Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

การเมืองในเวเนซุเอลายุคฮูโก ชาเวซ
การปฏิวัติโบลิวาร์ หรือเพียงแอปเปิ้ลเน่าที่ควรกำจัดทิ้ง
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เรียบเรียง
นักวิชาการอิสระ และนักแปลอิสระ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดความรู้การเมืองในเวเนซุเอลา
ยุคประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ครองอำนาจ
ในส่วนของบทความนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิวัติโบลิวาร์ที่กำลังดำเนินไป
และข้อได้เปรียบเกี่ยวกับการมีทรัพยากรน้ำมัน
ทำให้การปฏิวัติโบลิวาร์ต่างไปจากการปฏิวัติในรัสเซีย จีน และคิวบา

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 956
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12.5 หน้ากระดาษ A4)


การปฏิวัติโบลิวาร์ หรือเพียงแอปเปิ้ลเน่าที่ควรกำจัดทิ้ง
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เรียบเรียง

ความฝันของโบลิวาร์ยังไม่สิ้น
ในสายตาของสหรัฐอเมริกา การปฏิวัติโบลิวาร์เป็นเสมือนแอปเปิ้ลเน่าที่ควรกำจัดทิ้ง เพราะมันเป็น "ตัวอย่างที่ไม่ดี" สำหรับประเทศอื่นในภูมิภาคละตินอเมริกา รวมทั้งประเทศโลกที่สามทั้งหมด ในกรณีของเวเนซุเอลา สหรัฐอเมริกามีส่วนสมรู้ร่วมคิดอย่างออกนอกหน้ากับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลชาเวซ ทั้งในการรัฐประหารและการหยุดกิจการประท้วงของฝ่ายนายทุน

รัฐบาลฮูโก ชาเวซต้องเผชิญทั้งศึกภายในและศึกภายนอกบ้าน ตั้งแต่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1998 รัฐบาลชาเวซจึงเน้นการสร้างปราการป้องกันตัวเองสองด้าน ด้านหนึ่งคือสร้างเสริมระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในประเทศ และการจัดตั้งของประชาชนระดับรากหญ้า กับอีกด้านหนึ่งคือหาแนวร่วมนานาชาติ ที่จะสนับสนุนการปฏิวัติตามแนวทางโบลิวาร์

เนื่องจากน้ำมันเป็นเส้นเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงประเทศ ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับองค์กรโอเปค เขาผลักดันให้เวเนซุเอลาเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการปรับองค์กรนี้ ทำให้ประเทศสมาชิกขายน้ำมันได้ในราคาสูงขึ้น เมื่อสหรัฐฯ รุกรานอัฟกานิสถานและอิรัก ฮูโก ชาเวซเป็นหนึ่งในผู้นำประเทศไม่กี่คนในโลก ที่กล้าออกมาประณามสหรัฐฯ อย่างเปิดเผย หลังจากสหรัฐฯ ยึดครองอิรัก เวเนซุเอลาเคลื่อนไหวให้โอเปคไม่ยอมรับผู้แทนของอิรัก จนกว่าประเทศนี้จะได้รับอำนาจอธิปไตยกลับคืนมา

นอกจากนี้ รัฐบาลชาเวซยังเสนอให้อุตสาหกรรมน้ำมันในประเทศต่าง ๆ ของละตินอเมริกาจับมือกันก่อตั้งองค์กรร่วมที่เรียกว่า Petrosur หรือ "พันธมิตรน้ำมัน" ถ้าหากประสบความสำเร็จ ประเทศผู้ผลิตน้ำมันในภูมิภาคนี้จะสามารถควบคุมการผลิตน้ำมัน ซึ่งคิดเป็น 12 % ของการผลิตน้ำมันในโลก อันจะทำให้มีอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันและประเทศผู้บริโภคน้ำมันสามารถซื้อขายกันโดยตรง โดยไม่ต้องผ่าน "นายหน้าเก็งกำไรในระบบทุนนิยม" ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันถูกลง 30%-50%

เวเนซุเอลายังปฏิเสธไม่ยอมเข้าร่วมใน Plan Colombia โครงการที่สหรัฐอเมริกา สนับสนุนเงินทุนเพื่อทำลายขบวนการจรยุทธ์ฝ่ายซ้ายในโคลอมเบีย เขาไม่ยอมลงนามในข้อตกลงรอบใหม่กับ IMF และมีบทบาทสำคัญในการขัดขวางการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกา (FTAA) แต่หันมาสนับสนุนการสร้างกลุ่มการค้าละตินอเมริกาเพื่อคานน้ำหนักกับสหรัฐฯ

กลุ่มการค้าละตินอเมริกาที่รัฐบาลชาเวซพยายามผลักดันขึ้นมาคือ ALBA (Alianza Bolivariana para las Americas) ราวกับจะท้าทายต่อ ALCA (Area de Libre Comercio de las Americas) ซึ่งเป็นชื่อภาษาสเปนของ FTAA ที่สหรัฐอเมริกาหนุนหลัง ALBA เป็นเสมือนการสานต่อความฝันของซีโมน โบลิวาร์ ที่ต้องการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้เกิดขึ้นในภูมิภาคละตินอเมริกา ฮูโก ชาเวซประกาศว่า เป้าหมายของ ALBA คือ "การรวมกันเพื่อชีวิต-ไม่ใช่ลัทธิอาณานิคม แต่เพื่อความสุขของประชาชน"

