Free Documentation
License
Copyleft : 2006,
2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document, but changing it is not allowed.
หากนักศึกษา
และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
The Midnight
University
การเมืองและสังคมไทยร่วมสมัย
ความเสี่ยงของตุลาการภิวัตน์
และย้อนรอยปฏิญญาฟินแลนด์
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันและสุดสัปดาห์
รวบรวมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ประกอบด้วย
๑. มองหลากมุมตุลาการภิวัตน์ ความเสี่ยงของตุลาการธิปไตย
๒. ตุลาการภิวัตน์: การตีความสองแนวทาง
๓. ย้อนรอยปฏิญญาฟินแลนด์
และภาคผนวก : ลึกสุดฮา ปฏิญญาฟินแลนด์
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 950
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
13.5 หน้ากระดาษ A4)
ความเสี่ยงของตุลาการภิวัตน์
และย้อนรอยปฏิญานฟินแลนด์
รศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่องที่ 1. มองหลากมุมตุลาการภิวัตน์
ความเสี่ยงของตุลาการธิปไตย
และแล้วปรากฏการณ์ที่สื่อสิ่งพิมพ์บางฉบับเรียกว่า "ศาลกู้ชาติ" และผมเคยเสนอว่าเป็น
"การใช้อำนาจตุลาการเข้าแทรกแซงเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดการได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตย"
(judicial intervention to adjudicate on the acquisition of sovereign power)
ก็ได้รับการประเมินวิเคราะห์ทางวิชาการอย่างเอาการเอางานเป็นครั้งแรกโดยอาจารย์ธีรยุทธ
บุญมี ว่าเป็น:- "กระบวนการตุลาการภิวัตน์ หรือกฎหมายภิวัตน์ หรือนิติธรรมภิวัตน์
(judicialization of politics) ...คือการให้อำนาจแก่ฝ่ายตุลาการในการตรวจสอบถ่วงดุลสองอำนาจใหญ่
คือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติได้" หรือ "กระบวนการตรวจสอบเชิงหลักกฎหมายของฝ่ายตุลาการ"
(judicial review)
ในบทความเรื่อง "พิพากษาหาความยุติธรรมให้ประเทศ เพิ่มดุลยภาพการเมืองไทย ก้าวสู่การปฏิรูปการเมืองหน 2" ซึ่งนำเสนอในงานสัมมนา "วิกฤตประเทศไทยยุคทุนนิยมไล่ล่า" ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมศกนี้ (มติชนรายวัน, 1 มิ.ย. 2549, น.2, 5)
นับเป็นโอกาสอันดีที่จะสานเสวนาการอภิปรายสาธารณะทางวิชาการ ในประเด็นอันคับขันสำคัญยิ่งต่ออนาคตของบ้านเมืองขณะนี้ ซึ่งอาจารย์ธีรยุทธได้เปิดฉากไว้สืบต่อไปตามหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและในทางวิชาการในมาตรา 39 และ 42 ของรัฐธรรมนูญ
[มาตรา ๓๙ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และ
การสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ
เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง
สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่
ส่วนตัวของบุคคลอื่น
]
[มาตรา ๔๒ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย
และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน]
อาจารย์ธีรยุทธเสนอว่า เป้าหมายของกระบวนการตุลาการภิวัตน์ก็เพื่อโต้แย้งทัดทานและพัฒนาให้พ้นจาก "แนวคิดประชาธิปไตยตามลัทธิเสียงส่วนใหญ่ (majoritarianism)" หรือ "ลัทธิ 16 ล้านเสียง" ของพรรคไทยรักไทย ซึ่งเมื่อบวกกับ "ลัทธิรัฐสภา" แล้ว "หากก้าวไปสุดขั้วก็จะกลายเป็นระบอบเผด็จการหรือเผด็จการโดยรัฐสภาได้"
จะว่ากันไปแล้วนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 ซึ่งพรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงสนับสนุนถึง 19 ล้านเสียงนั้น ผมได้เคยเสนอในการอภิปรายเรื่อง "การเมืองภาคพลเมืองเรื่องหมากัดกัน" จัดโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ศกก่อนว่า:-
ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional democracy) มีกลไกมาตรการใหญ่ๆ ที่ใช้มาป้องกันกำกับควบคุมการใช้อำนาจประชาธิปไตยของเสียงข้างมาก (majoritarian democracy) ไม่ให้เสื่อมทรามกลายเป็น ---> ระบอบทรราชของเสียงข้างมาก (the tyranny of the majority) อยู่ด้วยกัน 4 ชนิดได้แก่:-
1) บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดเงื่อนไขพิเศษในการลงมติบางกรณี เช่น ต้องใช้มติเสียงข้างมากเป็นพิเศษ อาทิ สองในสามของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดแทนเสียงข้างมากธรรมดา หรือให้ถ่วงเวลาลงมติเนิ่นช้าออกไป เป็นต้น
2) ศาลตุลาการคณะต่างๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ - อันประกอบไปด้วยชนชั้นนำผู้เชี่ยวชาญทางนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์ส่วนน้อย-ได้มีอำนาจทบทวนยับยั้งการที่เสียงข้างมากในสภาจะละเมิดรัฐธรรมนูญ3) การแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นฝักฝ่ายเพื่อคานอำนาจกัน ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ, บริหาร, ตุลาการ; รวมทั้งบทบาทของสถาบันสื่อมวลชนนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ (บางครั้งเรียกว่า "อำนาจที่ 4") หรือแม้แต่ธนาคารชาติ (ในแง่การเงินการธนาคาร)
