นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


The Midnight University



การเมืองภาคพลเมือง ประชาธิปไตยรากหญ้า
ประชาธิปไตยนอกยุโรป วัฒนธรรมชุมชนต้องเข้มแข็ง

ศ.นพ. ประเวศ วะสี : บรรยาย
นักวิชาการอาวุโส


บทความวิชาการนี้ได้รับมาจาก อ.ชัชวาล ทองดีเลิศ : วิทยาลัยการจัดการทางสังคม
จากเอกสารประกอบเวทีแลกเปลี่ยนประชาธิปไตยแผ่นดินแม่ จากเรื่อง
การเมืองสมานฉันท์ สร้างสรรค์ความเข้มแข็งท้องถิ่น
เป็นคำบรรยายของ อ.ประเวศ วะสี เกี่ยวกับเรื่องการเมืองสมานฉันท์
ความเป็นมาของประชาธิปไตยนอกยุโรป, เรื่องความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ,
ความเข้าใจในวัฒนธรรมในฐานะรากของสังคม, ประชาชนทำอะไรได้บ้างในระบอบประชาธิปไตยไทย,
การเมืองภาคพลเมืองซึ่งต้องทำความเข้าใจความซับซ้อนของสังคม,
สื่อกับการทำงานด้านสืบสวนสอบสวน

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 925
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 15.5 หน้ากระดาษ A4)



ประชาธิปไตยนอกยุโรป วัฒนธรรมชุมชนต้องเข้มแข็ง
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี : นักวิชาการอาวุโส

การเมืองสมานฉันท์ สร้างสรรค์ความเข้มแข็งท้องถิ่น
ในเรื่องของการเมืองสมานฉันท์นั้น ขอนำเสนอประมาณ 4 หรือ 5 ประเด็นด้วยกัน คือ

ประเด็นที่หนึ่ง ความสมานฉันท์เกิดจากความถูกต้อง
ประเด็นที่สอง การเมืองไม่ใช่มีแต่การเลือกตั้ง
ประเด็นที่สาม การเมืองภาคประชาชน
ประเด็นที่สี่ งานวิชาการเกี่ยวกับชุมชนเข้มแข็ง

ประเด็นที่หนึ่ง ความสมานฉันท์เกิดจากความถูกต้อง
อันนี้เป็นหลัก อยู่ดีๆ เราไปบอกว่าสมานฉันท์ๆ มันไม่สมานฉันท์ สมานฉันท์ต้องเกิดจากความถูกต้อง ลองนึกถึงภาพรถยนต์ ถ้าทุกส่วนของรถยนต์ถูกต้อง แล้วสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง เครื่องยนต์กลไกทั้งหมดจะสมานฉันท์กัน คือ ทำงานเรียบร้อยเชื่อมโยงกัน รถนั้นก็วิ่งไปได้อย่างสะดวกสบาย

หรือว่าร่างกายของเรา ประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ มากมาย เซลล์ต่างๆ ร้อยแปด ทุกส่วนต้องมีความถูกต้อง สัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเป็นปกติ ทุกส่วนจะสมานฉันท์กัน มีความเป็นปกติ มีความสุข มีความยั่งยืนทั้งหมด ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งผิดปกติไป มันรบกวนความสมดุลทั้งระบบเลย เกิดความไม่ผิดปกติขึ้น เช่น มีเซลล์มะเร็ง ก้อนมะเร็งเกิดขึ้นในร่างกาย ร่างกายทั้งหมดจะสะดุด จะไม่สมานฉันท์กัน ก็จะเกิดความเจ็บป่วย ความวิกฤตเกิดขึ้น แล้วก็ความตายเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น อันนี้จะเป็นหลักว่า ความสมานฉันท์จะต้องเกิดจากความถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องแล้วไปเรียกร้องให้มีความสมานฉันท์ หนึ่ง มันก็ไม่เกิด หรือว่าสอง ก็เท่ากับไปส่งเสริมความไม่ถูกต้องให้ดำรงอยู่ต่อไป ต้องแก้ไขให้เกิดความถูกต้อง ตรงนี้ พระพุทธเจ้าเคยมีตรัสไว้ตอนหนึ่งว่า ถ้าบุคคลถูกศร ลูกศรเสียบที่หน้าอกอยู่ อย่ามัวไปถามว่าคนยิงคือใคร นิสัยอย่างไร ชื่ออะไร เป็นลูกใคร ลูกศรนี่ทำด้วยไม้อะไร รูปร่างอย่างไร ต้องรีบถอนลูกศรออกก่อน ไม่อย่างนั้นมันส่งพิษไปทั้งร่างกาย สังคมที่เดือดร้อนวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้เพราะมีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น เหมือนถูกศรเสียบอกอยู่ จำเป็นต้องถอนลูกศรนั้นออก จึงจะเกิดความสงบเรียบร้อย

ประเด็นที่สอง ประชาธิปไตยไม่ได้มีแต่การเลือกตั้ง
เรานี่จะเข้าไปติดว่า "ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง" แล้วพอการเลือกตั้งใช้เงิน ทุกระดับเลยของการเลือกตั้ง เราก็เข้าไปสู่ความวิกฤตทุกๆ ระดับ เพราะสิ่งที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง" แล้วการเลือกตั้งใช้เงิน กลายเป็น "ธนาธิปไตย" กลายเป็นเงินเป็นใหญ่

ประชาธิปไตยนั้นแปลว่า ประชาชนทุกคนเป็นคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีส่วนร่วม แต่ถ้าเอาเงินเป็นใหญ่ แล้วเงินเป็นกอบเป็นกำ เป็นหมื่นล้าน เป็นแสนล้าน เข้าไปทำอะไรได้ทุกอย่าง ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว กลายเป็น "ธนาธิปไตย" หรือบางทีเขาเรียกว่า "ธนกิจการเมือง" ไม่ใช่ประชาธิปไตยอีกต่อไป และเมื่อเงินเข้าไปแบบนั้น ก็นำไปสู่ความเสื่อมเสียศีลธรรมต่างๆ อย่างที่เราเห็นกัน ไม่เกิดความสมานฉันท์เกิดขึ้น เพราะความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นแล้ว

เพราะฉะนั้น เราต้องหลุดออกไปจากตรงนี้ให้ได้ หลุดจากความคิดที่ว่าประชาธิปไตยมีแต่การเลือกตั้ง ประชาธิปไตยมีแบบอื่นๆ อีกเยอะมาก และพื้นฐานของประชาธิปไตยจริงๆ อยู่ที่ศีลธรรมพื้นฐาน คือ การเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะของคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน ประชาธิปไตยต้องมีฐานอยู่ที่ตรงนั้น ถ้าเราไปทำประชาธิปไตยให้เป็นเพียงเกม เป็นกลไก ขณะนี้มันเป็นเกม เป็นกลไก ต่อไปก็เป็นกลโกง ทำเป็นเกม เป็นกลไกเท่านั้นว่าจะเลือกตั้งอย่างโน้นอย่างนี้ต่างๆ ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องอยู่บนพื้นฐานของศีลธรรม คือ การเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะของคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน

ประชาธิปไตยนอกยุโรป
ทีนี้เรามาดูว่าประชาธิปไตยที่ว่า เรามักจะไปติดว่าประชาธิปไตยเริ่มต้นขึ้นที่อังกฤษอย่างโน้นอย่างนี้ เพราะเราเรียนจากฝรั่ง ที่จริงประชาธิปไตยมีมาก่อนฝรั่ง ครั้งพุทธกาล บางแคว้น บางรัฐ ปกครองแบบประชาธิปไตย อย่างแคว้นวัชชี มีการปกครองแบบประชาธิปไตยแล้ว และไปดูสิ่งที่เรียกว่า "วัชชีธรรม" (ธรรมะของชาววัชชี) หรือที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า "อปริหานิยธรรม" ในปีสุดท้ายที่ประทับอยู่ที่เขาคิชกูฏ ก่อนเสด็จพุทธดำเนินไปบนเส้นทางมหาปรินิพพาน จากเขาคิชกูฏนี่ เส้นทางไปเขาเรียกว่า "เส้นทางมหาปรินิพพาน"

