นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


The Midnight University



ความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน
ชาวจีนมุสลิมในมาเลเซีย (ตอนที่ ๑)
เรียบเรียงโดย อัล-ฮิลาล (Al-Hilal)
นักวิชาการอิสระ เกี่ยวกับจีนมุสลิม


ผลงานวิชาการชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เรียบเรียงนามว่าอัล-ฮิลาล
เรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ
Chinese Muslims in Malaysia History and Development
by: Rosey Wang Ma
เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชาวจีนมุสลิมในมาเลเซีย
และการกลายกลืนเป็นชาวมาเลย์
รวมถึงเรื่องของชาวจีนกลุ่มต่างๆ ในมาเลเซีย

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 916
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 18.5 หน้ากระดาษ A4)




ชาวจีนมุสลิมในมาเลเซีย (ตอนที่ ๑)
Chinese Muslims in Malaysia History and Development
by : Rosey Wang Ma
เรียบเรียงโดย อัล-ฮิลาล (Al-Hilal)

ความนำ
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี 3 ประเทศที่พลเมืองส่วนใหญ่นับถือศาสนา อิสลาม ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ บรูไน ในอินโดนีเซียมีมุสลิมร้อยละ 90 จากประชากรทั้งหมด 220 ล้านคน ส่วนมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศหลากเชื้อชาติ หลากศาสนา และหลายวัฒนธรรม ชาวมุสลิมมีประมาณเกินครึ่งของประชากรทั้งหมด 23 ล้านคน ที่เหลือเป็นชาวจีน อินเดีย และคนเชื้อชาติอื่นๆ

ในมาเลเซีย เชื้อชาติและศาสนาเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก โดยทั่วๆ ไป ตามความหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ชาวมาเลย์คือ มุสลิม ส่วนพลเมืองเชื้อชาติอื่นไม่ใช่มุสลิม แต่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเสรี ความเชื่อที่ว่ามุสลิมคือชาวมาเลย์ กลับเป็นการทำร้ายความรู้สึกของชาวมุสลิมเชื้อชาติอื่น เช่น คนเชื้อชาติอินเดีย ปากีสถาน ไทย อาหรับ เปอร์เซีย อิหร่าน เยเมน รวมทั้งชาวดูซุน และ คาดาซาน ในมาเลเซียตะวันออก และรวมถึงชาวจีนมุสลิมด้วย

ในมาเลเซียชาวจีนมุสลิมอาจมีจำนวนน้อยมากเพียง 57,221 คน[1] ตามการสำรวจสำมะโนประชากรปี ค.ศ.2000 อย่างไรก็ตาม ชาวจีนมุสลิมกลับปรากฎในคาบสมุทรมาเลย์ยาวนานมาก อย่างน้อยถึง 600 ปี บทบาทของชาวจีนมุสลิมไม่ได้มีเพียงในประเทศมาเลเซียเท่านั้น แต่รวมถึงโลกมาเลย์ทั้งหมดด้วย

ตั้งแต่ที่ ชาวหุย หรือชาว จีนมุสลิม ได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งในโลกมาเลย์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 จนมีชาวจีนที่เปลี่ยนมารับอิสลามนับหมื่นในปัจจุบัน บทบาทของชาวจีนมุสลิมกลับไม่ค่อยได้รับความสนใจจากทั้งนักประวัติศาสตร์มาเลย์ นักวิชาการ และนักการเมืองมาเลย์

1) ชาวจีนมุสลิม ในโลกมาเลย์ยุคเจิ้งเหอ
(Early presence of Chinese Muslims; Zheng He, the Muslim Eunuch)
ชาวจีนมุสลิมรุ่นแรกที่ปรากฏบนแผ่นดินมาเลเซียสามารถสืบไปได้กว่า 600 ปี ในสมัยศตวรรษที่ 15 มีบันทึกว่า บนคาบสมุทรมะละกามีชาวจีนมุสลิมตั้งหลักแหล่งอยู่ ในช่วง ราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-ค.ศ.1644) ของจักรวรรดิจีน แม่ทัพเรือ เจิ้งเหอ (Zheng He หรือ Cheng Ho) เดินเรือมาเยือนโลกมาเลย์ และ มะละกา หลายครั้งไปไกลถึงชายฝั่งอาฟริกาตะวันออก เจิ้งเหอเป็นชาวจีนมุสลิมจากมณฑลยูนนาน เป็นผู้นำกองเรือมหาสมบัติขององค์พระจักรพรรดิ หยงเล่อ สำรวจทะเลทางตะวันตก 7 ครั้ง ขบวนเรือมี 300 กว่าลำ ลูกเรือเกือบ 28,000 คน บทความนี้จะไม่อธิบายรายละเอียดการเดินทางของเจิ้งเหอ แต่จะกล่าวถึงกิจกรรมของเจิ้งเหอที่เกี่ยวข้องกับอิสลาม บทบาท อิทธิพล และมรดกที่เจิ้งเหอ และลูกเรือของเขาหลงเหลือไว้บนคาบสมุทรมาเลย์และแผ่นดินใกล้เคียง

รายละเอียดการเดินเรือของเจิ้งเหอบันทึกไว้โดย มุฮัมหมัด หม่า ฮวน ผู้เป็นมุสลิมเช่นเดียวกับเจิ้งเหอ เขาได้ติดตามเจิ้งเหอไปในการเดินเรือหลายครั้ง เป็นล่าม และเป็นผู้บันทึกเรื่องราวการเดินทางสำรวจทางทะเล หม่า ฮวน เขียนหนังสือ "ยิงใยเช็งลัน" หรือ "การสำรวจชายฝั่งมหาสมุทร" (Ying yai sheng lan หรือ The Overall Survey of the Ocean's Shores) ขึ้นในปี ค.ศ.1416 เขาบันทึกเรื่องราวของ ผู้คน วัฒนธรรม แต่ละท่าเรือที่กองเรือมหาสมบัติจอดแวะอย่างละเอียดน่าทึ่ง

นอกจากนี้ยังมีหนังสืออีกเล่มที่บันทึกเรื่องราวของกองเรือของเจิ้งเหอ คือ "ซิง เช็ง ลัน" หรือ "รายละเอียดการเดินทางของกองเรืออันรุ่งโรจน์" (Xing Sheng-lan หรือ Description of the Starry Raft) เขียนโดย เฟ่ย สิน (Fei Xin) ผู้เป็นเลขาฯ และล่ามของเจิ้งเหอเช่นเดียวกัน ในการเดินทางสำรวจทะเลทั้ง 7 ครั้งของเจิ้งเหอ กองเรือได้ออกจากเมืองจีนแวะยัง จามปา ไปยังเมืองท่าสำคัญๆ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยุธยา มะละกา ปาเล็มบัง สุราบายา จาการ์ตา สะมารัง และที่อื่นๆ

เจิ้งเหอ ผู้เป็นตัวแทนขององค์พระจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิจีน เป็นทั้งนักสำรวจ ผู้พิชิต และนักการค้า มีบทบาทอย่างสูงต่ออิสลามในโลกมาเลย์. ฮัมกา นักวิชาการอิสลามของอินโดนีเซีย เขียนไว้ในปี ค.ศ.1961 ว่า: การพัฒนาของศาสนาอิสลามใน อินโดนีเซียและมาเลเซีย สัมพันธ์กับเจิ้งเหอ ผู้เป็นชาวจีนมุสลิม เจิ้งเหอได้สร้างยุ้งข้าว โกดังเก็บเสบียงในมะละกาเพื่อสะดวกกับกองเรือในการเดินเรือครั้งต่อไป และเป็นไปได้อย่างมากที่เขาได้ทิ้งลูกเรือมุสลิมไว้ที่นั่นมากมาย เพื่อดูแลสิ่งเหล่านั้น ซึ่งสะดวกอย่างยิ่งเพราะชาวท้องถิ่นที่นั่นก็เป็นมุสลิม

แม้มีเอกสารเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของชาวจีนมุสลิมกับอินโดนีเซียมากมาย ทั้งที่เขียนโดยนักวิจัยชาวอินโดนีเซียและชาวต่างชาติ แต่กลับไม่ค่อยมีบันทึกเรื่องของชาวจีนมุสลิมบนคาบสมุทรมาเลย์ ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้เราจึงจะศึกษาความสำคัญของการเดินเรือของเจิ้งเหอที่มีต่อชาวจีนในอินโดนีเซียและมาเลเซียขนานกันไป

มีขันทีมุสลิม จำนวนมากเป็นผู้ช่วยของเจิ้งเหอในกองเรือ ในช่วงแรกที่กองเรือมหาสมบัติเดินทางมาถึงชวา ก็ปรากฏว่ามีชาวจีนผู้นับถือศาสนา มุฮัมหมัด ตั้งหลักแหล่งที่เกาะอยู่ก่อนหน้าแล้ว ในบันทึกของ หม่า ฮวน เขาเรียกคนเหล่านี้ว่า ทังเกร็น (หมายถึง ชาวจีน) ผู้เป็นมุสลิม[2] เมื่อกองเรือจอดแวะที่ท่าเรือ ลูกเรือของเจิ้งเหอจะไปมัสยิดท้องถิ่นบ่อยมาก พวกเขาเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ก่อตั้งชุมชนชาวจีนมุสลิม และก่อสร้างมัสยิด

