เรื่องของเศรษฐกิจประเทศไทย
หัวเรื่องเศรษฐกิจ:
"จีดีพี.สีเขียว"ปะทะ"เอฟทีเอ.สีดำ"
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ทำหน้าที่สารานียกรบทความที่ได้รับมา
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ประกอบด้วยผลงาน ๓ ชิ้นคือ
(ก) โลกของหม่อมอุ๋ย
เมื่อจีดีพีไม่เป็นใหญ่
(ข) รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ : ชี้ผลการศึกษา FTA ไทย-ออสเตรเลีย
(ค) คำแถลงกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 927
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
8.5 หน้ากระดาษ A4)
หัวเรื่องเศรษฐกิจ :
"จีดีพี.สีเขียว"ปะทะ"เอฟทีเอ.สีดำ"
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(ก) โลกของหม่อมอุ๋ย
เมื่อจีดีพีไม่เป็นใหญ่
คำบรรยายของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือหม่อมอุ๋ย
ระหว่างการปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ในหัวข้อ 'ค่านิยมของสังคมที่เปลี่ยนไป'
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นมีความน่าสนใจ เพราะเป็นการพูดของนักเศรษฐศาสตร์และนักการบริหารซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบการเงินของประเทศ
และที่สำคัญคือ พูดเรื่องเศรษฐกิจในมิติอื่นๆ ที่มีความหมายกับชีวิตประชาชนนอกเหนือไปจากเรื่องของ
"จีดีพี"
จีดีพี หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เป็นดัชนีชี้วัดซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ และผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่ให้ความสนใจ เพราะถูกใช้เป็นมาตรวัดที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ จีดีพีเป็นดัชนีที่บอกว่าในแต่ละปีมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นผ่านระบบตลาดมากน้อยเพียงไร ยิ่งจีดีพีสูง หมายถึงเศรษฐกิจมีการเติบโตในทางปริมาณที่มาก ซึ่งหากเชื่อตามทฤษฎีไอติมแท่งละลายหรือน้ำล้นถ้วย (คือความมั่งคั่งของคนกลุ่มหนึ่งจะไหลลงมาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ถึงคนกลุ่มอื่นๆ ไปด้วย) จีดีพีโตจะนำไปสู่การผลิตและการบริโภคที่เพิ่มขึ้น การจ้างงานมากขึ้น ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ฯลฯ
ไม่รู้ว่าคุณทักษิณและคุณสมคิดคิดถึงอะไรเวลาพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจ แต่ทั้งสองคนต่างให้ความสนใจกับเรื่องจีดีพีและเป้าหมายการส่งออกมาก เพราะต้องการให้การส่งออกเป็นตัวจักรผลักดันให้จีดีพีอยู่ในระดับที่น่าประทับใจ ในขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมให้มีการบริโภคภายในอย่างมากผ่านนโยบายประชานิยมต่างๆ โดยต้องการให้การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนจีดีพีในอีกทางหนึ่ง
หม่อมอุ๋ยกล่าวถึงมาตรวัดทางเศรษฐกิจของผู้คนในสังคมไทยว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจ และภาคเศรษฐกิจให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางขนาดเป็นสำคัญ ประชาชนชื่นชมกับการมีธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลประกอบการและกำไรสูง นักธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ก็ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีการควบรวมกิจการกัน เพราะทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันทำให้เกิดการผูกขาดทางการตลาด สำหรับรัฐบาลก็มุ่งให้จีดีพีของประเทศเติบโตอย่างสูง จึงเน้นโครงการลงทุนขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจ็กท์ และต้องการเห็นดัชนีในตลาดหลักทรัพย์สูงขึ้น ทำให้ละเลยการกระจายรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนรวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมไป
หม่อมอุ๋ยเสนอว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ควรถูกวัดจากจีดีพีเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรและการอนุรักษ์ ให้มีระบบการดูแลทรัพยากรที่ดี เช่น มีระบบจัดการน้ำ และทั้งหมดนี้อยู่แนวคิดที่เรียกว่าจีดีพีสีเขียว คล้ายๆ กับที่ในภูฏานก็มีสิ่งที่เรียกว่า ความสุขมวลรวมประชาชาติ (จีเอ็นเอช)
แล้วโลกของหม่อมอุ๋ยที่จีดีพีไม่ได้เป็นใหญ่ จะมีลักษณะเป็นอย่างไร
- ระบบขนส่งมวลชนที่ดีมีคุณภาพจะมีมากขึ้น มีช่องบนถนนสำหรับขี่จักรยาน รัฐบาลเลิกจับรถไฟฟ้าเป็นตัวประกันต่อรองกับประชาชนและพรรคการเมืองอื่น เพราะต้องการให้เกิดการประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ลดการขาดดุลการค้าและรักษาคุณภาพทางอากาศและคุณภาพปอดของคนเมืองใหญ่ให้สะอาด
- ประชาชนจะเข้าโรงพยาบาลน้อยลงเพราะรัฐบาลสนับสนุนให้กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ และรู้จักรักษาสุขภาพตนเองมากขึ้น หรือ ประชาชนจะมีบริการด้านสาธารณสุขที่ดีและเข้าถึงได้ดีขึ้น เพราะการที่ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น สำคัญกว่าการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (เมดิคอลฮับ) เป็นไหนๆ
- งานบ้านของคุณแม่บ้านจะได้รับความสำคัญมากขึ้นในฐานะที่ทำประโยชน์ให้กับระบบเศรษฐกิจ รัฐมีนโยบายสนับสนุนการทำงานบ้านและเลี้ยงดูลูกของผู้หญิง
- ปัญหาภาคใต้ที่ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิต และวิถีในการดำเนินชีวิตตามปกติของตนไป ทำให้รัฐบาลร้อนใจ เพราะส่งผลให้ดัชนีจีดีพีเขียวติดลบเสียยิ่งกว่าปริมาณการส่งออกที่ลดลง จึงหันกลับมาให้ความสนใจและจริงจังกับการแก้ปัญหาที่รากเหง้าเสียที
- โครงการขนาดใหญ่จะถูกทบทวนให้ลดขนาดลง เพราะมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและเป็นมิตรกับชุมชนรอบข้างมากกว่า โดยประชาชนได้อาศัยความรู้ความเข้าใจและความต้องการของตนและชุมชนในการร่วมกำหนดลักษณะของโครงการด้วย
- ระบบเตือนภัยธรรมชาติจะได้รับผลักดันอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตโดยไม่จำเป็น หรือประชาชนและรัฐบาลตระหนักในความจำเป็นต้องรักษาธรรมชาติ เพื่อให้ธรรมชาติช่วยบรรเทาอุทุกภัยหรือปัญหาดินถล่มที่อาจจะเกิดขึ้นอีก ฯลฯ
ความเป็นไปได้ของจีดีพีสีเขียว มีได้หลายทางขึ้นอยู่กับว่าการประเมินคุณค่าใช้กรอบใดในการประเมิน ประเมินได้ใกล้เคียงความจริงเพียงใด และเมื่อประเมินออกมาแล้ว ผลได้หรือผลเสียอย่างใดจะมากกว่ากัน แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้โลกของหม่อมอุ๋ยแตกต่างไปจากโลกของคุณทักษิณและคุณสมคิด คือ มีสิ่งอื่นที่สำคัญเทียบเท่าหรือมากกว่าเรื่องเงิน และความมั่งคั่งทางด้านการเงินในการบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศ
หม่อมอุ๋ยอาจจะไม่ได้มองไปไกลถึงการคิดคำนวณปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างให้เข้ามาอยู่ในดัชนีชี้วัดนี้ แต่อย่างน้อยที่สุด"จีดีพีเขียว"ของหม่อมอุ๋ย หรือ"จีเอ็นเอช"ของภูฏานก็สะท้อนต้นทุน และผลได้ที่เป็นจริงในทางเศรษฐศาสตร์มากกว่าจีดีพีแบบเดิม และก็น่าจะบอกได้ดีกว่าดัชนีตัวเดิมว่า ความพยายามในการดันจีดีพีให้โป่งพองนั้น มันนำไปสู่คุณภาพชีวิตและการจ้างงานที่ดีขึ้นแน่หรือ
ถ้าประเทศไทยมีจีดีพีสีเขียวอย่างที่หม่อมอุ๋ยว่า คนไทยจะเข้าใจระบบเศรษฐกิจและความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันขึ้นอีกมาก คนกรุงเทพจะเข้าใจว่าเหตุการณ์ดินถล่มและอุทกภัยที่อุตรดิตถ์ เกี่ยวข้องกับการพึ่งพารถยนต์ส่วนตัว และพฤติกรรมการบริโภคของเราด้วยอย่างไร ความเข้าใจนั้นจะเกิดจากการที่ต้นทุนบางส่วนที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคเคยผลักไสให้ไปอยู่นอกกระบวนการคิดคำนวณราคานั้น "ถูกทำให้มีตัวตน" ขึ้น มองเห็นและสัมผัสได้จริง ผ่านการให้ค่ากับมัน