ที่บนเขาคิชกูฏปีสุดท้ายนั้นเอง ตรัสเรื่องอปริหานิยธรรมเป็นอันมาก อปริหานิยธรรมลักษณะต่างๆ อปริหานิยธรรม นั้น ตามรูปศัพท์แปลว่า ธรรมะเพื่อความไม่ฉิบหาย ปริหานิย หมายถึงฉิบหาย ส่วน อปริหานิย หมายถึง ไม่ฉิบหาย คือ ธรรมะเพื่อความเจริญ ตรงข้ามกันกับ ธรรมะเพื่อความเจริญเพียงถ่ายเดียว มีทั้งหมด 7 ข้อ แล้วก็พูดลักษณะต่างๆ อปริหานิยธรรมของฆราวาส อปริหานิยธรรมของพระสงฆ์ต่างๆ ลองไปอ่านมหาปรินิพพานสูตรดู เป็นสูตรที่ยาวมาก แล้วจะมีตรงอปริหานิยธรรมนี้เยอะมาก

ข้อ 1 หมั่นประชุมกันเป็นเนืองนิตย์ อันนี้เป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า ถ้าเป็นเผด็จการก็ไม่ต้องมาประชุมกัน มาประชุมกันทำไม ฉันสั่งเลย อันนี้บอกข้อหนึ่ง หมั่นประชุมกันเป็นเนืองนิตย์ แปลว่า ทุกคนมีความสำคัญ ทุกคนมาให้ความคิดเห็น ออกความเห็นช่วยกัน ทุกคนมีความสำคัญอย่างที่บอก หมั่นประชุมกันเป็นเนืองนิตย์

ข้อ 2 พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันกระทำกิจที่พึงทำ อันนี้เราอาจจะเรียกว่าธรรมะเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนก็ได้ แต่ตรงนี้เป็นประชาธิปไตยที่ละเอียดอ่อน แล้วมีความประณีต มีคุณภาพมากกว่าการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งเราไม่รู้ว่าใครต่อใครคนไหนมาสมัครรับเลือกตั้งบ้าง บางทีเราไม่รู้จักเลย ฟังแต่เสียงโฆษณา ฟังแต่เสียงแจกเงินต่างๆ คุณภาพมันน้อย แล้วไม่รู้ไปได้ใครมา แต่ว่ากระบวนการทำงานร่วมกันของชุมชน ทุกคนมาร่วมกัน ทำร่วมกันจะรู้หมดว่าใครดีใครไม่ดี ใครขยัน ใครเห็นแก่ส่วนรวม ใครเก่ง จะเป็นกระบวนการที่คัดเลือกผู้นำตามธรรมชาติขึ้นมา

ผู้นำอาจจะมีสามประเภทด้วยกัน

1. ผู้นำโดยการเลือกตั้ง
2. ผู้นำโดยการแต่งตั้ง
3. ผู้นำตามธรรมชาติ

ผู้นำตามธรรมชาติ
ผู้นำตามธรรมชาติจะมีคุณภาพ จะเป็นผู้นำที่แท้จริงมากกว่าผู้นำโดยการเลือกตั้ง ผู้นำโดยการแต่งตั้ง โดยการเลือกตั้งเราเห็นแล้ว ก็ไปหลอกมั่ง ไปสร้างภาพมั่ง ไปแจกเงินบ้าง ได้คนขี้โกงเข้ามาก็มี คนไม่เห็นแก่ส่วนรวมก็มี คนโกหกก็มี คนทำงานไม่เป็นก็มี ร้อยแปดต่างๆ คุณภาพจะต่ำที่ได้เข้ามา โดยการแต่งตั้งก็แล้วแต่ อาจจะไปวิ่งเต้นเส้นสายขึ้นกับคนแต่งตั้งว่ามีใจเป็นธรรมหรือเปล่า มีความรู้หรือเปล่า เห็นแก่ส่วนรวมหรือเปล่า แต่งตั้งใครมา แต่งตั้งญาติมาหรือเปล่า เพื่อนรุ่นเดียวกันหรือเปล่า ร้อยแปดต่างๆ เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

ทีนี้ ผู้นำตามกระบวนการธรรมชาติ เราจะเห็นในกระบวนการชุมชนชัดเจนมาก เกิดจากกระบวนการทำงานร่วมกัน สมมติมีคนพันคนมานั่งอยู่ที่นี่ ไม่เคยทำอะไรร่วมกัน แล้วบอกไหนคุณลองโหวตซิ ว่าคุณอยากเลือกใครเป็นหัวหน้า เป็นผู้นำ จะเลือกไม่ถูก แต่ว่าในกระบวนการทำงานร่วมกัน จะปรากฏผู้นำตามธรรมชาติเกิดขึ้นมาเอง 100% ไม่มีเป็นอื่นจะเกิดขึ้น แต่ก่อนทำงานร่วมกันจะไม่รู้หรอก เจ้าตัวก็ไม่รู้ ตัวเองก็ไม่รู้ คนอื่นก็ไม่รู้ แต่พอทำงานร่วมกันมันจะออกมาเองว่า ผู้นำธรรมชาติ คือ

1. เป็นคนที่มีสติปัญญา คนเขาจะรู้กันทั่ว ทำงานร่วมกัน

2. เป็นคนที่เห็นแก่ส่วนรวม บางคนเห็นแก่ตัวคนก็รู้

3. เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต คนก็รู้อีก คนนี้ขี้โกงหรือเปล่า ชอบเอาเปรียบคนหรือเปล่า

4. เป็นคนที่ติดต่อกับคนอื่นรู้เรื่อง ติดต่อสื่อสารรู้เรื่อง สื่อสารเก่ง เพราะผู้นำนี่ต้องสื่อสาร ถ้าเป็นแบบที่เขาเรียก "อรหันต์เงียบ" คือ บรรลุธรรมะแต่ไม่พูดจากับใคร อันนั้นก็เป็นผู้นำไม่ได้ อาจจะบรรลุธรรมะ แต่ว่าไม่ใช่สัมมาสัมพุทธะ (ติดต่อเก่ง มีอนุสาสนีปาฏิหาริย์) เขาเรียกว่า พูดจามีเสน่ห์ จับใจผู้คน จะมีคุณสมบัติพร้อมไปเลย เป็นผู้นำตามธรรมชาติ

ตรงนี้ถ้าเราไปอ่านเรื่องราวต่างๆ มันมีประชาธิปไตยชุมชนอยู่ ในอาฟริกาก็มี ไปอ่านเรื่องของ เนลสัน แมนเดลล่า ซึ่งเป็นผู้นำอาฟริกาใต้ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก แกเคยเป็นผู้นำต่อต้านการที่คนขาวไปกดขี่คนดำในอาฟริกาใต้อยู่ร้อยกว่าปี เป็นการต่อสู้รุนแรง ถูกจับไปติดคุก 27 ปี ออกมาก็ยังใช้อหิงสธรรมอีก ไม่คิดไปฆ่าคนขาว หนักเข้าคนขาวเขานับถือคนนี้ ถ้าคนนี้มาแล้วคนขาวจะไม่ถูกฆ่า ทั้งๆ ที่คนขาวไปกดขี่ข่มเหง ไปฆ่าคนดำมากมาย แต่เขาใช้สันติ ใช้อหิงสธรรม คนขาวจึงยอมลงจากอำนาจ การเมืองของอาฟริกาใต้จึงเคลื่อนไปได้ในแนวทางประชาธิปไตย แล้ว เนลสัน แมนเดลล่า ก็ได้รับรางวัลโนเบล มีคนนับถือทั่วโลก ขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่ อายุเกือบ 90 แล้ว เป็นรัฐบุรุษของโลก

