Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

การเมืองภาคประชาชนในเวเนซุเอลา
การปฏิวัติโบลิวาร์ : องค์กรคู่ขนานและการปฏิรูปที่ดิน

ภัควดี วีระภาสพงษ์
นักวิชาการ และนักแปลอิสระ

บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการปฏิวัติโบลิวาร์ของประชาชนที่จัดตั้งขึ้นมา
เพื่อต่อสู้กับระบบการปกครอง ระบบราชการ และการครอบงำทางเศรษฐกิจของกลุ่มอำนาจเก่าในเวเนซุเอลา
เฉพาะในบทความนี้มีสาระสำคัญดังหัวข้อต่อไปนี้คือ

ชมรมโบลิวาร์: องค์กรรากหญ้าของประชาชน
, สังคมคู่ขนานในเวเนซุเอลา, การปฏิรูปที่ดิน,
การจัดตั้งองค์กรแรงงานทั้งในและนอกระบบ, สหกรณ์ : ขบวนการทางสังคมของการปฏิวัติโบลิวาร์

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 945
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)

 

การปฏิวัติโบลิวาร์ องค์กรคู่ขนานและการปฏิรูปที่ดิน
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : นักวิชาการอิสระ

การปฏิวัติโบลิวาร์
ชมรมโบลิวาร์: องค์กรรากหญ้าของประชาชน
องค์กรภาคประชาชนที่เกิดขึ้นมาเองและมีบทบาทมากที่สุดในเวเนซุเอลา คือ "ชมรมโบลิวาร์" (Bolivarian Circles) ซึ่งมีฐานการจัดตั้งอยู่ใน barrios ในเมืองใหญ่ ๆ จุดกำเนิดของชมรมโบลิวาร์เริ่มขึ้นมาในปี ค.ศ. 2000 หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มันเป็นการริเริ่มของกลุ่มคนในชุมชนโดยมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นคือ รวมตัวกันศึกษารัฐธรรมนูญฉบับใหม่และประวัติศาสตร์ของเวเนซุเอลา

การขยายตัวของชมรมเป็นไปเองโดยธรรมชาติ จากจุดเริ่มต้นเพื่อศึกษาสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มันกลายเป็นการจัดตั้งขบวนการทางการเมืองในระดับท้องถนน และยิ่งการเมืองของเวเนซุเอลาโลดโผนเท่าไร ยิ่งชนชั้นกระฎุมพีพยายามหาทางโค่นล้มชาเวซมากแค่ไหน ชมรมโบลิวาร์ก็ยิ่งพัฒนาตัวเองเป็นกลุ่มพลังของประชาชนรากหญ้า เพื่อต่อสู้กับอำนาจของชนชั้นปกครองเดิม

ในตอนที่เกิดรัฐประหาร 2002 ทั้งประเทศมีชมรมโบลิวาร์อยู่ประมาณ 8,000 แห่ง แต่ละชมรมมีสมาชิกราว 7-10 คน จัดตั้งกันตามละแวกบ้านและชุมชนท้องถิ่น ปัจจุบัน มีสมาชิกลงทะเบียนในชมรมราว 2.2 ล้านคน หรือประมาณ 10% ของประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ และมีจำนวนชมรมมากถึง 200,000 ชมรม สมาชิกแต่ละคนในชมรมมีสถานะเท่าเทียมกัน

โดยพื้นฐานแล้ว ชมรมมีหน้าที่เป็นองค์กรอิสระของประชาชนในการรณรงค์ระดับท้องถิ่น ระดมพลังต่อต้านการบ่อนทำลายทางเศรษฐกิจของชนชั้นนายทุน เป็นเวทีเพื่อส่งเสริมจิตสำนึกทางชนชั้นและสนับสนุนการต่อสู้ของชนชั้นแรงงาน ตัวอย่างเช่น ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2003 ผู้ประสานงานระดับภูมิภาคของชมรมโบลิวาร์ในเขตถนน "23 มกรา" ("23 de Enero"--"23rd of January") ของคารากัส ร่วมมือกันก่อตั้งโรงเรียนพลังประชาชนโบลิวาร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการอบรมทางการเมืองของขบวนการประชาชน

ต่อมา บทบาทของชมรมจึงขยายไปสู่การทำงานในโครงการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น จากนั้นก็ค่อย ๆ ศึกษาและสนใจประเด็นปัญหาที่กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น สาธารณสุขและการศึกษา จนนำไปสู่การขอมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบาย ที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนของตน รัฐบาลชาเวซจึงเข้ามาส่งเสริมให้ก่อตั้งชมรมแบบนี้เพื่อเป็นกลไกในการมีส่วนร่วม และมีกลุ่มอื่น ๆ ในชุมชนจำนวนมากหันมาใช้ชื่อ "ชมรมโบลิวาร์" และรวมตัวกันเป็นเครือข่าย

