Free Documentation
License
Copyleft : 2006,
2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document, but changing it is not allowed.
หากนักศึกษา
และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
The Midnight
University
บทวิเคราะห์การเมืองเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น
ประชานิยมไทยรักไทย
: (ตอนที่ ๒)
วิกฤตทุนนิยม รัฐ และการต่อสู้ทางชนชั้น
เก่งกิจ
กิติเรียงลาภ
นิสิตปริญญาเอก
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หมายเหตุ
: บทวิเคราะห์การเมืองฉบับนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
โดยผู้เขียนได้ใช้แนวคิดทฤษฎีมาร์คซิสต์ในการมองประเด็นปัญหาทางการเมือง
ภายใต้การบริหารของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 972
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
16.5 หน้ากระดาษ A4)
ประชานิยมไทยรักไทย : วิกฤตทุนนิยม รัฐ และการต่อสู้ทางชนชั้น
(ตอนที่ ๒)
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ :
นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(ผู้เขียนขอขอบคุณ อ.ใจ อึ๊งภากรณ์, อ.สุชาย ตรีรัตน์,
อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และ นุ่มนวล ยัพราช
สำหรับคำแนะนำและความคิดเห็นสำหรับประเด็นนี้ในวาระต่างๆ ตลอดมา)
2. กรอบการวิเคราะห์ (Theoretical
Framework) (23)
จากที่กล่าวมาแล้วในช่วงต้นว่า ในการวิพากษ์ไทยรักไทยที่ผ่านมา มักประเมินว่าไทยรักไทยมีความเข้มแข็งมาก
มากเสียจนภาคประชาชนหรือกลุ่มทางสังคมอื่นๆ ไม่สามารถต่อสู้ ต่อรองได้ จนนำไปสู่ความหดหู่ในภาคประชาชน
ซึ่งที่มาของการประเมินเช่นนั้นมาจากการใช้แนวคิดที่ไม่สามารถมองปัญหาองค์รวมที่อธิบายที่มาของไทยรักไทยได้
โดยเฉพาะการละเลยการอธิบายการต่อสู้ทางชนชั้นในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
ในส่วนนี้เป็นการอธิบายกรอบที่จะนำมาใช้อุดช่องโหว่ และทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
เพื่อหาข้อสรุปในช่วงต่อๆ ไปของบทความ
บทความนี้ใช้กรอบการวิเคราะห์แบบมาร์คซิสต์ ที่ใช้การวิเคราะห์ทางชนชั้นเป็นเครื่องมือ โดยมองว่า รัฐ หรือการเมืองเป็นผลผลิตของความขัดแย้งในโครงสร้างของระบอบทุนนิยม โดยความขัดแย้งดังกล่าวจะเป็นตัวกำหนดนโยบายและกิจกรรมภายในรัฐเอง และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับส่วนอื่นๆ ของสังคม ในระบอบทุนนิยมที่ชนชั้นนายทุนเป็นชนชั้นนำนั้น ชนชั้นนายทุนจะใช้รัฐในการปกป้องคุ้มครอง สนับสนุนผลประโยชน์ระยะยาวของตน และรัฐจะทำหน้าที่สลาย บิดเบือน ความขัดแย้งทางชนชั้น หรือป้องกันไม่ให้เกิดการรวมตัวกันของชนชั้นกรรมาชีพในอันที่จะเป็นอันตรายต่อระบบทุนนิยม
ภายในชนชั้นนายทุนเอง ก็มิได้มีความเป็นปึกแผ่นหรือมีผลประโยชน์ร่วมกันตลอด หากกลุ่มต่างๆ ภายในชนชั้นนายทุนจะมีความขัดแย้ง แข่งขัน แย่งชิงผลประโยชน์กันตลอดเวลา กลุ่มย่อยๆ ต่างๆ จะมีการรวมกลุ่มกันเป็น "กลุ่มก้อนทางอำนาจ" (power bloc) ในลักษณะที่เป็นพันธมิตรทางการเมืองเพื่อทำหน้าที่ต่อสู้ ครอบงำ รักษาผลประโยชน์ของกลุ่มพวกตนเองไว้ แต่กลุ่มก้อนทางอำนาจหรือพันธมิตรนี้ มิได้มีลักษณะที่ยั่งยืนถาวร หากอยู่ภายใต้ความขัดแย้งและการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อช่วงชิงการนำ ทั้งระหว่างชนชั้นนายทุนกันเอง และระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นอื่นในสังคม
นโยบายของรัฐจึงเป็นผลผลิตของการต่อสู้ทางชนชั้นที่เกิดขึ้นจากการประนีประนอมทางชนชั้นผ่านรัฐ ในฐานะที่เป็นเวทีหนึ่งของการต่อสู้ทางชนชั้น นโยบายรัฐจึงสะท้อนความขัดแย้ง และยุทธศาสตร์ของกลุ่มก้อนทางอำนาจที่ครอบงำอยู่ในการต่อสู้ต่อรองกับกลุ่มย่อยต่างๆ ในชนชั้นนายทุน และชนชั้นอื่นในสังคม
ในยามที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือวิกฤตความชอบธรรมของรัฐ ซึ่งในหลายๆ ครั้งเกิดควบคู่กันไป และการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพอ่อนแอ ขาดการจัดตั้งที่เพียงพอ กลุ่มย่อยๆ ภายในชนชั้นนายทุนจะรวมตัวกัน และกำหนดยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ ครอบงำ เพื่อแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้น รูปแบบของนโยบาย หรือรูปแบบของรัฐ(state form) จึงสะท้อนยุทธศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่มก้อนทางอำนาจของทุนในการตอบสนองต่อความขัดแย้งทางชนชั้น ไม่ให้ลุกลามจนเกิดเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงขนาดที่ชนชั้นกรรมาชีพจะลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจรัฐ และล้มระบบทุนนิยม
ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การสลาย กลบเกลื่อน และบิดเบือน ความขัดแย้งทางชนชั้น และลักษณะทางชนชั้นของชนชั้นกรรมาชีพ และชนชั้นที่เสียเปรียบในสังคม ทั้งในลักษณะของการปราบปราม การใช้อุดมการณ์ และการมีนโยบายที่แบ่งปันส่วนแบ่งในสังคมให้กับชนชั้นกรรมาชีพ เช่น การให้สวัสดิการ การสร้างระบบไตรภาคี (24) การใช้อำนาจรัฐเข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาด หรือแม้แต่นโยบายประชานิยม เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจึงเป็นผลผลิตโดยตรงของการต่อสู้ทางชนชั้นของชนชั้นกรรมาชีพ ทั้งที่แสดงออกและไม่แสดงออก และในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ชนชั้นนายทุนจำเป็นต้องฟื้นเศรษฐกิจบนฐานของการขูดรีดชนชั้นกรรมาชีพ ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจของชนชั้นกรรมาชีพมีสูงขึ้น ดังนั้นกลุ่มก้อนทางอำนาจของชนชั้นนายทุนที่เข้ายึดกุมอำนาจรัฐ จะต้องมียุทธศาสตร์หรือนโยบายในลักษณะที่สามารถซื้อความสงบทางชนชั้น เพื่อกลบเกลื่อน ปกปิด บิดเบือน และสามารถกดขี่ขูดรีดต่อไปได้
"อำนาจ" จึงไม่ได้มีลักษณะตายตัว หากอำนาจเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างการต่อสู้ ความขัดแย้ง รวมถึงการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มย่อยต่างๆ ในชนชั้นเดียวกัน หรือต่างชนชั้นกัน การพิจารณาอำนาจของรัฐหรือรัฐบาล จึงต้องพิจารณาในฐานะที่สัมพันธ์และสัมพัทธ์กับชนชั้นอื่นๆ และส่วนอื่นๆ ในสังคม ไม่ได้มีอำนาจที่เป็นวัตถุหรือสถาบันที่ตายตัว โดยเฉพาะในสังคมที่ปกครองโดยระบอบเสรีประชาธิปไตย ที่เปิดให้พรรคการเมืองแข่งขันกันผ่านการเลือกตั้งนั้น อำนาจในสังคมยิ่งมีลักษณะยืดหยุ่น เปิดให้สามารถช่วงชิงผ่านการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม หรือชนชั้นของตนเองได้ มากกว่ารัฐที่มีลักษณะเป็นเผด็จการทหาร ที่ได้อำนาจมาจากปากกระบอกปืน ไม่ใช่ความยินยอมพร้อมใจของมวลชนผ่านการเลือกตั้ง
เมื่อเราประเมินความเข้มแข็งของชนชั้นนายทุน และรัฐทุนนิยมนั้น เราจำเป็นต้องพิจารณาผ่านการต่อสู้ทางชนชั้น และระดับของความเข้มแข็งของการต่อสู้ทางชนชั้น โดยเฉพาะระดับของการรวมตัวและการจัดองค์กรของกรรมาชีพ ในลักษณะที่เป็นสหภาพแรงงาน และพรรคการเมือง (25) นั่นหมายความว่า ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีของชนชั้นกรรมาชีพในการต่อสู้ก็เป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาความเข้มแข็งอ่อนแอของรัฐ
3. ที่มาของ "ระบอบทักษิณ"
: วิกฤตเศรษฐกิจ ประชานิยม และการต่อสู้ทางชนชั้น
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 นั้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายในสังคมไทย
ธุรกิจการเงินการธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างความมั่งคั่งให้แก่เศรษฐกิจการเมืองไทยมาตลอดเกือบ
10 ปีของการพัฒนาเศรษฐกิจได้พังทลายลง ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของทั้งประเทศ รวมไปถึงภูมิภาคใกล้เคียงได้รับผลกระทบตามไปด้วย
จนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจของเอเซีย พื้นที่การแข่งขันต่อสู้ของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย
ถูกทำให้หดเล็กลง ผู้ที่อยู่รอดจากวิกฤตมีเพียงกลุ่มทุนขนาดใหญ่ไม่กี่กลุ่ม
หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มทุนสื่อสารของตระกูลชินวัตร และกลุ่มทุนอื่นๆ เช่น ทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ ของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ กลุ่มทุนด้านอาหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มทุนสื่อสารและบันเทิงของตระกูลมาลีนนท์ และกลุ่มทุนอุตสาหกรรมของตระกูลมหากิจศิริ (26) เป็นต้น เท่ากับว่าเวทีแห่งการแข่งขันในประเทศได้ถูกจำกัดอยู่ในมือคนไม่กี่กลุ่ม ในด้านหนึ่งกลุ่มทุนดังกล่าวก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเช่นกัน ในแง่ที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจอย่างมียุทธศาสตร์และเร่งด่วน
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่มทุนที่เหลือรอดดังกล่าวมองว่า
อำนาจรัฐเป็นสิ่งจำเป็นในการปกป้องผลประโยชน์และการสะสมทุน เป้าหมายหลักคือการปกป้องการแข่งขัน
และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของทุนไทย ที่เผชิญหน้ากับทุนโลกาภิวัฒน์ กอปรกับรัฐธรรมนูญ
2540 ยังเอื้อให้การรวมกลุ่มและการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองผ่านการมีระบบบัญชีรายชื่อเป็นไปได้
(27)
ในการฟื้นฟูและแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจนั้น ข้อเสนอของธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ คือ การเดินหน้าใช้นโยบายเสรีนิยมใหม่สุดขั้ว
ซึ่งธนาคารโลกอธิบายว่า สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจมาจาก การขาดความเป็นสถาบัน การคอร์รัปชั่น
หรือกล่าวได้ว่าขาดความเป็นธรรมรัฐ และที่มากกว่านั้นคือยังเป็นเสรีไม่เพียงพอ
(28)
วิธีการมองดังกล่าวซึ่งนำไปสู่การกำหนดนโยบายแก้ไขวิกฤตของรัฐบาลประชาธิปัตย์นั้น
ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนชั้นล่าง ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน ชาวนาขนาดเล็ก และชนชั้นกลาง
