Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
The Midnightuniv website 2006
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเกี่ยวเนื่องกับจีนสยาม
แนวคิดและความเคลื่อนไหวของชาวจีนกว่อมินตั๋ง
กำพล จำปาพันธ์
นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการชิ้นนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน
เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองจีนสยาม และจีนปิตุภูมิ
ช่วงปลายราชวงศ์ชิง และการปฏิวัติของกว่อมินตั๋ง
ซึ่งผลกระทบและอิทธิพลตามมาต่อเหตุการณ์หลายอย่างในหมู่จีนสยาม
และชนชั้นนำในสังคมไทยในช่วงเวลาดังกล่าว

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 934
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 18.5 หน้ากระดาษ A4)

 



แนวคิดและความเคลื่อนไหวของชาวจีนกว่อมินตั๋ง

กำพล จำปาพันธ์ : นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ปรับปรุงและเรียบเรียงจากข้อมูลหลักฐานบางส่วนที่ผู้เขียนจำเป็นต้องตัดออกไปในงานค้นคว้าวิจัยหัวข้อ
"การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก ร.ศ. ๑๓๐ ถึง ๒๔๗๕: ประวัติศาสตร์การเมือง"
ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ไว้ใน รัฐศาสตร์สาร. ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๓ [๒๕๔๘] น. ๘๐ - ๒๓๙
ผู้เขียนขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ดูแลจัดเก็บเอกสารและท่านเจ้าของผลงานที่ผู้เขียนได้ใช้อ้างอิงในที่นี้ด้วย.

๑. กล่าวนำ

บทบาทของกลุ่มคนจีนนั้น แสดงออกโดยผ่านการแสดงความคิดเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ ตลอดจนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มีนัยสำคัญทั้งในประเด็นเรื่องภายในประเทศและต่างประเทศ แม้ส่วนหนึ่งจะยังคงเป็นห่วงเป็นใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองของปิตุภูมิ เช่น จีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งกำลังเผชิญความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ การปฏิวัติซินไฮ่ ในปี ค.ศ.1911 (1)

"จีนสยาม" ก็เช่นเดียวกับชาวจีนโพ้นทะเลที่อื่น ที่ถูกแสวงความสนับสนุนจากขบวนการปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของเงินทุนสนับสนุนหรือเครือข่ายการจัดตั้งที่กว้างขวาง บางคนถึงกับเดินทางกลับปิตุภูมิเพื่อสมัครเป็นทหารทำการสู้รบเพื่อโค่นราชวงศ์ชิง รวมทั้งการปราบปรามกองกำลังของหยวน ซือไข ที่ตั้งตนเป็นจักรพรรดิใหม่ และบรรดาขุนศึกทางภาคเหนือที่ต่างแบ่งก๊กแบ่งเหล่าไม่ขึ้นกับรัฐบาลกลาง

แน่นอนว่าชาตินิยมโพ้นทะเลจากสยาม [หรือ "หนานหยาง" ตามภาษาจีน แปลว่า "ดินแดนแห่งทะเลใต้"] อาจไม่มีผลถึงขั้นเป็นหลักประกันขั้นสุดท้ายสำหรับชัยชนะของรัฐบาลกลาง แต่กล่าวได้ว่าชาตินิยมโพ้นทะเลจากสยามนี้ ก็มีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่จีนแผ่นใหญ่เช่นกัน แทนที่จะมองว่าจีนใหม่สร้างผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงในสยามเพียงด้านเดียวเท่านั้น

การศึกษาว่าความขัดแย้งภายในมีผลกระทบอย่างไร ต่อสถานการณ์ความเป็นไปในอีกสังคมหนึ่งที่มีปฏิสัมพันธ์กันอยู่ ณ ขณะนั้น ควรจะได้กระทำขึ้นควบคู่กับที่ศึกษาว่าความขัดแย้งภายนอกมีความสำคัญและส่งผลอย่างไรต่อภายใน โดยที่พื้นที่ที่เป็นกรณีศึกษาของเราไม่จำต้องสูญเสียบทบาทความสำคัญที่มีอยู่ในตัวเองแต่อย่างใด ตรงข้ามประโยชน์ที่จะได้นั้นอาจหมายถึงภาพที่กว้างมากขึ้นของที่ที่เราศึกษา รวมทั้งความสำคัญ [ในตัวเอง] ที่อาจมีได้มากกว่าแค่เฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่งเท่านั้น หากยังอาจส่งผลกระทบต่อการปรับตัว เปลี่ยนแปลงในอีกที่ที่กำลังมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอีกด้วย [อย่างน้อยก็อาจบางแง่มุม ไม่ใช่ทั้งหมดก็ตาม]

กรณีสยาม, น่าสนใจตรงที่ชาวจีนกลายเป็นกลุ่มทางชาติพันธุ์ที่มีความเหลื่อมซ้อนกันระหว่าง ๒ ชาติ ขณะที่ยังไม่แน่ชัดนักว่าระหว่างปิตุภูมิกับมาตุภูมิที่หมายถึงประเทศสยามกับจีนใหม่นั้น พวกเขาจะเลือกให้ความสำคัญแก่ที่ไหนมากกว่ากัน และควรกล่าวไว้ด้วยว่าที่เรียกว่า "ปิตุภูมิ" กับ "มาตุภูมิ" ในกรณี "จีนสยาม" นั้น มีความเหมาะสมลงตัว เพราะจีนเป็นแผ่นดินถิ่นกำเนิด สยามเป็นแผ่นดินถิ่นที่อยู่ จีนจึงมีความหมายในแง่ที่เป็นแผ่นดินพ่อ [ ปิตุภูมิ ?] และสยามเป็นแผ่นดินแม่ [ มาตุภูมิ ? ]

รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิ์สยามที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนักในการดูดกลืนชาวจีนให้มีความเป็นไทยหรือกลายเป็นคนไทยที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์สยาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักพระทัยถึงเงื่อนไขข้อจำกัดนี้เป็นอย่างดี สิ่งหนึ่งที่แนวคิดเรื่องชาติของพระองค์พยายามก่อคุณประโยชน์ ก็เห็นจะเป็นความภักดีในหมู่ราษฎรจีนผู้มาพึ่งพระบารมีนี้เอง ซึ่งโดยปกติแล้วแม่มักมีอำนาจด้อยกว่าพ่อ แต่แม่ก็สามารถช่วงชิงรักและศรัทธาจากลูกได้ด้วยคุณความดีหรือสร้าง "บารมี" ให้เห็นนั่นเอง

ตามข้อเท็จจริงแล้วปรากฏว่าชาวจีนโพ้นทะเลส่วนมาก มักมีความไม่พอใจต่อระบบกษัตริย์ ซึ่งเป็นคนละเชื้อชาติกับพวกเขาอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พ่อมีความบกพร่องเกินกว่าจะเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่พ่อที่แท้จริงโดยสายเลือด แต่เป็นพ่อบุญธรรมผ่านการได้อำนาจปกครอง จักรพรรดิแมนจูในฐานะสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถผูกขาดความจงรักภักดีแก่ราษฎรชาวฮั่น ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ส่วนข้างมากของจีนแผ่นดินใหญ่ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ฐานะความเป็น "เทียน" หรือโอรสสวรรค์มีได้จริงก็ในรัฐจารีตของชาวฮั่น สายเลือดพระเจ้าฮั่นโกโจ ผู้ทรนงว่าตนเป็นศูนย์กลางของโลกในสมัยโบราณเท่านั้น ราชสำนักไต้เชงในรัชกาลท้าย ๆ [โดยเฉพาะภายใต้อำนาจของพระนางซูสีไทเฮา] ก็เต็มไปด้วยความเสื่อมโทรม ทั้งอ่อนแอ และบอบช้ำจากความพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น การเกิดขึ้นของกบฏชาวนา เช่น กรณีสมาคมดอกบัวขาว และขบวนการไถ้ผิง การรุกรานของต่างชาติ ฯลฯ (2)

เหตุนี้ขบวนการปฏิวัติที่นำโดย ดร. ซุนยัตเซ็น (3) จึงประสบความสำเร็จและได้รับความช่วยเหลือจากชาวจีนโพ้นทะเลอย่างเหนียวแน่น เพราะเป็นกลุ่มขบวนการที่แสดงจุดยืนอย่างมั่นคงว่าต้องการโค่นล้มราชวงศ์ชิงเพื่อสถาปนาการปกครองระบอบสาธารณรัฐ "เก๊กเหม็ง" กลายเป็นทั้งคำอธิบายอันทรงพลังของขบวนการ ควบคู่กับที่เป็นคำกล่าวหาว่าร้ายสร้างปีศาจทางการเมืองให้แก่ฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล ขณะที่กลุ่มผู้ก่อการจริง ๆ กลับไม่ถูกพูดถึงเท่าที่ควร...