4) การจัดวางกลไกตรวจสอบ-ถ่วงดุลอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ ไว้ในระบบ เช่น ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, กลไกการยื่นกระทู้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี, วุฒิสภาตรวจสอบทบทวนกฎหมายที่ผ่านโดยสภาผู้แทนฯ, พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาแล้ว และส่งคืนเพื่อให้พิจารณาทบทวนเมื่อพระองค์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย, องค์การมหาชนอิสระต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น (ดูบทความ "คำถามหลังเลือกตั้ง" และ "อำนาจเสียงข้างมาก" ของผู้เขียนในมติชนรายวัน, 11 และ 18 ก.พ. 2548, น.6)
ปัญหาก็คือที่ผ่านมาปรากฏว่ากลไกมาตรการทัดทานอำนาจเสียงข้างมากประเภทต่างๆ ค่อนข้างไม่ทำงานหรือทำงานไม่ได้ผลภายใต้รัฐบาลทักษิณ มักถูกแทรกแซง บิดเบือน คุมกำเนิด และทำให้เป็นอัมพาตบ่อยครั้งด้วยพลังเสียงข้างมากที่ยึดกุมอำนาจบริหารและนิติบัญญัติไว้ จนในที่สุดสังคมต้องหันไปอาศัยตุลาการทั้ง 3 ศาลให้ช่วยกัน "ตุลาการภิวัตน์" ตามข้อ 2 ข้างต้นเป็นที่พึ่งสุดท้ายในปัจจุบัน
อาจารย์ธีรยุทธได้ตั้งคำถามชวนถกเถียงว่า กระบวนการตุลาการภิวัตน์ก้าวก่ายอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งได้รับฉันทานุมัติจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่? หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งถูกต้องชอบธรรมหรือไม่? ท่านตอบว่า เมื่อมองดูแบบปฏิบัติของประเทศต้นตำรับประชาธิปไตยตะวันตกต่างๆ แล้วกระบวนการตุลาการภิวัตน์น่าจะถูกต้องด้วยเหตุผลประการต่างๆ ได้แก่:
- ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนบกพร่องตรงที่หลังเลือกตั้งแล้ว ผู้แทนแย่งชิงตัดขาดอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชน สิทธิการกำหนดตัวเองของประชาชนจึงเสมือนหนึ่งถูกแช่แข็งไปเสีย จำต้องให้ฝ่ายตุลาการซึ่งมีรากเหง้าจากเจตจำนงของประชาชนแต่ดั้งเดิมเช่นกันมาตรวจสอบแก้ไขจุดนี้
- เอาเข้าจริง การแยกอำนาจอธิปไตยเป็นฝ่ายต่างๆ ไม่ได้ชัดเจนเบ็ดเสร็จมาแต่ต้น- เมื่อเปรียบเทียบอำนาจทั้ง 3 ฝ่าย ฝ่ายตุลาการจะเน้นมองผลประโยชน์ระยะยาวสุด และกว้างสุดของประเทศจึงควรทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายอื่น
- สังคมแห่งความเสี่ยงสมัยใหม่ (risk society) แยกเป็นระบบย่อยๆ อันซับซ้อน ประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงจากภยันตรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากบรรษัทธุรกิจใหญ่ จึงควรให้ฝ่ายตุลาการทำหน้าที่ปกป้องประชาชนจากความเสี่ยงภัยเหล่านี้ เพราะแยกห่างจากกลุ่มธุรกิจที่สุดยิ่งกว่าอำนาจอื่น
- ฝ่ายรัฐสภาอยู่ใกล้ผลประโยชน์และอารมณ์สาธารณชน, ขาดความสนใจและความชำนาญที่จะมองกฎหมายอย่างรอบด้านเป็นระบบทั้งหมด จึงควรให้ฝ่ายศาลทบทวนกฎหมายจะดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม หากมองดูประสบการณ์ของประเทศต้นตำรับประชาธิปไตยตะวันตกชุดเดียวกัน จากอีกมุมหนึ่ง ก็จะพบว่ามีข้อควรคำนึงเกี่ยวกับกระบวนการตุลาการภิวัตน์เช่นกัน ดังต่อไปนี้คือ:-
1) พึงระมัดระวังว่ากระบวนการตุลาการภิวัตน์อาจเปิดช่องให้นำไปสู่ "ตุลาการธิปไตย" หรือการปกครองโดยฝ่ายตุลาการ (judicial rule) ไม่เพียงแค่การตรวจสอบเชิงหลักกฎหมายของฝ่ายตุลาการ (judicial review) เท่านั้น
2) หากถึงขั้นนั้น แทนที่ศาลจะเป็นกลไกอันจำเป็นและเป็นประโยชน์เพื่อเหนี่ยวรั้งจำกัดลัทธิเสียงส่วนใหญ่ การณ์จะกลับกลายเป็นว่าศาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (an unelected court) จะเข้าแทนที่เสียงข้างมากในฐานะกลไกหลักทางด้านนิติบัญญัติไปเสีย3) กล่าวในทางทฤษฎี กระบวนการตุลาการภิวัตน์เป็นคุณตรงที่ มันช่วยหลีกเลี่ยงป้องกันลัทธิยึดติดตัวบทหรือยึดติดเจตนารมณ์ดั้งเดิมของรัฐธรรมนูญเป็นเกณฑ์แบบแห้งแล้ง เถรตรง ตายตัวถ่ายเดียว (textualism and originalism) ทว่าในทางกลับกันตุลาการภิวัตน์ก็อาจมีโทษหากล้ำเส้นเกินเลยกลายเป็นลัทธิเอาอำนาจตุลาการไปเคลื่อนไหวทางสังคม และ/หรือการเมืองแบบไม่บันยะบันยัง (unconstrained judicial activism)
