Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
The Midnightuniv website
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

บางทัศนะจากนักวิชาการมุสลิม
เหตุการณ์ครูจูหลิงกับหลักการอิสลาม
อ. อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ ดินอะ
(อับดุลสุโก ดินอะ)
[email protected]
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ
ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา

บทความวิชาการชิ้นนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ
ครูจูหลิง : การปฏิรูปการศึกษาด้านศาสนาในสังคมมุสลิม
เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์จับตัวครูจูหลิง และการทำร้ายผู้ถูกลักพาตัว
ผู้เขียนได้ยกหลักอิสลามทั้งในประวัติศาสตร์สมัยพระศาสดามุฮัมมัด
และเหตุการณ์ร่วมสมัยหลายระดับในโลกมุสลิม มาเป็นคำอ้างและชี้ถึงการกระทำดังกล่าวว่า
เป็นการกระทำที่ต้องตรงกับหลักการอิสลาม
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 935
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 14.5 หน้ากระดาษ A4)

 



ครูจูหลิง : การปฏิรูปการศึกษาด้านศาสนาในสังคมมุสลิม
เรียบเรียงโดย อ. อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ ดินอะ(อับดุลสุโก ดินอะ) [email protected]
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่านสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

ความนำ
จากเหตุการณ์ความรุนแรงชายแดนใต้หลายต่อหลายครั้งโดยเฉพาะเหตุการณ์ล่าสุดมีการทำร้ายครูจูหลิงและเพื่อน ที่อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส สิ่งที่เป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ ครูที่โดนทำร้ายเป็นชาวพุทธ ส่วนผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นเป็นมุสลิมและเหตุการณ์การหลายครั้งที่ชายแดนใต้ก็เป็นเช่นเดียวกันระหว่างพุทธกับมุสลิม ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาด้านศาสนาต่อมุสลิมชายแดนใต้เป็นสิ่งจำเป็น

การปฏิรูปการศึกษาด้านศาสนาดังกล่าว หมายถึงมุสลิมไม่เพียงจำเป็นต้องเรียนรู้ศาสนาเพียงเพื่อการปฏิบัติตามศาสนกิจต่อตนเอง ระหว่างมุสลิมด้วยกันเท่านั้นแต่ต้องเข้าใจความหมายอิสลามอย่างถูกต้องและต้องบรรจุวิชาหลักปฏิบัติระหว่างมุสลิมกับคนต่างศาสนิก โดยเฉพาะวิถีชีวิติศาสดากับคนต่างศาสนิกด้วย

ความหมายอิสลาม
อิสลามเป็นศาสนาแห่งเอกองค์อัลลอฮ (ซุบหานะฮูวาตะอาลา) (1) ที่บรรดารอซู้ลต่างๆ นำมาจากพระองค์ตั้งแต่นบีอาดัม จนถึงนบีมุฮัมหมัด (ศ๊อลลัลลอฮูอุลัยฮิวะซัลลัม) (2) ซึ่งสาส์นที่ท่านนบีมุหัมหมัด (ศ๊อลลัลลอฮูอุลัยฮิวะซัลลัม) นำมาถือนั้นเป็นสาส์นที่ทำให้สาส์นต่างๆ ที่บรรดารอซู้ลก่อนหน้านั้นนำมาทั้งหมดเกิดความสมบูรณ์ครบถ้วน ดังที่อัลลอฮ (ซุบหานะฮูวาตะอาลา) ได้ ตรัสไว้ในอัลกุรอาน เช่น วจนะของนบีนุห์ (อะลัยฮิสลาม)

ความว่า "และฉันถูกบัญชามาว่า ให้ฉันเป็นผู้หนึ่งจากบรรดามุสลิมผู้ยอมสวามิภักดิ์" (ยูนุส : 72) และโดยผ่านวจนะของนบีอิบรอฮีม (อะลัยฮิสลาม) และอิสมาอีล (อะลัยฮิสลาม)

ความว่า "โอ้ผู้อภิบาลของเรา และขอพระองค์ทรงโปรดดลบันดาลเราทั้งสองให้เป็นมุสลิมผู้สวามิภักดิ์ต่อพระองค์" (อัลบะกอเราะฮฺ : 128) และในคำสั่งเสียของนบียะฮ์กูบ (อะลัยฮิสลาม) ต่อลูกๆ ของเขา

ความว่า "แท้จริงอัลลอฮได้ทรงคัดเลือกศาสนานี้สำหรับเจ้าทั้งหลาย ดังนั้นพวกเจ้า จงอย่าได้ตายนอกจากว่าพวกเจ้าอยู่ในฐานะเป็นมุสลิมผู้ยอมสวามิภักดิ์ (ต่ออัลลอฮ)" (อัลบะกอเราะฮฺ: 132) และนบีมูซา (อะลัยฮิสลาม) (3) ได้ประกาศแก่ชุมชนของเขา

ความว่า "ท่านทั้งหลายจงมอบหมายต่อพระองค์เถิด หากท่านทั้งหลายเป็นมุสลิม ผู้ยอมสวามิภักดิ์จริงต่ออัลลอฮ" (ยูนุส : 84) และบรรดารอซู้ลต่างๆ สมัยก่อนได้ใช้คัมภีร์เตารอฮเป็นธรรมนูญดังที่อัลกุรอานได้กล่าวถึงคัมภีร์เตารอฮ

ความว่า "บรรดาศาสดาที่เป็นมุสลิมยอมสวามิภักดิ์ (ต่ออัลลอฮ) ต่างใช้คำภีร์เตารอฮนั้นตัดสิน" ( อัลมาอิดะฮฺ: 44) และจากคำขอพรของนบียูซุฟ (อะลัยฮิสลาม)

ความว่า "ขอพระองค์ทรงโปรดให้ฉันสิ้นชีวิตลง ในฐานะเป็นมุสลิมผู้สวามิภักดิ์ต่อพระองค์และได้โปรดให้ฉันได้สัมพันธ์กับบรรดาผู้ประพฤติชอบทั้งหลาย" (ยูซุฟ : 101) และจากการขอดุอาอ์ (ขอพร) ของพวกมายากลของ ฟิรเอาน์ (ฟาโรห์) ซึ่งศรัทธาต่อนบีมูซา (อะลัยฮิสลาม)

