Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

ปรัชญาการเมืองของ Giorgio Agamben
Giorgio Agamben: ว่าด้วยชีวิตเปลือยเปล่าและองค์อธิปัตย์
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมายเหตุ : บทความวิชาการเกี่ยวกับปรัชญาการเมืองนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์ที่ถูกทำให้เป็นชีวิตเปลือยเปล่า หรือชีวิตที่ปราศจากการคุ้มครอง
และเรื่องของอำนาจองค์อธิปปัตย์ที่อยู่เหนือกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากบทความชิ้นนี้มีความยาวพอสมควร จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ ตอน
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 982
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 14.5 หน้ากระดาษ A4)



ความคิดทางการเมืองของ Giorgio Agamben: ตอน ๑
ว่าด้วย ชีวิตที่เปลือยเปล่า องค์อธิปัตย์ในสภาวะสมัยใหม่ และการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ : นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความนำ
แม้ว่า Giorgio Agamben (1940 - ) นักปรัชญาการเมืองชาวอิตาเลียนผู้มีชื่อเสียงคนนี้จะไม่เป็นที่รู้จักมากนักในวงวิชาการไทย แต่นับได้ว่า Agamben นั้นเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆในโลกปรัชญาการเมืองตะวันตก โดยเฉพาะหลังจากที่เขาออกหนังสือเล่มสำคัญเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า Homo Sacer(3) ในปี 1995 ในภาษาอิตาเลียน และได้รับการแปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษในปี 1998 ชื่อของ Agamben ก็ได้เข้ามาสู่การรับรู้ของโลกภาษาอังกฤษอย่างเต็มตัว มีงานจำนวนมากที่อ้างถึงชื่อของ Agamben และหนังสือของเขา (4) ไม่เว้นแม้แต่งานที่ถูกขนานนามว่าเป็น แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 21 เช่น Empire (5) และ Multitude (6) ของ Michael Hardt และ Antonio Negri ก็จำต้องมีบทสนทนาต่องานชิ้นนี้ของ Agamben

ความคิดของ Agamben เองก็เช่นเดียวกับความคิดของคนอื่น ก็คือ ได้รับอิทธิพลมาจากนักคิดที่มีมาก่อน โดยเฉพาะ Agamben นั้นมีความชัดเจนมากในงานแทบทุกงานของเขา จนถึงงานชิ้นล่าสุด คือ State of Exception (7) ที่ออกมาสู่โลกภาษาอังกฤษในปี 2005 ก็มีการอ้างอิงถึงนักปรัชญาคนสำคัญคนหนึ่ง คือ Carl Schmitt (8) นักปรัชญาเยอรมันผู้ที่ความคิดของเขากลับมาสู่โลกทางปรัชญาอีกครั้ง หลังจากที่กลายเป็นบุคคลต้องห้ามอันเนื่องมาจากสนับสนุนลัทธินาซีในช่วงสงครามโลก นอกจากนั้นความคิดของ Agamben ยังได้รับอิทธิพลจากนักปรัชญาคนสำคัญอีกจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Michel Foucault, Hannah Arendt (9), Martin Heidegger, Walter Benjamin, Gilles Deleuze และ Jean-Luc Nancy เป็นต้น

โครงการทางปรัชญาของ Agamben นั้นมีเป้าหมายที่เฉพาะคือ การทำความเข้าใจชีวิต โดยเฉพาะชีวิตของมนุษย์ที่อยู่ในสภาวะสมัยใหม่ ในฐานะที่สัมพันธ์กับความเป็นการเมือง และอำนาจอธิปัตย์อย่างแยกไม่ออก เพื่อที่จะหาคำอธิบายมาตอบโต้กับการใช้อำนาจที่เต็มไปด้วยความรุนแรงของรัฐสมัยใหม่ โดยศึกษาการทำงานของอำนาจอธิปัตย์ที่มีต่อชีวิตมนุษย์ (10) ผ่านการศึกษา กฎหมายโรมัน ค่ายกักกันชาวยิวของนาซี ค่ายผู้ลี้ภัย การใช้ความรู้ (ซึ่งเท่ากับอำนาจ ในความหมายของ Foucault) ทางการแพทย์ในการตัดสินความเป็นความตายของชีวิต หรือแม้แต่การใช้อำนาจของอธิปัตย์ผ่านการตรวจตราคนเข้าเมืองในสนามบิน เป็นต้น ซึ่งถ้ามองในแง่นี้งานของเขาก็มีลักษณะเป็นงานทางประวัติศาสตร์อยู่มาก

แต่กระนั้นก็ดี Agamben กล่าวถึงงานของเขาเองว่า เขาไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แม้เขาจะใช้ตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ในการเดินเรื่องทางปรัชญาของเขา ประวัติศาสตร์ในงานของเขาจึงเป็นเพียง การเทียบเคียง หรือ metaphor เพื่อทำความเข้าใจ กระบวนทัศน์ของการเมือง และเรื่องเกี่ยวกับการเมือง (11) โดยเฉพาะการเมืองสมัยใหม่มากกว่าที่จะเป็นงานทางประวัติศาสตร์โดยตัวมันเอง

ดังที่ Agamben กล่าวว่า ความเป็นปรัชญานั้นไม่ได้จำกัดตัวอยู่ที่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเฉพาะ ปรัชญาไม่ได้ถูกจำกัดด้วยพรมแดน แต่ปรัชญานั้นสามารถอยู่ใน วรรณกรรม ศิลปะ เทววิทยา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ โครงการศึกษาทางปรัชญาของ Agamben จึงเป็นการทำความเข้าใจ ชุดของปัญหาบางอย่าง และกระบวนทัศน์ชุดหนึ่งผ่านการศึกษาตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ผ่านพื้นที่ต่างๆ ที่ดูเหมือนไม่ใช่ปรัชญาในสายตาของคนทั่วไปดังที่กล่าวมาแล้ว (12)

สำหรับ Agamben นั้น กระบวนทัศน์ มีความหมายแตกต่างไปจากที่เราเข้าใจตามแบบที่ Thomas Kuhn กล่าวไว้ กระบวนทัศน์ในความคิดของ Agamben มีความหมายถึง ตัวอย่าง หรือ example ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ และการศึกษาตัวอย่างก็เพื่อให้เราสามารถสร้างตัวแบบจำลองของพฤติกรรม หรือปรากฏการณ์ที่เกิดซ้ำๆ นั้นได้ เช่น "ชีวิตที่เปลือยเปล่า" (homo sacer) ในฐานะที่เป็นตัวแบบอันหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่ออธิบายในงานของเขา เป็นต้น