Parlindungan Mangaradja Onggang บันทึกไว้ว่า เมื่อกองเรือยักษ์ของราชวงศ์หมิงจอดแวะที่ สะมารัง เจิ้งเหอ หม่า ฮวน และ เฟ่ย สิน ไปทำละหมาดที่มัสยิดท้องถิ่นบ่อยมาก ในบันทึกของเขายังกล่าวอีกว่า: ภายใต้อิทธิพลของเจิ้งเหอช่วงปี ค.ศ.1411-ค.ศ.1416 มีการก่อตั้งชุมชนชาวจีนมุสลิมและมัสยิดบนคาบสมุทรมาเลย์ เกาะชวา เกาะสุมาตรา และฟิลิปปินส์ อย่างมากมาย[3]

คลอดีน ซาลมอน (Claudine Salmon) เชื่อว่า ...การขยายตัวของศาสนาอิสลามในอินเดียตะวันออก และการก่อตั้งของชุมชนชาวจีนมุสลิมในแถบนั้น เป็นการพัฒนาที่คู่ขนานกันไป เธอได้กล่าวถึงมุสลิมผู้สูงศักดิ์เชื้อสายจีน หรือชาวจีนที่เปลี่ยนมารับอิสลามและแต่งงานกับสาวท้องถิ่น สามารถสืบได้ในหลายพื้นที่ ทั้งในอาเจะห์ ถึงปาเล็มบังบนเกาะสุมาตรา ถึงบันทัน (Banten) บนเกาะชวา ต่อไปถึงทางตะวันออกใน สะมารัง และ โมโจเกอร์โต (Mojokerto)

ซาลมอนแสดงหลักฐานชัดเจนว่าชาวจีนมุสลิมมีบทบาทต่อสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่อินโดนีเซียสูงมาก ...ในราชสำนักของราชวงศ์อิสลามแห่งแรกของเกาะชวาเต็มไปด้วยชาวจีน คลอดีน กล่าวต่อไปว่า แหล่งข้อมูลของชาวฮอลแลนด์และอังกฤษได้กล่าวเกี่ยวกับพวกมุสลิมในราชสำนักไว้มากมาย หลักฐานดังกล่าวยังระบุถึงชื่อจีนของชาวมุสลิมเหล่านั้น เช่น ลิม แล็กโก (Lim Lacco) จาก บันทัน (Banten) ผู้เป็นที่ปรึกษาของ ปังกิรัน (Pangeran) และ โซ ปิง กง (So Bing Kong) พ่อค้าพริกไทยจากเคนดัล (Kendal) ชาวจีนฮั่นจากสุราบายาที่มาจากตระกูลจีนมุสลิมที่มีชื่อเสียงหลายชั่วอายุคน[4]

นักวิชาการอินโดนีเซียชื่อดัง ซลาเม็ต มุลจานา (Slamet Muljana) อ้างว่า: เริ่มแรกเจิ้งเหอก่อตั้งชุมชนจีนมุสลิมขึ้นมาที่ จู กัง หรือ ปาเล็มบัง (Ju Gang หรือ Palembang) จากนั้นจึงตั้งที่ ซาน ฟา หรือ กาลิมันตันตะวันออก (West Kalimantan) จากนั้นเขาก่อตั้งชุมชนชาวจีนมุสลิมตลอดชายฝั่งชวา คาบสมุทรมาเลย์และฟิลิปปินส์ พวกเขาเผยแพร่อิสลามจากสำนักคิด ฮานาฟี (Hanafi School of Thought) โดยใช้ภาษาจีนเป็นสื่อ

อามิน บูดิมัน (Amen Budiman) กล่าวถึง ขันที หวัง จิ่ง หง (Wang Jing Hong) รองแม่ทัพเรือของเจิ้งเหอว่า ได้ล้มป่วยลงเมื่อกองเรือแล่นถึงชายฝั่งด้านเหนือของเกาะชวา เจิ้งเหอสั่งให้กองเรือหยุดเทียบท่าที่สะมารัง เพื่อหาทางรักษาอาการป่วยของ หวัง จิ่ง หง จากนั้นอีกสิบวันเจิ้งเหอก็สั่งให้กองเรือออกแล่นต่อไปทางทิศตะวันตก ปล่อยให้ หวัง จิ่ง หง อยู่รักษาตัวที่เกาะพร้อมทั้งทิ้งลูกเรือไว้กับเขาสิบคน ขณะอยู่ที่เกาะ หวัง จิ่ง หง ได้สอนชาวพื้นเมืองและชาวจีนที่นั่นทำเกษตรกรรมและการค้า และได้เผยแพร่ศาสนาอิสลามแก่พวกเขาด้วย[5]

ตัน หยก เสียง (Tan yeok Seong)[6] เขียนในบทความ "ชาวจีนกับการเผยแพร่อิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" (Chinese Element in the Islamization of Southeast Asia) ถึงสตรีสูงศักดิ์แห่งเกรสิก (Great Lady of Gresik) ชื่อ ซี่ ต้า เหนียง ซี ปี นา ตี (Shih Ta Niang Tzi Pi Na Ti) และการแย่งชิงอำนาจระหว่างพี่น้อง ซึ่งได้ร้องขอให้เจิ้งเหอเข้าไกล่เกลี่ย เธอผู้นี้เป็นชาวจีนมุสลิม ซึ่งจริงๆ แล้วชาวจีนที่มีบทบาทในสังคมชวาในสมัยนั้นนับถือศาสนาอิสลามแทบทั้งสิ้น

ตัน หยก เสียง ได้ยืนยันในบทสรุปว่า ชาวจีนมุสลิมที่มาตั้งถิ่นฐานใหม่เหล่านี้มีอิทธิพลมากด้วยการสนับสนุนของเจิ้งเหอ จากนั้นศาสนาและการค้าก็ควบคู่กันไป ด้วยศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมเหล่านี้ แม้ว่าจะต่างเผ่าพันธุ์ ต่างเชื้อชาติกัน ก็กลายมาเป็นผู้นำทางการค้า ในขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ความสำเร็จของการค้าทางทะเลทำให้วกเขาได้เผยแพร่ศาสนาอิสลามไปด้วย ชาวมุสลิมตั้งเขตมุสลิมในท่าเรือการค้าสำคัญๆ หลายแห่ง เช่น ปาเล็มบัง และ เกรสิก ศูนย์กลางมุสลิมเหล่านี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนคนพื้นเมืองให้หันมารับอิสลาม

จากตำนานที่บันทึกโดย เฮรู คริสติโยโน (Heru Christiyono) เชื่อกันว่า ถ้ำหินที่เจิ้งเหอเคยพำนักระหว่างกองเรือแวะที่สะมารัง เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่อิสลามสมัยนั้น[7]

ลี ตง ไค (Li Tong Cai) เขียนไว้ในหนังสือ ตำนานและข้อเท็จจริงของอินโดนีเซีย (Indonesia Legends and Facts) ว่า: ในปี ค.ศ.1430 ซาน เป่า ไท เจียน (มหาขันที เจิ้งเหอ) ประสบความสำเร็จในการวางรากฐานศาสนาของชาวหุย (Hui religion หรือ ศาสนาอิสลาม) จากนั้นในปี ค.ศ.1434 หลังจากเขาเสียชีวิตแล้ว ฮัจญี ยัน ยิง ยู (Haj Yan Ying Yu) กลายเป็นกำลังสำคัญของชุมชนชาวจีนมุสลิม เขามอบหมายให้ชาวจีนท้องถิ่นบางคนเป็นผู้นำ เช่น ซุน หลง (Sun Long) หรือ ฮัจญี เจิ้น ซวน หลง หรือ ตั้ง ซวน เหลียง (Haj Chen Xuan Long หรือ Tan swan Liang) พ่อค้าจากสะมารัง เป็ง รุย เหอ (Peng Rui He) และ ฮัจญี เป็ง เต้อ ฉิน (Haj Peng De Qin) โดยที่ ซุน หลง และ เป็ง รุย เหอ กระตุ้นให้ชาวจีนมุสลิมทำตัวกลมกลืนกับชาวพื้นเมืองบนเกาะชวา

พวกเขาสนับสนุนให้ชาวจีนรุ่นถัดไปพยายามทำตัวกลมกลืนไปกับสังคมชวา ใช้ชื่อชวา ใช้ชีวิตแบบชาวชวา บุตรบุญธรรมของ ซุน หลง คือ เจิ้น จิน เหวิน หรือ ตั้ง จิน บุน (Chen Jin wen หรือ Tan Jin Bun) ก็มีชื่อชวา ว่า ระเด่น ปาตาฮฺ (Raden Pada) เจิ้น จิ่น เหวิน เป็นบุตรของกษัตริย์ของอาณาจักรฮินดู-มัชฌปาหิตกับภรรยาชาวจีน[8]

ในบรรดานักบุญอิสลามเก้าคน (Nine Walisongo หรือ Nine Saints) ผู้เป็นตำนานแห่ง อินโดนีเซีย นั้นมีส่วนหนึ่งที่มีสายเลือดจีน

เราจะเห็นได้ว่า ชุมชนชาวจีนมุสลิมมีบทบาทมากในโลกมาเลย์เมื่อ 500 ปีก่อน และดำรงตำแหน่งสูง รวมทั้งแต่งงานกับหญิงมุสลิมท้องถิ่นผู้สูงศักดิ์ สิ่งเหล่านี้เป็นผลจากการสนับสนุนของเจิ้งเหอที่เคยนำกองเรือมาแวะเยือนหลายครั้งหลายหนเป็นเวลาติดต่อกัน 30 ปี และประกอบกับในช่วงนั้นศาสนาอิสลามค่อนข้างมั่นคงในภูมิภาคนี้แล้ว