ขณะนี้ เนลสัน แมนเดลล่า ได้เขียนประวัติของแกมาตั้งแต่เด็กๆ ประวัติของชาวบ้าน ของชุมชนต่างๆ จะเห็นเลยว่า มีประชาธิปไตยชุมชน จะทำอะไรกัน หัวหน้าเผ่าก็มีการปรึกษาหารือ มีการขอความเห็นอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้น อย่าไปเชื่อว่าประชาธิปไตยเมื่อก่อนไม่มี มีแต่ที่อังกฤษเริ่มเป็นสายธารมา เราต้องหลุดจากความเชื่อที่ว่า เพราะมีประชาธิปไตยชุมชนอยู่ และเราก็ได้เห็นแล้ว พวกเรามาจากชุมชนท้องถิ่น เราก็รู้แล้ว ในกระบวนการชุมชน ชุมชนนี่เป็นพวกเดียวกัน เขาเป็นญาติพี่น้อง มีความสัมพันธ์กัน อยู่ด้วยกันมาตั้งนาน เรื่องอะไรเขาจะมาแบ่งเป็นพรรค แล้วมาต่อสู้กันแบบไอ้การเมืองข้างบน แต่ว่าเมื่อการเมืองข้างบนลงไปสู่ชุมชน แล้วเอาการเลือกตั้งลงไป ก็ไปทำให้ชุมชนแตก

ที่อินเดียเกิดมาก่อนเราแล้ว ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นนักสังคมวิทยาที่มีชื่อเสียงมาก ชื่อ Benergee เป็นคนอินเดีย เขียนหนังสือไว้ว่า เมื่อการเมืองลงไปถึงรากหญ้า (grass-root) เราชอบแต่ว่าการเมืองต้องไปถึง grass-root ไปถึงรากหญ้า เขาเล่ากันในอินเดียซึ่งมีประชาธิปไตยและลงไปถึงรากหญ้า ไปทำให้ชุมชนแตกแยกออกจากกัน ชุมชนแบ่งเป็นพรรคฝ่าย พรรคไหนชนะเลือกตั้งมีอำนาจ พวกนี้เด่นขึ้นมาข่มเหงอีกข้างหนึ่ง อะไรต่ออะไร แก้แค้นกันไปมา อันนี้ลงไปแตกหมด

ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ ไม่ใช่ว่าเลือกตั้งลงไปทุกแห่งแล้วมันดี ไม่ใช่อย่างนั้น ชุมชนนี่เขาเป็นพรรคเดียวกัน เขาเป็นพวกเดียวกัน เขาเป็นญาติกัน เป็นพี่น้องกันมาเป็นร้อยๆ ปี เขามีกลไกของชุมชน มีผู้อาวุโสบ้าง มีพระภิกษุบ้าง มีครูบ้าง มีปราชญ์ชาวบ้านบ้าง มีอะไรต่ออะไรต่างๆ มีวิธีที่จะขอความเห็น การมีส่วนร่วม มีการประนีประนอมเวลาเกิดเรื่องขึ้น ไม่ต้องมาขึ้นโรงขึ้นศาลมาหาตำรวจ หาอัยการ หาอะไรต่างๆ ต่อไป ยุ่งยากอีกมาก เพราะฉะนั้น ตัวชุมชนเข้มแข็ง คือ ประชาธิปไตย

ผมขอยกตัวอย่างหมอ ซึ่งเป็นจิตแพทย์คนหนึ่งของอเมริกัน ชื่อ Scott Peck เขาต้องรักษาคนอเมริกันที่ไม่มีความสุข คนอเมริกันเวลาไม่มีความสุข เขาจะไปหาจิตแพทย์ จิตแพทย์ก็ต้องช่วยแนะนำดูว่าทำไมไม่มีความสุข ทีนี้ทำไปๆ Scott Peck ก็บอกว่าทำไม่หวาดไหว คนอเมริกันไม่มีความสุขเยอะเหลือเกิน มาหาแกเยอะเหลือเกิน แกรักษาไม่ไหว นั่นสังคมประชาธิปไตยนะ มันไม่มีความสุขหรอก ที่นี้ Scott Peck ก็ค้นพบว่า แกต้องทำ สิ่งเขาเรียกการรักษากลุ่ม (Group Therapy) เดี่ยวๆ ก็ไม่ไหว ที่รักษาเป็นกลุ่มก็เจอว่าไม่ไหว มันเยอะแยะไปหมด แกเจอว่าต้องช่วยสร้างความเป็นชุมชน

ความเป็นชุมชนในที่นี้หมายถึงรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ เกิดขึ้นที่ไหน ไอ้นี่ของฝรั่งเขานะ เขาจะเรียกว่ามีความเป็นชุมชนที่นั่น อาจจะติดพื้นที่ก็ได้ ไม่ติดพื้นที่ก็ได้ เช่น ในมหาวิทยาลัย อย่างในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เรานั่งอยู่ ขาดความเป็นชุมชนวิชาการ อาจารย์ต่างคนต่างอยู่ ใช้กฎระเบียบอะไรต่างๆ แล้วก็ไม่มีพลังทางวิชาการ ต้องการชุมชนวิชาการ ถ้ามีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำของนักวิชาการ ก็เรียกว่า มีความเป็นชุมชนของนักวิชาการ

ถ้าที่วัดมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ อย่างพระพุทธเจ้าวางไว้ เราไปดูหลักพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าวางไว้เป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า เกิดก่อนอังกฤษหรือเปล่า แล้วก็ไม่อาศัยการโหวตเลย อาศัยการเห็นพ้องร่วมกันหมด

ท่านทั้งหลายเคยไปถวายผ้าพระกฐิน พระก็จะถามว่า ผ้าผืนนี้ควรจะตกแก่ภิกษุผู้ใด แล้วก็มีคนเสนอขึ้นว่าน่าจะตกกับผู้นั้นผู้นี้ แล้วพระทั้งมวลก็บอก สาธุ คือว่าเห็นด้วย ถ้าองค์หนึ่งค้านขึ้นไม่ได้นะ เขาไม่ได้อาศัยเสียงข้างมากว่า 51 กับ 49 ซึ่งมันก็ยังเถียงกันต่อไปได้อีก มันคือๆ กัน เพียงแต่ชนะนิดหนึ่ง เถียงกันต่อ ถ้ามีองค์หนึ่งค้านทีนี้ไม่ได้ละ แล้วเคยมี เจ้าคุณศราภัยพิพัฒน์ตอนไปบวช ตอนเขาถามขึ้นว่า จีวรนี้ควรจะตกกับสมภาร ท่านเป็นพระหนุ่มก็ค้าน บอกไม่ควรหรอก สมภารมีเยอะแล้ว ควรจะให้พระลูกแถวบ้าง กฐินเจ๊งเลย นี่คือ ประชาธิปไตย

แล้วไปดูหลักทางพระพุทธศาสนา สร้างความเป็นชุมชนใช่มั้ย รวมตัวร่วมคิดร่วมทำ การต้องลงปาฎิโมกข์พร้อมกัน ทำอะไรพร้อมกัน ลองไปดูสิ ใครเคยบวชแล้ว ไปดูพระวินัยที่วางไว้ เพื่อประชาธิปไตยชัดๆ อย่าลืมนะ พระพุทธเจ้าเป็นเจ้า แล้วก็มีสิทธิที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ว่าไม่เอาตรงนั้น มากลายเป็นพระภิกษุ และไปดูกระบวนการของพระภิกษุในครั้งพุทธกาล เป็นกระบวนการประชาธิปไตย แล้วยังส่งเสริมอปริหานิยธรรม