ในแง่นี้ Agamben จงใจใช้คำว่า กระบวนทัศน์ ซึ่งโดยตัวมันเองต่อต้านการอธิบายแบบข้ามพ้นความจริงในเชิงประจักษ์ (transcendental) โดย Agamben ย้ำว่า เป้าหมายของเขานั้นคือการแสวงหา ตรรกะ ของตัวอย่างที่ยกมา ซึ่งไม่ใช่การหากฎสากลทั่วไปเพื่ออธิบายทุกปรากฏการณ์แบบกฎทางวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับที่ Foucault สร้างตัวแบบ panopticon ขึ้นมาเพื่ออธิบายการทำงานของอำนาจแบบชีวญาณในคุกของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งนอกจากที่ panopticon จะเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์แล้ว มันยังเป็นชุดของความคิดหรือกระบวนทัศน์ชุดหนึ่ง หรือ panopticism พร้อมกันด้วย ตัวแบบนี้ทำหน้าที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง อำนาจ กับ ชีวิต ผ่านคุกที่ควบคุมด้วยตรรกะหรือความสัมพันธ์ชุดหนึ่ง ด้วยวิธีการนี้เองที่ในความเห็นของ Agamben เป็นสิ่งที่แยก Foucault ในฐานะที่เป็นนักปรัชญา ออกจากการเป็นนักประวัติศาสตร์ เฉกเช่นเดียวกับเขาที่ปฏิเสธความเป็นนักประวัติศาสตร์ แต่เขายอมรับว่ากำลังทำงานทางปรัชญาผ่านการทำความเข้าใจตัวอย่าง หรือกระบวนทัศน์ในประวัติศาสตร์มากกว่า (13)

ตัวอย่าง หรือ ตัวแบบ สำคัญๆที่ถูกนำเสนอในงานของ Agamben คือ ชีวิตที่เปลือยเปล่า (14) หรือ bare life สภาวะพิเศษ (state of exception) ค่าย (camp) และ พื้นที่ที่ไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ (zone of indistinction) รูปแบบของชีวิต (form-of-life) สภาพต้องห้าม (the ban/abandonment) โดยตัวแบบเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยึดโยงการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ชีวิต และอำนาจอธิปัตย์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการเดินทางทางปัญญาของเขา ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

ชีวิตที่เปลือยเปล่า (bare life)
Agamben กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการทางปรัชญาของเขาคือ การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ชีวิต และ อำนาจอธิปัตย์ ในสภาวะสมัยใหม่ ดังนั้นการศึกษาว่า ชีวิต คืออะไร และถูกนิยามได้อย่างไรบ้างจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดย Agamben เริ่มต้นงานของเขาด้วยการนิยามคำว่า "ชีวิต" อันหยิบยืมมาจากความคิดทางปรัชญาตะวันตกคลาสลิคของ อริสโตเติล ว่า ชีวิต (life) สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

- zoe หรือชีวิตที่อยู่ในสภาวธรรมชาติ เป็นชีวิตทั่วๆไป เช่น สัตว์ คน พระเจ้า ไม่ได้สัมพันธ์กับการเมืองหรือรูปแบบทางการเมือง
- bios ซึ่งหมายถึงชีวิตที่มีรูปแบบ เป็นชีวิตทางการเมือง เช่น ปัจเจก กลุ่ม ซึ่งหลุดพ้นจากสภาวธรรมชาติแบบ zoe อริสโตเติลมองว่า ชีวิตแบบนี้จะนำไปสู่การสร้างสังคมการเมืองในอุดมคติ รัฐที่ดีจึงต้องเป็นรัฐที่ประกอบด้วยชีวิตที่มีคุณภาพ อันหมายถึง bios ซึ่งมีรูปแบบที่สัมพันธ์กับสังคมและรัฐที่เขาอาศัยอยู่ (15)

zoe ซึ่งหมายถึง ชีวิตตามธรรมชาติ หรือ ชีวิตในสภาวะธรรมชาติกลายเป็นสิ่งที่ถูกรังเกียจอย่างมากจากโลกตะวันตก (16) ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงแนวคิดเสรีนิยมในปัจจุบัน ดังที่เราจะเห็นได้จากความคิดของ Hobbes หรือแม้แต่ Locke ที่เป็นรากฐานให้แก่แนวคิดเสรีนิยมในปัจจุบันนั้นเสนอว่า มนุษย์จำต้องหลุดพ้นจากสภาวะธรรมชาติมาสู่การสร้างสังคมการเมือง เป็นต้น

Agamben นั้นยอมรับการแบ่งชีวิตของอริสโตเติล แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เนื่องมาจาก Agamben มองว่า เอาเข้าจริงชีวิตที่ถูกแบ่งเป็นสองประเภทนี้กลับแยกกันไม่ออก โดยเฉพาะการหยิบยืมคำอธิบายจาก Foucault เรื่อง การเมืองชีวญาณ (biopolitics) ซึ่งไม่ใช่การเมืองที่มีแต่ชีวิตที่มีคุณภาพหรือชีวิตทางการเมืองแบบอริสโตเติลเท่านั้น แต่เป็นการเมืองที่รวมเอาชีวิตตามธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองด้วย เช่น การที่รัฐสมัยใหม่ให้ความสนใจต่อ สุขภาพที่ดีของประชากร (17) รัฐสมัยใหม่ที่เข้ามายุ่งกับชีวิตประจำวัน หรือชีวิตที่เป็นส่วนตัว (private life) นั้นเป็นอำนาจที่ควบคุมชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย จนถึงกระทั่งการมีอำนาจที่จะสามารถปกป้องชีวิต หรือ แม้แต่ประหารชีวิตก็ได้ อำนาจอธิปัตย์ จึงอยู่เหนือและทำหน้าที่ตัดสินให้มีชีวิตและให้ตายได้พร้อมๆ กัน (18)

Hannah Arendt เป็นอีกคนที่ Agamben (19) อ้างถึงโดย Arendt กล่าวว่า รัฐสมัยใหม่นั้นเป็นรัฐที่ยุ่งย่ามกับชีวิตส่วนตัวมากที่สุด และดังที่ Karl Lowith กล่าวว่า อำนาจรัฐสมัยใหม่ คือ การผนวกทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ชีวิตส่วนตัวให้เข้ามาอยู่ในปริมณฑลทางการเมือง (politicization of everything) (20) ดังนั้นสำหรับ Agamben การแยกชีวิตตามธรรมชาติออกจากชีวิตทางการเมืองจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในโลกแห่งความเป็นจริง