โดยที่คนชั้นกลางและคนงานทั้งคอปกขาวและปกน้ำเงินถูกไล่ออกจากงาน เนื่องจากกิจการจำนวนมากล้มละลายหรือจำเป็นต้องลดขนาดการจ้างงานลง
จากข้อมูลของ Hewison หลังวิกฤตเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานเพิ่มมากขึ้น ถึงเกือบ
1 ล้านคน ในช่วง 1997-1998 และรายได้ที่แท้จริงก็ลดลงไปด้วย โดยที่คนงานคอปกน้ำเงินมีอัตราการลดลงของค่าจ้างมากกว่าคนงานคอปากขาว
แต่คนงานคอปกขาวกลับตกงานมากกว่าคนงานปกน้ำเงิน (29)
ยิ่งไปกว่านั้น ความไม่พอใจและการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชน หรือการเมืองบนท้องถนน
ที่มีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังยุคชาติชาย จนถึงการลุกขึ้นต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
ที่ตั้งคำถามถึงการปฏิรูปการเมือง และการเรียกร้องให้กระจายทรัพยากร รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของโครงสร้างอำนาจ
ในเรื่องเศรษฐกิจของขบวนการเกษตรกร ชาวนา ที่เราจะเห็นได้จากกรณีการชุมนุม 99
วัน ของสมัชชาคนจนหน้าทำเนียบรัฐบาล (30) และการต่อสู้แย่งยึดที่ดินของชาวบ้านในจังหวัดลำพูน
รวมไปถึงการต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการต่อสู้ของชาวบ้านจะนะ หินกรูด
บ่อนอก ที่ต่อต้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เป็นต้น
ยกตัวอย่างเฉพาะการชุมนุมประท้วงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปี 2533 มีทั้งหมดถึง 170 ครั้ง (31) และในช่วงปี 2537 ถึง 2538 มีการเดินขบวน 754 ครั้ง และเพิ่มเป็น 1219 ครั้งในปี 2545 (32) นับว่าเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ความพ่ายแพ้ของนักศึกษาในช่วง 6 ตุลาคม 2519 และการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ความไม่พอใจที่สะสมตัวมาตั้งแต่ช่วงรัฐบาลชาติชายที่ต่อเนื่องมาจนถึงวิกฤตเศรษฐกิจ มีที่มาจากการความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่คนส่วนมากจนลง โดยเฉพาะเกิดความไม่พอใจเกิดขึ้นอย่างมาก แม้จะไม่มีการออกมาเดินขบวน หรือมีการนัดหยุดงานเกิดขึ้นก็ตาม (33) โดยจากการสำรวจมีการไม่พอใจของกรรมาชีพอันเกิดจากประเด็นค่าแรง และการปลดคนงานออก เพิ่มขึ้นถึง 47 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 1996-1998 (34)
ปัญหาความไม่พอใจที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งมาจากการรับเอาแนวทางของไอเอ็มเอฟ ที่ให้รัฐลดการใช้จ่ายลง เท่ากับว่า สวัสดิการสังคม ที่รัฐเคยให้ต้องลดลงไปโดยปริยาย แต่ในขณะเดียวกันมีการถ่ายโอนเงินไปช่วยธุรกิจของกลุ่มทุนบางกลุ่ม แต่แทบจะไม่มีนโยบายช่วยเหลือคนที่ตกงานและกรรมาชีพ คนชั้นล่างที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเอกสารของ ธนาคารโลกมีการระบุว่า อัตราค่าแรงขั้นต่ำ ของกรรมาชีพอยู่ในระดับที่สูงเกินไป และควรที่จะปรับลดลง เพื่อให้เศรษฐกิจของไทยสามารถฟื้นตัวได้ (35)
เกือบทุกฝ่ายรวมไปถึงกลุ่มทุนที่ก่อตัวขึ้นเป็นพรรคไทยรักไทยนั้นเห็นว่า การแก้ปัญหาด้วยแนวทางที่พึ่งพิงไอเอ็มเอฟนั้น ไม่ก่อให้เกิดผลดี โดยเฉพาะอาจเกิดความไม่พอใจที่มากขึ้นของชนชั้นล่าง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีทางออกใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางชนชั้นและความไม่พอใจที่เกิดขึ้น
Pasuk and Baker (36) ระบุว่า ก่อนหน้าปี 1998 ไทยรักไทยยังไม่มีนโยบายที่เรียกว่า "ประชานิยม" แต่หลังจากที่เกิดกระแสชาตินิยมในหมู่ต่อต้านไอเอ็มเอฟ และการทำการบ้านอย่างหนักในการลงไปพูดคุยกับชาวบ้านอย่างต่อเนื่องของไทยรักไทย จึงเกิดการเสนอนโยบายที่มีลักษณะประชานิยมอย่างเด่นชัด นโยบายประชานิยมที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลจากการคิดคำนวณ และเล็งผลเชิงยุทธศาสตร์ในการเอาชนะใจทางชนชั้น ผ่านการสร้างนโยบายที่บรรเทาความขัดแย้งทางชนชั้นที่เกิดขึ้น
Hewison (37) ชี้ว่าการใช้นโยบายที่มีลักษณะชาตินิยมพร้อมกับประชานิยมของไทยรักไทยนั้น ทำให้เกิดความสับสนในหมู่นักคิดสายเสรีนิยมเอง เนื่องมาจากไม่สามารถเข้าใจได้ว่า พรรคไทยรักไทย เป็นเสรีนิยมหรือต่อต้านโลกาภิวัฒน์ โดยเฉพาะการกังวลว่าไทยรักไทยอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์การเงินการคลังอีกครั้ง อันเนื่องมาจากการใช้จ่ายที่เกินตัวอันเกิดจากนโยบายประชานิยม แต่กลุ่มทุนภายในประเทศมองว่า มีความจำเป็นที่กลุ่มทุนที่นำโดยไทยรักไทยจะต้องควบคุมนโยบายรัฐด้วยตนเอง เพื่อสามารถนำให้ทุนชาติขนาดใหญ่ที่รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจสามารถกลับไปแข่งขันในตลาดโลกได้อีกครั้ง พรรคไทยรักไทยจึงกลายเป็นการสร้าง แนวร่วมชาตินิยม(national alliance) ซึ่งมีความเป็นไปได้ เนื่องจากการปลุกกระแสชูธงไทยในการต่อสู้ กับ ทุนต่างชาติ (38) และการสร้าง กลุ่มก้อนทางอำนาจ (power bloc) ของทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามาต่อสู้ต่อรองผ่านการยึดอำนาจรัฐโดยตรง (39)
