นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



รอบรู้เรื่องเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่
การเปิดเสรีการลงทุนในเอฟทีเอ.ไทย-สหรัฐ: สิ่งที่คนไทยต้องรู้ทัน
รศ.ดร.ลาวัณย์ ถนัดศิลปกุล
ผู้อำนวยการสถาบันศึกษากฎหมาย เศรษฐกิจ และธุรกิจระหว่างประเทศ


บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ได้รับมาจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง
เป็นการสัมนาเรื่องเอฟทีเอ.ไทย-สหรัฐฯ
ซึ่งจัดขึ้นที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อควรระวังเกี่ยวกับการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี
ซึ่งไม่ควรรีบร้อนลงนาม โดยไม่ตรวจตราอย่างละเอียด
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 866
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 13.5 หน้ากระดาษ A4)
-( ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๔๙)-




สัมมนา : การเปิดเสรีการลงทุนในเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ: สิ่งที่คนไทยต้องรู้ทัน
วันเสาร์ที่ 28 มกราคม 2549 ณ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อมรา พงศาพิศ : คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เจอการเปิดเสรีกับสิงคโปร์ที่เงินไหลเข้าออก มีคนได้ประโยชน์มาก แต่ก็มีคนเสียประโยชน์เช่นกัน แต่บางคนก็ยังไม่รู้ตัว. ความรู้ที่ไม่เท่าทัน เราต้องพยายามขจัดให้หมดไป พยายามที่ต้องเท่าทันคนที่ฉลาด ฉลาดหาประโยชน์ใส่ตัว ไม่มีสำนึกส่วนรวม ไม่มีสำนึกผิดถูกด้วยซ้ำไป ไม่รู้จะทำยังไงได้ ตัวเองก็หมดแรง ไม่รู้ว่าคนตัวเล็กๆอย่างเราจะหาทางไล่ทันคนที่รอบรู้มากเรื่องการค้า แต่เพื่อไม่ให้พวกเราหมดกำลังใจ ขอเชียร์ให้ช่วยกันทำต่อไป หวังว่า เวทีวันนี้ จะให้เราได้ความรู้บางอย่างขึ้นมา แม้จะไล่ไม่ทันคนที่มีเส้นสาย แต่ก็คงไม่โง่ดักดานเสียทีเดียว

รศ.ดร.ลาวัณย์ ถนัดศิลปกุล : ผู้อำนวยการสถาบันศึกษากฎหมาย เศรษฐกิจ และธุรกิจระหว่างประเทศ
คานธีเคยกล่าวไว้ว่า "โลกมีเพียงพอสำหรับทุกคน แต่ไม่เพียงพอสำหรับคนโลภเพียงคนเดียว"

เอฟทีเอ มีพื้นฐานความคิดมาจากแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ต้องการให้โลกทั้งโลกไม่มีพรมแดนทางเศรษฐกิจ ตลาดทำโดยกลไกตลาดไม่มีรัฐเข้ามาแทรกแซง ต้องไม่มีอุปสรรคการค้าและการลงทุน ฉะนั้นในโลกแบบนี้ บรรษัทจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่ไหนมีความได้เปรียบทางการแข่งขันก็จะแห่ไปที่นั่น

กลไกของตลาดมีทุนผลักดัน ถ้ามากไปทุนก็จะเอารัดเอาเปรียบ ชาติรัฐก็จะปกป้อง ถ้าปกป้องมากก็จะไม่มีใครมาลงทุน ทำอย่างไรจะให้มีความสมดุลย์

สำหรับจุดอ่อนของการทำเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ

1. ถ้าทำตามที่สหรัฐต้องการ ต้องถือว่าขาดวิสัยทัศน์ และผิดพลาดเชิงนโยบายอย่างยิ่ง FTA policy is a mess (เป็นเรื่องยุ่งยากำบากใจ) เพราะเอฟทีเอแบบสหรัฐ หยิบจับแต่ละจุดที่คิดว่าตัวเองจะได้เปรียบเพียงอย่างเดียว

2. ประเทศไทยจะมีอำนาจต่อรองที่ดีกว่าโดยอาศัยระบบพหุภาคี จะมีกรอบมีระเบียบ มีระบบป้องกันผลเสีย อย่างน้อยการรวมเศรษฐกิจอาเซียนก็น่าจะเปิดเสรีอย่างมีระบบมากกว่า


3. จะยิ่งสร้างหายนะให้กับประเทศมากขึ้น

4. สหรัฐฯจะไม่เจรจาในสิ่งที่ตัวเองได้ผลประโยชน์น้อย จะเจรจาในสิ่งที่ตัวเองได้มากกว่าการเจรจาที่อื่นๆ ทั้ง WTO + ASEAN + สหรัฐจะได้ทุกสิ่งที่เราให้

5. รีบเร่ง ใช้เวลาน้อยที่สุด น่าเศร้าใจมาก ผลงานวิจัยเชิงบวกศึกษาจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้ศึกษาจากของจริง แต่ศึกษาบนกฎเกณฑ์เก่าๆ

6. ไม่มียุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่ดี เช่นที่ สหภาพยุโรปทำ เช่น เศรษฐกิจต้องเข้มแข็ง ที่น่ากลัวคือ การลงทุนระยะสั้น ถ้าเราทำตาม แก้กฎหมาย 300-400 ฉบับ มากกว่าที่เราเคยทำมา ทั้งที่อียูทำ มีการรองรับทุกอย่างทุกภาคส่วน ทั้งการเงิน ทุน แรงงาน เอฟทีเอนี้จะไม่มีผลทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเลย

7. เอฟทีเอ เหมือนสึนามิ เพราะการเปิดบางส่วน มีรัฐควบคุมบ้างจะทำอย่างยั่งยืน แต่ถ้าเปิดเช่นนี้ จะไม่มีการปกป้องอะไรเลย

8. ไม่มีการกำหนดทิศทางเชิงนโยบาย เจรจาบนความต้องการของสหรัฐฯเท่านั้น ขาดการมีส่วนร่วมของสภาฯ, ประชาชน, และองค์กรต่างๆ

9. การยอมแลกกับการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯเพียงเล็กน้อย เทียบไม่ได้กับสิ่งที่ต้องสูญเสียไป ไม่ว่าจะเข้าสู่ตลาดทั้งสินค้า ร้านอาหาร สปา หมอนวด เพราะเหล่านี้ทำอยู่แล้ว สหรัฐจะปิดตลาดไม่ได้ แต่สหรัฐต้องการเข้าถึงทรัพยากร และการลงทุนเพื่อการส่งออกในบ้านเรา

10. การเข้าสู่ตลาดไทยของสหรัฐฯ จะมากกว่าที่เคย เช่น สินค้าจีเอ็มโอ สินค้าไทยที่เคยผลิตได้เองจะถูกแทนที่ด้วยสินค้านำเข้า ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจไทย

11. a negative list เปิดสินค้าบริการและการลงทุนทุกภาคส่วนโดยสิ้นเชิง จะทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้ stand still and roll back ต้องถูกขจัดให้หมดไป

12. เปลี่ยนแปลงกฎหมายการลงทุน มาตรการการลงทุน ตลาดเงิน ยกเลิกกลไกในการควบคุม เช่น การควบคุมเงินไหลเข้าออกในระยะสั้น (short term capital control) ที่เคยทำให้ไทยเกิดวิกฤต การกระตุ้นการลงทุน (Investment incentive) ถ้าเปิดเสรีแล้ว การกระตุ้นการลงทุนไม่ได้ถูกยกเลิก จะกลายเป็นส้มหล่นสองเท่ากับนักลงทุน แผ่นดินไทยจะไม่เหลืออะไรเลย

13. มีประเด็นมากมายที่ประเทศไทยยืนอยู่เพื่อการเสียประโยชน์เท่านั้น คือ ระบบทรัพย์สินทางปัญญา IPR การขยายสิทธิบัตร, การผูกขาดข้อมูลทางการทดลอง การจำกัดการบังคับใช้สิทธิ ลิขสิทธิ์ ทั้งที่จริงปรัชญาเริ่มต้น คนที่จะได้รับเอกสิทธิต้องไม่เอาเปรียบสังคม แต่ปัจจุบันปรัชญานี้ถูกบิดเบือนให้แสวงหากำไรอย่างเต็มที่

14. การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แรงงาน สิ่งแวดล้อม ข้อเรียกร้องเหล่านี้ถ้าไทยยอมตาม เราต้องยกเครื่องกฎหมายไทยทั้งระบบ

15. การเจรจาไม่ได้ให้ความสนใจกับสิ่งที่ไทยควรจะได้ประโยชน์ เช่น มาตราการที่ไม่ใช่ภาษี กฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่ไทยเสียเปรียบ การกีดกันตลาด ปัญหาการอุดหนุนทางการเกษตรของสหรัฐ การไม่เปิดตลาดแรงงานให้กับคนไทยเข้าไปทำงานในสหรัฐ มาตรการฝ่ายเดียวของสหรัฐ เช่น ม.301, 601 ที่ห้ามการนำเข้าสินค้า ไม่ได้ช่วยให้เข้าถึงตลาดมากนัก ต้องไปแข่งกับสินค้าจีน ฉะนั้น สหรัฐจะเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์เท่านั้น

ภาคส่วนที่น่าเป็นห่วง

1. ฐานทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กรณีเหมืองแร่ ขุดเจาะน้ำมัน ฯลฯ ประเทศจะได้ประโยชน์น้อยมาก เหลือแต่มลพิษติดแผ่นดิน ฉะนั้นไม่ควรเปิดการลงทุนในฐานทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจริงๆต้องเป็นการแบ่งประโยชน์ดังที่รัสเซียทำในโครงการขุดเจาะน้ำมัน

2. ประเด้นทรัพย์สินทางปัญญา

3. ภาคเกษตร ตลาดถูกตีโดยสินค้านำเข้า การเกษตรอุตสาหกรรม โจรสลัดชีวภาพ

4. การท่องเที่ยว โรงแรม การขนส่ง การท่องเที่ยวถ้าให้ต่างชาติมาทำจะไม่ต้องลงทุนเลย ไม่มีทางที่คนไทยจะตั้งตัวทันเพื่อแข่งขัน เปิดตลาดทั้งที่ยังร่างกายป้อแป้

5. วิชาชีพทั้งหลาย เดิมทีการเปิดเสรีสินค้าบริการยังสามารถตั้งข้อสงวนได้บ้าง เช่น ข้อจำกัดเรื่องสัญชาติ

6. ปัญหาการแปรรูป อุตสาหกรรมหลัก บริการสาธารณูปโภค จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ถูกถือครองโดยต่างชาติ กิจการบางกิจการเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา พลังงาน ถ้ากฎหมายการแข่งขันของเราไม่มีประสิทธิภาพ การแข่งขันน้อยก็ไม่มีผลดีต่อผู้บริโภค แต่รัฐวิสาหกิจบ้านเราเดิมเป็นเรื่องของการอนุเคราห์บริการสาธารณะ มากกว่าการแสวงหากำไรสูงสุด

การเตรียมพร้อมเพื่อการเปิดเสรีอย่างเป็นระบบ

1. ปฏิรูปกรอบของกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งปัจจุบันยังเป็นปัญหาอยู่มาก

2. เปิดบริการบางอย่างที่เป็นประโยชน์กับประเทศ เช่น โทรคมนาคม

3. ปฏิรูปกฎหมายการค้า เช่น ระบบภาษี ไม่งั้นจะมีผู้แสวงประโยชน์จากการหลบเลี่ยงภาษี การบริหารจัดการ จัดซื้อจัดจ้าง กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค นโยบายการแข่งขันที่เป็นธรรม จัดการกับปัญหาการคอรับชั่นอย่างเป็นระบบ สถาบันการค้าที่โปร่งใสตรวจสอบ ต้องใช้เวลาและเทคนิค รวมถึงผู้ชำนาญการต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจและสังคมมาแก้ปัญหา

ข้อเสนอแนะแก่ฝ่ายไทย

1. ต้องกำหนดนโยบายที่ดี ไม่ใช่ฉาบฉวยไม่มีวิสัยทัศน์

2. ต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจชาติโดยรวม

3. ต้องหันมาทบทวนนโยบายเอฟทีเออย่างจริงจัง ต้องปฏิรูปภายในอย่างเป็นระบบ พัฒนาตลาดทุน ตลาดเงิน กฎหมาย ทรัพยากรมนุษย์ ประโยชน์ข้อเดียวที่เอฟทีเอมี คือ ทำให้เราหันมาใส่ใจกับประเทศชาติ ให้เรารู้จักคิดที่จยืนอยู่บนขาของตัวเอง

4. ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของการเจรจา ต้องหันมาอิงนโยบายการพัฒนาประเทศระยะยาว ฉะนั้น นโยบายต้องมาก่อน เราจะเป็นเสรีนิยมใหม่ อนุรักษ์นิยมใหม่ หรือเศรษฐกิจที่ยืนอยู่บนขาของตัวเอง และใช้ผู้ชำนาญการมากขึ้น ฝ่ายสหรัฐฯใช้ผู้เชี่ยวชาญอย่างมาก ไม่ใช่แค่ข้าราชการ

5. ต้องขยายการเจรจาให้ยาวออกไป เพื่อพิจารณาประเด็นต่างๆอย่างรอบคอบ และทำวิจัยศึกษาอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาฉาบฉวยมาก 3 เดือน - 1 ปี ก็เสร็จแล้ว ที่เอาอนาคตประเทศชาติไปผูกพันธ์กับงานวิจัยเช่นนี้ และการวิจัยที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของฉบับร่าง หรือ บทใดบทหนึ่งจะไม่ทำให้เห็นผลที่แท้จริง ฉะนั้นต้องเป็นการให้สัตยาบัน

6. ต้องปรับปรุงเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ไม่งั้นไทยจะไม่ได้ประโยชน์เลย

7. ระยะยาวไทยควรหันไปพัฒนากรอบระเบียบภายใต้ WTO และร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆจะดีกว่า

8. ไทยควรพัฒนากฎหมายและนโยบายการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อป้องกันการใช้การมีอำนาจเหนือตลาดของบรรษัทข้ามชาติ และการผูกขาดตลาด ตลอดจนทำลายองค์กรธุรกิจไทย

9. การเปิดต้องเปิดแบบ Unilateral จะปลอดภัยกว่าการเปิดแบบสุดโต่งทุกเรื่องเช่นนี้

10. ไทยไม่ควรตกลง ให้สนธิสัญญามีผลจากการลงนามทันที แต่ต้องได้รับการให้สัตยาบันจึงจะมีผล เพื่อมีโอกาสทบทวนก่อนผูกพัน ไม่ใช่กระโจนลงไป ต้องมีกฎหมายอนุวรรตตาม

ปัญหาทางด้านกฎหมาย

1. การยุติข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ที่ต้องฝากประเทศชาติไว้กับการตัดสินใจของคน 3 คน แล้วยังระบุว่า ข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนเป็นข้อพิพาททางการค้า
แม้การบังคับจะมี 2 กรณี คือ ให้ศาลในประเทศทบทวนใหม่ได้ กับ เป็นแค่การยืมศาลให้รับรองเท่านั้น ซึ่งในเอฟทีเอ ต้องการให้เป็นแบบประการหลัง

2. ปัญหากระบวนการทำสนธิสัญญา โดยเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติม แก้ไขปรับปรุง

3. ปัญหาอธิปไตยของชาติ ทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ จะต้องบังคับใช้ตามกฎหมายสหรัฐ

4. ปัญหาสิ่งแวดล้อมกับประเด้นการเวนคืนยึดทรัพย์ เช่น ถ้าการลงทุนของสหรัฐทำให้คนไทยเดือดร้อน แล้วเกิดลุกฮือทำลายโรงงาน รัฐบาลไทยต้องจ่ายค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จริงๆตามกฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าเกิดจราจล รัฐได้พยายามปกป้องแล้ว รัฐไม่ต้องรับผิดชอบ กรณีเอฟทีเอนี้ รัฐต้องรับผิดชอบ

ถาม - นิยามการลงทุนคืออะไร

ตอบ -
กรอบของกฎหมาย สิ่งที่เป็นอุปสรรคการลงทุน

1. สัดส่วนการถือครองหุ้น (Equity Ratio) ทุกประเทศจะมีอัตราส่วนตรงนี้ เพื่อให้มีคนในชาติเป็นเจ้าของมากกว่า ตรงนี้จะถูกเปิด ให้คนต่างชาติถือได้ 100% เปิดไปบ้างในวิกฤต และในบีโอไอ แต่เป็นระยะสั้น เป็นกรณีกรณีไป และสามารถยกเลิกได้ แต่สหรัฐต้องการถาวร ถ้ายกเลิกสามารถฟ้องได้

2. ผู้บริหารจัดการเป็นคนต่างชาติได้หมด แสดงว่าองค์กรเหล่านั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนไทยเลย

3. ที่ดิน, ทุน, แรงงาน, การจัดการ, ภาคใต้บีโอไอก็มี แต่ถือไม่เกิน 1 ไร่กรณีที่อยู่อาศัย มีเงื่อนไขมาก สามารถนำแรงงานเข้ามาได้ทุกระดับ แต่สหรัฐจะเข้ามากับการลงทุน ฉะนั้นก็ไม่ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี ทุกอย่างเบ็ดเสร็จ ประเทศไทยจะไม่ได้รับการพัฒนา ไม่สามารถมี performance requirement ใน TRIMs ห้ามบ้าง แต่เอฟทีเอ ห้ามทั้งหมด มีไม่ได้เลย ถ้าเห็นภาพรวมจะเห็นผลกระทบทั้งหมด

ถาม - กฟผ. แปรรูปเข้าตลาด โดยรับปากจะขายแค่ 25%

ตอบ -
ถ้ายอมรับแบบเอฟทีเอ ก็ไม่สามารถจำกัดได้เลย ถ้าการลงทุนเปิดเสรี เขาก็สามารถเข้ามาได้ทั้งหมด สิ่งที่เราต้องดูคือ negative list ที่ยกไว้เลย exception หรือว่าอีกหน่อยก็ต้องเปิด กรณีของออสเตรเลีย ถ้ารวมสาธาณูปโภคด้วย ต้องดู text ว่าเปิดมากน้อยแค่ไหน

