Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

เกี่ยวกับสังคมวิทยาและวัฒนธรรมไทย
"ผู้หญิงศึกษา" ของนิธิ เอียวศรีวงศ์
รศ. วารุณี ภูริสินสิทธิ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยเผยแพร่แล้วในหนังสือ
"พิเคราะห์นิธิ ปราชญ์เจ็กๆ"
จัดพิมพ์ขึ้นเนื่องในงานอายุครบ ๖๐ ปี (พ.ศ.๒๕๔๓) ของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
โดย ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ (หนาประมาณ ๒๕๐ หน้า) พิมพ์ครั้งแรก : มกราคม ๒๕๔๔
เนื้อหาของบทความนี้ อ.วารุณีได้เผยให้เห็นทัศนะของ อ.นิธิ เกี่ยวกับเรื่องของผู้หญิงไทย
ซึ่งได้ให้ความสำคัญต่อผู้หญิงด้อยโอกาส
และเป็นการมองโครงสร้างสังคมและความเป็นรองของผู้หญิง
รวมไปถึงเรื่องของผู้หญิงกับการเมือง และเรื่องโป๊ๆ

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 964
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 18 หน้ากระดาษ A4)




"ผู้หญิงศึกษา" ของนิธิ เอียวศรีวงศ์
รศ. วารุณี ภูริสินสิทธิ์: นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ความนำ
แม้อาจารย์นิธิจะออกตัวอยู่เสมอว่าไม่ใช่นักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับผู้หญิง และไม่ใช่นักสตรีนิยม (feminist) แต่สำหรับผู้ที่ติดตามอ่านงานของอาจารย์อยู่อย่างสม่ำเสมอ จะพบว่าอาจารย์ได้เขียนบทความเกี่ยวกับผู้หญิงออกมาอย่างค่อนข้างต่อเนื่อง และหลายบทความก็ถูกนำไปอ้างในงานทางวิชาการที่เกี่ยวกับผู้หญิงอยู่หลายครั้ง งานเขียนที่กล่าวถึงเรื่องผู้หญิงโดยตรงเท่าที่ผู้เขียนรวบรวมได้มีทั้งหมด 18 บทความ ไม่รวมงานอื่น ๆ ที่พาดพิงถึงซึ่งยังมีอีกจำนวนหนึ่ง และไม่รวมความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้หญิง ความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย ที่ปรากฏในการตอบปัญหาชีวิตในคอลัมน์ "แล้วเราก็มาปรึกษากัน" ในนามปากกา "รังรอง"

งานทั้ง 18 ชิ้น ถูกเขียนขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นบทความสั้น ๆ ที่เขียนลงในวารสารสุดสัปดาห์ หรือในหนังสือพิมพ์รายวัน และในวารสารศิลปวัฒนธรรม มีหนึ่งบทความที่เขียนวิเคราะห์สถานภาพของผู้หญิงอย่างค่อนข้างละเอียด ชื่อว่า"สถานภาพผู้หญิง : อดีต ปัจจุบันและอนาคต" แต่ปรากฎว่าบทความนี้กลับไม่ค่อยได้รับการอ้างถึงมากนัก เพราะการจัดพิมพ์ไม่แพร่หลาย

เนื่องจากงานของอาจารย์นิธิที่เขียนขึ้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คนทั่ว ๆ ไปอ่าน งานส่วนใหญ่จึงเขียนออกมาเหมือนกับเป็นงานอ่านเล่น ๆ และไม่มี "แบบแผน" การอ้างอิงทางวิชาการเลย แต่ถ้าใครอ่านงานเหล่านั้นอย่างจริงจังจะพบว่า ผู้เขียนมีความตั้งใจและจริงจังอย่างมากในการหาตัวแปร หรือเงื่อนไขต่าง ๆ มาประกอบคำอธิบายต่อปรากฎการณ์อันซับซ้อนนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโสเภณี การทำแท้ง เด็กทารกถูกทิ้ง เมียน้อย ฯลฯ

นอกจากนี้อาจารย์ยังใช้การยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สั่งสมมาเป็นเวลานานมาเป็นหลักฐานสนับสนุนข้อเสนอหรือคำอธิบายต่างๆ ทำให้ข้อเสนอน่าสนใจและน่าเชื่อถือ "ผู้หญิงศึกษา" ของอาจารย์นิธิ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับผู้หญิงไทย จึงเป็นข้อมูลที่ควรรับรู้และวิจารณ์ เพื่อนำไปสู่การเข้าใจต่อสภาพของผู้หญิงไทยให้ลึกซึ้งมากขึ้น

บทความนี้ เขียนขึ้นเพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นต่าง ๆ ของอาจารย์นิธิที่เกี่ยวกับผู้หญิงโดยเฉพาะ โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจด้านสตรีศึกษาโดยรวม และเพื่อเป็นการคารวะต่อ "ครู" โดยการศึกษาและวิจารณ์งานของท่าน

ให้ความสำคัญต่อผู้หญิงด้อยโอกาส
ถ้าพิจารณาถึงความสนใจของอาจารย์นิธิ ที่มีต่อเรื่องราวของผู้หญิงในสังคมก่อนที่จะมีการเขียนเป็นบทความเกี่ยวกับเรื่องผู้หญิงเป็นการเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีมานานแล้ว อาทิเช่น ในปากไก่กับใบเรือ ซึ่งถือว่าเป็นงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่ง เขียนขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2522-2525 และพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2527

ปากไก่กับใบเรือ เป็นการศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ในท่ามกลางการกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อาจารย์ไม่ลืมว่าผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ และได้เสนอถึงความเป็นไปของผู้หญิงในช่วงนั้นไม่ว่าจะเป็นบทบาทในเรื่องการค้าขาย การเลือกคู่ และผู้หญิงในฐานะที่เป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจแบบเพื่อยังชีพมาสู่เศรษฐกิจเพื่อการตลาด "กรุงเทพ ฯ ของต้นรัตนโกสินทร์ อุดมด้วยโสเภณี หญิงสาวที่น่าสงสาร…..ไร้ทุนรอน และสายสัมพันธ์ที่จะเอาตัวรอดในเศรษฐกิจแบบใหม่" (ปากไก่กับใบเรือ 2538 หน้า 198)

"เศรษฐกิจแบบเงินตรา ทำให้มาตรฐานการครองชีพของคนจำนวนหนึ่งเฟื่องฟูขึ้น แต่ก็คงนำความทุกข์ยากมาสู่คนอีกพวกหนึ่ง ซึ่งไม่พร้อมจะเข้าสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเขตเมือง ซึ่งต้องอยู่ในเศรษฐกิจแบบเงินตรา" (เพิ่งอ้าง หน้า 315) ทางออกของคนยากจนในเขตเมืองคือการขายตัวเป็นทาส หรือการขายตัวหรือลูกสาวไปเป็นโสเภณีในที่ที่มีเงิน เช่น แหล่งผลิตน้ำตาล ที่มีกุลีจีนที่มีเงินอยู่ในมือ สะท้อนให้เห็นในงานนิราศสุพรรณ ของนายมี

เขารู้ว่าน้ำอ้อยนั้นย้อยหยด เอาฝูงมดบางกอกออกมาขาย
แต่ล้วนมดตัวเมียน่าเสียดาย ให้เขาขายแลกลำระยำเยิน
(เพิ่งอ้าง หน้า 316)

ความสนใจที่จะสะท้อนความเป็นไปของผู้หญิง มีมากขึ้นในช่วงหลังแต่ผู้หญิงที่อาจารย์ให้ความสนใจมักจะเป็นผู้หญิงที่ด้อยโอกาสทางสังคม หรือเป็นผู้หญิงจากชนชั้นล่าง ในงานเขียน 18 ชิ้น เป็นการพูดถึงผู้หญิงชนบทสอดแทรกในบทความต่าง ๆ จำนวนเกือบครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องเฉพาะกับเรื่องโสเภณี 6 เรื่อง การทำแท้ง 2 เรื่อง แม่ทิ้งลูก 1 เรื่อง ผู้หญิงทั้งหมดเหล่านี้ล้วนได้รับความเห็นใจ "โสเภณีเป็นความเจ็บปวดของสังคม สังคมต้องสำนึกได้ถึงความเจ็บปวดของผู้หญิงเหล่านั้นเสียก่อน มิฉะนั้นความเจ็บปวดของสังคมจะเป็นเพียงความขายหน้า ไม่ใช่ความเจ็บปวดที่แท้จริง" ("ความอาย ความละอาย และความเจ็บปวด" 2539 หน้า 259)