ปัจจุบันมีการจัดตั้งเป็นบ้านโบลิวาร์ (Bolivarian Houses--Casas Bolivarianas) เพื่อแสวงหาความร่วมมือทั้งในชมรมและกับองค์กรสังคมอื่น ๆ หาทางแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนทั้งในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และแม้กระทั่งระดับนานาชาติ บ้านแห่งแรกเปิดขึ้นในชุมชน "23 มกรา" ซึ่งเป็นชุมชนนักกิจกรรมมายาวนาน และมีแผนการจะเปิดให้ได้ 1,078 แห่งในสองปีข้างหน้า

ชมรมโบลิวาร์บรรยายว่า บ้านโบลิวาร์เป็น "พื้นที่ชุมชนสำหรับการพบปะ แลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น สร้างความสามัคคีและความเข้มแข็งให้องค์กร ขบวนการและสถาบันต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายในการสร้างและส่งเสริมพลังประชาชน..." ผู้ประสานงานหรือสมาชิกของทีมประสานงานไม่ได้รับเงินเดือน สำนักงานกลางแห่งชาติคอยให้คำแนะนำ แต่ไม่มีทุนให้ ทั้งนี้เพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในแนวทางโบลิวาร์ที่ว่า การปฏิวัติเป็นของประชาชน องค์กรประชาชนก็ต้องยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเอง

ชมรมโบลิวาร์กลายเป็นแรงบันดาลใจที่กว้างไกลออกไปจนถึงในต่างประเทศ ปัจจุบันมีการก่อตั้งชมรมโบลิวาร์ขึ้น 22 แห่ง ทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดาและยุโรปตะวันตก เพื่อศึกษาและดำเนินรอยตามแนวทางในเวเนซุเอลา

สังคมคู่ขนานในเวเนซุเอลา
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า กลไกรัฐส่วนใหญ่ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มอำนาจเก่า แม้ว่ารัฐบาลชาเวซจะสามารถกุมเสียงข้างมากในรัฐสภาแล้วก็ตาม แต่ไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าระบบราชการไม่ยอมปฏิบัติตามนโยบายที่รัฐมนตรีสั่งลงมา

ระบบราชการในเวเนซุเอลาไม่เพียงแค่ไม่ยอมปฏิบัติตาม ข้าราชการส่วนใหญ่ถึงขนาดตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อชาเวซ คอยขัดขวางและบ่อนทำลายโครงการของรัฐบาลในทุกวิถีทาง อาทิเช่น วัคซีนฟรีที่จะนำไปฉีดให้เด็ก ๆ ถ้าไม่เสียหายด้วยอุบัติเหตุ ก็หายไปในระหว่างขนส่งเสียเฉย ๆ เช่นเดียวกับวิดีโอและโทรทัศน์ ที่จะนำไปใช้ในโครงการเพื่อการอ่านออกเขียนได้ก็อันตรธานไปอย่างไร้ร่องรอย เป็นต้น

ชนชั้นกลางที่เป็นนักวิชาชีพก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต่อต้านชาเวซ ทั้งนี้เพราะนโยบายอุดหนุนการศึกษาแก่คนยากจนของรัฐบาลทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่า อาชีพของตนเริ่มขาดความมั่นคง นโยบายทางสังคมของรัฐบาลชาเวซกำลังทำให้ลำดับชั้นในสังคมเปลี่ยนไป การผูกขาดความเชี่ยวชาญก็เริ่มเปลี่ยนไปด้วย เพราะเมื่อประชาชนรากหญ้าได้รับการศึกษาดีขึ้น พวกเขาอาจเข้ามาแย่งงานจากชนชั้นกลางเดิม

นักวิชาชีพที่สำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่งในสังคมก็คือ แพทย์ ในระบบแบบเก่านั้น แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐต้องทำงาน 6-8 ชั่วโมง และได้รับค่าจ้างต่ำ แพทย์ส่วนใหญ่จึงทำงานแค่ 2-3 ชั่วโมงในโรงพยาบาล แล้วใช้เวลาที่เหลือในโรงพยาบาลเอกชนที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่ากันมาก อาชีพแพทย์ในเวเนซุเอลาไม่เคยถูกคาดหวังให้ดูแลรักษาคนที่ไม่มีเงินจ่าย

นอกจากเหตุผลในเรื่องค่าตอบแทน เหตุผลในเรื่องสีผิวก็มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย แพทย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว ไม่คุ้นเคยกับการให้บริการแก่ประชาชนระดับล่างที่เป็นคนผิวสีทาส ดังนั้น การปฏิวัติทางสังคมตามแนวทางโบลิวาร์ของรัฐบาลชาเวซ ซึ่งเรียกกันว่า el proceso (the process) จึงมีแพทย์เพียง 2% เท่านั้นที่ให้การสนับสนุน คำสั่งทุกอย่างที่กระทรวงสาธารณสุขสั่งลงมา ไม่ได้รับการปฏิบัติตาม