ข้อตกลงความร่วมมือหลายประการตามแนวทาง ALBA มีการลงนามระหว่างคิวบากับเวเนซุเอลาถึง 115 โครงการ เวเนซุเอลาตกลงขายน้ำมันให้คิวบาในราคาถูก แลกเปลี่ยนกับการขอให้แพทย์และครูชาวคิวบาเข้ามาทำงานด้านสาธารณสุขและการศึกษา ในเขตยากจนของเวเนซุเอลา โครงการนี้ยังขยายต่อไปในด้านเกษตรกรรม เพราะคิวบาเป็นประเทศที่เชี่ยวชาญการทำเกษตรอินทรีย์ ความร่วมมือยังขยายไปสู่ด้านกีฬาและด้านอื่น ๆ ด้วย

เวเนซุเอลากำลังเจรจาเพื่อทำข้อตกลงตามแนวทาง ALBA กับอาร์เจนตินา แทนที่อาร์เจนตินาจะต้องจ่ายค่าน้ำมันที่นำเข้าจากเวเนซุเอลาด้วยเงินสกุลแข็ง หรือเงินสำรองที่อาร์เจนตินาไม่มีเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ อาร์เจนตินาก็จ่ายด้วยวัวแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศนี้มีมากมาย นี่คือลักษณะเด่นของข้อตกลง ALBA กล่าวคือมีความยืดหยุ่นในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ โดยหลีกเลี่ยงระบบการเงินที่ผ่านธนาคารระหว่างประเทศ และผลประโยชน์ทางการค้าของบรรษัทข้ามชาติ

ความร่วมมืออื่น ๆ ในภูมิภาคยังมีอาทิเช่น ข้อตกลงความร่วมมือ 26 โครงการระหว่างเวเนซุเอลากับบราซิล การพัฒนาเครือข่ายสื่อมวลชนแห่งละตินอเมริกาขึ้นมาในนามของ Telesur เพื่อคานอำนาจข้อมูลข่าวสารกับ CNN การก่อตั้ง Banco Venezuelano Social มีภารกิจในการ "ให้เงินสนับสนุนการพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ของความสมานฉันท์และความร่วมมือ" รวมไปถึงการเสนอให้ก่อตั้ง Bansur หรือธนาคารกลางของภูมิภาค

และในช่วงต้นปี ค.ศ. 2005 นี้เอง เวเนซุเอลาเริ่มขยายความร่วมมือข้ามภูมิภาค โดยเชื่อมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่าง จีน อินเดียและรัสเซีย โดยทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบจับมือเคียงข้างกับคิวบา ส่วนกับสหรัฐฯ ที่เป็นคู่ปรปักษ์นั้น เวเนซุเอลายังคงมีความสัมพันธ์ทางการค้าตามปรกติ แม้ว่าจะมีความมึนตึงทางการทูต ประธานาธิบดีชาเวซเพิ่งขู่สหรัฐฯ อย่างเปิดเผยว่า ถ้า CIA พยายามลอบสังหารหรือหนุนหลังให้เกิดการลอบสังหารตน เวเนซุเอลาจะไม่ขายน้ำมันให้สหรัฐอเมริกาอีกแม้แต่หยดเดียว

การปฏิวัติโบลิวาร์ : ดาวตกหรือดาวค้างฟ้า?
การปฏิวัติโบลิวาร์จะอยู่รอดปลอดภัยไปได้แค่ไหน ท่ามกลางโลกยุคเสรีนิยมใหม่และอาณานิคมใหม่? แน่นอน ไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ เราทำได้เพียงประเมินความเข้มแข็งและบริบทแวดล้อมของการปฏิวัติโบลิวาร์ในประเทศนี้

การปฏิวัติโบลิวาร์ในเวเนซุเอลาไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างปุบปับในสุญญากาศ แต่เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับสถานการณ์ที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงในละตินอเมริกา มีการลุกฮือแข็งข้อของประชาชนขยายไปทั่วทั้งทวีป การปฏิวัติโบลิวาร์เป็นทั้งผลผลิตของสถานการณ์นี้และเป็นแนวหน้าของการต่อสู้ด้วย

มีการเปรียบเทียบการปฏิวัติโบลิวาร์ในเวเนซุเอลากับการปฏิวัติสังคมนิยมในคิวบา ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้คิวบาอยู่รอดมาได้ เกิดจากช่องว่างทางประวัติศาสตร์ที่ขณะนั้นสหรัฐอเมริกากำลังติดหล่มสงครามเวียดนาม ในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน เวเนซุเอลาก็มีโชคในจังหวะที่มหาอำนาจสหรัฐฯ กำลังติดหล่มสงครามอิรัก

เวเนซุเอลายังโชคดีกว่าคิวบาตรงที่ตนไม่โดดเดี่ยว แต่มีประเทศเพื่อนบ้านร่วมทางกันเลี้ยวซ้ายอีกหลายประเทศ บราซิลมีประธานาธิบดีลูลาจากพรรคแรงงาน ที่แม้จะทำอะไรไม่ได้มากนัก แต่ลูลาก็ยังอยู่ภายใต้การกดดันของขบวนการประชาชน อย่างน้อยที่สุด ลูลาก็มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการเจรจาเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯ. ปลายปีที่แล้ว อุรุกวัยได้ประธานาธิบดีคนใหม่คือ นายทาบาเร วาซเควซ จากพรรคสังคมนิยมและเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอุรุกวัยที่มาจากพรรคฝ่ายซ้าย. ในชิลี พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายเริ่มชนะการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น และมีแนวโน้มจะชนะการเลือกตั้งในระดับชาติ ไม่มีรัฐบาลเสรีนิยมใหม่ชุดไหนปกครองโบลิเวียได้โดยไม่ถูกประชาชนขัดขวางนโยบายจนล้มคว่ำ

