ยว"

บริบทแห่งยุคสมัย
จากยุคสายลม-แสงแดด (2) ราวปี ๒๕๐๕ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจในเรื่องส่วนตัวมากกว่าเรื่องส่วนรวม จนมาถึงในปี ๒๕๑๐ จุดเริ่มของยุคแสวงหา (3) ซึ่งเกิดการพูดคุย, วิพากษ์, ถกเถียง แล้วจึงนำไปสู่การรวมกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น. วิทยากร เชียงกูล เล่าถึงบรรยากาศของกิจกรรมนักศึกษาในยุคสมัยนั้นว่า

"ในยุคนั้นถือว่าเราเป็นนักศึกษากลุ่มน้อย เพราะว่าศิลป-วัฒนธรรมในมหาวิทยาลัยสมัยนั้น ก็มีแต่เพลงเชียร์ฟุตบอลประเพณี (4) เป็นอย่างมาก และก็งิ้วธรรมศาสตร์ (5) เราเป็นพวกที่สนใจหนังสือ ที่สำคัญก็คือว่าการสนใจหนังสือทำให้คุยกันได้นาน คือเราอยากแสดงออกแต่เรายังหาวิธีของมันไม่ค่อยได้ เพราะว่าสมัยนั้นหนังสือในตลาดก็มีน้อย จะมีก็แต่สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์แล้วก็ชาวกรุง...เราจึงพิมพ์หนังสือกันขึ้นมาเอง"

เมื่อวิทยากรได้รับเลือกเป็นประธานชมรมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบกับกรรมการชมรมฯ ในปีนั้นเป็นกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวเสียส่วนใหญ่ พวกเขาจึงได้ร่วมกันปรับรูปเปลี่ยนร่างให้กับหนังสือของชมรมวรรณศิลป์ ด้วยการเพิ่มเติมเนื้อหาของเรื่องสั้น, บทวิจารณ์หนังสือ, ปรัชญา ภายใต้แนวคิดที่ว่าวรรณกรรมต้องสะท้อนทั้งภาพของสังคมและชีวิต

สุชาติกล่าวเสริมเติมต่อ
"หลังจากปี ๒๕๑๒ กิจกรรมที่ทำเริ่มมีความสัมพันธ์กับสังคมมากขึ้น…ในเวลานั้นยังมีกลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวยของสุจิตต์-ขรรค์ชัย, กลุ่มดำแดงปริทัศน์ของวิรุณ ตั้งเจริญ, กลุ่มวลัญชทัศน์ที่เชียงใหม่ พวกสถาพร ศรีสัจจัง, นิติ อภิรักษ์โสภณ, อารมณ์ พงศ์พงัน ที่โคราช, ธัญญาอยู่สภากาแฟที่ ม.เกษตร และมันก็เป็นผลสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดการรวมตัวกันที่ก้าวพ้นจากองค์กรนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

กลุ่มอิสระเหล่านี้มีจุดร่วมกันของความรู้สึกโหยหาที่จะกลับไปหาสิ่งที่ตัดต่อความทรงจำในยุคเก่าให้ต่อกับสิ่งที่เป็นรากเหง้าเดิมของบรรดานักคิด, นักเขียนที่ถูกตัดตอนออกไปในช่วงสมัยจอมพล ป., จอมพลสฤษดิ์ กลุ่มต่าง ๆ นั้นได้มีจุดร่วมกันอีกอย่าง คือเป็นขบถทางความคิด เป็นจิตวิญญาณขบถ...สิ่งที่เห็นได้ชัด คือขบถทางการศึกษา ส่วนที่วิพากษ์คือไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ... แล้วสังคมก็ยังอยู่ในภาวะกึ่งเผด็จการ การดิ้นรนเพื่อจะทำกิจกรรมจึงเกิดขึ้นและเป็นกระแสต่อเนื่องมาจนกระทั่งเกิด 14 ตุลา"