ในแง่นี้เส้นแบ่งระหว่าง ชีวิตตามธรรมชาติ/ชีวิตทางการเมือง, พื้นที่ส่วนตัว/พื้นที่สาธารณะ จึงเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง ดังที่ Agamben เรียกว่า พื้นที่ที่ไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ (zone of indistinction) (21) และที่ Hardt และ Negri กล่าวถึงพื้นที่ในลักษณะนี้ว่า ไม่มีสิ่งใดที่อยู่ "ข้างนอก" อำนาจของอธิปัตย์แบบนี้(แบบ empire) ทุกสิ่งถูกผนวกเข้ามา "ข้างใน" เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ข้างใน และไม่มีอะไรอยู่ข้างนอก การแบ่งข้างนอก/ข้างในจึงไม่มีความหมายอีกต่อไป (22)

"อำนาจ" ของรัฐสมัยใหม่ที่ Agamben ได้ยืมความคิดเรื่อง อำนาจชีวญาณ (biopower)(23) ของ Foucault มาอธิบายเป็นอำนาจที่ทะลุทะลวงเข้าไปในซับเจค (subject) (24) ทั้งที่ผนวกคนทุกคนเข้ามา (totalization) และสร้างความเป็นปัจเจก (individualization) ให้แก่ซับเจคแต่ละคนพร้อมๆกัน (25) ชีวิตที่ถูกทะลุทะลวง และขึ้นกับอำนาจภายนอกเช่นนี้จึงไม่มีความแน่นอนโดยตัวของมันเอง เป็นชีวิตที่ไม่สามารถกำหนดการตายและการมีชีวิตอยู่ของตัวเองได้ หรือที่ Agamben เรียกว่า ชีวิตที่เปลือยเปล่า (bare life) ซึ่งเป็นผลผลิตของอำนาจแบบชีวญาณที่ถูกใช้โดยอำนาจขององค์อธิปัตย์ ซึ่งหากความชอบธรรมโดยรวมของรัฐสมัยใหม่หรือรัฐประชาชาตินั้น วางอยู่บนการอ้างอิงอำนาจจากประชาชน (popular sovereignty) แล้ว การควบคุมสอดส่องประชาชน และการสร้างชีวิตที่เปลือยเปล่าโดยตัวมันเองบนชีวิตของคนในรัฐจึงกลายเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่สุดของอำนาจอธิปัตย์ (26)

ชีวิตที่เปลือยเปล่านั้นได้กลายเป็นชีวิตที่น่ารังเกียจ และไม่ควรอยู่ร่วมกับชีวิตที่มีคุณค่าหรือชีวิตทางการเมือง ดังที่อริสโตเติลกล่าวไว้ว่าใน polis นั้นจะมีก็แต่ ชีวิตที่ดี ไม่ใช่ ชีวิตของคนป่า หรือ ชีวิตตามธรรมชาติ กระนั้นก็ดี Agamben เองก็ไม่ค่อยเห็นด้วยนักกับการมองว่าชีวิตที่เปลือยเปล่าอยู่ "ข้างนอก" แต่ในทางกลับกัน ชีวิตที่เปลือยเปล่า ไม่ใช่ชีวิตที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง หากเป็นชีวิตที่เกี่ยวพันกับการเมืองและสัมพันธ์กับอำนาจของอธิปัตย์อย่างถึงที่สุด ผ่านการที่องค์อธิปัตย์ขับไล่หรือเบียดขับชีวิตแบบนี้ออกไปจากปริมณฑลของการเมืองปกติ ไปสู่ ปริมณฑลของสภาวะพิเศษ (state of exception) (27) ความเป็นข้างนอก(หรือแม้แต่ข้างใน)จึงถูกสร้างขึ้นผ่านอำนาจขององค์อธิปัตย์ มากกว่าที่จะเป็นไปเองโดยธรรมชาติ ซึ่งจะพูดถึงในรายละเอียดต่อไป

ปัญหาก็คือ เอาเข้าจริงแล้ว ชีวิตที่เปลือยเปลือยเปล่าจะถือว่าเป็นเรื่องการเมืองและสัมพันธ์กับอำนาจทางการเมืองได้อย่างไร เมื่อไม่ได้อยู่ในการเมืองแบบปกติ หรือพื้นที่ทางการเมืองแบบปกติทั่วไป หากเราพิจารณาประเด็นนี้เราจะพบว่า มโนทัศน์ว่าด้วย "การเมือง" (politics) และ "เกี่ยวกับการเมือง" (political) จะเป็นเครื่องมือสำคัญโดยการชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เราเรียกว่าอำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะอำนาจขององค์อธิปัตย์นั้นมิได้ถูกจำกัดที่การเมืองที่อิงกับสถาบันหรือที่มักจะถูกเรียกว่า การเมืองปกติ เช่น กฎหมาย รัฐบาล หรือรัฐสภา แต่เพียงอย่างเดียว หากอำนาจของรัฐ และอำนาจทางการเมืองอื่นๆ ก็มีอยู่และทำงานอยู่ตลอดเวลาในพื้นที่ต่างๆ

เช่น อำนาจของความรู้ทางการแพทย์ อำนาจในการตรวจคนเข้าเมือง อำนาจในการควบคุมสอดส่องผ่านการบันทึกข้อมูลของประชากรผ่านบัตรประชาชน เป็นต้น เราจึงเรียกพื้นที่ของการทำงานของอำนาจในลักษณะนี้ว่า "เกี่ยวกับการเมือง" ที่มีความหมายครอบคลุมกว่าคำว่า "การเมือง" ที่ถูกใช้โดยรัฐศาสตร์กระแสหลักทั่วไป ซึ่งหากมองในแง่นี้จะพบว่า เอาเข้าจริงชีวิตที่เปลือยเปล่านั้นมิได้อยู่ข้างนอก "ความเป็นการเมือง" หากเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่สุดที่จะกำหนดขอบเขต และนิยามของสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะการแบ่งแยกว่าใครคือชีวิตที่เปลือยเปล่า และใครคือชีวิตทางการเมืองอย่างถึงที่สุดนั่นเอง

