Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของภาษา
ภาษาวิบัติ - อย่าให้ภาษาขวางกั้นผู้คนอีกต่อไป
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ (๑)
ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ (๒)

(๑) มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (๒) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมายเหตุ : บทความ ๒ เรื่องที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยตีพิมพ์แล้ว
บนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน ประกอบด้วย
(๑) ภาษาวิบัติ (ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์)
(๒) กรณีภาษามาเลย์: อย่าให้ภาษาเป็นพรมแดนขวางกั้นผู้คนอีกต่อไป (ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์)

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 970
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9.5 หน้ากระดาษ A4)




ภาษาวิบัติ - อย่าให้ภาษาขวางกั้นผู้คนอีกต่อไป
ภาษาวิบัติ : ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรณีภาษามาเลย์: อย่าให้ภาษาเป็นพรมแดนขวางกั้นผู้คนอีกต่อไป : ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1. ภาษาวิบัติ
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไปแล้วหรือยังก็ไม่ทราบ แต่เพิ่งถูกคนทำรายการทีวีคนหนึ่งสัมภาษณ์เรื่อง "ภาษาวิบัติ" ซึ่งก็เหมือนรายการทีวีทั้งหลายนะครับ คือเขาสนใจความเห็นมากกว่าว่าทำไมถึงเห็นอย่างนั้น เลยคันไม้คันมืออยากเขียนถึง โดยจำไม่ได้ว่าถ้าตัวเคยเขียนไปแล้ว เขียนไว้ว่าอย่างไร

คนสัมภาษณ์ซึ่งอายุน้อยกว่าผมมาก ออกจะแปลกใจที่พบว่า ข้อตำหนิการใช้ภาษาไทยสมัยที่ผมเป็นนักเรียนก็ไอ้คำนี้แหละครับ จะทำให้ "ภาษาวิบัติ" แปลว่าความห่วงใยต่อความเปลี่ยนแปลงทางภาษามีมาอย่างน้อยก็สองชั่วอายุคนแล้ว (ในความจริงมีหลักฐานว่าห่วงใยมานานกว่านั้นเสียอีก)

ความห่วงใยนี้แสดงอะไรให้เห็นสองด้าน

- หนึ่ง, ก็คือคนไทยหลายชั่วอายุคนมาแล้วที่ไม่ค่อยชอบให้ภาษาเปลี่ยน และ
- สอง, แสดงในทางตรงกันข้ามว่าภาษาไทยเปลี่ยนตลอดมาอย่างไม่ยอมหยุด ไม่ว่า "ผู้ใหญ่" จะชอบหรือไม่ก็ตาม

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อำนาจของ "ผู้ใหญ่" ซึ่งมีล้นเหลือในเมืองไทยนั้น หาได้มีความแข็งแกร่งศักดิ์สิทธิ์อะไรนักบนเวทีของภาษา

ทำไม "ผู้ใหญ่" ไทยหลายชั่วคนมาแล้วจึงไม่ชอบให้ภาษาเปลี่ยน? ผมคิดว่าคำตอบอยู่ที่ว่า "ผู้ใหญ่" เองหาได้ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงทางภาษาแต่อย่างใดไม่ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นคนลงมือเปลี่ยนภาษาด้วยตนเองด้วยซ้ำ เช่นภาษาเขียนในสมัยรัชกาลที่ 5 แตกต่างอย่างมากจากภาษาเขียนก่อนหน้านั้นขึ้นไป พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ของ ร.5 มีการใช้ศัพท์แสงที่เป็น "สำนวน" หรือ "โวหาร" มาก เมื่อนำมาพิมพ์เผยแพร่ก็เท่ากับขยาย "สำนวน" หรือ "โวหาร" ใหม่ๆ เหล่านั้นออกไปนั่นเอง

ถึงแม้ยอมรับความเปลี่ยนแปลงทางภาษาแต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ในความควบคุมของ "ผู้ใหญ่" และความควบคุมนั้นก็ทำได้ในความเป็นจริงพอสมควรด้วย เช่นในสมัย ร.4 - 5 สื่อสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นโดย "ผู้ใหญ่" เอง (อย่าลืมว่า เมื่อเราเริ่มเปลี่ยนเข้าสู่สังคมสมัยใหม่กว่าครึ่งศตวรรษแรกสื่อสิ่งพิมพ์เป็น "สื่อมวลชน" อย่างเดียวในเมืองไทย)

ผมไม่ทราบว่า "ผู้ใหญ่" ในสมัยนั้นท่านมีสำนึกหรือไม่ว่า ภาษาเป็นฐานสำคัญอย่างหนึ่งของโครงสร้างอำนาจ (เพราะภาษามีส่วนกำหนดวิธีคิดคนด้วย ฉะนั้น คุมภาษาได้ก็คุมความเปลี่ยนแปลงได้) แต่ท่านพยายามเข้าไปควบคุมภาษามาแต่ระยะเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