ฉากของชีวิต
ในเวลาต่อมาสมาชิกของชมรมพระจันทร์เสี้ยวบางคนได้เริ่มหันมาสนใจเขียนบทละคร อาทิ "ฉันเพียงอยากออกไปข้างนอก", "นายอภัยมณี ", "งานเลี้ยง" ของวิทยากร เชียงกูล, "ชั้นที่ ๗" ของสุชาติ สวัสดิ์ศรี, "นกที่บินข้ามฟ้า" ของวิทยากร เชียงกูล และคำรณ คุณะดิลก เป็นต้น จากการเขียนเพื่ออ่านได้เชื่อมโยงไปสู่การทำละครเวที

"นายอภัยมณี" เป็นละครเวทียุคแรกจากบทละครที่เขียนขึ้น เพื่อล้อเลียนเรื่องพระอภัยมณีของวิทยากร เชียงกูล ได้จัดแสดงขึ้น ณ สยามสมาคมโดยมีคำรณ คุณะดิลกรับบทนายอภัยมณี รวมถึงวิทยากร เชียงกูล, เกริกเกียรติ นิติพัฒน์ และธัญญา ผลอนันต์ ที่ขณะนั้นเป็นประธานชมรมวรรณศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมแสดงด้วย

ปี ๒๕๑๔ กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างสำคัญยิ่งในกระบวนการผลิตละครเรื่องอวสานเซลล์แมน ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรับผิดชอบด้านฉาก แสง เสียง รวมทั้งแสดงนำเป็นตัวละครเอก "อวสานเซลล์แมน" เป็นบทละครดัดแปลงจากงานเขียนของนักเขียนอเมริกันชื่อดัง (6) มีเนื้อหาเสียดสีสังคมของผู้คนที่มีชีวิตอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยม และต่อเนื่องด้วย "ชนบทหมายเลข ๑, ๒, ๓" ที่ฉายภาพความล่มสลายของวัฒนธรรมชุมชนพร้อมทั้งนำความแปลกใหม่มาสู่วงการละครไทยด้วยการสร้างสรรค์ผลงานละครในรูปแบบ POOR THEATRE (7) แล้วนำทฤษฎีการละครของ JERZY GROTOWSKI (8) มาปรับใช้เพื่อสอดผสานความสัมพันธ์ระหว่างผู้แสดงและผู้ชมให้เข้าถึงจิตวิญญาณของละคร กลวิธีนี้นำมาจากต้นแบบของ BRECHTIAN THEATRE (9) ซึ่งเป็นแนวละครแถวหน้าของละครร่วมสมัยในศตวรรษ ๒๐. คำรณ คุณะดิลก ได้กล่าวถึงละครเรื่องนี้ว่า

"ก่อนที่ผมจะออกไปสอนทางด้านการละครที่เชียงใหม่ แกรี่ (อาจารย์ชาวต่างชาติผู้สอนวิชาการละคร ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ให้หนังสือของ JERZY GROTOWSKY แก่ผมเล่มหนึ่ง ซึ่งพูดถึงทฤษฎีของการละครของ Stanislavsky (10) ในระดับของจิตวิญญาณความสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงกับคนดู คือไม่มีฉาก ไม่มีแสง ไม่มีเมคอัพ และสอดคล้องกับเราพอดีที่ไปอยู่เชียงใหม่ แล้วได้เห็นความล่มสลายของสังคมชนบท สังคมเกษตรกรรมในยุคก่อนตุลาฯ จึงได้นำมาสร้างเป็นละครเรื่องชนบทหมายเลข ๑, ๒, ๓"

จนกระทั่งปี ๒๕๑๘ ชมรมพระจันทร์เสี้ยวการละครได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมเปิดฉากด้วยละครเรื่อง "แม่" ของแมกซิม กอร์กี้ (11) กับเรื่องราวต่อต้านความอยุติธรรมในสังคมแต่เชื่อมั่นในสัจธรรมเหนือสิ่งอื่นใด และละครเรื่อง "นี่แหละโลก" ที่ขับเน้นภาพความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นของคนในสังคมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ภายหลังเดือนตุลาคม ๒๕๑๙ ชมรมพระจันทร์เสี้ยวการละครได้ก่อตั้งคณะละครชื่อ "แฉกดาว" โดยนำละครไปจัดแสดงตามโรงงาน, ชุมชน, ม็อบและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ถือเป็นจรยุทธ์ในการรุกคืบเข้าสู่มวลชน อาทิ ละครเรื่อง "ก่อนอรุณจะรุ่ง" ด้วยการนำบทละครเรื่องชนบทหมายเลข ๑, ๒, ๓ มาดัดแปลงใหม่, ละครเรื่อง "แซมมี่จอมยุ่ง" ที่พูดถึงการรุกรานแทรกซึมของอเมริกา ในยุคที่บทเพลงอเมริกันอันตรายกระหึ่มก้อง