แคว้นมคธต้องการยกไปตีแคว้นวัชชี พระเจ้าอชาติศัตรู แล้วให้วัชราพราหมณ์มาถามพระพุทธเจ้าว่าถ้าไปตีนี่จะชนะมั้ย พระพุทธเจ้าบอกว่าถ้าเขายังใช้วัชชีธรรมอยู่ เธอไม่มีทางชนะเขา วัชชีธรรมก็คือธรรมะแห่งประชาธิปไตย ถ้าเขายังรวมตัวร่วมคิดร่วมทำอยู่ เธอไม่มีทางตีเขาได้

ฉะนั้น ตัวประชาธิปไตยแห่งความสมานฉันท์ อาจจะเรียกว่า "การเมืองสมานฉันท์" มีพลังมาก เป็นพลังของความสามัคคี พลังของการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ พลังของการเรียนรู้ พลังของการเสียสละ พลังของการทำความดี และพลังของการจัดการที่เกิดขึ้น เพราะว่ามีหัวหน้าซึ่งเป็นผู้นำตามธรรมชาติที่เกิดขึ้น อันนั้นเกิดการจัดการขึ้นแล้ว ฉะนั้น สิ่งนี้เวลาเกิดขึ้น คือ ชุมชนเข้มแข็ง ผู้คนเกิดความสุขและแก้ปัญหาทุกชนิด ทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ ครอบครัว ชุมชน สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ พร้อมกันไปหมดทุกอย่าง

ฉะนั้นเราต้องยืนยัน ท่านทั้งหลายที่มานี่ทำงานชุมชนมาทั้งสิ้น ผมไม่ต้องบรรยายที่ผมพูดหรอก เพราะท่านทั้งหลายเจอด้วยตัวเอง ที่ผมพูดนี่เพื่อให้กำลังใจว่าสิ่งที่ท่านทั้งหลายทำอยู่เป็นการถูกต้องแล้วว่า ประชาธิปไตยชุมชน หรือประชาธิปไตยการเมืองสมานฉันท์ของชุมชน คือ ความเข้มแข็งและเป็นเครื่องมือที่แก้ปัญหาทุกชนิด ทั้งความยากจน การรักษาสิ่งแวดล้อม การทะนุบำรุงวัฒนธรรม การจะพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นเรื่อยๆ

ตรงนี้เอง ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะมีทางออก ไม่อย่างนั้นถ้าเรามองแต่การเลือกตั้ง แล้วก็มองเห็นการใช้เงินซื้อเสียง บางคนเลยเกลียดประชาธิปไตยไปเลย ประชาธิปไตยระยำอย่างนี้มีไปทำไม ต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยไม่ได้มีแต่การเลือกตั้ง และเรื่องชุมชนเข้มแข็งนี่แหละ คือ ประชาธิปไตย

ถ้าเอาเงินเป็นตัวตั้ง กรุงเทพฯจะกลายเป็นบริวารของลอนดอน ของนิวยอร์ค ของโตเกียว แต่ถ้าเอาวัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง ทุกชุมชนท้องถิ่นจะมีศักดิ์ศรีหมด เพราะว่าทุกชุมชนท้องถิ่นมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง วัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญ เป็นรากเหง้าของสังคม หมายถึงวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ เราต้องเข้าใจคำว่าวัฒนธรรม เพราะทางรัฐเอามาทำบิดเบี้ยวจนวัฒนธรรมลดลงไปเหลือนิดเดียว ใช้คำว่า "ศิลปวัฒนธรรม" คนเลยเข้าใจว่า วัฒนธรรมคือการร้องรำทำเพลง ศิลปวัตถุเท่านั้น

ความหมายของคำว่าวัฒนธรรม
แต่คำว่า "วัฒนธรรม" มีความหมายใหญ่โตกว้างขวางมาก หมายถึงวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ วิถีชีวิตร่วมกันนี่หมายถึงความเชื่อร่วมกัน หมายถึงคุณค่าร่วมกัน อะไรที่นับถือร่วมกันก็เป็นวัฒนธรรม อะไรที่เป็นคุณค่าร่วมกันก็เป็นวัฒนธรรม วิธีคิดร่วมกันที่คนมีอย่างนั้นก็เป็นวัฒนธรรม การทำมาหากินที่เขาชำนาญ ที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ก็เป็นวัฒนธรรม ที่อยู่อาศัย การแต่งกาย เรื่องอาหาร เรื่องการแพทย์ สุนทรียกรรมต่างๆ เป็นวัฒนธรรมทั้งสิ้น อยู่ในวิถีชีวิตร่วมกัน

เพราะฉะนั้น ตัววัฒนธรรมจึงเป็นรากฐานของสังคม ต้นไม้ต้องมีราก สังคมก็ต้องมีราก รากของสังคมคือวัฒนธรรม เพราะมันสืบทอดมานาน จากวิถีชีวิตร่วมกัน อาจจะเป็นร้อยๆ ปี เป็นพันๆ ปี เป็นรากของสังคม ถ้าเราตัดรากต้นไม้ เกิดอะไรขึ้นเรารู้ ถ้าเราตัดรากสังคม จะเกิดอะไรขึ้น ก็แบบเดียวกับตัดรากต้นไม้ การพัฒนาทุกวันนี้คือการพัฒนาที่ตัดรากสังคม ตัดรากวัฒนธรรม การเมืองเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของการตัดรากวัฒนธรรม กูไม่คำนึงถึงแล้วโว้ย มึงมีวัฒนธรรมอะไรกูไม่รู้ กูจะเลือกตั้ง กูจะเอาเงินลงไปเลือก นี่คือการตัดรากสังคมด้วยอย่างหนึ่ง

ทีนี้ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ ถ้าเราพัฒนา เราเอาวัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง คือ กระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ศักดิ์ศรีสำคัญที่สุด แม้ยากจนแต่เรามีศักดิ์ศรีความเป็นคน เราอยู่ได้ แต่ถ้าเราขาดศักดิ์ศรีความเป็นคน เราอยู่ไม่ได้ ชุมชนต้องมีศักดิ์ศรี เขามีประวัติศาสตร์ของเขามา เขามีรากเหง้าของเขามา เขาได้ทำอะไรของเขามาดีๆ เขาได้เรียนรู้ เขาได้สะสมภูมิปัญญาต่างๆ มามากมาย

การพัฒนาโดยเอาวัฒนธรรมเป็นตัวตั้งคือประชาธิปไตย คือ การกระจายอำนาจ ต้องเข้าใจตรงนี้เยอะๆ ช่วยกันเข้าใจ เราจะได้หลุดออกจากมายาคติ หรือความเชื่อผิดๆ ว่าประชาธิปไตยมีแต่การเลือกตั้งเท่านั้น แล้วนำเราเข้าไปติดอยู่ในกับดักตัวนี้ จนไม่มีทางหลุดออก แล้วก็วิกฤติ แล้วก็รุนแรง อาจจะปะทะกันรุนแรง อาจจะนองเลือด เพราะความเชื่อผิดๆ ในขณะที่เรามีผู้คน คนไทยที่จิตใจดีๆ ที่รักกัน ที่รักชาติบ้านเมืองเยอะแยะๆ เต็มพื้นที่ไปหมดเลย เขาต้องมีบทบาทสร้างการเมืองสมานฉันท์