ดังนั้นสำหรับ Agamben ชีวิตที่เปลือยเปล่านั้น ดูเสมือนว่าอยู่ข้างนอก แต่ก็ไม่ได้อยู่ข้างนอก เป็นชีวิตที่อยู่ "ระหว่าง" (threshold) ข้างใน และ ข้างนอก เป็นสภาพที่เส้นแบ่งระหว่างข้างในและข้างนอกไม่มีความชัดเจน แม้จะถูกเบียดขับ (exclusion) แต่ก็เป็นการเบียดขับในลักษณะที่ดึงเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจที่กำหนดว่าใครควรถูกเบียดขับ แม้แต่การดึงเข้ามาเพื่อที่จะฆ่าได้ (to be included to be killed) (28) มากกว่าที่อยู่อิสระจากอำนาจทางการเมือง ด้วยมโนทัศน์ที่เรียกว่า inclusive exclusion (29) การทำงานขององค์อธิปัตย์จึงไม่จำกัดตัวอยู่ที่การเมืองแบบปกติเท่านั้น หากการสร้างพื้นที่ หรือ สภาวะพิเศษ ที่ไม่ใช่สภาวะปกติก็เป็นการใช้อำนาจแบบหนึ่งขององค์อธิปัตย์เช่นกัน

หัวใจของความเป็นการเมืองของโลกตะวันตกในทัศนะของ Agamben จึงไม่ใช่เรื่องของการแยกมิตรกับศัตรู แบบที่ Schmitt เสนอ หากเป็นเรื่องของการลากเส้นแบ่งความเป็น ชีวิตที่เปลือยเปล่า ออกจาก ชีวิตที่มีคุณค่า มากกว่า (30) มิตรหรือศัตรูจึงเป็นผลจากการลากเส้นแบ่งเสียใหม่ว่าใครคือ ชีวิตที่มีคุณค่า หรือ ชีวิตที่เปลือยเปล่า (31)

ตัวอย่างที่ Agamben ยกมา คือ ในกฎหมายของโรมันระบุไว้ว่า ชีวิตที่เปลือยเปล่า หรือ homo sacer ในภาษาลาตินนั้น คือ คนที่ถูกตัดสินว่าทำความผิด และไม่มีความจำเป็นต้องเคารพบุคคลนั้น (ในฐานะมนุษย์) จึงเป็นคนที่ใครๆ ก็สามารถฆ่าคนๆ นี้ได้โดยไม่มีความผิด (32) ในที่นี้กฎหมายจึงทำหน้าที่รับรองให้ฆ่าได้โดยคนที่ฆ่าจะไม่ถูกลงโทษ (unpunishability) (33)

ความสัมพันธ์ระหว่าง กฎหมาย กับ ชีวิต จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ Agamben เรียกว่า การให้สภาพต้องห้าม (the ban/abandonment) (34) แก่ชีวิต ด้วยการที่องค์อธิปัตย์สามารถขับไล่หรือทำลายความเป็นพลเมืองของคนๆนั้นได้ ในภาษาลาตินนั้น คำว่า sacer หมายถึง การห้าม/สภาพต้องห้าม (taboo) ดังนั้น homo sacer จึงหมายถึง บุคคลต้องห้าม ได้รับการยกเว้น เป็นบุคคลอันตราย ถ้าไม่เป็นโรคร้ายแรง ก็เป็นโจร หรือไม่ก็เป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ บุคคลต้องห้ามเช่นนี้จึงไม่ควรอยู่ในกฎเกณฑ์ปกติ แต่ควรถูกลากเส้นแบ่งให้เห็นได้ว่า ไม่ใช่บุคคลปกติ ไม่ว่าจะอยู่สูงกว่า หรือ ต่ำกว่าความเป็นมนุษย์ก็ตาม

ชีวิตที่เปลือยเปล่านั้นถูกดึงเข้ามาสู่อำนาจอย่างเต็มที่ โดยการที่กฎหมายอนุญาตให้ใครก็ได้สามารถฆ่าได้โดยไม่มีความผิด หรือไม่สามารถเอาผิดกับคนที่ฆ่าคนเหล่านี้ได้ ซึ่งแตกต่างกับการฆ่าพลเมือง (citizen) ที่ถูกรับรองและปกป้องโดยอำนาจทางการเมืองของรัฐ ที่ถ้าใครละเมิดชีวิตของพลเมืองก็เท่ากับว่าละเมิดกฎหมาย และจะต้องถูกลงโทษจากกฎหมายในข้อหาฆ่าคนตาย

แต่ชีวิตที่เปลือยเปล่า เช่น ผู้ก่อการร้าย คนจน ขอทาน คอมมิวนิสต์ แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย ชาวยิวในค่ายนาซี หรือแม้แต่ ผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนที่ตายในเหตุการณ์กรือเซะ และตากใบ นั้นเป็นชีวิตที่อำนาจอธิปัตย์สามารถฆ่าได้โดยไม่มีความผิด หรือไม่ต้องรับผิดชอบ ชีวิตที่เปลือยเปล่าเช่นนี้ไม่ได้อยู่นอกกฏหมาย แต่ถูกดึงเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายในฐานะที่เป็น "พิเศษ" หรือ "ข้อยกเว้น" (exception) ที่เสมือนอยู่ภายนอกกฎเกณฑ์แต่ก็อยู่ในกฎเกณฑ์พร้อมๆ กัน

ชีวิตที่เปลือยเปล่าจึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดตามธรรมชาติ แต่เป็นชีวิตที่ถูกสร้างขึ้น เป็นผลผลิตของอำนาจชุดหนึ่งในสังคม และอยู่ภายใต้บริบททางประวัติศาสตร์บางอย่าง "ความเปลือยเปล่า" จึงไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่ต้องได้รับการรับรองจากอำนาจที่ทำงานผ่านสถาบันหรือกลไกบางอย่างเสมอ (36)

ตัวอย่างที่ดีที่สุด คือ รัฐประชาชาติ ในปัจจุบันที่พูดถึงการปกป้อง "สิทธิ" ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน เสรีภาพ และร่างกาย ของพลเมืองในรัฐ การปกป้องสิทธิดังกล่าวนั้นไม่ได้หมายความถึงมนุษย์ทุกคนบนโลก แต่เป็นมนุษย์ที่เป็นพลเมืองเท่านั้น ที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองโดยรัฐ โดยเฉพาะรัฐประชาชาติที่อิงอยู่กับ "ความเป็นชาติ" นั้น พลเมืองจึงไม่ใช่ คนอื่น หรือ "ชาติอื่น" ดังนั้นเราจะเห็นการรังเกียจ และทำราวกับแรงงานข้ามชาติไม่ใช่มนุษย์ เพียงเพราะไม่มีสัญชาติที่แสดงความเป็นพลเมืองภายใต้กรอบรัฐประชาชาติปัจจุบัน หรือแม้แต่เราจะเห็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลในโคโซโว และในหลายๆประเทศในอัฟริกา เป็นต้น