ความว่า "โอ้องค์อภิบาลของเราโปรดหลั่งความอดทนสู่หัวใจของเราเถิด และโปรดให้เราตายในฐานะมุสลิมผู้สวามิภักดิ์เถิด" (อัลอะรอฟ : 126) และจากคำพูดของบรรดาสหายของนบีอีซา

ความว่า "เรามีความศรัทธาในอัลลอฮและท่านจงเป็นพยานด้วยเถิดว่าเราเป็นมุสลิม ผู้สวามิภักดิ์ (ในพระองค์)" (อาลิอมรอน : 52) และยังมีในโองการอัลกุรอานอื่นๆ อีกที่ยืนยันว่าอิสลามไม่ใช่ศาสนาใหม่

อิสลามเป็นคำภาษาอาหรับ (Anis,et al. n.d. : 446; C.Mish, et al. n.d. : 620) แปลว่า การมอบ การยอมจำนน การยอมแพ้ และการยอมตาม สำหรับความหมายศัพท์ทางวิชาการ (Hawa, 1988 : 5) ได้ให้ความหมายของอิสลามไว้ว่า "อิสลามคือการยอมจำนนต่ออัลลอฮ (ซุบหานะฮูวตะอาลา) ในคำสั่งใช้ และคำสั่งห้าม ผู้ใดที่ยอมจำนนทั้งกาย วาจา และใจในทุกๆ สิ่งต่ออัลลอฮ (ซุบหานะฮูวตะอาลา) เขาผู้นั้นคือ มุสลิม ผู้ที่ยอมสวามิภักดิ์ต่อเอกองค์อัลลอฮ (ซุบหานะฮูวตะอาลา)" ดังที่พระองค์ได้เคยตรัสแก่นบีอิบริฮีม (อะลัยฮิสลาม)

ความว่า "เมื่อครั้งที่ผู้อภิบาลของเรา (อิบรอฮีม) ได้ตรัสแก่เขาว่า เจ้าจงเป็นมุสลิมผู้สวามิภักดิ์เถิด เขาก็ตอบว่า ข้าพเจ้าได้เป็นมุสลิมผู้สวามิภักดิ์ต่อผู้อภิบาล" (อัลบากอเราะฮฺ : 131)

สำหรับสิ่งที่อิสลามถือว่าสำคัญที่สุดเป็นอันดับแรกและเป็นรากฐานคือ หลักการศรัทธา. ในพจนานุกรมอาหรับ (Anis, et al. n.d. : 28) ได้ให้ความหมายของ"ความศรัทธา"ไว้ว่า "ศรัทธา" แปลว่า "เชื่อ" ดังที่อัลลอฮ (ซุบหานะฮูวตะอาลา) ได้ตรัสในอัลกุรอาน

ความว่า "และท่านยังไม่ได้เป็นผู้ศรัทธา (ชื่อ) ต่อเรา" (ยูซุฟ:17)

ท่านอิหม่ามอบูฮะนีฟะห์ (ฮ.ศ. 80 - 150) ได้ให้ความหมายของการศรัทธาในหนังสือ al-Fiqh al-Akbar ของท่าน (Ali al-Qari, 1984 : 124) ไว้ว่า "การศรัทธานั้นจะต้องประกอบด้วยการยอมรับและการเชื่อ คือการยอมรับด้วยวาจา และเชื่อด้วยจิตใจ ซึ่งจะต้องอยู่คู่กันขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดมิได้"

ท่าน Maududi (1977 : 47) มีทัศนะว่า ความศรัทธาจะต้องเกิดมาจากความรู้ก่อน "ศรัทธาถ้าจะแปลตามตัวอักษรแล้ว แปลว่า รู้ เชื่อ และเชื่อถือโดยไม่มีข้อสงสัย ดังนั้นศรัทธา คือ ความเชื่อที่เกิดขึ้นจากความรู้และความเชื่อถือ ผู้ซึ่งเชื่อถือในเอกภาพของอัลลอฮ เชื่อถือในคุณลักษณะของพระองค์ เชื่อถือในบทบัญญัติของพระองค์ กฎการให้รางวัลและลงโทษของพระองค์แล้วก็จะได้รับขนานนามว่า ผู้ศรัทธา"

หลักศรัทธาถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในอิสลาม ผู้ใดปฏิเสธหลักศรัทธาการงานของเขาจะไม่ถูกตอบรับจากอัลลอฮ ในที่สุดเขาจะเป็นผู้ที่ขาดทุนในวันอาคีเราะห์ (โลกหน้า) ดังที่อัลลอฮตรัสไว้ในอัลกุรอาน

ความว่า "และผู้ใดปฏิเสธการศรัทธาดังนั้นการงานของเขาก็ไร้ผลอย่างแน่นอน และเขาจะเป็นผู้หนึ่งในบรรดาผู้ที่ขาดทุนในวันอาคีเราะห์" (อัลมาอิดะฮฺ: 5).

ทัศนของอิสลามกับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับต่างศาสนิก
ในส่วนทัศนะอิสลามกับการอยู่ร่วมกับอย่างสันติกับต่างศาสนิกนั้น ผู้เขียนอยากนำผู้อ่าน มองผ่านอัลกุรอาน แนวทางการดำเนินชีวิตของศาสดามูฮัมหมัดและกัลยาณชนในช่วง 300 ปี แรกของอิสลาม เพราะจะเป็นหลักฐานสำคัญในการอ้างอิงถึงทัศนะอันถูกต้อง

มีโองการอัลกุรอานมากมายที่กล่าวถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างกับคนต่างศาสนิก เช่น
ความว่า "อัลลอฮมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ไม่ได้ต่อต้านเจ้าในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะทำความดี แก่พวกเขาและให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮทรงรักผู้มีความยุติธรรม" (อัลมุมตะฮินนะฮ : 8)