4) ความเสี่ยงอันตราย (risk) ในกรณีหลังอยู่ตรงฝ่ายตุลาการอาจถูกชักจูงให้ดำเนินกระบวนการตุลาการภิวัตน์ไขว้เขวไปตามอุดมการณ์ของเสียงข้างน้อยต่างๆ (minoritarian ideologies) หรือแม้แต่กระแสอารมณ์วูบไหวชั่วครู่ชั่วยามของเสียงข้างมาก (the majoritarian passions of the moment) ก็เป็นได้ อาทิ การที่ศาลฎีกาสหรัฐอเมริกา ยืนยันรับรองคำสั่งให้กักกันชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นทั้งหมดในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งที่คำสั่งนั้น ตั้งอยู่บนความระแวงสงสัยรวมหมู่มากกว่าหลักฐานหนักแน่นอันใด
5) ฉะนั้น กล่าวให้ถึงที่สุด ที่พึ่งในการต่อต้านทัดทานลัทธิเสียงข้างมาก (majoritarianism) อาจมิใช่กระบวนการตุลาการภิวัตน์โดยตัวมันเอง (เพราะฝ่ายตุลาการก็อาจโน้มเอียงผิดพลาดได้ ดูข้อ 4) แต่เป็นวัฒนธรรมในการตีความและใช้กฎหมายซึ่งวิวัฒน์คลี่คลายไปอย่างเชื่องช้า
หรือจะเรียกว่าธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมก็ได้ สิ่งนี้ต่างหากเป็นตัวช่วยเหนี่ยวรั้งให้ศาลใช้ดุลพินิจอย่างยับยั้งชั่งใจในกรอบขอบเขตอันพอเหมาะพอควร
เรื่องที่ 2. "ตุลาการภิวัตน์:
การตีความสองแนวทาง"
บทความว่าด้วยกระบวนการ "ตุลาการภิวัตน์" ของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี
(มติชนรายวัน, 1 มิ.ย. 2549, น.2, 5) ได้นำเสนอการตีความ [พระราชดำรัสพระราชทานแก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
และผู้พิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 25 เมษายนศกนี้] รวมทั้ง [การปฏิบัติงานสนองพระราชดำรัสสืบเนื่องต่อมาของศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลปกครองและศาลฎีกา เพื่อตรวจสอบสถาบันการเมืองและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 เมษายนศกนี้] ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง
โดยเฉพาะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการอธิบายความหมายเรื่องเดียวกันที่ปรากฏออกมาในเวลาไล่เลี่ยกันของท่านประธานศาลฎีกา นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ในหนังสือถึงประธานวุฒิสภา นายสุชน ชาลีเครือ กรณีที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แทนตำแหน่งที่ว่างลง 2 คน ลงวันที่ 1 มิถุนายน ศกนี้ (มติชนรายวัน, 2 มิ.ย. 2549, น.2)
ขอนำเสนอเนื้อหาในบทความของอาจารย์ธีรยุทธและหนังสือของท่านประธานศาลฎีกาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวโดยแบ่งออกเป็นหัวข้อย่อยในรูปตารางคู่ขนานเพื่อง่ายแก่การพิจารณาเทียบเคียงดังต่อไปนี้
1) หลักการทั่วไป
2) เงื่อนไขสถานการณ์พิเศษ
3) การตีความพระราชดำรัสและปฏิบัติการของ 3 ศาล
1) หลักการทั่วไป (บทความของอาจารย์ธีรยุทธ)
"พระราชดำรัสที่จะให้คณะผู้พิพากษาเป็นผู้แก้ปัญหาวิกฤตของชาติ...เป็นการมองอำนาจศาลอย่างกว้างขวาง
แนวที่เปิดทางให้กับสิ่งที่ประเทศยุโรปเรียกว่า กระบวนการตุลาการภิวัตน์ของระบอบการปกครอง
(judicialization of politics) และสหรัฐอเมริกาเรียกการตรวจสอบฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ
โดยระบบตุลาการ (power of judicial review) ซึ่งคือการที่อำนาจตุลาการเข้าตรวจสอบการออกกฎหมาย
การใช้อำนาจของนักการเมืองอย่างเข้มงวดจริงจัง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ.2540 ประเทศไทยก็ก้าวเดินมาสู่กระบวนการตุลาการภิวัตน์นี้โดยผ่านศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง"
หนังสือของประธานศาลฎีกา
"ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ
ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยโดยผ่านทางรัฐสภา
คณะรัฐมนตรี และศาล"
2) เงื่อนไขสถานการณ์พิเศษ
(บทความของอาจารย์ธีรยุทธ)
"แต่เนื่องจากฝ่ายบริหารเข้ารุกล้ำแทรกแซงกลไกราชการและอำนาจตรวจสอบอย่างหนัก
จนนำไปสู่วิกฤตดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงแนะให้ทั้ง 3 ศาลได้เข้ามามีบทบาทร่วมกันเพื่อแก้วิกฤต"
หนังสือของประธานศาลฎีกา
"แต่ในเวลาที่ประเทศตกอยู่ในภาวะว่างเว้นรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง
เพราะเหตุที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสงวนรักษาระบอบการปกครอง
และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักรไว้"
3) การตีความพระราชดำรัสและปฏิบัติการของ
3 ศาล (บทความของอาจารย์ธีรยุทธ)
"ตามทฤษฎีการเมือง เราจะมองการพระราชทานคำแนะนำครั้งนี้ได้อย่างไร?
ตามรัฐธรรมนูญในฐานประมุขของอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ด้าน เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ท่านทรงความชอบธรรมที่จะชี้ทางแนะนำอำนาจใดอำนาจหนึ่งให้ปฏิบัติเพื่อแก้วิกฤตของชาติ
"ในฐานะประมุขของฝ่ายตุลาการ 3 ศาล ซึ่งใช้รูปแบบการประชุมร่วมเพื่อแนะนำอำนาจฝ่ายอื่น เช่น กกต.ก็มีความชอบธรรมเพราะแม้ประชาธิปไตยจะยึดหลักการแยกอำนาจ แต่ไม่ถือเป็นหลักการแยกอำนาจเด็ดขาด การวิพากษ์วิจารณ์แนะนำซึ่งกันและกันย่อมทำได้ เช่น ฝ่ายบริหารหรือนักวิชาการอาจแนะนำศาลว่า การปฏิรูปการบริหารภายในเพื่อเร่งรัดคดีต่างๆ ก็ย่อมได้