กองเรือมหาสมบัติต้องเลิกล้มไปหลังการเสียชีวิตของเจิ้งเหอ เวลาผ่านไป 400 ปี ศาสนาอิสลามสำนักคิด ฮานาฟี ที่เจิ้งเหอและลูกเรือเคยเผยแพร่แก่ชาวพื้นเมืองขาดการติดต่อกับอิสลามในประเทศจีน และค่อยๆ ถูกกลืนเข้ากับสำนักคิดชาฟีอี (Shafi) ของชาวท้องถิ่น เมื่อมะละกาถูกครอบครองโดยโปรตุเกส ฮอลแลนด์ และต่อมาโดย อังกฤษ ชาวจีนไม่ได้รับการสนับสนุนให้เปลี่ยนศาสนามานับถืออิสลามอีก มัสยิดอิสลามหลายแห่งถูกเปลี่ยนเป็น ศาลเจ้า ซำปอกง เพื่อรำลึกถึง เจิ้งเหอ มหากาพย์นักเดินเรือชาวจีน และด้วยเวลาที่ผ่านไป บทบาทของชาวจีนมุสลิมในมะละกาก็ค่อยๆ สูญหายไป

2) ชาวจีนมุสลิมในมาเลเซียยุคอาณานิคมอังกฤษ
(Under the British Rule)
ช่วงประเทศมาเลเซียตกเป็นอาณานิคมอังกฤษ (ค.ศ.1824-ค.ศ.1957) บริษัทอังกฤษนำเข้าคนงานมาทำงานในเหมืองและสวนยางพารามากมาย คนงานส่วนใหญ่มาจากอินเดียและจีน นอกจากนี้ยังมีพ่อค้าจากหลากหลายประเทศ ประชากรมาเลเซียจึงประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ และในบรรดาชาวมุสลิมในหลายเชื้อชาติ ชาวมาเลย์เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด

ชุมชนบริเวณช่องแคบมะละกา (สิงคโปร์ ปีนัง เวลเลสเลย์ มะละกา) และบนคาบสมุทรมาเลย์ (เปรัก สลังงอ เนกรี เซมบิลัน และ ปาหัง) มีการสำมะโนประชากรทุก 10 ปี ในการสำรวจปีค.ศ.1901 มีชาวจีนอาศัยอยู่บนคาบสมุทรมาเลย์ 2,997,390 คน

ในบทความซึ่งเขียนโดย โมฮัมเหม็ด ดจินกิซ (Mohammed Djinguiz) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1908 ได้ระบุจำนวนชาวมุสลิมในรัฐต่างๆ ที่อยู่ภายใต้อาณานิคมอังกฤษแยกตามเชื้อชาติดังต่อไปนี้
(ดูตารางเปรียบเทียบประกอบ)



จากตัวเลขข้างบน เราจะเห็นว่า มีจำนวนชาว จีนมุสลิม 179,270 คนในจำนวนชาวจีนทั้งหมด 5,815,980 คน ในขณะที่ชาวมุสลิมเชื้อชาติอื่นมี 6,612,160 คน ชาวจีนมุสลิมจึงมีสัดส่วนร้อยละ 3 ของชาวจีนทั้งหมด และเป็นร้อยละ 2.7 ของชาวมุสลิมทั้งหมด ไม่มีตัวเลขว่าในชาวจีนมุสลิมนั้น เป็นชาวหุย ที่อพยพมาจากเมืองจีนเท่าไร และเป็นชาวจีนที่มาเลเซียที่เปลี่ยนศาสนามารับอิสลามเท่าไร

ถึงแม้ชาวจีนมุสลิมจะเป็นชนกลุ่มน้อยแต่จำนวนประชากรที่มีเกือบ 180,000 คนถือเป็นชุมชนที่ใหญ่ทีเดียว หากชาวจีนมุสลิมเหล่านี้ยังคงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นชาวจีนมุสลิมอยู่ เมื่อผ่านไป 4 รุ่น แม้จะใช้ตัวเลขที่อนุรักษ์สุดๆ ลูกหลานของพวกเขาในตอนนี้ต้องมีไม่น้อยกว่า 900,000 ถึง 1,000,000 คน แต่ตอนนี้พวกเขาไปอยู่ที่ไหนกัน? พวกเขาหายไปได้อย่างไร?

เรื่องนี้อาจเป็นไปได้สองอย่าง

เมื่อชาวจีนรุ่นใหม่อพยพมาถึงบนคาบสมุทรมาเลย์ ชาวจีนมุสลิมไปแต่งงานกับสาวจีนที่ไม่ใช่มุสลิมและไม่ได้เปลี่ยนมารับอิสลาม และจากการอาศัยอยู่ในชุมชนชาวจีนเป็นเวลานาน ชาวจีนมุสลิมเหล่านั้นก็ละทิ้งการปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลาม ตัวอย่างก็คือ คนแซ่กั๊วะ (Koay หรือ Guo) ที่ปีนัง ซึ่งโดนกลืนไปเป็นคนมาเลย์ ชาวจีนมุสลิมไปแต่งงานกับชาวมาเลย์พื้นเมือง สายเลือดจีนก็เจือจางไปในระยะไม่กี่รุ่น เช่น ชาว ยูนนาน-นี ที่ ตรังกานู

เมื่อดูตัวเลขสัดส่วนผู้หญิงกับผู้ชาย ในชุมชนชาวจีน มีสัดส่วนผู้ชายต่อผู้หญิงประมาณ 10 ต่อ 1 จากการที่มีสาวจีนที่มาเลเซียน้อยมาก ทำให้หนุ่มจีนต้องมองหาสาวมาเลย์ท้องถิ่นมาแต่งงานด้วย สำหรับหนุ่มจีนที่เป็นมุสลิมอยู่แล้วสถานการณ์ดังกล่าวทำให้พวกเขาโดนกลืนไปกับสังคมมาเลย์ได้ง่าย แต่สำหรับหนุ่มจีนที่ไม่ใช่มุสลิมแล้วสามารถคาดเดาได้สองประการ

ข้อแรก ส่วนหนึ่งเปลี่ยนศาสนามารับอิสลาม และทำให้จำนวนชาวจีนมุสลิมในการสำรวจสำมะโนประชากรปี ค.ศ.1901 เป็นสัดส่วนค่อนข้างมากดังกล่าว ลูกหลานของคนเหล่านี้ในเวลาต่อมาส่วนใหญ่ก็แต่งงานกับคนมาเลย์ท้องถิ่น การโดนกลืนเป็นมาเลย์ก็ใกล้เข้าไปอีก หลังจากนั้นอีกไม่กี่รุ่นคนเหล่านี้อาจไม่รู้เลยว่า บรรพบุรุษของตนเป็นชาวจีน

ข้อที่สอง ชายจีนจำนวนมากแต่งงานกับสาวมาเลย์ท้องถิ่นโดยไม่ได้เปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม ซึ่งทำให้พวกเขายังคงเป็นชาวจีนอยู่ แต่มีวัฒนธรรมมาเลย์เข้ามาปน พวกนี้คือพวก ปารานากัน (Peranagan)

ก่อนหน้าทศวรรษที่ผ่านมาชาวมาเลย์ไม่ค่อยยอมรับว่า ตนมีสายเลือดจีนอยู่ด้วย ไม่ใช่เพราะเรื่องเชื้อชาติ แต่เป็นเพราะเรื่องความบริสุทธิ์ของศาสนา ที่พวกเขาเกรงว่าอาจถูกล้อเลียน ดังที่ฮันทิงตัน กล่าวไว้ว่า: การเป็นลูกครึ่งฝรั่งเศส-อัลจีเรียนั้นไม่แปลก แต่ลูกครึ่งมุสลิม-คริสเตียนนั้นแปลกแน่นอน ดังนั้นชาวมาเลย์จะไม่ยอมบอกใครว่าตัวเองมีพ่อหรือปู่เป็นชาวจีน และหวังว่าจะไม่มีใครมาถามว่าทำไมผิวของตนถึงขาวกว่าคนมาเลย์ทั่วไป หรือ ทำไมตาถึงค่อนข้างเล็ก

เด็กหญิงผู้มีย่าเป็นชาวจีนเคยบอกว่า พ่อของเธอโกรธมากหากมีใครมาบอกว่า น้องสาวของเธอดูคล้ายคนจีน: หยุดพูดแบบนั้น พวกเราเป็นชาวมาเลย์แท้! เมื่อผ่านไปนานเข้า พ่อของพวกเธอไม่ค่อยอยากบอกลูกๆ เกี่ยวกับย่าของพวกเธอที่รูปร่างหน้าตาเป็นชาวจีนแต่การใช้ชีวิตและพฤติกรรมกลับเป็นมาเลย์สุดๆ และไม่ใช่แค่ครอบครัวนี้เท่านั้น ชาวมาเลย์ที่มีเชื้อจีนเป็นแบบนี้เหมือนกันหมด

เวลาผ่านไป ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลใดก็ตาม ปัจจุบันชาวมาเลย์ไม่อายอีกต่อไปที่จะบอกใครว่าตัวเองมีเชื้อสายจีน แต่จากการปกปิดมา 2-3 รุ่น ทำให้ยากที่จะสืบหาบรรพบุรุษชาวจีน เรื่องราวของชาว หุยหุย ที่ตรังกานูที่จะกล่าวต่อไปจะแสดงให้เห็นถึงการกลืนเชื้อชาติจาก จีนมุสลิม เป็น มาเลย์มุสลิม ได้อย่างดีทีเดียว

3) ชาวจีนมุสลิม ยูนนาน-นี ในตรังกานู
(The Yunnani Family of Terengganu)

