Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

การถอดระหัสภาพยนตร์เอเชียนอกกระแส
อ่านความซับซ้อนของภาพยนตร์ผ่านสายตานักสัญศาสตร์
จักริน วิภาสวัชรโยธิน
นักวิชาการศึกษา สถาบันภาษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(โครงการแปลตามอำเภอใจ)

บทวิเคราะห์ภาพยนตร์บนหน้าเว็บเพจนี้เดิมชื่อ
ฉันจะบินไปตายไกลๆ ปลัก ไม่หยุดพักเช็ดเลือดให้เสียเวลา
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถอดระหัสความรุนแรง การใช้นกเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่าน
และการอ่านความตายในเชิงปรัชญา
โดยสรุปเป็นการพยามนำเสนอวัฏจักรแห่งชีวิตในฐานะวงล้อของธรรมชาติ
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 951
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 16.5 หน้ากระดาษ A4)

 

อ่านความซับซ้อนของภาพยนตร์ผ่านสายตานักสัญศาสตร์
จักริน วิภาสวัชรโยธิน : นักวิชาการศึกษา สถาบันภาษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ฉันจะบินไปตายไกลๆ ปลัก ไม่หยุดพักเช็ดเลือดให้เสียเวลา
(ความสนใจส่วนตัวของผู้แปล โดยเฉพาะภาพยนตร์นอกกระแส)

ความนำ
Dead or Alive 2: The Birds อาจเป็นหนังที่ดีที่สุดของทาคาชิ มิอิเกะ(Takashi Miike ) ในสายตาทอม เมส(Tom Mes)ตามที่เขายกย่องไว้ในหนังสือ Agitator: The Cinema of Takashi Miike ก็จริง แต่ส่วนที่ดีที่สุดในงานตีพิมพ์เล่มประเดิมของหนังสือชุดรวมผลการศึกษาผลงานของผู้กำกับทาคาชิ มิอิเกะนี้ กลับอยู่ที่บทวิจารณ์หนังอีกเรื่องของมิอิเกะ คือ Ichi The Killer เมสยกให้ความรุนแรงเป็นตัวชูโรงใน Ichi เช่นเดียวกับนักวิจารณ์ทั่วไป

อย่างไรก็ดีเมสไม่ประสบผลดังหวัง ในการหักล้างความเชื่อของคนทั่วไปที่ว่า มิอิเกะไม่ถูกโรคกับผู้หญิง(misogynist) นอกจากนี้ เมสยังขยายการวิเคราะห์ไปสู่ประเด็นที่ว่า หนังเป็นการทดสอบหานัยของสัมพันธภาพระหว่างคนดูกับการบริโภคความรุนแรง โดยการกระหน่ำภาพความรุนแรงขึ้นจอเป็นระลอก ๆ

ความรุนแรง
ทอม เมส ชี้ว่ามิอิเกะนำเสนอความรุนแรงใน Ichi สองลักษณะด้วยกัน
ลักษณะแรก เป็นความระหำ สัปดนแบบการ์ตูนเพื่อประชดส่ง
ลักษณะที่สอง จะเป็นความโหดเหี้ยม สมจริง ชวนให้คนดูหายใจไม่ทั่วท้อง

เมสชี้ว่า ความรุนแรงในแบบแรกจะมีตัวละครผู้ชายเป็นเหยื่อ ส่วนเหยื่อของความรุนแรงลักษณะหลังจะเป็นตัวละครผู้หญิง ความรุนแรงแบบหลังซึ่งมีผู้หญิงเป็นตัวรองรับนี่เอง นักวิจารณ์บางรายชี้ว่าเป็นการย้ำถึงอาการทั้งเกลียดทั้งกลัวผู้หญิงของผู้กำกับและบุคลิกของหนัง เนื่องจากความรุนแรงที่เกิดแก่ผู้ชายนั้นดูเหมือนเป็นการหยอกแรง ๆ ขณะที่ผู้หญิงโดนชนิดเอาให้ถึงตาย แต่เมสมองว่ามิอิเกะใช้ความรุนแรงขั้นเอาเป็นเอาตายต่อผู้หญิงเป็นเครื่องมือวัดใจคนดูในการดูดซับความรุนแรง เนื่องจากเคราะห์ร้ายอันบังเกิดแก่เพศหญิงจะเชือดเฉือนหัวขั้วหัวใจผู้พบเห็นได้มากกว่าผู้ชาย

กระบวนทัพวัดใจคนดูของมิอิเกะ จะเป็นการโจมตีคนดูด้วยความรุนแรงชนิดหยิกแกมหยอกสลับกับความรุนแรงแบบเถื่อนถ่อย เมสมองว่าผู้หญิงจะสะท้อนภาพความน่าสลดใจของการตกเป็นเหยื่อทมิฬได้ชัดเจนกว่าผู้ชาย แต่แนวคิดของเมสก็ไม่ได้ไปหักล้างความเชื่อที่ว่า มิอิเกะไม่ถูกโรคกับผู้หญิงตรงจุดไหน เพราะถึงจะยกประโยชน์แก่มิอิเกะในแง่ที่ว่าเพื่อเห็นแก่ความสะดวกในการกระชากความรู้สึกคนดู เขาอาจถูกบังคับกลาย ๆ ให้ต้องเลือกผู้หญิงมาเป็นตัวถูกทำร้าย แต่การซักค้านของเมสหาได้มาช่วยจำแนกความจำเป็นออกจากความพอใจ ที่มิอิเกะต้องการจำเพาะเจาะจงให้ผู้หญิงต้องมาผจญกับความรุนแรงอยู่ไม่รู้จักจบสิ้น

เมสยังให้ข้อคิดน่าสนใจอีกประการ คือ ภาพเหตุการณ์ที่ดำเนินไปโดยไม่มีโอกาสรับรู้ กลับมักแจ่มกระจ่างในความคำนึงของมนุษย์มากกว่าภาพที่เราเห็นจะ ๆ อยู่บนจอ ตัวอย่างเช่น ในฉากเชือดหัวนม อันเกิดจากการสอดแทรกภาพหลาย ๆ ภาพเข้าด้วยกันเพื่อบอกว่ามีการเชือด แต่หาได้มีภาพหนึ่งภาพใดเผยให้เห็นใบมีดสัมผัสกับผิวเนื้อ เช่นเดียวกันกับในฉากข่มขืนต่างกรรมต่างวาระ แต่ที่เหมือนกันคือ ทุกฉากล้วนเล่าด้วยการปะติดปะต่อภาพ แทนที่จะเป็นภาพอันโจ๋งครึ่มของทุกท่วงท่า จนกลายเป็นกิจกรรมที่เพศสภาพถูกบดบังแทบจะโดยสิ้นเชิง

ในเมื่อกระบวนการก่อตัวของความรุนแรงดังกล่าว ฟูมฟักและดำรงอยู่ในห้วงจินตกรรมของคนดู หนังจึงใช่คู่กรณีกับความรุนแรง แต่คนดูต่างหากที่มีเรื่องให้ต้องสะสางกับความรุนแรง กลบทเช่นนี้จัดเป็นวิชาพื้นฐานในการเล่าหนังสยองขวัญตามคติที่ว่า ยิ่งหนังปิดกั้นภาพสัตว์ประหลาดมิให้เป็นที่รับรู้ของคนดูมากเท่าใด ภาพสัตว์ประหลาดในห้วงจินตนาการของคนดูจะยิ่งโตเอา ๆ และทวีความน่ากลัวมากขึ้นเท่านั้น คำอธิบายเกี่ยวกับการเติบโตของสัตว์ประหลาดในห้วงจินตนาการคือคำตอบแก่คำถามที่ว่า เหตุใดภาพเศษซากอารยธรรมความรุนแรงอันบังเกิดแก่ผู้ชายที่เผยให้เห็นชนิดหมดเปลือก ไม่ว่าจะมาในรูปเศษเนื้อ, เลือด, ขดลำไส้กระจัดกระจายไปทั่ว จึงไม่อาจสร้างความอกสั่นขวัญแขวนแก่ผู้พบเห็น

ตัวอย่างของฉากประเภทชัดแจ้งแต่ไม่แทงใจดำ มีให้เห็นในฉากอิชิตวัดส้นเท้าติดใบมีดผ่านร่างชายคนหนึ่งตั้งแต่หัวจรดรูทวาร ผ่าร่างแหกออกเป็นสองเสี่ยงเท่ากันพอดิบพอดี ความรุนแรงชนิดสุดเฉียบเนี๊ยบเหลือเชื่อดังกล่าวในความเห็นของเมส มีขึ้นเพื่อเรียกความฮือฮา ก่อนจะกระแทกเบ้าตาคนดูด้วยภาพความรุนแรงที่หนักหน่วงจริงจังกว่า ชั้นเชิงของมิอิเกะทำให้คนดูอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไม ด้วยวิธีนำเสนอแบบหนึ่ง เราถึงเห็นความรุนแรงเป็นเรื่องเท่แกมขบขันไปได้ และด้วยการเล่าอีกแบบหนึ่งเราก็เห็นความรุนแรงเป็นเรื่องรวดร้าวทรมานขึ้นมา

ว่ากันตามจริง ฉาก"ตวัดส้นเท้าผ่าร่าง"นี้ไม่ค่อยเป็นที่สบอารมณ์คนดูสักเท่าไหร่ เพราะขาดความสมจริง ความข้อนี้ชี้ว่า แม้แต่ในการเสพภาพความรุนแรงในเชิงประชดประชัน คนดูก็ไม่วายยังจะต้องไขว่คว้าหามาตรฐานแห่งความสมจริงสักอย่างมาเป็นที่ยึดเหนี่ยว เพื่อเข้าอรรถรสของความอุบาวท์ ความแปลกปลอมมากเกินควรของฉากกลับจะกลายเป็นตัวถ่วงมากกว่าเป็นตัวส่งเสริมการเล่า ไม่ว่าจะถ่ายทอดออกมาในแนวสมจริงหรือการ์ตูน

ควรกล่าวอีกด้วยว่าไม่เสมอไปที่ Ichi จะอยู่ภายใต้กฎการใช้ความรุนแรงที่ว่า ความรุนแรงแบบเด็กเล่นขายข้าวแกงอยู่คู่กับตัวละครผู้ชาย และความรุนแรงแบบอำมหิตจะเกิดขึ้นกับตัวละครหญิง มีออกบ่อยไปที่ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายเผชิญหน้ากับความสยองแบบหยิกแกมหยอก ทัศนะต่อความจงเกลียดจงชังผู้หญิงในงานมิอิเกะจึงพลอยเลอะเลือนตามไปด้วย มิอิเกะเองคงไม่ได้ตั้งใจจะเล่นกายกรรมในการสื่อความหมายใด ๆ ตามที่นักวิจารณ์ได้ตรายี่ห้อแก่เขาไว้