นั่นหมายความว่า ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ กลุ่มก้อนทางอำนาจของไทยรักไทยสามารถสถาปนาตัว ช่วงชิงการนำจากภาคประชาชนในการกำหนดประเด็นปัญหา ทางแก้ และกำหนดคำนิยามว่าอะไรคือ ผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม (collective will / collective interest) (40) ได้ผ่าน "ยุทธศาสตร์" เชิงนโยบายแบบประชานิยม ความสามารถในการช่วงชิงการนำของกลุ่มก้อนทางอำนาจของทุนจนสามารถสร้าง"กลุ่มก้อนทางประวัติศาสตร์" (historical bloc) ที่สามารถยึดกุมการสนับสนุนของคนจากหลากหลายชนชั้นได้นั้น ล้วนเป็นภาพสะท้อนความอ่อนแอของการเมืองภาคประชาชนเอง
ยิ่งไปกว่านั้น พรรคไทยรักไทยยังสามารถช่วงชิงการนิยามว่าใครคือ "ศัตรูหลัก" ที่ "เรา" ต้องต่อสู้ร่วมกัน โดยเฉพาะการสร้างแนวร่วมชาตินิยม ที่เกิดขึ้นผ่านคำขวัญของพรรค และการช่วงชิงอดีตคนเดือนตุลา และแกนนำภาคประชาชนบางส่วน ผ่านการนิยามศัตรูหลักว่าคือ ทุนศักดินา ที่ต้องสร้าง "แนวร่วมข้ามชนชั้น" กับ"นายทุนชาติที่ก้าวหน้า" ซึ่งหมายถึง "ทุนไทยรักไทย" เพื่อต่อสู้กับทุนศักดินาที่ล้าหลัง มากไปกว่าที่ภาคประชาชนไทย จะสามารถเสนอหรือช่วงชิงการนำเอง
"ระบอบทักษิณ" จึงทำงานทั้งในมิติของเศรษฐกิจ และอุดมการณ์ไปพร้อมๆกัน เพื่อทำหน้าที่ลดทอน กลบเกลื่อน การต่อสู้ และลักษณะทางชนชั้น ผ่านการนำเสนอนโยบาย "ประชานิยม" ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจในแง่ที่มา จุดอ่อน และช่องทางของการต่อสู้ต่อรอง กับรัฐที่มีลักษณะนี้
อันเนื่องมาจาก พรรคไทยรักไทยเข้าใจสถานการณ์ที่ วิกฤตเศรษฐกิจไม่ได้จำกัดตัวอยู่ที่เศรษฐกิจ แต่เป็นวิกฤตของรัฐและระบบทุนนิยมด้วยพร้อมๆ กัน (41) ดังนั้นการก่อตัวขึ้นของพรรคไทยรักไทยที่มาพร้อมกับนโยบายประชานิยม จึงอยู่บนฐานของการพยายามรักษาความชอบธรรมทางการเมือง และผ่อนแรงต้านของประชาชนที่มีต่ออำนาจรัฐ อันเกิดจากการต่อสู้ทางชนชั้นที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจ นโยบายประชานิยมจึงเป็น "ยุทธศาสตร์" (42) ของการต่อสู้ทางชนชั้น ทั้งภายในชนชั้นนายทุนด้วยกันเอง (43) และเพื่อซื้อความสงบทางชนชั้น ไม่ให้ชนชั้นล่างขึ้นมาต่อสู้ และสร้างความรู้สึกว่า เท่าเทียมกัน (44) ภายใต้ความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม ที่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการถือครองปัจจัยการผลิตแม้แต่น้อย ในแง่นี้นโยบายประชานิยมที่ถูกสร้างขึ้นจึงเป็นความจำเป็นเชิงโครงสร้าง ที่รัฐบาลหรือชนชั้นนายทุนที่สถาปนาเป็นกลุ่มก้อนทางอำนาจเพื่อยึดอำนาจรัฐมี "ความจำเป็น" ต้องให้แก่ประชาชน (45)
มุมมองแบบนี้จึงไปไกลกว่าการมุ่งเน้นไปที่ ความสามารถส่วนบุคคลของนายทุนแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น ทักษิณ หรือปัญญาชนที่ทำหน้าที่คิดค้นนโยบายของรัฐบาลเอง
ที่มาของอำนาจ และการดำเนินนโยบายของไทยรักไทยจึงอยู่บนฐานของการใช้ยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ทางชนชั้นกับชนชั้นล่าง
และปกปิดความขัดแย้งทางชนชั้นที่เกิดขึ้นจริงไปพร้อมๆ กัน ผ่านการสร้าง แนวร่วมชาตินิยม
และกลุ่มก้อนทางอำนาจขึ้นมา เพื่อสถาปนาการครอบงำ ซึ่งไม่ได้มีลักษณะที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
อำนาจดังกล่าวมีลักษณะที่เปราะบางต่อการท้าทายที่เกิดจากความเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชน
ที่จะนำการต่อสู้ทางชนชั้นให้มีลักษณะที่แหลมคม เพื่อต่อสู้ต่อรองกับอำนาจรัฐได้
การประเมินยุทธศาสตร์ และความเข้มแข็งของการต่อสู้ทางชนชั้นของภาคประชาชน จึงเป็นส่วนสำคัญในการเข้าใจความเข้มแข็งของไทยรักไทยที่สะท้อนผ่านการต่อสู้ทางชนชั้นที่เกิดขึ้นได้
(46)
รูปธรรมคือการพิจารณารูปแบบ และความเข้มแข็งของการต่อสู้ของภาคประชาชน ในที่นี้จะพิจารณาการแข่งขัน
ช่วงชิง ต่อสู้ของ กลุ่มทุนต่างๆ ที่รวม พรรคการเมืองต่างๆ และการต่อสู้ของการเมืองภาคประชาชน
ในการเลือกตั้ง 2005 เพื่อชี้ให้เห็นว่า เราสามารถเข้าใจความเข้มแข็ง และความสามารถในการชนะใจในเชิงนโยบายของไทยรักไทยได้อย่างไร
นอกเหนือจากการมองในเชิงตัวบุคคล หรือการมองว่ารัฐบาลซื้อเสียง และดูด ส.ส. มาแค่ไหน
และในที่สุดจะสามารถประเมินได้ว่า ภาคประชาชน หรือการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพจะมียุทธศาสตร์อย่างไรในการต่อสู้ต่อรองกับรัฐบาลประชานิยมไทยรักไทย
4. ชัยชนะในการเลือกตั้ง
2005 : ภาพสะท้อนความอ่อนแอของการเมืองภาคประชาชน
จากผลการเลือกตั้งที่ออกมา ปรากฏว่าพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นเกือบ
19 ล้านเสียง ได้ ส.ส. เกือบ 400 คน สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ ส่วนประชาธิปัตย์ได้เสียงเกือบทั้งหมดในภาคใต้
และพรรคมหาชนได้ ส.ส. เพียงคนเดียว เหตุการณ์นี้นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญอันหนึ่งของการเมืองไทย