"การแนะนำเป็นการใช้อำนาจอย่างอ่อนเป็นทางอ้อม เพราะเป็นการแนะนำเชิงการเมือง ไม่ใช่เชิงคดีความ แต่ผู้ได้รับคำแนะนำอาจเลือกไม่กระทำก็ได้ เช่นที่ กกต.เลือกที่จะไม่ลาออก โดยถือว่าถูกตามกฎหมาย แต่ไม่ถูกโดยพฤตินัยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อข้อแนะนำประมุขศาลต่อ กกต.เกิดขึ้น สืบเนื่องจากคำแนะนำซึ่งประมุขของประเทศได้พระราชทานลงมา"
หนังสือของประธานศาลฎีกา
"พระมหากษัตริย์ย่อมทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านทางศาลได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา
3 ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสแก่ประธานศาลปกครองสูงสุดและประธานศาลฎีกาเมื่อวันที่
25 เมษายน 2549 ดังนั้น การปฏิบัติภารกิจของศาลตามที่ได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมมา
จึงเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ"
เราอาจตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการตีความ
"ตุลาการภิวัตน์" 2 แนวทางข้างต้นได้ดังนี้
1) ขณะที่อาจารย์ธีรยุทธมุ่งตีความกรณีดังกล่าวว่าสอดคล้องกับแบบปฏิบัติสากล
ของบรรดาประเทศต้นตำรับประชาธิปไตยตะวันตกทั้งหลาย ประธานศาลฎีกากลับเน้นว่ามันเป็นไปตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอันเป็นลักษณะเฉพาะของไทย
2) ขณะที่อาจารย์ธีรยุทธเห็นว่ากรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในเงื่อนไขสถานการณ์ วิกฤตทางการเมืองของชาติที่ก่อขึ้นโดยฝ่ายบริหาร ประธานศาลฎีกาอธิบายว่า มันเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่เกิดสุญญากาศทางอำนาจนิติบัญญัติและบริหารในระหว่างยุบสภา อันเป็นการตีความที่ค่อนข้างปลอดการเมือง เป็นกลางและเชิงเทคนิคกว่า
3) ขณะที่อาจารย์ธีรยุทธตีความกรณีตุลาการภิวัตน์ของไทยว่า โดยเนื้อแท้แล้วเป็นการ "แนะนำ" (ย้ำคำนี้ซ้ำถึง 10 ครั้งใน 4 ย่อหน้า) อันเป็นการใช้อำนาจอย่างอ่อนเป็นทางอ้อม "ตามรัฐธรรมนูญ" ใน "เชิงการเมืองไม่ใช่เชิงคดีความ" ซึ่ง "ผู้ได้รับคำแนะนำอาจเลือกไม่กระทำก็ได้", สอดคล้องกับหลักพระราชอำนาจที่จะทรงตักเตือนรัฐบาล (The Right to warn) ตามแนวคิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษที่ Walter Bagehot สรุปประมวลไว้ในหนังสือ The English Constitution. ค.ศ.1865-67 และไม่ถือว่าฝ่ายตุลาการแทรกแซงอำนาจฝ่ายอื่นแต่อย่างใด "เพราะแม้ประชาธิปไตยจะยึดหลักการแยกอำนาจแต่ไม่ถือเป็นหลักการแยกอำนาจเด็ดขาด" นั้น ประธานศาลฎีกากลับอธิบายความหมายโดยอ้างอิงมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญว่า เป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางศาลและเป็นการปฏิบัติภารกิจของศาลเพื่อสนองพระราชดำรัสโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ,
อันนับเป็นการตีความการใช้อำนาจครั้งนี้ว่า มีลักษณะอย่างแข็งเป็นทางตรงตามรัฐธรรมนูญ, ไม่จำแนกเชิงการเมืองออกจากเชิงคดีความและไม่ได้เปิดช่องให้เลือก
4) ข้อพิจารณาสำคัญที่สุดระหว่างการตีความ "ตุลาการภิวัตน์" 2 แนวทางนี้น่าจะอยู่ตรงหลักความรับผิดชอบ (accountability) ว่ามีตำแหน่งแห่งที่อยู่แตกต่างกันตรงไหน อย่างไร ในการตีความแต่ละแบบ?
เรื่องที่ 3. "ย้อนรอยปฏิญญาฟินแลนด์"
ผมไม่ทราบหรอกครับว่า "ปฏิญญาฟินแลนด์" ที่ร่ำลืออื้อฉาวกันอยู่ตอนนี้มีจริงหรือไม่?
แต่ถ้าข้อ 4 ของมันที่ว่ากันว่า "ทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นแต่เพียงสัญลักษณ์ให้มากที่สุด.."
เป็นตัวการทำให้ผู้คนวิตกวิจารณ์ที่สุดเกี่ยวกับ "อุดมการณ์การเมืองใหม่"
จนถึงแก่ต้องลุกขึ้นประกาศ "ปฏิญญาธรรมศาสตร์" ออกมาทัดทานทวนกระแสกลางหอประชุมใหญ่
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว
ในฐานะครูสอนวิชาการเมืองการปกครองของไทยที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มาหลายปี ผมก็ใคร่ขอเรียนว่าความมุ่งหมายทำนองนี้ไม่ใช่อะไรที่ "คิดใหม่ ทำใหม่" ในการเมืองไทย หากเคยมีผู้พยายามทำมานานแล้ว ย้อนรอยกลับไปได้ถึงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ด้วยซ้ำไป! และผู้รู้การเมืองไทยสำคัญ 2 ท่านซึ่งบันทึกเรื่องนี้ไว้ตรงกันโดยไม่ได้รู้จักนัดหมายกันมาก่อนก็ได้แก่:-
1) รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
2) ศาสตราจารย์เบเนดิก แอนเดอร์สัน ครูสอนรัฐศาสตร์ของผมที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลสหรัฐอเมริกา
ในบทความเรื่อง "จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม" (ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร อมธ. ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2516) ที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เขียนภายหลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ไม่นาน ตามคำขอของคณะกรรมการจัดงานสังสรรค์ชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ประจำปี 2516 นั้น มีความตอนหนึ่งกล่าวถึงสถาบันประมุขรัฐกับระบอบเผด็จการของประเทศต่างๆ ในอดีตว่า:-
"5.9 ประวัติศาสตร์และปรากฏการณ์ปัจจุบันของหลายประเทศ ที่สถาปนาประมุขรัฐเพียงเสมือนเป็นรูปเทพารักษ์ที่ประดิษฐานไว้ให้ศาลพระภูมิหรือศาลเจ้านั้น ก็เพื่อบุคคลอื่นมีอำนาจเผด็จการ
ก. เมื่อศตวรรษที่ 11 ในประเทศญี่ปุ่นได้มีผู้แสดงว่าเคารพพระจักรพรรดิเป็นที่ยิ่งแล้ว จึงเทิดทูนพระองค์ท่านเสมือนเทพารักษ์สืบสายจากเทพเจ้าดวงอาทิตย์ ให้พระองค์หมดพระราชอำนาจและภารกิจแผ่นดิน โดยทรงบำเพ็ญกรณีในพิธีศาสนา และประทับพระราชลัญจกรตามที่ผู้เผด็จการระบบ "โชกุน" ต้องการเท่านั้น"
(อ้างจาก ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, น. 444)
สี่ปีให้หลังในบทความวิชาการภาษาอังกฤษ ที่ขึ้นชื่อว่าวิเคราะห์การเมืองไทยจาก 14 ถึง 6 ตุลาฯ ได้ดีที่สุดเรื่อง "บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม" ("Withdrawal Symptoms: Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup," Bulletin of Concerned Asian Scholars, 9: 3 (July-September 1977), 13-30.) ศาสตราจารย์เบเนดิก แอนเดอร์สัน ได้ใช้คำว่า palladium และ shogunal ("รูปเทพารักษ์" กับ "โชกุน") มาบรรยายความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันประมุขรัฐ กับระบอบเผด็จการทหารของไทยเช่นกัน
อนึ่ง คำว่า palladium นี้ควรแปลว่า "รูปเทพารักษ์" -อันเป็นคำเดียวกับที่อาจารย์ปรีดีใช้ข้างต้น-จะถูกต้องแม่นยำกว่า "เทวาลัย" ดังที่เคยแปลกัน เพราะมีความหมายภาษาอังกฤษ "a safeguard or source of protection" จากรากศัพท์กรีกแต่เดิมที่มีความหมายว่า "a protecting deity" (The Concise Oxford Dictionary, 9the edition, 1995, p. 984)
ข้อความที่ครูเบ็นเขียนไว้มีดังนี้:-
"ในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในปลายพุทธทศวรรษ 2470 กับต้นพุทธทศวรรษ 2480 จอมพลผู้เผด็จการต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อจะสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจของตัว ด้วยการโฆษณาปลุกระดมลัทธิชาตินิยม เขาสามารถทำให้ระบบราชการ ที่สำคัญคือกองทัพซึ่งเป็นฐานอำนาจที่แท้จริงของเขา ปรากฏออกมาเป็นผู้พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติให้กับส่วนรวม ตอนนี้จะเห็นภาพที่กระจ่างชัดกว่าที่ผ่านมา นั่นคือชาติกับพระมหากษัตริย์กลายเป็นสองความคิด ที่แยกออกจากกันได้ในทางภูมิปัญญา โดยที่รัฐ (ที่สำคัญก็คือกองทัพ) เป็นตัวแทนของชาติ และในเวลาเดียวกันก็เป็นผู้พิทักษ์พระมหากษัตริย์ พัฒนาการนี้ที่สำคัญคือช่วยทำให้สถาบันกษัตริย์กลายเป็นรูปเทพารักษ์อันมีค่ายิ่งของชาติไป""คนที่ช่วยนำเอาศักยภาพแบบ "โชกุน" ของลัทธิทหารยุคแรกของจอมพล ป.พิบูลสงครามออกมา และจากนั้นก็เปลี่ยนบรรยากาศทั้งหมดของการเมืองไทยไปอย่างมีนัยสำคัญได้แก่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์"
(ดัดแปลงจากคำแปลใน จาก 14 ถึง 6 ตุลา, น. 126 - 27)
อุปมาอุปไมย "รูปเทพารักษ์" กับ "โชกุน" ดังกล่าวมานี้ทำให้ระลึกถึงความเปรียบที่ฟังดูคล้องคล้ายกันในกาพย์กลอนชิ้นหนึ่งก่อนหน้านี้ของนายผี (อัศนี พลจันทร) เรื่อง "ความเปลี่ยนแปลง" (2495) ซึ่งบรรยายความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่าง พลังการเมืองฝ่ายต่างๆ ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไว้อย่างคลุมเครือมีเงื่อนงำชวนพิศวงว่า:-
"เสียงไพร่กระฎุมพี คือจิงหรีดที่ในรู
ใช่เสียงที่เหล่าสู จะสนใจให้ป่วยการ
บัดพวกกระฎุมพี ก็บ่อาจจะทนทาน
จึงผลุนขึ้นเผาผลาญ ทุรภาพเป็นผุยผง
คือสี่ทหารเสือ ที่อุกอาจทะนงองค์
ผลุนปรี่เข้าไปปลง เอาทรากศพที่แสนโทรม
พวกทาสกสิกร ก็เป็นกลางบ่รุกโรม
จึงศักดินาโทม มะนัสท้อฤทัยไท
ขอเอาอังคารมา แลบูชาด้วยอาลัย
สร้างศาลขึ้นสมใจ แลจะปองเป็นปรนผี
แล้วสี่ทหารเสือ เอาเจว็ดมาทันที
ไว้ศาลให้สมศรี ก็สำหรับจะเป็นกล
สมยอมแลขัดแย้ง อุตส่าห์แสร้งด้วยจำจน
จงล่วงจะลวงคน ให้กลัวเกรงอยู่ชั่วกาล
ฝ่ายหนึ่งเฝ้าปลุกผี จะให้โลดกำแหงหาญ
ฝ่ายหนึ่งขนาบศาล สำหรับล่อให้คนหลง"
ฝ่ายที่ปลุกผีฝ่ายหนึ่ง
กับฝ่ายที่ขนาบศาลอีกฝ่ายหนึ่ง ของนายผีหมายถึงใครเมื่อปี 2475?
และสองฝ่ายนั้นน่าจะอุปมาอุปไมยถึงใครได้ในวาระกำลังจะบรรจบครบรอบ
30 ปีเหตุการณ์ฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ในปีปัจจุบัน?