๒. การต่อสู้สองแนวทาง: กษัตริย์นิยม vs. สาธารณรัฐนิยม
ก่อนนั้น, ในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๙ จนถึงต้นศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งหวอดแห่งการปฏิวัติซินไฮ่ได้เริ่มขึ้นแล้ว ปัญญาชนจีนมีความขัดแย้งกันในเรื่องแนวทางการปฏิวัติแบ่งออกเป็น ๒ กระแสใหญ่ ๆ ต่างฝ่ายต่างก็ต่อสู้แย่งชิงการนำในขบวนการ

กระแสหนึ่ง เป็นกลุ่มนิยมการปฏิวัติที่มี ดร. ซุน ยัตเซ็น เป็นผู้นำ กลุ่มนี้ต้องการโน้มนำขบวนการให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิง แล้วสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้น

ส่วนอีกกระแส เป็นกลุ่มกษัตริย์นิยมที่มีนายคังโหย่วเหวย และเหลียงฉีเชา เป็นผู้นำ กลุ่มนี้ต้องการคงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ผ่านการเปลี่ยนระบอบการปกครองใหม่ ให้เป็นระบบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ (4)

ความขัดแย้งในแนวทางการต่อสู้ดังกล่าว นำมาซึ่งการส่งคนของตนออกไปโฆษณาแนวทางความคิดต่อชาวจีนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก สำหรับสยาม, บุคคลสำคัญที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมส่งเข้ามายังสยามมีนายสวีฉิน และอู่เซี่ยนจื่อ เป็นต้น. ส่วนฝ่ายปฏิวัติก็ส่งนายโหยวเลี่ย และนายคังยินเถียน สมาชิกผู้ปฏิบัติงานคนสำคัญของกลุ่มเก็กเหม็ง เป็นต้น

วิธีการสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายต่างนิยมใช้ในการดำเนินการจัดตั้ง ก็คือการพยายามแสวงความร่วมมือจากบุคคลที่มีชื่อเสียงและที่มีอิทธิพลต่อชาวจีนในท้องที่นั้น ๆ เป็นอันดับต้น ๆ สวีฉิน และอู่เซี่ยนจื่อ ติดต่อขอความร่วมมือจากนายเจิ้งจื้อหย่ง [แต้ตี้ย่ง] ผู้มีสมญาว่า "ยี่กอฮง" หัวหน้าสมาคมลับ [อั้งยี่] หงเหมินเทียนตี้ฮุ้ย ซึ่งเป็นสมาคมที่มีอิทธิพลต่อชาวจีนโพ้นทะเลในสยามค่อนข้างมาก

ส่วนฝ่ายโหยวเลี่ยและคังยินเถียน ติดต่อนายเซียวฝอเฉิง [หรือ "เซียวฮุดเส็ง" ในภาษาไทย] ผู้ทรงอิทธิพลในสมาคมซันเหอฮุ่ย [ซาฮะหวย] สมาคมลับของชาวจีนโพ้นทะเลที่มีบทบาทสำคัญในสยามอีกสมาคมหนึ่ง (5) และเมื่อต่างฝ่ายต่างก็มีสมัครพรรคพวกตลอดจนเครือข่ายการปฏิบัติงานเป็นของตนเอง การต่อสู้สองแนวทางระหว่างกษัตริย์นิยมกับสาธารณรัฐนิยม จึงเกิดขึ้นในสังคมสยามไปพร้อมกันด้วย

ทั้งสองฝ่ายต่างมีหนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือดำเนินการโฆษณาแนวคิดของตน ควบคู่กับวิพากษ์วิจารณ์อีกแนวทางหนึ่ง หนังสือพิมพ์รายวันเหม่ยหนานรึเป้า [ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เหมยหนานกงเป้า] มีนายเซียวฮุดเส็ง เฉินจิ่งหัว และเสิ่นซิ่งซือ เป็นผู้จัดทำ (6) มีการเสนอข่าวการสู้รบระหว่างฝ่ายก๊กมินตั๋งกับราชวงศ์ชิง และบทความต่อต้านราชวงศ์ชิงและระบอบกษัตริย์อย่างสม่ำเสมอ. ส่วนสวีฉินและอู่เซี่ยนจื่อ ซึ่งเป็นฝ่ายกษัตริย์นิยมก็ได้ฉวยยึดเอาสถานที่เดิมของหนังสือพิมพ์รายวันอีกฉบับหนึ่งชื่อ จีหนานรึเป้า เพื่อใช้โฆษณาแนวคิดกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ มีการโต้แย้งกันไปมาปรากฏอยู่เป็นระยะ ๆ และทั้งมีการเปลี่ยนหัวหนังสือพิมพ์ไปใช้ชื่ออื่นบ้าง เนื่องจากประสบปัญหาการขาดทุนไม่ผิดแปลกไปจากหนังสือพิมพ์การเมืองอื่น ๆ กระทั่งต้องปิดตัวลงในระยะเวลาไม่กี่ปี และในการจัดทำใหม่ด้วยความจำเป็นทางการเมืองที่ต้องการพื้นที่ส่งเสริมแนวความคิดกันต่อไป ก็ต้องเปลี่ยนหัวหนังสือใหม่ไปด้วย เพราะการปิดตัวลงไปย่อมมีผลต่อชื่อเสียงของคณะผู้ดำเนินงานซึ่งมีการเมืองหนุนหลังนั้นนั่นเอง

ชั้นต้น, แม้ว่ากลุ่มกษัตริย์นิยมจะมีฐานสนับสนุนด้านกำลังคนมากกว่ากลุ่มสาธารณรัฐนิยม เพราะยี่กอฮงและสมาคมลับ เช่น หงเหมินเทียนตี้ฮุ้ย [หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า "สมาคมหงเหมินฯ" ] เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล ทั้งในสังคมจีนสยามและจีนโพ้นทะเลที่ใกล้เคียง แต่กระนั้นความเป็นอั้งยี่ก็ทำให้เป็นที่มองกันในแง่ลบว่า เป็นกลุ่มผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าจะเป็นกลุ่มที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ที่เคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ของประชาชาติจีน

ตรงกันข้ามกับอีกกลุ่มซึ่งเป็นคู่แข่ง เช่น กลุ่มนายเซียวฮุดเส็ง ที่แม้จะมีความเกี่ยวข้องกับสมาคมลับ แต่เซียวฮุดเส็งหาได้มุ่งเน้นปฏิบัติงานโดยใช้ประโยชน์จากภาพลักษณ์ของสมาคมลับเพียงอย่างเดียว เซียวฮุดเส็งให้ความสนใจต่อกิจการหนังสือพิมพ์และการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากกว่า พูดง่าย ๆ คือ เมื่อเทียบกันแล้ว เซียวฮุดเส็งดูจะมีความเป็นปัญญาชนมากกว่าเจิ้งจื้อหย่ง สวีฉิน และอู่เซี่ยนจื่อ ซึ่งเป็นฝ่ายนิยมกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ

ภายหลังเมื่อการลุกขึ้นสู้ได้เกิดขึ้น ณ จีนแผ่นดินใหญ่ โดยกองทหารฝ่ายสาธารณรัฐ เจิ้งจื่อหย่ง [หรือ ยี่กอฮง] จึงได้เปลี่ยนข้างมาสนับสนุนฝ่ายสาธารณรัฐ ส่วนสวีฉินกับอู่เซี่ยนจื่อ ยังคงโฆษณาแนวความคิดของตนผ่านหนังสือพิมพ์อยู่อีกระยะหนึ่งก็ยุติบทบาทไป

นอกจากการสนับสนุนเป็นกำลังหลักจากเซียวฮุดเส็งแล้ว (7) การเข้ามาดำเนินงานจัดตั้งด้วยตนเองของซุนยัตเซ็น ยังมีผลสำคัญที่ทำให้ฝ่ายสาธารณรัฐสามารถมีชัยเหนือฝ่ายกษัตริย์นิยมในที่สุด จากข้อมูลที่เซี่ยกวงให้ไว้ในงานที่ชื่อ "กิจกรรมทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย (ค.ศ.1906 - 1939)" [๒๕๔๖] พบว่า หลังจากที่ได้ก่อตั้งสมาคมซิงจงฮุ่ย [สมาคมจรรโลงประเทศจีน] ขึ้นที่เมืองโฮโนลูลู ในปี ค.ศ. 1894 แล้ว ซุนยัตเซ็น กับพรรคพวกได้ขยายการแสวงแนวร่วมชาตินิยมไปยังชาวจีนโพ้นทะเลมากขึ้น โดยมีกำหนดการจะเดินทางไปโฆษณาแนวทางความคิดในท้องที่ต่าง ๆ ทั่วโลก

กรณีสยาม, ซุน ยัตเซ็น เข้ามารวม ๔ ครั้งด้วยกัน คือ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ [1903], ค.ศ. 1906, ค.ศ. 1908 และ 1908 [อีกครั้ง] ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ซุนใช้ชื่อปลอมว่า "ตู้เจียน่อ" และก็แน่นอนว่า กลุ่มคนที่เน้นจะเป็นกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงและค่อนข้างมีฐานะดีพอสมควร ซึ่งซุนกับพรรคพวกก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชาวจีนกลุ่มดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนายเฉินเหม่ยถัง เซียวฝอเฉิง เฉินยี่หรู เสินซิ่งซือ หวังซิ่งจง เหอเซ่าสี่ ฯลฯ (8)

