บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ








Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๙๙๘ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙
07-08-2547

Midnight's People Politics

นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์
ตุลาการภิวัตน์และประชาธิปไตยเปลี่ยนผ่าน
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความที่เผยแพร่บนหน้าเว็บเพจนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน
ประกอบด้วยบทความเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ๒๕๔๙ จำนวน ๔ เรื่องดังนี้
๑. เอวังอธิปไตย ๒. ตุลาการภิวัตน์ภาคประชาชน
๓. ระบอบประชาธิปไตยระยะผ่าน และ
๔. ประชาธิปไตยรับเหมาทำแทน
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 998
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12.5 หน้ากระดาษ A4)

 

ตุลาการภิวัตน์และประชาธิปไตยเปลี่ยนผ่าน
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

1. "เอวังอธิปไตย"
ประสบการณ์หลายประเทศในอดีตและปัจจุบันบอกตรงกันว่า ณ สุดท้ายปลายทางตุลาการภิวัตน์ มักเป็นฉากเผชิญหน้าระหว่างจำเลยกับศาล ไม่ว่าจำเลยผู้นั้นจะเป็น...- ทรราชชาร์ลส์ที่ 1 แห่งราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ (ค.ศ.1600-1649), - ฆาตกรล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรต่อมนุษยชาติสโลโบดาน มิโลเซวิค อดีตประธานาธิบดีเซอร์เบีย (ค.ศ.1941-2006), -หรือฆาตกรซัดดัม ฮุสเซน อดีตประธานาธิบดีอิรัก (ค.ศ.1937-ปัจจุบัน)

พร้อมเสียงปุจฉา-วิสัชนาในทำนอง:-"เจ้ามีสิทธิอะไรมาไต่สวนข้า?"
"สิทธิของอำนาจใหม่ที่ขึ้นมาแทนท่านไงล่ะ"

คำถาม-ตอบอันเป็นแบบฉบับนี้ สะท้อนปมเงื่อนอันเป็นที่มาของกระบวนการตุลาการภิวัตน์ (judicial review or judicialization) ได้ดี กล่าวคือ:- มันเป็นเรื่องของผู้กุมอำนาจรัฐฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติที่ใช้อำนาจในมือปัดป้องความรับผิด (accountability) ต่อการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ (corruption & abuse of power) ของตน ซึ่งเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ หรือสัญญาประชาคมที่ตนได้ให้ไว้กับประชาชน

ทางเดียวที่จะไต่สวนพิสูจน์ทราบ และยังความรับผิดให้เกิดขึ้นแก่ผู้กุมอำนาจเหล่านั้นโดยยุติธรรม พร้อมทั้งธำรงรักษาระบอบการเมืองการปกครองดังที่เป็นอยู่ไว้สืบไป คือใช้อำนาจเดียวที่เหลืออยู่ในระบบได้แก่อำนาจตุลาการเข้ามาแทรกแซง ทบทวน ตรวจสอบ ถ่วงดุลอีกสองอำนาจนั้นในทางการเมือง

ในระบอบเสรีประชาธิปไตยสมัยใหม่ บุคคลพึงอยู่ใต้กฎหมายโดยเสมอภาคเท่าเทียมกัน หากปล่อยให้ผู้ปกครอง "can do no wrong" อยู่เหนือเงื้อมอำนาจของศาลตุลาการ เฉกเช่นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในอดีต หรืออัตตาธิปัตย์จากการเลือกตั้ง (elected autocrat) ในระบอบประชาธิปไตยอำนาจนิยม (authoritarian demoracy) ร่วมสมัยแล้ว ในที่สุดผู้คนก็จะแสวงหาความยุติธรรมจากอำนาจนอกระบบแทน ไม่ว่าอำนาจนั้นจะมาจากนอกรัฐธรรมนูญหรือนอกประเทศก็ตาม

แน่นอน การพึ่งพิงอำนาจตุลาการให้ช่วย "ตุลาการภิวัตน์" ก็มีจุดอ่อนและข้อจำกัดของมันอยู่ดังที่ศาสตราจารย์ Werner Dannhauser ศิษย์ก้นกุฏิ Leo Strauss และครูสอนปรัชญาการเมืองที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ก่อนจะย้ายตามพรรคพวกนีโอคอนส์ไปเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Commentary เคยเปรียบเปรยให้ฟังว่า ธรรมเนียมนิติศาสตร์ที่เน้นตัวบทกฎหมายซึ่งครอบงำการเมืองอเมริกัน ทำให้คำถามหลักที่มักตั้งกันในวงการเมืองที่นั่นคือ:-

"Could it be done?" (ทำได้ไหม - ในทางเทคนิคกฎหมาย?) แต่ไม่ยักถามว่า
"Should it be done?" (ควรทำหรือไม่ - ในทางหลักจริยธรรมการเมือง?)

ความกังวลทำนองเดียวกันต่อกระแสตุลาการภิวัตน์ - กฎหมายมหาชนที่ปกคลุมการเมืองไทยระยะหลังนี้ ถูกแสดงออกในคำบรรยายพิเศษของอาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "ความสับสนของหลักรัฐศาสตร์ในวิกฤตการเมืองไทย" จัดโดยสำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า ณ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 17 มิ.ย.ศกนี้ (ดู มติชนรายวัน, 18 มิ.ย. 2549, น.2);

และคำให้สัมภาษณ์ของศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยฮาวาย เรื่อง "การเมืองไทยในอนาคต (อันใกล้)" ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวประชาไท เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ศกนี้ (http://www.prachatai.com) ในเชิงการแบ่งแยกหลักนิติศาสตร์/หลักรัฐศาสตร์ออกจากกัน ในการพิจารณาปัญหาการเมือง

รวมทั้งคำโต้แย้งของ พิธี อุปปาติก ใน "แยกรัฐศาสตร์-นิติศาสตร์ ต้นเหตุวิกฤตการณ์การเมืองจริงหรือ" มติชนรายวัน, 7 ก.ค. 2549, น.7

