นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


The Midnight University



วิกฤตราคาน้ำมัน และเรื่องของอำนาจนำ
(ก) เหตุผล 5 ข้อที่น้ำมันอาจถึง 100 ดอลล์/บาร์เรล
(ข) อำนาจอธิปไตยกับอำนาจนำ
รศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ผลงานวิชาการ ๒ ชิ้นนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วในหนังสือพิมพ์มติชน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุผลที่ทำให้เกิดวิกฤตราคาน้ำมันในปัจจุบัน ๕ ข้อ และการเมืองไทยร่วมสมัย
ในเรื่องของอำนาจอธิปไตยและอำนาจนำ
SOVEREIGNTY & HEGEMONY
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 918
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8.5 หน้ากระดาษ A4)




วิกฤตราคาน้ำมัน และเรื่องของอำนาจนำ

รศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(ก) เหตุผล 5 ข้อที่น้ำมันอาจถึง 100 ดอลล์/บาร์เรล
ผมตื่นแต่เช้ามืดขึ้นมาเปิดวิทยุ BBC World Service ฟังเมื่อวันอังคารที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก็ได้ยินข่าวประธานาธิบดีโบลิเวียเพิ่งลงนามในกฤษฎีกาให้โอนอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในประเทศ จากบรรดาบรรษัทพลังงานข้ามชาติไม่ว่าของบราซิล,สเปน,ฝรั่งเศส ฯลฯ กลับมาเป็นของรัฐ (หรือ "ของชาติ" หากถือตามรูปศัพท์ Nationalization) โดยให้เวลาบรรษัทเหล่านั้นปรับตัว 6 เดือน หากทำไม่ได้ ก็จะถูกขับออกนอกประเทศไป

แง่มุมน่าสนใจเกี่ยวกับปฏิบัติการทวนกระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์ / เสรีนิยมใหม่ครั้งนี้มี 2 ประการคือ :-

1) มันดำเนินการโดยประธานาธิบดีอีโว โมราเลส ซึ่งค่อนข้างหนุ่ม อายุเพียง 46 ปี และเป็นชาวอินเดียนพื้นเมืองคนแรกของประเทศที่ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดนี้ ในอดีต เขาเป็นผู้นำสหภาพชาวไร่โคคา (ซึ่งแต่ไหนแต่ไรชาวอินเดียนพื้นเมืองชอบเด็ดใบโคคาสดๆ มาเคี้ยวกินแก้เหน็ดเหนื่อยวิงเวียนเป็นประจำ เหมือนคนไทยแต่ก่อนนิยมกินหมากหรือเคี้ยวใบกระท่อม ทว่าพักหลังนี้กลับถูกรัฐบาลอเมริกันบีบให้เลิก เพราะใบโคคาสามารถเอาไปสกัดทำยาเสพติดโคเคน ให้พวกค้ายาลักลอบส่งไปขายคนอเมริกันจนติดงอมแงม)

ปัจจุบัน เขาเป็นหัวหน้ากลุ่มพันธมิตรขบวนการสังคมนิยม Movimiento al Socialismo ซึ่งเป็นปากเสียงสนับสนุนขบวนการมวลชนอันทรงพลังของชาวอินเดียนพื้นเมือง ที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์ / เสรีนิยมใหม่และเรียกร้องให้ปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองเพื่อความเสมอภาค. อีโว โมราเลสชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอย่างเด็ดขาดเมื่อ 18 ธันวาคม ศกก่อน ด้วยคะแนนเสียง 54% จากผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนทั้งสิ้น 85%

2) ประเทศโบลิเวียอุดมด้วยทรัพยากรแร่ธาตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน มีก๊าซธรรมชาติสำรองอยู่ถึง 1.5 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร (หรือ 54 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต) นับว่ามากเป็นอันดับสองในทวีปละตินอเมริการองจากเวเนซุเอลา