การโฆษณาแนวคิดของซุนยัตเซ็น นอกจากจะกระทำโดยการติดต่อพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับกลุ่มคนชั้นนำของชาวจีนสยามแล้ว ยังกระทำผ่านการปาฐกถาอย่างเป็นสาธารณะด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปาฐกถาเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน 1908 จัดขึ้นในซอยข้างโรงภาพยนตร์ศรีราชวงศ์ [ต่อมาซอยแห่งนี้ได้ถูกเรียกชื่อใหม่ตามความทรงจำของชาวจีนว่า "ซอยปาฐกถา" ซึ่งเป็นถนนมังกร ในตลาดเก่าเยาวราช ] (9) พร้อมกันนั้นก็ได้มีการจัดตั้งสาขาถงเหมิงฮุ่ยประจำประเทศสยามขึ้น โดยมีเซียวฮุดเส็ง เป็นหัวหน้าสาขา (10) กล่าวกันว่าผู้ร่วมฟังปาฐกถาของซุนบางคนเกิดเลื่อมใสถึงขนาดตัดผมเปียทิ้งตรงนั้นทันที และร่วมบริจาคทรัพย์กันที่นั่น นับเป็นการแสดงออกถึงความรักชาติอย่างแรงกล้าจนกลายเป็นเรื่องเล่าขานในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเล

การเข้ามา ๒ ครั้งแรก ๆ จะเป็นในลักษณะของการขยายขอบข่ายการจัดตั้งภายหลังจากที่มีเกิดองค์กรกลางขึ้นที่อื่นแล้ว เช่น สมาคมชิงจงฮุ่ย ที่จัดตั้งขึ้น ณ เมืองโฮโนลูลู ปี ค.ศ. 1894 และสมาคมถงเหมิงฮุ่ย ที่จัดตั้งอย่างเป็นทางการ ณ ประเทศญี่ปุ่น ส่วนการเข้ามาอีกสองครั้งหลังจากนั้น มีรายละเอียดที่แตกต่างจากสองครั้งก่อนหน้านั้น กล่าวคือครั้งที่สามจะเป็นการรักษาองค์กร รวมทั้งกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ เอาไว้ เนื่องจากประสบความพ่ายแพ้จากกรณีการต่อสู้ที่ด่านเจิ้นหนานกวาน ฝ่ายสาธารณรัฐถูกตอบโต้ด้วยสงครามสู้รบขณะที่ยังมีกำลังพลน้อยกว่ากองทัพจักรพรรดิเป็นอย่างยิ่ง เดือนเมษายน ค.ศ. 1903 กองทัพปฏิวัติจำนวนพลรวม ๖๐๐ นายได้ถ่อยร่นลงทางใต้จนเข้าสู่เขตเวียดนาม กระทั่งต้องถูกฝรั่งเศสปลดอาวุธ แล้วคุมตัวไปปลดประจำการไว้ที่สิงคโปร์ (11)

ปัญหาความระส่ำระสายภายในขบวนการหลังเกิดความพ่ายแพ้ ได้รับการคลี่คลายเมื่อซุนยัตเซ็นและคณะ อันประกอบด้วยผู้ปฏิบัติงาน เช่น หูฮั่นหมิน หูยีเซ็ง เหอเค่อฟู หลูจังหลิน และผู้นำสาขาถงเหมิงฮุ่ยในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเลที่ต่าง ๆ [รวมทั้งนายเซียวฮุดเส็ง และนายตันบุญเทียม อังกินันท์ ในประเทศสยามด้วย] และในการมาเยือนครั้งที่ ๓ ปี 1908 นี้เอง ซุนยัตเซ็นและคณะได้รับความเห็นอกเห็นใจและความช่วยเหลือที่มีมากขึ้นจากชาวจีนโพ้นทะเล น่าสนใจว่าชาวจีนโพ้นทะเลยอมรับและมองการปฏิวัติของฝ่ายสาธารณรัฐอย่างมีความหวัง นับเป็นครั้งแรกที่ชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งมีอยู่มากมายให้ความเชื่อถือต่อฝ่ายสาธารณรัฐ ในฐานะเป็นผู้นำที่ต่อสู้เพื่อกอบกู้ปิตุภูมิของตนอย่างแท้จริง

ดังที่นักวิชาการ เช่น จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์ (12) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คนจีนโพ้นทะเลปกติจะชิงชังระบบกษัตริย์ในจีนแผ่นดินใหญ่อยู่แต่เดิม พวกเขาจำต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนร่อนเร่กระจัดพลัดพลายไปตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ส่วนหนึ่งก็เพื่อหลีกหนีจากระบบกดขี่ของกษัตริย์ราชวงศ์ชิง การที่ซุนยัตเซ็นแสดงท่าทีให้ความสนใจต่อบทบาทการมีส่วนร่วมของชาวจีนโพ้นทะเล ทำให้ชาวจีนโพ้นทะเลมีความหวังว่าตนจะได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริงจากรัฐบาลสาธารณรัฐ ภายหลังปี ค.ศ. 1911 [พ.ศ. ๒๔๕๔] จึงเป็นครั้งแรกที่ชาวจีนโพ้นทะเลมองรัฐบาลจีนในฐานะที่เป็นรัฐบาลของตนอย่างแท้จริง (13) ชาตินิยมจีนจึงขึ้นสู่กระแสสูงและรู้สึกกันโดยทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พรรคกว่อมินตั๋งกลายเป็นองค์กรจัดตั้งที่มีกำลังสนับสนุนมากที่สุดในชุมชนชาวจีน (14)

นอกจากนี้การเคลื่อนไหวของซุนยัตเซ็น กับพรรคกว่อมินตั๋งยังส่งผลให้เกิดแบบอย่าง และ "ทางเลือก" ที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสยามด้วย การเคลื่อนไหวชาตินิยมของชาวจีนสยามนำมาซึ่งข้อเสนอใหม่เกี่ยวกับ "ระบอบหลังการเปลี่ยนแปลง" ที่เป็นการปกครองแบบไร้กษัตริย์

การนำเสนอข่าวการต่อสู้ของกองทหารปฏิวัติในจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งข่าวการก่อจลาจลเพื่อเปลี่ยนการปกครองในประเทศอื่น (15) ไม่ว่าจะเป็นที่จีน อินเดีย อิหร่าน เตอรกี หรือแม้แต่ในรัสเซีย (16) ก็เป็นที่สนใจแก่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามตั้งแต่คณะ ร.ศ. ๑๓๐ จนถึงคณะราษฎร ๒๔๗๕ มีผลเป็นการเปิดจินตนาการความรับรู้ในหมู่ผู้คิดการแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมืองผ่านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในสังคมสยามขณะนั้น...

๓. กำเนิดของ "ซามิ่นจูหงี" ในภาคภาษาไทย: ลัทธิไตรราษฏร์
ภายหลังปี พ.ศ. ๒๔๖๒ [ค.ศ.1929] ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ได้ถูกเปิดขยายพรมแดนออกไปจนเป็นที่แจ่มชัดมากขึ้นตามลำดับ เมื่อนายตันบุญเทียม อังกินันท์ หรือ ต. บุญเทียม [ นามแฝง ] บรรณาธิการและเจ้าของหนังสือพิมพ์หลักเมือง ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของฝ่ายก๊กมินตั๋งในสยามคนหนึ่ง ได้ทำการแปลหนังสือ "ซามิ่นจูหงี" งานรวมปาฐกถาของซุนยัตเซ็น ที่กลายเป็นคัมภีร์ปฏิวัติของฝ่ายสาธารณรัฐนิยม พร้อมทั้งยังเรียบเรียงประวัติชีวิตและการต่อสู้ของซุนยัตเซ็น เอาไว้อย่างเป็นระบบ นำเสนอในภาคภาษาไทยโดยใช้ชื่อว่า "ลัทธิไตรราษฎร์" (17) โดยชั้นแรกเสนอเป็นคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์หลักเมืองช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๒ [ค.ศ.1929] ต่อมาจึงได้จัดพิมพ์รวมเล่มขึ้น

จากประวัติโดยย่อที่ปรากฏใน "ลัทธิไตรราษฎร์" ต. บุญเทียม หรืออีกนามคือ นายตันบุญเทียม อังกินันท์ เกิดที่ตำบลเจ๊สัวเนียม ตลาดใหม่ กรมภูธเรศ จังหวัดพระนคร เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย ปีขาล พ.ศ. ๒๔๓๓ ในตระกูลพ่อค้าชาวจีน เป็นบุตรนายซัวกับนางแอ๊ว เจ้าของร้านขายของชำร้านใหญ่ในตำบลเจ๊สัวเนียม ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งจัดเป็นโรงเรียนชั้นดีที่สุดในสมัยนั้น ต่อมาได้ช่วยบิดามารดาทำการค้า และเข้าทำงานเป็นเสมียนในโรงรับจำนำไท้ฮงหยู ปากตรอกอิศรานุภาพ ทั้งยังได้วิ่งเต้นประกอบกิจการค้าขายส่วนตัว

ราวปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้เปลี่ยนงานประจำไปเป็นผู้จัดการโรงภาพยนตร์นครศรีธรรมราช ตลาดใหม่ กรมภูธเรศ ลุถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๘ จึงได้เปลี่ยนอาชีพใหม่อีก โดยหันมายึดอาชีพทำหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ใช้ชื่อว่า "หนังสือพิมพ์หลักเมือง" และมีโรงพิมพ์เป็นของตนเองอีกด้วย เมื่อกิจการโรงพิมพ์เติบโตขึ้นก็ได้ออกหนังสือพิมพ์หลักเมืองเป็นรายวัน ต่อมายังได้ออกหนังสือพิมพ์รายวันออกมาอีกหลายฉบับ เช่น หนังสือพิมพ์เจริญกรุง, อิสระ, สันติภาพ, วันดี และหญิงไทย เป็นต้น

ทั้งนี้ด้วยเหตุที่เป็นคนกว้างขวางในวงสมาคมทั้งไทยและจีน จึงมีห้างร้านค้าขายเกื้อกูลอุดหนุนช่วยลงประกาศโฆษณา และเป็นสมาชิกประจำกับนายตันบุญเทียมอยู่เสมอ ต.บุญเทียมเองก็ได้ประกาศอุดมคติของตนโดยเปิดเผยเสมอมาว่า ต้องการที่จะเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย - จีน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น. ในการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงประเทศจีน ต. บุญเทียม อยู่ฝ่ายสาธารณรัฐ แอบให้ความช่วยเหลือซุนยัตเซ็นกับพรรคพวก พร้อมทั้งเป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านฝ่ายกษัตริย์นิยม เขาได้รับเชิญจากเจียงไคเช็คให้ไปเยือนจีนในฐานะบุคคลสำคัญของรัฐบาล กว่อมินตั๋งถึง ๒ ครั้ง (18)

แต่ภายหลังจากที่ความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลัง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ กลุ่มคนจีน และ "ลัทธิไตรราษฎร์" ก็เช่นเดียวกับกลุ่มพลังทางความคิดอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ด้วยอำนาจของ "พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสม์ พุทธศักราช ๒๔๗๖" ซึ่งนิยามคอมมิวนิสต์ไว้อย่างคลุมเครือ โดยตัวบทมาตรา ๓ ระบุถึง "คอมมิวนิสม์" [ตามคำในเอกสาร ] เป็น ๒ ข้อย่อยดังนี้ :

(๑) คอมมิวนิสม์ หมายความว่า วิธีการหรือหลักการทางเศรษฐกิจซึ่งประกอบด้วยการเลิกล้างเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน โดยให้ประเทศหรือประชาชนร่วมกันเข้าเป็นเจ้าของเสียเอง

(๒) ลัทธิคอมมิวนิสม์ หมายความว่า ลัทธิใด ๆ ซึ่งสนับสนุนส่งเสริมการรวมกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือการรวมการอุตสาหกรรม หรือรวมทุน หรือรวมแรงงานเข้าเป็นของรัฐบาล [Nationalization of land or industry or Capital or Labour] (19)

ด้วยอำนาจตามตัวบทดังกล่าวก็ทำให้หลายฝ่ายพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ไม่เพียงแต่กรณีสมุดปกเหลืองของปรีดี พนมยงค์ เท่านั้น หนังสือ "ลัทธิไตรราษฎร์" ถูกสั่งริบเก็บ ห้ามขาย ห้ามเผยแพร่ ห้ามตีพิมพ์ซ้ำอีก "ลัทธิไตรราษฎร์" กลายเป็นหนังสือต้องห้ามเล่มแรก ๆ ของการเมืองในระบอบใหม่ เนื่องจากข้อเสนอของซุนยัตเซ็น ตามที่ปรากฏใน "ลัทธิไตรราษฎร์" จะมีการเสนอให้วิสาหกิจอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ [หรือ "ชาติ"] ทั้ง "ลัทธิไตรราษฎร์" ยังมีบางบทที่ซุนอ้างถึงแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ เอาไว้อย่างดี เท่าที่ยุคนั้นปัญญาชนสยามจะสามารถรับรู้ถึงแนวคิดแบบมาร์กซิสต์กันได้

แม้ว่ากรณี "พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสม์ พุทธศักราช ๒๔๗๖" โดยความมุ่งหมายของฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดานั้นจะมุ่งกำจัดคณะราษฎรผ่านทางปรีดี พนมยงค์ กับเค้าโครงการเศรษฐกิจก็ตาม แต่การนิยาม "คอมมิวนิสม์" อย่างฉาบฉวยเพื่อกล่าวหาปรีดีตามมาตรฐาน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มีผลกระทบต่อกลุ่มอื่น ๆ ที่เคยเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคักก่อนหน้านั้นด้วย

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการยึดอำนาจล้มฝ่ายพระยามโนปกรณ์ฯ โดยผู้นำทางทหารของคณะราษฎร มีการนำปรีดี พนมยงค์กลับเข้าประเทศ จัดตั้งรัฐบาลใหม่มีพระยาพหลพลพยุหเสนา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้การสนับสนุนของผู้นำทางทหาร เช่น หลวงพิบูลสงคราม กับ หลวงสินธุสงครามชัย กระทั่งเกิดการชำระความให้ปรีดีเป็นผู้บริสุทธิ์ ปลอดจากข้อกล่าวหา "คอมมิวนิสม์"

แต่ "พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสม์ พุทธศักราช ๒๔๗๖" ที่สะท้อนอำนาจไม่เป็นธรรมของฝ่ายพระยามโนปกรณ์ฯ ก็หาได้ถูกยกเลิกไปพร้อมกันนั้นด้วย ตรงข้ามจากหลักฐานข้อมูลที่มีกลับชี้ว่ามีการปรับใช้และแก้ไขเพิ่มเติมเสียด้วยซ้ำ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นเวลากว่า ๒ ปี ๖ เดือนนับแต่มีการประกาศใช้ "พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสม์ พุทธศักราช ๒๔๗๖" รัฐบาลก็ได้ประกาศ "พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสม์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๘" ออกมาบังคับใช้พร้อมปรับปรุงเนื้อหา โดยพระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ [รัฐมนตรี] เป็นผู้ลงนามในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๓ มีข้อความระบุว่า :

"มาตรา ๓ เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ลัทธิคอมมิวนิสม์ หมายความว่า ลัทธิใด ๆ ที่มุ่งหมายจะเลิกล้มระเบียบการสมาคมที่มีอยู่นั้น โดยใช้กำลังบังคับเพื่อให้เป็นทางเดียวที่จะนำมาซึ่งการโอนที่ดินกับทรัพย์สินอื่น ๆ และกิจการค้าใหญ่ ๆ ทั้งหมดจากการที่เอกชนเป็นเจ้าของมาให้รัฐหรือชุมนุมชนเป็นเจ้าของแทน" (20)

จะเห็นได้ว่า เป็นการนิยาม "คอมมิวนิสม์" ที่มีความคลุมเครือและเหมารวมมากกว่าเดิมเสียอีก การรื้อฟื้นแนวคิด "ลัทธิไตรราษฏร์" สำหรับชาวจีนแล้วดูจะเป็นเรื่องยาก เป็นที่คาดการณ์กันว่าอาจถูกปราบปรามลงอย่างเฉียบพลัน การยกเลิก "พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสม์ พุทธศักราช ๒๔๗๖" ก็เมื่อลุปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยรัฐบาลชุดพลเรือตรี ถ. ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี (21) และนั่นก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ "ลัทธิไตรราษฎร์" สามารถตีพิมพ์ได้อีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ แต่ก็ไม่ได้เป็นที่ฮือฮาเช่นดังแต่ก่อน

แนวคิดและการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้นิยมลัทธิสังคมนิยม - คอมมิวนิสต์ จริง ๆ เองก็สามารถช่วงชิงการนำในขบวนการเคลื่อนไหวของชาวไทยเชื้อสายจีน ปัญหาความแตกแยกระหว่างกลุ่มกว่อมินตั๋งกับคอมมิวนิสต์ จนถึงการปราบปรามด้วยกำลังรุนแรงของฝ่ายเจียงไคเช็ค ก็มีผลทำให้พรรคกว่อมินตั๋งสูญเสียแรงศรัทธาจากชาวจีนโพ้นทะเลเป็นจำนวนมาก หลายคนหันไปเข้าฝ่ายคอมมิวนิสต์ในช่วงที่เจียงไคเชคปราบปรามฝ่ายตรงข้ามด้วยวิธีนี้ด้วยซ้ำ เพราะกลุ่มของเจียงไคเชคมีการส่งคนของตนออกไปสอดส่องดูแล และกำจัดฝ่ายตรงข้ามตามชุมชนชาวจีนนอกประเทศด้วย

การกระทำของเจียงไคเช็คนอกจากจะเป็นการกำจัดคอมมิวนิสต์แล้ว ยังอาจนับเป็นการสยบพลังของชาตินิยมโพ้นทะเล ที่เคยมีบทบาทและคุณูปการต่อพรรคกว่อมินตั๋งเองอีกด้วย เนื่องจากชาวจีนโพ้นทะเลในช่วงที่เจียงไคเช็คขึ้นสู่อำนาจนั้น เป็นกลุ่มเดียวที่สามารถบ่อนทำลายอำนาจของเจียงไคเช็ค ภายหลังจากที่กลุ่มขุนศึกภาคเหนือกับกลุ่มกษัตริย์นิยมได้รับความพ่ายแพ้ไปเรียบร้อย