"ประกาศ" ของ ร.4 ที่เกี่ยวกับเรื่องการใช้ถ้อยคำต่างๆ ในการกราบบังคมทูล ชี้ให้เห็นความพยายามที่จะทำให้ความเปลี่ยนแปลงทางภาษาอยู่ในความควบคุม คำใดควรใช้อย่างไร และคำใดไม่ควรใช้เลย เพราะ "ผิด" หรือเพราะฟังดูแล้วอาจคิดไปทาง "หยาบ-หยาบคาย" เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการควบคุมความเปลี่ยนแปลงของภาษาเริ่มจะหายไปในปลาย ร.5 เป็นต้นมา เพราะเทคโนโลยีการพิมพ์กลายเป็นสิ่งที่คนซึ่งไม่ใช่ "ผู้ใหญ่" เข้าถึง มีสิ่งพิมพ์ที่คนเหล่านี้ผลิตออกมามากมาย นับตั้งแต่หนังสือพิมพ์ไปจนถึงหนังสืออื่นๆ ซ้ำไม่ใช่เอางานเก่ามาพิมพ์ขายเสียด้วย แต่เขียนขึ้นใหม่เลย และนับจากนั้นมา เราก็ได้ยินเสียงบ่นเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางภาษาที่ "ผู้ใหญ่" ไม่ชอบ (ซึ่งมาบัญญัติกันในภายหลังว่าเป็น "ภาษาวิบัติ") กันหนาหูขึ้นสืบมา

ผมได้เรียนภาษาไทยในสถาบันซึ่งสืบทอดทัศนคติของ "ผู้ใหญ่" มาโดยตรง ฉะนั้น จึงได้ยินเรื่อง "ภาษาวิบัติ" มาถี่กว่านักเรียนในสถาบันอื่น ไม่ว่าจะไม่พูดตัวควบกล้ำ, ร.รักษา, หรือใช้บุพบทผิด, หรือใช้คำผิดความหมาย (เช่น รโหฐาน แปลว่าที่ลับ ไม่ใช่ใหญ่โตโอฬาร หรือมหาศาลใช้กับทรัพย์ ซึ่งรวมถึงบ่าวไพร่บริวารด้วยเท่านั้น ใช้ขยายอื่นๆ ไม่ได้)

ความกระตือรือร้นที่จะป้องกัน "ภาษาวิบัติ" ของครูผม ทำให้ท่านอธิบายว่า ขืนปล่อยให้ภาษาเปลี่ยนไปตามความมักง่ายอย่างนี้ จะพูดกันไม่รู้เรื่อง ภาษาไทยก็จะหายไปจากโลก ผมเชื่อว่าท่านเองก็คงไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้หรอกครับ เพราะไม่ว่าจะเปลี่ยนอย่างไร ก็ยังเหลือภาษาไทยที่เปลี่ยนไปแล้วอยู่นั่นเองอย่างแน่นอน

ฉะนั้น เหตุผลสำหรับสู้กับ "ภาษาวิบัติ" ข้อนี้จึงไม่ได้ใช้กันสืบมา ผมเพิ่งทราบจากผู้สัมภาษณ์ว่า เดี๋ยวนี้เขาให้เหตุผลว่าภาษามีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นภาษาของชาติ ขืนปล่อยให้เปลี่ยนกันไปโดยไร้หลักเกณฑ์เช่นนี้ ความศักดิ์สิทธิ์ของภาษาและชาติก็จะเป็นอันตราย

นึกว่าจะน่าฟังมากขึ้น กลับกลายเป็นไสยศาสตร์มากขึ้น

อย่างที่พูดข้างต้นว่า ภาษาอะไรๆ ในโลกก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยทั้งนั้น ข้อนี้แม้แต่คนที่เชื่อใน "ภาษาวิบัติ" ก็ยอมรับ เพียงแต่ว่าอยากให้มันเปลี่ยนไปตามใจของตัว มากกว่าปล่อยให้มันเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขปัจจัยอื่นๆ ซึ่งตัวกำหนดไม่ได้ ก็แน่นอนว่า เงื่อนไขปัจจัยอื่นๆ ที่บุคคลกำหนดไม่ได้ย่อมมีพลังมากกว่าเงื่อนไขปัจจัยที่ครูกำหนดได้ ฉะนั้น นับวันภาษาไทยก็ยิ่งเปลี่ยนไปในทางที่ครูภาษาไทยไม่ชอบมากขึ้น

เหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ครูภาษาไทยมีพลังน้อยลงไปอีกอยู่ที่วิธีการด้วย นั่นคือ เท่าที่สังเกตเห็นคือ มักใช้มาตรการเชิงลบเป็นเครื่องมือในการบังคับให้ภาษาของลูกศิษย์เปลี่ยนไปในทางที่ตัวชอบ เช่นไม้เรียวหรือดุด่าว่ากล่าวไปถึงคะแนนสอบ ทำให้เด็กนักเรียนมักเบื่อวิชาภาษาไทย ดังจะเห็นว่าผลคะแนนเฉลี่ยในการสอบภาษาไทยของเด็กที่จะเข้ามหาวิทยาลัยก็ต่ำอย่างน่าใจหายเหมือนกัน

และความสามารถในการใช้ภาษาของเด็กไทยเวลานี้ เท่าที่ผมสังเกตเห็นจากข้อเขียนของเขาก็ดูจะแย่ๆ สักหน่อย ผมไม่ได้ห่วงว่าจะเป็น "ภาษาวิบัติ" หรอกครับ แต่ผมห่วงว่าการใช้ภาษาอย่างมีประสิทธิภาพนั้นเป็นพลังอย่างหนึ่ง การเลือกใช้คำ, การวางรูปประโยค, การใช้จังหวะให้เป็น (คือหยุดหรือเว้นวรรคเป็น) ฯลฯ ล้วนทำให้เขาสามารถสื่ออะไรที่ลึกกว่าความหมายดาษๆ เช่น สื่ออารมณ์, สื่อคุณค่า, สื่อความซับซ้อน, สื่อความรู้สึก ฯลฯ ได้มาก และตรงนี้เป็นความหมายที่มีพลังเสียยิ่งกว่าความหมายของคำตามพจนานุกรม

การเรียนภาษาไทยสำหรับเด็กไทยที่พูดภาษาไทยมาแต่เล็กแต่น้อย ก็น่าจะมีจุดมุ่งหมายตรงนี้ คือทำให้ใช้ภาษาได้เก่ง ผมเชื่อว่าหากครูภาษาไทยและ/หรือวิชาภาษาไทยหันมาฝึกตรงนี้ วิชาภาษาไทยจะเป็นวิชาที่สนุกกว่าการเรียนแต่เพียงว่าอะไร "ผิด" อะไร "ถูก" เพราะเด็กนักเรียนจะได้เล่นกับภาษาซึ่งเขาใช้มันจนคล่องแคล่วแล้ว เพื่อทำให้เกิดพลังขึ้นในภาษาของเขา

แต่ภาษาไทยของวัยรุ่นที่ผมได้ยินหรือได้อ่านกลับเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม เช่นสแลงที่เด็กนิยมใช้ แทนที่จะให้ความหมายได้ละเอียดซับซ้อนขึ้น กลับกลายเป็นคำที่ให้คำความหมายกว้างและเบลอ

เช่น วีน ซึ่งแปลว่าอารมณ์เสียจนมีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดปัญหากับคนอื่น ก็รู้เรื่องดีและไม่ทำให้ภาษาวิบัติอะไร แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าภาษาไทยมีคำที่บอกถึงอารมณ์เสียได้หลากหลายคำมาก มีความหมายเหลื่อมกันด้วยสีสันที่ผิดแผกกันเล็กน้อย แต่ให้ความรู้สึกตลอดจนถึงกำหนดพฤติกรรมของผู้ฟังแตกต่างกันออกไป

ใช้คำว่า วีน ก็ไม่มีปัญหาอะไรนะครับ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ความสามารถในการเลือกใช้คำให้ตรงกับที่ผู้พูดหรือเขียนต้องการนั้นยังอยู่หรือไม่ และการใช้คำว่าวีนในที่นั้นๆ จะทำให้การสื่อเป็นไปอย่างมีพลังหรือไม่ ความสามารถตรงนี้แหละครับที่ผมออกจะสงสัยว่าหายไปหรือถูกละเลยที่จะใช้ และผมคิดว่าน่าเสียดาย ไม่ใช่เสียดายแก่ภาษาไทยนะครับ แต่เสียดายแก่ตัวเขาเอง

อย่างไรก็ตาม สมมติว่าครูภาษาไทยสามารถยั่วยุให้เด็กวัยรุ่นสนุกกับการใช้ภาษาให้มีพลัง ผมก็ยังเชื่อว่าเด็กส่วนใหญ่คงจะใช้คำสแลงที่กว้างและเบลอต่อไปเหมือนเดิม เพราะมีเงื่อนไขปัจจัยซึ่งครูกำหนดไม่ได้ทำให้ภาษาสแลงแบบนี้ใช้ได้โดยไม่ติดขัด คืออาจมีพลังไม่น้อยไปกว่าการเลือกใช้คำอย่างพิถีพิถันเหมือนกัน

เงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้ภาษาสแลงแบบนี้ใช้ได้อย่างมีพลังก็คือ เราต่างอยู่ในโลกที่ภาษาพูดกันโดยตรงมีบทบาทมากขึ้น เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โทรศัพท์มือถือ, อินเตอร์เน็ต, การคมนาคมสื่อสารที่นำให้คนพบกันได้ในพริบตา ฯลฯ ทำให้เราสื่อสารกับคนอื่นอย่างถึงตัว

และเมื่อจะพูดกับใครอย่างถึงตัวแล้ว มีหนทางที่จะสื่อสารกันนอกจากภาษาที่เป็นคำพูดอีกมากมาย แค่บอกว่าเขากำลังวีน แต่มีสีหน้าท่าทางและน้ำเสียงประกอบด้วยก็ให้ความหมายที่ละเอียดประณีตของอารมณ์เสียของเขาได้มากมาย จึงไม่จำเป็นจะต้องเลือกหาคำสำหรับอธิบายอารมณ์เสียของใครให้มากความไปเปล่าๆ

พูดโทรศัพท์กับคนที่เรารู้จักกันมาก่อนอย่างดีกับพูดวิทยุ ซึ่งมองไม่เห็นหน้าคนฟังในดวงความคิดเลย แตกต่างกันมากนะครับ จะหวังให้ภาษาไทยในโทรศัพท์มือถือเหมือนภาษาไทยในวิทยุจึงเป็นไปไม่ได้ แม้เป็นภาษาพูดเหมือนกันก็ตาม

ความเปลี่ยนแปลงทางภาษามีความซับซ้อน และต้องการคนที่สนใจศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ในมิติต่างๆ หากเรามีแต่ครูภาษาที่คอยปกป้องมิให้ภาษาเปลี่ยนไปนอกใจตัวเอง ก็ไม่เหลือใครไว้ศึกษาเรื่องที่น่าสนใจนี้ ถึงตอนนั้นแหละครับที่ความรู้ทางภาษาของเราจะ "วิบัติ"

2. กรณีภาษามาเลย์: อย่าให้ภาษาเป็นพรมแดนขวางกั้นผู้คนอีกต่อไป
ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

น่าเสียดายที่ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เรื่องให้ภาษามลายูเป็นภาษาที่ใช้ในการทำงานหรือ Working language (ขอย้ำว่าไม่ใช่ภาษาราชการหรือ Official Ianguage ที่สื่อมวลชนเสนอกันอย่างสับสน กอส.ไม่เคยเสนอให้เป็นภาษาทางราชการแม้แต่น้อย และสองสิ่งนี้มีสถานะต่างกันอย่างมาก) ไม่ได้รับความสนใจจากผู้มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคงถูกเขี่ยลงตะกร้าไปในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว โดยยกสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่าง

ที่เสียดายก็เพราะในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกสามารถใช้ภาษามาเป็นตัวเชื่อมประสานผู้คนที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา ในสังคมของเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สังคมไทยกลับทำให้ภาษากลายมาเป็นพรมแดนขวางกั้นผู้คนออกจากกัน ตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้ภาษาเป็นตัวเชื่อมประสานผู้คนของตนมีอยู่มากมาย ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ สหรัฐอเมริกาที่ใกล้บ้านเราเข้ามาหน่อยก็คือ สิงคโปร์

ในความเป็นจริง จนถึงทุกวันนี้ อเมริกาก็ยังไม่เคยมีภาษาทางราชการ (Official Ianguage) เลย แน่นอนว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักที่ผู้คนในอเมริกาใช้กัน แต่ไม่ใช่ภาษาเดียวอย่างแน่นอน หากใครเคยเข้าไปย่านไชน่าทาวน์ในนิวยอร์กหรือซานฟรานฯ คุณจะได้ยินเสียงผู้คนส่งภาษาจีนให้กันมากกว่าภาษาใดทั้งสิ้น คนจีนจำนวนมากในย่านนี้ โดยเฉพาะพวกที่เป็นผู้อพยพรุ่นแรก พูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้ด้วยซ้ำ ปรากฏการณ์ทำนองนี้มีอยู่ทั่วไปในอเมริกา เพียงแต่เปลี่ยนกลุ่มคนและภาษาเท่านั้น เช่น ถ้าคุณเข้าไปในเขตชุมชนของพวกฮิสแพนิค (Hispanic) ในนิวยอร์ก ฟลอริดา หรือชิคาโก คุณก็จะได้ยินภาษาสเปนเสียเป็นส่วนใหญ่