เนื้อเรื่องของหนังโดยภาพรวมดูออกจะเละเทะ เมื่อเทียบกับการเสนอภาพความรุนแรงอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ความข้อนี้ชวนให้อดสงสัยขึ้นมาอีกอยู่ดีว่า ใช่หรือไม่ที่การกล่าวถึงสิ่งใดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ย่อมหมายถึงความศรัทธาต่อสิ่งนั้นของผู้กล่าว เฉพาะประเด็นนี้ถกเถียงกันได้ไม่จบ แนวคิดว่าด้วยการปรุงแต่งในห้วงคำนึงคนดูอาจชวนให้เคลิบเคลิ้มฝันหวานในเชิงทฤษฎี แต่ในความเป็นจริง เหล่าผู้กำกับในทุกวันนี้ไม่น่าจะใช้กลเดิม ๆ ในนามแนวคิดว่าด้วยการสังเคราะห์ภาพซึ่ง(เซรเก)ไอเซนสไตน(Eisenstein)ค้นพบเมื่อ 8 ทศวรรษก่อน เพื่อมาล่อหลอกคนดูอีกต่อไป ไม่ว่าคนดูจะได้เห็นภาพมีดเฉือนหัวนมกับตาหรือไม่นั้น ไม่เห็นจะมีข้อแตกต่างตรงไหน เพราะที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือมิอิเกะหมายมั่นปั้นมือจะให้คนดูเชื่อว่า มีการเชือดหัวนมเกิดขึ้น หาใช่สร้างความเคลือบแคลงแก่คนดูว่ามีการเชือดหัวนมจริงหรือไม่ เพื่ออุดช่องโหว่มิให้คนดูพาลคิดเป็นอย่างหลังและเพื่อบรรลุเจตนารมย์อย่างแรกหนังก็ไม่มีทางอื่นนอกจากต้องอัดประจุความรุนแรงเข้าสู่ห้วงการรับรู้ของคนดู

กล่าวให้ถึงที่สุด ออกจะเป็นการสุกเอาเผากินเกินไปหน่อย กับการเที่ยวขึ้นป้ายหนังว่าเป็นงานเละตุ้มเป๊ะ หรือมุ่งเล่นงานเพศหญิงก็ดี หรือตีค่าความรุนแรงในหนังว่าเป็นการประชดส่ง แกมสนองตัณหาคนดูผู้โหยหาความระห่ำก็ดี เพราะถึงอย่างไร Man Bites Dog งานปี 1992 ของสามผู้กำกับ Remy Belvaux, Andre Bonzel และ Benoit Poelvoored ก็ยังคงนำโด่ง อยู่ในขบวนการหนังทดสอบแนวต้านของความสามารถในการเสพรับความรุนแรงของคนดู ยังไม่นับมาดการเล่าสุดโก้ และการงัดของดีในความเป็นหนังมาอวดเป็นว่าเล่น คุณสมบัติเหล่านี้ส่งผลให้ Man Bites Dog ยังทิ้งห่าง Ichi อยู่หลายช่วงตัว

แต่งานของมิอิเกะก็ใช่ว่าจะขี้เหร่ เพราะเอาเข้าจริง ความรุนแรงในงานของมิอิเกะนั้น ไม่ได้อยู่ที่ความรุนแรงภายในภาพเท่านั้น การโยนภาพปฏิสัมพันธ์อันกำกวมในหมู่ตัวละคร ผู้มีอันต้องคลุกคลีอยู่กับความรุนแรงใส่คนดู โดยหนังถือว่าเป็นปฏิบัติการเพื่อความรุนแรงอีกชนิดหนึ่ง นอกเหนือภาพพฤติกรรมความรุนแรงขนานแท้ ที่คอยหยั่งวัดขีดจำกัดของคนดูในการทานรับความรุนแรง หรือ ขีดความสามารถของหนังสักเรื่องในการถ่ายทอดความรุนแรงขั้นวิปลาส เมื่ออยู่ในสภาวะปลดเปลื้องตัวเองอย่างสุดแรงเกิด

อาจกล่าวได้ว่าความรุนแรงใน Ichi รวมถึงหนังเรื่องอื่น ๆ ของมิอิเกะ เป็นเสมือนผืนดินรองรับการหยั่งรากของความคิดอันลึกซึ้งกว่านั้น อันได้แก่ความทอดโยงระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ในการนำเสนอความผูกโยงแห่งมิติเวลา ซึ่งมิอิเกะจะถ่ายทอดผ่านพฤติกรรมเมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กันของเหล่าตัวละคร ท้ายที่สุด งานของมิอิเกะมักเล่นกับความตาย การเกิดใหม่ การฆ่าตัวตาย และการผลัดรุ่น

ความรุนแรงเปรียบเทียบ - คุโรซาวา

ความรุนแรงย่อมแฝงไว้ด้วยความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง "ran" อันอกิระ คุโรซาวานำมาตั้งเป็นชื่อหนังเรื่องเยี่ยมของเขานั้น คนทั่วไปมักเข้าใจกันไปว่า หมายถึง สงคราม, กลียุค, ไม่ก็การก่อขบถ จะเห็นได้ว่าความหมายทั้งหมดล้วนกอดเกี่ยวอยู่กับความรุนแรง แต่มีอยู่สองจากนัยประหวัดทั้งหลายที่เป็นเชื้อพลังขับดันสงคราม ได้แก่ กลียุค และ การก่อขบถ ผู้รู้ภาษาญี่ปุ่นบางรายอธิบายว่า ran อาจหมายถึง หลักอนิจจัง หรือ สภาวะใหม่ของระบบหลังผ่านการนำเข้าปัจจัยภายนอกบางอย่าง เหมือนการขยายตัวของวงคลื่นไปตามผิวน้ำอันนิ่งเรียบ หลังจากการตกกระทบของก้อนหิน

ในหนังเรื่องนี้ของคุโรซาว่า กล่าวถึงอาณาจักรแห่งหนึ่งซึ่งมีเสถียรภาพมาร่วม 50 ทศวรรษ มีอันต้องสั่นคลอน เพราะปัจจัยนำเข้าอันได้แก่ กระบวนการการถ่ายโอนอำนาจจากจักรพรรดิวัย 50 ปีสู่รัชทายาท การช่วงชิงบัลลังก์เป็นไปอย่างดุเดือดเลือดพล่าน แต่ความรุนแรงไม่จำเป็นต้องมีการขยายผล เพราะไม่แน่ว่า ran อาจส่งผลดีก็เป็นได้ การประยุกต์แนวทางทำความเข้าใจความหมายของ "ran" อาจใช้ได้ผลในการอธิบายงานของมิอิเกะด้วยเช่นกัน ในเบื้องต้นพึงมองทะลุไปถึงเบื้องหลังของความรุนแรงทั้งปวง เพื่อตรวจจับสัญญาณความเปลี่ยนแปลงจากพฤติกรรมการแสดงออกของเหล่าตัวละคร

อรรถรสการวิเคราะห์ตามแนวคิด"ran"จะยิ่งแหลมจัดไปคนละทาง หากเติมหัวเชื้อแนวคิดอีก 2 แนวทางเข้ามา ทั้งนี้ขึ้นกับว่าลิ้นผู้วิเคราะห์จะคุ้นปรัชญาสายใด หัวเชื้อแนวคิดเฉดรสแรกหมักกลั่นไว้โดยมิคาเอล บักติน(Mikhail Bakhtin) รู้จักกันในนาม "วาทกรรมในนิยาย"("Discourse in the Novel") และที่บรรจุอยู่ในงานเขียนอย่าง Problems of Dostoevsky's Poetics หลักในการพิจารณางานเขียนของบักตินจะดูว่า ผู้เขียนมีกรรมวิธีแยบคายเพียงใด ในการเพลาน้ำเสียงตนเองมิให้กลบทับน้ำเสียงอื่น ๆ และคลอเคล้าไปกับเสียงที่อยู่ร่วมฉาก/สภาพแวดล้อมของเรื่องแต่งได้อย่างกลมกลืน และสมน้ำสมเนื้อกัน

บทสนทนาระหว่างสุ้มเสียงเหล่านั้นคือขุมทรัพย์ในความเป็นเรื่องแต่ง โดยมีปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบปลีกย่อยทั้งหลายเป็นลายแทง เรื่องเล่าจะยิ่งเร้าใจ ชวนติดตาม หากได้เค้าโครงเรื่องที่แข็งแกร่งพอจะแบกรับบทสนทนาที่ไม่มีฝ่ายใดเสียงอ่อนเสียงแข็งไปกว่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำคำพวกที่เลื้อยลัดไปพันเกี่ยวกับถ้อยกระทงความอื่นได้ไม่รู้จักจบจักสิ้น เพราะพฤติกรรมของน้ำคำประเภทหลังนี้ จะคอยกระเพื่อมคลื่นความเปลี่ยนผันแก่เรื่องเล่าอยู่ไม่เว้นวาย

ผิดกับเรื่องแต่งอีกประเภทซึ่งผู้เขียนจะยึดธงนำในการเล่าไว้ในมือเพียงเสียงเดียว ความเป็นไปในโลกของเรื่องเล่าประเภทนี้จะสิ้นสุดหรือสืบเนื่องก็สุดแต่เสียงสวรรค์ของผู้แต่ง โลกเนรมิตในเรื่องแต่งประเภทหลังนี้ปราศจากพลังผลักดันหรือเบี่ยงเบนทิศทางของความสัมพันธ์ใด ๆ ที่อยู่ภายใน

การทำความเข้าใจแบบแผนการสร้างปฏิสัมพันธ์โดยใช้เจตนารมย์เป็นเบาะแส ถือเป็นหัวใจของแนวคิด(concept)ว่าด้วยการหยุดยั้งกงกรรมกงเกวียน(de-territorializing the refrain)ของ(ฌีล)เดอ ลูซ์(Deleuze) และกัตตารี(Guattari) ดังบรรจุอยู่ในงานเขียนชื่อ A Thousand Plateaus ในการพรรณนาถึงโฉมหน้าจักรวาลผ่านการสร้างปฏิสัมพันธ์ เจ้าทฤษฎีทั้งสองมองว่าผู้ให้กำเนิดจักรวาลย่อมมีวัตถุประสงค์แน่ชัดมาตั้งแต่ต้นและคอยลุ้นอยู่หลังฉากความเป็นไปของสรรพสิ่ง ด้วยเหตุที่ผู้ให้กำเนิดมีพันธกิจต้องคอยเป็นพ่อสื่อแม่ชัก เหนี่ยวนำหน่วยมูลฐานเพื่อก่อผลในทางใดทางหนึ่ง จักรวาลจึงเป็นแอ่งมหึมาอ้าปากรับทุกสิ่งที่ไหลเข้ามาทับถมสุมรวมกัน และย่อมมีสิ่งใหม่ ๆ ถือกำเนิด ณ ชุมทางยักษ์แห่งนี้