การฟื้นกลับมาพิจารณา "ลัทธิไตรราษฎร์" อีกครั้งในบริบทใหม่จึงมีความสำคัญ นอกจากจะได้ทราบถึงแนวคิด [หรือ "ภูมิปัญญา"] ที่หายไปแล้ว ยังอาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้เข้าใจฐานรากของการเปลี่ยนแปลงสำคัญ เช่น กรณี ร.ศ. ๑๓๐ จนถึง ปี พ.ศ.๒๔๗๕ ในเชิงบริบทของความคิดและความรู้สึกในยุคสมัยได้มากขึ้น ทั้งยังอาจได้แง่มุมที่หลากหลาย ตัวละครผู้กระทำการ และถูกกระทำที่หลากหลาย แทนที่จะมองไปที่ผู้ก่อการคณะราษฎร และวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เท่านั้น

เพราะธรรมดาสำหรับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบวงกว้างนั้น ศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวอาจไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว ไม่ใช่จำกัดอยู่แต่เฉพาะที่ส่วนกลาง รัฐ หรือชนชั้นนำ หากแต่เป็นผลรวมของเหตุการณ์ความขัดแย้ง แนวคิด อุดมคติ ความคิดฝัน ตัวละคร และศูนย์การขับเคลื่อนจากหลายทิศทางแล้วมาบรรจบ หรือปะทะประสานกันในช่วงหัวเลี้ยวสำคัญนั้นเอง โดยที่ในการฟื้นกลับที่ว่าก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเห็นด้วยกับแนวคิด การสร้างตัวตนของตัวละคร ฯลฯ นั้น ๆ เสมอไป (22) และก็ทำด้วยความรู้สึกคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือรายละเอียดปลีกย่อยทั้งหลายเหล่านั้นจะไม่ทำให้ผู้อ่านหลงลืมภาพใหญ่ที่พยายามชี้ให้เห็นไปในขณะเดียวกันนั้นด้วย...

แนวคิด "ลัทธิไตรราษฎร์" มีเนื้อหาที่พอจะสรุปเค้าโครงการอธิบายได้ว่า "ลัทธิไตรราษฎร์" หรือ "ซามิ่นจูหงี" ประกอบด้วย ๓ แนวคิดหลักด้วยกัน คือ

(๑) "มิ่นจ๊กจูหงี" หมายถึง ลัทธิชาตินิยมหรือความรู้สึกสำนึกในความเป็นชาติของตน

(๒) "มิ่นค้วนจูหงี" หมายถึง ลัทธิอำนาจของประชาชน ซึ่งแยกย่อยออกไปอีกเป็น

(๒.๑) อำนาจคัดเลือกผู้บริหารประเทศ
(๒.๒) อำนาจถอดถอนผู้บริหารประเทศ
(๒.๓) อำนาจในการออกกฎหมาย
(๒.๔) อำนาจในการแก้กฎหมาย
(๒.๕) อำนาจในการสอบคัดเลือกข้าราชการ

(๓) "มิ่นแซจูหงี" หมายถึง ลัทธิอาชีวะของราษฎร ประกอบด้วย

(๓.๑) การจัดแบ่งสิทธิอำนาจในการถือครองที่ดินที่มีความเท่าเทียมกัน
(๓.๒) อำนาจในการแสวงทรัพย์สำหรับประกอบอาชีพ และการสนับสนุนการลงทุน เป็นต้น (23)

เนื้อหาหลักที่จัดว่ามีอิทธิพลค่อนข้างมาก คือ การแยก "ชาติ" ออกจาก "กษัตริย์" แล้วจัดการกลับหัวเป็นท้าย ชาติถูกถือเป็นหน่วยทางสังคมการเมือง ที่ครอบคลุมพลเมืองจากทั่วภูมิภาคของประเทศร้อยรัดเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน ส่วนกษัตริย์ถูกถอดออกจากความเป็นสถาบันกลายเป็นเพียงเรื่องส่วนตัวของคนชั้นสูงระบอบเก่า. ด้วยสำนึกในนิยามใหม่นี้เองที่การรวมศูนย์ความจงรักภักดีเกิดการเปลี่ยนย้ายจากสถาบันกษัตริย์เป็นชาติบ้านเมือง. พร้อมกันนั้นก็เกิดการเรียกร้องต่อราษฎรให้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงรูปสำนึก ตลอดจนถึงลักษณะความจงรักภักดีที่เคยเป็นมาในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้าสู่ขั้นตอนการสถาปนาระบอบรัฐประชาชาติ ซึ่งในการเปลี่ยนย้ายบริบทสำคัญดังกล่าว ซุนยัตเซ็น ตามคำแปลที่ทรงอิทธิพลของ ต. บุญเทียม อธิบายไว้ว่า :

"...แต่ทว่าได้เคยเห็นมาหลายแห่งแล้วในที่อื่น ๆ ซึ่งไม่เคยมีทหารพักก็รื้อถากตัว "ตง" ออกเสียทุกแห่ง โดยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงเข้าใจความหมายของราษฎรได้ดีว่าเดี๋ยวนี้เปลี่ยนการปกครองเป็น "มิ่นก๊ก" ประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องพูดถึงตัว "ตง" อีกแล้ว คงเนื่องจากเห็นว่า "ตง" ใช้เฉพาะในครั้งโบราณสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ต้องใช้คำว่า "ตง" อีก

ถ้าหากจะทิ้งคำว่า "ตง" นี้เสีย ขอถามทีเถอะว่าชาติเรามีประเทศไหม? และคำว่า "ตง" นั้น จะใช้สำหรับประเทศไม่ได้หรือ ? พวกเราเวลานี้จะว่า "ซื่อตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน" ไม่ได้ แต่ถ้าจะว่า "ซื่อตรงต่อราษฎร" หรือ "ซื่อตรงต่อการงาน" จะได้หรือไม่?

ไม่ว่าการงานสิ่งใดถ้าเราได้ทำลงแต่แรกแล้ว เราต้องพยายามทำจนสำเร็จ ถ้าหากไม่เป็นผลสำเร็จถึงแม้จะต้องเอาชีวิตเข้าแลก เราก็ไม่มีความเสียดาย นี่คือความหมายของ "ตง" เพราะฉะนั้นคนโบราณอธิบายคำว่า "ตง" ผลที่สุดก็คือความตาย คำว่า "ตง" ที่คนโบราณอธิบายนั้น เป็น "ความซื่อตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน"

เวลานี้ประเทศจีนไม่มีพระเจ้าแผ่นดินแล้ว พวกเราก็ทิ้งคำว่า "ตง" เสีย เป็นความเข้าใจผิดถ้าใครคิดไปเช่นนั้น เวลานี้คนทั้งหลายว่าถึงแผ่นดินมิ่นก๊กแล้ว มารยาทที่ดีเลยหายสาปสูญไปสิ้น ถ้าเพราะพลเมืองคิดผิดไปเช่นนี้ พวกเราอยู่ในแผ่นดินมิ่นก๊กยังต้องรักษาคำว่า "ตง" นี้อยู่เสมอ เราไม่ซื่อตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน ก็ต้องซื่อตรงต่อบ้านเมืองซื่อตรงต่อราษฎร เราต้องซื่อตรงต่อพลเมืองสี่ร้อยล้านของเรา เพราะฉนั้นคำว่า "ตง" นี้เราต้องรักษาไว้จะทิ้งเสียมิได้...

คำว่า "เฮ่า" ยิ่งเป็นคุณสมบัติของพลเมือง ซึ่งอยู่ในประเทศที่ปกครองโดยประชาธิปไตยจำต้องรักษาไว้ ถ้าปฏิบัติตาม "ตงเฮ่า" ความซื่อตรงกตัญญูได้ดี ประเทศบ้านเมืองก็จะถึงซึ่งความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป..." (24)

มโนทัศน์ดังกล่าวมีอิทธิพลทั้งต่อกลุ่มคนจีนนักเคลื่อนไหวโพ้นทะเล และผู้ก่อการ ร.ศ. ๑๓๐ เองก็ยอมรับมโนทัศน์นี้ ดังเช่นจะเห็นได้จากคำให้การของ ร.ต.แย้ม ร.ต.พริ้ง ที่ให้เหตุผลเบื้องหลังที่คิดก่อการนั้นว่า "พระเจ้าแผ่นดินนั้นหาง่าย แต่บ้านเมืองหายาก" (25) และอย่างชัดเจนในคำให้การของ ร.ต. บุญ ที่อธิบายการกระทำของคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ว่าเป็นไปเช่นนั้นก็เพราะ เห็นว่าทหารและราษฎรควรจะ "ซื่อตรงต่อชาติของเรา ไม่ควรกตัญญูต่อคนคนเดียว" (26) นอกจากนี้อิทธิพลของมโนทัศน์ดังกล่าวยังนับได้ถึงช่วง ๒๔๗๕ อีกด้วย