บันทึกชั้นดีในประวัติศาสตร์ :
ข้างล่างต่อไปนี้เป็นบันทึกเรื่องราวของชาว จีนมุสลิม กลุ่มหนึ่งจากมณฑล กวางตุ้ง คัดจากบทเกริ่นนำของหนังสือชื่อ จากสายโลหิตสู่ความเป็นหนึ่งเดียว (Warisan Keluarga Ke Arah Silaturrahim หรือ from family heritage towards spirit of togetherness)

ในช่วงสิ้นสุดศตวรรษที่ 19 หลังจาก ป๊ะ อาลี แห่ง ยูนนาน (Pak Ali Yunnan) หรือ ฮัจญี อาลี บิน อิดริส (Haji Ali bin Idris) แต่งงานกับ ฮัจยะฮฺ ฮาลีมะฮฺ (Hajah Halimah) เขาได้ย้ายไปอยู่กับพ่อแม่ของภรรยา คือ มุฮัมหมัด อาลี (Muhammad Ali) และ สิตี มัรยัม (Siti Maryam) ที่ ปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของภรรยาเขา

ช่วงปี ค.ศ.1903 ป๊ะอาลี ภรรยาของเขา แม่ของภรรยาเขา และ ซาเดียฮฺ (Saadiah) ลูกสาวตัวน้อยของเขา ได้อพยพไปอยู่สิงคโปร์เพื่อชีวิตใหม่ ป๊ะอาลี ขายยาจีนแผนโบราณ ที่นั่นเขาได้พบกับญาติจากมณฑลกวางตุ้ง คือ ป๊ะ ลาฮฺ หรือ อับดุลลาฮฺ บิน สุไลมาน (Pak Lah หรือ Abdullah bin Sulaiman) และ ป๊ะ มูซา ทั้งสองเป็นพ่อค้าขายของเล็กๆ น้อยๆ เช่น ลูกตัสเบียฮฺ เคราปลอม น้ำหอม และยาจีนแผนโบราณ ญาติทั้งสามคนพบกันที่บ้านของ ซากาฟู (Sakafu) หรือที่รู้จักกันว่า อัส-ซักกอฟ (As-Saqqaf) พ่อค้าอาหรับผู้ชอบเชิญชาวจีนมุสลิมไปรับประทานอาหารที่บ้านหลังละหมาด มักริบ ที่ มัสยิด จาลัน สุลต่าน (Jalan Sultan Mosque)

ในสิงคโปร์ ฮัจยะฮฺ ฮาลีมะฮฺ คลอดบุตรชายชื่อ อาบู บักรฺ ผู้เสียชีวิตหลังคลอดไม่นาน ร่างของทารกถูกฝังอยู่ที่สุสานมุสลิมใกล้มัสยิด จาลัน สุลต่าน ในปัจจุบันสุสานแห่งนี้ร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่

ป๊ะอาลี ป๊ะมูซา และ ป๊ะลาฮฺ กำลังตัดสินใจว่าจะไปตั้งรกรากทำมาหากินที่ไหน พวกเขาเคยได้ยินข่าวว่ามีชาวจีนมุสลิมจาก ยูนนาน ตั้งรกรากอยู่ที่ ตรังกานู และตรังกานูถูกเรียกว่า ดารุล อิมาน (Darul Iman) แปลว่า ดินแดนแห่งความศรัทธา เพราะมีชาวมุสลิมผู้ศรัทธาอาศัยอยู่ที่นั่นมากมาย นอกจากนี้ นายพลเรือจีนมุสลิม เจิ้งเหอ (Zheng He) เคยแวะจอดเรือที่ตรังกานูช่วงเดินเรือมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พวกเขาทั้งสามจึงตัดสินใจอพยพไปตั้งรกรากที่ตรังกานู...

ต่อมา ป๊ะลาฮฺ โดยสารเรือกลับไปยังกวางตุ้ง เพื่อรับตัวนางคาดีจาฮฺ (Khadijah) ภรรยาของเขาและ ป๊ะ ดาวุด หรือ ดาวุด บิน สุไลมาน (Pak Daud หรือ Daud bin Sulaiman) น้องชายของเขามายังตรังกานู

ป๊ะมูซา เป็นลุงของ คาดีจาฮฺ ผู้เป็นภรรยาของป๊ะลาฮฺ ป๊ะมูซาแต่งงานกับ มิดะฮฺ (Midah) แล้วย้ายไปยัง กัมปง พญา บุหงา (Kampung Paya Bunga) ที่ จาลัน โต๊ะ ลัม (Jalan Tok Lam) สองสามีภรรยาเร่ขายยาจีนจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง พร้อมทั้งรักษาอาการป่วยของชาวบ้าน ป๊ะมูซาเชี่ยวชาญด้านเอาไฝที่ใบหน้าออก ต่อมาเมื่อ มิดะฮฺเสียชีวิต ป๊ะมูซาแต่งงานใหม่กับ กัลโสม (Kalsom)

ป๊ะดาวุดแต่งงานกับ ฟาติมาฮฺ บินตี กัซซิม (Fatimah binti Qassim) ที่ตรังกานู และทำมาค้าขายอยู่ที่ จาลัน เกอได ปายัง (Jalan Kedai Payang) พวกเขาอาศัยอยู่ใน กัมปง พญา เกอลาดี (Kampung Paya Keladi)

ป๊ะลาฮฺ (Abdullah bin Sulaiman) ก็ประกอบอาชีพค้าขายในบางช่วง ต่อมาเขาถูกชวนไปขุดทองที่ ฮูลู ตรังกานู (Hulu Terengganu) แต่ไม่ได้อะไรเป็นมรรคเป็นผล ช่วงที่ป๊ะลาฮฺไม่อยู่ ภรรยาและลูกสาวของเขาเริ่มทำร้านซักรีดที่ตรังกานูชื่อ เกอได อับดุลลาฮฺ อัล-ยูนนานนี (Kedai Abdullah Al-Yunani) เมื่อป๊ะลาฮฺกลับจากการขุดทองที่ไม่ประสบความสำเร็จ เขานำภรรยาคนที่สองกลับมาด้วยชื่อ เต๊ะ บินตี มุฮัมหมัด อาลี (Teh binti Muhammad Ali) เขาเริ่มธุรกิจขายหนังสือ หนังสือศาสนา และข้าว ต่อมาในร้านของเขาก็ขายหนังสือเพียงอย่างเดียว ร้านหนังสือของเขากลายเป็นร้านหนังสือที่มีชื่อเสียงที่สุดในตรังกานู โดยเฉพาะด้านหนังสือศาสนา

ป๊ะอาลีขายยาจีนแผนโบราณและสินค้าเล็กๆ น้อยๆ เขาสกัดน้ำมันซึ่งเป็นยาออกจากพันธุ์ไม้ด้วย ทุกวันนี้ลูกหลานของป๊ะอาลีบางส่วนยังทำธุรกิจน้ำมันยาอยู่ ต่อมาป๊ะอาลีเลิกขายของ หันมาเปิดร้านขายอุปกรณ์ และเครื่องมือช่าง ซึ่งต่อมาเขาตั้งชื่อว่า อาลี อัล-ยูนนานนี (Ali Al-Yunani) ใน จาลัน โกตา (Jalan Kota)

ฮัจญี ฮัซซัน บิน ซาแลฮฺ (Haji Hassan bin Salleh) ถูกเรียกว่า ไซฟู (SiFu) เพราะเขาทำอาหารเก่ง เขาแต่งงานกับ มีเรียม (Meriam) และอาศัยอยุ่ใน กัมปง อังกัส (Kampung Hangus) ที่ ปาดัง มาเซียฮฺ (Padang Maziah) เขาเป็นกุ๊ก และช่วยงานในร้านของป๊ะลาฮฺ เขาสนิทกับป๊ะลาฮฺเพราะเป็นญาติกัน หลังจากมีเรียมเสียชีวิตเขาแต่งงานใหม่กับ ลีจาฮฺ บินตี อาวัง (Lijah bte. Awang)

ต่อมา มุฮัมหมัด ยูซุฟ บิน ซาแลฮฺ (Muhammad Yusof bin Salleh) ย้ายมายังตรังกานู เขาเป็นญาติกับป๊ะลาฮฺเช่นเดียวกัน เขาเริ่มค้าขายที่ กัมปง ดาอิก (Kampung Daik) บริเวณริมคลอง (ปัจจุบันอยู่หน้าสถานีดับเพลิง) ต่อมาย้ายไปอยู่ที่ ปูเลา กัมบิง (Pulau Kambing) และแต่งงานกับลูกสาวของป๊ะดาวุด

ฮัจญี อิบราฮิม บิน มุฮัมหมัด (Haji Ibrahim bin Muhammad) เป็นญาติของทั้งป๊ะลาฮฺและป๊ะดาวุด เขาอพยพมาอยู่ตรังกานูพร้อมย่าและแม่ของเขา พวกเขาอาศัยอยู่ใน กัมปง บังกล (Kampung Banggol) และทำธุรกิจที่ เกอได ปายัง (Kedai Payang) ต่อมาเขาย้ายไปที่ จบัง ติกอ (Chabang Tiga) และกลายมาเป็นลูกเขยของป๊ะลาฮฺ

จากชาว จีนมุสลิม เพียง 7 คนนี้ ก่อให้เกิดลูกหลานอีกหลายรุ่น และเพิ่มขยายมาเป็นพวกเรามากมายในทุกวันนี้

โดย: ฮัจญี อับดุล ฮามิด มุฮัมหมัด ยูซุฟ (Haji Abdul Hamid Mohd. Yusoff)
จาลัน แอร์ เจอร์นิฮฺ (Jalan Air Jernih)
กัวลา ตรังกานู (Kuala Terengganu)