หากระหว่างนั้นเองมีสมาชิกของชมรมฯ ได้ถูกจับกุมคุมขังและหลบหนีภัยทางการเมืองจนแตกกระสานซ่านเซ็นอย่างไร้ทิศทาง บางคนถึงกับต้องหลีกลี้ไปยังต่างประเทศ จากเหตุการณ์ดังกล่าวฉากแห่งชีวิตของชมรมพระจันทร์เสี้ยวการละครจึงค่อย ๆ หรี่แสงรูดม่านปิดลง แต่ม่านชีวิตของคำรณ คุณะดิลกยังคงเปิดฉากต่อไปในประเทศฝรั่งเศส โดยคำรณได้เข้าร่วมกับคณะละคร THEATRE DE LA MANDRAGORE เป็นทั้งนักแสดงและผู้ช่วยผู้กำกับ มีผลงานเรื่อง Antigone, Woyzeck, Leon&Lena, La Mort de Danton, L' Avar, La Mort de Bucher, Escalade, La Libbration, L' Eneme and Terminal ออกแสดงตามประเทศต่าง ๆ เช่น ฝรั่งเศส, เบลเยี่ยม, อียิปต์, จอร์แดน, เลบานอน, สวีเดน, โมรอคโค, ตูนิเซีย, กอบอน, การ์คาร์ และซูดาน (12)

เมื่อพระจันทร์ 'คืน' เสี้ยว
๑๐ ปีต่อมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ คำรณ คุณะดิลก ได้เดินทางกลับประเทศไทยแล้วสร้างสรรค์ละครเวทีสามัญชน เรื่อง "คือผู้อภิวัฒน์" อันเป็นเรื่องราวของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ในนามของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว พร้อมทั้งลบคำสบประมาทที่วิจารณ์ว่าละครเวทีไทยยังอ่อนด้อยและขาดไร้ประสบการณ์ลงได้อย่างสิ้นเชิง

ปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๘ คำรณ คุณะดิลก ได้ชักนำหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่สนใจสร้างงานละครเวทีอย่างเป็นอาชีพในนาม "พระจันทร์เสี้ยวการละคอน" ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมแสงอรุณ เข้ามาช่วยผลักดันกระตุ้นจนเกิดความตื่นตัวให้กับวงการละครเวทีไทยอีกครั้ง และมีผลงานละครเวทีออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กูชื่อพญาพาน, ความฝันกลางเดือนหนาว, ผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ, มาดามเหมา, กระโจมไฟ, ตลิ่งสูงซุงหนัก, พระมะเหลเถไถ, คำปราศรัยของนาย ก. ฯลฯ (13) จวบจนปัจจุบันผลงานละครเวทีของ "พระจันทร์เสี้ยวการละคอน" ซึ่งทอดส่งมายังนักการละครรุ่นใหม่นั้นเป็นที่ยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ

ณ วันนี้เสี้ยวแสงแห่งรัตติกาลยังคงทอฉายด้วยศรัทธาที่มุ่งมั่น แม้จะไม่เรืองรองจนส่องทาง หาก "พระจันทร์เสี้ยวการละคอน" กลับพอใจในแสงเรื่อเรืองของตน และพร้อมจะสร้างสรรค์ฉากของชีวิตที่สะท้อนภาพสังคมให้ผู้ชมได้ขบคิดสืบต่อไป เฉกเช่นบทกวีที่คำรณ คุณะดิลกได้กล่าวไว้

"เราเป็นนก ประดับดงไม้
รับฟัง บทเพลงที่เราร้อง
แต่อย่ากู่ขานชื่อเราเลย..."