การเมืองสมานฉันท์เป็นประชาธิปไตยมากกว่าการเมืองเลือกตั้ง
ที่บรรยายมาตรงนี้ก็เพื่อให้เห็นว่า การเมืองสมานฉันท์เป็นประชาธิปไตยมากกว่าการเมืองเลือกตั้ง และการเมืองสมานฉันท์คือประชาธิปไตยของชุมชน ชุมชนเข้มแข็งเป็นประชาธิปไตย แล้วจะช่วยยันทุกสิ่งทุกอย่าง จะแก้ปัญหาทุกชนิด เพราะฉะนั้น เราต้องมีชุมชนเข้มแข็งเต็มพื้นที่ อันนี้ก็จะช่วยสร้างประชาธิปไตยหรือการเมืองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น จะลดการเมืองแบบขัดแย้งรุนแรงลง ถ้าเราตรึงพื้นที่หมดด้วยการเมืองสมานฉันท์

ในชุมชนนี่เห็นชัดเจนว่า ไม่ต้องอาศัยการเลือกตั้ง แต่เราอาศัยการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ ทุกคนมีบทบาทจริงๆ แล้วมีบทบาททุกวัน มีบทบาทตลอดปี ไม่ใช่ 4 ปีมีบทบาทวินาทีเดียว ไปหย่อนบัตรแล้วหมดบทบาทเลย การเมืองสมานฉันท์นี่คนทุกคนมีบทบาททุกวัน รวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมมีบทบาทกัน ทีนี้ประเด็นอยู่ที่ว่า แล้วในเมืองใหญ่จะทำอย่างไร ถ้าในชุมชนขนาดเล็กทำได้ว่าทุกคนมีส่วนร่วม แต่ในเมืองใหญ่คนมันเยอะ แล้วต่างคนต่างอยู่จะทำอย่างไร ก็เลยต้องไปอาศัยการเลือกตั้ง

คำถามก็คือว่า ในเมืองใหญ่จะทำอย่างไรจึงจะมีการเมืองสมานฉันท์ให้มากที่สุด คำตอบคงต้องมีหลายอย่าง คือ เรื่องการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนต้องเป็นเรื่องใหญ่ แล้วต้องเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ในทุกเรื่อง และในทุกองค์กร ต้องพยายามให้เกิดขึ้น ในเมืองใหญ่ก็ต้องเกิดความเป็นชุมชน ชุมชนที่นั่น ชุมชนที่นี่ ชุมชนเรื่องนั้น ชุมชนเรื่องนี้ ให้เต็มไปหมด แล้วมันจะไปลดไอ้การเมืองที่ใช้เงินลง ต้องพยายามสร้างความเป็นชุมชนให้เต็มเมือง เพื่อจะสร้างความเป็นชุมชนให้เต็มพื้นที่สังคมทั้งในเมืองและชนบท

ประชาชนทำอะไรได้บ้างในระบอบประชาธิปไตยไทย
พูดถึงทั้งประเทศ เราจะทำอะไรได้บ้างตรงนี้

ข้อ 1. พยายามให้มีชุมชนเข้มแข็งเต็มพื้นที่ เพื่อไปยันหรือจำกัด "ธนาธิปไตย" ถ้าชุมชนเข้มแข็งนี่เงินซื้อไม่ได้ เขาเป็นตัวเขาเอง เศรษฐกิจเขาพอเพียง ไม่ขึ้นกับเงินแล้ว เขามีเกียรติ เขามีศักดิ์ศรี คุณซื้อเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ข้อหนึ่งที่จะลด "ธนาธิปไตย" ลง ต้องชุมชนเข้มแข็งเต็มพื้นที่ ตอนนี้ต้องรีบทำ ต้องทำ ต้องให้เกิด เป็นเรื่องใหญ่ เป็นระเบียบวาระของชาติเลย ต้องเข้าใจตรงนี้ว่า ถ้าจะสร้างการเมืองสมานฉันท์แล้ว ชุมชนเข้มแข็งต้องเต็มพื้นที่ทั้งในชนบทและในเมือง

ข้อ 2. ต้องหาทางควบคุม "ธนาธิปไตย" จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะสร้างกฎกติกา สร้างอะไรก็ต้องทำ รัฐธรรมนูญปัจจุบันมีช่องโหว่อะไร ที่จริงเขาก็พยายามจะสร้าง แต่ว่าเงินขนาดใหญ่เข้ามายึดกุมอำนาจทางการเมืองได้ ก็ต้องมาดูกันตรงนี้ ว่าจะต้องสร้างกฎประชาธิปไตยอะไร องค์กรอิสระ ทำอย่างไรจึงจะแทรกแซงไม่ได้ อะไรต่อมิอะไร ร้อยแปด

ข้อ 3. การเมืองภาคประชาชนจะต้องเข้มแข็ง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่คิดถึงการเมืองภาคพลเมืองมาตั้งแต่ต้น

การเมืองภาคพลเมือง
ผมเองเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย แล้วก็มาคิดกรอบของการปฏิรูปการเมืองกัน ตอนนั้นอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรโณก็เข้ามา อาจารย์บวรศักดิ์เสนอตั้งแต่ต้นเลยว่า เราน่าจะพูดการเมืองของพลเมืองก่อน เพราะคนจะสนใจแต่การเมืองของนักการเมือง พอพูดว่าการเมืองก็สนใจแต่การเมืองของนักการเมือง

ที่จริงนักการเมืองมีไม่กี่คน มีประมาณ 3,000 คนทั้งประเทศ ก็ไปดูซ้ำๆ กันอยู่มาลงเลือกตั้ง มีประมาณ 3,000 คนแค่นั้น เราต้องพูดเรื่องการเมืองของพลเมือง และเราอย่าเพิ่งพูดการเมืองของนักการเมืองเลย เพราะถ้าเราพูด คนก็พากันไปสนใจเฉพาะตรงนั้น ไม่สนใจการเมืองภาคพลเมือง อันนี้ อาจารย์บวรศักดิ์เสนอในกรอบความคิดตั้งแต่ต้นเลย

ฉะนั้น ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันจะบัญญัติเยอะมากเลย แต่คนไม่สนใจ ไปสนใจเฉพาะการเมืองของนักการเมือง จะบัญญัติเยอะเลย เรื่องศักดิ์ศรีของพลเมือง เรื่องสิทธิชุมชน เรื่องการรวมตัวของคนเป็นเรื่องถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 76 ท่านทั้งหลายคิดสิ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบอกว่า

1. รัฐต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย
2. ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ
3. ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ

ถามว่า แล้วตรงนี้คืออะไร ถ้าไม่ใช่การเมืองของพลเมืองหรือการเมืองภาคประชาชน ที่จริงมีมาตราอื่นๆ อีก แต่มาตรา 76 ท่านทั้งหลายไปอ่านดู ผมอยากเสนอว่าเอารัฐธรรมนูญไปอ่านกันซะ อ่านแล้วอ่านอีกๆ อ่านทุกมาตรา อ่านไปอ่านมา จะได้เอามาใช้ มีเยอะมากเลย ของดีๆ ในนั้นเยอะ แต่คนมัวไปสนใจเฉพาะการเมืองของนักการเมืองเท่านั้น มันเป็นนิสัยเสพย์ติดอะไรสักอย่างที่อยู่กันตรงนั้น

ถ้าไม่มีการเมืองภาคประชาชนแล้ว ต่อให้การเมืองของนักการเมืองดีเท่าไรก็ตาม ไม่มีวันทำให้ถูกต้องได้ โดยธรรมชาติของเขา โดยธรรมชาติของคนที่มาเป็นนักการเมือง โดยธรรมชาติของกลไกที่จะเอาชนะเลือกตั้ง ทำให้เขาต้องทำผิด ไม่มีวันจะถูกต้องไปได้ถ้าปราศจากการเมืองภาคประชาชนเข้ามาตรวจสอบ กำกับ ดูแล เพราะฉะนั้น การที่จะเกิดการเมืองสมานฉันท์ขึ้นได้ ต้องการการเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็ง