+++++++++++++++++++++++++++++++++
ภาคผนวก : ลึกสุดฮา ปฏิญญาฟินแลนด์
วันที่ 02 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1346 /
มติชนสุดสัปดาห์ รายงานพิเศษ
หลังจากที่มีการเปิดโปงเรื่อง "ปฏิญญาฟินแลนด์" ของพรรคไทยรักไทยขึ้นมา
โดยมีการระบุว่าเป็นแนวคิดของแกนนำพรรคไทยรักไทย ที่ประกอบด้วยคน 3 กลุ่ม คือ
นายทุน ซ้ายเก่า และนักวิชาการ ที่มีการประชุมร่วมกันที่ประเทศฟินแลนด์เมื่อปี
2542. 1 ใน 5 ข้อของ "ปฏิญญาฟินแลนด์" ที่มีเนื้อหารุนแรงที่สุด ก็คือ
การทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์และพิธีกรรม
นั่นคือ ประเด็นสำคัญที่ทำให้หลายคนที่มีชื่ออยู่ในกลุ่มผู้ร่วมร่าง "ปฏิญญาฟินแลนด์" ออกมาตอบโต้ หนึ่งในนั้น คือ "เกรียงกมล เลาหะไพโรจน์" อดีตเลขาธิการศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย "ซ้ายเก่า" ที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมร่างปฏิญญาฟินแลนด์ด้วย และวันนี้เขาได้มาเปิดใจกับ "มติชนสุดสัปดาห์" ถึงความเป็นมาของปฏิญญาฟินแลนด์แบบคนละเรื่องเดียวกันอย่าง "ลึกสุดฮา"
"เกรียงกมล" นั้นรู้จักกับ "ทักษิณ" มาตั้งแต่ปี 2518 ช่วงที่เขาเป็นผู้นำนักศึกษา ในขณะที่ "ทักษิณ" เป็นนายตำรวจติดตาม "ปรีดา พัฒนถาบุตร" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี "เกรียงกมล" เปิดฉากการให้สัมภาษณ์ด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ "ทักษิณ ชินวัตร" ในวันที่เข้ามาช่วยงานการเมือง
"ก่อนคุณทักษิณจะรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม 5 วัน ผมทานข้าวอยู่ที่ร้านคุณหญิง ศรีนครินทร์ หม่อมหน่อยก็โทรศัพท์มาหาผมบอกว่า คุณทักษิณจะคุยสายด้วย หลังจากคุยเสร็จผมก็รวบช้อนเลยเพราะเขาอยากคุยกับผมด่วน" "หม่อมหน่อย" ก็คือ ม.ล.บวรนรเทพ เทวกุล อดีตเลขานุการส่วนตัวของ "ทักษิณ" ทั้งคู่นัดเจอกันที่โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์
ประโยคแรกที่ "ทักษิณ" เอ่ยขึ้นมาก็คือ "เกรียง พี่จะเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมแล้ว มาเล่นการเมืองช่วยพี่หน่อย"
"ผมคิดมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่าผมจะไม่เล่นการเมือง เมื่อคุณทักษิณชวน ผมก็ตอบแบบออโตเมติคเลยว่า พี่ครับ ถ้าผมเล่นการเมือง ผมก็ต้องช่วยตัวเอง ไม่ได้ช่วยพี่ ดังนั้น ผมขอไม่เล่นการเมือง แต่ขอช่วยพี่ เขาก็โอเค ผมบอกด้วยว่าผมจะชวนเพื่อนมาช่วยพี่ครับ" และ "เพื่อน" 3 คน ที่ "เกรียงกมล" ชวนมาก็ล้วนแต่เป็นนักกิจกรรมเก่าสมัยที่เป็นนิสิตนักศึกษา
คนแรก คือ ภูมิธรรม เวชยชัย
ซึ่งตอนนั้นทำงานอยู่กับเพื่อนสนิทคนหนึ่งของ "เกรียงกมล"
คนที่สอง คือ อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ นักแปล
คนที่สาม คือ วริษฐ์ มงคลศรี เป็น "ยุวชนสยาม" รุ่นเก่า ทำงานรับเหมาก่อสร้าง
ที่ทำงานของทั้ง 4 คน คือ "ห้องโต๊ะกลม" ชั้น 30 ของตึกชินวัตร 1
"เงื่อนไขหนึ่งที่คุณทักษิณและทีมงานของเขาไม่เข้าใจก็คือ ทุกคนที่เข้ามาช่วยงานการเมืองครั้งนี้ไม่ขอรับเงินเดือน เพราะแต่ละคนมีเงินเดือนหรือทำธุรกิจส่วนตัวอยู่แล้วแต่อยากมาทำงานการเมือง" คนทำธุรกิจอย่าง "ทักษิณ" คงไม่เข้าใจว่าเมื่อแต่ละคนก็ไม่ใช่เด็ก และยอมลงแรงมากมาย แต่ทำไมถึงไม่ยอมรับค่าตอบแทนอะไรเลย
"ผ่านไปหลายเดือน เขาก็เริ่มบอกว่าเอาไว้เราไปเที่ยวเมืองนอกกัน สักพักก็บอกอีกแล้วว่ามีโอกาสเราไปเที่ยวเมืองนอกกัน พูดหลายครั้งมากแต่ไม่ได้ไปสักที" ในมุมของ "ทักษิณ" เมื่อให้ "เงิน" ก็ไม่รับ เขาก็อยากตอบแทนด้วยการพาไปเที่ยว
"ทักษิณ" นั้นเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2538
เมื่อ "บรรหาร ศิลปอาชา" นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นตัดสินใจยุบสภาเดือนกันยายน 2539 และมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2539 พรรคพลังธรรมได้ ส.ส. เข้ามาเพียงคนเดียว คือ "สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" ทักษิณ จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม
"วันหนึ่ง คุณทักษิณก็บอกว่าไปเที่ยวกัน ไปเที่ยวยุโรปกัน เอาพาสสปอร์ตมา"
สิ่งที่ "เกรียงกมล" ไม่ได้บอก แต่จากการสอบถามผู้บริหารคนหนึ่งของ "ชินคอร์ป" ที่ร่วมทริปนี้ด้วย นี่คือ การเดินทางไปดูงาน เพื่อซื้ออุปกรณ์ในโครงการขยายชุมสายของ "เอไอเอส" ไปดูงาน 3 บริษัท 3 ประเทศ. "โนเกีย" ที่ฟินแลนด์, "อีริคสัน" ที่สวีเดน, และ "ซีเมนต์" ที่เยอรมนี. ตามปกติของการเดินทางไปดูงานโครงการใหญ่เช่นนี้ บริษัทเจ้าภาพจะเป็นคนออกค่าใช้จ่าย