ในสถานการณ์แบบนี้ รัฐบาลชาเวซควรทำอย่างไร?
รัฐบาลควรใช้วิธีขุดรากถอนโคน ทำลายสิ่งเก่าเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ โดยเสี่ยงต่อการทิ้งบาดแผลไว้ในสังคม เหมือนค่ายกักกันนักโทษการเมืองกูแลกในรัสเซีย การปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน หรือทุ่งสังหารในเขมร? รัฐบาลชาเวซเลือกใช้อีกวิธีหนึ่ง กล่าวคือ ใช้วิธีอ้อมผ่านระบบราชการและนักวิชาชีพ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ รัฐบาลสร้างสังคมคู่ขนานขึ้นมาในเวเนซุเอลา สิ่งใดที่รัฐบาลสั่งลงไปและระบบราชการไม่ปฏิบัติ รัฐบาลก็สร้างกลไกคู่ขนานขึ้นมาทำหน้าที่นั้นแทน โดยอาศัยบุคลากรจากกองทัพ องค์กรประชาชน แรงงานทั้งที่ว่าจ้างและอาสาสมัคร รวมทั้งบุคลากรจากต่างประเทศ

องค์กรคู่ขนานที่เกิดมาจากการปฏิวัติโบลิวาร์นี้มีในทุกภาคส่วน ในระบบแบบเก่ามีองค์กรสตรีแห่งชาติ การปฏิวัติโบลิวาร์ก็มีขบวนการสตรีโบลิวาร์ ระบบเก่ามีสหภาพแรงงาน CTV ระบบใหม่ก็มีสหพันธ์แรงงานโบลิวาร์ เดิมมีกลุ่มยุวชนของพรรค AD เดี๋ยวนี้มีสถาบันยุวชนโบลิวาร์ขึ้นมาเคียงคู่ รวมทั้งองค์กรนักศึกษาโบลิวาร์, สหพันธ์แพทย์โบลิวาร์ ฯลฯ องค์กรคู่ขนานเหล่านี้สนใจประเด็นปัญหาเดียวกับองค์กรเดิม แต่แสวงหาแนวทางแก้ไขที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

แต่เนื่องจากนักวิชาชีพอย่างแพทย์เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วนไม่ได้ รัฐบาลชาเวซจึงขอความร่วมมือจากประธานาธิบดีคาสโตรแห่งคิวบา และนำแพทย์ชาวคิวบาเข้ามากว่า 14,000 คน มาทำงานกับผู้หญิงชาวเวเนซุเอลาที่ได้รับการฝึกวิชาพยาบาล โดยเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการสาธารณสุขชุมชน ทำงานประจำอยู่ตามคลินิกสุขภาพชุมชน และเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว รัฐบาลจึงส่งนักศึกษาไปเรียนวิชาแพทย์ในคิวบาอีกด้วย

นี่เป็นตัวอย่างของการแก้ปัญหาด้วยการสร้างกลไกคู่ขนานขึ้นมา มีแม้กระทั่งละครน้ำเน่าคู่ขนาน! สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลสร้างละครรัก ๆ ใคร่ ๆ ที่ผูกเรื่องขึ้นมาโดยมีฉากหลังเป็นสถานีอนามัยในเขต barrios เพื่อแข่งกับละครน้ำเน่าชีวิตคนรวยของสถานีโทรทัศน์เอกชน ละครน้ำเน่าของรัฐบาลเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก

แม้กระทั่งปัญหาภายในของพรรคสาธารณรัฐที่ 5 (MVR) ของชาเวซเอง เมื่อเขาเห็นว่า พรรค MVR เริ่มเฉื่อยชาและนักการเมืองของพรรคหลายคน รวมทั้งพวกนายกเทศมนตรีเริ่มทำตัวฉ้อฉลและเข้าสู่ระบบอุปถัมภ์แบบเดิม ๆ วันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2001 ชาเวซก็ประกาศรื้อฟื้นกลุ่ม MBR-200 ขึ้นมาใหม่ เขาเรียกตัวนักต่อสู้ฝ่ายซ้ายอย่าง ปาโบล เมดินา และกิลเยอร์โม การ์เซีย ปอนเซ จากสายคอมมิวนิสต์ให้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการปฏิวัติโบลิวาร์ และก่อตั้ง Comando Nacional de la Revolucion ขึ้นเป็นกลไกคู่ขนานกับพรรคการเมือง

แต่หัวใจของการปฏิวัติโบลิวาร์อยู่ที่การปรับโครงสร้างปัจจัยการผลิตเสียใหม่ โดยเฉพาะที่ดิน

การปฏิรูปที่ดิน
แม้ว่าแผนการพัฒนาประเทศตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา จะทำให้เวเนซุเอลากลายเป็นสังคมเมืองขนาดใหญ่ที่ประชากรถึง 87% อาศัยอยู่ในเมือง แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า ที่ดินในชนบทไม่มีมูลค่า ดูได้จากที่ประเด็นการปฏิรูปที่ดินเป็นชนวนหนึ่งที่ทำให้เกิดการหยุดกิจการประท้วงครั้งแรกในปี ค.ศ. 2001 ในเวเนซุเอลา มี 8 ตระกูลที่เป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่เป็น 18 เท่าของเมืองหลวงคารากัส