ประเด็นที่สาม การเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็ง
คราวที่แล้วเมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 ออกมา ทุกคนก็วางใจ เฉย นักการเมืองก็เลยไปทำตามนิสัยของตัว ปล่อยให้เขาไปปู้ยี่ปู้ยำทำตามใจ นักวิชาการก็ดี ที่จริงการเมืองภาคประชาชนไม่ได้แยกจากนักวิชาการ อันนี้ 3 ส่วนจะเข้ามารวมกัน คือ

"ประชาชน" บวก "นักวิชาการ" บวก "สื่อมวลชน" อันนี้เรียกว่า "การเมืองภาคประชาชน"

การเมืองภาคประชาชนไม่ได้เคลื่อนไหวต่างๆ หยุดเงียบไป นักการเมืองก็เข้ามาปู้ยี่ปู้ยำรัฐธรรมนูญหมด ตั้งแต่นี้ต่อไป ที่ผมเขียนบทความเรื่อง "ปิดยุคการเมืองธนกิจ เปิดยุคการเมืองภาคพลเมือง" เราเห็นกระบวนการการเมืองภาคประชาชนที่กำลังเข้ามาตรวจสอบสิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างเข้มแข็ง จำเป็นต้องมีและดำรงอยู่ต่อไป คุณทักษิณจะอยู่หรือจะไป แม้แต่คุณทักษิณไปแล้ว การเมืองภาคประชาชนก็ต้องเคลื่อนตัวต่อไป แล้วต้องทำให้ถูกต้อง ต้องใช้สันติวิธี อหิงสา ต้องใช้วิชาการเข้ามา

ตรงนี้อยากฝากไว้ให้ดี การเคลื่อนไหวด้วยการชุมนุมเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถคลี่คลายสิ่งที่ซับซ้อนออกมาได้ ความเข้าใจตรงนี้จะมีน้อย อยากให้ดูฟิลิปปินส์ การเมืองภาคพลเมืองขับไล่มาร์กอสผ่านไป 20 ปีแล้ว ฟิลิปปินส์ก็ยังไม่ดีขึ้น เรื่องความยากจนยังแก้ไม่ได้ ยิ่งหนักเข้า คอร์รัปชั่นยังเต็มบ้านเต็มเมืองขณะนี้ แก้ปัญหาความยุติธรรมในสังคมก็ไม่ได้ แล้วก็ทำท่าจะเกิดเรื่องอยู่เรื่อย ขณะนี้เศรษฐกิจก็ตก แล้วการเมืองภาคพลเมืองเขาแข็ง เขาชุมนุมกันทีมากกว่าเราอีก ที่ถนนตรงนั้นเขาเรียก Essa รวมตัวกันขับไล่มาร์กอสไป ตอนหลังขับไล่ประธานาธิบดีอีกคนหนึ่งชื่อ เอสตราด้า ขับไล่ไปแล้ว ก็ยังไม่ดีขึ้น ผมอยากจะใช้เวลาทำความเข้าใจตรงนี้นิดหนึ่งว่า สังคมปัจจุบันซับซ้อน ซับซ้อนมาก ในความซับซ้อนนี้มีคนน้อยคนที่เข้าใจความซับซ้อน เมื่อเราไม่เข้าใจความซับซ้อน ความซับซ้อนมันก็ทำร้ายเอา

ตัวอย่างความซับซ้อนของสังคม
ขอยกตัวอย่างของอเมริกันซักเรื่อง เรื่องการผลิตยา และการค้ายาเป็นระบบที่ซับซ้อนมาก คนไม่เข้าใจหรอก คนอเมริกันก็ไม่เข้าใจ บริษัทยาออกมาบอกประชาชนว่า ฉันทำเพื่อประชาชน ยาแพงเพราะบริษัทต้องลงทุนในการวิจัยมาก ยาแต่ละตัวกว่าจะผลิตได้ต้องลงทุนการวิจัยมาก ยาจึงแพง อันนี้คือสิ่งที่บริษัทยาบอกประชาชน

เมื่อเร็วๆ นี้มีหมอผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ Masia Angel เคยเป็นบรรณาธิการของวารสารการแพทย์ของ New England ซึ่งมีคุณภาพสูงสุดในโลก เขาเรียกว่า New England Journal of Medicine เขียนหนังสือมาเล่มหนึ่งว่าด้วยความจริงเกี่ยวกับบริษัทยา และสิ่งที่เขาหลอกเรา ชื่ออย่างนั้น The truth about drug company and how they cheat us ลงไปคลี่ความซับซ้อนออกมาให้ดู ความซับซ้อนของการผลิตและการค้ายา เธอเจอว่าอย่างนี้

1. ที่บริษัทยาบอกว่าเขาลงทุนเพื่อการวิจัยมาก ไม่เป็นความจริง การวิจัยที่นำมาสู่การผลิตยา เป็นเรื่องของการใช้เงินรัฐบาล คือภาษีอากรของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ บริษัทยามาต่อท้ายนิดเดียว ข้อนั้นไม่เป็นความจริง

2. บริษัทยาเอากำไรมาก ตั้ง 27% ของการ access ของทรัพย์สินเข้า ซึ่งสูงที่สุด มากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ คำถามก็คือ ทำไมคุณต้องเอากำไรมากนัก ทำไมต้องเอากำไรมาก จากเลือดเนื้อ ความเจ็บไข้ ชีวิตของประชาชน เขาเรียกว่า Blood Money เป็นเงินที่เกิดจากเลือด คือ ชาวบ้านนี่เจ็บป่วย เป็นเอดส์ เป็นอะไรร้อยแปด ถึงกับชีวิต แล้วทำไมคุณต้องเอากำไรเขาเยอะอย่างนั้น ตกลงที่บอกว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่จริง เขาเอากำไรมาก

3. เขาไปเจอว่า CEO ของบริษัทยาบางคนรายได้ 150 ล้านดอลล่าร์ต่อปี ลองบวกลบคูณหารดู เท่าไร มันเกินเลยไป ทำไมคุณต้องมีรายได้ถึงขนาดนั้นท่ามกลางความเจ็บป่วยของคน

4. บริษัทยาใช้เงินมหาศาลไปวิ่งเต้นการเมือง ให้ออกกฎหมายที่ให้ประโยชน์กับบริษัทยา ที่ทำให้ยาราคาแพง เอาเงินไปยัดนักการเมืองเยอะ บริษัทยาเอาเงินไปยัด เพื่อกำหนดตัวว่า ใครเป็นเลขาธิการสำนักงานอาหารและยาของอเมริกัน เอาเงินไปยัด ถ้าคนที่เขาไม่เห็นด้วยก็มาเป็นเลขาธิการอาหารและยาไม่ได้

เมื่อยาแพง คนอเมริกัน คนแก่อเมริกันเจ็บป่วยต้องใช้ยา ต้องซื้อยาแพง ลำบาก ก็อยากจะไปซื้อยาของแคนาดาซึ่งถูกกว่าเยอะ ยาอย่างเดียวกัน บริษัทยาไปล็อบบี้นักการเมืองให้ออกกฎหมายห้ามคนอเมริกันไปซื้อยาของแคนาดา เรื่องการค้าเสรีก็ไม่จริงอีกแล้ว ถ้าเสรี อันไหนถูกก็ไปซื้ออันนั้น ออกกฎหมายห้ามซื้อเสียอีก

