Free Documentation
License
Copyleft : 2006,
2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document, but changing it is not allowed.
หากนักศึกษา
และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
The Midnight
University
เกี่ยวกับรัฐศาสตร์และสังคมวิทยา
พื้นที่ทางการเมืองภาคใต้
ภาษา และวัฒนธรรมความรุนแรง
ศ.ดร.นิธิ
เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้
เคยเผยแพร่แล้ว
บนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน ประกอบด้วยบทความ ๓ เรื่องดังนี้
๑. พื้นที่ทางการเมืองในภาคใต้
๒. ภาษาประจำชาติ
๓. วัฒนธรรมความรุนแรง
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 963
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๓ กรกฎาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
9.5 หน้ากระดาษ A4)
พื้นที่การเมืองภาคใต้
ภาษา และวัฒนธรรมความรุนแรง
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ - นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
1. พื้นที่ทางการเมืองในภาคใต้
ข่าวที่ไม่เป็นข่าวในสามจังหวัดภาคใต้ในเวลานี้มีมากมาย เพราะเรื่องราวของดินแดนนี้ในสื่อถูกบีบให้เหลือเพียงการก่อความไม่สงบและการปราบปราม
ในบรรดาข่าวที่ไม่เป็นข่าวเหล่านี้ คือ"พื้นที่ทางการเมือง"ซึ่งประชาชนเคลื่อนไหวโดยเปิดเผย
เพื่อต่อรองกับนโยบายของรัฐ
รอบอ่าวปัตตานี ประมงชายฝั่งได้เคลื่อนไหวมานานก่อนวันที่ 4 ม.ค.2547 เพื่อร่วมกันรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง อันเป็นแหล่งทำมาหากินของประชาชนหลายพันครอบครัว ปัญหาของเขาไม่ได้เกิดจากรัฐโดยตรง แต่เกิดจากการที่รัฐปล่อยปละละเลยให้ทุนขนาดใหญ่ ทำการประมงที่สร้างความย่อยยับแก่ทรัพยากร คือเรืออวนลากอวนรุน
การต่อสู้ของประชาชนจึงแบ่งออกได้เป็นสองส่วนที่เชื่อมโยงกัน
- ส่วนแรก ได้แก่ การเข้าไปขัดขวางเรืออวนลากอวนรุนเหล่านี้โดยตรง ด้วยวิธีการนานาชนิด แต่ไม่ได้ผล เหตุผลก็เพราะจำนวนของเรือประเภทนี้มีมาก รวมทั้งทุนก็มาก เกินกำลังที่ชาวบ้านจะจัดการเองได้
- ส่วนที่สอง คืออาศัยอำนาจรัฐเข้าไปร่วมจัดการ เพราะการกระทำของเรือเหล่านี้ล้วนผิดกฎหมายทั้งสิ้น แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐเองกลับปล่อยปละละเลย ไม่จัดการให้เป็นไปตามกฎหมาย ฉะนั้นก็ต้องบังคับให้รัฐใช้อำนาจตามหน้าที่ โดยมีชาวประมงชายฝั่งให้ความร่วมมือด้านกำลังคนและอื่นๆ
กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งรอบอ่าวปัตตานี เคยเข้าร่วมกับสมัชชาคนจนในครั้งรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จนได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ตั้งงบประมาณซื้อเรือตรวจการณ์ให้ชาวบ้านใช้ (โดยชาวบ้านจัดการจ้างต่อขึ้นเองในราคาถูกกว่าที่ราชการสามารถทำได้) แม้มีเครื่องมือพร้อม แต่ชาวบ้านก็ต้องเผชิญกับความไม่ร่วมมือของข้าราชการในพื้นที่ ซึ่งมีอำนาจจับกุมตามกฎหมาย เช่น ตำรวจ, ประมง,จังหวัด ฯลฯ ทำให้ชาวบ้านไม่มีอำนาจรัฐที่จะเข้าไปขัดขวางการทำประมงแบบล้างผลาญของทุนได้
หากไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ พื้นที่ทางการเมืองส่วนนี้ก็อาจขยายไปสู่การผลักดันให้รัฐต้องทำอะไรอื่นมากขึ้น จะเป็นการเร่งรัดให้หน่วยราชการในพื้นที่ร่วมมือกับชาวบ้าน หรือไปจนถึงการออกกฎหมายให้"พลเมืองดี"สามารถขัดขวางหรือจับกุมอาชญากรได้ในบางกรณีเป็นต้น แต่ในปัจจุบัน ทุกอย่างยังชะงักงันอยู่ที่เดิม เพราะพื้นที่ทางการเมืองของภาคประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้ถูกปิดลงโดยปริยาย