ได้คุยกับ ดร.วีรชัย พลาศรัย รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเจรจาด้านการบริการและการลงทุน ว่าควรให้เอฟทีเอไทย-สหรัฐ ต้องผ่านการให้สัตยาบันจึงจะมีผลบังคับใช้ ไม่ใช่ลงนามแล้วมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งก็ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เท่าที่คุยกับ ผู้เจรจาหลายคน เขาก็รู้สึกบาป บางคนนอนไม่หลับ เพราะถูกกดดันจากหลายฝ่าย ดังนั้น การผ่านการให้สัตยาบันจะเป็นช่วงเวลาที่ได้ทบทวนแก้ไข เช่นที่ สหรัฐอเมริกาใช้เวลาถึง 42 ปีในการให้สัตยาบัน ILO สหรัฐก็เคยทำมาแล้ว

เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ ที่ก่อนหน้านี้ นักเจรจาฝ่ายไทย ไม่เคยตระหนักในเรื่องนี้มาก่อนเลย แม้แต่ตัวอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ. ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังมาร่วมกันพิจารณาเรื่องนี้ เช่น นักวิชาการต่างๆ และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ทำในฐานเจ้าหน้าที่รัฐ อ.วสันต์ พาณิช กรรมการสิทธิมนุษยชนก็กำลังดูช่องทางฟ้อง เพื่อให้เปิดข้อเจรจาต่างๆ

ถาม - ทรัพย์สินทางปัญญาก็ถือเป็นการลงทุนหรือไม่ แล้วมีประสบการณ์ในนาฟต้าที่ถูกฟ้องหรือไม การบังคับใช้สิทธิตาม WTO จะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเหมือนการยึดทรัพย์หรือไม่

ตอบ - ทรัพย์สินทางปัญญาจะทำให้คนตกอยู่ในอาณานิคมทรัพย์สินทางปัญญา รัฐต้องให้ความคุ้มครอง ในเอฟทีเอ เมื่อไรที่นักลงทุนมองว่าสูญเสีย สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ทันที รัฐต้องจ่ายทันที

Lydia Laza : รองคณบดีคณะนิติศาสตร์และนโยบาย สถาบันเทคโนโลยีอิลินอย สหรัฐอเมริกา
ประเทศไทยเปิดการลงทุนมานาน การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไม่ใช่เรื่องใหม่ คำถามก็คือ นับจากนี้ไปในอนาคต กฎอะไรที่จะเข้ามาจัดการ. รัฐมีหน้าที่กำกับการลงทุนเหล่านี้ เช่น กำแพงภาษี และอุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อปกป้องอธิปไตย. ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เห็นปัญหาเวลาที่เข้าไปแข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศ เพราะกฎหมายจะค่อนข้างเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการภายในมากกว่า

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีการจัดตั้งองค์กรโลกบาลขึ้นมาสนับสนุนการค้าการลงทุนข้ามชาติ มีการทำสนธิสัญญาการลงทุนระดับทวิภาคี ตอนนี้มีสนธิสัญญาอยู่ 2,000 กว่าฉบับ ภาษาที่ใช้ในข้อตกลงนี้ มีทั้งในประเด็นภาษีและไม่ภาษี เปิดเสรีแต่ละภาค การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ ชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง เพื่อไม่ให้มีการลำเอียงเข้าข้างผู้ประกอบการภายในประเทศ และในสัญญานี้จะค่อนข้างกลัวการยึดทรัพย์หรือเวนคืนของเอกชนไปเป็นของรัฐ ถ้าจะทำต้องมีการจ่ายค่าชดเชย

ในเอฟทีเอสิ่งที่น่ากลัวคือ
การยึดทรัพย์หรือเวนคืนทางอ้อม หรือ เสมือนว่ายึดทรัพย์ ซึ่งต้องระวังว่า การออกกฎหมายภายในจะต้องไม่ถูกตีความว่าเป็นการยึดทรัพย์แบบนี้. บรรษัทข้ามชาติ ได้เครื่องมือที่ใช้ในการตอบโต้หากรู้สึกว่าไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม แล้วพวกนี้ก็จะมีฐานคิดว่า ศาลภายในจะเข้าของผู้ประกอบการภายใน ฉะนั้น ต้องมาเล่นกันที่พื้นที่อื่นที่ไม่ใช่กฎหมายภายใน

ทีนี้พอบรรษัทข้ามชาติมีสัญญา (contract) กับรัฐบาล ก็จะสามารถนำรัฐบาลไปฟ้องได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเอฟทีเอจะต่างออกไปมาก ต่างจากสิทธิที่เคยได้มา

1. ไม่ได้มาจากสัญญาทำงานที่บรรษัททำกับรัฐเหมือนในอดีต
2. แล้วยังให้สิทธิที่จะประเมินความเสียหายที่เกิดจากกฎหมายไทยเอารัฐบาลไทยไปฟ้องได้เลย โดยที่ไม่ต้องมีรัฐบาลอเมริกันเข้ามาเกี่ยวข้อง หมายความว่าให้สิทธิเอกชนเท่ากับรัฐชาติ

จากสองประเด็นนี้ มันเป็นปัญหาอย่างรุนแรงต่ออธิปไตยของประเทศ สหรัฐฯพยายามผลักดันสิทธิใหม่เหล่านี้ ในเอฟทีเอ และความตกลงด้านเปิดเสรีการลงทุนไปทั่วโลก เพื่อขจัดอุปสรรคทั้งหมดของการลงทุนที่มีอยู่. อย่างที่บอกว่า การระงับข้อพิพาทรัฐและเอกชนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เดิมมันต้องตั้งอยู่กับสัญญาที่ทำกันขึ้นมา ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ฟ้องได้เช่นนี้