ถ้าบรรษัทพลังงานข้ามชาติเหล่านั้นหาทางโค่นประธานาธิบดีอีโว โมราเลสไม่สำเร็จ - เหมือนที่รัฐบาลอเมริกันพยายามโค่นประธานาธิบดีฮิวโก ชาเวซแห่งเวเนซุเอลาไม่เป็นผล - และต้องยอมรับการโอนกิจการเป็นของรัฐแล้ว คุณคิดว่าพวกเขาจะยอมแบกรับภาระความเสียหาย ต้นทุนที่สูงขึ้นและกำไรที่ขาดตกบกพร่องไว้เอง (เนื่องจากมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะทำตามข้อเรียกร้องของขบวนการมวลชน ที่ให้แปรรูปก๊าซในประเทศก่อนส่งออกไปขายเพื่อให้ได้ราคาดีขึ้น แทนที่จะส่งออกก๊าซดิบราคาถูก) หรือผลักไสมันมาให้ผู้บริโภคตาดำๆ อย่างเราล่ะ?

เมื่อหนึ่งปีก่อน ประธานาธิบดีชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา-ประเทศผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของละตินอเมริกา โดยมีน้ำมันสำรองให้ใช้ไปได้อีกนานถึงราว 58 ปี - ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลอเมริกัน ได้เตือนแกมขู่ประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ทั้งหลายว่า :- "ชาวโลกควรจะบอกลาน้ำมันราคาไม่แพงได้แล้ว"

ตอนนั้น ราคาน้ำมันตกบาร์เรลละ 53 ดอลลาร์สหรัฐ ทว่ามาบัดนี้มันถีบขึ้นไปทำสถิติใหม่สูงถึงบาร์เรลละ 70 กว่าดอลลาร์ ในตลาดนิวยอร์กและลอนดอน ดังนั้น เมื่อวันที่ 20 เมษายน ศกนี้ ชาเวซจึงเตือนซ้ำอีกว่า :- "มันขึ้นไปได้ถึง 100 ดอลลาร์ ชัวร์เลย"

เชื่อว่าเมื่อเขาต้อนรับแขกเหรื่อบรรดาเพื่อนภาคีสมาชิกองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปคที่จะมาประชุมสุดยอด ณ เมืองหลวงคารากัสของเวเนซุเอลาวันที่ 1 มิถุนายน ศกนี้ ชาเวซก็คงจะตอกย้ำทำนองเดียวกันอีก ทั้งที่เอาเข้าจริงโอเปคแทบไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อการขึ้นราคาน้ำมันครั้งนี้สักเท่าไหร่เลย!

การที่ราคาน้ำมันพุ่งทะลุเพดานระยะหลังนี้ ยืนยันว่าโลกกำลังเผชิญกับภาวะช็อคเนื่องจากน้ำมันรอบใหม่ ทว่ามันมีเนื้อแท้และความเข้มข้นต่างจากครั้งก่อนเมื่อปี ค.ศ.1980 ครั้งนั้นการบรรจบกันของการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านกับการปะทุขึ้นของสงครามระหว่างอิหร่านกับอิรัก ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งพรวดถึงบาร์เรลละ 89 ดอลลาร์

มารอบนี้สถานการณ์ราคาน้ำมันร้อนแรงจนมันกลายเป็นหัวข้อแรกสุดในการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มจี-7 (ได้แก่อเมริกา,อังกฤษ,แคนาดา,ฝรั่งเศส,เยอรมนี,อิตาลี, ญี่ปุ่น) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อกลางเดือนเมษายนศกนี้ แต่กระนั้นผู้นำกลุ่มจี-7 ก็จนด้วยเกล้าไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับปรากฏการณ์ราคาน้ำมันที่ตนควบคุมไม่ได้ อันเกิดจากสาเหตุอย่างน้อย 5 ประการด้วยกัน กล่าวคือ :-

1) ภาวะตึงตัวระหว่างอุปทานกับอุปสงค์น้ำมัน
ขณะนี้ เศรษฐกิจโลกยังพอทนรับพิษไข้น้ำมันขึ้นได้ รายงานของไอเอ็มเอฟ ซึ่งออกมาเมื่อ 19 เมษายน ศกนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะโตราว 4.9% ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟวิตกว่า การที่ราคาน้ำมันต่อบาร์เรลถีบสูงขึ้นถึง 3 เท่าตัวนับแต่ต้นปี ค.ศ.2002 เป็นต้นมานั้นจะส่งผลกระทบแบบออกอาการช้าต่อไปข้างหน้า ทั้งนี้เพราะองค์การพลังงานระหว่างประเทศวิเคราะห์ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ประคองตัวไว้ได้นี้ จะพลอยทำให้อุปสงค์หรือความต้องการใช้น้ำมันดิบทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 1.8% กลายเป็นตัวละ 85.1 ล้านบาร์เรลด้วย