"คนไทยและรัฐบาลไทยเจ็บปวดหรือไม่ กับการที่เรามีโสเภณีเต็มเมือง ยังเหลือศักยภาพในตัวเราที่จะเจ็บปวดแทนพี่น้องของเราในอาชีพนั้นได้อีกหรือไม่" (เพิ่งอ้าง หน้า 263) "คนไทยจำนวนมาก (ทั้งหญิงและชาย) มองเห็นการค้าประเวณีว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือ 'บาปที่จำเป็น' การยอมรับทัศนคติที่ว่าผู้หญิงบางคนอาจเป็นสินค้าทางกามารมณ์ได้ ก็คือการยอมรับว่าผู้หญิงทั้งหมด สามารถเป็นสินค้าทางกามารมณ์ได้เหมือนกัน หากมีเงื่อนไขอำนวย" ("สถานภาพผู้หญิง: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" 2535)

ผู้หญิงโสเภณีคือ เหยื่อของการพัฒนาที่ล้มเหลวของสังคมไทย ซึ่งควรต้องได้รับความเข้าใจและเห็นใจ ความเห็นใจนี้รวมไปถึงความเห็นใจที่มีต่อพ่อแม่ของผู้หญิงเหล่านั้นด้วย ในขณะที่ชนชั้นกลางในเมืองประนามพ่อแม่ว่าขายลูกสาวกิน และมองว่าพ่อแม่ไม่รู้สึกเดือดร้อนที่ลูกตนเองต้องไปเป็นโสเภณี และรณรงค์ว่าการขายลูกสาวเป็นการผิดศีลธรรม อาจารย์กลับเห็นว่า

ในสังคมชนบทที่ต้องขายลูกสาวไปเป็นโสเภณี อาจเป็นไปได้ว่า
ภาพที่เราเห็นจากการไปรู้จักพูดคุยกับเขาอย่างผิวเผินนั้น เป็นเพียง
"วัฒนธรรม" ที่ไม่จริง ซึ่งเขาย่อมต้องสร้างขึ้นสำหรับประโลมจิตใจ
ของเขาเท่านั้น ไม่ใช่ว่าระเบียบกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมในชนบทได้เปลี่ยนแปลง
("ศีลธรรมและความเมตตา" 2537 หน้า 130-1)

แต่เพราะพวกเขาเจ็บปวดจึงต้องสร้างกลไก หรือวัฒนธรรม มาปลอบประโลมใจ และการที่ชนชั้นกลางหรือคนในเมืองไปย้ำเตือนถึงกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมของเขา จึงถือเป็นความเหี้ยมโหด

ในกรณีที่ผู้หญิงที่คลอดลูกแล้วทิ้งหรือทำแท้ง และมักถูกประนามจากสังคม (ผ่านทางสื่อต่าง ๆ) ว่า "หมามันยังรักลูก เป็นแม่หรือเป็นคนทำไมไม่รักลูก" อาจารย์เสนอว่า การ"ประนามให้คนต่ำกว่าสัตว์" ไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะการที่ผู้หญิงต้องทิ้งลูกไม่ใช่ความผิดของผู้หญิง แต่ผิดที่โครงสร้างทางสังคม เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ต้องการให้เกิดปัญหานี้ สังคมควรปรับทัศนคติและบทบาท

ให้ผู้หญิงกลายเป็น "คู่" ที่เท่าเทียมกันในความสัมพันธ์กับชาย
ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์บนเตียงหรือที่อื่นๆ ทั้งนี้เพราะมีกรณี
การตั้งครรภ์ที่ไม่ต้องการอยู่ไม่น้อยซึ่งเกิดขึ้น โดยฝ่ายหญิง
ไม่มีสิทธิ์ในการกำหนดมาตั้งแต่แรก ในขณะที่เธอต้องกลายเป็น
ผู้รับผิดชอบในบั้นปลาย อย่างน้อยก็เป็นผู้เสี่ยงทางสุขภาพโดยตรง
("ศีลธรรมที่ต้องรับผิดชอบ" 2539 หน้า 181-2)

นอกจากนี้ แทนที่จะประนามผู้หญิงที่รีดลูก อาจารย์ยังเสนอว่าน่าจะเปิดทางเลือกให้แก่ผู้หญิงที่ต้องตั้งท้องที่ไม่พึงประสงค์ได้มากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้หญิงที่มีลูกอ่อนสามารถทำงานได้ มีการจัดศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อนในที่ทำงาน เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้หญิงมากขึ้น ("สัญชาติญาณและวัฒนธรรม" 2541) ที่เสนอเช่นนี้ เพราะทราบกันดีว่าผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ต้องทำแท้ง หรือคลอดลูกแล้วเลี้ยงไม่ได้เพราะความยากจน ถ้าไม่ไปทำงานก็จะไม่มีรายได้เลย

นอกจากความพยายามที่จะอธิบายให้สังคมเข้าใจว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับผู้หญิง(โดยเฉพาะผู้หญิงในชนชั้นล่าง) นั้น มิใช่เป็นความผิดของผู้หญิงแล้ว อาจารย์ยังพยายามเสนออีกหลายครั้งว่า ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงไทยเป็นช้างเท้าหลัง ไม่มีบทบาททางสังคม เป็นเพียงแม่บ้านอยู่บ้านเลี้ยงลูก ถือเรื่องพรหมจรรย์เป็นคุณค่าที่สำคัญที่สุดของชีวิต เป็นความเชื่อที่ไม่เป็นจริง หรือถ้าจะเป็นจริงก็เป็นจริงเฉพาะในหมู่ผู้หญิงชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในเมืองเท่านั้น (1)

ผู้หญิงในชนบท ผู้หญิงสามัญชนมีส่วนร่วมในการผลิตของครอบครัวอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตในกิจกรรมทางการเกษตร หรือการเป็นแม่ค้า "ผู้หญิงไทยมีสันดานเป็นแม่ค้ามาในวัฒนธรรมอย่างเหนียวแน่นทีเดียว" ("ผู้ยิ้งผู้หญิง" 2537 หน้า 114) ลูกสาวถือว่าเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจของครอบครัวมากกว่าลูกชาย ในวัฒนธรรมไทยลูกผู้หญิงถูกคาดหวังให้เป็นที่พึ่งทางเศรษฐกิจของครอบครัว ในขณะที่ลูกผู้ชายถูกคาดหวังให้นำเกียรติยศและอำนาจมาสู่ครอบครัว โดยการไปบวชเรียนจนมีชื่อเสียง เป็นที่นับถือของคนในชุมชน การไปผจญภัยหรือ "ไปเที่ยว" ในที่ต่าง ๆ เพื่อหาช่องทางให้ได้ดี เช่น การได้เป็นขุนนาง (เพิ่งอ้าง)

แม้ว่าผู้หญิงในชนบท จะมีบทบาทเด่นมากทางเศรษฐกิจ แต่มิได้หมายความว่าผู้หญิงมีสถานภาพที่สูงกว่าเพศชาย เพราะผู้หญิงไม่มีบทบาทเสมอเหมือนหรือเด่นเท่ากับผู้ชายในสองด้าน คือ พุทธศาสนาและการปกครอง

- ในส่วนพุทธศาสนา มีสาเหตุมาจากอิทธิพลคติที่ถือชายเป็นใหญ่ของอินเดียที่ส่งผ่านมาถึงคนไทยในอดีตโดยผ่านทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็น ฮินดู มหายาน และเถรวาท

- ส่วนทางด้านการปกครอง ก็เป็นผลมาจาก การที่รัฐไทยถือกำเนิดขึ้นจากชุมชนที่ถือเอาผู้ชายเป็นตัวแทนของครอบครัว ทั้งรัฐไทยและชุมชนไทยมักถือเอาแรงงานชายของแต่ละครอบครัว เป็นหลักในการเรียกเกณฑ์เพื่อทำงานสาธารณประโยชน์ ดังนั้นผู้ชายจึงมีความเกี่ยวข้องกับการปกครองอยู่ฝ่ายเดียว และไม่มีที่สำหรับผู้หญิงในด้านการปกครอง
("สถานภาพสตรี: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" 2535)