จากมุมมองดังกล่าวจะเห็น"ความไร้ที่สิ้นสุด"ในอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งมาในรูปของการมีปฏิสัมพันธ์อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น เมื่อนำคมคิดทั้งสองมาปักธงในสภาพการณ์แวดล้อมแบบ"ran" และยกอุปกรณ์ต่อพ่วงทางปัญญาทั้งชุดมาประยุกต์ใช้กับหนังของมิอิเกะ จะพบความน่าตื่นใจของกระบวนการเปลี่ยนแปลง อันเนื่องมาจากตัวละครทั้งหลายผลัดกันผ่านแดนเข้า-ออกอาณาจักรที่ตัวละครตัวอื่นเป็นใหญ่อยู่ และการข้ามถิ่นมักนำไปสู่เหตุรุนแรง แต่หากสังเกตให้ดี มักมีของดีที่มิอิเกะซ่อนไว้เบื้องหลังความโหดระห่ำเหล่านั้น

อะไรอยู่เบื้องหลังความรุนแรง
การจับกลุ่มของนักเลง ฟ้องถึงอาการหวงถิ่นอยู่ในที มิอิเกะมักพาเรื่องราวพาดผ่านสมรภูมิของการแบ่งเป็นฝักฝ่ายเหมือนสงคราม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างอั้งยี่จีนกับยากูซ่าญี่ปุ่น หรือ การชิงความเป็นใหญ่ระหว่างก๊กต่าง ๆ ในอาณาจักรยากูซ่า ศึกระหว่างซุ้ม/มุ้ง/ก๊กเป็นแบบจำลองลัดเข้าสู่แบบแผนการผลัดกันยึดครองพื้นที่ ตามเกณฑ์นี้ความรุนแรงใน Ichi จึงออกจะเลยเถิดไปบ้างเมื่อเทียบกับสาระที่มิอิเกะมุ่งนำเสนอ

ทอม เมสได้ให้นิยามจุดเน้นแกนหลักเด่น ๆ ในความเป็นหนังมิอิเกะไว้ตอนต้นเล่มของ Agitator ดังนี้: นอกจากความรุนแรงแล้ว ตัวละครในหนังมิอิเกะมักเป็นพวกนอกคอก ไร้หัวนอนปลายเท้า ยังชีพตามลำพัง ไร้ญาติขาดมิตร นอกจากนี้หนังยังมีกลิ่นอายความอาลัยอาวรณ์อดีต มีการฉายสภาพของหน่วยครัวเรือน และการเสาะแสวงหาความรื่นรมย์แก่ชีวิต ในการทำความเข้าใจกับงานมิอิเกะจำต้องเริ่มต้นแกะรอยจากปมเด่น ๆ เหล่านี้ ที่สำคัญทุกปมล้วนมีนัยโยงอยู่กับความเปลี่ยนแปลง

กล่าวให้แคบเข้า ตัวละครของมิอิเกะจ้องแต่จะหาช่องพาตัวเองกลับไปในอดีตแม้ต้องก้าวข้ามเส้นมรณะ และจุติในท่ามกลางภพภูมิใหม่ พฤติกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดความขัดแย้งในตัวเอง เนื่องจาก กลายเป็นว่าในการฟักตัวเองขึ้นมาใหม่อีกรอบ ตัวละครซึ่งอยู่ในวัยผู้ใหญ่แล้วเหล่านั้น จำต้องย้อนกลับไปสู่วันเวลาแห่งวัยเยาว์ เพื่อทวงสิ่งที่ขาดหายไปในห้วงเวลาแต่เก่าก่อนกลับคืนมา ยิ่งชีวิตเดินทางมาจนถึงจุดที่อดีตถูกทิ้งห่างไว้ไกลเพียงใด ย่อมเท่ากับว่าคนผู้นั้นยิ่งตรากตรำกับความเปลี่ยนแปลงมามากเป็นเงาตามตัว การถวิลหาวันเก่า ๆ จึงเป็นเครื่องเตือนใจให้สำนึกว่าในชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากเพียงใด

ตัวละครของมิอิเกะมักเป็นคนไร้ญาติขาดมิตร จะเป็นเพราะต้องระหกระเหินจากถิ่นฐานบ้านเกิดไปอยู่ต่างถิ่นก็ดี หรือ เกิดอาการไม่ถูกโฉลกกับถิ่นพำนักขึ้นมาเอง ก็ดี ต่างก็ส่งผลให้ตัวละครเหล่านั้นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองไปเรื่อย ๆ กลายเป็นนักตะเกียกตะกายเส้นแบ่งอาณาเขตอยู่ตลอดศก ในจำนวนนี้มีไม่น้อยสำนึกได้ว่า แก่นแท้ของการมุ่งแสวงหาความเปลี่ยนแปลงคือ การมอบจุดจบแก่ชีวิตตนเอง จะด้วยยืมมือคนอื่น หรือลงมือเองก็ตามที ไม่ว่าจะมองไปทางไหนจึงมีแต่พวกชอบรนหาที่ตาย เดินพล่านอยู่ในงานของมิอิเกะ สภาพการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความบ้าระห่ำของตัวละครในการเอาตัวเข้าไปแลกกับความตาย การแส่เข้าไปมีเอี่ยวในกรณีพิพาทจนกระทั่งมีอันต้องด่าวดิ้นตายตกไปตามกัน ถือเป็นกระบวนท่าพลิกแพลงชีวิตขั้นสุดยอด ซึ่งไม่เพียงจะบังเกิดกับเจ้าตัวแต่ยังสร้างความซาบซ่านแม้แต่กับผู้พบเห็น

ในการทำความเข้าใจกับวงจรความสัมพันธ์อันอลหม่านของเหล่าตัวละครใน Ichi จำต้องเริ่มคลำทางจากยึดแรงจูงใจของตัวละครหลัก 3 ตัวซึ่งต่างก็ถูกตัดหางปล่อยวัดด้วยกันทั้งหมด รวมถึงต่างคนต่างอยู่บนเส้นทางดั้นด้นค้นหามรณกรรมบทให้แก่ตนเอง และพันตูอยู่กับอดีตเพื่อขึ้นทางด่วนไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ตัวละครหลักทั้ง 3 ประกอบด้วย คาคิฮาร่า(ทาดาโนบุ อะซาโนะ), คาเนโกะ(รับบทโดยซาบุ ผู้กำกับชื่อดังชาวญี่ปุ่นเจ้าของผลงานอย่าง Drive), และจิจิอิ(รับบทโดยพระเอกดาวโรจน์จาก Tetsuo the Ironman คือ ชินยะ สุกาโมโต), ตัวตนของอิชิ คงไม่ต่างกับภาพตัวแทนของตัวละครทั้งสามในเวทีประลองกำลังกับอดีต เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกของแต่ละคน แม้ว่าหลังจากกระเสือกกระสนกันสุดแรงเกิด พวกเขาก็ไม่อาจพ้นเงาวงการนักเลงไปได้ - 1/3 -

เล่าเรื่องการดวลกันครั้งสุดท้าย
ทอม เมสยกให้การดวลครั้งสุดท้ายระหว่าง อิชิ, คาคิฮาร่า, และคาเนโกะ, เป็นฉากขมวดรวมบทสรุปของความฝันเฟื่องทั้งมวลของหนัง หลังจากรอมานานว่าเมื่อไหร่ฟ้าจะประทานคู่ต่อสู้ที่พอฟัดพอเหวี่ยงมาเติมรสชาติความทรมานให้กับตน คาคิฮาร่าผู้ตั้งมั่นอยู่ในความเป็นมาโซคิส คงได้สมหวังเสียที เมื่อพบว่าบัดนั้นตนเองกำลังดื่มด่ำอยู่กับการประลองยุทธด้วยมือสังหารอิชิ แต่ทั้งสองยังไม่ทันได้เห็นดีกัน เพราะคาเนโกะสมุนมือปืนของคาคิฮาร่าพร้อมด้วยบุตรชายโผล่เข้ามาขัดจังหวะเสียก่อน ความหวังอันสูงสุดของคาคิฮาร่าจึงถูกคั่นรายการด้วยการบู๊กันระหว่างอิชิกับคาเนโกะ

อิชิเด็ดชีพคาเนโกะได้ก็จริง แต่คาเนโกะก็ฝากรอยกระสุนไว้ที่ขาทั้งสองข้างของอิชิจนสะอึกไปพักใหญ่ ส่งผลให้ความปรารถนาที่จะได้ฟาดฟันกับอิชิให้รู้ดำรู้แดงของคาคิฮาร่ายังค้างเติ่งอยู่อย่างนั้น และแล้วอิชิก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหวจนต้องทรุดลงไปกองกับพื้น บุตรชายคาเนโกะซึ่งเพิ่งเสียพ่อไปต่อหน้าต่อตาได้ทีจึงตรงเข้าไปกระทืบอิชิซ้ำ หลังจากหมดหวังจะลิ้มรสความตายอันเร้าใจจากอิชิ คาคิฮาร่าจึงเพ้อไปว่าอิชิยังหนังเหนียวพอที่จะยืนหยัดขึ้นมาบรรเลงยุทธกับเขาต่อ ก่อนที่เขาจะเพลี่ยงพล้ำให้แก่ท่าไม้ตาย เดือยใบมีดเฉาะหน้าผากของอิชิ และเสียหลักหงายหลังร่วงละลิ่วจากดาดฟ้าตึกสู่เบื้องล่าง

ควรกล่าวด้วยว่าเมสไม่ได้เอ่ยถึงอุบายการทำประชาสัมพันธ์ของหนังเรื่องแม้แต่น้อย จากข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ชมส่วนใหญ่มักนึกถึงใบหน้าท่าทางของคาคิฮาร่าเมื่อเอ่ยถึงอิชิ แทนที่จะนึกถึงตัวจริงของอิชิ หนักข้อกว่านั้น ตลอดครึ่งเรื่องแรก คนดูอดคิดไม่ได้ว่าคาคิฮาร่าคืออิชิเพราะหนังล่อคนดูไปในทางนั้น ภาพคาคิฮาร่าจะลอยเด่นขึ้นมาในหัวคนดูทุกครั้งเมื่อได้ยินตัวละครในหนังโจษขานกันถึงกิตติศัพท์ความเหี้ยมโหดของนักฆ่าลึกลับ ทั้งนี้เพราะคนดูคุ้นตากับอุปนิสัยบ้าเลือดของคาคิฮาร่า จริงอยู่หลายคนอาจเคยอ่าน Ichi ในฉบับการ์ตูนยอดมนุษย์มาก่อน แต่บางคนก็ข้ามขั้นมารู้จักกับ Ichi ในฉบับภาพยนตร์เลย