ในเฮติ แม้ประธานาธิบดีอรีสตีดจะถูกรัฐประหาร แต่ประชาชนยังเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลใหม่ เอกวาดอร์เพิ่งโค่นล้มรัฐบาลเสรีนิยมใหม่ลง และเรียกร้องให้นำกำไรจากกิจการน้ำมันมาใช้ในโครงการทางสังคม ส่วนอาร์เจนตินานั้น แม้ว่าประธานาธิบดีเนสเตอร์ เคิร์ชเนอร์จะไม่ชูธงฝ่ายซ้ายโดดเด่นเท่าลูลาหรือชาเวซ แต่เขาก็ยืนหยัดต่อต้าน IMF สหรัฐอเมริกาและบรรษัทข้ามชาติ ได้พอเพียงที่จะไม่ทำให้ชาวอาร์เจนตินาออกมาเคาะหม้อกระทะและตะโกน "Que se vayan todos"

แต่เราก็ไม่ควรประเมินสถานการณ์ของภูมิภาคนี้ในแง่ดีเกินไป เพราะแม้ว่าพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่ชนะการเลือกตั้งในประเทศที่กล่าวมาข้างต้น จะมีโวหารต่อต้านเสรีนิยมใหม่คล้าย ๆ กัน แต่เนื้อหาและคุณภาพยังแตกต่างกันอยู่มาก ดูอย่างกรณีของเอกวาดอร์ ประธานาธิบดีกูตีเยร์เรซที่เพิ่งถูกประชาชนขับไล่ออกไป ในตอนที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นประธานาธิบดี เขาก็เสนอตัวมาในแบบฮูโก ชาเวซเหมือนกัน. ลูลาจากพรรคแรงงานของบราซิลก็ทำให้ประชาชนผิดหวังจนมีเสียงโห่ "ไม่เอาลูลา!" ในงานเวทีสังคมโลกเมื่อต้นปีนี้

สิ่งเดียวที่คล้ายกันในทุกประเทศของภูมิภาคก็คือ พัฒนาการของขบวนการประชาชน ในช่วงแค่ไม่กี่ปีก่อน การต่อสู้ของประชาชนมักจำกัดอยู่แต่ในท้องถิ่นและประเด็นปัญหาในท้องที่ แต่เดี๋ยวนี้ มันมักเป็นการต่อสู้ที่ดึงดูดคนหลายชนชั้นอาชีพ หลายประเด็น และมักกินวงกว้างหลายเมืองไปจนถึงระดับชาติ เช่น การต่อสู้กับการแปรรูปน้ำสามารถกลายเป็นขบวนการการเมืองในระดับชาติได้ เป็นต้น

ในสถานการณ์แบบนี้ มีแนวโน้มเกิดขึ้น 3 แบบ กล่าวคือ

แนวโน้มที่หนึ่ง ชนชั้นกระฎุมพีอาจปล่อยให้มีรัฐบาล "ทางเลือกที่สาม" เพื่อบรรเทาความไม่พอใจของประชาชน โดยเฉพาะในกรณีที่ชนชั้นกระฎุมพีไม่มีพรรคการเมืองที่สามารถสร้างแรงสนับสนุนทางสังคมได้มากพอ เช่นที่เกิดในบราซิล ชิลีและอุรุกวัย รัฐบาลพรรคแรงงานในบราซิลเป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุด

แนวโน้มที่สอง คือการสร้างระบบทหารให้การปกครองของกระฎุมพี เช่น ในโคลอมเบีย เปรูและปารากวัย ชนชั้นปกครองเริ่มทดสอบความเป็นไปได้ที่จะใช้กองทัพเพื่อฟื้นฟู "ระเบียบ" ที่ระบบการเมืองของตนไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้

แนวโน้มที่สาม คือการแตกหัก เช่น ในเวเนซุเอลา เอกวาดอร์และโบลิเวีย ชนชั้นปกครองไม่สามารถสร้างความเป็นเอกฉันท์ทางการเมืองได้อีกต่อไป ประชาชนเริ่มเรียกร้องหรือเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดวาระของประเทศมากขึ้น

น้ำมันทำให้เวเนซุเอลาได้เปรียบการปฏิวัติฝ่ายซ้ายประเทศอื่นๆ
ปัจจัยภายในของเวเนซุเอลาก็มีส่วนทำให้การปฏิวัติโบลิวาร์มีโอกาสหยั่งราก ดังที่ฟิเดล คาสโตรเคยปราศรัยไว้ในรัฐสภาของเวเนซุเอลาเมื่อปี ค.ศ. 2000 เขาชี้ว่า เวเนซุเอลามีลักษณะเฉพาะตรงที่ อุตสาหกรรมน้ำมันทำให้มันขจัดความยากจนได้โดยไม่ต้องทำลายระบบทุนนิยม ความมั่งคั่งจากน้ำมันทำให้เวเนซุเอลาดำเนินโครงการทางสังคม โดยไม่ต้องอาศัยการยึดทรัพย์จากชนชั้นกระฎุมพี เวเนซุเอลายังมีโชคตรงที่รัฐยึดอุตสาหกรรมน้ำมันมาได้อย่างกึ่งบังเอิญ ประจวบกับราคาน้ำมันพุ่งสูง และสหรัฐฯ กำลังต้องการน้ำมันมาก จึงทำให้เวเนซุเอลามีเวลาหยั่งรากการปฏิวัติ หรือสามารถพัฒนาระบบคู่ขนานขึ้นมา โดยไม่จำเป็นต้องทำลายระบบทุนนิยม อีกทั้งไม่ต้องสร้างบาดแผลไว้ในสังคมอย่างประเทศรัสเซีย จีน หรือคิวบา