ในเขตรอยต่อของสามจังหวัด ปัจจุบันเป็นเขตอุทยานแห่งชาติบูโดปาดี กินดินแดนทั้งสามจังหวัด ประกอบด้วยอำเภอเจาะไอร้อง,สุไหงปาดี,ระแงะ,บาเจาะ,รามัน และกะพ้อ พื้นที่นี้อยู่ในเขตป่าสงวนฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ประชาชนในพื้นที่ก็ยอมรับโดยดี และใช้ประโยชน์จากป่าตามที่กฎหมายอนุญาตไว้ แต่ในปี พ.ศ.2542 (ภายใต้รัฐบาลประชาธิปัตย์ - ที่ต้องระบุไว้ด้วยก็เพื่อให้หัดรู้จักรับผิดชอบบ้าง ไม่ใช่เอาแต่ด่าคนอื่นลูกเดียว) อธิบดีกรมป่าไม้ก็ประกาศให้บูโดปาดีเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ประชาชนในพื้นที่ไม่อาจเข้าไปตัดยางและเก็บทุเรียน หรือสะตอได้
แม้แต่เอาวัวเข้าไปเลี้ยงก็ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์พื้นที่นี้ตลอดมา กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชนนับตั้งแต่นั้นมา ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความไม่สงบในภาคใต้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 แต่อย่างใด แต่ชุมชนหมู่บ้านที่อยู่รายรอบเขตอุทยานบูโดปาดีในทุกวันนี้ ถูกทางราชการจัดว่าเป็นพื้นที่สีแดงถึง 56%
แทนที่พื้นที่ทางการเมืองสำหรับการต่อรองระหว่างประชาชนและรัฐ ซึ่งกระทำโดยสงบและถูกต้องตามกฎหมาย จะขยายตัว เพื่อบีบบังคับให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบาย กลับต้องหดตัวแคบลงเพราะความรุนแรงที่ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายก่อการกระทำต่อกัน (อย่างสุ่มสี่สุ่มห้าทั้งคู่) ไม่มีพื้นที่ทางการเมืองที่ประชาชนอาจเคลื่อนไหวโดยสงบเหลือที่ใดอีก หากจะเคลื่อนไหวก็มีเพียงการเข้าไปหนุนช่วยฝ่ายรัฐ ด้วยความหวังว่าจะสามารถทำให้รัฐฟังปัญหาของตนบ้าง แต่ต้องเสี่ยงกับการก่อการร้ายของฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ หรือในทางตรงกันข้าม เข้าไปหนุนช่วยฝ่ายก่อการเพื่อขจัดอำนาจรัฐ"ที่ล้มเหลว"ออกไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งก็ต้องเสี่ยงกับการถูกอุ้มฆ่าหรือการก่อการร้ายโดยรัฐ
ความตึงเครียดเพราะความหวาดระแวง อันเป็นผลมาจากการตกอยู่ท่ามกลางการก่อการร้ายของสองฝ่าย ทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่อาจเปิดพื้นที่ทางการเมือง เพื่อเคลื่อนไหวโดยสงบได้เลย โดยปราศจากพื้นที่อย่างสิ้นเชิงเช่นนี้ ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นจึงเป็นปัญหาระหว่างรัฐกับกลุ่มคนที่ก่อความไม่สงบ ประชาชนไม่มีตัวตนอยู่ในความขัดแย้งซึ่งบั่นทอนชีวิตของเขา ทั้งที่ทำให้ปราศจากลมหายใจและทั้งที่ยังหายใจอยู่
ปราศจากพื้นที่ แต่ปัญหาก็ยังอยู่เหมือนเดิม หรือบางกรณีหนักยิ่งกว่าเดิมเสียอีก
ในความเป็นจริง พื้นที่ทางการเมืองเหล่านี้เป็นพื้นที่ในรัฐไทย เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญไทย และจากประเพณีการปกครองของไทยเอง ฉะนั้นการเคลื่อนไหวในพื้นที่ทางการเมืองเหล่านี้ แม้เป็นการประท้วงต่อรัฐ ก็ยังแสดงว่าประชาชนเลือกที่จะแสวงหาและสร้างพื้นที่ทางการเมืองขึ้นในรัฐไทยอยู่นั่นเอง
การที่ประชาชนพากันมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในปี พ.ศ.2548 อย่างท่วมท้น แม้เพื่อแสดงให้เห็นความไม่พอใจรัฐบาลที่ปกครองอยู่ในเวลานั้น ก็เป็นการแสดงออกในพื้นที่ตามกฎหมายไทย และประเพณีการปกครองของไทย แม้แต่การประท้วงการจับกุมผู้ต้องหาของตำรวจที่ สภ.อ.ตากใบ ก็ยังเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ประชาชนเลือกจะเปิดพื้นที่ทางการเมืองขึ้นในรัฐไทย ฉะนั้นความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนในครั้งนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่สุด เพราะรัฐเองปิดพื้นที่ทางการเมืองของประชาชนลงไปโดยสิ้นเชิง
หลังเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นต่อเนื่องกันมากว่า 2 ปี และหลังจากที่ประชาชนต้องเผชิญกับการก่อการร้าย จากทั้งฝ่ายผู้ก่อการและรัฐมาอย่างหนัก คงเป็นการยากเสียแล้วที่ฝ่ายประชาชนจะสามารถเป็นผู้นำในการเปิดพื้นที่ทางการเมืองขึ้นมาเองได้อีก นโยบายของรัฐที่บั่นทอนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เช่นการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่มีการสำรวจและโอนอ่อนต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านก็ตาม การพล่าผลาญทรัพยากรโดยทุนซึ่งได้รับความยินยอมจากรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม กลายเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องจำทนอย่างไม่มีทางเลือก
หากความสงบจะกลับคืนมาได้ รัฐควรเป็นฝ่ายที่จะต้องสร้างพื้นที่ทางการเมืองให้เกิดขึ้นในภาคใต้ ต้องเป็นพื้นที่ซึ่งปลอดภัย และเป็นพื้นที่แห่งการเจรจาต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน จะทำเช่นนั้นได้ รัฐต้องยุติการก่อการร้ายของฝ่ายตนลงอย่างเด็ดขาดและฉับพลัน
ตลาดจะเปิดหรือปิดในวันศุกร์ไม่สำคัญ เพราะการสูญเสียอำนาจในการควบคุมพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้าไปบางส่วน ไม่มีนัยสำคัญแก่รัฐไทยนัก แต่การสูญเสียความสามารถที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจว่า มีพื้นที่ทางการเมืองสำหรับการต่อรองอย่างเสรีและเท่าเทียมกับกลุ่มคนที่ทำความเดือดร้อนแก่เขา ย่อมเป็นประเด็นสำคัญแก่ความเป็นรัฐที่ไม่"ล้มเหลว"มากกว่า
หากโอกาสเปิดสำหรับการเกิดพื้นที่ทางการเมืองเช่นนี้จริง จะมีประชาชนในพื้นที่เข้ามาใช้มากขึ้น หรือสร้างพื้นที่ใหม่สำหรับประเด็นปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย รัฐอาจต้องเดือดร้อนกับการเจรจาต่อรองและเรียกร้องนานาชนิด แต่โดยไม่จำเป็นต้องลั่นกระสุนสักนัดเดียว ผู้คนจำนวนมากจะเข้ามาใช้รัฐไทยเป็นเวทีสำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตน อย่างเปิดเผยและอย่างสงบ
ปล่อยให้การลั่นกระสุนและการก่อการร้ายเป็นการกระทำของฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์เพียงฝ่ายเดียว อันเป็นการกระทำที่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปเปิดพื้นที่ทางการเมืองได้เลย
เขาจะเลือกใช้พื้นที่ใดสำหรับชีวิตของเขา
2. ภาษาประจำชาติ
(ผมขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้นิดเดียว เพื่อทำความกระจ่างแก่บทความเรื่อง "พื้นที่ทางการเมืองในภาคใต้"
ของผม กล่าวคือ ในบทความนั้น ผมกล่าวถึงความพยายามของชาวประมงชายฝั่งรอบอ่าวปัตตานีในการอนุรักษ์ทรัพยากร
ชาวบ้านไม่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการในพื้นที่ ในการกีดกันมิให้เรืออวนลากอวนรุนเข้ามาจับสัตว์น้ำด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย
ความจริงแล้วมีข้าราชการบางคนในบางช่วง เช่น ประมง, ฝ่ายปกครอง หรือแม้ ตชด.-
ซึ่งมีอำนาจจับกุมหรือขัดขวางตามกฎหมาย-ที่เห็นความสำคัญของความพยายามของชาวบ้านสู้อุตส่าห์ลงเรือร่วมกับชาวบ้าน
เพื่อให้การดำเนินงานมีความถูกต้องตามกฎหมายและได้ผล อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นการกระทำของบุคคล
ไม่ใช่ของระบบราชการอย่างที่ควรจะเป็น)
ในบรรดาสัญลักษณ์ที่รองรับความเป็นชาติต่างๆ ภาษาเป็นสัญลักษณ์ที่ลื่นไหลที่สุด กล่าวคือ ไม่มีรูปแบบตายตัวเหมือนธงชาติหรือชุดแต่งกายประจำชาติ เพราะภาษาใดก็ตามที่ถูกใช้โดยมนุษย์ย่อมแปรเปลี่ยนไปตามเวลาและสถานที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันภาษากลับมีความสำคัญสูง เพราะภาษาแบกรับอัตลักษณ์ของผู้คนที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตจริงแทบจะทุกเวลานาที (แม้แต่ในความฝันยังมีภาษา) ฉะนั้น ผู้คนจึงยึดติดภาษาอย่างแน่นแฟ้นเสียยิ่งกว่าสัญลักษณ์อื่นที่มีรูปแบบตายตัวเป็นอันมาก
ด้วยเหตุดังนั้น สังคมที่รู้จักใช้สติปัญญาในการจัดการชาติ จึงมักปล่อยให้ภาษาประจำชาติมีความลื่นไหลมากๆ ในสหราชอาณาจักร มีกลุ่มที่พยายามจะจรรโลงภาษาเวลช์ และภาษาสก๊อตไว้ อย่างน้อยก็เพื่อให้อัตลักษณ์ความเป็นสก๊อตและเวลช์ไม่ถูกอังกฤษกลืนหายไป