ในเรื่องการให้คุณค่าของพรหมจรรย์ การคลุมถุงชน หรือค่านิยมในเรื่องการรักนวลสงวนตัวก็เช่นกัน อาจารย์นิธิเสนอว่ามิได้เป็นจริงในผู้หญิงชาวบ้าน ผู้หญิงในชนบทจะมีอิสระในการพบปะผู้ชายเพื่อหาคู่ และการแต่งงานก็เกิดขึ้นเพื่อช่วยกันทำมาหากิน ในขณะที่ผู้หญิงในชนชั้นสูงมีอิสระน้อยกว่าในการเลือกคู่ และการแต่งงานของชนชั้นสูง ถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งส่งผลให้พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่มีสิทธิและความชอบธรรมในการเข้ามาจัดการเรื่องการแต่งงานของบุตรหลาน ("คลุมถุงชนของโลกปัจจุบัน" 2541)

คำสอนในเรื่องรักนวลสงวนตัว รักษาพรหมจรรย์ไว้ก่อนแต่งงาน ก็มิได้เป็นความเชื่อของไทยมาแต่ดั้งเดิม แต่ได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจากศีลธรรมทางเพศสมัยวิคตอเรียน ที่เข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา (เพิ่งอ้าง) ค่านิยมนี้ได้ถูกยึดถือกันในหมู่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง จนในปัจจุบันกลายเป็นความเข้าใจว่าเป็นค่านิยมของ "ความเป็นไทย" ที่มีมานาน (2)

อาจารย์นิธิได้เขียนในหลายบทความ ในหลายช่วงเวลา ให้เห็นถึงสภาพหรือสถานะของผู้หญิงในชนบท และเสนออย่างชัดเจนว่า มีความแตกต่างจากผู้หญิงชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในเมืองหลายประการ อย่างไรก็ตาม มโนภาพเกี่ยวกับสถานภาพผู้หญิงไทยกลับถูกครอบงำด้วยสถานภาพของผู้หญิงในเมืองสูง และการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในระดับท้องถิ่น ก็ถูกครอบงำด้วยทัศนคติของความเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีของชนชั้นกลางในเมืองอย่างมาก

ในขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีในเมืองไทย ก็ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากความเคลื่อนไหวทำนองเดียวกับในโลกตะวันตก เพราะมุมมองหรือทัศนวิสัยที่เข้ากันได้ดีกับทัศนวิสัยตะวันตก คือทัศนวิสัยของชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งมีวิถีชีวิตใกล้เคียงกับตะวันตก ดังนั้นความเคลื่อนไหวดังกล่าวในเมืองไทยจึงอาจไม่สัมพันธ์กับปัญหาด้อยโอกาสของผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในชนบทก็ได้ (สถานภาพผู้หญิง ฯ อ้างแล้ว)

ประเด็นที่อาจารย์นิธิเสนอนี้นับว่ามีความสำคัญมาก เพราะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของผู้หญิงโดยรวม จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในเมืองในแต่ละเรื่อง มักไม่ได้รับความสนใจหรือการสนับสนุนจากผู้หญิงส่วนใหญ่ เช่น การแก้กฎหมายเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกที่จะใช้นามสกุลตนเองหลังการแต่งงาน หรือการเปลี่ยนคำนำหน้านาง และนางสาว การเคลื่อนไหวที่ริเริ่มโดยผู้หญิงในเมืองที่ไม่มีความเข้าใจผู้หญิงชนบท อาจไม่ได้ช่วยให้ผู้หญิงส่วนใหญ่มีสถานภาพที่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น

โครงสร้างสังคมและความเป็นรองของผู้หญิง
การอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมต่าง ๆ ของอาจารย์นิธิซึ่งรวมถึงที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงนั้น จะมีรากฐานคำอธิบายอยู่ที่โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม มากกว่าจะเป็นการพิจารณาที่ตัวบุคคล กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นมิใช่ว่าบุคคลหรือกลุ่มคนนั้นดีหรือเลว แต่อยู่ที่เงื่อนไขทางสังคมที่ดำรงอยู่ และเมื่อเงื่อนไขทางสังคมเปลี่ยนไป ปรากฎการณ์หรือพฤติกรรมของคนในสังคมก็เปลี่ยนไปด้วย

เช่นการอธิบายเรื่อง "ปรากฏการณ์เมียน้อย" ซึ่งอาจารย์มองว่า น่าจะมีมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะในอดีตผู้ที่มีเมียหลายคน คือผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ซึ่งเมื่อเทียบกับปัจจุบันก็มีน้อยกว่า และอธิบายว่ามีลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมไทยที่นำไปสู่ "สถาบันเมียน้อย" คือ คนในสังคมไทยปัจจุบัน สร้างความสัมพันธ์กันในฐานะปัจเจกบุคคล ในขณะที่คนในสมัยก่อนรู้จักกันในบริบทของครอบครัว ชุมชนหรือฐานะทางสังคม เพราะฉะนั้นเมื่อคนสัมพันธ์กันในฐานะปัจเจกบุคคล การตัดสินใจที่จะมีเพศสัมพันธ์กับใคร หรือเป็นเมียใคร หรือมีเมียแล้วจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงอื่นอีก จึงไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงคนอื่น ๆ นอกจากตัวเอง

นอกจากนี้อาจารย์ยังเสนอว่า วัฒนธรรมไทยทำให้ผู้หญิงมองว่า ความสัมพันธ์ทางเพศกับคนรัก คือการตั้งหลักปักฐาน หรือ คือการเป็นเมียแม้ว่าชายคนรักมีเมียอยู่แล้วก็ตาม ในขณะที่ผู้ชายไทยก็มีความเชื่อทางวัฒนธรรมว่า ถ้าร่วมเพศกับผู้หญิงที่ไม่มีอาชีพในการรับจ้างร่วมเพศ ผู้หญิงได้กลายเป็นเมียของตน เพราะฉะนั้นผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชายก็ยอมรับในความเป็นเมียน้อย และผู้ชายก็รับเลี้ยงผู้หญิงเป็นเมียอีกคน ("เมียน้อย ๆ" 2537) เพราะฉะนั้น สำหรับอาจารย์นิธิ เมียน้อยหรือผู้ชายที่มีเมียน้อย ไม่ใช่ผู้ที่เลวกว่าคนอื่น ๆ แต่เงื่อนไขทางวัฒนธรรมต่างหากเป็นตัวกำหนด

อย่างไรก็ตาม ในการวิเคราะห์ของอาจารย์ดูจะลืมไปว่า ในอดีตผู้ชายก็มีเมียหลายคน กลุ่มเครือญาติอาจควบคุมพฤติกรรมของผู้หญิงได้ แต่ไม่สามารถคุมพฤติกรรมเรื่องนี้ของผู้ชาย เพราะผู้ชายเป็นผู้กำหนด หรือมีอำนาจในการกำหนดวัฒนธรรมให้ผู้ชายมีสิทธิในการมีเมียได้หลายคนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น สังคมปัจเจกนิยมอาจมีผลต่อพฤติกรรมของผู้หญิงแต่ไม่ได้มีผลต่อพฤติกรรมของผู้ชาย เพราะไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน ผู้ชายก็มีเมียได้หลายคนถ้ามีเงื่อนไขเอื้ออำนวย และเป็นฝ่ายที่ถูกตำหนิน้อยกว่าผู้หญิง

ผู้หญิงที่เป็นเมียน้อยเป็นฝ่ายถูกประนามมากกว่าสามีนอกใจเสมอ ปรากฎการณ์เมียน้อยหรือมากเมีย จึงน่าจะมีความสัมพันธ์กับอำนาจของทั้งสองเพศที่มีไม่เท่ากันอยู่ไม่น้อยทีเดียว แต่อาจารย์กลับไม่กล่าวถึงเลย การไม่ได้พิจารณามิติทางอำนาจที่ไม่เท่ากันในงานส่วนใหญ่ของอาจารย์นิธิ อาจมาจากความเชื่อที่ว่า ความแตกต่างทางบทบาทหรือสถานภาพของหญิงและชายในอดีต (หรือความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ) ไม่ได้นำไปสู่การกดขี่ทางเพศ