นี่คือเรื่องราวของชาว หุยหุย หรือ จีนมุสลิม 7 คนจาก กวางตุ้ง ที่มาตั้งรกรากที่ ตรังกานู ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่กล่าวอยู่ในบทนำในหนังสือของตระกูล เกอลัวกา อัล-ยูนนานนี หรือ ตระกูล อัล-ยูนนานนี (Keluarga Al-Yunani หรือ The Al-Yunani Family) แห่งตรังกานู ในปัจจุบัน เกอลัวกา อัล-ยูนนานนี เป็นคล้ายสมาคมหนึ่ง มี มุฮัมหมัด ยาคอบ บิน ฮัจญี อับดุลลาฮฺ (Mohd. Yacob bin Hj. Abdullah) เป็นประธาน และ อับดุล มาจิด บิน ฮัซซัน (Abdul Majid bin Hassan) เป็นเลขาฯ

หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นภาพการสืบสายเลือดของชาว หุย หรือ จีนมุสลิม ทั้ง 7 คนผู้มาตั้งรกรากที่ตรังกานู รุ่นแรกคือ มูซา แซ่หลี่ (Musa Li) อาลี บิน อิดริส แซ่จ้าง (Ali Zhang bin Idris) และ อับดุลลาฮฺ บิน สุไลมาน แซ่ต่ง (Abdullah Dong bin Sulaiman) ต่อมาก็มี ดาวุด แซ่ต่ง (Daud Dong) น้องชายของอับดุลลาฮฺ และ ฮัซซัน บิน ซาแลฮฺ แซ่ลิ่ว (Hassan Liu) อพยพเข้ามาตรังกานูในสมัย สุลต่าน ซัยนัล อบิดิน ที่ 3 (DYMM Sultan Zainal Abidin III) (ค.ศ.1881-ค.ศ.1918)

ต่อมามีญาติของคนแซ่ต่ง อพยพมาจากกวางตุ้งอีก คือ มุฮัมหมัด ยูซุฟ บินซาแลฮฺ แซ่เสี่ยว (Muhammad Yussof Xiao bin Salleh) และ ฮัจญี อิบราอิม บิน มุฮัมหมัด แซ่ฟู (Haji Ibrahim Fu bin Muhammad) พวกนี้เข้ามาตั้งรกรากในตรังกานูสมัย สุลต่าน สุไลมาน บัดรุล อลัม ซียาฮฺ (DYMM Sultan Sulaiman Badrul Alam Syah) (ค.ศ.1921-ค.ศ.1942)

ประวัติของชาว หุยหุย ในตรังกานู เป็นบันทึกที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ช่วงหลังของชาวจีนมุสลิมในมาเลเซีย ลูกหลานของพวกเขาขยายไปเป็นหลายร้อยคน กระจัดกระจายออกไปทั่วประเทศมาเลเซีย ในบทความ เรื่องราวของคนยูนนานในตรังกานู (A Note on the Orang Yunnan in Terengganu) เขียนโดย ตั้ง ชี เป็ง (Tan Chee Beng) บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวัฒนธรรม การศึกษา ภูมิหลังทางสังคม และการกลืนเข้าสู่สังคมมาเลย์ การสัมภาษณ์สมาชิกของตระกูลทำให้เราทราบรายละเอียดมากยิ่งขึ้น

ในชาว หุยหุย 7 คนที่กล่าวข้างต้นอพยพมาอาศัยที่ตรังกานูช่วงต้นศตวรรษที่ 20 พวกเขามีลูกรวมกัน 52 คน และหลาน เหลน โหลน อีกจำนวนมาก ทุกวันนี้ทั้งหมดมีลูกหลานอย่างน้อย 4 รุ่นแล้ว บางครอบครัวมี 5 รุ่น ในขณะที่ลูกหลานของ อาลี อิดริส แซ่จ้าง มีถึงรุ่นที่ 6 แล้ว รวมลูกหลานของชาว หุยหุย 7 คนข้างต้นหรือเรียกว่า ตระกูล อัล-ยูนนานนี มีสมาชิกในปัจจุบันประมาณ 800-900 คน ส่วนใหญ่ยังอาศัยอยู่ในตรังกานู ที่เหลืออาศัยกระจัดกระจายในหลายรัฐของมาเลเซีย และในต่างประเทศ

คนในตระกูล อัล-ยูนนานนี เกี่ยวพันกันโดยสายเลือด หรือไม่ก็การแต่งงาน เรื่องราวของพวกเขา ทั้ง ชื่อ-นามสุกล ที่อยู่ ที่ปรากฏในหนังสือของตระกูลสามารถสืบไปได้จนถึงคนรุ่นแรกที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในมาเลเซียก็เพราะ อย่างน้อยๆ คนในรุ่นที่ 2 ประมาณ 5-6 คน (จาก 52 คน) ยังคงมีชีวิตอยู่ และ 2 คนในนั้นยังแข็งแรงและความจำดี ส่วนคนรุ่นที่ 3 ซึ่งมีอยู่กว่า 200 คนเกือบทั้งหมดยังมีชีวิตอยู่ ในคนรุ่นที่ 3 นี้มีคนที่เป็นจีนล้วน (ไม่ได้เป็นลูกผสม จีน-มาเลย์) น้อยมากๆ นั่นหมายความว่า คนส่วนใหญ่แต่งงานกับคนมาเลย์ แต่พวกเขายังคงได้ยินการพูดภาษาจีน (กวางตุ้ง) ของญาติของคนรุ่นพ่อ-แม่อยู่ และยังจำปู่-ย่าที่เป็นคนจีนได้ ซึ่งแสดงว่าพวกเขายังคงมีความเกี่ยวพันกับความเป็นจีนอยู่ ในขณะที่เมื่อมาถึงคนรุ่นที่ 4-5 ทุกวันนี้แล้ว ความเกี่ยวพันของพวกเขากับคนในตระกูลกลับไม่ใช่ความเป็นสายเลือดจีน บางทีอาจเป็นเพราะเด็กๆ ไม่ค่อยรับรู้เกี่ยวกับบรรพบุรุษที่เป็นคนจีนมากนัก

ที่น่าสังเกตก็คือ ในหนังสือประจำปีของตระกูล อัล-ยูนนานนี ไม่ได้บันทึกชื่อจีนของต้นตระกูลทั้ง 7 คนไว้เลย ชื่อจีนที่เขียนไว้ข้างบนมาจากการที่ผู้เขียนไปสืบเสาะจากแหล่งอื่น[9] หรือไม่ก็จากการสัมภาษณ์คนในตระกูล บางคนในนั้นบอกว่าในครอบครัวของตนและครอบครัวพี่น้องตั้งชื่อจีนให้ลูกๆ ด้วย แต่ไม่ได้ใช้เรียกกัน พวกเขาชอบใช้ชื่อภาษาอาหรับมากกว่า

การกลืนเข้าไปอยู่ในสังคมมาเลย์ในเพียงไม่กี่รุ่นนี้เป็นไปได้หลายสาเหตุ ทั้งการที่พวกเขา (จีนมุสลิม) เป็นชนกลุ่มน้อยไม่ว่าจะอยู่ในสังคมมาเลย์หรือสังคมจีน หรือไม่พวกเขาก็อาจคิดว่า การอยู่ในสังคมมาเลย์สำคัญอย่างยิ่ง เพราะสามารถปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนาอิสลามได้สะดวกกว่า

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พวกเขาต้องการการรับรู้จากสังคมมาเลย์ ที่เหนืออื่นใดก็คือ พวกเขาต้องการให้สังคมมาเลย์รับรู้ว่า พวกเขาคือ มุสลิม ที่เป็น มุสลิมที่แท้จริง[10] ตั้ง ชี เป็ง เขียนไว้ว่า: ดังนั้นคำว่า ยูนนานนี จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สะดวกที่สุดของชาว หุยหุย เมื่อพวกเขาต้องอธิบายคุณลักษณะของพวกเขาต่อทั้งชาวมาเลย์และชาวจีน คำว่า ยูนนานนี ถูกใช้เพื่อเน้นกับชาวมาเลย์ว่า หุยหุย เป็น อิสลาม อัสลี (Islam asli) ซึ่งในภาษามาเลย์หมายถึง มุสลิมที่แท้จริง

ผู้ให้สัมภาษณ์รายหนึ่งอธิบายต้นตอของคำว่า ยูนนานนี เพิ่มเติมว่า: เมื่อก่อนเคยมีคนจีนเรี่ยไรเงินบริจาคแล้วบอกว่า ตนเป็นมุสลิม ชาวมาเลย์ไม่เชื่อเขา และเรียกเขาว่า มุอัลลัฟ หมายถึง ผู้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม แต่ชาวมาเลย์รู้เกี่ยวกับชาวจีนมุสลิมที่อพยพมาจากยูนนาน ชาวมาเลย์จึงเรียกพวกเราว่า โอรัง ยูนนาน (คนจากยูนนาน) เพื่อแยกพวกเราออกจากชาวจีนที่เปลี่ยนศาสนามา ชาวมาเลย์ที่ตรังกานูเชื่อว่า พวกเขาเองมาจากยูนนาน พวกเขามีคำพูดอยู่ว่า: โอรัง ยูนนาน, โอรัง กิตา (ชาวยูนนาน พวกเราเอง!)