ในสหรัฐ เคยมีความพยายามจะสถาปนาสำเนียงภาษาอังกฤษของแถบตะวันตกกลางขึ้นเป็นสำเนียงภาษาอเมริกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะถูกคัดค้านจากประชาชนในแถบอื่นของประเทศ ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือเป็นช่องทางให้เกิดการเลือกปฏิบัติ
ในปัจจุบัน คนอเมริกันมีสำนึกยอมรับว่า นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว พลเมืองอเมริกันใช้ภาษาอื่นในชีวิตจริงอยู่อีกหลายภาษา เช่น ภาษาเสปน จีน ญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมัน และภาษาในยุโรปกลาง ประกาศของ "ทางการ" (โดยเฉพาะรัฐบาลของมลรัฐ) เป็นอันมากที่เป็นสองภาษา เพื่อให้พลเมืองที่อ่านภาษาอังกฤษไม่ออกสามารถเข้าใจได้ เพราะชาติย่อมมีสมรรถภาพสูงที่จะเปลี่ยนภาษาเพื่อให้พลเมืองเข้าใจและเข้าถึง ในขณะที่พลเมืองในฐานะบุคคลย่อมมีสมรรถภาพน้อยมากที่จะเข้าใจ หรือเข้าถึงชาติได้หากชาติไม่ใช้ภาษาที่ตัวรู้จัก
เช่นเดียวกับแคนาดา ที่เลือกจะใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาประจำชาติควบคู่กันไปกับภาษาอังกฤษ
พลเมืองย่อมต้องการชาติที่เขาเข้าถึงได้ มิฉะนั้นชาติก็เป็นเพียงกองกำลังติดอาวุธซึ่งเรียกร้องแต่การยอมจำนน ไม่ใช่ความภักดี
ฉะนั้น เอาเข้าจริงแล้ว ภาษาอังกฤษในสหรัฐคือ "working language" คือภาษาเพื่อการใช้งาน กล่าวคือ เป็นประโยชน์แก่ผู้คนไม่เฉพาะเพียงได้รู้คำสั่งของรัฐ (ซึ่งในหลายกรณีก็มีภาษาอื่นกำกับอยู่ด้วย) แต่เพื่อให้เขาดำเนินชีวิตและเปิดช่องทางการพัฒนาตัวเองได้สะดวกขึ้น
ควรเข้าใจด้วยว่า ศักยภาพในแง่นี้ของภาษาอังกฤษไม่ได้เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจรัฐบีบบังคับให้เป็นไป แต่ด้วยเงื่อนไขปัจจัยอื่นๆ นอกชาติอเมริกัน (และอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา แอฟริกาใต้ ฯลฯ) ทำให้ภาษาอังกฤษมีสถานะอย่างที่มีอยู่ในโลกเวลานี้ ดังที่รัฐต่างๆ ซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติ ผลักดันให้พลเมืองของตนรู้ภาษาอังกฤษ
ภาษาไทยจะมีคุณค่าแก่คนที่ไม่ได้พูดภาษาไทยมาแต่กำเนิดอย่างไร จึงไม่อาจอาศัยอำนาจรัฐข่มขี่ให้เกิดขึ้นตามใจชอบ แต่ขึ้นอยู่กับว่าสังคมเจ้าของภาษาจะสามารถพัฒนาศักยภาพของภาษาไทยให้ตอบสนองความต้องการในชีวิตของคนได้มากน้อยแค่ไหนต่างหาก ตราบเท่าที่ไม่มีตำราอิสลามศึกษาซึ่งเป็นที่ยอมรับของโลกมุสลิมในภาษาไทย ชาวมุสลิมก็จำเป็นต้องเรียนภาษามลายูและอาหรับเพื่ออ่านตำราออก เช่นเดียวกับตราบเท่าที่ไม่มีตำราเคมี ซึ่งโลกวิชาการสาขาเคมียอมรับในภาษาไทย คนที่อยากเป็นนักเคมีก็ต้องเรียนภาษาอังกฤษ (หรือฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย ญี่ปุ่น ฯลฯ) เพื่ออ่านตำราเหล่านั้น
ในแง่นี้ภาษามลายูก็เหมือนภาษาต่างประเทศอื่นๆ คือ ช่วยการศึกษาหาความรู้ของพลเมืองในเรื่องที่เขาสนใจและให้ความสำคัญ
ยิ่งกว่านี้ ภาษามลายู (ท้องถิ่น) ยังเป็นภาษาน้ำนมของพลเมืองของชาติกว่า 1 ล้าน 5 แสนคน ที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าเขาจะสนใจศึกษาศาสนาหรือไม่ ภาษามลายู (ท้องถิ่น) เป็นภาษาที่เขาต้องใช้ในวิถีชีวิตของเขา นับตั้งแต่สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ไปจนถึงสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษผ่านภาษามลายู (ท้องถิ่น) ฉะนั้น ภาษามลายูจึงเป็นส่วนสำคัญของอัตลักษณ์ของคนมลายู หากเขาพูดหรืออ่านภาษาอื่นได้อีกด้วย ก็นับเป็นข้อได้เปรียบของเขา แต่การไม่สามารถพูดหรืออ่านภาษามลายูได้เลยจะเป็นข้อเสียเปรียบอย่างที่ไม่มีภาษาอื่นใดมาทดแทนได้เลย (หากเขายังใช้ชีวิตอยู่ในสังคมชายแดนภาคใต้)
หลายคนในบรรดาผู้คนเหล่านี้ มีความสามารถในภาษาอื่นค่อนข้างต่ำ ถึงพูดภาษาไทยพอได้ แต่ไม่คล่องพอที่จะใช้ภาษาไทยถ่ายทอดความคิดความรู้สึกลึกๆ ของตัวได้ ยังไม่พูดถึงใช้ภาษาไทยในการชี้แจงแสดงเหตุผลที่สลับซับซ้อนตามเงื่อนไขปัจจัยของโลกปัจจุบัน ทำให้การต่อรองกับใครบนเวทีประเทศไทยได้ลำบาก