กลุ่มจี-7 จึงเรียกร้องให้บรรดาประเทศผู้บริโภคน้ำมันหาทางประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง พร้อมกันนั้นก็เร่งรัดให้บรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมันสูบน้ำมันออกมาจำหน่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในด้านอุปทาน ข้างโอเปค (ซึ่งผลิตน้ำมันรวม 40% ของโลก) ก็ยืนยันว่ามีน้ำมันขายในตลาดอย่างพอเพียงและพวกตนก็สูบน้ำมันออกมาขายเต็มพิกัดความสามารถแล้วด้วย

ภาวะตึงตัวระหว่างอุปทานกับอุปสงค์น้ำมันดังกล่าวข้างต้นคงส่งผลน้อยถ้าหากตลาดยอมหันไปล้วงเอาน้ำมันในคลังสำรองของตนมาใช้ชดเชยการผลิตน้ำมันที่เสียหายไปในเขตพื้นที่เสี่ยงสูง หรือหากว่าซาอุดีอาระเบียประเทศเดียวจะผลิตน้ำมันสำรองปริมาณดังกล่าวออกมาชดเชย ซึ่งได้แก่น้ำมันดิบหนักและน้ำมันที่ผ่านการกลั่นเพียงเล็กน้อยตกราว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

2) การลงทุนต่ำในอุตสาหกรรมน้ำมัน
ผู้เชี่ยวชาญกิจการน้ำมันชาวตะวันตกวิเคราะห์ว่าสมรรถภาพในการผลิตน้ำมันยังขาดพร่องอยู่มาก เนื่องจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่ปกครองในระบอบกษัตริย์แถวอ่าวเปอร์เซียลงทุนขุดเจาะพัฒนาบ่อน้ำมันเพื่อเพิ่มการผลิตไม่พอเพียง ทั้งที่มีรายได้จากการขายน้ำมันล้นเหลือเฟือฟายกว่ายุคสมัยใด

แล้วทำไมประเทศผู้ผลิตน้ำมันถึงได้ขี้เหนียวรัดกุมปานนั้น?

เหตุผลน่าจะเนื่องจากพวกเขาไม่มั่นใจว่าภาวะราคาน้ำมันบูมรวยอู้ฟู่จะยืนนานแค่ไหน,อีกทั้งประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายก็เริ่มหันไปดำเนินนโยบายกระจายแหล่งที่มาของพลังงานให้หลากหลายแทนที่จะพึ่งพาน้ำมันท่าเดียวแล้วด้วย จึงทำให้ชักไม่สบายใจที่จะควักเนื้อออกมาลงทุนจริงจัง แม้จะพยายามลงทุนเสริมบ้างบางระดับในหลายปีที่ผ่านมา

ผู้เชี่ยวชาญบางรายประเมินว่าจำนวนเงินที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันลงทุนไปในเรื่องนี้เอาเข้าจริงตกราว 10% ของรายได้จากการขายน้ำมันของตัว-โดยรายได้ที่ว่านั้นสูงถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่แล้ว และทำท่าจะเพิ่มขึ้นไปอีก 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปีปัจจุบัน

แต่จะโทษประเทศผู้ผลิตน้ำมันถ่ายเดียวก็ไม่ถูก พวกบรรษัทน้ำมันข้ามชาติเองก็มัวแต่รีๆ รอๆ คอยจังหวะอยู่นั่นแหละเหมือนกัน ดังปรากฏว่าการสำรวจหาน้ำมันปิดตัวเลิกราไปเสียเป็นส่วนใหญ่ในพื้นที่แหล่งน้ำมันหลายแห่งของโลก ส่วนกระบวนการกลั่นน้ำมันในบางพื้นที่ก็เดินเครื่องไม่เต็มพิกัดสมรรถนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ก็เพราะการปรับเปลี่ยนมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม (ให้เอาสารเอทานอลผสมใส่น้ำมันตามสัดส่วนที่ทางการกำหนด) ก่อปัญหาให้ภาคอุตสาหกรรมโรงกลั่นในตอนที่ร่ำๆ จะย่างเข้าหน้าร้อนซึ่งเป็นช่วงที่ชาวอเมริกันยกโขยงแห่กันขับขี่รถตระเวนเที่ยวทั่วประเทศโกลาหล (อันส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันพลอยพุ่งสูงปรี๊ดขึ้น) พอดี

3) เหตุปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์
ผู้ติดตามข่าวต่างประเทศใกล้ชิดย่อมสังเกตเห็นได้ว่าในรอบปีนี้ เกิดเหตุทำให้การผลิตน้ำมันต้องสะดุดหยุดชะงักมากเหลือเกิน

- กล่าวคือ ในอิรัก สงครามต่อต้านอเมริกันและสงครามกลางเมืองทำให้การผลิตน้ำมันขึ้นๆ ลงๆ และยังน้อยกว่าสมัยก่อนอเมริกาบุกยึดครองเสียอีก

- ในไนจีเรีย การผลิตน้ำมันตกลง 20% นับแต่เดือนมกราคมศกนี้เป็นต้นมาเพราะขบวนการกบฏบุกโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันซ้ำแล้วซ้ำอีก (รวมทั้งจับสองคนงานไทยไปกักตัวไว้พักใหญ่ด้วย)

- ในประเทศชาด รัฐบาลขู่จะระงับการผลิตน้ำมัน (ตกวันละ 250,000 บาร์เรล) ภายในสิ้นเดือนเมษายนศกนี้ถ้าหากธนาคารโลกไม่ปล่อยรายได้จากการจำหน่ายน้ำมันของตนที่ธนาคารโลกกักเอาไว้ออกมา

- ทว่าตอนนี้แหล่งผลิตที่ไหนก็คงไม่ตึงเครียดเท่าอิหร่าน ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ซึ่งกำลังร้องตะโกนด่าท้ารบ และตั้งท่ารอรับการแทรกแซงทางทหารจากอเมริกาเป็นรายถัดไปอยู่

ศูนย์ศึกษาพลังงานโลกในกรุงลอนดอนประเมินว่านับแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา สงครามรุกราน (ในอิรัก),สงครามจรยุทธ์ (ในไนจีเรีย),อุปสรรคขัดขวางการลงทุน (ในอิหร่าน),การแทรกแซงจากรัฐบาล (ในรัสเซีย),และวิกฤตการเมืองภายในประเทศ (ในเวเนซุเอลา,คูเวต,และโบลิเวียด้วย) ทำให้อุปทานน้ำมันที่น่าจะผลิตได้กลับสูญหายไปถึงวันละเกือน 8 ล้านบาร์เรลหรือเฉียดๆ 10% ของยอดการบริโภคน้ำมันทั่วโลกทีเดียว

4) การเก็งกำไร
ถึงแม้นักวิเคราะห์อาวุโสในวงการน้ำมันอย่างนายคล็อด แมนดีล ผู้อำนวยการบริหารองค์การพลังงานระหว่างประเทศจะให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีว่าการเก็งกำไรไม่ได้เป็นมูลเหตุให้ราคาน้ำมันพุ่งสูง แต่อาจเป็นตัวเร่งให้มันแพงยิ่งขึ้นได้

กระนั้นก็ตามความจริงมีอยู่ว่าบรรดากองทุนบำเหน็จบำนาญและโดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนเก็งกำไรทั้งหลายนี่แหละที่คอยผลักดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้นแล้วทำกำไรจากมัน ในบัญชีสินทรัพย์ของกองทุนเหล่านี้ จะปรากฏรายการพวกสินค้าวัตถุดิบ-ก่อนอื่นใดคือน้ำมัน-อยู่ข้างๆ รายการหุ้น พันธบัตรและอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้บริหารกองทุนเที่ยวกว้านซื้อเก็บไว้ตามรายงานของธนาคารโซสิเอเต เจเนราลแห่งฝรั่งเศสนั้น