ข้อจำกัดของตุลาการภิวัตน์ ยังสะท้อนออกในหลักเกณฑ์การพิจารณาคดีทางการปกครอง (judicial review of administration) ของศาลปกครองซึ่งเน้นสนใจประเด็นสมรรถภาพหรือประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ราชการ, ขอบเขตอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่, ความเป็นธรรมและครบถ้วนเพียงพอของขั้นตอนดำเนินการ, หลักฐานที่เข้าสู่การพิจารณาอันนำไปสู่การตัดสินใจทางการปกครอง, แรงจูงใจเบื้องหลังการตัดสินใจทางการปกครอง, ลักษณะเนื้อแท้และขอบเขตของอำนาจการใช้ดุลพินิจทางการปกครอง เป็นต้น

ทว่าการพิจารณาภายใต้หลักเกณฑ์ทำนองนี้ ย่อมอ่อนด้อยขาดพร่องที่จะวินิจฉัยเรื่องความเหมาะสม มีเหตุมีผลและปรีชาญาณของหลักการ ฐานคติ ของการกระทำทางการปกครองต่างๆ อันเป็นประเด็นทางสังคมการเมือง

แม้แต่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ให้ยกเลิกเพิกถอนการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยเอาเข้าตลาดหุ้นเมื่อปลายเดือนมีนาคมศกนี้ ก็พุ่งตรงไปยังขั้นตอนดำเนินการพิจารณาตัดสินใจอันผิดกฎหมาย และบกพร่องของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง มิใช่ประเด็นความเหมาะสม มีเหตุมีผลและปรีชาญาณของนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นของเอกชนโดยตัวมันเอง นั่นแปลว่าหากรัฐบาลทำเสียใหม่ให้ครบถ้วนเพียงพอและถูกกฎหมาย ก็น่าจะทำได้และอาจพ้นวิสัยที่ตุลาการภิวัตน์จะทบทวนตรวจสอบ!

อย่างไรก็ตาม แม้มิใช่ภารธุระและแบบแผนปฏิบัติของศาลตุลาการ ที่จะขบแก้ประเด็นหลักการพื้นฐานทางรัฐศาสตร์ แต่กระนั้นเอาเข้าจริงในทางปฏิบัติ คำวินิจฉัยพิพากษาของศาลในกระบวนการตุลาการภิวัตน์ ก็ย่อมไม่ปลอดพ้นจากข้อคำนึงทางการเมืองในลักษณะนามธรรมทั่วไปเสียทีเดียว, และสะท้อนออกซึ่งมีทรรศน์ทางการเมืองและกระแสความต้องการในสังคมที่คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อย

ดังที่ศาลสูงของสหรัฐอเมริกาสมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 เน้นปกป้องกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเอกชนและเสรีภาพทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เพื่อคุ้มครองเศรษฐกิจตลาดเสรีจากการแทรกแซงกำกับควบคุมโดยรัฐบาลมลรัฐ และรัฐบาลกลาง ตามอคตินิยมแห่งยุคสมัย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลสูงอเมริกันมักอ้างวรรคตอนต่างๆ ว่าด้วย "วิถีทางที่ถูกต้องแห่งกฎหมาย" (due process of law) ในบทแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่ 5 และ 14 ของรัฐธรรมนูญอเมริกัน (ที่ว่าห้ามมิให้พรากชีวิต เสรีภาพ หรือทรัพย์สินของบุคคลใดไปโดยไม่ผ่านวิถีทางที่ถูกต้องแห่งกฎหมาย) มายกเลิกเพิกถอนกฎหมายประกันสังคมต่างๆ ที่ออกมา - ทั้งที่เจตจำนงแต่เดิมของบทแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว มิได้มุ่งคุ้มครองกลุ่มทุนและบรรษัทเอกชน, แต่มุ่งคุ้มครองชีวิต เสรีภาพหรือทรัพย์สินของบรรดาอดีตทาสผิวดำ ผู้เพิ่งได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระในมลรัฐทางใต้ต่างหาก

แต่เมื่อผ่านยุค New Deal ในสมัยประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ (ค.ศ.1933-1945) ที่หันไปดำเนินนโยบายเชิงสังคม ให้รัฐบาลเข้าแทรกแซง กำกับและจำกัดทุนนิยมตลาดเสรีแล้ว กระแสสังคมและทีทรรศน์ทางการเมืองก็เปลี่ยนไป ศาลสูงสหรัฐในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงหันไปเน้นปกป้องเสรีภาพของพลเมือง ที่ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจและความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายแทน โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิความเป็นส่วนตัว สิทธิการทำแท้ง สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง ในกระบวนการปกครองหรือวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ กระบวนการตุลาการภิวัตน์ย่อมสะท้อนออก และปกป้องไว้ซึ่งค่านิยมของอุดมการณ์การเมืองหลักที่ครอบงำสังคมในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์ พยายามขัดขวางมิให้อำนาจรัฐฝ่ายอื่นอันได้แก่ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นอำนาจทางการเมืองเบี่ยงเบนออกนอกลู่นอกทางไป

ฉันใดก็ฉันนั้น กระบวนการตุลาการภิวัตน์ไทยที่ประเดิมเริ่มขึ้นในปีมหามงคล แห่งการเฉลิมฉลองวโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ย่อมสะท้อนออกและปกป้องไว้ซึ่งค่านิยมหลักทางการเมืองแห่งยุคสมัยเป็นธรรมดา

เราคงคาดหวังให้ผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลายคิดวินิจฉัยโดยปลอดจากบริบทของสังคมการเมืองไทยมิได้ แต่เราน่าจะมีสิทธิคาดหวังให้พวกท่าน พิจารณาตัดสินคดีความที่เกี่ยวเนื่องกับฝ่ายการเมืองโดยอิสระตามสมควร