++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ
(1) นำชื่อมาจากนวนิยายเรื่อง"ทางสายพระจันทร์เสี้ยว" ของ ประภัสสร เสวิกุล

(2) ยุคนี้เป็นยุดสมัยหรือช่วงเวลาที่นักศึกษามีความภาคภูมิใจในสถานภาพของตนเอง กล่าวคือ เป็นกลุ่มอภิสิทธิ์ชนในสังคม และมีความสุขสำราญในการใช้ชีวิตทุกด้าน นักวิชาการบางท่านเรียกว่ายุค "สายลมแสงแดด" นักศึกษาธรรมศาสตร์ในยุคนี้แทบไม่มีใครทราบอดีตเลยว่า ใครเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยมีความเป็นมาอย่างไร ใช้เวลาไปกับการแข่งขันกีฬา, พาเหรด แบ่งสี สถาบัน จำกัดกิจกรรมในแวดวงกีฬา และบันเทิง ไม่สนใจสังคมและการเมือง ไม่ใส่ใจทุกข์สุขของประชาชน, http://www.2519.net/

(3) เป็นยุคที่ประชาคมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความตื่นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือ มีการสร้างกลุ่ม ชมรม องค์กรนักศึกษา ฯลฯ ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในวงกว้าง ทั้งในเขตเมืองและชนบท ซึ่งมีผลสะท้อนกลับ คือ ทำให้นักศึกษากลายเป็นพลัง และกลุ่มกดดันทางสังคม เป็นยุคที่รู้จักกันดีในชื่อ "ยุคฉันจึงมาหาความหมาย" จากอิทธิพลทางความคิดและบทกวีอมตะจากหนังสือเพลงเถื่อนแห่งสถาบัน ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ของวิทยากร เชียงกูล, http://www.2519.net/

(4) ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ จัดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๗๗ ณ ทุ่งพระสุเมรุ สนามหลวง โดยแนวความคิดของนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบันกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเคยเรียนอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ได้หารือกันว่าควรจะมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสถาบันเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีระหว่าง นิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบันและควรจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี ผู้ริเริ่มฝ่ายธรรมศาสตร์มี พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค, บุศย์ สิมะเสถียร และฝ่ายจุฬาฯ มี ประสงค์ ชัยพรรค, ประถม ชาญสันต์ และประยุทธ สวัสดิ์สิงห์ จนได้ถือเป็นประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในการแข่งขันทุกปีนั้น ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่ารายได้ที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะมีการมอบการกุศลทุกครั้ง, "กำเนิดฟุตบอลประเพณี", http://campus.sanook.com/u_life/cu-tu62.php

(5) งิ้วธรรมศาสตร์ หรืองิ้วการเมือง เปรียบได้ว่าเป็นอาวุธทางวัฒนธรรมที่มีชีวิต ก่อตั้งโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นรูปแบบหนึ่งของศิลปะการแสดงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาอย่างยาวนาน โดยสะท้อนภาพการเมืองไทยผ่านการแสดงละครที่สนุกสนานและเสียดสีได้อย่างแสบร้อน ทั้งดึงดูดความสนใจด้วยการนำผู้ที่เป็นที่รู้จักในวงสังคมมาเป็นตัวแสดง หรือการแสดงในแบบจรยุทธ์ โดยเล่นตามม็อบหรือความเคลื่อนไหวบนสถานการณ์การเมืองที่สำคัญ นับตั้งแต่เหตุการณ์เดือนตุลาคม, พฤษภาทมิฬ และล่าสุดคือเหตุการณ์การขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, อรการ กาคำ, "มหรสพสยบมาร", กรุงเทพธุรกิจ, ๒๕๔๙.

(6) "ละครกับประชาธิปไตย: ๓๐ พระจันทร์เสี้ยว", กรุงเทพธุรกิจ, ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙.