ที่พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ
คำถามที่น่าสนใจก็คือ การที่ไทยรักไทยสามารถชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงมากมายขนาดนี้ มีที่มาจากอะไร? นักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่า ชัยชนะและการก้าวขึ้นมาของไทยรักไทยมาจากความสามารถส่วนบุคคลของ ทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะการมองว่า ทักษิณ มีความสามารถ มีเงิน มีพรรคพวก สามารถดึงหัวคะแนน หรือ ส.ส. จากพรรคอื่นๆ เข้ามาได้มาก จนทำให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง การมองแบบนี้ มีสมมติฐานอยู่เบื้องหลังว่า ประชาชนไม่ได้ออกเสียงเลือกตั้งโดยพิจารณาจากนโยบาย แต่สาเหตุที่คนตัดสินใจเลือกเป็นเพราะสายสัมพันธ์ในลักษณะอุปถัมภ์กับหัวคะแนน หรือ นักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งจุดอ่อนของแนวนี้ได้กล่าวถึงไปแล้วในช่วงต้นของบทความ
อีกกระแสหนึ่งมองว่า ชัยชนะของไทยรักไทย เกิดจากนโยบายที่ให้กับประชาชนจริงๆ และมีความเป็นรูปธรรมกว่าที่พรรคอื่นๆ เสนอมา เห็นได้จากที่ผ่านมาในสมัยแรก ไทยรักไทยได้ดำเนินนโยบายทุกนโยบายที่ประกาศไว้ขณะหาเสียงจริงๆ มุมมองแบบนี้สะท้อนว่า ประชาชนหลุดออกจากระบบอุปถัมภ์ และการเลือกไทยรักไทย คือ การแลกเปลี่ยนที่ไม่ได้อยู่บนฐานของความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ดั้งเดิม แต่เลือกคนที่ให้จริงมากกว่า และสะท้อนว่าการเมืองไทยได้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง ที่เป็นการต่อสู้เชิงนโยบายมากกว่าที่เป็นการต่อสู้เชิงตัวบุคคล ซึ่งได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า ทำไมการต่อสู้เชิงนโยบายที่พรรคการเมืองต้องให้ประชาชนในลักษณะนี้จึงเกิดขึ้น
ในการเลือกตั้งครั้งนี้เราจะพบว่า มีคนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งโดยงดออกเสียงและกาบัตรเสียถึง 2 ล้านคน นั่นหมายความว่า คนจำนวน 2 ล้านคนไม่พอใจตัวเลือกที่มีอยู่ และหากมีตัวเลือกที่ดีกว่านี้ คนเหล่านี้พร้อมที่จะเลือก ในที่นี้เราจึงเข้าใจได้ว่า ชัยชนะของไทยรักไทยมี 2 สาเหตุหลักเป็นอย่างน้อย คือ
หนึ่ง ประชาชนพอใจนโยบายที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ และมองว่านโยบายเหล่านี้สามารถแก้ไขปัญหาของพวกเขาได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่เคยมีพรรคการเมืองใดที่ผ่านมาสามารถนำเสนอทางเลือกแบบนี้ได้มาก่อน
สอง เราจะพบว่าในปัจจุบัน นอกเหนือจากพรรคไทยรักไทยแล้ว ไม่มีตัวเลือกอื่นให้ประชาชน เช่น พรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ ล้วนเคยเป็นพรรครัฐบาล แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนได้จริง ส่วนพรรคมหาชนเห็นได้ชัดว่า ไม่ได้มีความจริงใจในการนำเสนอนโยบาย เนื่องมาจากหัวหน้าพรรค และนายทุนที่ให้เงินพรรคก็เป็นนายทุนหน้าเดิมที่มีประวัติไม่ดี ส่วนการเมืองภาคประชาชนแทบจะไม่มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมอะไรนอกจาก "ยุทธศาสตร์หมากัดกัน" ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
นักคิดจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และแกนนำ รวมไปถึงปัญญาชนของเอ็นจีโอบางส่วนไม่มีข้อเสนออะไร คือ ถ้าไม่สนับสนุนยุทธศาสตร์หมากัดกัน ก็ไม่มีข้อเสนออะไรที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมเพียงพอให้แก่ประชาชน ยุทธศาสตร์หมากัดกันนี้สะท้อนความหดหู่ การไม่มีตัวเลือก และความสิ้นไร้ไม้ตอกของการเมืองภาคประชาชน นิธิ เอียวศรีวงศ์ (47) อ้างว่ายุทธศาสตร์หมากัดกันคือการเลือกพรรคอีกพรรคไปคาน ไม่ให้หมาตัวใดตัวหนึ่งสามารถคุมเวทีในรัฐสภาได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่ภาคประชาชนในการขยับเขยื้อน เนื่องมาจากที่ผ่านมารัฐบาลไทยรักไทยปิดกั้นพื้นที่ของภาคประชาชนในการต่อสู้หรือขยับเขยื้อนได้
หรือ ข้อสรุปหลังการเลือกตั้งของ ประภาส ปิ่นตบแต่ง (48) ปัญญาชนของขบวนการเอ็นจีโอ ก็คือ การเสนอให้กลุ่มทุนพรรคประชาธิปัตย์ปรับเปลี่ยนท่าทีมาทำงานร่วมกับการเมืองภาคประชาชน เชื่อมต่อการเมืองรัฐสภากับการเมืองภาคประชาชน เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า นักวิชาการสายเอ็นจีโอ ซึ่งเป็นหัวขบวนของการเมืองภาคประชาชน นอกจากจะไม่มีทางเลือกที่เป็นรูปธรรมที่มากไปกว่ายุทธศาสตร์หมากัดกันแล้ว สุดท้ายยังฝากความหวังไว้กับพรรคของชนชั้นนายทุน
ปัญหาอีกประการที่สะท้อนความอ่อนแอของการเมืองภาคประชาชน ที่ไม่สามารถตามทันยุทธศาสตร์การต่อสู้ของทุนได้เลยก็คือ การมองปัญหาแบบแยกส่วนในขบวนการ สมชาย ปรีชาศิลปกุล (49) นักคิดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวไว้ชัดเจนว่า ชาวบ้านเขื่อนปากมูล กับ สหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไม่สามารถต่อสู้ร่วมกันได้ โดยเฉพาะในประเด็นการต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสากิจ รวมไปถึง ประภาส ปิ่นตบแต่ง (50) ยืนยันว่า ขบวนการภาคประชาชนมีความหลากหลายมาก มากเสียจนกระทั่งไม่สามารถรวมตัวกันได้ ผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม แต่ละองค์กรแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นไปได้ยากที่จะรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองของภาคประชาชน เป็นต้น