ในขณะเดียวกัน ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นนอกกระบวนการคำนวณรายได้หรือกำไรซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาวะของสิ่งแวดล้อมและคนอื่นๆ ในสังคม เช่น การดำรงอยู่ต่อไปของป่าเขาใหญ่ - ดงพญาเย็น อันอุดมสมบูรณ์ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยไม่ถูกเบียดเบียนจากการสร้างถนนตัดป่าของกรมทางหลวง, การจับปลาโดยเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก ซึ่งช่วยรักษาทรัพยากรประมงได้ดีกว่าเรือปั่นไฟขนาดใหญ่, หรือตัวอย่างง่ายๆ ของการทำงานอาสาสมัครก็จะได้รับการให้ "ค่า" และ "คุณค่า" ในเวลาเดียวกัน และเราจะเห็นว่ามีผลประโยชน์ที่ได้อีกมากมาย จากการทำหรือไม่ทำกิจกรรมบางอย่างที่ไม่ได้ถูกนำมารวมไว้
ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม หรืออาจรวมถึงในเชิงวัฒนธรรมและทางการเมืองด้วยก็เป็นได้ เช่น ในเชิงการเมือง จีดีพีเขียวยังมีนัยยะไปถึงกระบวนการตัดสินใจดำเนินนโยบายหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจใดๆ ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นด้วย เพราะการวัดจีดีพีเขียวจะต้องได้รับข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งกว้างไปกว่าแค่เจ้าของโรงงาน หรือผู้ป้อนวัตถุดิบ แต่ยังหมายถึง ชุมชนรอบข้างที่ได้รับผลกระทบ ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และผู้บริโภคสินค้าและบริการ เป็นต้น
แม้ว่าการไปสู่จีดีพีเขียวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากประเทศไทยจะเจริญเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต มีความสามารถในการแข่งขันบนพื้นฐานของเสถียรภาพและความสมานฉันท์ ไม่ใช่ความสามารถในการแข่งขันบนซากปรักหักพังทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมของชุมชนแล้ว การมองหาดัชนีชี้วัดที่ดีกว่าจีดีพี เพื่อวัดคุณภาพของการเจริญเติบโตและการพัฒนาเป็นเรื่องที่จำเป็น ขอสนับสนุนหม่อมอุ๋ยและธนาคารแห่งประเทศไทยเต็มที่หากจะผลักดันการทำจีดีพีเขียวให้มีความสำคัญขึ้นมาจริงๆ สำหรับประเทศไทย
สำหรับรัฐบาล เนื่องจากท่านนิยมการเป็นศูนย์กลางของอะไรต่อมิอะไรในภูมิภาคมาก น่าจะลองคิดโครงการใหม่สำหรับประเทศไทยอีกโครงการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนา "แบบจีดีพีเขียว" แห่งภูมิภาคดูบ้าง ประเทศไทยน่าจะดูดีกว่าที่เป็นอยู่อีกเยอะ
25 พฤษภาคม 2549
ได้รับมาจาก - "Sajin Prachason" <[email protected]>
(ข) รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
: ชี้ผลการศึกษา FTA ไทย-ออสเตรเลีย
ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เผยถึงผลการศึกษาวิจัยผลกระทบจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย
โดยชี้ให้เห็นว่า ลักษณะเด่นของการทำ FTA ไทย-ออสเตรเลียนั้นอยู่ที่กระทำโดยรัฐบาลที่ขาดธรรมาภิบาล
ผลประโยชน์กระจุกตัว แต่ผลเสียหายแผ่กระจายอย่างกว้างขวางสาหัส ซึ่งนอกจากภาคการผลิตโคนม
โคเนื้อ ซึ่งเป็นฝ่ายเสียเปรียบต้องล่มสลาย ที่ที่รัฐบาลมิได้เตรียมแผนรองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต
ศ.รังสสรค์ได้ชี้ให้เห็นว่า แม้ออสเตรเลียมีความสำคัญต่อสังคมเศรษฐกิจไทยค่อนข้างน้อย ทั้งในด้านความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ความตกลงการค้าเสรีระหว่างทั้งสองจึงมีความสำคัญไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ประมวลในเอกสาร "ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย : รายงานและบทวิเคราะห์" นี้สื่อสารสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ กล่าวคือ
ประการแรก
การขาดธรรมาภิบาลของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในกระบวนการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีเป็นลักษณะเด่นชัด
ด้วยเหตุดังนั้น จึงขาดกลไกในการกำกับให้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีเป็นไปในทางที่เอื้อประโยชน์สูงสุดแก่สังคมเศรษฐกิจไทย