จากโองการข้างต้น พบว่า : อัลลอฮ (ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ได้ใช้ผู้ศรัทธาทำความดีต่อชนต่างศาสนิก ไม่ว่าจะเป็นการผูกมิตรไมตรีให้ความช่วยเหลือต่อกัน และให้ยุติธรรมซึ่งกันและกันตราบใดที่เขาเหล่านั้นมิได้ละเมิดสิทธิและขับไล่ผู้ศรัธทา (al-Zuhaili,1991:28/135)

อัลลอฮได้ตรัสอีกว่า
ความว่า : และพวกเขาให้อาหารเนื่องด้วยความรักต่อพระองค์ (อัลลอฮ) แก่คนยากจน กำพร้าและเชลยศึก (อัลอินซาน : 8)

อิหม่าม al-Zuhaili กล่าวว่า "ผู้เปี่ยมล้นด้วยความศรัธทานั้น เขาจะให้อาหารแก่คนยากจน เด็กกำพร้า และเชลยศึก ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นมุสลิมหรือต่างศาสนิก" (al-Zuhauli,1991 : 289)

และเมื่อเรากลับย้อนดูประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าท่านศาสดามุฮัมหมัด (ซ๊อลลัลลอฮุอาลัยฮิวํซัลลัม) และบรรดาสหายและกัลยาณชนในยุคแรกของอิสลาม ได้เป็นแม่แบบของการอยู่ร่วมกับคนต่างศาสนิกอย่างสันติ

ท่านศาสดาได้เป็นแบบอย่างของการทำความดีต่อชนต่างสาสนิก ดั่งรายงาน จากอบูอุบัยด์ ในหนังสือ al-Amwal หน้า 613 (quoted in al-Qardhawi,1994 : 2/275) ว่า "ท่านนบีเคยบริจาคทานแก่ญาติผู้ตายชาวยิวในขณะที่ท่านเดินผ่าน"

อีกสายรายงานหนึ่ง โดย มุฮัมมัด บิน อัลหะซัน กล่าวไว้ในหนังสือ Sarh al-Sair เล่ม 1 หน้า 144 (quoted in al-Qardhawi 1994,2/274) ว่า "ท่านศาสดาเคยบริจาคทานแก่คนยากจนชาวมุชริกีนมักกะฮ"

ความว่า : "หาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าไม่ ซึ่งการแนะนำพวกเขาให้เกิดการศรัทธา แต่ทว่าอัลลอฮต่างหากที่จะแนะนำใครก็ได้ที่พระองค์ทรงประสงค์ สิ่งดีใดๆ ที่พวกเขาบริจาคไปก็ย่อมได้แก่ตัวของเจ้าเอง และพวกเจ้าจะไม่บริจาคสิ่งใด นอกจากเพื่อแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮเท่านั้น และสิ่งดีใดๆ ที่พวกเขาบริจาคไป มันจะถูกตอบแทนโดยครบถ้วนแก่พวกเจ้าและพวกเจ้าจะไม่ถูกอยุติธรรม" (อัลบะกอเราะฮ : 272)

จากโองการข้างต้นพบว่า : เอกองค์อัลลอฮ (ซุบฮานะหูวะตะอาลา) ได้ให้มุสลิมบริจาคทานแก่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นมุสลิมด้วยกันหรือต่างศาสนิกอื่น เพราะโองการนี้อัลลอฮ (ซุบฮานะหูวะตะอาลา) ได้ประทานเพื่อปรามแก่เศาะหาบะฮ (สหายศาสดา) บางคนซึ่งก่อนเข้ารับศาสนาอิสลาม เขาต่างบริจาคซึ่งกันและกัน แต่หลังจากเขาเขารับอิสลามแล้ว กลับไม่บริจาค และห้ามปรามคนอื่นบริจาคแก่ต่างศาสนิก

ดังนั้นอัลลอฮ (ซุบฮานะหูวะตะอาลา) จึงได้ประทานโองการนี้ เพื่อจะบอกแก่บรรดาผู้ศรัทธาว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และอิสลามไม่สนับสนุน (โปรดดู : al-Zuhailri, 1991 : 3/73) และเงื่อนไขสำคัญของการบริจาค คือจะต้องบริจาคด้วยความบริสุทธิใจเท่านั้น และท่านเคยไปเยี่ยม,ให้เกียรติและกระทำความดีกับต่างศาสนิก (al-Qardhawi,1994 : 2/674)

ในสมัยอุมัรอิบนุค๊อฎฏ๊อบ คอลีฟะฮ ที่ 2 ผู้ทรงธรรม เคยนำเงินจากกองทุนบัยตุลมาลให้แก่ผู้ขัดสน อนาถา ชาวคัมภีร์ (คริสต์และยิว) โดยท่านได้ยกโองการความว่า "แท้จริงซะกาตนั้นเป็นกรรมสิทธิของผู้ยากจนและอนาถา" และท่านกล่าวเสริมว่า นี่คือผู้ยากจน อนาถา ชาวคัมภีร์ (โปรดดู หนังสือ Figh al-Zakah : al-Qardhawi, 1993 2/705-706) และเมื่อท่านอุมัร (ร่อฎียัลลอฮุอันฮ) ไปเยี่ยมราษฎรที่เมืองชาม (ซีเรียปัจจุบัน) ณ ที่นั้นท่านพบชาวคริสต์เผ่ามุจซูมีน ซึ่งกำลังประสบความลำบาก ดังนั้น ท่านจึงใช้เจ้าหน้าที่กองคลัง บัยตุลมาล นำเงินกองทุนดังกล่าวจ่ายให้กับพวกเขา (al-Qardhawi,1994 : 2/675)