เนื่องจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายทหารรุ่น ร.ศ. ๑๓๐ กับนายทหารรุ่นใหม่ยังคงมีอยู่ แม้ฝ่ายแรกจะถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏก็ตาม "ผู้ร้ายโปลิติก" ไม่ได้เผชิญการมองในแง่ลบเท่าไร (27) จากการเล่าของเผ่า ศรียานนท์ คนร่วมสมัยพบว่า นายทหาร ร.ศ. ๑๓๐ เมื่อพ้นโทษออกไปแล้วและใช้ชีวิตสามัญ บางส่วนที่เป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ยังคงวนเวียนติดต่อไปมาหาสู่กับนายทหารรุ่นใหม่อยู่ โดยใช้สโมสรนายทหารมหาดเล็กเป็นที่พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ นายทหารรุ่นใหม่มองการกระทำของนายทหาร ร.ศ.๑๓๐ ว่าเป็นวีรกรรมมากกว่าจะเป็นการกบฏ มีการสอบถามเรื่องราวเมื่อครั้งคิดก่อการกันอยู่เสมอ กรณี ร.ศ. ๑๓๐ กลายเป็นเรื่องเล่าที่สำคัญภายในกองทัพไปในที่สุด นอกจากที่ยังมีการเผยแพร่แนวความคิดลัทธิไตรราษฎร์โดย ร.ต.ถัด อีกด้วย เช่นที่เผ่าเล่าว่า :

"พอข่าวจะเงียบหายไป คณะหนังสือพิมพ์หลักเมืองของนาย ต. บุญเทียม เจ้าของโรงพิมพ์หลักเมือง ก็เผยแพร่ลัทธิไตรราษฎร์หรือซามิ่นจูหงีขึ้น ซึ่งลัทธินี้เป็นการต่อสู้อย่างน่าสนใจ ของคณะก๊กมินต๋องที่ต่อสู้มากับระบบเจ้าขุนมูลนายเป็นผลสำเร็จ และได้รับการต่อสู้ผลักดันกับฝ่ายกองทัพ คอมมูนิสต์ในภายหลัง คำว่าเก็กเหม็งหรือการปฏิวัติก็เริ่มเผยแพร่ เข้ามาในความรู้สึกของคนไทย เพราะพวกทหารที่คิดเก็กเหม็งหรือคิดการปฏิวัติในรัชกาลก่อนนั้น ก็มาทำงานตามโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพิมพ์ศรีกรุง เชิงสะพานมอญ และคำภาษาไทยใหม่ ๆ ก็ได้เกิดขึ้นขนานกับลัทธิไตรราษฎร์ของ ดร.ซุนยัดเซ็น ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์หลักเมือง เช่น คำว่า เสมอภาค ภราดรภาพ ดั่งนี้เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเร้าอารมณ์ของนายทหารหนุ่ม ๆ ยิ่งหนังสือพิมพ์หลักเมืองถูกปิด ก็ทำให้นายทหารเป็นจำนวนมากแอบซื้อหนังสือพิมพ์นี้มาอ่าน" (28)

จากนั้นกรณีหนังสือพิมพ์หลักเมือง, โรงพิมพ์ศรีกรุง, ลัทธิไตรราษฎร์, การเคลื่อนไหวของคนจีน, ผู้ก่อการ ร.ศ. ๑๓๐ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ได้มาบรรจบภายใต้บริบทเดียวกันในที่สุด กล่าวคือ หลังจากนั้นไม่นาน :

"ลัทธิเก๊กเหม็งหรือปฏิวัติแบบ ดร. ซุนยัดเซ็น ก็กระพือพัดไปทั่ว นายทหารที่คิดการปฏิวัติเมื่อ ร.ศ. ๑๓๐ ก็เริ่มเป็นดาราดวงเด่นขึ้น มีคนอยากรู้อยากฟังเรื่องปฏิวัติใน ร.ศ. ๑๓๐ และส่วนมากของนายทหารซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น ก็เข้าทำงานเปลี่ยนอาชีพอยู่ตามโรงพิมพ์เป็นส่วนมาก ผู้ที่ขึ้นชื่อลือนามที่สุด คือ ร.ต. บ๋วย บุญยรัตน์พันธุ์ เป็นนักเขียนเริงรมย์ทางสวาทชั้นยอด ร.ต.บ๋วย ทำงานอยู่ที่โรงพิมพ์ศรีกรุง ได้มีโอกาสมาเยี่ยมทหารมหาดเล็กบ่อย ๆ และชอบเล่าเรื่องการปฏิวัติใน ร.ศ. ๑๓๐... แล้วสังคมก็ครื้นเครงเร้าอารมณ์ไปในทางเลื่อมใส ร.ต. บ๋วย บุญยรัตน์พันธุ์เป็นอย่างยิ่ง

ร.ต. บ๋วย บุญยรัตน์พันธุ์ จัดส่งหนังสือพิมพ์มากำนัลแก่ห้องสมุดทหารมหาดเล็ก เรื่องสวาทขนาดหนัก ก็ส่งเสริมให้คนอ่านมากขึ้น และชอบพอในอารมณ์สนุกและขบขันของ ร.ต. บ๋วย บุญยรัตน์พันธุ์ ต่อมาได้มีคำสั่งห้ามมิให้นายทหารชักชวนคนภายนอกเข้ามา เพราะสโมสรของนายทหารมหาดเล็กอยู่ติดกับกองรักษาการ หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจะไม่เป็นที่เหมาะสม ร.ต. บ๋วย ก็ไม่เข้ามาในสโมสรอีก แต่ยังคงตั้งวงเลี้ยงกันข้างนอกรอบ ๆ สวนเจ้าเชตุ บางวันก็ไปกินกันตามร้านใหญ่ ๆ เช่น ฮงเฮง ฮั่วตุ้น แล้วแต่ฐานะการเงินจะมีมากน้อยเพียงใด..." (29)

๔. นัยความเคลื่อนไหวฯ นั้นมีอะไร ?
กรณี ร.ศ. ๑๓๐ ที่กลายเป็นเรื่องเล่าทรงพลังทำให้ภายในกองทัพเกิดปั่นป่วน เนื่องจากมีข่าวแพร่สะพัดออกไปว่า จะมีนายทหารรวมตัวกันคิดการเหมือนเมื่อครั้ง ร.ศ. ๑๓๐ เสนาธิการทหารบกที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งใหม่ คือ พล. ท. พระยาสีหราชเดโชชัย ถึงขนาดกำชับกับนายทหารที่ตนไว้วางใจให้เตรียมการป้องกัน โดยหมั่นควบคุมดูแลทหารในบังคับบัญชาให้อยู่ในระเบียบมากขึ้น แต่กลับยิ่งมีผลทำให้ข่าวแพร่กระจายในกองทัพออกไปอีก เผ่าเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ร.ต.บ๋วย มีนัยสำคัญ เช่นว่า :

"ร.ต. บ๋วย บุญยรัตน์พันธุ์ อาจารย์แห่งการเก๊กเหม็ง ก็หัวร่อง่วนในวงสุราว่า "เห็นไหมล่ะ ผมว่าแล้วมีข่าวแปร่ง ๆ ในหมู่ทหารบกพวกเรานี้ เมืองไทยนั้นถึงคราวมาช้านาน ถ้าพร้อมเพรียงกันเป็นสำเร็จแน่"" (30)

นอกจากศรีกรุง หลักเมือง และจีนโนสยามวารศัพท์แล้ว หนังสือพิมพ์ที่กลุ่มผู้ก่อการ ร.ศ. ๑๓๐ ได้มีส่วนสัมพันธ์ด้วยนั้นยังได้แก่ บางกอกการเมือง และสยามรีวิว เป็นต้น บางกอกการเมือง กำเนิดในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ โดยมีนายหอม นิลรัตน์ เป็นเจ้าของ และมีนายเสม สุมานันท์ เป็นบรรณาธิการเมื่อแรกตั้ง ภายหลังได้รับความช่วยเหลือ เปลี่ยนแปลงผู้ประกอบการและผู้ถือหุ้นรายสำคัญคือ นายอุทัย เทพหัสดินทร์ อดีตล่ามกระทรวงยุติธรรม และเป็นผู้ก่อการ ร.ศ. ๑๓๐ ส่วนบรรณาธิการคนสำคัญต่อจากเสมนั้นได้แก่ นายบุญเติม โกมลจันทร์ [อาจารย์ผู้ตั้งนามปากกา "ศรีบูรพา" แก่กุหลาบ สายประดิษฐ์] บางกอกการเมืองเป็นหนังสือพิมพ์ที่เสนอข่าวและบทความ แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การเมืองการปกครองที่เป็นอยู่ขณะนั้นฉบับหนึ่ง มีบทความที่เขียนโดยผู้ก่อการ ร.ศ. ๑๓๐ (31)