การปฏิวัติในรัสเซียและคิวบาถูกกดดันจากฝ่ายต่อต้าน ทำให้ต้องมีการยึดทรัพย์เร็วกว่าที่ควร ทำให้ชนชั้นแรงงานไม่มีเวลาพอที่จะเตรียมตัว สำหรับภารกิจในการบริหารระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม อันนำไปสู่ความสับสนวุ่นวาย การยึดทรัพย์ควรเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและใช้เวลา หยั่งรากอำนาจการเมืองให้แข็งแกร่งก่อน เป็นการปูทางและเตรียมความพร้อมให้ชนชั้นแรงงาน เพื่อให้การถ่ายโอนกรรมสิทธิ์เกิดความราบรื่นไม่สะดุดต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูประบบการศึกษาพร้อมกันไปด้วย

ปัญหาที่คิวบาต้องเผชิญเมื่อมีการยึดอุตสาหกรรมจำนวนมากคือ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาชีพจำนวนมากหนีออกนอกประเทศ ทำให้ต้องหันไปขอความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต ซึ่งนำความขัดแย้งตามมาด้วย ในรัสเซียหลังการปฏิวัติ การที่ชนชั้นแรงงานขาดการศึกษาและความเชี่ยวชาญ ทำให้พรรคบอลเชวิคต้องจำใจรับผู้บริหารยุคซาร์จำนวนมากกลับเข้ามาทำงานใหม่ ทำให้เนื้อหาของการปฏิวัติเสื่อมทรามลงอย่างช่วยไม่ได้

ความมั่งคั่งจากน้ำมันช่วยเวเนซุเอลามีเวลาหายใจมากกว่า ในด้านหนึ่ง เวเนซุเอลาสามารถจ่ายหนี้ต่างประเทศต่อไป ทำให้ไม่ต้องเผชิญปัญหาซึ่งๆ หน้ากับจักรวรรดินิยม ในขณะที่หนี้ต่างประเทศเป็นปัญหาอิหลักอิเหลื่อที่ลูลาต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน น้ำมันยังทำให้เวเนซุเอลาได้เปรียบในแง่ที่มีอิสระในระดับหนึ่งจากทุนการเงินระดับโลก มันไม่ต้องพึ่งพิงสถาบันกู้ยืมเงินต่างชาติมากนัก และสามารถมีเงินสนับสนุนโครงการพัฒนาของตัวเองได้อย่างอิสระ แต่ความเป็นอิสระนี้ก็ทำให้เวเนซุเอลายังต้องผูกพันแนบแน่นกับเศรษฐกิจโลกต่อไป เพราะความมั่งคั่งของน้ำมันจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าขายในตลาดโลกไม่ได้ แม้ว่าชาเวซจะแสวงหาความสัมพันธ์ทางการค้าแบบซีกโลกใต้-ซีกโลกใต้ แต่เวเนซุเอลาก็ยังต้องพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ อยู่ดี

ในอีกด้าน ความมั่งคั่งนี้เปิดโอกาสให้เวเนซุเอลาสร้างความเข้มแข็ง และเตรียมตัวชนชั้นแรงงาน ทั้งทางด้านการศึกษา การจัดตั้งทางการเมืองและการบริหาร แต่นี่ก็เป็นจุดอ่อนของการปฏิวัติโบลิวาร์ แม้ความสามารถในการจัดตั้งและจิตสำนึกทางการเมืองของชนชั้นแรงงานจะเริ่มหยั่งราก แต่จิตสำนึกทางการเมืองและการจัดตั้งของประชาชนมีความเข้มแข็งเฉพาะในเมืองใหญ่และในชุมชนที่มีการจัดตั้งมายาวนานเท่านั้น หากมองโดยภาพรวมทั้งประเทศ มันยังห่างไกลจากความสามารถที่จะบริหารระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางได้ เพราะมีชนชั้นแรงงานเพียง 14% เท่านั้นที่จัดตั้งเป็นสหภาพ ยังไม่นับแรงงานนอกระบบที่ไม่อยู่ในสถานะที่จะจัดตั้งสหภาพ

ด้วยเหตุนี้เอง ในด้านการเมือง รัฐบาลพรรคสาธารณรัฐที่ 5 จึงยังไม่ได้ทำอะไรมากนักกับโครงสร้างเดิมของสาธารณรัฐที่ 4 การเปลี่ยนผ่านจากระบอบประชาธิปไตยผู้แทนไปสู่การมีส่วนร่วมเป็นไปอย่างเชื่องช้า ในทางเศรษฐกิจ หลายครั้งที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ การมีส่วนร่วมของคนงานในโรงงานยังมีแค่ไม่กี่ตัวอย่าง ในทางวัฒนธรรมอาจมีความก้าวหน้าบ้าง แต่ส่วนใหญ่จำกัดอยู่แค่การศึกษา การให้การศึกษาฟรีไปจนถึงมหาวิทยาลัย ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำได้ยั่งยืนแค่ไหน