ในสมัยอับดุลลอฮ อิบนุอุมัร (ตาบีอีน) ได้กำชับลูกของท่าน ให้บริจาคเนื้อกุรบานแก่เพื่อนชาวยิว (al-Qardhawi,1994 : 676) อิหม่ามอิบนุฮัซมิ ปราชญ์ นามอุโฆษได้กล่าวไว้ ในหนังสือ al-Mahalli เล่ม 5 หน้า 117 (Quoted in al-Qardhaui,1994 : 676) ว่า "บรรดาศอหาบะฮ (สหายศาสดา) หลายต่อหลายท่านเคย เดินตามหลังศพสตรีชาวยิว" เป็นการแสดงความเสียใจแก่ญาติผู้เสียชีวิต ในขณะเดียวกันบรรดาตาบิอีน หลายท่านเช่นกันเคยจ่ายซะกาตฟิตร์ให้แก่นักบวชชาวคริสต์เพราะเขาเหล่านั้น เช่น อักรอมะฮ อิบนุซีรีน และอัซซุฮรีย์ มีทัศนะว่า การจ่ายซะกาตแก่นักบวชชาวคริสต์เป็นสิทธิที่ทำได้ (al-Qardhawi,1994 : 676)

ท่านอิหม่ามชะฮาบุดดีน อัรก๊อรรอฟีย์ ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่งของโลกอิสลาม ได้อธิบายความหมายของ คำว่า "al-Bir" การทำความดี อย่างน่าสนใจไว้ ในหนังสือ al-Furuk เล่ม 3 หน้า 15 (quoted in al-Qardhawi,1994 : 677) "การทำความดี หมายถึง การช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอ การบริจาคทานแก่ผู้ยากจน การให้อาหารแก่ผู้ที่โหยหิว, การให้เครื่องนุ่งห่มแก่ผู้ขัดสน, การพูดจาไพเราะอ่อนโยน, การให้ความเมตตา, การปรึกษาหารือซึ่งกันและกันเพื่อขจัดความแตกต่างและขัดแย้ง การขอพรให้ผู้คนได้รับทางนำอันถูกต้องและประสบโชค, การตักเตือนผู้ที่กระทำความผิด ไม่ว่าเกี่ยวกับการทำมาหากินหรือเกี่ยวกับศาสนา, การรักษาความลับของผู้อื่นและอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นความดี


นี่คือหลักการของศาสนาอิสลาม และแนวปฎิบัติของท่านศาสนา และบรรดากัลยานชนมุสลิมในยุค 300 ปี แรก ของอิสลามซึ่งถือเป็นยุคที่ดีที่สุดและศาสดาได้ทรงรับรองไว้

ความว่า "ประชาชาติที่ดีที่สุด นั้นคือประชาชาติซึ่งมีชีวิตอยู่ในศตวรรษของฉัน แล้วบรรดาผู้ที่ต่อจากเขาเหล่านั้น และต่อจากเขาเหล่านั้นอีก" บันทึกโดย al-Bukhari ใน Kitab Fadhail al-Sahabah, Bad Fadhail Ashab al-Nabi หมายเลขหะดีษ 3650, n.d. : 3/71)

การอยู่ร่วมกันอย่างสันติในยุคโลกาภิวัตน์จึงเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ และเคยเกิดขึ้นมาแล้ว
เพราะฉะนั้นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในแง่ทฤษฎีเป็นสิ่งเป็นไปได้ แต่ในแง่ของการปฏิบัติยังเป็นเรื่องท้าทายมุสลิมเองเช่นกัน

ปราชญ์โลกมุสลิมประณามการลักพาตัวและทำร้ายผู้บริสุทธิ
ผู้เขียนขอนำแถลงการณ์ของเหล่าบรรดาปราชญ์มุสลิม ที่ประณามการลักพาตัวและทำร้ายผู้บริสุทธิในที่ต่างๆ ของโลกมาเปรียบเทียบเหตุการณ์ครูจูหลิงที่ภาคใต้ เพื่อเตือนสติมุสลิมทุกคนดังนี้

ชัยค์ยูซุฟอัลก็อรฏอวีย์ ประธานของสหภาพนักปราชญ์มุสลิมนานาชาติ (IAMS) ได้กล่าวประณามอย่างรุนแรงต่อการลักพาตัวชาวอิตาลีและชาวฝรั่งเศส ที่ถูกลักพาตัวในอิรัก พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวทันที ท่านกล่าวในการแถลงข่าว ที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ ไว้ มีใจความส่วนหนึ่งว่า

"อิสลามจัดการอย่างเข้มงวดในเรื่องของการนองเลือดเช่นนี้ อิสลามห้ามในการฆ่าประชาชนที่บริสุทธิ์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสงคราม"

"ศาสนาได้กำหนดให้ต่อต้านในการฉุดคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์เพราะเพียงแค่ระแวงสงสัยเท่านั้น"
"มุสลิมห้ามในการลักพาตัวบุคคลที่บริสุทธ์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสงคราม"

"ฉันกล่าวว่า อิสลามไม่มีวันที่จะทำลายชนชาติใดๆ หรือขับไล่ผู้คนออกจากดินแดนของพวกเขา หรือ บังคับให้พวกเขาเปลี่ยนศาสนาหรือวัฒนธรรมของพวกเขา"

"ท่านนบีศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ให้เกียรติชนชาติอื่นเสมอและทำการรักษาเลือดชีวิตและเนื้อของพวกเขา"

ยุซุฟ อัลก็อรฏอวีย์ ยังได้ประณามการลักพาตัวเด็กที่เรียนในเมืองเบรสลิน ของประเทศรัสเซีย ซึ่งคนมากกว่า 300 คนถูกสังหาร ส่วนมากเป็นเด็กเล็กๆ และไม่น้อยกว่า 700 คนได้รับบาดเจ็บใน ยุทธการชิงตัวประกัน 3 วัน

อย่างไรก็ตาม ยูซุฟ อัลก็อรฏอวีย์ มีทัศนะว่าเป็นเรื่องชอบธรรมทางกฎหมาย ในการต่อสู้กับกองทัพของอเมริกา ท่านกล่าวว่า "การต่อสู้กับอเมริกาผู้รุกรานอิรักเป็นสิ่งจำเป็น ฉันต่อต้านชาติที่รุกรานประเทศอื่นโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม ฉันขอกล่าวว่าการต่อสู้กับอเมริกาผู้รุกรานเป็นสิ่งจำเป็นซึ่งได้การรับรองโดยศาสนาแห่งฟากฟ้า และการยอมรับจากนานาชาติ "