ส่วนสยามรีวิว เป็นหนังสือพิมพ์ที่แตกแขนงออกมาจากบางกอกการเมืองและไทยหนุ่ม โดยมีคณะผู้ดำเนินการที่เคยทำงานอยู่ในกองบรรณาธิการบางกอกการเมือง และไทยหนุ่มมาก่อน เช่น นายสนิท เลาหะวิไล [เจ้าของแต่ในนาม ส่วนเจ้าของตัวจริงคือ นายพร้อม] นายชอ้อน อำพล เป็นบรรณาธิการ ข้อน่าสนใจก็คือ สยามรีวิว มีนักเขียนประจำที่มาจากผู้ก่อการ ร.ศ. ๑๓๐ เช่น นายจรูญ นายอุทัย นายบ๋วย เป็นต้น (32) จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่งานเขียนในสยามรีวิวจะมีความโดดเด่นตรงที่ มักวิพากษ์วิจารณ์การเมืองระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์

กระทั่งถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายรัฐบาลเสมอ โดยเฉพาะบทความที่ชื่อ "ราษฎรตื่นแล้ว" [ฉบับประจำวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๗๐] (33) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการเรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐสภา สำหรับเป็นที่แสดงความคิดเห็นของราษฎร (34) ขณะเดียวกับที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ ต่างก็มีบทความเรียกร้องในทำนองเดียวกัน เช่น เรื่อง "อำนาจเจ้า" ในหนังสือพิมพ์กรรมกร (35) เรื่อง "สิทธิแห่งราษฎร" ใน พิมพ์ไทย (36) เรื่อง "ให้ราษฎรมีเสียงในการเมือง" ใน บางกอกเดลิเมล์ (37) ฯลฯ

ผลกระทบที่จะเห็นได้ในชั้นถัดไปนั้น ได้แก่ การที่มีบางแนวคิดทรงอิทธิพลอย่างมาก สำหรับการเมืองในกระแสทางเลือกขณะนั้น "ประชาธิปไตย" มีความหมายตรงข้ามกับ "ราชาธิปไตย" และระหว่าง "ชาติ" กับ "กษัตริย์" นั้นมีการกลับหัวเป็นท้ายกันเกิดขึ้น กล่าวคือเดิม "ชาติ" ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นสิ่งที่ต้องยึดโยงเป็นรองหรือขึ้นต่อ "กษัตริย์" โดยเฉพาะ "ชาติ" ตามแนวพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (38) แต่ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทศวรรษ ๒๔๗๐ นั้น "กษัตริย์" ต้องขึ้นต่อและ / หรือมีความสำคัญน้อยลงโดยเปรียบเทียบกับ "ชาติ" ซึ่งมีความหมายเท่ากับอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอีกต่อหนึ่ง โดยที่ในความเป็นจริงจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

กล่าวเช่นนี้, การที่ "ชาติ" กับ "กษัตริย์" สัมพันธ์กันเช่นนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าก่อน ๒๔๗๕ จะไม่มี "ชาติ" จะถูกต้องกว่าถ้าบอกว่ามี แต่อยู่ในอีกรูปแบบหนึ่ง แม้ในทางโครงสร้างแล้ว "รัฐประชาชาติ" จะกำเนิดหลัง ๒๔๗๕ ก็จริง แต่ในเชิงอุดมคติ แนวคิด เป้าหมาย อุดมการณ์ ปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ แล้ว "ชาติ" มีรากกำเนิดมาก่อนหน้านั้น "รัฐประชาชาติ" กับ "ชาตินิยม" เป็นคนละสิ่งกัน อย่างหลังมีความยืดหยุ่นจนสามารถแยกจำแนกออกไปได้อีก ส่วนอย่างแรกยึดติดกับโครงสร้างซึ่งยากแก่การปรับเปลี่ยน ตรงข้ามกลับมักเข้มแข็งขึ้นตามลำดับพัฒนาการของการเมืองสมัยใหม่ ไม่ใช่เสมอไปที่รัฐประชาชาติจะเป็น "เหตุ" ให้เกิดแนวคิดและสิ่งประดิษฐ์ทางชาตินิยม แต่รัฐประชาชาติอาจเป็น "ผล" รวมจากการก่อเกิดของสิ่งเหล่านั้นอยู่ก่อนแล้ว ถ้าบอกไม่มี "ชาติ" ก่อน ๒๔๗๕ โดยตรรกะ [หรือในทางตรงข้าม] แล้วก็เท่ากับบอกว่าหลัง ๒๔๗๕ ไม่มี "กษัตริย์" ซึ่งจะผิดพลาดจนน่าขันเสียมากกว่า !!

อย่างไรก็ตาม การที่ "กษัตริย์" ต้องเป็นรองและขึ้นต่อ "ชาติ" นี้เองทำให้เกิดความเป็นไปได้ทั้งในทฤษฎีและการปฏิบัติ สำหรับแนวคิดสาธารณรัฐนิยมในสังคมไทย ในความเป็นจริงแนวคิดดังกล่าวก็ได้รับความสนใจ และหยั่งรากลึกในความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองกระแสทางเลือกร่วมสมัย แต่ก็เพียงชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น โดยผลกระทบของการเคลื่อนไหวแนวคิดดังกล่าวเห็นได้ทางหนึ่งก็เช่นในคำประกาศกร้าวของคณะราษฎรที่ว่า

"ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตน ว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา" (39) ก่อนที่กษัตริย์นิยมแบบหนึ่ง กับระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญจะเป็นทางออกที่ถูกเลือกในท้ายสุด [?]

+++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) หจช. ร. ๗ ม. ๒๖. ๕/๒๐.

(2) โปรดดู จันทร์ฉาย ภัคอธิคม. ประวัติศาสตร์จักรวรรดิจีน [ กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๒].

(3) โปรดศึกษารายละเอียดจากงาน เช่น ป. ดำเกิง. ชีวประวัติ ดร. ซุนยัตเซ็น [กรุงเทพฯ: บันดาลสาส์น, ๒๕๑๕]; เขียน ธีระวิทย์. วิวัฒนาการการปกครองของจีน. [กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๑๗]; Lucian W. Pye. China: An Introduction. Boston : Little, Brown and Company, 1972 ; วรศักดิ์ มหัทธโนบล. คือ "ฮากกา" คือ "จีนแคะ" [กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๗] น. ๑๔๐ - ๑๔๘, ๑๕๐ - ๑๕๔, ๑๖๗ - ๑๗๐.

(4) เซี่ยกวง. กิจกรรมทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย [ค.ศ.1906 - 1939]. แปลโดย เชาวน์ พงษ์พิชิต [กรุงเทพฯ: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๖] น. ๓.

(5) เพิ่งอ้าง, น. ๓- ๔.

(6) เพิ่งอ้าง, น. ๔.

(7) เกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของเซียวฮุดเส็งนั้นโปรดดู เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์. เซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง: ทัศนะและบทบาทของจีนสยามในสังคมไทย. [กรุงเทพฯ : ศูนย์ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศในเอเชีย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๗].

(8) เซี่ยกวง. กิจกรรมทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย, น. ๖.

(9) เออิจิ มูราชิมา. การเมืองจีนสยาม: การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ค.ศ. ๑๙๒๔ - ๑๙๔๑. ร่วมแปลและบรรณาธิการโดย วรศักดิ์ มหัทโนบล [ กรุงเทพฯ: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๙] น. ๑.

(10) เพิ่งอ้าง, หน้าเดียวกัน.

(11) เซี่ยกวง. กิจกรรมทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย, น. ๑๐.

(12) จี. วิลเลียม สกินเนอร์. สังคมจีนในประเทศไทย [Chinese Society in Thailand : An Analytical History]. แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ และคนอื่น ๆ [กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๒๙].

(13) เพิ่งอ้าง, น. ๑๖๑.

(14) เพิ่งอ้าง, น. ๒๔๐.

(15) หจช. ร. ๗ ม. ๒๖. ๔/๔.

(16) เพิ่งอ้าง ; อีกที่ใน หจช. ร. ๗ ม. ๒๖. ๔/๑๔๙.

(17) โปรดดู ซุน ยัตเซ็น. ลัทธิไตรราษฎร์ [ซามิ่นจูหงี]. แปลโดย ต. บุญเทียม. พิมพ์ครั้งที่ ๒. [พระนคร: โรงพิมพ์อักษรโสภณ, ๒๔๙๕].

(18) โปรดดู "ประวัตินาย ต. บุญเทียม" ใน ซุน ยัตเซ็น. ลัทธิไตรราษฎร์ [ซามิ่นจูหงี]. อ้างแล้ว, น. ๑๖๖ - ๑๗๒.

(19) "พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสม์ พุทธศํกราช ๒๔๗๖." ราชกิจจานุเบกษา [แผนกกฤษฎีกา]. เล่ม ๕๐, วันที่ ๒๐ เมษายน พุทธศํกราช ๒๔๗๖ นอกจากนี้มาตรา ๔ ยังระบุ "ผู้ใดสนับสนุนส่งเสริมลัทธิคอมมิวนิสม์หรือลัทธิคอมมิวนิสม์ด้วยวาจา หรือลายลักษณอักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายใด ๆ ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑๐ ปี และให้ปรับไม่เกิน ๕๐๐๐ บาทด้วยอีกโสดหนึ่ง."