เราจะพบว่าการเมืองภาคประชาชนไม่สามารถยึดโยงการต่อสู้ที่เป็นองค์รวมได้ ในขณะที่นโยบายประชานิยมของไทยรักไทย มีลักษณะที่ให้กับแทบทุกส่วน และมีรูปธรรม ซึ่งปัญหาอีกอันหนึ่งของการเมืองภาคประชาชนก็คือ การกลัวการจัดตั้งทางการเมือง โดยประเมินยุทธศาสตร์ของการต่อสู้ในเชิงตั้งรับ และต่างคนต่างสู้ โดยอยู่ภายใต้แนวคิดแบบ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ที่ปฏิเสธการสร้างพรรคการเมือง หรือการมีองค์กรจัดตั้งทางการเมือง (51)
มากไปกว่านั้นเอ็นจีโอบางส่วนยังปฏิเสธอำนาจรัฐ โดยมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องช่วงชิงอำนาจรัฐ แต่ในรูปธรรมในท้ายที่สุดต้องพึ่งกับรัฐบาล หรือพรรคฝ่ายค้านไปคานอำนาจกับรัฐบาล เห็นได้จากการที่แกนนำเอ็นจีโอและคนเดือนตุลาบางส่วนสนับสนุนรัฐบาลไทยรักไทย และการเสนอยุทธศาสตร์หมากัดกัน หรือแม้แต่การหวังว่าประชาธิปัตย์จะจับมือกับภาคประชาชน เป็นต้น (52)
กลุ่มก้อนทางอำนาจ ของ รัฐบาลไทยรักไทยนั้น ทำงานผ่านการจัดตั้งทางการเมืองที่เข้มแข็ง และมีนโยบายที่พูดหลายๆ ปัญหาได้พร้อมกัน (53) แต่จุดอ่อนก็คือ ไม่ได้แก้ปัญหาองค์รวม อันเนื่องมาจากลักษณะของประชานิยมนั้น ไม่ได้เน้นการแก้ปัญหาองค์รวม ที่มีการให้สวัสดิการอย่างเป็นระบบ แต่เป็นการให้แบบแยกส่วน เนื่องจากการให้สวัสดิการแบบองค์รวมนั้น ต้องมีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า มีการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งล้วนกระทบกับผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน ดังนั้น นโยบายประชานิยมที่แม้จะมีการจัดตั้งและปฏิรูปย่อยๆทุกส่วน แต่เป็นการให้แบบแยกส่วน และไม่ถาวร นี่คือจุดอ่อนของประชานิยมที่สำคัญ ซึ่งเปิดช่องให้ภาคประชาชนสามารถต่อสู้ได้
ในขณะที่ไทยรักไทยมีการจัดตั้ง และมีนโยบายปฏิรูปกระจัดกระจาย แต่ทำหลายส่วนพร้อมกัน ภาคประชาชนไทยกลับไม่มีข้อเสนอใดๆ ที่เป็นรูปธรรม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ในกรณีความรุนแรงของรัฐในภาคใต้ แกนนำเอ็นจีโอแทบจะไม่มีจุดยืน และออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เท่ากับว่านอกจากจะไม่มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมแล้ว ยังแทบจะไม่มีจุดยืนในเรื่องต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม (54)
มากไปกว่านั้นภาคประชาชนยังไม่มีจัดตั้งที่เข้มแข็ง เมื่อขาดการจัดตั้ง หรือร่วมมือกันในฐานะที่เป็นองค์กรจัดตั้งของชนชั้นเดียวกัน จึงไม่สามารถนำเสนอนโยบายที่มีลักษณะปฏิรูปแบบองค์รวมที่ก้าวหน้ากว่าไทยรักไทยได้ สิ่งเหล่านี้เองสะท้อนว่าการต่อสู้ทางชนชั้นที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นอันเป็นผลของวิกฤตเศรษฐกิจ จึงไม่นำไปสู่การล้มระบบทุนนิยม หรือแม้แต่การต่อสู้เพื่อการสร้างรัฐสวัสดิการ แต่กลับนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของการเมืองภาคประชาชนเอง ที่ไม่สามารถดึงเอากระแสความไม่พอใจอันเกิดจากวิกฤต โดยการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการต่อสู้เพื่อครอบครองการนำ และเปลี่ยนแปลงสังคมได้
ความเข้มแข็งของไทยรักไทยจึงแสดงออกผ่านความอ่อนแอของการเมืองภาคประชาชน ที่ไม่นำการต่อสู้ทางชนชั้นที่กระจัดกระจายเพื่อต่อสู้ต่อรองกับรัฐและกลุ่มทุนภายในรัฐได้ ซึ่งความเข้มแข็งของไทยรักไทยนั้นก็มีลักษณะเปราะบาง อันเนื่องมาจากการให้นั้น ยืนอยู่บนฐานของการกลัวความขัดแย้ง และความพยายามลดทอนการต่อสู้ทางชนชั้น รวมไปถึงการไม่สามารถปฏิรูปอย่างเป็นระบบและต่อสู้ในระยะยาวได้ ทั้งจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และการต่อสู้ทางชนชั้นที่กระจัดกระจายซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา
ยกตัวอย่างปัญหาที่ไทยรักไทยไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ปัญหาไข้หวัดนก ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ ส่งผลให้ไทยรักไทยไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งในภาคใต้ได้ ปัญหาการคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ จนทำให้ต้องชะลอการแปรรูปออกไป เป็นต้น แสดงว่า ไทยรักไทยไม่ได้มีความเข้มแข็งและสามารถครอบงำทางความคิดและทางการเมืองได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างที่นักวิชาการ และปัญญาชนของภาคประชาชนประเมิน