ตกลงทั้งหมดนี่มันผูกขาด มันสกปรก มันเป็นกล่องดำ ผมเรียกมันเป็น "กล่องดำ" ระบบที่ซับซ้อนและดำที่คนไม่รู้ มันทำร้ายสังคม ทำร้ายประชาชน และในสังคมปัจจุบันมันมีเยอะมาก เรื่องความยากจน ทำไมถึงยากจน คนไม่เข้าใจหรอก มันก็จะถูกหลอก ว่าเอาเงินไปแจก ใช้ "อาจสามารถโมเดล" อะไรอย่างนี้ มันก็จะถูกหลอกว่า เอาเงินไปแจก ต้องเข้าใจว่าความซับซ้อนของความยากจนคืออะไร เราจะได้แก้ไขมันได้ ไม่อย่างนั้นเรื่องต่างๆ จะถูกหลอกและถูกทำร้าย

FTA นี่มันเป็นอย่างไร พวกหนึ่งว่า ดีอย่างโน้นอย่างนี้ ความจริงคืออะไร กล่องดำมันเยอะไปหมดเลยในสังคม ฉะนั้น จำเป็นต้องมี ผมเรียกว่า "ยุทธการแกะกล่องดำ" นั่นคือ ให้คนเข้าใจมันในเรื่องต่างๆ นักวิชาการนี่จำเป็น เพราะเราชุมนุมกันเราแกะกล่องดำไม่ออก มันดำ มันดำอย่างนั้น เราไม่เข้าใจมัน ต้องใช้ความรู้ ข้อมูล หลักฐาน มาแกะตรงนี้ออก ออกแล้วคนก็จะเข้าใจว่า ความจริงเป็นอย่างไร ถึงจะเข้าใจ

ตอนนี้เขาว่า FTA ดีๆ นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ว่าดีๆ เอ๊ะ มันเป็นอย่างไรตรงนี้ มันซับซ้อนอย่างไร มันดีอะไรไม่ดีอะไรต่างๆ เขตเศรษฐกิจเสรีเขาว่าดี ไอ้จริงๆ มันคงร้ายแรงมาก หรือว่า รัฐบาลไปให้สิงคโปร์มาใช้ดินแดนไทย มีคนรู้หรือเปล่า กี่จังหวัด ที่ไหน ก่อผลอะไรขึ้นต่างๆ ร้อยแปด มีความดำเยอะมาก

ฉะนั้น ในกระบวนการตรงนี้ อยากจะฝากไปบอกทุกๆ คนนะ แม้แต่สมมติว่า การเมืองภาคประชาชนชนะ แล้วมัวภูมิใจ มัวอะไรกันอยู่อย่างนั้น แล้วไม่ทำงานแกะกล่องดำ เราจะแก้ปัญหาประเทศไม่ได้เหมือนฟิลิปปินส์ ต้องดูฟิลิปปินส์ 20 ปีแล้วที่มาร์กอสถูกไล่ไป ของเรานี่อาจจะตกคล้ายอาร์เจนติน่ากับฟิลิปปินส์ คือ อาร์เจนติน่าขายรัฐวิสาหกิจหมด แล้วก็เอาไปขายให้ต่างชาติ ค่าอะไรต่ออะไรต่างๆ ก็แพง คนก็จนลงไปอีก ผู้นำเผด็จการก็ขนเงินที่ได้จากการขายรัฐวิสาหกิจไปอยู่ต่างประเทศ ทิ้งความยากจนเอาไว้ ไม่ฟื้นตัว อาร์เจนติน่าขณะนี้ มาร์กอสก็อย่างที่ว่า สร้างวัฒนธรรมการกินการโกงไว้ในโครงสร้างเยอะแยะไปหมด ไปแล้วยังแก้ปัญหาไม่ได้อีก

ผมเคยไปพูดที่มะนิลา เรื่อง "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" ไปแสดงว่า การที่จะเขยื้อนเรื่องยากๆ เราต้องการสามเหลี่ยมเข้ามาบรรจบกัน 3 เรื่อง

1. คือ เรื่องวิชาการหรือเรื่องความรู้
2. คือ การเคลื่อนไหวสังคม อันนี้คือการเมืองภาคประชาชน และ
3. คือ เรื่องอำนาจรัฐ
เข้ามาบรรจบกัน 3 เรื่อง

คนฟิลิปปินส์ฟังแล้วก็บอกว่า เห็นแล้วว่าทำไมเราแก้ปัญหาไม่ได้ เขาพูดเอง การเมืองภาคประชาชนกับการเมืองนักการเมืองของฟิลิปปินส์เชื่อมกันอยู่ แต่เราขาดการสร้างความรู้ เขาบอกเองนะ ขาดการสร้างความรู้ เขาก็เลยแก้ปัญหายากๆ ไม่ได้

ฉะนั้นอยากฝากไว้ว่า สิ่งที่เรียกว่า "การเมืองภาคประชาชน" จำเป็นต้องมีประชาชน บวกนักวิชาการ บวกสื่อมวลชนด้วยเข้ามาเชื่อมโยงกัน แล้วทำให้ถูกต้อง ต้องใช้สัจจะ ใช้ความรู้ ใช้สันติวิธี ใช้อหิงสธรรม ใช้วิชาการ ตรงนี้เข้ามาด้วย สื่อมวลชนต้องเข้มแข็ง สื่อมวลชนต้องสามารถทำที่เรียกว่า "การสื่อสารแบบสืบสวนสอบสวน" ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Investigates Journalism ให้ได้ สิ่งที่จะหยุดยังคอร์รัปชั่นได้ชะงัดที่สุด คือ หนังสือพิมพ์แบบสืบสวนสอบสวน

สื่อกับการทำงานด้านสืบสวนสอบสวน
ถ้าเราไปดูในอเมริกา การคอร์รัปชั่นมันไม่กลัวความเห็น แต่จะจำนนด้วยหลักฐาน ถ้ามีหลักฐานซักชิ้นเดียว ถ้าไปชุมนุมกันนะ เขาก็บอกว่าแสนคน เขาบอกว่าฉันมี 19 ล้าน แต่ถ้ามีหลักฐานนี่ไม่ต้อง คนเดียวก็ได้ แต่หลักฐานมันชัดเจน เอามาแสดงได้ว่าคุณโกง คุณทำผิดกฎหมาย อันนี้จำนนกลางกระดานเลย ฉะนั้น อย่าไปเอาเสียงข้างมากอย่างเดียว เอาความจริงเข้ามา

ในอเมริกา การคอร์รัปชั่นทำได้ยาก เพราะว่าสื่อมวลชนเข้มแข็ง สื่อมวลชนนี่ตามติดหมด ยกตัวอย่าง แล้วก็อาจจะหัวเราะการเมืองเมืองไทย คนชื่อ Nelson Rockefeller อยากเป็นประธานาธิบดี แต่เป็นไม่ได้ อยากเป็น ขยับตัวเมื่อไร สื่อมวลชนไปคุ้ยว่า คุณหย่ากับภรรยาที่อยู่กันมาตั้งนาน อยู่มาตั้งหลายสิบปีแล้วเขาแก่แล้วคุณหย่าเขา ไปได้สาวๆ ใหม่มา อย่างนี้ถือว่า ไม่มีจริยธรรม แค่นี้ก็เป็นประธานาธิบดีไม่ได้แล้ว. ตอนคลินตันจะตั้งผู้หญิงคนหนึ่งเป็นรัฐมนตรี เขาตรวจสอบว่า ผู้หญิงคนนี้ทำผิดนิดเดียว คือมีคนใช้ที่บ้านที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เหมือนกับว่าเป็นพม่าหรือเป็นอะไรเข้ามาผิดกฎหมาย แค่นี้ก็เป็นรัฐมนตรีไม่ได้