(20) "พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสม์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๘." ราชกิจจานุเบกษา [แผนกกฤษฎีกา]. เล่มที่ ๕๒, วันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘.

(21) "พระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายว่าด้วยคอมมิวนิสม์ พุทธศักราช ๒๔๘๙." ราชกิจจานุเบกษา [แผนกกฤษฎีกา]. ตอนที่ ๗๓ เล่มที่ ๖๓, วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๙.

(22) โปรดศึกษารายละเอียดของประเด็นปัญหาดังกล่าวในบทความ ๓ ชิ้น โดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ [ "ปัญหาการศึกษาผู้นำทางการเมือง: แนวความคิดและข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการศึกษาเชิงประวัติ." ] ธวัชชัย สาครินทร์ [ "ชีวประวัติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม: แนวการศึกษาและปัญหา." ] และอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ [ "ปัญหาการเขียนประวัติจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์." ] ใน บทความประกอบการสัมมนากึ่งศตวรรษธรรมศาสตร์: 2477-2527. เอกสารวิชาการหมายเลข 47 จัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๗.

(23) โปรดดู ซุน ยัตเซ็น. ลัทธิไตรราษฎร์[ซามิ่นจูหงี], อ้างแล้ว.

(24) เพิ่งอ้าง, น. ๓๔๙.

(25) หจช. ร.๖ บ. ๑๗/๑.

(26) หจช. ร.๖ บ. ๑๗/๔.

(27) "ผู้ร้ายโปลิติก" เป็นคำที่นำมาจาก หจช. ร. ๗ ม. ๒๖. ๔/๒๙.

(28) พล. ต. อ. เผ่า ศรียานนท์. "เหตุการณ์ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองและการชิงอำนาจระหว่างผู้ก่อการ." เบื้องแรกประชาธิปตัย: บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ. 2475 - 2500. [ กรุงเทพฯ: สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย, ๒๕๑๖] น. ๑๒๕.

(29) เพิ่งอ้าง, น. ๑๓๑.

(30) เพิ่งอ้าง, น. ๑๓๕.

(31) อัจฉราพร กมุทพิสมัย. ปัญหาภายในสังคมไทยก่อนการปฏิวัติ 2475: ภาพสะท้อนจากงานเขียนหนังสือพิมพ์. [กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๒] น. ๕๐.

(32) เพิ่งอ้าง, น. ๕๑.

(33) นสพ. สยามรีวิว, วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐.

(34) อัจฉราพร กมุทพิสมัย. ปัญหาภายในสังคมไทยก่อนการปฏิวัติ 2475, น. ๕๓.

(35) นสพ. กรรมกร, วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๕.

(36) นสพ. พิมพ์ไทย, วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๔.

(37) นสพ. บางกอกเดลิเมล์, วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๔.

(38) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว [อัศวพาหุ]. ความเป็นชาติโดยแท้จริง. กรุงเทพฯ: รวมสาส์นการพิมพ์, ๒๕๒๐.

(39) "แถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ ๑." อ้างถึงใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูต. เอกสารการเมือง-การปกครองของไทย พ.ศ. ๒๔๑๗ - ๒๔๗๗. [กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๑๘] น. ๒๑๐.

+++++++++++++++++++++++++++++++++

ความคิดเห็นจากผู้อ่าน
ในบทความดังกล่าวคุณกำพลบอกว่า
ตามข้อเท็จจริงแล้วปรากฏว่าชาวจีนโพ้นทะเลส่วนมาก มักมีความไม่พอใจต่อระบบกษัตริย์ ซึ่งเป็นคนละเชื้อชาติกับพวกเขาอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พ่อมีความบกพร่องเกินกว่าจะเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่พ่อที่แท้จริงโดยสายเลือด แต่เป็นพ่อบุญธรรมผ่านการได้อำนาจปกครอง จักรพรรดิแมนจูในฐานะสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถผูกขาดความจงรักภักดีแก่ราษฎรชาวฮั่น ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ส่วนข้างมากของจีนแผ่นดินใหญ่ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ฐานะความเป็น "เทียน" หรือโอรสสวรรค์มีได้จริงก็ในรัฐจารีตของชาวฮั่น สายเลือดพระเจ้าฮั่นโกโจ ผู้ทรนงว่าตนเป็นศูนย์กลางของโลกในสมัยโบราณเท่านั้น ราชสำนักไต้เชงในรัชกาลท้าย ๆ [โดยเฉพาะภายใต้อำนาจของพระนางซูสีไทเฮา] ก็เต็มไปด้วยความเสื่อมโทรม ทั้งอ่อนแอ และบอบช้ำจากความพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น การเกิดขึ้นของกบฏชาวนา เช่น กรณีสมาคมดอกบัวขาว และขบวนการไถ้ผิง การรุกรานของต่างชาติ ฯลฯ (2)

2) โปรดดู จันทร์ฉาย ภัคอธิคม. ประวัติศาสตร์จักรวรรดิจีน [ กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๒].

ผมขอเรียนชี้แจงให้คุณกำพลทราบนะครับว่า
"เทียน" หมายถึงสวรรค์ หรือ ฟ้า
ถ้าจะพูดถึงโอรสสวรรค์ต้องใช้คำว่า "เทียนจื่อ" นะครับ

ส่วนการเป็นชาวฮั่น คนจีนไม่ได้หมายถึงการสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าฮั่นเกาจู่ (ฮั่นโกโจ) ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์ฮั่นนะครับ หากแต่หมายถึงการสืบเชื้อสายจากหวงตี้และเหยียนตี้ ผู้เป็นกษัตริย์ในยุคปรัมปราของจีน

ส่วนที่คุณกำพลอ้างงานของ ศ.จันทร์ฉาย ภัคอธิคม นั้น ผมขอเรียนด้วยความเคารพว่า งานของนักวิชาการท่านดังกล่าวนั้นมีเนื้อหาหลายตอนที่ล้าสมัยไปแล้ว ระยะหลังเกิดข้อเสนอใหม่ๆทางประวัติศาสตร์ยุคราชวงศ์ชิงมากขึ้น ลองอ่านหนังสือThe Last Emperors: A Social History of Qing Imperial Institutions by Evelyn S. Rawski.
แล้วจะรู้ว่าจักรพรรดิราชวงศ์ชิงมีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย
ในสายตาของชาวฮั่น พระองค์คือโอรสสวรรค์
ในสายตาของชาวทิเบต พระองค์คือพระโพธิสัตว์มัญชูศรี
ในสายตาของนักรบชาวมองโกล พระองค์คือข่านผู้อยู่เหนือข่านทั้งปวง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ชาวจีนศีกษา


 

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



010649
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
บทความจากสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความลำดับที่ ๙๓๔ เผยแพร่ครั้งแรก ๑ มิถุนายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related
ข้อความบางส่วนจากบทความ
ตามข้อเท็จจริงแล้วปรากฏว่าชาวจีนโพ้นทะเลส่วนมาก มักมีความไม่พอใจต่อระบบกษัตริย์ ซึ่งเป็นคนละเชื้อชาติกับพวกเขาอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พ่อมีความบกพร่องเกินกว่าจะเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่พ่อที่แท้จริงโดยสายเลือด แต่เป็นพ่อบุญธรรมผ่านการได้อำนาจปกครอง จักรพรรดิแมนจูในฐานะสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถผูกขาดความจงรักภักดีแก่ราษฎรชาวฮั่น ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ส่วนข้างมากของจีนแผ่นดินใหญ่ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ฐานะความเป็น "เทียน" หรือโอรสสวรรค์มีได้จริงก็ในรัฐจารีตของชาวฮั่น สายเลือดพระเจ้าฮั่นโกโจ ผู้ทรนงว่าตนเป็นศูนย์กลางของโลกในสมัยโบราณเท่านั้น ราชสำนักไต้เชงในรัชกาลท้าย ๆ [โดยเฉพาะภายใต้อำนาจของพระนางซูสีไทเฮา] ก็เต็มไปด้วยความเสื่อมโทรม ทั้งอ่อนแอ และบอบช้ำจากความพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น การเกิดขึ้นของกบฏชาวนา เช่น กรณีสมาคมดอกบัวขาว และขบวนการไถ้ผิง การรุกรานของต่างชาติ ฯลฯ

เหตุนี้ขบวนการปฏิวัติที่นำโดย ดร. ซุนยัตเซ็น จึงประสบความสำเร็จและได้รับความช่วยเหลือจากชาวจีนโพ้นทะเลอย่างเหนียวแน่น เพราะเป็นกลุ่มขบวนการที่แสดงจุดยืนอย่างมั่นคงว่าต้องการโค่นล้มราชวงศ์ชิงเพื่อสถาปนาการปกครองระบอบสาธารณรัฐ "เก๊กเหม็ง" กลายเป็นทั้งคำอธิบายอันทรงพลังของขบวนการ ควบคู่กับที่เป็นคำกล่าวหาว่าร้ายสร้างปีศาจทางการเมืองให้แก่ฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล ขณะที่กลุ่มผู้ก่อการจริง ๆ กลับไม่ถูกพูดถึงเท่าที่ควร...