ปัจจุบันชาวอเมริกันราว 30 ล้านคนใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาแรกหรือภาษาที่สอง เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่มีคนใช้ภาษาสเปนมากเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากเม็กซิโก โคลัมเบีย สเปน อาร์เจนตินา ในย่านคนฮิสแพนิค ป้ายบอกทางและสัญลักษณ์ต่างๆ จะมีภาษาสเปนควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษเสมอ

หนังสือพิมพ์ Miami Herald ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในไมอามี มีทั้งฉบับภาษาอังกฤษและสเปนให้เลือก

ผู้เขียนมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อ "หมอพอล" เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียน รู้ภาษาสเปนเพราะที่โรงเรียนมีสอน "หมอพอล" เคยฝึกงานอยู่ในชุมชนของพวกฮิสแพนิคที่ยากจนในนิวยอร์ก เขาเล่าให้ฟังว่า เขาพูดคุยกับคนไข้ด้วยภาษาสเปนตลอด การที่เขาพูดสเปนได้ทำให้เขาสนุกกับการทำงานที่นั่น และคนไข้ก็ชอบเขามาก ในแง่นี้เท่ากับว่าภาษาจีนและสเปนคือ working language ในอเมริกาอย่างแท้จริง แถมรัฐบาลยังสนับสนุนด้วยการเปิดสอนภาษาสเปนเป็นภาษาที่สองในโรงเรียนทั่วประเทศ

ลองจินตนาการดูว่าหากเราเป็นแรงงานไทยในต่างแดน ในเวลาที่เราเกิดไม่สบายขึ้นมาไปหาหมอแต่พูดกับหมอไม่รู้เรื่อง ชีวิตของเราจะลำบากยากเย็นเพียงใด ถ้าภาษาคุณไม่ดีพอ หากมีปัญหาขึ้นมามีใครบ้างอยากจะไปติดต่อกับหน่วยงานราชการ เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้เช่นกัน

ประมาณว่าในปัจจุบัน ภาษาที่ประชากรในอเมริกาใช้ติดต่อสื่อสารกันมีถึง 336 ภาษา ในจำนวนนี้ 176 ภาษาเป็นภาษาที่ใช้ในชุมชนนั้นๆ มาแต่ดั้งเดิม

ในอดีตที่ผ่านมา ได้มีความพยายามหลายครั้งที่จะผลักดันให้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาทางราชการของอเมริกา แต่ล้มเหลวมาโดยตลอด เช่น ในปี ค.ศ.1780 จอห์น อดัมส์ เสนอให้มีการตั้ง Official Language Academy เพื่อสร้างภาษาอังกฤษมาตรฐานขึ้นมา แต่ถูกปฏิเสธจากสภาคองเกรส ที่เห็นว่าแนวคิดเช่นนี้ "เป็นภัยต่อเสรีภาพส่วนบุคคล" และไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล

ในศตวรรษต่อมา ประธานาธิบดีรูสเวลธ์พยายามปฏิรูปการสะกดคำก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน ในทางกลับกัน สภาคองเกรสยุคนั้นไม่เห็นว่าเป็นเรื่องประหลาด ที่จะพิมพ์วารสารหรือเอกสารราชการเป็นภาษาเยอรมัน และฝรั่งเศสด้วย (คนสองกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพกลุ่มใหญ่รุ่นแรกๆ ของอเมริกา) และในศตวรรษที่ 19 เอกสารทางราชการไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ บันทึกการประชุมจึงปรากฏในหลากหลายภาษา เช่น เวลช์, เช็ก, นอร์เวย์, สเปน, ฝรั่งเศส และเยอรมัน

รัฐบาลของคลินตันแสดงจุดยืนชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ส่วนบุช จูเนียร์ ไม่มีท่าทีชัดเจนในเรื่องนี้ แม้ว่าในสมัยที่เขาเป็นผู้ว่าการรัฐเท็กซัสจะเคยคัดค้านไว้ก็ตาม ล่าสุดในเดือนพฤษภาคมปีนี้ วุฒิสภาของสหรัฐลงมติผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปการอพยพเข้าเมือง ที่บัญญัติว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาของชาติ แต่ก็ยังไม่แน่ว่าร่างฯ จะผ่านสภาผู้แทนหรือไม่