ในแง่นี้แนวคิดเรื่อง "สิทธิมนุษยชน" (37) ในโลกสมัยใหม่นั้นจึงมีข้อจำกัดโดยตัวมันเองที่แยกระหว่าง ความเป็นมนุษย์ ออกจาก ความเป็นพลเมือง คือ ใครที่จะมีความเป็นมนุษย์ได้นั้นต้องมีความเป็นพลเมืองก่อนเสมอ ชีวิตที่เปลือยเปล่าทั้งที่ไม่มีสถานะเป็นพลเมือง หรือทั้งที่เข้ามาอยู่ในชุมชนทางการเมืองในสถานะพลเมือง จึงไม่มีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์โดยตัวเอง แต่ความเป็นมนุษย์ในสายตาของรัฐประชาชาติหรือสภาวะสมัยใหม่นั้น เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการรับรองจากรัฐ สถานภาพแบบนี้จึงมีลักษณะที่เป็นสัตว์ก็ไม่ใช่ มนุษย์ก็ไม่เชิง แต่เป็นส่วนผสมของทั้งมนุษย์และสัตว์ (38)

หรือที่ Agamben เรียกว่า เป็น มนุษย์หมาป่า (wolfman) ในตำนานที่มีสถานะเป็นกึ่งสัตว์กึ่งมนุษย์ อยู่ในสังคมมนุษย์ไม่ได้ แต่ก็อยู่ในป่าไม่ได้ และใครก็ตามที่ฆ่ามนุษย์หมาป่า ก็จะไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด (39) อำนาจที่กระทำต่อมนุษย์หมาป่าจึงเป็นอำนาจทางการเมือง แต่ไม่ใช่อำนาจทางการเมืองที่ทำงานในสภาวะปกติ แต่เป็นอำนาจที่มีลักษณะพิเศษที่ทำราวกับมนุษย์หมาป่าไม่มีความเป็นมนุษย์โดยสิ้นเชิง

ชีวิตที่จะถูกทำให้กลายเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าได้นั้น ต้องถูกทำให้สัมพันธ์กับการเมือง หรือ กลายเป็นชีวิตทางการเมืองเสียก่อน เช่น ถ้ารัฐจะทำลายความเป็นพลเมืองของใครคนใดคนหนึ่ง ก็หมายความว่าคนๆนั้นต้องมีความเป็นพลเมืองเสียก่อน ถึงจะทำลายได้ ชีวิตที่ถูกทำให้กลายเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าจึงเป็นชีวิตทางการเมือง หรือตามแนวคิดของ Thomas Hobbes ที่มองว่า คนทุกคนสละอำนาจของตัวเองให้แก่องค์อธิปัตย์ แม้ว่าองค์อธิปัตย์จะใช้ความรุนแรงหรือเป็นเผด็จการก็ยังดีกว่าการที่อยู่ในสภาพที่ไม่มีอำนาจสูงสุด ตราบใดที่องค์อธิปัตย์มิได้ละเมิดชีวิตหรือฆ่าประชาชนของตัวเอง

แต่สำหรับ Agamben การทำสัญญาหรือการเข้ามาสู่การเป็นชีวิตทางการเมืองก็เท่ากับการยอมรับให้องค์อธิปัตย์สามารถยกเลิกหรือเพิกถอนความเป็นพลเมืองได้อย่างชอบธรรม โดยทำได้แม้กระทั่งการฆ่าคนๆ นั้นด้วย การเพิกถอนทำลายเช่นนี้ จึงมีเงื่อนไขสำคัญก็คือ บุคคลนั้นๆ ต้องเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจทางการเมือง หรือ เป็นชีวิตทางการเมืองเสียก่อน (40)

เมื่อชีวิตที่เปลือยเปล่าซึ่งมีสภาพกึ่งคนกึ่งสัตว์นี้เอง นำไปสู่การที่เราทำได้แค่ ช่วยเหลือ สงเคราะห์ (aid) ให้การคุ้มครอง (protection) ในฐานะที่เป็นการทำงานตามหลักการมนุษยธรรม (humanitarian) เท่านั้น ชีวิตที่เปลือยเปล่าในค่ายผู้ลี้ภัย หรือแม้แต่ชนกลุ่มน้อย จึงเป็นชีวิตที่รอคอยเพียงการบริจาค และการสังคมสงเคราะห์ที่เกิดจากความสงสาร (41) ไม่ได้มีความเป็นมนุษย์และศักดิ์ศรีโดยตัวมันเอง

เราจึงจะเห็นการที่สภากาชาดสากล หรือองค์กรสังคมสงเคราะห์ที่เกิดขึ้นมากมายเข้าไปในประเทศต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนเหล่านี้ และในหลายๆ ครั้งการเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยรัฐมหาอำนาจ หรือ องค์กรระหว่างประเทศ ก็กลายเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่อำนาจอธิปัตย์ในการเข้าไปใช้ความรุนแรงมากขึ้นด้วย โดยการให้มีองค์กรที่ไม่ใช่รัฐชาติเข้ามาร่วมลากเส้นแบ่งใหม่กับการจัดการกับชีวิตของคนในรัฐประชาชาติต่างๆ

ซึ่งในสายตาของ Jenny Edkins (42) แล้วการเข้าไปแทรกแซงเชิงมนุษยธรรมแบบเสรีนิยม (liberal humanitarian intervention) ของ NATO ในโคโซโว ก็กลายเป็นการสร้างและเพิ่มพูนอำนาจแบบใหม่ให้แก่องค์อธิปัตย์ในหลายระดับ ในการจัดการกับชีวิตที่เปลือยเปล่าโดยตัวมันเอง. ผู้ลี้ภัย (refugee) ที่อยู่ในค่ายนั้นอยู่ในสภาพที่มีล้อมรอบด้วยกรงเหล็ก และลวดหนามไฟฟ้า การให้ความช่วยเหลือแบบนี้จึงไม่ใช่การให้ความช่วยเหลือในฐานะที่เป็นมนุษย์ แต่มีสภาพเป็น ชีวิตที่เปลือยเปล่า โดยสมบูรณ์ (43)