หลายคนยังรู้ไปถึงว่า Ichi หมายถึง 1 ดังนั้นจึงย่อมเดาได้ตั้งแต่แรกเห็นว่า มือสังหารอิชิ คือบุรุษในชุดมีหมายเลข 1 สีเหลืองประกาศศักดาอยู่กลางหลัง แต่อย่างไรก็ดี ผู้ชมจำนวนไม่น้อยเหมาเอาว่าบุรุษบนใบปิดหนังอย่างคาคิฮาร่า คือนักฆ่าเจ้าของนามที่ถูกยืมมาเป็นชื่อของหนัง มารู้ว่าไม่ใช่ก็ต่อเมื่อดูหนังผ่านไปสักระยะหนึ่ง ดูเหมือนว่าความตั้งใจของมิอิเกะในการหยั่งใจคนดู ก่อให้เกิดปฏิกิริยาชั้นต้นแตกต่างกันออกไปในหมู่คนดูขึ้นกับพื้นเพความรู้เกี่ยวกับตัวเรื่องของแต่ละคน

กลยุทธการตลาดดังกล่าวเป็นการคุมเชิงระหว่างคนดูกับผู้กำกับ โดยมีความสามารถในการเข้าถึงและอ่านเกมการตีความตัววัตถุดิบชั้นต้นของหนังเป็นเดิมพัน คนที่ไม่เคยอ่าน Ichi ในภาคการ์ตูนมาก่อน ย่อมว้าวุ่นใจกับความเอาแน่ไม่ได้ของเหตุการณ์ในภายภาคหน้าของหนัง ซึ่งก็เข้าทางปืนของหนัง เพราะเป็นการดัดแปลงมาจากเรื่องราวที่ไม่น่าจะดัดแปลงมาเป็นหนังได้

"หนัง" ไม่ใช่ "การ์ตูน" หนังจึงต้องมีพฤติกรรมผิดแผกออกไป ผลตอบรับจากคนดูต่อผลการทำงานภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว มีโอกาสเป็นเสียงชื่นชมยินดีมากพอ ๆ กับเสียงสาปส่ง ขึ้นกับว่าคนดูรายนั้น ๆ เป็นเซียนการ์ตูนหรือคอหนัง หลังชมหนังจนจบจึงถึงบางอ้อว่า เหตุใดหนังจึงยกความสับสนในตัวตนอันแท้จริงของอิชิมาเล่นตั้งแต่เริ่มแรก เนื่องจากส่วนที่เหลือของหนังจะเลียบเลาะอยู่กับความเป็นไปได้ที่ว่า อิชิอาจไม่มีตัวตนอยู่จริง หากเป็นแค่เพียงมือวางอันดับหนึ่งในจินตกรรมเชิง sadomasochistic ของคาคิฮาร่า เป็นเป้าล้างแค้นในความฝันเฟื่องของจิจิอิ และเป็นอนุสาวรีย์ประจานความไม่กล้าสู้หน้า ผู้เป็นบุตรชายของคาเนโกะ

ความเป็นไปใน Ichi ไม่ต่างกับงานชิ้นอื่นของมิอิเกะ เพราะเป็นการถ่ายทอดมโนคติว่าด้วยการกลับไปกลับมาของประสบการณ์อันแสนดื่มด่ำในวัยเยาว์ และหาทางชุบตัวเป็นเด็กอีกรอบด้วยการดั้นด้นกลับสู่อดีตอันคุ้นเคย มีอยู่ฉากหนึ่ง หนังเล่าถึงตอนที่คาเนโกะตะเพิดเจ้าของร้านเหล้าเจ้าอารมณ์ ก่อนมันจะลงไม้ลงมือกับอิชิ ระหว่างรอจังหวะเข้าช่วยอิชิ คาเนโกะย้อนรำถึงเรื่องของตนเมื่อครั้งตกที่นั่งลำบากเช่นเดียวกับอิชิ ครั้งนั้นมีนักเลงน้ำใจงามมาช่วยเขาไว้ จากวันนั้นถึงวันนี้ที่คาเนโกะเป็นถึงพ่อคนแล้ว เขาย่อมทนไม่ได้กับภยันตรายที่จะอาจมากร้ำกรายบุตรชายแม้จะเกิดขึ้นกับคนอื่น อิชิในสภาพอ่อนแอไร้เดียงสาหมดปัญญาจะสู้รบปรบมือกับคนที่มาข่มเหงจึงย่อมมีตัวตนของคาเนโกะ และการเป็นตัวแทนลูกชายของคาเนโกะสิงสถิตย์อยู่ หากไม่มีการพบปะกันครั้งแรกระหว่างอิชิกับคาเนโกะ การตายจากกันโดยที่ฝ่ายแรกลงมือปลิดชีพฝ่ายหลังต่อหน้าลูกชายในบั้นปลายของหนังคงไม่เปี่ยมความหมายอย่างที่เป็น

ความเป็นไปทั้งมวลนำไปสู่ข้อสรุปเฉพาะในส่วนของคาเนโกะที่ว่า เขาคงหมดทางรับมือกับอดีตอันน่าอดสูของตน หนำซ้ำต้องมาโดนคนอกตัญญูหยามน้ำหน้า แต่ลูกชายเขาก็สนองพระคุณทันควัน เด็กน้อยตามเข้าไปกระทืบอิชิซ้ำหลังจากเพลี่ยงพล้ำจนลงไปวัดพื้น อิชิเองก็ตื้นตันที่ได้เห็นความบ้าเลือดของคนตัวกะเปี๊ยก เนื่องจากในตอนอายุเท่าบุตรชายคาเนโกะ อิชิก็มีโอกาสจะได้ต่อสู้อย่างนี้เหมือนกัน แต่เขาขี้ขลาดเกินกว่าจะลงมือจึงกลายเป็นรอยด่างพร้อยในชีวิตที่รอใครสักคนมาลบด้วยเท้าดังกล่าว

ความเป็นไปทั้งมวลยังนำไปสู่ข้อสรุปเฉพาะในส่วนของอิชิได้ว่า ความสมเพชตนเองจากการถูกข่มเหงเมื่ออยู่ในคราบจิจิอิ ถูกบ่มเพาะไว้เพื่อเคี่ยวกรำความเป็นมือสังหาร จะว่าไปแล้ว อิชิอาจเป็นผลิตผลจากห้วงจิตสำนึกของใครต่อใครได้ทั่วไปหมด ในส่วนตัวของเขาเอง อิชิมีไว้กวาดล้างบรรดาอดีตอัปลักษณ์ทั้งหลายของจิจิอิ แต่หากมองจากมุมของคาคิฮาร่า อิชิคือคู่ต่อกรที่สมบูรณ์แบบในเกมสร้างความหรรษาจากความทารุณ อิชิยังอาจเป็นหนามมาบ่งหนองในอกคาเนโกะซึ่งกำลังกลัดหนองได้ที่ เพราะความล้มเหลวในชีวิตครอบครัวและหน้าที่การงานในกรมตำรวจ

ด้วยเหตุดังที่กล่าวมา ความรุนแรงในฉากลุยไถดังกล่าว แท้จริงแล้วจึงเป็นการรวมตัวกันเพื่อต่างคนต่างหาช่องปล่อยอณูอดีตของตนเข้าไปฟอกในวังวนของการพันตู โดยมีอิชิเป็นตุ๊กตาเสียกบาล ความเป็นบุคลาธิษฐานจากความเพ้อพกไปเองของตัวละครอื่น ๆ ของอิชิมีรูปรอยชัดเจนในฉากสืบเนื่องกับฉากนองเลือด หลังจากอิชิโดนแข้งและฝ่าเท้าลูกชายคาเนโกะไปหลายดอก

เมื่อเห็นว่าความปรารถนาที่ตนจะได้หลั่งเลือดและรับความทรมานคงเป็นหมัน คาคิฮาร่าจึงตัดช่องน้อยด้วยการสอดเหล็กแหลมยาวเข้ารูหูตนเอง เสียงประกอบในเหตุการณ์จากภาพขยายภายในรูหูยึดตามที่ปรากฏแก่โสตประสาทที่ค่อย ๆ บิดเบี้ยวของคาคิฮาร่า ดังที่ในที่สุดภาพก็ตกอยู่ในความเงียบ จากนั้นหนังก็ตัดมาเป็นเหตุการณ์เบื้องนอกรูหู เป็นภาพอิชิหิ้วแขนข้างหนึ่งของลูกชายคาเนโกะ ส่วนคาคิฮาร่างยังโงนเงนจะล้มแหล่ไม่ล้มแหล่อยู่ สองคนได้เผชิญหน้ากันจนได้ แต่คาคิฮาร่าก็สิ้นท่าแก่อิชิเพียงแค่ฝ่ายหลังวาดวงขาด้วยท่าไม้ตาย ใบมีดจากส้นเท้าก็เฉาะเข้าหน้าผากคู่ต่อสู้ คาคิฮาร่ายักแย่ยักยันหันรีหันขวางอยู่ 1 รอบ ก่อน ใช้รั้วดาดฟ้าตึกเป็นสะพานส่งร่างตัวเองหงายผึ่งร่วงลงสู่เบื้องล่าง ก่อนร่างจะฟาดกับพื้นเขาร้องโหยหวนว่า "ยอดชะมัด" ที่พื้น

จิจิอิโผเข้าไปยังซากอันยับเยินของคาคิฮาร่า เขาค่อย ๆ ปาดปอยผมสีบลอนด์ออกจากหน้าผากคาคิฮาร่า กลับไม่มีรอยแผลจากคมใบมีดบนหน้าผากนั้น จิจิอิแหงนมองขึ้นยังทิศทางซึ่งคาคิฮาราเพิ่งดิ่งลงมา หนังตัดไปเป็นภาพลูกชายคาเนโกะสะอื้นฮัก ให้อดคิดไม่ได้ว่าคนที่หนังกำลังกล่าวถึงอาจเป็นอิชิ เพราะเป็นการจับภาพจากช่วงอกขึ้นไป หรือไม่ก็อาจเป็นคนอื่น เป็นใครก็ได้ การลำดับภาพดังกล่าวจุดประกายความสับสนต่อการสื่อความหมายของเหตุการณ์ไม่น้อย เพราะภาพดังกล่าวเป็นได้ทั้งเหตุการณ์ย้อนหลัง หรืออาจเป็นเหตุการณ์บนหลังคาตึกซึ่งเดินคู่ไปกับเหตุการณ์เบื้องล่าง หากเป็นกรณีหลังย่อมอนุมานได้ว่าอิชิไม่ได้เป็นคนส่งร่างคาคิฮาร่าดิ่งพสุธาลงไปข้างล่าง และบุตรชายของคาเนโกะยังไม่ตาย นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ด้วยว่าเด็กชายคนนี้คือเด็กชายคนที่ทั้งเตะทั้งกระทืบพ่อตัวเองชนิดเอาให้ตายคาเท้า