"ถ้ามีประชาชนอเมริกาในอิรัก พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักการอิสลามซึ่งมีเงื่อนไขห้ามฆ่าประชาชน แต่บรรดาผู้ที่สู้รบกับประชาชนอิรักจะต้องได้รับการสังหารเพราะเขาเป็นผู้รุกราน"
"อิสลามห้ามในการฆ่าพลเรือน เด็ก ผู้หญิง และ คนชรา ซึ่งนี่คือกฎบัตรสงครามในอิสลาม"

ชัยคฺ มุฮัมหมัด อัลมุคต้าร อัลชินกิฏียฺ ผู้อำนวยการของ ศูนย์กลางอิสลามของเซาท์เพลน ลับบอก เท็กซัส ได้กล่าวเกี่ยวกับหลักการอิสลามในเรื่องนี้ว่า "หนึ่งในกฎในการทำญิฮาดในอิสลามที่ท่านนบี ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวัสัลลัม ได้เน้นย้ำไว้อย่างมากคือ อย่าฆ่าสตรี เด็ก คนแก่ หรือนักบวชที่อยู่ ในโบสถ์ของเขา และห้ามตัดต้นไม้ อีกสำนวนหนึ่งของฮะดิษ(วจนะศาสดา) ที่มีรายงานท่านได้กล่าวไว้ว่า… อย่าฆ่าพ่อค้าและเกษตรกร

ฮะดิษ(วจนะศาสดา)ทั้งหมดข้างต้นนั้น ได้ห้ามอย่างเข้มงวด ในการฆ่า ลักพาตัว จับเป็นตัวประกัน ทรมานด้วยวิธีการใดๆ ต่อผู้ที่ไม่ใช่ศัตรู ในทางตรงกันข้าม มีกฎอื่นๆ ในการจัดการต่อศัตรูและนักรบ หากมุสลิมป้องกันตนเอง หรือป้องกันดินแดนของเขา เขาก็จะถือได้ว่าเป็นนักรบที่มีเกียรติ ซึ่งประกอบไปด้วยทั้งความกล้าหาญและความเมตตา และรักสิทธิของเชลยสงคราม

วันนี้ภาพของอิสลามและมุสลิม ได้ถูกทำให้หม่นหมองด้วยสื่อของโลกาภิวัตน์เป็นอย่างมาก(และมุสลิมที่มีความคิดสุดโต่งด้วย) มุสลิมทุกคนต้องรับผิดชอบต่อทุกการกระทำ และเขาจะต้องตระหนักถึงผลการกระทำของเขาต่อภาพลักษณ์ของอิสลามและมุสลิม ต่อโลกทั้งหมด"

ชัยคฺซัลมาน อัลเอาดะฮฺ เป็นอีกท่านหนึ่งได้ชี้แจงถึงเรื่องนี้ผ่านเว็บไซต์ www.islamtoday.net ของท่าน "... เรื่องราวได้เกินเลยขอบเขตของความสมเหตุสมเหตุผล โดยที่ไม่ต้องกล่าวถึงกฏหมายของอิสลาม(ชะริอะฮฺ)เลย..." "...พวกเขาไม่ได้ทำความเสื่อมเสียเฉพาะแก่ตัวพวกเขาเองเท่านั้น แต่จะเกิดแก่มุสลิมทั่วทั้งโลก ผลการกระทำของพวกเขาทำให้เกิดความอับอาย..." "...ฉันเรียกร้องผู้ที่ทำสิ่งเหล่านี้อย่างน้อยที่สุดคือ การพิจารณาถึงเกียรติยศและศักดิศรีของมุสลิม..."

ยุซุฟ อัลก็อรฏอวีย์ เรียกร้องให้มุสลิมหยุดการกระทำลักพาตัวประกัน ซึ่งมันจะทำความหม่นหมองให้กับภาพลักษณ์ของอิสลามและนำอิสลามข้องเกี่ยวกับลัทธิก่อการร้าย "ฉันขอเรียกร้องให้พวกเขารำลึกถึงอัลลอฮฺ ซบ. และหยุดการกระทำของพวกเขาเถิด ซึ่งมันจะตีตราอย่างอธรรมต่ออิสลามและเป็นการเสียหายแก่ผู้ที่ยึดมั่นอิสลาม"

ชัยคฺ ฟัยศอล เมาลาวี อบู ญะอฺฟัรฺ มีทัศนะว่า
"ในทรรศนะของอิสลาม การลักพาตัวและการจับเป็นตัวประกัน ถูกพิจารณาว่าเป็นการกระทำทางทหาร ซึ่งอิสลามอนุญาติเฉพาะในช่วงสงครามต่อต้านศัตรูหรือพันธมิตรของศัตรูเท่านั้น ตามที่มีรายงานในซีเราะฮฺ(ชีวประวัติของท่านนบีฯ) เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการลักพาตัวและการจับตัวประกันนั้นเกิดขึ้นในกรณีนี้เท่านั้น(คืออยู่ระหว่างสงครามและเป็นการปฏิบัติการของกองทัพ)

ท่านนบีฯเคยสั่งให้มีการลักพาตัวษุมามะฮฺ อิบนุ อะษาล อันเนื่องจากเขาเป็นหัวหน้าฝ่ายศัตรูที่ก้าวร้าว เขาต้องการสังหารทูตของท่านนบี คือท่านอัล อะลา อัล ฮัดรอมี แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะลุงของษุมามะฮฺ คือ อมีร อิบนุ สลามะฮฺ ขัดขวางไว้ อย่างไรก็ตามท่านนบีฯ ก็ให้อภัยและปล่อยตัวเขาไปในที่สุด โดยปราศจากการแลกเปลี่ยนใดๆ

การลักพาตัวอีกเหตุการณ์เกิดขึ้น เป็นการลักพาตัวชายคนหนึ่งจากเผ่าบนู อุกอยล์ เพื่อตอบโต้การจับตัวเศาะฮาบะฮฺ(สหาย)สองท่านของท่านนบีฯ โดยเผ่าบนู ษะกีฟ อันเป็นเผ่าพันธมิตรของบนู อุกอยล์ ท่านนบีฯยอมรับการกระทำนี้ แต่ว่าท่านได้สั่งให้ปฏิบัติต่อชายคนนี้อย่างดี และให้ในสิ่งที่เขาขอมา