อำนาจทางการเมืองของไทยรักไทยจึงเป็นอำนาจเชิงสัมพัทธ์ ที่ขึ้นกับการต่อสู้ทางชนชั้น และอยู่บนฐานของการต่อรองและการกำหนดยุทธศาสตร์ในการประนีประนอม ซื้อความสงบทางชนชั้นตลอดเวลา ความเข้มแข็งของไทยรักไทยจึงยืนอยู่บนความอ่อนแอของการเมืองภาคประชาชน ดังนั้นการถกเถียงในเชิงยุทธศาสตร์ของการต่อสู้ในการเมืองภาคประชาชน จึงเป็นเรื่องสำคัญ ผ่านการเข้าใจช่องว่าง จุดอ่อนของรัฐบาลทักษิณจากแง่มุมของการต่อสู้ทางชนชั้นที่กล่าวมา
บทสรุป
เท่าที่ผ่านมาการประเมินไทยรักไทยในลักษณะที่เข้มแข็งมากเกินไปนั้น เป็นการประเมินโดยขาดทฤษฎีที่เป็นองค์รวม
โดยเฉพาะการมองความเข้มแข็งของไทยรักไทยเป็นส่วนๆ แบบแยกส่วน รวมไปถึงงานโดยมากขาดการวิเคราะห์ภาพของไทยรักไทยที่มีภาคประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์
อันเนื่องมาจากการขาดการมองการต่อสู้ทางชนชั้นในฐานะที่เป็นใจกลางของการวิเคราะห์ปรากฏการณ์
รวมไปถึงการมอง "อำนาจ" ในเชิงสถาบันที่ตายตัว ทำให้ไม่สามารถเข้าใจได้ว่า
อำนาจนั้นวางอยู่บนฐานของการต่อสู้ ช่วงชิง และความขัดแย้งของกลุ่มต่างๆ และชนชั้นต่างๆตลอดเวลา
ข้อเสนอทางทฤษฎีในที่นี้ก็คือ
การกลับไปทบทวนแนวการมอง "รัฐ" ในฐานะที่เป็นเวทีของการต่อสู้ทางชนชั้น
ที่เน้นการอธิบายองค์รวม และการต่อสู้ทางชนชั้น เพื่อที่จะสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ของการเมืองภาคประชาชนได้
ข้อเสนอในเชิงรูปธรรม คือ การหันกลับมาถกเถียงในเชิงยุทธศาสตร์การต่อสู้ร่วมกัน
สร้างความเข้มแข็งของเมืองภาคประชาชน เพื่อช่วงชิงการนำผ่านการมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่ก้าวหน้า
อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของภาคประชาชนเอง และการลดทอนอำนาจของไทยรักไทยในที่สุด
++++++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(23) ความคิดส่วนนี้ได้มาจากการประมวลและการอ่านงานของ Poulantzas, N., State, Power, Socialism, translated by Patrick Camiller (Verso: London, 1980). ; Jessop, B., Nicos Poulantzas : Marxist theory and political strategy (Macmillan Publishers: London, 1985) and State Theory: Putting Capitalist States in their Place (Polity Press: Cambridge, 1990) และงานวิจัยเกี่ยวกับประชานิยมในอาร์เจนตินาในช่วง รัฐบาล ฮวน เปรอง ใน Smith, William C., Authoritarianism and the Crisis of the Argentine Political Economy (Standford University Press: California, 1991)
(24) ในกรณีของ New Deal ของ Roosevelt ใน สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
(25) Ungpakorn, Ji Giles "The Political Economy of Class Struggle in Modern Thailand" in Historical Materialism, 8,p. 165.
(26) Pasuk Phongpaichit and Chris Baker, Thaksin : The Business of Politics in Thailand (Silkworm Books: Chiangmai, 2004), p. 69-71. ; ศัลยา ประชาชาติ "วิจัยร้อน 'สถาบันประปกเกล้า' เปิดถุงเงิน อีแต๋น-ดาวเทียม ทุนต่างพรรคแต่ใจเดียวกัน" ใน มติชนสุดสัปดาห์, 23, 1203, 5-11 กันยายน 2546, น. 16.
(27) Ibid, p. 71-4.
(28) Hewison, Kevin "Crafting a new social contract: Domestic capitalist responses to the challenge of neoliberalism" in Ji Giles Ungpakorn, Radicalising Thailand (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University: Bangkok, 2003),p. 125.
(29) Ibid, p 130-1.(30) ประภาส ปิ่นตบแต่ง, การเมืองบนท้องถนน (ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก: กรุงเทพฯ, 2541)
(31) เพิ่งอ้าง, น. 30, 34-5.
(32) ประภาส ปิ่นตบแต่ง ในหัวข้อสัมมนา "การเมืองทางเลือกยุคทักษิณและข้อจำกัดของขบวนการประชาชน" ใน ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 มกราคม - มีนาคม 2547, น. 134.
(33) Ungpakorn, Ji Giles, op. cit., p. 153-83.
(34) Hewison, K., op. cit., p. 133.
(35) Ibid, p. 134.
(36) "The Only Good Populist Is a Rich Populist: Thaksin Shinawatra and Thaksin's Democracy" Working Paper Series No. 36 October 2002 (Southeast Asia Research Center, University of Hong Kong), p. 13.
(37) Hewison, K., op. cit., p. 137-9.
(38) จากข้อมูลของ Dixon, C. "Post-Crisis Restructuring : Foreign Ownership, Corporate Resistance and Economic Nationalism in Thailand" in Contemporary Southeast Asia, 26(1), p. 45-72. พบว่า หลังวิกฤตเศรษฐกิจ มีการถือหุ้นโดยทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นจริง แต่การถือหุ้นในตลาดหุ้นของต่างชาติมีเพียง 20.3% และมากไปกว่านั้นบริษัทที่ไม่ได้เข้าตลาดหุ้น ซึ่งโดยมากเป็นการถือหุ้นของนายทุนไทย มีถึง 61% นั่นหมายความว่า หลังวิกฤตเศรษฐกิจ ทุน ส่วนใหญ่ยังคงเป็นของนายทุนไทย การชูแนวคิดชาตินิยมในช่วงนั้น จึงเป็นการเบี่ยงเบนและกลบเกลื่อนความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างกรรมาชีพ กับชนชั้นนายทุนชาติที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ
(39) Poulantzas, N., op. cit.,p. 127-39.