กระนั้นก็ตาม เราไม่ควรมองรัฐบาลชาเวซในแง่ร้ายเกินไป รัฐบาลชาเวซแตกต่างจากรัฐบาลชาตินิยม/ประชานิยม ตรงที่ส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรอิสระของคนจน ส่วนรัฐบาลชาตินิยม/ประชานิยม มักใช้โวหารต่อต้านจักรวรรดินิยมเต็มที่ แต่ในทางปฏิบัติ กลับใช้มาตรการต่อต้านจักรวรรดินิยมแค่อ่อน ๆ หรือมีมาตรการก้าวหน้าแค่สองสามอย่าง ซึ่งทำไปเพียงเพื่อให้ชนชั้นกระฎุมพีในประเทศสามารถมีจุดยืนที่มั่นคงขึ้น ในการสร้างสัมพันธ์กับทุนต่างชาติเท่านั้นเอง ไม่ใช่การจัดตั้งชนชั้นแรงงานเข้าสู่อำนาจ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นแรงงานจริง ๆ

นี่คือสิ่งที่ทำให้ชาวเวเนซุเอลายังมีความหวัง เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตที่ผ่านมา นโยบายของรัฐบาลในสมัยก่อนมุ่งกีดกันประชาชนออกจากการมีบทบาททางการเมือง แต่การปฏิวัติโบลิวาร์มุ่งสร้างความตื่นตัวทางการเมืองแก่ประชาชน และการมีบทบาทของภาคประชาชนคือสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ปริศนาของฮูโก ชาเวซ และกระบวนการปฏิวัติโบลิวาร์
ตอนที่ชาเวซก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีและเริ่มกระบวนการปฏิวัติโบลิวาร์ใหม่ ๆ ในฝ่ายซ้ายสากล มีทัศนะต่อชาเวซแตกต่างกัน 3 แบบคือ

1. มองชาเวซเป็นนักปฏิรูปเสรีนิยมที่พยายามปรับปรุงระบบเดิมให้ดีขึ้น

2. ชาเวซเป็นนักปฏิรูปที่ไม่มีความตั้งใจจริงที่จะแยกทางจากทุนนิยม เขาเป็นแค่นักชาตินิยมที่มีเป้าหมายแค่ต่อต้านจักรวรรดินิยมในแง่มุมจำกัด ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนท้องถิ่น

3. มีการปฏิวัติเกิดขึ้นจริงในเวเนซุเอลา ในประเทศที่ถูกกดขี่ด้วยจักรวรรดินิยม จักรวรรดินิยมคือศัตรูเฉพาะหน้าที่สุด การต่อต้านจักรวรรดินิยมคือจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติในประเทศเหล่านี้ การต่อสู้กับจักรวรรดินิยมจะนำมวลชนไปปะทะกับทุนนิยม ก่อให้เกิดจิตสำนึกและการจัดตั้งขึ้น

ยิ่งเวลาผ่านไป บทบาทการเป็นผู้นำของชาเวซยิ่งเป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ปัญญาชนที่คลางแคลงใจในช่วงเริ่มต้น ก็เริ่มหันมามองชาเวซเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติในยุคใหม่ เห็นได้จากการที่เขาได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งในเวทีสังคมโลกปีนี้ (2005) ซึ่งโดยปรกติแล้ว ขบวนการสังคมใหม่ มักระแวงอำนาจรัฐและต้องการถอยห่างมากกว่าเข้าหา

ในหมู่ฝ่ายซ้ายที่แม้จะชื่นชมขบวนการซาปาติสตา แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ "เปลี่ยนแปลงโลกโดยไม่ยึดอำนาจรัฐ" ฮูโก ชาเวซและการปฏิวัติโบลิวาร์กำลังเป็นตัวอย่างมีชีวิตที่แสดงให้เห็นว่า อำนาจรัฐยังมีประโยชน์และไม่ได้ชั่วร้ายเสมอไป กระนั้นก็ตาม ชาเวซจะสร้างความผิดหวังขึ้นมาในอนาคตหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า

แม้ว่าภูมิหลังของชาเวซจะเป็นทหารที่ผันตัวมาเป็นนักการเมือง แต่ก็ถือได้ว่าเขาเป็นปัญญาชนคนหนึ่ง เขาอ่านหนังสือมากว้างขวางรอบด้าน ทั้งวรรณกรรม ปรัชญา ทฤษฎีการเมืองและเศรษฐศาสตร์ เขาชอบอ้างถึงนักเขียนอย่างเอดัวร์โด กาเลอาโน (นักเขียนชาวอุรุกวัย) อันโตนิโอ กรัมชี หรือนักเศรษฐศาสตร์ที่เพิ่งล่วงลับอย่างอันเดร กุนเดอร์ ฟรังก์

แม้ว่าจะมีลีลาดุเดือดเร้าใจ แต่ฮูโก ชาเวซมีสำนึกทางประวัติศาสตร์เข้มข้น และรู้จักจังหวะจะโคนลูกล่อลูกชนทางการเมือง ในช่วงต้นบนเส้นทางสายการเมืองนั้น ชาเวซรอดพ้นจากข้อหาคอมมิวนิสต์มาได้เสมอ เขาไม่เคยเอ่ยคำว่า มาร์กซ์-เลนินหรือสังคมนิยมเลย แต่อาศัยการเชิดชูวีรบุรุษประจำชาติ เช่น ซีโมน โบลิวาร์, โรบินสัน, รีบาสหรือซาโมรา ขึ้นมาเป็นอุดมการณ์แทน