สถานภาพที่ไม่เสมอกันไม่จำเป็นจะต้องนำไปสู่การกดขี่ทางเพศ
เพราะในท่ามกลางสถานภาพที่ไม่เสมอภาคกันนั้น มีกลไกทาง
วัฒนธรรมและประเพณีอื่นที่แวดล้อมอยู่ด้วยหลายอย่างหลายประการ
อันช่วยประกันมิให้มีการกดขี่ทางเพศเป็นไปอย่างรุนแรงได้
("ผ้าขาวม้ากับผ้าซิ่น และกางเกงใน" 2538 หน้า 106)

นอกจากนี้การที่อาจารย์ไม่สนใจในความเป็นไปของผู้หญิงชนชั้นกลางและชนชั้นสูงมากนัก ทำให้มิติทางอำนาจไม่ปรากฏชัดเจน เพราะผู้หญิงที่ถูกควบคุมหรืออยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางสังคมที่เข้มงวดโดยเฉพาะผู้หญิงในอดีตนั้น คือ ผู้หญิงชนชั้นสูง อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า งานของอาจารย์ในช่วง 1-2 ปีหลังนี้ ได้มีการนำมิติอำนาจเข้ามาพิจารณามากขึ้น เช่น ใน "ไม่เปลื้องผ้าแต่เปลื้องอำนาจ" (2542) ในบทความนี้อาจารย์เสนอให้เห็นถึงอำนาจที่ "ผู้ชาย" มีเหนือ "ผู้หญิง" อย่างชัดเจน

และใน "ธาตุแท้ของผู้หญิง" (2541) ที่ได้วิเคราะห์ถึงประเด็นพื้นฐานของการถกเถียงเรื่องความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและเพศหญิง โดยเสนอว่า กวีและนักคิดที่ถามหาธาตุแท้ของผู้หญิง คือ ผู้ชาย ส่วนผู้หญิงนั้นถูกกีดกันออกจากการสร้างระบบคิดของนักปราชญ์ในเกือบทุกสังคม ในอารยธรรมโบราณ ธาตุแท้ของผู้หญิง(ที่ผู้ชายพยายามอธิบาย) มีสถานะอยู่ 3 อย่าง คือ

หนึ่ง, เป็นผู้ยั่วยวนให้มนุษย์ผู้ชายหลงผิด ไม่สามารถบรรลุสิ่งที่สูงสุดในชีวิตได้
สอง, เป็นมหามาตา หรือผู้หล่อเลี้ยงชีวิต หรือเป็นพระแม่ผู้ประทานความอุดมสมบูรณ์ และ
สาม, เป็นปัญญาที่ทำให้มนุษย์สามารถบรรลุปรมัตถธรรมตามความเชื่อของตนได้

แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบใด อาจารย์มองว่า "ธาตุแท้" ของผู้หญิงตามความเชื่อของคนทั่วไป จริง ๆ แล้วก็เป็นวัฒนธรรม คือสิ่งที่มนุษย์ (ผู้ชาย) สร้างขึ้นเอง แต่ในขณะที่ไม่รู้ว่าผู้หญิงคืออะไรกันแน่ สังคมก็ได้จัดสรรอำนาจ บทบาท สิทธิให้แก่ผู้หญิงและผู้ชายต่างกันอย่างมากในสังคม ซึ่งที่ถูกแล้ว ควรปล่อยให้ผู้หญิงมีโอกาสลองทำได้ทุกอย่าง ไม่จำเป็นต้องขัดขวาง หรืออ้างเหตุผลอะไรที่ฟังไม่ขึ้นมากีดกันผู้หญิง

เมื่อไรที่มีการใช้คำว่า ธาตุแท้ของผู้หญิงที่ไหน ก็มักมีการกดขี่ทางเพศตามมาทุกที เพราะฉะนั้นในบทความนี้เป็นการบอกว่า ผู้ชายคือผู้มีอำนาจในการกำหนดหรือสร้างความเชื่อของสังคมเกี่ยวกับธาตุแท้ของผู้หญิง และจากความเชื่อที่ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริงนี้ สังคมกลับกำหนดสิทธิ อำนาจ บทบาทของผู้หญิงให้อยู่ในฐานะที่เป็นรองผู้ชายเสมอมาตามความเชื่อเหล่านั้น

การให้ความสำคัญกับการอธิบายถึงเงื่อนไขทางสังคมยังปรากฎในงานอื่น ๆ อีก เช่น เมื่อผู้หญิงทิ้งลูกถูกเปรียบให้ต่ำกว่าสัตว์เพราะไม่มีความรักต่อลูก อาจารย์กล่าวอย่างชัดเจนว่า

ความรักของแม่ที่มีต่อลูก ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่อยู่กับคนมานาน
จนเข้าใจผิดว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ไปเสียแล้ว….[และ]
เพราะมันเป็นวัฒนธรรม มันจึงอ่อนแอด้วย กล่าวคือ
เมื่อเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไป เงื่อนไขที่เคยกล่อมเกลาหล่อเลี้ยง
วัฒนธรรมหนึ่ง ๆ ก็หายไป วัฒนธรรมนั้น ๆ ก็เริ่มเปลี่ยนหรือ
อาจมลายหายสูญไปได้ ดังเช่นความรักที่แม่มีต่อลูกนี้แหละ
(สัญชาตญาณและวัฒนธรรม อ้างแล้ว หน้า 70)

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ความรักของแม่ต่อลูกไม่ใช่เป็นธรรมชาติที่มีมาแต่กำเนิด แต่เป็นการเรียนรู้ทางสังคม เมื่อเงื่อนไขทางสังคมเปลี่ยนไปความรักของแม่ก็เปลี่ยนได้

การใช้เงื่อนไขทางสังคมเป็นคำอธิบายถึงสถานะที่เปลี่ยนไปของผู้หญิง เห็นได้อย่างชัดเจนในบทความเรื่อง "ผ้าขาวม้ากับผ้าซิ่น และกางเกงใน" (อ้างแล้ว) โดยอธิบายว่าผู้หญิงชนบทที่อพยพเข้ามาอยู่ในเขตเมือง อันได้แก่ โสเภณี หมอนวด ผู้หญิงในสลัม เป็นผู้หญิงที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างมากเมื่อเทียบกับผู้หญิงในชนบท เพราะเงื่อนไขหรือบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป "เมื่อชาวชนบทอพยพมาอยู่ในเมือง หรือวัฒนธรรมเก่าถูกกระทบด้วยวัฒนธรรมตะวันตก เมื่อนั้น การ 'กดขี่' ทางเพศจะปรากฎชัดขึ้น" (หน้า 107)

เพราะแม้ว่าผู้หญิงในชนบทมีสถานะต่ำกว่าชายในเรื่องศาสนาพุทธและการปกครอง แต่ผู้หญิงมีบทบาทอย่างสูงในทางเศรษฐกิจ และในวัฒนธรรมไทยผู้ที่เป็นลูกเขยต้องเข้ามาอยู่ในบ้านของฝ่ายหญิง และทำมาหากินบนที่ดินของฝ่ายหญิง เพราะฉะนั้น ผู้ชายจะใช้ "สถานภาพที่สูงกว่าของตัว 'กดขี่' ผู้หญิงที่เป็นภรรยาไม่ได้ตามใจชอบ เพราะว่าผู้ชายต้องเข้าไปอยู่ในครอบครัวผู้หญิง ผู้ชายต้องอาศัยใบบุญจากญาติของฝ่ายหญิง" (หน้า 105)