การลักพาตัวบางกรณี ไม่ได้รับอนุญาตจากท่านนบีฯ เหตุการณ์หนึ่ง บรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบีฯ ได้ลักพาตัวผู้ปฏิเสธศรัทธาที่อาศัยอยู่ในมักกะฮฺ โดยไม่ได้คิดหน้าคิดหลังให้ดีเสียก่อน ตัวท่านนบีฯ จึงได้สั่งให้ปล่อยตัวเขา เนื่องจากท่านอยู่ระหว่างการทำอุมเราะฮฺ(การทำฮัจญฺเล็ก) ซึ่งเป็นช่วงงดทำสงครามกับผู้ปฏิเสธศรัทธา

อีกตัวอย่างหนึ่งสลามะฮฺ อิบนุ อัควาอ์ ได้ลักพาตัวผู้ปฏิเสธศรัทธาสี่คน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ท่านนบีฯ ได้ทำสนธิสัญญาฮุดัยบียะฮฺ(กับผู้ปฏิเสธ) ท่านนบีฯจึงสั่งให้ปล่อยตัวพวกเขา เนื่องจากจะไม่มีการทำสงครามกับผู้ปฏิเสธในช่วงเวลานั้น(ช่วงหลังสนธิสัญญา)

ดังนั้น เรากล่าวได้ว่า การลักพาตัวบุคคคลใดก็ตามที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหารไม่เป็นที่อนุญาตในอิสลามอย่างสิ้นเชิง..."

อิสลามไม่ส่งเสริมความรุนแรง
ศ.ดร.มะฮฺมูด ฮัมดี ซักซูก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนสมบัติ แห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ กล่าวว่า

"อิสลามเป็นศาสนาที่สอนให้มีความกรุณาปราณี และส่งเสริมให้มีความยุติธรรม และสันติภาพ นอกจากนั้นอิสลามยังพิทักษ์รักษาเสรีภาพ เกียรติยศและความมีศักดิ์ศรี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นเพียงคำขวัญ แต่เป็นหลักการที่อิสลามยึดเหนี่ยวอยู่ด้วย

พระผู้เป็นเจ้าทรงได้ส่งศาสดามุฮัมมัด ดังปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอันบิยาอฺ โองการที่ 107 ความว่า "และเราไม่ได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย" และศาสดาทรงตรัสเช่นเดียวกันว่า "ตัวฉันเองได้ถูกส่งมาเพื่อทำให้จรรยาบรรณที่สูงส่งนั้นสมบูรณ์ยิ่ง"

และอิสลามยังอนุญาตให้มนุษย์สามารถเลือกเชื่อได้ รวมทั้งเรื่องของความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าหรือปฏิเสธการเชื่อก็ตาม ดังมีหลักฐานปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟี โองการที่ 29 ความว่า "และจงกล่าวเถิดมุฮัมมัด สัจธรรมนั้นมาจากพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น ผู้ใดประสงค์ก็จงศรัทธาและผู้ใดไม่ประสงค์ก็จงปฏิเสธ แท้จริง เราได้เตรียมไฟนรกไว้สำหรับพวกอธรรม ซึ่งกำแพงของมันล้อมรอบพวกเขา และถ้าพวกเขาร้องขอความช่วยเหลือก็จะถูกช่วยเหลือด้วยน้ำเสมือนน้ำทองแดงเดือดลวกใบหน้า มันเป็นน้ำดื่มที่ชั่วช้าและเป็นที่พำนักที่เลวร้าย"

การชักจูงให้นับถือศาสนาอิสลามนั้นเป็นเรื่องของการชักจูงจิตใจคน โดยการเรียกร้องอย่างนิ่มนวล และด้วยการสนทนาอย่างฉันท์มิตร ไม่ใช่วิธีการบังคับขู่เข็ญใดๆ ในหลักการศรัทธาของอิสลามได้เรียกร้องให้บรรดาชาวมุสลิมรักษาความยุติธรรม และเสรีภาพ โดยห้ามสิ่งอยุติธรรมใดๆ ตลอดจนการทารุณ การฉ้อราษฎร์บังหลวง การกระทำการใดๆ ที่ชั่วร้ายอันเป็นการส่งเสริมความชั่วให้อยู่ในระดับเดียวกับความดีดังปรากฏในอัลกุรอาน

ซูเราะฮฺฟุซซิลัต โองการที่ 34 ความว่า "ความดีและความชั่วนั้นหาเท่าเทียมกันไม่ เจ้าจงขับไล่ (ความชั่ว) ด้วยสิ่งที่มันดีกว่าแล้วเมื่อนั้นผู้ที่อยู่ระหว่างเจ้ากับระหว่างเขาเคยเป็นอริกันก็จะกลับกลายเป็นเยี่ยงมิตรที่สนิทกัน"

เมื่อครั้งที่ศาสดามุฮัมมัด ได้รับชัยชนะเหนือประชาชนที่นครมักกะฮฺนั้น พระองค์ทรงให้อภัยแก่บุคคลเหล่านั้น แม้ว่าพวกเขาเคยติดตามประหัตประหารพระองค์ก็ตาม โดยได้ทรงกล่าวว่า "ท่านทั้งหลายจงมีสิทธิเสรีภาพอย่างสมบูรณ์"

มีการเปรียบเทียบกันระหว่างความศรัทธาในศาสนาอิสลามและสันติภาพ ในภาษาอาหรับทั้งสองคำคือ "อิสลาม" และ"สลาม" แปลว่า "สันติภาพ"และมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกล่าวถึงพระองค์เอง ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า สันติภาพเมื่อบรรดามุสลิมทักทายกันก็จะทักทายกันด้วยการให้สลาม (อัสลามุอะลัยกุม แปลว่าขอความสันติจงประสบแด่ท่าน) เสมือนเป็นการเตือนอยู่เสมอว่า ความสันตินั้นเป็นหลักการหนึ่งที่สำคัญของอิสลามที่จะต้องเก็บรักษาไว้ในจิตใจของมุสลิมทุกคน มุสลิมทุกคนเมื่อละหมาดวันละ 5 เวลา ก็จะจบการละหมาดลงด้วยการให้สลามโดยการหันหน้าไปทางขวา และหันหน้าไปทางซ้ายพร้อมกับกล่าวสลาม (ความสันติ)