การปฏิรูปที่ดินยังเกี่ยวข้องกับความมั่นคงในด้านอาหาร รัฐบาลชาเวซมีเป้าหมายระยะยาวที่จะทำให้เวเนซุเอลาพึ่งตัวเองในด้านอาหาร และลดการนำเข้าอาหารพื้นฐานลง โดยต้องการเพิ่มมูลค่าการเกษตรในจีดีพีเป็น 12% ในปี ค.ศ. 2007 แนวคิดในการกระจายที่ดินจึงเน้นให้เกษตรกรรายย่อยมีที่ดินทำกิน เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ด้วยความเชื่อว่าการผลิตขนาดเล็กและขนาดกลางมีประสิทธิภาพดีและยั่งยืนกว่าขนาดใหญ่ พร้อมกันนั้น รัฐบาลสั่งห้ามการนำเข้าพืชจีเอ็มโอ ส่งเสริมให้ปลูกพืชพื้นบ้าน และก่อตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์

นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมแผน "มือทุกมือเพื่อการเพาะปลูก" (Todas las Manos a la Siembra) เพื่อส่งเสริมให้ใช้ที่ดินในเมืองมาปลูกผักสำหรับชุมชน มีเจ้าหน้าที่จากกองทัพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรจากคิวบา และอาสาสมัครในชุมชนช่วยกันดัดแปลงพื้นที่ในเมืองคารากัสและรอบนอก ให้กลายเป็นแปลงปลูกผัก นอกจากนี้ ยังมีแปลงเกษตรทดลองให้นักศึกษามหาวิทยาลัยในภาคเกษตรกรรม ทำงานร่วมกับเกษตรกรที่มีประสบการณ์ในชุมชนด้วย

กระบวนการปฏิรูปที่ดินของการปฏิวัติโบลิวาร์ถือเป็นความก้าวหน้าที่หาได้ยาก เพราะมันเป็นกระบวนการจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่การยัดเยียดจากบนลงล่าง โดยบทบาทสำคัญอยู่ที่ คณะกรรมการที่ดิน

คณะกรรมการที่ดินเป็นองค์กรที่มีจุดกำเนิดมาจากองค์กรประชาชนที่จัดตั้งขึ้นมาเอง โดยเริ่มต้นจากในเมืองก่อน หลังจากเหตุการณ์คารากาโซ เกิดขบวนการประชาชนที่เรียกกันว่า assemblea de barrios ขึ้นมาในสลัม มีข้อเรียกร้องอันดับแรกคือ การขอกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย สมัชชาชุมชนพวกนี้เองที่เข้าเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการโบลิวาร์ของฝ่ายชาเวซ และช่วยให้เขาชนะการเลือกตั้ง

เมื่อรัฐบาลดำเนินนโยบายปฏิรูปที่ดิน จึงส่งเสริมให้มีการตั้งคณะกรรมการที่ดิน ซึ่งเป็นสภาประชาชนที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นตัวแทนของกลุ่มครอบครัว คณะกรรมการที่ดินประกอบด้วยบุคคล 7-11 คนที่ได้รับเลือกตั้งจากการประชุมของกลุ่มครอบครัวอย่างน้อยที่สุดครึ่งหนึ่งในแต่ละชุมชน (แต่ละชุมชนมีจำนวนครอบครัวสูงสุดได้ 200 ครอบครัว) และให้คณะกรรมการเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายปฏิรูปที่ดิน

มีประชาชนราว 150,000 คน ที่มีส่วนร่วมโดยตรงในการร่างกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายการถือครองที่ดิน นับเป็นกฎหมายฉบับแรกในประวัติศาสตร์ของเวเนซุเอลา ที่ผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการร่าง เมื่อนำมาบังคับใช้ มันเป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนมากเป็นที่สองรองจากกฎหมายปฏิรูปการศึกษา และส่งผลกระทบทันทีต่อประชาชนหลายล้านคน

กฎหมายปฏิรูปที่ดินกำหนดขนาดที่ดินสำหรับทำเกษตรกรรมไว้ตั้งแต่ 100-5000 เฮคเตอร์ (1 เฮคเตอร์ = 10,000 ตารางเมตร) ขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิต มันกำหนดภาษีอัตราก้าวหน้าสำหรับการถือครองที่ดินที่ปล่อยให้เนื้อที่มากกว่า 80% รกร้างว่างเปล่า ในขณะเดียวกัน พลเมืองเวเนซุเอลาทุกคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือมีอายุระหว่าง 18-25 ปี สามารถร้องขอที่ดินทำกิน 1 ผืน และหากทำการเพาะปลูกเป็นระยะเวลา 3 ปี ก็จะได้รับกรรมสิทธิ์ที่ตกทอดแก่ลูกหลานได้ แต่ขายไม่ได้ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจในชนบท ทำลายอำนาจทางการเมืองของเจ้าที่ดินเก่า ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงอย่างช่วยไม่ได้

ในช่วงแรกของการปฏิรูปที่ดิน มีผู้นำในชนบทกว่า 80 คนถูกลอบสังหาร จนชาเวซต้องส่งทหารไปคุ้มครอง แรงงานและชาวนาในชนบทจึงรวมตัวกันจัดตั้งองค์กร และในหลายกรณีก็ติดอาวุธป้องกันตัวเอง ชาเวซสั่งให้นายกเทศมนตรีและผู้ว่าการรัฐคอยตรวจสอบพวกเจ้าที่ดิน เจรจาต่อรองถ้าทำได้ แต่ให้ยึดที่ดินทันทีถ้ามีการครอบครองโดยผิดกฎหมาย