สำหรับข้อกังวลค้างคาใจบางฝ่ายที่ว่า เมื่อเทียบกันแล้ว อย่างน้อยรัฐบาลและสภานิติบัญญัติก็เป็นตัวแทนหลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน (popular sovereignty) มากกว่าศาลตุลาการ, ค่าที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาจากประชาชน, จึงเกรงว่ากระบวนการตุลาการภิวัตน์อาจเข้าไปล่วงล้ำทำลายหลักสำคัญดังกล่าวของระบอบประชาธิปไตยนั้น

ผมจำได้ว่าอาจารย์เขียน ธีรวิทย์ เคยให้สัมภาษณ์เรื่องการละเมิดสัญญาประชาคมและกฎหมายป่า ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนสอดคล้องเข้าประเด็น และช่วยคลี่คลายปมปัญหาเรื่องนี้ไว้ใน "ฐานเศรษฐกิจ" ฉบับที่ 2094 (9-11 มี.ค. 2549) แล้ว นอกจากนี้ผมยังคิดถึงข้อความที่ จอห์น แบรดชอว์ ประธานศาลสูงยุติธรรม กล่าวแก่ชาร์ลส์ที่ 1 ผู้ตกเป็นจำเลยข้อหาทำสงครามกับรัฐและราษฎรของตนเอง ระหว่างพิจารณาคดีในศาลเมื่อปี ค.ศ.1649 ว่า:-

"มีสัญญาและข้อต่อรองที่ทำกันขึ้นระหว่างกษัตริย์กับราษฎรของพระองค์... สายสัมพันธ์หรือพันธะด้านหนึ่งนั้นคือพันธะในการปกป้องซึ่งองค์อธิปัตย์จะต้องดำเนินการให้ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือพันธะในการยอมตนอยู่ในบังคับซึ่งไพร่บ้านพลเมืองจะต้องกระทำ ท่านขอรับ หากเมื่อใดพันธะนี้ถูกละเมิดเข้าแล้ว ก็เป็นอันว่าเอวังอธิปไตย"

2. "ตุลาการภิวัตน์ภาคประชาชน"
Elites ไทยกำลังร้องด่าท้ารบกันฮึมแฮ่สนั่นลั่นเวทีการเมือง แรงสั่นสะเทือนของมันด้านหนึ่งเกิดจากพื้นที่อำนาจ และทรัพยากรในสังคมไทยที่พวกเขายึดกุมไว้อย่างไพศาล ส่วนอีกด้านหนึ่งก็เพราะพวกเขาไม่ได้ไสช้างเข้าประจัญกันตัวต่อตัว หากต่างฝ่ายขับเคลื่อนเครือข่ายอุปถัมภ์ในสังกัดตนเข้าเผชิญหน้ากันด้วย

ขณะที่คนตัวเล็กๆ ไร้เส้นสายไร้สังกัดในสังคมไทยต่างมองดูตาปริบๆ อยู่ริมเวทีด้วยความพิศวงงงงวย?!?
พิศวงงงงวยว่า เอาเข้าจริงตัวเองจะได้อะไรจากการท้ารบถล่มบ้านเมืองกันครั้งนี้? ในทางตรงข้าม กลับเห็นโทนโท่ว่า ตัวเองจะต้องเสียอะไรไปบ้างเมื่อช้างชนกัน...

ฝ่ายหนึ่งเรียกแถวในนาม "ประชาธิปไตย" แต่ก็เห็นๆ กันอยู่ตลอดห้าปีที่ผ่านมาว่า "ประชาธิปไตย" ของท่านมีความหมายเพียง (การเลือกตั้ง+รัฐบาลรวมศูนย์อำนาจนิยม) ที่ใช้ประชาธิปไตยเป็นแค่เครื่องมือและพร้อมจะล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนอย่างมักง่ายเพื่อสนองอำนาจ นโยบาย และผลประโยชน์ทับซ้อนของตนเท่านั้น. คำว่า "ประชาธิปไตย" ที่ประกาศก้องออกมาจากปากท่านผู้นำมันจึง rings hollow หรือฟังกลวงโบ๋ยังไงพิกล

จะให้ประชาชนสู้ตายเพื่อปกป้อง "ประชาธิปไตย" แบบนี้หรือ?

อีกฝ่ายรวมพลในนาม "คุณธรรมและวิถีชุมชนอันเรียบง่าย" โดยไม่ตระหนักว่าท่ามกลางสังคมทุนนิยมแข่งขันไล่ล่า ที่ผู้คนแตกต่างเหลื่อมล้ำกันทั้งอำนาจและทรัพยากรราวฟ้ากับดินปานนี้ package ประชานิยม-บริโภคนิยมอันเจ้าเล่ห์แสนกลที่อีกฝ่ายหยิบยื่นให้นั้น สำคัญแก่คนจนมือสั้นที่ดิ้นรนอยู่ริมหลุมดำระหว่างรอยต่อของชนบทกับเมืองขนาดไหน จะให้พวกเขาเชิดชู "คุณธรรมและวิถีชุมชนอันเรียบง่าย" เหนือความอยู่รอดเฉพาะหน้ารายวันของตัวเองและครอบครัวได้อย่างไร?

หากไม่กระจายความมั่นคงในชีวิต อำนาจปกครองตนเองและสิทธิเข้าถึงทรัพยากรให้เท่าเทียมกันกว่านี้ จะให้พวกเขามีเสรีภาพที่จะทำดี มีคุณธรรม (moral freedom) และดำเนินวิถีชุมชนอันเรียบง่ายได้หรือ?

ตรงเบื้องหน้าทางสองแพร่งที่มีแต่เสียกับเสียซึ่ง elites สองฝ่ายหยิบยื่นให้ประชาชนเลือก นี่เองที่ "ตุลาการภิวัตน์" กำลังแบกรับภาระหนักในการตัดสินแทน!