มิพักต้องกล่าวถึงข้อกล่าวหาว่าด้วยผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้นำรัฐบาล
ประการที่สอง ผลการศึกษาให้ข้อสรุปว่า ผลประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับออสเตรเลีย
กระจุกเฉพาะบางอุตสาหกรรมและบางภาคเศรษฐกิจ แต่ผลเสียกระจายโดยทั่วไป นอกจากนี้
ความได้เปรียบในด้านอัตราภาษีศุลกากร จากการทำข้อตกลงการค้าเสรีมีแนวโน้มลดลงตามกาลเวลา
เพราะออสเตรเลียต้องทยอยทำลายกำแพงภาษี เนื่องจากมีการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ
ด้วย ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับออสเตรเลีย มิได้มีมากเท่ากับที่ปรากฎในงานวิจัยที่มิได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงพลวัตร
ในขณะที่การเลี้ยงโคขุน โคนม และการผลิตผลิตภัณฑ์นมในประเทศไทยต้องเผชิญกับชะตากรรมแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างสาหัส
ประการที่สาม การทำข้อตกลงการค้าเสรีก่อให้เกิดต้นทุนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต
(Cost of Structural Adjustment) ภาคการผลิตที่สูญเสียความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบต้องล่มสลาย
และต้องแบกรับภาระต้นทุนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตดังกล่าวนี้ น่าอนาถที่รัฐบาลมิได้ตระเตรียมแผนการปรับโครงสร้างการผลิต
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ต้องพ่ายแพ้แก่เกมการค้าเสรี
อนึ่งเอกสาร "ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย : รายงานและบทวิเคราะห์"
นี้ต้องการประมวลข้อมูลว่าด้วยการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับออสเตรเลีย
เนื้อหาจำแนกออกเป็น 4 ภาค
- ภาคแรก กล่าวถึงสาระสำคัญของข้อตกลง และนำเสนอการเปรียบเทียบข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย
กับข้อตกลงการค้าเสรีสหรัฐอเมริกา-ออสเตรเลีย
- ภาคที่สอง ประมวลข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ว่าด้วยการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศทั้งสอง
- ภาคที่สาม สรุปผลการศึกษาวิจัยผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการทำข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายออสเตรเลีย งานวิจัยเหล่านี้กระทำก่อนที่จะเริ่มต้นกระบวนการเจรจา
- ภาคที่สี่ นำเสนอข้อมูลว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงปีแรกหลังการทำข้อตกลงการค้าเสรี
ภาคผนวกของเอกสารนี้ประกอบด้วยข้อมูล 3 ส่วน
- ส่วนที่หนึ่ง ประมวลลำดับเหตุการณ์การทำข้อตกลงการค้าเสรี
- ส่วนที่สอง เสนอข้อมูลสถิติเศรษฐกิจพื้นฐาน และ
- ส่วนที่สาม เป็นข้อตกลงการค้าเสรี
ซึ่งโครงการ WTO Watch
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะให้ประโยชน์ในการให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับออสเตรเลีย
เรียบเรียงจาก
คำนำ "ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย : รายงานและบทวิเคราะห์"
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ มีนาคม 2549
(หมายเหตุ: อ่านข้อมูลฉบับเต็มดูได้ ที่ เว็บไซต์ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)
http://www.thailandwto.org/Doc/Pub/PubData/12_ThaiAusFTAs.pdf)
(ค) คำแถลงกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA
Watch)
ทักษิณเว้นวรรค แต่ระบอบทักษิณเดินหน้า
หยุดผลประโยชน์ทับซ้อนเอฟทีเอ ด้วยการปฏิรูปการเมือง
ตามที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และกลุ่มบุคคล กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มในประเทศไทย
ได้เรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการณ์เดินหน้าการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐ และเร่งรัดให้มีการลงนามเอฟทีเอกับประเทศญี่ปุ่นนั้น