(40) ความคิดส่วนนี้ได้จากการอ่าน Gramsci, Antonio, A Gramsci Reader: Selected Writings 1916-1935, ed. By David Forgacs (Lawrence and Wishart: London, 1988), p. 189-200, 222-5.
(41) Rodan, Garry and Kevin Hewison "Closing the Circle? : Globalization, Conflict, and Political Regimes" in Critical Asian Studies, 36:3 (2004), p. 384. ; Hewison, Kevin "Thailand's Capitalism and Economic Crisis" in Politics and Markets in the Wake of the Asian Crisis, eds. By Richard Robinson, Mark Beeson, Kanishka Jayasuriya, and Hyuk-Rae Kim (Routeledge : London, 1999), p. 209.
(42) Jessop, Bob "Beyond Poulantzas" in Nicos Poulantzas : Marxist theory and political strategy (Macmillan Publishers: London, 1985),p. 336-45.
(43) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ "ประชานิยม ส่งเสริม หรือบั่นทอนประชาธิปไตย?" ใน เนชั่นสุดสัปดาห์, 11, 561, 3 มีนาคม 2546, น. 25.
(44) Pitch Pongsawat, op. cit., p. 195-99.
(45) Jessop, B.,1985, op. cit., p. 343-4.
(46) Carnoy, M., The State and Political Theory (Princeton University: Princeton, New Jersy, 1984),p. 125.
(47) นิธิ เอียวศรีวงศ์ "เราเล่นการเมืองของเราเอง เราต้องเปิดพื้นที่ของภาคประชาชน" ใน เนชั่นสุดสัปดาห์, 13, 662, 7 กุมภาพันธ์ 2548, น. 26,29.
(48) ประภาส ปิ่นตบแต่ง "ลอยอังคาร" ใน a day weekly, 1, 40, 18-24 กุมภาพันธ์ 2548, น. 23.
(49) พูดไว้ในงานเสวนา "ภาคประชาชน กับ วิกฤตสังคมไทยใต้ทักษิณ 2", 6 กุมภาพันธ์ 2548 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
(50) ประภาส ปิ่นตบแต่ง "การแลกหมัดระหว่าง คนชายขอบ กับ มาร์กซิสต์" ใน a day weekly, 1, 34, 7-13 มกราคม 2548, น. 25.
(51) Ungpakorn, Ji Giles "Challenge to the Thai N.G.O. movement from the dawn of a new opposition to glabal capital" in Radicalising Thailand (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University: Bangkok, 2003),p. 289-318.
(52) ใจ อึ๊งภากรณ์ "เอ๋ง เอ๋ง เอ๋ง หมาชนถูกกัด!!" ใน a day weekly, 1, 39, 11-17 กุมภาพันธ์ 2548, น. 25.
(53) ดูคำสัมภาษณ์ที่น่าสนใจของที่ปรึกษาคนสำคัญของพรรคไทยรักไทย ซึ่งสะท้อนความก้าวหน้าและการต่อสู้ที่คิดในเชิงยุทธศาสตร์ใน ภูมิธรรม เวชยชัย "เอ็นจีอ้วน สอนมวย" ใน a day weekly, 1, 40, 18-24 กุมภาพันธ์ 2548, น. 87-91.
(54) กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน "เราควรมีท่าทีอย่างไรต่อการปฏิรูป" ใน ประชาธิปไตยแรงงาน, 8, 2, กุมภาพันธ์ 2548, น. 4-5.
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 950 เรื่อง หนากว่า 15000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้อความบางส่วนจากบทความ
อันเนื่องมาจาก พรรคไทยรักไทยเข้าใจสถานการณ์ที่ วิกฤตเศรษฐกิจไม่ได้จำกัดตัวอยู่ที่เศรษฐกิจ
แต่เป็นวิกฤตของรัฐและระบบทุนนิยมด้วยพร้อมๆ กัน ดังนั้นการก่อตัวขึ้นของพรรคไทยรักไทยที่มาพร้อมกับนโยบายประชานิยม
จึงอยู่บนฐานของการพยายามรักษาความชอบธรรมทางการเมือง และผ่อนแรงต้านของประชาชนที่มีต่ออำนาจรัฐ
อันเกิดจากการต่อสู้ทางชนชั้นที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจ
นโยบายประชานิยมจึงเป็น "ยุทธศาสตร์" ของการต่อสู้ทางชนชั้น ทั้งภายในชนชั้นนายทุนด้วยกันเอง และเพื่อซื้อความสงบทางชนชั้น ไม่ให้ชนชั้นล่างขึ้นมาต่อสู้ และสร้างความรู้สึกว่า เท่าเทียมกัน ภายใต้ความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม ที่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการถือครองปัจจัยการผลิตแม้แต่น้อย ในแง่นี้นโยบายประชานิยมที่ถูกสร้างขึ้นจึงเป็นความจำเป็นเชิงโครงสร้าง ที่รัฐบาลหรือชนชั้นนายทุนที่สถาปนาเป็นกลุ่มก้อนทางอำนาจเพื่อยึดอำนาจรัฐมี "ความจำเป็น" ต้องให้แก่ประชาชน
สิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านข้อสรุปที่แสนหดหู่ของ McCargo and Ukrist ที่มองว่า ทางเลือกภายใต้รัฐนายทุนนี้มีแค่ 4 ทางที่ทั้ง 4 ทางไม่มีช่องว่างให้กับการต่อสู้ต่อรองกับไทยรักไทยผ่านการสร้างความเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชน นอกจากจะรอให้เกิดเหตุการณ์คล้าย พฤษภาทมิฬ หรือไม่ก็รอคอยการเกิดวิกฤต ทั้งที่เกิดจากตัวทักษิณและพรรคไทยรักไทยเอง หรือความล้มเหลวอันเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต ถึงจะสามารถเอาชนะรัฐบาลได้