ทว่า ภารกิจที่รอการอภิวัตน์ของศาลตุลาการใช่จะมีแต่เรื่องการแบ่งแยก-ตรวจสอบ-ถ่วงดุล อำนาจในหมู่สถาบันของ elites เท่านั้น หากยังมีเรื่องสิทธิ-สิทธิทั้งของบุคคลและชุมชนซึ่งสำคัญยิ่งในสังคมเสรีประชาธิปไตย

ทั้งนี้ เพราะหัวใจของระบอบเสรีประชาธิปไตยไม่ควรเป็นเรื่องการแข่งขันแย่งชิงอำนาจกันอย่างเสรีของ elites หากควรเป็นเรื่องของรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด (limited government) โดยถูกจำกัดไว้ด้วยสิทธิพลเมือง (civic rights) เส้นที่ขีดแบ่งระหว่างพื้นที่ภายใต้อำนาจกำกับควบคุมของรัฐบาล กับพื้นที่เสรีภายใต้สิทธิของพลเมืองคือ เส้นกฎหมาย (the rule of law) โดยมีศาลตุลาการอิสระ (independent judiciary) เป็นกรรมการกำกับเส้นไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล่วงละเมิด

ในแง่นี้ตุลาการภิวัตน์ไทยยังมีภารกิจเร่งด่วนสำคัญยิ่งกว่า ในการพิทักษ์ปกป้องไว้ซึ่งสิทธิของพลเมืองทั้งที่เป็นบุคคลและชุมชนตามรัฐธรรมนูญ มิให้อำนาจบาตรใหญ่ของ elites ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ว่าจะเป็นอำนาจทุนหรืออำนาจรัฐ อิทธิพลท้องถิ่น อำนาจระดับชาติหรืออำนาจโลกาภิวัตน์ ข่มเหงรังแกอย่างไม่เป็นธรรมได้ ดังที่ได้ปรากฏคำพิพากษาตัดสินในทิศทางนี้บ้างแล้ว อาทิ

1) คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2546 ในคดีคุณจินตนา แก้วขวา ผู้นำชุมชนหินกรูดกับพวกถูกกล่าวหาว่าละเมิดบริษัท ยูเนี่ยนเพาเวอร์ ดิเวลลอปเมนท์ โดยเข้าขัดขวางงานเลี้ยงของบริษัท บุกรุกเข้าไปในบริเวณงานโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร แล้วนำของโสโครกไปขว้างปาและเทลงบนโต๊ะอาหาร ถังน้ำแข็ง และเวทีจัดงานเลี้ยง อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข ซึ่งอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้สรุปใจความสำคัญไว้ใน "คำพิพากษาคดีจินตนา แก้วขาว", มติชนรายวัน, 24 ต.ค. 2548, น.6 ว่า

คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเริ่มปรารภเหตุของความขัดแย้งระหว่างจำเลยและโรงไฟฟ้า...ว่าฝ่ายผู้ประท้วงคัดค้านการตั้งโรงไฟฟ้า นั้นมีความห่วงใยผลกระทบของโรงไฟฟ้าที่อาจมีต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตการทำมาหากินของชาวบ้านตำบลหินกรูด

ถัดจากนั้นคำพิพากษา...ก็อ้างถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า
ในหมวด 3 มาตรา 39 อันว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น การพูด, การเขียน, การพิมพ์ ฯลฯ โดยคำพิพากษาไม่ลืมประโยคท้ายสุดของวรรคนี้ด้วยคือ "และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น"

นอกจากนี้ คำพิพากษายังอ้างถึงมาตรา 44 วรรคหนึ่ง ที่ให้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ
และมาตรา 46 นั่นก็คือสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการอนุรักษ์จารีตประเพณี, ภูมิปัญญา, ศิลปวัฒนธรรมอันดีและการจัดการ, บำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล

จุดมุ่งหมายที่อ้างรัฐธรรมนูญ ท่านระบุไว้อย่างชัดเจนและงดงามว่า "คดีนี้เกี่ยวข้องกับความมุ่งหมายดังกล่าว (ของรัฐธรรมนูญ) จึงต้องพิจารณาพยานหลักฐานด้วยความละเอียดอ่อน มิให้ผู้หนึ่งผู้ใดหรือคนดีถูกรังแกโดยกลไกทางกฎหมาย"

ประเด็นท้ายสุดของคำพิพากษา คือ การวินิจฉัยข้อเท็จจริง พบว่าคำให้การของพยานโจทก์ขัดแย้งกันเอง...นอกจากนี้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นยังตั้งข้อสงสัยในความเที่ยงแท้ของคำให้การพยานอีกด้วย เช่นพยานทุกปากทำงานหรือได้รับประโยชน์จากบริษัทโรงไฟฟ้าไม่ทางตรงก็ทางอ้อม พยานบางปากยอมรับว่ามีเรื่องขัดแย้งกับคุณจินตนาในเรื่องโรงไฟฟ้า บางปากมีคดีฟ้องร้องอยู่ในศาลด้วยซ้ำ จึงล้วนมีเหตุให้ไม่อาจฟังความได้แน่นอนทั้งสิ้น และด้วยเหตุดังนั้นจึงพิพากษาว่า "พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาทั้งหมดยังไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง"

ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องข้างต้นนี้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2548 โดยพิพากษาลงโทษจำเลยให้จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ขณะนี้คดียังไม่สิ้นสุด อยู่ระหว่างจำเลยยื่นฎีกา

2) คำพิพากษาของศาลปกครองสงขลาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2549 คดีที่นายเจ๊ะเด็น อนันทบริพงศ์ กับพวกซึ่งเป็นเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จังหวัดสงขลา และกระทรวงมหาดไทย ข้อหาละเมิดการปฏิบัติหน้าที่ โดยขัดขวางการชุมนุมและออกคำสั่งให้ใช้กำลังสลายการชุมนุมที่หน้าโรงแรมเจบี หาดใหญ่ เหตุเกิดวันที่ 20 ธ.ค. 2545 โดยรายงานข่าวอ้างอิงคำพิพากษาของศาลว่า (มติชนรายวัน, 2 มิ.ย. 2549, น.1, 13):-

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ 1-24 กับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้บัญญัติรับรองไว้ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวด้วยการสลายการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดได้รับความเสียหายโดยไม่อาจอยู่ชุมนุมต่อไป เพื่อรอยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มาประชุมที่โรงแรมเจบี ถือเป็นการกระทำละเมิดที่มีความร้ายแรงเนื่องจากเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ...