ชาว หุย เหล่านี้ต้องการให้ชาวจีนในมาเลเซียรับรู้ด้วยว่า พวกเขาเป็นุมุสลิมแต่กำเนิด สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษที่เป็นมุสลิม ไม่ใช่เพิ่งเปลี่ยนศาสนา หรือเป็นเพราะอยู่ใกล้ชิดกับชาวมาเลย์ การที่สังคมรู้ว่าพวกเขามาจากมณฑลยูนนานในประเทศจีน ซึ่งเป็นมณฑลที่รู้กันทั่วไปว่า มีชาวหุยมุสลิมอาศัยอยู่มาก ทำให้พวกเขาได้รับการยอมรับจากทั้งชุมชนจีนและชุมชนมาเลย์

ชาวหุยในแต่ละครอบครัวมีขั้นตอนการกลืนเข้าไปในสังคมมาเลย์ต่างกัน การกลืนเป็นมาเลย์จะใช้เวลาค่อนข้างมากในครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่เป็นชาวจีน เช่น มุฮัมหมัด ยูซุฟ หนึ่งในบุตรชายของ อาลี อิดริส แซ่จ้าง แต่งงานกับ ซูไบดา บุตรสาวของ อับดุลลาฮฺ แซ่ต่ง ทั้งคู่เป็นชาวจีนมุสลิม มีลูกสาว 5 คน ลูกชาย 3 คน มี 3 คนในนี้แต่งงานกับชาวจีน ลูกชายคนหนึ่งแต่งงานกับสาวจีนมุสลิมจากไต้หวัน ลูกชายอีกคนแต่งกับสาวจีนมุสลิมที่พ่อของเธออพยพมาจากฮ่องกง ลูกสาวคนหนึ่งแต่งกับหนุ่มชาวไต้หวัน ลูกสาวอีกคนแต่งงานกับผู้ชายมาเลย์ พวกเขาทั้งหมดยังคงเก็บแผนภูมิลำดับการสืบสายวงศ์ตระกูล (เรียกว่า เจีย ปู Jia Pu) ซึ่งสืบเชื้อสายในประเทศจีนขึ้นไปได้มากกว่า 300 ปี ในขณะที่หลาน 3 คนของ ฮัจญี อับดุล มาลิก (รุ่นที่ 6 ในตรังกานู ตอนนี้อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย) เป็นรุ่นล่าสุดที่อยู่ในแผนภูมิลำดับวงศ์ตระกูล ฮัจญี อับดุล มาลิก บอกว่า เด็กๆ ทั้งหมดภูมิใจในบรรพบุรุษจีน

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้ว การกลืนเป็นชาวมาเลย์เริ่มขึ้นในรุ่นที่ 2 นั่นเอง ซึ่งในบรรดาต้นตระกูลทั้ง 7 คนเองก็รับสาวมาเลย์เป็นภรรยาคนที่ 2 หรือไม่ก็แต่งกับสาวมาเลย์เมื่อภรรยาชาวจีนของตนเสียชีวิต ในขณะที่เมื่อ มุฮัมหมัด ยูซุฟ ชาวจีนมุสลิมเสียชีวิตลง อมินาฮฺ (บุตรสาวของ ดาวุด แซ่ตง) ภรรยาของเขาไปแต่งงานใหม่กับหนุ่มมาเลย์ มีคนรุ่นที่ 2 แต่งงานกับชาวมาเลย์เป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีการใช้ภาษาจีนและวัฒนธรรมจีนในครอบครัวผสมเช่นนี้น้อยมาก แม้บางคนยังคงพูดภาษาจีนกวางตุ้งอยู่ แต่ภาษามาเลย์กลายเป็นภาษาแรกในครอบครัว เด็กๆ เรียนภาษาจีนตอนกลางคืน ส่วนตอนเช้าไปโรงเรียนศาสนาและอาหรับ ซึ่งสอนทั้งภาษามาเลย์และอังกฤษ แต่ก็มีเด็กๆ ยูนนานนี หลายคนไปโรงเรียนประถมภาษาจีน

จากการสัมภาษณ์ชาว ยูนนานนี ในตรังกานู ส่วนมากพอใจที่จะถูกเรียกว่า ชาวมาเลย์ มากกว่า เพราะพวกเขาอยู่ในชุมชนมาเลย์มาทั้งชีวิต ชาว ยูนนานนี ที่อาวุโสที่สุดคือ ฮัจญี มุฮัมหมัด ยาคอบ ต่ง ฟู เพียว (Haji Mohd. Yacob Tung Foo Piew) หนึ่งในบุตรชายของ อับดุลลาฮฺ แซ่ต่ง (ป๊ะลาฮฺ) อายุ 86 ปีแล้ว เขากำลังง่วนอยู่กับการปลูกต้นไม้ช่วงที่ผู้เขียนไปสัมภาษณ์ เขายืนโพสท่าให้ถ่ายรูปอย่างมีความสุข และยินดีตอบคำถามอย่างยิ่ง ฮัจญี มุฮัมหมัด ยาคอบ หวนรำลึกถึงวัยเด็กที่ตรังกานู เขาเป็นลูกชายคนที่ 7 ของ ป๊ะลาฮฺ เขาพูดคล่องทั้งภาษาอังกฤษ มาเลย์ และ กวางตุ้ง พ่อ-แม่ของเขามาจาก กวางเจา (Guangzhou) ทั้งคู่พูดภาษากวางตุ้ง แต่พูดจีนกลางไม่ได้ เด็กๆ จึงพูดได้เพียงภาษากวางตุ้งเช่นกัน ช่วงนั้นในตรังกานูไม่มีโรงเรียนจีน พ่อ-แม่ของเขาส่งลูกชายทั้ง 5 คน (นูรดิน ลูกชายคนโตเสียชีวิตที่เมืองจีนเมื่ออายุได้ 6 ขวบ) ไปโรงเรียนภาษาอังกฤษ ลูกสาว 2 คนไม่ได้เข้าโรงเรียน เมื่อมุฮัมหมัด ยาคอบ อายุ 14 ปี พ่อของเขาให้ ป๊ะมูซา ช่วยสอนภาษาจีนกลางให้ลูกๆ แต่ก็สอนได้ไม่นาน

มุฮัมหมัด ยาคอบ จำได้ว่า พ่อของเขาซึ่งพูดภาษามาเลย์คล่องต้องออกไปทำงานต่างถิ่นบ่อยมาก กลับมาบ้านเพียงเดือนละครั้ง แม่ของเขาจึงต้องเลี้ยงลูกคนเดียว แม่ของเขาพูดภาษามาเลย์ไม่ได้ เธอใส่เสื้อผ้าแบบจีน ทำอาหารจีน แต่นอกจากนี้แล้วครอบครัวของเขามิได้มีวัฒนธรรมอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับจีนอีก พวกเขามิได้ฉลองตรุษจีนด้วย เขาเคยไปช่วยงานที่ร้านหนังสือของพ่อเขา เขายอมรับว่าครอบครัวของเขาอาศัยใกล้ชิดกับชุมชนมาเลย์มากๆ การกลืนเป็นมาเลย์จึงง่ายเพราะนับถือศาสนาอิสลามเหมือนกัน ครอบครัวเขาได้รับการยอมรับจากทั้งชุมชนจีนและชุมชนมาเลย์ และพึงพอใจกับสัมพันธ์ที่ดีจากทั้งสองชุมชน

ฮัจญี ยาคอบ งัดสมบัติเก่าๆ จากอดีตออกมาให้ดูมากมาย เขาบอกว่าพ่อของเขาและหัวหน้าครอบครัวในตระกูล ยูนนานนี ทั้งหลายสนิทสนมกับสุลต่านแห่งตรังกานูมาก เขานำรูปถ่ายที่เก่าจนกระดาษเป็นสีเหลืองให้ดู มีรูปที่หัวหน้าครอบครัวในตระกูล ยูนนานนี ถ่ายไว้โดยมีสุลต่านนั่งอยู่ตรงกลาง นอกจากนี้มีรูปของคณะผู้แทนชาวจีนมุสลิม 3 คน นำโดย ฮัจญี อิบราฮิม หม่า เทียน ยิง (Haji Ibrahim Ma Tian Ying) เมื่อถามว่ารูปนี้ถ่ายเมื่อไร ฮัจญี ยาคอบ ตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า ปี ค.ศ.1940 ก่อนญี่ปุ่นบุก

เขายังเอากระดาษเขียนชื่อจีนของพี่น้องของเขาที่เก็บไว้อย่างดีมาให้ดู แต่เขาอ่านภาษาจีนไม่ออก เมื่อชี้ให้ดูว่าชื่อไหนเป็นชื่อของเขา ฮัจญี ยาคอบ ยิ้มอย่างมีความสุข เขาแต่งงานกับสาวชาวมาเลย์ และรับเด็กหญิงชาวจีนเป็นบุตรบุญธรรม 2 คน ทุกวันนี้เขาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับหลานๆ มากมาย หลานของเขาทุกคนกลายเป็นมาเลย์ไปหมดแล้ว

ในการสัมภาษณ์สมาชิกคนหนึ่งของตระกูล อัล-ยูนนานนี (รุ่นที่ 3) ที่กัวลาลัมเปอร์ เธอผู้นั้นกล่าวว่า พี่น้องของเธอทั้ง 8 คน และลูกพี่ลูกน้องของเธอทั้งหมดแต่งงานกับชาวมาเลย์ เมื่อถามเกี่ยวกับปูมหลังความเป็นจีนของเธอ เธอบอกว่า พ่อของเธอเป็นหนึ่งในลูกชายของ อับดุลลาฮฺ แซ่ต่ง แม่ของเธอเป็นสาวจีน เป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวชาวมาเลย์และถูกเลี้ยงดูมาอย่างชาวมาเลย์ จากการที่ทั้งพ่อและแม่เป็นจีน ทำให้ลักษณะภายนอกของเธอดูเป็นจีน แต่เธอแต่งตัวแบบมาเลย์ ทำอาหาร และรับประทานอาหารมาเลย์ ใช้ขนบธรรมเนียมมาเลย์ เธอพูดภาษามาเลย์ อยู่ที่บ้านเธอพูดทั้งมาเลย์และอังกฤษ เธอพูดภาษาจีนไม่ได้ แต่เรียกคำนำหน้าชื่อญาติของเธอแบบจีน เช่น อี๊เส่า ซานจี ยียี