ในการปราศรัยต่อประชาชนที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อฉลองชัยชนะหลังการลงประชามติในปี ค.ศ. 2004 ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซกล่าวหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจมาก และสร้างความคลุมเครือเกี่ยวกับจุดยืนของตัวเขาด้วย

สำหรับประธานาธิบดีที่ชอบอ้างถึงนอม ชอมสกีและเช เกวารา ครั้งนี้เขากลับอ้างถึงนักวิเคราะห์ของวอลสตรีทและเลห์แมนบราเธอรส์ พร้อมกับกล่าวเป็นนัย ๆ ว่า ตลาดต่างประเทศกำลังเข้าใจแล้วว่า รัฐบาลของเขากำลังสร้าง-ไม่ใช่ทำลาย-เสถียรภาพในภูมิภาคนี้ เขายังกล่าวถึงโครงการสร้างท่อน้ำมันโคลอมเบีย-เวเนซุเอลา และสัญญากับบริษัทเชฟรอนเท็กซาโกที่เพิ่งลงนามกันไป นั่นหมายถึงชาเวซกำลังยืนยันว่า เขาไม่มีความตั้งใจที่จะคุกคามทรัพย์สินเอกชนหรือผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติ ตราบเท่าที่ไม่มีการคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยของเวเนซุเอลาเช่นกัน

นี่แสดงให้เห็นว่าชาเวซพยายามประนีประนอมกับทุกฝ่าย เขาไม่ต้องการหักด้ามพร้าด้วยเข่าและทำให้เวเนซุเอลาแตกแยกไปมากกว่านี้ ในการให้สัมภาษณ์แก่ทาริก อาลี บรรณาธิการนิตยสาร New Left Review ก่อนการลงประชามติเดือนสิงหาคม ชาเวซกล่าวว่า "วันนี้เรามีเป้าหมายที่จะนำพาเวเนซุเอลาไปสู่การยกเลิกกรรมสิทธิ์เอกชน หรือสังคมไร้ชนชั้นหรือเปล่า? ผมคิดว่าไม่ใช่ แต่ถ้ามีคนมาบอกผมว่า เพราะฉะนั้น คุณก็ไม่สามารถทำอะไรเลยเพื่อช่วยเหลือคนจน ช่วยเหลือประชาชนที่สร้างความมั่งคั่งให้ประเทศด้วยแรงงาน และอย่าลืมว่าบางส่วนเป็นแรงงานทาสด้วย ถ้าอย่างนั้น ผมก็ขอบอกกับเขาว่า 'เราต้องเดินกันคนละทาง' ผมจะไม่มีวันยอมรับว่า ไม่มีหนทางอื่นอีกในการปรับปรุงการกระจายความมั่งคั่งในสังคม"

ชาเวซเสริมต่อว่า "ผมเชื่อว่า คนเราตายในสนามรบ ยังดีกว่าเอาแต่ชูธงปฏิวัติที่อุดมคติมาก ๆ แล้วไม่ทำอะไรเลย...ผมรู้สึกเสมอว่า จุดยืนแบบนั้นเป็นข้อแก้ตัวที่มักง่ายมาก...คุณต้องพยายามและสร้างสรรค์การปฏิวัติสิ ก้าวสู่การสู้รบ รุกไปข้างหน้าทีละนิด ต่อให้แค่ทีละมิลลิเมตรก็ยังดี ขอให้เป็นทิศทางที่ถูกต้องก็แล้วกัน แทนที่จะมัวนั่งฝันถึงสังคมอุดมคติ"

จวบจนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญใหม่ย่างเข้าปีที่ 5 เมื่อต้นปี ค.ศ. 2005 นี้เอง ในเวทีสังคมโลก เป็นครั้งแรกที่ฮูโก ชาเวซประกาศอย่างชัดเจนถึงอุดมการณ์สังคมนิยม: "เราต้องฟื้นอุดมการณ์สังคมนิยมขึ้นมาทั้งในฐานะทฤษฎี แผนการและแนวทาง แต่ต้องเป็นสังคมนิยมในรูปแบบใหม่ สังคมนิยมที่มีความเป็นมนุษย์"

ชาเวซแค่อยากเอาใจนักกิจกรรมขบวนการสังคมใหม่ที่บราซิลหรือเปล่า? หลังจากนั้น ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ชาเวซก็ประกาศในรายการ Alo Presidente ซึ่งเป็นรายการวาไรตีประธานาธิบดีพบประชาชนความยาว 5 ชั่วโมงที่ออกอากาศเป็นประจำในเวเนซุเอลา: "ผมเชื่อและผมคิดว่าความเชื่อนี้จะอยู่คู่กับผมไปจนวันตาย นั่นคือหนทางไปสู่โลกใบใหม่ที่ดีกว่าและเป็นไปได้ ไม่ใช่หนทางของทุนนิยม แต่หนทางนั้นคือสังคมนิยม"

เขายังพูดในการปราศรัยที่คิวบาว่า ลัทธิโบลิวาร์ของเขาเป็นสังคมนิยมผสมกับเทววิทยาแห่งการปลดปล่อย (Liberation Theology) ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งของคริสต์ศาสนาที่แพร่หลายมากในละตินอเมริกา เขาอ้างถึงคำสอนของพระเยซูว่า "อูฐจะลอดรูเข็มยังง่ายกว่าคนรวยจะผ่านเข้าสู่อาณาจักรแห่งพระผู้เป็นเจ้า" พร้อมกับตบท้ายว่า "สำหรับผม พระผู้เป็นเจ้าก็คือประชาชน"