เมื่อผู้หญิงเหล่านี้อพยพเข้ามาอยู่ในเมือง แต่ความเชื่อตามวัฒนธรรมเดิมในชนบทยังคงมีอยู่เหมือนเดิม คือ ผู้หญิงเป็นที่พึ่งทางเศรษฐกิจของครอบครัว ผู้ชายเป็นผู้สะสมเกียรติยศให้แก่ครอบครัว ผู้หญิงจึงไม่ได้เรียนหนังสือแต่ต้องทำงานเพื่อช่วยเหลือครอบครัว และส่งเสียให้พี่ชายหรือน้องชายได้เรียนเพื่อนำเกียรติยศมาสู่ครอบครัว นอกจากนี้ในชนบทผู้หญิงมีหลักประกันทางประเพณีว่าจะมีบ้านและที่ทำกินของตนเอง (ลูกสาวจะได้รับมรดกที่ดิน และลูกสาวที่ดูแลพ่อแม่ตอนแก่จะได้บ้านของพ่อแม่และที่นาผืนสุดท้าย) แต่ในเมืองครอบครัวคนจนไม่มีที่ดินและทรัพย์เหลือให้กับลูกสาว เพราะฉะนั้นผู้หญิงคนจนในเมืองจึงอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก และไม่มีหลักประกันใด ๆ

การรับค่านิยมเก่าโดด ๆ ไม่ได้รับเอา 'กลไก' ทางวัฒนธรรมและ
ประเพณีเก่า ๆ ทั้งหมดร่วมมากับค่านิยมนั้นด้วย จึงเปิดโอกาสให้
ผู้ชายสามารถ 'กดขี่'ผู้หญิงได้ตามใจชอบด้วยอาญาสิทธิ์ของประเพณี
ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้หญิงยอมรับ 'การกดขี่' นั้นด้วยอาญาสิทธิ์ของ
ประเพณีเช่นกัน (หน้า 107)

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ส่งผลให้ผู้หญิงในชนบท โดยเฉพาะที่ต้องอพยพเข้ามาทำงานหากินในเมืองถูกเอาเปรียบและกดขี่จากสังคมมากกว่าในอดีต เพราะผู้หญิงขาดการพิทักษ์จากจารีตประเพณีที่เคยมีมานาน และสูญเสียการคุ้มครองจากเครือญาติและชุมชนของตนไป โดยไม่มีองค์กรสมัยใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน ("สถานภาพผู้หญิง ฯ" อ้างแล้ว)

การให้ความสำคัญกับโครงสร้างทางสังคม ในการอธิบายปรากฎการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงของอาจารย์นิธิ นับว่าเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการพิจารณาอย่างมาก เพราะนำไปสู่ความคิดในเรื่องการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงสภาพที่ไม่น่าพอใจของผู้หญิง โดยการให้ความสำคัญในการแก้ไขระดับโครงสร้างด้วย เช่นการเปลี่ยนแปลงค่านิยม หรือวัฒนธรรมในหลาย ๆ เรื่องของสังคมไทยที่นำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบผู้หญิง

การเรียกร้องให้มีนักการเมืองที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น โดยไม่คำนึงว่า ผู้หญิงที่เป็นนักการเมืองก็ยังอยู่ในโครงสร้างเดิมที่มีระบบคิดแบบผู้ชายเป็นใหญ่ ดังเช่นนักการเมืองหญิงของไทยปัจจุบันนี้ จะไม่นำไปสู่สถานภาพที่ดีขึ้นของผู้หญิงส่วนใหญ่ของประเทศ ตราบใดที่วัฒนธรรมไทยยังถูกครอบงำโดยระบบคิดชายเป็นใหญ่ การที่ผู้หญิงจะถูก ปฎิบัติเสมอเหมือนมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับมนุษย์อีกเพศหนึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้

ผู้หญิงกับการเมือง
อาจารย์นิธิตระหนักดีว่า เมื่อกล่าวถึงการมีอำนาจทางการเมืองโดยตรงนั้น ผู้ชายเป็นผู้ปกครองมาโดยตลอด แต่การที่ผู้ชายได้เป็นผู้ปกครองแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้ถูกกำหนดจากเพศ เพราะ "การพูดถึง'สิทธิ' อาจเป็นสิ่งที่คนไทยโบราณไม่ได้เคยคิดเลยก็ได้ เพราะคนไทยโบราณไม่ได้มองว่า มีใครในโลกนี้ที่เป็นผู้หญิง (หรือผู้ชาย) เฉย ๆ … 'สิทธิ' จึงไม่ใช่เรื่องเพศ แต่เป็นเรื่องของสถานะรวม ๆ อีกหลายอย่างที่ผู้หญิง (หรือผู้ชาย) คนหนึ่งเป็น" ("ที่นี่ห้ามกร่างแบบนิ่ม ๆ" 2538 หน้า 112)

พูดง่าย ๆ คือ ในสมัยโบราณการกำหนดว่าใครจะมาเป็นผู้ปกครองไม่ได้ถูกกำหนดตามเพศ แต่ถูกกำหนดโดยองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างรวมกัน อย่างไรก็ตาม คนไทยโบราณสงวนตำแหน่งผู้ปกครองไว้ให้ผู้ชายโดยเฉพาะ ที่เป็นเช่นนี้เพราะ คนไทยโบราณคิดว่ามีคุณสมบัติบางอย่างที่เป็นของประจำเพศ และในบรรดาคุณสมบัติของผู้ปกครองที่ดีในทรรศนะของคนไทย (ซึ่งพิจารณาจากทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นอุดมคติของผู้ปกครองที่ดีของไทย และจากไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา) ล้วนตรงกับคุณสมบัติของผู้ชายทั้งสิ้น

เช่น การรู้จักให้หรือใจกว้าง การไม่โกรธหรือใจเย็น ใจคอหนักแน่น กล้าได้กล้าเสีย เด็ดขาด เที่ยงธรรม เป็นต้น ผู้หญิงจึงไม่สามารถเป็นผู้ปกครองได้ เพราะผู้หญิงถูกมองว่าไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว (เพิ่งอ้าง) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผู้ชาย (หรือสังคม) "นิยาม" ความเป็นผู้ปกครอง และคำนิยามดังกล่าวไปตรงกับความเชื่อว่า เป็นคุณสมบัติของเพศชาย เพราะฉะนั้นผู้ชายจึงได้รับการยอมรับให้เป็นผู้ปกครอง ในขณะที่ผู้หญิงไม่ได้เป็น

นอกจากนี้รัฐไทยโบราณ สัมพันธ์กับครอบครัวและชุมชนผ่านทางผู้ชายและยังสืบทอดมาเป็นเวลานาน เช่น เมื่อมีการอบรมในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกษตร การผลิตแบบใหม่ ผู้ชายจะถูกเลือกเป็นตัวแทนเข้าอบรมเสมอ (3) เพราะฉะนั้น โลกภายนอกหมู่บ้านเป็นเรื่องผู้ชาย

ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้หญิงและการเมือง อาจารย์ยังได้เสนอประเด็นที่สำคัญที่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงนัก คือ ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ไม่มีสำนึกร่วมของความเป็นผู้หญิง เช่น คณะรัฐมนตรีไหน ไม่มีผู้หญิงอยู่เลย ผู้หญิงก็ไม่รู้สึกว่ากระทบต่อตนอย่างไร และจากการไม่มีสำนึกร่วมของความเป็นผู้หญิงนี้เอง นำไปสู่ "บทบาทจืด ๆ ของผู้หญิงในวงการเมืองไทย" นักการเมืองที่เป็นผู้หญิงจะไม่ลงมาเล่นเรื่องสิทธิสตรี เพราะรู้ดีว่าความเป็นผู้หญิงให้ประโยชน์ทางการเมืองในวัฒนธรรมไทยน้อย หรืออาจไม่ให้เลย (4) ("สำนึกร่วมของผู้หญิงในเมืองไทย" 2543)

อย่างไรก็ตามอาจารย์มองว่า ผู้หญิงชาวบ้านเริ่มมีสำนึกมากขึ้นถึงความเป็นผู้หญิงของตนเอง โดยที่ผู้หญิงในชนบทลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ ต้องมีตำแหน่งของผู้หญิงในองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่กลับไม่มีการพัฒนาขบวนการทางการเมืองเพื่อปกป้องรักษาและขยายผลประโยชน์ของความเป็นผู้หญิง กล่าวคือ ไม่มีการเคลื่อนไหวในหมู่ผู้หญิงที่มากพอที่จะผลักดันให้กระทรวงมหาดไทย ร่างระเบียบเพื่อประกันตำแหน่งของผู้หญิงในองค์การบริหารส่วนตำบลได้ ("คะแนนเสียงผู้หญิงและอายุ 18" 2539)