เพราะที่ผ่านมา เราไม่ต้องการปฏิบัติต่อบรรษัทเท่าเทียมกับรัฐชาติ เพราะไม่เท่ากัน ถ้าเรายอมให้เอกชนฟ้องรัฐได้ เราก็จะได้ผลแบบนาฟต้า. นาฟต้า เป็นประเด็นร้อนในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ช่วงต้นไม่มีใครรู้ มี ส.ส.อเมริกันหลายคนบอกว่า ถ้ารู้แต่แรกว่ามีบทที่ว่าเช่นนี้จะไม่ยอมโหวตให้ผ่าน ตอนนี้ถูกฟ้องกันไปแล้ว 61 คดี คดีที่เป็นตัวอย่างเช่น สิ่งแวดล้อม, กฎหมาย, การแปรรูป, ที่ดิน, ประเด้นที่ฟ้อง เช่น การปฏิบัติที่เท่าเทียมและเป็นธรรม การไม่เลือกปฏิบัติ การยึดทรัพย์ และคำนิยามและขอบเขตของข้อตกลง ที่ทำให้ฟ้องได้มากขนาดนี้ เพราะว่า คำนิยามการลงทุนที่กว้าง

ตัวอนุญาโตตุลาการ เป็น แค่องค์กรเฉพาะการ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะสร้างระบบกฎหมายหรือการยุติธรรมที่ดีได้ ตอนนี้ก็หลักอยู่ในการระงับข้อพิพาททางการค้า เช่น ICSID ทุกครั้งที่มีคดี ก็จะมีอนุญาโตตุลาการที่ต่างออกไป ไม่ได้ทำงานอยู่ในกรอบกฎหมายใดๆ แล้วแต่ว่าอยากจะอ้างอิงคำพิพากษาเก่าหรือไม่ ฉะนั้น จะคาดเดาไม่ได้เลยว่า จะตัดสินอยู่บนหลักการใด ส่วนใหญ่จะมีปัญหาความขัดแย้งกับนโยบายสาธารณะ

แม้ว่า ในปัจจุบัน อนุญาโตตุลาการ จะโปร่งใสมากขึ้น แต่ไม่มีหลักประกันว่าจะเป็นแบบนี้ทุกครั้ง เพราะไม่ได้ถูกบังคับโดยอะไรเลย ฉะนั้น ใครจะเป็นคนเขียนกฎหมายระหว่างประเทศ ก็คือ คนที่ได้ประโยชน์จากการเปิดการค้าเสรี คือพวกที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ ไม่มีการเมืองระดับโลกที่มาดูเรื่องพวกนี้ ซึ่งนี่จะทำให้กรอบกฎหมายจารีตประเพณีซึ่งใช้ในกฎหมายระหว่างประเทศเปลี่ยนทิศทางไป นี่คือสิ่งที่เราต้องการหรือ แน่นอนเราไม่อยากได้อย่างนั้น

บทเรียนที่ไทยควรเรียนรู้จากจีน คือ
จีน เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจมาก แม้ว่าจะต่างกันหลายส่วน แต่จีนได้ผ่านหนทางที่ยากลำบากมายาวนาน ช่วงปี 1840 หลังสงครามฝิ่น คนต่างชาติอยู่เหนือคนจีน อยู่เหนือกฎหมายจีน

ต่อมาช่วงศตวรรษที่ 20 จีนพยายามที่จะแก้ ไม่ให้สิทธิเยี่ยงคนชาติแก่คนต่างชาติ แต่ยังคุ้มครองอยู่บ้าง
หลังสงครามโลกที่ 2 สนธิสัญญาใหม่ๆ เริ่มมีการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ แต่ไม่ให้ทั้งหมด ให้สิทธิการฟ้องศาลได้ แต่จีนทำให้คนต่างชาติไม่สามารถเดาได้ ถึงการปฏิบัติของระบบราชการ

เมื่อเปิดเสรีมากขึ้น มีการให้หลักความเท่าเทียม แต่ก็มีข้อสงวนมากมาย
ตอนนี้จีนเซ็นไปแล้วมากกว่า 110 ฉบับ มีการระบุเรื่องการเวนคืน ไม่ยอมให้เอกชนฟ้องรัฐ ยอมให้มีการเจรจา ค่าชดเชยก็ต่อเมื่อรัฐบาลจีนยอมรับว่าเป็นการยึดทรัพย์ และมีขนาดพอที่จะเป็นการยึดทรัพย์ และยังต้องผ่านขั้นตอนต่างๆมากมายกว่าจะถึงขั้นเจรจาค่าเสียหาย ถึงกระนั้นจีนก็ยังเป็นประเทศที่ได้รับการลงทุนจากต่างประเทศมากในอันดับต้นๆของโลก

บทเรียนสำหรับไทย

1. เราเปิดการลงทุนให้กับคนต่างชาติมานานแล้ว ไม่ใช่ว่าต้องรีบเปิดเพื่อต้อนนักลงทุนเข้ามาฉะนั้น ขึ้นอยู่กับคนไทยที่ต้องตัดสินใจว่าเราอยากจะพัฒนาแบบไหน เป็นกระบวนการภายใน รัฐชาติมีสิทธิที่จะตัดสินใจ ว่าเราต้องการให้สิทธิเท่าเทียมกับคนต่างชาติไหม เพื่อให้เข้ากับความต้องการของประชาชน มากกว่าป้อนให้ตรงกับความต้องการของบรรษัทข้ามชาติที่ต้องการเข้ามาแสวงหากำไรอย่างเดียว

2. ประเทศไทยต้องระวังคำศัพท์ที่พยายามจะทำให้คำต่างๆชัดเจน อะไรให้ได้ อะไรให้ไม่ได้

3. ต้องให้กฎหมายสิ่งแวดล้อม และกฏหมายแรงงานได้รับการปฏิบัติ

4. ไทยต้องตัดสินใจว่า เราจะให้สิทธิคนต่างชาติเท่าคนไทยจริงๆ หรือ หรือจะเอาอย่างจีนที่เลิกให้บางอย่างเท่านั้น เราเป็นประเทศอธิปไตย ต้องจำใส่ใจทุกครั้งที่เจรจา ไม่มีเหตุผลที่ต้องไปทำตามการกำหนดเวลาของคนอื่น ยิ่งเขาให้เราเร่ง เราต้องยิ่งคิดว่าเราจะเร็วตามประโยชน์ของเขาหรือไม่

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทบรรณาธิการจากเว็บไซท์ เอฟทีเอ ว็อทช์
http://www.ftawatch.org/autopage1/show_page.php?t=34&s_id=2&d_id=2