(7) ชาวโปล คนหนึ่งที่ชื่อว่า Jerzy Growtowski เป็นผู้เรียกละครแนวนี้ว่า Poor Theatre เขามีความคิดว่า ละครของพวกคนรวย ที่ใช้ฉาก แสงเสียง เสื้อผ้า หรือองค์ประกอบอื่น ๆ นั้น ไม่มีประโยชน์ และPoor Theatre ก็คือละครที่ไม่ใช้อะไรสักอย่างนอกจากที่จำเป็นเท่านั้น , "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐", แดสเอนเตอร์เทนเมนท์ www.dass.com

(8) Jerzy Growtowski ชาวโปล เขาเป็นผู้นิยามละครแนว Poor theatre และเป็นผู้ตั้งคณะละคร The Polish Theatre Laboratory ขึ้นในปี ๑๙๕๙
เพื่อหาแนวทางในการแสดงรูปแบบใหม่ ที่นักแสดงไม่ต้องจำกัดตัวเองอยู่กับสิ่งต่างๆภายนอกเลย แต่จะใส่ใจอยู่ที่การแสดงอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นเอง ละครของเขาจึงไม่ใช้การแต่งหน้า เสื้อผ้า หรือฉากที่สมจริงในการแสดง ให้ความสนใจแต่ร่างกายและจิตใจของนักแสดงเท่านั้น, "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐", (ibid).

(9) แนวละครร่วมสมัยในศตวรรษที่ ๒๐ ที่เน้นหนักไปยังความสามารถของนักแสดงและความสัมพันธ์กับผู้ชม, "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐", (ibid).

(10) ตอนปลายศตวรรษที่ ๑๙ นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญา เริ่มสนใจและศึกษาอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมต่างๆ ว่า มีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของมนุษย์ Therese Raquin นวนิยายที่เขียนขึ้นโดย Emile Zola เป็นนวนิยายในแนว Naturalism หรือธรรมชาตินิยม ที่มีอิทธิพลต่องานศิลปะและงานละครในยุคนั้นเป็นอย่างยิ่ง นักการละครยุคนั้นจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อเลียนแบบธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รอบตัวมนุษย์ ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบฉากที่ให้รายละเอียดที่สมจริง หรือการที่นักแสดงจะพยายามแสดงให้เหมือนจริงมากที่สุด โดยพยายามที่จะศึกษาลึกลงไปในภูมิหลังและความซับซ้อนทางอารมณ์ของตัวละครต่าง ๆ Stanislavsky นักการละครที่โด่งดัง ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาธรรมชาตินิยมนี้, "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐", (ibid).

(11) แมกซิม กอร์กี้ (Maxim Gorky หรือ Gorki) มีความหมายว่า "แมกซิมผู้ระทมขมขื่น" เป็นนามปากกาของอเลกเซ แมกซิโมวิช เพสคอฟ (Alexi Maximovich Peshkov) นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวรัสเซีย ซึ่งได้สร้างสรรค์วรรณกรรมสะท้อนให้เห็นถึงความยากแค้นลำเค็ญของสังคมขึ้นมาอย่างมากมาย ผลงานของเขาถือได้ว่า "ปลุกเร้าวิญญาณของมวลมนุษย์" โดยเฉพาะนวนิยายเรื่องแม่ โดยฉากของนิยายในเรื่องทั้งหมดเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง รวมถึงเหตุการณ์และการจำลองชีวิตของบุคคลที่ไม่ได้รับความยุติธรรรมในสังคมมาใส่ไว้ในเรื่อง การดำเนินชีวิตของ ปาเวล วลาสซอฟ นั้นลอกเลียนมาจากชีวิตจริงของ ปาเวล ซาโลมอฟ ซึ่งเป็นผู้เดินนำกรรมกรในวันเมย์เดย์และถูกตี ถูกจับ ถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลานาน ส่วนแม่ของปาเวล นิลอฟน่า เป็นภาพรวมจากชีวิตแม่ของซาโลมอและแม่ของ Kadomtsev กรรมกรนักปฏิวัติ