เป็นเวลาสัก 20 ปีมาแล้ว ที่ผู้ปกครองของนักเรียนในภาคใต้พบว่า การศึกษาวิชาสามัญรวมทั้งภาษาไทย ซึ่งใช้เป็นสื่อการสอนหลักในการเรียนวิชาสามัญ มีความสำคัญแก่อนาคตของลูกหลานของเขา คุณภาพการศึกษาที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของนักเรียนในภาคใต้ ไม่ได้เป็นที่วิตกแก่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของชาติเท่านั้น ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนเองก็มีความวิตกห่วงใยเหมือนกัน
แสดงว่า ทั้งๆ ที่ภาษาไทยยังไม่สามารถเข้าไปมีบทบาทแทนที่ภาษามลายูและอาหรับ ประชาชนก็มองเห็นคุณค่าของภาษาไทยแล้ว ปัญหามาอยู่ที่ว่า จะสอนภาษาไทยแก่เด็กที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยในครอบครัวอย่างไรจึงจะได้ผลดีต่างหาก
จากการวิจัยของธนาคารโลกชิ้นหนึ่งพบว่า การใช้ภาษาน้ำนมที่เด็กคุ้นเคยเป็นสื่อการสอนในขั้นปฐมวัยและชั้นประถม จะให้ผลดีด้านการศึกษาสูงกว่า รวมทั้งการเรียนภาษาใหม่ด้วย หมายความว่าเด็กควรเรียนภาษาไทยในชั้นประถม แต่เรียนจากภาษามลายู (ท้องถิ่น) (เหมือนที่คนไทยเรียนภาษาอังกฤษจากภาษาไทย) และค่อยๆ เพิ่มความสามารถในภาษาไทยไปทีละน้อยตามทักษะทางภาษาของเด็ก เมื่อเด็กจบชั้นประถม ภาษาไทยของเขาน่าจะอยู่ในขั้นที่สามารถติดตามการสอนด้วยภาษาไทยได้พอสมควร
นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการใช้ภาษามลายู (ท้องถิ่น) เป็นภาษาใช้งานหรือ working language ตามที่ กอส.เสนอ
ภาษาใช้งานยังหมายถึง การใช้ภาษามลายูในสื่อ (โดยเฉพาะของรัฐ-ถ้ารัฐต้องการเป็นฝ่ายแจ้งข่าวแก่ประชาชน) ในประกาศของทางราชการ รวมทั้งทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่คนซึ่งไม่อาจพูดภาษาไทยได้ถนัด สามารถใช้ภาษามลายูที่อำเภอ สถานีตำรวจ ศาล ธนาคาร โรงพยาบาล ฯลฯ ตามความจำเป็น ล่ามที่สามารถใช้งานได้ในพื้นที่สามจังหวัด ไม่ใช่บุคลากรที่หายากแต่อย่างไร อยู่ที่หน่วยงานอยากจะให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้หรือไม่ต่างหาก
หลายคนชอบอ้างพระราชดำรัสเรื่อง "เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ "เข้าถึง" ของเขามีความหมายแต่เพียงฝ่ายรัฐเป็นผู้เข้าถึงประชาชน หากประชาชนจะ "เข้าถึง" รัฐก็เข้าถึงได้เฉพาะภายใต้เงื่อนไขที่รัฐเปิดให้เท่านั้น ความ "เข้าใจ" ที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอยู่ในกรอบเงื่อนไขที่พอรับได้ ไม่ล้ำไปกว่านั้น ฉะนั้น การ "พัฒนา" ของเขาจึงมีความหมายถึงความเปลี่ยนแปลงที่รัฐเป็นผู้กำหนดเท่านั้น
ความหมายที่แท้จริงของพระราชดำรัสน่าจะเป็นการ "เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา" ด้วยจราจรสองทาง คือทางฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชนเหมือนกัน ภาษามลายู (ท้องถิ่น) ในฐานะ "ภาษาใช้งาน" คือช่องทางสำหรับการที่ประชาชนจะสามารถ "เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา" กับรัฐ เช่นเดียวกับที่รัฐอาจทำกับประชาชนได้กว้างขวางขึ้น ส่วนเงื่อนไขต่างๆ ที่ประกอบการ "เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา" เป็นเรื่องของการเจรจาต่อรองกันโดยสันติ (และเมื่อพูดว่า "โดยสันติ" ก็ต้องหมายถึงทั้งสองฝ่ายที่มีอำนาจในการเจรจาต่อรองที่เท่าเทียมกันด้วย)
มองอย่างไรก็มองไม่เห็นว่า ภาษามลายูในฐานะ "ภาษาใช้งาน" จะไปกระทบต่อภาษาประจำชาติได้อย่างไร เพราะ "ภาษาใช้งาน" เช่นนี้ต่างหากที่จะเปิดให้ประชาชนเข้าถึงรัฐและเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาได้อย่างแท้จริง การที่พลเมืองไทยจำนวนมากถูกกีดกันออกไปจาก "เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา" ของรัฐ น่าจะทำความวิตกห่วงใยอย่างหนักแก่ผู้ประกาศความ "รักชาติ" มิฉะนั้นแล้ว ความรักชาติก็ไร้ความหมาย