ฉะนั้น ในอเมริกาจึงมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านตลอดมา ฝ่ายคัดค้านเห็นว่า การประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางราชการเท่ากับเป็นการกีดกันคนกลุ่มอื่น และสร้างความยากลำบากในการดำเนินชีวิตแก่ผู้มาใหม่อย่างมาก โดยเฉพาะถ้าคำนึงถึงว่าอเมริกาเป็นสังคมของผู้อพยพและความหลากหลายอย่างแท้จริง ประวัติศาสตร์ของอเมริกาได้ต้อนรับผู้อพยพมากกว่า 50 ล้านคนแล้ว และยังเปิดรับอีกกว่า 7 แสนคนทุกปี ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่สังคมอเมริกันให้คุณค่าอย่างยิ่ง เด็กอเมริกันจำนวนมากเติบโตมาด้วยความรู้อย่างน้อยสองภาษา

ในขณะที่ฝ่ายที่สนับสนุนให้มีภาษาทางราชการอ้างว่า ความหลากหลายจะทำให้สังคมอเมริกันขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่งานวิจัยที่ออกมาชี้ว่า ในขณะที่ภาษาของชนกลุ่มน้อยมีจำนวนมากขึ้น แต่ผู้อพยพรุ่นใหม่ก็สนใจเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้นเช่นกัน และมีแนวโน้มจะละทิ้งภาษาเดิมของตนเร็วขึ้นกว่าผู้อพยพรุ่นแรกๆ การที่ผู้อพยพจะถูกประสมกลมกลืนเข้ากับสังคมใหม่เร็วขึ้นนั้น มิใช่ด้วยการบังคับให้เขาต้องเรียนภาษาอังกฤษแต่เพียงอย่างเดียว (ที่อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านมากกว่า) แต่ด้วยพลังทางเศรษฐกิจ การพัฒนา (เช่นการขยายถนนหนทาง ไฟฟ้า) สื่อสมัยใหม่ (ทีวี ภาพยนตร์ ดนตรี) มากกว่า

ในกรณีสิงคโปร์แม้ว่าจะเป็นประเทศเล็กๆ มีประชากรแค่ 3.5 - 4 ล้านคน และเป็นรัฐอำนาจนิยม แต่สิงคโปร์กลับมีภาษาราชการถึง 4 ภาษาคือ แมนดาริน, มลายู, ทมิฬ (ใช้ในหมู่คนเชื้อสายอินเดีย) และอังกฤษ เพราะคนสี่กลุ่มคือ จีน, มาเลย์, อินเดีย, และชาวตะวันตกเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมสิงคโปร์ ที่ผูกพันกับประวัติศาสตร์การสร้างชาติสิงคโปร์มาตั้งแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษ

จริงอยู่ แม้ว่าคนว่าเชื้อสายจีนจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ครอบงำระบบเศรษฐกิจ และการเมืองของสิงคโปร์มาโดยตลอด แต่รัฐบาลสิงคโปร์กลับระมัดระวังอย่างยิ่ง ที่จะไม่ปล่อยให้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม กลายมาเป็นปัญหาระดับชาติที่อาจกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศไปได้ง่ายๆ กล่าวคือ หากดูแผนที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นได้ว่าสิงคโปร์เป็นชุมชนเล็กๆ ของคนจีน ที่ถูกห้อมล้อมโดยเพื่อนบ้านที่เป็นมุสลิมทุกด้าน ซึ่งนี่เป็นประเด็นความมั่นคงที่รัฐบาลสิงคโปร์คำนึงถึงตลอดมา รัฐบาลจึงมีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งและแสดงความยอมรับวัฒนธรรมของคนทุกกลุ่มในสังคม

ตัวอย่างที่ดีคือ รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศให้วันสำคัญทางศาสนาของคนทั้งสี่กลุ่มเป็นวันหยุดทางราชการคือ วันตรุษจีน สำหรับคนเชื้อสายจีน, วันฮารีรายอ สำหรับคนมาเลย์-มุสลิม วันทีปวาลี สำหรับชาวฮินดู และคริสต์มาสสำหรับชาวคริสต์และฝรั่ง

รัฐบาลสิงคโปร์ยังมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่ารัฐไทยมาก ในการใช้ประโยชน์จากภาษา เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ ทั้งๆ ที่เด็กสิงคโปร์ส่วนใหญ่ได้เรียนภาษาจีนเป็นภาษาที่สองตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนจบมัธยม ความรู้ภาษาจีนอยู่ในระดับที่สามารถติดต่อกับคนจีนในจีนได้อย่างสบาย แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็เห็นว่ายังไม่ดีพอ ฉะนั้น ในช่วงทศวรรษที่ผ่าน นับแต่จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงพยายามส่งเสริมให้การเรียนการสอนภาษาจีนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นมาโดยตลอด

สิงคโปร์มีการลงทุนมหาศาลในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน ภาษามลายูจึงเป็นเครื่องมืออันวิเศษ ที่คนสิงคโปร์ใช้ในการติดต่อกับผู้คนในสามประเทศนี้ คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ที่มีเชื้อสายจีนจึงพูดภาษามลายูได้ด้วย