นั่นคือ จุดเริ่มต้นของการเดินไปยุโรปครั้งแรกของทั้ง 4 คน และเป็นจุดเริ่มต้นของข้อกล่าวหาเรื่อง "ปฏิญญาฟินแลนด์"
ดูเหมือนว่าการเล่าเรื่องเบื้องหลัง "ปฏิญญาฟินแลนด์" ของ "เกรียงกมล" ครั้งนี้จะเต็มไปด้วยอารมณ์ขันที่แสบสันต์ยิ่ง. "คนที่ไปก็มีพวกเรา 4 คน คุณทักษิณที่เป็นประธานร่างปฏิญญา, หม่อมหน่อยที่เป็นเลขาฯ, คุณบุญคลี ปลั่งศิริ จากชินคอร์ป, คุณสมประสงค์ บุณยะชัย จากเอไอเอส, คุณไพบูลย์ ลิมปพยอม ที่ปรึกษา, และพล.ต.ท.ม.ล.ฉลองลาภ ทวีวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลสมัยนั้นที่ดูแลเรื่องการจราจร"
"เกรียงกมล" บอกว่านี่คือการดูงานทางธุรกิจ และพาคนที่ทำงานหนักให้กับ "ทักษิณ" ตอนทำงานการเมืองไปเที่ยว "เขาเล่าว่าทั้ง 4 คนที่ไปเหมือนกะเหรี่ยงไปเที่ยวเมืองนอก อย่าว่าแต่ตื่นเต้นที่เห็นหิมะเลย แค่ขึ้นเครื่องบินได้นั่งชั้นบิสสิเนสคลาสก็ตื่นเต้นแล้ว เก้าอี้ก็นุ่ม กว้างใหญ่มาก" เขาทำท่าคิดนิดถึงเหมือนเพิ่งนึกได้ "ถ้าจะมีปฏิญญาก็คงจะมีบนเครื่องบิน และมันไม่ได้มีฉบับเดียว แต่มันมี 4 ปึก"
"เกรียงกมล" บอกว่าหลังจากเสิร์ฟอาหารบนเครื่องบินแล้ว เขาเห็น "ทักษิณ" พับแขนเสื้อตามสไตล์ ก้มลงหยิบซองจดหมายสีขาว 4 ซองจากกระเป๋า เดินจากที่นั่งชั้นเฟิร์สคลาสมาหา. "ผมก็นึกในใจว่าในซองนี้น่าจะมีอะไรที่จะเป็นประโยชน์ในการเที่ยวครั้งนี้แน่เลย แต่พยายามไม่แสดงอาการดีใจออกนอกหน้าให้เห็น อีก 3 คนก็เก็บอาการคล้ายๆ กัน" เขาบรรยาย
"และแล้วท่านประธานร่างปฏิญญายื่นซองสีขาวให้คนละซอง
พร้อมกับบอกว่าให้ใช้จ่ายกันระหว่างไปเที่ยว"
"เกรียงกมล" หัวเราะเป็นระยะ
"ผมก็นึกในใจว่าปฏิญญาฉบับนี้คงไม่ใช่แบงก์ห้าร้อย และเราไปเที่ยวเมืองนอกเขาก็คงไม่ให้เงินไทย แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเป็นเงินฝรั่ง ทำไมมันจึงหนาขนาดนี้" "ปฏิญญาฉบับนี้คงจะยาวมาก" เขาสรุปแบบอำ-อำ
"ทุกคนก็รอจนประธานร่างปฏิญญาเดินกลับไปก่อนจึงค่อยๆ แง้มซองดู ปรากฏว่าใบหน้าสุดเป็นรูปหน้าของ จอร์จ วอชิงตัน ใบละหนึ่งร้อย เมื่อมานับกันทีหลังก็พบว่าปฏิญญาทั้งหมดมี 80 ใบ" 8,000 เหรียญ คือ "พ็อกเก็ตมันนี่" ที่ "ทักษิณ" ให้กับ 4 สหายในการไปเที่ยวครั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนตอนนั้นอยู่ที่ 1 เหรียญต่อ 25 บาท คิดเป็นเงิน 200,000 บาท
การไปเที่ยวกึ่งดูงานครั้งนี้ทุกคนไปด้วยกันตลอดเวลาประมาณ 10 กว่าวัน ยกเว้นตอนที่เจรจาหรือประชุมเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจที่ทั้ง 4 คนจะแยกไปเที่ยวชมเมืองกันอย่างสนุกสนานและตื่นตาตื่นใจ
"ตอนนั้นคุณทักษิณเพิ่งอกหักจากพรรคพลังธรรม เขาไม่คุยเรื่องการเมืองเลยหรือ" เป็นคำถาม
"ถ้าคุณทักษิณจะอกหัก แต่พวกเราไม่ได้อกหักด้วยนะ เราทั้ง 4 คนไม่มีใครรู้สึกอกหักเลย" เขาหัวเราะแล้วอธิบายต่อ "4 คนที่ไม่เคยไปเที่ยวเมืองนอก และไปต่างบ้านต่างเมือง ไม่มีหัวข้อการเมืองในการคุยกันนะ มีแต่หัวข้อว่าปฏิญญาแต่ละปึกที่เราได้มาจะใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง"
จากหนังสือ "ทักษิณ ชินวัตร ตาดูดาว เท้าติดดิน" ช่วงนั้น "ทักษิณ" เพิ่งลาออกจากหัวหน้าพรรคพลังธรรม หลังจากกลับจากการเที่ยวในครั้งนี้พักใหญ่ เขาก็เข้าสู่แวดวงการเมืองอีกครั้งด้วยการสมัครเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนพ่ายแพ้ต่อ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์
"ทักษิณ" คิดจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ในช่วงปลายปี 2540 และก่อตั้งพรรคไทยรักไทยในวันที่ 14 กรกฎาคม 2541
ถามว่าตอนที่ไปเที่ยวกัน
"ทักษิณ" เริ่มคิดตั้งพรรคใหม่แล้วหรือยัง
"คิดหรือไม่คิด ผมไม่รู้ แต่เราไม่ได้คุยกันเรื่องการเมืองเลย" เขาตอบพร้อมกับหยอดท้ายด้วยอารมณ์สนุก
"ถ้าจะคุยกันจริงก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปถึงฟินแลนด์หรอกครับ และผมฝากทุกพรรคทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย ด้วยว่าถ้าจะคุยเรื่องการเมือง อย่าไปประชุมที่ฟินแลนด์เป็นอันขาด เพราะมันจะคิดเรื่องเที่ยวอย่างเดียว"
"ไม่คุยเรื่องการเมืองกันเลยหรือ"
"เกรียงกมล" บอกว่าไม่มีการคุยกันเป็นหลักเป็นฐาน ไม่มีการตั้งท่าคุยอย่างจริงจัง
ที่สำคัญมี "หม่อมหลวง" อยู่ 2 คนในคณะที่ไปเที่ยว คงไม่มีการคุยเรื่องแบบนี้อย่างแน่นอน
ถามต่อว่า "ไม่มีการตั้งคำถามกันบ้างหรือว่า