เธอยอมรับว่า ไม่รู้เกี่ยวกับบรรพบุรุษชาวจีนมากนัก แต่พ่อของเธอเคยสอนพวกเธอไว้ว่า: เราอาศัยอยู่ท่ามกลางคนมาเลย์ เราจึงต้องทำตัวแบบคนมาเลย์ แต่เมื่อต้องใช้ความคิด จงคิดแบบคนจีน อย่า มีวะฮฺ มีวะฮฺ โบโรซ โบโรซ (อย่าฟุ่มเฟือย และอย่าผลาญเงิน) คิดแบบจีนในธุรกิจแต่ต้องซื่อตรง จงมัธยัสถ์ และรักษาความสะอาด ฯลฯ แม่สามีเธอก็เป็นคนจีน เป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวมาเลย์ จึงถูกเลี้ยงมาแบบมาเลย์ เธอบอกว่า ลูกชาย 2 คนของเธอมีสายเลือดจีนอยู่ ? แต่พวกเขาเป็นมาเลย์ เพราะแม้แต่คุณย่าชาวจีนของพวกเขาก็ยังถูกเลี้ยงมาในครอบครัวมาเลย์

แม้พวกเขามีทัศนคติแบบมาเลย์ แต่เธอพยายามเลี้ยงดูให้พวกเขาตระหนักในคุณค่าของวัฒนธรรมจีน เมื่อรวมกันแล้ว ลูกชายของเธอจึงสุภาพอ่อนน้อม อ่อนโยน และให้ความนับถือผู้อื่น พวกเขาขยันและประสบความสำเร็จในการเรียน ลูกชายคนเล็กของเธอซึ่งกำลังเรียนมหาวิทยาลัย ภูมิใจในสายเลือดจีนของเขา และต้องการรู้เรื่องนี้มากขึ้น ลูกชายคนโตของเธอมีภรรยาชาวมาเลย์ที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับชาวจีนมุสลิมมาก สามีของเธอสนับสนุนให้เธอดำรงรักษาความเป็นจีนไว้ เขาเป็นผู้นำแผนภูมิลำดับวงศ์ตระกูลหุยของเธอมาให้ดู

สมาชิกตระกูล อัล-ยูนนานนี อีกคนอาศัยอยู่ใน โกตา ตรังกานู กล่าวว่า เธอรู้สึกเป็นทั้งจีนและมาเลย์ เธอรู้สึกเป็นจีนเพราะ: ฉันดูเป็นจีน (เธอเป็นรุ่นที่ 3 ไม่มีสายเลือดมาเลย์เลย) ปู่ของฉันมาจากเมืองจีน แต่ฉันก็รู้สึกเป็นมาเลย์ด้วย ฉันพูดภาษามาเลย์เหมือนคนมาเลย์ ฉันใช้ชีวิตแบบมาเลย์ ฉันมีเพื่อนมาเลย์มากมาย ฉันกลมกลืนได้ดีมาก เธอรู้สึกเป็นทั้งจีนและมาเลย์ แม้เธอจะพูดภาษาจีนไม่ได้เลย พ่อของเธอพูดภาษาจีนกวางตุ้งคล่องแคล่ว แต่เธอและพี่-น้องพูดภาษามาเลย์และอังกฤษ พวกเขาใช้ชีวิตเหมือนเด็กมาเลย์ทั่วไป เธอไปโรงเรียนมาเลย์ เธอเลยไม่มีโอกาสได้เรียนภาษาจีน เธอคิดว่าลูกๆ ของเธอจะได้ประโยชน์มากหากรู้ภาษาจีน เธอจึงส่งลูกๆ เข้าโรงเรียนประถมภาษาจีน สามีเธอก็เห็นด้วย พวกเขามีผลการเรียนดี และได้ทุนรัฐบาลไปเรียนต่อต่างประเทศ

เธอบ่มเพาะให้ลูกขยันและซื่อสัตย์ตั้งแต่เด็กเหมือนที่พ่อ-แม่ของเธอเคยสอนไว้: แม้พวกเขาสอบได้ทุนรัฐบาลด้วยสิทธิความเป็นภูมิบุตร (บุตรของแผ่นดินมาเลย์) ฉันก็หวังให้พวกเขาได้ทุนนี้เพราะความสามารถของพวกเขาเอง เพื่อพวกเขาจะได้ภูมิใจในตัวเอง ฉันอยากให้ลูกๆ รู้เรื่องเกี่ยวกับสายเลือดจีนของพวกเขามากขึ้น แต่ในเมื่อฉันเองยังรู้ไม่มาก แล้วฉันจะสอนพวกเขาได้อย่างไร?

ลูกสาวของเธอซึ่งเพิ่งจบมหาวิทยาลัย สนใจเกี่ยวกับสายเลือดจีนของเธอ แต่กระนั้นลูกสาวของเธอก็ยังรู้สึกแสนจะเป็นมาเลย์ เธอยังบอกอีกว่า แม้เธอจะมีเพื่อนชาวจีนมาก แต่เธอจะแต่งงานกับชาวมาเลย์ เพราะ มันทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น เพราะเรามีศาสนาและวัฒนธรรมเดียวกัน บรรดาพี่ชายของเธอก็แต่งงานกับสาวมาเลย์ ลูกๆ ของพวกเขาซึ่งป็นลูกหลานของป๊ะลาฮฺรุ่นที่ 5 อาจไม่รู้เลยว่า พวกเขาสืบเชื้อสายมาจากชาวจีนมุสลิม

สตรีผู้นี้ อายุ 60 ปลายๆ แล้ว บอกว่า ปู่-ย่า และ พ่อ-แม่ของเธอได้รับความนับถือจากทั้งชาวมาเลย์และชาวจีน; จากชาวมาเลย์ เพราะพวกเขาเป็นมุสลิมดั้งเดิมและปฏิบัติศาสนกิจเป็นกิจวัตร และได้รับความนับถือจากชาวจีนเพราะพวกเขามีฐานะร่ำรวย สมัยเป็นเด็ก ปู่-ย่าของเธอยังปฏิบัติตามประเพณีจีนบางอย่าง เช่น รับประทานบะหมี่อายุยืนในวันเกิด จุดธูปในคืนวันศุกร์ และเรียกคำนำหน้าชื่อญาติๆ เป็นภาษาจีน สุสานของตระกูลก็มีลักษณะจีน แต่พวกเธอไม่ได้สืบต่อประเพณีพวกนี้อีกแล้ว

เธอพาฉันไปดู กัมปง ซินา (ชุมชนชาวจีน) เก่าๆ ที่ โกตา ตรังกานู ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นเพียงถนนสายหนึ่ง สุดถนนด้านหนึ่งเป็นวัดจีน ส่วนสุดถนนอีกด้านหนึ่งเป็นมัสยิด บนถนนสายนี้เคยมีร้านของชาวจีนมุสลิม 4 ร้าน ร้านหนังสือ ร้านขายยา และขายสิ่งของอื่นๆ ย่าของเธอเปิดร้านซักอบรีดและขายข้าว ปู่ของเธอเปิดร้านขายหนังสือชื่อ เกอได บูกู อัล-ยูนนานนี หลังจากปู่ของเธอเสียชีวิต ลุงของเธอรับช่วงธุรกิจ ต่อมาลูกเขยชาวมาเลย์ของเขาก็รับต่ออีกช่วง เธอรู้สึกเสียใจที่ทุกวันนี้ร้านแห่งนี้เจ้าของคนใหม่ไม่ได้ใช้ชื่อดั้งเดิมที่มีชื่อเสียง และแสดงถึงความเป็น หุย อีกต่อไป ทุกวันนี้ร้านนี้มีชื่อว่า อลัม อกาเดมิก (Alam Akademik Sdn. Bhd.) มรดกชิ้นสุดท้ายของชาวหุยที่ตรังกานูมาถึงจุดจบง่ายๆ เช่นนี้เอง

การกลืนเข้าสู่สังคมมาเลย์รวดเร็วขนาดไหน? ในรุ่นที่ 2 เริ่มต้นจากภาษา เด็กๆ โตมาในสังคมมาเลย์ พูดภาษามาเลย์กับเพื่อนๆ ไม่ค่อยได้พูดภาษากวางตุ้ง เด็กผู้ชายส่วนใหญ่ไปโรงเรียนอังกฤษ เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ไปโรงเรียนมาเลย์ โดยเฉพาะโรงเรียนศาสนา เมื่อพวกเขาแต่งงานกับชาวมาเลย์ ก็ไม่ได้ตั้งชื่อภาษาจีนให้ลูก เด็กรุ่นที่ 3 จึงเติบโตขึ้นมาเกือบเหมือนเด็กมาเลย์ทั่วไป เมื่อถึงรุ่นที่ 4 ที่คนรุ่นแรกเสียชีวิตไปหมดแล้ว พวกเขาจึงแทบไม่เหลือความเป็นจีนอีกเลย อย่างไรก็ตาม แม้ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ แต่บางครอบครัวก็ยังพยายามรักษาขนบธรรมเนียมจีนไว้ เช่น การพูดภาษาจีน ตั้งชื่อจีนให้ลูก (ชื่อลงทะเบียนแรกเกิด แต่ไม่ใช้ในชีวิตประจำวัน) และประเพณีของชาวจีนมุสลิม เช่น อาหาร และงานฉลองเทศกาล