พิพากษาให้สำนักงานตำรจแห่งชาติ (สตช.) จ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ชุมนุมคัดค้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ซึ่งได้รับบาดเจ็บจำนวน 24 ราย รายละ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง โดยให้จ่ายค่าชดเชยภายใน 30 วันนับจากวันที่มีคำพิพากษา และให้ยกฟ้องจังหวัดและกระทรวงมหาดไทยเพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสั่งสลายการชุมนุม

คนตัวเล็กๆ จะมีส่วนได้เสียเต็มที่โดยตรงในตุลาการภิวัตน์ ก็ต่อเมื่อมันเป็นตุลาการภิวัตน์เพื่อภาคประชาชนจากเบื้องล่างเท่านั้น

3. "ระบอบประชาธิปไตยระยะผ่าน"
ในวิชาการเมืองเปรียบเทียบในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่ม "ระบอบประชาธิปไตยระยะผ่าน" (Transitional Democracies) คือผ่านพ้นสภาพ "ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" (Non-Democracies) มาแล้ว แต่การพัฒนาสถาบันการเมืองและโครงสร้างการปกครองที่ดำเนินไปในทิศทางประชาธิปไตย ก็ยังไม่หยั่งลึกมั่นคงพอถึงขนาดจะจัดเป็น "ระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นแล้ว" (Established Democracies) ได้

ตามเกณฑ์การประเมินและจำแนกวัดของ Freedom House (ซึ่งเป็น NGO ในยุคสงครามเย็น ที่หน่วยงานรัฐบาลอเมริกันหนุนหลัง ฉะนั้นจึงมองมุมอเมริกัน รับใช้อเมริกา) มีกลุ่มระบอบประชาธิปไตยระยะผ่านอยู่ 55 ประเทศ หรือราว 25% ของประเทศทั้งหมดในโลก โดยกระจายกันอยู่ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ เอเชีย, ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก, ละตินอเมริกา, และแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราลงไป

ทั้งนี้ จำนวนประเทศในกลุ่มระบอบประชาธิปไตยระยะผ่านเพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำจากเดิมที่มีเพียง 38 ประเทศก็ในช่วง "คลื่นประชาธิปไตยระลอกที่ 3" นับแต่กลางคริสต์ทศวรรษที่ 1970 - คริสต์ทศวรรษที่ 1990 นี่เอง (Samuel P.Huntington, The Third Wave: Democratization in the Late Twentieth Century, 1991)

ซึ่งประสบการณ์การต่อสู้เปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยของไทยเรา จากการลุกขึ้นสู้เผด็จการทหารเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ผ่านการยุติสงครามประชาชนโดยสันติกลางพุทธทศวรรษที่ 2520 มาจนถึงการลุกขึ้นสู้เผด็จการทหารอีกครั้งเมื่อพฤษภาประชาธรรม พ.ศ.2535 ก็นับเนื่องอยู่ในระลอกคลื่นนี้ด้วย

สำหรับบุคลิกลักษณะร่วมของบรรดากลุ่มประเทศระบอบประชาธิปไตยระยะผ่าน มีดังต่อไปนี้คือ

1) ประเทศระบอบประชาธิปไตยระยะผ่านอาจมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง แต่ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะสังคมยึดมั่นค่านิยมประชาธิปไตย หากเป็นเพราะมีผู้นำบุคลิกโดดเด่น - ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงให้ความจงรักภักดีสนับสนุน-สามารถกุมอำนาจได้มั่น ปรับอำนาจบริหารให้สะท้อนบุคลิกส่วนตัว และใช้อำนาจโดยถูกตรวจสอบถ่วงดุลไม่มากนักจากสถาบันต่างๆ ปัจจัยเหนี่ยวรั้งผู้นำไว้จึงมีเพียงสัมพันธภาพทางอำนาจดังที่เป็นอยู่จริง และวาระครองตำแหน่งที่จำกัดเท่านั้น

2) รัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งอาจคุมทหารไม่ได้เด็ดขาด แม่ทัพอาจประกาศสนับสนุนรัฐบาล แต่เอาเข้าจริงกลับพยายามต่อต้านทัดทานไม่ให้รัฐบาลเข้ามายุ่มย่ามในกองทัพ มากำหนดนโยบายความมั่นคง หรือให้นายทหารต้องขึ้นศาลพลเรือนด้วยข้อหาต่างๆ ในทางกลับกัน รัฐบาลเองก็อาจเห็นความสำคัญทางการเมืองของกองทัพ จึงผูกพันธมิตรกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่อย่างออกหน้าออกตา เช่น ชวนกันไปออกก๊วนกอล์ฟ หรือนัดกินข้าวกันส่วนตัวกระหนุงกระหนิง เป็นต้น

3) ชนชั้นนำและพวกพ้องบริวารจากระบอบเผด็จการแต่ก่อน อาจหยั่งรากลึกขุดโค่นยาก ยังผูกขาดอำนาจด้านต่างๆ และคงอิทธิพลต่อไป การเมือง "ประชาธิปไตย" เอาเข้าจริงจึงวนเวียนอยู่เฉพาะแวดวงชนชั้นนำคณาธิปไตยกลุ่มเล็กๆ ที่แผ่เครือข่ายระบอบอุปถัมภ์ครอบคลุมไปทั่ว

4) ประเทศระบอบประชาธิปไตยระยะผ่านส่วนใหญ่ โผล่พ้นเผด็จการมาเมื่อกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1970 นี่เอง เวลาพัฒนายังสั้น ยังขาดแคลนสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงสร้างประชาธิปไตย เนื่องจากมูลเหตุ 2 ประการกล่าวคือ