ปัจจุบันนี้ พวกกองทุนซื้อขายล่วงหน้า (hedge funds) ถือครองสัญญาการเงินเกี่ยวกับการซื้อขายน้ำมันที่มีอยู่ในตลาดเอาไว้ถึง 15% จากที่เคยถือเพียง 5% เมื่อต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990

5) วิบัติภัยธรรมชาติ
ฝนฟ้าในโลกเรานับวันจะวิปริตแปรปรวนคาดเดายาก และสามารถส่งผลต่ออุตสาหกรรมน้ำมันอย่างเหลือเชื่อ
ดังปรากฏว่าเมื่อปีที่แล้วพายุเฮอร์ริเคน "แคทรินา" ได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานในอ่าวเม็กซิโกบางส่วนพินาศลง
มาบัดนี้ 8 เดือนให้หลัง แท่นขุดเจาะและโรงกลั่นน้ำมันทางตอนใต้ของอเมริกาก็ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินงานตามปกติอย่างสมบูรณ์

ถ้าหากเขตยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมน้ำมันดังกล่าวโดนพายุอะไรสักลูกซัดซ้ำเติมเข้าอีก ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายนศกนี้ ราคาน้ำมันก็คงจะพุ่งพรวดอีกรอบในฤดูร้อนปีหน้าแน่

(ข) อำนาจอธิปไตยกับอำนาจนำ
คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญให้เพิกถอนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป 2 เมษายนศกนี้และการเลือกตั้งเกี่ยวเนื่องครั้งอื่นๆ อันเป็นผลการปฏิบัติสืบเนื่องของฝ่ายตุลาการ เพื่อสนองพระราชดำรัสพระราชทานแก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และผู้พิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 49 ที่ผ่านมา ได้ปิดฉากความขัดแย้งรอบล่าสุดในการเมืองไทยลง

ความสำคัญเป็นพิเศษของความขัดแย้งรอบล่าสุดนี้อยู่ตรงเดิมพัน, องค์กรตัวแทนคู่ขัดแย้ง, และประเด็นขัดแย้งที่เปลี่ยนแปลงไต่ระดับสูงขึ้นกว่ารอบก่อน

ในความขัดแย้งรอบก่อนระหว่างพลังระบอบทักษิณ ณ ไทยรักไทย กับพลังฝ่ายอื่นในสังคมเดิมพันคืออำนาจบริหารของรัฐบาล, องค์กรตัวแทนได้แก่ (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย + แนวร่วม 3 พรรคฝ่ายค้าน) กับ (รัฐบาลพรรคไทยรักไทย + ขบวนคาราวานคนจน), ประเด็นคือความชอบธรรมทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร

ทว่าในการต่อสู้รอบหลังนี้ เดิมพันยกระดับสูงขึ้นเป็นอำนาจอธิปไตยของรัฐ, องค์กรตัวแทนได้แก่ (สถาบันตุลาการ 3 ศาล) กับ (กลุ่มการเมืองว่าที่ฝ่ายนิติบัญญัติใต้การนำของพรรคไทยรักไทย + คณะกรรมการการเลือกตั้ง), ส่วนประเด็นกลายเป็นความชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญของการเลือกตั้ง หรือนัยหนึ่งความถูกต้องชอบธรรมของกระบวนการได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยของรัฐ

ปรากฏการณ์คล้ายๆ กันเคยเกิดขึ้นมาแล้วในสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งการแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปี ค.ศ.2000 ระหว่างนายจอร์จ บุช ผู้ลูก ผู้สมัครตัวแทนพรรครีพับลิกัน กับ นายอัล กอร์ ผู้สมัครตัวแทนพรรคเดโมแครต ปรากฏว่าจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง (the Electoral College) ที่สองฝ่ายช่วงชิงได้จากมลรัฐต่างๆ เบียดกันมาติดๆ ขณะที่ถ้านับคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยตรง (popular vote) ทั้งประเทศแล้ว เอาเข้าจริง อัล กอร์ชนะบุชไป 5 แสนคะแนน