อนึ่งภาษามลายู (ท้องถิ่น) มีความใกล้เคียงอย่างมากกับภาษามลายูที่ใช้เป็นภาษาประจำชาติของมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน หมายความว่าเดินก้าวไปอีกนิดเดียวก็ทำให้คนพูดมลายู (ท้องถิ่น) สามารถพูด ฟัง อ่าน เขียน ภาษามาเลเซีย, อินโดนีเซีย และบรูไนได้
แท้จริงแล้วภาษามลายูเป็นภาษาที่มีผู้ใช้มากที่สุดในอุษาคเนย์ หากพลเมืองไทยกว่า 1 ล้าน 5 แสนคน รู้ภาษามาเลเซีย, อินโดนีเซีย และบรูไน อย่างดี ไม่ได้เป็นกำไรของชาติไทยหรอกหรือ
นโยบาย "ภาษาใช้งาน" ดังที่ กอส.เสนอ ทำให้ภาษามลายู (ท้องถิ่น) สามารถดำรงอยู่ต่อไปอย่างเข้มแข็งในแผ่นดินไทย ซ้ำยังอาจก้าวเลยไปถึงความรู้ด้านภาษามลายูที่ใช้ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกว้างขวาง ในขณะที่พลเมืองเหล่านั้นเรียนรู้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ซึ่งย่อมเป็นกำไรแก่ชีวิตของเขาอย่างปฏิเสธไม่ได้
ภาษาประจำชาติของไทยจะอ่อนแอลงเพราะเหตุนี้ได้อย่างไร
3. วัฒนธรรมความรุนแรง
ความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของทุกวัฒนธรรม รวมทั้งวัฒนธรรมไทยด้วย
ในแง่หนึ่ง ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ
คือใช้ความรุนแรง ไม่ใช่เพื่อความรุนแรง แต่ใช้เพื่อเป้าหมายอย่างอื่น เช่น ใช้เพื่อเอาชนะในความขัดแย้ง,
ใช้เพื่อปราบปรามคนชั่วหรือคนดื้อ, ใช้เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรี, หรือแม้แต่ใช้เพื่อ
"สันติภาพถาวร" ในแง่นี้แหละครับที่สันติวิธีเสนอเครื่องมืออื่นเข้ามาแทนที่
พร้อมทั้งพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า, สูญเสียน้อยกว่า และได้ผลยั่งยืนกว่าความรุนแรง
(ผมควรวงเล็บข้อสังเกตไว้ด้วยว่า สันติวิธีก็เป็นส่วนหนึ่งของทุกวัฒนธรรมด้วยเหมือนกัน)
ความรุนแรงในแง่ของเครื่องมือนั้น ผมคิดว่ามีในทุกวัฒนธรรม และเพราะมันเป็นวัฒนธรรม จึงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามแต่เงื่อนไขทางสังคมด้วย เช่น อาจใช้บ่อยขึ้นหรือใช้น้อยลง ตลอดจนให้ความหมายใหม่แก่วิธีการที่รุนแรงให้แรงขึ้นก็ได้ ให้มองไม่เห็นก็ได้ หรือให้ความหมายใหม่แก่ผู้กระทำความรุนแรงและเหยื่อก็ได้
คงไม่ต้องพูดกันยืดยาวก็มองเห็นอยู่แล้วว่า วัฒนธรรมไทยนับแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยปฏิเสธความรุนแรงในฐานะเครื่องมือ เพียงแต่พึงใช้ในเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัยเท่านั้น
แต่ยังมีความรุนแรงอีกแง่หนึ่ง ซึ่งผมก็อธิบายได้ไม่ชัดเหมือนกัน ผมขอเรียกว่าการให้คุณค่าแก่ความรุนแรงโดยตัวของมันเอง เพราะเอาความรุนแรงหรือศักยภาพที่จะใช้ความรุนแรงไปผูกกับอำนาจความรุนแรง ในแง่นี้ก็คงมีในทุกวัฒนธรรมเหมือนกันกระมัง เช่น รัฐโบราณมักใช้การลงโทษที่ทารุณโหดร้าย เพื่อแสดงพระราชอำนาจ (มากกว่ารักษาความสงบ)
อย่างไรก็ตาม ผมออกจะ "รู้สึก" ว่า วัฒนธรรมไทยเน้นคุณค่าของความรุนแรงไม่สู้จะมากนัก เช่น ในขณะที่มีการลงโทษอย่างทารุณโหดร้าย แต่กลับไปเน้นพระราชอำนาจที่ธรรมะบ้าง "พระมหากรุณาธิคุณ" บ้าง บุญญาบารมีบ้าง เป็นต้น
พระเอกในวรรณคดีเก่าของไทยกล้ามลีบนะครับ อ้อนแอ้นอรชร รูปร่างของพระเอกไม่แสดงศักยภาพของการใช้ความรุนแรงเลย โจรไพร่ที่ไหนเห็นก็นึกว่าจะเตะเล่นได้ง่ายๆ แต่พอต่อสู้เข้าจริงก็มีฤทธิ์เดชเพราะบารมีแต่หนหลังบ้าง เพราะมีเวทมนตร์บ้าง จนสามารถใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือปราบปรามศัตรูได้เหมือนดีดนิ้ว
ต่างจากเฮอร์คิวลิสนะครับ กล้ามใหญ่และแสดงศักยภาพของการใช้ความรุนแรงได้ชัดเจนเลย ผมมีความรู้เกี่ยวกับกรีกไม่พอจะบอกได้หรอกครับว่า กล้ามใหญ่ในวัฒนธรรมกรีกหมายถึงศักยภาพที่จะใช้ความรุนแรง หรือเป็นความงามอันสมบูรณ์ของมนุษย์เพศชาย
แต่อย่างที่บอกคือ "รู้สึก" ว่าวัฒนธรรมไทยแต่ก่อนให้คุณค่าแก่ความรุนแรงในตัวของมันเองน้อย อย่างน้อยก็น้อยกว่าปัจจุบัน ผมอยากจะเดาต่อด้วยว่า การให้คุณค่าแก่ความรุนแรงเช่นนี้มากับการสร้างชาติซึ่งได้รับอิทธิพลความคิดของฝรั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อย่างมาก