จากข้อมูลที่ได้กล่าวมาข้างต้นเห็นได้ว่า อิสลามเป็นศาสนาที่รักความสันติ โดยไม่เปิดช่องให้ใช้ความรุนแรง ความบ้าระห่ำ การก่อการร้าย หรือการโจมตีบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม คำสั่งสอนและหลักการของอิสลามมุ่งที่จะพิทักษ์รักษาสิทธิมนุษยชนซึ่งหมายรวมถึงสิทธิในชีวิต ครอบครัว ความเชื่อ ความคิด และทรัพย์สิน หลักการศรัทธาในอิสลามห้ามไม่ให้มีการทำร้ายผู้อื่น ซึ่งการทำร้ายผู้อื่นนั้นเปรียบเสมือนการทำร้ายมนุษยชาติ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะฮฺมาอีดะฮฺ โองการที่ 34 ความว่า…

"แท้จริงผู้ใดฆ่าชีวิตหนึ่งโดยมิใช่ทดแทนอีกชีวิตหนึ่ง หรือมิใช่เนื่องจากบ่อนทำลายในแผ่นดินแล้ว ก็ประหนึ่งว่าเขาได้ฆ่ามนุษย์ทั้งมวล"

ดังนั้นปัจเจกชนจึงเป็นเรื่องของมนุษยธรรม และความห่วงใยของศาสนาอิสลามในเรื่องการพิทักษ์รักษามนุษยธรรม จึงปรากฏอยู่ในการที่มนุษย์คนหนึ่งให้ความเคารพต่อมนุษย์อีกคนหนึ่งโดยการเคารพถึงเสรีภาพ ความมีศักดิ์ศรี และสิทธิมนุษยชนของเขา ศาสดาได้ทรงตรัสไว้ตอนหนึ่งว่า "มุสลิมนั้นห้ามที่จะมีการนองเลือด ลักทรัพย์ หรือทำลายเกียรติภูมิของมุสลิมด้วยกัน" นอกจากนั้นศาสดายังได้ทรงตรัสอีกว่า "ผู้ใดที่ทำลายล้างผู้ซึ่งนับถือพระผู้เป็นเจ้า จะไม่ได้รับการให้อภัยในเรื่องของการทำร้ายนั้นในวันพิพากษา"

ศาสนาอิสลามได้เรียกร้องให้ทุกๆ ประชาชาติและเชื้อชาติอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธี อีกทั้งให้มุสลิมปฏิบัติต่อผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิม ด้วยความยุติธรรม ดังมีหลักฐานปรากฏใน ซูเราะฮฺที่ 60 โองการอัลกุรอานที่ 8 ความว่า "พระองค์อัลลอฮฺ มิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า ในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขา และให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้ที่มีความยุติธรรม"

ความรับผิดชอบที่จะรักษาสมาชิกของประชาคมใดๆ เป็นความรับผิดชอบของทุกคนในประชาคมนั้นๆ การรับผิดชอบร่วมกันจึงเป็นหนทางเดียวที่จะให้เกิดความมั่นคง และเสถียรภาพ เพื่อที่จะไม่ให้มีการโกงกินกัน มีอันตรายมาคุกคาม และเพื่อไม่ให้เกิดความเสื่อมทรามลง

ในอีกตอนหนึ่ง ศาสดาได้ทรงเปรียบเทียบพวกเราทุกคนเสมือนกับบุคคลที่นั่งอยู่เต็มเรือ โดยมีคนจำนวนหนึ่งอยู่บนดาดฟ้าของเรือ ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ภายในเรือลำนั้น เมื่อคนที่อยู่ในเรือต้องการน้ำที่จะดื่ม จึงขึ้นไปหาคนที่อยู่บนดาดฟ้าแล้วบอกว่า เขาสามารถที่จะหาน้ำดื่มได้โดยการเจาะรูที่ท้องเรือ ซึ่งในการกระทำเช่นนั้น เขาไม่ต้องการที่จะทำลายบุคคลที่อยู่ข้างบน ดังนั้น หากบุคคลที่อยู่บนดาดฟ้าอนุญาตให้เจาะรูที่ท้องเรือได้ทุกคนก็จะต้องจมน้ำตายหมด"

บทสรุป
ผู้เขียนไม่สามารถปฏิเสธว่า ความรุนแรงในภาคใต้ส่วนหนึ่งเป็นปฏิกริยาโต้ตอบอาชญกรรมที่กระทำต่อมนุษย์ของคนชั่วของรัฐบางคน เหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ การอุ้มชาวบ้านในอดีต แต่ผู้เขียนก็ไม่อาจถือว่ามันเป็นเหตุผลหรือข้ออ้างที่จะนำมาใช้ในการกระทำที่เป็นที่ต้องห้ามอย่างสิ้นเชิงในอิสลามได้เช่นกัน"

ผู้เขียนยังมีทรรศนะว่าเพราะฉนั้นจะต้องแยกแยะระหว่างหลักการศาสนาที่ถูกต้อง กับมุสลิมผู้กระทำซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวจะเหมารวมในหลักการที่ถูกต้องไม่ได้และมุสลิมทีดีจะต้องเรียกร้องให้ประชาชาติทั้งโลกทำความดี และละเว้นความชั่วเท่าที่ตัวเองมีความสามารถและประณามและห้ามปรามการก่อการร้าย และความชั่วทุกรูปแบบจากองค์กรรัฐและเอกชน
ที่สำคัญผู้เขียนขอย้ำอีกครั้งว่า สังคมมุสลิมเองจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาด้านศาสนาในสังคมมุสลิม