ข่าวการเลื่อนการลงนามเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น และการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐออกไปจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่นั้น เป็นการตัดสินใจที่น่านับถือในแง่หนึ่งทีเดียว เพราะแม้รัฐบาลรักษาการสามารถดำเนินการได้ทุกอย่างเช่นรัฐบาลปกติ และในอดีตก็มีรัฐบาลรักษาการหลายชุดอาศัยช่วงเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ ตัดสินใจทิ้งทวนเพื่อผลประโยชน์ก็หลายครั้ง แต่ด้วยจริยธรรมทางการเมืองแล้ว...ไม่ควรทำ

และอีกครั้งที่ต้องขอขอบคุณฝ่ายการเมืองและข้าราชการระดับตัดสินใจ ที่ไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนตามตามคำอ้อนวอนของทางฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งต้องการให้ฝ่ายไทยส่งใครก็ได้ไปลงนามความตกลงฯ เพื่อให้มีผลบังคับใช้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเรื่องมารยาท หรือ ธรรมาภิบาลที่พอมีอยู่ก็แล้วแต่ คงต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ห้าวหาญทีเดียว กับการปฏิเสธคำขอร้องของประเทศมหาอำนาจอย่าง ญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม การที่นายพิศาล มาณวพัฒน์ หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น เน้นถึงประโยชน์ที่ไทยต้องสูญเสียไปจากความล่าช้าที่เกิดขึ้น และความพยายามของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์ ที่ต้องการให้แยกการเจรจาเอฟทีเอให้ออกจากการเมืองนั้น ยังเป็นประเด็นที่ยากจะรับฟัง

ข้ออ้างที่ว่า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะต้องสูญเสียจากความล่าช้าในการลงนามเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่นนั้น เป็นการคาดการณ์ วิเคราะห์ วิจัย หรือ คาดเดา ??? ในเมื่อยังไม่มีงานวิจัยหรือการศึกษาใดๆ จากร่างความตกลงฯ ฉบับสมบูรณ์ ยิ่งไปกว่านั้น ได้มีการนำประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับมาเทียบกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร มีผลกระทบยาวนานเพียงใด กว้างไกลและลึกซึ้งขนาดไหน และผลกระทบที่เกิดขึ้นสามารถเยียวยาได้หรือไม่?

หรือแม้กระทั่งตัวเงินที่ได้จากการค้าขายกับญี่ปุ่น ก็ไม่สามารถเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ ที่สำคัญที่สุด การเจรจาเอฟทีเอกับประเทศต่างๆนั้น ไม่สามารถแยกจากการเมืองได้เลย เพราะการเร่งเจรจาเหล่านี้ เกิดจากการผลักดันอย่างแข็งขันเข้าขั้นกร้าวร้าวของรัฐบาลที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยตรง แม้ว่าจะถูกตั้งคำถามถึงผลประโยชน์ทับซ้อน การไร้ธรรมาภิบาล และการละเมิดรัฐธรรมนูญก็ตาม

ดร.อานุภาพ ถิรภาพ ผู้อำนวยการสถาบันการสื่อสารไทย ได้ให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภาว่า โดยส่วนตัวคิดว่า ชินแซทน่าจะเจ๊ง ที่หาญกล้าดำเนินโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ แต่ถือว่าเป็นการวิเคราะห์ที่ผิดพลาด เพราะลืมคิดไปว่า ในฐานะรัฐบาล สามารถใช้เอฟทีเอในการดำเนินธุรกิจนี้ได้ ดังจะเห็นได้จาก ประเทศที่เป็นลูกค้าของดาวเทียมไอพีสตาร์ คือ จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่ไทยทำเอฟทีเอด้วยทั้งสิ้น

ดังนั้น วิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้น ที่สาธารณชนตั้งคำถามถึง ความไม่โปร่งใส ความไร้จริยธรรม การใช้ตำแหน่งแสวงหาและจัดสรรผลประโยชน์ของครอบครัวและพวกพ้อง ของนายกรัฐมนตรีผ่านการดำเนินนโยบายและโครงการต่างๆ จึงมีการเร่งเจรจาเอฟทีเอ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนและมีน้ำหนักที่สุดตัวอย่างหนึ่ง ดังนั้น ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะอยู่หรือไปในฐานะนายกรัฐมนตรี จะเว้นวรรคทางการเมืองหรือไม่ การเจรจาเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ ต้องยุติ และทบทวนในเอฟทีเอที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว

เช่นเดียวกับอีกหลายนโยบายและโครงการของรัฐบาลที่ต้องถูกตรวจสอบและทบทวน ในขณะที่เสียงการปฏิรูปการเมืองรอบที่ 2 กำลังดังขึ้น ไม่ว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือการหาเสียง หนทางเอาตัวรอด หรือต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงจริงๆ จึงนับเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้ใช้วิกฤตการเมืองในขณะนี้ ให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ และแก้ไขไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น

ในกรณีของการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ การวางโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมาย นโยบาย และทิศทางการพัฒนาประเทศให้ชัดเจน การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆอย่างแท้จริงและเข้มแข็ง และระบบตรวจสอบการค้าการลงทุนและพฤติกรรมของนักลงทุนอย่างเข้มข้นนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ก่อนจะก้าวไปข้างหน้า เพราะไม่เช่นนั้น ความตกลงใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจะปิดโอกาสการพัฒนานโยบายด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับประเทศในอนาคต

กฎหมายลูกที่จำเป็นต่อความเข้มแข็งของระบบตรวจสอบ และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง กรอบและทิศทางการเจรจาการค้าและความตกลงระหว่างประเทศ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องมีการเริ่มเจรจาความตกลงต่างๆ ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ การทบทวนกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบต่างๆ ที่ออกมาในช่วง 5 ปีของรัฐบาลไทยรักไทย ที่เอื้อประโยชน์กับทุนผูกขาดและทุนต่างชาติ ในการกอบโกยประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและชีวิตคนไทย

ดังนั้น จึงไม่ใช่การเรียกร้องที่เกินเลยไปนัก หากเอฟทีเอ ว็อทช์ ขอประกาศจุดยืนว่า จะต้องไม่มีการลงนามหรือเจรจาเอฟทีเอใดๆ จนกว่าการปฏิรูปการเมืองรอบที่ 2 จะสิ้นสุดลง และมีการเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากนั้นจึงจะเริ่มตั้งต้นหารือกับทุกภาคส่วนว่า จะเจรจาหรือไม่ ในกรอบใด