4.1 มรดกตกค้างทางบุคลากรและแบบแผนการปฏิบัติจากระบอบเก่า ทำให้ต้องหาทางปรับชนชั้นนำอำนาจนิยมเก่าเข้ากับระเบียบประชาธิปไตยใหม่ ขจัดลักษณะอำนาจนิยมที่ตกค้างในการจัดวางนโยบายสาธารณะ เช่น ชอบปิดงำอำพรางข้อมูล ไม่ไว้ใจให้มวลชนเข้าร่วมประชาพิจารณาอย่างเปิดกว้าง คอยปกป้องฝ่ายบริหารจากกลไกเหนี่ยวรั้งจำกัดอำนาจตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

4.2 ผลกระทบจากความสับสนวุ่นวายช่วงเปลี่ยนระบอบ รวมทั้งการต้องจัดระเบียบสถาบันใหม่ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนวัฒนธรรมการเมือง จากอำนาจนิยมไปเป็นประชาธิปไตย

แต่การขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศระบอบประชาธิปไตยระยะผ่านก็ไม่แน่ว่าจะต้องผ่านแน่หรือผ่านสำเร็จ อีกทั้งยังเป็นปัญหาอีกว่าจะผ่านไปสู่อะไร? จำต้องมีระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นแล้ว (แบบตะวันตก) เป็นจุดหมายปลายทางเสมอไปหรือ? ฉะนั้นจึงปรากฏข้อคำนึงประกอบการพิจารณาสู่ทางแนวโน้มของระบอบประชาธิปไตยระยะผ่านดังนี้คือ

- ไม่แน่ว่าระบอบประชาธิปไตยระยะผ่านจะต้องพัฒนาหลุดพ้นเผด็จการอย่างชัดเจนเด็ดขาดไปเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นแล้ว (แบบตะวันตก) เสมอไป

- ระยะผ่านของการพัฒนาประชาธิปไตยมักไม่ราบรื่น, ไม่อัตโนมัติ, ไม่สมบูรณ์แบบ, และเผลอๆ อาจไม่ใช่แค่ชั่วครู่ชั่วคราว

- มันอาจชะงักติดแหง็ก กลายเป็นระบอบที่มีลักษณะพันทาง-เสรีประชาธิปไตยก็ไม่ใช่, อำนาจนิยมแบบปิดก็ไม่เชิง คลุมๆ เครือๆ อยู่นานเลยทีเดียว

- ระบอบประชาธิปไตยระยะผ่าน อาจกลายเป็นรูปแบบการปกครองลงตัวประเภทหนึ่ง ที่มีทั้ง [ประชาธิปไตย]+[ไม่เสรีนิยม] อยู่ในตัว เช่น มีเลือกตั้ง+แต่ก็มีรัฐบาลรวมศูนย์อำนาจนิยมด้วย คล้ายๆ ระบอบทักษิณนั่นเอง

-"ประชาธิปไตย" จึงอาจมีได้หลายแบบ, หลายจุดหมาย, หลายหนทาง ไม่จำต้องเป็นเสรีประชาธิปไตยของตะวันตกแบบเดียว จุดหมายเดียวหนทางเดียวเสมอไป


4. "ประชาธิปไตยรับเหมาทำแทน"
"เชื้อมูลเดียวของประชาธิปไตยในเปรูทุกวันนี้คือ กระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งให้เอกสิทธิ์แก่ชาวเปรูในการเลือกผู้มาเป็นจอมเผด็จการทุกๆ ห้าปี" [เฮอร์นานโด เดอ โซโต กับ ออร์สินี (ค.ศ.1996)]

นอกจากเป็นเจ้าของความคิด "การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน" ในหนังสือ The Mystery of Capital (ค.ศ.2000) ให้ทีมที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ลอกมาทำเป็นนโยบายของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยจนเท่ระเบิดแล้ว เฮอร์นานโด เดอ โซโต ยังมีบทสรุปที่น่าสนใจบางอย่างเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยระยะผ่าน (Transitional Democracy) ในประเทศเปรู ทวีปละตินอเมริกาของเขา ภายใต้ประธานาธิบดีประชานิยมหลอกๆ เสรีนิยมใหม่จริงๆ อัลแบร์โต ฟูจิโมริ (ค.ศ.1990-2000) ผู้กลายเป็นอาชญากรการเมืองลี้ภัยออกนอกประเทศเมื่อสิ้นอำนาจรอให้นานาชาติจับตัวส่งกลับเปรูในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน...

กล่าวคือภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอน ประชาธิปไตยอาจลีบเรียวเหี่ยวลงเหลือแค่เอกสิทธิ์ที่ประชาชนจะเลือกตั้งผู้มาเป็นจอมเผด็จการทุกๆ 4-5 ปีเท่านั้นแหละ! ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น มันก็คือระบอบสฤษดิ์จากการเลือกตั้ง (elected absolutism) ดีๆ นี่เอง!

บทเรียนของนานาประเทศประชาธิปไตยระยะผ่าน ในการพยายามใช้รัฐธรรมนูญกรุยทางให้หลุดพ้นไปจากระบอบเผด็จการแต่เดิมจึงสำคัญพึงพิจารณา กล่าวคือ

เพื่อแตกหักกับเผด็จการและขุดรากถอนโคนมัน จำต้องสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้น นับเป็นขั้นแรกในกระบวนการตั้งมั่นประชาธิปไตย ในทางปฏิบัติที่เป็นจริง มันหมายถึงการวางรากฐานรัฐธรรมนูญแก่ประชาธิปไตย ซึ่งกินความกว้างกว่าแค่การจัดเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม หากรวมทั้งการพยายามเปลี่ยนแบบแผนพฤติกรรมประชาธิปไตยเฉพาะกิจเฉพาะการณ์ช่วงโค่นเผด็จการ (เพื่อโค่นเผด็จการเฉพาะหน้าลง ทำไงก็ได้ เอาไงก็เอากัน ไม่เลือกวิธีการหรือมาตรา...) ไปเป็นแบบแผนพฤติกรรมการแข่งขันและตัดสินใจทางการเมือง-สังคมที่มีมาตรฐานทางการตายตัว (แข่งขันต่อสู้ทางการเมืองกันในกรอบกฎเกณฑ์กติกา รู้แพ้รู้ชนะตามวิถีทางประชาธิปไตย...) จนกลายเป็นวิธีทำงานการเมืองที่ทั้งมวลชนและชนชั้นนำเห็นพ้องยอมรับนับถือและไว้วางใจ