ถ้าจะตั้งพรรคใหม่เราควรมีนโยบายอย่างไร"
"ไม่มี" เขาตอบหนักแน่น "เพราะหัวข้อแบบนี้เป็นหัวข้อที่ซีเรียส
ผมเป็นคนจำอะไรที่เป็นหลักๆ ได้ ถ้ามีการคุยผมต้องจำได้"
"แต่สิ่งที่ผมจำได้มีเพียงแต่ปฏิญญา 4 ปึก และจำความสนุกตอนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ฝ่าหิมะเที่ยว สนุกมากๆ หรือตอนนั่งในร้านเหล้ามองหิมะโปรยปราย สวยมาก ผมจำได้เท่านี้จริงๆ"
ถามว่า "ที่มีการบอกว่าภูมิธรรมไปยืนที่ดาดฟ้าเรือแล้วตะโกนว่าจะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน
เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า"
"เกรียงกมล" หัวเราะดัง "ไม่จริง ไปเที่ยว 3 ประเทศนี้ไม่มีการลงเรือเลย"
เกรียงกมลหัวเราะดัง "โธ่ หิมะตก หนาวขนาดนั้น ขืนขึ้นไปยืนที่ดาดฟ้าเรือก็หนาวตายสิ"
วกกลับสู่ความรู้สึกส่วนตัวเมื่อถูกกล่าวหาเรื่อง
"ปฏิญญาฟินแลนด์"
"ผมไม่โกรธ ไม่ตกใจเลยนะเมื่อได้ยินข่าวเรื่องนี้แต่รู้สึกแปลกและไร้สาระมากกว่า"
เกรียงกมลบอก
"ปฏิญญาฟินแลนด์ถูกสร้างมาด้วยพื้นฐานของคนที่ไม่ใช่นักประชาธิปไตย ไม่ใช่คนที่มีความก้าวหน้าสร้างสรรค์ ไม่ใช่คนที่เป็นปัญญาชน ไม่ใช่ถูกสร้างจากคนที่รักความยุติธรรม"
"ถ้าสร้างเรื่องอื่นพอให้อภัยได้ แต่สร้างเรื่องโยงกับสถาบันเบื้องสูงเพื่อทำลายผู้อื่น คนกลุ่มนี้จึงขาดคุณสมบัติ 4 ประการ"
"มีบางคนถามผมว่าจะฟ้องหรือเปล่า ผมตอบว่าไม่ฟ้องร้องอะไรทั้งสิ้น เพราะผมไม่รู้สึกเสียหายอะไรทั้งสิ้นเลย เพราะไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ถ้าบกพร่องที่สุดก็คือ ผมดื่มเบียร์ทุกวันตลอดการไปเที่ยว" เป็นประโยคที่พรั่งพรูออกมาอย่างต่อเนื่อง
"ความพยายามตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลทุกชุด ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สิ่งที่ทำได้ แต่เป็นสิ่งที่ควรจะทำด้วย ปัญญาชนของสังคมไทยควรจะตรวจสอบความบกพร่องของรัฐบาล แต่อย่าพาตัวเองหลุดไปถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลในทุกเรื่อง ที่สำคัญปัญญาชนกลุ่มนี้ก้าวไปอีกขั้น คือใช้ทุกวิธีการเพื่อล้มล้างรัฐบาล บังเอิญวิธีการท้ายๆ ที่นำมาใช้ เขาได้นำเครื่องมือของพวกขวาจัดที่ทำลายกระบวนการประชาธิปไตยมาโดยตลอดมาใช้ทำร้ายคนอื่น"
หลังจากระบายความรู้สึกมาอย่างต่อเนื่อง "เกรียงกมล" พลิกกลับอีกครั้ง "อย่างไรก็ตาม หลังจากมีข่าวเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์ พวกเราทั้ง 4 คนก็มีความเห็นคล้ายๆ กันว่าปฏิญญาฟินแลนด์ฉบับแรกยังไม่สมบูรณ์ ผมอยากเสนอคุณทักษิณว่าเราควรจะกลับไปตรวจแก้กันอีกครั้งหนึ่ง"
"และถ้าไปอีกครั้ง ผมเสนอว่าไม่ควรไปช่วงหน้าหนาวเพราะบรรยากาศจะซ้ำกัน ไปหน้าร้อนที่อากาศไม่หนาวนัก สติปัญญาในการร่างปฏิญญาคงจะดีขึ้น"
ก่อนที่มุขสุดท้าย "ที่สำคัญปฏิญญา 4 ปึกที่เราได้รับมา ตอนนี้ต้องคูณ 40 บาทไม่ใช่ 25 บาท ปฏิญญาที่เราได้รับจะค่าสูงขึ้นอีกเป็น 3 แสนกว่าบาท"
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้อความบางส่วนจากบทความ
ตามรัฐธรรมนูญในฐานประมุขของอำนาจอธิปไตยทั้ง
3 ด้าน เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ท่านทรงความชอบธรรมที่จะชี้ทางแนะนำอำนาจใดอำนาจหนึ่งให้ปฏิบัติเพื่อแก้วิกฤตของชาติ
ในฐานะประมุขของฝ่ายตุลาการ 3 ศาล ซึ่งใช้รูปแบบการประชุมร่วมเพื่อแนะนำอำนาจฝ่ายอื่น
เช่น กกต.ก็มีความชอบธรรมเพราะแม้ประชาธิปไตยจะยึดหลักการแยกอำนาจ แต่ไม่ถือเป็นหลักการแยกอำนาจเด็ดขาด
การวิพากษ์วิจารณ์แนะนำซึ่งกันและกันย่อมทำได้ เช่น ฝ่ายบริหารหรือนักวิชาการอาจแนะนำศาลว่า
การปฏิรูปการบริหารภายในเพื่อเร่งรัดคดีต่างๆ ก็ย่อมได้
การแนะนำเป็นการใช้อำนาจอย่างอ่อนเป็นทางอ้อม เพราะเป็นการแนะนำเชิงการเมือง ไม่ใช่เชิงคดีความ แต่ผู้ได้รับคำแนะนำอาจเลือกไม่กระทำก็ได้ เช่นที่ กกต.เลือกที่จะไม่ลาออก โดยถือว่าถูกตามกฎหมาย แต่ไม่ถูกโดยพฤตินัยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อข้อแนะนำประมุขศาลต่อ กกต.เกิดขึ้น สืบเนื่องจากคำแนะนำซึ่งประมุขของประเทศได้พระราชทานลงมา
ปัญหาก็คือ ที่ผ่านมาปรากฏว่ากลไกมาตรการทัดทานอำนาจเสียงข้างมากประเภทต่างๆ ค่อนข้างไม่ทำงาน หรือทำงานไม่ได้ผลภายใต้รัฐบาลทักษิณ มักถูกแทรกแซง บิดเบือน คุมกำเนิด และทำให้เป็นอัมพาตบ่อยครั้ง ด้วยพลังเสียงข้างมากที่ยึดกุมอำนาจบริหารและนิติบัญญัติไว้ จนในที่สุดสังคมต้องหันไปอาศัยตุลาการทั้ง 3 ศาลให้ช่วยกัน "ตุลาการภิวัตน์"เป็นที่พึ่งสุดท้ายในปัจจุบัน