ช่วงท้าย ๆ ของหนังจะเห็นร่างจิจิอิถูกแขวนคอห้อยต่องแต่งอยู่บนคบไม้ เบื้องล่างมีเด็กนักเรียนชักแถวเดินผ่านไป หนังทิ้งทวนด้วยฝีภาพจากด้านหลังของเด็กหนุ่มรุ่นกระทง คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นอิชิเมื่อสังเกตจากการแต่งองค์ทรงเครื่องในมาดยอดมนุษย์ ครั้นเด็กหนุ่มหันหน้าเข้าหากล้อง กลับหาเป็นอิชิไม่ จึงให้สงสัยต่อไปได้อีกไม่รู้จักจบสิ้นว่า อาจเป็นได้ที่คาคิฮาร่าร่วงจากดาดฟ้าตึกด้วยฝีมือตนเอง ส่วนคาเนโกะก็จบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายต่อหน้าต่อตาลูกชาย ส่วนจิจิอิก็ผูกคอตายกับต้นไม้เองกับมืออย่างที่เห็นไป แต่หนังกลับยกความตายทั้งหมดให้เป็นผลจากฝีมือสังหารอันแสนพิศดารของอิชิ แทนที่จะถ่ายทอดเหตุการณ์ออกมาตามเนื้อผ้าที่คาดไว้

มุมมองของเมสที่ว่ายิ่งมีการขมิบยั้งภาพความรุนแรงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการชี้ชวนให้คนดูทุ่มจินตนาการเพื่อลงขันสร้างเหตุการณ์ร่วมกับหนังมากขึ้นเท่านั้น ช่วยสร้างความกระจ่างแก่เส้นสนกลนัยของฉากบู๊หมู่ได้เป็นอย่างมาก แต่จะว่าไปฉากบู๊หมู่ตอนท้ายของ Ichi ตีความไปได้ต่าง ๆ นานา ไล่ตั้งแต่การสืบสาวจับทางสายสัมพันธ์ที่แล้วมาระหว่างตัวละครทั้งหมดให้เป็นที่ประจ่าง ถัดมาก็จะเป็นการทำความเข้าใจกับปัญหาคั่งค้างจากอดีตและกรรมวิธีที่พวกเขาเองแต่ละคนใช้เยียวยาความกลัดกลุ้ม

คาคิฮาร่าแก้หน้าอาการลงแดงเพราะอยากฆ่าตัวตาย ด้วยการแส่หาเรื่องเจ็บตัวไปพลางทารุณคนอื่นไปพลาง โดยหวังว่าบุพเพสันนิวาสแห่งความระทึกและแสนทรมานจะมาถึงเขาในสักวัน ความเหี้ยมเกรียมผิดมนุษย์มนาส่งผลคณะนักเลงเฉดหัวเขาทิ้ง คาคิฮาร่าเดินจากมาอย่างไม่สะทกสะท้าน เพราะยังมีสมุนอีกโขยงใหญ่พร้อมจะขึ้นสวรรค์ตกนรกไปกับเขา พอมีคำร่ำลือถึงฤทธิ์เดชของอิชิมาเข้าหูคาคิฮาร่า เขาก็ตั้งหน้าตั้งตารอวันได้ห้ำหั่นกับอิชิด้วยความกระเฮี้ยนกระหือรือ เพราะเชื่อว่าฟ้าได้ประทานคู่อาฆาตที่สมน้ำสมเนื้อลงมาแก่เขาแล้ว

หลังจากถูกไล่ออกจากกรมตำรวจเพราะทำปืนหาย คาเนโกะเข้าเป็นสมาชิกคณะนักเลง ติดสอยห้อยตามคาคิฮาร่าเรื่อยมา การถูกขับออกจากการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ กอปรกับความล้มเหลวในชีวิตครอบครัวเป็นรอยแผลจากอดีตที่ยังคงบาดลึกในใจคาเนโกะ ภาวะบ้านแตกสาแหรกขาดยังส่งผลล้ำลึกแก่ลูกชายเขาด้วยเช่นกัน คาเนโกะไม่กล้าสู้หน้าลูกชายตนเองมาตลอด เพราะอดสูกับเรื่องราวทั้งหลายทั้งปวงในชีวิต ความตายในการบู๊ครั้งสุดท้ายจึงเป็นบทสรุปของชีวิตอันน่าสมเพช ในด้านของจิจิอิ เขามีแค้นฝังลึกอยู่กับบรรดาสมาชิกคณะนักเลงอันโจ ซึ่งคาคิฮาร่าและคาเนโกะสังกัดอยู่ และชำระแค้นได้สำเร็จด้วยความอนุเคราะห์จากอิชิ การได้มาร่วมหัวจมท้ายกันอาจก่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกันและกัน ระหว่างจิจิอิกับอิชิ และปลงกับชีวิตก่อนพาฆ่าตัวตายกันไปในท้ายที่สุด

นก ในฐานะสัญลักษณ์ในภาพยนตร์
เพื่อสร้างความกระจ่างแก่สมมติฐานดังกล่าว ต้องนำมรณกรรมทั้งสามไปย้อมด้วยบริบทของภาพเหตุการณ์ก่อนถึงฉากวัดใจครั้งสุดท้าย ฉากดังกล่าวจะเห็นลูกชายคาเนโกะเลี้ยงเนื้อแก่นกตัวหนึ่งบนดาดฟ้า นกบินมาโฉบเอาชิ้นเนื้อจากมือลูกชายคาเนโกะ นอกจากนี้ในฝีภาพติ่งท้าย ๆ ของหนังจะมีนกบินร่อนวนรอบร่างจิจิอิซึ่งแขวนต่องแต่งอยู่กับกิ่งไม้ นกบินโฉบผ่านร่างเด็กหนุ่มผู้คลับคล้ายคลับคลาจะเป็นอิชิ ซึ่งอาจจะเป็นลูกชายของคาเนโกะตอนโตเป็นหนุ่มก็ได้ นกในหนังของมิอิเกะถือเป็นสัญลักษณ์แทนการจุติ ในกรณีของ Ichi นกยังรับหน้าเป็นสื่อเชื่อมบริบทเพื่อรองรับมุมมองของเด็กต่อมรณกรรมของผู้ใหญ่ 3 คน นอกจากนี้ ร่องรอยความสัมพันธ์ระหว่างนกกับการละทิ้งถิ่นฐานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ก็นับว่าเด่นชัดพอตัวในงานของมิอิเกะ นักวิเคราะห์บางรายมองว่าหากเข้าใจความลุ่มหลงที่มิอิเกะมีต่อนกได้ ก็ย่อมเข้าถึงบทบาทคุณค่าที่แท้จริงของนกใน Ichi The Killer

ช่วงแอนิเมชั่นของหนังเรื่อง Happiness of the Katakuris ถือเป็นตัวอย่างในการใช้นกเป็นตัวแทนของวัฏจักรการถือจุติตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี Happiness of the Katakuris เป็นการดัดแปลงงานที่มีอยู่เดิมมานำเสนอใหม่ เช่นเดียวกับ Ichi และ Graveyard of Honour สาระของหนังเองมุ่งเล่าถึงกระบวนการเกิดใหม่ และเดินทางตัดผ่านภพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ช่วงแอนิเมชั่นของ Katakuris เริ่มต้นด้วยมีการค้นพบสัตว์ปีกชนิดหนึ่ง รูปร่างหน้าตาประหลาด อยู่ในถ้วยซุป นกอุบาวท์ฉกลิ้นไก่เจ้าของถ้วยซุปไป เพราะมีรูปพรรณคล้ายหัวใจดวงเล็ก ๆ มันบินหนีไปพร้อมกับหอบหิ้วลิ้นไก่เพื่อไปหาที่กินเหมาะ ๆ แต่ไม่ทันไรตัวมันเองก็ถูกนกใหญ่เขมือบเองเสียก่อน

ต่อมานกใหญ่ก็ตกเป็นเหยื่อตัวประหลาดอีกชนิดหนึ่ง ฉากเหตุการณ์กลายมาเป็นภาพบนหน้ากระดาษ ลมพัดมาหอบแผ่นกระดาษปลิวคว้าง ก่อนขยุมตัวเองเป็นก้อน ๆ จนกลายเป็นไข่ฟองหนึ่ง เพื่อหายเข้าไปในปากของงู นกบินมาจิกงูไปป้อนเข้าปากลูกของมัน ของเหลวในไข่ถูกดูดออกมา ฟองไข่ร่วงกลับลงสู่พื้นดินเบื้องล่าง เปลือกไข่แตกออกและมีสัตว์ปีกหน้าตาประหลาดขนาดจิ๋วตัวใหม่ลืมตาออกมาดูโลกอีกรอบ และนกใหญ่อีกชนิดก็ยังตามมากินมันอีกรอบด้วยเช่นกัน นกตัวใหญ่โผบินไปเรื่อย ได้จังหวะก็ขี้ลงบนหัวผู้ชายคนหนึ่ง ผู้ชายคนนั้นยั๊วะจัด เขวี้ยงไม้ใส่นกเจ้ากรรมร่วงหายไปจากท้องฟ้าในบัดดล การร่ายรำของการเกิดและตายดำเนินอยู่เช่นนั้นเรื่อยไป

การใช้ประโยชน์จากนกในฉากเปิดเรื่องของ Katakuris น่าจะถือเป็นแม่แบบการใช้นกเพื่อสื่อความหมายในงานชิ้นอื่น ๆ ของมิอิเกะก็ว่าได้ ทุกคราวที่มีเหตุการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานเกิดขึ้นในหนังของมิกิเอะ เป็นต้องได้เห็นนกมาบินฉวัดเฉวียนอยู่ในฉากไม่เคยขาด ด้วยเหตุที่นกคือองค์อินทรีย์สัญลักษณ์ที่ลัดข้ามระนาบเวลาได้ ดังนั้น บุคคลที่นกใน Ichi บินผ่านหลังถัดจากจิจิอิ จึงเป็นลูกชายคาเนโกะตอนโต

ไม่แต่เท่านั้นนกตัวนั้นยังรวบกุมเหตุอัตวิบาตกรรมสองครั้งเข้าไว้ด้วยกันในตัวมัน นกแบกความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะค้นหาความเปลี่ยนแปลงของสองชีวิต และพาเหินข้ามขีดคั่นทั้งหลายเพื่อมุ่งหน้าสู่อิสรภาพเยี่ยงนก นกจึงเป็นสัญลักษณ์ของการทุบหม้อข้าวและออกเดินทางไปตายเอาดาบหน้า(de-territorializing flight) อันเป็นการแสดงความเด็ดเดี่ยวขั้นสุดยอด ถึงการฆ่าตัวตายอาจถูกมองว่าเป็นเพราะความหมดอาลัยตายอยากในชีวิต และมีแรงจูงใจให้กระทำผิดแผกกันไปในแต่ละบุคคล แต่กระนั้นก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการฆ่าตัวตายต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยว แน่วแน่ เป็นอย่างมาก