เมื่อมีระเบียบวิธีเป็นกฎกติกาแล้ว ก็ใช้มันกลั่นกรองนักการเมืองเข้าสู่ระบบและสกัดกั้นพวกต่อต้านประชาธิปไตยออกจากแวดวงการเมือง - ซึ่งก็คือบทบาทหน้าที่ของรัฐธรรมนูญนั่นเอง

จะว่าไปแล้ว การใช้รัฐธรรมนูญสร้างประชาธิปไตยด้วยการปฏิรูปการเมือง มีโอกาสสำเร็จพอๆ กับล้มเหลว
หากสำเร็จ ระบอบประชาธิปไตยก็จะตั้งมั่น ดุลอำนาจเชิงสถาบันเปลี่ยนรูปไปในที่สุด สิทธิเสรีภาพของบุคคลและกลุ่มชนได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายอย่างกว้างขวาง โดยศาลตุลาการอิสระตามหลักนิติรัฐ รัฐบาลพลเรือนเข้าควบคุมกองทัพและระบบราชการ ให้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมกลไกกฎหมายเฉพาะต่างๆ ขึ้นมาเพื่อช่วยเสริมกระบวนการสร้างชาติในสังคมหลากหลายชาติพันธุ์-วัฒนธรรม

ในทางกลับกัน หากล้มเหลว ก็ไปไม่ถึงนิติรัฐ ซึ่งมักเกิดจากการที่ปฏิรูปรัฐธรรมนูญกันแบบขอไปที เพียงเพื่อแก้ปัญหาการเผชิญหน้ากันทางการเมืองเฉพาะกิจ รัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นจึงออกแบบมาแย่ ประชาชนบางกลุ่มเท่านั้นสนับสนุน ไม่ได้สถาปนาโครงสร้างและกระบวนการประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งตามมาหลังเปลี่ยนระบอบ การเมืองยังคงแตกเป็นเสี่ยง แข่งกันดุเดือดเลือดพล่าน ไม่คำนึงถึงกรอบกฎเกณฑ์กติกา...

ในภาวะเช่นนี้ ก็มีอันตรายที่ระบอบประชาธิปไตยระยะผ่านจะเสื่อมถอย เปลี่ยนสีแปรธาตุไปกลายเป็นระบอบประชาธิปไตยรับเหมาทำแทน (Delegative Democracy)

จากบทเรียนในแถบละตินอเมริกา ประชาธิปไตยรับเหมาทำแทนเกิดขึ้นเมื่อหัวหน้าฝ่ายบริหารคือ ประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง ใช้อำนาจโดยแทบไม่ถูกตรวจสอบจากรัฐธรรมนูญ ปกครองด้วยอำนาจความนิยมของมหาชน และนำด้วยสไตล์อันเป็นบุคลิกเฉพาะตัว

องค์กรตรวจสอบถ่วงดุลอิสระแนวระนาบทั้งหลาย เช่นรัฐสภาหรือพรรคการเมือง ต่างถูกฝ่ายบริหารมองว่าน่ารำคาญ, กฎกติกา ขั้นตอนวิธีการและผู้นำระดับรองถูกหาว่าเกะกะรุงรัง, สถาบันการเมืองอื่นกลายเป็นอุปสรรคน่าเบื่อ คอยกีดมือขวางเท้าท่านผู้นำไม่ให้บรรลุพันธกิจต่อประชาชนผู้เลือกตนมา, จนท่านผู้นำลุกขึ้นมารับเหมาประชาธิปไตยไปแก้ไขทำใหม่แทนเอง ...ก่อนจะนำไปสู่จุดจบอันน่าอเนจอนาถสำหรับจอมเผด็จการจากการเลือกตั้งผู้รับเหมาประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยรับเหมาทำแทนของประธานาธิบดี อัลแบร์โต ฟูจิโมริ (ค.ศ.1990-2000)
- ค.ศ.1938 อัลแบร์โต ฟูจิโมริ เกิดที่เมืองลิมา ประเทศเปรู ในครอบครัวชาวญี่ปุ่นอพยพ

- ค.ศ.1961 จบปริญญาตรีวิศวกรรมด้านพืชกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งชาติ ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยสตราส์บูร์ก ฝรั่งเศส

- ค.ศ.1984-89 เข้าสอนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งชาติเปรู ขึ้นเป็นอธิการบดี

- ค.ศ.1988-89 พิธีกรรายการทีวี Concertando ("ร่วมด้วยช่วยกัน") ซึ่งจับประเด็นสิ่งแวดล้อมและการเกษตร

- ค.ศ.1989 ท่ามกลางปัญหาการก่อการร้ายและเงินเฟ้อไฮเปอร์ในประเทศ ฟูจิโมริตั้งพรรคใหม่ชื่อ Cambio 90 (พรรคการเปลี่ยนแปลง 90) และลงแข่งเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเน้นหาเสียงมวลชนรากหญ้าด้วยแนวทางประชานิยม ขายความเป็นลูกหลานญี่ปุ่น และวิจารณ์โจมตีนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีการช็อค (shock therapy) ของคู่แข่ง

- ค.ศ.1990 ฟูจิโมริชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนนเสียง 56.5% ทว่าชั่วสองสัปดาห์หลังรับตำแหน่ง เขาก็เดินนโยบายรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงแบบที่ตนเคยวิจารณ์เสียเอง รวมทั้งขึ้นราคาน้ำมันถึง 3,000% ผลของนโยบายเศรษฐกิจ "ฟูจิช็อค" (Fujishock) ช่วยขจัดปัญหาเงินเฟ้อหายวับไปแต่ก็ทำให้คนถูกปลดจากงานมากมาย และคนจนเดือดร้อนแสนสาหัส