ผู้หญิงในเมืองไม่ได้รู้สึกว่าตนเป็นพวกเดียวกับผู้หญิงในชนบท การที่ผู้หญิงจะมีตำแหน่งใน อบต.หรือไม่มีก็ไม่ใช่เรื่องของตน และไม่ได้คิดว่าการเพิ่มอำนาจผู้หญิงให้เข้าไปมีส่วนในการกำหนดนโยบายการบริหารในตำบล เป็นการเพิ่มอำนาจของผู้หญิงโดยรวม ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้มีสำนึกร่วมว่าผู้หญิงทั้งหมดคือพวกเดียวกัน คือกลุ่มคนที่ยังไม่มีความเท่าเทียมกับผู้ชายในอีกหลาย ๆ ด้าน และต้องเปลี่ยนแปลงสภาพเช่นที่เป็นอยู่นี้ เพราะฉะนั้นการสร้างจิตสำนึกร่วมของความเป็นผู้หญิงน่าจะสำคัญกว่าการเพิ่มจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นผู้หญิงในขณะนี้ เพราะนักการเมืองเหล่านั้นก็ไม่มีสำนึกร่วมของความเป็นผู้หญิงเช่นกัน

เรื่องโป๊ ๆ
ในขณะที่งานหลายชิ้นของอาจารย์นิธิที่เกี่ยวกับผู้หญิง ได้รับการนำไปอ้างอิงในหลายที่ แต่ "นักสตรีนิยม" บางคนอดจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจในทัศนะเชิงบวกที่อาจารย์มีต่อ "ภาพนู้ด" ไม่ได้ การที่อาจารย์เขียน "คำนำ" ให้กับหนังสือของเกจินู้ด นิวัติ กองเพียร ในขณะที่งานของคุณนิวัติไม่เป็นที่ชื่นชมนักจากผู้ที่ศึกษาเรื่องผู้หญิง (5) หรือการที่อาจารย์ประกาศว่า "ภาพของคุณดารินนั้นทำให้ผมเกิดความรู้สึกทางเพศ" หรือการที่มองว่า ภาพโป๊เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีอยู่ในสังคม

การปิดหัวนมผู้หญิงจากสายตาประชาชน ไม่ต่างอะไรกับการปิด
ปากประชาชน เพราะเป็นเรื่องเดียวกันแท้ ๆ ….. การปลดปล่อย
หัวนมผู้หญิงออกมาสู่แดน "สาธารณะ" จะทำให้เกิดภาพโป๊
ที่มีศิลป์มากขึ้น และน้ำดีจะไล่น้ำเสียคือ ภาพโป๊ที่อนาจารออกไปเอง
("เรื่องโป๊ ๆ เปลือย ๆ" 2538 หน้า 210)

ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนทำให้ผู้อ่านมองเห็นทัศนะในเชิงบวกของอาจารย์ที่มีต่อเรื่องนี้ ทั้งที่ไม่ว่าจะเป็นภาพโป๊แบบมีศิลป์หรือแบบอนาจารล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือเพื่อก่อให้เกิดความรู้สึกทางกามารมณ์ และสำหรับบางคนความรู้สึกทางกามารมณ์อาจเกิดจากภาพโป๊แบบอนาจารก็ได้ ดังนั้นภาพโป๊แบบศิลป์มีค่ามากกว่าภาพโป๊แบบอนาจารอย่างไร และใครเป็นผู้ตัดสิน เพราะทั้งคู่ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ในขณะที่อาจารย์มองว่าความรู้สึกทางกามารมณ์ถูกถือว่าเป็น "ส่วนตัว" แท้ ๆ ในสังคมไทย (เพิ่งอ้าง หน้า 205) แต่กลับไม่รู้สึกว่าเสียหายที่ผู้หญิงคนหนึ่งหรือหลายคนถูกบังคับ (ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ) (6) ให้แสดงท่าทางต่าง ๆ เพื่อส่อให้เห็นถึงความรู้สึกทางกามารมณ์ของตนเพื่อแลกกับเงิน ในขณะที่อาจารย์กลับรู้สึกถึงการกดขี่อย่างรุนแรงเมื่อผู้หญิงถูกบังคับให้นุ่งกระโจมอก ทำเหมือนกับว่ากำลังอาบน้ำบนเวทีประกวดนางนพมาศที่จังหวัดสุโขทัย ในปี พ.ศ.2542 เพราะ

ผู้หญิงถูกบังคับให้เอากิจกรรมในพื้นที่ส่วนตัวออกมาแสดง
ในพื้นที่สาธารณะ..เป็นการกดขี่ผู้หญิงเสียยิ่งกว่าการประกวด
แบบชุดเล่นน้ำฝรั่ง เพราะความหมายคือ ในขณะที่ผู้หญิงถูกกัน
ออกจากพื้นที่สาธารณะ แต่สาธารณะซึ่งผู้ชายเป็นใหญ่ สามารถ
ลากเอาพื้นที่ส่วนตัวของผู้หญิงออกมาประจานในที่สาธารณะเมื่อไรก็ได้
("ไม่เปลื้องผ้าแต่เปลื้องอำนาจ" 2542 หน้า 47)

ในขณะที่ผู้หญิงถ่ายภาพโป๊ด้วยท่าทางบ่งบอกถึงความต้องการทางกามารมณ์ หรือที่ปรากฏในภาพยนตร์ลามกต่างๆ ก็คือการเอาความเป็นส่วนตัว(ความรู้สึกทางกามารมณ์) มาประจานในที่สาธารณะเช่นกัน ไม่แตกต่างจากการที่ผู้หญิงถูกบอกให้นุ่งกระโจมอกเดินประกวดนางนพมาศเลย แต่ทำไมภาพนู้ดจึงไม่เป็นการกดขี่ทางเพศด้วย

อาจารย์อ้างว่านักสตรีนิยมมองว่าภาพโป๊เป็นการเหยียดทางเพศ เพราะทำให้ผู้หญิงเป็นเพียง sex object (วัตถุทางเพศ) ซึ่งอาจารย์แปลว่า ที่ตั้งทางกามารมณ์ และมองว่าการเป็นที่ตั้งทางกามารมณ์ของผู้หญิงไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะกามารมณ์ไม่ใช่สิ่งที่เสียหาย และเสนอว่า การมองว่าผู้หญิงเป็นเพียงที่ตั้งทางกามารมณ์อย่างเดียวไม่ถูก เพราะ "เธอและ (เขา) สามารถเป็นอะไรต่อมิอะไรที่ทรงคุณค่าทั้งต่อตัวเขาและตัวเธอ ทั้งต่อคนรอบข้างและสังคมโดยรวมได้อีกมาก" ("เรื่องโป๊ๆ เปลือย ๆ" หน้า 211)

นักสตรีศึกษาคงเห็นด้วยกับอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่นักสตรีนิยมไม่ต้องการคือ การที่สังคมมองผู้หญิงเป็นเพียง "วัตถุทางเพศ" โดยไม่เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ในด้านอื่น ๆ ของผู้หญิง อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการผลิตสื่อลามกทั้งหลายล้วนปฏิบัติต่อผู้หญิงในสภาพที่เป็น "วัตถุ" (7) รวมทั้งภาพที่ผู้หญิงต้องแสดงในสื่อลามกเหล่านั้นล้วนตอบสนองต่อผู้บริโภค และนายทุนที่ทำการผลิต ซึ่งเป็นผู้ชายทั้งสิ้น สิ่งที่ผู้หญิงได้รับก็เพียงเศษเงินและคำตำหนิ ถากถางจากสังคม ในสภาพการณ์เช่นนี้ นักสตรีนิยมจะชื่นชมกับ "ภาพโป๊" ได้อย่างไร

ที่มาของความเป็นรองของผู้หญิงและทางออก
โดยภาพรวมแล้ว อาจารย์นิธิมองเห็นถึงความเสียเปรียบของผู้หญิงในสังคมไทย และเสนอในบทความ "สถานภาพผู้หญิง ฯ" (อ้างแล้ว) อย่างชัดเจนว่า