ในทัศนะของ Jean-Luc Nancy นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศส ซึ่ง Agamben เห็นด้วยนั้น การเป็นบุคคลต้องห้าม (abandoned being) ก็เท่ากับเป็นชีวิตที่ปราศจากรูปแบบหรือแก่นสาร หรือที่ Agamben เรียกว่า เป็นชีวิตที่ไม่มี form-of-life ซึ่งชีวิตที่ไม่มีรูปแบบ/แก่นสารเช่นนี้เอง เป็นชีวิตที่ไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้ (uncommunicability) เป็นชีวิตที่อยู่ในความเงียบ (mute) และเป็นชีวิตที่ถูกกีดกันให้ไม่สามารถใช้สติปัญญาได้อย่างเต็มที่ (nonintelligibility) ชีวิตเช่นนี้จึงไม่ต่างจากความเป็นสัตว์ คือ ไม่สามารถติดต่อสื่อสาร และไม่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมกับมนุษย์คนอื่นๆ ได้ ซึ่งลักษณะเช่นนี้เองที่เป็นคุณสมบัติสำคัญของชีวิตที่เปลือยเปล่า (44)

ชีวิตที่เปลือยเปล่า จึงกลายเป็นความลักลั่น (45) ของสภาวะสมัยใหม่ที่ในด้านหนึ่งก็ดึงชีวิตแบบนี้เข้ามาสู่อำนาจทางการเมือง แต่ก็ไม่ให้สถานะความเป็นพลเมืองแก่ชีวิตเหล่านี้ เสมือนเป็น การไม่สามารถประสานส่วนย่อยที่แปลกปลอมให้กลายเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวได้ (46) ทำได้อย่างมากที่สุดแค่กลายเป็นพลเมืองชั้นสองเท่านั้น

อำนาจของรัฐสมัยใหม่นั้นไม่ใช่อำนาจที่อิงกับพระเจ้าอีกต่อไป แต่เป็นอำนาจที่อยู่บนการมีอำนาจเหนือ ชีวิตและความตาย ของสิ่งมีชีวิตในรัฐมากกว่า อำนาจทางการเมืองของรัฐสมัยใหม่จึงไม่ใช่อำนาจเชิงสถาบันเท่านั้น แต่เป็นอำนาจที่ควบคุมชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นอำนาจที่สอดส่องดูแลทุกย่างก้าวของชีวิต หรือที่ Foucault เรียกว่า อำนาจชีวญาณ (biopower) ดังนั้นในทัศนะของ Agamben สภาวะสมัยใหม่ หรือ รัฐสมัยใหม่ จึงเป็นสภาวะที่สร้างความเปลือยเปล่าให้แก่ชีวิตมากที่สุด อุดมการณ์ของการจัดการชีวิตโดยรัฐกลายเป็นอุดมการณ์สูงสุดของรัฐสมัยใหม่ อำนาจอธิปไตย จึงเป็นอำนาจที่ Agamben เรียกว่า อำนาจอธิปัตย์แบบชีวญาณ (biopolitical sovereignty) ที่มีชีวิตและความตายเป็นเป้าหมายหรือ object (กรรม)ของอำนาจ (47)

รัฐประชาชาติ หรือ รัฐสมัยใหม่ในทัศนะของ Agamben จึงไม่สามารถถูกแบ่งได้ตามกรอบแบบ "ประชาธิปไตย" หรือ "เผด็จการ" หากทั้งประชาธิปไตย และเผด็จการเบ็ดเสร็จ นั้นเป็นเรื่องเดียวกัน คือ เป็นอำนาจที่สร้างบนฐานของการสร้างและเบียดขับ ชีวิตที่เปลือยเปล่า หรือ ศัตรู ทางการเมืองเหมือนๆ กัน (48) โดยที่ศัตรูในที่นี้ก็ไม่ได้มีความชัดเจนแบบศัตรูทางชนชั้น แบบมาร์กซิสต์ ที่รู้แน่ชัดว่า ศัตรู คือ ชนชั้นนายทุน และระบบทุนนิยม แต่ศัตรูในที่นี้ไม่มีความชัดเจนตายตัว เป็นศัตรูที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา หรือบางทีเราเองก็ไม่รู้ว่าในขณะนั้นๆ ศัตรูคือใคร

หรือตัวอย่างรูปธรรมที่แม้แต่ในสงครามอิรักก็ยังไม่รู้ว่า ศัตรูที่แท้จริงคือใครกันแน่ ความคลุมเครือของ "ศัตรู" จึงมีสองระดับ คือ การที่ไม่รู้เลยว่าศัตรู คืออะไร แม้แต่ศัตรูในทางนามธรรม และ การที่ไม่รู้ว่าศัตรู คือใคร เช่น การบอกว่าศัตรูคือผู้ก่อการร้าย แต่ก็ยากที่จะรู้ว่าใครคนไหนบ้างคือผู้ก่อการร้ายจริง หรือแม้แต่คำว่า "ผู้ก่อการร้าย" ก็มีความหมายคลุมเครือ เมื่อคำว่าศัตรูเป็นคำที่ไม่ชัดเจน เต็มไปด้วยความคลุมเครือ

ชีวิตที่เปลือยเปล่าจึงไม่ใช่เรื่องของ แรงงานข้ามชาติ ผู้ก่อการร้าย คอมมิวนิสต์ หรือชาวยิวเท่านั้น สงครามที่ทำต่อ ชีวิตที่เปลือยเปล่า จึงดึงเอาทุกคนเข้ามาเกี่ยวข้อง และสามารถตั้งข้อสงสัย และระแวงว่า มนุษย์ทุกคน แม้แต่พลเมืองของรัฐก็อาจเป็น ศัตรู ได้เช่นกัน ชีวิตในเมือง หรือ ชีวิตทางการเมือง นั้นจึงไม่ใช่ bios เท่านั้น แต่เป็นชีวิตที่ผสมผสาน และอยู่ "ระหว่าง" ความเป็น bios และ zoe กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "ชีวิตที่เปลือยเปล่า" นั่นเอง

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เอกสารอ้างอิง

(1) ขอขอบคุณ ผศ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่กระตุ้นผลักดันให้เขียนและแก้ไขบทความนี้จนสำเร็จ
(2) นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ email: [email protected]

(3) Giorgio Agamben, Homo Sacer: Sovereign Power and Bare Life, tr. Daniel Heller-Roazen (Stanford: Stanford University Press, 1998)