- ค.ศ.1992 เนื่องจากหงุดหงิดที่สภาผู้แทนราษฎรไม่ค่อยสนับสนุนนโยบายต่างๆ ของเขา ประธานาธิบดีฟูจิโมริจึง "รัฐประหารตัวเอง" (autogolpe) โดยทหารให้การหนุนหลัง เขาประกาศภาวะฉุกเฉิน ยุบสภา และจัดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งประกาศใช้ในปีถัดมา

- ค.ศ.1993-95 พันธมิตรของประธานาธิบดีฟูจิโมริชนะเลือกตั้ง ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ทำให้ฟูจิโมริปกครองได้โดยแทบไม่มีใครค้าน ในด้านเศรษฐกิจ เขาเดินนโยบายเสรีนิยมใหม่ เช่น แปรรูปเหมืองแร่และกิจการสาธารณูปโภคของรัฐให้กลายเป็นของเอกชน ในด้านความมั่นคง รัฐบาลฟูจิโมริรณรงค์ปราบปรามผู้ก่อการร้ายด้วยแนวทางสายเหยี่ยว รวมทั้งติดอาวุธชาวบ้านและตั้งศาลทหารลับไต่สวนผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้าย ผลงานสำคัญคือจับอาบิมาเอล กุสมาน เรย์โนโซ ผู้นำขบวนการจรยุทธ์เหมาอิสต์ทางสว่าง (Sendero Luminoso) ได้ในปี ค.ศ.1992 และลุยยึดบ้านพักเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นพร้อมทั้งปลดปล่อยตัวประกันหลายสิบคนกลางกรุงลิมาคืน จากกลุ่มผู้ก่อการร้ายขบวนการปฏิวัติทูปัคอมารูในปี ค.ศ.1997

- ค.ศ.1995 ฟูจิโมริถูกนางซูซานา ฮิกูชิ ภรรยาตัวเองประณามเปิดโปงว่าทุจริตและเผด็จการ นางซูซานายังพยายามลงสมัครเลือกตั้งแข่งกับสามี แต่ถูกกฎหมายที่สามีเป็นคนออกเองขัดขวาง (กฎหมายห้ามญาติสนิทของประธานาธิบดีชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเอง) ฟูจิโมริแก้เผ็ดภรรยาโดยแต่งตั้งลูกสาวคนโตเป็นท่านผู้หญิงอันดับหนึ่งของประเทศแทน และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีครั้งที่สองจนชนะไปด้วยคะแนนเสียงถึง 64%

- ค.ศ.1994-2000 ในสมัยที่สองของตำแหน่งประธานาธิบดี รัฐบาลฟูจิโมยิ่งเหิมเกริมทุจริตฉ้อฉลมากขึ้น นายวลาดิมิโร มอนเตสิโนส หัวหน้าตำรวจสันติบาลและที่ปรึกษาคนสนิทของฟูจิโมริ เพิ่มอิทธิพลของตนในกองทัพและส่งตำรวจสันติบาลแทรกซึมพรรคฝ่ายค้าน ติดสินบนสมาชิกสภาผู้แทนฯ และเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ปิดปากสื่อมวลชน ยักยอกและผันงบประมาณรัฐบาลไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ละเมิดสิทธิมนุษยชน จับคนด้วยกฎเถื่อนและเอาคนไปทรมาน ประธานาธิบดีฟูจิโมริถูกหาว่าสมรู้ร่วมคิด และช่วยทำลายหลักฐานการกระทำผิดเหล่านี้ของลูกน้องคนสนิทด้วย

- ค.ศ.2000 ฟูจิโมริประกาศลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สาม เมื่อคณะผู้พิพากษาศาลฎีกาตัดสินว่าเขาไม่มีสิทธิสมัครแข่งขันเป็นสมัยที่สามอีก เพราะผิดรัฐธรรมนูญ เขาก็สั่งปลดผู้พิพากษาเหล่านั้นออกจากตำแหน่ง คู่แข่งประธานาธิบดีของเขาประกาศถอนตัวจากการแข่งขัน โดยชี้ว่ามีการโกงเลือกตั้ง ฟูจิโมริจึงชนะเลือกตั้งโดยไม่มีคู่แข่ง แต่ก็ถูกประชาชนชาวเปรูและนานาชาติรวมทั้งรัฐบาลอเมริกัน และองค์การรัฐอเมริกันประณาม

มีการเปิดเผยภาพวิดีโอนายมอนเตสิโนส จ่ายเงินติดสินบนให้สมาชิกสภาผู้แทนฯรายหนึ่งปลายปีนั้น ทำให้รัฐบาลของฟูจิโมริล่มสลายลงท่ามกลางเสียงกล่าวหาว่า เขาทุจริตคอร์รัปชั่น เขาเผ่นหนีออกจากเปรูมาโผล่ยังญี่ปุ่นพร้อมทั้งประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ทว่าสภาผู้แทนฯเปรูไม่ยอมรับคำประกาศลาออกของเขา และยืนกรานลงมติไล่เขาออกจากตำแหน่งด้วยข้อหา "ศีลธรรมบกพร่อง" แทน

ฟูจิโมริลี้ภัยการเมืองอยู่ในญี่ปุ่นหลายปีและล่าสุดมาถูกจับตัวได้ที่ประเทศชิลี รอการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังเปรูตามคำขอของรัฐบาล

 

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 980 เรื่อง หนากว่า 16000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 


 

H
R
ในวิชาการเมืองเปรียบเทียบในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่ม "ระบอบประชาธิปไตยระยะผ่าน" (Transitional Democracies) คือผ่านพ้นสภาพ "ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" (Non-Democracies) มาแล้ว แต่การพัฒนาสถาบันการเมืองและโครงสร้างการปกครองที่ดำเนินไปในทิศทางประชาธิปไตย ก็ยังไม่หยั่งลึกมั่นคงพอถึงขนาดจะจัดเป็น "ระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นแล้ว" (Established Democracies) ได้