ความเสียเปรียบของผู้หญิงเกิดขึ้นด้วยเหตุสองอย่าง คือ
เพราะเธอเป็นผู้หญิงหนึ่ง และเพราะเธอเป็นชาวนาหรือกรรมกร
ก่อสร้างอีกหนึ่ง เหตุสองอย่างนี้ไม่สามารถแยกออกจากกัน
ได้เด็ดขาด แต่สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ความเคลื่อนไหว
เพื่อสิทธิเสมอภาคของผู้หญิง จึงต้องมองความเสียเปรียบของ
ผู้หญิงในบริบทที่ใหญ่กว่าความแตกต่างทางเพศ ปัญหาที่ต้อง
ต่อสู้เป็นเรื่องของความด้อยโอกาสทั้งหมด ไม่ใช่ความด้อยโอกาส
ของผู้หญิงเพียงอย่างเดียว แม้ว่าผู้หญิงคือ "ผู้ด้อยโอกาสของผู้ด้อยโอกาส"
แต่สถานภาพของผู้หญิงจะไม่ดีขึ้นเท่าไรตราบเท่าที่ความด้อยโอกาส
ในสังคมไทย ยังแพร่หลายอย่างกว้างขวางทั่วไปเช่นนี้ (หน้า 49)

อาจารย์มองว่า สถานภาพที่ตกต่ำของผู้หญิงเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับการตกต่ำของสถานภาพของคนจน ๆ ในชนบท ไม่ว่าเป็นหญิงหรือชาย ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่หลั่งไหลเข้าไปสู่ชนบท และผู้หญิงเป็นผู้ที่ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เนื่องจากผู้หญิงในฐานะที่ถูกคาดหวังให้เป็นผู้รับผิดชอบทางเศรษฐกิจ ต้องออกจากหมู่บ้านเพื่อหาเงินซึ่งทำให้ขาดการปกป้องคุ้มครองจากประเพณีและวัฒนธรรม เพราะฉะนั้น การที่จะทำให้ผู้หญิงมีสถานภาพที่ดีขึ้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาที่เอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคมการเมืองต่อชาวนาขนาดเล็ก

แม้จะเห็นว่าส่วนหนึ่งของความเสียเปรียบของผู้หญิง คือ "เพราะเธอเป็นผู้หญิง" แต่ผู้หญิงของอาจารย์ดูจะจำกัดอยู่ในผู้หญิงที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจเท่านั้น ประหนึ่งว่าผู้หญิงชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงไม่อยู่ในภาวะที่เสียเปรียบทางสังคมเลย การต่อสู้เพื่อให้ผู้หญิงหรือผู้ชายมีสภาพที่ดีขึ้นทางเศรษฐกิจและสังคมคงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่เท่านั้นคงไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้หญิงมีสถานะที่ดีขึ้นหรืออย่างน้อยเท่าเทียมกับผู้ชาย

การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมในประเทศรัสเซียและจีน ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า "ในสังคมใหม่" ผู้หญิงก็ยังมีสถานะที่ไม่ดีจากเดิมมากนัก เพราะผู้หญิงยังต้องทำงานหนัก และเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดูแลลูกและครอบครัวเหมือนเดิม และยังไม่ได้อยู่ในฐานะที่เป็นผู้สามารถตัดสินใจหรือกำหนดนโยบายในระดับสูง ผู้หญิงในประเทศจีนต้องกลับมาหาทางออกของชีวิตด้วยการขายบริการทางเพศอีก และทารกเพศหญิงก็ถูกฆ่าทิ้งเพื่อครอบครัวจะได้มีโอกาสมีลูกผู้ชาย

และแม้แต่ในประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว ซึ่งผู้หญิงมีโอกาสต่าง ๆ ทางสังคมในการพัฒนาศักยภาพมากกว่าในสังคมไทย และมีความเท่าเทียมกับผู้ชายในทางกฎหมาย แต่ก็ยังมี "เพดานแก้ว" (glass ceiling) หรือข้อจำกัดทางสังคมที่มองไม่เห็นในการก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นทางสังคม (8) และสำหรับผู้หญิงชนชั้นกลางและชนชั้นสูงไทยก็มีสภาพที่เสียเปรียบผู้ชายในบางเรื่องเช่นเดียวกับผู้หญิงชนชั้นล่าง เช่น เรื่องบรรทัดฐานสองแบบในเรื่องเพศ หรือการเป็นผู้นำทางการเมือง ดังนั้น เนื่องจากผู้หญิงอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ เพราะ "เป็นผู้หญิง" การต่อสู้ในบางเรื่องจำเป็นต้องมีฐานอยู่ที่ความแตกต่างทางเพศ แต่จะถือว่าเป็นด้านหลักหรือด้านเดียวของการต่อสู้หรือไม่ ย่อมเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากัน

สุดท้าย
แม้งานของอาจารย์นิธิที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง จะถูกเสนอในรูปแบบ "เล่น ๆ" แต่ในด้านเนื้อหาแล้ว ได้แสดงให้เห็นถึง ความเห็นอกเห็นใจผู้หญิงในฐานะที่เป็นกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสและถูกเอารัดเอาเปรียบทางสังคม ความพยายามที่จะอธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผู้หญิงให้ผู้อ่านมีความเข้าใจอย่างมีเหตุมีผล แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับความด้อยโอกาสของผู้หญิง มิใช่เข้าใจกันอย่าง "ใช้สามัญสำนึกส่วนตัว" และที่สำคัญที่สุดได้สะท้อนให้เห็นถึง ความเข้าใจอย่างดีของอาจารย์นิธิที่มีต่อการศึกษาเรื่องผู้หญิง ดังข้อเขียนที่ว่า

ความเข้าใจสถานภาพของผู้หญิง….โดยพิจารณาจาก
บทบาทของผู้หญิงในทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม…
ไม่อาจทำความเข้าใจหรือคาดเดาสถานภาพของผู้หญิงได้
อย่างกระจ่างแจ้งเต็มที่ เพราะอีกส่วนหนึ่งของสถานภาพ
ผู้หญิงเกิดจากสำนึกและค่านิยมของสังคม ซึ่งมีปัจจัยอื่นๆ สร้างขึ้น
(สถานภาพผู้หญิง ฯ อ้างแล้ว หน้า 41)

ข้อเขียนทั้งหมดของอาจารย์ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามที่สำคัญต่อประเด็นต่าง ๆ นำไปสู่การศึกษาเพื่อค้นหาคำตอบ และจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงไทยต่อไป ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่ผู้ที่เข้าใจปัญหาและเห็นใจผู้หญิงในฐานะกลุ่มคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมาเป็นเวลาช้านานจะพึงกระทำ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม

+++++++++++++++++++++++++++++++++++



เชิงอรรถ

(1) ดูใน "สถานภาพผู้หญิง: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" (2535); ผ้าขาวม้ากับผ้าซิ่น และกางเกงใน (2538); "ที่นี่ห้ามกร่างแบบนิ่ม ๆ " (2538); "ผู้ยิ้งผู้หญิง" (2537); "คลุมถุงชนของโลกปัจจุบัน" (2541) และใน รังรอง แล้วเราก็ปรึกษากัน (กทม: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด, 2531)

(2) อ่านเพิ่มเติมใน วารุณี ภูริสินสิทธิ์ " 'ความเป็นผู้หญิง' ในสังคมไทย" วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่12 ฉบับ 2 2543

(3) มีงานศึกษาหลายชิ้น พบว่าผู้หญิงจะได้รับรู้ข่าวสารต่าง ๆ ผ่านทางสามีหรือผู้ชายในครอบครัว

(4) เรื่องนี้คงเป็นจริง เพราะคุณสมัคร สุนทรเวช ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทะลาย ในการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ.2543 ทั้ง ๆ ที่คุณสมัครมีระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่อย่างชัดเจน (ดูจากความคิดเห็นในกรณีที่กฎหมายจะให้สิทธิผู้หญิงในการเลือกใช้นามสกุลของตนเองหลังการแต่งงาน) และจากโพลหลายสำนักพบว่า ผู้หญิงให้การสนับสนุนคุณสมัครอย่างท่วมท้น