ในช่วงเวลาหลายปีที่ผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่ในสิงคโปร์ ผู้เขียนรู้สึกประทับใจกับ "เจ๊ลิ้ม" เป็นอย่างมาก เจ๊ลิ้มเป็นจีนฮกเกี้ยน อายุราว 50 ปี เป็นเจ้าของร้านขายของชำเล็กๆ อยู่ตรงใต้ถุนของคอนโดฯ ที่ผู้เขียนเคยอยู่ (แม้จะเป็นร้านขายของชำ แต่มีบริการอื่นๆ ด้วยเช่นเป็นเอเย่นต์ให้กับร้านซักรีด, ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า, ล้างอัดรูป ฯลฯ) เจ๊ลิ้มไม่ได้มีการศึกษาสูงอะไร แต่กลับมีความสามารถในการใช้ภาษาหลากหลายมาก

แมนดารินและจีนฮกเกี้ยนเป็นภาษาที่เจ๊ลิ้มถนัดที่สุด แต่ลูกค้ากว่าครึ่งของเจ๊ลิ้มเป็น พวก "expat" ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เธอจึงต้องรู้ภาษาอังกฤษด้วย แม้ว่าความรู้ภาษาอังกฤษของเธอจะค่อนข้างจำกัดพูดแบบ "Broken English" แต่ก็มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้ ธุรกิจของเธอยืนอยู่ได้ ลูกค้า "expat" ของเจ๊ลิ้มล้วนชื่นชอบเธอกันทั้งนั้น เพราะไม่ว่าจะสั่งอะไรเจ๊ลิ้มสามารถทำให้ได้อย่างไม่ผิดพลาด ไม่แต่เพียงเท่านั้น ผู้เขียนยังค้นพบในเวลาต่อมาว่าเจ๊ลิ้มพูดภาษามลายูได้อีกด้วย เพราะเห็นเธอคุยกับคนงานมาเลย์ จึงถามเธอว่าไปเรียนมาจากไหน เธอเล่าว่า เมื่อก่อนชุมชนที่เธออยู่มีคนมาเลย์อยู่มาก จึงทำให้เธอพูดได้

เจ๊ลิ้มมิใช่เป็นกรณียกเว้น แต่เป็นกรณีทั่วไปที่เราพบได้ในสังคมสิงคโปร์ คนตัวเล็กๆ อย่างเจ๊ลิ้มที่มีอยู่ทั่วไปในสิงคโปร์นี่แหละ ที่เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้สิงคโปร์กลายมาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (regional hub) ได้อย่างไม่ยากเย็น ลำพังลี กวน ยิว หรือผู้นำไม่กี่คนย่อมไม่มีทางทำได้

หากเรามองให้ลึกลงไป เราจะพบว่าภาษาที่หลากหลาย ได้ช่วยทำให้ผู้คนในชุมชนนั้น ได้พบปะสังสรรค์ รู้จักทำความเข้าใจต่อกันมากขึ้น และนี่ต่างหากคือแบบแผนของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของโลกสมัยใหม่ ที่ควรจะเป็นโลกที่นับวันความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา ได้กลายมาเป็นเงื่อนไขของความรุนแรงมากขึ้นทุกที การรับมือกับปัญหาใหม่ด้วยความคิดแบบเก่าจึงไม่ได้ผลอีกต่อไป

สังคมไทยนั้นคุ้นเคยกับการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยการทำให้คนทั้งหลาย "เหมือนกันหมด" โดยไม่ตระหนักว่าความหลากหลายที่ถูกทำลายไปนั้นมีราคาแพงเพียงใด

นับแต่ยุคจอมพล ป.เป็นต้นมา โรงเรียนจีนที่สอนภาษาจีนได้ถูกปิดกั้น-กดดัน จากรัฐบาลจนต้องปิดตัวไปตามๆ กัน "ลูกจีน" ในรุ่นของผู้เขียนจึงแทบไม่มีความรู้ภาษาจีนเอาเสียเลย แต่ถึงวันนี้เรากลับต้องพยายามดิ้นรนให้เด็กไทยหันมาสนใจภาษาจีนกันมากขึ้น คนไทยในปัจจุบันถึงกลายเป็นพวกภาษาเดี่ยว (monolingual) ที่มีความสามารถทางภาษาต่ำมาก