การเวียนว่ายตายเกิด
ความตายในหนังของมิอิเกะถือเป็นส่วนย่อยของวัฏจักรใหญ่แห่งการเวียนว่ายตายเกิด ความตายเป็นเหมือนกระสวยพาคน ๆ หนึ่ง"กลับบ้านเก่า" เพื่อดั้นด้นไปสู่"ที่ชอบ ๆ"กันอีกครั้ง มนุษย์ไม่เคยไปบ้านได้มากกว่า 1 ครั้ง การคืนเรือน(จะเป็นที่ ๆ เกิด หรือ ที่ ๆ อยู่มาก่อนเกิดก็สุดแท้แต่ใครจะว่าจะเรียกกันไป) จึงเป็นการกลับไปลอกคราบกรองไคลความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่คน ๆ หนึ่งผ่านพบมาภายหลังจากที่แห่งนั้นมา จึงมองได้ว่าการออกจากบ้านเป็นเรื่องของการไปเพื่อแสวงหาสิ่งดี ๆ จากการเปลี่ยนแปลง

พึงตระหนักด้วยว่า มีเพียงการออกจากบ้านหลังแรกเท่านั้นที่ถือเป็นการจากบ้านเกิด เนื่องจากบ้านหลังอื่น ๆ ไม่ใช่บ้านเกิด การออกจากบ้านครั้งถัด ๆ มา หลังจากบ้านหลังแรกจึงไม่ถือเป็นการพลัดถิ่นแต่อย่างใด ในตัวละครของมิอิเกะ จึงเป็นร่างทรงรองรับการไหลวนของกระบวนความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เราเห็นอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติ โดยมีนกขอติดมากับรถด่วนขบวนสุดท้ายของหนังด้วยเสมอ

อย่างที่เมสตั้งข้อสังเกตไว้ ตัวละครแทบทั้งหมดนงานมิอิเกะเป็นคนไร้หัวนอนปลายเท้า ระหกระเหิน และโหยหาบ้าน ยิ่งถ้าได้หลังที่เหมือนกับบ้านเคยอยู่อู่เคยนอนก็ยิ่งดีใหญ่ บางที่พวกเขาก็จำต้องยึดโลกที่ตัวเองคลุกคลีอยู่เสมือนหนึ่งเป็นบ้านหลังเก่า ทั้งที่มีความเป็นเมืองใหญ่เบียดบังมโนสำนึกอยู่ ดังจะเห็นได้ว่าถึงแม้คณะนักเลงในหนังมิอิเกะจะซ่องสุมรวมตัวกันในปริมณฑล ที่ผ่านการหักร้างถางพงปักปันเขตมาแล้วก็จริง แต่พวกเขายังคงไม่หยุดแก่งแย่งพื้นที่ตรงนั้นตรงนี้กัน เพื่อจับจองและได้ชื่อว่าตนเป็น"เจ้าถิ่น" การแก่งแย่งของพวกเขาจึงถือได้ว่าเป็นการขยายอาณาจักรแห่งประสบการณ์

จำต้องกล่าวอีกด้วยว่า มิอิเกะมักย้ำเน้นความคิดว่าด้วยการไปตายเอาดาบหน้า และการทวงสภาพแวดล้อมเดิมคืนมาผ่านเหตุทะเลาะวิวาท ด้วยการใส่นกหรือรูปสัญญะจากธรรมชาติรังสรรค์เข้ามาในฉาก ชาติตระกูลหนังของมิอิเกะไม่สำคัญเท่ากับความยืดหยุ่นในการรองรับการถ่ายโอนสภาพแวดล้อมครั้งเก่า ที่ยังเรืองรองอยู่ในความทรงจำและเป็นที่โหยหาของคนดู

งานไตรภาค Dead or Alive
งานไตรภาค Dead or Alive คือ ตัวอย่างอันน่าตื่นตาตื่นใจของปณิธานแห่งการถ่ายทอดเรื่องราวของมนุษย์ กับการการข้ามเส้นแบ่ง ไม่ว่าจะเป็นในปริมณฑลเรื่องส่วนตัว หน้าที่การงาน รวมไปถึงปริมณฑลทางภูมิศาสตร์ หลายฝ่ายมองว่าไม่น่าจะนับหนังทั้งสามเรื่องเป็นงานไตรภาค ตัวละครและเรื่องราวในหนังทั้งสามเรื่องล้วนไม่ค่อยจะสืบเนื่องกัน หากไม่นับการใช้สองตัวละครหลัก คือ ริกิ ทาเคยูชิ กับ โช อาอิคาวะ ร่วมกัน

ในทางตรงกันข้าม หากเราเลิกไม่ยึดติดกับภาพความเป็นภาคต่อของหนังทั้งสามเรื่อง และซึมซับรายละเอียดของหนังแต่ละเรื่อง เสมือนหนึ่งไม่มีความข้องแวะกันแม้แต่น้อย กลับจะพบว่าหนังทั้งสามเรื่องมีความเกี่ยวพันกันลึกซึ้งอย่างไม่น่าเชื่อ ในเบื้องต้น อย่างน้อยหนังทั้งสามเรื่องก็มีนักแสดงหลัก ๆ หน้าเดิม เล่นกันอยู่แค่ 2 คน ถึงคนทั้งสองจะโผล่มาในชื่อและบทบาทที่ไม่ซ้ำเก่า แต่ชะตากรรมของพวกเขาจากภาคหนึ่งสู่ภาคต่อ ๆ มากลับสอดคล้องกันตามแรงเหวี่ยงของพัฒนาการ นอกจากนี้หนังยังมีนัยของการล่วงล้ำ และสลับบุคลิก จนถึงขนาดหลอมรวมกลายเป็นหนึ่งเดียวของตัวละครหลักคู่นี้อีกด้วย หนำซ้ำการที่ผลลัพธ์ของการหลอมรวมดังกล่าวมีรูปพรรณคล้ายนกเสียอีกก็ยิ่งชวนให้คิดไปได้ถึงไหนต่อไหน

Dead or Alive ว่าด้วยปรัชญาความตายและการเกิด
ในภาคแรก โช อาอิกาวะ เป็นตำรวจ ส่วนริกิ ทาเคยูชิ เป็นนักเลง ฝ่ายแรกคอยตามล้างตามล่าฝ่ายหลังอย่างไม่ลดราวาศอก. ภาคสอง ทั้งคู่เป็นมือสังหารและโคจรมาทับเส้นทางกัน เพราะถูกว่าจ้างให้ไปเก็บเป้าหมายคนเดียวกัน ในวันและเวลาเดียวกัน หลังเหตุบังเอิญโชสะกดรอยตามริกิทุกฝีก้าว ไม่เว้นแม้แต่ลงเรือตามไปถึงเกาะอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของทั้งคู่ ในที่สุดทั้งคู่ก็พบความจริงที่ว่าพวกเขาเป็นเพื่อนกันสมัยยังเด็ก ว่าแล้วจึงสนุกสนานกับกิจกรรมในสนามเด็กเล่นเพื่อทบทวนความหลังกัน

เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในอวกาศที่เวลาเป็นอัมพาต นัยว่าด้วยการค้างเติ่งของเวลามีร่องรอยให้สืบย้อนขึ้นไปได้ถึงภาคหนึ่ง จากการที่ภาคแรกปิดฉากด้วยภาพสัญญาณวันโลกาวินาศปะทุไปทั่วโลก ภาคสองรับช่วงการบรรยายสภาพฉากหลังต่อด้วยการบอกเป็นนัยว่า เหตุการณ์ในภาคนี้เกิดขึ้นในครู่ยามที่โลกกลายเป็นเทหวัตถุเยือกแข็งก้อนหนึ่งในอวกาศไปแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าตลอดเรื่องจะมีอุกกาบาตอยู่ลูกหนึ่งพุ่งตัวอยู่กับที่ในอวกาศเมื่อมองด้วยตาเปล่าจากโลก

โมงยามที่หยุดนิ่งเหมาะแก่การทวนความทรงจำอันงดงาม โช กับริกิ ใช้โอกาสดังกล่าวกลับไปเยือนแหล่งกำเนิดของพวกเขา เป็นการกลับบ้านเดิมเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจรับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การรื้อถอนชีวิตปัจจุบันจากบริบทเดิมและจุ่มลงในบริบทเยาว์วัยหาใช่เป็นการถอยกลับไปตั้งหลัก แต่เป็นการฟอกตัวย้อมใจเพื่อบุกไปข้างหน้าเสียมากกว่า คนทั้งสองตกลงใจหวนกลับมาสวมมาดนักเลงออกอาละวาดอีกครั้ง แต่คราวนี้พวกเขาบริจาคน้ำพักน้ำแรงได้ทั้งหมดให้แก่เด็ก ๆ ผู้หิวโหยในทวีปแอฟริกา ผลจากการช่วยจรรโลงโลก พวกเขาจึงกลายเป็นคนมีปีก เหมือนเทวดา

แต่ความประพิมพ์ประพายกับเทวดา กลับไม่น่าสนใจเท่าสารรูปที่เหมือนนก ก็อย่างที่กล่าวไปแล้วว่านกมีความสำคัญในฐานะ เฟืองตัวหลักในกระบวนการปฏิสัมพันธ์กับอดีตของมนุษย์มากขนาดไหนในงานของมิอิเกะ ในรายของโชและริกิ พวกเขากลายร่างเป็นนกหลังจากกลับเนื้อกลับตัว ตอนท้ายของหนัง ทั้งสองยังดำเนินชีวิตต่อไปได้ระยะหนึ่ง หลังถูกกระหน่ำยิงชนิดไม่น่าจะรอดมาได้ แม้เลือดจะอาบร่างพวกเขายังเดินกร่างไปตามถนน ไม่ส่ออาการบาดเจ็บให้เห็นแม้แต่น้อย ห้วงเวลาดังกล่าว ถือเป็นการตื่นจากความตาย พวกเขาเกิดใหม่หลังจากผ่านพิธีกรรมจบชีวิตเก่า และยังเป็นการทลายทำนบกระแสเวลาให้หลั่งไหลอีกครั้ง หลังจากถูกกักเก็บมาตลอดเรื่อง ตอนทั้งคู่เดินทางกลับบ้านเกิดอีกหน คนทั้งสองมาในสภาพวิญญาณเร่ร่อนพร้อมการถือกำเนิดของชีวิตใหม่ในหมู่บ้าน

Dead or Alive 2: The Birds ถือเป็นกรณีตัวอย่างอันดีเพื่อศึกษาแนวทางของมิอิเกะ ในการใช้นกเป็นสัญลักษณ์แทนการเกิดใหม่ในวงจรการแตกดับ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญ ในแง่การเป็นแบบอย่างการพินิจพิเคราะห์กรรมวิธีเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงของแต่ละชีวิต โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมอันเป็นเงื่อนไขหรือมีอิทธิพลต่อการดำรงตนในโลกของคนเหล่านั้น - 2/3 -