การปฏิรูปการศึกษาด้านศาสนาดังกล่าวหมายถึงมุสลิมไม่เพียงจำเป็นต้องเรียนรู้ศาสนาเพียงเพื่อการปฏิบัติตามศาสนกิจต่อตนเอง ระหว่างมุสลิมด้วยกันเท่านั้นแต่ต้องเข้าใจความหมายอิสลามอย่างถูกต้อง และต้องบรรจุวิชาหลักปฏิบัติระหว่างมุสลิมกับคนต่างศาสนิกโดยเฉพาะวิถีชีวิติศาสดากับคนต่างศาสนิกด้วย

++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(1) ซุบหานะฮูวาตะอาลาเป็นคำภาษาอาหรับ แปลว่าความบริสุทธิ์และความสูงส่งยิ่งแด่พระองค์เป็นคำสร้อยสรรเสริญที่มุสลิมกล่าวหลังจากเอ่ยพระนามอัลลอฮ เพื่อเป็นการเตือนตัวเองมิให้เผลอทำการภาคีและทรยศต่อพระองค์

(2) ศ๊อลลัลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัมเป็นคำภาษาอาหรับ แปลว่า ขอความโปรดปรานของอัลลอฮและสันติจงมีแด่นบีมุฮัมหมัด เป็นพรภาวนาที่มุสลิมกล่าวต่อท้ายเมื่อกล่าวถึงนามของท่าน

(3) อะลัยฮิสลามเป็นคำภาษาอาหรับ แปลว่า ขอความสันติจงมีแด่ท่านรอซู้ลต่างๆ เป็นพรภาวนาที่มุสลิมกล่าวต่อท้ายเมื่อกล่าวถึงนามของท่าน

++++++++++++++++++++++++++++
บรรณานุกรม
- อัลกุรอ่าน

- Ali al-Qari, al - Malla. 1984. Sharh al - Fiqh al-Akbar. Berut : Dar al-Kutub al - Ilmiah.
- Anis, Ibrahim. et al. n.d. al-Majmua al - Wasit. sl : sn
- al - Bukhari, Muhammad Ismail. n.d. al - Sahih Bukhari. Berut : al - Ihyaa al - turath al - Arabi.
- C. Mish, Frederike, et al. n.d. Merriam Webster ,s Collegiate Dictionary.
- Massachusetts : Merriam Webster Incorporate Springfield.
- Hawa, Said. 1988. al - Islam. Cairo : Dar al - Salam.
- Maududi Abul Ala. 1977. Towards Understanding Islam. Damascus :
- The Holy Koran Publishing House.
- al-Qardhawi,Yusuf.1994.Fatwa Muasoroh . al-Mansurah : Dar al-Wafaa.
- al-Qardhawi,Yusuf.1993.Fiqh al-Zakah. Berut: al-Risalah
- al - Zuhaili, Wahbah. 1991. al - Tafsir al - Munir. Damascus : Dar al-Fikr.



เรียบเรียงปราชญ์โลกมุสลิมประณามการลักพาตัวและทำร้ายผู้บริสุทธิจาก :

1.บรรจง บินกาซัน http://www.thaimuslimshop.com/
2. http://www.islam-online.net/
3. http://www.islamtoday.net/
4. http://www.fityah.com/

 

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



020649
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
บทความจากสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความลำดับที่ ๙๓๕ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related
ข้อความบางส่วนจากบทความ
นสมัยอับดุลลอฮ อิบนุอุมัร (ตาบีอีน) ได้กำชับลูกของท่าน ให้บริจาคเนื้อกุรบานแก่เพื่อนชาวยิว (al-Qardhawi,1994 : 676) อิหม่ามอิบนุฮัซมิ ปราชญ์ นามอุโฆษได้กล่าวไว้ ในหนังสือ al-Mahalli เล่ม 5 หน้า 117 (Quoted in al-Qardhaui,1994 : 676) ว่า "บรรดาศอหาบะฮ (สหายศาสดา) หลายต่อหลายท่านเคย เดินตามหลังศพสตรีชาวยิว" เป็นการแสดงความเสียใจแก่ญาติผู้เสียชีวิต ในขณะเดียวกันบรรดาตาบิอีน หลายท่านเช่นกันเคยจ่ายซะกาตฟิตร์ให้แก่นักบวชชาวคริสต์เพราะเขาเหล่านั้น เช่น อักรอมะฮ อิบนุซีรีน และอัซซุฮรีย์ มีทัศนะว่า การจ่ายซะกาตแก่นักบวชชาวคริสต์เป็นสิทธิที่ทำได้ (al-Qardhawi,1994 : 676)
ท่านอิหม่ามชะฮาบุดดีน อัรก๊อรรอฟีย์ ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่งของโลกอิสลาม ได้อธิบายความหมายของ คำว่า al-Bir การทำความดี ว่า"การทำความดี หมายถึง การช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอ การบริจาคทานแก่ผู้ยากจน การให้อาหารแก่ผู้ที่โหยหิว, การให้เครื่องนุ่งห่มแก่ผู้ขัดสน, การพูดจาไพเราะอ่อนโยน, การให้ความเมตตา, การปรึกษาหารือซึ่งกันและกันเพื่อขจัดความแตกต่างและขัดแย้ง การขอพรให้ผู้คนได้รับทางนำอันถูกต้องและประสบโชค..."

มีโองการอัลกุรอานมากมายที่กล่าวถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างกับคนต่างศาสนิก เช่น
ความว่า "อัลลอฮมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ไม่ได้ต่อต้านเจ้าในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะทำความดี แก่พวกเขาและให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮทรงรักผู้มีความยุติธรรม" (อัลมุมตะฮินนะฮ : 8)
จากโองการข้างต้น พบว่า : อัลลอฮ (ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ได้ใช้ผู้ศรัทธาทำความดีต่อชนต่างศาสนิก ไม่ว่าจะเป็นการผูกมิตรไมตรีให้ความช่วยเหลือต่อกัน และให้ยุติธรรมซึ่งกันและกันตราบใดที่เขาเหล่านั้นมิได้ละเมิดสิทธิและขับไล่ผู้ศรัธทา (al-Zuhaili,1991:28/135)