แต่แล้วผลทั่วประเทศว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีก็มาชี้ขาดแพ้ชนะกันที่มลรัฐฟลอริดาที่ซึ่งเจ๊บ บุช พี่ร่วมอุทรกับจอร์จเป็นผู้ว่าการ เพราะที่นั่นคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยตรง (ซึ่งจะไปกำหนดตัวคณะผู้เลือกตั้งของมลรัฐว่าจะเป็นฝ่ายใดอีกที) สูสีเฉียดฉิวมาก จึงเกิดปัญหาฟ้องร้องต่อศาลสูงแห่งมลรัฐฟลอริดาให้นับคะแนนเสียงใหม่ ซึ่งศาลฟลอริดาก็ได้วินิจฉัยให้นับทวนคะแนนเสียงบัตรเลือกตั้งทุกใบในมลรัฐนั้นซ้ำอีก

ปรากฏว่าเรื่องลงเอยด้วยคำพิพากษาอันอื้อฉาวของศาลสูงระดับประเทศของสหรัฐ ที่วินิจฉัยด้วยมติเสียงข้างมากเพียง 5 ต่อ 4 แทรกแซงสั่งให้หยุดการนับคะแนนเสียงใหม่ในฟลอริดาลง ซึ่งผลของมันโดยพฤตินัยก็หนุนส่งให้จอร์จ บุชได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ คนต่อมา

ถึงแม้ประเทศเราจะปกครองในระบอบรัฐสภา และดังนั้นจึงจัดระบบสถาบันการเมืองสำหรับรับมอบหมายอำนาจอธิปไตย ไว้ต่างจากการปกครองระบอบประธานาธิบดีของอเมริกา แต่ในทางรัฐศาสตร์ อาจเรียกปรากฏการณ์ทั้งสองนี้ได้ว่า "การใช้อำนาจตุลาการเข้าแทรกแซงเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดการได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตย" (judicial intervention to adjudicate on the acquisition of sovereign power)

อุปกรณ์ช่วยคิดทางรัฐศาสตร์ที่อาจใช้ตีความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวได้แก่
แนวคิดอำนาจอธิปไตย (SOVEREIGNTY) กับอำนาจนำ (HEGEMONY)

ตามหลักรัฐศาสตร์สมัยใหม่ รัฐหรือประชาคมทางการเมืองหนึ่งๆ ย่อมต้องทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย อันหมายถึงอำนาจที่ยิ่งใหญ่สูงสุด (ไม่มีอำนาจใดสูงส่งอยู่เหนืออำนาจนี้อีก) ครอบคลุมสมบูรณ์ (ครอบงำปกคลุมทั่วทุกแผนกภาคส่วนพื้นที่ของรัฐหรือประชาคมการเมืองนั้นๆ) และเป็นแหล่งที่มาของกฎหมายทั้งปวง (ถือครองอำนาจนิติบัญญัติ สามารถออกกฎหมายมาบังคับใช้กับผู้คนพลเมืองทั้งปวงที่สังกัดรัฐ หรือประชาคมการเมืองนั้นๆ)

ในความหมายนี้ อำนาจอธิปไตยจะถูกจำกัดได้ก็แต่โดยกฎแห่งเทพยดาฟ้าดินและประเทศอื่นๆ เท่านั้น (the laws of God, of nature, and of Nations)

ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของเราปัจจุบัน อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (POPULAR SOVEREIGNTY) เพราะถือว่าแต่ละบุคคลมีกรรมสิทธิ์เหนือชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของตนโดยสมบูรณ์ (SELF-OWNERSHIP) เป็นพื้นก่อน จึงมาตกลงรวมตัวกันเป็นสังคมและก่อตั้งรัฐขึ้น (SOCIAL CONTRACT) อีกทีหนึ่ง ฐานที่แท้จริงของ SOVEREIGNTY จึงได้แก่หลัก SELF-OWNERSHIP เราอาจซักซ้อมความเข้าใจประเด็นนี้ได้ง่ายๆ โดยลองถามตัวเองว่า :-

"ชีวิตคุณเป็นของใคร? ของพระมหากษัตริย์, ของรัฐ, หรือของตัวคุณเอง?"