ชาติต้องมีความเข้มแข็ง ซึ่งมักมีความหมายถึงศักยภาพที่จะใช้ความรุนแรงอย่างมีประสิทธิภาพ "หากหวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ" เกณฑ์อย่างหนึ่งซึ่งมักใช้สำหรับตัดสินความเป็นมหาราชของกษัตริย์คือ รบเก่งหรือไม่ ในรัชสมัยขยายพระราชอาณาเขตไปได้กว้างขวางหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น
ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกิดความคิดในหมู่ฝรั่งว่าชนชาติต่างๆ นั้นล้วนมีอุปนิสัยประจำชาติที่สืบทอดกันมาอย่างไม่เสื่อมคลาย จึงมีชาติขี้เล่น, ชาติเคร่งเครียด, ชาติทหาร (martial race), ชาติ "ตัวเมีย" (feminine race), ฯลฯ ตามแต่จะว่ากันไป (ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ชัดเจนในงานนิพนธ์ของหลวงวิจิตรวาทการ) แล้วเราอยากเป็นชาติอะไร ก็ต้อง "ชาตินักรบ" สิครับ ("ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด") จึงทำให้ความเข้มแข็งของชาติมีความหมายที่เน้นศักยภาพของการใช้ความรุนแรงสูง
โชคดีที่ผู้นำไทยนับตั้งแต่ ร.5 สืบมาถึงสมัยหลัง ใช้ความเป็น "ชาตินักรบ" สำหรับปลุกใจประชาชนเท่านั้น แต่ไม่ได้เอาไปปลุกใจตัวเอง ต่างจึงมีสำนึกได้ดีว่า ในความเป็นจริงนั้น ศักยภาพของการใช้ความรุนแรงของไทยนั้นมีจำกัดมาก โดยเฉพาะกับอริราชศัตรู เราจึงประคองตัวมาได้ แม้อย่างทุลักทุเล แต่ก็ไม่ถึงกับย่อยยับอัปราในโลกแห่งความรุนแรงที่เราต้องเผชิญอยู่
แม้กระนั้น วัฒนธรรมทางราชการที่ปลูกฝังประชาชนให้ยกย่องคุณค่าของความรุนแรงในตัวของมันเอง ก็มีพลังอยู่ในสังคมไทยไม่น้อย คนไทยโดยเฉพาะที่ได้ผ่านการศึกษาในระบบและรับสื่อมากหน่อย เช่น คนชั้นกลาง จึงยกย่องศักยภาพที่จะใช้ความรุนแรง และมองเห็นการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือที่วิเศษอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ผมได้ความรู้สึกอย่างนี้จากการอ่านกระดานข่าวในเว็บไซต์ต่างๆ น่ะครับ
ฉะนั้น เราจึงมีวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงสองอย่าง คือ ชนชั้นนำถึงจะยกย่องเชิดชูความรุนแรงอย่างไร ก็มีสำนึกในความเป็นจริงถึงข้อจำกัดของศักยภาพนั้น หรือแม้แต่สำนึกถึงข้อจำกัดของตัวความรุนแรงในฐานะเครื่องมือ ในขณะที่เรามีวัฒนธรรมของประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมือง ซึ่งนิยมยกย่องความรุนแรงทั้งโดยตัวของมันเอง และในฐานะเครื่องมืออย่างสุดลิ่ม
แต่ก็อยู่กันมาได้โดยดี เพราะประเพณีปกครองของไทยนั้น อนุญาตให้ชนชั้นนำพูดกับประชาชนอย่างหนึ่ง แต่ทำอะไรอีกอย่างหนึ่งข้างหลัง ฉะนั้น จอมเผด็จการผู้เหี้ยมหาญจึงอาจบอกประชาชนได้ว่า ระดมพลเผชิญหน้ากับขบวนการปะเทดลาวเลย ไม่ต้องไปกลัวมัน แต่เบื้องหลังคือได้เจรจากับวอชิงตันเรียบร้อยแล้ว มหามิตรของเราจึงส่งกองกำลังเข้ามาสมทบ ผู้นำจึงเหี้ยมหาญในสายตาประชาชนต่อไป ในขณะที่เราไม่ต้องเผชิญกับอริราชศัตรูโดยลำพัง หรือโดยตรงด้วยซ้ำ เพราะสภาพการณ์ได้กลายเป็นแนวรบด้านหนึ่งของสงครามเย็นระดับโลกไปแล้ว
วัฒนธรรมความรุนแรงซึ่งมีสองมิติอย่างนี้ เริ่มจะหายไปเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ระบอบเลือกตั้งธิปไตย คนที่ก้าวเข้ามาเป็นผู้นำไม่ได้สืบเนื่องกับชนชั้นนำในอดีต (เช่น ผ่านระบบราชการ) แต่กลายเป็นคนชั้นกลางที่มีวัฒนธรรมความรุนแรงแบบสุดลิ่มทิ่มประตู เชื่อทั้งในความรุนแรงและเชื่อทั้งในเครื่องมือความรุนแรง
วัฒนธรรมชนชั้นนำที่เปลี่ยนไปอย่างนี้ ผมคิดว่าค่อยๆ เริ่มขึ้นมานานแล้ว แต่เห็นได้ชัดในสมัย คุณทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงในฐานะเครื่องมือจนแทบจะกล่าวได้ว่า ได้ใช้เครื่องมือชนิดนี้สำหรับแก้ปัญหาแทบทุกเรื่อง นับตั้งแต่ยาเสพติด, ชนกลุ่มน้อย, แรงงานอพยพ, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ฯลฯ