ใน Dead or Alive ภาคสาม ซึ่งมีชื่อว่า Dead or Alive: Final โลกกลับสู่สภาพโกลาหลดั่งเคย และยังสะบักสะบอมไม่เสร็จจากการมาเยือนของหายนะใหญ่ ด้วยอุปการคุณของเทคโนโลยีการสำเนาชีวิต โชและริกิจึงยังมีชีวิตอยู่ใน 300 ปีข้างหน้าได้ เมื่อริกิกลับมาเป็นฝ่ายไล่ล่าโชบ้างในเบื้องนี้ จึงเท่ากับว่าคนทั้งสองก้าวล่วงและแลกชีวิตกันใช้กับอีกฝ่ายอย่างสมบูรณ์แบบ อาจกล่าวได้ว่าการเหวี่ยงตัวของปฏิสัมพันธ์ระหว่างโชกับริกิ คือ หนึ่งในปัจจัยบ่งชี้ความเป็น"ภาคต่อ"กันในระหว่างหนัง Dead or Alive ทั้งสามเรื่อง

ที่สำคัญยิ่ง ว่าไปแล้วในการดูหนังมิอิเกะหลายเรื่อง คนดูอาจจำต้องเถือ"หน้าหนัง"(เช่น ภาพความรุนแรง)ออกไปบ้าง หาไม่แล้วก็อาจเข้าไม่ถึงเนื้อแท้ของหนัง เนื้อแท้ดังกล่าวมักเป็นผลผลิตจากปฏิสัมพันธภาพระหว่างตัวละคร ท่ามกลางความวุ่นวายในกระบวนการตบแต่งเงื่อนไขแห่งการธำรงตนเพื่อสร้างความลงตัวแก่ชีวิต

อิทธิพลของสภาพแวดล้อมตัวละครมีความโดดเด่นอย่างมากใน Dead or Alive ภาคสุดท้าย อีกทั้งบทสรุปของหนังความเป็นอัตสำเหนียก(self-conscious) อยู่มาก หนังเปิดเรื่องด้วยภาพเครื่องฉายหนังยิงลำแสงออกมา เป็นฉากการฉายหนังเก่าเก็บเรื่องหนึ่ง บนจอจะเป็นภาพมนุษย์กำลังต่อสู่กับสัตว์ร้ายตามธรรมชาติ โดยมีเสียงบรรยายถึงอนาคตที่เอาแน่ไม่ได้ ความแน่แท้เพียงหนึ่งเดียว คือ การมีชีวิตอยู่ ณ ปัจจุบัน ทุกครั้งที่มีเสียงบรรยายพาดพิงถึงคำว่า ชีวิต บนจอจะเป็นภาพสัตว์เลื้อยคลานประหลาดมีอันถูกสังหารทุกครั้งไป ลูกเล่นดังกล่าวมีโยงใยลากไปถึงฉากการพันตูครั้งสุดท้ายระหว่างโชกับริกิในตอนจบของหนัง เพราะกลายเป็นว่าผลจากการต่อสู้ คนสองคนถูกหลอมมาเกิดในร่างใหม่ และต้องมีชีวิตร่วมกันในสภาพหุ่นยนต์นก ซึ่งมีหัวเป็นรูปปลักขิกอันเขื่อง

"เราเกิดมาจากการทำลายล้าง" คนทั้งสองให้บทสรุปกับตัวเองเช่นนั้น ที่จริงก่อนปิดเรื่องด้วยฉากเกิดอีกทีมีจู๋เป็นหัว มีการทวนความหลังด้วยการตัดต่อเหตุการณ์จากสองภาคแรกเสียบแทรกชนิดตาลายเป็นพิธี นับเป็นการปูทางเพื่อชงผลลัพธ์ของการประมือครั้งล่าสุด เข้าเป็นอีกหนึ่งในสาแหรกปฏิสัมพันธ์ระหว่างโชกับริกิ นอกจากนี้ยังมีเค้าการเป็นหินลองทอง เพื่อหยั่งหาระดับความยืดหยุ่นของตัวหนังเองดูเล่น ๆ เนื่องจากหนังเปิดฉากด้วยการออกตัวว่าเป็นหนังไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง

เมืองในอนาคตที่โชกับริกิจับพลัดจับผลูไปอยู่นั้น มีอัตราการเกิดเป็นศูนย์ เพราะไม่มีเด็กเกิดใหม่แม้สักคน เนื่องจากขาใหญ่ประจำเมืองขอไว้ ความข้อนี้เป็นการยกความสำคัญของแก่นว่าด้วยการเกิดใหม่ ผ่านการพิสูจน์สมมติฐานที่ว่ารักแท้เป็นจริงได้เฉพาะในหมู่คนเพศเดียวกัน แรงจูงใจของนโยบายตัดตอนวงจรการเกิดมาจากความเชื่อที่ว่า การมีประชากรมากเกินพอดีจะเป็นชนวนของสงคราม ซึ่งสร้างความบอบช้ำแก่โลกจนตกอยู่ในสภาพอย่างที่เห็น

ความตาย บทบาทในวงจรชีวิตธรรมชาติ
มิอิเกะกำลังชี้ว่าการตายมีบทบาทในวงจรชีวิตตามธรรมชาติไม่น้อยหน้าการเกิด เช่นเดียวกับ สงครามก็มีผลต่อการขับเคลื่อนวงจรมากพอ ๆ กับสันติภาพ ควรกล่าวด้วยว่าวงจรชีวิตตามธรรมชาติ เป็นสภาวะที่ตัวละครในงานของมิอิเกะปรารถนาจะเข้าถึงยิ่งนัก การที่โชกับริกิประกอบร่างเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงเป็นการเผชิญหน้ากับนโยบายสกัดกั้นครรลองธรรมชาติของนายหัว

ความสัมพันธ์ระหว่างโชกับริกิในหนังทั้งสามเรื่อง ทั้งผกผันทั้งสมบุกสมบัน พวกเขาร่วมหัวจมท้ายกันได้ แต่พวกเขาก็แตกหักกันได้เช่นกัน บางทีก็สลับบทบาทกัน วนไปวนมาอยู่อย่างนั้น ต่างคนต่างจ้องจะเข้าไปยึดพื้นที่ของอีกฝ่าย ทั้งหมดดำเนินไปภายใต้อาณาจักรคนดีเหยียบฟ้าตามกฏของการคุมถิ่น สุดท้ายพวกเขาจับมือกันโค่นประมุขของเมืองผู้ไม่พิศมัยเด็ก ๆ ลงและฟื้นฟูค่านิยมรักต่างเพศ แม้ว่าการกระทำของเขาอาจทำลายกลไกป้องกันการเกิดสงครามในอนาคต แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า วงจรแห่งชีวิตกลับมาขับเคลื่อนอีกครั้งได้เพราะฝีมือของพวกเขา การคลายปมดังกล่าวหาใช่เป็นการสาบส่งแนวคิดรักร่วมเพศ หากแต่เป็นการฉลองชัยชนะของชายสองคนผู้มีชีวิตผูกพันกันแนบแน่นเป็นพิเศษ ที่มีเหนือระบอบผูกขาดเพศกิจ

Dead or Alive 2: The Birds จบลงตรงภาพทารกเกิดใหม่ พร้อมกับขึ้นตัวอักษรบนจอเป็นประโยคคำถามว่า "ไปสู่หนใด" คำตอบของคำถามนี้มีอยู่ในภาคสามกับภาพของโลกในสภาพจวนจะพินาศแหล่ไม่พินาศ เพราะมีประชากรมากเกินไป เป็นโลกที่ปราศจากทายาท แต่การจุติอาจมาในรูปการแปลงสภาพก็ได้ เพราะเป้าประสงค์ของการมีอยู่ของเอกภพ คือ การสร้างสรรค์ และการสร้างสรรค์เป็นดอกผลของการละทิ้งถิ่นฐานเดิม

ไตรภาค Dead or Alive เป็นการร่วมเดินทางไปกับชายสองคนบนหนทางสู่บ้านเก่า ก่อนลงมือปฏิวัติตนเอง พวกเขาเกิดแล้วเกิดอีก ในทำเลแตกต่างกันออกไปในหนังแต่ละภาค การเกิดใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นการย้ำเตือนคติที่ว่ายิ่งใครเห็นสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก ยิ่งเท่ากับว่าคนผู้นั้นมีความดักดานมากตามไปด้วย ตามสายตาของมิอิเกะ พฤติกรรมกระหายเลือดของเหล่านักเลงในไตรภาค Dead or Alive เป็นแค่กระบวนการดัดแต่งตนเองให้สอดคล้องลงรอยกับเงื่อนไขกำกับชีวิตมาตราต่าง ๆ อันเป็นวิถีของธรรมชาติ

โรงเรียนสอนบิน ในภาพยนตร์เรื่อง The Bird People of China
ผลงานอีกเรื่องของมิอิเกะที่มีความน่าสนใจพอฟัดพอเหวี่ยงกับ Dead or Alive 2: The Birds คือ The Bird People of China หนังเรื่องนี้เล่าถึงยากูซ่าคนหนึ่งในปฏิบัติการล่าตัวนักธุรกิจลูกหนี้ของกลุ่มมาเฟีย การทวงหนี้ครั้งนี้ติดพันยืดเยื้อติดพันเข้าไปถึงหุบเขาอันห่างไกลแห่งหนึ่งในจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากฝ่ายนักธุรกิจมีพุ่งเป้าจะไปค้นหาหยกที่หุบเขาแห่งนั้น สิ่งที่นักธุรกิจและยากูซ่าเจอในหุบเขา คือ โรงเรียนสอนบิน เด็ก ๆ ในหมู่บ้านนี้ต้องบินเพื่อสืบสานประเพณีเก่าแก่นับพัน ๆ ปีของหมู่บ้านโดยมีภาพวาดมนุษยวิหคในถ้ำเป็นหลักฐานยืนยัน

ทั่วหมู่บ้านดาษดื่นไปด้วยรูปตัวแทนแนวคิคเกี่ยวกับความเกี่ยวโยงระหว่างการเหินบิน กับการผลัดภพผ่านความตาย ซากเครื่องบินสมัยสงครามโลกครั้งที่สองลำหนึ่งตกอยู่ในทะเลสาบใกล้หมู่บ้านในสภาพโหม่งโลก โผล่มาเพียงกระโดงหางและปีกหลัง เหมือนมีใครเอาไม้กางเขนขนาดมหึมาไปปักไว้ ยังนับเป็นเครื่องเตือนใจชาวบ้านถึงความสำคัญของการตาย และการเหินในฐานะวิถีของการหลุดพ้น การแปลงพิธีกรรมเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงมาไว้ในรูปของสันทนาการหรือการละเล่น จนกลายเป็นประเพณีและพากันยึดถือสืบต่อกันมาชนิดไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมแม้กาลเวลาจะล่วงมานานเพียงใด เป็นผลของกุศโลบายการส่งเสริมให้เด็ก ๆ กล้าเผชิญโลกเบื้องหน้า และทะยานข้ามเส้นแบ่งระหว่างแผ่นฟ้ากับผืนดิน โดยยึดเส้นขอบฟ้าเป็นเครื่องนำทาง