พรรคไทยรักไทย ไม่มีสิทธิแอบอ้างความสำเร็จจากการเลือกตั้งก่อนการปฏิรูปการเมืองเป็นฉันทามติจากประชาชนในการผลักดันการเจรจาและลงนามเอฟทีเอ


บทบรรณาธิการล่าสุดของเว็บ FTA Watch (ได้รับเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๙)
ท่ามกลางความตื่นตัวของประชาชนไทย ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองบนท้องถนนและการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแบบไม่กระพริบตา หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่าอุณหภูมิในการเจรจาเอฟทีเอในบ้านใกล้เรือนเคียงของเราเอง ก็กำลังร้อนขึ้นทุกขณะ

มาเลเซียได้ประกาศเริ่มการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกาไปแล้วเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา แทบไม่ต้องสาธยาย ก็รู้ว่าหากการเจรจาเป็นผลสำเร็จ ประชาชนชาวมาเลเซียจะต้องประสบพบเจอกับอะไรบ้าง เพราะรูปแบบของการ "ไล่ล่า" เหยื่อผู้ไร้เดียงสาทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกานั้น ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกากลาง อเมริกาใต้ เอเชีย ล้วนอิงอยู่บนคัมภีร์ยอดแย่เล่มเดียวกัน และข้อตกลงที่ได้กับประเทศหนึ่ง จะเป็นบันไดนำไปสู่ข้อตกลงที่เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นในประเทศต่อๆ ไป

สหรัฐอเมริกาได้เริ่มทำกรอบข้อตกลงเจรจากับมาเลเซียตั้งแต่ปี 2546 ไล่หลังไทยไม่กี่ปี การเจรจากับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯที่ทำการศึกษามาอย่างดี จากทุกซอกทุกมุมในประเด็นกฎหมายของประเทศคู่ค้าต้องการความระมัดระวังและรอบคอบอย่างมาก ไทยเองตั้งแต่เริ่มเจรจากับสหรัฐมาจนจะเกือบ 2 ปีแล้ว ยังไม่อาจรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมที่อยู่เบื้องหลังรอยยิ้มแห่งมหามิตรได้หมด และเรียกได้ว่ายังไม่ประสบความสำเร็จที่จะเล่นเกมในเชิงรุกอย่างแท้จริงได้ แล้วนับประสาอะไรกับมาเลเซีย ที่สหรัฐฯต้องการให้การเจรจาจบสิ้นภายในต้นปีหน้า ก่อนที่กฎหมาย Fast Track ที่ให้อำนาจคณะบริหารในการเจรจาการค้าจะหมดลงในวันที่ 1 กรกฎาคม 2549

สหรัฐฯดำเนินหมากได้อย่างเจ้าเล่ห์ที่ทยอยทำเอฟทีเอกับแต่ละประเทศ และปล่อยให้เพื่อนบ้านเรือนเคียงกันระแวงกันเอง การเจรจาของสหรัฐฯกับมาเลเซียจะเป็นเหตุผลที่รัฐบาลไทยจะใช้อ้างอิงได้ว่าหากไทยไม่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ จะถูกมาเลเซียแย่งส่วนแบ่งตลาดไป เป็นไปได้ว่า ผลกระทบต่อส่วนแบ่งตลาดอาจจะเกิดขึ้นในระยะสั้น แต่ถ้าเราพิจารณาเนื้อหาและวิเคราะห์ผลกระทบข้อตกลงอย่างไม่มีอคติแล้ว จะเห็นว่าในระยะยาว การเที่ยวไล่เจรจาเอฟทีเอกับหลากหลายประเทศเช่นนี้ จะทำให้ความได้เปรียบของไทยหายไปในที่สุดอยู่ดี แต่สิ่งที่เหลืออยู่กับคนไทย คือ ผลกระทบที่รัฐบาลไทยไม่เคยกล้าที่จะพูดออกมา ไม่ว่าจะเป็น อำนาจและสิทธิในการตัดสินนโยบายของตนเอง การเข้าถึงยา ความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพ การเข้าถึงความรู้ของคนไทย และอื่นๆ นับไม่ถ้วน

ทั้งมาเลเซียและไทยต่างกำลังประสบกับศึกอย่างเดียวกัน มาเลเซียลงนามไปแล้วกับญี่ปุ่น และกำลังเริ่มเจรจากับสหรัฐฯ รัฐบาลมาเลเซียถูกครอบงำด้วยความอยากได้ตลาดญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เช่นเดียวกับรัฐบาลไทย มาเลเซียโดยไม่มีการศึกษาในรายละเอียดเหมือนกับที่รัฐบาลไทยไม่ได้ทำ แต่ไทยยังโชคดีอยู่ประการหนึ่งที่เสียงคัดค้านจากประชาชนยังพอที่จะดังถึงหูของคณะเจรจาและรัฐบาลอยู่บ้าง แต่ในมาเลเซีย ภาคประชาสังคมที่จะเข้าใจประเด็นต่างๆ นั้นยังมีอยู่น้อยมาก และความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมเมื่อเทียบกับไทยแล้วยังน้อยกว่า มาเลเซียเซ็นสัญญากับญี่ปุ่นไปแล้ว ยังไม่มีงานศึกษาออกมาเลยว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา บก. ได้มีโอกาสพูดคุยคุณซันย่า สมิทธ์ นักวิชาการทางกฎหมายจากเครือข่ายโลกที่สาม (Third World Network) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย หลังจากฟังเธอเล่าถึงการวิเคราะห์ผลกระทบจากข้อตกลงในประเทศของเธอ และในประเทศอื่นๆ สิ่งที่ทำได้อย่างเดียว คือ อ้าปากค้าง

ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะเคยได้ยินมาก่อนหรือไม่ก็ตาม แต่ในเอฟทีเอระหว่างไทยและนิวซีแลนด์ บทที่ 14 ว่าด้วย "ความโปร่งใสในการบริหารจัดการกฎหมายและกฎระเบียบ" (Transparent Administration of Laws and Regulations) ล้วนเขียนไปในแนวเดียวว่า หากจะมีการสร้างหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย มาตรการ กฎระเบียบ กระบวนการและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้า การลงทุน และการค้าบริการ รัฐบาลไทยจะต้องให้โอกาสนักลงทุนจากประเทศนิวซีแลนด์ในการแสดงความเห็น แสดงท่าทีและข้อโต้แย้งได้ โดยที่รัฐบาลไทยจะต้องให้ข้อมูลอย่างทันท่วงที