เนื่องจากชาวเวเนซุเอลา 9 ใน 10 คนอาศัยอยู่ในเมือง และ 60% ของชาวเมืองอาศัยอยู่ในสลัมบนที่ดินที่ได้มาด้วยการบุกรุกจับจอง ประชากรกลุ่มนี้เป็นฐานเสียงที่สำคัญมากของชาเวซ ความสำเร็จและความล้มเหลวของการปฏิรูปที่ดินในเมืองจึงถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเอาใจใส่อย่างยิ่ง

การปฏิรูปที่ดินในเมืองตั้งอยู่บนแนวคิดของ "การยอมรับหนี้ทางสังคมที่รัฐมีต่อประชากร" โดยยอมรับมูลค่าทางเศรษฐกิจของการสร้างบ้านนอกระบบเหล่านี้ การรื้อถอนสลัมต้องใช้ต้นทุนเป็นสิบเท่า ดังนั้น รัฐจึงถือว่า "barrios เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ตัวปัญหา" การร่างกฎหมายใหม่มีเป้าหมายส่งเสริมให้ชุมชนเป็นพลเมืองรวมหมู่ (collective subject) ที่มีสิทธิตามกฎหมาย ดังนั้น ขณะที่แอร์นันโด เดอ โซโต (Hernando de Soto) นักวิชาการชาวเปรูมองว่า การปฏิรูปที่ดินเป็นการกระตุ้นการสะสมทุนของคนจน การปฏิวัติโบลิวาร์มองว่า มันเป็นหนทางไปสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และการช่วยเหลือตัวเองในชุมชน

ในเขตเมืองใหญ่ รัฐบาลริเริ่มให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ทางกฎหมายบนที่ดินชุมชน แก่ผู้อยู่อาศัยราว 10 ล้านคน (40% ของประชากร) เนื่องจากปัญหาที่ดินในชุมชนแออัดนั้นซับซ้อนมาก แทนที่จะปล่อยให้กระบวนการนี้ดำเนินไปโดยระบบราชการ กฎหมายระบุให้คณะกรรมการที่ดินส่งตัวแทนไปร่วมประชุมสมัชชาระดับชาติ เพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนและแก้ไขกฎหมายที่ดินในเขตเสื่อมโทรมของเมือง

คณะกรรมการไม่ได้มีหน้าที่แค่ดำเนินการกระจายกรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตเมืองเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในด้านการปกครองตัวเอง และพัฒนาชุมชนด้วย มีหลายคณะกรรมการที่จัดตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมา เพื่อดูแลในด้านต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือเทศบาลสร้างสาธารณูปโภค ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม และรักษาความปลอดภัย เป็นต้น

ในการออกกรรมสิทธิ์ คณะกรรมการที่ดินทำหน้าที่วัดผืนที่ดินที่แต่ละครอบครัวครอบครอง และไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาล ชาวสลัมได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็น กระบวนการนี้ยังรวมถึงการกำหนดพื้นที่ส่วนกลางด้วย เมื่อแบ่งแยกที่ดินแล้ว แต่ละครอบครัวก็มาอ้างกรรมสิทธิ์โดยแสดงหลักฐาน ส่วนใหญ่เป็นใบเสร็จค่าวัสดุก่อสร้างหรือค่าน้ำค่าไฟ สำนักงานของรัฐจะออกใบกรรมสิทธิ์ให้ภายในสามเดือนถ้าไม่มีใครมาแย้ง ส่วนคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยจากดินถล่ม ต้องขอแลกกรรมสิทธิ์กับบ้านที่รัฐบาลสร้างให้ในพื้นที่อื่น เพราะฉะนั้น การบุกรุกที่ดินที่เกิดขึ้นหลังจากออกกฎหมายนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2002 จึงไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมในกระบวนการขอกรรมสิทธิ์

การจัดตั้งองค์กรแรงงานทั้งในและนอกระบบ
การที่สหภาพแรงงาน CTV ร่วมมือกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล พยายามบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำให้สหภาพแรงงานแห่งนี้เสื่อมความน่าเชื่อถือลงตามลำดับ เมื่อประกอบกับการจัดตั้งองค์กรประชาชนและจิตสำนึกทางชนชั้นเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ระบบอุปถัมภ์ในการเมืองแบบเก่าก็ยิ่งสั่นคลอน โดยเฉพาะในสหภาพแรงงาน

ในวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 2003 มีการก่อตั้งสหพันธ์สหภาพแรงงานระดับชาติแห่งใหม่ขึ้นมา นั่นคือ Union Nacional de Trabajadores (UNT) ประกอบด้วยสหภาพแรงงานระดับชาติ 14 แห่ง สหพันธ์องค์กรแรงงานระดับชาติและภูมิภาคอีก 56 แห่ง รวมทั้งสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมันด้วย