- ถ้าตอบว่าของพระมหากษัตริย์ (ดังที่เคยเรียกกันสมัยก่อนว่า "พระเจ้าแผ่นดิน", "เจ้าชีวิต") นั่นคือการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ABSOLUTE MONARCHY พระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดสัมบูรณ์เหนือชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของราษฎร

- ถ้าตอบว่าของรัฐ นั่นคือการปกครองในระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์ ABSOLUTISM ผู้กุมอำนาจรัฐ - ซึ่งอาจเป็นพรรคเดียวผูกขาดหรือจอมเผด็จการ - ย่อมมีอำนาจเด็ดขาดสัมบูรณ์เหนือชีวิตร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชน

- แต่ถ้าตอบว่าของตัวเอง นั่นคือการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย LIBERAL DEMOCRACY ที่ถือหลักนิติรัฐ (THE RULE OF LAW) ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ (CONSTITUTIONALISM) แปลว่ารัฐบาลมีอำนาจจำกัด (LIMITED GOVERNMENT) ไม่ใช่รัฐบาลนึกพิลึกพิเรนทร์จะปู้ยี่ปู้ยำทำอะไรกับชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนก็ทำได้ และสิ่งที่เป็นตัวคอยจำกัดอำนาจของรัฐบาลไว้ก็คือสิทธิของพลเมือง (CIVIL RIGHTS) ซึ่งรัฐบาลจะล่วงละเมิดโดยพลการมิได้นั่นเอง เส้นแบ่งเขตระหว่างอำนาจของรัฐกับสิทธิของพลเมืองในระบอบนี้ได้แก่ กฎหมายโดยมีศาลตุลาการอิสระ (INDEPENDENT JUDICIARY) เป็นกรรมการคอยดูแลกำกับเส้น ไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดล้ำเส้นล่วงละเมิดอีกฝ่ายหนึ่ง

ในระบอบนี้ ประชาชนพลเมืองดำรงความสัมพันธ์ทางการเมืองใน 2 ฐานะซ้อนทับกันอยู่กล่าวคือ :-

1) ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งขององค์อธิปัตย์ (ซึ่งหมายถึงปวงชนทั้งหลายโดยรวม) หรือผู้ถือหุ้นส่วนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยด้วยหุ้นหนึ่ง และ
2) ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของรัฐ หรือบุคคลผู้ยอมตนอยู่ใต้การปกครองขององค์อธิปัตย์

ในความหมายนี้ ประชาชนจึงเป็นทั้งผู้ปกครองสูงสุด (ผู้มีอำนาจออกกฎหมาย) และผู้ถูกปกครอง (ผู้อยู่ใต้กฎหมาย ต้องทำตามกฎหมาย) ในเวลาเดียวกัน

เสรีภาพในระบอบนี้จึงมิใช่การเป็นอิสระหลุดพ้นจากกฎหมาย ไม่ต้องทำตามกฎหมาย การละเมิดหรือหลีกเลี่ยงกฎหมาย, แต่หมายถึงการทำตามกฎหมายที่ตัวเองออก - หรือนัยหนึ่งออกกฎหมายเองแล้วก็ทำเอง -นั่นเอง

ส่วนอำนาจนำ (HEGEMONY) นั้นหมายถึงความสามารถในการแสดงบทบาทนำโดยผู้ตามยินยอมให้นำ และยินดีตามโดยสมัครใจ มิใช่ด้วยกำลังบังคับข่มเหง อันเป็นความสามารถทางการเมืองวัฒนธรรมหรืออุดมการณ์ มิใช่เรื่องของตำแหน่งฐานะตามตัวบทกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญโดยตัวของมันเอง

ความแตกต่างตรงนี้มีนัยสำคัญเพราะมันหมายความว่าเป็นไปได้ที่ในรัฐหรือประชาคมการเมืองหนึ่งๆ อาจมีผู้นำหรือสถาบันการเมืองที่มีอำนาจอธิปไตยแต่ไม่มีอำนาจนำ (คือมีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ชาวเมืองเห็นแล้วส่ายหน้าร้องยี้ คลื่นไส้อยากอ้วก ไม่ยินยอมตาม เอาแต่ตะโกนไล่... ออกไปๆๆ!), หรือในทางกลับกันมีอำนาจนำแม้ไม่มีอำนาจอธิปไตย (คือแม้ไม่มีอำนาจบังคับควบคุมผู้ใดตามกฎหมาย แต่คนส่วนใหญ่ในสังคมยินยอมให้นำและยินดีตามโดยสมัครใจ ไม่ต้องบังคับ ไม่ว่ากฎหมายจะบอกว่าอย่างไรก็ตาม)

ผมขอยกตัวอย่างการเคลื่อนไหวของประชาชน เพื่อประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งล่าสุดในไทยกับเนปาลมาเป็นกรณีเปรียบเทียบ

ขณะการเคลื่อนไหวประท้วงในไทยเรียกร้องให้ถวายคืนพระราชอำนาจ และขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานมาแทนนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งมาตามรัฐธรรมนูญ เพื่อกอบกู้ "ประชาธิปไตย" การเคลื่อนไหวประท้วงในเนปาลกลับมุ่งโค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และฟื้นฟูระบอบรัฐธรรมนูญ เพื่อกอบกู้ "ประชาธิปไตย" เช่นกัน

กุญแจไขปริศนาความแตกต่างอาจอยู่ตรงขณะที่พระมหากษัตริย์ไทย ทรงสร้างสมบำเพ็ญพระราชอำนาจนำขึ้นมาด้วยพระวิริยะอุตสาหะเป็นเวลายาวนานกว่ากึ่งศตวรรษ แม้จะไม่ได้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยดังบุรพกษัตริยาธิราชเจ้าในระบอบเดิม แต่กษัตริย์คยาเนนทราแห่งเนปาลกลับด่วนตัดสินใจช่วงชิง และฉวยใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงไปเมื่อกุมภาพันธ์ศกก่อน โดยมิทันปูพื้นฐานอันจำเป็นแก่การสร้างอำนาจนำไว้อย่างพอเพียงหลังขึ้นครองราชย์อย่างไม่คาดหมายเมื่อ มิ.ย. 2544

ดังนั้น ขณะที่ประชากรในกรุงเทพฯ เคลื่อนไหวพิทักษ์ปกป้องสถาบันกษัตริย์พร้อมทั้งต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ตามความคิดเหมา เจ๋อ ตุงทุกวิถีทางเมื่อสามทศวรรษก่อน ไม่ว่ากฎหมายจะบอกว่าอย่างไรก็ตาม ในกรณีเนปาลปัจจุบัน สถานการณ์กลับตาลปัตรกัน กล่าวคือประชากรในเมืองหลวงกาฐมาณฑุ ภายใต้การนำของพันธมิตร 7 พรรคฝ่ายค้านกลับ หันมาร่วมมือกับขบวนการปฏิวัติเหมาอิสต์ในชนบทที่ผิดกฎหมายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเนปาล เพื่อต่อสู้โค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของกษัตริย์คยาเนนทราลงจนสำเร็จเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา


 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
110549
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอพระขอบคุณในการอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ฟรี เพื่อการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมจาก www.thaiis.com
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
The Midnightuniv website 2006
ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของเราปัจจุบัน อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (POPULAR SOVEREIGNTY) เพราะถือว่าแต่ละบุคคลมีกรรมสิทธิ์เหนือชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของตนโดยสมบูรณ์ (SELF-OWNERSHIP) เป็นพื้นก่อน จึงมาตกลงรวมตัวกันเป็นสังคมและก่อตั้งรัฐขึ้น (SOCIAL CONTRACT) อีกทีหนึ่ง ฐานที่แท้จริงของ SOVEREIGNTY จึงได้แก่หลัก SELF-OWNERSHIP เราอาจซักซ้อมความเข้าใจประเด็นนี้ได้ง่ายๆ โดยลองถามตัวเองว่า "ชีวิตคุณเป็นของใคร? ของพระมหากษัตริย์, ของรัฐ, หรือของตัวคุณเอง?"