แต่แค่คำพูดย่อมไม่ใช่เครื่องพิสูจน์การกระทำ เวลาเท่านั้นที่จะพิสูจน์ว่า ชาเวซจะเป็นเหยื่ออีกคนหนึ่งของวัฒนธรรมทางการเมืองที่ฝังรากลึกในละตินอเมริกาหรือไม่ วัฒนธรรมของการพูดขยายความเกินจริง ให้ความหวังในแง่ดีเกินไป สัญญาในสิ่งที่ทำได้ยากหรือไม่มีทางทำได้ หรือบอกว่าจะทำโน่นทำนี่แต่ไม่ได้ทำเสียที

ความสัมพันธ์ของเขากับประชาชนก็ใช่ว่าจะชื่นมื่นเสมอไป ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลชาเวซเกิดขึ้นในการสรรหาตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเมื่อปีที่แล้ว ชุมชนต้องการเวทีระดับชาติเพื่อแสดงออกถึงความต้องการและการต่อสู้ที่วางรากฐานในระดับชุมชน ดังนั้น สมัชชาประชาชนจึงประชุมกันในชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อหาจุดยืนเกี่ยวกับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นว่าจะเลือกอย่างไหนระหว่าง ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ท้องถิ่นเลือกขึ้นมา หรือสนับสนุนผู้สมัครที่พรรคการเมืองเลือกมาอย่างมีเงื่อนไข?

จุดยืนของชาเวซในเรื่องนี้กลับน่าประหลาดใจ เขาประกาศว่า "เราประกาศตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้วและนี่คือผู้สมัครของเรา ใครที่ไม่ต้องการความเป็นเอกภาพก็เชิญไปเข้าร่วมกับฝ่าย escualidos ได้" ผู้สมัครเหล่านี้ถูกเลือกมาโดยคณะกรรมการแห่งชาติที่อยู่ใต้อิทธิพลของพรรครัฐบาล ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ การคัดค้านอย่างดุเดือดจากชุมชนจำนวนมากที่เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามคำโฆษณาของตัวเองในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน

ถ้าไม่มองชาเวซในแง่ร้ายเกินไป เป็นไปได้ที่เขาต้องการสร้างหลักประกันแก่การปฏิวัติโบลิวาร์ การให้ชุมชนเลือกผู้สมัครขึ้นมาเอง อาจถูกอิทธิพลของฝ่ายตรงข้ามเข้าแทรกแซง แต่ตัวบุคคลในพรรค MVR ก็มีปัญหาคอร์รัปชั่น การฉวยโอกาส การใช้ระบบอุปถัมภ์และการบริหารงานแบบโครงสร้างลำดับชั้น แม้ชาเวซจะพยายามปรับโครงสร้างของพรรคมาหลายครั้งก็ตาม

ชาเวซต้องพิสูจน์ตัวเองว่า เขาสามารถก้าวพ้นการเมืองแบบเก่าที่เขาเองแสดงความชิงชังรังเกียจ และสามารถทำได้จริงตามแนวทางการเมืองแบบโบลิวาร์ที่เขาเองเป็นคนนิยามว่า "การเมืองคือศิลปะของการทำสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ในวันนี้ ให้กลายเป็นความเป็นไปได้ในวันพรุ่ง"

กุญแจไขปริศนาของฮูโก ชาเวซ
นักกิจกรรมชุมชนระดับรากหญ้าของเวเนซุเอลากล่าวว่า: "เราสนับสนุนและปกป้องรัฐบาลชาเวซ แต่เราก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างหนักเมื่อถึงคราวจำเป็น ถ้าไม่มีการวิจารณ์ การปฏิวัติก็ตายสนิท สังคมนิยมล่มสลายเมื่อประชาชนไม่มีปากเสียงในการปกครอง ฉันไม่เชื่ออัศวินขี่ม้าขาวคนไหน ฉันเชื่อในประชาชน"

"ชาเวซไม่ใช่การปฏิวัติ เขาเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการปฏิวัติเท่านั้น"

บทสรุป
ประวัติศาสตร์ตบหัวฟูกุยามา พร้อมกับตักเตือนว่า "ตราบใดที่ยังมีมนุษย์ (ซึ่งรวมทั้งเอ็งด้วย) ประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยสิ้นสุด"

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เรียบเรียงจาก

Benjamin Dangl, Radio Rebelde in Venezuela, May 02, 2005, www.Americas.org.

-------------------, The National Housewives' Union in Venezuela, April 27, 2005, www.UpsideDownWorld.org.

Coral Wynter, The Revolutionary Process in Venezuela: An Embryonic Workers and Peasant State, www.venezuelasolidarity.org.

Claudio Katz, Latin America's new 'left' governments, (International Socialism) http://www.isj.org.uk/

Dawn Gable, Civil Society, Social Movements, and Participation in Venezuela's Fifth Republic , www.venezuelanalysis.com.

Diane Taylor, Women's Bank: The Venezuelan Bank That Likes To Say Yes If You're A Woman, April 07, 2005 The Guardian.

Derrick O'Keefe, Venezuela's Challenge for the 21st Century: Building a Democratic, Humanist Socialism, SevenOaksMag.com.

Gabriel Garcia Marquez, The Enigma of Chavez, (Translated by Mark McHarry), October 04, 2000, Le Monde Diplomatique.