สหภาพแรงงานแห่งใหม่นี้สามารถดึงดูดสมาชิกมาเข้าร่วมได้มากกว่า CTV ในเวลาอันรวดเร็ว มันมีโครงสร้างที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า ทั้งนี้เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุว่า คนงานในอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ สามารถลงประชามติในที่ทำงานเพื่อเลือกตั้งผู้นำสหภาพคนใหม่ได้เสมอ ดังนั้น ผู้นำสหภาพแรงงานจึงต้องรักษาผลประโยชน์ของคนงาน ไม่ใช่ของนายจ้าง มิฉะนั้น เขาอาจถูกลงประชามติถอดถอนได้ทุกเมื่อ

แนวโน้มอีกประการหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวเนซุเอลา คือการที่คนงานยึดโรงงานที่ล้มละลายมาดำเนินการผลิตเองแบบเดียวกับในอาร์เจนตินา แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปก็คือ กระบวนการนี้ในเวเนซุเอลาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลชาเวซ ถึงขนาดที่ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซออกมาประกาศชัดเจนว่า หากเจ้าของโรงงานคนใดปิดโรงงาน รัฐบาลจะเข้าไปสนับสนุนให้คนงานจัดตั้งเป็นสหกรณ์เพื่อเปิดดำเนินกิจการแทน

กรณีที่เป็นเสมือนชนวนของปฏิกิริยาลูกโซ่เกิดมาจากการปิดตัวของโรงงานกระดาษ Venepal เมื่อตอนต้นปี ค.ศ. 2005 นี้เอง คนงานของโรงงานนี้รวมตัวกันเข้ายึดกิจการมาบริหารเอง หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยโรงงานวาล์ว Constructora Nacional de Valvulas, โรงงานสิ่งทอ Fenix เป็นต้น นอกจากนั้นก็มีการเข้าไปบริหารงานร่วม (cogestion หรือ co-management) จากฝ่ายคนงาน เช่น ในโรงงานอลูมิเนียม Alcasa และในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า CADAFE เป็นต้น แม้กระทั่งในรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ แต่มีประสิทธิภาพในการผลิตต่ำ ก็มีการหารือกันเพื่อให้ผู้นำของฝ่ายแรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมบริหาร และฟื้นฟูประสิทธิภาพในการผลิต ในระดับท้องถิ่น เมื่อนายทุนปิดโรงงาน นายกเทศมนตรีในเขตนั้นจะสนับสนุนให้คนงานเข้าไปยึดกิจการมาบริหารเอง

คำว่า การบริหารงานร่วม ยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจน มันอาจกินความตั้งแต่การเข้าไปมีส่วนร่วมในฝ่ายบริหาร หรือเพียงแค่ต้องการขจัดการใช้อิทธิพลเส้นสายในการว่าจ้างแรงงาน ดังเช่นในโรงพยาบาลรัฐในเขตอันติมาโน ของเมืองคารากัส สหภาพแรงงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลต่อสู้เพื่อให้การว่าจ้างแรงงานเข้ามาทำงานมีความโปร่งใสมากขึ้น ในสมัยก่อน พนักงานที่จะเข้ามาทำงานในโรงพยาบาล จะต้องจ่ายเงินให้ข้าราชการที่ควบคุมโรงพยาบาลก่อน ความสำเร็จของสหภาพแรงงานที่นี่ กำลังเป็นแรงบันดาลใจให้สหภาพแรงงานในโรงพยาบาลอื่น ๆ ทำตามบ้าง

หรืออย่างในกรณีของคนงานท่าเรือในรัฐวาร์กัส ซึ่งกำลังต่อสู้เพื่อขอ "บริหารงานร่วม" โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ การขจัดความไม่เป็นธรรมในการไล่คนงานออก รวมไปถึงเพื่อขจัดการร่วมมือกันคอร์รัปชั่นระหว่างธุรกิจท้องถิ่นกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ความร้อนแรงของการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมยังแพร่สะพัดไป แม้กระทั่งในหมู่นักดนตรีคลาสสิก นักดนตรีของวงซิมโฟนิกออร์เคสตราแห่งเวเนซุเอลา ร่วมมือกันจัดตั้งสหภาพนักดนตรีขึ้นมาในชื่อว่า SUMTRAFOFN ทั้ง ๆ ที่นักดนตรีส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวชนชั้นกลาง ซึ่งมักไม่ค่อยเป็นมิตรกับแนวคิดของสหภาพแรงงานสักเท่าไร ตอนนี้สหภาพนักดนตรีกำลังถกกันถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการควบคุมวงออร์เคสตราแบบประชาธิปไตย และมีการเลือกตั้งวาทยกรคุมวง ถึงขนาดที่มีการพูดถึงการเล่นดนตรีโดยไม่ต้องมีวาทยกรเลยด้วยซ้ำ ข้อถกเถียงเช่นนี้ทำให้ต้องย้อนนึกไปถึงวิวาทะอันโด่งดังในวงออร์เคสตรา แห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในสมัยการปฏิวัติปี ค.ศ. 1917

ดังนั้น ในการเดินขบวนสวนสนามวันแรงงานสากลในปีนี้ นอกจากข้อเรียกร้องในเรื่องค่าจ้างตามปรกติ หัวข้อใหญ่ที่ถูกชูขึ้นมาจึงเป็นประเด็นของ "การบริหารงานร่วม" โดยมีคำขวัญว่า 'Sin Cogestion no hay revolucion! Construyendo el socialismo bolivariano' "ไม่มีบริหารงานร่วมก็ไม่มีการปฏิวัติ! จงมาร่วมกันสร้างสังคมนิยมตามแนวทางโบลิวาร์!)