ความหวนไห้ต่ออดีตอันงดงามเป็นอีกความน่าประทับใจของหนัง โดยมีเพลงเป็นสื่อ เพลงเอกของหนังถูกนำมาสู่หมู่บ้านโดยนักบินลำมรณะ และตกทอดมายังเด็กคนหนึ่ง แต่การเดินทางของเพลงหาได้เป็นเรื่องของการรับช่วงมรดกทางภูมิปัญญา เพลงจากน้ำเสียงของเด็กผู้หญิงถูกนักธุรกิจบันทึกไว้ เขาเปิดเพลงฟังครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อแกะเนื้อเพลง เดิมทีคำร้องในเพลงเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อเด็กพื้นเมืองเข้ามารับช่วงการขับร้องจึงเริ่มมีศัพท์พื้นเมืองเข้าไปปะปนในเพลง นักธุรกิจพยายามสืบสาวหาคำร้องดั้งเดิมเพราะเชื่อว่าเนื้อเพลงย่อมบรรจุไว้ด้วยภาพเหตุการณ์ในอดีตของหมู่บ้าน พฤติกรรมการนำอดีตมาเป็นลายแทงเพื่อทำความเข้าใจกับปัจจุบัน และหยั่งคะเนอนาคต ต้องถือว่านักธุรกิจมีภูมิแน่นพอจะจับผิดความเปลี่ยนแปลงที่อยู่รายรอบตัวเอง เขาถึงยอมลงแรงขุดค้นอดีตเพื่อถลุงหาตะกอนประวัติศาสตร์ที่ตกผลึกอยู่ในซากเวลาช่วงใดช่วงหนึ่ง

ตัวยากูซ่าเองก็มีวาระส่วนตัวฝังเร้นอยู่ในการปฏิบัติตามคำสั่งทวงหนี้ เขาตัดสินใจแฝงตัวอยู่ในหมู่บ้าน และค้นพบว่าตนมีบ้านเกิดอยู่ในวงล้อมของศัตรู การข้ามถิ่นนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอีกคราว อาจกล่าวได้ว่า บ้านหลังเดียวที่เป็นทั้งบ้านเกิดและเรือนตายของมนุษย์ก็คือ ความเปลี่ยนแปลง มนุษย์มีแต่จำต้องน้อมรับความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงอยู่ค้ำฟ้าเพื่อฉายแสงของกฎไตรลักษณ์ไปยังสรรพสิ่ง ความสงบเที่ยงแท้อันเป็นเสาหลักของหมู่บ้านมนุษย์วิหค เอาเข้าจริงกลับเป็นกลไกการสะสมผลผลิตของการสัญลักษณ์ความเปลี่ยนแปลงเสียด้วยซ้ำ จากคติที่ว่า ความดักดานจะหมดไปหากมนุษย์บินอย่างนกได้ และยิ่งมีชั่วโมงบินสูงเท่าไหร่ ยิ่งเข้าถึงแก่นแท้ของสังสารวัฏได้มากเพียงนั้น

Graveyard เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่
ภาพผู้ชายตั้งท่าจะออกบินใน The Bird People of China มีสาแหรกการก่อตัวของสถานการณ์ร่วมกับ Graveyard of Honor ฉบับสร้างใหม่ มิอิเกะใช้ภาพภาพจรดตัวเตรียมเหาะซึ่งมีรูปพรรณสันฐานดุจเดียวกันกับใน The Bird People of China มาเป็นภาพเปิดเรื่อง Graveyard ก็คงเพื่อนำงานใหม่เข้าฝากตัวกับสารบบงานของตัวเองประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเป็นการออกตัวว่า Graveyard เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ การยืมภาพ"จะเหินแล้วนะ"จากงานชิ้นเก่ามาเป็นสาแหรกตั้งต้นงานชิ้นใหม่มีข้อน่าสังเกตบางประการ กล่าวคือ ในขณะที่ The Bird People of China ปิดฉากอย่างสวยงาม และเปี่ยมความหมายในเชิงกวีกับภาพฝูงมนุษย์วิหครุ่นเยาว์พากันร่อนอยู่เหนือยอดเขา แต่ทิศทางการบินของตัวละครเอกใน Graveyard กลับเป็นการดิ่งลงปะทะพื้นปฐพี ก่อนจมหายไปในกองเลือดขนาดยักษ์ เมสมองว่าการที่ตัวละครหลั่งเลือดออกมาได้มหาศาลจนนองปฐพีขนาดนั้น เป็นผลมาจากการคั่งตัวสะสมของเลือดชั่ว นับจากความเป็นผู้เป็นคนในตัวละครเอกเริ่มอักเสบกระทั่งสุกงอม ในท้ายที่สุดของหนัง

คงด้วยอาณุภาพของแว่นขยายตามแนวคิดที่ว่า มีหน่อพุทธางกูรแห่งพระคริสต์อยู่ทั่วทุกตัวคนดลบันดาลให้เมสวิเคราะห์ไปในทางนั้น ถึงแม้จะดูเพี้ยน ๆ ไปบ้าง การพลีชีวิตตนของพระคริสต์ด้วยหวังความอยู่รอดของมนุษยชาติเป็นเนื้อนาบุญ อาจถือเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของการตายอย่างสร้างสรรค์ในสายตาคนบางคน แต่ไม่ว่าผลในด้านอื่นจะเป็นฉันใด แต่ผลในภาคปฏิบัติก็คือ พระคริสต์ย่อมได้เกิดใหม่ ไม่แน่ว่าเป้าประสงค์ของคนที่ปลิดชีพตนเอง ก็เป็นเช่นนี้ คือ เพื่อไปเกิดใหม่ในสุขคติภพ

ภาพตัวละครกุมสติไม่อยู่ในชั่วอึดใจที่ปลงใจเลือกความตายเป็นทางออกใน Graveyard ส่อถึงความสิ้นหวัง การไปตายเอาดาบหน้ามักเลี่ยงการใช้ความรุนแรงไม่ได้ มิเช่นนั้นมนุษย์ก็ย่อมพ่ายแพ้แก่อำนาจแรงโน้มถ่วงของโลกอยู่ร่ำไป การเปลี่ยนแปลงใช่เป็นเรื่องง่าย เพราะมนุษย์ไม่ได้มีทรัพยากรและปัญญาอยู่ในมือครบครัน ถึงขั้นเนรมิตความเปลี่ยนแปลงเอาได้ตามอำเภอใจ และก็ไม่ง่ายอีกเช่นกันกับการจะสถาปนาความสัมพันธ์เครือข่ายใหม่เพื่อสร้างอาณาจักรใหม่ ๆ กับคนหน้าใหม่ ๆ ในดินแดนใหม่เพื่อการลงหลักปักฐานชีวิตใหม่

มิอิเกะยิงคำถามตรง ๆ ผ่าน Dead or Alive 2 เพื่อชวนให้มนุษย์หันกลับมาฉุกคิดและตระหนักถึงเงื่อนไขแวดล้อมเพื่อตั้งสติและกำหนดทิศทางการล่องของชีวิต อันเป็นแนวคิดหลักในงานชิ้นอื่น ๆ ของเขาด้วยเช่นกัน และเป็นแนวคิดที่เหมาะกับการใช้นกเป็นรูปตัวแทนในการนำเสนอเป็นที่สุด

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

จักริน วิภาสวัชรโยธิน : แปล

http://www.horschamp.qc.ca/new_offscreen/fantasia2003_pt2.html

(โครงการแปลตามอำเภอใจ)


 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



180649
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
บทวิเคราะห์ภาพยนตร์นอกกระแส
บทความลำดับที่ ๙๕๑ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
ผลงานอีกเรื่องของมิอิเกะที่มีความน่าสนใจพอฟัดพอเหวี่ยงกับ Dead or Alive 2: The Birds คือ The Bird People of China หนังเรื่องนี้เล่าถึงยากูซ่าคนหนึ่งในปฏิบัติการล่าตัวนักธุรกิจลูกหนี้ของกลุ่มมาเฟีย การทวงหนี้ครั้งนี้ติดพันยืดเยื้อติดพันเข้าไปถึงหุบเขาอันห่างไกลแห่งหนึ่งในจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากฝ่ายนักธุรกิจมีพุ่งเป้าจะไปค้นหาหยกที่หุบเขาแห่งนั้น สิ่งที่นักธุรกิจและยากูซ่าเจอในหุบเขา คือ โรงเรียนสอนบิน เด็ก ๆ ในหมู่บ้านนี้ต้องบินเพื่อสืบสานประเพณีเก่าแก่นับพัน ๆ ปีของหมู่บ้านโดยมีภาพวาดมนุษยวิหคในถ้ำเป็นหลักฐานยืนยัน

ทั่วหมู่บ้านดาษดื่นไปด้วยรูปตัวแทนแนวคิคเกี่ยวกับความเกี่ยวโยงระหว่างการเหินบิน กับการผลัดภพผ่านความตาย ซากเครื่องบินสมัยสงครามโลกครั้งที่สองลำหนึ่งตกอยู่ในทะเลสาบใกล้หมู่บ้านในสภาพโหม่งโลก โผล่มาเพียงกระโดงหางและปีกหลัง เหมือนมีใครเอาไม้กางเขนขนาดมหึมาไปปักไว้ ยังนับเป็นเครื่องเตือนใจชาวบ้านถึงความสำคัญของการตาย และการเหินในฐานะวิถีของการหลุดพ้น

- Dead or Alive 2: The Birds ถือเป็นกรณีตัวอย่างอันดีเพื่อศึกษาแนวทางของมิอิเกะ ในการใช้นกเป็นสัญลักษณ์แทนการเกิดใหม่ในวงจรการแตกดับ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญ ในแง่การเป็นแบบอย่างการพินิจพิเคราะห์กรรมวิธีเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงของแต่ละชีวิต โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมอันเป็นเงื่อนไขหรือมีอิทธิพลต่อการดำรงตนในโลกของคนเหล่านั้น...
- มิอิเกะกำลังชี้ว่าการตายมีบทบาทในวงจรชีวิตตามธรรมชาติไม่น้อยหน้าการเกิด เช่นเดียวกับ สงครามก็มีผลต่อการขับเคลื่อนวงจรมากพอ ๆ กับสันติภาพ ควรกล่าวด้วยว่าวงจรชีวิตตามธรรมชาติ เป็นสภาวะที่ตัวละครในงานของมิอิเกะปรารถนาจะเข้าถึงยิ่งนัก...

The Midnightuniv's web