(4) ตัวอย่างงานที่ปรากฏชื่อของ Agamben ในแทบทุกหน้าของบทความ 12 ชิ้น คือ Jenny Edkins, Veronique Pin-Fat, and Michael J. Shapiro eds., Sovereign Lives: Power in Global Politics (New York and London: Routledge, 2004)

(5) Michael Hardt and Antonio Negri, Empire (Cambridge: Harvard University Press, 2000)
(6) Michael Hardt and Antonio Negri, Multitude (New York: The Penguin Press, 2004)

(7) Giorgio Agamben, State of Exception, tr. Kevin Attell (Chicago and London: University of Chicago Press, 2005)

(8) ในภาษาไทย งานที่นับว่าสมบูรณ์ที่สุดเกี่ยวกับความคิดของ Carl Schmitt คือ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, ความคิดทางการเมืองของ คาร์ล ชมิทท์: ความเป็นการเมือง, สภาวะสมัยใหม่ และเสรีประชาธิปไตย, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.

(9) Agamben นั้นได้รับแรงบันดาลใจจาก Arendt อย่างมาก และในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1970 Agamben ได้เขียนจดหมายถึง Arendt หาอ่านได้ใน http://memory.loc.gov/ammem/arendthtml/arendthome.html ข้อมูลจาก Antonio Y. Vazquez-Arroyo, "Agamben, Derrida, and the Genres of Political" in Theory & Event, 8:1, 2005.

(10) Giorgio Agamben, Homo Sacer , 2, 12.

(11) ดูงานที่แนะนำความแตกต่างของคำว่า "การเมือง" กับ "ความเป็นการเมือง" อย่างง่ายๆได้ใน Jenny Edkins, Poststructuralism & International Relations: Bringing the Political Back in (Lynne Reinner Publishers: London, 1999), 1-19.

(12) Giorgio Agamben, "What is a Paradigm?," A lecture on August 2002 in http://www.egs.edu/faculty/Agamben-what-is-a-paradigm-2002.html

(13) Giorgio Agamben, "What is a Paradigm?," A lecture on August 2002 in http://www.egs.edu/faculty/Agamben-what-is-a-paradigm-2002.html

(14) แปลตาม ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "อำนาจอธิปไตยกับสภาวะสมัยใหม่ : พื้นที่ลักลั่นและความเป็นตัวตน" ใน รัฐศาสตร์สาร, ปีที่ 24 ฉบับพิเศษ 2546, 205-76.

(15) เราอาจเข้าใจความคิดแบบนี้ได้ง่ายขึ้น ถ้าเราคุ้นเคยกับสิ่งที่ Hobbes กล่าวไว้ใน Leviathan ว่า ชีวิตที่หลุดออกจากสภาวธรรมชาติมาอยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองนั้น ย่อมเป็นชีวิตที่ดีกว่าชีวิตที่ยังอยู่ในสภาวธรรมชาติที่แร้นแค้น มีแต่สงคราม และความหวาดระแวง

(16) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 7.

(17) คำว่า ประชากร (population) เป็นที่เกิดขึ้นในสภาวะสมัยใหม่ ดูได้ใน Michael Foucault, "Security, Territory, and Population" in Ethics: Subjectivity and Truth, ed. Paul Rabinow (New York: The New Press, 1997), 67-71.

(18) ดู Michael Foucault, "Right of Death and Power over Life" in History of Sexuality : an Introduction. Volume 1, tr. Robert Hurley (Harmonsworth: Penguin Books, 1990), 135-57.

(19) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 4.

(20) Karl Lowith, Der okkasionelle Dezionismus von Carl Schmitt. In Karl Lowith, Samtliche Schriften, ed. Klaus Stichweh and Marc B. de Launay, vol. 8. Stuttgart: Metzler, 1984. อ้างใน Giorgio Agamben, Homo Sacer, 120-1.

(21) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 4, 9.
(22) Michael Hardt and Antonio Negri, Empire, 67-204.

(23) Michael Hardt เองกล่าวว่า ตนเองมีความเห็นพ้องกับ Agamben ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการวิเคราะห์ อำนาจชีวญาณ และอำนาจอธิปัตย์ แต่มองว่า Agamben นั้นเน้นเรื่องอำนาจที่กระทำจากข้างบนมากเกินไป โดยไม่เปิดโอกาสให้กับการตอบโต้ด้วยอำนาจชีวญาณจากข้างล่างของ multitude ได้ ดู "Sovereignty, Multitude, Absolute Democracy: A Discussion between Michael Hardt and Thomas L. Dumm about Hardt's and Negri's Empire" in Paul A. Passavant and Jodi Dean eds., Empire's New Clothes: Reading Hardt and Negri (New York and London: Routledge, 2004), 166-7.

(24) ดูแนวคิดเรื่อง ซับเจค (subject) โดยเฉพาะของ Foucault ได้ใน ธเนศ วงศ์ยานนาวา, การวิเคราะห์ซับเจค (subject) ทฤษฎีที่ใช้ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจของ มิเชล ฟูโก (ศูนย์วิจัยคณะรัฐศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2532)

(25) Giorgio Agamben, Homo Sacer , 5.
(26) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 6, 83.
(27) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 7.
(28) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 82.
(29) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 7.
(30) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 8.

(31) ในเรื่องของการลากเส้นแบ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดนี้นั้น ข้าพเจ้ามองว่า Agamben น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากความคิดของ Deleuze และ Guattari ที่เสนอผ่านแนวคิดเรื่อง deterritorialization/reterritorialization ที่เสนอว่าการสลายเส้นแบ่งและการลากเส้นแบ่งใหม่ในมิติและรูปแบบต่างๆนั้นเป็นการใช้อำนาจในเชิงบวก ซึ่งอำนาจประเภทนี้มิได้จำกัดที่รัฐหรือรัฐชาติ หากสัมพัทธ์สัมพันธ์กับส่วนอื่นๆที่จะสามารถสร้างอำนาจประเภทนี้ขึ้นมาได้เช่นกัน ดู Gilles Deleuze and Felix Guattari, A Thousand Plateaus: Capitalism and Schizophrenia, tr. By Brian Massumi (The Athlone Press: London, 1999), 53-54. และความคิดทำนองนี้ได้ปรากฏอยู่ตลอดในงานชิ้นสำคัญของ Hardt และ Negri คือ Empire และ Multitude

(32) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 71.
(33) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 72-3.