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ฐานเสียงส่วนใหญ่ของชาเวซ คือแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีตัวเลขประเมินไว้ถึง 7 ล้านคน รัฐบาลชาเวซจึงพยายามหาทางจัดตั้งแรงงานนอกระบบเหล่านี้ ให้เป็นทั้งกลุ่มพลังทางการเมือง และเป็นหน่วยทางเศรษฐกิจที่มีสถานะทางกฎหมาย ทางออกอย่างหนึ่งคือการจัดตั้งแรงงานนอกระบบให้รวมตัวกันเป็น สหกรณ์

สหกรณ์ : ขบวนการทางสังคมของการปฏิวัติโบลิวาร์
สหกรณ์กลายเป็นขบวนการทางสังคมที่โดดเด่นที่สุดขบวนการหนึ่งในยุคการปฏิวัติโบลิวาร์ สหกรณ์เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม ในปี ค.ศ. 2001 มีสหกรณ์ทั้งหมด 1,900 แห่ง พอถึงปี ค.ศ. 2003 เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 แห่ง มีสมาชิกถึง 659,000 คน ในปีเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลประกาศให้งบประมาณสนับสนุนสหกรณ์ถึง 15 พันล้านโบลิวาร์ ในกฎหมายสหกรณ์ที่ออกมาในปี ค.ศ. 2001 ระบุไว้ว่า "ในเงื่อนไขที่เท่าเทียมกัน สหกรณ์จะได้รับพิจารณาเป็นพิเศษจากสถาบันการเงินและสินเชื่อ" รวมทั้งในการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับรัฐบาลด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังถือว่า สหกรณ์เป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อต้านทานการครอบงำตลาดจากบรรษัทต่างชาติ และยังเชื่อมโยงกับแผนการไปสู่ความเป็นอธิปไตยในด้านอาหาร มีการตั้งสหกรณ์เพื่อปลูกอาหารอินทรีย์บนดาดฟ้าตึกในเมืองใหญ่ ส่งเสริมให้คนจนในเมืองกลับไปชนบท เพื่อก่อตั้งสหกรณ์เพื่อผลิตอาหาร เป็นต้น

แรงงานในสหภาพ PDVSA ซึ่งเคยเป็นแรงงานที่ผูกติดกับระบบอุปถัมภ์และแสวงหาอภิสิทธิ์ แต่หลังจากเหตุการณ์หยุดกิจการ PDVSA ในปี ค.ศ. 2002-2003 เมื่อแรงงานระดับล่างกลายเป็นแนวหน้าในการต่อสู้เพื่อยึดกิจการมาบริหารเอง ทำให้สหภาพแรงงาน PDVSA ที่เคยอนุรักษ์นิยมที่สุด กลับกลายเป็นกำลังสำคัญในการปฏิวัติโบลิวาร์ โดยเฉพาะในด้านการให้การศึกษาอบรมแก่สหกรณ์ จนแม้แต่นิตยสารทุนนิยมอย่าง วอลล์สตรีทเจอร์นัล ยังนำไปเขียนบทความวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 2004 ในชื่อ "Visible hand to fix Venezuela" ว่า

"เมื่อต้นปีนี้ [PDVSA] เปลี่ยนโกดังเก็บน้ำมันร้างเป็นศูนย์พัฒนาที่มีชื่อว่า Fabricio Ojeda Endogenous Development Nucleus ศูนย์แห่งนี้มีทั้งสหกรณ์ตัดเสื้อผ้าและทำรองเท้าบู๊ต คลินิกทันสมัยและโรงเรียน ตลาดขายอาหารและฟาร์มขนาด 10 เอเคอร์ ตั้งอยู่บนเนินเขาลาดชันในสลัมใจกลางเมือง

"ในการฝึกอบรมครั้งหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นการอบรมกลุ่มคนงานหญิงที่ส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคน แต่งกายด้วยเสื้อสีขาวและกางเกงสีน้ำเงิน ทำงานในสหกรณ์ตัดเสื้อยืด พนักงาน [PDVSA] คนหนึ่งชื่อ โมอาร์ รูอิซ ให้ความรู้เบื้องต้นแก่สมาชิกสหกรณ์ทั้ง 18 คน เกี่ยวกับความเลวร้ายของระบบทุนนิยม มร.รูอิซ กระตุ้นให้ผู้เข้าอบรมลองเล่นละครสมมติถึงสภาพการณ์ในโรงงานทั่ว ๆ ไป