เพื่อความเป็นธรรม ควรกล่าวด้วยว่า นโยบายใช้ความรุนแรงนี้ไม่ได้ทำโดดๆ นะครับ ทำท่ามกลางเสียงเชียร์มากบ้างน้อยบ้างของคนชั้นกลางที่ไปร่วมขับไล่แกในภายหลังนั่นแหละครับ ความรุนแรงในฐานะวัฒนธรรมเชื่อมโยงกับการเมือง, เศรษฐกิจและสังคมอย่างแยกออกจากกันไม่ได้
ผมคิดเรื่องข้างต้นทั้งหมดนี้เมื่ออ่านรายงานของ กอส. ซึ่งเสนอให้แก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้สามระดับ คือ ระดับบุคคล, ระดับโครงสร้าง และระดับวัฒนธรรม
ส่วนที่ลึกสุดคือวัฒนธรรม ซึ่งจะพูดว่าสำคัญที่สุดก็ได้ เพราะถ้าไม่แก้ถึงระดับนี้ก็ยากที่จะรักษาสันติสุขไว้อย่างยั่งยืนได้ ไม่ใช่เฉพาะในภาคใต้นะครับ แต่ในสังคมไทยโดยรวมทั้งหมดทีเดียว และระดับนี้แหละครับที่ผมคิดว่ายากที่สุด เช่น จะส่งเสริมให้สันติวิธีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยในการเผชิญความขัดแย้ง ทำได้อย่างไรครับ ? ผมไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ ทำได้ แต่ทำยากเท่านั้น เพราะการใช้ความรุนแรงในฐานะเครื่องมือเป็นส่วนหนึ่งที่ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมไทยปัจจุบันไปเสียแล้ว โดยเฉพาะวัฒนธรรมการ "จัดระเบียบสังคม" ต่างๆ (เช่น แก้ปัญหาอาชญากรรมทุกอย่าง ด้วยการออกกฎหมายเพิ่มโทษ)
ทัศนคติที่ให้คุณค่าแก่ความรุนแรงฝังอยู่ในระบบการศึกษา (ทั้งในและนอกโรงเรียน), ในสื่อ, ในระบบการเมือง, ในกฎหมาย, ในคำเทศน์, ในพิธีกรรม, ในวิถีชีวิตทั้งหมดของคนชั้นกลางไทยเลยก็ว่าได้ คนกลุ่มเดียวที่มีความตื่นตัวทางการเมือง และมีสมรรถภาพจะเข้าถึงอำนาจรัฐได้ คือคนที่อยู่ในวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงอย่างเหนียวแน่น ฉะนั้น ผมจึงไม่ค่อยมีความหวังว่ารัฐจะสามารถเป็นผู้นำเปลี่ยนแปลงอะไรในเรื่องนี้ได้มากนัก
สิ่งที่น่าคิดกว่าก็คือ
ประชาชนมีพลังพอจะเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของสังคมได้หรือไม่ ถ้ามีไม่พอ
ทำอย่างไรถึงจะมีพอ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 950 เรื่อง หนากว่า 15000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้อความบางส่วนจากบทความ
ในคริสต์ศตวรรษที่ 19
เกิดความคิดในหมู่ฝรั่งว่าชนชาติต่างๆ นั้นล้วนมีอุปนิสัยประจำชาติที่สืบทอดกันมาอย่างไม่เสื่อมคลาย
จึงมีชาติขี้เล่น, ชาติเคร่งเครียด, ชาติทหาร (martial race), ชาติ "ตัวเมีย"
(feminine race), ฯลฯ ตามแต่จะว่ากันไป (ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ชัดเจนในงานนิพนธ์ของหลวงวิจิตรวาทการ)
แล้วเราอยากเป็นชาติอะไร ก็ต้อง "ชาตินักรบ" สิครับ ("ไทยนี้รักสงบ
แต่ถึงรบไม่ขลาด") จึงทำให้ความเข้มแข็งของชาติมีความหมายที่เน้นศักยภาพของการใช้ความรุนแรงสูง
โชคดีที่ผู้นำไทยนับตั้งแต่ ร.5 สืบมาถึงสมัยหลัง ใช้ความเป็น "ชาตินักรบ" สำหรับปลุกใจประชาชนเท่านั้น แต่ไม่ได้เอาไปปลุกใจตัวเอง ต่างจึงมีสำนึกได้ดีว่า ในความเป็นจริงนั้น ศักยภาพของการใช้ความรุนแรงของไทยนั้นมีจำกัดมาก โดยเฉพาะกับอริราชศัตรู เราจึงประคองตัวมาได้ แม้อย่างทุลักทุเล แต่ก็ไม่ถึงกับย่อยยับอัปราในโลกแห่งความรุนแรงที่เราต้องเผชิญอยู่
ในปัจจุบัน คนอเมริกันมีสำนึกยอมรับว่า นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว พลเมืองอเมริกันใช้ภาษาอื่นในชีวิตจริงอยู่อีกหลายภาษา เช่น ภาษาเสปน จีน ญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมัน และภาษาในยุโรปกลาง ประกาศของ "ทางการ" (โดยเฉพาะรัฐบาลของมลรัฐ) เป็นอันมากที่เป็นสองภาษา เพื่อให้พลเมืองที่อ่านภาษาอังกฤษไม่ออกสามารถเข้าใจได้ เพราะชาติย่อมมีสมรรถภาพสูงที่จะเปลี่ยนภาษาเพื่อให้พลเมืองเข้าใจและเข้าถึง ในขณะที่พลเมืองในฐานะบุคคลย่อมมีสมรรถภาพน้อยมากที่จะเข้าใจ หรือเข้าถึงชาติได้หากชาติไม่ใช้ภาษาที่ตัวรู้จัก