Edward Kennedy น้องของ John F. Kennedy อยากเป็นประธานาธิบดี popular มาก ตระกูล Kennedy แต่ขยับตัวทีไร สื่อมวลชนมาจี้ว่าคุณ Kennedy ครั้งหนึ่งคุณพาผู้หญิงชื่อ Joan Kopeckne ไปรถคว่ำจมน้ำตาย แล้วคุณไม่รีบแจ้ง คุณไปเก็บไว้ตั้ง 7 - 8 ชั่วโมงไม่แจ้ง อย่างนี้จะเป็นประธานาธิบดีได้อย่างไร. ยังไม่พอคนชื่อ Gary Hard เป็นวุฒิสมาชิกรัฐโคโลราโด กำลังนำเชียว เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าแข่งประธานาธิบดี วันหนึ่งหนังสือพิมพ์เอารูปมาลงว่า Gary Hard ไปอุ้มผู้หญิงที่ไม่ใช่ภรรยาของตัวเองนั่งตัก แค่นี้เป็นประธานาธิบดีไม่ได้แล้ว. เมื่อเร็วๆ นี้นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ลาออก เพราะว่าไปตีกอล์ฟกับนักธุรกิจ ลาออกแล้ว

เพราะฉะนั้น ตัวสื่อมวลชนของอเมริกานี่ยากมาก ครั้งหนึ่งสมัยไอเซนฮาวอ์เป็นประธานาธิบดี แกมีปลัดบัญชาการ เป็นคนเดียวที่มีปลัดบัญชาการ คนอื่นๆ ไม่มี แล้วเราก็ไปเอาอย่างมา หลวงวิจิตรวาทการไปเอาอย่างมา เมื่อครั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีปลัดบัญชาการ ไอเซนฮาวมีปลัดบัญชาการ เพราะแกเป็นคนขี้เกียจ ตอนผมเรียนอเมริกา ครูผมบอกว่าไอเซนฮาวเป็นคนขี้เกียจ มีปลัดบัญชาการทำการแทน แล้วเป็นคนเก่ง คนดีมาก แต่ว่าพลาดนิดเดียว ไปรับพรมเป็นของขวัญชิ้นหนึ่ง ชิ้นเดียว สื่อมวลชนล้วงแล้วล้วงอีก เอามาแสดง คุณต้องออกจากตำแหน่ง คุณอยู่ไม่ได้

ฉะนั้น พวกเราต้องไปส่งเสริมสื่อมวลชนให้ทำตรงนี้ ผมเสนอไว้นานแล้ว ไม่กระดิกเลย เสนอไว้เป็นปีๆ ว่าน่าจะมีการตั้งกองทุน สนับสนุนสื่อมวลชน ให้ทำวิจัยคอร์รัปชั่น แล้วเราก็ช่วยกันบริจาคคนละสิบบาทยี่สิบบาททั้งประเทศเลย เขาจะได้มีกำลังทำที่ตรงนี้ ก็เสนอซ้ำอีกว่า สื่อมวลชนที่เข้มแข็งสามารถสืบสวนสอบสวนได้ เป็นปัจจัยสำคัญในการหยุดยั้งคอร์รัปชั่น การหยุดยั้งคอร์รัปชั่นเพื่อให้มีความสมานฉันท์ ถ้าคอร์รัปชั่นมี ก็ไม่สมานฉันท์ เดี๋ยวตีกันตาย

ประเด็นที่สี่ งานทางวิชาการเรื่องชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง
ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งคือรากฐานของประชาธิปไตย สหรัฐอมริกาเข้มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังการตั้งประเทศ เพราะเขาวางรูปแบบมาให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง เริ่มตั้งประเทศเลยก็เป็น United State รัฐ คือ ท้องถิ่น ท้องถิ่นหมดเลย เขาเข้มแข็ง มีพลังขึ้นโดยรวดเร็ว ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนเป็นไปได้โดยปราศจากความเข้มแข็งของท้องถิ่น ไปดูสวิสเซอร์แลนด์ ประเทศเล็กกว่าเราอีก มีตั้งสิบกว่าท้องถิ่น (canton) เป็นอิสระเลย เยอรมันก็มีแคว้นต่างๆ ซึ่งเป็นท้องถิ่น เข้มแข็งมาก มาเลเซียใกล้ๆ บ้านเราก็มีรัฐต่างๆ เยอะแยะ ฉะนั้น เรื่องชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง คือ หัวใจของประชาธิปไตย

ตรงนี้เราก็เคลื่อนไหวกันมาพอสมควร เรื่องชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง แต่สิ่งที่ขาด คือขาดการทำงานทางวิชาการที่เข้มแข็ง เรามีท้องถิ่นที่เป็นองค์กรท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แล้วก็เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด รวมกันทั้งประเทศประมาณ 8,000 องค์กรทั้งหมด เราต้องการช่วยให้องค์กรเหล่านี้เข้มแข็ง

เราต้องการสถาบันวิจัยและพัฒนา ทำงานทางวิชาการ เรามีคนพูดเชียร์เยอะ แต่จำเป็นต้องทำงานทางวิชาการ ไปดูว่าขณะนี้มีชุมชนที่ไหนเข้มแข็งแล้วบ้าง ที่ไหนยังไม่เข้มแข็ง ทั้งประเทศเลย เอาแผนที่มาดูเลย ทำ Mapping ที่ไหนเข้มแข็งแล้ว ที่ไหนยังไม่เข้มแข็ง เข้มแข็งเพราะอะไร ยังไม่เข้มแข็งเพราะอะไร จะสนับสนุนให้ที่ที่ยังไม่เข้มแข็งเข้มแข็งขึ้นได้อย่างไร ท้องถิ่นเป็นอย่างไรบ้าง ทั้ง 8,000 ที่ไหนเข้มแข็งแล้ว เรื่องอะไร ที่ไหนยังไม่เข้มแข็ง ต้องทำวิจัย ไปส่งเสริม แต่ต้องมีการวิจัย ทำ Mapping ให้รู้หมด การเดินยุทธศาสตร์ต้องอาศัย mapping ถ้าเราไม่ทำ Mapping เราไม่เห็นภาพ เราก็ทำไปเรื่อยๆ พูดไปเรื่อยๆ

ฉะนั้น ตรงนี้เราต้องการสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ไม่ต้องการคนหลายคน มีนักวิชาการที่วิจัยเก่งๆ สักสี่ห้าคนก็ใช้ได้ แต่ต้องมาทำงานเต็มเวลา มันต้องจับต่อเนื่อง ต้องมีอาจารย์หรือนักวิชาการบางคน ออกมาทำงานเต็มเวลา มีเงินเดือนให้ ต้องทำงานเต็มเวลา ทำทุกวัน ไม่ใช่นานๆ ทำทีหนึ่ง

 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
180549
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอพระขอบคุณในการอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ฟรี เพื่อการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมจาก www.thaiis.com
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ทีนี้เรามาดูว่าประชาธิปไตยที่ว่า เรามักจะไปติดว่าประชาธิปไตยเริ่มต้นขึ้นที่อังกฤษอย่างโน้นอย่างนี้ เพราะเราเรียนจากฝรั่ง ที่จริงประชาธิปไตยมีมาก่อนฝรั่ง ครั้งพุทธกาล บางแคว้น บางรัฐ ปกครองแบบประชาธิปไตย อย่างแคว้นวัชชี มีการปกครองแบบประชาธิปไตยแล้ว และไปดูสิ่งที่เรียกว่า "วัชชีธรรม" (ธรรมะของชาววัชชี) หรือที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า "อปริหานิยธรรม" ในปีสุดท้ายที่ประทับอยู่ที่เขาคิชกูฏ ก่อนเสด็จพุทธดำเนินไปบนเส้นทางมหาปรินิพพาน จากเขาคิชกูฏนี่ เส้นทางไปเขาเรียกว่า "เส้นทางมหาปรินิพพาน"

The Midnightuniv website 2006