"ไม่นานพวกเขาก็ได้ข้อสรุปว่า เจ้าของโรงงาน ที่แสดงโดยครูตัวเตี้ยมีเครา คือคนที่ขูดรีดผลผลิตจากแรงงานของพวกเขา 'พวกเขาตระหนักว่าตัวเองจนมากและผมรวยมาก' มร.รูอิซกล่าว 'จากนั้นเราเปลี่ยนมาเล่นละครโดยสมมติเป็นรูปแบบการผลิตทางเลือก ที่ไม่ใช่ระบบทุนนิยม และทุกคนมีแต่ได้กับได้'"

นี่คือการปฏิวัติของเวเนซุเอลา ไม่ใช่การปฏิวัติของคิวบา เราต้องการเลียนแบบสิ่งที่ดีจากคิวบา ไม่ใช่สิ่งที่แย่
การปฏิวัติของเราอาจลอกเลียนสูตรสำเร็จและประสบการณ์ต่าง ๆ มาบ้าง แต่มันก็สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาด้วย
อย่างที่ชาเวซพูด นี่คือสังคมนิยมแบบใหม่ สังคมนิยมที่ไปกันได้กับทุนนิยม เราไม่ต้องการเหมือนจีน, คิวบาหรือรัสเซีย
เราคือชาวเวเนซุเอลา....ชาเวซชนะการลงคะแนนเสียงมาแล้ว 8 ครั้ง
และเปอร์เซ็นต์ของคนที่ออกมาลงคะแนนเสียงในเวเนซุเอลาก็สูงกว่าในสหรัฐอเมริกามาก
ประเทศไหนกันแน่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า?
สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมคลิก

 

สำหรับผู้สนใจ อ่านบทความเกี่ยวเนื่องข้างล่างดังนี้

- เวเนซุเอลา: เส้นทางปฏิวัติยุคหลังประวัติศาสตร์
- มหากาพย์การเมืองเวเนซุเอลา : ปริศนาของฮูโก ชาเวซ
- โค่นประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ : เพียงแค่คลื่นลมกระทบหินผา
- การปฏิวัติโบลิวาร์ : องค์กรคู่ขนานและการปฏิรูปที่ดิน
- การปฏิวัติโบลิวาร์ : การเมือง เศรษฐกิจ สังคมภาคพลเมือง
- การปฏิวัติโบลิวาร์ หรือเพียงแอปเปิ้ลเน่าที่ควรกำจัดทิ้ง

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



120649
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
บทความการเมือง เศรษฐกิจ สังคมภาคพลเมือง
บทความลำดับที่ ๙๔๕ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
ระบบราชการในเวเนซุเอลาไม่เพียงแค่ไม่ยอมปฏิบัติตาม ข้าราชการส่วนใหญ่ถึงขนาดตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อชาเวซ คอยขัดขวางและบ่อนทำลายโครงการของรัฐบาลในทุกวิถีทาง อาทิเช่น วัคซีนฟรีที่จะนำไปฉีดให้เด็ก ๆ ถ้าไม่เสียหายด้วยอุบัติเหตุ ก็หายไปในระหว่างขนส่งเสียเฉย ๆ เช่นเดียวกับวิดีโอและโทรทัศน์ ที่จะนำไปใช้ในโครงการเพื่อการอ่านออกเขียนได้ก็อันตรธานไปอย่างไร้ร่องรอย เป็นต้น

ชนชั้นกลางที่เป็นนักวิชาชีพก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต่อต้านชาเวซ ทั้งนี้เพราะนโยบายอุดหนุนการศึกษาแก่คนยากจนของรัฐบาลทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่า อาชีพของตนเริ่มขาดความมั่นคง นโยบายทางสังคมของรัฐบาลชาเวซกำลังทำให้ลำดับชั้นในสังคมเปลี่ยนไป การผูกขาดความเชี่ยวชาญก็เริ่มเปลี่ยนไปด้วย เพราะเมื่อประชาชนรากหญ้าได้รับการศึกษาดีขึ้น พวกเขาอาจเข้ามาแย่งงานจากชนชั้นกลางเดิม

 

รัฐบาลควรใช้วิธีขุดรากถอนโคน ทำลายสิ่งเก่าเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ โดยเสี่ยงต่อการทิ้งบาดแผลไว้ในสังคม เหมือนค่ายกักกันนักโทษการเมืองกูแลกในรัสเซีย การปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน หรือทุ่งสังหารในเขมร? รัฐบาลชาเวซเลือกใช้อีกวิธีหนึ่ง กล่าวคือ ใช้วิธีอ้อมผ่านระบบราชการและนักวิชาชีพ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ รัฐบาลสร้างสังคมคู่ขนานขึ้นมาในเวเนซุเอลา สิ่งใดที่รัฐบาลสั่งลงไปและระบบราชการไม่ปฏิบัติ รัฐบาลก็สร้างกลไกคู่ขนานขึ้นมาทำหน้าที่นั้นแทน โดยอาศัยบุคลากรจากกองทัพ องค์กรประชาชน แรงงานทั้งที่ว่าจ้างและอาสาสมัคร รวมทั้งบุคลากรจากต่างประเทศ

The Midnight University 2006