(5) สุขสม หินวิมาน และวีรวัฒน์ อำพันสุข "ธุรกิจนู้ดกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเพศในสังคมไทย" ( บทความเสนอในการประชุมนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 6 เชียงใหม่ ประเทศไทย 2539) แม้ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงชื่อคุณนิวัติ กองเพียร แต่ได้ยกคำวิจารณ์ภาพนู้ดของคุณนิวัติมาอ้าง 2 ชิ้น แล้วสรุปว่า "ถ้าจะเปรียบเทียบการมองภาพนู้ดเหมือนกับการข่มขืนผู้หญิงด้วยสายตาแล้ว…การทำหน้าที่ของบทวิจารณ์นู้ดดูจะไม่แตกต่างจากการข่มขืนเป็นครั้งที่สาม….เมื่อผู้อ่านได้อ่านบทวิจารณ์พร้อมภาพประกอบนั้น ก็เท่ากับ การใช้อำนาจซ้อนทับเข้าไปในบทวิจารณ์ผู้หญิงนู้ดอีกชั้นหนึ่ง บทวิจารณ์นู้ด…ยิ่งทำให้ผู้หญิงมีแต่เสียกับเสียทับถมลงไป" (หน้า 210)

(6) ดูในสุขสม และวีรวัฒน์ (เพิ่งอ้าง)

(7) ดูเพิ่มเติมจาก เพิ่งอ้าง

(8) ตัวอย่างเช่น ในขณะที่ผู้หญิงทำงานและกำลังก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งการงานที่สูงขึ้น สามีจำเป็นต้องไปรับตำแหน่งที่ดีขึ้นในต่างเมือง เพื่อเป็นการรักษาครอบครัวไว้ ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายเสียสละอาชีพของตนเพื่อติดตามสามีไปอยู่ที่ใหม่ และเริ่มตั้งต้นทางอาชีพใหม่ การจะก้าวสู่ตำแหน่งในระดับสูงย่อมเป็นไปไม่ได้

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

บรรณานุกรม

นิธิ เอียวศรีวงศ์
- "การทำวัตถุให้เป็นคนในอาชีพโสเภณี" ใน สังคมไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง. กทม. :คณะกรรมการเผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา. 2539.

- "คลุมถุงชนของโลกปัจจุบัน" ใน วัฒนธรรมความจน? กทม. : แพรวสำนักพิมพ์. 2541.

- "ความอาย ความละอาย และความเจ็บปวด" ใน สังคมไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง. กทม : คณะกรรมการเผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา. 2539.

- "คะแนนเสียงผู้หญิงและอายุ 18" ใน สองหน้าสังคมไทย. กทม. : สำนักพิมพ์ผู้จัดการ. 2539.

- "ตัวเลขที่เกี่ยวกับโสเภณี" ใน สังคมไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง. กทม. : คณะกรรมการเผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา. 2539.

- "ที่นี่ ห้ามกร่างแบบนิ่ม ๆ" ใน ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงในและ ฯลฯ. กทม. : สำนักพิมพ์ มติชน. 2538.

- "ธาตุแท้ของผู้หญิง" ใน ยุคสมัยไม่เชื่ออย่าลบหลู่. กทม. : แพรวสำนักพิมพ์. 2541.

- ปากไก่กับใบเรือ พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. : แพรวสำนักพิมพ์. 2538.

- "ผ้าขาวม้ากับผ้าซิ่น และกางเกงใน" ใน ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงในและ ฯลฯ. กทม. : สำนักพิมพ์มติชน. 2538.

- "ผู้ยิ้งผู้หญิง" ใน หมายเหตุวัฒนธรรมร่วมสมัย. กทม. : แพรวสำนักพิมพ์. 2537.

- "ศีลธรรมและความเมตตา" ใน หมายเหตุวัฒนธรรมร่วมสมัย. กทม. : แพรวสำนักพิมพ์. 2537.

- "ศีลธรรมที่รับผิดชอบ" ใน สองหน้าสังคมไทย. กทม. : สำนักพิมพ์ผู้จัดการ. 2539.

- "สถานภาพผู้หญิง : อดีต ปัจจุบัน อนาคต" เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่อง การพัฒนาสตรีกับการเมือง สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา. 2535.

- "สัญชาตญาณและวัฒนธรรม" ใน วัฒนธรรมความจน? กทม. : แพรวสำนักพิมพ์. 2541.

- "สำนึกร่วมของผู้หญิงในเมืองไทย" ใน มติชนสุดสัปดาห์ (19 มิ.ย.43) ปีที่ 20 ฉ.1035 หน้า 47.


- "ห้ามน้ำมันติดไฟ" ใน สังคมไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง. กทม. : คณะกรรมการเผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา. 2539.

- "เมียน้อย ๆ" ใน หมายเหตุวัฒนธรรมร่วมสมัย. กทม. : แพรวสำนักพิมพ์. 2537.

- "เรื่องโป๊ ๆ เปลือย ๆ" ใน ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงในและ ฯลฯ. กทม. : สำนักพิมพ์มติชน. 2538.

- "ไม่เปลื้องผ้า แต่เปลื้องอำนาจ" ใน มติชนสุดสัปดาห์ (30 พ.ย.2542) ปีที่ 19 ฉ.1006 หน้า47.


 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 950 เรื่อง หนากว่า 15000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



040749
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
"นิธ"ิกับ"ผู้หญิงศึกษา"ในสังคมไทย
บทความลำดับที่ ๙๖๔ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
่ผู้หญิงที่อาจารย์นิธิให้ความสนใจมักจะเป็นผู้หญิงที่ด้อยโอกาสทางสังคม หรือเป็นผู้หญิงจากชนชั้นล่าง ในงานเขียน 18 ชิ้น เป็นการพูดถึงผู้หญิงชนบทสอดแทรกในบทความต่าง ๆ จำนวนเกือบครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องเฉพาะกับเรื่องโสเภณี 6 เรื่อง การทำแท้ง 2 เรื่อง แม่ทิ้งลูก 1 เรื่อง ผู้หญิงทั้งหมดเหล่านี้ล้วนได้รับความเห็นใจ "โสเภณีเป็นความเจ็บปวดของสังคม สังคมต้องสำนึกได้ถึงความเจ็บปวดของผู้หญิงเหล่านั้นเสียก่อน มิฉะนั้นความเจ็บปวดของสังคมจะเป็นเพียงความขายหน้า ไม่ใช่ความเจ็บปวดที่แท้จริง"

"คนไทยและรัฐบาลไทยเจ็บปวดหรือไม่ กับการที่เรามีโสเภณีเต็มเมือง ยังเหลือศักยภาพในตัวเราที่จะเจ็บปวดแทนพี่น้องของเราในอาชีพนั้นได้อีกหรือไม่" "คนไทยจำนวนมากมองเห็นการค้าประเวณีว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือ 'บาปที่จำเป็น' การยอมรับทัศนคติที่ว่าผู้หญิงบางคนอาจเป็นสินค้าทางกามารมณ์ได้ ก็คือการยอมรับว่าผู้หญิงทั้งหมด สามารถเป็นสินค้าทางกามารมณ์ได้เหมือนกัน หากมีเงื่อนไขอำนวย"

 

เพราะแม้ว่าผู้หญิงในชนบทมีสถานะต่ำกว่าชายในเรื่องศาสนาพุทธและการปกครอง แต่ผู้หญิงมีบทบาทอย่างสูงในทางเศรษฐกิจ และในวัฒนธรรมไทยผู้ที่เป็นลูกเขยต้องเข้ามาอยู่ในบ้านของฝ่ายหญิง และทำมาหากินบนที่ดินของฝ่ายหญิง เพราะฉะนั้น ผู้ชายจะใช้ "สถานภาพที่สูงกว่าของตัว 'กดขี่' ผู้หญิงที่เป็นภรรยาไม่ได้ตามใจชอบ เพราะว่าผู้ชายต้องเข้าไปอยู่ในครอบครัวผู้หญิง ผู้ชายต้องอาศัยใบบุญจากญาติของฝ่ายหญิง"