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนและองค์กรพันธมิตรขอเรียกร้องให้กลุ่มดังกล่าวยุติการดำเนินการดังกล่าวเสีย
เนื่องจากเห็นว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สมควร และไม่เหมาะสมด้วยสาเหตุหลายประการ
ประการแรก กลุ่มที่เรียกร้องให้มีการลงนามเอฟทีเอกับประเทศญี่ปุ่น
เป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากการทำเอฟทีเอกับประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ร่วมทุนกับประเทศญี่ปุ่น
และกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ในขณะที่ประชาชนทั่วไปยังไม่มีโอกาสได้เห็นตัวสัญญาดังกล่าวแต่ประการใด
ข้อตกลงซึ่งไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ อาจสร้างผลกระทบต่อประชาชนไทยที่ต้องได้รับผลกระทบจากการบริการด้านสุขภาพ
และผลกระทบจากการที่อุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอางของญี่ปุ่นจะเข้ามาแย่งชิงพันธุ์พืชและภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศ
โดยที่ไม่มีกลไกใดๆ ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ
ส่วนกรณีการเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการณ์ หรือรัฐบาลเฉพาะกิจที่จะจัดตั้งขึ้นหลังเดือนเมษายนให้ดำเนินการเจรจาเอฟทีเอกับประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของสภาหอการค้าไทยนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมเกษตรของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์
ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวโพดจากสหรัฐฯ และได้ประโยชน์จากการส่งออกกุ้ง
ไก่ และอาหารทะเล เท่านั้น ข้อเสนอดังกล่าวจึงขัดแย้งกับอุตสาหกรรม และภาคบริการอื่นๆ
อีกเป็นจำนวนมาก ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเอฟทีเอ
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
ขอเรียกร้องให้ประชาชนไทยและสื่อมวลชนตรวจสอบความชอบธรรมของกลุ่มผลประโยชน์ดังกล่าว
เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของระบอบทักษิณ โดยในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร ได้ประกาศเว้นวรรคแล้ว แต่กลุ่มคนเหล่านี้กลับเดินหน้าผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของตนต่อไป
โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่และผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ
ประการที่สอง รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลรักษาการณ์
ซึ่งเป็นรัฐบาลชุดเดียวกันกับรัฐบาลที่ประชาชนนับแสนๆ คนเดินขบวนขับไล่ และมีประชาชนนับสิบล้านคนลงคะแนนงดออกเสียงเลือกตั้ง
ปฏิเสธที่จะให้มาบริหารประเทศต่อไป รัฐบาลรักษาการณ์จึงปราศจากความชอบธรรมใดๆ
ที่จะดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่สร้างผลกระทบระยะยาวต่อประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจาเอฟทีเอกับประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา
เอฟทีเอว็อทช์และองค์กรพันธมิตร ขอเรียกร้องให้กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม
ยุติการผลักดันให้มีการเจรจาหรือลงนามข้อตกลงเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ โดยทันที
ทั้งนี้โดยการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญโดยเฉพาะการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ
ต้องรอจนกว่าจะมีกระบวนการปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ และมีรัฐบาลชุดใหม่ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายขึ้นมาบริหารประเทศ
โดยคาดว่ากระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี
ข้อเสนอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมือง
เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน จากการที่กลุ่มทุนในรัฐบาลดำเนินการจัดทำข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่สร้างผลกระทบต่อประชาชน
ตลอดจนป้องกันมิให้รัฐบาลในอนาคตดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แปรรูปประเทศโดยส่งเสริมระบอบการค้าเสรีอย่างไร้ขอบเขต
และขาดดุลยภาพในการพัฒนาที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตและวิถีวัฒนธรรมที่ดี กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีและองค์กรพันธมิตรเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมือง
4 ประการสำคัญคือ
1. บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญต้องไม่มีข้อกำหนดใดๆ ให้รัฐต้องส่งเสริมระบอบการค้าทุนนิยมเสรี ซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การแปรรูปทรัพยากร หรืออื่นๆ ให้กลายเป็นสินค้า คำนึงถึงแต่การแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการแสวงหากำไร ยิ่งไปกว่าการคำนึงถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
2. เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 224 โดยให้การเจรจาและทำความตกลงในการค้าระหว่างประเทศ ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาโดยไม่มีข้อยกเว้น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลีกเลี่ยงไม่นำความตกลงระหว่างประเทศเข้าไปพิจารณาในรัฐสภา ดังที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ดำเนินการในการลงนามเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ
3. เสนอให้กฎหมายเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยมีหลักการสำคัญระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและมีกำหนดเวลาระบุไว้แน่ชัดว่า ต้องดำเนินการให้มีการออกกฎหมายแล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนด กฎหมายฉบับนี้ต้องมีบทบัญญัติให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วม และมีส่วนในการตัดสินใจในการเจรจาความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ การจัดการผลกระทบ การไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ ตลอดจนผู้ที่มีส่วนได้เสียต้องได้รับผลผูกพันจากการลงนาม เป็นต้น
4. ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการจัดทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิออกเสียงในกรณีที่มีการลงนามในข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ หรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศ ทั้งนี้โดยเปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ สามารถนำเสนอข้อมูลได้อย่างรอบด้านและเป็นธรรมต่อประชาชน
เอฟทีเอว็อทช์ ขอเรียกร้องให้ประชาชนไทยทุกกลุ่มร่วมกันทำหน้าที่ในการตรวจสอบการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร และจับตาบทบาทของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบอบทักษิณ ในสภาพการณ์ทางการเมืองที่มีเพียงรัฐบาลรักษาการณ์บริหารประเทศ และมีสภาพิกลพิการซึ่งไม่อาจฝากความหวังใดๆ ในการตรวจสอบการดำเนินงานรัฐบาลได้
ภารกิจที่สำคัญที่สุดสำหรับประชาชนทุกกลุ่มคือการผลักดันให้มีการปฏิรูปการเมือง และแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การบริหารประเทศดำเนินไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเป็นปกติโดยเร็ว
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
25 เมษายน 2549
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
801/ 8 ถ.งามวงศ์วาน ซ.งามวงศ์วาน 27 อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทร.02-952-7953
โทรสาร 02-591-5076
email: [email protected]
www.ftawatch.org
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com