ตั้ง ชี เป็ง บรรยายขั้นตอนการกลืนเข้าสู่สังคมมาเลย์ของชาว หุยหุย เหล่านี้ไว้ดังนี้: การกลืนเป็นชาวมาเลย์มิใช่เพราะชุมชนจีนมุสลิมของพวกเขาเล็กมาก แต่เพราะไม่มีข้อขวางกั้นด้านศาสนาทำให้พวกเขาสัมพันธ์กับชาวมาเลย์ได้ง่ายมาก และในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปก็โดนกลืนเป็นชาวมาเลย์ที่เป็นมุสลิมเหมือนกัน ดังนั้นหากว่าตอนแรก อิสลามได้ผลักดันให้พวกเขากลายเป็นมาเลย์ พวกเขาก็ยังรู้ว่า พวกเขามีสายเลือดจีนอยู่ ต่อมา ด้วย การไม่ได้พูดภาษาจีน และไม่ตั้งชื่อภาษาจีนให้ลูก ... จึงโดนกลืนเป็นชาวมาเลย์โดยสิ้นเชิงในรุ่นที่ 4

ในปัจจุบัน การตั้งสมาคม เกอลัวกา อัล-ยูนนานนี ทำให้ลูกหลานได้รับรู้ความเกี่ยวดองโดยสายเลือดของพวกเขาและประวัติของวงศ์ตระกูล แต่คนรุ่นที่ 5 และ 6 อาจไม่ได้สนใจเรื่องบรรพบุรุษหุยของตนอีกต่อไปแล้ว พวกเขาบางคนยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า หุย หมายถึงอะไร หนึ่งในคนที่ฉันสัมภาษณ์ (รุ่นที่ 3) ถามฉันว่า: ฉันจำได้ว่า พวกเขาเรียกเราว่า เหวย เหวย (ตามการออกเสียงของเธอ) มันหมายถึงอะไรหรือ? เธอประหลาดใจที่รู้ว่า หุย ในภาษาจีนหมายถึงมุสลิม

หลายคนไม่รู้ต้นตอชื่อตระกูล อัล-ยูนนานนี ของพวกเขา เมื่อรู้ว่าบรรพบุรุษของพวกเขาตั้งชื่อนี้ขึ้นมาเพื่อให้ชุมชนชาวมาเลย์มุสลิมนึกถึง ยูนนาน ซึ่งเป็นมณฑลในประเทศจีนที่มีประชากรมุสลิมเยอะมาก พวกเขายิ่งงงไปกันใหญ่ การที่พวกเขาเป็นชาวมาเลย์ในสังคมมาเลย์ทุกวันนี้ พวกเขาจินตนาการไม่ออกหรอกว่า ชาวจีนมุสลิมเคยประสบความยุ่งยากอะไรบ้างหากไม่บอกให้เพื่อนชาวมาเลย์รู้ว่า พวกเขาเป็น มุสลิม อัสลี หรือ มุสลิมที่แท้จริง

ตระกูล อัล-ยูนนานนี เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของชุมชนชาวจีนมุสลิม ที่กลืนเข้าไปอยู่ในสังคมมาเลย์เกือบจะสิ้นเชิงภายในไม่กี่รุ่น ใช้เวลามากกว่าครึ่งศตวรรษนิดหน่อย ส่วนใหญ่มาจากการแต่งงานกับชาวมาเลย์ และเพราะสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาเลย์มุสลิม

ในหน้าท้ายๆ ของหนังสือตระกูล อัล-ยูนนานนี มีรายชื่อ เบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่ของสมาชิกในตระกูลทั้งหมด 109 ครอบครัว

- 19 ครอบครัว สืบเชื้อสายจาก ป๊ะมูซา แซ่หลี่
- 30 ครอบครัว สืบเชื้อสายจาก ฮัจญี อาลี อิดริส แซ่จ้าง
- 27 ครอบครัว เป็นลูกหลานของ อับดัลลาฮฺ สุไลมาน แซ่ต่ง
- 9 ครอบครัว สืบเชื้อสายจาก ดาวุด สุไลมาน แซ่ต่ง
- 10 ครอบครัว สืบเชื้อสายจาก ฮัซซัน ซาแลฮฺ แซ่ลิ่ว
- 5 ครอบครัว สืบเชื้อสายจาก ยูซุฟ ซาแลฮฺ แซ่เสี่ยว
- 9 ครอบครัว จาก อิบราฮิม แซ่ฟู

64 คอบครัวในจำนวนนี้ยังคงอาศัยอยู่ที่ กัวลา ตรังกานู ที่เหลือกระจัดกระจายไปทั่วประเทศ ที่มากที่สุด อยู่ที่รัฐสลังงอ ประมาณ 20 ครอบครัว อีก 8 ครอบครัวอยู่ใน กัวลา ลัมเปอร์ นอกจากการกล่าวถึงบรรพบุรุษชาวจีนมุสลิม 7 คนแล้ว หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เอ่ยถึงความเป็นจีนอีกเลย ไม่มีชื่อจีนหรือแซ่เลยแม้แต่ที่เดียว รูปภาพของบรรพบุรุษชาวหุยก็ดูกลมกลืนไปกับลักษณะของชาวมาเลย์ บางทีในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ชาว หุยหุย ที่ตรังกานูอาจไม่เหลือร่องรอยในประวัติศาสตร์มาเลเซียอีกเลย เช่นเดียวกับชาวจีนมุสลิมสมัยเจิ้งเหอ และชาวจีนมุสลิมในสำมะโนประชากรปี ค.ศ.1908

บทถัดไปจะเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับตระกูล อัล-ยูนนานนี เป็นเรื่องของชาวจีนมุสลิมที่ยังคงเป็นชาวจีนอยู่ และละทิ้งศาสนาอิสลามไปแล้ว

จบตอนที่ ๑ คลิกไปอ่านตอนที่ ๒

+++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ

[1] มาเลเซีย, สำมะโนประชากรปีค.ศ.2000. มีจำนวนประชากรชาวจีนมุสลิมในมาเลเซีย 57,221, คิดเป็น 1% ของประชากรเชื้อชาติจีนทั้งหมด 5,691,908 คน มีมากที่สุดที่รัฐสลังงอคือ 17,246 คน ตามมาด้วยที่รัฐ ซาบา (Sabah) 8,589 คน กัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur) 7,991 คน และ ซาราวัก (Sarawak) 7,287 คน มีผู้หญิง 32,271 คน ผู้ชาย 21,850 คน

[2] Ma Huan, Ying-Yai Sheng-Lan , 'The overall suvey of the Ocean Shores', 1433. Translated by J.V.G. Mills. White Lotus: Bangkok, 1997. หม่า ฮวน บันทึกไว้ว่า เมื่อกองเรือถึงเกาะชวา ที่นั่นมีพลเมือง 3 กลุ่มคือ 1.ชาวอาหรับ 2.ชาวจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจีนมุสลิม และ 3.ชาวพื้นเมือง ไม่มีศาสนา

[3] Parlindungan Mangaradja Onggang, Tuanku Rao.

[4] Claudine Salmon, Islam and Chineseness. Kuala Lumpur: Malaysian Sociological Research Institute, 2001.

[5] Amen Budiman, Indonesia times Weekly, 14 September 1985.

[6] Tan yeok Seong, Chinese Element in the Islamization of Southeast Asia. In Journal of the South Seas Society Vol.30, Parts 1&2, December 1975.

[7] Heru Christiyono, Perayaan Sam Poo Thay Jian: Ulang Tahun Klenteng Gedung Batu Semarang (งานฉลอง ซาน เป่า ไท เจียน : ครบรอบถ้ำหินสะมารัง), 1982, ในนิตยสาร Selecta, no.1104.

[8] Li Tong Cai, Indonesia Legends and Facts, 1979, Singapore. P.85

[9] Nine Saints of Java, edited by Alijah Gordon 1996.

[10] ชาวมาเลย์ยอมรับและรู้สึกดีกับชาวจีนมุสลิมดั้งเดิม ที่เกิดจากพ่อ-แม่ที่เป็นจีนมุสลิมอพยพมาจากเมืองจีน มากกว่าชาวจีนในมาเลเซียที่เพิ่งเปลี่ยนศาสนามารับอิสลาม ทั้งๆ ที่อิสลามสอนว่า ไม่มีความแตกต่างในความเป็นมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมดั้งเดิม หรือเพิ่งเปลี่ยนศาสนามา ทุกคนมีความเป็นมุสลิมเท่ากัน


 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
090549
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอพระขอบคุณในการอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ฟรี เพื่อการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมจาก www.thaiis.com
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พวกเขาต้องการการรับรู้จากสังคมมาเลย์ ที่เหนืออื่นใดก็คือ พวกเขาต้องการให้สังคมมาเลย์รับรู้ว่า พวกเขาคือ มุสลิม ที่เป็น มุสลิมที่แท้จริง[10] ตั้ง ชี เป็ง เขียนไว้ว่า: ดังนั้นคำว่า ยูนนานนี จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สะดวกที่สุดของชาว หุยหุย เมื่อพวกเขาต้องอธิบายคุณลักษณะของพวกเขาต่อทั้งชาวมาเลย์และชาวจีน คำว่า ยูนนานนี ถูกใช้เพื่อเน้นกับชาวมาเลย์ว่า หุยหุย เป็น อิสลาม อัสลี (Islam asli) ซึ่งในภาษามาเลย์หมายถึง มุสลิมที่แท้จริง

The Midnightuniv website 2006