เหตุการณ์ในการเคลื่อนไหวปฏิวัตินั้นสตรีชาวรัสเซียที่เป็นแม่และเป็นกรรมกรมากมาย มีส่วนช่วยลูกและต้องเข้าคุกไปด้วย หลังจากหลบลี้ภัยการเมืองไปในหลายประเทศ และที่อเมริกานี้เองกอร์กี้ได้เขียนนวนิยายเรื่อง "แม่" ขึ้นมา หากเมื่อนำไปตีพิมพ์ที่รัสเซียเป็นครั้งแรกนั้นเรื่องแม่ตอนแรกที่ออกมาถูกยึดทำลายหมด และตอนที่สองก็ถูกเซ็นเซอร์จากคณะกรรมการเสียจนอ่านไม่ได้เรื่อง แต่ขณะเดียวกันก็มีหนังสือเรื่อง "แม่" ที่พิมพ์โดยผิดกฎหมายออกมามีเนื้อหาครบถ้วน และไม่นานเรื่อง "แม่" ก็ถูกแปลไปหลายภาษาทั่วโลก รัฐบาลพระเจ้าซาร์โกรธมากที่มีหนังสือเรื่อง "แม่" ตีพิมพ์ออกมา สั่งจับกอร์กี้ในฐานะผู้เขียน กอร์กี้หนีรอดพ้นเงื้อมมือของตำรวจไปได้โดยไปอยู่ที่เกาะคาปรี

เมื่อกอร์กี้กลับมารัสเซียนั้น เขากลับมาอย่างผู้มีชัย สถานที่บ้านเกิดของเขาซึ่งเป็นฉากท้องเรื่องของนวนิยายเรื่อง "แม่" ได้รับการขนานนามใหม่ว่า "กอร์กี้" เพื่อเป็นเกียรติใน ค.ศ. ๑๙๓๒, เรียบเรียงจาก จิตร ภูมิศักดิ์ (ผู้แปล), แม่, แปลจาก MOTHER โดย Maxim Gorky, พิมพ์ครั้งที่ ๕, ดอกหญ้า : กรุงเทพฯ, ๒๕๔๓, ๑๑-๑๓ (เบื้องหลังความเป็นมาเรื่อง "แม่" โดยภิรมย์ ภูมิศักดิ์)

(12) "ละครกับประชาธิปไตย: ๓๐ พระจันทร์เสี้ยว", กรุงเทพธุรกิจ.

(13) http://www.bkkonline.com/movie/drama/moon/

++++++++++++++++++++++++++++

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
๑. เอกสารประกอบงานพระจันทร์เสี้ยวการละคอน มุมสะท้อนประชาธิปไตยไทย
๒. http://www.2519.net/
๓. "กำเนิดฟุตบอลประเพณี", http://campus.sanook.com/u_life/cu-tu62.php (บทความ)
๔. อรการ กาคำ. "มหรสพสยบมาร". กรุงเทพธุรกิจ, ๒๕๔๙. (บทความ)
๕. "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐". แดสเอนเตอร์เทนเมนท์ (บทความ)
๖. "ละครกับประชาธิปไตย": ๓๐ ปีพระจันทร์เสี้ยว. กรุงเทพธุรกิจ, ๒๕๔๙. (บทความ)
๗. จิตร ภูมิศักดิ์ (ผู้แปล). แม่. จาก MOTHER โดย Maxim Gorky. พิมพ์ครั้งที่ ๕, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, ๒๕๔๓
๘. http://www.bkkonline.com/movie/drama/moon/


 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H
R
การก่อเกิดพระจันทร์เสี้ยว มันก็ไม่มีระบบระเบียบอะไรที่เป็นทางการ แต่จุดเริ่มต้นสำคัญที่อาจจะเป็นการก่อเกิดอันแรก คือเราร่วมกันทำหนังสือ .เราเรียกว่าเป็นหนังสือเล่มละบาท ซึ่งถือเป็นจุดก่อเกิดที่ทำให้พวกเรามารวมตัวกัน ในสมัยนั้นการทำหนังสือจะต้องไปขออนุญาตกับทางสันติบาล การเกิดหนังสือเล่มละบาทขึ้นมาก็ด้วยเหตุเพราะมันทำหนังสือในระบบไม่ได้ หนังสือของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวเท่าที่ผมจำชื่อได้ คือธุลี, ตะวัน, ปัญญา, นาคร, ลานโพธิ์ และยังมีอีกหลายเล่ม ส่วนคำว่า พระจันทร์เสี้ยวนั้นต้องให้เครดิตคุณวีระประวัติ วงศ์พัวพัน คือเขามีกลุ่มอ่านหนังสือภาษาอังกฤษที่ชื่อว่า crescent moon แล้วเขาก็เอาคำ ๆ นี้มาแปลเป็นไทย ว่าพระจันทร์เสี้ยว
related topic