ในทำนองเดียวกัน รัฐไทยมีแนวโน้มจะมองภาษามลายูที่ใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยมิติทางการเมืองแบบชาตินิยมมากเกินไป แต่ไม่มองว่าภาษามลายูได้เอื้อให้คนในสามจังหวัดสามารถติดต่อค้าขาย หรือเข้าไปหางานทำในมาเลเซียได้ง่ายขึ้น ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ดำเนินมาช้านานแล้ว ในทางกลับกันการเปิดโอกาสให้ภาษามลายูเป็นภาษาที่ใช้ในการทำงาน ก็อาจเป็นแรงจูงใจให้คนจากที่อื่นที่ไปทำงานในสามจังหวัด เช่น ข้าราชการ ครู หมอ หันมาเรียนรู้มลายูกันมากขึ้น คนเรานั้นหากพูดภาษาเดียวกันได้ ความไว้วางใจก็เกิดได้ไม่ยาก

ข้อเสนอเรื่องให้มลายูเป็นภาษาที่ใช้ในการทำงานในสามจังหวัดภาคใต้ จึงเป็นข้อเสนอที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง และมิใช่สิ่งที่ยากเย็นเกินกว่าจะนำไปปฏิบัติได้ ขอเพียงเราปรับเปลี่ยนมุมมองต่อภาษาเสียใหม่เท่านั้น อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา กอส.เองก็ยังไม่มีโอกาสได้อธิบายต่อสาธารณชนให้ชัดเจนเพียงพอว่า ภาษาในการทำงานนั้นมีความหมายและขอบเขตกว้างขวางเพียงไร ใช้อย่างไร ในรูปแบบใดบ้าง จึงเป็นหน้าที่ของ กอส.และทุกฝ่ายที่เห็นด้วยที่จะต้องรณรงค์-ผลักดัน-ทำความกระจ่างในเรื่องที่มีความสำคัญเช่นนี้ต่อสาธารณชนต่อไป

ตีพิมพ์ใน มติชน วันที่ 05 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10343
(บทความนี้ได้รับมาจาก ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์)

Puangthong Rungswasdisab Pawakapan (Ph.D)
Department of International Relations
Chulalongkorn University
Bangkok 10330







สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 950 เรื่อง หนากว่า 15000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



120749
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องภาษา
บทความลำดับที่ ๙๗๐ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
ในอดีตที่ผ่านมา ได้มีความพยายามหลายครั้งที่จะผลักดันให้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาทางราชการของอเมริกา แต่ล้มเหลวมาโดยตลอด เช่น ในปี ค.ศ.1780 จอห์น อดัมส์ เสนอให้มีการตั้ง Official Language Academy เพื่อสร้างภาษาอังกฤษมาตรฐานขึ้นมา แต่ถูกปฏิเสธจากสภาคองเกรส ที่เห็นว่าแนวคิดเช่นนี้ "เป็นภัยต่อเสรีภาพส่วนบุคคล" และไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล

ในศตวรรษต่อมา ประธานาธิบดีรูสเวลธ์พยายามปฏิรูปการสะกดคำก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน ในทางกลับกัน สภาคองเกรสยุคนั้นไม่เห็นว่าเป็นเรื่องประหลาด ที่จะพิมพ์วารสารหรือเอกสารราชการเป็นภาษาเยอรมัน และฝรั่งเศสด้วย (คนสองกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพกลุ่มใหญ่รุ่นแรกๆ ของอเมริกา) และในศตวรรษที่ 19 เอกสารทางราชการไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ บันทึกการประชุมจึงปรากฏในหลากหลายภาษา เช่น เวลช์, เช็ก, นอร์เวย์, สเปน, ฝรั่งเศส และเยอรมัน
...
รัฐบาลของคลินตันแสดงจุดยืนชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ส่วนบุช จูเนียร์ ไม่มีท่าทีชัดเจนในเรื่องนี้ ...

ความสามารถในการใช้ภาษาของเด็กไทยเวลานี้ เท่าที่ผมสังเกตเห็นจากข้อเขียนของเขาก็ดูจะแย่ๆ สักหน่อย ผมไม่ได้ห่วงว่าจะเป็น "ภาษาวิบัติ" หรอกครับ แต่ผมห่วงว่าการใช้ภาษาอย่างมีประสิทธิภาพนั้นเป็นพลังอย่างหนึ่ง การเลือกใช้คำ, การวางรูปประโยค, การใช้จังหวะให้เป็น (คือหยุดหรือเว้นวรรคเป็น) ฯลฯ ล้วนทำให้เขาสามารถสื่ออะไรที่ลึกกว่าความหมายดาษๆ เช่น สื่ออารมณ์, สื่อคุณค่า, สื่อความซับซ้อน, สื่อความรู้สึก ฯลฯ ได้มาก และตรงนี้เป็นความหมายที่มีพลังเสียยิ่งกว่าความหมายของคำตามพจนานุกรม

the midnightuniv website 2006