Gregory Wilpert, Collision in Venezuela, New Left Review 21 ( May-June, 2003).

John Olmsted, Venezuela Today " Report from the third Encuentro Mundial", May 15, 2005, ZNet.

Jean Duval, Letter from Venezuela: Revolutionary spirit of the masses - the workers take centre stage, http://www.marxist.com/index.asp.

Jonah Gindin, The Possible Faces of Venezuelan Democracy, Venezuelanalysis.com

----------------, Deepening the Revolution II: From Chavismo to Revolution in Venezuela, Tuesday, Aug 31, 2004, Venezuelanalysis.com.

Jorge Jorquera, Venezuela: The revolution unfolding in Latin America ,
http://www.venezuelasolidarity.org.

Justin Podur, The Venezuelan Referendum: Chavez wins and the balancing act continues, ZNet.

Michael Keefer, Hugo Chavez Frias and the Sense of History, May 03, 2005, ZNet.

Sarah Wagner, Participatory Democracy in Venezuela, part I:
Citizen Power and Venezuela's Local Public Planning Councils, Nov 12, 2004, Venezuelanalysis.com.

------------------------, Participatory Democracy in Venezuela, part 2
The Legal and Practical Basis of Citizen Power in Venezuela, Venezuelanalysis.com.

------------------------, Problems and Opportunities for Citizen Power in Venezuela Tuesday, Dec 07, 2004, Venezuelanalysis.com.

Selma James & Nina Lopez, Venezuela: the grassroots revolution and the managerial class, http://www.venezuelasolidarity.org.

Stuart Munckton, Why they are terrified of the Bolivarian Revolution, http://www.venezuelasolidarity.org.

------------------------, The revolution in Venezuela, December 8, 2004, http://www.greenleft.org.au/.

-----------------------, The Venezuelan Revolution and the Need for Solidarity, venezuelasolidarity.org.

Tariq Ali Interview, Venezuela: Changing the World by Taking Power, Jul 22, 2004, Venezuelaanalysis.com

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สำหรับผู้สนใจ อ่านบทความเกี่ยวเนื่องข้างล่างดังนี้

- เวเนซุเอลา: เส้นทางปฏิวัติยุคหลังประวัติศาสตร์
- มหากาพย์การเมืองเวเนซุเอลา : ปริศนาของฮูโก ชาเวซ
- โค่นประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ : เพียงแค่คลื่นลมกระทบหินผา
- การปฏิวัติโบลิวาร์ : องค์กรคู่ขนานและการปฏิรูปที่ดิน
- การปฏิวัติโบลิวาร์ : การเมือง เศรษฐกิจ สังคมภาคพลเมือง

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



230649
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
การปฏิวัติโบลิวาร์ในเวเนซุเอลา
บทความลำดับที่ ๙๕๖ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
เวเนซุเอลามีลักษณะเฉพาะตรงที่ อุตสาหกรรมน้ำมันทำให้มันขจัดความยากจนได้โดยไม่ต้องทำลายระบบทุนนิยม ความมั่งคั่งจากน้ำมันทำให้เวเนซุเอลาดำเนินโครงการทางสังคม โดยไม่ต้องอาศัยการยึดทรัพย์จากชนชั้นกระฎุมพี เวเนซุเอลายังมีโชคตรงที่รัฐยึดอุตสาหกรรมน้ำมันมาได้อย่างกึ่งบังเอิญ ประจวบกับราคาน้ำมันพุ่งสูง และสหรัฐฯ กำลังต้องการน้ำมันมาก จึงทำให้เวเนซุเอลามีเวลาหยั่งรากการปฏิวัติ หรือสามารถพัฒนาระบบคู่ขนานขึ้นมา โดยไม่จำเป็นต้องทำลายระบบทุนนิยม อีกทั้งไม่ต้องสร้างบาดแผลไว้ในสังคมอย่างประเทศรัสเซีย จีน หรือคิวบา

การปฏิวัติในรัสเซียและคิวบาถูกกดดันจากฝ่ายต่อต้าน ทำให้ต้องมีการยึดทรัพย์เร็วกว่าที่ควร ทำให้ชนชั้นแรงงานไม่มีเวลาพอที่จะเตรียมตัว สำหรับภารกิจในการบริหารระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม อันนำไปสู่ความสับสนวุ่นวาย การยึดทรัพย์ควรเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและใช้เวลา หยั่งรากอำนาจการเมืองให้แข็งแกร่งก่อน เป็นการปูทางและเตรียมความพร้อมให้ชนชั้นแรงงาน เพื่อให้การถ่ายโอนกรรมสิทธิ์เกิดความราบรื่นไม่สะดุดต่อเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ รัฐบาลชาเวซยังเสนอให้อุตสาหกรรมน้ำมันในประเทศต่าง ๆ ของละตินอเมริกาจับมือกันก่อตั้งองค์กรร่วมที่เรียกว่า Petrosur หรือ "พันธมิตรน้ำมัน" ถ้าหากประสบความสำเร็จ ประเทศผู้ผลิตน้ำมันในภูมิภาคนี้จะสามารถควบคุมการผลิตน้ำมัน ซึ่งคิดเป็น 12 % ของการผลิตน้ำมันในโลก อันจะทำให้มีอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันและประเทศผู้บริโภคน้ำมันสามารถซื้อขายกันโดยตรง โดยไม่ต้องผ่าน "นายหน้าเก็งกำไรในระบบทุนนิยม" ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันถูกลง 30%-50%