(34) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 28. และหาอ่านต้นฉบับความคิดเรื่อง abandonment ได้จาก Jean-Luc Nancy, "Abandoned Being" in The Birth to Presence , tr. Brian Holmes and others (Stanford: Stanford University Press, 1993), 36-47.

(35) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 79.
(36) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 66.

(37) ดูคำวิจารณ์ที่มีต่อ การวิจารณ์แนวคิด human rights ของ Agamben ว่า Agamben มองสุดขั้วเกินไป เพราะในปัจจุบันนั้นรัฐต่างๆได้ขยายมโนทัศน์ human rights ให้ครอบคลุมเพื่อจะปกป้องคนที่ไม่ใช่พลเมืองมากขึ้น และเสนอว่า น่าจะมอง human rights ในแง่ดีที่ทำหน้าที่กำหนดกรอบการใช้อำนาจของรัฐมากกว่าที่จะมองว่า เป็นเครื่องมือของรัฐแต่เพียงด้านเดียว ได้ใน Volker Heins, "Giorgio Agamben and the Current State of Affairs in Humanitarian Law and Human Rights Policy" in German Law Journal, vol. 06 no. 05, 845-60.

(38) Agamben เสนอว่า ชีวิตที่เปลือยเปล่า คือ ชีวิตของมนุษย์ที่มีโอกาสกลายเป็นสัตว์ได้ตลอดเวลา ดังนั้นการแยกมนุษย์ออกจากสัตว์จึงไม่ใช่การแยกทางกายภาพ แต่เป็นการแยก "ภายใน" ความเป็นทั้งสัตว์ก็ได้หรือมนุษย์ก็ได้ในตัวมนุษย์เองมากกว่า Giorgio Agamben, The Open: Man and Animal, tr. Kevin Attell (Stanford: Stanford University Press, 2004) หรือรีวิวสั้นๆได้ใน Michael O'Sullivan, "Bored as a moose" in Radical Philosophy, 128 (November/December 2004), 54-6.

(39) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 104-7.
(40) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 90, 110.
(41) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 133.

(42) Jenny Edkins, "Sovereign Power, Zone of Distinction, and the Camp" in Alternative, 25, January 2000, 40. อ้างใน Patricia Molly, "Killing Canadians: The International Politics of Capital Punishment" in Jenny Edkins, Veronique Pin-Fat, and Michael J. Shapiro eds., Sovereign Lives, 135.

(43) Jenny Edkins, "Sovereign Power, Zone of Distinction, and the Camp" in Alternative, 25, January 2000, 41. อ้างใน Patricia Molly, "Killing Canadians: The International Politics of Capital Punishment" in Jenny Edkins, Veronique Pin-Fat, and Michael J. Shapiro eds., Sovereign Lives, 135.

(44) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 60.

(45) "ลักลั่น" น่าจะเป็นคำที่อธิบายลักษณะแบบนี้ได้ดี ดู ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "อำนาจอธิปไตยกับสภาวะสมัยใหม่ : พื้นที่ลักลั่นและความเป็นตัวตน" ใน รัฐศาสตร์สาร, ปีที่ 24 ฉบับพิเศษ 2546

(46) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 24.
(47) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 114.

(48) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 12.; Michael Mann, The Dark Side of Democracy (Cambridge: Cambridge University Press, 2005)

คลิกไปอ่านต่อ Giorgio Agamben: ว่าด้วยชีวิตเปลือยเปล่าและองค์อธิปัตย์ ๒






สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 980 เรื่อง หนากว่า 16000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



240749
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
ปรัชญาการเมืองของ Giorgio Agamben
บทความลำดับที่ ๙๘๒ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
Agamben นั้นยอมรับการแบ่งชีวิตของอริสโตเติล แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เนื่องมาจาก Agamben มองว่า เอาเข้าจริงชีวิตที่ถูกแบ่งเป็นสองประเภทนี้กลับแยกกันไม่ออก โดยเฉพาะการหยิบยืมคำอธิบายจาก Foucault เรื่อง การเมืองชีวญาณ (biopolitics) ซึ่งไม่ใช่การเมืองที่มีแต่ชีวิตที่มีคุณภาพหรือชีวิตทางการเมืองแบบอริสโตเติลเท่านั้น แต่เป็นการเมืองที่รวมเอาชีวิตตามธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองด้วย เช่น การที่รัฐสมัยใหม่ให้ความสนใจต่อ สุขภาพที่ดีของประชากร รัฐสมัยใหม่ที่เข้ามายุ่งกับชีวิตประจำวัน หรือชีวิตที่เป็นส่วนตัว (private life) นั้นเป็นอำนาจที่ควบคุมชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย จนถึงกระทั่งการมีอำนาจที่จะสามารถปกป้องชีวิต หรือ แม้แต่ประหารชีวิตก็ได้ อำนาจอธิปัตย์ จึงอยู่เหนือและทำหน้าที่ตัดสินให้มีชีวิตและให้ตายได้พร้อมๆ กัน
Hannah Arendt เป็นอีกคนที่ Agamben อ้างถึงโดย Arendt กล่าวว่า รัฐสมัยใหม่นั้นเป็นรัฐที่ยุ่งย่ามกับชีวิตส่วนตัวมากที่สุด และดังที่ Karl Lowith กล่าวว่า อำนาจรัฐสมัยใหม่ คือ การผนวกทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ชีวิตส่วนตัวให้เข้ามาอยู่ในปริมณฑลทางการเมือง

รัฐประชาชาติ หรือ รัฐสมัยใหม่ในทัศนะของ Agamben จึงไม่สามารถถูกแบ่งได้ตามกรอบแบบ "ประชาธิปไตย" หรือ "เผด็จการ" หากทั้งประชาธิปไตย และเผด็จการเบ็ดเสร็จ นั้นเป็นเรื่องเดียวกัน คือ เป็นอำนาจที่สร้างบนฐานของการสร้างและเบียดขับ ชีวิตที่เปลือยเปล่า หรือ ศัตรู ทางการเมืองเหมือนๆ กัน โดยที่ศัตรูในที่นี้ก็ไม่ได้มีความชัดเจนแบบศัตรูทางชนชั้น แบบมาร์กซิสต์ ที่รู้แน่ชัดว่า ศัตรู คือ ชนชั้นนายทุน และระบบทุนนิยม แต่ศัตรูในที่นี้ไม่มีความชัดเจนตายตัว เป็นศัตรูที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา หรือบางทีเราเองก็ไม่รู้ว่าในขณะนั้นๆ ศัตรูคือใคร

 

midnighpolitic