พูดให้ง่ายก็คือ ถ้าไทยจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายใดที่เกี่ยวกับการค้า บริการ และการลงทุน รัฐไทยต้องรวมนักลงทุนจากอีกประเทศหนึ่งให้ "ก้าวล่วง" เข้ามาในกระบวนการด้วย (แล้วนักลงทุนเหล่านี้ "ดีกว่า" คนไทยที่เรียกร้องการมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองอยู่หน้าทำเนียบตอนนี้ตรงไหน รัฐบาลไทยและนายกทักษิณจึงได้ปฏิบัติต่อพวกเขา "ด้วยความเคารพ" เสียยิ่งกว่าประชาชนไทยนัก?)

แล้วใครจะคาดคิดว่า แม้แต่สิ่งที่ไม่ได้เขียนในข้อตกลงเอฟทีเอ ก็ยังมีผลต่อการตีความข้อตกลงในทางกฎหมาย บทว่าด้วยการลงทุนในเอฟทีเอระหว่างสหรัฐฯกับประเทศกำลังพัฒนาประเทศหนึ่ง มีข้อความระบุใน "หมายเหตุ" ว่า "ประวัติศาสตร์ในการเจรจา" (negotiating history) สามารถนำมาใช้ประกอบการตีความข้อตกลงทางกฎหมายได้ พูดอีกอย่างก็คือ สิ่งที่ได้มีการพูดคุยกันระหว่างการเจรจานั้น แม้จะไม่ได้เขียนลงไปในข้อตกลงก็มีความสำคัญ

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ หากร่างข้อตกลงที่มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างไทยและสหรัฐฯมีหมายเหตุเช่นที่ว่าอยู่ด้วย ประสิทธิภาพการจดบันทึกระหว่างการเจรจาของไทยเป็นอย่างไร สิ่งที่คณะเจรจาไทยพูดออกมาระหว่างการเจรจานั้นมีอะไรบ้าง และจะนำไทยไปสู่ข้อผูกพันอะไรบ้าง

และท้ายสุด ไม่มีใครทราบว่า บทว่าด้วยการลงทุนในเอฟทีเอระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งกำลังรอการลงนามอยู่นั้นระบุเกี่ยวกับมาตรการของรัฐ เช่น มาตรการใช้สิทธิ (compulsory licensing) และการนำเข้าซ้อน"ยา" ไว้ว่าอย่างไร ทั้งรัฐบาลและคณะเจรจาหวงร่างข้อตกลงนั้นไว้ยิ่งกว่าไข่ในหิน ไม่ยอมเปิดเผยจนกว่าจะมีการลงนามให้เสร็จเรียบร้อย ถ้าในข้อตกลงไม่มีการระบุให้ยกเว้นมาตรการข้างต้นไว้ ก็แปลได้ว่า หากรัฐบาลไทยประกาศใช้สิทธิในการผลิตยา หรือนำเข้ายาราคาถูกเพื่อทดแทนยาที่มีสิทธิบัตร มาตรการนั้นถือได้ว่าเป็นการยึดทรัพย์ทางอ้อม และจะกลายเป็นกรณีพิพาทที่เอกชนจะฟ้องร้องรัฐได้

ที่ยิ่งไปกันใหญ่ ก็คือ สิ่งเหล่านี้จะเป็นมาตรฐานที่ไทยต้องยอมให้กับทุกประเทศสมาชิกในองค์การการค้าโลกอีกกว่า 140 ประเทศ ไม่ใช่แต่เฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้น คราวนี้แหละ คนไทยคงได้เจอวิกฤตด้านสาธารณสุขกันถ้วนหน้าแน่นอน

เราต้องร่วมกันหยุดเอฟทีเอ ที่ยกอำนาจและสิทธิต่างๆ ให้กับบริษัทข้ามชาติโดยไม่เห็นหัวประชาชน ขณะเดียวกัน เราก็ต้องเอาใจช่วยประชาชนในมาเลเซียที่จะหยุดเอฟทีเอ ซึ่งทำโดยรัฐบาลที่ไม่เห็นหัวประชาชนอีกเช่นกัน ประชาชนทั้งสองประเทศมีศัตรูร่วมกัน อย่าปล่อยให้ไทยและมาเลเซียโดนบรรดาประเทศมหาอำนาจปั่นหัว และต้องแข่งกันโดยไม่จำเป็น เพราะท้ายที่สุด ผู้ชนะจะไม่ใช่ทั้งไทยและมาเลเซีย

 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
180349
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

จีน เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจมาก แม้ว่าจะต่างกันหลายส่วน แต่จีนได้ผ่านหนทางที่ยากลำบากมายาวนาน ช่วงปี 1840 หลังสงครามฝิ่น คนต่างชาติอยู่เหนือคนจีน อยู่เหนือกฎหมายจีน. ต่อมาช่วงศตวรรษที่ 20 จีนพยายามที่จะแก้ ไม่ให้สิทธิเยี่ยงคนชาติแก่คนต่างชาติ แต่ยังคุ้มครองอยู่บ้าง. หลังสงครามโลกที่ 2 สนธิสัญญาใหม่ๆ เริ่มมีการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ แต่ไม่ให้ทั้งหมด ให้สิทธิการฟ้องศาลได้ แต่จีนทำให้คนต่างชาติไม่สามารถเดาได้ ถึงการปฏิบัติของระบบราชการ เมื่อเปิดเสรีมากขึ้น มีการให้หลักความเท่าเทียม แต่ก็มีข้อสงวนมากมาย ตอนนี้จีนเซ็นไปแล้วมากกว่า 110 ฉบับ มีการระบุเรื่องการเวนคืน ไม่ยอมให้เอกชนฟ้องรัฐ ยอมให้มีการเจรจา ค่าชดเชยก็ต่อเมื่อรัฐบาลจีนยอมรับว่าเป็นการยึดทรัพย์

The Midnightuniv website 2006